หมายจับ

มาตรา ๖๖  เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้
(๑) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
(๒) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น

ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

มาตรา ๖๗ จะออกหมายจับบุคคลที่ยังไม่รู้จักชื่อก็ได้แต่ต้องบอกรูปพรรณของผู้นั้นให้ละเอียดเท่าที่จะทำได้

มาตรา ๖๘  หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2545
เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจจับจำเลยได้โดย ไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 66 (2) ส่วนข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเป็นข้อตกลงในทางปฏิบัติ เท่านั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ ทำให้การจับจำเลยเสียไป เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2541
การปฏิบัติตามมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2540 และ ป.วิ.อ.มาตรา 90 อันเป็นบทบัญญัติให้ศาลตรวจสอบว่ามีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 31 และ 26 นั้น ศาลจะต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกคุมขังเป็นสำคัญฉะนั้นเมื่อมี เหตุอันสมควรเชื่อว่าอาจมีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ถือว่ามีมูลที่ศาลจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 240 ได้

ผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า ระหว่างวันที่ 2ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 ว.กับพวก คือ พ. ส. และ น.ได้ร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม อ.เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัว อ.ตลอดมาจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 จึงขอฝากขังครั้งที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 ผู้ร้องซึ่งเป็นทนายความของ อ.ยื่นคำร้องอ้างว่าการจับและคุมขังระหว่างสอบสวนดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่ามีการออกหมายจับ อ. และตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ก็ปรากฏข้อมูลเบื้องต้นเพียงว่าผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวหาว่ากระทำความผิดมี เพียง 4 คน ไม่ปรากฏชัดว่ามีเหตุตามสมควรว่าควรนำตัว อ.มาสอบสวนดำเนินคดีด้วยอย่างใดหรือไม่ ไม่ปรากฏว่าอ.ตกเป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกสงสัยโดยมีเหตุอันสมควรที่จะออกหมายจับ ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 66 (2) ไม่ปรากฏว่าการจับ อ.เป็นการจับเพราะกระทำความผิดซึ่งหน้าหรือพบ อ.กำลังพยายามกระทำความผิด หรือพบ อ.โดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าอ.จะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถใช้ในการกระทำความผิด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า อ.ได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี จึงไม่ใช่กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจะจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ.มาตรา 78 (1) (2) และ (3) ส่วนที่ระบุในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าผู้เสียหายแจ้งให้จับโดยได้มี การร้องทุกข์ไว้แล้ว ก็ปรากฏว่าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ว่า อ.ร่วมกับ ว.กระทำความผิดดังกล่าวแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวมามีข้อน่าสงสัยตามสมควรว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติใน การจับและควบคุม อ.ผู้ถูกจับโดยถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ ทั้งหากการจับ อ.ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัว อ.ต่อเนื่องจากการจับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขัง ในระหว่างสอบสวนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 87 ได้ ซึ่งหากศาลสั่งให้ผู้คุมขังหรือผู้ก่อให้เกิดการคุมขังนำตัว อ.มาเพื่อให้บุคคลดังกล่าวแสดงข้อมูลหรือพยานหลักฐานจะทำให้ปรากฏแน่ชัดว่า มีการจับหรือคุมขังโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และศาลก็สามารถพิจารณาถึงเหตุในการจับและคุมขังตลอดจนพฤติการณ์และขั้นตอนใน การคุมขังให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้อย่างสมบูรณ์สมตามเจตนารมณ์ ของกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวแล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลที่ศาลจะดำเนินการต่อไป ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 240

เมื่อคำร้องของผู้ร้องมีมูลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 240 จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการต่อไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากได้ความว่ายังมีการคุมขังผู้ใดอยู่ และผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจศาลชั้นต้นไม่ได้ว่าการคุมขังนั้นเป็นการชอบ ด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลชั้นต้นสั่งปล่อยผู้ถูกคุมขังไปทันที

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2060/2521
เมื่อผู้เสียหายได้รับประกันตัว เหตุที่จะจับผู้เสียหายตามหมายจับของศาลก็เป็นอันหมดไป เจ้าพนักงานตำรวจไม่มีเหตุจับผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยทราบดีอยู่แล้ว ยังจงใจใช้หมายจับที่ศาลได้ออกก่อนผู้เสียหายมีประกันตัวมาให้เจ้าพนักงาน ตำรวจจับผู้เสียหายอีกเจ้าพนักงานตำรวจจำต้องจับกุมตามหมายศาล จึงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจ ที่จะพิจารณาว่าสมควรจับกุมตามควรแก่กรณีหรือไม่ รูปคดีชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาร้ายทำให้ผู้เสียหายต้องถูกจับ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1341/2509
เมื่อมีผู้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดิน จำเลยย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(2) แล้ว ซึ่งในชั้นสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 พนักงานสอบสวนจะบังคับให้ผู้ต้องหาให้ถ้อยคำใดๆไม่ได้และมาตรา 135 ก็บัญญัติห้ามมิให้พนักงานสอบสวนล่อลวงหรือขู่เข็ญผู้ต้องหาให้ให้การอีก ด้วย จึงเห็นได้ว่าหมายเรียกของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหามาเพื่อให้การ ไม่เข้าลักษณะเป็นคำบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168

กรณีผู้ต้องหาขัดขืนไม่มาให้การตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66(3) บัญญัติทางแก้ไว้ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายจับตัวมาได้ เป็นการลงโทษอยู่แล้ว จึงเห็นได้ว่าเจตนารมย์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168 หาได้มุ่งหมายจะใช้บังคับกับผู้ต้องหาที่ขัดขืนไม่มาให้การต่อพนักงานสอบสวน ตามหมายเรียกด้วยไม่

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2509)