การอุทธรณ์คดีอาญา

ลักษณะ ๑

อุทธรณ์

หมวด ๑

หลักทั่วไป

 

มาตรา ๑๙๓ คดีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งศาลชั้นต้นในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์เว้นแต่จะถูกห้ามอุทธรณ์โดยประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น


อุทธรณ์ทุกฉบับต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลําดับ


มาตรา ๑๙๓ ทวิ ห้ามมิให้อุทธรณ์คําพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกําหนดไว้ให้จําคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่กรณีต่อไปนี้ให้จําเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้


(๑) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุกหรือให้ลงโทษกักขังแทนโทษจําคุก


(๒) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษจําคุก แต่ศาลรอการลงโทษไว้


(๓) ศาลพิพากษาว่าจําเลยมีความผิด แต่รอการกําหนดโทษไว้หรือ


(๔) จําเลยต้องคําพิพากษาให้ลงโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท


มาตรา ๑๙๓ ตรี ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๙๓ ทวิถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคําพิพากษาหรือทําความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสําคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่า มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป


มาตรา ๑๙๔ ถ้ามีอุทธรณ์แต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ๆ ศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสํานวน


มาตรา ๑๙๕ ข้อกฎหมายทั้งปวงอันคู่ความอุทธรณ์ร้องอ้างอิงให้แสดงไว้โดยชัดเจนในฟ้องอุทธรณ์แต่ต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วแต่ในศาลชั้นต้น


ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยอุทธรณ์เหล่านี้ผู้อุทธรณ์หรือศาลยกขึ้นอ้างได้แม้ว่าจะไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้นก็ตาม


มาตรา ๑๙๖ คําสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทําให้คดีเสร็จสํานวน ห้ามมิให้อุทธรณ์คําสั่งนั้นจนกว่าจะมีคําพิพากษาหรือคําสั่งในประเด็นสําคัญและมีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งนั้นด้วย


มาตรา ๑๙๗ เหตุที่มีอุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งฉบับหนึ่งแล้ว หาเป็นผลตัดสิทธิผู้อื่นซึ่งมีสิทธิอุทธรณ์จะอุทธรณ์ด้วยไม่


มาตรา ๑๙๘ การยื่นอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นในกําหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคําพิพากษาหรือคําสั่งให้คู่ความฝ่ายที่อุทธรณ์ฟัง


ให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับให้จดเหตุผลไว้ในคําสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน


มาตรา ๑๙๘ ทวิ เมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์เป็นคําร้องอุทธรณ์คําสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ได้คําร้องเช่นนี้ให้ยื่นที่ศาลชั้นต้นภายในกําหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคําสั่ง แล้วให้ศาลนั้นรีบส่งคําร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลอุทธรณ์พร้อมด้วยอุทธรณ์และคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้น


เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นสมควรตรวจสํานวนเพื่อสั่งคําร้องเรื่องนั้น ก็ให้สั่งศาลชั้นต้นส่งมาให้


ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคําร้องนั้นแล้วมีคําสั่งยืนตามคําปฏิเสธของศาลชั้นต้น หรือมีคําสั่งให้รับอุทธรณ์คําสั่งนี้ให้เป็นที่สุดแล้วส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่าน


มาตรา ๑๙๙ ผู้อุทธรณ์ต้องขังหรือต้องจําคุกอยู่ในเรือนจํา อาจยื่นอุทธรณ์ต่อพัศดีภายในกําหนดอายุอุทธรณ์เมื่อได้รับอุทธรณ์นั้นแล้ว ให้พัศดีออกใบรับให้แก่ผู้ยื่นอุทธรณ์แล้วให้รีบส่งอุทธรณ์นั้นไปยังศาลชั้นต้น


อุทธรณ์ฉบับใดที่ยื่นต่อพัศดีส่งไปถึงศาลเมื่อพ้นกําหนดอายุอุทธรณ์แล้วถ้าปรากฏว่าการส่งชักช้านั้นมิใช่เป็นความผิดของผู้ยื่นอุทธรณ์ให้ถือว่าเป็นอุทธรณ์ที่ได้ยื่นภายในกําหนดอายุอุทธรณ์


มาตรา ๒๐๐ ให้ศาลส่งสําเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกําหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสําเนาอุทธรณ์


มาตรา ๒๐๑ เมื่อศาลส่งสําเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบหรือหลบหนีหรือจงใจไม่รับสําเนาอุทธรณ์หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้ว หรือพ้นกําหนดแก้อุทธรณ์แล้วให้ศาลรีบส่งสํานวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทําการพิจารณาพิพากษาต่อไป


มาตรา ๒๐๒ ผู้อุทธรณ์มีอํานาจยื่นคําร้องขอถอนอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นก่อนส่งสํานวนไปศาลอุทธรณ์ในกรณีเช่นนี้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตได้เมื่อส่งสํานวนไปแล้วให้ยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือต่อศาลชั้นต้นเพื่อส่งไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง ทั้งนี้ต้องก่อนอ่านคําพิพากษาศาลอุทธรณ์


เมื่อถอนไปแล้ว ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมิได้อุทธรณ์คําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งอุทธรณ์จะเด็ดขาดต่อเมื่อคดีถึงที่สุดโดยไม่มีการแก้คําพิพากษาหรือคําสั่งศาลชั้นต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2580/2563

คำว่า "ซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน" ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก หมายถึงการเป็นภริยาหรือสามีกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1457 ที่บัญญัติว่า "การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น" เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้เสียหายที่ 1 และจำเลยจึงยังมิใช่ภริยาหรือสามีกัน


จำเลยฎีกาว่า เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ยินยอมไปกับจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม นั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง และไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จะยกขึ้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 225 ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า แม้จำเลยให้การรับสารภาพ แต่โจทก์มิได้นำพยานหลักฐานมาสืบประกอบให้ได้ความชัดว่า จำเลยสอดใส่อวัยวะเพศของจำเลยเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 หรือผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ใช้อวัยวะเพศของจำเลยสอดใส่กระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 1 เอง นั้น จำเลยมิได้นำสืบต่อสู้ในศาลชั้นต้น ทั้งมิได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงนี้ขึ้นต่อสู้ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งยังไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1457/2563

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุอันสมควร โดยไม่ได้บรรยายฟ้องถึงองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย แม้โจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 365 ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 365 (1) ไม่ได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2563

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี แต่มีผู้พิพากษาลงนามเพียงคนเดียว จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) โดยผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบตามบทกฎหมาย และมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ แม้ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วในศาลล่าง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นฎีกาได้ในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7142/2562

ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารเป็นความผิดนับแต่จำเลยทั้งสองกับพวกเริ่มพรากผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่ผู้เสียหายที่ 1 อยู่นอกราชอาณาจักร และเป็นความผิดต่อเนื่องติดต่อกันตลอดมาในท้องที่ต่าง ๆ หลายท้องที่ตลอดเวลาที่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันพาผู้เสียหายที่ 1 เข้ามาในราชอาณาจักรและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ไว้เพื่อการค้าประเวณีที่จังหวัดตราด ถือได้ว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อเนื่องเกิดขึ้นหลายท้องที่ทั้งนอกราชอาณาจักรและในราชอาณาจักร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องตามมาตรา 5 แห่งประมวลกฎหมายอาญา


ความผิดฐานพาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเพื่อการอนาจารตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคแรก (เดิม) และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ตามมาตรา 284 วรรคแรก (เดิม) ต้องเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของตนเองหรือผู้ร่วมกระทำความผิดกับตน เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันเป็นธุระจัดหาและพาผู้เสียหายที่ 1 ไปเพื่อให้กระทำการค้าประเวณี อันเป็นการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น มิใช่เพื่อสนองความใคร่ของจำเลยทั้งสองกับพวก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดสองฐานนี้


ความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี กับความผิดฐานร่วมกันดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี เมื่อจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของ ผู้ดูแล หรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณีและดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีของจำเลยทั้งสองนั้นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท


ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 แก้ไขอัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา 286 วรรคแรก และมาตรา 318 วรรคสาม แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายเดิมในขณะที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิด แต่ต่อมาในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2562 ให้ยกเลิกความในมาตรา 286 ซึ่งกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณเฉพาะในส่วนโทษจำคุก จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6724/2562

ป.อ. มาตรา 23 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ศาลจะพิพากษาให้ลงโทษกักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้นก็ได้" เห็นได้ว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจศาลในการที่จะใช้ดุลพินิจลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกก็ได้ หากเข้าเงื่อนไขตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าว แต่โทษกักขังดังกล่าว เป็นการใช้โทษกักขังแทนโทษจำคุกในคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน และที่กฎหมายบัญญัติให้กักขังไม่เกินสามเดือนแทนโทษจำคุกนั้น เพื่อให้การกำหนดโทษกักขังเป็นเช่นเดียวกับโทษจำคุกดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนโทษจำคุก 1 เดือน เป็นโทษกักขังแทน มีกำหนด 2 เดือน ซึ่งไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6551/2562

ที่โจทก์ขอให้บวกโทษจำคุก 15 วัน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 606/2560 ของศาลจังหวัดพระโขนง เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้นั้น เห็นว่า ในคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 76 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว หลังจากนั้นระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาในคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมาตรา 17 ยกเลิกความในมาตรา 76 วรรคสอง และให้ใช้ข้อความใหม่แทนว่า "ถ้ายาเสพติดซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำตามวรรคหนึ่งนั้นเป็นพืชกระท่อม ผู้นั้นต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท" อันเป็นกรณีที่กฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำที่โจทก์ขอให้บวกโทษเป็นความผิดอยู่ แต่โทษตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดมีเพียงโทษปรับซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ากฎหมายเก่าที่มีโทษจำคุกด้วย กรณีจึงไม่อาจบวกโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) และ ป.วิ.อ. มาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5819/2562

พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 บัญญัติว่า "บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด กระทำการหรือไม่กระทำการเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลดังกล่าวต้องระวางโทษ..." ดังนั้นการกระทำความผิดฐานดังกล่าวผู้กระทำจะต้องมีมูลเหตุจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลอันถือเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ แต่โจทก์บรรยายคำฟ้องเพียงว่า จำเลยซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทกระทำนิติกรรมอำพรางเพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นรวมทั้งโจทก์ขาดประโยชน์อันควรได้ มิได้บรรยายว่า การกระทำของจำเลยเป็นไปโดยมีมูลเหตุชักจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่นิติบุคคลแต่ประการใด คำฟ้องของโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 41 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5623/2562

การที่จำเลยต้องคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้รับโทษจำคุกและไม่ได้ถูกคุมขังยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาโดยไม่ได้แสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาล แม้อุทธรณ์ของจำเลยมิใช่อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการกระทำอันเป็นความผิด แต่เป็นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกาแก่จำเลยก็ตาม ก็ต้องอยู่ในบังคับบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2562

ความผิดฐานรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงานตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มีบทกำหนดโทษในมาตรา 102 ต่อมามีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.3 ว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2560 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน และบรรยายฟ้องข้อ 1.5 ว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างวันที่ 13 มกราคม 2560 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 มกราคม 2561 เวลากลางวันต่อเนื่องกัน กรณีต้องถือว่าการกระทำความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยตามฟ้องในช่วงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษจึงไม่ต้องรับโทษในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดตามฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป เมื่อภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา มี พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มาตรา 71 มิให้นำมาตรา 102 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้มาใช้บังคับจนกว่าจะถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 จึงถือว่าการกระทำความผิดฐานดังกล่าวของจำเลยตามฟ้องตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษในทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5069/2562

สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม แต่เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องคดีก่อน


ในการขายสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีนั้น จำเลยที่ 1 จะบริการฉีดสารดังกล่าวให้ภายหลังการขาย โดยจะติดตามไปฉีดให้แก่ลูกค้าที่สถานที่ที่ลูกค้าสะดวกในลักษณะเป็นการบริการหลังการขาย อันถือเป็นส่วนหนึ่งของการขาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขายสารดังกล่าว ย่อมต้องทราบทางปฏิบัติว่าจะต้องมีบริการฉีดสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายลูกค้าด้วยเสมอ พฤติการณ์ที่มีเพียงจำเลยที่ 1 เป็นผู้ฉีดนั้นจึงถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันในการฉีดสารดังกล่าวให้แก่ลูกค้า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีเจตนาร่วมกันจึงต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงมีความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต


ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 การที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงผู้เสียหายว่าสารที่ตนนำมาขายให้แก่ผู้เสียหายคือสเต็มเซลล์ที่แท้จริง ก็เพื่อประสงค์จะขายสารดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายเป็นสำคัญ การหลอกลวงกับการขายจึงเกลื่อนกลืนกันไปเป็นเจตนาเดียว ความผิดฐานฉ้อโกง พยายามฉ้อโกง ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การหลอกขายสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้เสียหายนั้น มีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผู้เสียหายแต่ละรายแตกต่างกันไป ทั้งยังต่างวัน เวลา และสถานที่ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน


ความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น กฎหมายมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ในทุก ๆ ครั้งที่ประชาชนได้รับบริการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ฉีดยาให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เสร็จสิ้นในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่างวันเวลา จึงเป็นความผิดที่แยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่ฉีด แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมาเพียงกรรมเดียวและโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ จึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสามได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2562

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับ ห. และพวกฝ่ายหนึ่ง กับ ณ. และพวกอีกฝ่ายหนึ่งสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยจำเลยเป็นฝ่ายร่วมดำเนินการจัดหา สั่งการ และให้เงินทุนในการลำเลียงยาเสพติดแก่ ณ. และพวก แต่ในชั้นพิจารณาไม่ปรากฏข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยได้เข้าร่วมตกลงคบคิดเพื่อค้ายาเสพติดของกลางกับ ห. และพวก คงได้ความเพียงว่า หลังจากกลุ่มคนดังกล่าวสมคบกันลำเลียงยาเสพติดของกลางแล้ว จำเลยได้รับการติดต่อจากหญิงชาวลาวที่ชื่อ ม. เครือข่ายยาเสพติดของ ห. ให้โอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดเข้าบัญชีเงินฝากของ ณ. เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจาก ห. และพวกสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วเช่นนี้ ยังไม่พอฟังว่าจำเลยได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้สมคบกับ ห. และพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว แม้ในเวลาต่อมา ณ. และพวกร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน จำเลยย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่การที่จำเลยโอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดของกลางแก่ ณ. บางส่วน ย่อมถือได้ว่าจำเลยสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แม้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกับพวกเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 แต่เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และได้ความว่ามีการขออนุมัติจับกุมจำเลยในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 ไว้ด้วย ทั้งได้รับอนุมัติการจับกุมโดยชอบตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว และโจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 6 ดังกล่าวมาด้วย ดังนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (1) ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4385/2562

ภายหลังจากจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 โจทก์ยังฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก จากกรณีที่จำเลยจับผู้เสียหายที่ 1 มัดไว้กับเก้าอี้เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง และฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต จนผู้ถูกข่มขืนใจกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้นหรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 309 วรรคแรก จากกรณีที่จำเลยข่มขู่ผู้เสียหายที่ 1 มิให้นำเรื่องที่เกิดขึ้นไปบอกผู้ใด มิฉะนั้นจะใช้มีดฟันให้ตาย เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งด้วย ซึ่งลักษณะความผิดในแต่ละข้อหาดังกล่าวแม้จะเป็นการกระทำต่อเนื่องเชื่อมโยงอยู่ในวาระเดียวกันโดยมุ่งหมายมิให้ผู้เสียหายที่ 1 บอกเรื่องที่จำเลยกระทำต่อบุคคลอื่น แต่ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 ได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยครบทุกกรรมได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2594/2562

สิทธินำคดีอาญามาฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยให้การรับสารภาพและไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น จำเลยก็ชอบที่ยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จำเลยฎีกาแต่ในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225


ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นกับความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดคนละประเภทกันและยังเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมกันโดยอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ ทั้งยังเป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับซึ่งมีองค์ประกอบแห่งความผิดแตกต่างกันและเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวทั้งเจตนาในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวก่อให้เกิดผลที่แตกต่างกันสามารถแยกเจตนาในการกระทำความผิดออกจากกันได้ แม้จำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานโดยมีเจตนาเพื่อฆ่าผู้อื่น การกระทำของจำเลยก็เป็นคนละกรรม ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 มิใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวกัน โจทก์ย่อมมีอำนาจแยกฟ้องจำเลยเป็นคนละคดีได้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยและศาลพิพากษาลงโทษ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ไปแล้ว คดีย่อมเสร็จเด็ดขาดเฉพาะกระทงความผิด ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ เท่านั้น ส่วนกระทงความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นยังหาได้มีการวินิจฉัยในเนื้อหาความผิดแต่อย่างใด จะถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานนี้แล้วไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเป็นคดีนี้ได้อีก ไม่เป็นฟ้องซ้ำ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 232/2562

จำเลยอุทธรณ์ว่า เจ้าพนักงานไม่ได้ยึดอาวุธปืนและรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง ดังนั้น ที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักอาวุธปืนโดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิด และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ และจำเลยฎีกาต่อมา ศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งเป็นข้อยกเว้นให้คู่ความมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ แม้ว่าจะมิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี (1)....(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี" ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติแต่เพียงว่าคำฟ้องต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ส่วนรายละเอียดที่ว่าเจ้าพนักงานยึดของกลางได้หรือไม่ อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวในฟ้อง เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญแห่งการกระทำผิดของจำเลย ทั้งคดีนี้เดิมจำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพโดยมิได้หลงต่อสู้แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย


จำเลยฎีกาว่า จำเลยถูกจับกุมเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 และถูกคุมขังมาโดยตลอดจึงต้องหักวันต้องขังให้แก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 22 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น เห็นว่า ฎีกาจำเลยดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นบังคับคดี ซึ่งมิใช่เป็นการฎีกาโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองว่าพิพากษาคดีไม่ถูกต้องแต่ประการใด จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 และมาตรา 216 หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นบังคับคดีไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาก็ชอบที่จะยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นโดยขอให้แก้ไขให้ถูกต้องเสียก่อน หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเป็นประการใดแล้วจำเลยจึงจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อมาได้เป็นลำดับ การที่จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


จำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับคำขอให้นับโทษต่อไม่ชัดแจ้ง และจำเลยต้องโทษหลายคดี หากบังคับนับโทษต่อจากคดีที่จำเลยต้องโทษเป็นคดีสุดท้าย ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย อาจทำให้การบังคับโทษจำคุกไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา 91 และมาตรา 98 เมื่อกรณียังมีข้อสงสัยต้องยกคำขอให้นับโทษต่อนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น กับขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวถือว่าฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า จำเลยถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีที่ขอให้นับโทษต่อดังกล่าวแล้ว โดยไม่จำต้องระบุรายละเอียดว่าต้องนับโทษในคดีนี้ต่อจากโทษในคดีใด อย่างไร เพราะการขอให้นับโทษต่อหาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าต้องกล่าวรายละเอียดมาในคำฟ้องหรือเป็นหน้าที่โจทก์ที่ต้องแถลงวิธีการนับโทษต่อให้ศาลทราบดังที่จำเลยฎีกาไม่ เมื่อจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงในข้อที่ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อตามคำให้การฉบับลงวันที่ 19 มกราคม 2560 โดยไม่ได้คัดค้านว่าไม่อาจนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าวได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้นับโทษของจำเลยต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.5084/2558 และหมายเลขแดงที่ อ.5230/2558 ของศาลชั้นต้น มานั้น จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4265/2561

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาไว้ตามคำร้องของผู้ร้องมีกำหนด 12 วัน เพื่อสอบสวนดำเนินคดีผู้ต้องหาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาฎีกา เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา 71 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อออกหมายขังโดยทันที... กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา 87 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม..." มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" มาตรา 66 บัญญัติว่า "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี" ตามบทบัญญัติข้างต้นให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 คดีนี้ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกระบวนการก่อนฟ้องซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีตัวจำเลยในการพิจารณาคดีของศาล ทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 106 บัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นฝากขังระหว่างสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2561

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลย ทนายจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่มาแสดงตน เช่นนี้ การที่ทนายจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยปัญหาตามข้ออุทธรณ์แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6816/2560

แบบพิมพ์คำร้องขอให้รับรองอุทธรณ์และแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ของโจทก์มีข้อความว่า "ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบ" ซึ่งคำร้องและอุทธรณ์ดังกล่าวศาลมีคำสั่งในวันที่โจทก์ยื่น คือ วันที่ 1 เมษายน 2559 จึงต้องถือว่าโจทก์ทราบคำสั่งศาลในวันที่ยื่นแล้ว ส่วนที่ในคำร้องและอุทธรณ์มีข้อความเพิ่มเติมว่า "ให้มาทราบคำสั่งทุก 7 วัน ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งโดยชอบแล้ว" นั้น มีความหมายว่า หากศาลมิได้มีคำสั่งในวันยื่นนั้นเลย ให้เป็นหน้าที่ของผู้ยื่นต้องมาทราบคำสั่งทุก 7 วัน กรณีของโจทก์จึงต้องถือว่าได้ทราบคำสั่งศาลในวันยื่นคำร้องและอุทธรณ์แล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์มายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในวันที่ 20 เมษายน 2559 จึงเป็นการยื่นเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 413/2560

จำเลยยื่นฎีกาว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์โดยได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ผู้พิพากษาลงลายมือชื่อรับรองตามกฎหมายแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิด แต่ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปรับการฝึกและอบรมมีกำหนดโทษขั้นต่ำ 3 เดือน อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า "คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด..." ดังนั้น การพิจารณาว่าจำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าไม่ได้กระทำความผิดได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา คือ พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปรับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี มีกำหนดขั้นต่ำ 3 เดือน นับแต่วันพิพากษา อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริง ดังนั้น การที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุบลราชธานีอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงโดยมิได้ให้ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นผู้อนุญาต จึงเป็นการไม่ชอบ ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2559)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9648/2559

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใด... คดีนี้ จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะเนื้อหาแห่งคดีในปัญหาข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด โดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาด้วย ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295, 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนให้ตาม ป.อ. มาตรา 75 กึ่งหนึ่ง จำคุก 2 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนจังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกินไปกว่าที่จำเลยมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความต่อศาลขัดแย้งในข้อหาสาระสำคัญทำให้ไม่น่าเชื่อถือ อันเป็นอุทธรณ์โต้แย้งในเนื้อหาแห่งคดีเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ตาม แต่การอนุญาตให้อุทธรณ์ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 181 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นในอันที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8726/2559

คำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ มีผลทำให้คดีเสร็จไปจากศาล การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดี จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2559

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาใหม่ โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเด็ดขาดเมื่อโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงไม่มีคดีของจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คำสั่งขอให้รวมการพิจารณาคดี คำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8760/2559

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และฐานเสพเมทแอมเฟตามีน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น โดยอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้กล่าวถึงความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นอย่างไร หรือศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ชอบอย่างไร ทั้งความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ด้วย เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะถือว่าการที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไปโดยปริยายหาได้ไม่ กรณีดังกล่าวเท่ากับโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนด้วย แม้การลงโทษจำคุกในความผิดฐานสนับสนุนการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและการรอการลงโทษจำคุกในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จะเป็นการลงโทษที่ลักลั่นกันก็ตาม แต่การลงโทษที่ลักลั่นกันดังกล่าวมิได้เกิดจากการใช้ดุลพินิจของศาล แต่เกิดจากการที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ในความผิดฐานที่ศาลรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน แม้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสนับสนุนการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่รอการลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4200/2559

ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสองประกอบ มาตรา 216 วรรคหนึ่งและมาตรา 225 วางหลักว่า ฎีกาทุกฉบับต้องมีข้อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โจทก์ร่วมที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ร่วมที่ 2 ฎีกาโดยคัดลอกข้อความที่อุทธรณ์มาเป็นฎีกาทั้งสิ้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้ยกเหตุผลคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไรและด้วยเหตุผลใด ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


โจทก์ฎีกาว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง และตับออกจากร่างกายของ ล. และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง ออกจากร่างกายของ น. เพื่อนำเอาอวัยวะนั้นไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น ล. และ น.ยังไม่อยู่ในสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ผู้ป่วยราย ล. และ น. ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะฐานกะโหลกแตกและสมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทำให้สมองบวมกดแกนสมองเคลื่อนไป แพทย์ตรวจพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองราย ไม่รู้สึกตัวและอยู่ในเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากไม่หายใจ เกณฑ์การตรวจและวินิจฉัยสมองตายกระทำโดยการตรวจและทดสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศของแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายและตามหลักวิชาทางการแพทย์ ปรากฏว่าผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด และเมื่อถอดเครื่องช่วยหายใจออกก็ไม่หายใจ แสดงให้เห็นได้ว่าแกนสมองของผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถหายใจได้อย่างแน่นอน ก่อนทำการผ่าตัดวิสัญญีแพทย์ตรวจพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองรายไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด แกนสมองตายแล้วและไม่หายใจเช่นเดียวกัน จึงน่าเชื่อว่าก่อนทำการผ่าตัดนำอวัยวะออกไปนั้น ผู้ป่วยทั้งสองรายแกนสมองตาย มีผลทำให้หัวใจขาดออกซิเจน กล้ามเนื้อหัวใจจะหยุดทำงานและหัวใจจะหยุดเต้นในเวลาต่อมา โจทก์อุทธรณ์โดยมิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยในส่วนดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ล. และ น. อยู่ในสภาวะสมองตายก่อนที่จะมีการผ่าตัดเอาอวัยวะออกจากร่างกายไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปแล้วมาโต้เถียงใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และเป็นกรณีไม่อาจอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะอ้างว่ามีการวินิจฉัยสมองตายตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตามประกาศแพทยสภาไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา เช่น ไม่ได้กระทำโดยองค์คณะแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน ไม่ได้บันทึกว่าแกนสมองตายนั้น เห็นว่า ข้อความในฎีกาโจทก์เป็นทำนองเดียวกับที่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์อันเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแกนสมองของ ล. และ น. ถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป บุคคลทั้งสองจึงอยู่ในสภาวะสมองตายตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายฉบับแรกและฉบับที่ 2 ก่อนทำการผ่าตัดนำอวัยวะของ ล. และ น. ออกไป วิสัญญีแพทย์ ตรวจผู้ป่วยทั้งสองแล้ว ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด และเมื่อปลดเครื่องช่วยหายใจออกจากท่อแล้วผู้ป่วยไม่หายใจเอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แกนสมองของผู้ป่วยทั้งสองคนถูกทำลายจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้แล้ว ทำให้ไม่สามารถหายใจได้เองโดยปราศจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตามประกาศแพทยสภา แม้การวินิจฉัยเรื่องแกนสมองตาย จะขาดตกบกพร่องไปบ้าง เช่น ไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ของแพทยสภา หรือการวินิจฉัยสมองตายกระทำโดยแพทย์ไม่ครบ 3 คน ก็เป็นความบกพร่องในด้านการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ถูกลงโทษโดยแพทยสภาไปแล้ว โดยโจทก์มิได้โต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรและด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 216 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การตายของ ล. และ น. จะนำหลักเกณฑ์ตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายซึ่งออกในปี 2532 และตามประกาศแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 ปี 2539 มาใช้ไม่ได้ เนื่องจากเป็นการวินิจฉัยการตายในทางการแพทย์ที่จะใช้ในการเปลี่ยนปลูกถ่ายอวัยวะ แต่คดีนี้จะต้องวินิจฉัยการตายตามความหมายในทางกฎหมาย คือ การไม่หายใจและหัวใจหยุดทำงาน นั้น เห็นว่า ป.อ. มาตรา 288 ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นมีองค์ประกอบความผิดประการหนึ่ง คือ ฆ่า คำว่า "ฆ่า" เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไปว่า หมายถึงการกระทำด้วยประการใดๆ ให้คนตาย แต่ตาม ป.อ. มิได้กำหนดบทนิยามคำว่า "ตาย" ว่ามีความหมายอย่างไร และไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดนิยามความตายให้ชัดแจ้ง เมื่อตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 กำหนดให้แพทย์เป็นผู้ออกหนังสือรับรองการตาย ดังนั้น การวินิจฉัยการตายจึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องให้แพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้วินิจฉัย โดยที่งานของแพทย์มีลักษณะเป็นวิชาชีพ จึงเป็นงานที่ต้องมีกรอบขนบธรรมเนียมและจรรยาบรรณของหมู่คณะโดยเฉพาะ และเป็นการใช้ความรู้ในวิทยาการเฉพาะด้านที่ผู้อื่นไม่อาจรู้ได้ทั้งหมด อีกทั้งมีวิวัฒนาการด้านการรักษาและวิทยาการเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว การประกอบวิชาชีพเวชกรรมจึงมีกฎหมายควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพนี้เป็นพิเศษและมีการสอดส่องดูแลโดยบุคคลในวิชาชีพเดียวกันเพื่อให้การประกอบวิชาชีพเป็นไปโดยถูกต้องตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ขณะเกิดเหตุ วิทยาศาสตร์การแพทย์ด้านการปลูกถ่ายอวัยวะในผู้ป่วยที่มีปัญหาการสูญเสียหน้าที่การทำงานของอวัยวะหรือมีความล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ตับ ไต เป็นต้น มีความก้าวหน้าจนสามารถเอาอวัยวะจากผู้ที่ตายแล้วหรือยังมีชีวิตอยู่นำไปปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยได้ ในการนี้ได้มีประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย พ.ศ.2532 และประกาศแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2539 กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายมีสาระสำคัญว่า การวินิจฉัยคนตายโดยอาศัยเกณฑ์สมองตายนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องนำไปใช้โดยเฉพาะกับการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะสำคัญของมนุษย์ และอาจนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ในอนาคตเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางวิชาชีพและเพื่อประโยชน์ของประชาชน บุคคลซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตาย ถือว่า บุคคลนั้นถึงแก่ความตาย สมองตายหมายถึง การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป แพทย์เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยและตัดสินการตายของสมองตามเกณฑ์ของวิชาชีพ ดังนั้น เมื่อแพทย์ใช้วิธีการที่ได้รับการยอมรับในการสรุปว่าคนไข้นั้นถึงแก่ความตายแล้ว บุคคลผู้อยู่ในสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการวินิจฉัยสมองตายที่คณะกรรมการแพทยสภากำหนดและออกเป็นประกาศแพทยสภาตามประกาศแพทยสภาดังกล่าว ย่อมถือได้ว่า เป็นการตายของบุคคล การที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 แพทย์ผู้ร่วมผ่าตัดเอาไต ทั้ง 2 ข้างและตับออกจากร่างกายของ ล. และจำเลยที่ 1 และที่ 2 แพทย์ผู้ร่วมผ่าตัดเอาไต ทั้ง 2 ข้าง ออกจากร่างกายของ น. ซึ่งอยู่ในสภาวะสมองตายตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตาย เพื่อนำเอาอวัยวะนั้นไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น จึงเป็นการกระทำต่อบุคคลที่ตายแล้วไม่มีสภาพเป็นบุคคลที่จะถูกฆ่าได้อีก ไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14767/2558

ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อให้ตรวจสอบกรณีท้ายอุทธรณ์ของจำเลยผู้พิมพ์หรือผู้เขียนไม่ได้ลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานศาลต้องรายงานต่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อตรวจสอบและมีคำสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง และมาตรา 158 (7) ต่อไป แต่เจ้าพนักงานศาลกลับจัดทำหมายแจ้งถึง ช. ทนายจำเลยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนมาเพื่อให้ผู้พิมพ์หรือผู้เขียนลงลายมือชื่อในท้ายอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับหมายนี้ เสนอผู้พิพากษาศาลชั้นต้น โดยที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว กรณีเช่นนี้จะถือว่าศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 แล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการแก้ไข ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ เช่นนี้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 เพราะยังมิได้ล่วงเลยเวลาที่ควรปฏิบัติแต่อย่างใด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14588/2558

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีพฤติการณ์ประวิงคดีและคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดไต่สวนมูลฟ้อง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา และในวันเดียวกันศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 196 บัญญัติว่า คำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นต้องอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย แต่อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่อุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดไต่สวนพยานโจทก์ทั้งสองโดยอ้างว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าข้อความที่จำเลยทั้งสองแจ้งต่อพนักงานสอบสวนไม่เป็นข้อความเท็จว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ถือว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองเป็นเพียงการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 196


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14252/2558

จำเลยยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 แล้ว จึงต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะวินิจฉัยคำร้องของจำเลยดังกล่าวในรูปแบบของคำพิพากษาก็ตาม แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งคำร้องขอให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นของจำเลยดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยังต้องพิจารณาต่อไป เนื่องจากศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ลงชื่อผู้อุทธรณ์ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อนแล้วมีคำสั่งใหม่ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่จำเลยฎีกาขอให้ชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นอีก จึงเป็นฎีกาคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 225 ประกอบมาตรา 196


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12142/2558

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่เพิกถอนกระบวนพิจารณาคำสั่งคดีมีมูล เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีของจำเลยเสร็จสิ้นไป เพราะศาลชั้นต้นยังต้องดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป จึงห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9952 - 9953/2558

โจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยมีคำขอท้ายอุทธรณ์ให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้ศาลล่างทั้งสองรับรองให้โจทก์ร่วมฎีกา อุทธรณ์คำสั่งโจทก์ร่วมดังกล่าวจึงมิใช่อุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ร่วม แต่เป็นอุทธรณ์คำสั่งในเรื่องที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่งอุทธรณ์คำสั่งโจทก์ร่วมดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์คำสั่งโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ร่วมโดยเห็นว่าโจทก์ร่วมยื่นอุทธรณ์คำสั่งหลังจากครบกำหนดแล้ว เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม กรณีเช่นนี้คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงเป็นที่สุดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5789/2558

ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแพ่งอีกสำนวนให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทโดยให้ตกลงแบ่งระหว่างกันก่อน หากตกลงไม่ได้ให้ประมูลระหว่างกันโดยให้ฝ่ายที่เสนอราคาสูงเป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ไปทั้งหมด หากตกลงประมูลระหว่างกันไม่ได้ให้ขายทอดตลาดที่ดินแล้วนำเงินมาแบ่งกัน โดยที่ประชุมตกลงเงื่อนไขให้ผู้ประมูลทรัพย์ต้องวางเงินร้อยละ 5 ของราคาที่ประมูลได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันประมูล หากไม่วางเงินส่วนที่เหลือให้เจ้าพนักงานบังคับคดีริบเงินที่วางไว้ แล้วนำเงินมาแบ่งกันระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยผู้ประมูลได้ไม่มีสิทธิได้รับเงินในส่วนนี้ ข้อตกลงในการประมูลนี้ถือเป็นความประสงค์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมที่ตกลงร่วมกันอันเป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่อให้การประมูลขายทรัพย์ที่มีกรรมสิทธิ์รวมเป็นไปโดยราบรื่น ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมีผลใช้บังคับได้ สำหรับความรับผิดของผู้ประมูลได้ที่ไม่ชำระเงินก้อนแรก ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้ จึงต้องอาศัยเทียบเคียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งอันได้แก่ บทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 1 หมวด 4 ส่วนที่ 3 ขายทอดตลาด ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ผู้สู้ราคามีความรับผิดเกี่ยวกับเงินที่จะต้องวางก้อนแรกนี้คงมีเพียงมาตรา 516 เมื่อฟ้องโจทก์ขอให้บังคับจำเลยรับผิดในเงินที่ต้องวางก้อนแรกตามข้อตกลงในการประมูล ซึ่งไม่มีสภาพบังคับ โดยมิได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในเงินส่วนที่ขาดเมื่อมีการประมูลซ้ำอีกครั้งหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 516 คำขอท้ายฟ้องโจทก์จึงเป็นกรณีที่ไม่อาจบังคับได้ จำเลยไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง


คดีนี้แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิเคราะห์ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ แล้วฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นรับฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13316/2557

แม้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ยื่นคำร้องขอให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อรับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จะไม่ใช่คำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พนักงานสอบสวนมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ตามกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานสอบสวนดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้ร้องโดยเฉพาะ ผู้ต้องหาทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ต้องหาทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15718/2557

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 358 ซึ่งความผิดทั้งสองฐานมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์โต้เถียงคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนอาญา คงอุทธรณ์เฉพาะส่วนแพ่ง ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีส่วนอาญา อันมีผลทำให้ไม่มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 เฉพาะในส่วนอาญาให้จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ขอให้รอการลงโทษต่อไปอีก


อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานยักยอก และทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 358 จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่ติดใจสืบพยาน ปรากฏว่าศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม ศาลย่อมลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 แต่จะลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก ไม่ได้ เพราะโจทก์มิได้อ้างมาตรานี้มาในฟ้อง ทั้งโทษตามมาตรา 335 (7) วรรคแรก ก็หนักกว่าโทษตามมาตรา 352 และมาตรา 358 ที่โจทก์ฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9640/2557

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเฉพาะเรื่องแจ้งความเท็จเกี่ยวกับเรื่องยักยอกเงินว่า จำเลยแจ้งข้อความเท็จ ให้จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ย่อมถือว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบการกระทำผิดเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความแล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยโจทก์ต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานดังกล่าวที่เกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบการกระทำผิด โจทก์จะเพียงแต่ขอมาในคำแก้อุทธรณ์ไม่ได้และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าจำเลยไม่ได้แจ้งข้อความเท็จว่าโจทก์ยักยอกเงิน ก็ชอบที่จะพิพากษาแก้โดยยกฟ้องโจทก์ในฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับเรื่องยักยอกเงินเสียด้วย จะไปหยิบยกในเรื่องเกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบเรื่องการกระทำผิดขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำคุกย่อมไม่ชอบ เนื่องจากเป็นการพิพากษานอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบเรื่องการกระทำผิด จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5868/2557

การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยอุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง อันมีมาตรา 198 บัญญัติว่า การยื่นอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น มาตรา 200 บัญญัติว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ และมาตรา 201 บัญญัติว่า เมื่อศาลส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้ว หรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยนั้น พนักงานเดินหมายได้นำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยซึ่งตรงตามภูมิลำเนาของจำเลยในคำฟ้องแต่ปรากฏจากรายงานการเดินหมายว่าไม่สามารถส่งหมายให้แก่จำเลยได้เนื่องจากไม่พบบ้านของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ปิดประกาศหน้าศาล กรณีเป็นเรื่องศาลชั้นต้นส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ปิดประกาศหน้าศาลก็เป็นคำสั่งที่เกินเลยไม่เป็นผลให้การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยเป็นไปโดยชอบ โดยปรากฏต่อมาว่าพนักงานเดินหมายนำหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไปส่งให้แก่จำเลยกลับปรากฏจากรายงานเจ้าหน้าที่ว่าพบบ้านของจำเลยตามภูมิลำเนาที่ปรากฏในฟ้องและส่งได้โดยมีผู้รับหมายนัดไว้แทน ดังนั้น การส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้แก่จำเลยไม่ได้เนื่องจากหาบ้านของจำเลยไม่พบดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้นั้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5023/2557

ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง ได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ว่าควรจะรับเพื่อส่งขึ้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือไม่ หากเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้มีคำสั่งรับอุทธรณ์และส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำแก้อุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเพื่อรวมสำนวนส่งขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง ก็ได้บัญญัติถึงสิทธิของผู้อุทธรณ์ที่จะคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นโดยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ อันเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติถึงหน้าที่ของศาลชั้นต้นและสิทธิของผู้อุทธรณ์ไว้เป็นการเฉพาะ


เมื่อศาลชั้นต้นตรวจอุทธรณ์ของโจทก์แล้วมีคำสั่งรับอุทธรณ์อันมีผลเท่ากับได้วินิจฉัยแล้วว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งต้องดำเนินการขั้นตอนต่อไปจนกว่าคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 หากจำเลยเห็นว่าอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใดก็มีสิทธิที่จะทำคำแก้อุทธรณ์เป็นประเด็นให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไปเสียทีเดียวว่าเป็นอุทธรณ์ที่จะรับไว้พิจารณาได้หรือไม่ การที่จำเลยกลับยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งรับอุทธรณ์จึงเป็นการใช้สิทธินอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดและไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ.


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4280/2557

โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายเฉพาะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น มิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นด้วย และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 2 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์เฉพาะในความผิดที่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหาย เมื่อความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 193 ตรี แม้ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 จะมีอัตราโทษที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์โดยอ้างว่าเมื่อโทษตามบทหนักไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ความผิดตามฐานในบทเบาย่อมอุทธรณ์ได้ด้วยหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3594/2557

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ต้องหาที่ 1 ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักร พฤติการณ์ของผู้ต้องหาที่ 1 อาจหลบหนีได้ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่พิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์แห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 108 และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน กรณีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2557

เมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธไม่ยอมรับอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์อาจอุทธรณ์เป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาคำร้องนั้นแล้วมีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นหรือมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ คำสั่งนี้ให้เป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยทำนองว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ส่งสำเนาคำฟ้องและสำเนาคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องให้แก่ พ. จะไม่ชอบก็เป็นเพียงเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อจะรับอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่เท่านั้น และผลที่สุดศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นที่สุด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10758/2556

ป.วิ.อ. มาตรา 196 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย โดยมิได้บัญญัติให้คู่ความต้องโต้แย้งไว้ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 226 ฉะนั้น เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้แม้จะมิได้โต้แย้งไว้ก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าอุทธรณ์ของจำเลยเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และไม่รับวินิจฉัยนั้นไม่ชอบ


ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ตามคำร้องขอแก้ฟ้องของโจทก์อ้างเหตุว่าคำฟ้องของโจทก์ผิดพลาดในรายละเอียดปลีกย่อยเล็กน้อยในการพิมพ์ ขอแก้คำฟ้องจาก ร่วมกันลักเอารถจักรยานยนต์ เป็น ร่วมกันลักเอารถยนต์ ดังนี้ เหตุที่โจทก์อ้างมานั้นถือได้ว่าเป็นเหตุอันควรอนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องได้เนื่องจากเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด และการที่โจทก์ขอแก้ฟ้องดังกล่าวเป็นการแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำความผิดซึ่งต้องแถลงในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 ฉะนั้นจึงไม่ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 164 และมิใช่เป็นการแก้ฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่สมบูรณ์ให้เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายหรือสมบูรณ์ดังที่จำเลยฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12082/2556

พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด และตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ เมื่อจำเลยฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนนั้น แม้จะเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นที่สุดนั้น หมายถึง ต้องเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ให้อำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งเช่นนั้นได้ มิได้หมายความว่า แม้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะถึงที่สุดด้วย เมื่อความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 มีอัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่รอการลงโทษไว้ โจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา193 ทวิ การที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงขอให้ไม่รอการลงโทษ และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้และพิพากษาเกี่ยวกับความผิดฐานนี้นั้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนจึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7634/2556

แม้ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาและศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ฟังแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 2 ฟัง จึงต้องถือว่าคดีของจำเลยที่ 2 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ยกคำร้องขอถอนอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14791/2555

จำเลยขอถอนอุทธรณ์และขอให้ศาลออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดเพื่อจำเลยจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในวันครบรอบ 84 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2554 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า อนุญาตให้จำเลยถอนอุทธรณ์ได้จำหน่ายคดี ให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้นับแต่วันที่จำเลยเข้ามอบตัว ศาลอุทธรณ์จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยนับแต่วันใด แล้วแต่ศาลอุทธรณ์จะเห็นควร เมื่อศาลอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้นับแต่วันที่จำเลยเข้ามอบตัว จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะทำได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9798/2555

แม้ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีบทบัญญัติในมาตรา 110(1) ประกอบมาตรา 108 บัญญัติให้เฉพาะการเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเท่านั้นเป็นความผิดทางอาญา โดยมิได้คุ้มครองสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้นอกราชอาณาจักรที่จะดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมดังเช่นบทบัญญัติใน ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 ซึ่งออกมาใช้บังคับก่อน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ความคุ้มครองไว้ กรณีก็ไม่อาจถือได้ว่าบทบัญญัติใน ป.อ. ดังกล่าวขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 และเมื่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ยกเลิกเฉพาะ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2504 เท่านั้น ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 273 มิได้ถูกยกเลิกด้วย


สินค้าและภาชนะบรรจุสินค้าของกลางมีเครื่องหมายการค้าคำว่า "POSH" ประกอบอยู่ด้วย ส่วนคำอื่นที่ประกอบเพิ่มเติมมีขนาดเล็กจนมองแทบไม่เห็นความแตกต่าง แสดงว่าสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้ามีคำว่า "POSH" เช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม และเครื่องหมายการค้าที่ตัวผลิตภัณฑ์ใช้เครื่องหมายการค้าแตกต่างจากที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ แม้ป้ายหุ้มห่อผลิตภัณฑ์ใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยกับพวกร่วมกันจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ แต่ไม่มีฉลากสินค้าแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับตัวผู้ผลิตสินค้าที่จะเป็นองค์ประกอบเพิ่มเติมให้ประชาชนผู้บริโภคหรือผู้ซื้อสินค้าสามารถแยกความแตกต่าง จึงมีโอกาสที่จะทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าหลงเชื่อไปได้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมหรือโจทก์ร่วมมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย อันส่อให้เห็นเจตนาไม่สุจริตว่าประสงค์จะใช้หรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ถือได้ว่าสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนอกราชอาณาจักร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7212/2555

โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยเห็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ถือเป็นการใช้สิทธิส่วนตัวของโจทก์ในฐานะเป็นผู้เสียหาย มิใช่เป็นการฟ้องคดีแทนหรือทำการแทน อบต.ทุ่งคลอง ซึ่งเป็นนิติบุคคลโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่นายก อบต.ทุ่งคลอง แต่อย่างใด เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ในฐานะคู่ความในคดีย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบต.ทุ่งคลอง แทนโจทก์ซึ่งหมดวาระไปแล้วมายื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์แทน อบต.ทุ่งคลอง ซึ่งมิใช่คู่ความในคดี ย่อมไม่มีผลเป็นการถอนอุทธรณ์ของโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 424/2559

ความผิดฐานลักลอบนำน้ำมันซึ่งมิได้เสียภาษีและผ่านศุลกากรโดยถูกต้องตามกฎหมาย เข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร และโดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีอากรขาเข้า กับความผิดฐานซื้อ รับจำนำ ช่วยพาเอาไปเสีย ช่วยจำหน่าย ช่วยซ่อนเร้น หรือรับไว้ในครอบครอง ซึ่งน้ำมันที่ยังมิได้เสียภาษีโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่มีผู้ลักลอบนำพาหลบหนีศุลกากร เข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรที่ต้องเสีย เป็นคนละความผิดกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซื้อน้ำมันของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่มีผู้ลักลอบนำพาหลบหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มิได้เสียภาษี ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 มาตรา 147 (2) ได้ และโจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายสินค้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี และความผิดฐานรับซื้อของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งรู้ว่าเป็นของนำเข้ามาในราชอาณาจักร โดยหลีกเลี่ยงอากรรวมมาในข้อเดียวกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ลงโทษเป็นกรรมเดียว ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นสองกรรมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 63/2559

ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จะระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง แต่ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม โดยมิได้ยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างว่า ฟ้องโจทก์เป็นการกระทำกรรมเดียวกันกับคดีก่อน ศาลอุทธรณ์จะหยิบปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยว่า สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับตามมาตรา 39 (4) จึงไม่อาจรับฟังได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14588/2558

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีพฤติการณ์ประวิงคดีและคดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดไต่สวนมูลฟ้อง คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา และในวันเดียวกันศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 196 บัญญัติว่า คำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญและมีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นด้วย เมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นต้องอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นด้วย แต่อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองที่อุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดไต่สวนพยานโจทก์ทั้งสองโดยอ้างว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าข้อความที่จำเลยทั้งสองแจ้งต่อพนักงานสอบสวนไม่เป็นข้อความเท็จว่าไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ถือว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองเป็นเพียงการอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 196


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13718/2558

ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2557 ต่อมาวันที่ 28 สิงหาคม 2557 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก 1 เดือน อ้างเหตุว่ายังไม่ได้รับถ้อยคำสำนวนและคำพิพากษาที่ขอคัดถ่ายไว้เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการทางธุรการ กรณีเป็นการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ ภายหลังจากที่กำหนดระยะเวลาขยายอุทธรณ์สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งจำเลยขอขยายได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แต่ข้ออ้างตามคำร้องถือเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยเองที่ไม่ติดตามเอกสารที่ขอคัดถ่ายไว้แต่เนิ่น ๆ จึงไม่เป็นเหตุสุดวิสัยอันจะทำให้ทนายจำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์เมื่อสิ้นระยะเวลาอุทธรณ์แล้วได้ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจสั่งขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลย การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 27 กันยายน 2557 และเมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ในวันที่ 26 กันยายน 2557 ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของจำเลยย่อมไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ชอบเช่นกัน และไม่ก่อให้โจทก์มีสิทธิฎีกา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13089 - 13090/2558

ความผิดฐานยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 นั้น ทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งการกระทำที่ผู้กระทำความผิดครอบครองอยู่จะต้องเป็นวัตถุที่มีรูปร่างหรือจับต้องสัมผัสได้ แต่หุ้นตามฟ้องเป็นเพียงสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสิทธิและหน้าที่หรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมทั้งสองที่มีอยู่ในบริษัทจำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จะเบียดบังยักยอกได้ ทั้งปรากฏว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเพียงการยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนเท่านั้น ยังหามีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในหุ้นของโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานยักยอก ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12802/2558

เมื่อผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 คำร้องดังกล่าวย่อมถือเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญาและไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง เมื่อคดีส่วนอาญายังไม่ถึงที่สุดเพราะโจทก์ยังคงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ การกำหนดค่าสินไหมทดแทนในทางแพ่งซึ่งศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาส่วนอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 จึงต้องรอฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาให้เป็นที่ยุติเสียก่อน แม้ผู้ร้องทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัย เพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 หยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัย และกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นผู้เสียหายคดีนี้จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13316/2557

แม้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ยื่นคำร้องขอให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อรับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จะไม่ใช่คำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พนักงานสอบสวนมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ตามกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานสอบสวนดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้ร้องโดยเฉพาะ ผู้ต้องหาทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ต้องหาทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9640/2557

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเฉพาะเรื่องแจ้งความเท็จเกี่ยวกับเรื่องยักยอกเงินว่า จำเลยแจ้งข้อความเท็จ ให้จำคุก 1 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ย่อมถือว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบการกระทำผิดเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความแล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยโจทก์ต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานดังกล่าวที่เกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบการกระทำผิด โจทก์จะเพียงแต่ขอมาในคำแก้อุทธรณ์ไม่ได้และเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าจำเลยไม่ได้แจ้งข้อความเท็จว่าโจทก์ยักยอกเงิน ก็ชอบที่จะพิพากษาแก้โดยยกฟ้องโจทก์ในฐานแจ้งความเท็จเกี่ยวกับเรื่องยักยอกเงินเสียด้วย จะไปหยิบยกในเรื่องเกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบเรื่องการกระทำผิดขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาลงโทษจำคุกย่อมไม่ชอบ เนื่องจากเป็นการพิพากษานอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์ฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับวันที่จำเลยทราบเรื่องการกระทำผิด จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9091/2558

คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอก จำเลยไม่ฎีกาแต่ยื่นคำแก้ฎีกาทำนองว่า จำเลยไม่ได้กระทำความผิดฐานยักยอกอันเป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้ การกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว จำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น หากจำเลยประสงค์จะต่อสู้คดีว่าโจทก์มิได้ฟ้องคดีนี้ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว จำเลยต้องซักค้านพยานโจทก์ที่นำสืบในชั้นพิจารณาให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า โจทก์รู้เรื่องความผิดคดีนี้และรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อไร แต่จำเลยไม่ได้ซักค้านพยานโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงยังไม่อาจฟังยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยได้ แต่จากคำเบิกความของ ห. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ประกอบกับรายงานการตรวจสอบของ บ. ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบภายในของบริษัทโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2554 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2554 จึงเป็นการฟ้องภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7289/2558

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 334, 336 ทวิ และมีคำขอให้จำเลยคืนโครงหลังคาเหล็กของโรงงานและอุปกรณ์ส่วนควบของอาคารโรงงานหรือใช้ราคาแก่ผู้เสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดและราคาทรัพย์ใช้แทนย่อมรับฟังเป็นยุติตามฟ้อง จำเลยยื่นอุทธรณ์ว่า จำเลยมิได้รับว่าจำเลยกระทำโดยทุจริตและโรงเรือนมีสภาพเก่ามีราคาเพียง 50,000 บาท จึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นนอกจากที่จำเลยให้การรับสารภาพและเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องคำขอส่วนแพ่ง คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6972 - 6973/2558

ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาคดีทั้งสองสำนวนเข้าด้วยกัน โดยโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะสำนวนคดีแรกที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นจำเลยเท่านั้น มิได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นจำเลยด้วย แม้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาคดีทั้งสองรวมกันก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการเป็นโจทก์ร่วมในคดีที่จำเลยที่ 4 เป็นจำเลย อันมีผลเท่ากับว่าโจทก์ร่วมมิได้เป็นคู่ความในคดีที่จำเลยที่ 4 เป็นจำเลย โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาคดีในส่วนของจำเลยที่ 4 คดีในส่วนของจำเลยที่ 4 ต้องฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในส่วนของจำเลยที่ 4 ด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฎีกาแก่โจทก์ร่วม ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6966 - 6967/2558

จำเลยทั้งสองนำใบถอนเงินซึ่งประทับตราสำคัญของโจทก์ร่วมที่เป็นตราประทับปลอมไปหลอกลวงจนกระทั่งเจ้าหน้าที่ธนาคารหลงเชื่อ เงินที่จำเลยทั้งสองกับพวกได้รับไปจึงเป็นเงินของธนาคาร มิใช่เงินของโจทก์ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร เมื่อไม่ปรากฏว่าธนาคารซึ่งเป็นเจ้าของเงินได้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองกับพวก พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจร แม้ความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดต่อแผ่นดินซึ่งพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนโดยไม่มีการร้องทุกข์ก็ตาม แต่โจทก์ร่วมไม่ใช่เจ้าของเงินและไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจรเป็นฟ้องที่ขัดกัน เป็นฟ้องเคลือบคลุมและจำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานร่วมกันยักยอก ดังนั้นเท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกงกับฐานรับของโจรและฐานยักยอก เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ไม่ฎีกา โจทก์ร่วมซึ่งมิใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจยื่นฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6772/2558

การจะลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้หนักขึ้นตามลักษณะฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ ก็ต่อเมื่อได้ความว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 62 วรรคท้าย เมื่อทางพิจารณาได้ความเพียงว่า รถกระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่ น. ได้มาจากการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ไม่ปรากฏว่าขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รู้อยู่แล้วว่ารถกระบะของกลางเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการชิงทรัพย์ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคสองได้ คงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เท่านั้น ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ถอนฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6551/2558

ผู้เสียหายกับจำเลยรู้จักกันมาก่อนและผู้เสียหายรู้ว่าจำเลยมิได้เป็นเจ้าพนักงาน วันเกิดเหตุจำเลยมิได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพียงแต่อ้างว่าพวกของจำเลยเป็นเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 145 วรรคแรก แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานและกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน ซึ่งศาลลงโทษจำเลยได้เพราะมิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4347/2558

จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำ ตำแหน่งนักการ เทศบาลตำบลจักราช มิใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ซึ่งมีกฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 147, 151, 161 เป็นบทบัญญัติที่ลงโทษแก่บุคคลผู้กระทำความผิดที่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อบทบัญญัติดังกล่าว ก็จะลงโทษจำเลยที่ 2 อย่างเจ้าพนักงานไม่ได้ คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4280/2557

โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายเฉพาะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น มิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นด้วย และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมที่ 2 เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ร่วมที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะอุทธรณ์เฉพาะในความผิดที่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหาย เมื่อความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ และไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา 193 ตรี แม้ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 จะมีอัตราโทษที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์โดยอ้างว่าเมื่อโทษตามบทหนักไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว ความผิดตามฐานในบทเบาย่อมอุทธรณ์ได้ด้วยหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13933/2556

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 3 มีนาคม 2554 ย่อมเป็นการไม่ชอบ ทั้งอุทธรณ์ของจำเลยมิได้โต้แย้งหรือคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้ง เป็นอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ชอบที่ศาลชั้นต้นจะไม่รับอุทธรณ์จำเลย และส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง เพราะเป็นคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยและพิพากษาให้ ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ข้อที่ว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงเป็นอันถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8340/2556

เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ย่อมไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 30 ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 6 ย่อมไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ขอให้กำหนดโทษจำเลยสูงขึ้น จึงต้องบังคับโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4525/2556

แม้ความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายกับความผิดฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ จะต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนความผิดสองฐานนี้ โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์จากผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี และศาลอุทธรณ์รับพิจารณาพิพากษาต่อมาอันเป็นการไม่ชอบก็ตาม แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนครอบคลุมถึงข้อเท็จจริงในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว โดยเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับคนร้ายในคดีนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องไปถึงความผิดดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 370/2556

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 4 ด้วย แล้วพิพากษาแก้เฉพาะในส่วนการริบของกลาง เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนในส่วนความผิดและโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกคดีขึ้นวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยที่ 4 อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิยื่นฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17116/2555

ความผิดฐานออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ออกตามช่องทางและความผิดฐานเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่เข้าตามช่องทางตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11 ประกอบด้วยมาตรา 62 วรรคสอง บัญญัติให้ระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยในความผิดดังกล่าวกระทงละ 800 บาท นั้น เป็นความผิดที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นขอให้ยกฟ้องโจทก์โดยโต้เถียงดุลพินิจของศาลชั้นต้นในการรับฟังพยานหลักฐานในสำนวน เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งรวมความผิดทั้งสองฐานนี้ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 และขอให้ยกฟ้องในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวโดยโต้เถียงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าว จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15266/2555

ฎีกาของโจทก์อ้างในเบื้องต้นว่าโจทก์ขอฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต่อศาลฎีกาแต่เนื้อหาในฎีกาปรากฏว่าโจทก์คัดลอกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนคำวินิจฉัยทุกถ้อยคำ แล้วเพิ่มข้อความต่อท้ายว่าอาศัยเหตุผลดังกราบเรียนข้างต้น ขอศาลฎีกาได้โปรดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าคำเบิกความของผู้เสียหายมีพิรุธน่าสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นการไม่ชอบเพราะเหตุใด และรายละเอียดส่วนใด หากยกขึ้นวินิจฉัยแล้วผลจะเป็นอย่างไร เป็นฎีกาที่ถือเอาคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นฎีกาของโจทก์ ซึ่งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225 และมาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12058/2555

เมื่อพิจารณาเนื้อหาอุทธรณ์ของโจทก์โดยตลอดแล้วแสดงว่าโจทก์มีเจตนาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น มิใช่โจทก์มีเจตนาที่จะให้ลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกเกินกว่าสามปี การต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ เป็นการตัดสิทธิคู่ความจึงต้องพิจารณาด้วยความเคร่งครัดโดยถือเจตนาของโจทก์เป็นสำคัญ เมื่ออุทธรณ์โจทก์มีเจตนาให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 353 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หนักขึ้นโดยไม่รอการลงโทษจำคุก ซึ่งเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้จำเลยฎีกาได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8997/2555

คู่ความที่ฎีกาต้องระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ เพื่อให้เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์คลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องด้วยเหตุใดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 จะให้ถือเอาคำฟ้องอุทธรณ์เป็นส่วนหนึ่งของฎีกา โดยไม่มีเหตุผลและข้อคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมไม่ได้ ปัญหาฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง มิใช่เป็นกรณีศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา จึงไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี ที่โจทก์ฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นการอุทธรณ์คัดค้านในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่โจทก์ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตั้งแต่ ฟ้องของโจทก์ก็ถูกต้องตามกฎหมาย ได้ระบุข้อเท็จจริงและรายละเอียดการกระทำผิดของจำเลยตามกฎหมายที่ชัดเจนครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ซึ่งจำเลยก็เข้าใจฟ้องของโจทก์ได้ดี ไม่ทำให้จำเลยหลงต่อสู้แต่อย่างใด มีการเบิกความไต่สวนมูลฟ้อง จนศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาและการเบิกความในชั้นพิจารณาของศาล โจทก์ก็เบิกความในข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญแก่คดีตามข้อกฎหมายที่โจทก์ได้ฟ้องแล้ว จนกระทั่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และเมื่อโจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับการวินิจฉัยของศาลชั้นต้น จึงได้อุทธรณ์คัดค้านโต้แย้งข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญที่เป็นองค์ประกอบของกฎหมายในข้อประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัย โดยโจทก์เห็นว่าเป็นสาระสำคัญอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 อีกชั้นหนึ่งว่าการเบิกความของจำเลยต่อศาลตามพยานเอกสารคำเบิกความในคดีอาญาดังกล่าวจะเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 หยิบยกปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีไม่พึงรับไว้พิจารณาแล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ข้อที่โจทก์อ้างในคำฟ้องฎีกาดังกล่าว โจทก์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เลยว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดครบองค์ประกอบความผิดฐานเบิกความเท็จตามข้อเท็จจริงใดที่โจทก์ได้บรรยายไว้แล้วในฟ้องด้วยข้อความใดและอย่างไร คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องอย่างไร เช่นนี้จึงเป็นฎีกาที่มิได้ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับในการโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 479/2555

การออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้น เป็นอำนาจพิเศษที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นมีอำนาจออกหมายจับผู้ต้องหาตามคำร้องของพนักงานสอบสวนได้ ภายใต้บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 66 และมาตรา 59/1 โดยเฉพาะ จึงไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4195 - 4197/2555

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยแล้ว หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้น จำเลยก็ชอบที่จะยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อให้เป็นไปตามลำดับชั้นศาล เมื่อพิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยดังกล่าวพอแปลความหมายได้ว่าจำเลยต้องการให้ศาลฎีกาอธิบายความหมายของคำสั่งที่อนุญาตให้จำเลยถอนฎีกาตามคำร้องว่าในกรณีนี้คดีถึงที่สุดเมื่อใด ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนฎีกา แต่ยังมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดตามที่จำเลยยื่นคำร้องไว้ เมื่อกรณีที่จำเลยขอถอนฎีกาเช่นนี้ ศาลฎีกาเคยมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยถอนฎีกาแล้วสั่งต่อไปว่าคดีถึงที่สุดนับแต่วันที่จำเลยยื่นคำร้องขอถอนฎีกาในกรณีที่จำเลยนั้นต้องขังระหว่างฎีกาในขณะยื่นคำร้อง แต่คดีนี้จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างฎีกาและขณะที่ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา จำเลยยังได้รับการปล่อยชั่วคราว ผู้ประกันเพิ่งมาขอถอนประกันและส่งตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 ฉะนั้น จึงเห็นควรระบุให้ชัดเจนว่าคดีถึงที่สุดนับแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 อันเป็นวันที่ผู้ประกันส่งตัวจำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12008/2554

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นอุทธรณ์ กำหนดว่า จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดโดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 12 ปีเศษ ยังไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 (1) (2) (3) ศาลชั้นต้นได้ว่ากล่าวตักเตือนจำเลยแล้วมอบตัวให้ผู้ปกครองรับไปอบรมดูแล โดยวางข้อกำหนดผู้ปกครองต้องระวังมิให้จำเลยก่อเหตุร้ายอีกภายใน 2 ปี นับแต่วันพิพากษา มิฉะนั้นผู้ปกครองของจำเลยต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 3,000 บาท และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่ได้กระทำโดยประมาท เป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์โดยขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็เป็นการชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 เพราะผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะรับอุทธรณ์ของจำเลยก็ตาม แต่ก็มิได้มีข้อความที่จะจับใจความได้ว่าได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้อุทธรณ์ได้และจำเลยก็มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี จึงถือว่าคดีไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาใหม่อีก ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น


ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74 วรรคแรก แห่ง ประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ข้อความใหม่แทน มาตรา 74 (2) (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดกำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น โดยตาม มาตรา 74 (2) ที่แก้ไขใหม่ กำหนดไว้ว่า ให้ศาลกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น ดังนั้นกฎหมายเดิมจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่ศาลชั้นต้นนำมาตรา 74 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาบังคับแก่จำเลยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11903/2554

โจทก์ยื่นคำร้องว่าเดิมโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีรวม 7 คน รับรองให้โจทก์ฎีกา แต่ผู้พิพากษา 2 คน ไม่รับรองให้ฎีกา จึงเหลือผู้พิพากษาอีก 5 คน ที่ยังไม่ได้พิจารณารับรอง การที่ศาลชั้นต้นรับฟังว่าผู้พิพากษาที่มีสิทธิรับรองฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ผู้พิพากษาอีก 5 คน พิจารณารับรองแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของโจทก์ โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ต้องส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11411/2554

การออกหมายจับและหมายค้นในชั้นสอบสวน เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเพื่อให้การสอบสวนดำเนินไปได้ แม้พนักงานสอบสวนจะต้องมาร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ออกหมายจับและหมายค้น แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ฟ้องเป็นคดีมาถึงศาล เมื่อศาลชั้นต้นเห็นสมควรสั่งประการใดแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายประสงค์จะให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 หากผู้ร้องอ้างข้อมูลอันเป็นเท็จ ผู้ต้องหาก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการแก่ผู้ร้องตามที่เห็นสมควรเป็นกรณีต่างหากได้ ผู้ต้องหาจึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ต้องหาที่ให้เพิกถอนหมายจับและหมายค้นในชั้นสอบสวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8481/2554

คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้าม ก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง แต่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินที่แท้จริงและได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องจากบิดาตลอดมา โดยจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการครอบครองที่ดินโดยชอบ กรณีเช่นนี้หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิในที่ดิน ก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีสิทธิหรืออำนาจเข้าไปรบกวนการครอบครองของโจทก์โดยพลการการที่จำเลยได้บุกรุกเข้าไปในที่ดินแล้วทำให้ทรัพย์ของโจทก์เสียหาย จึงอาจมีมูลเป็นความผิดตามฟ้องได้ เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 ที่จะรับไว้ไต่สวนมูลฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6096/2554

แม้อุทธรณ์ของจำเลยไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จำเลยประสงค์ยกขึ้นอ้างอิงคัดค้าน หรือกล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใด แต่คดีนี้โจทก์มีผู้เสียหายซึ่งเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว และศาลชั้นต้นวินิจฉัยถึงความสัมพันธ์ของผู้เสียหายกับจำเลย หน้าที่การงานของผู้เสียหาย และการที่จำเลยผิดนัดไม่ไปสู่ขอผู้เสียหายจนเป็นสาเหตุให้เกิดคดีนี้ แล้วเห็นว่าคำเบิกความของผู้เสียหายมีเหตุผลและมีน้ำหนักรับฟังได้ ดังนั้น การที่จำเลยอุทธรณ์ถึงความสัมพันธ์ฉันสามีภริยาระหว่างจำเลยกับผู้เสียหาย สาเหตุที่ผู้เสียหายโกรธเคืองจำเลยเพราะจำเลยไม่ไปสู่ขอผู้เสียหายตามนัดหมาย และญาติของผู้เสียหายยุให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเพื่อเรียกทรัพย์สิน วันเกิดเหตุผู้เสียหายยินยอมสมัครใจไปกับจำเลยเพื่อเจรจาต่อรองเกี่ยวกับคดีอาญาที่ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์ไว้ แต่เมื่อผู้เสียหายเรียกร้องเงินจากจำเลยและจำเลยไม่ยินยอมให้ จึงทำให้ผู้เสียหายไม่พอใจ และศาลชั้นต้นมีแนวโน้มจะเชื่อคำเบิกความของผู้เสียหายอันเป็นการขัดต่อหลักการพิจารณาคดี เท่ากับอุทธรณ์ว่าคำเบิกความของผู้เสียหายไม่น่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยได้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงคัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5902/2554

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตในคำร้องขออนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ซึ่งเป็นดุลพินิจเฉพาะตัวจะอุทธรณ์ไม่ได้ ทั้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทำอุทธรณ์ฉบับใหม่หาได้มีผลเป็นการสั่งรับอุทธรณ์หรือไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ แต่ศาลชั้นต้นได้สั่งให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ฉบับใหม่เข้ามาเฉพาะฐานความผิดของจำเลยที่ 1, ที่ 3, ที่ 4, และที่ 7 ที่ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เพื่อศาลชั้นต้นจะได้มีคำสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับใหม่ต่อไป ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับหรือไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ แต่โจทก์กลับอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์และขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลชั้นต้น โดยมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปโดยไม่ได้โต้แย้งว่าคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์ทำอุทธรณ์ฉบับใหม่ไม่ชอบอย่างไร จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ถูกขั้นตอนตามที่กฎหมายบัญญัติ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2644/2554

ป.วิ.อ. มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสาม ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์ต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมคำฟ้องอุทธรณ์ เพื่อให้ศาลส่งคำร้องพร้อมสำนวนความไปให้ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาต่อไป คดีนี้โจทก์เพียงแต่ยื่นอุทธรณ์ โดยหาได้ยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อให้อนุญาตให้อุทธรณ์ ทั้งผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นสั่งในอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า รับเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ สำเนาให้จำเลยแก้ หาได้มีข้อความใดแสดงว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ กรณีถือไม่ได้ว่าผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2394/2554

จำเลยฎีกาโดยคัดลอกข้อความในอุทธรณ์มาทั้งสิ้น มิได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอ้างอิงให้เห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ทั้ง ๆ ที่เหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นต่างกับเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 แม้จำเลยจะมีคำขอท้ายฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาและพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ไม่อาจถือเป็นคำคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14293/2553

คำร้องของจำเลยที่อ้างว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ศาลชั้นต้นตรวจสอบถึงสาระสำคัญคลาดเคลื่อน จึงออกคำพิพากษาที่มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้จำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบ ซึ่งหากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องอย่างไร ก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 6 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 จำเลยจะยกเอาเหตุดังกล่าวขึ้นมากล่าวอ้างว่าจำเลยถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13045/2553

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นยินยอม ส่วนความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเพื่อการอนาจารให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ด้วย ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยขอถอนอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตแล้ว ย่อมมีผลทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นฐานกระทำชำเราเด็กหญิง ฯ เด็ดขาดเฉพาะจำเลย ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ตามอุทธรณ์ของโจทก์ด้วย จำเลยมีสิทธิฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ได้เท่านั้น ดังนั้น เมื่อจำเลยยื่นฎีกาโดยขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจลงโทษจำเลยสถานเบาหรือลดโทษแก่จำเลย ซึ่งหมายถึงขอให้ศาลฎีกาใช้ดุลพินิจกำหนดโทษให้จำเลยเสียใหม่ทั้งสองฐานความผิด การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิง ฯ ซึ่งเด็ดขาดไปแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนในความผิดฐานพรากเด็ก ฯ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา เมื่อจำเลยมิได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกา มีผลทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในความผิดฐานนี้เป็นอันถึงที่สุดไปด้วย ศาลฎีกาย่อมไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้เช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13063/2553

เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว หากจำเลยเห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยไม่ถูกต้องหรือจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนน้อยกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 และมาตรา 198 แต่จำเลยมิได้ใช้สิทธิดังกล่าวกลับมายื่นคำร้องขอให้ศาลแก้ไขปรับบทลงโทษและกำหนดโทษจำเลยใหม่ โดยเลี่ยงอ้างว่าเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนี้ หากศาลฟังตามที่จำเลยอ้างแล้ววินิจฉัยให้ใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแก้ไข คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ที่บัญญัติห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้ว นอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3852/2553

ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 390 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานนี้กับความผิดฐานมีและฐานพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรณีต่างกรรมกันโดยมิใช่เป็นเรื่องกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับพิจารณาความผิดฐานมีและฐานพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะต้องรับพิจารณาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 390 ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และยุติไปแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยความผิดตาม ป.อ. มาตรา 390 และพิพากษาจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษและไม่ปรับจึงไม่ชอบ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และเมื่อจำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษในความผิดดังกล่าว จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8919/2552

การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยาม สบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไรเป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่ จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยาม สบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า "ตอแหล" ว่า เป็นการด่าคนที่พูดเท็จ ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการด่าผู้เสียหาย เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 393


โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ไม่ได้บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมหรือไม่ จึงมิใช่ประเด็นแห่งคดี การที่จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาท และเป็นการป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมอันเป็นเหตุยกเว้นความผิดของจำเลย จึงมิใช่การอุทธรณ์ในประเด็นแห่งคดีและโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

การกระทำที่จะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 68 นั้น จะต้องเป็นเรื่องที่ ผู้นั้นจำต้องกระทำการนั้นเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำเนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้ง จึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น แม้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 200 บาท ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 194 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยแต่เพียงว่า เหตุที่จำเลยด่าว่าผู้เสียหาย เนื่องจากเข้าใจว่าถูกผู้เสียหายกลั่นแกล้งในเรื่องการขอสำเนาเอกสาร กับถูกผู้เสียหายกล่าวหาว่าทำร้ายร่างกาย มิใช่เกิดเนื่องจากการที่ผู้เสียหายได้กระทำการตามหน้าที่ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะที่จำเลยกล่าวถ้อยคำตามฟ้องต่อผู้เสียหายนั้น มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า จำเลยพยายามแก้ไขความเข้าใจผิดและป้องกันชื่อเสียงของตนที่ถูกใส่ร้าย การตกอยู่ในวงล้อมของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร และมีการตามเจ้าหน้าที่อื่นๆ ให้เข้ามาอีก ทำให้จำเลยอยู่ในสภาวะคับขันนั้น อุทธรณ์ของจำเลยในส่วนนี้เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่นอกเหนือจากที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา เพื่อจะนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามจำเลยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7002/2552

ทนายจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ในวันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ขยาย เมื่อเวลา 16.46 นาฬิกา ซึ่งเจ้าหน้าที่งานรับฟ้องอุทธรณ์-ฎีกาของศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องอุทธรณ์ของ จำเลยไว้โดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อทนายจำเลยว่าพ้นเวลาราชการแล้ว แต่ได้ทำบันทึกเสนอศาลถึงเวลาที่ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์ ในวันรุ่งขึ้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้มีข้อขัด แย้งแต่ประการใด แสดงว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาบันทึกของเจ้าหน้าที่ศาลแล้วว่า ขณะที่ทนายจำเลยนำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นนั้นศาลชั้นต้นยังไม่ปิดทำการ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6517/2552

ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74, 75 และ 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน เมื่อปรากฏว่ากฎหมายที่แก้ไข ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำความผิดในขณะอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะกระทำความผิดอายุ 17 ปีเศษ กฎหมายบังคับให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษลงให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง มิใช่อยู่ในดุลพินิจของศาลตามกฎหมายเดิม เป็นกรณีมีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ภายหลัง กระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ภายหลังเป็นคุณกว่า ต้องใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6318/2552

จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง ทั้งสามฐานความผิดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความจะมิได้ ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ถือเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดอัน ยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6517/2552

ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74, 75 และ 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน เมื่อปรากฏว่ากฎหมายที่แก้ไข ทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำความผิดในขณะอายุ 14 ปีเศษ ไม่ต้องรับโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งขณะกระทำความผิดอายุ 17 ปีเศษ กฎหมายบังคับให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษลงให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่ง มิใช่อยู่ในดุลพินิจของศาลตามกฎหมายเดิม เป็นกรณีมีกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ภายหลัง กระทำความผิด และกฎหมายที่ใช้ภายหลังเป็นคุณกว่า ต้องใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3302/2552

การอุทธรณ์คดีอาญาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลจะต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ใน กฎหมายตามคำฟ้องว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโดยใช้ยานพาหนะ ตามป.อ. มาตรา 83, 339, 340 ตรี มีระวางโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี ซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425/2552

ขั้นตอนในการขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 มิได้มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่ง พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งตามคำร้องจำเลยระบุชื่อขอให้ พ. ช. และ ป. ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นด้วย การที่นาย ส. ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุ ในคำร้องกลับเป็นผู้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเสียเองจึงเป็น การไม่ชอบ ไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. อันว่าด้วยฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยเพิกถอนคำสั่งและส่งคำร้องคืนไปให้ศาลชั้นต้นส่งให้ผู้พิพากษาที่ระบุใน คำร้องพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้วสั่งฎีกาใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6318/2552

จำเลยกระทำความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร และฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง ทั้งสามฐานความผิดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวง อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความจะมิได้ ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้เสียหายทั้งสองไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป ทั้งทางแพ่งและทางอาญา ถือเป็นการยอมความกันตามกฎหมาย เมื่อความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงเป็นความผิดอัน ยอมความได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในฐานดังกล่าวจึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5666/2552

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 3 บัญญัติว่า "ให้ยกเลิก (1) พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 (2) พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545" โดยยกเลิกบทบัญญัติตามมาตรา 26 วรรคสอง, 60 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่เป็นความผิดตามฟ้องที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ดังนั้น การฝ่าฝืนมาตรา 26 วรรคสอง, 60 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 จึงไม่ถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง


ส่วนความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2535 มาตรา 14, 59 นั้น พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 15, 80 ยังบัญญัติให้เป็นความผิดอยู่ แต่โทษปรับตามกฎหมายใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2552

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดด้วย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายตามฟ้อง จำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายจึงเป็นอันยุติ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ด้วยและพิพากษาแก้เฉพาะบทจากความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นปล้นทรัพย์ มิได้แก้ไขโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เกินห้าปี แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิฎีกาได้เฉพาะในปัญหาว่าจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วยอันจะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เท่านั้น จำเลยที่ 1 จะหวนกลับมาใช้สิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายอีกไม่ได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเอาทรัพย์ของผู้เสียหาย ไป ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาล อุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3200/2552

โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ก. ว่า จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันทำไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยนำไม้ซึ่งแปรรูปแล้วใส่กระบะพ่วงรถไถนาเดินตามออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ ป่า แม้การกระทำของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดย ไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 73 วรรคหนึ่ง เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 (5) ให้ความหมายว่าการนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใด ๆ เป็นการทำไม้ ตามนิยามคำว่า "ทำไม้" ด้วยก็ตาม แต่ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38 ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามด้วยนั้น มิได้บัญญัติให้การนำไม้ออกจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามฟ้อง เป็นความผิดตามกฎหมายดังกล่าวดังเช่นที่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสามตามฟ้อง จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันตัดหรือโค่นต้นไม้หรือพฤกษชาติในเขตรักษาพันธุ์ สัตว์ป่าตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 38, 54 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดตามมาตราดังกล่าว เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10905/2551

ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 75 และ 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน คดีนี้ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ การลดมาตราส่วนโทษจะต้องตามมาตรา 76 (เดิม) และมาตรา 75 (ที่แก้ไขใหม่) ซึ่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่กำหนดให้ศาลต้องลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง มิใช่เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควร การลดมาตราส่วนโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2058/2551

ตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 121 จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่า เป็นความผิดโดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็ก และเยาวชนได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตรา โทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหก หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง จำคุก 9 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน เขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนด 6 เดือน นับแต่วันพิพากษา อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็ก และเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการ ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดัง กล่าว แม้จำเลยจะยื่นอุทธรณ์โดยมีผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ อุทธรณ์ก็ตาม แต่การอนุญาตดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 122 ซึ่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดี ซึ่งห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 121 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดัง กล่าวได้ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้ พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นใน อันที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว ฯ มาตรา 6 คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยอีกต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1927/2551

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่านคำสั่งให้คู่ความฟังคดีของผู้ร้องรูปคดีไม่ซับซ้อน ผู้ร้องมีทนายความคนเดิมซึ่งมีอำนาจอุทธรณ์ได้ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะยื่น อุทธรณ์ภายในกำหนดอายุอุทธรณ์ได้ และหากผู้ร้องประสงค์จะแต่งตั้งทนายความคนใหม่แทนทนายความคนเดิมเพื่อยื่น อุทธรณ์ ผู้ร้องต้องติดต่อและแต่งตั้งให้เป็นทนายความแต่เนิ่นๆ เพื่อจะได้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ แต่ผู้ร้องกลับปล่อยปละละเลยเพิ่งแต่งตั้งทนายความคนใหม่เพื่อดำเนินกระบวน พิจารณาในชั้นอุทธรณ์ในวันสุดท้ายที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์และทนายความผู้ ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไป โดยอ้างในคำร้องว่าผู้ร้องเพิ่งติดต่อให้ยื่นอุทธรณ์และคดีมีรายละเอียด เกี่ยวกับเอกสารจำนวนมาก อันเป็นความบกพร่องของผู้ร้องเอง กรณีของผู้ร้องยังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9244/2551

โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า "จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งได้รับมอบเงิน 116,620 บาท จากผู้เสียหายไว้ในความครอบครองให้โอนเข้าบัญชีของผู้มีชื่อในธนาคาร ขณะที่จำเลยกับพวกครอบครองเงินจำนวนนั้นของผู้เสียหายเป็นของตนเองโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดฐานยักยอก" โดยมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบข้อสำคัญของความผิดฐานยักยอก ว่า จำเลยกับพวกกระทำการเบียดบังทรัพย์นั้น ซึ่งมีความหมายชี้เฉพาะถึงพฤติการณ์ที่ผู้กระทำความผิดแสดงออกมาให้เห็นแล้ว ว่าตนกับพวกเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ครอบครองอยู่ แม้โจทก์จะบรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยกับพวกกระทำการเช่นนั้นโดยทุจริต แต่การกระทำโดยทุจริตกับการเบียดบังเป็นองค์ประกอบคนละข้อในความผิดฐานนี้ จึงมีความแตกต่างกันอยู่ในตัว และโดยทั่วไปการทุจริตก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องเบียดบัง เพราะทุจริตเป็นแต่เจตนาพิเศษของการกระทำความผิดซึ่งแสดงให้เห็นว่าเบียดบัง เอาทรัพย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือ ผู้อื่นเท่านั้น ฟ้องของโจทก์บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 ไม่ครบถ้วน ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8214/2551

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้ตายและร่วมกันฆ่าผู้ตายโดย ไตร่ตรองไว้ก่อนรวมมาในฟ้องข้อเดียวกัน เมื่อจำเลยลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ตายอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้ว จำเลยกับพวกจึงร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดฐานลักทรัพย์และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7942/2551

จำเลยกับพวกร่วมกันลักทรัพย์เครื่องยนต์ซึ่งติดตั้งอยู่บนรถไถนาอันเป็นเครื่องกล ของผู้เสียหายที่มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมทำนาในเคหสถานใน เวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) (8) (12) วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (8) (10) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษ จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6996/2551

คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนของคำขอท้ายฟ้อง โดยขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 ด้วย แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 34 (4), 157 โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาและคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น โดยอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามคำร้องแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณา พิพากษาใหม่ตามรูปคดี กรณีจึงทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เช่นนี้ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5994/2550

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลคืนรถยนต์บรรทุกของกลางและขอให้ผู้ร้องนำรถยนต์บรรทุกของกลางไปเก็บรักษาไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดี ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องนำรถยนต์บรรทุกของกลางไปดูแลรักษาไว้ชั่วคราว และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีที่ร้องขอคืนของกลางออกจากสารบบความโดยให้รอไว้ พิจารณาเมื่อคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสี่และขอริบรถยนต์บรรทุกของกลางถึงที่สุดแล้ว ดังนี้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องนำรถยนต์บรรทุกของกลางไปดูแลรักษา ไว้ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีของผู้ร้องเสร็จสิ้นไป เพราะต้องมีการไต่สวนคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องอีก กรณีต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 196 ที่ห้ามผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใน ประเด็นสำคัญแก่คดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5419/2550

โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลา อุทธรณ์ โจทก์จะยื่นคำร้องดังกล่าวได้ต้องเป็นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย ซึ่งเหตุสุดวิสัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 นั้น หมายถึงเหตุที่ทำให้ศาลไม่สามารถมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาหรือคู่ความไม่ สามารถมีคำขอเช่นนั้นขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายให้ดำเนินการอย่างใด อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติการณ์นอกเหนือที่จะกระทำได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้


หากโจทก์เจ็บป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จริง โจทก์อาจให้ภริยาของโจทก์ซึ่งเป็นผู้ดูแลโจทก์ในขณะเจ็บป่วยตามที่โจทก์อ้าง ในฎีกาเป็นผู้ติดต่อทนายความของโจทก์ซึ่งมีอำนาจอุทธรณ์เพื่อยื่นคำร้องขอ ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ก่อนสิ้นระยะเวลายื่นอุทธรณ์หรือยื่นอุทธรณ์ภายใน กำหนดเวลายื่นอุทธรณ์ได้ เพราะระยะเวลาดังกล่าวมีเวลาถึง 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้โจทก์ฟัง ซึ่งเป็นระยะเวลานานพอสมควรที่โจทก์จะดำเนินการได้ทันทีตามกำหนด ข้ออ้างในฎีกาของโจทก์จึงมิใช่เหตุสุดวิสัย ส่วนข้ออ้างตามคำร้องของโจทก์ที่ว่าโจทก์ถูกฟ้องขับไล่และทนายความของโจทก์ อยู่ต่างจังหวัดก็มิใช่เหตุสุดวิสัยเช่นกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5994/2550

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องนำรถยนต์บรรทุกของกลางไปดูแลรักษาไว้ ชั่วคราวในระหว่างพิจารณาคดีเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีของผู้ ร้องเสร็จสิ้นไป เพราะจะต้องมีการไต่สวนคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องอีก กรณีต้องด้วยบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 196 ที่ห้ามผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นจนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งใน ประเด็นสำคัญแก่คดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 รับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้วินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลให้ผู้ร้องมีสิทธิฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2550

หลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว โจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดขัอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 ประกอบมาตรา 181 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ดังนี้ คำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้ พิจารณาใหม่ของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ประกอบมาตรา 225 จำเลยจึงฎีกาคำสั่งดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2213/2550

คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้รอการไต่สวนมูลฟ้องไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลที่สุดของ คดีแพ่งของศาลชั้นต้น และให้จำหน่ายคดีชั่วคราว โดยได้สั่งไว้ด้วยว่าเมื่อคดีแพ่งดังกล่าวถึงที่สุดแล้วให้โจทก์แถลงต่อศาล เพื่อยกคดีขึ้นพิจารณาต่อไปภายใน 1 เดือน นับแต่คดีถึงที่สุด คำสั่งดังกล่าวไม่ใช่เป็นคำสั่งจำหน่ายคดีโดยเด็ดขาด เพียงแต่เป็นคำสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว เป็นคำสั่งที่ไม่ทำให้ประเด็นแห่งคดีเสร็จไปแต่อย่างใด จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2549

ตาม ป.อ. มาตรา 92 นั้น ผู้ที่จะถูกเพิ่มโทษได้จะต้องเป็นผู้ที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำ คุกและได้กระทำความผิดขึ้นอีกภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษคำคุกในคดีก่อน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีก่อนโดยให้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยไว้มี กำหนด 2 ปี กรณีเช่นนี้จึงไม่มีวันพ้นโทษที่จะถือเป็นเกณฑ์ในการเพิ่มโทษได้ แม้ว่าจำเลยจะมาทำความผิดคดีนี้ขึ้นอีกภายใน 5 ปี นับแต่วันครบกำหนดรอการลงโทษก็ตาม ก็เพิ่มโทษมิได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4116/2549

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 30,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 เดือน แต่มีผู้พิพากษาลงนามในคำพิพากษาเพียงคนเดียว เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) ทั้งนี้เพราะผู้พิพากษาคนเดียวจะพิพากษาลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือปรับเกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งโทษจำคุกหรือปรับอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าว แล้วไม่ได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทกฎหมายข้างต้นซึ่งมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ. จัดจั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1415/2549

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์โดยเห็นว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เป็นคำสั่งปฏิเสธไม่ส่งอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ การอุทธรณ์คำสั่งในกรณีเช่นนี้แม้จะเป็นการอุทธรณ์ก่อนศาลมีคำพิพากษาก็ต้อง อุทธรณ์ภายใน 15วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 234


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8534/2548

คดีนี้ ศาลชั้นต้นสั่งออกหมายจับจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้เพิกถอนหมายจับ อ้างว่าคดีขาดอายุความแล้ว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งยกคำขอของจำเลยที่ 2 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน เพราะคดีต้องพิจารณาต่อไป เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพียงจำหน่ายคดีชั่วคราว ไม่ใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญแล้ว การที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้เพิกถอนหมายจับ จึงเป็นอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 122/2551

ศาลชั้นต้นพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2544 ให้จำคุกจำเลย 20 ปี ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ต่อมาวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ให้ยกคำร้อง หากจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นจึงถึงที่สุด การที่จำเลยยื่นคำร้องลงวันที่ 19 เมษายน 2550 ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณากำหนดโทษจำเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) อีก จึงหาอาจทำได้ไม่ ทั้งกรณีไม่เป็นไปตามลำดับชั้นศาล จำเลยย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2550

การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยกข้อเท็จจริงที่ว่า "จำเลยพาวัตถุระเบิดของกลางไปในบริเวณงานสวนสนุก" มาจากคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลย ซึ่งพนักงานสอบสวนอ้างส่งต่อศาลชั้นต้นในชั้นไต่สวนคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 โดยที่จำเลยมาศาลในวันดังกล่าวและแถลงไม่คัดค้านการฝากขังและลงลายมือชื่อ ไว้ในคำให้การพยานผู้ร้องและรายงานกระบวนพิจารณา โดยศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำมาใช้ประกอบดุลพินิจในการลงโทษ ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพ หาใช่เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกสำนวนไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703/2550

การที่เจ้าหน้าที่ส่งหมายนำสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ไปส่งให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยตรงตามฟ้องแล้วเจ้าหน้าที่รายงานผลการส่งหมายว่า ส่งไม่ได้เพราะไม่พบภูมิลำเนา ค้นหาบริเวณใกล้เคียง และสอบถามผู้พักอาศัยบริเวณดังกล่าว ไม่มีผู้ใดพบบ้านเลขที่ซึ่งฟ้องระบุเป็นภูมิลำเนาจำเลย แต่กลับปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนตามรายงานผลการส่งหมายให้แก่จำเลยในครั้ง ก่อนๆ ว่า เจ้าหน้าที่เคยนำหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องไปส่งให้แก่จำเลย 2 ครั้ง และส่งหมายเรียกคดีอาญาให้แก่จำเลยอีก 1 ครั้งได้โดยวิธีปิดหมายที่ภูมิลำเนาเดียวกันนี้ และในการไต่สวนมูลฟ้องจำเลยได้แต่งตั้งทนายความเข้ามาด้วย แสดงว่าที่เจ้าหน้าที่ส่งหมายนำสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยในครั้งนี้แล้ว รายงานว่าไม่พบภูมิลำเนา อาจเป็นเพราะเสาะหาไม่ทั่วถึง จึงถือไม่ได้ว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยไม่ได้เป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่ พบ หรือจำเลยหลบหนีหรือจำเลยจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ อันศาลชั้นต้นจะต้องรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อพิจารณาพิพากษาต่อไป ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 201 แต่เป็นกรณีที่ยังไม่มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 200 ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยไม่ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ก่อน ย่อมทำให้จำเลยเสียสิทธิตามกฎหมายในการทำคำแก้อุทธรณ์ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาคดีโดยมิได้มีการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ก่อน จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาคดีอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ ก่อน แล้วส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2549

การที่ผู้ประกันยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อสิทธิในการร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้ประกันสิ้นสุดแล้ว ศาลชั้นต้นต้องคืนหลักประกันแก่ผู้ประกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 118 นั้น เป็นกรณีพิจารณาความเกี่ยวกับสัญญาประกันตัวจำเลยในคดีอาญา ซึ่งการใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นต้องเป็นไปตามหลัก เกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. ภาค 4 ลักษณะ 1 โดยมาตรา 193 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นใน ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดอนุญาตให้คู่ความอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อ ศาลฎีกาได้ดังเช่นคดีแพ่ง จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกา จึงไม่ถูกต้องเพราะเป็นการอุทธรณ์ข้ามลำดับศาล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4033/2549

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควร ตาม ป.อ. มาตรา 371 ลงโทษปรับ 100 บาท ความผิดฐานนี้จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ (4) จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ขอให้พิพากษายกฟ้อง จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาดังกล่าว ต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกข้อหานี้ขึ้นวินิจฉัย จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2549

ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2547 คู่ความย่อมยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาดัง กล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์วันที่ 6 มีนาคม 2547 ต่อมาวันที่ 4 มีนาคม 2547 ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ระยะเวลาที่ขยายออกไปจึงเริ่มนับแต่วันที่ครบกำหนดอุทธรณ์ คือ วันที่ 6 มีนาคม 2547 โดยเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2547 แม้วันดังกล่าวจะเป็นวันหยุดราชการตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ดังนั้น จำเลยจึงยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 5 เมษายน 2547


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2549

ผู้ประกันยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเมื่อสิทธิในการร้องขอให้บังคับ คดีแก่ผู้ประกันสิ้นสุดแล้ว ศาลชั้นต้นต้องคืนหลักประกันแก่ผู้ประกันตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 118 เป็นกรณีพิจารณาเกี่ยวกับสัญญาประกันตัวจำเลยในคดีอาญา ซึ่งการใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นต้องเป็นไปตามหลัก เกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. ภาค 4 ลักษณะ 1 โดยมาตรา 193 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดอนุญาตให้คู่ความอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อ ศาลฎีกาได้ดังเช่นคดีแพ่ง จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1561/2549

โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย อันเป็นเหตุให้คดีต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หมายถึงเฉพาะโทษจำคุกในความผิดที่โจทก์ฟ้องเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ข้อหาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน มีกำหนด 4 ปี แม้จะมีการเพิ่มโทษหนึ่งในสามเนื่องจากกระทำความผิดซ้ำ ตาม ป.อ. มาตรา 92 เป็นจำคุก 5 ปี 4 เดือน ก็เป็นการเพิ่มโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ มิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษในความผิดที่โจทก์ฟ้องเกิน 5 ปี จึงยังถือว่าศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ไม่เกิน 5 ปี เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว


จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงว่าขอให้ศาลฎีกา หยิบยกเรื่องเวลาจับกุม และการที่โจทก์ไม่ขอหมายเรียกพยานบางปากมาเบิกความขึ้นพิจารณาอีกครั้ง โดยมิได้ระบุข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอ้างอิงให้เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 คลาดเคลื่อนอย่างไร ฎีกาของจำเลยที่ 2 ส่วนนี้จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3170/2549

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งต้องระวางโทษสองในสามของโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี ตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมิได้มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี ก็ตาม จำเลยยังมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะการอุทธรณ์คดีอาญาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น ศาลจะต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามฟ้องว่าต้องห้ามหรือไม่ ไม่ใช่ความผิดที่พิจารณาได้ความ เมื่อจำเลยอุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยมิได้กระทำผิดอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของจำเลยไม่ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070/2549

โจทก์อุทธรณ์โดยมีพนักงานอัยการผู้รักษาการแทนอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 8 รับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมีสำเนาคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ 235/2546 ที่มอบหมายให้อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต หรือพนักงานอัยการผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาล สูงเขตมีอำนาจรับรองอุทธรณ์แทนอัยการสูงสุด เมื่อพิจารณาเห็นว่า มีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยสำหรับคดีอาญาซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขตนั้น ๆ ได้ โดยเป็นคำสั่งที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี และ พ.ร.บ.พนักงานอัยการฯ มาตรา 15 พนักงานอัยการผู้รักษาการแทนอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต 8 ตามมาตรา 18 จึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาจึงเป็นไปโดยชอบ


การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ เป็นการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุขของครอบครัว สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม พฤติการณ์แห่งคดีนับว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย แต่จำเลยมีอายุถึง 58 ปี และโทษจำคุกที่จะต้องรับแต่ละกระทงมีกำหนดเวลาน้อยกว่าสามเดือน เห็นสมควรใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำคุกให้น้อยลงอีกเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องแก่ พฤติการณ์แห่งรูปคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3626/2532

ผู้ประกันขอประกันตัวจำเลยด้วยความสมัครใจ เมื่อผู้ประกันไม่สามารถติดตามตัวจำเลยมาส่งศาลได้ ผู้ประกันจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องรับผิดตามสัญญาประกันจะอ้างว่าศาลชั้น ต้นตีราคาประกันสูงไปจึงขอลดค่าปรับหาได้ไม่