คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา

มาตรา ๔๐ การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง


มาตรา ๔๑ ถ้าการพิจารณาคดีแพ่งจักทำให้การพิจารณาคดีอาญาเนิ่นช้าหรือติดขัดศาลมีอำนาจสั่งให้แยกคดีแพ่งออกจากคดีอาญา และพิจารณาต่างหากโดยศาลที่มีอำนาจชำระ


มาตรา ๔๒ ในการพิจารณาคดีแพ่ง ถ้าพยานหลักฐานที่นำสืบแล้วในคดีอาญายังไม่เพียงพอ ศาลจะเรียกพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมอีกก็ได้


ในกรณีเช่นนั้นศาลจะพิพากษาคดีอาญาไปทีเดียว ส่วนคดีแพ่งจะพิพากษาในภายหลังก็ได้


มาตรา ๔๓ คดีลักทรัพย์ วิ่งราว ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ โจรสลัด กรรโชก ฉ้อโกงยักยอกหรือรับของโจร ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่เขาสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา ก็ให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย


มาตรา ๔๔ การเรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนตามมาตราก่อน พนักงานอัยการจะขอรวมไปกับคดีอาญาหรือจะยื่นคำร้องในระยะใดระหว่างที่คดี อาญากำลังพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้นก็ได้

คำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาให้รวมเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญา


มาตรา ๔๔/๑ ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสีย หายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสิน ไหมทดแทนแก่ตนก็ได้


การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่า สินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้


คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสิน ไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา ๔๓ แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้


มาตรา ๔๔/๒ เมื่อได้รับคำร้องตามมาตรา ๔๔/๑ ให้ศาลแจ้งให้จำเลยทราบ หากจำเลยให้การประการใดหรือไม่ประสงค์จะให้การให้ศาลบันทึกไว้ ถ้าหากจำเลยประสงค์จะทำคำให้การเป็นหนังสือให้ศาลกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การ ตามที่เห็นสมควร และเมื่อพนักงานอัยการสืบพยานเสร็จศาลจะอนุญาตให้ผู้เสียหายนำพยานเข้าสืบ ถึงค่าสินไหมทดแทนได้เท่าที่จำเป็น หรือศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีอาญาไปก่อนแล้วพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งในภาย หลังก็ได้


ถ้าความปรากฏต่อศาลว่าผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา ๔๔/๑ เป็นคนยากจนไม่สามารถจัดหาทนายความได้เอง ให้ศาลมีอำนาจตั้งทนายความให้แก่ผู้นั้น โดยทนายความที่ได้รับแต่งตั้งมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตาม ระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนด


มาตรา ๔๕ คดีเรื่องใดถึงแม้ว่าได้ฟ้องในทางอาญาแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องในทางแพ่งอีก


มาตรา ๔๖ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา


มาตรา ๔๗ คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่


ราคาทรัพย์สินที่สั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย ให้ศาลกำหนดตามราคาอันแท้จริง ส่วนจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ผู้เสียหายจะได้รับนั้น ให้ศาลกำหนดให้ตามความเสียหายแต่ต้องไม่เกินคำขอ


มาตรา ๔๘ เมื่อศาลพิพากษาให้คืนทรัพย์สิน แต่ยังไม่ปรากฏตัวเจ้าของ เมื่อใดปรากฏตัวเจ้าของแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรักษาของคืนของนั้นให้แก่เจ้าของไป

ในกรณีที่ปรากฏตัวเจ้าของ ให้ศาลพิพากษาสั่งให้เจ้าหน้าที่ซึ่งรักษาของคืนของนั้นให้แก่เจ้าของไป


เมื่อมีการโต้แย้งกัน ให้บุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินนั้นฟ้องเรียกร้องยังศาลที่มีอำนาจชำระ


มาตรา ๔๙ แม้จะไม่มีฟ้องคดีส่วนแพ่งก็ตาม เมื่อพิพากษาคดีส่วนอาญา ศาลจะสั่งให้คืนทรัพย์สินของกลางแก่เจ้าของก็ได้


มาตรา ๕๐ ในกรณีที่ศาลสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สิน หรือค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายตามมาตรา ๔๓ มาตรา ๔๔ หรือมาตรา ๔๔/๑ ให้ถือว่าผู้เสียหายนั้นเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา


มาตรา ๕๑ ถ้าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญา สิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดนั้นย่อมระงับไปตาม กำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญา แม้ถึงว่าผู้เยาว์หรือผู้วิกลจริตในมาตรา ๑๙๓/๒๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะเป็นผู้ฟ้องหรือได้ฟ้องต่างหากจากคดีอาญา ก็ตาม


ถ้าคดีอาญาใดได้ฟ้องต่อศาลและได้ตัวผู้กระทำความผิดมายังศาลด้วยแล้ว แต่คดียังไม่เด็ดขาดอายุความซึ่งผู้เสียหายมีสิทธิจะฟ้องคดีแพ่งย่อมสะดุดหยุดลงตามมาตรา ๙๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา


ถ้าโจทก์ได้ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษาลงโทษจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ฟ้อง คดีแพ่งสิทธิของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีตามกำหนดอายุความในมาตรา ๑๙๓/๓๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


ถ้าโจทก์ฟ้องคดีอาญาและศาลพิพากษายกฟ้องปล่อยจำเลยจนคดีเด็ดขาดแล้วก่อนที่ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่ง สิทธิของผู้เสียหายจะฟ้องคดีแพ่งย่อมมีอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2563

แม้คดีนี้จะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า การพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าจำเลยซื้อนกกรงหัวจุกพร้อมกรงนกจาก น. โดยจำเลยไม่รู้ว่านกนั้นเป็นของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบยังฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานรับของโจร มิได้วินิจฉัยว่านกกรงหัวจุกพร้อมกรงนกไม่ใช่ของโจทก์ร่วม เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติแล้วว่านกกรงหัวจุกพร้อมกรงนกเป็นของโจทก์ร่วม ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคแรก บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ และวรรคสอง บัญญัติว่า ราคาทรัพย์สินที่สั่งให้จำเลยใช้แก่ผู้เสียหาย ให้ศาลกำหนดตามราคาที่แท้จริง ส่วนจำนวนค่าสินไหมทดแทนอย่างอื่นที่ผู้เสียหายจะได้รับนั้น ให้ศาลกำหนดให้ตามความเสียหายแต่ต้องไม่เกินคำขอ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1 - 3/2563

เมื่อปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้นไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นเหตุให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลและขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้


หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานก็มีคำสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ แม้ทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินได้มาก่อน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้


การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นมาตรการทางแพ่งที่ให้อำนาจรัฐในการติดตามทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดจากผู้ครอบครองทรัพย์สินเพื่อไม่ให้ยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ได้ต่อไป แตกต่างจากหนี้ทางแพ่งที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ลักษณะ 6 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่มีอายุความ


การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 48 ถึงมาตรา 59 หาได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าผู้ร้องอาจดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามบทบัญญัติดังกล่าวได้โดยไม่มีอายุความจึงเป็นการแปลความกฎหมายของศาล มิใช่กรณีกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 212


การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินย้อนหลังไปก่อนวันที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับนั้น ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 - 41/2546 วินิจฉัยไว้ ซึ่งแม้เป็นการวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ก็เป็นการวินิจฉัยเรื่องการมีผลใช้บังคับของกฎหมาย ซึ่งหลักนิติธรรมที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยรับรองคุ้มครอง มิได้เปลี่ยนแปลงยกเลิกไปจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 รับรองคุ้มครอง เท่ากับศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินี้แล้ว จึงไม่ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก


การที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 2 บัญญัติให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น บทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพียงกำหนดว่าให้กฎหมายมีผลใช้บังคับเมื่อใด แต่เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว การกระทำใดอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายอย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามความมุ่งหมายของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มิได้แสดงว่ากฎหมายกำหนดมิให้มีผลบังคับย้อนหลังตามที่ผู้คัดค้านอ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5830/2562

พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง กับมีคำขอให้คืนหรือใช้เงิน ที่ผู้เสียหายส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แก่ผู้เสียหาย อันเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คืนในคดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระยะเวลาที่คดีอาญาดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฟ้องโจทก์ในส่วนเงินที่ส่งมอบอันเป็นต้นเงินจึงเป็นฟ้องซ้อน แต่ในส่วนดอกเบี้ย พนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ชดใช้ในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้อนซ้อน


เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ และเงินที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถูกส่งเป็นทอด ๆ ไปให้จำเลยที่ 4 โดยมิได้อยู่ในครอบครองของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่โจทก์จะใช้สิทธิติดตามเอาคืนจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระดอกเบี้ยในเงินจำนวนนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2562

การที่ อ. รับฟังจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเพื่อนของ อ. แนะนำว่าจำเลยที่ 2 สามารถฝากผู้เข้าสอบเข้ารับราชการเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรได้ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงออกให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไปถึงเรื่องดังกล่าวอย่างไร เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และมิได้ร่วมมือกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยรับหน้าที่ให้มากระจายข่าวในหมู่ผู้เข้าสอบให้แพร่หลาย เมื่อ อ. ไปพบกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่บ้านเพื่อให้ช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองเข้ารับราชการตำรวจ โดยยอมเสียค่าใช้จ่ายตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกร้อง เห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์ทั้งสองเป็นการส่วนตัวเท่านั้น หาได้มีพฤติการณ์อันเป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปไม่ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 โจทก์ทั้งสองทราบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2558 โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จึงล่วงเลยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน จึงขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)


ส่วนคำขอในส่วนแพ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามมาตรา 46 เมื่อคำพิพากษาส่วนอาญาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสองจริง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพ เท่ากับรับว่าร่วมกันฉ้อโกงโจทก์ทั้งสอง คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง เงินที่โจทก์ทั้งสองจ่ายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไป จึงไม่มีลักษณะเป็นสินบนเพื่อจูงใจเจ้าพนักงานอื่นกระทำการใดๆ เพื่อช่วยเหลือโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบ แต่มีลักษณะเป็นสินน้ำใจที่สมนาคุณแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ช่วยเหลือทำให้โจทก์ทั้งสองสามารถบรรจุเข้ารับราชการได้ตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีในส่วนแพ่งซึ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินที่ร่วมกันฉ้อโกงไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4839/2562

การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้คดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2558 ก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับ สิทธิในการฎีกาจึงเป็นไปตามกฎหมายฉบับเดิมก่อนมีการแก้ไข ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม 100,000 บาท เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องอันเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะฟ้องคดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885/2562

เดิมพนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีฟ้องโจทก์ในคดีนี้เป็นคดีอาญาข้อหาบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง กระทำด้วยประการใด ๆ ในที่ดินพิพาทอันเป็นการทำลายป่า และเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 54 และ 72 ตรี ศาลฎีกาในคดีดังกล่าววินิจฉัยว่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) ที่ดินแปลงใดที่ยังไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของหรือได้สิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินย่อมเป็นป่าทั้งสิ้นโดยไม่จำต้องมีเอกสารสิทธิในที่ดินหรือหลักฐานของทางราชการมาแสดงว่าเป็นป่าแต่อย่างใด จำเลย (โจทก์ในคดีนี้) พิสูจน์ไม่ได้ว่าตนได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบตามประมวลกฎหมายที่ดิน เท่ากับวินิจฉัยแล้วว่าไม่ใช่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้รัฐได้ จึงมีความผิดตามฟ้อง การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบในที่ดินพิพาท ขอให้ห้ามจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้ก็ย่อมเป็นประเด็นเดียวกันกับคดีอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3789/2562

การยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีส่วนอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาหรือยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 คดีนี้คดีส่วนอาญาไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาจึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาคดีส่วนแพ่งจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 247 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" และมาตรา 247 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา" และวรรคสอง บัญญัติว่า "การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น..." เช่นนี้ คำพิพากษาในคดีส่วนแพ่งของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 จำเลยจะฎีกาได้ต่อเมื่อยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาพร้อมกับคำฟ้องฎีกาและได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา จึงจะมีสิทธิฎีกาได้ การที่จำเลยยื่นฎีกาโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3637/2562

ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 นั้น เมื่อศาลชั้นต้นมิได้ใช้กระบวนการพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยตามปกติ แต่ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี ในกรณีที่ศาลเห็นว่า ตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรมีคำพิพากษา หรือบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งจำเลยอาศัยอยู่ด้วยร้องขอให้ใช้ ศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวแล้วมอบตัวจำเลยให้บุคคลดังกล่าวไป โดยกำหนดเงื่อนไขในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟู ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 132 วรรคหนึ่ง หรือส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจ หรือสถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายและตามที่ศาลเห็นสมควร หรือจะใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนไปพลางก่อนตามมาตรา 132 วรรคสอง เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดแล้ว ให้ศาลสั่งยุติคดีโดยไม่ต้องมีคำพิพากษาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลย ตามมาตรา 133 วรรคหนึ่ง เว้นแต่คำสั่งเกี่ยวกับของกลาง และให้ถือว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ ย่อมหมายความเฉพาะ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเท่านั้นที่เป็นอันระงับไป สิทธิของผู้เสียหายที่จะได้ทรัพย์สินคืน หรือใช้ราคาทรัพย์สินซึ่งเป็นสิทธิในคดีส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนผู้เสียหายย่อมยังคงมีอยู่ เพราะเจตนารมณ์ของบทบัญญัติมาตราดังกล่าวเพื่อช่วยให้ผู้เสียหายได้รับทรัพย์สินคืนหรือได้รับการชดใช้ราคาทรัพย์สินที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดของจำเลยได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง จึงให้อำนาจพนักงานอัยการใช้สิทธิเรียกร้องและดำเนินคดีแทนผู้เสียหายต่อเนื่องไปในคดีอาญา เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาเสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน ดังนั้น สิทธิในคดีส่วนแพ่งของผู้เสียหายจึงไม่ระงับสิ้นไป การนำบทบัญญัติมาตรา 133 วรรคหนึ่ง มาตีความว่า เมื่อศาลสั่งยุติคดีมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับไป มีผลทำให้คำขอในคดีส่วนแพ่งของพนักงานอัยการที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายตกไปด้วยนั้น เป็นการนำบทบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นบทบัญญัติจำกัดสิทธิซึ่งต้องตีความโดยเคร่งครัดมาตีความตัดสิทธิของผู้เสียหายที่จะได้รับการเยียวยาชดใช้ความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การตีความเช่นนั้นย่อมเกิดความเดือดร้อน และเสียหายแก่ผู้เสียหายที่ต้องไปเริ่มต้นดำเนินคดีส่วนแพ่งเพื่อเรียกค่าสินไหมทดแทนด้วยตนเอง และต้องเสียค่าธรรมเนียมในการดำเนินคดีอันเป็นภาระยิ่งขึ้นให้แก่ผู้เสียหาย ทั้งที่พนักงานอัยการได้ใช้สิทธิเรียกร้องแทนผู้เสียหายและดำเนินคดีมาตั้งแต่ต้นจนคดีเสร็จการพิจารณาแล้ว ดังนั้น แม้ในคดีอาญาศาลสั่งยุติคดี ศาลก็ต้องมีคำวินิจฉัยตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นคำขอในคดีส่วนแพ่งด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2412/2562

โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งด้วย เมื่อโจทก์ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และขอให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว คดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาย่อมไม่ต้องห้ามฎีกา โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องขออนุญาตฎีกาคดีส่วนแพ่ง


แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึงผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างเกินกว่าความหมายของผู้เสียหายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) ถือได้ว่าขัดกัน การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44 /1 จึงไม่ต้องถือความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ทั้งการที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายแล้ว ผู้เสียหายไม่อาจยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนที่พนักงานอัยการได้เรียกแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 และ 44/1 วรรคสาม ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทน ต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ทำให้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ทั้ง มาตรา 44/1 วรรคสอง ก็บัญญัติความว่า.... ถือว่าคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ทั้งคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ย จึงใช้สิทธิในคดีส่วนแพ่งได้ และคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อคดีส่วนแพ่งโจทก์ร่วมกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลชั้นต้นพิพากษายอมความแล้ว ซึ่งคู่ความมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอม โดยจำเลยอุทธรณ์เฉพาะคดีส่วนอาญาขอให้รอการลงโทษเท่านั้น คดีส่วนแพ่งจึงยุติและต้องบังคับไปตามคำพิพากษาตามยอม ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ชอบที่วินิจฉัยให้เฉพาะคดีส่วนอาญาเท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 661/2562

โจทก์ตั้งประเด็นในคำฟ้องว่าโจทก์ปลูกต้นสักล้ำเข้าไปในที่ดิน ป. โดยสุจริต ป. ยินยอมให้ต้นสักคงอยู่ในที่ดินจนกว่าโจทก์จะตัดขาย จำเลยตัดต้นสักของโจทก์เป็นละเมิด จำเลยให้การต่อสู้ว่ารับโอนที่ดินมาและต้นสักเป็นส่วนควบกับที่ดินจำเลย จำเลยเป็นเจ้าของต้นสักจึงมีสิทธิตัดได้โดยไม่เป็นละเมิด คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ซึ่งคดีนี้จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าโจทก์ปลูกต้นสักโดยไม่สุจริต และโจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 จึงต้องฟังว่าโจทก์ปลูกต้นสักในที่ดิน ป. โดยสุจริต เมื่อจำเลยรังวัดออกโฉนดที่ดินทราบว่าต้นสักที่โจทก์ปลูกอยู่ในที่ดินของจำเลย จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ตัดต้นสักออกไปเท่ากับจำเลยบอกปัดไม่ยอมรับต้นสักตาม ป.พ.พ. มาตรา 1310 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง ต้นสักจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ไม่เป็นส่วนควบกับที่ดินจำเลย และเมื่อคดีส่วนอาญาได้ความว่า จำเลยตัดต้นสักของโจทก์เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ไปโดยทุจริตเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ คดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยตัดต้นสักของโจทก์เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์ปลูกต้นสักล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยโดยไม่สุจริต การที่จำเลยตัดต้นสักพอถือได้ว่าจำเลยใช้สิทธิในฐานะเจ้าของที่ดินเลือกเอาไม้สักโดยใช้ราคาต้นสักตาม ป.พ.พ. มาตรา 1311 ประกอบมาตรา 1314 วรรคหนึ่ง เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และการกำหนดให้จำเลยใช้ราคาต้นสักแก่โจทก์ ก็เป็นผลจากการวินิจฉัยนอกประเด็น เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 ที่แก้ไขใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2561

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของ ช. เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจาก ช. ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่


การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทกับตัดโค่นทำลายพืชผลอาสินของโจทก์ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดทางอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับความผิดทางแพ่งฐานละเมิดรวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์แล้วถอนฟ้องไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งมีผลให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงไม่มีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลและศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนอาญา เมื่อมูลคดีนี้ถือว่ายังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งสามทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาย่อมต้องบังคับตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง


เมื่อความผิดทางอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดฐานบุกรุกที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) อายุความฟ้องคดีอาญาจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 90 และเมื่อคำนวณนับแต่วันกระทำผิดถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


กรณีไม่มีการฟ้องคดีอาญาย่อมไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดที่จะให้นำไปถือตามในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และในการพิพากษาคดี ข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424


เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามสามารถอ้างสิทธิใดๆ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามยอมรับตามฟ้องว่า ได้เข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทแล้วล้อมรั้วที่ดินพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่จะได้จากยางพาราและปาล์มซึ่งโจทก์ปลูกไว้ในเขตที่ดินและบ้านพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการจงใจกระทำการโดยไม่สุจริต ทั้งส่งผลโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2489/2561

คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าความผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรง เป็นประเด็นเดียวกันว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. หรือเป็นสินสมรสระหว่าง ก. กับพันเอก ก. ดังนี้ เมื่อคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุด ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาโดยคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้วินิจฉัยโดยชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. และคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปัญหาดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทและศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยทั้ง ๆ ที่โจทก์บรรยายฟ้อง และคู่ความนำสืบกับจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้ขณะยื่นฟ้อง ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. แม้ต่อมาพันเอก ก. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงก็ไม่มีส่วนใดเป็นทรัพย์มรดกของพันเอก ก. ซึ่งตกทอดแก่โจทก์ การที่ ก. ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่ละแปลงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และจำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบางแปลงที่ตนได้รับให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเช่นกัน จึงเป็นสิทธิโดยชอบของ ก. และจำเลยที่ 4


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2561

การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลยที่ว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไว้พิจารณาและเมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้ร้องแก้ฎีกาก่อน โดยเห็นว่าการพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในคดีอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมาบังคับใช้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ไม้ตีจำเลยบริเวณท้ายทอยแล้วผู้ร้องเข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 โดยเข้าห้ามมิให้จำเลยใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 เข้าแย่งและปัดมีดจากมือจำเลย ทำให้มีดพลาดแทงถูกบริเวณท้องด้านซ้ายของผู้ร้อง มีดปักคาอยู่ พฤติการณ์แห่งคดีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลยด้วยการใช้ไม้ตีจำเลยที่บริเวณท้ายทอย ผู้ร้องจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ เมื่อผู้ร้องได้มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8878/2560

ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าเสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ระบุว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยในการกระทำความผิดต่อร่างกาย จิตใจ เสื่อมเสียเสรีภาพและชื่อเสียง เมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวฟังได้เบื้องต้นว่า ผู้เสียหายที่ 2 ประสงค์จะได้ค่าสินไหมทดแทนที่ตนเองได้รับความเสียหายในความผิดฐานพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะบิดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลโจทก์ร่วม มีความหมายเท่ากับความปกครองของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีต่อโจทก์ร่วมถูกกระทบกระเทือนทำนองเดียวกับเสรีภาพของผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหาย แต่ได้เขียนคำร้องในฐานะประชาชนที่ไม่เข้าใจกฎหมายถ่องแท้ จึงเขียนทำนองเรียกค่าสินไหมทดแทนแทนโจทก์ร่วม ทั้งศาลชั้นต้นก็ไม่ได้มีคำสั่งให้แก้ไขคำร้องให้ชัดเจนตามมาตรา 44/1 วรรคสอง จะถือเป็นความผิดของผู้เสียหายที่ 2 ไม่ได้ ทั้งปัญหาตามมาตรา 44/1 เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจกำหนด ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8748/2560

แม้ว่าคดีหมายเลขแดงที่ 10521/2542 ของศาลอาญา ซึ่งผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2541 ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกอีก 1 คน ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 50,000 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และคดีหมายเลขดำที่ ย.5547/2546 คดีหมายเลขแดงที่ ย.3553/2548 ของศาลอาญา ซึ่งผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ว่าสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษและร่วมกันฟอกเงิน ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าว มิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า "การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง" ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คือให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดดังที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างในฎีกาหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 46


เมื่อปรากฏว่าคดีที่ ว. กับพวกถูกฟ้องข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอาญาธนบุรีมีคำพิพากษาลงโทษ ว. โดยให้ประหารชีวิต ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 8870/2546 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับ ว. แต่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้ ให้ลงโทษ ว. โดยให้ประหารชีวิต ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20063/2555 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวว่า ว. กับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 500,000 เม็ด น้ำหนัก 46,284.590 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธ์ได้ 10,685.239 กรัม และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนลักษณะเป็นผงสีส้มจำนวน 1 ซอง น้ำหนัก 2.280 กรัม คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 0.739 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ว. จึงเป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (1) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อพิจารณาประกอบกับพฤติการณ์การปิดบังซ่อนเร้นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งนำเงินไปฝากไว้ที่ธนาคารในนามของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 5 หรือการนำทองคำแท่งไปฝังไว้ในสนามหญ้าหน้าบ้าน อันเป็นการผิดปกติวิสัยของบุคคลทั่วไป ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ โดยเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน มาตั้งแต่ปี 2541 ถึง 2546 และผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำความผิดมูลฐาน


ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อปี 2541 ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ขณะถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในเรือนจำกลางคลองเปรม ผู้คัดค้านที่ 1 และ ว. ถูกคุมขังอยู่ด้วยกัน จึงมีความสนิทสนมและมีพฤติการณ์ค้าเมทแอมเฟตามีนร่วมกัน ต่อมา ว. พ้นโทษออกมาก่อน แต่ก็ยังมีการติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 14 เมษายน 2546 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 โดยกล่าวหาว่าสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด มียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฟอกเงิน พร้อมทั้งยึดทรัพย์สินต่าง ๆ หลายรายการรวมทั้งทรัพย์สินตามคำร้องด้วย ซึ่งปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ดังนั้น ประเด็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 หรือไม่ ย่อมเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงในการจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2546 ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์นำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาพิจารณาวินิจฉัยด้วยจึงหาใช่เป็นการวินิจฉัยนอกคำร้องแต่อย่างใด


เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องบังคับตามมาตรา 51 ที่แก้ไขใหม่ แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 กล่าวคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ที่ถูกยึดไว้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8346/2560

แม้ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นพี่ชาย บิดา และสามีของผู้คัดค้านที่ 7 ที่ 8 และที่ 9 ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แทนผู้คัดค้านที่ 7 ถึงที่ 9 ได้


เจ้าของที่แท้จริงในทรัพย์สินเท่านั้นที่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านเพื่อขอคืนทรัพย์สิน ผู้ครอบครองทรัพย์สินแม้ต้องรับผิดชอบต่อเจ้าของทรัพย์สินก็ไม่อาจยื่นคำคัดค้านได้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 5 เป็นเพียงผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก ส่วนเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของผู้คัดค้านที่ 6 ผู้คัดค้านที่ 5 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านเข้ามาในคดี


พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ในส่วนมาตรการดำเนินคดีต่อทรัพย์สินที่ให้ยึดหรืออายัดและให้ตกเป็นของแผ่นดิน เป็นคนละส่วนกับการดำเนินคดีอาญาต่อบุคคล แต่เป็นมาตรการพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะให้ดำเนินการทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด โดยมีเหตุผลมาจากหลักการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมหรือประโยชน์สาธารณะ และหลักการติดตามและเรียกคืนทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดของรัฐ ทำให้สามารถดำเนินคดีทางแพ่งต่อทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดได้ โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญาหรือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงใช้บังคับย้อนหลังได้ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40 - 41/2546


ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ 3 ได้มาระหว่างกระทำความผิดฐานฟอกเงิน ต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคสอง ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนี้


ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 ไม่เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐาน จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง (2) ผู้คัดค้านที่ 4 และที่ 6 ต้องแสดงให้เห็นว่าได้รับโอนเงินจากผู้คัดค้านที่ 3 โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2560

แม้พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4) วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาทก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง" การที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาโดยกำหนดให้รัฐ (พนักงานอัยการ) และผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีส่วนแพ่งรวมไปกับคดีอาญาและให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญาพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งไปในคราวเดียวกัน โดยไม่ต้องไปฟ้องร้องกันใหม่ ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมให้ได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยสะดวกและรวดเร็ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าในบางกรณีเขตอำนาจปกติของศาลที่พิจารณาคดีอาญาไม่อาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้นได้ก็ตาม ต้องถือว่าเป็นกรณีที่กฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้ทำได้ ดังเช่นพนักงานอัยการร้องขอให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กรณีจึงไม่จำต้องคำนึงว่าศาลที่พิจารณาคดีอาญาจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีแพ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 2 (1) และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) วรรคหนึ่งหรือไม่ และผู้เสียหายที่ยื่นฟ้องจะขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินมากน้อยเพียงใด ดังนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำนวนเงินที่ขอเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนแพ่งได้


จำเลยยักยอกทรัพย์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นละเมิดต่อโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 ถือว่าจำเลยผิดนัดนับแต่เวลาที่ทำละเมิด โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระต้นเงินโดยไม่ให้ดอกเบี้ยก่อนฟ้องจึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7799 - 7800/2560

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ ให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลม" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในการนี้ให้พนักงานอัยการได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง" จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า ต้องนำ ป.วิ.พ. มาใช้บังคับแก่กรณีนี้รวมถึงหมวด 3 ว่าด้วยค่าฤชาธรรมเนียมด้วย ซึ่งในมาตรา 150 แห่ง ป.วิ.พ. บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตามราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ที่ดินทั้งเก้าแปลงตกเป็นของแผ่นดิน ผู้คัดค้านอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและให้คืนที่ดินทั้งเก้าแปลงดังกล่าวแก่ผู้คัดค้าน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้หรือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ผู้คัดค้านต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 ข้างต้น เพราะ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 59 วรรคสอง ยกเว้นให้เฉพาะพนักงานอัยการที่ไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม ส่วนผู้คัดค้านไม่ได้รับการยกเว้นด้วย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้คัดค้านเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงชอบแล้ว


พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน ซึ่งมีทั้งโทษอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าวมิใช่ความรับผิดทางแพ่งตามความหมายของคำว่า "การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง" ใน ป.วิ.อ. เพียงแต่ในการพิจารณาและพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต้องดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 59 แพ่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว คือให้นำ ป.วิ.พ. มาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าผู้คัดค้านหรือจำเลยในคดีอาญาจะได้กระทำความผิดหรือศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยในคดีอาญาหรือไม่ คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 46


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6941/2560

พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นจำเลยในคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุก ลักทรัพย์และ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ.2535 มีโจทก์เป็นผู้เสียหาย และมีคำขอให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 คืนหรือใช้ราคาดินแก่ผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย เป็นคำฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ลักษณะ 3 การฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา หมวดที่ 2 คดีดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ลงโทษจำเลยที่ 5 เพียงคนเดียว ส่วนคำขอให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปนั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้ไม่แน่ชัดว่ามีเพียงใด จึงให้ยกคำขอของโจทก์โดยไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีใหม่ภายในอายุความ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ให้คืนหรือใช้ราคาดินในคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในคดีอาญานั้นเอง มิใช่การฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ


จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ยังไม่เคยถูกฟ้องให้คืนหรือใช้ราคาดินที่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 ขุดไปจากที่ดินโจทก์มาก่อน จึงไม่มีกรณีต้องพิจารณาว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นฟ้องซ้อนหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่


โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันขุดเอาหน้าดินของโจทก์ซึ่งมีสภาพเป็นดินลูกรังไปเพื่อใช้ในการถมก่อสร้างคันกั้นน้ำชื่อโครงการกระแสสินธุ์ในเขตโครงการชลประทาน และมีคำขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันคืนดินหากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคา คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในตัวทรัพย์ที่จะเรียกร้องจากผู้เอาทรัพย์ไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและติดตามเอาทรัพย์คืน และหากคืนไม่ได้ผู้ที่เอาทรัพย์นั้นไปก็ต้องชดใช้ราคา จึงเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ติดตามเอาคืนทรัพย์สินจากผู้ยึดถือโดยไม่มีสิทธิยึดถือ มิใช่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6355/2560

ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อในคดีอาญาศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม แม้โจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์เรื่องค่าสินไหมทดแทน ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลคดีอาญาได้ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง


จำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมหนังสือมอบอำนาจและใช้หนังสือมอบอำนาจปลอมแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อให้ดำเนินการจดทะเบียนขายฝากที่ดินของโจทก์ร่วมให้ ก. จนเป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองแล้ว โจทก์ร่วมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ซึ่งได้แก่การคืนทรัพย์สินอันโจทก์ร่วมต้องเสียไปจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองอันเป็นการกระทำละเมิด หรือใช้ราคาทรัพย์ รวมทั้งค่าเสียหายอันจะพึงบังคับให้ใช้เพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันได้ก่อขึ้นนั้นด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5701/2560

เมื่อคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง คดีถึงที่สุดและมูลกรณีที่โจทก์นำมาเป็นเหตุฟ้องร้องจำเลยที่ 2 รับผิดทางแพ่งชดใช้ค่าเสียหายในคดีนี้ก็เป็นข้อเท็จจริงเดียวกันกับในคดีอาญาคดีก่อนที่จำเลยที่ 2 รับสารภาพว่าได้กระทำความผิด และศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 มาด้วย จึงถือว่าคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา


ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีอาญาคดีก่อน ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่ฟ้องจริง คงมีประเด็นตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เพียงว่า มีเหตุลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ทำนองว่า จำเลยที่ 2 มิได้ลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ย ช่วงเกิดเหตุจำเลยที่ 2 มีอาการเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล ต่อมาบรรษัท ง. ฟ้องเรียกเงินกู้คืนจากบริษัท ฟ. และจำเลยร่วมแต่ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ด้วย และจำเลยที่ 2 มีส่วนช่วยติดตามยึดทรัพย์สินของบริษัท ฟ. เพื่อเยียวยาค่าเสียหายให้แก่บรรษัท ง. และมีเหตุส่วนตัวอื่น อันเป็นสาเหตุที่ทำให้ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 2 อีกสถานหนึ่งและรอการลงโทษจำคุกให้นั้น ถือเป็นเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ใช้ประกอบดุลพินิจในประเด็นที่ว่าพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุที่จะลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 2 หรือไม่ ไม่เป็นการลบล้างความผิดตามฟ้องที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ให้หมดสิ้นไป


เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การสารภาพยอมรับว่า จำเลยที่ 2 กับพวกเป็นผู้สนับสนุนให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดในขั้นตอนก่อนหรือขณะกระทำความผิด ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอาญาว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมกระทำความผิดจริง และในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่อุทธรณ์ยอมรับความผิดที่จำเลยที่ 2 ได้กระทำลงไป มิได้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องโดยฟังว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิด แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำวินิจฉัยก้าวล่วงไปสู่พฤติการณ์แห่งคดีว่าจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมรู้เห็นในการทุจริตกับจำเลยร่วม ก็ไม่มีผลเป็นการรับฟังข้อเท็จจริงหักล้างเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาที่ฟังจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดในคดีอาญาที่ยุติเด็ดขาดไปแล้วแต่อย่างใดไม่ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด การรับฟังพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งในคดีนี้จึงไม่อาจรับฟังไปคนละทางกับข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติในคดีอาญาว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ในคดีนี้ด้วย


เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัท ฟ. โดยต้องลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยร่วมและประทับตราสำคัญของบริษัท จำเลยที่ 2 จึงจำต้องใช้ความละเอียดรอบคอบเอื้อเฟื้อสอดส่องอย่างบุคคลค้าขายผู้ประกอบด้วยความระมัดระวังตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ไม่อาจอ้างเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ให้โอกาสจำเลยที่ 2 ด้วยการรอการลงโทษจำคุกมาเป็นข้อแก้ตัวให้พ้นความรับผิดหาได้ไม่


จำเลยที่ 1 ลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ยกับบริษัท ฟ. ทั้งสองครั้งโดยไม่ใช้แบบฟอร์มสัญญาของโจทก์ การตรวจรับสินค้าหรือปุ๋ยตามสัญญาก็กระทำเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ไม่เคยนำสัญญาซื้อขายปุ๋ยดังกล่าวเสนอคณะกรรมการโจทก์พิจารณาให้ความเห็นชอบ พฤติการณ์การกระทำของจำเลยที่ 1 มีลักษณะเป็นการกระทำตามลำพังเฉพาะตัว เพียงแต่อาศัยตำแหน่งที่ตนเองเป็นผู้อำนวยการของโจทก์มาทำการทุจริตเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลที่สาม โดยโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นและไม่อยู่ในวิสัยหรือโอกาสที่จะตรวจสอบได้ในสารบบงานที่เกี่ยวข้อง โจทก์จึงไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อ


แม้ข้อเท็จจริงจะฟังยุติว่า จำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมสนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย แต่การกำหนดค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ไปก่อหนี้ผูกพันลงชื่อในสัญญาซื้อขายปุ๋ยทั้งสองสัญญากับโจทก์ ไม่ได้ความเป็นที่ประจักษ์ว่า จำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์หรือส่วนแบ่งโดยตรงจากเงินที่บริษัท ฟ. ได้รับจากบรรษัท ง. และพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยร่วมหรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องในการสร้างหลักฐานอันเป็นเท็จ อีกทั้งไม่ปรากฏพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาหรือคำพิพากษาของศาลว่าจำเลยที่ 2 กระทำการยักยอกเบียดบังเอาสินค้าหรือเงินของบริษัท ฟ. ไป ลำพังคำให้การซัดทอดของ ส. ที่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วยกับจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจึงไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักให้รับฟังแต่อย่างใด ดังนั้น พฤติการณ์การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงมีความร้ายแรงน้อยกว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม ค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 จะต้องชดใช้แก่โจทก์ย่อมมีสัดส่วนน้อยกว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม โดยกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์จำนวนหนึ่งในสี่ของค่าเสียหาย ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเท่ากับสัดส่วนความประมาทเลินเล่อของบรรษัท ง. ที่มีส่วนต้องรับผิดชอบในความประมาทเลินเล่อหรือความผิดของฝ่ายตน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5400/2560

ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติว่า "ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจหรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกาย ชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้" เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์จะช่วยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายในทางแพ่งได้รับความสะดวกรวดเร็วในการได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่ง ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาจะได้เสร็จสิ้นไปในคราวเดียวกัน โดยให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญาทุกประเภทที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ต่อเนื่องไปได้เพื่อให้การพิจารณาคดีส่วนแพ่งเป็นไปโดยรวดเร็วดังที่ปรากฏในหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2548 นั้น แม้ตาม ป.วิ.อ. ได้มีคำอธิบายคำว่าผู้เสียหายไว้ในมาตรา 2 (4) ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายถึง บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4, 5 และ 6" แต่ข้อความตามมาตรา 44/1 ที่บัญญัติให้ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนได้นั้น ย่อมมีความหมายในตัวว่า หมายถึง ผู้ที่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน จึงมีความหมายที่แตกต่างขัดกับความหมายของผู้เสียหาย ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 (4) การตีความคำว่าผู้เสียหายตามมาตรา 44/1 จึงไม่ต้องถือตามความหมายเช่นเดียวกับมาตรา 2 (4) ทั้งนี้เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 1 ที่บัญญัติว่า "ในประมวลกฎหมายนี้ ถ้าคำใดมีคำอธิบายไว้แล้วให้ถือตามความหมายดังได้อธิบายไว้ เว้นแต่ข้อความในตัวบทจะขัดกับคำอธิบายนั้น" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในทางอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือผู้มีอำนาจจัดการแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) มาบังคับใช้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนมา 2 ส่วน คือ ค่าเสียหายของรถยนต์ของ ผ. และค่าขาดไร้อุปการะ สำหรับค่าเสียหายของรถยนต์ ผ. เป็นผู้เสียหายในฐานะเจ้าของรถ เมื่อ ผ. ถึงแก่ความตายไปแล้ว สิทธิในการเรียกค่าเสียหายเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ผู้ร้องเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. จึงใช้สิทธิในฐานะทายาทเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้ และค่าขาดไร้อุปการะนั้น ผู้ร้องในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผ. เป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตัวของผู้ร้องเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 443 วรรคสาม และมาตรา 1461 วรรคสอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ได้เช่นกัน ส่วนความประมาทของ ผ. นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้ร้องที่จะขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2560)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4688/2560

ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ที่จำเลยอ้างว่าคดีนี้ย่อมระงับไปด้วยผลข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาเพราะโจทก์ได้รับเงินครบถ้วนแล้วนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ และคดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินตามเช็คพิพาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ซึ่งศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยจากต้นเงินตามเช็คพิพาทจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ การที่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ในคดีอาญาดังกล่าวคงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยชำระหนี้บางส่วนให้โจทก์แล้วเท่านั้น จำเลยยังมีหนี้ต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองอยู่ ไม่อาจจำหน่ายคดีตามคำร้องของจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4292/2560

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19 วรรคสอง บัญญัติว่า "ศาลอาญา... มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น รวมทั้งคดีอื่นใดที่มีกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา แล้วแต่กรณี" และ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติว่า "การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้..." เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต่อศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในคดีนี้ ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจรับไว้ไต่สวนมูลฟ้องในคดีส่วนอาญา แต่เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีอาญาไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญาแล้ว ศาลชั้นต้นย่อมไม่มีอำนาจรับคดีส่วนแพ่งโดยลำพังไว้พิจารณา จึงต้องมีคำสั่งไม่รับฟ้องคดีส่วนแพ่งและคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3843/2560

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่และให้จำเลยทั้งสี่รับผิดทางแพ่งซึ่งมีมูลกระทำความผิดในทางอาญา ถือเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญารวมกันมากับคดีอาญา ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 40 จำเลยทั้งสี่จึงมีฐานะเป็นจำเลยในคดีตั้งแต่ขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และถือว่าคดีส่วนแพ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 และในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสี่ออกไปจากที่ดินพิพาท หากไม่ออกไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้โจทก์รื้อถอนพืชไร่และสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งสี่ปลูกไว้ได้เอง อันเป็นฟ้องในเรื่องเดียวกันกับคดีส่วนแพ่งที่โจทก์ฟ้องรวมกันมาในคดีอาญาดังกล่าว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2560

เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาคดีในส่วนอาญาว่า จำเลยกระทำความผิดโดยปลอมแปลงเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว แล้วโจทก์ทั้งสองมาฟ้องคดีนี้ว่าจำเลยปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม อันเป็นสัญญากู้เงินฉบับเดียวกัน ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามผลการกระทำความผิดอาญาดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การรับฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่า จำเลยได้ปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและนำเอกสารปลอมดังกล่าวไปฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น แม้คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น จะพิพากษาว่าจำเลยมิได้ปลอมและใช้เอกสารสัญญากู้เงินปลอม และคดีถึงที่สุดแล้ว ซึ่งแตกต่างกับคำวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ ก็ถือว่าเป็นกรณีที่มีคำพิพากษาอันเป็นที่สุดของสองศาลซึ่งต่างชั้นกัน ต่างกล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ จำต้องถือตามผลคำพิพากษาคดีนี้ ซึ่งเป็นคำพิพากษาของศาลที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยปลอมเอกสารสัญญากู้เงินและใช้เอกสารปลอมดังกล่าวฟ้องโจทก์ทั้งสองตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1000/2545 ของศาลชั้นต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10672/2559

แม้ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 73 จะบัญญัติว่า ในกรณีมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่อยู่ใกล้ชิดหรือติดต่อกับอาคารที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นหรือบุคคลซึ่งความเป็นอยู่หรือการใช้สอยที่ดินหรืออาคารถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา และศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ แต่การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองได้จะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งและวรรคสาม กล่าวคือ การที่โจทก์ร่วมจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ จะต้องเป็นคดีที่พนักงานอัยการฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดและเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วมเท่านั้น โจทก์ร่วมไม่อาจไปยื่นคำร้องในคดีความผิดอื่นของจำเลยทั้งสองที่ไม่ได้เป็นเหตุให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหายได้ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องกล่าวหาว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของผู้ครอบครองอาคารทำการรื้อถอนอาคารส่วนที่จำเลยทั้งสองเป็นผู้ดำเนินการร่วมกันดัดแปลงขึ้นด้วยการต่อเติมอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กบนที่ว่างด้านหลังเชื่อมต่ออาคารหลังเดิมให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง มิได้ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันดัดแปลงต่อเติมอาคาร แต่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องโดยอ้างว่าได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอันเป็นคนละข้อหากับที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น โจทก์ร่วมจึงต้องห้ามมิให้ยื่นคำร้องขอบังคับให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารมาในคดีนี้ หากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างต่อเติมอาคารของจำเลยทั้งสองจริงก็ต้องยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7807/2559

ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้เสียหายผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4), 5 (2) และ 44/1 ซึ่งถือเป็นคำฟ้องในคดีส่วนแพ่ง แต่ศาลพิพากษายกคำร้องโดยวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนกระทำความผิดขับรถโดยประมาทด้วย ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์เป็นมารดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจในการจัดการแทนผู้ตายของโจทก์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยศาลยังไม่ได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีตามประเด็นที่โจทก์ยกขึ้นอ้างอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในการฟ้องคดีส่วนแพ่ง จำเลยที่ 2 ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีก่อน จึงไม่ได้เป็นคู่ความเดียวกันกับคดีก่อน การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ จึงไม่ใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6258/2559

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย คำร้องขอของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีสินค้าบนรถยนต์ได้รับความเสียหาย ค่าเสียหายของรถยนต์ ค่าลากรถยนต์และค่าเช่ารถคันอื่นมาใช้ทดแทน เป็นค่าสินไหมทดแทนนอกเหนือจากที่สามารถเรียกได้ในกรณีทำให้เสียหายแก่ร่างกาย จึงไม่ใช่คำขอบังคับให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสาม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้


โจทก์ร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมทั้งสองต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด การพิจารณาสิทธิในการฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ในหนี้ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ร่วมแต่ละคนแยกกัน ส่วนค่าขาดประโยชน์และค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ต้องแยกเป็นจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ตกได้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองคนละกึ่งหนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีจำนวนไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของจำเลยที่โต้แย้งว่าค่าสินไหมทดแทนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยรับผิดยังสูงเกินไป เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8056/2559

แม้โจทก์ร่วมที่ 1 กับ น. บิดาโจทก์ร่วมที่ 2 จดทะเบียนหย่ากับโจทก์ร่วมที่ 1 โดยระบุให้โจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่ใต้อำนาจปกครองของ น. ตามที่ตกลงกัน น. จึงเป็นผู้มีอำนาจปกครองโจทก์ร่วมที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 (6) โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีอำนาจปกครองและไม่มีสิทธิกระทำการแทนโจทก์ร่วมที่ 2 ก็ตาม แต่การที่โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนเรียกค่าเสียหายต่อชื่อเสียง ค่าเสียหายต่อร่างกายและจิตใจ ค่าเสียหายต่อเสรีภาพและค่าเสียหายที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ถือได้ว่าเป็นการกระทำแทนหรือในนามของโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ แม้ขณะยื่นคำร้องดังกล่าวจะมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยความสามารถของบุคคลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 แต่เมื่อนับอายุของโจทก์ร่วมที่ 2 ในขณะคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ร่วมที่ 2 มีอายุเกิน 20 ปี พ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์ร่วมที่ 2 อีก โจทก์ร่วมที่ 2 ย่อมสามารถทำการใดๆ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้ปกครองหรือตัวแทนโดยชอบธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 21 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยได้พาโจทก์ร่วมที่ 2 ไปเพื่อการอนาจารและกระทำชำเรา อันเป็นความผิดต่อโจทก์ร่วมที่ 2 โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6953/2559

ในการวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า การที่โจทก์แก้ฟ้องทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี และรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์นำสืบอ้างว่าจำเลยยักยอกนำไปขายให้แก่ อ. เป็นรถเกี่ยวข้าวคันเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการวินิจฉัยคำร้องขอแก้ฟ้องและการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยมีระวางโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด ฯ มาตรา 3


คดีที่โจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งในการวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง ฯ มาตรา 3 เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้ยักยอกรถเกี่ยวข้าวคันที่โจทก์ฟ้องไป ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังยุติตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่จำต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4085/2559

คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ไม่ใช่คำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) เพราะเป็นแต่คำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยด้วยเท่านั้น ยังไม่มีผู้ใดเสนอข้อหาต่อศาลโดยการสอดเข้ามาในคดี คำร้องดังกล่าวจึงไม่มีกรณีที่จะเป็นคำฟ้องเคลือบคลุม และเมื่อศาลหมายเรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้ว หากศาลเห็นว่าจำเลยร่วมจะต้องรับผิดก็ย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือที่ปรากฏในคำฟ้อง


พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมที่ 1 เป็นจำเลยในคดีส่วนอาญาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้โจทก์รับอันตรายแก่กายและทรัพย์สินเสียหาย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวเป็นฝ่ายประมาท ในคดีส่วนแพ่งจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยร่วมที่ 1 ผู้เดียวทำละเมิดต่อโจทก์


เมื่อพนักงานอัยการฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีส่วนอาญา อายุความที่โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยร่วมที่ 1 เป็นคดีส่วนแพ่งย่อมสะดุดหยุดลง ตาม ป.อ. มาตรา 95 ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง โจทก์ขอหมายเรียกจำเลยร่วมที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในระหว่างคดีส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุด ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 จึงไม่ขาดอายุความ


โจทก์รับจ้างขนส่งข้าวสารของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โดยมีข้อตกลงว่าหากข้าวสารเกิดความเสียหายโจทก์จะต้องรับผิดชอบ แม้ขณะเกิดเหตุละเมิดข้าวสารจะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนข้าวสารที่เสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โจทก์จึงไม่ใช่ผู้รับช่วงสิทธิและไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนของข้าวสารที่เสียหายจากจำเลยร่วมทั้งสองผู้ทำละเมิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4079/2559

มูลคดีนี้ มีข้อเท็จจริงเดียวกับมูลคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดจันทบุรีฟ้องจำเลยนี้ในคดีอาญาข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่า จำเลยกับผู้ตายต่างสมัครใจทะเลาะวิวาทกัน คดีนี้ศาลจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า ขณะผู้ตายวิ่งขึ้นจากสระน้ำมาทะเลาะวิวาทกับจำเลย ผู้ตายมีอาวุธปืนด้วย เช่นนี้ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงเกินเลยไปจากที่ผู้ตายสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดต่อผู้ตายและโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นทายาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสี่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2142/2559

ในคดีอาญาที่ ว. ผู้เอาประกันภัยรถยนต์จากโจทก์ถูกฟ้อง ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยฟังว่าการที่รถของ ว. ชนกับรถของ ศ. มิใช่เป็นเพราะความประมาทของ ว. และคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ถือได้ว่าพนักงานอัยการได้ดำเนินคดีอาญาแทนจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบิดามารดาของ ศ. คดีในส่วนความประมาทของ ว. ถือเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวและถึงที่สุดแล้ว จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 การที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพยานหลักฐานและรับฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งไปอีกทางหนึ่งอันรับฟังไปคนละทางกับข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาย่อมไม่สามารถจะกระทำได้อันเป็นการไม่ชอบ เมื่อจำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนความประมาทของ ศ. จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ศ. เป็นผู้ประมาทโดยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถยนต์คันที่ ว. ขับ อันเป็นการละเมิดต่อ ว. โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยชำระค่าเสียหายให้แก่ ว. จึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในฐานะทายาทโดยธรรมของ ศ. แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1601 และจากจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของ ศ. ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2559

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ โดยไม่จำต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเรื่องใหม่ แต่มาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่า คำร้องดังกล่าวเป็นเพียงคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. โดยให้ถือว่าผู้เสียหายอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง จึงมีสิทธิเพียงอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งเท่านั้น คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ในคดีส่วนอาญา ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 จึงไม่มีฐานะเป็นโจทก์ร่วมที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนอาญาได้ ฎีกาของผู้ร้องที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่อาจฎีกาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาที่รับฟังเป็นยุติว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกระทำผิด ตามมาตรา 46 จึงต้องฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12802/2558

เมื่อผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 คำร้องดังกล่าวย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญาและไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุดเพราะโจทก์ยังคงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งซึ่งศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 จึงต้องรอฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาให้เป็นที่ยุติเสียก่อน แม้ผู้ร้องทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัย และกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้เสียหายคดีนี้จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10816/2558

ผู้ร้องเพียงแต่ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คำร้องของผู้ร้องเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้ร้องอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อผู้ร้องมิได้ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ผู้ร้องย่อมไม่มีฐานะเป็นคู่ความอันจะมีสิทธิฎีกาในคดีส่วนอาญาได้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อคดีส่วนอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จึงต้องฟังว่าจำเลยมิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10534/2558

ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติไว้ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาคงมีเพียงว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ และใครประมาทมากกว่ากันอันเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยและจำเลยได้อุทธรณ์ไว้แล้ว เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ และบทบัญญัติอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดมูลหนี้ละเมิดขึ้นนั้น ป.พ.พ. มาตรา 442 วางหลักให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งการที่จะกำหนดค่าสินไหมทดแทนแค่ไหน เพียงใดนั้น ศาลย่อมที่จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่นำสืบมาว่าฝ่ายจำเลยหรือผู้ตายประมาทมากน้อยกว่ากันอย่างไรและเพียงใดด้วย จึงจะเป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9209/2558

แม้ในคดีอาญาจำเลยที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย จึงไม่ถูกผูกพันที่ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีสิทธิใช้รถยนต์ดังกล่าวเสมือนเป็นรถยนต์ของตนเอง จึงถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ทั้งตามคำให้การ จำเลยที่ 3 ก็มิได้ปฏิเสธว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย ดังนี้ เมื่อคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6502/2558

จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันภัยรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน ผท 6565 ชลบุรีไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย ในวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ขับรถคันดังกล่าวไปตามถนนสายอ่างศิลามุ่งหน้าไปตลาดอ่างศิลาซึ่งเป็นถนนมีช่องเดินรถ 2 ช่อง แล่นสวนทางกันคนละฝั่ง 1 ช่อง เมื่อถึงหน้าร้านนุชคอหมูย่าง จำเลยที่ 1 จะเลี้ยวซ้ายไปจอดที่ร้านดังกล่าวและเกิดเฉี่ยวชนกันกับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับมาทางด้านซ้าย รถของโจทก์เสียหลักไปกระแทกกับรถยนต์ที่จอดอยู่ได้รับความเสียหายและโจทก์ได้รับบาดเจ็บ ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 68, 148, 157 จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (3) (4), 68, 148, 157 และ ป.อ. มาตรา 390 แม้โจทก์ในคดีนี้จะเป็นโจทก์ร่วมในคดีดังกล่าวก็ตาม คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในคดีดังกล่าวเพียงว่า จำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกและกระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ตามฟ้องหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมกระทำโดยประมาทด้วยหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าววินิจฉัยด้วยว่าโจทก์ร่วมมีส่วนกระทำโดยประมาทด้วย ก็ไม่ได้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาดังกล่าว ดังนั้นข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ในคดีนี้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น และตามฎีกาของจำเลยทั้งสองก็มิได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่รับฟังว่าพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองนำสืบมาไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้ว่า โจทก์มีส่วนประมาทนั้นไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่นๆ รวมทั้งค่าเสียหายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยการสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองเสร็จสิ้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นๆ ให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวได้ เพื่อมิให้เป็นการล่าช้า ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงใดไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6131/2558

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น การนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นคู่ความเดียวกัน คดีส่วนอาญาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรชิ้นส่วนรถยนต์ของ อ. ผู้เอาประกันภัยกับโจทก์ พฤติการณ์ในคดีส่วนแพ่ง คือ พบชิ้นส่วนรถยนต์บรรทุกสิบล้อพิพาทในบริเวณอู่ซ่อมรถที่จำเลยดำเนินกิจการ จำเลยรับว่าซื้อรถยนต์พิพาทจาก ก. ราคา 200,000 บาท โดยโอนลอยทั้งที่ ก. เพิ่งซื้อมาจากบริษัท ห. ในราคา 650,000 บาท ดังนั้น จำเลยรับซื้อรถยนต์ทั้งคันไว้ในราคาต่ำผิดปกติ จึงฟังได้ว่า จำเลยรับซื้อรถยนต์พิพาททั้งคันโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ลักมา แม้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยรับของโจรชิ้นส่วนรถยนต์ มิได้รับของโจรรถยนต์ทั้งคันก็ตาม แต่คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 เมื่อคดีส่วนแพ่งฟังว่า จำเลยรับรถยนต์ไว้ทั้งคันก็ให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งคันแก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187/2558

ในคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา การพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อในคดีอาญาศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมและต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องขอค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วม แม้โจทก์ร่วมไม่ได้ฎีกาเรื่องค่าสินไหมทดแทนมาด้วย ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นตามผลคดีอาญาได้เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2558

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า "ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา" หมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาและผูกพันเฉพาะคู่ความโดยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1033/2553 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ผู้ตายมิได้ถูกฟ้องคดีด้วย แม้ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท แต่ก็ไม่ได้วินิจฉัยว่า ผู้ตายไม่ได้มีส่วนในความประมาท ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ตายมีส่วนในความประมาทหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา คดีนี้ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2558

ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาและอยู่ในฐานะเป็นโจทก์คดีส่วนแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และคดีนี้ศาลฟังข้อเท็จจริงคดีส่วนอาญาว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายจริงตามฟ้องโจทก์ ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุผู้ตายได้รับอันตรายแก่ชีวิตอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามมาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง แต่การพิจารณาคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติไว้ เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องคดีส่วนแพ่งของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไม่ใช้สิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ผู้ร้องฟังตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ดังนั้น คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจยกเอาคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้อีก เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาพิพากษาเช่นนั้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1582/2558

การวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งสำหรับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 และเมื่อคดีอาญารับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 มีความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและจิตใจ ตาม ปอ. มาตรา 390 คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ที่ 2 ว่าเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันเกิดจากโจทก์ที่ 2 มีส่วนประมาทด้วยเมื่อความประมาทเกิดจากโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ค่าเสียหายที่โจทก์ที่ 2 จะได้รับจึงต้องตกเป็นพับ


เมื่อโจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลและเป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นคู่ความในคดี โจทก์ที่ 1 ยังคงกล่าวอ้างได้ว่าโจทก์ที่ 2 มิได้มีส่วนประมาทในเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกัน แต่กรณีรถยนต์เฉี่ยวชนกันเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างฝ่ายต่างทำละเมิดโดยไม่ได้ร่วมกัน โจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ที่ 1 ทั้งนี้ ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใด เพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 438


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16202/2557

จำเลยที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบในฐานะเป็นผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เสมือนไม่ใส่ใจหรือไม่รับรู้ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้นำมาขายได้มาโดยผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการรับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาท มีผลทำให้บริษัท ส. เจ้าของทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แม้ในคดีอาญาที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องข้อหารับของโจรจะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ในคดีอาญายังไม่พอรับฟังว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจร แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น ยังไม่มีการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทหรือไม่ ศาลย่อมวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้ได้ว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ส. โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งยอมรับผิดชำระค่าเสียหายแก่บริษัท ส. ในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนให้ขนส่งนั้นสูญหายไป ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226, 227 และ 616


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16001/2557

มูลคดีเดียวกันนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เคยฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ มีโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยคดีอาญาคดีถึงที่สุด ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า พฤติการณ์ของโจทก์ร่วม ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถอนเงินที่วางประกันไว้ไปใช้ประโยชน์อื่น นอกจากข้อตกลงอันเป็นความผิดอาญา จำเลยที่ 1 จึงแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแก่พนักงานสอบสวน อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ


ดังนั้น คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนจึงไม่มีความผิดและมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ ไม่มีความผิดตามไปด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13675/2557

 แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังในคดีอาญาคงมีแต่เพียงว่า ทั้งผู้ตายและจำเลยที่ 1 ต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่ง ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13383 - 13386/2557

ผู้เช่ามีเจตนาทุจริตหลอกลวงจำเลยที่ 1 ให้ส่งมอบรถยนต์ให้ผู้เช่ามาตั้งแต่แรกด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าผู้เช่าประกอบธุรกิจเกี่ยวกับขนส่งกับเป็นตัวแทนผู้นำเข้าและส่งออกสินค้า และมีความประสงค์จะเช่ารถยนต์จากจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปใช้ในการประกอบธุรกิจ ทำให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงตกลงส่งมอบรถยนต์ 3 คัน ให้ผู้เช่า แต่ความจริงผู้เช่าไม่มีเจตนาที่จะเช่ารถยนต์แต่อย่างใด แม้จะชำระค่าเช่ามาบางส่วนแต่ก็เพื่อที่จะทำให้จำเลยที่ 1 หลงเชื่อและเพื่อฉ้อโกงรถยนต์คันต่อไปจากโจทก์เพิ่มอีกดังที่ได้ติดต่อไว้ จึงถือว่าไม่มีการเช่ารถยนต์ดังกล่าวกันจริง แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะได้ดำเนินคดีอาญากับ ม. ผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้เช่าในเรื่องนี้ และศาลแขวงพระโขนงมีคำพิพากษาลงโทษ ม. ในความผิดฐานยักยอก โดยจำเลยที่ 1 เข้าเป็นโจทก์ร่วมก็ตาม แต่คดีนี้มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาข้างต้น จึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่ต้องถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานข้างต้นถือได้ว่าการกระทำของผู้เช่าเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานยักยอกดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ เมื่อโจทก์ไม่สามารถติดตามรถยนต์ที่ให้เช่ากลับคืนมาได้ย่อมถือได้ว่ารถยนต์ที่ให้เช่าดังกล่าวได้สูญหายไปเนื่องจากถูกฉ้อโกงแล้ว และเมื่อสัญญาประกันวินาศภัยเป็นสัญญาที่ผู้รับประกันภัยตกลงใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้น หรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังที่ระบุในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่าเบี้ยประกันภัย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 869 ได้ให้นิยามคำว่า วินาศภัย ว่า ให้หมายความรวมเอาความเสียหายอย่างใดๆ บรรดาซึ่งจะพึงประมาณเป็นเงินได้ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่จำเลยร่วมตามสัญญา จำเลยร่วมตกลงรับชำระเบี้ยประกันภัย จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยย่อมเป็นอันสัญญาว่าตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งกรณีวินาศภัยหากเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เอาประกันภัย เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขและความคุ้มครองตามข้อ 5 ระบุว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น แต่คดีนี้ฟังได้ว่าการที่รถยนต์ทั้งสามคันสูญหายเป็นผลมาจากการฉ้อโกง กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว แม้ข้อ 2 ในเรื่องการชดใช้ความเสียหายหรือสูญหายต่อรถยนต์ ในข้อ 2.1 ในกรณีรถยนต์สูญหายจะมิได้กำหนดว่าในเรื่องรถยนต์สูญหายอันเกิดจากความผิดฐานฉ้อโกง ให้จำเลยร่วมต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนไว้ก็ตาม ก็เห็นว่าการรับประกันภัยก็เป็นการรับผิดชอบต่อความสูญหายหรือเสียหายจากวินาศภัยในกรณีต่างๆ อยู่แล้วซึ่งยากที่จะกำหนดให้ครบถ้วนทุกกรณีได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องรับผิดชอบ เมื่อไม่เข้าข้อยกเว้นดังที่วินิจฉัยมาแล้ว วินาศภัยอื่นที่เกิดขึ้นแม้มิได้กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย อย่างเช่นความสูญหายของรถยนต์ทั้งสามคันอันเกิดจากการฉ้อโกงคดีนี้ จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยก็หาพ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยไม่ จำเลยร่วมจึงมีหน้าที่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2 ซึ่งในเงื่อนไขข้อดังกล่าวยังระบุว่าให้จำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้จำเลยร่วมทันทีและให้ถือว่าการคุ้มครองรถรถยนต์นั้นสิ้นสุดลง ดังนั้น แม้ภายหลังจะได้ความว่าจำเลยที่ 1 จะได้ติดตามรถยนต์ที่สูญหายคืนมาได้ 1 คัน แต่จำเลยที่ 1 ก็มีหนังสือถึงจำเลยร่วมเรียกให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนรถยนต์ที่สูญหายไปทั้งสามคัน และให้มารับซากรถยนต์ที่ติดตามได้คืนมาแล้ว อันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิตามข้อ 2.1.2 ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยสละสิทธิไม่ขอรับรถยนต์คืน จำเลยร่วมจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในรถยนต์คันนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วย


แม้รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายจะเป็นผลให้สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ระงับไปนับแต่วันที่รถยนต์สูญหายตาม ป.พ.พ. มาตรา 567 แต่ปรากฏว่าสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 และข้อ 6.2.3 ระบุความรับผิดของผู้เช่าซื้อในกรณีทรัพย์ที่เช่าซื้อสูญหายไว้ความว่า หากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย ถือว่าผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาทั้งหมด และโจทก์อาจยอมรับการบอกเลิกสัญญานั้นทันทีหรือเมื่อใดหลังจากนั้นก็ได้ และเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงผู้เช่าซื้อต้องชำระค่าเสียหายต่างๆ แก่โจทก์ อันได้แก่ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันให้คำนวณจากเงินงวดและดอกเบี้ยที่ค้าง ค่าโสหุ้ยและค่าใช้จ่ายทั้งหมดของโจทก์ในการค้นหา ยึดคืน ซ่อมแซม เก็บรักษา ทวงหนี้ ค่าเสียหายที่คู่สัญญาตกลงกันให้คำนวณจากเงินค่างวดทั้งหมดที่จะต้องชำระในระยะเวลาเช่าซื้อที่เหลือ ตลอดจนค่าเสียหายอื่นๆ ดังนี้ ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ตกลงจะชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในกรณีนี้ไว้ด้วย จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าว แต่การกำหนดความรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้าตามข้อตกลงเช่นว่านี้ มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งศาลอาจพิจารณากำหนดเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ค่าเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ชำระแต่ละงวดมิใช่เป็นการชำระราคารถแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ยังมีค่าธรรมเนียมเช่าซื้อและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ด้วย เมื่อหักค่าธรรมเนียมเช่าซื้อและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวออกจากค่าเช่าซื้อที่ชำระไปแล้ว ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์เหมาะสมแล้ว


อนึ่ง คดีนี้ศาลรวมพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกัน มูลคดีมาจากรถยนต์พิพาท 3 คัน สำนวนแรกจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เอาประกันภัยรถยนต์ ฟ้องจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยเนื่องจากรถยนต์สูญหาย ส่วนสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ข้างต้นฟ้องจำเลยทั้งสาม ในฐานะผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามสัญญาเช่าซื้อ และศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่แล้ว ทำให้ในคดีสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่นี้ ศาลมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมใช้ค่าเสียหายที่ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยแก่โจทก์ในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ได้ ดังนั้น เมื่อศาลได้วินิจฉัยในสำนวนแรกให้จำเลยร่วมรับผิดต่อจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ เพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีจึงให้นำเงินที่จำเลยร่วมต้องชำระต่อจำเลยที่ 1 ในสำนวนแรกซึ่งมีจำนวนที่มากกว่าอยู่แล้ว มาชำระให้โจทก์ในนามของจำเลยทุกคนในสำนวนที่สองถึงสำนวนที่สี่ เหลืออยู่เท่าใดก็ให้จำเลยร่วมชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยร่วมต้องชำระเงินให้จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,450,000 บาท และจำเลยร่วมต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชำระให้โจทก์เป็นเงิน 1,441,000 บาท เมื่อนำมาหักกลบกันตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น จึงเหลือค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยร่วมต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,009,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้พ้นความรับผิดต่อโจทก์ไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7426 - 7427/2557

ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาของคดีในส่วนแพ่งมาฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาได้ การที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยจึงคงเพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แล้วพิพากษายกคำร้องของ ว. บิดาผู้ตายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6679/2557

คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายกับพวกและจำเลยที่ 1 กับพวกต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการวิวาทต่อสู้ทำร้ายกัน ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในทางอาญา ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งต่อจำเลยที่ 1 เพราะความยินยอมไม่ก่อให้เกิดละเมิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง และกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่จะนำมาอ้างเป็นเหตุมิให้ยกเว้นความรับผิดทางละเมิด อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะข้อสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมโดยตรง ที่มีต่อกันในทางธุรกรรมเกี่ยวกับอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่หยิบยกขึ้นแก้ไข


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17791/2556

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท จำเลยยืมรถยนต์พิพาทไปและหลอกลวงโจทก์ให้ส่งมอบสำเนาทะเบียนและสำเนาบัตรประชาชนของโจทก์ให้จำเลย แล้วจำเลยกรอกข้อความในแบบคำขอโอนและรับโอนและหนังสือมอบอำนาจและไปโอนรถยนต์พิพาททางทะเบียน ขอให้เพิกถอนการโอนและให้จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทคืน จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยเป็นผู้ซื้อรถยนต์พิพาทและชำระราคา คดีนี้จึงมีประเด็นว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท ส่วนคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่าปลอมแบบคำขอโอนและรับโอนและหนังสือมอบอำนาจซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว มีประเด็นว่า แบบคำขอโอนและรับโอนและหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ และสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาที่ว่าแบบคำขอโอนและรับโอนและหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่เอกสารปลอมจึงไม่ใช่ประเด็นโดยตรงและชัดแจ้งที่ศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือตาม

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2559

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ โดยไม่จำต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเรื่องใหม่ แต่มาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่า คำร้องดังกล่าวเป็นเพียงคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. โดยให้ถือว่าผู้เสียหายอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง จึงมีสิทธิเพียงอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งเท่านั้น คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ในคดีส่วนอาญา ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 จึงไม่มีฐานะเป็นโจทก์ร่วมที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนอาญาได้ ฎีกาของผู้ร้องที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่อาจฎีกาได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาที่รับฟังเป็นยุติว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกระทำผิด ตามมาตรา 46 จึงต้องฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12802/2558

เมื่อผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 คำร้องดังกล่าวย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญาและไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุดเพราะโจทก์ยังคงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งซึ่งศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 จึงต้องรอฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาให้เป็นที่ยุติเสียก่อน แม้ผู้ร้องทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัย และกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้เสียหายคดีนี้จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10816/2558

ผู้ร้องเพียงแต่ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน คำร้องของผู้ร้องเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้ร้องอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อผู้ร้องมิได้ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ผู้ร้องย่อมไม่มีฐานะเป็นคู่ความอันจะมีสิทธิฎีกาในคดีส่วนอาญาได้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 เมื่อคดีส่วนอาญาฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้เสียหายแล้ว จึงต้องฟังว่าจำเลยมิได้ทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10534/2558

ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติไว้ว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญา คดีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาคงมีเพียงว่า จำเลยกระทำโดยประมาท ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่ และใครประมาทมากกว่ากันอันเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำมาพิจารณาประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยและจำเลยได้อุทธรณ์ไว้แล้ว เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ และบทบัญญัติอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดมูลหนี้ละเมิดขึ้นนั้น ป.พ.พ. มาตรา 442 วางหลักให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา 223 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และมาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ซึ่งการที่จะกำหนดค่าสินไหมทดแทนแค่ไหน เพียงใดนั้น ศาลย่อมที่จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 และจำเลยที่นำสืบมาว่าฝ่ายจำเลยหรือผู้ตายประมาทมากน้อยกว่ากันอย่างไรและเพียงใดด้วย จึงจะเป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9209/2558

แม้ในคดีอาญาจำเลยที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลย จึงไม่ถูกผูกพันที่ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัย ตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 2 มีสิทธิใช้รถยนต์ดังกล่าวเสมือนเป็นรถยนต์ของตนเอง จึงถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เอาประกันภัยด้วย ทั้งตามคำให้การ จำเลยที่ 3 ก็มิได้ปฏิเสธว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย ดังนี้ เมื่อคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 3 ไม่อาจนำสืบเปลี่ยนแปลงให้ผิดไปจากความรับผิดของจำเลยที่ 1 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6131/2558

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญานั้น การนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและวินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และเป็นคู่ความเดียวกัน คดีส่วนอาญาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรชิ้นส่วนรถยนต์ของ อ. ผู้เอาประกันภัยกับโจทก์ พฤติการณ์ในคดีส่วนแพ่ง คือ พบชิ้นส่วนรถยนต์บรรทุกสิบล้อพิพาทในบริเวณอู่ซ่อมรถที่จำเลยดำเนินกิจการ จำเลยรับว่าซื้อรถยนต์พิพาทจาก ก. ราคา 200,000 บาท โดยโอนลอยทั้งที่ ก. เพิ่งซื้อมาจากบริษัท ห. ในราคา 650,000 บาท ดังนั้น จำเลยรับซื้อรถยนต์ทั้งคันไว้ในราคาต่ำผิดปกติ จึงฟังได้ว่า จำเลยรับซื้อรถยนต์พิพาททั้งคันโดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ลักมา แม้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยรับของโจรชิ้นส่วนรถยนต์ มิได้รับของโจรรถยนต์ทั้งคันก็ตาม แต่คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 เมื่อคดีส่วนแพ่งฟังว่า จำเลยรับรถยนต์ไว้ทั้งคันก็ให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายทั้งคันแก่โจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3947/2558

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า "ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา" หมายถึงเฉพาะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาและผูกพันเฉพาะคู่ความโดยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1033/2553 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีดังกล่าว ผู้ตายมิได้ถูกฟ้องคดีด้วย แม้ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท แต่ก็ไม่ได้วินิจฉัยว่า ผู้ตายไม่ได้มีส่วนในความประมาท ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้ตายมีส่วนในความประมาทหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา คดีนี้ศาลจึงมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทหรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2558

ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญาอยู่ในฐานะเป็นโจทก์คดีส่วนแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา และคดีนี้ศาลฟังข้อเท็จจริงคดีส่วนอาญาว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายจริงตามฟ้องโจทก์ ผู้ร้องมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุผู้ตายได้รับอันตรายแก่ชีวิตอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ตามมาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง แต่การพิจารณาคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 บัญญัติไว้ เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำร้องคดีส่วนแพ่งของผู้ร้อง ผู้ร้องซึ่งเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่งไม่ใช้สิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ผู้ร้องฟังตามกฎหมาย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ดังนั้น คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว ศาลฎีกาจึงไม่อาจยกเอาคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องตามผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้อีก เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจศาลฎีกาพิพากษาเช่นนั้นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16202/2557

จำเลยที่ 3 มิได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบในฐานะเป็นผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ เสมือนไม่ใส่ใจหรือไม่รับรู้ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่ผู้นำมาขายได้มาโดยผิดกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการรับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาท มีผลทำให้บริษัท ส. เจ้าของทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แม้ในคดีอาญาที่จำเลยที่ 3 ถูกฟ้องข้อหารับของโจรจะวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์ในคดีอาญายังไม่พอรับฟังว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานรับของโจร แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงในประเด็นที่ว่าจำเลยที่ 3 มิได้กระทำโดยเจตนาเท่านั้น ยังไม่มีการวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยประมาทหรือไม่ ศาลย่อมวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบกันมาในสำนวนคดีนี้ได้ว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อทรัพย์สินไว้โดยประมาทเลินเล่อ อันเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ส. โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งยอมรับผิดชำระค่าเสียหายแก่บริษัท ส. ในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนให้ขนส่งนั้นสูญหายไป ย่อมรับช่วงสิทธิจากบริษัทดังกล่าวเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้กระทำละเมิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226, 227 และ 616


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16001/2557

มูลคดีเดียวกันนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เคยฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ มีโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยคดีอาญาคดีถึงที่สุด ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า พฤติการณ์ของโจทก์ร่วม ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถอนเงินที่วางประกันไว้ไปใช้ประโยชน์อื่น นอกจากข้อตกลงอันเป็นความผิดอาญา จำเลยที่ 1 จึงแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแก่พนักงานสอบสวน อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ดังนั้น คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนจึงไม่มีความผิดและมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ ไม่มีความผิดตามไปด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13675/2557

แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 46 จะบัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา แต่ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงที่ฟังในคดีอาญาคงมีแต่เพียงว่า ทั้งผู้ตายและจำเลยที่ 1 ต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่ง ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7426 - 7427/2557

ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาของคดีในส่วนแพ่งมาฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาได้ การที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยจึงคงเพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย แล้วพิพากษายกคำร้องของ ว. บิดาผู้ตายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6679/2557

คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาว่า ผู้ตายกับพวกและจำเลยที่ 1 กับพวกต่างสมัครใจเข้าเสี่ยงภัยยอมรับอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดจากการวิวาทต่อสู้ทำร้ายกัน ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในทางอาญา ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งต่อจำเลยที่ 1 เพราะความยินยอมไม่ก่อให้เกิดละเมิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ทั้งสอง และกรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่จะนำมาอ้างเป็นเหตุมิให้ยกเว้นความรับผิดทางละเมิด อันเป็นบทกฎหมายเฉพาะข้อสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมโดยตรง ที่มีต่อกันในทางธุรกรรมเกี่ยวกับอำนาจต่อรองในทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นคุณแก่โจทก์ทั้งสองอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรไม่หยิบยกขึ้นแก้ไข


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4166/2557

แม้ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งยื่นคำร้องขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเป็นคำขอในส่วนคดีแพ่ง มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ต้องวินิจฉัยคดีส่วนแพ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดต่อผู้ร้องทั้งสองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ด้วย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21846/2556

เมื่อคดีส่วนอาญารับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 แล้วว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร และฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้งสอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเองเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17791/2556

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท จำเลยยืมรถยนต์พิพาทไปและหลอกลวงโจทก์ให้ส่งมอบสำเนาทะเบียนและสำเนาบัตรประชาชนของโจทก์ให้จำเลย แล้วจำเลยกรอกข้อความในแบบคำขอโอนและรับโอนและหนังสือมอบอำนาจและไปโอนรถยนต์พิพาททางทะเบียน ขอให้เพิกถอนการโอนและให้จำเลยส่งมอบรถยนต์พิพาทคืน จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยเป็นผู้ซื้อรถยนต์พิพาทและชำระราคา คดีนี้จึงมีประเด็นว่า โจทก์หรือจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาท ส่วนคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่าปลอมแบบคำขอโอนและรับโอนและหนังสือมอบอำนาจซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว มีประเด็นว่า แบบคำขอโอนและรับโอนและหนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอมหรือไม่ และสมุดคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ไม่ใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีอาญาที่ว่าแบบคำขอโอนและรับโอนและหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่เอกสารปลอมจึงไม่ใช่ประเด็นโดยตรงและชัดแจ้งที่ศาลในคดีส่วนแพ่งจำต้องถือตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16104/2556

ในคดีส่วนอาญา พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ก. และจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 และข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 โจทก์คดีนี้เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเหตุที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทของ ก. เพียงฝ่ายเดียว จึงลงโทษ ก. และยกฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์และโจทก์ร่วมในคดีอาญาอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ส่วน ก. อุทธรณ์ว่าตนไม่มีความผิด ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลชั้นต้นทราบว่าจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จึงจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแต่อุทธรณ์ของ ก. แล้ววินิจฉัยว่า ก. เป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่าเหตุที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทของ ก. เพียงฝ่ายเดียว แต่โจทก์และโจทก์ร่วมในคดีอาญายังอุทธรณ์อยู่ จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นในคดีส่วนอาญาพิพากษาจึงยังไม่ยุติ ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลจึงไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลชั้นต้น และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาก็เป็นการพิพากษาในส่วนของ ก. เท่านั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือร่วมกับ ก. ทำละเมิด แม้ ก. ขับรถโดยประมาทเลินเล่อก็ไม่ทำให้โจทก์หมดสิทธิที่จะสืบพยานให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13188/2556

ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ขอให้กำหนดค่าสินไหมทดแทนไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เมื่อศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ศาลฎีกาจึงชอบที่จะกำหนดค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยพึงต้องใช้แก่โจทก์ร่วมไปตามข้อเท็จจริงตามผลของคำพิพากษาคดีส่วนอาญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10242/2556

การฟ้องขอให้ศาลบังคับตามสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งที่เกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญา การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งหมายถึงข้อเท็จจริงที่เป็นประเด็นโดยตรงที่เป็นประเด็นสำคัญและศาลต้องฟังยุติมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว มิใช่ประเด็นปลีกย่อย คดีแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาเพียงว่า จำเลยได้บุกรุกที่ดินพิพาทจริง ส่วนปัญหาว่าจำเลยบุกรุกเป็นเนื้อที่เท่าใด เป็นข้อปลีกย่อยที่จะต้องนำสืบรายละเอียดกันในชั้นพิจารณา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8069/2556

เมื่อฟังว่าจำเลยกระทำความผิด จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลย อันเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 และเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8058/2556

คดีนี้ ได้มีการยื่นฟ้องจำเลยก่อนที่ศาลชั้นต้นในคดีอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้อง อายุความคดีนี้จึงต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง ซึ่งมีความหมายว่า อายุความฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งมาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) ถึง (5) แล้วแต่กรณีนั้น เป็นอันสะดุดหยุดลง เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงแล้ว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ซึ่งในกรณีนี้อายุความจะเริ่มนับใหม่เมื่อศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสามหรือวรรคสี่ แล้วแต่กรณี แต่ทั้งวรรคสามและวรรคสี่ดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาเด็ดขาดไปก่อนที่จะมีการฟ้องคดีแพ่ง ดังนั้น ในกรณีของคดีนี้ จึงต้องเป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคสอง เท่านั้น ไม่ใช่กรณีของวรรคสี่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ในคดีอาญาดังกล่าวศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เป็นที่แน่นอนสำหรับให้คดีนี้จำต้องถือตาม ดังนั้น จึงต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้กันต่อไปให้เป็นที่ยุติ ยังไม่สามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ก่อเหตุตามที่จำเลยฎีกาโต้แย้ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7955/2556

การพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ต่างกระทำโดยประมาททั้งสองฝ่าย แต่โจทก์ที่ 2 มีสิทธิที่จะนำสืบและฎีกาได้ว่า เหตุนี้เกิดขึ้นเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 มากกว่า ซึ่งตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทมากกว่าโจทก์ที่ 2 และแม้คดีนี้ฎีกาของโจทก์ที่ 1 จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อผลของคดีนี้ในชั้นฎีกาแตกต่างขัดกันกับในชั้นอุทธรณ์ จึงให้ถือตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่สูงกว่าตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 จึงให้มีผลถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5988/2556

การเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา จัดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2549 ต่อมามีผู้ร้องคัดค้านและคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีคำวินิจฉัยสั่งการ ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2549 ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าว พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งได้กำหนดสัดส่วนองค์ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งในมาตรา 8 แตกต่างไปจากกฎหมายฉบับเดิมก็ตาม ศาลจะหยิบยกกฎหมายฉบับที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมาปรับแก่คดีนี้ไม่ได้ ข้อความตามมาตรา 8 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 บัญญัติว่า การประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งต้องมีกรรมการการเลือกตั้งมาประชุมไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม หมายถึงจำนวนคนไม่ใช่สัดส่วนที่คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เมื่อขณะลงมติมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง 3 คน และกรรมการการเลือกตั้งทั้งสามคนได้ลงมติให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยและให้มีการเลือกตั้งใหม่ จึงเป็นการลงคะแนนไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการตามนัยแห่งกฎหมายข้างต้นแล้ว


การฟ้องผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้รับผิดค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 99 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นการฟ้องให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรับผิดในทางแพ่งที่มีเหตุมาจากการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและให้เลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 97 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวด้วยก็ตาม กรณีมิใช่เป็นเรื่องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา เพียงแต่ว่าเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธความรับผิดว่าไม่เคยกระทำการฝ่าฝืนมาตรา 57 จนเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและมีการเลือกตั้งใหม่ จำเลยย่อมมีสิทธินำสืบปฏิเสธความรับผิดตามคำให้การได้ และมีสิทธิอ้างคำพิพากษาในคดีอาญาเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้ และศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวประกอบได้ แต่พยานหลักฐานดังกล่าวจะมีน้ำหนักให้รับฟังได้ประการใดหรือไม่เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาตามหลักเรื่องภาระการพิสูจน์และการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน มาตรา 99 วรรคแรก แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 บัญญัติว่า ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งให้มีการการเลือกตั้งใหม่ตามมาตรา 56 หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง...ผู้กระทำการฝ่าฝืน มาตรา 56 หรือผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายในการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่าเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้ผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งต้องชำระ


คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีอำนาจในการยื่นฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่ง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองโดยได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง จึงต้องคืนค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมดแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5452/2556

การพิพากษาคดีส่วนแพ่งที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น เป็นกรณีที่ศาลในคดีส่วนแพ่งจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงในประเด็นที่คู่ความยังคงโต้แย้งกันอยู่และเป็นประเด็นเดียวกันกับที่ศาลในคดีส่วนอาญาจะต้องวินิจฉัย ทั้งนี้เพื่อให้การรับฟังข้อเท็จจริงอย่างเดียวกันเป็นไปในทางเดียวกัน เมื่อคดีในส่วนอาญาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยมีส่วนกระทำการโดยประมาท คดีส่วนแพ่งจึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามและพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายตามสัดส่วนแห่งความประมาทของตน การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งเฉพาะดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหาย โดยมิได้อุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้มีส่วนประมาทด้วยแต่อย่างใด แม้ต่อมาความจะปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในคดีส่วนอาญาได้พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจจะฎีกาได้ เนื่องจากประเด็นดังกล่าวได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทั้งเป็นการต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18619/2555

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลในคดีส่วนแพ่งจะรอฟังข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาคดีส่วนอาญาหรือไม่ก็ได้ เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ ไป พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่หลบหนีคดีอาญาอยู่ ไม่อาจทราบได้ว่าคดีส่วนอาญาจะมีคำพิพากษาได้เมื่อใด การที่ศาลล่างทั้งสองไม่รอฟังคดีอาญาก่อนจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2555

คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ถือคดีอาญาเป็นหลัก จึงจะฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งให้แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาที่ฟังเป็นยุติแล้วไม่ได้ ทั้งมาตรา 44 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าสินไหมทดแทน คดีส่วนแพ่งย่อมรวมเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญา เมื่อ ป.วิ.อ. ภาค 6 หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ซึ่งมีความหมายว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีส่วนแพ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยเช่นเดียวกัน จำเลยอุทธรณ์และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจขอให้ออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้เพิกถอนคำสั่งออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นชอบแล้ว


ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยระหว่างอุทธรณ์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยกคำร้อง อำนาจในการสั่งให้ทุเลาการบังคับหรือไม่เป็นอำนาจเฉพาะของศาลแต่ละชั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไรแล้ว โจทก์ร่วมจะฎีกาคำสั่งดังกล่าวไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7791/2555

คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยมิได้มีการพรากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไปจากความปกครองดูแลของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร การพิพากษาคดีส่วนแพ่งของจำเลยต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ว่าจำเลยไม่ได้พรากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ไปจากผู้เสียหายที่ 2 และที่ 4 และที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องของผู้ร้องที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 2 ที่ 4 และที่ 6 จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความใดยกขึ้นในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสาม ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5677/2555

ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมาย ให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาในคดีอื่นดังเช่นที่บัญญัติไว้สำหรับคดีแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ไม่ แม้โจทก์ทั้งสามกับบริษัท ส. ซึ่งมีจำเลยเป็นกรรมการผู้จัดการ จะเป็นคู่ความเดียวกันและพยานหลักฐานของจำเลยจะเป็นชุดเดียวกันกับจำเลยเคยอ้างและนำสืบในคดีอาญาก่อนมาแล้วก็ตาม เพราะในคดีอาญาศาลจะต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง จะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำความผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคดีนี้โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาก่อนซึ่งถึงที่สุด โดยมิได้วินิจฉัยตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ เป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (5) และมาตรา 227 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2555

ในการพิพากษาคดีอาญา หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่น เพราะคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงที่กล่าวหานั้น จึงจะฟังลงโทษจำเลยได้ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะมีผลผูกพันคดีอื่นได้ก็เฉพาะที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอื่นไม่ผูกพันในคดีนี้ ศาลก็ย่อมวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ตามที่ปรากฏในสำนวน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลชั้นต้นอื่นแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกัน โจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1729/2555

การที่โจทก์สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรายใดและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้ว จะให้ผู้สมัครต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช่จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่ต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งให้ได้ความอย่างแน่ชัดว่าผู้สมัครนั้นกระทำการอันมีเหตุให้โจทก์สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่ ย่อมไม่อาจเยียวยาความผิดพลาดอันเกิดจากการออกคำสั่งซึ่งย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้สมัคร หากข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าผู้สมัครกระทำการดังกล่าวแล้ว คำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครย่อมไม่มีผลผูกพันให้ผู้สมัครนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 วรรคหนึ่ง ได้


ข้อความการกล่าวปราศรัยของ อ. ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของจำเลยเข้ากับทีมงานการเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินว่ามีส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการของบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างไร หากจำเลยไม่ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลงิ้ว ย่อมมีความหมายในทำนองให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลยโดยนำเรื่องงบประมาณในการพัฒนาท้องถิ่นมาเป็นข้อต่อรอง อันมีลักษณะเป็นการหลอกหลวงหรือจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงคะแนนเลือกตั้งให้แก่จำเลย เป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 เมื่อจำเลยมีส่วนในการก่อ หรือสนับสนุนการกระทำดังกล่าวของ อ. จนโจทก์มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยและให้มีการเลือกตั้งใหม่ จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ตาม มาตรา 99 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว


การฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่หาจำต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญา สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลจะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญาแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2069/2552

คดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองในคดีนี้บุกรุกที่ดินของผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ เป็นคดีที่มิใช่คดีใดคดีหนึ่งในคดีความผิด 9 สถาน ซึ่งบัญญัติไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ที่ให้พนักงานอัยการเมื่อยื่นฟ้องคดีความผิดนั้นๆ มีอำนาจเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายด้วย ดังนั้น แม้พนักงานอัยการในคดีอาญาดังกล่าวมีคำขอให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูก สร้างออกจากที่ดินรวมทั้งให้จำเลยทั้งสองและบริวารออกจากที่ดินโดยโจทก์คดี นี้เข้าร่วมเป็นโจทก์ และศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาบุกรุกอันจะเป็นความผิดตาม ฟ้อง แล้วพิพากษายกฟ้อง คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ตาม เมื่อความผิดฐานบุกรุกไม่มีกฎหมายรับรองให้พนักงานอัยการมีคำขอในส่วนแพ่ง แม้โจทก์คดีนี้จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาดังกล่าว ก็มีผลเฉพาะในส่วนอาญาที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองเท่านั้น ศาลในคดีอาญาไม่อาจพิพากษาบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออก ไปจากที่ดินที่บุกรุก มูลคดีของโจทก์ในคดีนี้เป็นเรื่องทางแพ่งโดยเฉพาะ มิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีอาญาในความหมายที่บัญญัติไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้อน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2551

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอเกี่ยวกับของกลางมาด้วยก็ตาม ศาลจะสั่งคืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 49


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6235/2551

จำเลย ที่ 1 เคยถูกพนักงานอัยการประจำศาลแขวงสงขลาเป็นโจทก์ฟ้องในความผิดฐานขับรถยนต์ บรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ในคดีนี้จึงไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีของศาลแขวงสงขลา เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาของศาลแขวงสงขลา จึงไม่ผูกพันโจทก์


เหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ตาม การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าลูกปืนล้อรถพ่วงด้านขวาแตกเป็นเหตุให้ล้อรถพ่วงหลุด รถยนต์บรรทุกจึงเสียการทรงตัวและชนถูกรถยนต์คันที่เอาประกันภัยกับโจทก์ไว้ นั้น กรณียังไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยเพราะผู้ใช้งานรถต้องตรวจตราอุปกรณ์ ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถซึ่งย่อมมีทั้งอุปกรณ์ที่อยู่ภายนอกและภายใน อุปกรณ์บางชิ้นตรวจสอบได้ด้วยสายตา บางชิ้นเสื่อมสลายไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ต้องตรวจตราจากผู้ใช้งานทั้งสิ้นไม่ว่าจะตรวจสอบเองในฐานะที่ จำเลยที่ 1 เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะ หรือโดยผู้อื่นที่มีหน้าที่ก็ตาม จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าลูกปืนล้อรถเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายใน ไม่ใช่หน้าที่ตรวจสอบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพียงผู้ขับเท่านั้นไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5391/2551

ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญามีแต่เพียงว่า โจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ ดังนั้นในการดำเนินคดีแพ่งทั้งโจทก์และจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่า ใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ เพียงใด


การที่โจทก์จะเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ โจทก์จะต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยประมาณมากกว่าและโจทก์เสียหายจากการประมาท มากกว่านั้นอย่างไร เพียงใด ที่ศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยประมาท มากกว่า และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์จำเลยต่างก่อขึ้น และค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม 29,500 บาท จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว


ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียง 29,500 บาท ซึ่งไม่เกินห้าหมื่นบาท เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์เพื่อให้ได้รับค่าเสียหายมากขึ้น ทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวจึงเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ที่ห้ามมิให้คู่ความ อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่า ตามพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยมีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3663/2551

คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ต้องพิจารณาว่า ความรับผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา มิใช่พิจารณาว่าโจทก์ต้องฟ้องคดีแพ่งก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีอาญา เสร็จเด็ดขาด การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องทางแพ่งอันสืบ เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาฐานบุกรุกของจำเลย จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา


การนำข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาส่วนอาญามารับฟังในคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 นั้น จะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการ กล่าวคือ คำพิพากษาคดีอาญาต้องถึงที่สุด ข้อเท็จจริงนั้นเป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาและได้วินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้ง และผู้ที่ถูกข้อเท็จจริงในคดีอาญามาผูกพันต้องเป็นคู่ความเดียวกับในคดีอาญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3497/2551

โจทก์ให้จำเลยเป็นตัวแทนรับจำนองที่ดิน และโจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ เป็นเรื่องตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืนจากจำเลยซึ่งเป็นตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 810 แม้ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ไม่ขัด ต่อมาตรา 798 วรรคสอง


โจทก์นำพยานบุคคลเข้าสืบเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าจำเลย เป็นเพียงผู้รับจำนองแทนโจทก์เป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวแทนอีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ กับจำเลย จึงมิใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในหนังสือสัญญาจำนอง ที่ดิน กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)


ในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกว่าร่วมกันกระทำความผิดฐานยักยอก ศาลแขวงพระโขนงพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าพฤติการณ์มีเหตุสงสัยว่าจำเลย รับจำนองแทนโจทก์หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย ศาลมิได้ยกฟ้องด้วยเหตุว่าจำเลยมิได้รับจำนองแทนโจทก์ และคดีนี้โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงินค่าไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาในความผิดฐานยักยอก จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะนำ ป.วิ.อ. มาตรา 46 มาใช้บังคับไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3351/2551

คดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดิน เพื่อเรียกที่ดินคืนจากจำเลย โดยอ้างเหตุว่า จำเลยฉ้อโกงโจทก์ทั้งห้าว่าจะยืมที่ดินของโจทก์ทั้งห้าไปจำนองต่อสถาบันการ เงิน แต่จำเลยกลับกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจผิดไปจากความประสงค์ที่แท้จริง โดยปลอมว่า โจทก์ทั้งห้ายกที่ดินให้แก่จำเลย และโจทก์ทั้งห้ายังได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาปลอมเอกสารสิทธิและฉ้อโกง คดีอาญาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งห้านำสืบมายังไม่พอฟังว่าคดีมีมูล พิพากษายกฟ้อง แม้จะเป็นการวินิจฉัยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม แต่คดีถึงที่สุดแล้ว อีกทั้งได้วินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวข้องโดยตรงกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งห้าไม่มีมูลให้ฟังว่า จำเลยกระทำความผิด ฉะนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6602/2550

คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯ มิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาตามความหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 46


พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ฯ เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีทั้งโทษทางอาญาและ มาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินในกรณีที่ศาลเชื่อว่าทรัพย์สิน ตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน โดยมิต้องคำนึงถึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะ ได้มาก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับหรือไม่ เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ตามนัยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 40-41/2546


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6405/2550

คดีอาญาที่จำเลยถูกฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์เป็นผู้เสียหายกล่าวหาว่า จำเลยปลอมลายมือชื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงลงในบันทึกถ้อยคำ แล้วนำไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ที่ดินเพื่อดำเนินการออกใบจองให้จำเลย อันเป็นการปลอมและใช้เอกสารปลอม ส่วนคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ขอให้เพิกถอนใบจองที่ออกทับที่ดินของโจทก์ สิทธิการฟ้องคดีนี้ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6026/2550

ในคดีอาญาของศาลชั้นต้น พนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็น เหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ร. ซึ่งนั่งมาในรถยนต์คันเดียวกันกับโจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 300, 390 โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันที่ถูกจำเลยขับชนไม่ใช่ผู้เสียหายในข้อหาความผิด ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือได้รับอันตราย แก่กายหรือจิตใจ ส่วนข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43, 157 รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ดังนี้ โจทก์ที่ 2 เจ้าของรถยนต์คันที่ถูกชนจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาดังกล่าว และถือไม่ได้ว่าพนักงานอัยการประจำศาลชั้นต้นฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ดังนั้น ฟ้องโจทก์คดีนี้ในส่วนของโจทก์ที่ 2 จึงมิใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวกับคดีอาญาตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 51 ในอันที่จะนำอายุความในทางอาญาที่ยาวกว่ามาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง แต่ต้องใช้อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ที่ 2 รู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนว่าเป็นจำเลยตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2546 อันเป็นวันทำละเมิด โจทก์สองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2548 ฉะนั้น นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2546 ถึงวันที่โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้ จึงล่วงพ้นกำหนด 1 ปี คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 977/2550

จำเลย ที่ 2 ขอแก้ไขคำให้การเพิ่มเติมประเด็นฟ้องซ้อน เป็นการขอแก้ไขเกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความ สงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 2 จึงอาจขอแก้ไขได้ก่อนศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 180 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31


กรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานความผิดยักยอกทรัพย์และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนผู้เสียหายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายนั้นเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้เกิดความเสียหายนั้นอาจเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้อง ได้สองทาง คือในมูลละเมิดและในมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงานที่มีต่อกันอยู่ ในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ถึงแม้คำขอบังคับจะเป็นอย่างเดียวกันคือ ขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นมิได้เป็นอย่างเดียว กัน ในคดีอาญานั้นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับใน ส่วนแพ่งนั้น มาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูลหนี้ ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงาน และคำฟ้องของโจทก์กรณีของการผิดสัญญาจ้างแรงงานนั้นเป็นอำนาจของคู่สัญญาโดย เฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจจะอาศัยสิทธิในเรื่องของสัญญาจ้าง แรงงานมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ จึงมิใช่เป็นกรณีที่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตาม ความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 968/2550

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335 ให้จำเลยคืนแหวนทองคำ กำไลทองคำและสร้อยคำทองคำหรือใช้ราคา 37,300 บาท แก่ผู้เสียหาย ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายยื่นคำร้องว่าได้รับเงิน 40,000 บาท จากจำเลยเพื่อใช้ค่าเสียหายและค่าทรัพย์สินที่ไม่ได้คืนแล้ว ผู้เสียหายไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายอีก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดคืนทรัพย์หรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสีย หาย การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (4) และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน 37,300 บาท แก่ผู้เสียหาย จึงไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8392/2549

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บังคับให้พนักงานอัยการฟ้องเรียกได้แค่เฉพาะต้นเงินเท่านั้น สภาพไม่เปิดช่องให้เรียกดอกเบี้ยได้เพราะดอกเบี้ยไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคา ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด การที่พนักงานอัยการไม่ได้ขอเรียกดอกเบี้ยมาด้วยในคดีอาญานั้น จึงไม่ใช่ค่าเสียหายที่พนักงานอัยการสามารถฟ้องเรียกแทนผู้เสียหายได้แล้ว แต่ไม่เรียก ฟ้องของโจทก์คดีแพ่งในส่วนของดอกเบี้ยจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีอาญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3979/2549

ป.วิ.อ .มาตรา 50 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหายตามมาตรา 43 และ 44 ให้ถือว่าผู้เสียหายนั้นเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น ผู้เสียหายที่จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามมาตราดังกล่าวจะต้องเป็นผู้เสีย หายเฉพาะในความผิดตาม ป.วิ.อ.มาตรา 43 เท่านั้น อันได้แก่ คดีลักทรัพย์ ฯลฯ ผู้ร้องเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานรุกล้ำคลองชลประทานตาม พ.ร.บ.การชลประทานหลวง พ.ศ.2485 ไม่ใช่ความผิดตามที่ระบุไว้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 43 ไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 50 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจขอเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาในชั้นบังคับคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3762/2549

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ของกลางมิได้เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่น ซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (2) ไม่อาจริบได้ แต่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาคืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของแม้คู่ความมิได้ฎีกา เกี่ยวกับของกลางดังกล่าวก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 และ 186 (9)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2549

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 341 พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี และให้จำเลยคืนเงิน 220,000 บาท แก่ผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดฐานหลอกลวงคนหางานว่าสามารถหางานในต่าง ประเทศ ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี แล้ว ยังเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 อีกบทหนึ่งด้วย ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะขอศาลให้สั่งจำเลยคืนเงินที่ฉ้อโกงไปให้แก่ผู้ เสียหายได้ ซึ่งศาลล่างทั้งสองก็พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ด้วย ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 200,000 บาท ที่ฉ้อโกงไปให้แก่ผู้เสียหายตามที่โจทก์ขอมาได้ แม้จะมิได้ปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าวด้วยก็ตาม


ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้ถอนคำร้องทุกข์ของตนเฉพาะในส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว โดยอ้างว่าได้รับชดใช้เงินจากจำเลยจนเป็นที่พอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีอาญา และคดีแพ่งแก่จำเลยอีกต่อไป ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวเฉพาะในส่วนของผู้เสียหาย ที่ 1 และที่ 2 จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินให้ แก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 คนละ 65,000 บาท รวมเป็นเงิน 130,000 บาท ตกไปด้วย โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้อีก โดยคงขอให้บังคับได้เฉพาะส่วนของผู้เสียหายที่ 3 เป็นเงิน 70,000 บาท เท่านั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3869/2548

ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ เมื่อจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ให้แก่ผู้เสียหายซึ่งเกินกว่าราคาทรัพย์ที่จำเลยเอาไปจากผู้เสียหาย และผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายอีก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1701/2548

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 และขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 6,100 บาท แก่ผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคหนึ่ง แต่ไม่วินิจฉัยตามคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ของโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ที่โจทก์ขอให้คืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งตามฟ้องระบุเป็นเงินของนาง ซ. ยายผู้เสียหาย จึงบังคับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายไม่ได้ แต่ให้คืนหรือใช้เงินแก่นาง ซ. ยายผู้เสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1061/2545

ผู้เสียหายและจำเลยยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก่อนคดีถึงที่สุด สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และย่อมทำให้คำขอในส่วนแพ่งของพนักงานอัยการโจทก์ที่ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้ เสียหายตกไปด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2715/2544

เงินสดจำนวน 2,800 บาท ของกลางที่โจทก์ขอให้ริบ ไม่อยู่ในความหมายเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่นซึ่งได้ใช้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือ ได้มาโดยการกระทำความผิด ซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (2) ศาลจึงไม่อาจริบได้


แม้จะปรากฏตามทางพิจารณาว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อได้จากจำเลยเป็นของกลาง แต่โจทก์มิได้มีคำขอให้คืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าธนบัตรของกลางดังกล่าว เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้โดยยังมิได้คืนแก่เจ้าของ จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะพิจารณาสั่งคืนธนบัตรของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3675/2543

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับของโจรต้องถือว่าศาลได้พิพากษาลงโทษ จำเลยเต็มตามความประสงค์ของโจทก์แล้ว โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เพื่อให้ลงโทษจำเลยเป็น อย่างอื่นได้อีก


คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำผิดฐานรับของโจร จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินที่จำเลยรับไว้ในการกระทำผิดฐานรับของโจรและยัง ไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหายเท่านั้น หาใช่ต้องคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามฟ้องไม่ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวนเต็มตามฟ้องให้แก่ผู้เสียหาย นั้นยังไม่ถูกต้องศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5373/2542

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมกับยึดรถจักรยานยนต์ แว่นตา กับหมวกไหมพรมเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ กับมีคำขอให้ริบของกลางดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์มีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำ ความผิดตามฟ้องหรือไม่และพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลอุทธรณ์ก็ต้องมีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางนั้นตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 186(9) การที่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องเป็นว่า ให้คืนรถจักรยานยนต์ แว่นตา และหมวกไหมพรมของกลางแก่เจ้าของ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1207/2540

จำเลย ที่ 1 และที่ 2 กับพวกลักทรัพย์โจทก์ไปครั้งเดียวข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในคดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาซึ่งพนักงานอัยการมีสิทธิ เรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 43 และมาตรา 44 และในการพิจารณาพิพากษาคดีส่วนแพ่งดังกล่าว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 และมาตรา 47กำหนดว่าต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง เมื่อศาลสั่งให้จำเลยที่ 1และที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 50 ให้ถือว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและมีอำนาจดำเนินการบังคับคดีตามคำ พิพากษาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 249ฉะนั้น การที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นคดีอาญาและในคดีส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาได้มีคำขอให้ศาลสั่ง คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ให้โจทก์ในฐานะผู้เสียหาย จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแทนโจทก์โจทก์จึงมีฐานะเป็น คู่ความและต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีส่วนอาญาดัง กล่าวด้วย ดังนั้นโจทก์จะรื้อร้องฟ้องคดีแพ่งในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยโดย อาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 จำเลยที่ 3ละทิ้งหน้าที่เฝ้ายามไปเป็นเวลานาน เป็นเหตุให้คนร้ายถือโอกาสเข้าไปลักทรัพย์ของโจทก์ จึงเป็นการประมาทเลินเล่อ เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาของศาลชั้นต้นจำเลยที่ 3 จึงไม่ได้เป็นคู่ความ ทั้งคดีนี้โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 3 กระทำละเมิดโดยประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยว กับจำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2548

คดีก่อนพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 โดยมีโจทก์เป็นผู้เสียหาย ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และให้ชดใช้ราคาน้ำมันแก่โจทก์ คำฟ้องคดีอาญาดังกล่าว แม้จะถือว่าเป็นการขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ก็เป็นกรณีที่ความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำผิดอาญาเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้เกิดความเสียหายนี้เป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ที่ผู้เสียหายจะใช้สิทธิ เรียกร้องได้ทั้งสองทางคือในมูลละเมิดและในมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงานที่มีต่อ กันในคดีอาญาดังกล่าวกับคดีนี้ ถึงแม้คำขอบังคับจะมีลักษณะเป็นอย่างเดียวกันคือขอให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับ ในส่วนแพ่งนั้นมาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้อง ในมูลหนี้ละเมิด แต่คดีนี้มีที่มาจากมูลสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อมูลหนี้ในคำฟ้องของทั้งสองคดีเป็นคนละอย่าง ประเด็นที่วินิจฉัยจึงมิใช่ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน อันจะเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4492/2547

ในคดีอาญา อัยการโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์ในคดีนี้ซึ่งครอบครองดูแลรักษาสินค้าของผู้เสีย หาย (จำเลยในคดีนี้) แล้วโจทก์ได้เบียดบังเอาไปเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต และมีคำขอให้โจทก์คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไปเป็นเงิน 310,145 บาทพร้อมดอกเบี้ย แต่คดีนี้นอกจากจำเลยจะอ้างว่าโจทก์ร่วมกับบุคคลอื่นยักยอกทรัพย์ของจำเลยไป แล้ว จำเลยยังอ้างในฟ้องแย้งด้วยว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์สินของจำเลย โจทก์มีหน้าที่จะต้องส่งคืนทรัพย์สินดังกล่าวแก่จำเลย แต่โจทก์มิได้ส่งคืนให้กลับนำไปมอบให้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการกระทำผิดต่อสัญญาจ้างแรงงาน ดังนี้ เห็นได้ว่าข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่พนักงานอัยการขอบังคับในส่วน แพ่งนั้นมาจากข้ออ้างเนื่องจากการกระทำผิดทางอาญาอันเป็นการเรียกร้องในมูล ละเมิด แต่คดีนี้จำเลยอ้างว่าโจทก์ทำผิดสัญญาจ้างแรงงานเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความ เสียหายรวมอยู่ด้วย แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องคดีอาญา แต่ก็วินิจฉัยเพียงว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะฟังว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) มีส่วนร่วมรู้เห็นกับผู้ที่มารับสินค้า ซึ่งเท่ากับฟังว่ายังไม่เป็นความผิดฐานยักยอกเท่านั้น โดยยังมิได้วินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวของโจทก์เป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายดังที่จำเลยถือเป็นข้ออ้างในคดีนี้หรือไม่ ที่จำเลยฟ้องแย้งจึงมิใช่เป็นกรณีที่คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกใน ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5924/2541

คดีก่อนพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาและได้มีคำขอในคดีส่วนแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาให้ศาลสั่งคืน หรือใช้ราคาทรัพย์ให้โจทก์ร่วมในคดีอาญาดังกล่าวในฐานะผู้เสียหายมาด้วยแล้ว จึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาแทนโจทก์ร่วมในคดีนั้นซึ่ง เป็นโจทก์คดีนี้ด้วย เมื่อคดีอาญาดังกล่าวศาลฎีกาได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์คดีนี้จึงมีฐานะเป็นคู่ความและต้องผูกพันตามคำพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยว เนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวด้วย และแม้ว่าจำนวนทรัพย์ตามคำฟ้องในคดีอาญากับคดีนี้ไม่ตรงกัน กล่าวคือ ในคดีอาญาพนักงานอัยการขอให้จำเลยที่ 1 คืนเพชรพลอยเพียง 4 เม็ด แต่คดีนี้โจทก์ได้ขอให้จำเลยคืนเพชรเม็ดเล็กจำนวน 19 เม็ด เข้ามาด้วย ก็เป็นเพราะในคดีอาญาศาลฎีกาตำหนิพยานโจทก์ว่าจำนวนเพชรพลอยตามเอกสารหมาย จ. 9 ในคดีนั้นซึ่งมีจำนวน 23 เม็ด ไม่ตรงกับเพชรพลอยของกลางซึ่งมีเพียง 4 เม็ด ในคดีนี้โจทก์จึงได้รวมเพชรเม็ดเล็กจำนวน 19 เม็ด เข้ามาด้วย ก็เป็นเรื่องเดียวกันและโจทก์สามารถขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาในคดีอาญาได้อยู่แล้วเพราะเป็นโจทก์ร่วมในคดีนั้นด้วยแต่ไม่ ขอ ดังนั้น การที่โจทก์รื้อร้องฟ้องคดีแพ่งเป็นคดีนี้เพื่อให้จำเลยที่ 1 คืนเพชรพลอยทั้ง 23 เม็ด หรือใช้เงินแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องในประเด็นที่ศาลในคดีอาญาได้วินิจฉัยมาแล้วโดยอาศัยเหตุอย่าง เดียวกันจึงต้อง ห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1115/2538

ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดๆบังคับว่าการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาต้องฟ้องรวมมาในคำฟ้องฉบับเดียวกันคดีแพ่งจึงจะต้องถือข้อเท็จจริงตามคดีอาญา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 736/2538

ในการวินิจฉัยว่าคดีใดเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่จะต้องพิจารณาว่าสิทธิเรียกร้องในทางแพ่งได้อาศัยมูลความผิดในทางอาญา โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้ทำการปิดบังยักย้ายทรัพย์มรดกอันเป็นเหตุให้จำเลยถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามกฎหมายซึ่งมิได้อาศัย มูลคดีอันเกิดจากการกระทำความผิดอาญาของจำเลยที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จจึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 46