การไต่สวนมูลฟ้อง

มาตรา ๑๕๙  ถ้าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษเพราะได้กระทำความผิดมาแล้ว เมื่อโจทก์ต้องการให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบ ให้กล่าวมาในฟ้อง


ถ้ามิได้ขอเพิ่มโทษมาในฟ้อง ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควรจะอนุญาตก็ได้


มาตรา ๑๖๐  ความผิดหลายกระทงจะรวมในฟ้องเดียวกันก็ได้ แต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไป


ความผิดแต่ละกระทงจะถือว่าเป็นข้อหาแยกจากข้อหาอื่นก็ได้ ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้แยกสำนวนพิจารณาความผิดกระทงใดหรือหลายกระทงต่างหาก และจะสั่งเช่นนี้ก่อนพิจารณาหรือในระหว่างพิจารณาก็ได้


มาตรา ๑๖๑  ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง


โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งเช่นนั้นของศาล


มาตรา ๑๖๒  ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้


(๑) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา (๒)

(๒) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา


มาตรา ๑๖๓  เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้ และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์


มาตรา ๑๖๔  คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี การเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดี ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น


มาตรา ๑๖๕ ในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ในวันไต่สวนมูลฟ้อง ให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป เมื่อศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงแล้ว ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการต่อไป


จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ


ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง โดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มา แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น


มาตรา ๑๖๖  ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้


คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดังกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึงมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่


ในคดีที่ศาลยกฟ้องดังกล่าวแล้ว จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว


มาตรา ๑๖๗  ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง


มาตรา ๑๖๘  เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว ให้ส่งสำเนาฟ้องให้แก่จำเลยรายตัวไป เว้นแต่จำเลยจะได้รับสำเนาฟ้องไว้ก่อนแล้ว


มาตรา ๑๖๙  เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวจำเลยมา ให้ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับมาแล้วแต่ควรอย่างใดเพื่อพิจารณาต่อไป


มาตรา ๑๗๐  คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา


ถ้าโจทก์ร้องขอศาลจะขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ฎีกาก็ได้


มาตรา ๑๗๑  ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนและการพิจารณาเว้นแต่มาตรา ๑๗๕ มาบังคับแก่การไต่สวนมูลฟ้องโดยอนุโลม


ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ และมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ทั้งในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์และในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 893/2563

ฎีกาของจำเลยฉบับลงวันที่ 19 เมษายน 2562 จำเลยอ้างว่ามิได้กระทำความผิด ขอให้ยกฟ้องต่อมาจำเลยยื่นฎีกาฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 โดยศาลชั้นต้นรับเป็นคำแถลงการณ์เนื่องจากยื่นเกินกำหนดระยะเวลายื่นฎีกา แต่ตามเนื้อหาเป็นการขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ซึ่งแม้จำเลยไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง แต่การที่จำเลยยื่นคำแถลงการณ์โดยขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไปว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6386/2562

ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์ โจทก์ลงลายมือชื่อโจทก์แล้ว โดยผู้รับมอบอำนาจโจทก์ลงลายมือชื่อแทนโจทก์ เหตุที่ไม่ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้องน่าจะเป็นเพราะโจทก์พิมพ์คำขอท้ายฟ้องเฉพาะด้านหน้ามิได้พิมพ์แบบพิมพ์ด้านหลังซึ่งจะมีช่องลายมือชื่อผู้เรียงหรือผู้พิมพ์ไว้ จึงถือเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ เพราะเหตุดังกล่าวโดยไม่สั่งให้โจทก์แก้ไขก่อนจึงไม่ถูกต้อง เห็นควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์แก้ไขข้อผิดพลาดดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด หากดำเนินการแล้วเสร็จให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2562)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4452/2562

ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย ซึ่งคำว่า "กำหนดนัด" ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 166 ประการหนึ่ง กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานตามมาตรา 166 ประกอบมาตรา 173/2 วรรคหนึ่ง ประการหนึ่ง และกำหนดนัดพิจารณาตามมาตรา 166 ประกอบมาตรา 181 อีกประการหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากประทับฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้หมายเรียกจำเลยมาให้การในวันนัดพร้อม โดยมิได้กำหนดชัดแจ้งว่า นอกจากการสอบคำให้การจำเลยแล้ว จะดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดอีก จึงเป็นเพียงการนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมดังกล่าว ซึ่งมิใช่วันนัดตรวจพยานหลักฐานหรือนัดพิจารณาหรือนัดสืบพยานโจทก์ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 173/2 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ให้ยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องโดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาหลังจากมีคำสั่งดังกล่าวนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ย่อมไม่อยู่ในบังคับที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไปนั้นจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3629/2562

ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา" ซึ่งหมายความว่า การอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูล ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา มิใช่โจทก์สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้ทุกคดีเสมอไป


คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม) มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดทางอาญา แต่เป็นเรื่องทางแพ่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีของโจทก์มีมูลความผิดตามฟ้องแล้ว ขอให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป จึงถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แม้โจทก์จะยื่นคำร้องขอให้มีการรับรองหรือขออนุญาตให้ฎีกามาด้วย ก็ไม่อาจดำเนินการให้ได้ เพราะขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3079/2562

ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 มีอายุความสิบห้าปี ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก มีอายุความสิบปี โจทก์จึงต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดมายังศาลภายในกำหนดอายุความดังกล่าว นับตั้งแต่วันกระทำผิด มิฉะนั้นคดีโจทก์ย่อมขาดอายุความ


โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 จำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 มาศาลอย่างช้าที่สุดภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2556 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ถึงที่ 8 มาศาลอย่างช้าภายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2551 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 วรรคแรก โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 ว่ากระทำความผิดในวันที่ 21 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 7 และที่ 10 กระทำความผิดในวันที่ 22 มิถุนายน 2549 จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในวันที่ 28 กรกฎาคม 2549 โจทก์ต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 6 ที่ 8 ที่ 11 และที่ 12 มาศาลภายในวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 7 และที่ 10 มาศาลภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2559 กับฟ้องและได้ตัวจำเลยที่ 1 มาศาลภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 ซึ่งแม้จะยังอยู่ภายในกำหนดอายุความสิบห้าปีและสิบปีก็ตาม แต่เมื่อคดีโจทก์ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง กรณีจึงไม่อาจถือว่าได้ตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 และที่ 10 ถึงที่ 12 มาอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว เนื่องจากตราบใดที่ศาลยังไม่ประทับฟ้อง ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม มิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น อันเป็นเหตุให้อายุความไม่หยุดนับ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้เสร็จสิ้นในวันที่ 13 มีนาคม 2560 จึงเป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยอายุความสิบห้าปีและสิบปีแล้ว คดีโจทก์สำหรับจำเลยแต่ละคนจึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2562

คดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5614/2549 ของศาลอาญาธนบุรี มีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (3) กล่าวคือ ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินห้าสิบปี เมื่อปรากฏว่าในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 49 ปี 4 เดือน จึงนับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4614/2549 ของศาลอาญาธนบุรีได้ แต่เมื่อรวมทุกกระทงแล้วต้องจำคุกไม่เกินห้าสิบปี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3970/2561

คำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ในอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้น ทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาอีกคดีของศาลชั้นต้น


แม้ต่อมาโจทก์จะยื่นคำร้องขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว ก็ไม่อาจถือว่าโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 กรณีจึงไม่อาจนับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 549/2561

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงคดีที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษและมีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 92 แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบคำให้การจำเลยที่ 1 ว่า เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ แต่โจทก์ได้อ้างส่งบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การว่า เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ และพ้นโทษเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 และจำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงว่า จำเลยที่ 1 พ้นโทษออกจากเรือนจำกลางสุรินทร์ในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ต่อมาอีก 27 วัน ก็ถูกจับกุมคดีนี้ อันสอดคล้องกับบันทึกคำให้การดังกล่าว และได้ความตรงกับคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษตามฟ้องว่า จำเลยเคยต้องโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ของศาลชั้นต้นจริง เมื่อพ้นโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ถือว่าโจทก์ได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงนั้นแล้ว จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามคำขอของโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7493/2560

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย ซึ่งคำว่า "กำหนดนัด" ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง กำหนดนัดไต่สวนหรือกำหนดนัดพิจารณา แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งมิใช่วันนัดพิจารณาคดี กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ที่ศาลจะยกฟ้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6549/2560

ตามฟ้องคดีนี้เป็นคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องคดีอาญา และศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีเป็นศาลจังหวัด จึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา ที่ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องนั้น เป็นการพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น ฟ้องของโจทก์ยังคงมีคดีส่วนแพ่งที่ต้องพิจารณาสั่งต่อไปว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งอย่างใดเกี่ยวกับคดีแพ่งดังกล่าว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 11 ไม่ต้องรับผิดในคดีส่วนแพ่งนั้น ก็เป็นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก้าวล่วงไปวินิจฉัยโดยที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 11 ในคดีส่วนแพ่งไว้พิจารณา กรณีเป็นเรื่องปรากฏเหตุที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247 (เดิม) และ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำฟ้องของโจทก์ในคดีส่วนแพ่งต่อไป


การอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลมีปัญหาเฉพาะคดีส่วนอาญาว่ามีมูลที่ศาลจะประทับฟ้องไว้หรือไม่เท่านั้น โจทก์จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาสำหรับคดีส่วนแพ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2560

ตามคำฟ้อง โจทก์ขอให้เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย อันเป็นการขอให้เพิ่มโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 โดยมิได้ระบุอ้าง ป.อ. มาตรา 92 มาด้วย แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2557 จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 12 เดือน ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 910/2557 ของศาลชั้นต้น จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ขอให้เพิ่มโทษ ถือว่าโจทก์มีความประสงค์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวมาในคำฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 159 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้จะเพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 ไม่ได้ แต่ก็ยังสามารถเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามได้ตาม ป.อ. มาตรา 92 เพราะบทบัญญัติในเรื่องเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดไม่ใช่เป็นมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำอย่างใดเป็นความผิด จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองไม่เพิ่มโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมาด้วยนั้น เป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1930/2560

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคืนฟ้องฉบับแรกให้โจทก์ไปทำมาใหม่โดยให้เหตุผลว่า โจทก์เขียนคำฟ้องฟุ่มเฟือย อ่านไม่เข้าใจ ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นในการตรวจฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 18 เมื่อโจทก์ทำฟ้องมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาลแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมมีคำสั่งให้นัดไต่สวนมูลฟ้องของโจทก์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวหาใช่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้หรือเพิ่มเติมฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 แต่เป็นกรณีที่โจทก์ทำฟ้องมายื่นใหม่ตามคำสั่งศาลเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9958/2559

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 5 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการขายสินค้าอาหารทะเลสำเร็จรูปรายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองท้ายฟ้องเท่านั้น โดยไม่ได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่า จำเลยที่ 5 เป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตให้เสนอขายหุ้นต่อประชาชนหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือหลักทรัพย์ซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ ตามความหมายของคำว่า "บริษัท" ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 89/1 อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 89/2 (1) ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2559

ข้อความที่โจทก์ขอแก้ฟ้องโดยเพิ่มเติมว่า จำเลยเป็นพนักงานขององค์การหรือหน่วยงานของรัฐนั้น โจทก์ได้บรรยายฟ้องเดิมว่า จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัย บ. โดยโจทก์ได้บรรยายฟ้องเดิมไว้ในตอนต้นเกี่ยวกับฐานะของโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดี คณะพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัย บ. อันเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกับที่จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดี ว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย บ. จึงทำให้เข้าใจได้แล้วว่าจำเลยเป็นพนักงานของมหาวิทยาลัย บ. อันเป็นพนักงานหรือหน่วยงานของรัฐ และข้อความที่โจทก์ขอแก้ว่า ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตนั้น โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องเดิมแล้วว่า ถือได้ว่ามีเจตนาทุจริต อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การที่โจทก์ขอเพิ่มเติมและแก้ฟ้องดังกล่าวข้างต้นจึงมีผลตรงกันกับฟ้องเดิมในใจความสำคัญอันเป็นการแก้ไขรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องเพื่อทำให้ฟ้องชัดเจนยิ่งขึ้น ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบแต่อย่างใด รวมทั้งการแก้ไขบทลงโทษก็เป็นการแก้ไขฐานความผิด หาทำให้จำเลยหลงต่อสู้ไม่ จึงไม่อาจถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบเช่นกัน โจทก์ชอบที่จะขอเพิ่มเติมและแก้ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 164


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2559

การไต่สวนมูลฟ้องเป็นกระบวนไต่สวนของศาลเพื่อวินิจฉัยถึงมูลคดีซึ่งจำเลยต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (12) จึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์เท่านั้น ยังไม่เกี่ยวกับจำเลย คดีนี้เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยตรง ก็ย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาต่อไปว่าคดีโจทก์มีมูลพอที่ศาลจะประทับฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่ แต่ศาลอุทธรณ์กลับยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใหม่ แสดงว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายดังกล่าวยังอยู่ในกระบวนการในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง จึงเป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ ยังไม่เกี่ยวกับจำเลยหรือมีผลผูกพันจำเลยในชั้นพิจารณา ปัญหาว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายหรือไม่จึงยังไม่ยุติ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6017/2559

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มี ส. หรือนางฐิตาภา กรรมการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราบริษัท มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ แม้ต่อมาจะบรรยายว่า โจทก์โดย นางฐิติภา มอบอำนาจให้ ด. ฟ้องและดำเนินคดีแทนก็ตาม แต่เมื่อ ด. เบิกความเป็นพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องในฐานะผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ได้อ้างส่งหนังสือมอบอำนาจดำเนินคดีเป็นหลักฐานว่า บริษัทโจทก์โดยนางฐิตาภา กรรมการผู้มีอำนาจ มอบอำนาจให้ ด. ดำเนินคดีแทน ข้อเท็จจริงจึงเชื่อได้ว่านางฐิตาภา กับนางฐิติภา ที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องเป็นบุคคลคนเดียวกันนั่นเอง และเป็นกรณีที่เห็นได้ชัดแจ้งว่า โจทก์พิมพ์ชื่อ "นางฐิตาภา" ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปเป็น "นางฐิติภา" อันเป็นข้อบกพร่องเพียงเล็กน้อยถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ด. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโดยชอบแล้ว ไม่ทำให้อำนาจฟ้องคดีของโจทก์เสียไป


ส่วนที่ท้ายฟ้องเดิมทนายโจทก์ลงชื่อไว้ในท้ายฟ้องในฐานะโจทก์ก็เป็นเพียงฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์เท่านั้น อันเป็นฟ้องที่มิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ซึ่งโจทก์ชอบที่จะแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ไม่ถึงกับทำให้ฟ้องเดิมเสียไป โจทก์ยื่นคำร้องขอส่งคำขอท้ายฟ้องอาญาที่โจทก์โดย ด. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในฐานะโจทก์แทนคำขอท้ายฟ้องเดิม โดยอ้างว่าเป็นความผิดหลงเผอเรอของทนายโจทก์นั้นก็พอแปลได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ฟ้อง และกรณีถือว่ามีเหตุอันควรที่จะแก้ฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โจทก์ยื่นคำร้องฉบับดังกล่าวเข้ามาในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ย่อมไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ถือว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2559

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอให้ลงโทษในความผิดฐานยักยอก ชั้นไต่ส่วนมูลฟ้องศาลชั้นต้นให้ประทับรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง และยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 3 สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นการหลอกหลวงโจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อข้อหายักยอกตามฟ้องและข้อหาฉ้อโกงที่โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองข้อหามีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง, 193 วรรคหนึ่ง และมาตรา 193 ทวิ ซึ่งนำมาปรับใช้กับคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้เช่นเดียวกับในชั้นพิจารณา คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงชอบแล้ว


ส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า แม้ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องแตกต่างจากฟ้องก็มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลมีอำนาจใช้ ป.วิ.อ. 192 ได้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานฉ้อโกง คดีจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่าคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่หากคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 318/2559

คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แม้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยยังคงต้องถูกบังคับตามคำพิพากษา การที่คดียังไม่ถึงที่สุดไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษต่อไม่ได้


จำเลยไม่อาจยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การจากให้การปฏิเสธเป็นรับสารภาพในชั้นฎีกาได้ เพราะการแก้ไขคำให้การต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา แต่การยื่นคำร้องดังกล่าวถือเป็นการรับข้อเท็จจริงว่ากระทำความผิดโดยไม่โต้แย้งคำพิพากษาลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2


จำเลยหลอกลวงโจทก์ว่าจำเลยเป็นทนายความ ทำให้โจทก์หลงเชื่อมอบเงินให้จำเลย เป็นการกระทำที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ไม่คำนึงถึงความเสียหายและความเดือดร้อนของผู้อื่น ไม่มีเหตุรอการลงโทษ แต่การนำเงินค่าเสียหายมาวางต่อศาลเพื่อชดใช้แก่โจทก์ เป็นการบรรเทาผลร้ายแห่งคดี ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5343/2559

พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดให้ต้องมีการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ที่จะบันทึกในวัสดุที่มีการบันทึกภาพ หรือภาพและเสียงก่อนที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรได้ต่อไปก็เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้จัดจำแนกประเภทเนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ ให้เหมาะสมกับกลุ่มผู้ชมตามมาตรา 26 หรือเพื่อตรวจสอบว่ามีเนื้อหาที่ฝ่าฝืนมาตรา 29 หรือไม่ การบรรยายคำฟ้องในข้อหาจะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร ซึ่งภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ฯ มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องกล่าวอ้างโดยชัดแจ้งว่า ภาพยนตร์เรื่องใดในบรรดาภาพยนตร์ที่บันทึกอยู่ในแผ่นดีวีดีของกลางเป็นภาพยนตร์เรื่องที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาต เมื่อโจทก์ไม่บรรยายฟ้องให้ปรากฏโดยชัดแจ้งหรือบรรยายฟ้องอ้างอิงไปยังเอกสารท้ายฟ้องที่มีชื่อภาพยนตร์เหล่านั้นปรากฏอยู่ จึงต้องถือว่าคำฟ้องของโจทก์ขาดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจยกฟ้องเสียได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14767/2558

ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อให้ตรวจสอบกรณีท้ายอุทธรณ์ของจำเลยผู้พิมพ์หรือผู้เขียนไม่ได้ลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานศาลต้องรายงานต่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อตรวจสอบและมีคำสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง และมาตรา 158 (7) ต่อไป แต่เจ้าพนักงานศาลกลับจัดทำหมายแจ้งถึง ช. ทนายจำเลยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนมาเพื่อให้ผู้พิมพ์หรือผู้เขียนลงลายมือชื่อในท้ายอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับหมายนี้ เสนอผู้พิพากษาศาลชั้นต้น โดยที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว กรณีเช่นนี้จะถือว่าศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 แล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการแก้ไข ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ เช่นนี้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 เพราะยังมิได้ล่วงเลยเวลาที่ควรปฏิบัติแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12156/2558

เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าศาลชั้นต้นนับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาอีกคดีชอบหรือไม่ และถึงที่สุดแล้ว จำเลยจะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการนับโทษต่อและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยใหม่โดยอ้าง ป.วิ.อ. มาตรา 160 และ ป.อ. มาตรา 91 อีกไม่ได้ เพราะหากศาลฎีกาฟังตามที่จำเลยอ้างแล้ววินิจฉัยให้เพิกถอนการนับโทษต่อและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลฎีกา ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558

ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157


ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)


การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180


โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362


ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11066/2558

คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นหมายถึงคดีที่การกระทำผิดอาญานั้นก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางแพ่งติดตามมาด้วย เมื่อศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องคดีส่วนอาญาแล้วมีคำสั่งให้ประทับฟ้องและหมายเรียกจำเลยแก้คดีย่อมเป็นการสั่งรับฟ้องคดีส่วนอาญาและคำฟ้องคดีส่วนแพ่งด้วยโดยไม่จำต้องสั่งรับฟ้องคดีส่วนแพ่งอีก ดังนี้ ในการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโจทก์จึงต้องฟ้องคดีแพ่งมาพร้อมกับคดีอาญาตั้งแต่แรก แต่คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องเฉพาะคดีในส่วนอาญาจนศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องและจำเลยให้การต่อสู้คดีแล้วโจทก์จึงมายื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องให้จำเลยรับผิดคดีในส่วนแพ่ง ซึ่งการขอเพิ่มเติมฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 164 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 นั้น ฟ้องเดิมจะต้องสมบูรณ์อยู่แล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเฉพาะคดีอาญาแล้วต่อมาได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องโดยขอให้จำเลยรับผิดในทางแพ่งโดยอ้างว่าโจทก์ต้องจ่ายเงินให้แก่บริษัท บ. ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. และนาย ท. จำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ ดังนี้คำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างความรับผิดทางแพ่งของจำเลยขึ้นมาใหม่ โจทก์จะมาขอเพิ่มเติมฟ้องเช่นนี้ไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8580/2558

จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยทั้งสองคดี โดยจำเลยถือโอกาสที่เป็นลูกจ้างลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมไป แม้ทรัพย์ที่จำเลยลักในคดีนี้มีประเภทของทรัพย์มากกว่าทรัพย์ที่จำเลยลักในคดีเดิมของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวกัน ทั้งการกระทำความผิดคดีนี้มีช่วงระยะเวลาบางช่วงที่จำเลยกระทำความผิดอยู่ในช่วงเวลาเดียวกับคดีดังกล่าว คดีนี้และคดีดังกล่าวจึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1032/2558

คดีนี้โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 กับพวกอีก 2 คน ทำหนังสือขอให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสมาคมชุดใหม่ โดยร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือดังกล่าวในฐานะสมาชิกสามัญของสมาคม ทั้งๆ ที่บุคคลที่ลงลายมือชื่อในหนังสือขอให้เรียกประชุมและผู้เข้าร่วมประชุมใหญ่บางคนมิได้เป็นสมาชิกสามัญของสมาคม แล้วนำเอกสารที่เกี่ยวข้องไปขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการสมาคมต่อนายทะเบียน แต่เมื่อหนังสือขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ถึง 23 กับพวกได้จัดทำขึ้นเองและลงลายมือชื่อของตนเอง นอกจากนั้นบัญชีรายชื่อร่วมการประชุมใหญ่วิสามัญก็มีผู้เข้าร่วมประชุมลงลายมือชื่อของตนเอง กรณีจึงเป็นการที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งแปดสิบสามได้ร่วมกันจัดทำเอกสารที่มีข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับฐานะของผู้จัดทำหนังสือขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญและผู้เข้าร่วมประชุมว่าเป็นสมาชิกสามัญ โดยที่บางคนมิได้เป็นสมาชิกสามัญ ซึ่งอาจมีผลให้การประชุมใหญ่วิสามัญของสมาคมไม่ชอบด้วยข้อบังคับของสมาคมเท่านั้น หาใช่เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ ทั้งมิใช่การลงลายมือชื่อปลอมหรือประทับตราปลอมลงในเอกสาร เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง นอกจากนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าจำเลยที่ 39 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในทะเบียนสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรวิทยา อันเป็นการรับรองเอกสารที่มีข้อความเป็นเท็จโดยไม่มีต้นฉบับอยู่จริงนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 39 มีหน้าที่รักษาการแทนนายทะเบียนสมาคม มีหน้าที่รับและจำหน่ายสมาชิก รักษาทำเนียบกับทำทะเบียนต่างๆ ของสมาคม ดังนั้นแม้จำเลยที่ 39 จัดทำทะเบียนสมาชิกของสมาคมอันเป็นความเท็จเพราะมีบุคคลจำนวนหนึ่งที่มิได้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์หรือสมาชิกสามัญมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนของสมาคม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 39 ซึ่งมีหน้าที่จัดทำทะเบียนสมาชิกของสมาคม ได้จัดทำและรับรองเอกสารอันมีข้อความเป็นเท็จเช่นกัน หาใช่เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งมิใช่การลงลายมือชื่อปลอมหรือประทับตราปลอมลงในเอกสาร เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงไม่


โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งแปดสิบสาม ในความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้ระบุรายละเอียดในฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดสิบสามได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่าอย่างไร และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการหรือเอกสารมหาชนว่าอย่างไร เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการหรือเอกสารมหาชน จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ศาลจึงต้องยกฟ้องตามมาตรา 161


โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งแปดสิบสาม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 49, 50, "และ 51 ซึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 49 เป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดใช้ชื่อซึ่งมีอักษรไทยประกอบคำว่า สมาคม"ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจโดยมิได้เป็นสมาคม เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าจำเลยทั้งแปดสิบสามร่วมกันกระทำการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรวิทยา โดยกระทำการในนามสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรซึ่งเป็นสมาคมตาม ป.พ.พ. การกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 49 และเมื่อสมาคมดังกล่าวเป็นสมาคมตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามจึงไม่เป็นการกระทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าเป็นสมาคมที่ได้จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. การกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 50 และ 51


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15243/2557

ความผิดฐานฟ้องเท็จเกิดขึ้นเมื่อมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาล การถอนฟ้องในระหว่างชั้นไต่สวนมูลฟ้องคงเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ตาม ป.อ. มาตรา 176

คำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อมีการยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องโดยลงลายมือชื่อโจทก์ทั้งสองมาในส่วนของคำขอท้ายฟ้องก่อนวันนัดไต่สวนมูลฟ้องและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ดังนี้ กรณีถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้สั่งโจทก์ให้แก้ฟ้องให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง จนเห็นได้ว่าเป็นฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688 - 1689/2557

เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งแปดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น โดยทำซ้ำงานศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับขายและเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานที่ได้ทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) (2) โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ครบองค์ประกอบของความผิดในส่วนของการกระทำที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์งานที่กฎหมายรับรองว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ และการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์เป็นไปตามวิธีการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งต้องบรรยายให้ปรากฏด้วยว่างานนั้นได้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อใดและหรือมีการโฆษณางานนั้นครั้งแรกเมื่อใด เพื่อแสดงให้เห็นว่าขณะเกิดเหตุงานดังกล่าวยังอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 19 แต่ในส่วนนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ข้อมูลแผนที่ดิจิทัลโดยได้รับโอนมาจากบริษัท จ. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2554 และข้อมูลแผนที่ดิจิทัลเป็นงานสร้างสรรค์ประเภทงานศิลปกรรม โดยไม่ได้บรรยายฟ้องหรือได้ความจากเอกสารท้ายคำฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องว่า บริษัท จ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลผู้สร้างสรรค์และโอนสิทธิ์ให้โจทก์ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้นเมื่อใดและหรือได้โฆษณางานนั้นเป็นครั้งแรกเมื่อใด จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นดังกล่าว อันเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ


การขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องปรากฏว่าฟ้องเดิมเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามกฎหมายมาแต่แรก โจทก์จึงจะขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องได้ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ขาดองค์ประกอบของความผิดอันเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาข้างต้น โจทก์จึงไม่อาจขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12670/2556

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนเมษายน 2548 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลาประมาณ 18.45 นาฬิกา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยเป็นคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศกัมพูชา เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางอำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว โดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง...อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนในคดีเดิมหมายเลขแดงที่ อย. 3475/2550 ของศาลชั้นต้น โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2548 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัดต่อเนื่องตลอดมาจนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2550 จำเลยเป็นคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศกัมพูชา เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรทางอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยไม่ผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง...อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เห็นได้ว่า เวลากระทำความผิดตามฟ้องคดีนี้กับคดีเดิมก่อนวันที่ 9 กันยายน 2552 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยพ้นโทษในคดีเดิมเป็นส่วนหนึ่งของเวลาเดียวกัน เมื่อฟ้องคดีนี้ระบุว่า จำเลยกระทำผิดระหว่างเดือนเมษายน 2548 เวลากลางวัน จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 เวลาประมาณ 18.45 นาฬิกา วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จึงอาจเป็นการกระทำความผิดก่อนวันที่ยังจะต้องรับโทษอยู่หรือก่อนวันพ้นโทษในวันที่ 9 กันยายน 2552 ดังที่ระบุในคำฟ้องคดีเดิมก็ได้ มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลังวันที่จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าว จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3136/2556

ในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด และเฮโรอีน 1 หลอดบิ๊ก ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจนำจำเลยที่ 1 ไปตรวจค้นที่บ้านพักพบเมทแอมเฟตามีน 4,800 เม็ด และเฮโรอีน 2 หลอดบิ๊ก กับอาวุธปืนลูกซอง 1 กระบอก โจทก์แยกฟ้องเป็น 2 คดี ทั้งที่ลักษณะความผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีเกี่ยวพันกัน ซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยที่ 1 ทุกกระทงความผิดเป็นคดีเดียวกัน และอาจพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ คดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลชั้นต้น จึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อของจำเลยที่ 1 จึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (3) คือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วจะเกินกว่า 50 ปี ไม่ได้ เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมีกำหนด 33 ปี 4 เดือน จึงนำโทษจำคุกในคดีนี้ไปนับต่อจากโทษในคดีดังกล่าวมีกำหนด 16 ปี 6 เดือน เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5135/2554

ในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องโดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคแรก ศาลชั้นต้นจะต้องพิจารณาคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์ก่อนว่ามีเหตุอันควรอนุญาตหรือไม่ แล้วจึงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แต่ศาลชั้นต้นกลับวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงวันเวลาที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์เสียก่อน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนของกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยในคดีนี้ได้โดยไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาครั้งที่ 2/2554)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8825/2554

ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า ธ. นำผู้เสียหายมาฝากไว้กับ ส. ภริยาของจำเลยช่วยดูแลเพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษาของผู้เสียหาย ดังนั้น อำนาจปกครองยังคงอยู่กับ ธ. ผู้เป็นบิดาของผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าเหตุฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 285


โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยหลายครั้งในระยะเวลาหลายวัน โดยมิได้บรรยายว่ากระทำผิดกี่กรรมและเมื่อใดบ้าง ไม่ชัดเจนว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยหลายกรรม ดังนี้ จำเลยย่อมมีความผิดเพียงกรรมเดียว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2553

การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง เมื่อจำเลยจัดทำใบเบิกเงินทดรองจ่ายซึ่งมีค่าใช้จ่ายไม่ตรงตามความเป็นจริง จึงเป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลก็มีอำนาจลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม


แม้คำขอบังคับในคดีนี้กับคดีของศาลแรงงานกลางจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้เนื่องมาจากการกระทำผิดอาญา ส่วนคดีของศาลแรงงานกลางมีที่มาจากมูลกรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงาน พนักงานอัยการไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วมไปและถูกฟ้องหลายคดี แต่คดีนี้และคดีอื่นมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 91 (1) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงทุกคดีแล้วจะเกิน 10 ปี ไม่ได้ คดีนี้จำเลยถูกลงโทษเต็มตามกำหนดโทษดังกล่าวแล้วย่อมไม่อาจนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากโทษคดีอื่นได้เพราะจะทำให้จำเลยได้รับโทษจำคุกเกินกำหนดที่ ป.อ. มาตรา 91 (1) บัญญัติไว้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2553

การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ร่วมมีหน้าที่เบิกจ่ายเงินของโจทก์ร่วมให้กับลูกค้าของโจทก์ร่วมได้ใช้โอกาสในหน้าที่ดังกล่าวจัดทำใบเบิกจ่ายล่วงหน้าระบุว่ามีค่าใช้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย ค่าผ่านท่าและค่ารถยก อันเป็นข้อความเท็จ หลอกลวงโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมหลงเชื่อยินยอมมอบเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้จำเลยไปจำนวน 353 ครั้ง จึงมิใช่การเอาเงินของโจทก์ร่วมไปโดยพลการโดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จในใบเบิกเงินทดรองจ่ายว่าต้องนำเงินไปชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว การอนุมัติให้จำเลยเบิกเงินไปเกิดจากการที่พนักงานและกรรมการของโจทก์ร่วมหลงเชื่อข้อความในเอกสาร จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม


คำขอบังคับในคดีนี้กับคดีของศาลแรงงานกลางแม้จะมีลักษณะอย่างเดียวกัน คือขอให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคดีนี้โจทก์ฟ้องและขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญา ส่วนคดีของศาลแรงงานกลางที่มีมาจากมูลกรณีการผิดสัญญาจ้างแรงงาน โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้างแรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกัน อันเป็นการฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)


ขณะที่จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้และในคดีอื่นนั้น จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในทุกคดี โดยจำเลยถือโอกาสที่เป็นพนักงานกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยมีเจตนาฉ้อโกงเงินของโจทก์ร่วมไป คดีนี้และคดีอื่นจึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับมาตรา 91 (1) กล่าวคือ เมื่อลงโทษจำคุกทุกกระทงทุกคดีแล้วจะเกิน 10 ปี ไม่ได้ คดีนี้จำเลยถูกลงโทษเกินกำหนดดังกล่าวแล้วจึงย่อมไม่อาจนำโทษคดีนี้ไปนับต่อจากคดีอื่นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5843/2552

มูลคดีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง ข้อ 1.4 โดยร่วมกันปลอมและประทับดวงตราปลอม และลงลายมือชื่อปลอมบัตรประจำตัวบุคคลพื้นที่สูงอันเป็นเอกสารราชการ ปลอมหนังสืออนุญาตให้บุคคลพื้นที่สูงออกนอกเขตที่พักอาศัยหรือพื้นที่ออกบัตรเป็นการชั่วคราวอันเป็นเอกสารราชการและประทับดวงตราปลอมและลงลายมือชื่อปลอม ปลอมแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงอันเป็นเอกสารราชการ และปลอมทะเบียนบ้านของบุคคลที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรให้แก่บุคคล 1 คน โดยบรรยายฟ้องว่าเป็นการกระทำความผิดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2547 เวลากลางวัน พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดดังกล่าวในคราวเดียวกัน ด้วยมีเจตนาที่จะปลอมเอกสารดังกล่าวต่อเนื่องกันเพื่อให้เอกสารบริบูรณ์เท่านั้น หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันแต่อย่างใดไม่ แม้จะมีการใช้ดวงตราปลอมในเอกสาร 2 ฉบับ ก็ตาม ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้ดวงตราปลอม 2 กรรม การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว


ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.5 ถึง ข้อ 1.7 โดยบรรยายฟ้องในแต่ละข้อว่า ร่วมกันปลอมเอกสารข้อละประเภทเอกสารให้แก่บุคคล 3 คน ในคราวเดียวกันการปลอมเอกสารดังกล่าวเป็นการปลอมเอกสารด้วยมีเจตนาต่อเนื่องกันเพื่อให้เอกสารบริบูรณ์เท่านั้น หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกัน ส่วนที่ในฟ้องแต่ละข้อแม้จะเป็นการปลอมเอกสารของบุคคลต่างคนรวม 3 คน ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษเป็นกรรมเดียว ทั้งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำแต่ละข้อเป็นความผิดกรรมเดียว โจทก์ก็ไม่อุทธรณ์โต้แย้ง โจทก์จึงไม่อาจยกขึ้นฎีกาอีก

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7737/2552

จำเลยรับราชการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเลิศสิน มีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการคือตรวจและรักษาคนไข้ การที่จำเลยไปเบิกความเกี่ยวกับการตรวจร่างกายโจทก์ที่โรงพยาบาลศิริราชขณะ จำเลยเป็นนักศึกษาแพทย์ จึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่จำเลยได้รับมอบหมายจากทางราชการ การกระทำของจำเลยไม่มีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ


แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม จะบัญญัติว่า ก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น แต่ตามบทมาตราดังกล่าวก็บัญญัติให้สิทธิจำเลยตั้งทนายเข้าซักค้านพยานโจทก์ ได้ ดังนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำแถลงการณ์ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงจากพยาน หลักฐานที่โจทก์นำมาไต่สวนว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลได้ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6996/2551

คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนของคำขอท้ายฟ้อง โดยขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 ด้วย แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 34 (4), 157 โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาและคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น โดยอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามคำร้องแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณา พิพากษาใหม่ตามรูปคดี กรณีจึงทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เช่นนี้ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196


โจทก์ได้บรรยายรายละเอียดในคำฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 แล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมข้อความว่า ป.อ. มาตรา 300 ที่คำขอท้ายฟ้องนั้น จึงเป็นเพียงการเพิ่มเติมฐานความผิดเท่านั้นและจำเลยย่อมทราบข้อหาตามคำฟ้อง ดีอยู่แล้วจึงไม่ต้องมีการแจ้งข้อหาหรือสอบสวนเพิ่มเติมในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 อีก และไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย กรณีจึงมีเหตุอันสมควรในการขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ทั้งได้ความด้วยว่าจำเลยให้การปฏิเสธลอยๆ โดยมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ ต่อมาภายหลังจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยหลงต่อสู้ เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวเป็นเพียงการเพิ่มเติมฐานความผิดและ จำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ทั้งโจทก์ยื่นคำร้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ที่จะแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้นชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 163, 164 แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4575/2551

การกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยมิได้เกิดในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราช แต่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง นครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราชและอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราช พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องต่อศาลแขวงนครศรีธรรมราชตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 (1)


การขอแก้ไขคำให้การ จำเลยสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง เท่านั้น อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาล การที่จำเลยขอเพิกถอนคำให้การรับสารภาพเป็นให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ เท่ากับจำเลยยื่นคำให้การใหม่โดยขอถอนคำให้การเดิม ซึ่งมีผลเป็นการแก้ไขคำให้การหลังจากที่ได้ให้การรับสารภาพแล้วถึง 1 ปี โดยอ้างเหตุว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์นำคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราชมาฟ้องรวมกันเป็นการ ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความและอ้างว่าจำเลยไม่เข้าใจจึงรับสารภาพ เพื่อให้เรื่องจบเท่านั้น เป็นการให้การปฏิเสธภายหลังจำเลยผิดนัดชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมแล้ว เพื่อให้มีการสืบพยานต่อไปอีกถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประวิงคดี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันควร ไม่ชอบที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2551

ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาตก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์" ซึ่งหมายความว่า หากจำเลยประสงค์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การ จำเลยจะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การเพราะเหตุใด มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลยทั้งนี้ ศาลมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุผลที่จำเลยอ้างอิงในคำร้องว่าเป็นเหตุผลอันสมควรอนุญาต หรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันนัดสอบคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความ จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ศาลชั้นต้นจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพ ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้งหนึ่ง จำเลยยังคงยืนยันให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย โดยจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณาศาลชั้นต้นให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 มิถุนายน 2547 แต่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จำเลยขอยื่นคำให้การฉบับใหม่เป็นให้การปฏิเสธในความผิดฐานพรากเด็กอายุยัง ไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร โดยอ้างว่าไม่เข้าใจข้อกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วถึง 2 ครั้ง จำเลยก็ให้การรับสารภาพ ซึ่งแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาในความผิดฐานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว การที่จำเลยขอถอนคำให้การรับสารภาพและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องโจทก์ใน ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร หลังจากที่ให้การรับสารภาพมาแล้วประมาณ 2 เดือนเศษ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยไม่เข้าใจข้อกฎหมายนั้น เห็นได้ว่าเป็นการให้การปฏิเสธเพื่อให้มีการสืบพยานต่อไปอีกส่อไปในทาง ประวิงคดีให้ล่าช้า จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2550

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อ กฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2550

หลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว โจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดขัอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 ประกอบมาตรา 181 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ดังนี้ คำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้ พิจารณาใหม่ของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ประกอบมาตรา 225 จำเลยจึงฎีกาคำสั่งดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4825/2549

ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าว จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่มีอำนาจยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยอีก การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานดัง กล่าวด้วยแม้จะไม่ได้กำหนดโทษ ก็เป็นการไม่ชอบ ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้เป็นคนร้ายคดีนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาอาวุธปืน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1967/2549

ศาลนัดสืบพยานโจทก์เวลา 9 นาฬิกา โจทก์มีหน้าที่ต้องมาศาลตามกำหนดนัด แม้ น. พนักงานอัยการโจทก์เจ้าของสำนวนจะมาที่ศาลแล้วแต่ก็มิได้เข้าห้องพิจารณา น. คงไปทำหน้าที่แทนพนักงานอัยการในคดีอื่นและทำหน้าที่อื่น โจทก์อ้างว่าจะมีพนักงานอัยการคนอื่นมาว่าความแทนโจทก์โดยโจทก์เองไม่ได้ใส่ ใจว่าที่แท้จริงแล้วมีพนักงานอัยการคนอื่นมาทำหน้าที่แทนหรือไม่ ทั้งที่เจ้าหน้าที่ศาลได้ประกาศเรียกโจทก์ให้เข้าห้องพิจารณาตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา ศาลรอจนกระทั่งเวลา 11.15 นาฬิกา โจทก์ก็ไม่เข้าห้องพิจารณาคดีแถลงให้ศาลทราบถึงเหตุขัดข้องของโจทก์ ดังนี้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์เชื่อว่าจะมีพนักงานอัยการคนอื่นมาทำหน้าที่แทน แล้วเพื่อให้เห็นว่าโจทก์มิได้มีเจตนาที่จะจงใจหรือไม่ใส่ใจในกำหนดนัดของศาลหาได้ไม่ เหตุที่โจทก์เชื่อดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9072 - 9074/2549

ศาลชั้นต้นไม่ประทับฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรือละเว้นกระทำการตามหน้าที่มิให้มีการยกเลิกการใช้ชื่อของโจทก์ใน เอกสารของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีมูลให้พอฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 264, 268 และ 269 จึงเท่ากับศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ร่วมรู้เห็นกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และตามกฎหมายความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล การที่ศาลชั้นต้นประทับฟ้องจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำอันเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เกิดจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 โดยตรง อันเป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264, 268 และ 269 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 ประกอบมาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7096/2549

คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 โจทก์ยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า กรณีศาลมีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูล โจทก์ย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง ให้ยกคำร้อง และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ จึงไม่ชอบ และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพียงแต่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยมิได้สั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับ อุทธรณ์และคำสั่งตามคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงของศาลชั้น ต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ชั้นสั่งรับอุทธรณ์เสียใหม่ให้ถูก ต้อง เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่ศาลฎีกาเห็นเป็นการจำเป็นที่จะยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3920/2549

โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยขอแก้บทลงโทษจาก พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 40, 42, 65, 66, 70 ทวิ เป็นมาตรา 21, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 70, 71 ซึ่งเป็นการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง, 164 เมื่อจำเลยไม่ค้านและศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง จำเลยย่อมีสิทธิยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การได้ เมื่อจำเลยไม่ยื่นคำร้องดังกล่าว แสดงว่าจำเลยรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้ในฐานะความผิดที่โจทก์ขอแก้ไขเพิ่ม เติมฟ้องนั้น ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามคำฟ้องที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมได้


กฎหมายล้มละลายเพียงบัญญัติมิให้บุคคลที่ถูกพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีในทาง แพ่งด้วยตนเอง หรือก่อหนี้สินขึ้นอีกในระหว่างถูกพิทักษ์ทรัพย์ มิได้คุ้มครองให้ผู้กระทำผิดอาญาพ้นผิดไปด้วย ทั้งจำเลยกระทำความผิดก่อนจะถูกพิทักษ์ทรัพย์และไม่เกี่ยวข้องกับการถูก พิทักษ์ทรัพย์ในภายหลัง ศาลจึงพิพากษาลงโทษปรับจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4702/2548

ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 บัญญัติให้โจทก์อาจฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ หากจะฟ้องด้วยวาจาตามวรรคสองของบทบัญญัติดังกล่าวให้โจทก์ต้องแจ้งต่อศาลถึง ชื่อโจทก์ ชื่อที่อยู่ และสัญชาติของจำเลย ฐานความผิด การกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับเวลา สถานที่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี และมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งศาลจะบันทึกใจความไว้เป็นหลักฐานและให้คู่ความลงชื่อไว้ วิธีปฏิบัติดังกล่าวโจทก์จึงต้องมาศาล กล่าวฟ้องจำเลยต่อศาลด้วยวาจาให้ได้สาระดังกล่าว


การนำบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจามาเสนอต่อศาล ชั้นต้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ของศาลได้ประทับตราพนักงานรับฟ้องไว้ โดยสภาพบันทึกดังกล่าวจึงไม่ใช่การฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วยวาจา แต่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานเพื่อจะฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาด้วยวาจา และเป็นความสะดวกที่ศาลจะบันทึกการฟ้องด้วยวาจาลงในแบบพิมพ์ของศาลได้รวด เร็วขึ้นเท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันดังกล่าวจึงไม่อาจมีการฟ้องคดีด้วยวาจาได้ ศาลจึงไม่อาจพิจารณาพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดได้ และจะพิพากษายกฟ้องก็ไม่ได้เพราะยังไม่มีฟ้อง แต่ต้องสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2548

ป.วิ.อ. มาตรา 220 ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตาม ป.วิ.อ. มาตา 166 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 724/2548

โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานนัดต่อมาเพราะสำคัญผิดเนื่องจากจำวันนัดผิด เป็นเรื่องความบกพร่องหรือประมาทเลินเล่ออันเป็นความผิดพลาดของทนายโจทก์เอง ที่จำวันนัดคลาดเคลื่อน ถือไม่ได้ว่ามีเหตุผลสมควรเพียงพอที่จะอนุญาตให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2548

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยบรรยายฟ้องในข้อหานี้เพียงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์กับพวกไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับร่วมกันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีแก่โจทก์กับพวกเป็นเหตุให้ โจทก์กับพวกถูกควบุคมตัวเป็นผู้ต้องหา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง สิทธิเสรีภาพของโจทก์กับพวก เท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการบ่าย เบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกแต่อย่างใด ดังนั้นแม้จะได้ความตามทางพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีพฤติการณ์ในทางบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของ โจทก์กับพวกก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวนั้นได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง" กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 4 ไม่ควรต้องรับโทษและศาลต้องยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะเห็นว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 มีมูลและสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้วก็ตาม แต่ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาล อุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ได้

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2548)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6168/2548

โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและฐานพาอาวุธปืนไปใน เมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะ ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อสืบพยานโจทก์และโจทก์ร่วมไปได้ 2 ปาก โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นว่าจำเลยกับพวกกระทำความผิดฐานร่วม กันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นการบรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นส่วนสำคัญเพิ่มเติมว่าจำเลยกับพวกร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งมิได้ปรากฏในฟ้องเดิม หาได้เป็นการแก้หรือเพิ่มเติมฐานความผิดที่ต้องแถลงหรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 164 ไม่ เมื่อเป็นดังนี้ ข้อเท็จจริงตามคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องจึงเพิ่งปรากฏในชั้นพิจารณาของศาล หาได้ปรากฏตั้งแต่ในชั้นสอบสวนไม่ ถือว่าพนักงานสอบสวนยังมิได้มีการสอบสวนในความฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดย ไตร่ตรองไว้ก่อน โจทก์ฟ้องคดีในความผิดที่ยังไม่มีการสอบสวนไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในข้อนี้ไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2151/2548

คดีราษฎรฟ้องความอาญาต่อศาล ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 165 วรรคสาม ตอนท้าย บัญญัติว่าก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น ในชั้นนี้จำเลยจึงไม่มีฐานะเป็นคู่ความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวน มูลฟ้องต่อไป เป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7178/2547

บทบัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 และ 181 ได้กำหนดหน้าที่ของโจทก์ว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาคดี โจทก์จะต้องมาศาลตามนัด มิฉะนั้นให้ศาลยกฟ้องเสียเว้นแต่จะมีเหตุสมควรจึงจะให้เลื่อนคดีไป บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะเร่งรัดการดำเนิน กระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็วมิให้มีการประวิงคดี จึงกำหนดมาตรการดังกล่าวเพื่อให้โจทก์ปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดในวันนัดสืบ พยานโจทก์แม้จะมีพนักงานอัยการอื่นที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำอยู่ที่ศาลชั้นต้น หาใช่มีฐานะเป็นเจ้าของสำนวนและก็หาได้มีพนักงานอัยการคนใดมาแถลงให้ศาลชั้น ต้นทราบเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปไม่ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของสำนวนต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในหน้าที่การงานของตนจะ ผลักภาระความรับผิดชอบของตนให้แก่พนักงานอัยการอื่นหาสมควรไม่ การที่โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดในกรณีดังกล่าว ถือเป็นความผิดพลาดบกพร่องของโจทก์เอง กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะยกคดีโจทก์ขึ้นพิจารณาใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2544

คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโดยไม่นัดไต่สวนมูลฟ้องหรือนัดไต่สวนมูลฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องหรือไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องก็ได้ ทั้งสิ้น เพราะเป็นดุลพินิจในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วและชอบ ด้วยกฎหมาย ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอจะวินิจฉัยชี้ขาดได้ และมีคำสั่งให้งดการไต่สวนมูลฟ้องและนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาไป ย่อมมีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1889/2541

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่าคดีโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา หมายเรียกจำเลยมาศาลและให้การแก้คดี แต่จำเลยไม่มาตามนัดศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับและให้จำหน่ายคดีชั่วคราว การที่โจทก์ยื่นคำร้องว่าหมายจับคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงเกี่ยวกับวัน เริ่มต้นนับอายุความศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ ปฏิเสธการจ่ายหลังสุด ให้เพิกถอนหมายจับเดิมแล้วออกหมายจับจำเลยใหม่โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำสั่งศาลเรื่องการออกหมายจับเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาจึงไม่รับอุทธรณ์ โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว ไม่ใช่เป็นคำสั่งให้จำหน่ายคดีโดยเด็ดขาดเมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งใด ๆ ของศาลชั้นต้นในระหว่างนี้เป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามมิให้ อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นเช่นนี้ คำสั่งศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 ทวิ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาได้อีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8156/2540

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177,264,265,267, 83,86,91 ศาลชั้นต้น ไต่สวนมูลฟ้องแล้ว มีคำสั่งว่า คดีโจทก์สำหรับ จำเลยที่ 1 มีมูลทุกข้อหา ดังนั้น คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลสำหรับ จำเลยที่ 1 ย่อมเด็ดขาด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 170 โจทก์อุทธรณ์ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2เห็นว่าความผิดฐานเบิกความเท็จสำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้น สั่งมีมูลมานั้นเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 แล้วมี คำพิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในข้อหา เบิกความเท็จ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170