การค้น

มาตรา ๙๑ ให้นําบทบัญญัติในมาตรา ๘๑/๑ มาบังคับในเรื่องค้นโดยอนุโลม


มาตรา ๙๒ ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคําสั่งของศาล เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้น และในกรณีดังต่อไปนี้


(๑) เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน หรือมีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐานนั้น


(๒) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากําลังกระทําลงในที่รโหฐาน


(๓) เมื่อบุคคลที่ได้กระทําความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสัยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น


(๔) เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทําความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทําความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทําความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทําลายเสียก่อน


(๕) เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตามมาตรา ๗๘


การใช้อํานาจตาม (๔) ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจผู้ค้นส่งมอบสําเนาบันทึกการตรวจค้นและบัญชีทรัพย์ที่ได้จากการตรวจค้น รวมทั้งจัดทําบันทึกแสดงเหตุผลที่ทําให้สามารถเข้าค้นได้เป็นหนังสือให้ไว้แก่ผู้ครอบครองสถานที่ที่ถูกตรวจค้น แต่ถ้าไม่มีผู้ครอบครองอยู่ ณ ที่นั้น ให้ส่งมอบหนังสือดังกล่าวแก่บุคคลเช่นว่านั้นในทันทีที่กระทําได้และรีบรายงานเหตุผลและผลการตรวจค้นเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป


มาตรา ๙๓ ห้ามมิให้ทําการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทําความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทําความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด


มาตรา ๙๔ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจที่ทําการค้นในที่รโหฐาน สั่งเจ้าของหรือคนอยู่ในนั้นหรือผู้รักษาสถานที่ซึ่งจะค้น ให้ยอมให้เข้าไปโดยมิหวงห้าม อีกทั้งให้ความสะดวกตามสมควรทุกประการในอันที่จะจัดการตามหมาย ทั้งนี้ให้พนักงานผู้นั้นแสดงหมายหรือถ้าค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายก็ให้แสดงนามและตําแหน่ง


ถ้าบุคคลดังกล่าวในวรรคต้นมิยอมให้เข้าไป เจ้าพนักงานมีอํานาจใช้กําลังเพื่อเข้าไปในกรณีจําเป็นจะเปิดหรือทําลายประตูบ้าน ประตูเรือน หน้าต่าง รั้วหรือสิ่งกีดขวางอย่างอื่นทํานองเดียวกันนั้นก็ได้


มาตรา ๙๕ ในกรณีค้นหาสิ่งของที่หาย ถ้าพอทําได้จะให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสิ่งของนั้นหรือผู้แทนของเขาไปกับเจ้าพนักงานในการค้นนั้นด้วยก็ได้


มาตรา ๙๖ การค้นในที่รโหฐานต้องกระทําระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก มีข้อยกเว้นดังนี้


(๑) เมื่อลงมือค้นแต่ในเวลากลางวัน ถ้ายังไม่เสร็จจะค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้


(๒) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทําการค้นในเวลากลางคืนก็ได้


(๓) การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสําคัญจะทําในเวลากลางคืนก็ได้แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา


มาตรา ๙๗ ในกรณีที่ค้นโดยมีหมาย เจ้าพนักงานผู้มีชื่อในหมายค้นหรือผู้รักษาการแทนซึ่งต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตํารวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตํารวจตรีขึ้นไปเท่านั้นมีอํานาจเป็นหัวหน้าไปจัดการให้เป็นไปตามหมายนั้น


มาตรา ๙๘ การค้นในที่รโหฐานนั้นจะค้นได้แต่เฉพาะเพื่อหาตัวคนหรือสิ่งของที่ต้องการค้นเท่านั้น แต่มีข้อยกเว้นดังนี้


(๑) ในกรณีที่ค้นหาสิ่งของโดยไม่จํากัดสิ่ง เจ้าพนักงานผู้ค้นมีอํานาจยึดสิ่งของใด ๆซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานเพื่อเป็นประโยชน์หรือยันผู้ต้องหาหรือจําเลย


(๒) เจ้าพนักงานซึ่งทําการค้นมีอํานาจจับบุคคลหรือสิ่งของอื่นในที่ค้นนั้นได้เมื่อมีหมายอีกต่างหาก หรือในกรณีความผิดซึ่งหน้า


มาตรา ๙๙ ในการค้นนั้น เจ้าพนักงานต้องพยายามมิให้มีการเสียหายและกระจัดกระจายเท่าที่จะทําได้


มาตรา ๑๐๐ ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลซึ่งอยู่ในที่ซึ่งค้นหรือจะถูกค้น จะขัดขวางถึงกับทําให้การค้นไร้ผล เจ้าพนักงานผู้ค้นมีอํานาจเอาตัวผู้นั้นควบคุมไว้หรือให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานในขณะที่ทําการค้นเท่าที่จําเป็น เพื่อมิให้ขัดขวางถึงกับทําให้การค้นนั้นไร้ผล


ถ้ามีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลนั้นได้เอาสิ่งของที่ต้องการพบซุกซ่อนในร่างกายเจ้าพนักงานผู้ค้นมีอํานาจค้นตัวผู้นั้นได้ดังบัญญัติไว้ตามมาตรา ๘๕


มาตรา ๑๐๑ สิ่งของซึ่งยึดได้ในการค้น ให้ห่อหรือบรรจุหีบห่อตีตราไว้หรือให้ทําเครื่องหมายไว้เป็นสําคัญ


มาตรา ๑๐๒ การค้นในที่รโหฐานนั้น ก่อนลงมือค้นให้เจ้าพนักงานผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และเท่าที่สามารถจะทําได้ให้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น หรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน


การค้นที่อยู่หรือสํานักงานของผู้ต้องหาหรือจําเลยซึ่งถูกควบคุมหรือขังอยู่ให้ทําต่อหน้าผู้นั้น ถ้าผู้นั้นไม่สามารถหรือไม่ติดใจมากํากับจะตั้งผู้แทน หรือให้พยานมากํากับก็ได้ถ้าผู้แทนหรือพยานไม่มีให้ค้นต่อหน้าบุคคลในครอบครัวหรือต่อหน้าพยานดังกล่าวในวรรคก่อนสิ่งของใดที่ยึดได้ต้องให้ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลในครอบครัว ผู้ต้องหา จําเลยผู้แทนหรือพยานดูเพื่อให้รับรองว่าถูกต้อง ถ้าบุคคลเช่นกล่าวนั้นรับรองหรือไม่ยอมรับรองก็ให้บันทึกไว้


มาตรา ๑๐๓ ให้เจ้าพนักงานผู้ค้นบันทึกรายละเอียดแห่งการค้น และสิ่งของที่ค้นได้นั้นต้องมีบัญชีรายละเอียดไว้บันทึกการค้นและบัญชีสิ่งของนั้นให้อ่านให้ผู้ครอบครองสถานที่ บุคคลในครอบครัวผู้ต้องหา จําเลย ผู้แทนหรือพยานฟัง แล้วแต่กรณีแล้วให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อรับรองไว้


มาตรา ๑๐๔ เจ้าพนักงานที่ค้นโดยมีหมาย ต้องรีบส่งบันทึกและบัญชีดังกล่าวในมาตราก่อนพร้อมด้วยสิ่งของที่ยึดมา ถ้าพอจะส่งได้ไปยังผู้ออกหมายหรือเจ้าพนักงานอื่นตามที่กําหนดไว้ในหมาย


ในกรณีที่ค้นโดยไม่มีหมายโดยเจ้าพนักงานอื่นซึ่งไม่ใช่พนักงานสอบสวน ให้ส่งบันทึก บัญชีและสิ่งของไปยังพนักงานสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ใดซึ่งต้องการสิ่งเหล่านั้น


มาตรา ๑๐๕ จดหมาย ไปรษณียบัตร โทรเลข สิ่งพิมพ์หรือเอกสารอื่นซึ่งส่งทางไปรษณีย์และโทรเลข จากหรือถึงผู้ต้องหาหรือจําเลย และยังมิได้ส่ง ถ้าเจ้าหน้าที่ต้องการเพื่อประโยชน์แห่งการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง พิจารณาหรือการกระทําอย่างอื่นตามประมวลกฎหมายนี้ให้ขอคําสั่งจากศาลถึงเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์โทรเลขให้ส่งเอกสารนั้นมา


ถ้าอธิบดีกรมตํารวจหรือข้าหลวงประจําจังหวัดเห็นว่าเอกสารนั้นต้องการใช้เพื่อการดังกล่าวแล้ว ระหว่างที่ขอคําสั่งต่อศาลมีอํานาจขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไปรษณีย์โทรเลขเก็บเอกสารนั้นไว้ก่อน


บทบัญญัติแห่งมาตรานี้ไม่ใช้ถึงเอกสารโต้ตอบระหว่างผู้ต้องหาหรือจําเลยกับทนายความของผู้นั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6670/2560

การที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 นั้น ต้องประกอบด้วยเหตุสองประการ คือ ผู้กระทำผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดามิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลสำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหารับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีได้ความว่า หลังจากพันตำรวจตรี ธ. ค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางบางส่วนที่ห้องพักเลขที่ 203 และ 209 แล้ว ได้สอบปากคำจำเลยที่ 3 เพิ่มเติม โดยจำเลยที่ 3 ให้การว่า ที่ห้องพักเลขที่ 203 น่าจะมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนไว้อีก พันตำรวจตรี ธ. กับพวก จึงไปตรวจค้นที่ห้องพักดังกล่าวอีกครั้งโดยไม่ได้นำจำเลยที่ 3 ไปด้วย ชี้ให้เห็นว่าการค้นห้องพักเลขที่ 203 ครั้งที่ 2 เป็นการขยายผลการตรวจค้นเพื่อหาเมทแอมเฟตามีนเพิ่มเติมสืบเนื่องมาจากการตรวจค้นครั้งแรก อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติของเจ้าพนักงานที่ต้องกระทำอยู่แล้ว ประกอบกับการตรวจค้นในครั้งหลัง จำเลยที่ 3 ก็มิได้ไปด้วย ทั้งคำให้การของจำเลยที่ 3 ก็ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเมทแอมเฟตามีนซ่อนอยู่ที่ใด เมื่อเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ในตู้ทีวี ตุ๊กตาผ้า ม้วนฟูกที่นอน และช่องลับใต้โต๊ะตั้งพระบูชา ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าสามารถตรวจค้นพบได้โดยไม่ยาก ดังนี้ กรณีดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันจะเป็นเหตุให้ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2560

เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม อ. ค. และ ธ. ในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน อ. ค. และ ธ. ให้การว่า รับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าห้องพักอยู่ในรีสอร์ต ห้องเลขที่ 12 เจ้าพนักงานตำรวจประสานกับผู้ดูแลรีสอร์ต จนเป็นที่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้จาก อ. ค. และ ธ. ถูกต้องแล้ว จึงเข้าตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ 1 ทันที เพราะน่าเชื่อว่าจะพบเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองพักชั่วคราว หากเนิ่นช้าไปกว่าจะได้หมายค้น จำเลยทั้งสองอาจนำเมทแอมเฟตามีนออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 96 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด ที่จำเลยที่ 2 และค้นพบเมทแอมเฟตามีน 554 เม็ด ภายในห้องซึ่งจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นของตนอันเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558

ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10067/2558

การที่พันตำรวจโท ก. แสดงบัตร ป.ป.ส. ต่อจำเลยก่อนทำการค้น แสดงว่าพันตำรวจโท ก. แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และตามพฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้จำเลยจะหลบหนีไป ทั้งทรัพย์สินในบ้านเกิดเหตุซึ่งมีไว้เป็นความผิดจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม พันตำรวจโท ก. กับพวกจึงมีอำนาจเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 14 ประกอบมาตรา 14 ตรี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10060/2558

ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในท้องที่ โดยจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ยี่ห้อนิสสันสีขาวของสถานีอนามัยมีตราของกระทรวงสาธารณสุขเป็นยานพาหนะประจำ ในคืนเกิดเหตุช่วงเวลาประมาณ 3 ถึง 4 นาฬิกา มีผู้แจ้งเบาะแสโดยส่งข้อความไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของดาบตำรวจ ส. รวม 6 ครั้ง 6 ข้อความ ว่ามีคนส่งยาบ้าที่พีพีรีสอร์ต ห้องที่ 14 ให้รีบไปเร็ว ๆ ก่อนเขาหนี เป็นรายใหญ่ ถ้าไม่ไปฉันจะไม่ส่งข่าวอีก เมื่อดาบตำรวจ ส. ไปที่รีสอร์ตพบรถดังกล่าวจอดอยู่ที่ห้องที่ 15 จำได้ว่าเป็นรถที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ สอบถามพนักงานรีสอร์ตแจ้งว่าเจ้าของรถมากับผู้หญิงพักอยู่ห้องที่ 14 ดาบตำรวจ ส. จึงเชื่อในเบาะแสที่แจ้งมา ดาบตำรวจ ส. กับพวกให้พนักงานรีสอร์ตเคาะประตูห้องที่ 14 ว่าขอเช็กมิเตอร์ ปรากฏว่าคนในห้องเปิดประตูออกมา ขณะนั้นไฟในห้องยังเปิดอยู่ เมื่อดาบตำรวจ ส. แจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ คนในห้องดันประตูกลับคืนและปิดไฟ เป็นพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามที่ได้รับแจ้ง ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองไปพักชั่วคราว จำเลยทั้งสองจะออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ หากเนิ่นช้าไปกว่าจะเอาหมายค้นมาทำการตรวจค้นในวันรุ่งขึ้น จำเลยทั้งสองจะออกจากห้องพักเสียก่อนพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง เป็นเหตุให้พยานหลักฐานสำคัญสูญหาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งทำให้เจ้าพนักงานเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และ มาตรา 96 (2) และเมื่อเจ้าพนักงานพบอุปกรณ์การเสพและเมทแอมเฟตามีน 11 เม็ดในห้องพักดังกล่าว กับพบเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด ในรถยนต์ จึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำรายงานการตรวจค้นและผลการตรวจค้นไว้ในบันทึกการจับกุมเสนอผู้บังคับบัญชา ดังนั้น การตรวจค้นและจับกุมในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2558

เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นที่เกิดเหตุโดยมีหมายค้น แต่คนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีใครยอมเปิดประตูให้ การที่เจ้าพนักงานตำรวจงัดกุญแจประตูรั้วบ้าน และเข้าไปดำเนินการตรวจค้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเป็นการกระทำตามสมควรเพื่อให้สามารถเข้าไปในที่เกิดเหตุได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6875/2557

พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 มาตรา 30 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าไปในสถานที่ที่มีการขุดดินหรือถมดินเพียงเพื่อตรวจสอบว่ามีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่เท่านั้น กรณีหาจำต้องมีหมายค้นของศาลไม่ เมื่อผู้เสียหายแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 และแจ้งว่ามีความประสงค์จะตรวจสอบที่ดินตามที่มีการแจ้งว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 แต่จำเลยไม่ยอมให้เข้าไปในที่ดินเพื่อตรวจสอบ การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาขัดขวางผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19357/2556

แม้บ้านที่เกิดเหตุเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของโจทก์ แต่ก็ยังเป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านที่เกิดเหตุด้วย พื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านในเวลาราชการจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เพราะประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ และหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นเจ้าหน้าที่ป้องกันปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ด ย่อมมีอำนาจเข้าค้น อีกทั้งจำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 11 นาฬิกา อันเป็นเวลาราชการ โดยไม่ปรากฏว่ามีการค้นเกินเลยจากพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เหตุที่จำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุและค้นตัวโจทก์ก็เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่จึงมีอำนาจกระทำเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.อ มาตรา 93


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4958/2556

อาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์สร้างจากเงินบริจาคของประชาชนบนที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนมนต์ แม้โจทก์จะร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างด้วย แต่วัตถุประสงค์ที่ก่อสร้างก็เพื่อใช้เป็นที่พักของเจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นสายตรวจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาแจ้งความร้องทุกข์ ย่อมแสดงว่าประชาชนประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่ราชการที่สามารถเข้ามาติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ ทั้งอาคารดังกล่าวได้ขอเลขที่บ้านโดยระบุว่าเป็นที่ทำการสถานีตำรวจชุมชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากหัวหน้าสถานีตำรวจชุมชนตำบลดอนมนต์ จึงบ่งชี้ว่าประชาชนที่ร่วมกันก่อสร้างได้มอบอาคารดังกล่าวให้เป็นสถานที่ราชการตำรวจโดยปริยายแล้ว อาคารดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่รโหฐานอันเป็นที่ส่วนตัวของโจทก์ที่จะมีอำนาจจัดการหวงห้ามได้ สำหรับห้องพักที่เกิดเหตุที่โจทก์กั้นเป็นสัดส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์ นอกจากโจทก์จะใช้เป็นที่พักอาศัยแล้วเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจอื่นก็สามารถใช้ประโยชน์จากห้องดังกล่าวได้ แม้โจทก์จะเก็บสิ่งของส่วนตัวไว้และใส่กุญแจก็ไม่ใช่ห้องพักส่วนตัวที่โจทก์จะมีสิทธิหวงกันไว้ผู้เดียวได้ ห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน ประกอบกับจำเลยเข้าไปในห้องพักที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาอาวุธปืนตามที่ผู้ใช้กระทำความผิดแจ้งว่านำมาไว้ในอาคารที่พักสายตรวจดอนมนต์ จึงมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีสิ่งของที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิดซ่อนไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ เช่นนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจค้นห้องพักที่เกิดเหตุได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หาใช่เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10499/2555

โจทก์เป็นผู้ซื้อรถคันพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดหรือจากพ่อค้าซึ่งขายของชนิดนั้น ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตรวจสอบทราบตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2543 แล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทได้ไปจากบริษัท จ. ก็ควรจะไปขอคืนรถคันพิพาทจากโจทก์โดยการเตรียมเงินไปชดใช้ราคาที่ซื้อมาให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับใช้วิธีไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีในวันดังกล่าวแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. ผู้เช่าซื้อ ในข้อหายักยอกรถคันพิพาท ทั้งที่ได้มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2542 แล้ว และปล่อยให้ระยะเวลาล่วงเลยนานถึง 1 ปี 4 เดือนเศษ เพิ่งจะมาแจ้งความร้องทุกข์ภายหลังจากทราบแล้วว่าโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อรถคันพิพาทไปจากบริษัท จ. พฤติการณ์ดังกล่าวบ่งชี้แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1332 โดยจงใจอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานในการที่จะปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ว่าด้วยการค้นและยึดสิ่งของใด ๆ ซึ่งน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีข้อหายักยอกที่เพิ่งแจ้งความร้องทุกข์ในภายหลังมายึดรถคันพิพาทไป จำเลยที่ 1 จะใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเพื่อติดตามและเอารถคันพิพาทคืนจากโจทก์ไม่ได้ เว้นแต่จำเลยที่ 1 จะได้ชดใช้ราคารถคันพิพาทแก่โจทก์ เพราะสิทธิของจำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ตกอยู่ภายใต้บังคับ ป.พ.พ. มาตรา 1332 และแม้ว่ารถคันพิพาทจะเป็นรถคันเดียวกับรถคันที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าซื้อไปในคดีข้อหายักยอก อันน่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีดังกล่าวก็ตาม แต่ก็มีผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถคันพิพาทเช่นกัน โจทก์ย่อมได้รับความคุ้มครองดังกล่าว จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวการผู้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำการแทนในการยึดรถคันพิพาทจากโจทก์โดยไม่ชดใช้ราคาที่ซื้อมา จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 427


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2555

เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาสไม่ใช่หลังซอยโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใด และจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธคงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่เท่านั้น การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 ที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8764/2554

หลังเกิดเหตุผู้เสียหายแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีแล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้ออกสกัดจับคนร้ายในเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะใช้หลบหนี ก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจรับทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรถจักยานยนต์ของคนร้ายและของผู้เสียหายจากผู้เสียหาย และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งออกมาสกัดจับคนร้ายที่พบรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยทั้งสองคันตามที่ได้รับแจ้งในเวลาต่อเนื่องกัน และยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ชิงมาได้หลบหนีฝ่าด่านสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมยังติดตามต่อเนื่องจนกระทั่งพบเห็นจำเลยที่ 1 วิ่งหลบหนีเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามพฤติการณ์แทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 (2) ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถกระทำการจับกุมจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1) และมาตรา 92 (3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2554

ปัญหาข้อกฎหมายว่า การค้นและการสอบสวนไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังนี้ แม้หมายค้นจะระบุให้พันตำรวจโท ป. กับพวกมีอำนาจตรวจค้นบ้านเลขที่ 57/7 ข้างหมู่บ้าน ป.ผาสุก ส่วนบ้านจำเลยเป็นเลขที่ 67 ก็ตาม แต่บ้านจำเลยอยู่ข้างหมู่บ้าน ป.ผาสุก และพันตำรวจโท ป. ได้แนบหลักฐานภาพถ่ายจำเลยขณะอยู่ในบ้านประกอบคำขอเพื่อแสดงว่าประสงค์จะขอหมายค้นบ้านจำเลย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาออกหมายค้นตามขอ จึงเป็นการให้อำนาจพันตำรวจโท ป. ค้นบ้านจำเลยนั่นเอง การตรวจค้นบ้านจำเลยตามหมายค้นจึงชอบด้วยกฎหมาย สิ่งของที่ได้จากการค้นย่อมนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานคดีนี้ได้


ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 37 ให้ยกเลิกความเดิมตามมาตรา 134 และให้ใช้ข้อความใหม่ตามที่จำเลยอ้างแทน แต่มาตรา 2 กำหนดให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ นับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลย้อนหลัง จึงไม่มีผลกระทบต่อกระบวนพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยถูกจับส่งตัวให้พนักงานสอบสวนในวันที่ 15 ธันวาคม 2545 พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิและแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดก่อน ก็หาทำให้การสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบแต่อย่างใดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6601/2554

แม้การรวบรวมหลักฐานจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 131 แต่พนักงานสอบสวนจะรวบรวมหลักฐานใดบ้าง อย่างไร เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาและใช้ดุลพินิจดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น จนสามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้เท่านั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 132 เมื่อการรวบรวมหลักฐานของพนักงานสอบสวนได้ความชัดว่าตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางในห้องนอนของจำเลยแล้ว พนักงานสอบสวนอาจมีความเห็นว่ากรณีไม่จำต้องดำเนินการจัดทำบันทึกภาพถ่ายของกลางที่ตรวจพบ ตลอดจนไม่ทำแผนที่แสดงจุดตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางก็ได้ หาทำให้การสอบสวนไม่ชอบไม่ และการที่เจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกการจับกุมโดยมีรายละเอียดแห่งการค้นและสิ่งของที่ค้นได้ กับมีการจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึด ถือว่าเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 103 แล้ว จึงเป็นการตรวจค้นโดยชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535/2553

ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยนั้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ มาตรา 4 และมาตรา 39 ซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 ที่บัญญัติให้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหายังได้ออกใช้บังคับ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 7/1 และ มาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่มีการจับกุมและสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปที่ว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงสิทธิต่างๆ โดยละเอียดดังกล่าวจึงชอบแล้ว


โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่ามีการสอบสวนแล้ว ทั้งจำเลยก็มิได้ฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบเพราะเหตุผลอื่นๆ เพียงแต่อ้างว่าการตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้นเป็นการไม่ชอบ จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องชอบแล้วนอกจากนี้การตรวจค้นและการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกัน แม้การตรวจค้นจับกุมและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็หามีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่


ร้อยตำรวจเอก ป. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (16) (17) และมาตรา 17 ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น ร้อยตำรวจเอก ป. จึงมีอำนาจจับกุม ควบคุมตัวจำเลย ตลอดจนการจัดทำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในอำนาจหน้าที่ได้ หาใช่จะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหรือไม่ขึ้นอยู่กับการลงบันทึกประจำวันว่าออกปฏิบัติหน้าที่ดังที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3912/2553

มาตรา 102 บัญญัติให้เจ้าพนักงานค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้นหรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ร้องขอมาเป็นพยาน ดังนี้ แม้ขณะเริ่มลงมือค้นเจ้าพนักงานตำรวจจัดให้ จ. ซึ่งมิใช่บุคคลในครอบครัวจำเลยที่ 2 เป็นพยานในการค้นห้องจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ก็ตาม แต่ระหว่างค้นจำเลยที่ 2 ได้กลับมานำเจ้าพนักงานตำรวจค้นห้องจำเลยที่ 2 ด้วยตนเองต่อไปจนกระทั่งค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงถือว่าเจ้าพนักงานทำการค้นห้องจำเลยที่ 2 ต่อหน้าจำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองสถานที่ตามมาตรา 102 แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3751/2551

ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยขณะเปิดบริการมิใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบ ครองอันเป็นความผิดต่อกฎหมายย่อมมีอำนาจค้นจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 และเมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ในครอบครองจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยต้องมีหมายจับตามมาตรา 78 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6894/2549

หนังสือร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมซึ่งมีข้อความว่า มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่บริเวณศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ขอแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) แล้วไม่จำเป็นต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำความผิด


ร้านที่เกิดเหตุเป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเล่นเกมต่างๆ และแผ่นเกม ย่อมเป็นสถานที่ที่เชื้อเชิญให้ประชาชนทั่วไปสามารถเดินเข้าไปดูและเลือก ซื้อสินค้าได้ นับเป็นที่สาธารณสถานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ เมื่อสิบตำรวจ ส. เป็นผู้ทำการตรวจค้น แผ่นซีดีเกมอยู่ในตะกร้าซึ่งอยู่ในตู้สามารถมองเห็นได้ โดยแผ่นซีดีเกมของกลางดังกล่าวละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม มีลักษณะภายนอกของแผ่นซีดีของกลางต่างจากของโจทก์ร่วมอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นกรณีของการค้นในที่สาธารณสถานโดยเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีเหตุอันควร สงสัยว่าร้านที่เกิดเหตุมีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 ทั้งเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยได้ตามมาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง การค้นและจับจึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1493/2550

การตรวจค้นและการจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก และเป็นคนละขั้นตอนกับการสอบสวน ไม่มีผลกระทบไปถึงการสอบสวนของพนักงานสอบสวนและอำนาจในการฟ้องคดีของโจทก์ ทั้งหามีผลทำให้การแสวงหาพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานตำรวจที่ชอบเป็นไม่ชอบ ด้วยกฎหมายไปด้วยไม่ การวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4793/2549

การค้นพบธนบัตรของกลางในข้องปลาที่แขวนอยู่ข้างบ้านทิศตะวันออก นอกจากมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยหรือสามีจำเลย ทั้งๆ ที่จำเลยก็ถูกจับและควบคุมตัวอยู่ที่หน้าบ้านนั้นเองแล้ว ยังได้ความว่าการพบธนบัตรในข้องปลาก็เป็นเรื่องที่ในชั้นแรกสิบตำรวจตรี พ. ค้นพบเพียงคนเดียวก่อน แล้วจึงเรียกกำนันที่เชิญมาเป็นพยานในการค้นมาดู หาใช่ว่าเป็นการค้นพบธนบัตรของกลางที่พบต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่ง เจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยานดังที่ ป.วิ.อ. มาตรา 102 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ไม่ พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับการค้นพบธนบัตรของกลางซึ่งเจ้าพนักงานผู้ตรวจค้น มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ศาลจะรับฟัง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2547

ศาลออกหมายค้นบ้านของจำเลยตามหมายค้นเอกสารหมาย จ. 1 โดยระบุเลขที่บ้านเป็นเลขที่ 74 ตามที่เจ้าพนักงานตำรวจร้องขอ การที่ ร.ต.อ. ก. แก้เลขที่บ้านในหมายค้นเป็นเลขที่ 161 เพื่อให้ตรงกับความจริงโดยไม่มีอำนาจ อันอาจมีผลให้หมายค้นเสียไปและการค้นไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเรื่องที่ต้องไป ว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เมื่อปรากฏว่าคดีมีการสอบสวนกันโดยชอบ ทั้งในชั้นพิจารณาจำเลยก็นำสืบรับว่าเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเฮโรอีนของ กลางฝังอยู่ในดินห่างจากบ้านของจำเลยประมาณ 3 เมตร พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาย่อมรับฟังลงโทษจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1164/2546

เจ้าพนักงานตำรวจได้ขอความยินยอมจาก น. มารดาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุก่อนทำการค้น แสดงว่าการค้นกระทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจความยินยอมของน. แม้การค้นจะกระทำโดยไม่มีหมายค้นที่ออกโดยศาลอนุญาตให้ค้นได้ ก็หาได้เป็นการค้นโดยมิชอบไม่ นอกจากนี้ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินการค้นได้เห็นจำเลยซึ่งอยู่ในห้อง นอนโยนเมทแอมเฟตามีนออกไปนอกหน้าต่าง อันเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยกำลังกระทำความผิด ซึ่งหน้าและได้กระทำลงในที่รโหฐาน เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(1),92(2) เมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จึงนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของ จำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2545

การจับ ส. ที่บ้านได้กระทำโดยมีหมายจับที่พันตำรวจเอก ร. ออกโดยชอบและหมายค้นของศาลจังหวัดมีนบุรี เมื่อแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแสดงหมายค้น ส. ซึ่งยืนอยู่ด้านในรั้วบ้านได้ปิดล็อกกุญแจรั้วหน้าบ้าน แล้ววิ่งหนีเข้าบ้านไปปิดล็อกกุญแจบ้านด้านในอีกชั้นหนึ่งและไม่ยอมเปิด ประตูโดยอ้างว่าจะไปมอบตัวในวันหลัง แสดงว่า ส. ไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปจับกุม การที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปใช้ไม้กระแทกประตูบ้านที่ปิดล็อกกุญแจด้านใน ไว้จนเปิดออกแล้วเข้าไปจับ ส. จึงเป็นกรณีจำเป็น ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้จัดการตามหมายค้นมีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 94 วรรคสอง


ตามสำเนาบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นจับกุมที่บ้าน ส. เวลา 18.02 นาฬิกา แสดงว่าลงมือตรวจค้นตั้งแต่เวลา 18.02 นาฬิกาซึ่งยังเป็นเวลากลางวัน เมื่อยังไม่เสร็จจึงมีอำนาจตรวจค้นจับกุมต่อไป ในเวลากลางคืนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96(1)


ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้นเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น เมื่อคำเบิกความของ ส. ซึ่งแม้จะยังไม่จบคำถามค้านของทนายจำเลยประกอบพยานเอกสารที่คู่ความทั้งสอง ฝ่ายอ้างส่งศาลข้อเท็จจริงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้วคดีจึงไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7454/2544

เจ้าพนักงานตำรวจผู้ร่วมจับจำเลยได้แอบซุ่มดูอยู่ที่หน้าบ้านจำเลยห่างประมาณ 30 เมตร ชุดหนึ่ง และ 20 เมตรอีกชุดหนึ่ง เห็นสายลับมอบธนบัตรให้จำเลย แล้วจำเลยไปนำสิ่งของที่ซุกซ่อนมามอบให้สายลับซึ่งเป็นเมทแอมเฟตามีน 4 เม็ด การที่เจ้าพนักงานตำรวจเห็นการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการเห็นจำเลยกำลัง กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดซึ่งหน้า


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1605/2544

สิบตำรวจโท ช. สืบทราบว่าบ้านของจำเลยเป็นแหล่งลักลอบจำหน่ายยาเสพติดให้โทษก็ได้ใช้วิธีซุ่มดูพฤติการณ์ของจำเลย เมื่อเห็นจำเลยขุดบริเวณแปลงผักและนำสิ่งของใส่ในหลุมที่ขุดแล้วกลบไว้ จึงใช้วิทยุสื่อสารเรียกเจ้าพนักงานตำรวจที่รออยู่ให้ไปที่เกิดเหตุและได้ออกมาแสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อขอตรวจค้น เมื่อใช้จอบขุดบริเวณที่จำเลยกลบไว้ก็พบเมทแอมเฟตามีน กรณีดังกล่าวถือได้ว่ามีเหตุสงสัยตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิด ได้ซ่อนอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ประกอบทั้งมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน แม้สิบตำรวจโท ช. กับพวกเข้าค้นโดยไม่มีหมายค้นก็สามารถกระทำได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 92(4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1455/2544

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 97และมาตรา 102 วรรคหนึ่ง การค้นโดยมีหมายค้นจะต้องดำเนินการโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้ถูกระบุชื่อในหมาย ค้น และทำการค้นต่อหน้าเจ้าของหรือบุคคลในครอบครัวของเจ้าของสถานที่ที่จะค้น หรือมิฉะนั้นก็ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นสองคนที่ขอให้มาเป็นพยานก็ได้ร้อยตำรวจ เอก พ. ผู้ถูกระบุชื่อในหมายค้นเป็นหัวหน้าในการตรวจค้นและทำการตรวจค้นต่อหน้า จำเลยซึ่งเป็นบุตรของเจ้าของบ้าน จึงถือว่าเป็นบุคคลในครอบครัวตามที่ระบุในมาตรา 102 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะยังไม่บรรลุนิติภาวะแต่ก็เป็นผู้เข้าใจในสาระของการกระทำและมี ความรู้สึกผิดชอบเพียงพอที่จะให้ความยินยอมโดยชอบแล้ว ดังนั้น การค้นจึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7387/2543

ข้อยกเว้นการค้นในที่รโหฐานโดยไม่ต้องมีคำสั่งหรือหมายค้น ของศาลว่า "ทั้งนี้ตามกฎหมายบัญญัติ" ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 238 นั้น มิใช่จะต้องมีการออกกฎหมายบัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังจากกฎหมายรัฐธรรมนูญมีผล ใช้บังคับแล้ว เท่านั้นเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 6 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมายกฎ หรือข้อบังคับขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับ มิได้ จึงเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวรับรองให้กฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ ที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ถ้าโดยเนื้อหาไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ นี้แล้วก็ยังมีผลใช้บังคับได้ต่อไป ดังนั้น บทบัญญัติเรื่องการค้นในที่รโหฐานในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนย่อมใช้บังคับ ต่อไปได้


ก่อนการค้นบ้านผู้ต้องหาครั้งนี้ เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุม ท. พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 95 เม็ดในเวลา 16 นาฬิกาเศษ การค้นในที่รโหฐานตามปกติจะต้องกระทำในเวลากลางวันตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 96 ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นใกล้จะมืดแล้ว ประกอบกับยาเสพติดเป็นสิ่งของที่ขนย้ายหลบหนีได้ง่ายโดยเฉพาะในเวลากลางคืน นอกจากนี้สถานีตำรวจอำเภอห้างฉัตรมิได้อยู่ ใกล้กับศาลชั้นต้น การไปขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นย่อมทำให้เนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้เมทแอมเฟตามีนอาจจะถูกโยกย้ายเสียก่อนแล้ว ดังนั้น จึงเข้าข้อยกเว้นให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาลตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92(4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7387/2543

การร้องขอให้ปล่อยตัวโดยอ้างว่าการคุมขังเป็นการมิชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 240 กำหนดให้ศาลไต่สวนพยานผู้ยื่นคำร้องฝ่ายเดียวโดยด่วนก่อน เมื่อศาลเห็นว่าคำร้องมีมูล ศาลจึงจะสั่งให้ผู้คุมขังนำตัวผู้ถูกคุมขังไปศาล และเป็นหน้าที่ของผู้คุมขังต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่พอใจของศาลว่าการคุม ขังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย มิฉะนั้นก็จะสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขัง ทั้งตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้กำหนดให้ผู้คุมขังต้องนำพยานมาสืบ เพียงแต่ให้ผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจของศาลว่าเป็นการคุมขัง ที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น การไต่สวนและการระบุอ้างพยานในชั้นนี้จึงไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติใน กฎหมายวิธีสบัญญัติเรื่องการสืบพยานในคดี ดังนั้น แม้ผู้คุมขังมิได้ยื่นคำคัดค้านและมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ก็ตาม ก็สามารถนำพยานเข้าไต่สวนและอ้างส่งเอกสารได้


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 6 เป็นบทบัญญัติรับรองให้กฎหมาย กฎ หรือ ข้อบังคับที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ถ้าโดยเนื้อหาไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้แล้วก็ยังคงมีผลใช้บังคับได้ ต่อไป มิใช่จะต้องมีการออกกฎหมายบัญญัติขึ้นใช้ในภายหลังจากรัฐธรรมนูญฯ มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น ดังนั้น บทบัญญัติเรื่องการค้นในที่รโหฐานกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนย่อมยังใช้บังคับ ต่อไปได้


แม้พันตำรวจเอก ป. ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้างฉัตร กับพวกค้นบ้านผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายค้นของศาลก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 238 ได้บัญญัติยกเว้นให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาลได้ตามที่ กฎหมายบัญญัติ ซึ่งกฎหมายที่บัญญัติยกเว้นให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาล ได้แก่ ป.วิ.อ. มาตรา 92


ก่อนจะค้นบ้านผู้ต้องหา เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ได้จับกุม ท. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 95 เม็ด ท. ให้การว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้ต้องหา ขณะจับกุม ท. เป็นเวลา 16 นาฬิกาเศษ การค้นในที่รโหฐานตามปกติจะต้องกระทำในเวลากลางวัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 96 ในขณะนั้นเป็นเวลาเย็นใกล้จะมืดแล้ว ประกอบกับยาเสพติดเป็นสิ่งของที่ขนย้ายหลบหนีได้ง่ายโดยเฉพาะในเวลากลางคืน นอกจากนั้นพันตำรวจเอก ป. ประจำอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอห้างฉัตรมิได้อยู่ใกล้กับศาลชั้นต้น การไปขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นย่อมจะทำให้เนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้ เมทแอมเฟตามีนของกลางอาจจะถูกโยกย้ายเสียก่อนแล้ว กรณีจึงเข้าข้อยกเว้นให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) ที่บัญญัติว่า เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำผิดได้ซ่อนหรืออยู่ ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมา ได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน ดังนั้น การค้นบ้านผู้ต้องหาจึงชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4536/2543

ผู้ดำเนินการจับกุมและตรวจค้นคือร้อยตำรวจเอก ศ. ซึ่งสืบทราบ และวางแผนจับกุมจำเลย โดยไปซุ่มดูพฤติการณ์ของจำเลยในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ผู้ขับรถ บรรทุก จากการตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน2 เม็ด อยู่ใต้กล่องยากันยุงบนชั้นวางของใกล้กับที่นั่งของจำเลย กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัยว่ามียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ในห้องพักอันเป็น ที่รโหฐานนั้น ประกอบมีเหตุอันควรเชื่อว่าหากไม่ดำเนินการทันที ยาเสพติดอาจถูกโยกย้าย เมื่อแสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ให้จำเลยดูแล้ว ร้อยตำรวจเอก ศ. จึงมีอำนาจตรวจค้นเคหสถาน และจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ หรือหมายค้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฯ มาตรา 14 กรณีจึงไม่ต้องพิจารณาว่ามีเหตุที่ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 92(1)-(5)หรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1496/2543

ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโจทก์ไม่มีพยานนำสืบ ให้ชัดแจ้งว่า จำเลยมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายประการใดบ้าง ส่วนคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน เป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ทั้งจำเลยก็ได้ให้การปฏิเสธในชั้นพิจารณา จึงไม่อาจอาศัยมาฟังลงโทษจำเลยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความผิดที่มีโทษฉกรรจ์ ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำพยานเข้าสืบประกอบ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพพยานหลักฐานโจทก์จึงไม่พอฟังลงโทษจำเลยฐานมียาเสพ ติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย


เจ้าพนักงานผู้จับกุมได้พบตัวจำเลยขณะขับรถโดยสารประจำทางจึงได้ติดตามไปทำ การจับกุมและตรวจค้นในทันทีทันใด ที่จำเลยขับรถเข้าไปจอดในอู่รถโดยสารประจำทาง มิฉะนั้น จำเลยย่อมหลบหนีหรือเคลื่อนย้ายยาเสพติดให้โทษของกลางไปได้ เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานผู้จับกุมสามารถค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 92(4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4711/2542

จำเลยที่ 1 และที่ 2 พาจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจดับเพลิงไปจับกุมโจทก์ที่บ้านพัก ของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของบ้าน โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดอาญา และแจ้งว่าได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้นั้นตาม ระเบียบแล้ว จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับทั้งจำเลยที่ 3 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ไปดำเนินคดีในข้อหาความผิดดังกล่าว กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(4),81(1) และมาตรา 92(5) ที่ให้อำนาจจำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ในบ้านพักของโจทก์ โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับได้ ไม่เป็นความผิดต่อเสรีภาพ


จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะมีหน้าที่ในการบรรเทาสาธารณภัยก็ไม่ทำให้อำนาจที่จำเลยที่ 3 มีอยู่ตามกฎหมายสูญสิ้นไป จำเลยที่ 3 ยังคงมีอำนาจอยู่โดยบริบูรณ์ในฐานะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้มี อำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(16) การที่จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อนไม่มีผลกระทบกระทั่งต่อ อำนาจที่จำเลยที่ 3 มีอยู่แล้วตามกฎหมาย


โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกกล่าวหาว่า แจ้งความเท็จ ต่อเจ้าพนักงานโจทก์จึงตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจ ออกหมายเรียกหรือจับกุมโจทก์ไปดำเนินคดีได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายในความผิดที่โจทก์ถูกกล่าวหาพาจำเลยที่ 3 ไปจับกุมโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะมีเจตนาเร่งรัดเพื่อให้มีการสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์อย่างรวดเร็ว ก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้ฟังว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ หลังจากที่จำเลยที่ 3 ควบคุมตัวโจทก์ไปส่งให้พนักงานสอบสวน โจทก์ก็ได้รับอนุญาตจากพนักงานสอบสวนให้ประกันตัวไปในวันเดียวกัน พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์เพื่อชี้ให้จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์เป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควรไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1259/2542

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(16)เจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้และตามมาตรา 17 ยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ซึ่งอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดี อาญาดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดจำกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เฉพาะในเขต ท้องที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นประจำการอยู่เท่านั้นอันหมายความว่าเจ้า พนักงานตำรวจมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร จำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2การที่จำเลยที่ 2 ขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจนั้น ย่อมเป็นความผิดซึ่งหน้า เมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน แล้วได้นำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 1 ในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร เป็นการต่อเนื่องกันทันทีเช่นนี้จึงถือได้ว่าเป็นการจับกุมจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดซึ่งหน้าด้วยเช่นกันซึ่งหากล่าช้าจำเลยที่ 1 อาจหลบหนีไปได้และจากการตรวจค้นตัวจำเลยที่ 1 ยังได้เมทแอมเฟตามีนอีกด้วย ดังนั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยที่ 1ในห้องพักของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่รโหฐานก็ตาม ก็ย่อมมีอำนาจจับกุมได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 81(1),92(2) เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่อง กันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนและสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยา ไกรดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยที่ 2 ผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3)และวรรคสาม (ก) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6301/2541

จำเลยมียศพันตำรวจตรี ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนจึงเป็นเพียงพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(16)มิใช่สารวัตรตำรวจอันเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตาม มาตรา 2(17)(ภ) จำเลยจะจับผู้ใดและค้นในที่รโหฐานแห่งใดจึงต้องมีหมายจับและหมายค้นด้วย เว้นแต่จะต้องด้วยข้อยกเว้นให้จำเลยจับและค้นได้โดย ไม่ต้องมีหมายจับและหมายค้น ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 78 และมาตรา 92 เมื่อจำเลยจับโจทก์และค้นบ้านโจทก์อันเป็นที่รโหฐานโดยไม่ปรากฏว่ามีหมายจับ และหมายค้นอันถูกต้อง ทั้งไม่ต้องด้วย ข้อยกเว้นตามกฎหมายที่จะจับและค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นเรื่อง จงใจทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายซึ่งเป็นละเมิด เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าวของจำเลย จำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461/2540

จ่าสิบตำรวจ ส. และร้อยตำรวจเอก ป.จับจำเลยได้ ขณะที่จำเลยกำลังขายวัตถุออกฤทธิ์ให้แก่จ่าสิบตำรวจ ส. ผู้ล่อซื้อ ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าขณะนั้นธนบัตรที่ใช้ล่อซื้ออยู่ที่จำเลยและจำเลย ดิ้นรนต่อสู้ ถ้าปล่อยให้เนิ่นช้ากว่าจะนำหมายจับและหมายค้นมาได้ จำเลยอาจหลบหนีและพยานหลักฐานอาจสูญหายจึงเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง จ่าสิบตำรวจ ส. และร้อยตำรวจเอกป.จึงมีอำนาจเข้าไปในบริเวณบ้านที่เกิดเหตุอันเป็นที่รโหฐาน ในเวลากลางคืนโดยไม่ต้องมีหมายค้น และมีอำนาจจับจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80,81 ประกอบมาตรา 92(2) และมาตรา 96(2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9212/2539

ก่อนเกิดเหตุสิบตำรวจเอก พ. พบเห็นจำเลยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมืออาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำผิด และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้าแม้ สิบตำรวจเอกพ. ไม่มีหมายจับ แต่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยทราบแล้ว สิบตำรวจเอก พ.จึงมีอำนาจตรวจค้นและจับจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(1)(2),93การที่จำเลยใช้มือกดอาวุธปืนไม่ให้สิบตำรวจเอก พ.ดึงออกมาจากเอวจำเลยเพื่อยึดเป็นของกลาง จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลัง ประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2536

ร.ต.อ. อุทัยได้ทำการตรวจค้นบริเวณด้านหลังอู่ที่พบชิ้นส่วนเครื่องรับวิทยุของกลาง ภายหลังวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแล้ว จึงมิใช่กรณีของการค้นที่อยู่ของผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังอยู่ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 วรรคสอง แต่เป็นการค้นตามมาตรา 102 วรรคแรก และ ร.ต.อ.อุทัยก็ได้แสดงหมายค้นและค้นต่อหน้าผู้ครอบครองดูแลอู่ในขณะนั้นและ ได้ทำบันทึกการตรวจค้นโดยมีรายละเอียดสิ่งของที่ค้นพบรวมถึงกล่องวิทยุที่ ถูกเผาให้ผู้ครอบครองดูแลอู่ลงชื่อไว้แล้ว การตรวจค้นของ ร.ต.อ.อุทัยจึงชอบด้วยมาตรา 102 จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รับเอาทรัพย์ของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครอง และจากพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1กับพวกได้ร่วมกันแยกเอาชิ้นส่วนออกและพ่นสีรถใหม่ รวมทั้งทำลายหลักฐานบางส่วนโดยการเผา แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กับพวกทราบดีแล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์การ กระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ความผิดฐานรับของโจรนั้น อาจเกิดขึ้นหลายครั้งในวันเดียวกันได้ หากจำเลยรับทรัพย์ของกลางไว้หลายคราวและต่างเวลากัน และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับว่าจำเลยที่ 1ได้รับเอาทรัพย์ของกลางตามที่โจทก์ฟ้องทุกคดีในคราวเดียวกันอันจะเป็นความ ผิดกรรมเดียวแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีอื่นที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยแล้ว กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำบันทึกการจับกุมในสถานที่ที่จับกุมหรือตรวจ ค้น อีกทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับพวกถูกจับกุมในสถานที่ต่างกันในเวลาไล่เลี่ยกัน การทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมแล้ว และเนื่องจากเป็นการบันทึกการจับกุม มิใช่บันทึกการตรวจค้น จึงไม่จำต้องบันทึกของกลางที่ตรวจพบไว้โดยละเอียด เพียงแต่บันทึกของกลางที่ตรวจพบหรือทำบัญชีของกลางไว้ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 103 พนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายวัตถุของกลางให้จำเลยที่ 1ดูแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ร้องขอดูวัตถุของกลางโดยตรงจึงนับว่าเพียงพอและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 242แต่อย่างใด และเนื่องจากวัตถุของกลางเป็นรถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ ย่อมไม่สะดวกที่จะบรรจุหีบห่อและตีตราไว้ แต่การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้บันทึกภาพวัตถุของกลางดังกล่าวไว้นั้นถือได้ ว่าได้ทำเครื่องหมายไว้เป็นสำคัญแก่วัตถุของกลางนั้นชอบด้วยประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 101 แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2535

ภายในบ้านส่วนที่ใช้สำหรับให้บุคคลทั่วไปเข้าไปสั่งซื้อและรับประทานอาหาร ถือได้ว่าเป็นสาธารณสถานซึ่งประชาชนรวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีความชอบธรรมที่จะเข้าได้ การที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 เข้าไปในบ้านในส่วนดังกล่าวในเวลากลางคืนขณะที่ยังขายอาหารอยู่เพื่อจับกุม ผู้กระทำผิดฐานค้าประเวณี จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก ห้องพักที่ใช้สำหรับให้หญิงค้าประเวณีทำการค้าประเวณีกับบุคคลทั่วไป ถือได้ว่าเป็นสาธารณสถาน และเมื่อนาย ส. ซึ่งเป็นสายลับที่ให้ไปร่วมประเวณีกับหญิงที่ค้าประเวณีในเวลากลางคืนเปิด ประตูห้องพักให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปตามที่วางแผนไว้ ก็พบนางสาว น. อยู่กับนาย ส.สองต่อสองหลังจากนาย ส. ได้ร่วมประเวณีกับนางสาว น.ซึ่งค้าประเวณีแล้ว ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้พบนางสาว น.ในลักษณะซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่า นางสาว น. ได้กระทำผิดฐานค้าประเวณีมาแล้วอันเป็นความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 80 จำเลยที่ 2 ที่ 3จึงมีอำนาจเข้าไปทำการจับกุมนางสาว น. จากภายในห้องพักได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5455/2534

พฤติการณ์ที่พวกของจำเลยนำชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดบรรทุกรถยนต์ ออกจากโกดังที่เกิดเหตุแล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม โดยภายในโกดังที่เกิดเหตุมีการขน ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ตัดเป็นชิ้นแล้วบรรทุกรถยนต์กระบะอีกคันหนึ่งซึ่ง สามารถขับขนย้ายออกไปได้โดยง่าย มีเหตุผลเชื่อได้ว่าหากเนิ่นช้า กว่าจะเอาหมายค้นมาทำการตรวจค้นในวันรุ่งขึ้น สิ่งของดังกล่าว จะถูกโยกย้ายเสียก่อน และพยานหลักฐานสำคัญจะสูญหาย กรณีมีเหตุ ฉุกเฉินอย่างยิ่งพันตำรวจโท ป. ตำแหน่งสารวัตรสืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่ย่อมทำการตรวจค้นโกดังที่ เกิดเหตุในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมายค้นได้ ของกลางจำนวนมากเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ที่ได้จากโกดังที่เกิดเหตุได้มีการตรวจ สอบและให้จำเลยลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ในบัญชีของกลางแล้ว ย่อมใช้ยันจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4791/2528

สารวัตรตำรวจและสารวัตรปกครองป้องกันเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 2(17)จึงมีอำนาจตรวจคนโดยไม่ต้องมีหมายค้นตามมาตรา 92 วรรคสุดท้าย เมื่อมีเหตุให้เชื่อได้ว่ามีของที่ได้มาโดยผิดกฎหมายอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุ หากไม่ทำการตรวจค้นเสียในวันเกิดเหตุ ของที่อยุ่ในบ้านอาจถูกขนไปเสีย การตรวจค้นต่อหน้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองบ้านที่เกิดเหตุและโดยไม่ทำลาย กุญแจก็ไม่อาจทำได้ ทั้งการตรวจค้นของจำเลยซึ่งเป็นสารวัตรตำรวจได้กระทำต่อหน้าพยานสองคน การตรวจค้นของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญามาตรา 92,94 และ 102 จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,358,362,364,365(2) เมื่อจำเลยมีอำนาจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้น และมีพฤติการณ์ที่จะออกหมายค้นและทำการค้นได้ ดังนั้นหมายค้นจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ไม่ทำให้จำเลยไม่มีอำนาจค้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2304/2523

ศ. และจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองฟ้องร้องกันเรื่องเครื่องหมายการค้า จำเลยแจ้งนำกำลังตำรวจมาตรวจค้นบ้านศ. แล้วจำเลยรื้อค้นของภายในบ้านโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจค้นมิได้มอบหมาย ให้ช่วยเหลือ การกระทำของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ศ. ออกปากไล่จำเลยก็ไม่ยอมออกไป ถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของ ศ. โดยปกติสุข จำเลยจึงมีความผิดฐานบุกรุกศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา365 ไม่ต้องอ้าง มาตรา362


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1152/2521

วัยรุ่นกำลังเดินอยู่ในทางสาธารณะ คนหนึ่งเป็นผู้ต้องหาของตำรวจ มีผู้แจ้งว่าบุคคลเหล่านั้นจะไปทำผิดเป็นเหตุอันควรสงสัยว่าจะทำความผิดและ มีอาวุธที่จะนำไปใช้ทำผิด นายตำรวจค้นได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 จำเลยขัดขวางโดยยิงตำรวจ เป็นความผิดตาม มาตรา 140,289,80 ลงโทษตาม มาตรา 289,80 ซึ่งเป็นบทหนัก