เขตอำนาจศาล

มาตรา ๒๒ เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใดให้ชำระที่ศาลนั้น แต่ถ้า

 (๑) เมื่อจำเลยมีที่อยู่ หรือถูกจับในท้องที่หนึ่งหรือเมื่อเจ้าพนักงานทำการสอบสวนในท้องที่หนึ่งนอกเขตของศาลดั่งกล่าวแล้ว จะชำระที่ศาลซึ่งท้องที่นั้นๆ อยู่ในเขตอำนาจก็ได้

 (๒) เมื่อความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทยให้ชำระคดีนั้นที่ศาลอาญา ถ้าการสอบสวนได้กระทำลงในท้องที่หนึ่งซึ่งอยู่ในเขตของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้นได้ด้วย

มาตรา ๒๓ เมื่อศาลแต่สองศาลขึ้นไปต่างมีอำนาจชำระคดี ถ้าได้ยื่นฟ้องคดีนั้นต่อศาลหนึ่งซึ่งตามฟ้องความผิดมิได้เกิดในเขต โจทก์หรือจำเลยจะร้องขอให้โอนคดีไปชำระที่ศาลอื่นซึ่งความผิดได้เกิดในเขตก็ได้

ถ้าโจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลซึ่งความผิดเกิดในเขต แต่ต่อมาความปรากฏแก่โจทก์ว่าการพิจารณาคดีจะสะดวกยิ่งขึ้นถ้าให้อีกศาลหนึ่งซึ่งมีอำนาจชำระคดีได้พิจารณาคดีนั้น โจทก์จะยื่นคำร้องต่อศาลซึ่งคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาขอโอนคดีไปยังอีกศาลหนึ่งก็ได้ แม้ว่าจำเลยจะคัดค้านก็ตาม เมื่อศาลเห็นสมควรจะโอนคดีไปหรือยกคำร้องเสียก็ได้

มาตรา ๒๔ เมื่อความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันโดยเหตุหนึ่งเหตุใด เป็นต้นว่า

 (๑) ปรากฏว่าความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกัน หรือผู้กระทำผิดหลายคนเกี่ยวพันกันในการกระทำความผิดฐานหนึ่งหรือหลายฐาน จะเป็นตัวการ ผู้สมรู้หรือรับของโจรก็ตาม

(๒) ปรากฏว่าความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยมีเจตนาอย่างเดียวกัน หรือโดยผู้กระทำผิดทั้งหลายได้คบคิดกันมาแต่ก่อนแล้ว

(๓) ปรากฏว่าความผิดฐานหนึ่งเกิดขึ้นโดยมีเจตนาช่วยผู้กระทำผิดอื่นให้พ้นจากรับโทษในความผิดอย่างอื่นซึ่งเขาได้กระทำไว้

ดั่งนี้จะฟ้องคดีทุกเรื่อง หรือฟ้องผู้กระทำความผิดทั้งหมดต่อศาลซึ่งมีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าไว้ก็ได้

ถ้าความผิดอันเกี่ยวพันกันมีอัตราโทษอย่างสูงเสมอกัน ศาลซึ่งมีอำนาจชำระ ก็คือศาลซึ่งรับฟ้องเรื่องหนึ่งเรื่องใดในความผิดเกี่ยวพันกันนั้นไว้ก่อน

มาตรา ๒๕ ศาลซึ่งรับฟ้องคดีเกี่ยวพันกันไว้จะพิจารณาพิพากษารวมกันไปก็ได้
ถ้าศาลซึ่งรับฟ้องคดีเกี่ยวพันกันไว้ เห็นว่าเป็นการสมควรที่ความผิดฐานหนึ่งควรได้ชำระในศาลซึ่งตามปกติมีอำนาจจะชำระ ถ้าหากว่าคดีนั้นไม่เกี่ยวกับคดีเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลเดิมได้ตกลงกับอีกศาลหนึ่งแล้ว จะสั่งให้ไปฟ้องยังศาลอื่นนั้นก็ได้

มาตรา ๒๖ หากว่าตามลักษณะของความผิด ฐานะของจำเลย จำนวนจำเลย ความรู้สึกของประชาชนส่วนมากแห่งท้องถิ่นนั้น หรือเหตุผลอย่างอื่น อาจมีการขัดขวางต่อการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา หรือน่ากลัวว่าจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายอย่างอื่นขึ้น เมื่อโจทก์หรือจำเลยยื่นเรื่องราวต่ออธิบดีศาลฎีกาขอให้โอนคดีไปศาลอื่น ถ้าอธิบดีศาลฎีกาอนุญาตตามคำขอนั้นก็ให้สั่งโอนคดีไปยังศาลดั่งที่อธิบดีศาลฎีการะบุไว้

คำสั่งของอธิบดีศาลฎีกาอย่างใด ย่อมเด็ดขาดเพียงนั้น

มาตรา ๒๗ ผู้พิพากษาในศาลใดซึ่งชำระคดีอาญา จะถูกตั้งรังเกียจตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งบัญญัติไว้ในเรื่องนั้นก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5312/2560
           แม้เรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี เป็นภูมิลำเนาของจำเลยในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 47 ถือได้ว่าจำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 (1) แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นบทบังคับให้ศาลชั้นต้นที่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจต้องรับชำระคดีที่โจทก์ฟ้อง ศาลชั้นต้นจึงใช้ดุลพินิจที่จะรับชำระคดีเช่นว่านั้นหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความสะดวกในการพิจารณาคดี ได้ความตามฟ้องโจทก์ว่า ขณะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำกลางสงขลา เจ้าพนักงานตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด 30 เม็ด ชนิดเกล็ดใสบรรจุถุงพลาสติก 1 ถุง โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ซิมการ์ด 3 อัน และเมมโมรี่การ์ด 1 อัน ซึ่งเป็นสิ่งของต้องห้ามที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและนำเข้ามาภายในเรือนจำกลางสงขลา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66 และ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 มาตรา 45 เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี เมื่อเหตุคดีนี้เกิดขึ้นในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดสงขลา และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสงขลาเป็นผู้สอบสวนคดี แม้โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องว่าหากมีการชำระคดีที่ศาลชั้นต้นแล้วจะสะดวกยิ่งกว่าการชำระคดีที่ศาลจังหวัดสงขลา แต่จำเลยก็โต้แย้งมาในฎีกาว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางที่ตรวจยึดได้ไม่ใช่ของจำเลยเพราะตรวจยึดได้จากห้องนอนรวม โดยจำเลยประสงค์อ้างนักโทษชาย ส. นักโทษชาย ว. และนักโทษชาย ธ. ที่ร่วมรู้เห็นในการตรวจยึด รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ประจำเรือนจำกลางสงขลาอีกหลายคนที่ร่วมสอบข้อเท็จจริงเป็นพยานจำเลย แม้พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ตรวจค้น จับกุมและสอบสวนต่างเป็นเจ้าพนักงานของรัฐสามารถเดินทางจากจังหวัดสงขลามาเบิกความที่ศาลชั้นต้นได้โดยสะดวก แต่เมื่อพิจารณาถึงพยานหลักฐานของจำเลยซึ่งเป็นนักโทษถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางสงขลา ย่อมไม่สะดวกที่จะเคลื่อนย้ายนักโทษเหล่านั้นมาเบิกความที่ศาลชั้นต้น ทั้งคดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษมีอัตราโทษสูง สมควรให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ กรณียังไม่มีเหตุสมควรให้ศาลชั้นต้นรับชำระคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13105/2558
         ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำไว้โดยเฉพาะ และ ป.วิ.พ. มาตรา 144 ได้บัญญัติรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไว้ว่า เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้นอีก ซึ่งเป็นหลักการตรวจสอบทำนองเดียวกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงนำเรื่องห้ามดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 มาใช้บังคับในการดำเนินคดีอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้โดยอนุโลม โจทก์ร่วมเคยฟ้องจำเลยเรื่องบุกรุกที่เกิดเหตุสถานที่เดียวกันกับคดีนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินพระราชทาน หากคดีนี้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาคดีไปตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า มีพยานหลักฐานใหม่มาพิสูจน์ได้ว่าที่เกิดเหตุคดีนี้อยู่นอกเขตที่ดินพระราชทาน ศาลก็ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินพระราชทานหรือไม่ อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ฉะนั้นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่เกิดเหตุอยู่ในเขตที่ดินพระราชทานโดยอาศัย ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12983/2558
          การที่จำเลยแอบติดตั้งกล้องบันทึกภาพไว้ที่ใต้โต๊ะทำงานของโจทก์ร่วม และบันทึกภาพสรีระร่างกายของโจทก์ร่วมตั้งแต่ช่วงลิ้นปี่จนถึงอวัยวะช่วงขามองเห็นกระโปรงที่โจทก์ร่วมสวมใส่ ขาท่อนล่างและขาท่อนบนของโจทก์ร่วม โดยที่กล้องบันทึกภาพมีแสงไฟสำหรับเพิ่มความสว่างเพื่อให้มองเห็นภาพบริเวณใต้กระโปรงของโจทก์ร่วมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การกระทำของจำเลยส่อแสดงให้เห็นถึงความใคร่และกามารมณ์ โดยที่โจทก์ร่วมมิได้รู้เห็นหรือยินยอม อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควรในทางเพศต่อโจทก์ร่วม โดยโจทก์ร่วมตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ แม้จำเลยจะมิได้สัมผัสต่อเนื้อตัวร่างกายของโจทก์ร่วมโดยตรง แต่การที่จำเลยใช้กล้องบันทึกภาพใต้กระโปรงโจทก์ร่วมในระยะใกล้ชิด โดยโจทก์ร่วมไม่รู้ตัวย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำโดยประสงค์ต่อผลอันไม่สมควรในทางเพศต่อโจทก์ร่วม โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามมาตรา 1 (6) แห่งประมวลกฎหมายอาญา

           ซึ่งการใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278 นอกจากหมายความว่า ทำการประทุษร้ายแก่กายแล้ว ยังหมายความว่าทำการประทุษร้ายแก่จิตใจด้วย ไม่ว่าจะทำด้วยใช้แรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด และให้หมายความรวมถึงการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าว ทำให้โจทก์ร่วมต้องรู้สึกสะเทือนใจอับอายขายหน้า จึงถือว่าเป็นการประทุษร้ายแก่จิตใจของโจทก์ร่วมแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอนาจารโจทก์ร่วม ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 278

          ห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุ เป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลเนินสง่า อันเป็นสถานที่ราชการซึ่งเป็นสาธารณสถาน แม้ประชาชนที่ไปใช้บริการในห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุจะต้องได้รับอนุญาต และผ่านการคัดกรองจากพยาบาลหน้าห้องตรวจก่อน แต่ก็เป็นเพียงระเบียบขั้นตอนและวิธีปฏิบัติในการใช้บริการของโรงพยาบาลเท่านั้น หาทำให้ห้องตรวจคนไข้ดังกล่าวซึ่งเป็นสาธารณสถานที่ประชาชนมีความชอบธรรมจะเข้าไปได้ ต้องกลับกลายเป็นที่รโหฐานแต่อย่างใดไม่ ห้องตรวจคนไข้ที่เกิดเหตุจึงยังคงเป็นสาธารณสถาน ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการรังแก หรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณสถานตาม ป.อ. มาตรา 397

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10060/2558
        ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในท้องที่ โดยจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ยี่ห้อนิสสันสีขาวของสถานีอนามัยมีตราของกระทรวงสาธารณสุขเป็นยานพาหนะประจำ ในคืนเกิดเหตุช่วงเวลาประมาณ 3 ถึง 4 นาฬิกา มีผู้แจ้งเบาะแสโดยส่งข้อความไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของดาบตำรวจ ส. รวม 6 ครั้ง 6 ข้อความ ว่ามีคนส่งยาบ้าที่พีพีรีสอร์ต ห้องที่ 14 ให้รีบไปเร็ว ๆ ก่อนเขาหนี เป็นรายใหญ่ ถ้าไม่ไปฉันจะไม่ส่งข่าวอีก เมื่อดาบตำรวจ ส. ไปที่รีสอร์ตพบรถดังกล่าวจอดอยู่ที่ห้องที่ 15 จำได้ว่าเป็นรถที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ สอบถามพนักงานรีสอร์ตแจ้งว่าเจ้าของรถมากับผู้หญิงพักอยู่ห้องที่ 14 ดาบตำรวจ ส. จึงเชื่อในเบาะแสที่แจ้งมา ดาบตำรวจ ส. กับพวกให้พนักงานรีสอร์ตเคาะประตูห้องที่ 14 ว่าขอเช็กมิเตอร์ ปรากฏว่าคนในห้องเปิดประตูออกมา ขณะนั้นไฟในห้องยังเปิดอยู่ เมื่อดาบตำรวจ ส. แจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ คนในห้องดันประตูกลับคืนและปิดไฟ เป็นพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามที่ได้รับแจ้ง ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองไปพักชั่วคราว จำเลยทั้งสองจะออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ หากเนิ่นช้าไปกว่าจะเอาหมายค้นมาทำการตรวจค้นในวันรุ่งขึ้น จำเลยทั้งสองจะออกจากห้องพักเสียก่อนพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง เป็นเหตุให้พยานหลักฐานสำคัญสูญหาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งทำให้เจ้าพนักงานเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และ มาตรา 96 (2) และเมื่อเจ้าพนักงานพบอุปกรณ์การเสพและเมทแอมเฟตามีน 11 เม็ดในห้องพักดังกล่าว กับพบเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด ในรถยนต์ จึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำรายงานการตรวจค้นและผลการตรวจค้นไว้ในบันทึกการจับกุมเสนอผู้บังคับบัญชา ดังนั้น การตรวจค้นและจับกุมในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8782/2558
          ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ..." ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งให้แก่บริษัท บ. แล้วก็ตาม แต่วันที่จำเลยกระทำความผิดโจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินของจำเลยให้แก่ น. เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4649/2548
         ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์มอบหมายให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำบัญชี เก็บเอกสาร การเงินและนำเงินรายได้จากขายห้องชุดที่จังหวัดสมุทรปราการนำเข้าบัญชีของโจทก์ที่จังหวัดเชียงราย การที่จำเลยทั้งสองรับเงินและเช็คจากลูกค้าของโจทก์ที่จังหวัดสมุทรปราการแล้วไม่นำส่งให้โจทก์ที่จังหวัดเชียงราย แต่กลับนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยทั้งสองที่ธนาคารในกรุงเทพมหานคร แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองอาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แต่ความผิดดังกล่าวมิได้เกิดขึ้น อ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย อันจะทำให้ศาลจังหวัดเชียงราย มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้

          ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริต โดยมีการวางแผนยักยอกเงินของโจทก์ที่จังหวัดเชียงรายตั้งแต่เมื่อปลายเดือนเมษายน 2539 ข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้เกิดขึ้นแล้ว อันจะทำให้ศาลจังหวัดเชียงรายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ เมื่อศาลจังหวัดเชียงรายไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว จึงไม่อาจโอนคดีไปชำระที่ศาลแขวงหรือศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 23 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11858/2557
           ป.วิ.อ. มาตรา 28 บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้ โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา 2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ

           โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า การกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก คือการร่วมกับจ่าสิบตำรวจ อ. จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2555 ของศาลชั้นต้น นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. โดยระบุว่า เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร แต่ต่อมาในชั้นพิจารณากลับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว. พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า การจำนำรถยนต์อันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดของจำเลยเกิดขึ้นที่เขตเพชรเกษม อันเป็นท้องที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ดังนี้ พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่อื่นนอกจากนี้ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนได้ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. 18 วรรคสาม

            เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร และถูกจับกุมดำเนินคดีนี้โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล หนองค้างพลู เช่นนี้ แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจะเป็นผู้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ทั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีเขตรับผิดชอบในท้องที่ซึ่งบริษัทผู้เสียหายตั้งอยู่ แต่เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยทำการสอบสวนจำเลย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

           โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ. ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่ ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 358/2557
          แม้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 จัดทำคำวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องเรียนของโจทก์เสร็จสิ้นที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงรองเมือง เขตรองเมือง กรุงเทพมหานคร ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสตูลสืบสวนสอบสวนตามอำนาจหน้าที่และส่งเรื่องพร้อมความเห็นอันเป็นข้อเสนอแนะไปยังจำเลยทั้งห้าก็ตาม แต่คำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ดังกล่าวจัดส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสตูลเพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบ ทั้งคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ยังมีผลต่อการสมัครรับเลือกตั้งนายกเทศมนตรีฉลุงในท้องที่จังหวัดสตูล ตามที่โจทก์ร้องเรียนอีกด้วย ถือว่า ความผิดได้เกิดขึ้นในจังหวัดสตูลอันเป็นเขตอำนาจของศาลชั้นต้นด้วย โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ต่อศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 และมาตรา 24 ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20586 - 20591/2556
        แม้จำเลยจะเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่จำเลยก็ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกทั้งคดีนี้เกิดก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับ แม้พนักงานสอบสวนจะพบการกระทำความผิดและแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมแก่จำเลย หลังจากที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับแล้ว และพนักงานสอบสวนมิได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษก็ตาม ก็หาทำให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งมีอำนาจหน้าที่สอบสวนโดยชอบในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นต้องเสียไป และมีผลทำให้การสอบสวนดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2555
         เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาสไม่ใช่หลังซอยโรงถ่านตามที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่ามีอาชญากรรมเกิดขึ้นประจำแต่อย่างใด และจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธคงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่เท่านั้น การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 ที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตน ตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบดังกล่าวได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4562/2555
           คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันกับอีก 2 คดี โดยโจทก์ร่วมที่ 3 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4249/2546 ของศาลชั้นต้นซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่โจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีนี้ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันสามสำนวนและโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายทั้งสามสำนวนก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาสำนวนคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่ใช่โจทก์ร่วมในสำนวนคดีนี้ โจทก์ร่วมที่ 3 จะอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ไม่ได้ ส่วนการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้พิจารณาพิพากษาคดีนี้กับอีก 2 คดี ดังกล่าวรวมกัน เป็นอำนาจของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 25 ซึ่งเป็นคนละเรื่องแยกต่างหากจากกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4337/2554
           เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจับกุม ว. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่งเป็นของกลาง จึงได้วางแผนให้ ว. โทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยและ ป. อีก จนจับกุมจำเลยและ ป. ได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ กรณีจึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนซึ่งเป็นท้องที่ที่ ว. โทรศัพท์ล่อซื้อและสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับกุมจำเลยและ ป. พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจึงมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (3) การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4575/2551
         การกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยมิได้เกิดในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราช แต่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง นครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราชและอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราช พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องต่อศาลแขวงนครศรีธรรมราชตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2455/2550
         แม้ความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กัน คือ จังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครปฐม แต่ทรัพย์ที่ถูกลักกับรับของโจรนั้นเป็นทรัพย์สิ่งเดียวกัน คือ รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย โดยถูกลักไปจากท้องที่หนึ่งแล้วนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่ หนึ่ง จึงเป็นความผิดหลายฐานเกี่ยวพันกัน โดยมีผู้กระทำความผิดหลายคน มีทั้งที่เป็นตัวการลักทรัพย์ ผู้สมรู้และผู้รับของโจรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 (1) ดังนั้นที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยรับจำนำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจาก ท. ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ บ. ลักรถจักรยานยนต์และไม่ได้เกี่ยวข้องกับชายไม่ทราบชื่อที่ซื้อรถจักรยานยนต์ จาก บ. ที่จังหวัดสมุทรสาคร คดีจึงไม่มีเหตุการณ์ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกันดังที่จำเลยฎีกานั้น ย่อมฟังไม่ขึ้น และความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนมีอัตราโทษสูงกว่าฐานรับของโจร ดังนั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณา พิพากษาคดีความผิดฐานลักทรัพย์ในเหตุฉกรรจ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 24 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยผิดศาลดังที่จำเลยฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3438/2550
        คดีนี้เหตุเกิดในท้องที่แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร แต่ตามบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์ระบุว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนเป็นผู้สอบสวน จำเลยมิได้โต้แย้งว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนไม่มีอำนาจ สอบสวน ดังนั้น ความผิดที่เกิดขึ้นจะฟ้องที่ศาลซึ่งท้องที่ที่สอบสวนอยู่ในเขตอำนาจก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 เมื่อสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนอยู่ในเขตอำนาจศาลแขวงธนบุรี โจทก์ย่อมฟ้องจำเลยที่ศาลแขวงธนบุรีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1965/2549
          เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชเป็นภูมิลำเนาของจำเลยในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจศาล ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 (1) แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิได้เป็นบทบังคับให้ศาลชั้นต้นที่จำเลยมีที่อยู่ในเขต อำนาจต้องรับชำระคดีที่โจทก์ฟ้อง จึงใช้ดุลพินิจที่จะรับชำระคดีเช่นว่านั้นหรือไม่ก็ได้ แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 22 (1) ไม่ได้บัญญัติให้ศาลท้องที่ที่จำเลยมีที่อยู่หยิบยกเหตุเรื่องความไม่สะดวก ของศาลที่รับชำระคดีมาเป็นเหตุไม่รับฟ้องหรือไม่ชำระคดี แต่การใช้ดุลพินิจที่จะรับชำระคดีหรือไม่ก็ต้องคำนึงถึงความสะดวกในการ พิจารณาคดีด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8103/2548
         เรือนจำกลางนครศรีธรรมราชเป็นภูมิลำเนาของจำเลยในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 แต่ ป.พ.พ. มาตรา 22 (1) มิได้บัญญัติให้ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลท้อง ที่ที่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจต้องรับชำระคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ เพียงแต่บัญญัติให้เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นจะรับชำระคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อความผิดคดีนี้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดทุ่งสง และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งสงท้องที่ที่ความผิดเกิดขึ้นเป็น ผู้สอบสวน จึงอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดทุ่งสงได้ การที่โจทก์ไม่อาจโอนตัวจำเลยไปคุมขังที่เรือนจำจังหวัดทุ่งสงเพื่อฟ้องคดี เพราะเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเกรงว่าจะเกิดความไม่ปลอดภัยในการย้ายจำเลย เป็นเพียงการคาดการณ์เอาเองของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น จึงไม่สมควรให้ศาลชั้นต้นรับชำระหนี้คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4649/2548
           ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของโจทก์มอบหมายให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ทำบัญชี เก็บเอกสาร การเงินและนำเงินรายได้จากขายห้องชุดที่จังหวัดสมุทรปราการนำเข้าบัญชีของ โจทก์ที่จังหวัดเชียงราย การที่จำเลยทั้งสองรับเงินและเช็คจากลูกค้าของโจทก์ที่จังหวัดสมุทรปราการ แล้วไม่นำส่งให้โจทก์ที่จังหวัดเชียงราย แต่กลับนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยทั้งสองที่ธนาคารในกรุงเทพมหานคร แม้การกระทำของจำเลยทั้งสองอาจเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ แต่ความผิดดังกล่าวมิได้เกิดขึ้น อ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงราย อันจะทำให้ศาลจังหวัดเชียงราย มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทุจริต โดยมีการวางแผนยักยอกเงินของโจทก์ที่จังหวัดเชียงรายตั้งแต่เมื่อปลายเดือน เมษายน 2539 ข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้เกิดขึ้น แล้ว อันจะทำให้ศาลจังหวัดเชียงรายมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ เมื่อศาลจังหวัดเชียงรายไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้ว จึงไม่อาจโอนคดีไปชำระที่ศาลแขวงหรือศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 23 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2646/2543
          แม้ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลางจะเป็นภูมิลำเนาของจำเลยในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 และถือได้ว่าจำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22(1) บัญญัติไว้ แต่ตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับให้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลท้องที่ที่ จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจต้องรับคดีที่โจทก์ฟ้อง หากแต่บัญญัติให้อยู่ในดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะรับชำระคดีในกรณีเช่นว่า นั้นหรือไม่ก็ได้ ประกอบกับความผิดคดีนี้เกิดขึ้นในท้องที่ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัด แม่สอด ทั้งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สอดได้ทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหากมีการชำระคดีที่ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) จะเป็นการสะดวกยิ่งกว่าการชำระคดีที่ศาลจังหวัดแม่สอดซึ่งเป็นศาลท้องที่ที่ ความผิดคดีนี้เกิดขึ้นอย่างไร ส่วนที่โจทก์อ้างว่ากรมราชทัณฑ์ไม่อนุญาตให้ย้ายจำเลยไปคุมขังที่เรือนจำ จังหวัดแม่สอดนั้นเป็นเพียงข้อขัดข้องในทางปฏิบัติเท่านั้น จึงไม่มีเหตุสมควรให้ศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัดธัญบุรี) รับชำระคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8023 - 8032/2542
           สำนวนคดีที่ห้าถึงที่สิบ โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ที่ 1 ด้วย โจทก์ที่ 2 และที่ 3 จึงมิใช่คู่ความในคดี ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าว ส่วนสำนวนคดีที่สามและที่สี่ แม้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ที่ 1 ด้วยก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ที่ 3 เข้าร่วมเป็นโจทก์เนื่องจากคำฟ้องทั้งสองสำนวนดังกล่าวโจทก์ที่ 3 ไม่ใช่ผู้เสียหายด้วย โจทก์ที่ 3 จึงมิใช่คู่ความในคดี ไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวเช่นกันการที่ศาลชั้น ต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน หามีผลให้โจทก์ที่ 2 และที่ 3 เป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ที่ 1 ทุกสำนวนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีเข้าด้วยกันไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2542
        คดีอาญาที่รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน หามีกฎหมาย บทใดกำหนดให้ศาลต้องวินิจฉัยคดีเป็นรายสำนวนไม่ คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานและรวมวินิจฉัยทุก สำนวนแล้วเชื่อว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา ศาลอุทธรณ์ไม่จำต้องวินิจฉัยเป็น รายคดีตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยทั้งหมดเป็นรายสำนวนไปไม่

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9018/2538
         โจทก์ฟ้องจำเลยที่1ผู้ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ด้วยถ้อยคำซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และจำเลยที่2บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ซึ่งได้ลงข้อความที่ จำเลยที่1ให้สัมภาษณ์ดังกล่าวอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติการพิมพ์ถือว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่2ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยจึงเป็นความผิดเกี่ยวพันกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา24(2)แม้ว่าจำเลยที่1จะให้สัมภาษณ์ ต่อผู้สื่อข่าวที่กรุงเทพมหานครแต่หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นได้ออกวางจำหน่าย ทั่วราชอาณาจักรซึ่งรวมทั้งจังหวัดประทุมอันถือว่าความผิดได้เกิดในจังหวัด ปทุมธานีด้วยโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่1และที่2ต่อศาลจังหวัดปทุมธานีได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา22และมาตรา24ศาลจังหวัดปทุมธานีมี อำนาจพิจารณาคดีนี้ได้แม้ต่อมาโจทก์จะถอนฟ้องจำเลยที่2ก็หามีผลทำให้ศาล จังหวัดปทุมธานีไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7364 - 7365/2538
         ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกันแต่ในสำนวนหลังของศาล ชั้นต้นผู้เสียหายมิได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เมื่อศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้องแล้วโจทก์และจำเลยที่8(โจทก์และจำเลยในสำนวนหลัง)มิได้ยื่น อุทธรณ์ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์การที่ผู้เสียหายซึ่งเป็น โจทก์ร่วมในสำนวนแรกยื่นอุทธรณ์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์เกี่ยวกับสำนวนคดีหลัง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบศาลอุทธรณ์ภาค1ไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีดัง กล่าวได้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค1เกี่ยวกับจำเลยที่ 8 จึงไม่ชอบและไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 8 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3430/2537
             จำเลยถูกกล่าวหาตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค เหตุเกิดท้องที่ สภ.อ.เมืองนราธิวาส ปรากฏว่าจำเลยได้ไปแจ้งความที่ สภ.อ.สุไหงโก-ลก ว่าเช็คที่จำเลยถูกดำเนินคดีหายไป ซึ่งเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ และฉ้อโกง พนักงานสอบสวนสภ.อ. เมืองนราธิวาส ย่อมมีอำนาจสอบสวนจำเลยเกี่ยวกับความผิดฐานแจ้งความเท็จ และฉ้อโกงได้ เพราะจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดหลายกรรม กระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19(4) และโจทก์ย่อมฟ้องรวมในฟ้องเดียวกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 ทั้งความผิดฐานแจ้งความเท็จ มีอัตราโทษเบากว่าความผิดฐานฉ้อโกง และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค แม้จะเป็นการกระทำต่างกรรมต่างสถานที่ แต่ก็ได้กระทำลงโดยจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดคนเดียวกัน และเป็นความผิดเกี่ยวพันกันซึ่งจะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระใน ฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24 กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จ โดยไม่ต้องขอผัดฟ้องพร้อมกับความผิดฐานฉ้อโกง และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คที่ศาล จังหวัดนราธิวาสได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1330/2532
          โจทก์ฟ้องต่อศาลจังหวัดปัตตานีขอให้ลงโทษจำเลยฐานหมิ่นประมาทจำเลยได้ยื่นคำร้อง ขอให้รวมการพิจารณาคดีที่โจทก์ฟ้องเข้ากับคดีที่โจทก์อีกคนหนึ่งฟ้องจำเลย ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ โดยขอให้โอนคดีไปพิจารณาพิพากษาที่ศาลแขวงพระนครเหนือ แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต เช่นนี้จำเลยหาอาจยื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ชี้ขาดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 6,8 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ได้ไม่เพราะคดีอาญานั้นมีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 23,26 บัญญัติเรื่องการโอนคดีไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตราดังกล่าวมาปรับแก่กรณีของ จำเลยได้