คำพิพากษาและคำสั่ง

มาตรา ๑๘๒  คดีที่อยู่ในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ถ้ามีคำร้องระหว่างพิจารณาขึ้นมา ให้ศาลสั่งตามที่เห็นควร เมื่อการพิจารณาเสร็จแล้ว ให้พิพากษาหรือสั่งตามรูปความ

ให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผยในวันเสร็จการพิจารณา หรือภายในเวลาสามวันนับแต่เสร็จคดี ถ้ามีเหตุอันสมควร จะเลื่อนไปอ่านวันอื่นก็ได้ แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้

เมื่อศาลอ่านให้คู่ความฟังแล้ว ให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ ถ้าเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่มา จะอ่านโดยโจทก์ไม่อยู่ก็ได้ ในกรณีที่จำเลยไม่อยู่ โดยไม่มีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง ก็ให้ศาลรอการอ่านไว้จนกว่าจำเลยจะมาศาล แต่ถ้ามีเหตุสงสัยว่าจำเลยหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง ให้ศาลออกหมายจับจำเลย เมื่อได้ออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันออกหมายจับ ก็ให้ศาลอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งลับหลังจำเลยได้ และให้ถือว่าโจทก์หรือจำเลย แล้วแต่กรณี ได้ฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นแล้ว

ในกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องเลื่อนอ่านไปโดยขาดจำเลยบางคน ถ้าจำเลยที่อยู่จะถูกปล่อย ให้ศาลมีอำนาจปล่อยชั่วคราวระหว่างรออ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น

มาตรา ๑๘๓  คำพิพากษา หรือคำสั่งหรือความเห็นแย้งต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณา ผู้พิพากษาใดที่นั่งพิจารณา ถ้าไม่เห็นพ้องด้วย มีอำนาจทำความเห็นแย้ง คำแย้งนี้ให้รวมเข้าสำนวนไว้

มาตรา ๑๘๔  ในการประชุมปรึกษาเพื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้อธิบดีผู้พิพากษาข้าหลวงยุติธรรม หัวหน้าผู้พิพากษาในศาลนั้นหรือเจ้าของสำนวนเป็นประธาน ถามผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาทีละคน ให้ออกความเห็นทุกประเด็นที่จะวินิจฉัย ให้ประธานออกความเห็นสุดท้าย การวินิจฉัยให้ถือตามเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่ายหรือเกินกว่าสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า

มาตรา ๑๘๕  ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดก็ดี การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดก็ดี คดีขาดอายุความแล้วก็ดี มีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยไม่ควรต้องรับโทษก็ดี ให้ศาลยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป แต่ศาลจะสั่งขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้

เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยได้กระทำผิด และไม่มีการยกเว้นโทษตามกฎหมาย ให้ศาลลงโทษแก่จำเลยตามความผิด แต่เมื่อเห็นสมควรศาลจะปล่อยจำเลยชั่วคราวระหว่างคดียังไม่ถึงที่สุดก็ได้

มาตรา ๑๘๖  คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องมีข้อสำคัญเหล่านี้เป็นอย่างน้อย
(๑) ชื่อศาลและวันเดือนปี
(๒) คดีระหว่างใครโจทก์ใครจำเลย
(๓) เรื่อง
(๔) ข้อหาและคำให้การ
(๕) ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความ
(๖) เหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
(๗) บทมาตราที่ยกขึ้นปรับ
(๘) คำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือลงโทษ
(๙) คำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง
คำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับความผิดลหุโทษ ไม่จำต้องมีอนุมาตรา (๔) (๕) และ (๖)

มาตรา ๑๘๗  คำสั่งระหว่างพิจารณาอย่างน้อยต้องมี
(๑) วันเดือนปี
(๒) เหตุผลตามกฎหมายในการสั่ง
(๓) คำสั่ง

มาตรา ๑๘๘  คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป

มาตรา ๑๘๙  เมื่อจำเลยซึ่งต้องคำพิพากษาให้ลงโทษเป็นคนยากจนขอสำเนาคำพิพากษาซึ่งรับรองว่าถูกต้อง ให้ศาลคัดสำเนาให้หนึ่งฉบับโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม

มาตรา ๑๙๐  ห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้ว นอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

มาตรา ๑๙๑  เมื่อเกิดสงสัยในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ถ้าบุคคลใดที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องร้องต่อศาลซึ่งพิพากษาหรือสั่ง ให้ศาลนั้นอธิบายให้แจ่มแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3322/2560
เมื่อไม้ของกลางที่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อนยังมิได้มีการกระทำใด ๆ ให้ไม้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไป จึงถือว่าไม้ดังกล่าวยังมิได้แปรรูปอันจะเป็นการแปรรูปไม้ตามคำนิยามของคำว่า แปรรูปไม้ ในมาตรา 4 (3) แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า "แปรรูป หมายความว่า การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ไม้ดังนี้ คือ ก. เลื่อย ผ่า ถาก ขุด หรือกระทำด้วยประการอื่นใดแก่ไม้ให้เปลี่ยนรูปหรือขนาดไปจากเดิม..." ลำพังเพียงการตัดไม้แล้วทอนเป็นท่อนยังไม่ถือเป็นการแปรรูปไม้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันแปรรูปไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต และเมื่อไม้หวงห้ามของกลางเป็นไม้อันยังมิได้แปรรูป จำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้องด้วยเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายืนตามกันมาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบ ซึ่งศาลฎีกาเมื่อเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นความผิดในสองฐานนี้ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10786/2559
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษปรับจำเลยด้วยและศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์กับส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว ดังนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยและฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ศาลอุทธรณ์จึงต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุที่จะลงโทษปรับจำเลยตามที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวถือว่าศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้า ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ เมื่อความผิดของจำเลยต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ..." ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกเพียงสถานเดียว โดยมิได้ลงโทษปรับจำเลยด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9999/2559
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า ตัวรถลากจูงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด และตัวพ่วงบรรทุกน้ำหนักเกินไปเท่าใด น้ำหนักบรรทุกที่กดทับลงสู่พื้นถนนผ่านล้อแต่ละล้อจึงไม่เป็นการทำลายพื้นถนนมากนัก คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมแสดงถึงเหตุผลในการตัดสินคดีเพื่อประกอบดุลพินิจในการรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (6) ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 โดยมิใช่เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือจากที่จำเลยให้การรับสารภาพ หรือเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่อย่างใด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8845/2559
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์ ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) เห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2559
จำเลยเป็นผู้ยื่นคำให้การรับสารภาพต่อศาลชั้นต้นเองโดยถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ เมื่อศาลชั้นต้นสอบจำเลยอีกครั้ง จำเลยก็ยังคงยืนยันให้การตามบันทึกคำให้การที่ยื่นต่อศาลแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ทุกข้อกล่าวหาดังข้อความที่ปรากฏในคำให้การ คำให้การดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย แม้ภายหลังมีรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยปรากฏข้อเท็จจริงไม่สอดคล้องกับคำให้การรับสารภาพก็ตาม ทั้งคดีนี้เป็นคดีที่ไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยก่อนมีคำพิพากษา ก็เนื่องจากศาลชั้นต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องแต่ยังประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงในเรื่องต่าง ๆ อันเกี่ยวกับคดีเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจในการลงโทษว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลย มิใช่เป็นคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยว่าจำเลยรับจ้างจากบุคคลอื่นให้รับว่าเป็นผู้ซื้อไม้ของกลางที่ถูกยึดไว้จาก ส. ผู้ขายที่มีไม้ของกลางอยู่ในที่ดิน น.ส.3 ก. แม้ข้อเท็จจริงดังกล่าวจะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่คู่ความจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏต่อศาล ศาลไม่อาจรับฟังรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยของพนักงานคุมประพฤติในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วยได้ จึงฟังข้อเท็จจริงจากรายงานดังกล่าวมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 425/2559
ขณะศาลฎีกาส่งคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟัง จำเลยที่ 1 ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำเขาบิน จังหวัดราชบุรี ส่วนจำเลยที่ 2 อยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม การที่ศาลชั้นต้นส่งคำพิพากษาศาลฎีกาให้ศาลจังหวัดราชบุรีอ่านให้จำเลยที่ 1 ฟังก่อน แล้วจึงอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟัง จึงเป็นการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังโดยชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 182 จำเลยที่ 2 จะกล่าวอ้างว่า การที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ฟัง ย่อมมีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วยไม่ได้ เมื่อตาม ป.วิ.อ. มาตรา 188 บัญญัติเพียงว่า คำพิพากษามีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป โดยมิได้บัญญัติว่า คดีถึงที่สุดเมื่อใด จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 147 มาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อ 18 กันยายน 2555 คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 2 โดยระบุว่าคดีถึงที่สุดวันที่ 18 กันยายน 2555 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12156/2558
เมื่อศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าศาลชั้นต้นนับโทษจำคุกคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาอีกคดีชอบหรือไม่ และถึงที่สุดแล้ว จำเลยจะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้เพิกถอนการนับโทษต่อและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยใหม่โดยอ้าง ป.วิ.อ. มาตรา 160 และ ป.อ. มาตรา 91 อีกไม่ได้ เพราะหากศาลฎีกาฟังตามที่จำเลยอ้างแล้ววินิจฉัยให้เพิกถอนการนับโทษต่อและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลฎีกา ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6450/2558
ตามฟ้องที่จำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงในทางเดินรถของจำเลย จำเลยไม่ได้ขับล้ำเข้าไปในทางเดินรถสวน ส่วน ร. ขับรถจักรยานยนต์สวนทางมาโดยขับตามหลังรถอีแต๋นที่ บ. เป็นผู้ขับ แต่ ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ที่ ร. ขับชนกับรถจำเลย หาก ร. ไม่ขับรถล้ำเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย เหตุรถทั้งสองคันชนกันก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ แม้จะฟังว่าจำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้าย แต่ก็ยังขับอยู่ในทางเดินรถของจำเลย และตามรายงานชันสูตรพลิกศพเอกสารท้ายฟ้องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องระบุว่า ร. ขับรถตัดหน้ารถจำเลยเป็นเหตุให้ชนกัน แล้วรถจำเลยเสียหลักไปชนรถอีแต๋น แสดงว่า ร. ขับแซงขึ้นหน้ารถอีแต๋นในระยะกระชั้นชิดขณะที่รถจำเลยใกล้จะสวนทางกับรถอีแต๋น การที่รถจำเลยเสียหลักพุ่งชนรถอีแต๋น จึงเป็นผลโดยตรงจาก ร. ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิดเข้าไปในทางเดินรถของจำเลย มิใช่ผลโดยตรงที่จำเลยมิได้ขับรถชิดขอบทางด้านซ้ายหรือไม่ชะลอความเร็ว จะถือว่าจำเลยมีส่วนประมาทด้วยหาได้ไม่ เพราะการที่รถจำเลยเสียการควบคุมไปชนรถอีแต๋นเป็นผลจากความประมาทอย่างร้ายแรงของ ร. ที่ขับแซงขึ้นหน้าในระยะกระชั้นชิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายแก่กาย ศาลฎีกามีอำนาจยกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่การที่จำเลยขับรถยนต์บรรทุกพ่วงซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่บรรทุกหินเต็มคันรถด้วยความเร็วสูงในทางแคบ ถือได้ว่าเป็นการขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10173/2558
ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสองและวรรคสาม บัญญัติให้ศาลอ่านคำพิพากษาในศาลต่อหน้าคู่ความโดยเปิดเผย เมื่ออ่านแล้วให้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ และมาตรา 2 (15) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "คู่ความ" ไว้ว่า หมายถึงโจทก์ฝ่ายหนึ่งและจำเลยอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งมาตรา 2 (3) บัญญัติว่า "จำเลย" หมายถึงบุคคลซึ่งถูกฟ้องยังศาลแล้วโดยข้อหาว่าได้กระทำความผิด ฉะนั้นทนายจำเลยที่ 2 จึงมิได้เป็นจำเลยที่ 2 หรือเป็นคู่ความตามความหมายดังกล่าวแต่อย่างใด จึงไม่อาจถือว่าการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้แก่ทนายจำเลยที่ 2 เป็นการส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5411/2558
เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบอาวุธปืนของกลางแล้ว หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าศาลอุทธรณ์ริบอาวุธปืนของกลางโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ชอบที่จะใช้สิทธิฎีกาคำพิพากษาไปยังศาลฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 แต่จำเลยที่ 1 มิได้ใช้สิทธิดังกล่าวจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลคืนอาวุธปืนของกลาง โดยอ้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ปรากฏในคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังนี้ หากศาลฟังตามที่จำเลยที่ 1 อ้างในคำร้องดังกล่าวแล้ววินิจฉัยให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่จำเลยที่ 1 ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ที่ห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้ว นอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2558
บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 176 มิได้หมายความว่า เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วศาลจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้วจึงพิพากษาคดี เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจนเป็นที่น่าพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 ดังนี้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11492/2556
การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทราบโดยการปิดหมายนั้น หากเป็นการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ย้ายไปจากภูมิลำเนานั้นก่อนแล้วย่อมเป็นการส่งโดยชอบ และเมื่อครบกำหนด 15 วันแล้ว ย่อมมีผลใช้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 กรณีของจำเลยแม้ได้ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ให้จำเลยทราบ โดยการปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตามฟ้องของโจทก์ก็ตาม แต่ตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 4 เมษายน 2554 เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า ในการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 25 เมษายน 2554 ให้จำเลยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ส่งไม่ได้เพราะจำเลยย้ายที่อยู่ใหม่ ดังนี้ ก่อนศาลชั้นต้นจะเลื่อนวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ออกไป และหมายนัดจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 โดยให้เจ้าพนักงานศาลส่งโดยวิธีปิดหมายนั้น ศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์แถลงให้ศาลชั้นต้นทราบเสียก่อนว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาตามคำฟ้องของโจทก์หรือไม่ แต่ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินการดังกล่าวกลับมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายตามภูมิลำเนาของจำเลยในคำฟ้องของโจทก์ ทั้งกรณีมิใช่หน้าที่ของจำเลยที่ต้องแถลงที่อยู่ให้ศาลทราบ ข้อเท็จจริงตามรายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวย่อมเป็นกรณีที่จำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาตามคำฟ้องของโจทก์ไปแล้วก่อนมีการปิดหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 แม้จะปิดหมายครบ 15 วัน แล้วก็ไม่มีผลใช้ได้ตามกฎหมาย และถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยทราบโดยชอบ การที่จำเลยไม่มาศาลในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 27 มิถุนายน 2554 และศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งการที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลับหลังจำเลยหลังจากออกหมายจับจำเลยเกินกว่าหนึ่งเดือนแล้ว ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยทราบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันดังกล่าวและถือไม่ได้ว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยฟังโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659/2556
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 188 จะบัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป แต่คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 3 คืนหรือชดใช้เงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสาม ก็ยังไม่มีผลให้โจทก์ร่วมทั้งสามซึ่งเป็นผู้เสียหายสามารถบังคับคดีได้ทันที เพราะคำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่ยังไม่ได้คืนเนื่องจากการกระทำความผิดเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44 วรรคสอง ซึ่งการบังคับคดีต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยเรื่องการบังคับตามคำพิพากษา เมื่อ ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง กำหนดให้การบังคับตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมทั้งสามจึงยังไม่อาจบังคับตามคำพิพากษาในส่วนเรียกทรัพย์สินหรือราคาที่ยังไม่ได้คืนเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 ได้ การออกหมายบังคับคดีจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3114/2556
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551 ซึ่ง พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยได้ต้องโทษและพ้นโทษแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับอันเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จำเลยย่อมได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัตินั้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นการพิพากษาโดยมีข้อผิดหลงเล็กน้อย ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 190 บัญญัติให้แก้ไขคำพิพากษาซึ่งอ่านแล้วได้เฉพาะถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดเท่านั้น มิได้บัญญัติรวมถึงการแก้ไขกรณีมีข้อผิดหลงเล็กน้อยไว้เหมือนดังเช่น ป.วิ.พ. มาตรา 143 ดังนี้ แม้คดีจะถึงที่สุดไปแล้ว แต่เมื่อจำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยได้รับประโยชน์จากพ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ขอให้งดเพิ่มโทษจำเลย เท่ากับจำเลยร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องและคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขข้อผิดหลงนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 เพราะมิใช่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 715/2556
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสอง และมาตรา 66 วรรคสอง ป.อ. มาตรา 83 หากจำเลยเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษา แต่จำเลยมิได้ใช้สิทธิดังกล่าวจนคดีถึงที่สุด จำเลยจึงมิอาจยื่นคำร้องในภายหลังว่าโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเฮโรอีนของกลางที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินหนึ่งร้อยกรัมดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 66 วรรคสอง เดิม แม้โจทก์นำสืบว่าเฮโรอีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินหนึ่งร้อยกรัม ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยตาม มาตรา 66 วรรคสอง เดิม ได้ เพราะการกระทำของจำเลยคงเป็นความผิดตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ หากศาลฟังตามคำร้องของจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9181/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสอง มีจุดมุ่งหมายให้คู่ความได้ทราบคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลเพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกา ดังนั้นเมื่อในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งให้โจทก์ฟังแล้ว โดยผู้รับมอบฉันทะทนายโจทก์ลงลายมือชื่อไว้ โดยมิได้โต้แย้งทันทีว่าการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ซึ่งต่อมาโจทก์ก็ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าคดีมีมูล แสดงว่าโจทก์ทราบคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว จึงต้องถือว่าการอ่านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2555
จำเลยที่ 2 ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 แล้ว แต่เมื่อถึงวันนัดจำเลยที่ 2 ไม่มาศาล แม้หลังจากนั้นศาลชั้นต้นจะเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 และนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ใหม่ในวันที่ 25 มกราคม 2554 ก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ไม่มาศาลในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 ถือได้ว่ามีเหตุสงสัยว่าจำเลยที่ 2 หลบหนีหรือจงใจไม่มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 แล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะออกหมายจับจำเลยที่ 2 มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสาม โดยไม่จำต้องออกหมายนัดแจ้งวันนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 25 มกราคม 2554 ให้จำเลยที่ 2 ทราบอีก ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลับหลังจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 22134/2555
ระหว่างที่จำเลยยังไม่ยื่นคำร้องขอถอนฎีกาได้มี พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาลสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 ใช้บังคับแล้ว แต่เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอถอนฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนฎีกากับจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกา จึงไม่มีคดีของจำเลยอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาอีก เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 ลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยก่อนพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ แม้ความผิดซึ่งจำเลยต้องโทษในคดีก่อนที่เป็นเหตุถูกเพิ่มโทษในคดีนี้จะเกิดขึ้นก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และจำเลยได้พ้นโทษในคดีก่อนแล้วก็ตามก็ไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษคดีนี้ได้เพราะมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งถึงที่สุดแล้วขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้วนอกจากถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4444/2554
การอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ของศาลชั้นต้นต้องนำมาตรา 182 วรรคสอง มาใช้โดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 215 และ 209 เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ส่งคำพิพากษาไปให้ศาลชั้นต้นอ่านแทนศาลอุทธรณ์ภาค 2 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2550 ประกอบกับจำเลยได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องหมายนัดโจทก์ จำเลย และ ป. มาฟังคำพิพากษา การที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2550 แม้จะเกินกว่า 3 วัน และไม่ได้จดรายงานเหตุไว้นั้น ก็เป็นการชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 182 ประกอบมาตรา 225 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3200/2552
โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ก. ว่า จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันทำไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยนำไม้ซึ่งแปรรูปแล้วใส่กระบะพ่วงรถไถนาเดินตามออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่า แม้การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดย ไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 วรรคหนึ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 (5) ให้ความหมายว่าการนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใด ๆ เป็นการทำไม้ ตามนิยามคำว่า "ทำไม้" ด้วยก็ตาม แต่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38 ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามด้วยนั้น มิได้บัญญัติให้การนำไม้ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามฟ้อง เป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวดังเช่นที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันตัดหรือโค่นต้นไม้หรือพฤกษชาติในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38, 54 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดตามมาตราดังกล่าว เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9672/2552
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย (เกิดวันที่ 27 ตุลาคม 2528) อายุยังไม่เกิน 15 ปี ... อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) แม้ขณะเกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายจะมีอายุยังไม่เกิน 13 ปีก็ตาม แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องดังกล่าว โดยมิได้ระบุองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายอายุยังไม่เกิน 13 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งมีโทษหนักกว่า เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องไว้จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ ดังนั้น คงลงโทษจำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก (เดิม) เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5843/2552
มูลคดีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง ข้อ 1.4 โดยร่วมกันปลอมและประทับดวงตราปลอม และลงลายมือชื่อปลอมบัตรประจำตัวบุคคลพื้นที่สูงอันเป็นเอกสารราชการ ปลอมหนังสืออนุญาตให้บุคคลพื้นที่สูงออกนอกเขตที่พักอาศัยหรือพื้นที่ออก บัตรเป็นการชั่วคราวอันเป็นเอกสารราชการและประทับดวงตราปลอมและลงลายมือชื่อ ปลอม ปลอมแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงอันเป็นเอกสารราชการ และปลอมทะเบียนบ้านของบุคคลที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรให้แก่บุคคล 1 คน โดยบรรยายฟ้องว่าเป็นการกระทำความผิดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2547 เวลากลางวัน พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดดังกล่าวในคราวเดียวกัน ด้วยมีเจตนาที่จะปลอมเอกสารดังกล่าวต่อเนื่องกันเพื่อให้เอกสารบริบูรณ์เท่านั้น หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันแต่อย่างใดไม่ แม้จะมีการใช้ดวงตราปลอมในเอกสาร 2 ฉบับ ก็ตาม ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้ดวงตราปลอม 2 กรรม การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.5 ถึง ข้อ 1.7 โดยบรรยายฟ้องในแต่ละข้อว่า ร่วมกันปลอมเอกสารข้อละประเภทเอกสารให้แก่บุคคล 3 คน ในคราวเดียวกันการปลอมเอกสารดังกล่าวเป็นการปลอมเอกสารด้วยมีเจตนาต่อเนื่อง กันเพื่อให้เอกสารบริบูรณ์เท่านั้น หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกัน ส่วนที่ในฟ้องแต่ละข้อแม้จะเป็นการปลอมเอกสารของบุคคลต่างคนรวม 3 คน ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษเป็นกรรมเดียว ทั้งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำแต่ละข้อเป็นความผิดกรรมเดียว โจทก์ก็ไม่อุทธรณ์โต้แย้ง โจทก์จึงไม่อาจยกขึ้นฎีกาอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 628/2552
คดีที่จำเลยให้การรับสารภาพและโจทก์มิได้สืบพยาน ย่อมไม่อาจกล่าวได้ว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นอย่างไร และจำเลยจำนนต่อพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ดังนั้นคำรับสารภาพของจำเลยย่อมเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่ การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. มาตรา 78 สมควรลดโทษให้แก่จำเลย แม้ปัญหาข้อนี้ จำเลยมิได้ฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยให้เหมาะสมตามความผิดได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4549/2552
คดีนี้คู่ความต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐาน ในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ชวนผู้เสียหายไปที่ห้องพักของจำเลย แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง ซึ่งหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายในแต่ละกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้วข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ในสถานที่ เกิดเหตุเพื่อกระทำชำเราผู้เสียหายในครั้งต่อไปแต่อย่างใด โดยผู้เสียหายได้กลับไปที่บ้าน ผู้เสียหายย่อมพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละกรรม แล้ว แม้จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2548 เดือนละ 2 ครั้ง และในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายคนละวันต่างวาระ กัน และมิได้กระทำต่อเนื่องกันโดยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายไว้จนผู้เสีย หายไม่สามารถไปไหนได้ ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องข้อ ข. ว่า เมื่อระหว่างกลางเดือนตุลาคม 2548 ถึงปลายเดือนธันวาคม 2548 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง และมีคำขอท้ายฟ้องโดยอ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน

โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ง. ว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2549 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 5 มกราคม 2549 เวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ฟ้องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องซึ่ง เป็นกรรมเดียวกันแตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ข.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 233/2552
ทางพิจารณาได้ความว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 มกราคม 2542 ไม่ใช่ในระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2541 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2541 ตามฟ้องโจทก์ จำเลยนำสืบต่อสู้ฟังได้ว่า ในช่วงเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยรับราชการเป็นทหารกองประจำการอยู่ที่โรงเรียนการ บิน อำเภอกำแพงแสน จำเลยไม่ได้ลาออกไปข้างนอก โจทก์ฟ้องผิดวันเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน แม้ว่าข้อแตกต่างนี้จะเป็นเพียงรายละเอียด แต่การฟ้องผิดวันไปเป็นเหตุให้จำเลยหลงต่อสู้ จึงต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3889/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายในเวลากลางคืนโดยร่วมกระทำความผิด ด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง โจทก์ไม่จำต้องระบุวรรคของบทมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยเนื่อง จาก ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) มิได้บังคับไว้เช่นนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ตรงตามโจทก์บรรยายฟ้อง ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามนั้น มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3433/2551
จำเลย ที่ 2 ตอบจำเลยที่ 1 ว่า "ไว้ใจได้ ขายเขาไปเถอะ" เพื่อช่วยในการตัดสินใจของจำเลยที่ 1 ที่จะขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ศาลฎีกาก็ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ได้เนื่องจากเป็นข้อแตกต่างที่มิใช่สาระสำคัญทั้งจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2174/2551
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์ของโจทก์ร่วม แล้วเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานยักยอก แต่การกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และยักยอกต่างเป็นการได้ทรัพย์ไปเช่นเดียว กันจึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จ จริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ทั้งข้อแตกต่างดังกล่าว ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม บัญญัติว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิให้ถือว่าแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งมิให้ถือว่าข้อที่พิจารณาได้ความนั้นเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานยักยอกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9283/2551
สถานพยาบาลตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 หมายความว่า สถานที่ซึ่งจัดไว้เพื่อการประกอบโรคศิลปะตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ หรือการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ดังนั้น การที่จำเลยประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจึงเป็นการกระทำด้วย เจตนาจัดสถานที่เพื่อการตรวจรักษาโรคโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต่างจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือ ประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต ที่จำเลยมีเจตนาตรวจรักษาโรคให้สตรี ตรวจภายใน หรือทำแท้ง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงเป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยมิได้เป็นผู้ ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและความผิดฐานประกอบโรคศิลปะโดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับ ใบอนุญาต

เมื่อพิจารณาใจความที่ศาลบันทึกคำฟ้องด้วยวาจาประกอบกับบันทึกการฟ้องคดี อาญาด้วยวาจาที่โจทก์ส่งต่อศาลแล้วได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยใช้บ้านพักของจำเลยเป็นสถานให้บริการทำแท้ง โดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันเป็นความผิดตามพ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 57 มิใช่มาตรา 47 ที่โจทก์ระบุมาในคำขอท้ายฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง กรณีเป็นเรื่องโจทก์อ้างบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9047/2551
การที่จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกพักที่บ้านของจำเลยที่ 3 เพื่อใช้เป็นสถานที่ปรึกษาหารือกันในการนำธนบัตรปลอมของกลางไปใช้นั้น ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในการนำธนบัตรปลอมของกลางไปใช้ จำเลยที่ 3 จึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2

แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในฐานเป็นตัวการ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในฐานเป็นผู้สนับสนุน ศาลฎีกาก็ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8214/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้ตายและร่วมกันฆ่าผู้ตายโดย ไตร่ตรองไว้ก่อนรวมมาในฟ้องข้อเดียวกัน เมื่อจำเลยลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ตายอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จ แล้ว จำเลยกับพวกจึงร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันเป็นความผิดอีกกรรม หนึ่งแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามที่พิจารณาได้ ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดฐานลักทรัพย์และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6539/2551
โจทก์บรรยายฟ้องระบุว่า เหตุเกิดเมื่อระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 เวลากลางวันถึงวันที่ 20 เมษายน 2545 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 หรือวันที่ 20 เมษายน 2545 โดยเฉพาะเจาะจง จึงไม่ใช่จำกัดเวลาเกิดเหตุเฉพาะวันดังกล่าวเท่านั้น เมื่อทางพิจารณาได้ความว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกเหตุเกิดในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา ซึ่งตรงกับฟ้องของโจทก์ส่วนหนึ่งแล้วและปรากฏว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ให้ ดำเนินคดีในความผิดที่เกิดในวันดังกล่าวทั้งพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา แก่จำเลยแล้ว โดยไม่ปรากฏว่ามีการร้องทุกข์และสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดครั้งที่ สอง ดังนั้น จะฟังว่าความผิดที่เกิดขึ้นครั้งแรก เป็นข้อเท็จจริงในฟ้องและตามที่ปรากฏในทางพิจารณาไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ ประสงค์ให้ลงโทษอันเป็นเหตุห้ามมิให้ศาลลงโทษจำเลยในข้อเท็จจริงนั้น ๆ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตามที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบ ครองเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด ถึงแม้โจทก์จะอ้างบทมาตราที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคำขอท้ายฟ้องมาด้วย ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 67 เท่านั้น

การที่ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดย การกระทำความผิดได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดนั้น และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดนั้นด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อ กฎหมาย และฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่และธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อน หน้านี้จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในคดีนี้ ตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือ ได้มาโดยกระทำความผิดซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่ได้กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (2) จึงไม่อาจริบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2551
การที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองของโจทก์ร่วมไปในขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 วิ่งอ้อมไปทางด้านหลังและขว้างสร้อยคอและพระดังกล่าวทิ้งที่พงหญ้ามีน้ำขัง ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากโจทก์ร่วมแล้ว และมีลักษณะเป็นการฉกฉวยซึ่งหน้าโดยทุจริต ซึ่งเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ การที่จำเลยที่ 1 ขว้างทรัพย์ทิ้งหลังจากวิ่งไปแล้ว 20 เมตร เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ไปได้

ป.อ. มาตรา 91 ไม่ใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและ ป.วิ.อ. มาตรา 158 ก็มิได้ระบุให้โจทก์ต้องอ้างด้วย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่างเวลากัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดแต่ละส่วนแยกจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุ ป.อ. มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10579/2551
โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์..." ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" เท่านั้น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องปรากฏแต่เพียงว่า จำเลยเปิดแผ่นเอ็มพีสามและซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารได้ร้องและฟังเพลง ของผู้เสียหาย 1 แผ่น "เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลยแต่ไม่ปรากฏในคำฟ้องว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลงโดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจาก ลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตาม พ.ร.บ.จั้ดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณา คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4359/2551
จำเลย ที่ 2 ยื่นคำให้การยอมรับว่าเสพเมทแอมเฟตามีนจริง แต่ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยที่ 2 แล้วบันทึกว่า สอบจำเลยที่ 2 แล้ว ยืนยันให้การปฏิเสธ เท่ากับจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพและลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าว โดยมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (8) และมาตรา 227 วรรคแรก แม้ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยว กับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1439/2551
ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 44 บัญญัติให้คำพิพากษาคดีอาญาต้องมีคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง อันเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำวินิจฉัยในส่วนดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยใช้เงิน 1,039,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งหมดโดยไม่ได้ให้เหตุผล จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อจำเลยเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดจำเลยก็ต้องร่วมกันกับผู้อื่น ที่เป็นตัวการคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอเกี่ยวกับของกลางมาด้วยก็ตาม ศาลจะสั่งคืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7787/2551
ก่อนจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย จำเลยนำอาวุธมีดที่ติดตัวออกมาวางบริเวณเสื่อที่จัดเตรียมไว้แล้วจึงกระทำ ชำเราผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายมิได้ยืนยันว่าจำเลยใช้อาวุธมีดขู่เข็ญบังคับให้ผู้เสียหายยอม ให้จำเลยกระทำชำเรา เมื่อจำเลยสำเร็จความใคร่แล้ว จำเลยนำอาวุธมีดมาถือไว้และข่มขู่ผู้เสียหายมิให้บอกแก่ผู้อื่นว่าถูกจำเลยกระทำชำเรา ซึ่งเป็นการใช้อาวุธมีดหลังจากที่จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายแล้ว พยานหลักฐานตามทางนำสืบของโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยยังไม่อาจรับฟัง ให้เป็นที่พอใจว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยใช้อาวุธ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม คงรับฟังให้เป็นยุติได้แต่เพียงว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4944/2551
คดีนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพ แต่ทางพิจารณาที่โจทก์นำสืบข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ศาลก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7654/2551
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต ศาลชั้นต้นต้องลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ตามฟ้องโจทก์ แม้ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งมีระวางโทษจำคุกต่ำกว่า เป็นการปรับบทผิดโดยพลั้งเผลอ แต่ศาลชั้นต้นก็ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต อันเป็นการถูกต้องตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม หากศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่าสมควรแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะแก้เฉพาะในส่วนที่เห็นว่าไม่ ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงควรแก้ไขโดยปรับบทความผิดให้ถูกต้องเป็นมาตรา 277 วรรคสาม โดยไม่จำเป็นต้องแก้โทษ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่แก้บท แต่กลับไปแก้โทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาถูกต้องแล้ว จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2550
ขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้และคดีอาญา 35 คดี ดังกล่าว จำเลยเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านซึ่งได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ด้วยในทุกคดี โดยจำเลยถือโอกาสที่เป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้านกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ และเอกสารโดยมีเจตนาเพื่อเบียดบังเอาเงินของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านที่มอบหมาย ให้จำเลยนำไปชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านไปเป็นประโยชน์ส่วนตนลักษณะแห่งคดีและ ความผิดเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกันได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (2)

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดโดยให้ นับโทษต่อรวมแล้วเกิน 20 ปี คดีถึงที่สุดแล้ว หากปรากฏว่าการนับโทษต่อขัดต่อ ป.อ. มาตรา 91 (1) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีคำสั่งแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่ให้ถูกต้องได้ ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะเป็นเรื่องการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5834/2550
ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลยทั้ง สามคนละไม่เกิน 5,000 บาท การที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ลดโทษปรับ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดโทษ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 39 (4)

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ กับขอให้ริบทรัพย์ของกลางแต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ กลางมิได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาฯมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้เอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

โดยสภาพของการกระทำความผิดฐานร่วมกันขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งแผ่นวีซีดีคาราโอเกะ แผ่นซีดีเพลงเอ็มพีสาม และแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ อันเป็นงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อการค้า แม้จำเลยทั้งสามไม่มีหรือไม่ใช้แผงเหล็กตั้งสินค้า สมุดบันทึกรายรับรายจ่ายตะกร้า กล่องพลาสติก ถุงพลาสติก ซองพลาสติก และผ้าปูโต๊ะของกลางในการกระทำความผิด จำเลยทั้งสามก็สามารถกระทำความผิดนี้สำเร็จได้ ของกลางเหล่านี้จึงไม่เป็นปัจจัยหลักหรือส่วนสำคัญในการกระทำความผิดดังกล่าว ทั้งสิ่งของเหล่านี้ก็มักจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามปกติในร้านค้าที่ขาย เสนอขาย หรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าไม่ว่าเป็นสินค้าประเภทใด ข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ชัดแจ้งพอฟังได้ว่า ของกลางดังกล่าวเป็นวัตถุหรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นหลักหรือมีส่วน สำคัญในการกระทำละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรง จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ต้องริบเสียทั้งสิ้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 ส่วนแผ่นซีดีก๊อปปี้ 350 แผ่น ของกลางนั้น ไม่ปรากฏว่ามีงานสร้างสรรค์อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่ใช่สิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ต้องริบตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 เช่นกัน

ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้นแผงเหล็กตั้งสินค้า สมุดบันทึกรายรับรายจ่าย ตะกร้า กล่องพลาสติก ซองพลาสติก ผ้าปูโต๊ะ และแผ่นซีดีก๊อปปี้ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามได้ใช้หรือมีไว้ เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานนี้ที่ศาลจะมีอำนาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

สิ่งบันทึกเสียงและสิ่งบันทึกภาพและเสียงที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางใน คดีนี้มีทั้งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายกับที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้เงินสด 1,750 บาท ของกลางมาโดยการขายงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในคดีนี้โดยมีการวางแผนล่อซื้อ จึงไม่ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสามได้เงินจำนวนดังกล่าวมาจากการขายงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางในคดีนี้ หรือเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามได้มาจากการขายงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือของผู้อื่นก่อนหน้านี้ ทั้งความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ที่จำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่จำเลยทั้งสาม ร่วมกันมีไว้เพื่อประกอบกิจการดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อ ใช้ในการกระทำความผิดฐานนี้ ดังนั้นแม้เงินที่จำเลยทั้งสามได้รับมาเป็นค่าตอบแทนการให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ตามฟ้อง ก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามได้มาโดยการกระทำความผิดฐานนี้ จึงไม่อาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (2) เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2550
การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ เมทแอมเฟตามีน 20,061 เม็ด ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่หลังจากที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด เสร็จสิ้นไปแล้ว จำเลยทั้งสองยังร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการจำหน่ายอีก 61 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายต่อไป จึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นใหม่แยกต่างหากจากกัน คือฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนฐานหนึ่งและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายอีกฐานหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจลงโทษอีกกรรมหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลยทั้งสองโดยโจทก์ไม่ได้ฎีกา ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225

โจทก์มีคำขอให้ริบรถยนต์และลูกกุญแจรถยนต์ของกลางซึ่งศาลชั้นต้นยกคำขอของ โจทก์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องการริบของกลางดังกล่าวย่อมยุติ จึงต้องคืนของกลางแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบ มาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4899/2550
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย จำเลยจะต้องชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตาม ป.อ. มาตรา 29 จำเลยจะขอชำระค่าปรับเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคหนึ่ง หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4897/2550
แม้ ป.วิ.อ.มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้าก็ตาม แต่ตาม ป.อ.มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงวิธีการบังคับชำระค่าปรับไว้โดยเฉพาะแล้ว โดยบัญญัติว่า ผู้ใดต้องโทษปรับ และไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ และตาม ป.วิ.อ.มาตรา 188 บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป ดังนั้น หากการบังคับชำระค่าปรับจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว กฎหมายย่อมบัญญัติไว้เช่นนั้นโดยตรง นอกจากนี้ ป.อ.มาตรา 29 วรรคแรก ได้บัญญัติถึงมาตรการชั่วคราวก่อนการบังคับชำระค่าปรับ ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งกักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้ จึงมีผลว่าศาลอาจมีคำสั่งให้กักขังแทนค่าปรับได้ทันทีตั้งแต่มีคำพิพากษา แต่การกักขังแทนค่าปรับไปพลางก่อนนั้นกฎหมายยังให้เวลาผู้ต้องโทษปรับจัดการ ให้ได้เงินมาชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา เมื่อครบกำหนดสามสิบวันแล้ว แม้จะมีอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษานั้นก็ไม่เป็นเหตุขัดขวางการที่ศาลจะบังคับ คดีไปตาม ป.อ.มาตรา 29

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9044/2550
ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และบทนิยามตามมาตรา 4 ผู้ที่จะมีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจจัดหางาน แต่ตามคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่ ส. ผู้เสียหายคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนาย ทะเบียนจัดหางานกลาง และมิได้เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหางานเพื่อส่ง คนงานไปทำงานในต่างประเทศ ความจริงแล้วจำเลยกับพวกไม่สามารถหางานให้ผู้เสียหายไปทำงานในต่างประเทศได้ จำเลยกับพวกจึงมิได้ประกอบธุรกิจจัดหางานให้แก่คนหางานหรือประกอบธุรกิจจัด หาลูกจ้างให้แก่นายจ้าง การกระทำของจำเลยกับพวกจึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง และมาตรา 82 แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8616/2550
ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง กฎหมายบัญญัติระวางโทษไว้ในมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โจทก์มิได้ฟ้องและได้ตัวจำเลยมายังศาลภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันกระทำความผิด คดีของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) ศาลต้องยกฟ้องในความผิดฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ไม่ได้ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีและใช้อาวุธปืนอาก้าซึ่งเป็นอาวุธปืน ที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ทำให้ ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามฟ้อง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม และการที่จำเลยมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบ ครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวไปปล้นทรัพย์ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ถือว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษจำเลยเพียงบทเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง เพียงบทเดียว และเรียงกระทงลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และมิได้เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8462/2550
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและ จำหน่าย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ฎีกา แม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่วินิจฉัยมาครอบคลุมไปถึงความผิดฐานดังกล่าว และพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกให้วินิจฉัยไปถึงความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบ มาตรา 225 โดยให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง และปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5346/2550
ข้อหาความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยเพราะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จ จริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 นั้น เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้ว เห็นว่ายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยจะเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่ในการปล้นทรัพย์รายนี้หรือไม่และ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ศาลฎีกาก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยในข้อหาความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4856/2550
"เลื่อยโซ่ยนต์" ตามคำนิยามในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ หมายความว่า เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อนติดกับโซ่ซึ่งขับ เคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกล และให้หมายความรวมถึงส่วนหนึ่งส่วนใดที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องมือดัง กล่าวด้วย ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง แต่เลื่อยวงเดือน ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานหมายความว่า เลื่อยชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลม มีฟันอยู่โดยรอบจึงเป็นเลื่อยคนละชนิดกัน เมื่อคำฟ้องโจทก์ระบุชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเลื่อยวงเดือนพร้อมใบเลื่อย มิใช่มีเลื่อยโซ่ยนต์ การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบ อนุญาตตาม มาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ฯ แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพก็ตาม เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดศาลฎีกาต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2550
ข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264, 265, 268 และ 341 มีอายุความฟ้อง 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จำเลยกระทำความผิดระหว่างต้นเดือนมกราคม 2537 ถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2538 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 14 มีนาคม 2548 คดีของโจทก์สำหรับจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าว จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2550
พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 12 บัญญัติว่า "ผู้ใดจัดให้มีการเล่นหรือทำอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวนโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้า พนันในการเล่น ซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานหรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลง...ผู้ นั้นมีความผิด..." ดังนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าบ้านและร่วมเล่นด้วย โดยมิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดให้มีการเล่น ถือได้ว่าคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้ กระทำผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นผู้จัดให้มีการเล่นด้วยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยที่ 1 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง, 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1502/2550
แม้ว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 3405/2545 แล้ว เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 6091/2545 ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ก็ตาม ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีดังกล่าวก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์จะรู้ได้เอง การที่ศาลอุทธรณ์ด่วนวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนโดยหยิบยกข้อเท็จจริง ดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา เพราะเป็นการนำข้อเท็จจริงนอกฟ้องมาวินิจฉัยข้อกฎหมายแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์ และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจที่พนักงานคุมประพฤติรายงานต่อศาลมิ ใช่ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสืบพยานของคู่ความและศาลไม่อาจนำมาเป็นเหตุยก ฟ้องโจทก์ได้ การกระทำความผิดที่ต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวแม้โจทก์แยกฟ้องเป็นหลายคดี ศาลก็จะพิพากษาลงโทษจำเลยทุกคดีไม่ได้ และ ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติห้ามมิให้ศาลสืบพยานหลักฐานต่อไปในกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพ ตามฟ้อง ป.วิ.อ. มาตรา 228 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจโดยพลการที่จะสืบพยานเพิ่มเติม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 996/2550
ความผิดฐานมีอาวุธปืน ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 8 เดือน และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน การที่จำเลยฎีกาเกี่ยวกับความผิดฐานนี้ขึ้นมาแม้จะต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาใน ปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่พอรับฟังว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและไม่ปรากฏว่ามีการยึดอาวุธปืนได้จากจำเลยเป็นของกลาง ศาลฎีกามีอำนาจที่จะยกฟ้องในความผิดฐานนี้ได้ด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน ทั้งตามมาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6982/2550
ในวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย จำเลยขอถอนคำให้การเดินแล้วให้การใหม่เป็นรับสารภาพ และตกลงกับผู้เสียหายขอผ่อนชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2548 ศาลชั้นต้นจึงนัดฟังคำพิพากษาหรือฟังผลการชำระหนี้ในวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ซึ่งการที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดโดยระบุว่า นัดฟังคำพิพากษาหรือฟังผลการชำระหนี้ย่อมมีนัยว่าโจทก์จำเลยตกลงผ่อนชำระ หนี้รายเดือนภายในวันที่นัดฟังผลการชำระหนี้นั้น หรือภายในวันที่ 25 ของเดือนซึ่งหากจำเลยผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลงกับผู้เสียหายไว้ ศาลก็จะเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาออกไปเพื่อให้โอกาสจำเลยผ่อนชำระหนี้ต่อไปให้ ครบถ้วน แต่ถ้าหากจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามข้อตกลงที่ได้แถลงไว้และผู้เสียหาย ไม่ประสงค์ให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ต่อไป ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจอ่านคำพิพากษาไปได้ วันดังกล่าวจึงเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ซึ่งจำเลยได้ทราบวันนัดโดยชอบแล้ว เมื่อปรากฏว่าในวันนัดจำเลยมิได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายอันเป็นการผิด เงื่อนไขที่ตกลงไว้กับผู้เสียหาย และผู้เสียหายแถลงว่าไม่ประสงค์ให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ต่อไปหากในวันดังกล่าว จำเลยมาศาล ศาลย่อมมีคำพิพากษาไปได้ในวันเดียวกันนั้น แต่จำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ตามข้อตกลงได้ และกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยหลบหนี หรือจงใจไม่มาฟังคำพิพากษา ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นให้ออกหมายจับจำเลยมาฟังคำพิพากษากับให้นัดฟังคำพิพากษา ใหม่ในวันที่ 10 กันยายน 2548 เมื่อถึงวันนัดซึ่งพ้น 1 เดือน นับแต่วันออกหมายจับแล้วไม่ได้ตัวจำเลยมาศาล ศาลชั้นต้นย่อมอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ จึงเป็นการอ่านคำพิพากษาโดยชอบด้วยกฎหมาย และถือว่าจำเลยได้ฟังคำพิพากษาในวันดังกล่าวแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 182 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6988/2549
การที่ศาลชั้นต้นมีองค์คณะ 2 คน พิพากษาคดีโดยถือเอาความเห็นของผู้พิพากษาคนหนึ่งว่า จำเลยมีความผิดและลงโทษจำเลย ซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากเป็นคำพิพากษา และถือเอาความเห็นของผู้พิพากษาอีกคนว่าจำเลยไม่มีความผิดและควรยกฟ้องซึ่ง เป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่าเป็นความเห็นแย้ง เป็นการขัดต่อบทบัญญัติ แห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 184 กรณีจึงต้องพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นพิพากษายกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3208/2549
ทนายจำเลยมิได้เป็นจำเลยหรือเป็นคู่ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (3) และมาตรา 2 (15) การที่ศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟังและให้จำเลยลงลายมือชื่อไว้แล้ว ทั้งจำเลยซึ่งเป็นชาวต่างประเทศเข้าใจผลแห่งคำพิพากษาโดยไม่ต้องมีล่าม จึงเป็นการอ่านคำพิพากษาที่ชอบด้วยมาตรา 182 วรรคสองและวรรคสามแล้ว ไม่มีเหตุยกเลิกการอ่านคำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรี ส่วนการที่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งวันนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ทนายจำเลยทราบ จะเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลยที่จะได้รับการปรึกษากับทนายจำเลยในการยื่นฎีกาหรือไม่ ก็ไม่เป็นเหตุให้การอ่านคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายกลับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9015/2547
ใบมอบฉันทะของโจทก์ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 ระบุว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ว. ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และลงลายมือชื่อรับทราบคำสั่งศาลในคดีนี้โดยมิได้ระบุว่าให้ฟังคำพิพากษาศาล อุทธรณ์ภาค 7 ในวันเวลาใด การมอบฉันทะดังกล่าวก็เพื่อให้ ว. มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 แทนโจทก์จนเสร็จการนั้นเอง ตราบใดที่ยังไม่มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว. ก็ยังมีอำนาจฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อยู่จนกว่าโจทก์จะถอนหรือยกเลิกใบมอบฉันทะดังกล่าว การที่ ว. มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 เวลา 16.15 นาฬิกา หลังจากที่ศาลมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546 เวลา 10 นาฬิกา ให้เลื่อนการฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไปเป็นวันที่ 11 มีนาคม 2546 เวลา 9 นาฬิกา และออกหมายจับจำเลยรวมทั้งปรับนายประกันแล้วเช่นนี้ ก็ต้องถือว่า ว. ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบฉันทะจากโจทก์ มิใช่กระทำโดยพลการตามที่โจทก์ฎีกาแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ ว. ฟังก็ต้องถือว่าได้อ่าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้โจทก์ฟังโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1819/2546
เดิมบริษัทเงินทุน ท. เป็นเจ้าของรถยนต์ให้จำเลยเช่าซื้อเมื่อวันที่ 1 เมษายน2540 จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2541 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถยนต์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 และผู้ร้องซื้อทรัพย์สินประเภทสัญญาเช่าซื้อจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินในนามและแทนบริษัทเงินทุน ท. เมื่อวันที่30 กรกฎาคม 2541 แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 188 จะบัญญัติว่า "คำพิพากษาหรือคำสั่งมีผลตั้งแต่วันที่ได้อ่านในศาลโดยเปิดเผยเป็นต้นไป" แต่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบรถยนต์ก็ยังไม่ทำให้รถยนต์ตกเป็นของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 35 ทันที เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด ดังนั้นในระหว่างที่คดียังไม่ถึงที่สุด บริษัทเงินทุน ท. ย่อมมีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ให้แก่ผู้ร้องได้โดยชอบและไม่มีบทกฎหมายใด บัญญัติห้ามโอนกรรมสิทธิ์กันไว้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์หลังจากคดีถึงที่สุดแล้วได้ภายใน กำหนด 1 ปี แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องเกิน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ประกอบกับพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 มาตรา 25 ก็มิได้บัญญัติยกเว้นการใช้บังคับบทบัญญัติการขอคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ ริบไว้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1296/2539
ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ได้นั่งพิจารณาฟังประเด็นกลับและจำเลยแถลงหมดพยานในวันดังกล่าวถือว่าเป็นผู้นั่งพิจารณาคดีชอบที่จะพิพากษาคดีในศาลชั้นต้นได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 183

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855/2530
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรและขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานรับของโจร ความรับผิดทางแพ่งของจำเลยคงมีอยู่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทาง อาญาฐานรับของโจรเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ก็ต้องแปลว่าเป็นคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ในส่วนที่จำเลยรับของโจร เมื่อผู้เสียหายได้รับของกลางที่จำเลยรับของโจรไว้คืนไปแล้ว ย่อมไม่อาจขอให้ยึดทรัพย์ของจำเลยขายทอดตลาดอีกได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3/2530)