การชันสูตรพลิกศพ

หมวด ๒

การชันสูตรพลิกศพ

มาตรา ๑๔๘ เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติหรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ เว้นแต่ตายโดยการประหารชีวิตตามกฎหมาย


การตายโดยผิดธรรมชาตินั้น คือ

(๑) ฆ่าตัวตาย

(๒) ถูกผู้อื่นทําให้ตาย

(๓) ถูกสัตว์ทําร้ายตาย

(๔) ตายโดยอุบัติเหตุ

(๕) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

มาตรา ๑๔๙ ความตายผิดธรรมชาติเกิดมีขึ้น ณ ที่ใด ให้เป็นหน้าที่ของสามีภริยา ญาติมิตรสหายหรือผู้ปกครองของผู้ตายที่รู้เรื่องการตายเช่นนั้นจัดการ ดังต่อไปนี้

(๑) เก็บศพไว้ณ ที่ซึ่งพบนั้นเองเพียงเท่าที่จะทําได้

(๒) ไปแจ้งความแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตํารวจโดยเร็วที่สุด

หน้าที่ดังกล่าวในวรรคต้นนั้นมีตลอดถึงผู้อื่น ซึ่งได้พบศพในที่ซึ่งไม่มีสามีภริยา ญาติมิตรสหาย หรือผู้ปกครองของผู้ตายอยู่ในที่นั้นด้วย

ผู้ใดละเลยไม่กระทําหน้าที่ดังบัญญัติไว้ในมาตรานี้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท


มาตรา ๑๕๐ ในกรณีที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตรหรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทําการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว ถ้าแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของรัฐปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจําโรงพยาบาลของรัฐไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้แพทย์ประจําสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดปฏิบัติหน้าที่ ถ้าแพทย์ประจําสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ขึ้นทะเบียนเป็นแพทย์อาสาสมัครตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ให้แพทย์ประจําโรงพยาบาลของเอกชนหรือแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้น เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทําบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพทันทีและให้แพทย์ดังกล่าวทํารายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดแห่งการชันสูตรพลิกศพด้วยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง ถ้ามีความจําเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจําเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพรายงานดังกล่าวให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสํานวนชันสูตรพลิกศพ และในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทําผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวนส่งสํานวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้น


การชันสูตรพลิกศพโดยเร็วและให้พนักงานอัยการดําเนินการต่อไปตามมาตรา ๑๕๖ ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนแจ้งแก่ผู้มีหน้าที่ไปทําการชันสูตรพลิกศพทราบและก่อนการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้สามีภริยา ผู้บุพการีผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายอย่างน้อยหนึ่งคนทราบเท่าที่จะทําได้


ในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทําของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่


ให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองตําแหน่งตั้งแต่ระดับปลัดอําเภอหรือเทียบเท่าขึ้นไปแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่เป็นผู้ชันสูตรพลิกศพร่วมกับพนักงานสอบสวนและแพทย์ตามวรรคหนึ่ง และให้นําบทบัญญัติในวรรคสองมาใช้บังคับเมื่อได้มีการชันสูตรพลิกศพตามวรรคสามแล้ว ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนทําสํานวนชันสูตรพลิกศพให้เสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งถ้ามีความจําเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวันแต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจําเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพ


เมื่อได้รับสํานวนชันสูตรพลิกศพแล้ว ให้พนักงานอัยการทําคําร้องขอต่อศาลชั้นต้นแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ เพื่อให้ศาลทําการไต่สวนและทําคําสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใดและถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ถ้าตายโดยคนทําร้ายให้กล่าวว่าใครเป็นผู้กระทําร้ายเท่าที่จะทราบได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสํานวน ถ้ามีความจําเป็น ให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน แต่ต้องบันทึกเหตุผลและความจําเป็นในการขยายระยะเวลาทุกครั้งไว้ในสํานวนชันสูตรพลิกศพ


ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง วรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามคําสั่งของพนักงานอัยการ


ในการไต่สวนตามวรรคห้า ให้ศาลปิดประกาศแจ้งกําหนดวันที่จะทําการไต่สวนไว้ที่ศาล และให้พนักงานอัยการยื่นคําร้องต่อศาลขอให้ศาลส่งสําเนาคําร้องและแจ้งกําหนดวันนัดไต่สวนให้สามีภริยา ผู้บุพการีผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายตามลําดับอย่างน้อยหนึ่งคนเท่าที่จะทําได้ทราบก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่าสิบห้าวันและให้พนักงานอัยการนําพยานหลักฐานทั้งปวงที่แสดงถึงการตายมาสืบ


เมื่อศาลได้ปิดประกาศแจ้งกําหนดวันที่จะทําการไต่สวนแล้ว และก่อนการไต่สวนเสร็จสิ้น สามีภริยา ผู้บุพการีผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิยื่นคําร้องต่อศาลขอเข้ามาซักถามพยานที่พนักงานอัยการนําสืบและนําสืบพยานหลักฐานอื่นได้ด้วย


เพื่อการนี้สามีภริยา ผู้บุพการีผู้สืบสันดาน ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาล หรือญาติของผู้ตายมีสิทธิแต่งตั้งทนายความดําเนินการแทนได้หากไม่มีทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งจากบุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดีให้ศาลตั้งทนายความขึ้นเพื่อทําหน้าที่ทนายความฝ่ายญาติผู้ตาย


เมื่อศาลเห็นสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจะเรียกพยานที่นําสืบมาแล้วมาสืบเพิ่มเติมหรือเรียกพยานหลักฐานอื่นมาสืบก็ได้และศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการไต่สวนและทําคําสั่ง แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิของผู้นําสืบพยานหลักฐานตามวรรคแปดที่จะขอให้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญอื่นมาให้ความเห็นโต้แย้งหรือเพิ่มเติมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว


คําสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้ถึงที่สุด แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิฟ้องร้อง และการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล หากพนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นได้ฟ้องหรือจะฟ้องคดีเกี่ยวกับการตายนั้น


เมื่อศาลได้มีคําสั่งแล้ว ให้ส่งสํานวนการไต่สวนของศาลไปยังพนักงานอัยการ เพื่อส่งแก่พนักงานสอบสวนดําเนินการต่อไปแพทย์ตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานผู้ได้ทําการชันสูตรพลิกศพ และผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลขอให้มาให้ความเห็นตามมาตรานี้มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน หรือค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทางและค่าเช่าที่พัก ตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกําหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลังส่วนทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรานี้มีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกับทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรา ๑๗๓


มาตรา ๑๕๐ ทวิ ผู้ใดกระทําการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น ในประการที่น่าจะทําให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป เว้นแต่จําเป็นต้องกระทําเพื่อป้องกันอันตรายแก่อนามัยของประชาชนหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ


ถ้าการกระทําความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทําโดยทุจริตหรือเพื่ออําพรางคดีผู้กระทําต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กําหนดไว้สําหรับความผิดนั้น


มาตรา ๑๕๑ ในเมื่อมีการจําเป็นเพื่อพบเหตุของการตาย เจ้าพนักงานผู้ทําการชันสูตรพลิกศพมีอํานาจสั่งให้ผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใด หรือจะให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้


มาตรา ๑๕๒ ให้แพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลปฏิบัติดังนี้


(๑) ทํารายงานถึงสภาพของศพ หรือส่วนของศพตามที่พบเห็นหรือตามที่ปรากฏจากการตรวจพร้อมทั้งความเห็นในเรื่องนั้น


(๒) แสดงเหตุที่ตายเท่าที่จะทําได้


(๓) ลงวันเดือนปีและลายมือชื่อในรายงาน แล้วจัดการส่งไปยังเจ้าพนักงานผู้ทําการชันสูตรพลิกศพ


มาตรา ๑๕๓ ถ้าศพฝังไว้แล้ว ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดศพขึ้นเพื่อตรวจดูเว้นแต่จะเห็นว่าไม่จําเป็นหรือจะเป็นอันตรายแก่อนามัยของประชาชน


มาตรา ๑๕๔ ให้ผู้ชันสูตรพลิกศพทําความเห็นเป็นหนังสือแสดงเหตุและพฤติการณ์ที่ตาย ผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด ถ้าตายโดยคนทําร้าย ให้กล่าวว่าใครหรือสงสัยว่าใครเป็นผู้กระทําผิดเท่าที่จะทราบได้


มาตรา ๑๕๕ ให้นําบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการสอบสวนมาใช้แก่การชันสูตรพลิกศพโดยอนุโลม


ให้นําบทบัญญัติในมาตรา ๑๗๒ ตรีมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การไต่สวนของศาลตามมาตรา ๑๕๐ ในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี


มาตรา ๑๕๕/๑ การสอบสวนในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทําของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือในกรณีที่ผู้ตายถูกกล่าวหาว่าต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้พนักงานอัยการเข้าร่วมกับพนักงานสอบสวนในการทําสํานวนสอบสวน


การทําสํานวนสอบสวนตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบโดยพนักงานอัยการอาจให้คําแนะนํา ตรวจสอบพยานหลักฐาน ถามปากคํา หรือสั่งให้ถามปากคําบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ตั้งแต่เริ่มการทําสํานวนสอบสวนนับแต่โอกาสแรกเท่าที่จะพึงกระทําได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวง


ในกรณีจําเป็นเร่งด่วนและมีเหตุอันควรไม่อาจรอพนักงานอัยการเข้าร่วมในการทําสํานวนสอบสวนให้พนักงานสอบสวนทําสํานวนต่อไปได้แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอพนักงานอัยการไว้ในสํานวนและถือว่าเป็นการทําสํานวนสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย


มาตรา ๑๕๖ ให้ส่งสํานวนชันสูตรพลิกศพในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทําผิดอาญาไปยังข้าหลวงประจําจังหวัด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7430/2557

ศาลชั้นต้นเห็นว่า การชันสูตรพลิกศพตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 แพทย์ต้องตรวจดูศพด้วยตนเอง การที่แพทย์ยืนยันตัวผู้ตายกับพนักงานสอบสวนและตรวจดูภาพถ่ายและเอกสารต่าง ๆ แทนการตรวจชันสูตรพลิกศพ จึงมิใช่การชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นจะต้องทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน เมื่อใด รวมถึงเหตุและพฤติการณ์ที่ตายว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือไม่ อย่างไร และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่ารู้ว่าใครเป็นผู้ทำให้ตายก็ให้ระบุถึงบุคคลดังกล่าวด้วย ศาลชั้นต้นไม่อาจมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นไปได้ เท่ากับผู้ร้องอุทธรณ์ว่าคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว กรณีไม่ใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 วรรคห้า ซึ่งจะถึงที่สุดตามมาตรา 150 วรรคสิบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21697/2556

ศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมีอำนาจทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพต่อเมื่อคดีนั้นอยู่ในอำนาจของศาลนั้น และการไต่สวนและมีคำสั่งนั้นเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. กรณีไม่อาจนำ ป.วิ.อ. ใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 45 ได้ เพราะตามคำร้องผู้กระทำความผิดต่อผู้ตายเป็นพลทหารกองประจำการ ซึ่งต้องถูกฟ้องยังศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 13 และมาตรา 16 (3) คดีของผู้กระทำความผิดดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือน แม้การไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพของศาลชั้นต้นไม่ใช่การฟ้องคดีต่อผู้กระทำให้ตายดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในฎีกา แต่ก็เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 150 วรรคห้า และวรรคสิบเอ็ด ดังนี้ ศาลพลเรือนจะรับไต่สวนและทำคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพได้ก็เฉพาะแต่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือน มิใช่ว่าเมื่ออัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์เห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารและต้องดำเนินคดีในศาลพลเรือน แล้วอัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ส่งสำนวนการสอบสวนให้ผู้ร้องเพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. ซึ่งผู้ร้องจะส่งสำนวนกลับคืนไปยังอัยการจังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ไม่ได้ จะทำให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนต้องไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพคดีนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239 - 4240/2542

แม้การที่พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาออกนอกพื้นที่ที่ทำการของกองปราบปราม เพื่อตรวจค้นตามหมายค้นจะเป็นการนอกเหนือจากคำร้องขอฝากขังที่ระบุว่าขอรับ ตัวผู้ต้องหาไปควบคุมยังที่ทำการของกองปราบปรามเพื่อให้พยานชี้ตัว แต่ก็ยังได้อ้างเหตุที่ต้องขออนุญาตฝากขังด้วยว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 15 ปาก ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนพยานหรือกระทำการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อให้การ สอบสวนเสร็จสิ้นได้ มิได้จำกัดเพียงให้พยานชี้ตัวผู้ต้องหาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายเสร็จแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ผู้ต้องหาจะร้องขอให้แพทย์ในหน่วยนิติเวชของโรงพยาบาลรามาธิบดีตรวจพิสูจน์ศพ เพื่อใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 อีกได้เพราะการชันสูตรพลิกศพเป็นการสอบสวนความผิดอาญาอย่างหนึ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ได้ระบุผู้มีหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพไว้แล้วคือ พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับสาธารณสุขจังหวัด หรือแพทย์ประจำสถานีอนามัยหรือแพทย์ประจำโรงพยาบาลถ้าบุคคลดังกล่าวไม่มี หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ใช้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขประจำท้องที่ หรือแพทย์ประจำตำบลนอกจากนี้มาตรา 151 ได้ให้อำนาจผู้ทำการชันสูตรพลิกศพทำการผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใดหรือจะให้ส่ง ทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้ และมาตรา 153 ยังให้อำนาจผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดศพขึ้นเพื่อตรวจดูได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติไว้โดยเฉพาะในภาค 2 ลักษณะ 2 หมวด 2 แล้วจึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 มาอนุโลมบังคับหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2539

จำเลยได้ทำร้ายผู้ตายหลังจากนั้นจำเลยจึงไปแจ้งความว่าผู้ตายบุกรุกเจ้าพนักงาน ตำรวจนำตัวผู้ตายส่งโรงพยาบาลและต่อมาถึงแก่ความตายพนักงานสอบสวนจึงร่วมกับ แพทย์ชันสูตรพลิกศพผู้ตายไว้โดยที่ขณะผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายนั้นผู้ตายมิได้ เป็นผู้ต้องหาในข้อหาบุกรุกและมิได้อยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานแต่ อย่างใดแม้ผู้ตายจะถึงแก่ความตายในระหว่างที่เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวส่งโรง พยาบาลก็ไม่ใช่กรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้าง ว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่จึงไม่ใช่กรณีที่ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา150วรรคสามเมื่อพนักงานสอบสวนและแพทย์ทำการชัันสูตรพลิกศพเสร็จแล้วพนักงานอัยการโจทก์จึงมี อำนาจฟ้องจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2376/2515

ศาลพลเรือนจะทำการไต่สวนและมีคำสั่งในการชันสูตรพลิกศพแต่เฉพาะคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนเท่านั้น


แม้การไต่สวนและทำคำสั่งของศาลชั้นต้นตามความในวรรคสามแห่งมาตรา 150 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อาจเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสอบสวน แต่ก็เป็นวิธีการพิเศษที่บัญญัติให้ศาลต้องเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในชั้นสอบ สวน เมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง ให้ศาลทหารมีอำนาจเข้าเกี่ยวข้องในชั้นสอบสวน และพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร มิได้บัญญัติวิธีการพิเศษให้ศาลเข้าเกี่ยวข้องในการสอบสวนด้วย ก็หาใช่เรื่องที่ศาลพลเรือนมีอำนาจดำเนินการแทนด้วยไม่ และเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสอบสวนย่อมไม่ต้องดำเนินการดังที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม

(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 30/2515)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 528/2508

จำเลย ที่ 1 ไปชันสูตรพลิกศพและทำรายงานชันสูตรพลิกศพจำเลยที่ 2 และอนามัยอำเภอไม่ได้ไปชันสูตรพลิกศพ แต่ได้ลงชื่อในรายงานนั้นในภายหลัง จำเลยที่ 1 ได้ทำรายงานชันสูตรพลิกศพแสดงรายละเอียดตามที่กฎหมายกำหนด และตามความจริง ศาลฟังข้อเท็จจริงว่านายประสิทธิบุตรชายโจทก์ตายเพราะพิษบาดแผลที่ถูกกระสุน ปืนโดยนายงามเป็นผู้ทำให้ตาย การที่นายงามทำให้นายประสิทธิตายจะกระทำโดยมีเจตนาฆ่าให้ตายหรือกระทำโดย ประมาท เป็นเหตุให้นายประสิทธิตายก็ตามก็ต้องแล้วแต่พยานหลักฐาน ไม่เกี่ยวกับรายงานชันสูตรพลิกศพแต่อย่างใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 และอนามัยอำเภอจะลงชื่อในรายงานชันสูตรพลิกศพในภายหลังโดยที่ไม่ได้ร่วม ชันสูตรพลิกศพด้วยก็ตามก็มิได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแต่อย่างใดโจทก์ จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยตรงจึงไม่มีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2530

การชันสูตรพลิกศพเป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมพยานหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยชอบแล้ว แม้ไม่มีการชันสูตรพลิกศพก็หาเป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องไม่