หมายอาญา

มาตรา ๕๗  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติในมาตรา ๗๘ มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ มาตรา ๙๒ และมาตรา ๙๔ แห่งประมวลกฎหมายนี้ จะจับ ขัง จำคุก หรือค้นในที่รโหฐานหาตัวคนหรือสิ่งของต้องมีคำสั่งหรือหมายของศาลสำหรับการนั้น

บุคคลซึ่งต้องขังหรือจำคุกตามหมายศาล จะปล่อยไปได้ก็เมื่อมีหมายปล่อยของศาล

มาตรา ๕๘  ศาลมีอำนาจออกคำสั่งหรือหมายอาญาได้ภายในเขตอำนาจตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

มาตรา ๕๙  ศาลจะออกคำสั่งหรือหมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง ตามที่ศาลเห็นสมควรหรือโดยมีผู้ร้องขอก็ได้

ในกรณีที่ผู้ร้องขอเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ต้องเป็นพนักงานฝ่ายปกครองตั้งแต่ระดับสามหรือตำรวจซึ่งมียศตั้งแต่ชั้นร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่าขึ้นไป

ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนซึ่งมีเหตุอันควรโดยผู้ร้องขอไม่อาจไปพบศาลได้ ผู้ร้องขออาจร้องขอต่อศาลทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่เหมาะสมเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับหรือหมายค้นก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้เมื่อศาลสอบถามจนปรากฏว่ามีเหตุที่จะออกหมายจับหรือหมายค้นได้ตามมาตรา ๕๙/๑ และมีคำสั่งให้ออกหมายนั้นแล้ว ให้จัดส่งสำเนาหมายเช่นว่านี้ไปยังผู้ร้องขอโดยทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

เมื่อได้มีการออกหมายตามวรรคสามแล้ว ให้ศาลดำเนินการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขอหมายมาพบศาลเพื่อสาบานตัวโดยไม่ชักช้า โดยจดบันทึกถ้อยคำของบุคคลดังกล่าวและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมายไว้ หรือจะใช้เครื่องบันทึกเสียงก็ได้โดยจัดให้มีการถอดเสียงเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของศาลผู้ออกหมาย บันทึกที่มีการลงลายมือชื่อรับรองดังกล่าวแล้ว ให้เก็บไว้ในสารบบของศาล หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่าได้มีการออกหมายไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายเช่นว่านั้นได้ ทั้งนี้ ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องขอจัดการแก้ไขเพื่อเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องตามที่เห็นสมควรก็ได้

มาตรา ๕๙/๑ ก่อนออกหมาย จะต้องปรากฏพยานหลักฐานตามสมควรที่ทำให้ศาลเชื่อได้ว่ามีเหตุที่จะออกหมายตามมาตรา ๖๖ มาตรา ๖๙ หรือมาตรา ๗๑

คำสั่งศาลให้ออกหมายหรือยกคำร้อง จะต้องระบุเหตุผลของคำสั่งนั้นด้วย

หลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องขอ การพิจารณา รวมทั้งการออกคำสั่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา

มาตรา ๖๐ หมายจับ หมายค้น หมายขัง หมายจำคุก หรือหมายปล่อย ต้องทำเป็นหนังสือและมีข้อความดังต่อไปนี้
(๑) สถานที่ที่ออกหมาย
(๒) วันเดือนปีที่ออกหมาย
(๓) เหตุที่ต้องออกหมาย
(๔) (ก) ในกรณีออกหมายจับ ต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของบุคคลที่จะถูกจับ
(ข) ในกรณีออกหมายขัง หมายจำคุก หรือหมายปล่อย ต้องระบุชื่อบุคคลที่จะถูกขัง จำคุก หรือปล่อย
(ค) ในกรณีออกหมายค้น ให้ระบุสถานที่ที่จะค้น และชื่อหรือรูปพรรณบุคคล หรือลักษณะสิ่งของที่ต้องการค้น กำหนดวันเวลาที่จะทำการค้น และชื่อกับตำแหน่งของเจ้าพนักงานผู้จะทำการค้นนั้น
(๕) (ก) ในกรณีออกหมายจับ หมายขัง หรือหมายค้นให้ระบุความผิด หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัย
(ข) ในกรณีออกหมายจำคุก ให้ระบุความผิดและกำหนดโทษตามคำพิพากษา
(ค) ในกรณีออกหมายขังหรือหมายจำคุก ให้ระบุสถานที่ที่จะให้ขังหรือจำคุก
(ง) ในกรณีออกหมายปล่อย ให้ระบุเหตุที่ให้ปล่อย
(๖) ลายมือชื่อและประทับตราของศาล

มาตรา ๖๑  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๙๗ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจหน้าที่จัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา ซึ่งได้มอบหรือส่งมาให้จัดการภายในอำนาจของเขา

หมายอาญาใดซึ่งศาลได้ออก จะมอบหรือส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจซึ่งอยู่ภายในเขตอำนาจของศาลดังระบุในหมาย หรือแก่หัวหน้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจประจำจังหวัด อำเภอ กิ่งอำเภอ หรือตำบล ซึ่งจะให้จัดการให้เป็นไปตามหมายนั้นก็ได้

ในกรณีหลังเจ้าพนักงานผู้ได้รับหมายต้องรับผิดชอบในการจัดการตามหมายนั้น จะจัดการเองหรือสั่งให้เจ้าพนักงานรองลงไปจัดการให้ก็ได้ หรือจะมอบหรือส่งสำเนาหมายอันรับรองว่าถูกต้องให้แก่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจคนอื่นซึ่งมีหน้าที่จัดการตามหมายซึ่งตนได้รับนั้นก็ได้ ถ้าหมายนั้นได้มอบหรือส่งให้แก่เจ้าพนักงานตั้งแต่สองนายขึ้นไป เจ้าพนักงานจะจัดการตามหมายนั้นแยกกันหรือร่วมกันก็ได้

มาตรา ๖๒  ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายนี้ซึ่งว่าด้วยการจับและค้น เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายนั้นต้องแจ้งข้อความในหมายให้แก่ผู้เกี่ยวข้องทราบ และถ้ามีคำขอร้อง ให้ส่งหมายนั้นให้เขาตรวจดู

การแจ้งข้อความในหมาย การส่งหมายให้ตรวจดูและวันเดือนปีที่จัดการเช่นนั้นให้บันทึกไว้ในหมายนั้น

มาตรา ๖๓  เมื่อเจ้าพนักงานได้จัดการตามหมายอาญาแล้ว ให้บันทึกรายละเอียดในการจัดการนั้น ถ้าจัดการตามหมายไม่ได้ ให้บันทึกพฤติการณ์ไว้ แล้วให้ส่งบันทึกนั้นไปยังศาลซึ่งออกหมายโดยเร็ว

มาตรา ๖๔ ถ้าบุคคลที่มีชื่อในหมายอาญาถูกจับ หรือบุคคลหรือสิ่งของที่มีหมายให้ค้นได้ค้นพบแล้ว ถ้าสามารถจะทำได้ก็ให้ส่งบุคคลหรือสิ่งของนั้นโดยด่วนไปยังศาลซึ่งออกหมายหรือเจ้าพนักงานตามที่กำหนดไว้ในหมาย แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

มาตรา ๖๕  ถ้าบุคคลที่ถูกจับตามหมายหลบหนีหรือมีผู้ช่วยให้หนีไปได้เจ้าพนักงานผู้จับมีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นโดยไม่ต้องมีหมายอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5915/2549
โจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นรายสำนวนในความผิดปลอมเอกสารสิทธิใช้เอกสารสิทธิปลอม และยักยอกรวม 34 คดี โดยลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกันได้ คดีดังกล่าวจึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (2)

การที่จำเลยร้องขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 สั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่ ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เป็นการบังคับคดีที่ศาลต้องออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ถูกต้องตาม กฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3479/2548
จำเลยทั้งสี่นำสืบยอมรับว่าถูกจับกุมในห้องเช่าที่เกิดเหตุและเจ้าพนักงานตำรวจ ได้เมทแอมเฟตามีนเป็นของกลางจริง แม้จะปรากฏว่าห้องเช่าดังกล่าวเลขที่ 82/16 ไม่ใช่เลขที่ 105 ตามที่ระบุในหมายค้น แต่ตามหมายค้นดังกล่าวได้ระบุเหตุที่ขอออกหมายค้นว่า การสืบสวนทราบว่าที่บ้านจำเลยที่ 1 เลขที่ 105 ห้องเช่า มียาเสพติดให้โทษซุกซ่อนอยู่ในบ้านหรือบริเวณบ้านจึงขอให้ศาลออกหมายค้น โดยระบุชื่อและนามสกุลจำเลยที่ 1 ไว้ถูกต้องและร้อยตำรวจโท บ. ผู้จับกุมซึ่งเป็นผู้ขอออกหมายค้นดังกล่าวก็เบิกความระบุสาเหตุที่ระบุเลข ที่บ้านในหมายค้นว่าบ้านเลขที่ 105 เพราะสายลับระบุเช่นนั้น เมื่อเข้าจับกุมจึงปรากฏว่าเป็นบ้านเลขที่ 82/16 จึงเป็นการขอออกหมายค้นเพื่อตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 1 การระบุเลขที่บ้านผิดไม่ทำให้การตรวจค้นจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวเป็นการไม่ชอบ การตรวจค้นโดยมีหมายค้นกรณีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7116/2544
สิทธิในการร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานตำรวจค้น จับกุมและคุมขังผู้ร้องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นในความผิดที่ผู้ร้องอ้างว่าการค้น จับกุมและคุมขังโดยมิชอบ เมื่อการคุมขังเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ศาลประทับฟ้องและออกหมายขัง ผู้ร้องในระหว่างพิจารณา สิทธิของผู้ร้องที่จะร้องขอให้ปล่อยจากการคุมขังอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงระงับ

การตรวจค้นจับกุมและการคุมขังของเจ้าพนักงานตำรวจชั้นแรกเป็นขั้นตอนต่างหากจากการสอบสวนทั้งการสอบสวนจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาของศาล เมื่อผู้ร้องถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลและศาลประทับฟ้องและออกหมายขัง ผู้ร้องไว้ระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 58 (4), 71 และ 88 ซึ่งเป็นอำนาจที่จะดำเนินการได้แล้ว การคุมขังผู้ร้องจึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 240

คำสั่งคำร้องที่ 266/2525
ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ แต่ให้ขังจำเลยไว้ระหว่างฎีกาคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาโดยจำเลยไม่ได้รับสำเนาฎีกา โจทก์เพราะส่งให้ไม่ได้ แม้พ้นกำหนดเวลาฎีกา ก็ไม่เป็นเหตุให้ปล่อยตัวจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2493
การร้องขอให้ศาลออกหมายจับจำเลย โจทก์จะมาร้องต่อศาลฎีกาให้วินิจฉัยออกหมายจับให้ไม่ได้ ชอบที่โจทก์จะไปร้องต่อศาลชั้นต้น