จับ ขัง จำคุก

มาตรา ๗๗  หมายจับให้ใช้ได้ทั่วราชอาณาจักร

การจัดการตามหมายจับนั้นจะจัดการตามเอกสารหรือหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้

(๑) สำเนาหมายอันรับรองว่าถูกต้องแล้ว

(๒) โทรเลขแจ้งว่าได้ออกหมายแล้ว

(๓) สำเนาหมายที่ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา


การจัดการตาม (๒) และ (๓) ให้ส่งหมายหรือสำเนาอันรับรองแล้วไปยังเจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายโดยพลัน


มาตรา ๗๘  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่


(๑) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๘๐

(๒) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด

(๓) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตามมาตรา ๖๖ (๒) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้

(๔) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา ๑๑๗


มาตรา ๗๙  ราษฎรจะจับผู้อื่นไม่ได้เว้นแต่จะเข้าอยู่ในเกณฑ์แห่งมาตรา ๘๒ หรือเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ด้วย


มาตรา ๘๐  ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ


อย่างไรก็ดี ความผิดอาญาดังระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ถือว่าความผิดนั้นเป็นความผิดซึ่งหน้าในกรณีดังนี้


(๑) เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ

(๒) เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิดในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้นและมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น


มาตรา ๘๑  ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน


มาตรา ๘๑/๑  ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังของพระรัชทายาทหรือของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป พระราชนิเวศน์ พระตำหนัก หรือในที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ประทับหรือพำนัก เว้นแต่


(๑) นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย อนุญาตให้จับ และได้แจ้งเลขาธิการพระราชวัง หรือสมุหราชองครักษ์รับทราบแล้ว


(๒) เจ้าพนักงานผู้ถวายหรือให้ความปลอดภัยแด่พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท พระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้จับตามกฎหมายว่าด้วยราชองครักษ์ หรือตามกฎหมาย กฎ หรือระเบียบเกี่ยวกับการให้ความปลอดภัย


มาตรา ๘๒  เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับ จะขอความช่วยเหลือจากบุคคลใกล้เคียงเพื่อจัดการตามหมายนั้นก็ได้ แต่จะบังคับให้ผู้ใดช่วยโดยอาจเกิดอันตรายแก่เขานั้นไม่ได้


มาตรา ๘๓  ในการจับนั้น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่าเขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับพร้อมด้วยผู้จับ เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไป


ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับหรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย


ถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น


มาตรา ๘๔  เจ้าพนักงานหรือราษฎรผู้ทำการจับต้องเอาตัวผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๓ โดยทันที และเมื่อถึงที่นั้นแล้ว ให้ส่งตัวผู้ถูกจับแก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจของที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังกล่าว เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้


(๑) ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นแจ้งข้อกล่าวหา และรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบ ถ้ามีหมายจับให้แจ้งให้ผู้ถูกจับทราบและอ่านให้ฟังและมอบสำเนาบันทึกการจับแก่ผู้ถูกจับนั้น


(๒) ในกรณีที่ราษฎรเป็นผู้จับ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งรับมอบตัวบันทึกชื่อ อาชีพ ที่อยู่ของผู้จับ อีกทั้งข้อความและพฤติการณ์แห่งการจับนั้นไว้ และให้ผู้จับลงลายมือชื่อกำกับไว้เป็นสำคัญเพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับให้ผู้ถูกจับทราบและแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบด้วยว่าผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้


เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้วให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งแจ้งให้ผู้ถูกจับทราบถึงสิทธิตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๗/๑ รวมทั้งจัดให้ผู้ถูกจับสามารถติดต่อกับญาติหรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับไว้วางใจเพื่อแจ้งให้ทราบถึงการจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมได้ในโอกาสแรกเมื่อผู้ถูกจับมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามวรรคหนึ่ง หรือถ้ากรณีผู้ถูกจับร้องขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้แจ้ง ก็ให้จัดการตามคำร้องขอนั้นโดยเร็ว และให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจบันทึกไว้ ในการนี้มิให้เรียกค่าใช้จ่ายใด ๆ จากผู้ถูกจับ


ในกรณีที่จำเป็น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับจะจัดการพยาบาลผู้ถูกจับเสียก่อนนำตัวไปส่งตามมาตรานี้ก็ได้


ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าเป็นถ้อยคำอื่น จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือตามมาตรา ๘๓ วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับแล้วแต่กรณี


มาตรา ๘๔/๑  พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งมีผู้นำผู้ถูกจับมาส่งนั้น จะปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นการจับโดยมีหมายของศาลให้รีบดำเนินการตามมาตรา ๖๔ และในกรณีที่ต้องส่งผู้ถูกจับไปยังศาล แต่ไม่อาจส่งไปได้ในขณะนั้นเนื่องจากเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่รับตัวผู้ถูกจับไว้มีอำนาจปล่อยผู้ถูกจับชั่วคราวหรือควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้จนกว่าจะถึงเวลาศาลเปิดทำการ


มาตรา ๘๕  เจ้าพนักงานผู้จับหรือรับตัวผู้ถูกจับไว้ มีอำนาจค้นตัวผู้ต้องหา และยึดสิ่งของต่าง ๆ ที่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้


การค้นนั้นจักต้องทำโดยสุภาพ ถ้าค้นผู้หญิงต้องให้หญิงอื่นเป็นผู้ค้น


สิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุด เมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่น ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น


มาตรา ๘๕/๑  ในระหว่างสอบสวน สิ่งของที่เจ้าพนักงานได้ยึดไว้ซึ่งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ถ้ายังไม่ได้นำสืบหรือแสดงเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดี เจ้าของหรือผู้ซึ่งมีสิทธิเรียกร้องขอคืนสิ่งของที่เจ้าพนักงานยึดไว้ อาจยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อขอรับสิ่งของนั้นไปดูแลรักษาหรือใช้ประโยชน์โดยไม่มีประกัน หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก็ได้


การสั่งคืนสิ่งของตามวรรคหนึ่งจะต้องไม่กระทบถึงการใช้สิ่งของนั้นเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในภายหลัง  ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งโดยมิชักช้า โดยอาจเรียกประกันจากผู้ยื่นคำร้องหรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดให้บุคคลนั้นปฏิบัติ และหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือบุคคลดังกล่าวไม่ยอมคืนสิ่งของนั้นเมื่อมีคำสั่งให้คืน ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี มีอำนาจยึดสิ่งของนั้นกลับคืนและบังคับตามสัญญาประกันเช่นว่านั้นได้ วิธีการยื่นคำร้อง เงื่อนไขและการอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


ในกรณีที่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่อนุญาต ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการไม่อนุญาตและให้ศาลพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต ศาลอาจเรียกประกันหรือกำหนดเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดได้ตามที่เห็นสมควร คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด


มาตรา ๘๖  ห้ามมิให้ใช้วิธีควบคุมผู้ถูกจับเกินกว่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เขาหนีเท่านั้น


มาตรา ๘๗  ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี


ในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น


ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๓ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้


ในกรณีความผิดอาญาที่ได้กระทำลงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกินเจ็ดวัน


ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน


ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวันและรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน


ในกรณีตามวรรคหกเมื่อศาลสั่งขังครบสี่สิบแปดวันแล้ว หากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขังต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะสั่งขังต่อไปได้ก็ต่อเมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนได้แสดงถึงเหตุจำเป็น และนำพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวนจนเป็นที่พอใจแก่ศาล


ในการไต่สวนตามวรรคสามและวรรคเจ็ด ผู้ต้องหามีสิทธิแต่งทนายความเพื่อแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยาน ถ้าผู้ต้องหาไม่มีทนายความเนื่องจากยังไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรา ๑๓๔/๑ และผู้ต้องหาร้องขอ ให้ศาลตั้งทนายความให้ โดยทนายความนั้นมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๓๔/๑ วรรคสาม โดยอนุโลม


ถ้าพนักงานสอบสวนต้องไปทำการสอบสวนในท้องที่อื่นนอกเขตของศาลซึ่งได้สั่งขังผู้ต้องหาไว้ พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขอให้โอนการขังไปยังศาลในท้องที่ที่จะต้องไปทำการสอบสวนนั้นก็ได้ เมื่อศาลที่สั่งขังไว้เห็นเป็นการสมควรก็ให้สั่งโอนไป


มาตรา ๘๗/๑  เมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนร้องขอและผู้ต้องหามิได้คัดค้าน หากศาลเห็นสมควร ศาลอาจอนุญาตให้นำผู้ต้องหาหรือพยานหลักฐานไปยังสถานที่ทำการของทางราชการ หรือสถานที่แห่งอื่นที่ศาลเห็นสมควรซึ่งสามารถสอบถามผู้ต้องหาหรือทำการไต่สวน โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ การดำเนินการดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้  ทั้งนี้ ให้ระบุวิธีการสอบถามและไต่สวน รวมทั้งสักขีพยานในการนั้นด้วย


การไต่สวนตามวรรคหนึ่งให้ถือเสมือนว่าเป็นการไต่สวนในห้องพิจารณาของศาล


มาตรา ๘๘  คดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ เมื่อศาลประทับฟ้องและได้ตัวจำเลยมาศาลแล้ว หรือคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวก็ได้


มาตรา ๘๙  หมายขังหรือหมายจำคุกต้องจัดการให้เป็นไปตามนั้นในเขตของศาลซึ่งออกหมาย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น


มาตรา ๘๙/๑  ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นระหว่างสอบสวนหรือพิจารณา เมื่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายขังร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้ขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในสถานที่อื่นตามที่บุคคลดังกล่าวร้องขอ หรือตามที่ศาลเห็นสมควรนอกจากเรือนจำก็ได้ โดยให้อยู่ในความควบคุมของผู้ร้องขอ หรือเจ้าพนักงานตามที่ศาลกำหนด ในการนี้ ศาลจะกำหนดระยะเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรก็ได้


ในการพิจารณาเพื่อมีคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ศาลจะดำเนินการไต่สวนหรือให้ผู้เสียหายหรือเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องตามหมายขังคัดค้านก่อนมีคำสั่งก็ได้


สถานที่อื่นตามวรรคหนึ่งต้องมิใช่สถานีตำรวจ หรือสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวน โดยมีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย


เมื่อศาลมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หากภายหลังผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ปฏิบัติตามวิธีการหรือมาตรการตามวรรคสามหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือให้ดำเนินการตามหมายขังได้


มาตรา ๘๙/๒  ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เมื่อพนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ หรือเมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะมีคำสั่งให้จำคุกผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดที่ได้รับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของกำหนดโทษตามที่ระบุไว้ในหมายศาลที่ออกตามคำพิพากษานั้น หรือไม่น้อยกว่าสิบปี ในกรณีต้องโทษจำคุกเกินสามสิบปีขึ้นไป หรือจำคุกตลอดชีวิต โดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ก็ได้


(๑) ให้จำคุกไว้ในสถานที่อื่นตามที่บุคคลดังกล่าวร้องขอหรือตามที่ศาลเห็นสมควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุก ทั้งนี้ ลักษณะของสถานที่ดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องกำหนดวิธีการควบคุมและมาตรการเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นด้วย


(๒) ให้จำคุกไว้ในเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุกหรือสถานที่อื่นตาม (๑) เฉพาะวันที่กำหนดตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


(๓) ให้จำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้นั้นได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง


ในการพิจารณาของศาลตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลคำนึงถึงฐานความผิด ความประพฤติ สวัสดิภาพของผู้ซึ่งต้องจำคุก ตลอดจนสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคมด้วย  ทั้งนี้ ให้ศาลดำเนินการไต่สวนหรือสอบถามผู้เสียหาย เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องตามหมายจำคุก พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจในท้องที่นั้น หรือผู้ซึ่งศาลเห็นว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง


คำสั่งของศาลตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายนั้น เป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่ง และให้นำความในมาตรา ๘๙/๑ วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


มาตรา ๙๐  เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย คือ

(๑) ผู้ถูกคุมขังเอง

(๒) พนักงานอัยการ

(๓) พนักงานสอบสวน

(๔) ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี

(๕) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง


เมื่อได้รับคำร้องดังนั้น ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2562

การจับกุมโจทก์ทั้งสี่มีมูลเหตุมาจากการที่ ช. แจ้งเรื่องไปที่ศูนย์วิทยุสื่อสาร สถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ว่าโจทก์ที่ 2 อ้างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจพูดจาเชิงข่มขู่ให้ซื้อบัตรคอนเสิร์ต จำเลยที่ 13 จึงไปร้านที่เกิดเหตุตามคำสั่งของจำเลยที่ 7 ช. ยืนยันข้อเท็จจริงตามที่แจ้ง จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวก จึงติดตามจนพบรถกระบะที่โจทก์ทั้งสี่ใช้เป็นยานพาหนะ ขอตรวจค้นพบบัตรคอนเสิร์ต 5 ใบ กับเงินสด 7,000 บาท ในกระเป๋าสะพายของโจทก์ที่ 1 กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้จำเลยที่ 7 และที่ 13 กับพวกเชื่อโดยสุจริตว่ามีเหตุการณ์ดังที่ ช. แจ้งเกิดขึ้นจริง จึงมีหลักฐานตามสมควรว่าโจทก์ทั้งสี่น่าจะได้กระทำความผิดอาญา ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน เจ้าพนักงานตำรวจไม่ทราบว่าโจทก์ทั้งสี่พักอาศัยอยู่ที่ใด ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าโจทก์ทั้งสี่จะหลบหนี และหากต้องไปขอให้ศาลออกหมายจับก่อน อาจจะไม่ได้ตัวโจทก์ทั้งสี่มาดำเนินคดี ถือได้ว่าเป็นกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับ การจับกุมโจทก์ทั้งสี่จึงต้องด้วยข้อยกเว้นของการจับโดยไม่มีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ประกอบมาตรา 66 (2) จึงเป็นการจับโดยชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6768/2561

จำเลยที่ 5 ได้รับค่าจ้างขับรถจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครั้งแรก 25,000 บาท ครั้งที่สอง 50,000 บาท ค่าจ้างดังกล่าวเมื่อรวมกับค่าบัตรโดยสารเครื่องบินของจำเลยที่ 5 และที่ 6 อีกสองครั้งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระให้แล้ว จึงเป็นค่าจ้างที่สูงกว่าปกติสำหรับการรับจ้างขับรถยนต์ตามปกติทั่วไป จำเลยที่ 5 ให้การในชั้นสอบสวนหลังถูกจับเพียง 1 วัน โดยมีทนายความร่วมฟังการสอบสวนและลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องด้วย น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 5 ให้การด้วยความสมัครใจตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จึงใช้ยันจำเลยที่ 5 ในชั้นพิจารณาได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวแล้ว ก็ปรากฏว่าสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในชั้นจับกุม ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 5 ดังกล่าว เชื่อว่าจำเลยที่ 5 ทราบว่าภายในรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง มีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ก่อนที่จะรับจ้าง ขณะจำเลยที่ 5 ขับรถจากจังหวัดสมุทรสาครไปอำเภอหาดใหญ่ จำเลยที่ 5 จึงเป็นผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง การกระทำของจำเลยที่ 5 กับพวกจึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ถือว่าจำเลยที่ 5 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6766/2561

แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 84 ววรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จะห้ามมิให้รับฟังคำรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐาน แต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น แต่มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดอื่น จึงรับฟังบันทึกการจับกุม บันทึกถ้อยคำ และภาพถ่ายการชี้ตัว ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้


คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6304/2561

ข้อความในบันทึกคำรับสารภาพที่จำเลยทั้งสามต่างเขียนขึ้นเองมีข้อความในส่วนที่ตรงกันสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสามปรึกษาและออกเงินรวบรวมให้จำเลยที่ 1 ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ส. โดยระบุจำนวนเงินของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ด้วย ทั้งยังได้ความจากบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 เพิ่มเติมว่า ที่มีการปรึกษาและรวบรวมเงินไปซื้อเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเนื่องจาก ด. โทรศัพท์ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 3 และตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็สอดคล้องกันในส่วนที่แสดงว่า จำเลยที่ 1 ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลยที่ 3 เพื่อขายให้แก่ ด. ประกอบกับเมทแอมเฟตามีนที่ตรวจพบยึดได้ที่บ้านจำเลยที่ 2 อยู่ในลักษณะที่เปิดเผยบนโต๊ะและตกบนพื้นบ้าน การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำที่สำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้จำเลยที่ 3 ได้เมทแอมเฟตามีนมาขายให้ ด. ได้สำเร็จ แม้ไม่ปรากฏหลักฐานของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนในการตกลงจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ ด. ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนมาให้ ส่วนจำเลยที่ 3 มีหน้าที่จำหน่ายแก่ ด. ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางบางส่วนตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4265/2561

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาไว้ตามคำร้องของผู้ร้องมีกำหนด 12 วัน เพื่อสอบสวนดำเนินคดีผู้ต้องหาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาฎีกา เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา 71 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อออกหมายขังโดยทันที... กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา 87 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม..." มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" มาตรา 66 บัญญัติว่า "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี" ตามบทบัญญัติข้างต้นให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 คดีนี้ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกระบวนการก่อนฟ้องซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีตัวจำเลยในการพิจารณาคดีของศาล ทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 106 บัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นฝากขังระหว่างสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4487/2560

จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแขวง เป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม แต่ความผิดทั้งสองฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกันและเกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายพร้อมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตต่อศาลจังหวัดได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 กรณีไม่ต้องด้วย มาตรา 3 และมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายพร้อมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่ต้องขอผัดฟ้อง ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยถูกฟ้องในคดีของศาลชั้นต้นและถูกคุมขังอยู่ ต้องถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้ว แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้ขออำนาจศาลฝากขังจำเลยในคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 87 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลออกหมายขังผู้ต้องหาไว้ระหว่างสอบสวนเนื่องจากมีเหตุจำเป็นที่จะต้องทำการสอบสวนหรือเพื่อการฟ้องคดีก็ตาม ก็หาเป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2560

เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม อ. ค. และ ธ. ในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน อ. ค. และ ธ. ให้การว่า รับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าห้องพักอยู่ในรีสอร์ต ห้องเลขที่ 12 เจ้าพนักงานตำรวจประสานกับผู้ดูแลรีสอร์ต จนเป็นที่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้จาก อ. ค. และ ธ. ถูกต้องแล้ว จึงเข้าตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ 1 ทันที เพราะน่าเชื่อว่าจะพบเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองพักชั่วคราว หากเนิ่นช้าไปกว่าจะได้หมายค้น จำเลยทั้งสองอาจนำเมทแอมเฟตามีนออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 96 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด ที่จำเลยที่ 2 และค้นพบเมทแอมเฟตามีน 554 เม็ด ภายในห้องซึ่งจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นของตนอันเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3214/2560

การที่จำเลยทั้งสี่ให้การต่อผู้ดำเนินกรรมวิธีซักถามในฐานะผู้ถูกดำเนินกรรมวิธีหรือผู้ต้องสงสัย และต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน มิใช่คำให้การของผู้ถูกจับที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับเพราะขณะนั้นจำเลยทั้งสี่ยังไม่ได้ถูกจับกุม กรณีไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ คำรับสารภาพและถ้อยคำอื่นของจำเลยทั้งสี่จึงไม่ต้องห้ามรับฟังตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ทั้งการสอบปากคำจำเลยทั้งสี่โดยผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนก็เป็นการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยชอบ เพราะขณะนั้นยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะดำเนินการขอออกหมายจับจำเลยทั้งสี่ได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นคนร้าย การสอบปากคำจำเลยทั้งสี่จึงเป็นเพียงการสอบถามเบื้องต้นในชั้นสืบสวนเท่านั้น ผู้ดำเนินกรรมวิธีและพนักงานสอบสวนไม่จำต้องแจ้งสิทธิใด ๆ ให้จำเลยทั้งสี่ทราบก่อน บันทึกผลการดำเนินตามกรรมวิธีและบันทึกคำให้การของพยานรวมทั้งรถจักรยานยนต์และถังดับเพลิงของกลางจึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นและได้มาโดยชอบ ไม่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และมาตรา 226/1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10072/2559

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ร้อยเอก ธ. กับพวก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตรวจสอบรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงที่จำเลยขับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งมาตรา 15 ทวิ บัญญัติว่า "ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน" การที่ร้อยเอก ธ. กับพวกกักตัวจำเลยไว้ก่อนที่จำเลยจะหลบหนีจึงเป็นการกักตัวตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจหน้าที่ฝ่ายทหารไว้เฉพาะ มิใช่การจับตาม ป.วิ.อ.มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้ขณะกักตัวจำเลยจะมีเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ด้วยก็ตาม ทั้งนี้การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลและไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะมี เจ้าพนักงานตำรวจร่วมอยู่ด้วยในการกักตัวจำเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ ดังนี้ วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 จำเลยจึงยังไม่ถูกจับ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการฝากขังจำเลยในคดีนี้ จึงชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9302/2559

ในการยื่นคำร้องขอฝากขังนั้นพนักงานสอบสวนเพียงแต่แสดงข้อเท็จจริงให้ศาลเห็นว่า การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จและมีเหตุจำเป็นที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อทำการสอบสวนคดีต่อไปอีกจึงขออนุญาตต่อศาลเพื่อขอฝากขังผู้ต้องหาตามกำหนดเวลาเท่านั้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำร้องขอฝากขังรวมถึงเอกสารท้ายคำร้องจึงหาได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามคำร้องขอฝากขังไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8099/2559

คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอปล่อยตัวอ้างว่า เจ้าพนักงานคุมขัง ธ. ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2558 เวลา 12 นาฬิกา ถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2558 เวลา 13 นาฬิกา โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคดีก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2558 จนถึงวันที่ 14 ธันวาคม 2558 เจ้าพนักงานคุมขัง ธ. ขณะเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อการคุมขัง ธ. คดีนี้และคดีก่อนเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันและต่อเนื่องกัน ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องเดียวกันว่า ในช่วงเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานคุมขัง ธ. โดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าการคุมขัง ธ. นั้น เจ้าพนักงานผู้จับจะมีหมายจับ ธ. หรือไม่ เพราะไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ผู้ร้องก็อ้างว่าเป็นการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น คำร้องคดีนี้จึงเป็นคำร้องซ้อนกับคำร้องคดีก่อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6877/2559

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 เรื่อง การดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ข้อ 6 เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอนวิธีการดำเนินคดีในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอาญา ย่อมมีผลใช้บังคับทันทีหลังจากมีประกาศ เมื่อปรากฏว่ากฎหมายดังกล่าวประกาศใช้บังคับขณะคดีของจำเลยอยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีอำนาจที่จะเลือกใช้ช่องทางตามประกาศดังกล่าวแก่คดีของจำเลยหรือไม่ก็ได้ เพราะเป็นทางเลือกที่เพิ่มเติมจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ข้อ 8 ยังกำหนดว่า บรรดาบทบัญญัติใดของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ขัดหรือแย้งกับประกาศฉบับนี้ให้ใช้ประกาศฉบับนี้แทน ดังนั้น การดำเนินการตามข้อ 6 ของประกาศดังกล่าวจึงมิได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 97 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แต่อย่างใด เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาเรื่องของจำเลยแล้วมีมติให้ส่งเรื่องกล่าวหาร้องเรียนจำเลยไปให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรห้างฉัตรดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ย่อมเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจที่จะสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย


การยึดรถกระบะของกลางตลอดจนการคืนล้วนเกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม (เดิม), 131 ส่วนเรื่องการเก็บรักษา ดูแล หรือพิจารณาสั่งคืนของกลาง แม้ตามข้อบังคับหรือระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมิได้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนโดยลำพังก็ตาม ก็หาทำให้อำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายหมดสิ้นไป จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนเรียกรับเงินค่าตรวจสภาพรถกระบะของกลางโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558

ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10546/2558

เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ครบองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าวและให้มีน้ำหนักและเหตุผลรับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้องจริง จึงจะลงโทษจำเลยสำหรับความผิดดังกล่าวได้


โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์รูปการ์ตูนหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์ รูปหุ่นยนต์บัมเบิลบี รูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม และรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์สของผู้เสียหาย โดยจำเลยนำเอากล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์จำนวน 24 ชิ้น กล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์บัมเบิลบีจำนวน 132 ชิ้น กล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์และของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม จำนวน 14 ชิ้น และกล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์ส จำนวน 5,330 ชิ้น ของกลางซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสินค้าที่มีรูปการ์ตูนหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังนี้ โจทก์จึงต้องนำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ให้มีน้ำหนักและเหตุผลรับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยรวม 5 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 ข้อเท็จจริงที่ว่ากล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ของกลางจำนวน 24 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์ จำนวน 132 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์บัมเบิลบี จำนวน 14 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม และจำนวน 5,330 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์สซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ประการที่ 2 ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสินค้าที่มีรูปหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ประการที่ 3 ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยได้ขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปซึ่งสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่บรรจุอยู่ในกล่องของกลางดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ประการที่ 4 ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของจำเลยในประการที่ 3 เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อหากำไร และประการที่ 5 ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของจำเลยในประการที่ 3 และที่ 4 เป็นการกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อการค้า


โจทก์มี ม. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายมาเบิกความลอย ๆ เพียงว่า ม. พบว่ามีสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ของผู้เสียหาย โดยไม่ปรากฏจากคำเบิกความของ ม. ว่ารูปการ์ตูนหุ่นยนต์ที่ปรากฏอยู่บนกล่องสินค้าของกลางเป็นงานที่ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเพราะเหตุใด รูปการ์ตูนดังกล่าวแตกต่างจากรูปการ์ตูนอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอย่างไร ม. เคยเห็นรูปการ์ตูนอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ก็ไม่ปรากฏ ทั้งไม่ปรากฏว่า ม. ได้นำวัตถุพยานของกลางไปตรวจสอบกับรูปการ์ตูนซึ่งเป็นงานศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายว่ารูปการ์ตูนบนกล่องสินค้าของกลางได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปการ์ตูนของผู้เสียหายด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายอย่างไร นอกจากนี้ ม. พยานโจทก์เป็นเพียงพนักงานบริษัท ว. ซึ่งประกอบกิจการดูแลการละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้เสียหาย ทั้งโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าวัตถุพยานของกลางมีงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมรูปการ์ตูนของผู้เสียหาย พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่า กล่องสินค้าวัตถุพยานของกลาง มีรูปการ์ตูนที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมรูปการ์ตูนของผู้เสียหายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ที่โจทก์ฟ้อง


ส่วนที่พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อมีการจับกุมจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมนั้น ถ้อยคำของจำเลยผู้ถูกจับตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมดังกล่าวเป็นถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานและไม่อาจนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังที่โจทก์ฟ้อง ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10060/2558

ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในท้องที่ โดยจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ยี่ห้อนิสสันสีขาวของสถานีอนามัยมีตราของกระทรวงสาธารณสุขเป็นยานพาหนะประจำ ในคืนเกิดเหตุช่วงเวลาประมาณ 3 ถึง 4 นาฬิกา มีผู้แจ้งเบาะแสโดยส่งข้อความไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของดาบตำรวจ ส. รวม 6 ครั้ง 6 ข้อความ ว่ามีคนส่งยาบ้าที่พีพีรีสอร์ต ห้องที่ 14 ให้รีบไปเร็ว ๆ ก่อนเขาหนี เป็นรายใหญ่ ถ้าไม่ไปฉันจะไม่ส่งข่าวอีก เมื่อดาบตำรวจ ส. ไปที่รีสอร์ตพบรถดังกล่าวจอดอยู่ที่ห้องที่ 15 จำได้ว่าเป็นรถที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ สอบถามพนักงานรีสอร์ตแจ้งว่าเจ้าของรถมากับผู้หญิงพักอยู่ห้องที่ 14 ดาบตำรวจ ส. จึงเชื่อในเบาะแสที่แจ้งมา ดาบตำรวจ ส. กับพวกให้พนักงานรีสอร์ตเคาะประตูห้องที่ 14 ว่าขอเช็กมิเตอร์ ปรากฏว่าคนในห้องเปิดประตูออกมา ขณะนั้นไฟในห้องยังเปิดอยู่ เมื่อดาบตำรวจ ส. แจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ คนในห้องดันประตูกลับคืนและปิดไฟ เป็นพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามที่ได้รับแจ้ง ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองไปพักชั่วคราว จำเลยทั้งสองจะออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ หากเนิ่นช้าไปกว่าจะเอาหมายค้นมาทำการตรวจค้นในวันรุ่งขึ้น จำเลยทั้งสองจะออกจากห้องพักเสียก่อนพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง เป็นเหตุให้พยานหลักฐานสำคัญสูญหาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งทำให้เจ้าพนักงานเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และ มาตรา 96 (2) และเมื่อเจ้าพนักงานพบอุปกรณ์การเสพและเมทแอมเฟตามีน 11 เม็ดในห้องพักดังกล่าว กับพบเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด ในรถยนต์ จึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำรายงานการตรวจค้นและผลการตรวจค้นไว้ในบันทึกการจับกุมเสนอผู้บังคับบัญชา ดังนั้น การตรวจค้นและจับกุมในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7237/2558

ผู้ร้องอ้างตามคำร้องว่า ช. หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กับพวกควบคุมตัว พ. ไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อไต่สวนพยานผู้ร้องเสร็จสิ้นแล้วศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและพยานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่หากเห็นว่ามีมูลจึงหมายเรียก ช. และบุคคลที่เกี่ยวข้องตามคำร้องให้นำตัว พ. มาศาล การที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าเพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างขึ้น จึงให้หมายเรียก ช. กับพวก ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ ช. อันอาจถือว่าเป็นบุคคลที่ผู้ร้องอ้างว่าเกี่ยวข้องในการควบคุม พ. มาไต่สวนเพิ่มเติม จึงไม่เป็นไปตามขั้นตอน ที่ ป.วิ.อ. มาตรา 90 บัญญัติไว้ การดำเนินการไต่สวน ช. กับพวกดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13199/2557

ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ บัญญัติเพื่อมุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยที่ ๑ มารับฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยที่ 1 เท่านั้น คำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่พาดพิงถึงจำเลยที่ 2 ว่าร่วมกระทำความผิด แม้เป็นพยานบอกเล่าและเป็นคำซัดทอดเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากการซัดทอดถึงจำเลยที่ 2 ก็รับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นที่โจทก์ส่งอ้างเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 โดยชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11959/2556

การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลดังที่บัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2556

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 นั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6252/2556

ในชั้นขอปล่อยบุคคลซึ่งถูกคุมขังโดยมิชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 โจทก์ก็ถือเป็นคู่ความในคดี แม้จะไม่เคยเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ตาม แต่เป็นเพราะศาลชั้นต้นมิได้มีหมายแจ้งให้โจทก์ทราบถึงการยื่นคำร้องของผู้ร้องหรือส่งสำเนาอุทธรณ์ของผู้ร้องให้โจทก์แก้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้ปล่อยตัวจำเลยย่อมมีผลกระทบต่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกา โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาได้


คดีนี้ผู้ร้องในฐานะเป็นบุตรซึ่งถือเป็นญาติของจำเลยซึ่งกล่าวอ้างว่าจำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบ แม้ผู้ร้องไม่ได้โต้แย้งการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบผู้ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษตามมาตรา 15 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2555 ผู้ร้องก็มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจให้ปล่อยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19672/2555

แม้บันทึกคำรับสารภาพจำเลยกระทำขึ้นเนื่องจากจำเลยถูกจับในคดีอื่น แต่ในบันทึกนั้นจำเลยก็ได้กล่าวถึงการที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย อันมีลักษณะเป็นถ้อยคำรับสารภาพว่า จำเลยผู้ถูกจับกุมได้กระทำความผิด จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14953/2555

หลังจากเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจทำการสืบสวนทราบว่า ในช่วงเวลาใกล้กับเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองกับพวกนั่งอยู่ที่บริเวณหน้าบ้านเกิดเหตุ จึงสืบหาที่พักของจำเลยที่ 1 และนำจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คน มาสอบถามเหตุการณ์ว่ารู้เห็นเรื่องปล้นทรัพย์หรือไม่ จำเลยทั้งสองกับพวกยอมรับว่าพวกตนเป็นคนร้าย ตามบันทึกคำให้การผู้ให้ถ้อยคำ จากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกพาเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาของกลางที่ข้างหลังที่พักของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกการตรวจยึด การให้ถ้อยคำของจำเลยทั้งสองรวมทั้งการนำเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาของกลาง เชื่อว่าเกิดจากความสมัครใจของจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานตำรวจตามบันทึกคำให้การผู้ให้ถ้อยคำ เป็นการกระทำก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นผู้ต้องหา ซึ่งในกรณีที่มีความผิดอาญาเกิดขึ้นย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะดำเนินการสืบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานในการหาตัวคนร้าย การที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจึงหาใช่เป็นการให้ถ้อยคำในฐานะผู้ถูกจับไม่ จึงไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งสิทธิแก่จำเลยทั้งสองก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย และสามารถนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2555

ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย บัญญัติห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือตำรวจในชั้นจับกุม ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดนั้น กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับกุมเท่านั้น แต่มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น ดังนั้น คำให้การในชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 ที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้จ้างให้ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนที่ประเทศกัมพูชา และจำเลยที่ 2 เป็นผู้นัดสถานที่เพื่อรอรับเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงสามารถนำมารับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ลงโทษจำเลยที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13379/2555

การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ท. ได้ขณะลักลอบขนยาเสพติดให้โทษจากจังหวัดมุกดาหารเพื่อจะไปส่งมอบให้ จ. และจำเลย ผู้ร่วมขบวนการซึ่งกำลังรอรับยาเสพติดให้โทษอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่า ท. จ. และจำเลยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดด้วยกันอยู่แล้ว การที่เจ้าพนักงานตำรวจนำตัว ท. เดินทางต่อไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อนำยาเสพติดให้โทษไปส่งมอบให้ จ. และจำเลย จึงเป็นวิธีการแสวงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิด มิใช่เป็นการล่อให้บุคคลที่มิได้มีเจตนาในการกระทำความผิดอยู่ก่อนให้หลงกระทำความผิด การดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อขยายผลจับกุมจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4314/2555

การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องตามมาตรา 90 (5) เพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ผู้ถูกคุมขัง เมื่อศาลชั้นต้นยกคำร้อง แม้ผู้ร้องไม่อุทธรณ์ แต่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถูกคุมขังเองเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้อง มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นได้ เนื่องจากไม่มีบทกฎหมายใดห้ามหรือจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ในกรณีนี้ไว้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7245/2554

แม้ว่ากฎหมายจะห้ามมิให้ศาลรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาพิพากษาคดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 19 แต่กฎหมายก็ไม่ได้ห้ามมิให้ศาลนำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษแก่จำเลย ซึ่งถือได้ว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมดังกล่าวเป็นเหตุบรรเทาโทษโดยเหตุอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเหตุบรรเทาโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ใน ป.อ. มาตรา 78 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8764/2554

หลังเกิดเหตุผู้เสียหายแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีแล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้ออกสกัดจับคนร้ายในเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะใช้หลบหนี ก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจรับทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรถจักยานยนต์ของคนร้ายและของผู้เสียหายจากผู้เสียหาย และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งออกมาสกัดจับคนร้ายที่พบรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยทั้งสองคันตามที่ได้รับแจ้งในเวลาต่อเนื่องกัน และยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ชิงมาได้หลบหนีฝ่าด่านสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมยังติดตามต่อเนื่องจนกระทั่งพบเห็นจำเลยที่ 1 วิ่งหลบหนีเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามพฤติการณ์แทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 (2) ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถกระทำการจับกุมจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1) และมาตรา 92 (3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14293/2553

คำร้องของจำเลยที่อ้างว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบถึงสาระสำคัญคลาดเคลื่อน จึงออกคำพิพากษาที่มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบ ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 จำเลยจะยกเอาเหตุดังกล่าวขึ้นมากล่าวอ้างว่าจำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13985/2553

ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้จับต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ ก็เพื่อให้ผู้ถูกจับทราบว่าการกระทำของผู้ถูกจับเป็นความผิด และเพื่อให้ผู้ถูกจับเข้าใจถึงการกระทำของผู้ถูกจับซึ่งเป็นความผิดนั้น เพื่อประโยชน์ในการให้การ ให้ถ้อยคำ หรือต่อสู้คดี โดยเจ้าพนักงานผู้จับไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดให้ตรงกับที่พนักงานอัยการโจทก์จะฟ้องผู้ถูกจับ เพราะคดียังต้องมีการสอบสวนต่อไปว่าผู้ถูกจับกระทำความผิดหรือไม่และกระทำความผิดฐานใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13537/2553

จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ทำการสืบสวนคดีอาญา เมื่อสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานจนทราบรายละเอียดแห่งความผิดแล้วว่าโจทก์อยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเถื่อน จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจกล่าวโทษได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (8) 17, 18, 125 และ 127 และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบ จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาและเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121,130 และ 131 ซึ่งลักษณะความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานฟอกเงินที่กล่าวหา บัญชีเงินฝากของโจทก์ย่อมเป็นหลักฐานอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างหนึ่งที่อาจพิสูจน์ให้เห็นความผิดตามที่กล่าวหาได้ จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจยึดหรืออายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ไว้ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม และ 132 อันเป็นการดำเนินการทางอาญาในความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานฟอกเงินตามอำนาจหน้าที่ของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13536/2553

จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ทำการสืบสวนคดีอาญา เมื่อสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานจนทราบรายละเอียดแห่งความผิดแล้วว่าโจทก์อยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเถื่อน จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจกล่าวโทษได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (8), 17, 18, 125 และ 127 และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบจำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาและเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121, 130 และ 131 ซึ่งลักษณะความผิดที่กล่าวหาดังกล่าวบัญชีเงินฝากของโจทก์ย่อมเป็นหลักฐานอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างหนึ่งที่อาจพิสูจน์ให้เห็นความผิดตามที่กล่าวหาได้ จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจยึดหรืออายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ไว้ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม และ 132 อันเป็นการดำเนินการทางอาญาในความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานฟอกเงินตามอำนาจหน้าที่ของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12779/2553

การที่จะวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจสามารถตรวจค้นอู่ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และจับจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับนั้น จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำความผิดได้อยู่ในสถานที่ตรวจค้นและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน และมีเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่มีหมายจับของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 และมาตรา 92 (4) หรือไม่ จึงเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3666/2553

เจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องรวม 7 รายการ เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ต่อมาพนักงานสอบสวนให้โจทก์ร่วมรับมอบทรัพย์ดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ในระหว่างดำเนินคดี เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้คืนทรัพย์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยในเรื่องของกลางตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) อันเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนผู้ยึดทรัพย์ของกลางไว้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวนั่นเอง ทั้งมิใช่คดีที่มีข้อหาหรือข้อพิพาทกันว่า โจทก์ร่วมยึดถือหรือครอบครองทรัพย์ของกลางของจำเลยที่ 1 ไว้โดยมิชอบที่จะบังคับให้โจทก์ร่วมคืนให้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ตกอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้ศาลบังคับคดีเพื่อให้โจทก์ร่วมคืนทรัพย์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2553

แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย จะบัญญัติมิให้นำคำรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐานก็ตาม แต่ข้อความอื่นซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำให้การรับสารภาพนั้น กฎหมายมิได้ห้ามนำมารับฟังเสียทีเดียว มิฉะนั้นแล้วคงไม่ต้องทำบันทึกการจับกุม และสอบถามคำให้การของผู้ถูกจับไว้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 350/2553

สิทธิในการร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น


ผู้ร้องถูกจับกุมก่อนที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนทั้งมิใช่ความผิดซึ่งหน้าหรือกรณีใดๆ ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายจับ การคุมขังผู้ร้องโดยพนักงานสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การคุมขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย แต่ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลขอให้สั่งปล่อยตัวผู้ร้อง พนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และความผิดต่อ พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ศาลชั้นต้นประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณา ดังนั้น แม้การคุมขังผู้ร้องโดยพนักงานสอบสวนจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การคุมขังนั้นก็สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ศาลประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณา สิทธิของผู้ร้องที่จะร้องขอให้ปล่อยจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงระงับไป ผู้ร้องจึงไม่อาจจะร้องขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90


การจับกุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงานตำรวจที่จับผู้ร้อง ด้วยการ้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อศาลด้วยตนเองต่อไป ทั้งการจับกุมและคุมขังเป็นขั้นตอนต่างหากจากการสอบสวน การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาของศาล เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องไว้ระหว่างพิจารณา ซึ่งเป็นอำนาจที่จะดำเนินการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71, 88 แล้ว การคุมขังร้องในระหว่างพิจารณาจึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445/2552

บริเวณทะเลจุดที่เกิดเหตุอยู่ในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีอำนาจตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่จะป้องกันมิให้มีการละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากรได้ ประเทศไทยได้ประกาศเขตอำนาจในเขตต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2538 แล้ว ดังนั้น ในขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจตรวจค้นเรือใดๆ ที่สงสัยว่าจะละเมิดกฎหมายและระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากรและจับกุมผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดต่อกฎหมายและระเบียบดังกล่าวในทะเลซึ่งเป็นเขตต่อเนื่องได้ การจับกุมจำเลยกับพวกจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. ตลอดจนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2538 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุแล้ว


จำเลยลอยเรือเพื่อให้เรือลำอื่นที่ชักธงชาติไทยมารับช่วงน้ำมันไปจำหน่ายแก่เรือประมงอีกทอดหนึ่ง แม้เหตุจะเกิดที่นอกราชอาณาจักรแต่เห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรเพราะเรือที่รับช่วงน้ำมันจะต้องนำน้ำมันไปจำหน่ายให้แก่เรือประมงที่ทำการประมงในทะเลอาณาเขตซึ่งอยู่ในเขตราชอาณาจักรไทย การกระทำของจำเลยจึงอยู่ในขั้นพยายามต้องด้วย ป.อ. มาตรา 5 วรรคสอง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8148/2551

เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จับจำเลยมิใช่ราษฎรเป็นผู้จับจึงไม่มีกรณีที่จะต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคหนึ่ง แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง เมื่อบันทึกการจับกุมมีข้อความว่าจำเลยให้การรับสารภาพ จึงต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยาน หลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่ และเมื่อบันทึกการจับกุมไม่มีข้อความใดที่บันทึกการแจ้งสิทธิแก่จำเลยผู้ถูก จับตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสองบัญญัติเลย ทั้งพยานโจทก์ที่ร่วมจับกุมก็ไม่ได้เบิกความถึงเรื่องการแจ้งสิทธิแต่อย่าง ใด แม้โจทก์จะส่งบันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับมาพร้อมกับบันทึกการจับกุมในชั้น พิจารณาสืบพยานโจทก์ แต่บันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับดังกล่าวมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์เติมข้อความใน ช่องว่างด้วยน้ำหมึกเขียนโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้บันทึกเป็นคนละคนกับที่ เขียนบันทึกการจับกุม ทั้งใช้ปากกาคนละด้ามและไม่มีข้อความว่าผู้ถูกจับมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้ กับไม่มีข้อความว่าถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้แต่อย่างใด แม้จะมีข้อความแจ้งสิทธิเรื่องทนายความก็เป็นการแจ้งสิทธิไม่ครบถ้วนตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสองบัญญัติ ฉะนั้น ถ้อยคำอื่นของจำเลยตามบันทึกการจับกุมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการ พิสูจน์ความผิดของจำเลยหาได้ไม่เช่นกัน ดังนั้น บันทึกการจับกุมจึงไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3751/2551

ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นตัวจำเลยนั้น จำเลยกำลังขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลย ซึ่งมีลูกค้ากำลังนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่ร้านของจำเลย ดังนี้ ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยจึงหาใช่เป็นที่รโหฐานไม่ แต่เป็นที่สาธารณสถานเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดต่อกฎหมาย เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจค้นจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 และเมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ในครอบครองของจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1) การตรวจค้นและจับกุมจึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3751/2551

ฎีกาของจำเลยที่ว่าคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก น. ขัดกับบันทึกการจับกุม แต่ไม่ปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่าขัดกันอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยขณะเปิดบริการมิใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบ ครองอันเป็นความผิดต่อกฎหมายย่อมมีอำนาจค้นจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 และเมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ในครอบครองจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยต้องมีหมายจับตามมาตรา 78 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4294/2550

การควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องขออำนาจศาลฝากขังจำเลยที่ 1 หากพนักงานสอบสวนมิได้ขอฝากขังต่อศาลภายในกำหนด เมื่อพ้นอำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนแล้ว พนักงานสอบสวนต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาไป หาใช่เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในอายุความ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1134/2550

ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสุดท้าย ที่แก้ไขใหม่มิได้มีความหมายว่า ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มีผลใช้บังคับแล้วต้องห้าม มิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยตามบันทึกการจับกุมมารับฟังประกอบ การพิจารณาลงโทษจำเลย เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อน วันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตามมาตรา 226 โดยชอบแล้ว ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้นำ มาตรา 84 วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลยุติธรรม ก่อนวันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลง โทษจำเลยได้ตามกฎหมายเดิม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2535/2550

บ. พบกองไม้กระยาเลย อันเป็นไม้ผิดกฎหมายวางกองอยู่ข้างบ้าน ว. และ ว. รับว่ามีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง การกระทำของ ว. ไม่ใช่ความซึ่งหน้าไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือเข้าหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา 80 วรรคสอง (1) (2) บ. จึงไม่มีอำนาจที่จะจับ ว. โดยไม่มีหมายจับ การที่ ว. ตาม บ. มาที่หน่วยคุ้มครองป่าจึงไม่ใช่เป็นการถูกจับตัวมา แม้ต่อมาจำเลยจะขับรถยนต์มาที่หน่วยคุ้มครองป่าและรับ ว. ขึ้นรถยนต์ของจำเลยขับออกไป บ. ติดตามจำเลยไปจนทันและเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างจำเลยและ บ. ก็ยังไม่เป็นการต่อสู้หรือขัดขวาง บ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4827/2550

สิทธิของผู้ถูกคุมขังในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 นั้น มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกคุมขังยังถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบ ด้วยกฎหมายเท่านั้น ตามคำร้องปรากฏว่าภายหลังจากผู้ร้องถูกควบคุมตัว พนักงานสอบสวนได้ปล่อยตัวผู้ร้องชั่วคราวไปแล้ว โดยให้ผู้ร้องทำสัญญาประกันไว้ กรณีจึงไม่มีการควบคุมตัวผู้ร้องในขณะยื่นคำร้องแล้ว ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอตามมาตรา 90 ได้ หากการจับไม่ชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะดำเนินคดีแก่เจ้าพนักงาน ตำรวจที่จับผู้ร้องด้วยการร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานหรือฟ้องคดีต่อศาลตาม กฎหมายเรื่องนั้น ๆ ต่อไป ทรัพย์สินซึ่งผู้ร้องกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจยึดไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานตำรวจคืนแก่ผู้ร้องนั้น ก็มิใช่กรณีที่จะยื่นคำขอมาพร้อมกับคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 เช่นกัน ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2550)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2550

พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ร้องทั้งสอง แม้จะเนื่องมาจากเป็นคดีอยู่ในอำนาจศาลแขวง การคุมขังในขั้นตอนของการฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล ก็ได้สิ้นสุดไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาไม่สามารถที่จะสั่งตามคำร้องของผู้ร้องที่ 1 ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ร้องที่ 1 ตามหมายปล่อยชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนของศาลชั้นต้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 90 สิทธิในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยฝ่าฝืนต่อ กฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 มีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกคุมขังอยู่ถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เมื่อผู้ร้องที่ 1 ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ปัญหาการควบคุมตัวหรือขังผู้ร้องที่ 1 ไว้ในสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จึงไม่มีความจำเป็นที่จะได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกาอีกต่อไป ศาลฎีกาให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6208/2550

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 237 ซึ่งใช้บังคับในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นบัญญัติว่า ในคดีอาญาการจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับโดยไม่ ชักช้า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ชั้นต้น ประกอบ พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้นไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 80 (2) เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังพยายามกระทำความผิด หรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด (3) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี (4) เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว ดังนั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 237 การที่จำเลยเข้ามอบตัวพนักงานสอบสวนและมีการแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล ชั้นต้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูก จับ หรือต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2551)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4752/2549

เมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยและศาลประทับฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 และมาตรา 88 ที่ใช้ขณะยื่นคำร้องและที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนต่างหากจากการจับกุมและควบคุมจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจที่ ผู้ร้องอ้างว่ามิชอบด้วยกฎหมาย การคุมขังจำเลยระหว่างพิจารณาจึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 90


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8484/2549

ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ป.วิ.อ. มาตรา 108 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ) บัญญัติให้พิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบด้วย (1) ความหนักเบาแห่งข้อหา (2) พยานหลักฐานที่นำมาสืบแล้วมีเพียงใด (3) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร (4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด (5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ (6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด หรือไม่ (7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือโจทก์แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับฟังประกอบการวินิจฉัยได้ ดังนั้น การที่จำเลยสั่งในคำร้องลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ที่ ต. ซึ่งเป็นผู้ขอประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวโจทก์ในระหว่างสอบสวนว่า โจทก์มีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ผู้ขอประกันไม่ใช่ญาติของโจทก์ ประกอบกับพนักงานสอบสวนกำลังขยายผลรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีในความผิดฐาน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและฉ้อโกงประชาชน และคัดค้านการประกัน จึงไม่อนุญาตให้ประกัน ยกคำร้อง จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงจากคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนมาพิจารณาประกอบความ หนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ววินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตาม ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 108 อันเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนหาใช่เป็นการ กลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใดไม่ และถึงแม้ว่าหลักทรัพย์ที่ใช้ขอปล่อยชั่วคราวมีจำนวนสูงถึง 542,640 บาท ก็ตาม แต่การพิจารณาหลักทรัพย์ที่ผู้ขอประกันเสมอมา เป็นเพียงเหตุหนึ่งในหลายเหตุที่ศาลจะนำมาพิจารณาประกอบการวินิจฉัยคำร้องขอ ปล่อยชั่วคราว มิใช่ว่าหลักทรัพย์มีจำนวนสูงแล้ว ศาลต้องอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเสมอไป ป.วิ.อ. มาตรา 87 วรรคสี่ (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ) บัญญัติว่า ถ้าเกิดความจำเป็นที่จะควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่ากำหนดเวลาในวรรคก่อน เพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นให้ส่งผู้ต้องหามาศาล ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้น ไว้...ฯลฯ... และมาตรา 87 วรรคหก บัญญัติว่า ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวันและรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน ซึ่งเป็นการให้อำนาจศาลในการพิจารณาคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนวันมี เหตุอันสมควรอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่ และผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัยได้ไต่สวนแล้ว เห็นว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังโจทก์ไว้ตามคำร้อง จึงมีคำสั่งอนุญาตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้


แม้ตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนดังกล่าวระบุว่าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีมาตราใดใน ป.วิ.อ. ที่บังคับว่า ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพแล้ว ศาลต้องไม่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาไว้ ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัยอนุญาตให้ฝากขังโจทก์จึงเป็นการใช้ ดุลพินิจโดยชอบแล้ว

ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไม่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวของผู้พิพากษาในศาล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3423/2548

การร้องขอฝากขังเป็นเรื่องที่พนักงานสอบสวนยื่นขอต่อศาลโดยอ้างเหตุเบื้องต้น เกี่ยวกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาเพื่อขอให้ควบคุมผู้ต้องหาไว้ทำการสอบ สวน ดังนั้น แม้ตามคำร้องขอฝากขังจะมิได้ระบุข้อหาความผิดเกี่ยวกับเฮโรอีน แต่เมื่อผลการตรวจพิสูจน์ของกลางที่เจ้าพนักงานตรวจยึดได้เป็นเฮโรอีน พนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งข้อหาเพิ่มเต็มต่อจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายโดยผิดกฎหมายจึงฟังได้ว่ามีการแจ้งขอหาและสอบสวนในความผิดเกี่ยว กับเฮโรอีนแล้วโดยชอบโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดเกี่ยวกับ เฮโรอีนได้ และเมื่อจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานเพราะความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบ ครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง กฎหมายมิได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่าจำคุก 5 ปี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 176


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6894/2549

หนังสือร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมซึ่งมีข้อความว่า มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่บริเวณศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ขอแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) แล้วไม่จำเป็นต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำความผิด ร้านที่เกิดเหตุเป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเล่นเกมต่างๆ และแผ่นเกมย่อมเป็นสถานที่ที่เชื้อเชิญให้ประชาชนทั่วไปสามารถเดินเข้าไปดูและเลือกซื้อสินค้าได้ นับเป็นที่สาธารณสถานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ เมื่อสิบตำรวจ ส. เป็นผู้ทำการตรวจค้น แผ่นซีดีเกมอยู่ในตะกร้าซึ่งอยู่ในตู้สามารถมองเห็นได้ โดยแผ่นซีดีเกมของกลางดังกล่าวละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม มีลักษณะภายนอกของแผ่นซีดีของกลางต่างจากของโจทก์ร่วมอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นกรณีของการค้นในที่สาธารณสถานโดยเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีเหตุอันควร สงสัยว่าร้านที่เกิดเหตุมีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 ทั้งเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยได้ตามมาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง การค้นและจับจึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5499/2549

จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและส่งตัวจำเลยไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและ เยาวชนในวันเดียวกัน แล้วปล่อยตัวจำเลยไป โดยไม่มีการควบคุมตัวจำเลยไว้ หรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน แสดงว่าจำเลยไม่ถูกพนักงานสอบสวนจับกุม เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับกุม จึงยังไม่มีจุดเริ่มต้นในการนับระยะเวลาในการฟ้องคดี โจทก์สามารถฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3952/2549

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 237 บัญญัติว่า ในคดีอาญา การจับและคุมขังบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยผู้ถูกจับจะต้องได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและรายละเอียดแห่งการจับโดยไม่ ชักช้า และตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่อยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น บัญญัติว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับนั้นไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดั่งบัญญัติไว้ในมาตรา 80 (2) เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังพยายามกระทำความผิด หรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำความผิด โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด (3) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี (4) เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว ดังนั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 237 การที่จำเลยถูกเรียกหรือส่งตัวมาหรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือมาอยู่ต่อหน้าเจ้าพนักงานเป็นผู้ต้องหาและมีการแจ้งข้อหาให้ทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ เพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2548

มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22)ฯ กำหนดให้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ข้อความในมาตรา 84 วรรคสุดท้ายแห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ... ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับ ฟังเป็นพยานหลักฐาน...นั้น หมายถึง ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับภายหลังจากที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น แต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมคดีนี้ จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานผู้จับก่อนที่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐาน ขณะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ จำเลยได้พูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ญาติพี่น้องฟัง ญาติพี่น้องจำเลยจึงบอกจำเลยให้รับสารภาพ แสดงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ มิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น คำให้การดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 135


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 931/2548

ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 ออกใช้บังคับ มาตรา 19 ของ พ.ร.บ. ดังกล่าวยกเลิกความในมาตรา 84 แห่ง ป.วิ.อ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยวรรคสุดท้ายของมาตรา 84 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป บัญญัติว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจในชั้นจับกุมหรือรับมอบตัวผู้ถูกจับ ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับ ฟังเป็นพยานหลักฐาน แต่ถ้าถ้อยคำอื่นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับ ได้ต่อเมื่อได้มีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง แก่ผู้ถูกจับ แล้วแต่กรณี แสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่มุ่งประสงค์ที่จะห้ามมิให้นำคำรับสารภาพใน ชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยานหลักฐานต่อเมื่อบทบัญญัติเรื่องการ แจ้งสิทธิแก่ผู้ถูกจับตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 83 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว หาได้มีความหมายว่าขณะที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว ต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมตามบันทึกการตรวจค้นและจับกุมมารับ ฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยทั้งสองด้วยไม่ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อน วันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 โดยชอบแล้ว ประกอบกับกฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 84 วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับ ต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ศาลฎีกาจึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยทั้งสองตามบันทึกการตรวจค้นและ จับกุมมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลงโทษได้ตามกฎหมายเดิม 

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2548)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2548

แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 45 เม็ด บรรจุในถุงพลาสติกมีฝาปิดอยู่ในกระเป๋าถือภายในบ้านของจำเลย และจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน ส่วนคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ประกอบกับโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ใครด้วยวิธีการอย่างไร ใครเคยซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยบ้าง ทั้งการที่โจทก์อ้างว่าได้มีการตรวจปัสสาวะของจำเลยแล้วไม่พบสารเสพติด ก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่จะเชื่อมโยงบ่งชี้ได้ว่าจำเลยมิได้เป็นผู้เสพเมทแอมเฟ ตามีน แต่เป็นผู้มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ต้องพิจารณาให้ได้ความจริงโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริงดังฟ้อง เมื่อพยานโจทก์ยังคงมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยมีเมทเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริงหรือไม่ ศาลชอบที่จะยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง และฟังลงโทษจำเลยได้เพียงฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับ อนุญาต


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4749/2547

โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางที่ถูกยึดไว้ในระหว่างดำเนินคดี เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องโจทก์ข้อหากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 161 (1) โจทก์จึงมีสิทธิขอรับรถยนต์ของกลางคืนตามมาตรา 123 วรรคสอง การที่เจ้าพนักงานไม่คืนรถยนต์ให้โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอคืนรถยนต์ของกลางได้ตามมาตรา 96 เมื่อเจ้าพนักงานมีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สิน ที่เกี่ยวข้องหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดไว้จนกว่า พนักงานอัยการสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 123 การที่เจ้าพนักงานไม่คืนรถยนต์ของกลางให้โจทก์ตามที่โจทก์ขอหลังจากที่ พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีโจทก์แล้ว การยึดรถยนต์ของโจทก์จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์อันควรได้จากการใช้สอยรถยนต์พิพาท จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2547

นายดาบตำรวจ ป. พบ ส. ผู้ต้องหาซึ่งมีการออกหมายจับไว้แล้ว นายดาบตำรวจ ป. ย่อมมีอำนาจจับกุม ส. ได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) การแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยทั้งสอง และสอบสวนเพิ่มเติมจากการกระทำที่ได้มีการสอบสวนไว้โดยชอบแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยในการสอบสวนและมิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเจาะจงให้ การกระทำดังกล่าวพนักงานสอบสวนต้องกระทำด้วยตนเอง จึงถือว่าการสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 128 (2) แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1342/2546

จำเลย ที่ 1 ยึดสินค้าของโจทก์ไว้เป็นของกลางเพื่อดำเนินการริบตาม พ.ร.บ. ศุลกากร ฯ มาตรา 60 สินค้าดังกล่าวจึงอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 กรณีหาใช่เพียงแต่อยู่ในความรักษาหรือตรวจตราดูแลของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร ฯ มาตรา 117 ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 เห็นว่าโจทก์กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร ฯ มาตรา 99 เท่านั้น และยอมให้โจทก์ส่งสินค้าดังกล่าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนสินค้าดังกล่าวแก่โจทก์ เมื่อสินค้าสูญหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระราคา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1164/2546

เจ้าพนักงานตำรวจได้ขอความยินยอมจาก น. มารดาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านที่เกิดเหตุก่อนทำการค้น แสดงว่าการค้นกระทำขึ้นโดยอาศัยอำนาจความยินยอมของน. แม้การค้นจะกระทำโดยไม่มีหมายค้นที่ออกโดยศาลอนุญาตให้ค้นได้ ก็หาได้เป็นการค้นโดยมิชอบไม่ นอกจากนี้ก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะดำเนินการค้นได้เห็นจำเลยซึ่งอยู่ในห้อง นอนโยนเมทแอมเฟตามีนออกไปนอกหน้าต่าง อันเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจพบจำเลยกำลังกระทำความผิด ซึ่งหน้าและได้กระทำลงในที่รโหฐาน เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับหรือหมายค้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(1),92(2) เมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้จึงนำมารับฟังประกอบคำรับสารภาพของ จำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2545

การจับ ส. ที่บ้านได้กระทำโดยมีหมายจับที่พันตำรวจเอก ร. ออกโดยชอบและหมายค้นของศาลจังหวัดมีนบุรี เมื่อแสดงตนว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและแสดงหมายค้น ส. ซึ่งยืนอยู่ด้านในรั้วบ้านได้ปิดล็อกกุญแจรั้วหน้าบ้าน แล้ววิ่งหนีเข้าบ้านไปปิดล็อกกุญแจบ้านด้านในอีกชั้นหนึ่งและไม่ยอมเปิด ประตูโดยอ้างว่าจะไปมอบตัวในวันหลัง แสดงว่า ส. ไม่ยอมให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปจับกุม การที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปใช้ไม้กระแทกประตูบ้านที่ปิดล็อกกุญแจด้านใน ไว้จนเปิดออกแล้วเข้าไปจับ ส. จึงเป็นกรณีจำเป็น ซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้จัดการตามหมายค้นมีอำนาจกระทำได้ตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 94 วรรคสอง ตามสำเนาบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นจับกุมที่บ้าน ส. เวลา 18.02 นาฬิกา แสดงว่าลงมือตรวจค้นตั้งแต่เวลา 18.02 นาฬิกาซึ่งยังเป็นเวลากลางวัน เมื่อยังไม่เสร็จจึงมีอำนาจตรวจค้นจับกุมต่อไป ในเวลากลางคืนได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96(1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำ สืบมานั้นเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น เมื่อคำเบิกความของ ส. ซึ่งแม้จะยังไม่จบคำถามค้านของทนายจำเลยประกอบพยานเอกสารที่คู่ความทั้งสอง ฝ่ายอ้างส่งศาลข้อเท็จจริงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้วคดีจึงไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2545

เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจจับจำเลยได้โดย ไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 66 (2) ส่วนข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเป็นข้อตกลงในทางปฏิบัติ เท่านั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ ทำให้การจับจำเลยเสียไป เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9590/2544

โจทก์เมาสุราส่งเสียงดังเดินเตะเก้าอี้และพูดจาระรานจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ ทั้งขณะที่อยู่ในร้านอาหารและขณะเดินกลับออกจากร้านเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 378 จำเลยทั้งสามจึงมีอำนาจจับกุมโจทก์ โจทก์ดิ้นรนขัดขืนไม่ยอมให้จับกุมโดยดี จึงเป็นมูลความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ได้ การที่จำเลยทั้งสามแจ้งต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีต่อโจทก์ในข้อหาเสพสุรา จนเป็นเหตุให้เมาประพฤติวุ่นวายในสาธารณสถานและต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของ เจ้าพนักงาน จึงมิใช่การปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้โจทก์ปราศจากเสรีภาพในร่างกายอันจะเป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 310 แต่ในการจับกุมโจทก์ซึ่งอยู่ในสภาพเมามายครองสติไม่ได้และโจทก์ขัดขวางการจับกุม จำเลยทั้งสามมีอำนาจใช้วิธีหรือความป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะแก่พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับกุมซึ่งจำเลยทั้งสามควรใช้วิธีการจับตัวและจับมือโจทก์เพื่อใส่เครื่องพันธนาการไม่ให้หลบหนีเท่านั้น จำเลยที่ 1 หาได้มีอำนาจที่จะชกต่อยทำร้ายร่างกายโจทก์ไม่ การที่โจทก์ได้รับบาดเจ็บโดยมีบาดแผลบวมที่โหนกแก้มขวาและตามัว ซึ่งเกิดจากการที่ถูกจำเลยที่ 1 ชกในขณะจับกุมการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7116/2544

สิทธิในการร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจค้น จับกุมและคุมขังผู้ร้องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นในความผิดที่ผู้ร้องอ้างว่าการค้น จับกุมและคุมขังโดยมิชอบ เมื่อการคุมขังเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ศาลประทับฟ้องและออกหมายขัง ผู้ร้องในระหว่างพิจารณา สิทธิของผู้ร้องที่จะร้องขอให้ปล่อยจากการคุมขังอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงระงับ การตรวจค้น จับกุมและการคุมขังของเจ้าพนักงานตำรวจชั้นแรกเป็นขั้นตอนต่างหากจากการสอบสวน ทั้งการสอบสวนจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาของศาล เมื่อผู้ร้องถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลและศาลประทับฟ้องและออกหมายขัง ผู้ร้องไว้ระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 58 (4), 71 และ 88 ซึ่งเป็นอำนาจที่จะดำเนินการได้แล้ว การคุมขังผู้ร้องจึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 240


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6421/2544

สิบตำรวจโท ส. จำเลยได้ใช้อาวุธปืนพกขนาด .357ซึ่งเป็นอาวุธประจำกายของจำเลยยิงไปที่รถยนต์บรรทุกคันกระสุนปืนถูกที่ ตัวถังรถบริเวณประตูด้านคนขับและประตูตู้ท้ายรถ ในขณะที่ผู้เสียหายนั่งอยู่ที่ที่นั่งคนขับ จุดที่กระสุนปืนถูกที่ประตูรถยนต์ที่ผู้เสียหายขับเป็นจุดที่อยู่ตรงที่นั่ง คนขับในระดับที่จะถูกร่างกายของผู้เสียหายพอดี แต่เนื่องจากกระสุนปืนทะลุไปถูกเหล็กกันกระแทกด้านข้างจึงไม่ทะลุต่อไปไม่เช่นนั้นกระสุนคงจะถูกร่างกายของผู้เสียหายแน่นอน จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมรู้อยู่แก่ใจดีแล้วว่า อาวุธปืนพกขนาด .357 เป็นอาวุธที่มีอานุภาพการทำลายร้ายแรงจำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำว่า กระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ถือได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายจำเลยจึงต้องมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย สิบตำรวจโท ส. จำเลยเพียงแต่ต้องการจับกุมผู้เสียหายที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการจอดรถในที่ห้ามจอดซึ่งเป็นความผิดเพียงเล็กน้อย (ระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท) จำเลยหามีสิทธิที่จะใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นการใช้มาตรการในการจับกุมที่รุนแรงที่สุดไม่ หากผู้เสียหายไม่ยอมให้จับกุมและจะขับรถหลบหนีไป จำเลยก็เพียงแต่ใช้วิทยุแจ้งป้อมยามข้างหน้าที่คาดว่ารถของผู้เสียหายจะขับ ผ่านให้ช่วยสกัดจับหรือขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปสกัดจับก็น่าจะทำได้ แต่การที่จำเลยนำอาวุธปืนมาใช้ในกรณีนี้นอกจากจะไม่มีสิทธิจะกระทำได้แล้ว ยังเป็นการกระทำที่เกินจำเป็นที่จะใช้ในการจับกุมอีกด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9752/2544

สิทธิของผู้ร้องในการยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการควบคุมหรือขังโดยผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 นั้น จะมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ผู้ถูกคุมขังยังถูกควบคุมหรือขังไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ตามคำร้องอ้างเหตุการควบคุม พ. ว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในชั้นฝากขัง พนักงานสอบสวนไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอฝากขัง พ. ต่อศาลชั้นต้นได้นั้น ปรากฏว่าพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ. เป็นจำเลยในความผิดต่อ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ ต่อศาลชั้นต้น โดยจำเลยถูกขังตามหมายขังระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าว ดังนั้น ปัญหาการควบคุม พ. ในชั้นสอบสวนว่าชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายข้างต้นหรือไม่ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะได้รับการวินิจฉัยต่อไป ทั้งประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นข้อต่อสู้ของ พ. ที่จะได้รับการพิจารณาในชั้นรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ฎีกาของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่มีประโยชน์แก่คดีที่จะได้รับการวินิจฉัยอีกต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1328/2544 

นายดาบตำรวจ ว. ค้นบ้านของจำเลยโดยมีหมายค้นส่วนที่หมายค้นระบุเลขที่บ้านผิดไปหามีผลทำให้ หมายค้นเสียไปไม่การค้นบ้านจำเลยจึงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 35 นายดาบตำรวจ ว. กับพวกเห็นจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ เมื่อเข้าไปตรวจค้นบ้านจำเลยก็พบเมทแอมเฟตามีนอีก1 เม็ด การกระทำของนายดาบตำรวจ ว. กับพวกกระทำต่อเนื่องกันเมื่อพบเห็นจำเลยจำหน่าย และมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่าย อันเป็นความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80 จึงมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามมาตรา 78(1) เมื่อเป็นการตรวจค้นและจับจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานของโจทก์จึงมิใช่พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบด้วยมาตรา 226


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2612/2543

จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 20 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด ให้แก่สายลับของเจ้าพนักงานตำรวจในซอยซึ่งมิใช่ที่รโหฐาน ร้อยตำรวจเอก จ. กับพวกซึ่งซุ่มดูการล่อซื้อจับกุมจำเลยในเวลาต่อเนื่องกับเวลาที่จำเลย จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ โดยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10 เม็ด และธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อจำนวน 1,200 บาท ที่ค้นได้จากกระเป๋ากางเกงของจำเลยเป็นหลักฐานยืนยันการกระทำผิดของจำเลย ในชั้นจับกุมร้อยตำรวจเอก จ. ได้แจ้งข้อหาแก่จำเลย จำเลยให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ การจับกุมดังกล่าวจึงเป็นการจับกุมโดยชอบ แม้พันตำรวจโท อ. ได้มาลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมโดยตนเองไม่ได้ร่วมจับกุมจำเลยด้วย ก็เป็นเพียงการกระทำโดยไม่ชอบของพันตำรวจโท อ. เท่านั้น หามีผลทำให้การจับกุมจำเลยที่กระทำโดยร้อยตำรวจเอก จ. กับพวกซึ่งทำโดยชอบกลับกลายเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4514/2542

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 83 การ "จับ" นั้น เพียงแต่ทำให้ผู้ถูกจับรู้สึกตัวว่าขาดอิสระภาพไม่สามารถไปไหน ได้สะดวกต้องอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานก็พอไม่จำต้องใช้กำลัง ไม่จำต้องแจ้งข้อหาทันที หรือแจ้งสิทธิของ ผู้ถูกจับหรือต้องทำบันทึกการจับกุมก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4239 - 4240/2542

แม้การที่พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาออกนอกพื้นที่ที่ทำการของกองปราบปราม เพื่อตรวจค้นตามหมายค้นจะเป็นการนอกเหนือจากคำร้องขอฝากขังที่ระบุว่าขอรับ ตัวผู้ต้องหาไปควบคุมยังที่ทำการของกองปราบปรามเพื่อให้พยานชี้ตัว แต่ก็ยังได้อ้างเหตุที่ต้องขออนุญาตฝากขังด้วยว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 15 ปาก ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนพยานหรือกระทำการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อให้การ สอบสวนเสร็จสิ้นได้ มิได้จำกัดเพียงให้พยานชี้ตัวผู้ต้องหาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายเสร็จแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ผู้ต้องหาจะร้องขอให้แพทย์ในหน่วยนิติเวชของโรงพยาบาลรามา ธิบดีตรวจพิสูจน์ศพ เพื่อใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา 15 และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 อีกได้เพราะการชันสูตรพลิกศพเป็นการสอบสวนความผิดอาญาอย่างหนึ่งและประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ได้ระบุผู้มีหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพไว้แล้วคือ พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับสาธารณสุขจังหวัด หรือแพทย์ประจำสถานีอนามัยหรือแพทย์ประจำโรงพยาบาลถ้าบุคคลดังกล่าวไม่มี หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ใช้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขประจำท้องที่ หรือแพทย์ประจำตำบลนอกจากนี้มาตรา 151 ได้ให้อำนาจผู้ทำการชันสูตรพลิกศพทำการผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใดหรือจะให้ส่ง ทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้ และมาตรา 153 ยังให้อำนาจผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดศพขึ้นเพื่อตรวจดูได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติไว้โดยเฉพาะในภาค 2 ลักษณะ 2 หมวด 2 แล้วจึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 มาอนุโลมบังคับหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3502/2542

ในการขอฝากขังครั้งแรก พนักงานสอบสวนผู้ร้องอ้างเหตุว่า ต้องสอบสวนพยานที่เกี่ยวข้อง 10 ปาก ส่วนในการขอฝากขัง ครั้งที่ 2 ผู้ร้องอ้างเหตุว่าต้องสอบสวนพยานที่เกี่ยวข้อง อีก 6 ปาก และในการขอฝากขังทั้งสองครั้งผู้ร้องยังอ้างว่าต้องรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้ว มือของผู้ต้องหาอีกด้วย ซึ่ง จำเลยไม่คัดค้าน จึงมีเหตุอันควรที่ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ผู้ร้องควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อไปได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังได้ตามขอจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธี พิจารณา ความอาญา มาตรา 87 วรรคสี่ แม้ต่อมาภายหลังจะปรากฎว่า ผู้ต้องหากล่าวอ้างว่า ผู้ต้องหาถูกทำร้ายขู่เข็ญให้ รับสารภาพมาก่อนหน้านั้นก็ไม่มีผลทำให้คำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง ที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ต้องกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไปไม่ ในกรณีดังกล่าวผู้ต้องหาชอบที่จะดำเนินคดีแก่ผู้ที่ทำร้ายตน ตามสิทธิที่มีอยู่ ส่วนคำรับสารภาพของผู้ต้องหาจะ รับฟังได้หรือไม่ เพียงใด และการสอบสวนจะชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาของศาลจึงไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่ง อนุญาตให้ฝากขังทั้งสองครั้ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4711/2542

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคหนึ่ง และมาตรา 310 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับจึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ใน ปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ แต่ตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล ชั้นต้น ซึ่งเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงและโจทก์มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 193 ตรี และคดีไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อหาดังกล่าวให้จึงเป็นการมิชอบ ต้องถือว่าความผิดต่อเสรีภาพตามฟ้องของโจทก์ เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์ ฎีกาในข้อหาดังกล่าวด้วย ศาลฎีกาก็ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในปัญหาดังกล่าวอีกต่อไป จำเลยที่ 1 และที่ 2 พาจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจดับเพลิงไปจับกุมโจทก์ที่บ้านพัก ของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของบ้าน โดยกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดอาญา และแจ้งว่าได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้นั้นตาม ระเบียบแล้ว จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจจับกุมได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับทั้งจำเลยที่ 3 ได้แจ้งให้โจทก์ทราบแล้วว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ไปดำเนินคดีในข้อหาความผิดดังกล่าว กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(4),81(1) และมาตรา 92(5) ที่ให้อำนาจจำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์ในบ้านพักของโจทก์ โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับได้ ไม่เป็นความผิดต่อเสรีภาพ จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ มีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 จะมีหน้าที่ในการบรรเทาสาธารณภัยก็ไม่ทำให้อำนาจที่จำเลยที่ 3 มีอยู่ตามกฎหมายสูญสิ้นไป จำเลยที่ 3 ยังคงมีอำนาจอยู่โดยบริบูรณ์ในฐานะเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจผู้มี อำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(16) การที่จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาก่อนไม่มีผลกระทบกระทั่งต่อ อำนาจที่จำเลยที่ 3 มีอยู่แล้วตามกฎหมาย โจทก์ถูกจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกกล่าวหาว่า แจ้งความเท็จ ต่อเจ้าพนักงานโจทก์จึงตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจ ออกหมายเรียกหรือจับกุมโจทก์ไปดำเนินคดีได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายในความผิดที่โจทก์ถูกกล่าวหาพาจำเลยที่ 3 ไปจับกุมโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะมีเจตนาเร่งรัดเพื่อให้มีการสอบสวนดำเนินคดีแก่โจทก์อย่างรวดเร็ว ก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอให้ฟังว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ หลังจากที่จำเลยที่ 3 ควบคุมตัวโจทก์ไปส่งให้พนักงานสอบสวน โจทก์ก็ได้รับอนุญาตจากพนักงานสอบสวนให้ประกันตัวไปในวันเดียวกัน พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์เพื่อชี้ให้จำเลยที่ 3 จับกุมโจทก์เป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควรไม่เป็นความผิดฐานบุกรุก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1259/2542

แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(16)จ่าสิบตำรวจ ส. มีอำนาจและหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้และยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญา ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 17 อำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดีอาญาดังกล่าวนี้ ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดจำกัดให้ปฏิบัติหน้าที่ได้เฉพาะ ในเขตท้องที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นประจำการอยู่เท่านั้นเจ้าพนักงาน ตำรวจดังกล่าวจึงมีอำนาจจับกุมผู้กระทำผิดและสืบสวนคดีอาญาได้ทั่วราช อาณาจักร ดังนั้น จ่าสิบตำรวจ ส. ย่อมมีอำนาจที่จะไปจับกุมจำเลยที่ 1 ซึ่งมีที่อยู่ในเขตท้องที่ สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร ได้ เว้นแต่ลักษณะการจับที่ไม่มีหมายจับเป็นไปโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 78,81 และ 92 จำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2ในการกระทำความผิดฐานขายเมทแอมเฟตามีน การที่จำเลยที่ 2ขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จ่าสิบตำรวจ ส. เป็นความผิดซึ่งหน้าเมื่อจำเลยที่ 2 ถูกจับกุมแล้วได้นำจ่าสิบตำรวจ ส.ไปจับกุมจำเลยที่ 1 เป็นการต่อเนื่องกันทันที ถือได้ว่าจ่าสิบตำรวจ ส. จับกุมจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดซึ่งหน้าด้วยเช่นกัน เพราะหากล่าช้า จำเลยที่ 1ก็อาจหลบหนีไปได้ และการตรวจค้นตัวจำเลยที่ 1 ยังพบ เมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 95 เม็ด ดังนั้น แม้จ่าสิบตำรวจ ส. เข้าไปจับจำเลยที่ 1 ในห้องพักของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่ รโหฐานก็ตาม จ่าสิบตำรวจ ส. ก็ย่อมมีอำนาจที่จะจับกุมจำเลยที่ 1 ได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 81(1),92(2) การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดต่อเนื่อง และกระทำต่อเนื่องกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน และสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร ดังนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุม จำเลยที่ 2 ผู้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 จึงมี อำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 19 วรรคหนึ่ง(3) และวรรคสาม(ก) พนักงานอัยการโจทก์ จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4461/2540

จ่าสิบตำรวจ ส. และร้อยตำรวจเอก ป.จับจำเลยได้ ขณะที่จำเลยกำลังขายวัตถุออกฤทธิ์ให้แก่จ่าสิบตำรวจ ส. ผู้ล่อซื้อ ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าขณะนั้นธนบัตรที่ใช้ล่อซื้ออยู่ที่จำเลยและจำเลย ดิ้นรนต่อสู้ ถ้าปล่อยให้เนิ่นช้ากว่าจะนำหมายจับและหมายค้นมาได้ จำเลยอาจหลบหนีและพยานหลักฐานอาจสูญหายจึงเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง จ่าสิบตำรวจ ส. และร้อยตำรวจเอกป.จึงมีอำนาจเข้าไปในบริเวณบ้านที่เกิดเหตุอันเป็นที่รโหฐาน ในเวลากลางคืนโดยไม่ต้องมีหมายค้นและมีอำนาจจับจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80,81 ประกอบมาตรา 92(2) และมาตรา 96(2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 69/2535

โจทก์ใช้ห้องพักในบ้านเกิดเหตุเป็นที่สำหรับให้หญิงค้าประเวณีกับบุคคลทั่วไป คืนเกิดเหตุนางสาวน.ลูกจ้างของโจทก์ได้ทำการค้าประเวณีในห้องพักนั้นด้วย ห้องพักดังกล่าวถือได้ว่าเป็นที่สาธารณสถาน จำเลยที่ 2 ที่ 3 เข้าไปในห้องพักดังกล่าวพบนางสาวน.อยู่กับ ส.เพียงสองต่อสองและส.บอกว่าได้ร่วมประเวณีกับนางสาวน.แล้ว เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้พบนางสาวน.ในลักษณะซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่านางสาวน.เพิ่งได้กระทำ ความผิดฐานค้าประเวณีมาแล้ว อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 80 จำเลยที่ 2ที่ 3 จึงมีอำนาจเข้าไปจับกุมนางสาวน.ได้โดยไม่จำต้องมีหมายค้นและหมายจับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2892/2536

ร.ต.อ.อุทัยได้ทำการตรวจค้นบริเวณด้านหลังอู่ที่พบชิ้นส่วนเครื่องรับวิทยุของกลาง ภายหลังวันที่จำเลยที่ 1 ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแล้ว จึงมิใช่กรณีของการค้นที่อยู่ของผู้ต้องหาซึ่งถูกควบคุมหรือขังอยู่ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 วรรคสอง แต่เป็นการค้นตามมาตรา 102 วรรคแรก และ ร.ต.อ.อุทัยก็ได้แสดงหมายค้นและค้นต่อหน้าผู้ครอบครองดูแลอู่ในขณะนั้นและ ได้ทำบันทึกการตรวจค้นโดยมีรายละเอียดสิ่งของที่ค้นพบรวมถึงกล่องวิทยุที่ ถูกเผาให้ผู้ครอบครองดูแลอู่ลงชื่อไว้แล้ว การตรวจค้นของ ร.ต.อ.อุทัยจึงชอบด้วยมาตรา 102 จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 รับเอาทรัพย์ของกลางทั้งหมดไว้ในครอบครอง และจากพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1กับพวกได้ร่วมกันแยกเอาชิ้นส่วนออกและพ่นสีรถใหม่ รวมทั้งทำลายหลักฐานบางส่วนโดยการเผา แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กับพวกทราบดีแล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์การ กระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ความผิดฐานรับของโจรนั้น อาจเกิดขึ้นหลายครั้งในวันเดียวกันได้ หากจำเลยรับทรัพย์ของกลางไว้หลายคราวและต่างเวลากัน และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับว่าจำเลยที่ 1ได้รับเอาทรัพย์ของกลางตามที่โจทก์ฟ้องทุกคดีในคราวเดียวกันอันจะเป็นความ ผิดกรรมเดียวแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกับคดีอื่นที่โจทก์ได้ฟ้องจำเลยแล้ว กฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องทำบันทึกการจับกุมในสถานที่ที่จับกุมหรือตรวจ ค้น อีกทั้งได้ความว่าจำเลยที่ 1 กับพวกถูกจับกุมในสถานที่ต่างกันในเวลาไล่เลี่ยกัน การทำบันทึกการจับกุมที่สถานีตำรวจจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมแล้ว และเนื่องจากเป็นการบันทึกการจับกุม มิใช่บันทึกการตรวจค้น จึงไม่จำต้องบันทึกของกลางที่ตรวจพบไว้โดยละเอียด เพียงแต่บันทึกของกลางที่ตรวจพบหรือทำบัญชีของกลางไว้ก็เป็นการเพียงพอแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 103 พนักงานสอบสวนได้นำภาพถ่ายวัตถุของกลางให้จำเลยที่ 1ดูแล้ว ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้ร้องขอดูวัตถุของกลางโดยตรงจึงนับว่าเพียงพอและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 242แต่อย่างใด และเนื่องจากวัตถุของกลางเป็นรถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ ย่อมไม่สะดวกที่จะบรรจุหีบห่อและตีตราไว้ แต่การที่เจ้าพนักงานตำรวจได้บันทึกภาพวัตถุของกลางดังกล่าวไว้นั้นถือได้ ว่าได้ทำเครื่องหมายไว้เป็นสำคัญแก่วัตถุของกลางนั้นชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 101 แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2353/2530

กรณีที่มิใช่เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ราษฎรย่อมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับกุมผู้กระทำความผิด ดังนั้น การที่ ข.กับผู้ตายซึ่งเป็นเพียงราษฎรจะเข้าจับกุมจำเลยภายหลังเกิดเหตุจำเลยทำร้ายผู้อื่นแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันเพื่อให้พ้นจากการที่จะต้องถูกจับได้ แต่การที่จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตายที่หน้าอกส่วนล่างใต้นมเหนือชาย โครงซ้าย และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนเกิดเหตุนั้นเอง แสดงว่าจำเลยแทงโดยแรง และเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยเลือกแทงที่อวัยวะสำคัญโดยไม่ปรากฏว่า ช.กับผู้ตายมีอาวุธหรือแสดงอาการในลักษณะที่จะทำร้ายจำเลยนอกเหนือจากการกระทำเพื่อจับกุมจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4668/2541

ร้อยตำรวจเอกณ.ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำ หน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ยาเสพติดให้โทษ ย่อมมีอำนาจตรวจค้นจับกุมและควบคุม ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดได้ทั่วราชอาณาจักร โดยไม่ต้องมีหมายค้นหรือหมายจับ ตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 แม้บัตรของสำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่ออกให้แก่ร้อยตำรวจเอกณ. จะหมดอายุการใช้บัตรแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้ร้อยตำรวจเอกณ.ในฐานะ เจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีอำนาจตรวจค้น จับกุม และควบคุมจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้นการตรวจค้น จับกุม และควบคุมจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วย กฎหมายแล้ว การที่พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเบิกความตามที่ตนรู้เห็นจากการ ปฏิบัติราชการตามหน้าที่และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อนคำเบิกความของพยานโจทก์ ทั้งสองปากนี้ย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2343 - 2344/2518

โจทก์ร่วมถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกขว้างปารถยนต์โดยสารเสียหาย และถูกผู้โดยสารบาดเจ็บ ผู้ใหญ่บ้านจับกุมโจทก์ร่วมได้แล้วมอบตัวให้จำเลยซึ่งเป็นกำนันท้องที่ที่ เกิดเหตุเมื่อเวลา 1 นาฬิกา การนำตัวโจทก์ร่วมไปส่งสถานีตำรวจในคืนนั้นไม่เป็นการปลอดภัย และบ้านของจำเลยไม่มีห้องขังหรือที่ควบคุมผู้ต้องหา จำเลยจึงนำโจทก์ร่วมไปใช้โซ่ล่ามขาไว้กับเสาชานเรือนจำเลย พอรุ่งเช้าก็ปล่อยตัวไปเมื่อมีผู้มาขอรับตัว ดังนี้การกระทำของจำเลยเป็นวิธีการควบคุมเท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้หลบหนี เป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 86 ไม่เป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1194/2517

เจ้าพนักงานตำรวจเดินทางไปจับกุมผู้ต้องหาหลบหนีคดีอยู่ตามหมายจับ พบผู้ต้องหาโดยกระทันหันก่อนจะได้ไปขอความร่วมมือจากเจ้าพนักงานตำรวจท้อง ที่ ผู้ต้องหาหนีเข้าบ้านโจทก์จึงเข้าไปจับกุมได้ในทันใดนั้น ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 364 แม้จะไม่มีหมายค้นเพราะเป็นการเข้าไปโดยมีเหตุอันสมควร มิฉะนั้นผู้ต้องหาอาจหลบหนีไปได้ ผู้ที่เจ้าพนักงานตำรวจขอให้ช่วยเหลือจับกุมตามหมายจับก็ไม่มีความผิดเช่น เดียวกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1601/2509

ศาลชั้นต้นฟังว่า "ฯลฯ ขณะจับก็ยังพบ (โจทก์) คาดเข็มขัดตำรวจและมีนาฬิกาข้อมือที่ตามวิทยุว่าถูกลักมาอยู่ด้วย ดังนี้ โจทก์ย่อมจะต้องถูกจับอยู่เองเป็นธรรมดา" ดังนี้ แม้นาฬิกาที่จับได้จากโจทก์เป็นยี่ห้อวิลน่าส่วนตามวิทยุสั่งจับนั้นเป็นยี่ ห้อฮอนซ่าก็ตามก็เป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่ฟังว่า จำเลยพบโจทก์มีนาฬิกาข้อมือตรงกับที่วิทยุว่านาฬิกาข้อมือเป็นของที่ถูกลัก อันเป็นข้อสังเกตเบื้องต้นประกอบข้อพิรุธอื่นๆ ของโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยเชื่อว่าโจทก์เป็นพลตำรวจสำเริงซึ่งต้องหาว่าลักนาฬิกาข้อมือเท่านั้น ศาลชั้นต้นมิได้ฟังเลยไปถึงว่านาฬิกาที่โจทก์ใส่อยู่นั้นเป็นของร้าน อันเป็นของกลางที่จับได้จากโจทก์อย่างใดหาเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนไม่ จำเลยเข้าใจว่าคำสั่งของร้อยตำรวจเอกสุรพลผู้ทำการแทนผู้กำกับที่สั่งให้จำเลยไปจับกุม โจทก์นั้นเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้วิทยุสั่งจับมิได้มีข้อความแสดงว่าได้ออกหมายจับแล้ว กรณีก็ต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 70 จำเลยไม่ต้องรับโทษ(อ้างฎีกาที่ 1135/2508)


ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า "ฯลฯ ในเรื่องสาเหตุจำเลยที่ 2 ก็สามารถนำนางสาวน้อยหรือแมวมาเบิกความแสดงความบริสุทธิ์ได้อีกว่า แท้จริงจำเลยกับนางสาวน้อยหรือแมวไม่ได้เคยรู้จักกันเลย ฯลฯ" ดังนี้ เมื่อนางสาวน้อยหรือแมวซึ่งจำเลยนำสืบเบิกความว่าไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน คดีจึงมีคำพยานสนับสนุนให้ศาลชั้นต้นฟังว่านางสาวแมวไม่รู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2/2503

จำเลยเป็นตำรวจอยู่เวรรักษาเหตุการณ์บนสถานีตำรวจ ได้นำผู้ต้องขังตามหมายขังของศาลไปเสียจากที่คุมขังบนสถานีตำรวจ พาไปเที่ยวหาความสำราญในตลาด แม้ว่าจำเลยจะไปด้วยกับผู้ต้องขังนั้น ก็ไม่ถือว่าเป็นการควบคุมจำเลยต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 204 เพราะเป็นเรื่องไปเที่ยวหาความสำราญ ถือได้ว่า จำเลยได้กระทำให้ผู้ต้องขังหลุดพ้นจากการคุมขังไปแล้ว