การสอบสวนสามัญ

มาตรา ๑๓๐  ให้เริ่มการสอบสวนโดยมิชักช้า จะทำการในที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วย

มาตรา ๑๓๑ ให้พนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา

มาตรา ๑๓๑/๑ ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามมาตรา ๑๓๑ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุ หรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้

ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หากการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง จำเป็นต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรมหรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา ผู้เสียหายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ทั้งจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น และผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องให้ความยินยอม หากผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายกระทำการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ที่หากได้ตรวจพิสูจน์แล้วจะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายนั้น แล้วแต่กรณี

ค่าใช้จ่ายในการตรวจพิสูจน์ตามมาตรานี้ ให้สั่งจ่ายจากงบประมาณตามระเบียบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานอัยการสูงสุด แล้วแต่กรณี กำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

มาตรา ๑๓๒  เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) ตรวจตัวผู้เสียหายเมื่อผู้นั้นยินยอม หรือตรวจตัวผู้ต้องหา หรือตรวจสิ่งของหรือที่ทางอันสามารถอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ให้รวมทั้งทำภาพถ่าย แผนที่ หรือภาพวาดจำลอง หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้า กับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลายซึ่งน่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น

ในการตรวจตัวผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง หากผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาเป็นหญิง ให้จัดให้เจ้าพนักงานซึ่งเป็นหญิงหรือหญิงอื่นเป็นผู้ตรวจ  ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาจะขอนำบุคคลใดมาอยู่ร่วมในการตรวจนั้นด้วยก็ได้

(๒) ค้นเพื่อพบสิ่งของ ซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือได้ใช้หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยค้น

(๓) หมายเรียกบุคคลซึ่งครอบครองสิ่งของ ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่บุคคลที่ถูกหมายเรียกไม่จำต้องมาเอง เมื่อจัดส่งสิ่งของมาตามหมายแล้ว ให้ถือเสมือนว่าได้ปฏิบัติตามหมาย

(๔) ยึดไว้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบหรือส่งมาดังกล่าวไว้ในอนุมาตรา (๒) และ (๓)

มาตรา ๑๓๓  พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลใดซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่คดีให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมายแล้วให้ถามปากคำบุคคลนั้นไว้

การถามปากคำนั้นพนักงานสอบสวนจะให้ผู้ให้ถ้อยคำสาบานหรือปฏิญาณตัวเสียก่อนก็ได้ และต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยพยานบุคคล

ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนตักเตือน พูดให้ท้อใจหรือใช้กลอุบายอื่นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดให้ถ้อยคำ ซึ่งอยากจะให้ด้วยความเต็มใจ

ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน เว้นแต่ผู้เสียหายนั้นยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น และให้บันทึกความยินยอมหรือเหตุจำเป็นนั้นไว้  ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะขอให้บุคคลใดอยู่ร่วมในการถามปากคำนั้นด้วยก็ได้

ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานยืนยันตัวผู้กระทำความผิดในชั้นจับกุมหรือชี้ตัวผู้ต้องหาในคดีอาญา ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนจัดให้มีการยืนยันตัวผู้กระทำความผิดหรือชี้ตัวผู้ต้องหาในสถานที่ที่เหมาะสม และสามารถจะป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องหาเห็นตัวผู้เสียหายหรือพยาน โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เสียหายหรือพยานเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งกรณี เว้นแต่ผู้เสียหายหรือพยานนั้นยินยอม และให้บันทึกความยินยอมนั้นไว้

มาตรา ๑๓๓ ทวิ ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอ การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามปากคำเด็กคนใดหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการทราบ รวมทั้งแจ้งให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กทราบถึงสิทธิตามวรรคหนึ่งด้วย

นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการที่เข้าร่วมในการถามปากคำอาจถูกผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น

ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๓๙ การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน

ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้ ให้พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็กโดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามวรรคหนึ่งอยู่ร่วมด้วยก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน และมิให้ถือว่าการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กในกรณีดังกล่าวที่ได้กระทำไปแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา ๑๓๓ ตรี ในกรณีที่พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีชี้ตัวบุคคลใด ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการชี้ตัวบุคคลในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและสามารถป้องกันมิให้บุคคลซึ่งจะถูกชี้ตัวนั้นเห็นตัวเด็ก โดยให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการชี้ตัวบุคคลนั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่อาจหาหรือรอบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้และเด็กไม่ประสงค์จะให้มีหรือรอบุคคลดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย

ในกรณีการชี้ตัวผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการชี้ตัวในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและสามารถป้องกันมิให้ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กนั้นเห็นตัวบุคคลที่จะทำการชี้ตัว

มาตรา ๑๓๔ เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ

การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น

ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม

พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้

เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา ๗๑ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที แต่ถ้าขณะนั้นเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในโอกาสแรกที่ศาลเปิดทำการ กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา ๘๗ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจับผู้ต้องหานั้นได้ โดยถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาได้โดยไม่มีหมายจับ และมีอำนาจปล่อยชั่วคราวหรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้นไว้

มาตรา ๑๓๔/๑ ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้

ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้

การจัดหาทนายความตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้ทนายความที่รัฐจัดหาให้ได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

เมื่อได้จัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามแล้ว ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากทนายความไม่อาจมาพบผู้ต้องหาได้ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้พนักงานสอบสวนทราบหรือแจ้งแต่ไม่มาพบผู้ต้องหาภายในเวลาอันสมควร ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาไปได้โดยไม่ต้องรอทนายความ แต่พนักงานสอบสวนต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย

มาตรา ๑๓๔/๒  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี

มาตรา ๑๓๔/๓ ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้

มาตรา ๑๓๔/๔  ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
(๑) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
(๒) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้

เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้

ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา ๑๓๔/๑ มาตรา ๑๓๔/๒ และมาตรา ๑๓๔/๓ จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้

มาตรา ๑๓๕ ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใด ๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบประการใด ๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใด ๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น

มาตรา ๑๓๖  (ยกเลิก)

มาตรา ๑๓๗  พนักงานสอบสวนขณะทำการอยู่ในบ้านเรือนหรือในสถานที่อื่น ๆ มีอำนาจสั่งมิให้ผู้ใดออกไปจากที่นั้น ๆ ชั่วเวลาเท่าที่จำเป็น

มาตรา ๑๓๘  พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนเองหรือส่งประเด็นไปสอบสวนเพื่อทราบความเป็นมาแห่งชีวิตและความประพฤติอันเป็นอาจิณของผู้ต้องหา แต่ต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบข้อความทุกข้อที่ได้มา

มาตรา ๑๓๙  ให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึก เอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้

เอกสารที่ยื่นเป็นพยานให้รวมเข้าสำนวน ถ้าเป็นสิ่งของอย่างอื่นให้ทำบัญชีรายละเอียดรวมเข้าสำนวนไว้

เพื่อประโยชน์ในการติดตามพยานให้ไปตามกำหนดนัดของศาล ให้พนักงานสอบสวนบันทึกรายชื่อของพยานบุคคลทั้งหมดพร้อมที่อยู่หรือสถานที่ติดต่อ หมายเลขโทรศัพท์หรือช่องทางอื่นที่ใช้ในการติดต่อพยานเหล่านั้นเก็บไว้ ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวน

มาตรา ๑๔๐  เมื่อพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวน เห็นว่าการสอบสวนเสร็จแล้ว ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำความผิดและความผิดนั้นมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี ให้พนักงานสอบสวนงดการสอบสวน และบันทึกเหตุที่งดนั้นไว้ แล้วให้ส่งบันทึกพร้อมกับสำนวนไปยังพนักงานอัยการ

ถ้าอัตราโทษอย่างสูงเกินกว่าสามปี ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการพร้อมทั้งความเห็นที่ควรให้งดการสอบสวน

ถ้าพนักงานอัยการสั่งให้งด หรือให้ทำการสอบสวนต่อไป ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามนั้น

(๒) ถ้ารู้ตัวผู้กระทำผิด ให้ใช้บทบัญญัติในสี่มาตราต่อไปนี้

มาตรา ๑๔๑  ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิด แต่เรียกหรือจับตัวยังไม่ได้ เมื่อได้ความตามทางสอบสวนอย่างใด ให้ทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนยังพนักงานอัยการ

ถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วยว่าควรสั่งไม่ฟ้อง ให้ยุติการสอบสวนโดยสั่งไม่ฟ้อง และให้แจ้งคำสั่งนี้ให้พนักงานสอบสวนทราบ

ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสอบสวนต่อไป ก็ให้สั่งพนักงานสอบสวนปฏิบัติเช่นนั้น

ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา ถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ ให้พนักงานอัยการจัดการเพื่อขอให้ส่งตัวข้ามแดนมา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560
โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14570/2558
แม้บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุแต่เพียงข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร แต่จำเลยก็แสดงท่าทางและนำชี้จุดที่มีการติดตามไล่ยิงผู้เสียหายทั้งสอง โดยมีคำอธิบายใต้ภาพอธิบายเหตุการณ์และจำเลยลงลายมือชื่อรับรองไว้ แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นอย่างดี และหลังจากนั้นก็มีการแจ้งข้อกล่าวหาพยายามฆ่าผู้อื่นแก่จำเลย จึงถือได้ว่ามีการแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคหนึ่ง ดังนี้ การที่พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปยังสถานที่เกิดเหตุและทำแผนประกอบคำรับสารภาพซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนก่อน แล้วจึงแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบก็ไม่ทำให้การสอบสวนในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5886/2558
คดีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีเท่านั้น หากพนักงานสอบสวนจะทำการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 131/1 วรรคสอง คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เป็นคดีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี จึงไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติดังกล่าว

การที่พนักงานสอบสวนพบจำเลยนอนหมดสติอยู่บนเตียงผู้ป่วยและได้กลิ่นสุรา แต่ไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้ จึงเป็นกรณีที่พันตำรวจโท ส. สงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราหรือไม่ พันตำรวจโท ส. จึงมีอำนาจที่จะทำการตรวจพิสูจน์บุคคลโดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 131/1 วรรคหนึ่ง การที่พันตำรวจโท ส. มีหนังสือขอให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาจำเลยเก็บตัวอย่างเลือดของจำเลยเพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ว่าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ จึงเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 131 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 การสอบสวนของพันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2558
ป.วิ.อ. มาตรา 133 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลใดซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่คดีให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมาย ดังนั้น การสอบสวนจึงกระทำในสถานที่ใดๆ ก็ได้ ไม่จำต้องเป็นที่สถานีตำรวจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123/2557
ป.วิ.อ. ได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในชั้นแจ้งข้อหาตามมาตรา 134 ซึ่งความในวรรคหนึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ที่เกิดของผู้ต้องหาเป็นประการแรก ต่อจากนั้นจึงแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ รวมทั้งให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตน ดังนั้น เมื่อเริ่มทำการสอบสวนพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเองตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีสภาพบังคับทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 367 ภายใต้หลักเกณฑ์ที่พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาและแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคสี่เพื่อให้การสอบสวนดำเนินต่อไปได้ถูกต้องและชอบธรรม ส่วนการถามคำให้การผู้ต้องหาอันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 บัญญัติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งสิทธิในการให้ทนายความและบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ ซึ่งเป็นขั้นตอนเมื่อผ่านการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเมื่อเริ่มทำการสอบสวนดังกล่าวข้างต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแจ้งให้ร้อยตำรวจโท ด. เจ้าพนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกคำให้การของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นว่าจำเลยเป็น ธ. ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว หลังจากนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกตัวจำเลยไปสอบถามเนื่องจากจำเลยผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของ ธ. เพื่อให้ร้อยตำรวจโท ด. หลงเชื่อว่าจำเลยเป็น ธ. จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการทำคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 (1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 367

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11720/2555
เมื่อมีการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำความผิดอาญา บุคคลนั้นย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (2) พนักงานสอบสวนย่อมยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 66 เพื่อให้ได้ตัวมาสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) กำหนดให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจออกหมายจับได้ ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 59 วรรคสี่ ตอนท้าย กำหนดให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจับได้หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่า มีการออกหมายจับไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมาตรา 68 กำหนดให้หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน ดังนี้ อำนาจในการออกหมายจับผู้ต้องหาจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกหรือเพิกถอนหมายจับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือฎีกาอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4559/2555
ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้พนักงานสอบสวนฟัง พนักงานสอบสวนจะต้องเป็นผู้ที่คิดตั้งข้อหาขึ้นเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการรับแจ้งความ ครั้งแรกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากระทำอนาจารและทำร้ายร่างกาย แต่เมื่อพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่อไปรวมทั้งสอบปากคำผู้เสียหายแล้ว เห็นว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดในข้อหากรรโชกอีกในคราวเดียวกันด้วย พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2555
คำให้การชั้นสอบสวนของ จ. และ ก. ที่ว่า จำเลยมอบเงินให้ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด แม้เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่มิได้เป็นการปัดความรับผิดของผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยเพียงผู้เดียว ทั้งศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษ จ. และ ก. แล้ว คำซัดทอดจึงเป็นการแจ้งเรื่องราวที่ตนได้ประสบมาจากการกระทำของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลย จ. และ ก. รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน ต่างเบิกความยืนยันการกระทำของจำเลยเช่นเดียวกับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน โดย จ. เบิกความถึงคำให้การในชั้นสอบสวนของตนว่าไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ ส่วน ก. อายุไม่เกิน 18 ปี ให้การต่อหน้าพนักงานอัยการ นักจิตวิทยา และทนายความ ฉะนั้น คำซัดทอดของ จ. และ ก. จึงเป็นพยานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง ประกอบกับจำเลยไปยืมรถจักรยานยนต์จาก ล. มาให้ จ. ขับไปซื้อเมทแอมเฟตามีน จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้ให้ จ. ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน เมื่อ จ. และ ก. ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน จำเลยจึงเป็นผู้ก่อให้ จ. และ ก. ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ประกอบ ป.อ. มาตรา 84 แต่ระหว่างทางที่จะนำเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลย จ. และ ก. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน จำเลยยังมิได้ร่วมกับ จ. และ ก. ครอบครองเมทแอมเฟตามีน จึงมิใช่ตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตาม ป.อ. มาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้ จ. และ ก. กระทำความผิดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. 192 วรรคสอง แต่การกระทำความผิดของจำเลยถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1055/2555
การพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 319 กฎหมายมุ่งคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล มิใช่ตัวผู้เยาว์ผู้ถูกพราก เพื่อมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าโดยตรงหรือปริยาย ทั้งกฎหมายไม่ได้จำกัดคำว่าพรากไปโดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์เป็นฝ่ายออกไปจากบ้านเองหรือมีผู้ชักนำก็ย่อมเป็นความผิด จำเลยเป็นผู้แจ้งแก่ผู้เยาว์ขณะอยู่กับโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีว่า หาที่พักได้แล้วที่ เอส.ที.แมนชั่น ผู้เยาว์จึงหนีออกจากบ้านของโจทก์ร่วมเดินทางไปหาจำเลยที่กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนต่ออำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีแล้ว จำเลยไม่ต้องเดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วยตนเอง ผู้เยาว์เดินทางออกจากจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี เมื่อผู้เยาว์เดินทางมาถึงสถานีรถไฟดอนเมืองซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง จากนั้นจำเลยพาผู้เยาว์ไปที่ เอส.ที.แมนชั่น เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลาง เมื่อผู้เยาว์เดินทางไปในหลายท้องที่ต่างกันจึงเป็นกรณีไม่แน่ว่าการกระทำความผิดได้กระทำในท้องที่ใดระหว่างหลายท้องที่และเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (1), (3) และวรรคสอง ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีอันเป็นท้องที่ที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวนและเมื่อโจทก์ร่วมไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานีซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความผิดอยู่ก่อนจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140, 141 และ 142 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6601/2554
แม้การรวบรวมหลักฐานจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 131 แต่พนักงานสอบสวนจะรวบรวมหลักฐานใดบ้าง อย่างไร เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาและใช้ดุลพินิจดำเนินการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น จนสามารถพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้เท่านั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 132 เมื่อการรวบรวมหลักฐานของพนักงานสอบสวนได้ความชัดว่าตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางในห้องนอนของจำเลยแล้ว พนักงานสอบสวนอาจมีความเห็นว่ากรณีไม่จำต้องดำเนินการจัดทำบันทึกภาพถ่ายของกลางที่ตรวจพบ ตลอดจนไม่ทำแผนที่แสดงจุดตรวจพบเมทแอมเฟตามีนของกลางก็ได้ หาทำให้การสอบสวนไม่ชอบไม่ และการที่เจ้าพนักงานตำรวจทำบันทึกการจับกุมโดยมีรายละเอียดแห่งการค้นและสิ่งของที่ค้นได้ กับมีการจัดทำบัญชีทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึด ถือว่าเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 103 แล้ว จึงเป็นการตรวจค้นโดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4813/2554
คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์มาโดยไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีได้ความว่า จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และไม่ปรากฏว่ามีเหตุเข้าข้อยกเว้นที่จะจับโดยไม่มีหมายจับได้ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่จะต้องฟ้องคดีภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15274/2553
การที่ ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้พนักงานสอบสวน แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบก็เพื่อที่ผู้ต้องหาจะได้ทราบว่าตนถูกกล่าวหาหรือแจ้งข้อหาว่ากระทำผิดในข้อหาอะไร จะได้สามารถให้การแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างถูกต้อง แต่การแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่หากพนักงานสอบสวนปฏิบัติผิดพลาดหรือบกพร่องแล้วจะทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามบันทึกคำให้การว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้ใช้ปืนยิงแมวของผู้กล่าวหาที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเข้าไปในบ้านจำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันจับกุมจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนและมีข้อความต่อไปที่แสดงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ถือได้ว่ามีการแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดีแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15274/2553
พันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำซึ่งกล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดเพียงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุผู้ต้องหาได้ใช้อาวุธปืนยิงแมวของผู้กล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเข้าไปในบ้านของจำเลย และเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันจับกุมตัวจำเลยได้พร้อมด้วยอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี เหตุเกิดที่บ้านเลขที่ 63/2 ถนน 25 มกรา ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2548 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา วันที่ 19 มีนาคม 2548 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา แต่ก็มีข้อความต่อไปที่แสดงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ถือได้ว่ามีการแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานะที่ซึ่งเกิดการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดีแล้ว การสอบสวนในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13849/2553
ในวันที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ไม่ได้นำตัวจำเลยมาศาล โดยข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางฉบับลงวันที่ 14 ตุลาคม 2552 ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.5425/2552 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางและจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี ซึ่งคดีดังกล่าวศาลได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับและปรับนายประกันแล้ว แม้คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลเดียวกัน แต่เมื่อเป็นการฟ้องต่างคดีและโจทก์มีหน้าที่ต้องจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวจำเลยดังกล่าวมา ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 141 วรรคสี่ โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้โดยไม่มีตัวจำเลยมาศาลและอ้างว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลในคดีนี้แล้วด้วยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13537/2553
จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ทำการสืบสวนคดีอาญา เมื่อสืบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานจนทราบรายละเอียดแห่งความผิดแล้วว่าโจทก์อยู่ในฐานะผู้ต้องสงสัยหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเถื่อน จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจกล่าวโทษได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (8) 17, 18, 125 และ 127 และเมื่อจำเลยที่ 3 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานสืบสวนสอบสวนของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบ จำเลยที่ 3 ย่อมมีอำนาจสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาและเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121,130 และ 131 ซึ่งลักษณะความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานฟอกเงินที่กล่าวหา บัญชีเงินฝากของโจทก์ย่อมเป็นหลักฐานอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดอย่างหนึ่งที่อาจพิสูจน์ให้เห็นความผิดตามที่กล่าวหาได้ จำเลยที่ 3 จึงมีอำนาจยึดหรืออายัดเงินในบัญชีเงินฝากของโจทก์ไว้ตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 85 วรรคสาม และ 132 อันเป็นการดำเนินการทางอาญาในความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรและฐานฟอกเงินตามอำนาจหน้าที่ของคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนผู้รับผิดชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10704/2553
ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสอง พนักงานสอบสวนเคยเรียกจำเลยทั้งสองไปสอบถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำไว้ตามบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ที่เขียนด้วยลายมือของจำเลยที่ 2 เอง แสดงว่าจำเลยทั้งสองต่างรู้ดีถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทั้งในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การว่า ทราบและเข้าใจข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งดีแล้ว ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้กล่าวย้ำถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเรื่องที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดอีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3666/2553
เจ้าพนักงานตำรวจยึดทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องรวม 7 รายการ เป็นของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ต่อมาพนักงานสอบสวนให้โจทก์ร่วมรับมอบทรัพย์ดังกล่าวไปเก็บรักษาไว้ในระหว่างดำเนินคดี เมื่อคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้คืนทรัพย์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยในเรื่องของกลางตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) อันเป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนผู้ยึดทรัพย์ของกลางไว้มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวนั่นเอง ทั้งมิใช่คดีที่มีข้อหาหรือข้อพิพาทกันว่า โจทก์ร่วมยึดถือหรือครอบครองทรัพย์ของกลางของจำเลยที่ 1 ไว้โดยมิชอบที่จะบังคับให้โจทก์ร่วมคืนให้แก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ย่อมไม่ตกอยู่ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะขอให้ศาลบังคับคดีเพื่อให้โจทก์ร่วมคืนทรัพย์ของกลางแก่จำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1825/2552
ความผิดฐานกรรโชกและฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ที่ผู้เสียหายทั้งสองขอถอนคำร้องทุกข์ ไม่ใช่ความผิดอันยอมความได้ โดยเฉพาะความผิดฐานแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานโดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น เป็นความผิดซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย สิทธิฟ้องคดีของพนักงานอัยการโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

ความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน รวมทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลประเวศและสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยถูกจับที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการสอบสวนกรณีจับผู้ต้องหาได้แล้วเช่นนี้ จึงเป็นที่แน่ชัดว่าคือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก ซึ่งเป็นท้องที่ที่จับได้อยู่ในเขตอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ก) การที่ น. พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลประเวศได้ทำการสอบสวนคดีนี้หลังจากจับจำเลยได้แล้ว น. คงเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น แต่ น. มิได้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ทั้งมิใช่กรณีที่จับผู้ต้องหายังไม่ได้อันจะถือว่าพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ได้ เมื่อ น. มิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมกับสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 แม้จะดำเนินการสอบสวนต่อไปจนเสร็จ ก็ถือไม่ได้ว่าได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3511/2552
โจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความเป็นพยาน เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ย้ายที่อยู่หาตัวไม่พบ คำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นสอบสวนแม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ผู้เสียหายที่ 1 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน นักจิตวิทยาและพนักงานอัยการโดยมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ตามแถบวิดีทัศน์ วัตถุพยานหมาย ว.จ.1 อันเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นพิจารณาของศาลประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2747/2551
พนักงานสอบสวนฝากขังจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ซึ่งเป็นศาลที่ไม่มีเขตอำนาจพิจารณา พิพากษาคดี แต่เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังจำเลยได้และอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว ก็ต้องถือว่าจำเลยถูกขังโดยหมายของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 87 และอยู่ในอำนาจศาลที่จะเรียกตัวจำเลยจากนายประกันได้ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 142 วรรคสี่ ที่ให้พนักงานอัยการมีหน้าที่จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวจำเลยมา เพราะไม่ใช่กรณีที่จับตัวจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14944/2551
คดีนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันพรากผู้เสียหายที่เป็นผู้เยาว์ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนแล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมี ลักษณะเป็นการโทรมหญิงในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป จึงเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และพาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจดังกล่าวไปจับจำเลยทั้งสองที่ท้องที่อำเภอ เมืองสมุทรสาครในทันทีทันใด แล้วนำจำเลยทั้งสองไปส่งมอบแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน ดำเนินคดี เห็นได้ว่า ขณะที่ผู้เสียหายแจ้งความยังจับกุมตัวจำเลยทั้งสองไม่ได้ ท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนคือ สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความ ผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ดังนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนจึงมีอำนาจสรุปสำนวนและทำ ความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141 ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3119/2550
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 7/1 (2) จะบัญญัติให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจ เข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้ในชั้นสอบสวนและมาตรา 134/3 บัญญัติว่าผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบ ปากคำตนได้ และมาตรา 134/4 (2) บัญญัติในเรื่องการถามคำให้การผู้ต้องหานั้นให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้อง หาทราบก่อนว่าผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้าฟังการสอบ ปากคำตนได้ก็ตาม แต่ในบทบัญญัติของมาตรา 134/4 วรรคท้าย ก็บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นก็หาทำให้การ สอบสวนคดีไม่ชอบแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4146/2550
ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 2 และพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยที่ 2 นั้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ มาตรา 4 และมาตรา 38 ซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 ที่บัญญัติให้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหายังมิได้ออก ใช้บังคับ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่มีการจับกุมและสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่ แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบถึงสิทธิต่างๆ ดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายขณะที่มีการจับกุมและสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6651/2550
การแจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 นั้น แม้พนักงานสอบสวนจะมิได้แจ้งข้อหาจำเลยทุกข้อหากระทงความผิดก็ตาม แต่เมื่อภายหลังได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ฐานอื่นด้วย ก็ถือได้ว่าได้มีการสอบสวนในข้อหาฐานอื่นที่มิได้แจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว เมื่อพนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟัองว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่นสร้างและแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติด้วยโดยบรรยายฟ้องว่าได้มีการสอบสวนความ ผิดฐานดังกล่าวแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าการสอบสวนไม่ชอบ จึงถือได้ว่ามีการสอบสวนในข้อหาตามฟ้องทุกข้อหาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4243/2550
เหตุที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีแรกเนื่องจากมีการแจ้งให้จำเลยออกจาก ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์โคกสูงไม่ครบตามระเบียบของคณะ กรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ในการที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยเพราะเหตุมีการแจ้งให้ จำเลยออกจากที่ดินพิพาทไม่ครบถ้วนตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ โดยแจ้งเพียงครั้งเดียวนั้น พนักงานอัยการยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาสาระสำคัญแห่งคดี อีกทั้งการที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองอยู่ในที่ดินพิพาท จึงเป็นความผิดใหม่ที่ต่อเนื่องกันมา ทางอำเภอจึงได้แจ้งความร้องทุกข์และมีการสอบสวนดำเนินคดีใหม่และแจ้งให้ จำเลยออกจากที่ดินพิพาทให้ครบถ้วนตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ การฟ้องคดีนี้จึงไม่ขัดต่อมาตรา 147 แห่ง ป.วิ.อ. แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3759/2550
การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดและเพื่อให้ผู้ ต้องหาเข้าใจถึงการกระทำของผู้ต้องหาซึ่งเป็นความผิดนั้น โดยไม่ต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิด เมื่อแจ้งข้อหาอันเป็นหลักแห่งความผิดแล้วก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอัน เกี่ยวพันกันด้วยอีกพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ กรณีของจำเลยเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็น เหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสแล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่าพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานดังกล่าวแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10238/2550
โจทก์มีเวลาที่จะติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลนับแต่วันฟ้องถึงวันนัดสืบ พยานโจทก์เป็นเวลา 5 เดือนเศษ ระหว่างนั้นศาลชั้นต้นได้นัดพร้อม 2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบผลการส่งหมายแก่พยานโดยกำชับโจทก์ให้เร่งติดตามผู้เสียหายมาศาล ในวันนัดให้ได้ แต่พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลลอยๆ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่ายังไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัดของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลจึงไม่สามารถรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย ได้ คงรับฟังได้ในฐานะพยานบอกเล่าตามธรรมดาเท่านั้น

แม้จะได้ความจากเทปบันทึกภาพและเสียงคำให้การและบันทึกคำให้การของผู้เสีย หาย ซึ่งผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราหลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายอายุได้ 10 ปีก็ตาม แต่การสอบสวนดังกล่าวมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยไม่มีโอกาสถ้ามค้านเพื่อให้ผู้เสียหายเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่อาจ เป็นการทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ได้ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์มี ณ. เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดพังงา มาเบิกควายืนยันว่าผู้เสียหายเล่าข้อเท็จจริงให้ฟังสอดคล้องกับคำให้การของ ผู้เสียหาย ก็เห็นได้ชัดว่า ณ. ได้รับการบอกเล่ามาจากผู้เสียหายอีกทีหนึ่ง คำเบิกความของ ณ. จึงไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

เมื่อผู้เสียหายสมัครใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลย ผู้เสียหายก็น่าจะมาเบิกความต่อศาลให้เป็นที่สิ้นสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความ ผิดตามที่ผู้เสียหายกล่าวหาจริง การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาล จึงทำให้พยานโจทก์ยังตกอยู่ในความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือ ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2834/2550
การที่จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ตรี เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้เด็กหญิง ณ. ผู้เสียหายชี้ตัวนั้น แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่างอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้และเห็นว่า มาตรา 133 ตรี หาใช่บทบัญญัติที่บังคับให้พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการชี้ตัวทุกคดีไม่ กรณีเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะจัดให้มีการชี้ตัวหรือไม่ก็ได้ เพียงแต่ว่าหากจัดให้มีการชี้ตัวต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีการชี้ตัวจึงไม่มีกรณีที่จะต้อง ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7888/2549
ในกรณีการกระทำความผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกัน พนักงานสอบสวนหาจำต้องระบุถึงกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตราหรือทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไม่ แต่เมื่อใดแจ้งข้อหาอันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้ว ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วยอีก พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่า ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างออกไป และอยู่ในกฎหมายต่างฉบับกัน ก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานนี้แล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7667/2549
จ่าสิบตำรวจ ม. และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นบุตรเขยของผู้ตาย การที่จ่าสิบตำรวจ ม. มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยสืบสวนหาตัวคนร้ายจึงเป็นเรื่องปรกติและสมควร พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่ถูกสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการฆ่าผู้ตายเป็นเรื่องร้าย แรง หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดก็ต้องยืนยันปฏิเสธไว้จะยอมรับสารภาพไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดกับจ่าสิบตำรวจ ม. หรือบุคคลใดก็ตาม ทั้งการยอมรับสารภาพโดยคิดว่าจ่าสิบตำรวจ ม. จะช่วยเหลือพาหลบหนีได้ ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้น การที่จ่าสิบตำรวจ ม. สืบทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดและแจ้งต่อพนักงานสอบสวนจึงเป็นการช่วยเหลือพนักงาน สอบสวนสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อจับกุมดำเนินคดีกับคนร้าย จึงถือไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5499/2549
จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและส่งตัวจำเลยไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและ เยาวชนในวันเดียวกัน แล้วปล่อยตัวจำเลยไป โดยไม่มีการควบคุมตัวจำเลยไว้ หรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน แสดงว่าจำเลยไม่ถูกพนักงานสอบสวนจับกุม เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับกุม จึงยังไม่มีจุดเริ่มต้นในการนับระยะเวลาในการฟ้องคดี โจทก์สามารถฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7241/2549
ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีขึ้นไป และเป็นคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี กรณีต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ในการถามปากคำเด็กไว้ในฐานะผู้เสียหายให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่ เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กต่อหน้า ร. มารดาผู้เสียหายเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่ามีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วม ในการถามปากคำนั้นกับมิได้ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้บันทึกเหตุที่ไม่อาจรอ บุคคลอื่นดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 133 ทวิ วรรคท้ายด้วย การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กที่พนักงานสอบสวนได้กระทำไปจึงเป็นการไม่ ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แต่ก็หามีผลถึงขนาดทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด และถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อนอันจะทำให้พนักงานอัยการไม่ มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2549
บทบัญญัติใน ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดให้การสอบสวนผู้เสียหายหรือพยานอายุไม่เกิน 18 ปี พนักงานสอบสวนจะต้องกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนนั้นด้วย ซึ่งเป็นบทบังคับเด็ดขาดให้พนักงานสอบสวนต้องจัดทำ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวพร้อมกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคห้า คดีนี้ปรากฏว่าในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ ว. ซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ในฐานะพยาน โดยไม่จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำแต่อย่างใด ทั้งไม่เข้าเหตุกรณีจำเป็นเร่งด่วน ดังนี้ คำให้การของ ว. ในชั้นสอบสวนซึ่งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว คงมีผลเพียงทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของ ว. ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดไม่ และถือได้ว่าได้มีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

แม้การสอบสวน ว. ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี จะไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้าง ว. เป็นพยานและ ว. ได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี แล้ว ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของ ว. ในชั้นศาลเป็นพยานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2549
บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ ภ. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาด้วยกันที่ให้การซัดทอดว่าจำเลยร่วมลักทรัพย์ของผู้เสีย หายด้วย แต่ขณะสอบสวน ภ. อายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำด้วย เป็นคำให้การชั้นสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ที่ใช้บังคับในขณะสอบสวน บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2549
บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ ภ. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาด้วยกันที่ให้การซัดทอดว่าจำเลยร่วมลักทรัพย์ของผู้เสีย หายด้วย แต่ขณะสอบสวน ภ. อายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำด้วย เป็นคำให้การชั้นสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ที่ใช้บังคับในขณะสอบสวน บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8314/2549
ในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิที่จะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพยานก่อนให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่จำต้องยกประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การก็มีสิทธิที่จะนำสืบใน ประเด็นนั้นๆ ได้ และมีอำนาจนำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้โดยไม่จำต้อง ซักถามพยานโจทก์ในเรื่องที่จำเลยจะนำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2549
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและ เยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนด 3 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย (ไม่ริบของกลาง) ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ใช้บังคับเฉพาะกรณีสอบปากคำจำเลยเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับในการรวบรวมพยานหลักฐานอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปชี้ที่เกิดเหตุโดยไม่มีบุคคลต่าง ๆ อยู่ด้วย กับไม่มีการบันทึกภาพและเสียงของจำเลยในขณะให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนนั้นการ สอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2880/2548
พ. ซึ่งเป็นอาและทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจาก พ. และผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเท่ากับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาล บางเขน พ. จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตว่าผู้เสีย หายถูกจำเลยพรากตัวไป ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมสำนวน เพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามมาตรา 140 และ 141 ได้ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8316/2548
การแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 นั้น หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ ได้รับอันตรายสาหัสแก่จำเลย แม้ไม่ได้แจ้งข้อหาพยายามฆ่า แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าด้วย ก็เรียกได้ว่ามีการสอบสวนในข้อหาพยายามฆ่าแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2548
มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22)ฯ กำหนดให้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ข้อความในมาตรา 84 วรรคสุดท้ายแห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ... ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับ ฟังเป็นพยานหลักฐาน...นั้น หมายถึง ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับภายหลังจากที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น แต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมคดีนี้ จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานผู้จับก่อนที่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2880/2548
พ. ซึ่งเป็นอาและทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน แต่พนักงานสอบสวนไม่รับแจ้งความร้องทุกข์ เนื่องจาก พ. และผู้เสียหายพักอยู่ที่บ้านในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเท่ากับไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขน พ. จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคตว่าผู้เสีย หายถูกจำเลยพรากตัวไป ต่อมาจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลคูคต จึงเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามมาตรา 19 วรรคสาม (ข) มีอำนาจสรุปสำนวนและทำความเห็นควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องส่งไปพร้อมสำนวน เพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามมาตรา 140 และ 141 ได้ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยคำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย ศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3423/2548
คำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนมิได้ระบุข้อหาความผิดเกี่ยวกับเฮโรอีน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนซึ่งศาลฎีกามีคำสั่ง เรียกมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยว่า เมื่อผลการตรวจพิสูจน์ของกลางที่เจ้าพนักงานตรวจยึดได้เป็นเฮโรอีน พนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมต่อจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายโดยผิดกฎหมาย กรณีจึงฟังได้ว่ามีการแจ้งข้อหาและสอบสวนในความผิดเกี่ยวกับเฮโรอีนแล้วโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2548
บทบัญญัติตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ วรรคห้า แห่ง ป.วิ.อ. ใช้บังคับสำหรับกรณีผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีในขณะที่จะมีการสอบปากคำ เมื่อปรากฏว่าขณะที่พนักงานสอบสวนถามปากคำของจำเลยในฐานะผู้ต้องหา จำเลยมีอายุเกินสิบแปดปีแล้ว การสอบปากคำจำเลยของพนักงานสอบสวนจึงไม่จำเป็นต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่จำเลยในฐานะผู้ต้องหาร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำจำเลยแต่อย่างใด แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยจะมีอายุไม่เกินสิบแปดปี

พนักงานสอบสวนไม่จำต้องสอบถามเรื่องทนายความตามมาตรา 134 ทวิ (ปัจจุบันมาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง) ก่อนเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ถ้าขณะเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีอายุเกินสิบแปดปีแล้ว แม้ขณะกระทำความผิดผู้ต้องหาจะมีอายุไม่เกินสิบแปดปี

การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีนี้ เป็นการดำเนินการก่อนการสอบสวนผู้ต้องหา ไม่ใช่การสอบถามปากคำและมิใช่การชี้ตัวผู้ต้องหาซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะ จึงไม่จำเป็นต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี ตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1700/2548
ป.วิ.อ. มาตรา 134 ทวิ ซึ่งเป็นบทบัญญัติขณะเกิดเหตุ บัญญัติให้ต้องมีทนายความเฉพาะกรณีสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเยาวชนอายุไม่ เกิน 18 ปี เท่านั้น มิได้บัญญัติรวมถึงชั้นจับกุมด้วย การที่จำเลยอ้างว่าบันทึกการจับกุมไม่ชอบเพราะจำเลยมิได้ลงลายมือชื่อใน บันทึกการจับกุมต่อหน้าทนายความนั้นฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1581/2548
แม้ในวันเกิดเหตุ เจ้าพนักงานฝ่ายสืบสวนได้เชิญบิดาและญาติพี่น้องจำเลยไปที่สถานีตำรวจ ทำให้จำเลยต้องยอมเข้ามอบตัวและให้การรับสารภาพเพื่อให้เจ้าพนักงานปล่อยตัว บิดาและญาติพี่น้องของจำเลย ก็เป็นการตัดสินใจโดยอิสระของจำเลยเอง เพราะเจ้าพนักงานตำรวจมิได้จับกุมหรือดำเนินคดีแก่บิดาหรือญาติพี่น้องของ จำเลย เป็นแต่เพียงการเชิญตัวไปในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อจับกุมจำเลยซึ่งเป็น คนร้ายเท่านั้น เมื่อจำเลยเข้ามอบตัวความจำเป็นที่จะต้องสืบสวนเพื่อจับกุมจำเลยย่อมหมดไป จึงไม่มีเหตุผลที่พนักงานสอบสวนจะหยิบยกเงื่อนไขการปล่อยตัวบิดาและญาติพี่ น้องของจำเลยขึ้นมาเสนอเพื่อจูงใจหรือเป็นคำมั่นสัญญาให้จำเลยยอมรับสารภาพ ทั้งตามบันทึกคำให้การผู้ต้องหา และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพมีรายละเอียดของการกระทำความ ผิดตามลำดับทุกขั้นตอน เชื่อมโยงและสอดคล้องกับวัตถุของกลาง ร่องรอยวิถีกระสุนสภาพศพและสถานที่เกิดเหตุโดยมีภาพถ่ายประกอบอย่างชัดเจน ไม่มีข้อพิรุธคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยัน จำเลยในชั้นพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 และมาตรา 226

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3466/2547
กรณีที่เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้อง ที่ พนักงานสอบสวน ในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงยังฟังไม่ชัดแจ้งว่าเหตุในคดีนี้เกิดในท้องที่ใดแน่ ระหว่างอำเภอบัวใหญ่ กับอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดดังกล่าวย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ แต่ตามวรรคสาม (ก) ของมาตรา 19 ดังกล่าวระบุว่า พนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รับผิดชอบในการสอบสวนคือพนักงานสอบสวนซึ่งท้องที่ ที่จับผู้ต้องหาได้อยู่ในเขตอำนาจ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า จำเลยถูกจับได้ที่อำเภอแก้งสนามนาง โดยมีสารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ กับเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่อีกหลายนายเป็นผู้ร่วมจับกุม พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ คือพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอแก้งสนามนาง มิใช่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบัวใหญ่ซึ่งมิใช่พนักงานสอบสวนผู้รับ ผิดชอบ เป็นผู้สรุปสำนวนและ ทำความเห็นว่า ควรสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องจำเลยคดีนี้ แล้วส่งสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141 ก็ถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7700/2547
การแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 แม้เดิมแจ้งข้อหาจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดที่เกี่ยวเนื่องในเรื่องการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเหมือนกัน ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2390/2548
พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20)ฯ มาตรา 6 บังคับใช้วันที่ 14 กันยายน 2542 อันเป็นเวลาภายหลังที่มีการสอบสวนจำเลยแล้ว ฉะนั้นการสอบสวนจำเลยซึ่งมีอายุ 16 ปี จึงไม่อยู่ในบังคับตาม พระราชบัญญัติดังกล่าว และไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือทนายความหรือบิดามารดาหรือผู้ที่จำเลยไว้วางใจ อันเป็นบุคคลที่จำเลยอ้างร่วมฟังการสอบสวน การสอบสวนจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4209/2548
แม้จะได้ความว่าเด็กชาย ก. และเด็กชาย ส. เคยให้การชั้นสอบสวนว่าจำเลยเป็นคนร้ายศีรษะโล้นที่ใช้ไม้ตีผู้ตายก็ตาม แต่คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวจัดทำขึ้นโดยไม่ปรากฏว่ามีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมด้วย จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ไม่อาจรับฟังคำให้การ ชั้นสอบสวนของเด็กทั้งสองเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 243 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2548
บทบัญญัติตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ วรรคห้า แห่ง ป.วิ.อ. ใช้บังคับสำหรับกรณีผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีในขณะที่จะมีการสอบปากคำ เมื่อปรากฏว่าขณะที่พนักงานสอบสวนถามปากคำของจำเลยในฐานะผู้ต้องหา จำเลยมีอายุเกินสิบแปดปีแล้ว การสอบปากคำจำเลยของพนักงานสอบสวนจึงไม่จำเป็นต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่จำเลยในฐานะผู้ต้องหาร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำจำเลยแต่อย่างใด แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยจะมีอายุไม่เกินสิบแปดปี

พนักงานสอบสวนไม่จำต้องสอบถามเรื่องทนายความตามมาตรา 134 ทวิ (ปัจจุบันมาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง) ก่อนเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ถ้าขณะเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีอายุเกินสิบแปดปีแล้ว แม้ขณะกระทำความผิดผู้ต้องหาจะมีอายุไม่เกินสิบแปดปี

การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีนี้ เป็นการดำเนินการก่อนการสอบสวนผู้ต้องหา ไม่ใช่การสอบถามปากคำและมิใช่การชี้ตัวผู้ต้องหาซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะ จึงไม่จำเป็นต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี ตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2547
ป.วิ.อ. มาตรา 134 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ แต่ปรากฏว่าในคดีนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและสอบสวนจำเลยก่อนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 134 ทวิ วรรคหนึ่ง มีผลใช้บังคับ พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7422/2547
การสอบสวนเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหาเพื่อที่จะทราบข้อเท็จ จริงหรือพิสูจน์ความผิด และเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ซึ่งการแจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ก็เป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อต้องการให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าตนจะ ถูกสอบสวนในคดีอาญาเรื่องใดเท่านั้น แม้เดิมจะแจ้งข้อหาหนึ่งแต่เมื่อสอบสวนไปแล้วปรากฏว่าการกระทำของผู้ต้องหา เป็นความผิดฐานอื่นก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานดังกล่าวแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2546
แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 241 วรรคแรก จะบัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 130 กำหนดให้เริ่มการสอบสวนโดยไม่ชักช้าจะทำการในที่ใด เวลาใด แล้วแต่จะเห็นสมควร โดยผู้ต้องหาไม่จำต้องอยู่ด้วยอันเป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ของผู้ต้องหาให้ได้รับผลกระทบจากการเป็นผู้ต้องหาน้อยที่สุด แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าถ้าพนักงานสอบสวนมิได้ทำการสอบสวนโดยไม่ชัก ช้าแล้ว การสอบสวนนั้นจะเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ดังนั้น แม้จะปรากฏว่าพนักงานสอบสวนเพิ่งเริ่มสอบสวนเกี่ยวกับความผิดของจำเลยในข้อ หามีเฮโรอีนไว้ในครอบครองในระหว่างที่จำเลยต้องโทษอยู่ในเรือนจำกลางคลอง เปรมหลังจากที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาถึง 1 ปี 3 เดือน ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ ทำการสอบสวน การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2545
บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 134 ตรี หมายความว่า สำหรับการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีพนักงานสอบสวนจะต้องแยกกระทำ เป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคม สงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนนั้นด้วย อันเป็นการบังคับโดยเด็ดขาดว่าต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคม สงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุ ไม่เกินสิบแปดปี เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวพร้อมกันได้ตามมาตรา 134 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิวรรคห้า

จำเลยกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และถูกสอบสวนขณะมีอายุ 17 ปี 11 เดือน 14 วัน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิพนักงานสอบสวนได้สอบถามจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในขณะทำการสอบสวนว่า จำเลยมีทนายความหรือไม่ ต้องการทนายความหรือผู้ใดที่จำเลยไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ จำเลยตอบว่า จำเลยไม่มีทนายความและไม่ต้องการผู้ใดร่วมฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงมิได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนด้วย ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งที่มีเหตุอันควรไม่อาจรอได้ การสอบสวนจึงขัดต่อมาตรา 134 ตรีประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิ ถือว่ามิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9567/2544
เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุม ป. สั่งให้ ป. ส่งเมทแอมเฟตามีนที่ ป. ถืออยู่เพื่อเป็นพยานหลักฐาน การที่จำเลย นำถุงบรรจุเมทแอมเฟตามีนจากมือของ ป. หลบหนีไป เป็นการเอาไปเสียซึ่งเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานสั่งให้ ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลที่ 6969/2544
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132 พนักงานสอบสวนมีอำนาจหน้าที่รวบรวมหลักฐานในคดีความ เมื่อผู้เสียหายอ้างว่าลายมือชื่อในใบถอนเงินเป็นเอกสารปลอมจึงมีปัญหาว่า เป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายหรือไม่ การที่พนักงานสอบสวนจัดให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในกระดาษหลายแผ่นและจัดหา ลายมือชื่อและลายมือเขียนของผู้เสียหายที่เคยลงลายมือชื่อหรือเขียนไว้ในที่ อื่น ๆ ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควรแล้วรวมส่งไปให้เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานตรวจ เปรียบเทียบ แม้จะไม่ได้ตัวอย่างลายมือชื่อที่ผู้เสียหายให้ไว้แก่ธนาคารขณะเปิดบัญชีรวม ไปด้วยก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ชอบแล้ว ในเมื่อพนักงานสอบสวนเห็นว่าเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานที่เพียงพอแล้วสำหรับ พิสูจน์ความผิดของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2311/2543
แม้ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 64จะบัญญัติให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้จำเลยที่ 2 ไว้ว่าในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ที่เกี่ยวกับความผิดอาญาให้ถือว่าพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ก็ย่อมมีความหมายว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 มีอำนาจสืบสวนตรวจค้น จับกุมและยึดสิ่งของใดที่มีไว้ ได้มา ได้ใช้หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ก่อนมีการสอบสวนเท่านั้นแต่เมื่อไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มีอำนาจหน้าที่ในการสอบสวนด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่พนักงานสอบสวน แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในเขตท้องที่ที่มีการกระทำผิดเกิดขึ้น

สิ่งของใดที่สามารถใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิด พนักงานสอบสวนมีอำนาจยึดและรวบรวมเก็บรักษาไว้ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 131มิได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะยึดได้เฉพาะสิ่งของที่ได้มาด้วยการค้น หรือหมายเรียกตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132(2) และ (3)เท่านั้น

บทบัญญัติที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานผู้จับกุมยึดสิ่งของต่าง ๆได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 85 วรรคสามที่ว่าสิ่งของใดที่ยึดไว้เจ้าพนักงานมีอำนาจยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่ สุดเมื่อเสร็จคดีแล้วก็ให้คืนแก่ผู้ต้องหาหรือแก่ผู้อื่นซึ่งมีสิทธิเรียก ร้องขอคืนสิ่งของนั้น เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น นั้น หาได้หมายความว่าเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่คนใดหรือของหน่วยงานใดเป็นผู้ ยึดสิ่งของนั้นไว้ตั้งแต่แรกจะต้องเป็นผู้ยึดไว้จนกว่าคดีถึงที่สุดไม่

ขั้นตอนในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิดหลังจากมีการยึดสิ่งของที่สงสัยว่า ได้มาหรือมีไว้โดยผิดกฎหมายแล้วย่อมจะต้องไปร้องทุกข์ (กล่าวโทษ) ต่อพนักงานสอบสวนพนักงานสอบสวนก็จะมีอำนาจหน้าที่ทำการสอบสวนคดีที่ได้ร้อง ทุกข์ไว้และถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่าสิ่งของที่ผู้จับกุมหรือตรวจค้นยึดได้ นั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดได้ พนักงานสอบสวนก็จะสั่งยึดเป็นของกลางในคดีนั้นต่อไปและถ้าหากว่าพนักงานสอบ สวนเห็นว่าสิ่งของนั้นไม่ใช่พยานหลักฐานอันจำเป็นในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำ ผิดก็อาจไม่สั่งยึดสิ่งของนั้นไว้เป็นของกลางก็ได้ ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานผู้ยึดสิ่งของนั้นไว้ในชั้นตรวจค้นหรือจับกุมก็ไม่ มีอำนาจใดที่จะยึดสิ่งของนั้นไว้อีกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6397/2541
ความผิดที่จำเลยกระทำเป็นความผิดซึ่งหน้า แม้จำเลยจะได้กระทำในที่รโหฐาน เจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมี อำนาจสืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยไม่ ต้องมีหมายจับหรือหมายค้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 การที่เจ้าพนักงานตำรวจเป็นผู้จัดหาธนบัตรให้แก่สายลับ ไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ถือเป็นการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีอำนาจ สืบสวนและจับกุมผู้กระทำความผิดปฏิบัติไปตามอำนาจ และหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเพื่อที่จะทราบราย ละเอียดแห่งความผิด ไม่ถือว่าเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ การที่พนักงานสอบสวนปกปิดชื่อและตัวสายลับไม่ได้ สอบปากคำของสายลับไว้เป็นหลักฐาน ก็เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสืบหาพยานหลักฐานมาประกอบดำเนิน คดี และเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวนบุคคลใดเป็นพยานได้ การที่พนักงานสอบสวนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสอบปากคำสายลับไว้เป็นหลักฐานไม่ ถือว่าการสอบสวนไม่ชอบ คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นไปโดยสมัครใจตาม ความสัตย์จริงจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในชั้นพิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2537
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึกเอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกัน นั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจะอ้างว่าได้ทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าว หาใหม่แล้วของเดิมไม่สำคัญ หรือผู้ให้ถ้อยคำไม่ประสงค์จะใช้ของเดิมจึงไม่นำเข้ารวมสำนวนไว้หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งคำให้การฉบับเดิมของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาไว้ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 นั้น ก็โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ ซึ่งเป็นการกระทำการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยมิชอบอันเป็นความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,200 วรรคแรกด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1680/2532
จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนที่ใด เวลาใดก็ได้ แล้วแต่จะเห็นสมควรตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 130 การที่จำเลยสอบถามข้อเท็จจริงบางประการจากโจทก์ที่โรงพยาบาลแล้วไปจดลงในคำ ให้การของโจทก์ที่สถานีตำรวจอันเป็นที่ทำการของจำเลยภายหลัง โดย ระบุว่าสอบสวนที่สถานีตำรวจเพียงเหตุเท่านี้หาเป็นการทำและรับรองเอกสารอัน เป็นเท็จไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3396/2529
จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวนในการสืบสวนสอบสวนจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายในการแสวงหา ข้อเท็จจริงรวบรวมหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายเกี่ยวกับความผิดเพื่อทราบข้อ เท็จจริงพิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษการที่จำเลยที่3สืบ สวนทราบว่ารถยนต์ของช.ที่ถูกยักยอกไปอยู่ในความครอบครองของโจทก์และยึดรถ ยนต์ดังกล่าวมาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ โดยชอบด้วยกฎหมายจำเลยที่3และกรมตำรวจจำเลยที่4ต้นสังกัดจึงไม่ต้องรับผิด ต่อโจทก์ โจทก์ซื้อรถยนต์จากท้องตลาดโดยสุจริตก็หาได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่ซื้อนั้น ไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1332เพียงแต่บัญญัติว่าผู้ซื้อไม่จำต้อง คืนให้แก่เจ้าของแท้จริงเว้นแต่เจ้าของจะชดใช้ราคาที่ซื้อมาดังนี้เมื่อเจ้า ของติดตามรถยนต์ดังกล่าวคืนโดยตำรวจยึดรถยนต์นั้นไปและศาลพิพากษาให้โจทก์ ได้รับชำระราคาเพราะเหตุที่โจทก์ถูกรอนสิทธิแล้วโจทก์จึงขอบังคับให้ส่งมอบ รถยนต์แก่โจทก์อีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5721/2548
พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตได้ทำสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องจำเลย ในความผิดตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ และฐานร่วมกันยักยอกให้อัยการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา อัยการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยตามความเห็นของพนักงานสอบสวนและ สั่งฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ด้วย โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมให้จำเลยทราบก่อนฟ้อง แต่อัยการพิเศษประจำเขต 8 มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ผู้เสียหายมิได้แจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยจึงไม่ต้องดำเนิน การในข้อหานี้แก่จำเลย ซึ่งอัยการจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการตามความเห็นของอัยการพิเศษประจำเขต 8 โดยมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา และยุติการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตทำสำนวนพร้อมความเห็นเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด ภูเก็ตพิจารณา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและความผิดฐานยักยอก ดังนี้ เห็นได้ว่า ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้ เอกสารราชการนั้น ในชั้นต้นพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ และมิได้ดำเนินคดีในข้อหานี้มาแต่แรก เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการแก่จำเลยในข้อหานี้ ย่อมถือได้ว่าอัยการจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องจำเลยในข้อ หาดังกล่าว การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่มีความเห็นเกี่ยวกับข้อหานี้ จึงไม่ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย อันจะทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเป็นที่สุด เมื่อสำนวนการสอบสวนเสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาเนื่องจากผู้ว่าราชการ จังหวัดมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง การที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจด ข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการและใช้เอกสารดังกล่าวด้วยนั้น เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 12 ที่ให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีได้ทุกศาล ไม่ใช่เป็นการสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง คำสั่งให้ฟ้องจำเลยของอัยการสูงสุดย่อมชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8481/2544
แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และมาตรา 146 ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147 ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4396/2528
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและพระราชบัญญัติศุลกากร เดิมพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดา ซึ่งเป็นท้องที่เกิดเหตุเป็นผู้สอบสวน ต่อมากรมตำรวจได้แต่งตั้งให้ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามทำการสอบสวนคดีนี้แต่ฝ่ายเดียว พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงติดต่อขอรับสำนวนการสอบสวน จากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดาหลายครั้ง แต่ไม่สามารถรับสำนวนการสอบสวนมาได้ ต่อมาพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเดากลับส่งสำนวนการสอบสวนไปยัง พนักงานอัยการโดยมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงติดต่อขอสำนวนการสอบสวนคืนจากพนักงานอัยการ ซึ่งขณะนั้นยังมิได้มีคำสั่งให้ฟ้องหรือไม่ฟ้อง จำเลยที่ 1 พนักงานอัยการได้คืนสำนวนการสอบสวนดังกล่าวให้แก่พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ทำการสอบสวนต่อไป โดยสอบ บุคคลอื่นเป็นผู้ต้องหาอีกหลายคนซึ่งมีจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วยภายหลังพนักงานอัยการได้แนะนำให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามคืนสำนวนการสอบสวน และต่อมามีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามสอบสวนเพิ่มเติมทำการสอบสวนจนเสร็จสิ้น กรณีเช่นนี้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามยังมีอำนาจทำการสอบสวนคดีนี้อยู่การสอบ สวนเพิ่มเติมของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าว หาขัดกับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139ถึง มาตรา 143 ไม่ การสอบสวนของ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจึงชอบด้วยกฎหมาย และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่1 และที่ 2 ได้
 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/2528)