หมายค้น

 มาตรา ๖๙  เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีดังต่อไปนี้

(๑) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา

(๒) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิดกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำความผิด

(๓) เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

(๔) เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ

(๕) เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว


มาตรา ๗๐  หมายค้นซึ่งออกเพื่อพบและจับบุคคลนั้นห้ามมิให้ออก เว้นแต่จะมีหมายจับบุคคลนั้นด้วย และเจ้าพนักงานซึ่งจะจัดการตามหมายค้นนั้นต้องมีทั้งหมายค้นและหมายจับ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6864/2562

ป.วิ.อ. มาตรา 69 (1) บัญญัติถึงเหตุที่ศาลจะออกหมายค้นไว้ว่า เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ดังนั้นในกรณีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาต่อศาลเองและคดีดังกล่าวมีการไต่สวนมูลฟ้อง หากราษฎรผู้เป็นโจทก์มีความจำเป็นต้องการค้นหาสิ่งของซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นเพื่อจะนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบการไต่สวนมูลฟ้องคดีของตน ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายค้นเพื่อพบและยึดสิ่งของดังกล่าวตามบทบัญญัติข้างต้นได้ หาใช่เป็นอำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจโดยเฉพาะที่จะร้องขอให้ศาลออกหมายค้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 59 วรรคสอง


การที่โจทก์เพิ่งมาขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นเพื่อนำไปค้นหาพยานหลักฐานในระหว่างที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกา จึงล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะนำพยานหลักฐานอื่นมาแสดงต่อศาลแล้ว แม้โจทก์จะอ้างว่าต้องการนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาประกอบฎีกาของโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มิได้อ้างอิงพยานวัตถุที่ต้องการให้ศาลออกหมายค้นไว้เป็นพยานหลักฐานในบัญชีระบุพยานตั้งแต่แรก หรือยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติมต่อศาลแต่อย่างใด ดังนั้นพยานวัตถุที่โจทก์ต้องการให้ศาลออกหมายค้นนั้น จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 229/1 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4316/2560

เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม อ. ค. และ ธ. ในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน อ. ค. และ ธ. ให้การว่า รับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเช่าห้องพักอยู่ในรีสอร์ต ห้องเลขที่ 12 เจ้าพนักงานตำรวจประสานกับผู้ดูแลรีสอร์ต จนเป็นที่แน่ใจว่าข้อมูลที่ได้จาก อ. ค. และ ธ. ถูกต้องแล้ว จึงเข้าตรวจค้นห้องพักของจำเลยที่ 1 ทันที เพราะน่าเชื่อว่าจะพบเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองพักชั่วคราว หากเนิ่นช้าไปกว่าจะได้หมายค้น จำเลยทั้งสองอาจนำเมทแอมเฟตามีนออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 96 (2) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีน 3 เม็ด ที่จำเลยที่ 2 และค้นพบเมทแอมเฟตามีน 554 เม็ด ภายในห้องซึ่งจำเลยที่ 1 รับว่าเป็นของตนอันเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 ประกอบ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15055/2558

ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า มีการจับกุม ป. โดยการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเมื่อเวลา 18.25 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ขอให้ศาลออกหมายค้นร้านเสริมสวยพูนศิริบิวตี้และไปตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนพร้อมกับอาวุธปืนและกระสุนปืนแล้วจึงนำตัว ป. มาที่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งย่อมจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการตามที่กล่าวพอสมควร ในเวลาประมาณ 20 นาฬิกา พันตำรวจตรี ธ. ได้ควบคุม ป. มายังห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ เหตุที่ยังไม่ได้นำตัว ป. ไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการสืบสวนขยายผล สอดคล้องกับบันทึกการจับกุม ป. ที่ระบุว่า ทำขึ้นเมื่อเวลา 20.30 นาฬิกา ของวันที่ 25 เมษายน 2549 เชื่อว่าในขณะนั้นพันตำรวจตรี ธ. ยังไม่ได้นำตัว ป. ส่งพนักงานสอบสวน ป. จึงยังอยู่ในการควบคุมของพันตำรวจตรี ธ.


ต่อมาเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยมาพบพันตำรวจตรี ธ. แจ้งว่าเป็นน้องชาย ป. และเสนอจะให้เงิน 400,000 บาท ถ้าปล่อยตัว ป. พันตำรวจตรี ธ. รับปากจะช่วยเหลือ จำเลยนัดจะนำเงินมาให้ในวันรุ่งขึ้นเวลา 9 นาฬิกา หลังจากนั้นพันตำรวจตรี ธ. ได้รายงานผู้บังคับบัญชาและไปขอลงรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษเพื่อวางแผนจับกุมตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ซึ่งร้อยตำรวจตรี ม. เป็นผู้บันทึก ต่อมาวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 10 นาฬิกา จำเลยถือถุงกระดาษสีน้ำตาลมาหาพันตำรวจตรี ธ. ที่ห้องสืบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดศรีสะเกษ จำเลยแจ้งว่าเงินครบ แล้วล้วงเอาธนบัตรจำนวน 400,000 บาท ออกมาจากถุง พันตำรวจตรี ธ. จึงจับกุมจำเลยพร้อมยึดธนบัตรจำนวนดังกล่าวเป็นของกลาง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานให้และขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 144 และเงินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด จึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)


พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 (2) บัญญัติว่า ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น...(2) จัดหาหรือให้เงิน... เพื่อมิให้ผู้กระทำผิดถูกลงโทษ... และมาตรา 3 นิยามคำว่า "ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด" หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด... โจทก์บรรยายฟ้องในข้อหานี้ว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 พันตำรวจตรี ธ. กับพวกร่วมกันจับกุม ป. ผู้ต้องหา พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เป็นของกลางเพื่อดำเนินคดี ต่อมาจำเลยได้เสนอขอให้และให้เงินสินบน 400,000 บาท แก่ผู้จับกุม เพื่อจูงใจให้ปล่อยตัว ป. ไปเสีย การกระทำของจำเลยเป็นการจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานผู้จับกุม ป. ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2260/2549 ของศาลชั้นต้น เพื่อมิให้ ป. ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกลงโทษ จำเลยจึงต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดฐานนั้น เห็นได้ว่า ป. ต้องกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฐานใดฐานหนึ่ง และจำเลยให้เงินเพื่อมิให้ ป. ถูกลงโทษ จึงต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. ในความผิดฐานนั้น ดังนั้น โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดแจ้งว่า ป. ได้กระทำความผิดในข้อหาใด ปริมาณยาเสพติดให้โทษมีเพียงใด และศาลลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 บทมาตราใด โจทก์จะบรรยายคลุมๆ ว่า ป. กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ได้ เพราะหากจำเลยมีความผิดก็ต้องระวางโทษจำเลยเช่นเดียวกับ ป. เมื่อไม่ได้บรรยายความผิดของ ป. ตามที่กล่าว ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยได้ แม้โจทก์จะระบุหมายเลขคดีที่ ป. ถูกลงโทษมาในฟ้อง แต่ก็ไม่มีรายละเอียด เมื่อฟ้องโจทก์ขาดข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558

ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157


ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)


การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180


โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362


ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10067/2558

การที่พันตำรวจโท ก. แสดงบัตร ป.ป.ส. ต่อจำเลยก่อนทำการค้น แสดงว่าพันตำรวจโท ก. แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และตามพฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้จำเลยจะหลบหนีไป ทั้งทรัพย์สินในบ้านเกิดเหตุซึ่งมีไว้เป็นความผิดจะถูกโยกย้าย ซุกซ่อน ทำลาย หรือทำให้เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม พันตำรวจโท ก. กับพวกจึงมีอำนาจเข้าไปในบ้านเกิดเหตุเพื่อตรวจค้นโดยไม่ต้องมีหมายค้นตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 14 ประกอบมาตรา 14 ตรี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10060/2558

ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนในท้องที่ โดยจำเลยที่ 1 ใช้รถยนต์ยี่ห้อนิสสันสีขาวของสถานีอนามัยมีตราของกระทรวงสาธารณสุขเป็นยานพาหนะประจำ ในคืนเกิดเหตุช่วงเวลาประมาณ 3 ถึง 4 นาฬิกา มีผู้แจ้งเบาะแสโดยส่งข้อความไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของดาบตำรวจ ส. รวม 6 ครั้ง 6 ข้อความ ว่ามีคนส่งยาบ้าที่พีพีรีสอร์ต ห้องที่ 14 ให้รีบไปเร็ว ๆ ก่อนเขาหนี เป็นรายใหญ่ ถ้าไม่ไปฉันจะไม่ส่งข่าวอีก เมื่อดาบตำรวจ ส. ไปที่รีสอร์ตพบรถดังกล่าวจอดอยู่ที่ห้องที่ 15 จำได้ว่าเป็นรถที่จำเลยที่ 1 ใช้อยู่ สอบถามพนักงานรีสอร์ตแจ้งว่าเจ้าของรถมากับผู้หญิงพักอยู่ห้องที่ 14 ดาบตำรวจ ส. จึงเชื่อในเบาะแสที่แจ้งมา ดาบตำรวจ ส. กับพวกให้พนักงานรีสอร์ตเคาะประตูห้องที่ 14 ว่าขอเช็กมิเตอร์ ปรากฏว่าคนในห้องเปิดประตูออกมา ขณะนั้นไฟในห้องยังเปิดอยู่ เมื่อดาบตำรวจ ส. แจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ คนในห้องดันประตูกลับคืนและปิดไฟ เป็นพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามที่ได้รับแจ้ง ทั้งที่เกิดเหตุเป็นรีสอร์ตซึ่งจำเลยทั้งสองไปพักชั่วคราว จำเลยทั้งสองจะออกไปจากรีสอร์ตเมื่อใดก็ได้ หากเนิ่นช้าไปกว่าจะเอาหมายค้นมาทำการตรวจค้นในวันรุ่งขึ้น จำเลยทั้งสองจะออกจากห้องพักเสียก่อนพร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลาง เป็นเหตุให้พยานหลักฐานสำคัญสูญหาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งทำให้เจ้าพนักงานเข้าไปค้นในห้องพักโดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และ มาตรา 96 (2) และเมื่อเจ้าพนักงานพบอุปกรณ์การเสพและเมทแอมเฟตามีน 11 เม็ดในห้องพักดังกล่าว กับพบเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด ในรถยนต์ จึงเป็นความผิดซึ่งหน้าซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยทั้งสองได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1), 80 หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ทำรายงานการตรวจค้นและผลการตรวจค้นไว้ในบันทึกการจับกุมเสนอผู้บังคับบัญชา ดังนั้น การตรวจค้นและจับกุมในกรณีนี้จึงเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5568/2558

เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นที่เกิดเหตุโดยมีหมายค้น แต่คนที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุไม่มีใครยอมเปิดประตูให้ การที่เจ้าพนักงานตำรวจงัดกุญแจประตูรั้วบ้าน และเข้าไปดำเนินการตรวจค้นเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและเป็นการกระทำตามสมควรเพื่อให้สามารถเข้าไปในที่เกิดเหตุได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6875/2557

พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 มาตรา 30 เป็นบทบัญญัติให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าไปในสถานที่ที่มีการขุดดินหรือถมดินเพียงเพื่อตรวจสอบว่ามีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้หรือกฎกระทรวงหรือข้อบัญญัติท้องถิ่นหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้หรือไม่เท่านั้น กรณีหาจำต้องมีหมายค้นของศาลไม่ เมื่อผู้เสียหายแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 และแจ้งว่ามีความประสงค์จะตรวจสอบที่ดินตามที่มีการแจ้งว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การขุดดินและถมดิน พ.ศ.2543 แต่จำเลยไม่ยอมให้เข้าไปในที่ดินเพื่อตรวจสอบ การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาขัดขวางผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19357/2556

แม้บ้านที่เกิดเหตุเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของโจทก์ แต่ก็ยังเป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านที่เกิดเหตุด้วย พื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้านในเวลาราชการจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เพราะประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ และหากมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดร้อยเอ็ด ให้เป็นเจ้าหน้าที่ป้องกันปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดร้อยเอ็ด ย่อมมีอำนาจเข้าค้น อีกทั้งจำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุในเวลาประมาณ 11 นาฬิกา อันเป็นเวลาราชการ โดยไม่ปรากฏว่ามีการค้นเกินเลยจากพื้นที่ส่วนที่เป็นที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน เหตุที่จำเลยทั้งสี่เข้าไปค้นบ้านที่เกิดเหตุและค้นตัวโจทก์ก็เพราะมีเหตุอันควรสงสัยว่าโจทก์มีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิดต่อกฎหมายเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่จึงมีอำนาจกระทำเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.อ มาตรา 93


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16150/2556

จำเลยที่ 1 เป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 จำเลยที่ 1 จึงเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์บรรยายฟ้องต่อไปว่าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำงานประจำอยู่ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดระนอง จำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกฝ่ายก่อสร้างและบำรุงรักษา จำเลยที่ 4 เป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกบริหารพัสดุ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ย่อมเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 สูญหายและตรวจพบว่าที่ร้านของโจทก์มีทรัพย์สินลักษณะเดียวกับของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดทรัพย์สินดังกล่าวโดยมีหมายค้นของศาล ทั้งมิได้กระทำเพื่อประโยชน์อันเป็นการเฉพาะตัว ย่อมเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 แล้ว แม้โจทก์อ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 มีเจตนารมณ์ให้ผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐโดยตรง จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ เพื่อมิให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่และยังเป็นการบั่นทอนขวัญและกำลังใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ อันเป็นบทยกเว้นหลักกฎหมายเอกชนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีไม่อาจนำหลักความรับผิดของผู้กระทำละเมิดและเรื่องความรับผิดของนายจ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 425 มาใช้บังคับกับคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4958/2556

อาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์สร้างจากเงินบริจาคของประชาชนบนที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบลดอนมนต์ แม้โจทก์จะร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างด้วย แต่วัตถุประสงค์ที่ก่อสร้างก็เพื่อใช้เป็นที่พักของเจ้าพนักงานตำรวจที่เป็นสายตรวจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาแจ้งความร้องทุกข์ ย่อมแสดงว่าประชาชนประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่ราชการที่สามารถเข้ามาติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ ทั้งอาคารดังกล่าวได้ขอเลขที่บ้านโดยระบุว่าเป็นที่ทำการสถานีตำรวจชุมชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากหัวหน้าสถานีตำรวจชุมชนตำบลดอนมนต์ จึงบ่งชี้ว่าประชาชนที่ร่วมกันก่อสร้างได้มอบอาคารดังกล่าวให้เป็นสถานที่ราชการตำรวจโดยปริยายแล้ว อาคารดังกล่าวจึงไม่ใช่ที่รโหฐานอันเป็นที่ส่วนตัวของโจทก์ที่จะมีอำนาจจัดการหวงห้ามได้ สำหรับห้องพักที่เกิดเหตุที่โจทก์กั้นเป็นสัดส่วนนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่พักสายตรวจตำบลดอนมนต์ นอกจากโจทก์จะใช้เป็นที่พักอาศัยแล้วเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจอื่นก็สามารถใช้ประโยชน์จากห้องดังกล่าวได้ แม้โจทก์จะเก็บสิ่งของส่วนตัวไว้และใส่กุญแจก็ไม่ใช่ห้องพักส่วนตัวที่โจทก์จะมีสิทธิหวงกันไว้ผู้เดียวได้ ห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน ประกอบกับจำเลยเข้าไปในห้องพักที่เกิดเหตุเพื่อค้นหาอาวุธปืนตามที่ผู้ใช้กระทำความผิดแจ้งว่านำมาไว้ในอาคารที่พักสายตรวจดอนมนต์ จึงมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีสิ่งของที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิดซ่อนไว้ในห้องพักที่เกิดเหตุ เช่นนี้ จำเลยย่อมมีอำนาจค้นห้องพักที่เกิดเหตุได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น หาใช่เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11411/2554

การออกหมายจับและหมายค้นในชั้นสอบสวน เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเพื่อให้การสอบสวนดำเนินไปได้ แม้พนักงานสอบสวนจะต้องมาร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ออกหมายจับและหมายค้น แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ฟ้องเป็นคดีมาถึงศาล เมื่อศาลชั้นต้นเห็นสมควรสั่งประการใดแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายประสงค์จะให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 หากผู้ร้องอ้างข้อมูลอันเป็นเท็จ ผู้ต้องหาก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการแก่ผู้ร้องตามที่เห็นสมควรเป็นกรณีต่างหากได้ ผู้ต้องหาจึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ต้องหาที่ให้เพิกถอนหมายจับและหมายค้นในชั้นสอบสวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8764/2554

หลังเกิดเหตุผู้เสียหายแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจทันทีแล้วเจ้าพนักงานตำรวจได้ออกสกัดจับคนร้ายในเส้นทางที่คาดว่าคนร้ายจะใช้หลบหนี ก่อนจับกุมเจ้าพนักงานตำรวจรับทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับรถจักยานยนต์ของคนร้ายและของผู้เสียหายจากผู้เสียหาย และเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งออกมาสกัดจับคนร้ายที่พบรถจักรยานยนต์ต้องสงสัยทั้งสองคันตามที่ได้รับแจ้งในเวลาต่อเนื่องกัน และยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์ผู้เสียหายแล้วขับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ชิงมาได้หลบหนีฝ่าด่านสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมยังติดตามต่อเนื่องจนกระทั่งพบเห็นจำเลยที่ 1 วิ่งหลบหนีเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามพฤติการณ์แทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดมาแล้วสด ๆ อันถือได้ว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 (2) ที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถกระทำการจับกุมจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (1) และมาตรา 92 (3)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2554

ปัญหาข้อกฎหมายว่า การค้นและการสอบสวนไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังนี้ แม้หมายค้นจะระบุให้พันตำรวจโท ป. กับพวกมีอำนาจตรวจค้นบ้านเลขที่ 57/7 ข้างหมู่บ้าน ป.ผาสุก ส่วนบ้านจำเลยเป็นเลขที่ 67 ก็ตาม แต่บ้านจำเลยอยู่ข้างหมู่บ้าน ป.ผาสุก และพันตำรวจโท ป. ได้แนบหลักฐานภาพถ่ายจำเลยขณะอยู่ในบ้านประกอบคำขอเพื่อแสดงว่าประสงค์จะขอหมายค้นบ้านจำเลย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาออกหมายค้นตามขอ จึงเป็นการให้อำนาจพันตำรวจโท ป. ค้นบ้านจำเลยนั่นเอง การตรวจค้นบ้านจำเลยตามหมายค้นจึงชอบด้วยกฎหมาย สิ่งของที่ได้จากการค้นย่อมนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานคดีนี้ได้


ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 37 ให้ยกเลิกความเดิมตามมาตรา 134 และให้ใช้ข้อความใหม่ตามที่จำเลยอ้างแทน แต่มาตรา 2 กำหนดให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ นับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลย้อนหลัง จึงไม่มีผลกระทบต่อกระบวนพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยถูกจับส่งตัวให้พนักงานสอบสวนในวันที่ 15 ธันวาคม 2545 พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิและแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดก่อน ก็หาทำให้การสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบแต่อย่างใดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4737/2554

พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 52 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้นั้นระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไข หรือปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ในการนี้หากเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรพนักงานเจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้ผู้นั้นส่งออกไปซึ่งวัตถุอันตรายนั้น เพื่อคืนให้แก่ผู้ผลิตหรือผู้จัดส่งวัตถุอันตรายนั้นมาให้ หรือเพื่อการอื่นตามความเหมาะสมก็ได้ โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด..." เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำการฝ่าฝืน พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือแก้ไข หรือปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการอย่างอื่นตามความเหมาะสมได้ แต่ก็ต้องเป็นการกระทำเพียงเพื่อประโยชน์ในการเข้าตรวจสอบสถานที่ประกอบการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย การตรวจ ค้น กัก ยึดหรือตรวจสอบวัตถุอันตรายตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 54 (1) (2) (3) มิได้ให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์ได้ แม้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองจะได้กระทำการดังกล่าวโดยมีเจตนาเพื่อปกป้องคุ้มครองประโยชน์สาธารณะแต่บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของเจ้าของทรัพย์สิน จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด กรณีจึงไม่อาจนำคำว่า "ระงับ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งมีความหมายว่า "ยับยั้งไว้, ทำให้สงบ" มาขยายความให้หมายความรวมถึงการใส่กุญแจปิดโรงงานดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้แย้งได้ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยทั้งสองใส่กุญแจปิดโรงงานของโจทก์จึงเป็นการกระทำเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13535/2553

ในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยและพนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยนั้น พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 22)ฯ มาตรา 4 และมาตรา 39 ซึ่งได้บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 7/1 และมาตรา 134/4 ที่บัญญัติให้มีการแจ้งสิทธิดังกล่าวแก่ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหายังได้ออกใช้บังคับ ประกอบกับ ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวก็ไม่มีบทบัญญัติให้นำมาตรา 7/1 และ มาตรา 134/4 มาใช้บังคับแก่คดีที่มีการจับกุมและสอบสวนเสร็จสิ้นไปก่อนวันที่กฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จึงต้องใช้หลักทั่วไปที่ว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมและพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงสิทธิต่างๆ โดยละเอียดดังกล่าวจึงชอบแล้ว


โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่ามีการสอบสวนแล้ว ทั้งจำเลยก็มิได้ฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบเพราะเหตุผลอื่นๆ เพียงแต่อ้างว่าการตรวจค้นโดยไม่มีหมายค้นเป็นการไม่ชอบ จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องชอบแล้วนอกจากนี้การตรวจค้นและการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกัน แม้การตรวจค้นจับกุมและไม่ชอบด้วยกฎหมายก็หามีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่


ร้อยตำรวจเอก ป. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้ นอกจากนี้ยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (16) (17) และมาตรา 17 ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น ร้อยตำรวจเอก ป. จึงมีอำนาจจับกุม ควบคุมตัวจำเลย ตลอดจนการจัดทำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในอำนาจหน้าที่ได้ หาใช่จะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหรือไม่ขึ้นอยู่กับการลงบันทึกประจำวันว่าออกปฏิบัติหน้าที่ดังที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12779/2553

การที่จะวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจสามารถตรวจค้นอู่ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และจับจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับนั้น จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำความผิดได้อยู่ในสถานที่ตรวจค้นและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อน และมีเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่มีหมายจับของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 และมาตรา 92 (4) หรือไม่ จึงเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง


ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนโดยคำนวณจากราคารถยนต์ 370,000 บาท หักราคาของกลางที่ได้คืนจำนวน 192,710 บาท คิดเป็นราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 177,290 บาท นั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจร ความรับผิดทางแพ่งของจำเลยที่ 1 จะต้องมีอยู่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทางอาญาฐานรับของโจรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับของกลางที่จำเลยที่ 1 รับของโจรไว้คืนไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจขอให้คืนหรือใช้ราคาในส่วนนี้เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจไว้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6942/2551

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 15 เม็ด มิได้บรรยายว่าจำนวนเม็ดของเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นหน่วยการใช้ด้วย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเมทแอมเฟตามีนจำนวน 15 เม็ด ที่จำเลยมีไว้ในครอบครองมีปริมาณสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปและเมทแอมเฟตามีนของกลางมีน้ำหนัก 1.39 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.316 กรัม เท่านั้น ไม่เข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2)


บ้านที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นและจับกุมจำเลยนั้นเป็นบ้านของจำเลยไม่มีเลขที่ปลูกติดอยู่กับบ้านเลขที่ 297 ของ ฉ. บิดาจำเลย ซึ่งเป็นบ้านที่ตามที่ระบุไว้ในหมายค้น ย่อมเข้าใจได้ว่าเป็นบ้านเลขที่เดียวกัน การตรวจค้นของเจ้าพนักงานตำรวจจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4958/2551

แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะมิได้ดำเนินการขอหมายค้นจากศาลชั้นต้นก่อนเข้าตรวจค้นบ้านจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนที่หน้าบ้านจำเลย และเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมได้แอบซุ่มดูและเห็นเหตุการณ์การล่อซื้อดังกล่าว จึงเข้าตรวจค้นและจับกุมจำเลย เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดซึ่งหน้า และการตรวจค้นจับกุมได้กระทำต่อเนื่องกัน เจ้าพนักงานตำรวจจึงเข้าตรวจค้นบ้านจำเลยได้โดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (2) (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3751/2551

ฎีกาของจำเลยที่ว่า คำเบิกความของร้อยตำรวจเอก น. ขัดกับบันทึกการจับกุม แต่ไม่ปรากฏตามฎีกาของจำเลยว่าขัดกันอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


ร้านก๋วยเตี๋ยวของจำเลยขณะเปิดบริการมิใช่ที่รโหฐาน แต่เป็นที่สาธารณสถาน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองอันเป็นความผิดต่อกฎหมายย่อมมีอำนาจค้นจำเลยได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 และเมื่อตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนอยู่ในครอบครองจำเลย การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจจับจำเลยได้โดยต้องมีหมายจับตามมาตรา 78 (1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8753/2550

ในคดีรับของโจรนั้น โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 รับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการกระทำความผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ลักมา เมื่อโจทก์คงมีเพียงร้อยตำรวจเอก ว. มาเบิกความเพียงว่า ตรวจค้นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย และรถจักรยานยนต์อีก 2 คันอยู่ภายในโรงรถที่บ้านจำเลยที่ 1 ซึ่งน่าเชื่อว่ามิใช่เพราะทราบเบาะแสของรถจักรยานยนต์เพราะยังพบเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด และไม้กระยาเลยไว้ในครอบครองเกินปริมาตรโดยไม่รับอนุญาตด้วย นอกจากนี้หมายค้นที่ออกให้ค้นบ้านจำเลยที่ 1 ระบุเพื่อพบสิ่งผิดกฎหมายหรือยึดสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามกฎหมาย หรือได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำผิดซุกซ่อนเท่านั้น มิได้ระบุชัดเจนว่า เพราะสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซึ่งทรัพย์ของกลางโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ทั้งเมื่อถูกจับกุมจำเลยที่ 1 ก็ให้การปฏิเสธทันทีว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ฝากไว้ โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 ลักทรัพย์ของกลางมาส่วนข้อหาอื่นจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ การนำสืบของโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของใจร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6539/2550

ความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจรที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้ ดังนั้น แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ฉะนั้น หนังสือมอบอำนาจจะชอบด้วยกฎหมายอย่างไรหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


การตรวจค้นเพื่อยึดของกลางและการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกัน แม้การตรวจค้นเพื่อยึดของกลางอาจมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หามีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎมายไปด้วยไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่ามีการสอบสวนแล้วจำเลยมิได้ฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบ เพียงแต่อ้างว่าการยึดรถจักรยานยนต์ของกลางในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวค้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6894/2549

หนังสือร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมซึ่งมีข้อความว่า มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมที่บริเวณศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ขอแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) แล้วไม่จำเป็นต้องระบุชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำความผิด


ร้านที่เกิดเหตุเป็นร้านจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องเล่นเกมต่างๆ และแผ่นเกม ย่อมเป็นสถานที่ที่เชื้อเชิญให้ประชาชนทั่วไปสามารถเดินเข้าไปดูและเลือกซื้อสินค้าได้ นับเป็นที่สาธารณสถานซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ เมื่อสิบตำรวจ ส. เป็นผู้ทำการตรวจค้น แผ่นซีดีเกมอยู่ในตะกร้าซึ่งอยู่ในตู้สามารถมองเห็นได้ โดยแผ่นซีดีเกมของกลางดังกล่าวละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วม มีลักษณะภายนอกของแผ่นซีดีของกลางต่างจากของโจทก์ร่วมอย่างเห็นได้ชัด จึงเป็นกรณีของการค้นในที่สาธารณสถานโดยเจ้าพนักงานตำรวจซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่าร้านที่เกิดเหตุมีสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิด ไม่จำเป็นต้องมีหมายค้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 93 ทั้งเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถจับจำเลยได้ตามมาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา 80 วรรคหนึ่ง การค้นและจับจึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4752/2549

เมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยและศาลประทับฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 และมาตรา 88 ที่ใช้ขณะยื่นคำร้องและที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนต่างหากจากการจับกุมและควบคุมจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจที่ ผู้ร้องอ้างว่ามิชอบด้วยกฎหมาย การคุมขังจำเลยระหว่างพิจารณาจึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 90


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1167/2546

การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 130 เม็ด ไว้ในครอบครองแล้วจะสันนิษฐานว่าจำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหาชอบไม่ โจทก์จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยจนได้ความแน่ ชัดปราศจากข้อสงสัย ศาลจึงจะรับฟังลงโทษจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174


แม้การตรวจค้นจับกุมอาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หามีผลทำให้การสอบสวนที่ชอบเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1388/2545

เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจจับจำเลยได้โดย ไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 66 (2) ส่วนข้อตกลงระหว่างกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงกลาโหมเป็นข้อตกลงในทางปฏิบัติ เท่านั้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจมิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ ทำให้การจับจำเลยเสียไป เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว


การใช้ลูกระเบิดในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น เป็นลักษณะที่จะทำให้ตายโดยใช้อาวุธร้ายแรงมีอำนาจแห่งการทำลายกว้างขวาง มิได้มีการกระทำอันแสดงถึงความโหดร้ายทารุณเป็นพิเศษแต่ประการใด กรณีจึงไม่เข้าลักษณะการกระทำโดยทารุณโหดร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 289 (5)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 270/2543

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางออกหมายค้นบ้านของผู้คัดค้าน เนื่องจากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ออก โดยอ้างว่าบ้านดังกล่าวมีเครื่องมือแพทย์ที่มีเครื่องหมายการค้าของบริษัท ด. ปลอม ซุกซ่อนอยู่โดยผิดกฎหมาย ซึ่งขั้นตอนการขอออกหมายค้นดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้การค้นเป็นไปตามรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ซึ่งเป็นบทบัญญัติกำหนดมาตราการเพื่อป้องกันมิให้เจ้าพนักงานทำการค้นโดย ปราศจากเหตุอันสมควรตามกฎหมาย อันจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล เมื่อศาลออกหมายค้นและเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นเสร็จสิ้นแล้ว แต่ไม่พบของผิดกฎหมาย กระบวนการในการขอออกหมายค้น การออกหมายค้นรวมทั้งอำนาจในการปฏิบัติตามหมายค้นได้เสร็จสิ้นยุติไปแล้ว การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อทราบสาเหตุและหลักฐานอันเป็น ที่มาในการขอออกหมายค้น ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนคำร้องไว้นั้น จึงไม่เกิดประโยชน์แก่การป้องกันการตรวจค้นโดยปราศจากเหตุสมควรตามกฎหมาย เพราะการตรวจค้นได้ยุติไปแล้ว ถ้าผู้คัดค้านติดใจสงสัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจขอตรวจค้นโดยไม่มีหลักฐานและ เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้คัดค้านตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่ง ราชอาณาจักรไทย ผู้คัดค้านสามารถเรียกร้องความยุติธรรมจากศาลได้โดยการฟ้องร้องว่ากล่าวเป็น อีกคดีหนึ่ง ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อเยียวยาความเสียหายได้ ดังนั้น ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ย่อมมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งเดิมเป็นให้งดไต่สวนได้ไม่ถือว่าเป็นการ ปฏิเสธความยุติธรรม


คำร้องของผู้คัดค้านที่ขอให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ผู้คัดค้านโต้แย้งว่าศาลจะนำเอามาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105 แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาใช้บังคับในการออกหมายค้นไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 238 ทั้งที่รูปคดียังไม่มีปัญหาที่ศาลจะใช้บทบัญญัติมาตรา 69 และมาตรา 94 ถึง 105แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาบังคับแก่คดีแต่ประการใดจึงมิใช่กรณีที่ศาลจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐ ธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7355/2542

ตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ มาตรา 112 ในกรณีที่มีปัญหาค่าอากรสำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ผู้นำเข้าสามารถนำหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางแทนการวางเงินเพิ่มเติม เป็นประกันก็ได้ และนำสินค้าออกไปจากอารักขาของศุลกากร ทั้งนี้ ก็เพื่อความสะดวกแก่ผู้นำเข้าเองโดยไม่ต้องนำของนั้นไปยังศุลกสถานหรือเก็บ ไว้ในที่มั่นคงแห่งใด ส่วนการที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะชักตัวอย่างของไว้วินิจฉัยปัญหาก็เพื่อ เปรียบเทียบราคาตลาดกับสินค้าที่มีชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนักอย่างเดียวกัน หากพนักงานเจ้าหน้าที่มิได้ชักตัวอย่างสินค้าไว้ ก็เป็นภาระของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความว่าจำเลยที่ 1 สำแดงราคาสินค้าพิพาทต่ำกว่าราคาตลาด หามีผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นไปโดยมิชอบไม่


จำเลยทั้งสองมิได้ให้การว่า การที่พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสำนักงานจำเลยที่ 1 แล้วยึดเอกสาร มาประเมินสินค้านั้น เป็นกรณีไม่มีเหตุที่จะออกหมายค้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 69 หมายค้นที่ออกไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานที่ได้มาจากการตรวจค้นจึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ การที่จำเลยทั้งสองเพิ่งยกขึ้นอ้างใน ชั้นอุทธรณ์ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นสำนักงานจำเลยที่ 1 แล้วยึดเอกสารมาประเมินราคาสินค้า เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


ในการพิจารณาสืบพยานนั้น เป็นดุลพินิจของศาลในการจดบันทึกคำพยาน ข้อความที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ขอให้ศาลจดบันทึกนั้นเป็นรายละเอียดที่มีอยู่ในเอกสารแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องบันทึกอีก ที่ศาลภาษีอากรกลางใช้ดุลพินิจ ไม่บันทึกจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 360/2542

การค้นในคดีนี้เป็นการค้นเพื่อพบและยึดยาเสพติดซึ่งเป็น สิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามที่ได้รับแจ้งจากสายลับ การออกหมายค้นจึงกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 69(2) และไม่จำต้องออกหมายจับบุคคลตามมาตรา 70 ด้วย เมื่อตรวจค้นแล้วพบว่าจำเลยมีเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีนไว้ใน ครอบครอง ซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าพนักงานตำรวจจึงมี อำนาจจับจำเลยได้ตามมาตรา 78(1)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4668/2541

ร้อยตำรวจเอกณ.ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ทำ หน้าที่ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับ ยาเสพติดให้โทษ ย่อมมีอำนาจตรวจค้นจับกุมและควบคุม ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดได้ทั่วราชอาณาจักร โดยไม่ต้องมีหมายค้นหรือหมายจับ ตามพระราชบัญญัติป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 แม้บัตรของสำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่ออกให้แก่ร้อยตำรวจเอกณ. จะหมดอายุการใช้บัตรแล้วก็ตาม ก็ไม่ทำให้ร้อยตำรวจเอกณ.ในฐานะ เจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีอำนาจตรวจค้น จับกุม และควบคุมจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้นการตรวจค้น จับกุม และควบคุมจำเลยทั้งสองจึงชอบด้วย กฎหมายแล้ว การที่พยานโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเบิกความตามที่ตนรู้เห็นจากการ ปฏิบัติราชการตามหน้าที่และไม่เคยมี สาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสองมาก่อนคำเบิกความของพยานโจทก์ ทั้งสองปากนี้ย่อมมีน้ำหนักให้รับฟังได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2541

การปฏิบัติตามมาตรา 240 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2540 และ ป.วิ.อ.มาตรา 90 อันเป็นบทบัญญัติให้ศาลตรวจสอบว่ามีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 31 และ 26 นั้น ศาลจะต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกคุมขังเป็นสำคัญฉะนั้นเมื่อมี เหตุอันสมควรเชื่อว่าอาจมีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ถือว่ามีมูลที่ศาลจะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 240 ได้


ผู้เสียหายแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่า ระหว่างวันที่ 2ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540 ว.กับพวก คือ พ. ส. และ น.ได้ร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืน ทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม อ.เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2540 จากนั้นพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัว อ.ตลอดมาจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2540 จึงขอฝากขังครั้งที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตต่อมาวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 ผู้ร้องซึ่งเป็นทนายความของ อ.ยื่นคำร้องอ้างว่าการจับและคุมขังระหว่างสอบสวนดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ปรากฏว่ามีการออกหมายจับ อ. และตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ก็ปรากฏข้อมูลเบื้องต้นเพียงว่าผู้ถูกร้องทุกข์กล่าวหาว่ากระทำความผิดมี เพียง 4 คน ไม่ปรากฏชัดว่ามีเหตุตามสมควรว่าควรนำตัว อ.มาสอบสวนดำเนินคดีด้วยอย่างใดหรือไม่ ไม่ปรากฏว่าอ.ตกเป็นผู้ต้องหาซึ่งถูกสงสัยโดยมีเหตุอันสมควรที่จะออกหมายจับ ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 66 (2) ไม่ปรากฏว่าการจับ อ.เป็นการจับเพราะกระทำความผิดซึ่งหน้าหรือพบ อ.กำลังพยายามกระทำความผิด หรือพบ อ.โดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าอ.จะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถใช้ในการกระทำความผิด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า อ.ได้กระทำความผิดมาแล้วและจะหลบหนี จึงไม่ใช่กรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจะจับได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ.มาตรา 78 (1) (2) และ (3) ส่วนที่ระบุในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีว่าผู้เสียหายแจ้งให้จับโดยได้มี การร้องทุกข์ไว้แล้ว ก็ปรากฏว่าผู้เสียหายไม่ได้ร้องทุกข์ว่า อ.ร่วมกับ ว.กระทำความผิดดังกล่าวแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวมามีข้อน่าสงสัยตามสมควรว่าเจ้าพนักงานตำรวจได้ปฏิบัติใน การจับและควบคุม อ.ผู้ถูกจับโดยถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้หรือไม่ ทั้งหากการจับ อ.ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วพนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจที่จะควบคุมตัว อ.ต่อเนื่องจากการจับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายขัง ในระหว่างสอบสวนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 87 ได้ ซึ่งหากศาลสั่งให้ผู้คุมขังหรือผู้ก่อให้เกิดการคุมขังนำตัว อ.มาเพื่อให้บุคคลดังกล่าวแสดงข้อมูลหรือพยานหลักฐานจะทำให้ปรากฏแน่ชัดว่า มีการจับหรือคุมขังโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และศาลก็สามารถพิจารณาถึงเหตุในการจับและคุมขังตลอดจนพฤติการณ์และขั้นตอนใน การคุมขังให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้อย่างสมบูรณ์สมตามเจตนารมณ์ ของกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลดังกล่าวแล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลที่ศาลจะดำเนินการต่อไป ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 240


เมื่อคำร้องของผู้ร้องมีมูลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 240 จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการต่อไปตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ หากได้ความว่ายังมีการคุมขังผู้ใดอยู่ และผู้คุมขังแสดงให้เป็นที่พอใจศาลชั้นต้นไม่ได้ว่าการคุมขังนั้นเป็นการชอบ ด้วยกฎหมาย ก็ให้ศาลชั้นต้นสั่งปล่อยผู้ถูกคุมขังไปทันที


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1547/2540

การตรวจค้นการจับกุมและการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกันหากการตรวจค้น และจับกุมมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่จะว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เมื่อคดีนี้มีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามกฎหมายแล้วแม้การ ตรวจค้นและจับกุมมีปัญหาว่าอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายก็หากระทบกระเทือนถึงการฟ้อง คดีอาญาไม่ทั้งจำเลยมิได้ฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบเพราะเหตุผลอื่นๆอีกจึงต้อง ถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องนั้นชอบแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ เท่าใดจึงลงโทษตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ.2518 มาตรา106ทวิไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2536

เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าจำเลยมีพฤติการณ์น่าสงสัยโดยตอนกลางวันจะปิดบ้านและเก็บ ตัวอยู่ภายในบ้าน ตอนกลางคืนจึงออกจากบ้านไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพื่อนบ้านและไม่ปรากฏว่าประกอบ อาชีพอะไร สงสัยว่าภายในบ้านจะมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ในบ้าน ที่เกิดเหตุอันเป็นเหตุให้ออกหมายค้นได้ จำเลยใช้มือผลักหน้าอกของร้อยตำรวจโทป. ขณะเข้าตรวจค้นตามหมายค้นอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ การที่จำเลยชี้นิ้วและพูดด่าร้อยตำรวจโทป. กับพวกในขณะเข้าทำการตรวจค้นว่า "ไอ้พวกอันธพาลไอ้พวกฉิบหายไอ้มือปืน" และยังได้ร้องด่าอีกว่า "ตำรวจหัวควย" ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามจึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่ง กระทำการตามหน้าที่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2060/2521

เมื่อผู้เสียหายได้รับประกันตัว เหตุที่จะจับผู้เสียหายตามหมายจับของศาลก็เป็นอันหมดไป เจ้าพนักงานตำรวจไม่มีเหตุจับผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยทราบดีอยู่แล้ว ยังจงใจใช้หมายจับที่ศาลได้ออกก่อนผู้เสียหายมีประกันตัวมาให้เจ้าพนักงาน ตำรวจจับผู้เสียหายอีกเจ้าพนักงานตำรวจจำต้องจับกุมตามหมายศาล จึงไม่ใช่เรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานตำรวจ ที่จะพิจารณาว่าสมควรจับกุมตามควรแก่กรณีหรือไม่ รูปคดีชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาร้ายทำให้ผู้เสียหายต้องถูกจับ จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 187/2507

การจับในที่รโหฐานในเวลากลางคืนโดยไม่มีหมายจับนั้นเมื่อพฤติการณ์ปรากฏว่าความผิดซึ่งหน้า ซึ่งจำเลยผู้ถูกจับได้กระทำแล้วหลบหนีเข้าไปเป็นเพียงความผิดฐานลหุโทษตำรวจ ผู้จับรู้จักจำเลยและหลักแหล่งของจำเลยมาก่อนทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยจะหลบหนี ต่อไปเช่นนี้ ก็ไม่เป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 96(2) จ่าสิบตำรวจ สิบตำรวจโท และพลตำรวจจึงไม่มีอำนาจเข้าไปจับ การเข้าไปจับโดยไม่มีอำนาจเช่นนี้จำเลยย่อมกระทำการป้องกันได้และเมื่อไม่ เกินสมควรแก่เหตุ จำเลยก็ไม่มีความผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1341/2509

เมื่อมีผู้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดิน จำเลยย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(2) แล้ว ซึ่งในชั้นสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 พนักงานสอบสวนจะบังคับให้ผู้ต้องหาให้ถ้อยคำใดๆไม่ได้และมาตรา 135 ก็บัญญัติห้ามมิให้พนักงานสอบสวนล่อลวงหรือขู่เข็ญผู้ต้องหาให้ให้การอีก ด้วย จึงเห็นได้ว่าหมายเรียกของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหามาเพื่อให้การ ไม่เข้าลักษณะเป็นคำบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168


กรณีผู้ต้องหาขัดขืนไม่มาให้การตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66(3) บัญญัติทางแก้ไว้ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายจับตัวมาได้ เป็นการลงโทษอยู่แล้ว จึงเห็นได้ว่าเจตนารมย์ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168 หาได้มุ่งหมายจะใช้บังคับกับผู้ต้องหาที่ขัดขืนไม่มาให้การต่อพนักงานสอบสวน ตามหมายเรียกด้วยไม่(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2509)