พยานบุคคล


มาตรา ๒๓๒  ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน

มาตรา ๒๓๓  จำเลยอาจอ้างตนเองเป็นพยานได้ ในกรณีที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ศาลจะให้เข้าสืบก่อนพยานอื่นฝ่ายจำเลยก็ได้ ถ้าคำเบิกความของจำเลยนั้นปรักปรำหรือเสียหายแก่จำเลยอื่น จำเลยอื่นนั้นซักค้านได้

ในกรณีที่จำเลยเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของจำเลยย่อมใช้ยันจำเลยนั้นได้ และศาลอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้

มาตรา ๒๓๔  พยานไม่ต้องตอบคำถามซึ่งโดยตรงหรืออ้อม อาจจะทำให้เขาถูกฟ้องคดีอาญา เมื่อมีคำถามเช่นนั้น ให้ศาลเตือนพยาน

มาตรา ๒๓๕  ในระหว่างพิจารณา เมื่อเห็นสมควร ศาลมีอำนาจถามโจทก์จำเลยหรือพยานคนใดได้

ห้ามมิให้ถามจำเลยเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะจะเพิ่มเติมคดีโจทก์ซึ่งบกพร่อง เว้นแต่จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยาน

มาตรา ๒๓๖  ในระหว่างพิจารณาศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ที่จะเป็นพยานซึ่งมิใช่จำเลย ออกไปอยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความ อนึ่งเมื่อพยานเบิกความแล้วจะให้รออยู่ในห้องพิจารณาก่อนก็ได้

มาตรา ๒๓๗  บันทึกคำเบิกความพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณานั้น ให้ศาลอ่านให้พยานฟังต่อหน้าจำเลย เว้นแต่ในกรณีดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕ วรรคสาม

ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณา โดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยานเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยไปทันทีได้ เว้นแต่ในข้อหาความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น
มาตรา ๒๓๗ ทวิ  ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า พนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคำร้องขอจากผู้เสียหายหรือจากพนักงานสอบสวน จะยื่นคำร้องโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิด และผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการนำตัวผู้นั้นมาศาล หากถูกควบคุมอยู่ในอำนาจของศาล ให้ศาลเบิกตัวผู้นั้นมาพิจารณาต่อไป

เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลสืบพยานนั้นทันที ในการนี้ ผู้ต้องหาจะซักค้านหรือตั้งทนายความซักค้านพยานนั้นด้วยก็ได้

ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ต้องหานั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ซึ่งหากมีการฟ้องคดีจะเป็นคดีซึ่งศาลจะต้องตั้งทนายความให้ หรือจำเลยมีสิทธิขอให้ศาลตั้งทนายความให้ตามมาตรา ๑๗๓ ก่อนเริ่มสืบพยานดังกล่าว ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ในกรณีที่ศาลต้องตั้งทนายความให้ ถ้าศาลเห็นว่าตั้งทนายความให้ทันก็ให้ตั้งทนายความให้และดำเนินการสืบพยานนั้นทันที แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่สามารถตั้งทนายความได้ทันหรือผู้ต้องหาไม่อาจตั้งทนายความได้ทัน ก็ให้ศาลซักถามพยานนั้นให้แทน

คำเบิกความของพยานดังกล่าวให้ศาลอ่านให้พยานฟัง หากมีตัวผู้ต้องหาอยู่ในศาลด้วยแล้ว ก็ให้ศาลอ่านคำเบิกความดังกล่าวต่อหน้าผู้ต้องหา

ถ้าต่อมาผู้ต้องหานั้นถูกฟ้องเป็นจำเลยในการกระทำความผิดอาญานั้น ก็ให้รับฟังคำพยานดังกล่าวในการพิจารณาคดีนั้นได้

ในกรณีที่ผู้ต้องหาเห็นว่า หากตนถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว บุคคลซึ่งจำเป็นจะต้องนำมาสืบเป็นพยานของตนจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า ผู้ต้องหานั้นจะยื่นคำร้องต่อศาลโดยแสดงเหตุผลความจำเป็น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานบุคคลนั้นไว้ทันทีก็ได้

เมื่อศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานนั้นและแจ้งให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องทราบ ในการสืบพยานดังกล่าว พนักงานอัยการมีสิทธิที่จะซักค้านพยานนั้นได้ และให้นำความในวรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี

มาตรา ๒๓๗ ตรี  ให้นำความในมาตรา ๒๓๗ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่กรณี การสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ และพยานหลักฐานอื่น และแก่กรณีที่ได้มีการฟ้องคดีไว้แล้วแต่มีเหตุจำเป็นที่ต้องสืบพยานหลักฐานไว้ก่อนถึงกำหนดเวลาสืบพยานตามปกติตามมาตรา ๑๗๓/๒ วรรคสองด้วย

ในกรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันสำคัญในคดีได้ หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากมีการเนิ่นช้ากว่าจะนำพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อันสำคัญมาสืบในภายหน้าพยานหลักฐานนั้นจะสูญเสียไปหรือเป็นการยากแก่การตรวจพิสูจน์ ผู้ต้องหาหรือพนักงานอัยการโดยตนเองหรือเมื่อได้รับคำร้องจากพนักงานสอบสวนหรือผู้เสียหาย จะยื่นคำร้องขอ ให้ศาลสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามความในมาตรา ๒๔๔/๑ ไว้ก่อนฟ้องก็ได้  ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๓๗ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2559
คำเบิกความของจำเลยตอบโจทก์ถามค้านว่าเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกมาก่อน ย่อมใช้ยันจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 233 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2558
โจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อหน้าศาลผ่านล่ามโดยมีทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมฟังการเบิกความและถามค้านโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์ไม่สามารถเบิกความในชั้นพิจารณาได้ เนื่องจากถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและมีเหตุผลสมควร ดังนั้น บันทึกคำเบิกความโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5 กรณีหาจำต้องให้คู่ความตกลงกัน จึงจะนำคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังได้ตามมาตรา 237 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14063/2557
การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุและได้รับการปล่อยตัว แม้จะไม่ถือว่าถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวน แต่ก็เป็นกรณีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิดและทราบถิ่นที่อยู่ของจำเลย อันชอบที่พนักงานสอบสวนหรือโจทก์ต้องแจ้งวันนัดสืบพยานก่อนฟ้องให้จำเลยทราบ ทั้งต้องตั้งทนายความให้จำเลยก่อนเริ่มสืบพยานก่อนฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งทนายความให้จำเลยและมิได้ซักถามพยานโจทก์ในลักษณะซักถามพยานแทนจำเลย จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ ไม่อาจรับฟังการสืบพยานปาก จ. ก่อนฟ้องคดีได้ คงรับฟังได้เพียงพยานบอกเล่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10294/2557
ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ วรรคหนึ่ง การสืบพยานก่อนฟ้องคดีเป็นกรณีจำเป็นที่จะต้องเสนอพยานหลักฐานต่อศาลไว้ก่อน เพราะหากรอจนมีการฟ้องคดีอาจเป็นการยากแก่การนำพยานบุคคลนั้นมาสืบในภายหน้าเพื่อพิสูจน์ความผิด ซึ่งบางกรณีอาจยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด กฎหมายจึงบัญญัติเพียงว่า ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ก็ให้นำตัวมาศาลด้วย ดังนั้น หากไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดก็สามารถสืบพยานก่อนฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องนำตัวมาศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2113/2557
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณาโดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยานเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยไปทันทีได้ อันมีความหมายอยู่ในตัวว่าก่อนที่โจทก์หรือจำเลยจะนำพยานปากใดที่เคยเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณา คู่ความสามารถตกลงกันได้ว่าไม่จำต้องให้พยานปากดังกล่าวต้องเบิกความซ้ำในข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ และศาลจะต้องจดบันทึกข้อตกลงของคู่ความนี้ไว้ให้แจ้งชัดในรายงานกระบวนพิจารณา สำหรับคดีนี้ไม่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาในวันสืบพยานโจทก์ว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายที่มาศาลได้ตกลงกันให้นำคำเบิกความของ ห. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา ศาลจึงไม่อาจนำคำเบิกความของ ห. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6781/2555
โจทก์แถลงขอให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา จำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้โดยจำเลยทั้งสองไม่ติดใจถามค้านอีก เนื่องจากได้มีการถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตในขณะนั้น แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยนำพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นพยานในชั้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยไป เท่ากับว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำบันทึกคำให้การชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาใช้ในชั้นพิจารณาได้ ตามบทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7540/2554
แม้จำเลยเป็นเจ้าอาวาสของโจทก์ร่วมและได้รับเงินเดือนประจำที่เรียกว่านิตยภัตจากเงินงบประมาณของรัฐ แต่ผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำที่จะถือว่าเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งเจ้าอาวาสไม่อยู่ในความหมายดังกล่าว และในปัจจุบันวัดจัดตั้งขึ้นโดยวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งกำหนดให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทน แต่ก็มีอำนาจอย่างจำกัดตามมาตรา 37 เฉพาะในการบำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม และอื่นๆ อันเป็นกิจการของสงฆ์โดยเฉพาะ ส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมการศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการ วัดจึงหาใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ไม่ว่าในตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือในตำแหน่งอื่นใดก็ตาม จึงหาได้อยู่ในความหมายของคำจำกัดความว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ส่วน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 45 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" ก็เป็นเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่พระภิกษุบางตำแหน่งเท่านั้น และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับปัจจุบันบัญญัติให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้น โดยบัญญัติถึงกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้วิธีการไต่สวนเท่านั้น บุคคลอื่นๆ คงใช้กระบวนการสอบสวนตามปกติตาม ป.วิ.อ. ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนมิได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง

มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) กำหนดให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือนับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ข้อความในมาตรา 233 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่จำเลยเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของจำเลยย่อมใช้ยันจำเลยนั้นได้ และศาลอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ แต่การที่จำเลยตอบคำถามก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จำเลยย่อมไม่อาจคาดหมายได้ว่าคำเบิกความของตนจะใช้รับฟังลงโทษตนเองได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นโทษแก่จำเลย จึงไม่อาจมีผลย้อนหลัง และถือไม่ได้ว่าโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว

กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในมาตรา 40 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ข้อ 5 บัญญัติให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาท ขึ้นไปให้เก็บรักษาโดยฝากกรมการศาสนา จังหวัด อำเภอ หรือธนาคาร หรือนิติบุคคลที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ให้ฝากในนามของวัด ดังนั้น การฝากเงินของวัดคือโจทก์ร่วมต้องฝากในนามของโจทก์ร่วมเท่านั้น หากมิได้ดำเนินการดังกล่าวโดยเจตนาก็เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 ได้ ส่วนการจัดการทรัพย์สินของวัดก็ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นสำคัญ แต่การนำเงินค่าผาติกรรมซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมอย่างหนึ่งไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์ร่วม โดยมิได้เบียดบังเป็นของตนเองหรือผู้อื่น การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เงินผิดไปจากมติมหาเถรสมาคม หรือเป็นการใช้เงินผิดระเบียบเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10272/2553
ศาลชั้นต้นให้สืบพยานผู้เสียหาย และ ว. ไว้ก่อนในคดีหมายเลขแดงที่ 895/2546 ของศาลชั้นต้นที่พวกของจำเลยซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คดีนี้และคดีดังกล่าวจึงเป็นคดีเดียวกัน ศาลจึงรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหาย และ ว. ในการพิจารณาคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7745/2552
คำเบิกความของ ว. และ ส. พยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งศาลต้องบันทึกไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง เป็นพยานเอกสารอย่างหนึ่งซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยทั้งสองมีผิดหรือบริสุทธิ์ โจทก์จึงชอบที่จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ตามมาตรา 226 แต่ในการสืบพยานโจทก์ในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบ ว. และ ส. เนื่องจากความผิดของโจทก์ที่ละเลยเพิกเฉยไม่เอาใจใส่ในการส่งหมายเรียกให้พยานหรือนำพยานมาศาล จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรที่ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของ ว. และ ส. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบพยานหลักฐานอื่นในชั้นพิจารณาได้ตามมาตรา 226/5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5671/2552
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้สืบพยานไว้ก่อนโดยคำร้องอ้างเหตุถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานให้และเห็นว่าไม่อาจตั้งทนายความให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ทัน จึงชอบด้วยเหตุผล ทั้งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ทำในวันนั้นปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งให้จำเลยทั้งสี่ทราบและให้โอกาสซักถามพยานได้ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ไม่คัดค้าน โดยจำเลยที่ 1 เองก็ได้ซักถามพยานด้วยแต่จำเลยอื่นไม่ติดใจถามค้านตามบันทึกท้ายคำเบิกความ ส่วนที่ศาลชั้นต้นไม่ซักถามพยานนั้นเป็นดุลพินิจที่ทำได้โดยชอบ หากเห็นว่าคำเบิกความชัดเจนแล้ว ดังนี้การสืบพยานปากผู้เสียหายไว้ก่อนฟ้องคดีของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1164/2547
ป.วิ.อ. มาตรา 232 บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น หมายถึง จำเลยในคดีเดียวกัน แต่ น. มิได้เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดีนี้ กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2878/2544
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำและใช้อาวุธมีดปลายแหลมขู่เข็ญ ผู้เสียหายว่าทันใดนั้นจะใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายหากผู้เสียหายขัดขืน แสดงว่าจำเลยมีอาวุธมีดและยังไม่ได้แทงทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ดังนั้น ที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ถูกของแหลมยาวประมาณ 6 ถึง 7 นิ้ว ไม่ทราบว่าเป็นวัตถุชนิดใด ทิ่มแทงที่ชายโครง 2 ครั้ง โดยไม่ปรากฏบาดแผลและอาวุธที่ใช้ทิ่มแทงเป็นของกลาง จึงรับฟังไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริง รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย ลำพังแต่คำรับของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ย่อมไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ได้ ส่วนที่จำเลยเบิกความรับว่าจำเลยได้หยิบไม้กวาดขึ้นมาถือไว้ ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าเข้าใกล้จำเลย เท่ากับเป็นการขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริง ที่จะรับฟังลงโทษจำเลยต้องได้มาจากพยานหลักฐานของโจทก์ คำเบิกความของจำเลยมิใช่พยานหลักฐานของโจทก์ จะนำมารับฟังเพื่อลงโทษจำเลยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 496/2545
แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะกล่าวหาว่า ท. เป็นผู้ต้องหาในครั้งแรกแต่ ท. ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยด้วย คำให้การของ ท. หาใช่คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยแต่อย่างใด ทั้ง ท. ให้การต่อพนักงานสอบสวนภายหลังเกิดเหตุเพียงชั่วข้ามคืนและโดยทันทีที่เข้าแจ้งเหตุให้พนักงานสอบสวนทราบ เป็นการยากที่ ท. จะปรุงแต่งเรื่องราวเพื่อปรักปรำจำเลยหรือเพื่อต่อสู้คดีได้ ทั้งเป็นคำให้การที่มิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญาขู่เข็ญหลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และแม้จะฟังว่า ท. ให้การซัดทอดจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของผู้กระทำผิดด้วยกันก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังแต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้ตัว ท. มาเบิกความในชั้นศาล ศาลย่อมนำคำให้การของ ท. ในชั้นสอบสวนมาฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยได้

คำให้การของจำเลยต่อพนักงานสอบสวนยืนยันรับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริง และการนำชี้ที่เกิดเหตุก็กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก ซึ่งแสดงว่าไม่มีการล่อลวงหรือขู่เข็ญ คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจึงใช้ยันจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 และรับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ให้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2541
แม้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญผู้ตรวจพิสูจน์จะเห็นว่าลายมือ มีคุณลักษณะและรูปลักษณะของการเขียนแตกต่างกัน น่าจะไม่ใช่ ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโจทก์ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือ รับสภาพหนี้เป็นเอกสารที่ทำไว้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2536 ไม่ปรากฎว่าโจทก์มีเอกสารที่ได้ทำขึ้นในช่วง ระยะใกล้เคียงกับวันดังกล่าวซึ่งเป็นการเขียนแบบบรรจงส่งไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อโจทก์ด้วยทั้งรูปแบบการเขียนลายมือชื่อโจทก์ที่ระยะเวลาใกล้เคียงกับเอกสารที่จะต้องตรวจพิสูจน์ก็ไม่มี ดังนั้น ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงความเห็นตามหลักวิชาการเท่านั้น เนื่องจากลายมือชื่อโจทก์มีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกับลายมือชื่อโจทก์ในใบแต่งทนายความซึ่งเป็นลายมือเขียนหวัดและเวลาเขียนต่างกันตามกาลเวลา ผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโจทก์จึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธและยืนยันว่าเป็นลายมือชื่อโจทก์ และการวินิจฉัยลายมือชื่อในเอกสารว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ ไม่มี กฎหมายบังคับให้ศาลต้องฟังตามข้อสันนิษฐานหรือข้อพิสูจน์เป็นหลักฐานของผู้เชี่ยวชาญก่อนแต่อย่างใด ทั้งมิใช่ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นอย่างไรแล้วศาลต้องฟังเสมอไป เมื่อโจทก์ยังมี ภาระหน้าที่นำสืบว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิด การที่โจทก์รับว่าเช็คทั้งสามฉบับอยู่ในความครอบครองของ จำเลยที่ 1 ตลอดมาย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นในลักษณะ ลายมือชื่อโจทก์มาก่อนที่มีการทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ จึงไม่มีเหตุผลประการใดที่จำเลยทั้งสองจะทำการปลอมลายมือชื่อ ของโจทก์เป็นแบบตัวบรรจงให้แตกต่างออกไปให้เห็นได้โดยประจักษ์พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2381/2537
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้บทที่ลงโทษจากพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 72 วรรคหนึ่ง เป็นมาตรา 72 วรรคสาม และแก้โทษจากจำคุก2 ปี เป็นจำคุก 1 ปี เป็นการแก้ไขมาก แต่ยังคงลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ส่วนข้อหาพาอาวุธปืนศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามศาลชั้นต้นและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง ตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง คำให้การในชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานโจทก์สอดคล้องตามกันและได้ให้การภายหลังเกิดเหตุทันที่โดยไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองเพื่อช่วยเหลือหรือปรักปรำผู้หนึ่งผู้ใด เชื่อว่าได้ให้การไปตามความจริงตามที่ได้รู้เห็นโดยไม่มีเหตุจูงใจหรือถูกบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด พนักงานสอบสวนจึงได้บันทึกและให้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน การที่ประจักษ์พยานโจทก์มาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้ายที่ยิงผู้ตายก็คงเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิด เชื่อว่าคำให้การชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานโจทก์เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาทั้งคำให้การชั้นสอบสวนไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไม่ให้รับฟังประกอบเป็นข้อพิจารณาของศาลประการใด เมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดี เช่น จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ย่อมมีน้ำหนักมั่นคงฟังลงโทษจำเลยได้

ฎีกา

มาตรา ๒๑๖  ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๒๑๗ ถึง ๒๒๑ คู่ความมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษา หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่าน หรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง

ฎีกานั้น ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๙๘ มาตรา ๒๐๐ และมาตรา ๒๐๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๑๗  ในคดีซึ่งมีข้อจำกัดว่า ให้คู่ความฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ข้อจำกัดนี้ให้บังคับแก่คู่ความและบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีด้วย

มาตรา ๒๑๘  ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแต่โทษจำคุกไม่เกินห้าปีห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ในคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลล่างหรือเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้าปี ไม่ว่าจะมีโทษอย่างอื่นด้วยหรือไม่ ห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา ๒๑๙ ในคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อห้ามนี้มิให้ใช้แก่จำเลยในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขมากและเพิ่มเติมโทษจำเลย

มาตรา ๒๑๙ ทวิ  ห้ามมิให้คู่ความฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งในข้อเท็จจริงในปัญหาเรื่องวิธีการเพื่อความปลอดภัยแต่อย่างเดียว แม้คดีนั้นจะไม่ต้องห้ามฎีกาก็ตาม

ในการนับกำหนดโทษจำคุกตามความในมาตรา ๒๑๘ และ ๒๑๙ นั้น ห้ามมิให้คำนวณกำหนดเวลาที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยรวมเข้าด้วย

มาตรา ๒๑๙ ตรี  ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือเปลี่ยนโทษกักขังเป็นโทษจำคุก หรือคดีที่เกี่ยวกับการกักขังแทนค่าปรับ หรือกักขังเกี่ยวกับการริบทรัพย์สิน ถ้าศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

มาตรา ๒๒๐ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์

มาตรา ๒๒๑  ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา ๒๑๘, ๒๑๙ และ ๒๒๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป

มาตรา ๒๒๒  ถ้าคดีมีปัญหาแต่เฉพาะข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน

มาตรา ๒๒๓  ให้เป็นหน้าที่ศาลชั้นต้นตรวจฎีกาว่าควรจะรับส่งขึ้นไปยังศาลฎีกาหรือไม่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าเห็นว่าไม่ควรรับ ให้จดเหตุผลไว้ในคำสั่งของศาลนั้นโดยชัดเจน

มาตรา ๒๒๔ เมื่อศาลชั้นต้นไม่ยอมรับฎีกา ผู้ฎีกาอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลนั้นต่อศาลฎีกาได้ คำร้องเช่นนี้ให้ยื่นที่ศาลชั้นต้นภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันฟังคำสั่ง แล้วให้ศาลนั้นรีบส่งคำร้องเช่นว่านั้นไปยังศาลฎีกาพร้อมด้วยฎีกาและคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรตรวจสำนวนเพื่อสั่งคำร้องเรื่องนั้น ก็ให้สั่งศาลชั้นต้นส่งมาให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10072/2559
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 ร้อยเอก ธ. กับพวก เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารตรวจสอบรถบรรทุกลากจูงและรถพ่วงที่จำเลยขับโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 ซึ่งมาตรา 15 ทวิ บัญญัติว่า "ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดจะเป็นราชศัตรูหรือได้ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้หรือต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวบุคคลนั้นไว้เพื่อการสอบถามหรือตามความจำเป็นของทางราชการทหารได้ แต่ต้องกักไว้ไม่เกินกว่า 7 วัน" การที่ร้อยเอก ธ. กับพวกกักตัวจำเลยไว้ก่อนที่จำเลยจะหลบหนีจึงเป็นการกักตัวตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจหน้าที่ฝ่ายทหารไว้เฉพาะ มิใช่การจับตาม ป.วิ.อ.มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แม้ขณะกักตัวจำเลยจะมีเจ้าพนักงานตำรวจอยู่ด้วยก็ตาม ทั้งนี้การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เมื่อยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลและไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้จะมี เจ้าพนักงานตำรวจร่วมอยู่ด้วยในการกักตัวจำเลยก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับ ดังนี้ วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 จำเลยจึงยังไม่ถูกจับ กรณีไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2558 การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการฝากขังจำเลยในคดีนี้ จึงชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2559
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาใหม่ โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเด็ดขาดเมื่อโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงไม่มีคดีของจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คำสั่งขอให้รวมการพิจารณาคดี คำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6410/2559
จำเลยทั้งสองฎีกาโดยคัดลอกข้อความมาจากอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองทั้งสิ้น คงมีการแก้ไขเฉพาะคำว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นศาลฎีกา และมีส่วนเพิ่มเติม พิมพ์ตกหรือพิมพ์ผิดไปจากอุทธรณ์บ้างเล็กน้อยในรายละเอียด ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโต้แย้งเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่าพิพากษาไม่ชอบอย่างไร หรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพราะเหตุใด ทั้งเหตุผลในการวินิจฉัยคดีของศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็แตกต่างกัน ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองไว้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4200/2559
ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสองประกอบ มาตรา 216 วรรคหนึ่งและมาตรา 225 วางหลักว่า ฎีกาทุกฉบับต้องมีข้อคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ระบุข้อเท็จจริงโดยย่อหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิงเป็นลำดับ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น โจทก์ร่วมที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ร่วมที่ 2 ฎีกาโดยคัดลอกข้อความที่อุทธรณ์มาเป็นฎีกาทั้งสิ้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยในปัญหาเดียวกันไว้แล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 มิได้ยกเหตุผลคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้อง หรือคลาดเคลื่อนอย่างไร ที่ถูกแล้วศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัยอย่างไรและด้วยเหตุผลใด ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมที่ 2 มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

โจทก์ฎีกาว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง และตับออกจากร่างกายของ ล. และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผ่าตัดเอาไตทั้ง 2 ข้าง ออกจากร่างกายของ น. เพื่อนำเอาอวัยวะนั้นไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น ล. และ น.ยังไม่อยู่ในสภาวะสมองตาย คือ การที่แกนสมองถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า ผู้ป่วยราย ล. และ น. ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะฐานกะโหลกแตกและสมองถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ทำให้สมองบวมกดแกนสมองเคลื่อนไป แพทย์ตรวจพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองราย ไม่รู้สึกตัวและอยู่ในเครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากไม่หายใจ เกณฑ์การตรวจและวินิจฉัยสมองตายกระทำโดยการตรวจและทดสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในประกาศของแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายและตามหลักวิชาทางการแพทย์ ปรากฏว่าผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด และเมื่อถอดเครื่องช่วยหายใจออกก็ไม่หายใจ แสดงให้เห็นได้ว่าแกนสมองของผู้ป่วยทั้งสองรายนี้ถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไปแล้ว ทำให้ไม่สามารถหายใจได้อย่างแน่นอน ก่อนทำการผ่าตัดวิสัญญีแพทย์ตรวจพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองรายไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด แกนสมองตายแล้วและไม่หายใจเช่นเดียวกัน จึงน่าเชื่อว่าก่อนทำการผ่าตัดนำอวัยวะออกไปนั้น ผู้ป่วยทั้งสองรายแกนสมองตาย มีผลทำให้หัวใจขาดออกซิเจน กล้ามเนื้อหัวใจจะหยุดทำงานและหัวใจจะหยุดเต้นในเวลาต่อมา โจทก์อุทธรณ์โดยมิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยในส่วนดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ล. และ น. อยู่ในสภาวะสมองตายก่อนที่จะมีการผ่าตัดเอาอวัยวะออกจากร่างกายไปทำการปลูกถ่ายอวัยวะให้แก่บุคคลอื่น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงซึ่งยุติไปแล้วมาโต้เถียงใหม่ในชั้นฎีกา จึงเป็นฎีกาที่มิได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และเป็นกรณีไม่อาจอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ที่โจทก์ฎีกาต่อไปว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะอ้างว่ามีการวินิจฉัยสมองตายตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตามประกาศแพทยสภาไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา เช่น ไม่ได้กระทำโดยองค์คณะแพทย์ไม่น้อยกว่า 3 คน ไม่ได้บันทึกว่าแกนสมองตายนั้น เห็นว่า ข้อความในฎีกาโจทก์เป็นทำนองเดียวกับที่โจทก์กล่าวในอุทธรณ์อันเป็นการโต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าแกนสมองของ ล. และ น. ถูกทำลายจนสิ้นสุดการทำงานโดยสิ้นเชิงตลอดไป บุคคลทั้งสองจึงอยู่ในสภาวะสมองตายตามประกาศแพทยสภา เรื่อง เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายฉบับแรกและฉบับที่ 2 ก่อนทำการผ่าตัดนำอวัยวะของ ล. และ น. ออกไป วิสัญญีแพทย์ ตรวจผู้ป่วยทั้งสองแล้ว ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ไม่ตอบสนองต่อความเจ็บปวด และเมื่อปลดเครื่องช่วยหายใจออกจากท่อแล้วผู้ป่วยไม่หายใจเอง ข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า แกนสมองของผู้ป่วยทั้งสองคนถูกทำลายจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้แล้ว ทำให้ไม่สามารถหายใจได้เองโดยปราศจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเข้าหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายตามประกาศแพทยสภา แม้การวินิจฉัยเรื่องแกนสมองตาย จะขาดตกบกพร่องไปบ้าง เช่น ไม่ได้ใช้แบบพิมพ์ของแพทยสภา หรือการวินิจฉัยสมองตายกระทำโดยแพทย์ไม่ครบ 3 คน ก็เป็นความบกพร่องในด้านการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่แพทยสภากำหนดไว้ ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ถูกลงโทษโดยแพทยสภาไปแล้ว โดยโจทก์มิได้โต้แย้งว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรและด้วยเหตุผลใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบมาตรา 216 วรรคหนึ่ง และมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2909/2559
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบรถยนต์ของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ ส่วนการยกฟ้องยังคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งคนร้ายได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง ศาลจึงมีอำนาจสั่งริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) นั้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14756/2558
การพิจารณาว่าจะสั่งรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลยนั้นเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 223 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งฎีกาของจำเลยให้ศาลฎีกาสั่งจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยไปเลย โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง คดีนี้เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว หากจำเลยจะยื่นฎีกาจะต้องยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เพื่อขอให้รับฎีกาไว้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12603/2558
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นที่ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และมีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ แล้วพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ที่ว่า การออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยเพื่อให้จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากคดียังอยู่ในระหว่างที่โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือกล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใด อย่างไร อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9889/2558
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์และเข้าเป็นโจทก์ร่วม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โดยอ้างว่า ตามคำเบิกความและคำเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ร่วมว่า โจทก์ร่วมรู้อยู่แล้วว่าการที่บุตรของโจทก์ร่วมจะเข้ารับราชการทหารได้จะต้องมีการนำเงินไปให้ผู้ใหญ่ที่สามารถช่วยให้บุตรโจทก์ร่วมเข้าทำงานเป็นทหารได้ ซึ่งเป็นการวิ่งเต้นให้บุคคลที่เกี่ยวข้องช่วยให้เข้ารับราชการอันเป็นการผิดระเบียบของทางราชการ จึงเป็นกรณีที่ชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้จำเลยกระทำความผิดนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงว่า ไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมให้เงินแก่จำเลยเพื่อให้จำเลยนำเงินไปให้แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยทุจริต การที่จำเลยรับว่าจะช่วยบุตรชายโจทก์ร่วมให้ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการทหารจึงเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมเพื่อต้องการได้เงินจากโจทก์ร่วมเท่านั้น ดังนี้ ในการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยดังกล่าว ศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมอบเงินให้จำเลยเพื่อนำไปให้บุคคลซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุเข้ารับราชการทหารกระทำการอย่างใดอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9076/2558
แม้ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งจำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ก็ตาม แต่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยมิได้ยกปัญหาข้อนี้ขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น เป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมิได้ดำเนินกระบวนพิจารณาและวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าว ดังนั้น ฎีกาของจำเลยที่อ้างว่า การกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลยคดีนี้เป็นกรรมเดียวกับความผิดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 619/2556 ของศาลชั้นต้น และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ระงับไปเพราะคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้ว จึงเป็นข้อที่จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายเพราะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาต้องย้อนไปวินิจฉัยว่าโจทก์มีส่วนร่วมกระทำความผิดกับจำเลยหรือไม่ ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายที่จำเลยอ้าง อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5411/2558
เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ริบอาวุธปืนของกลางแล้ว หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าศาลอุทธรณ์ริบอาวุธปืนของกลางโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ชอบที่จะใช้สิทธิฎีกาคำพิพากษาไปยังศาลฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 แต่จำเลยที่ 1 มิได้ใช้สิทธิดังกล่าวจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว จึงมายื่นคำร้องขอให้ศาลคืนอาวุธปืนของกลาง โดยอ้างข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังที่ปรากฏในคำร้องของจำเลยที่ 1 ดังนี้ หากศาลฟังตามที่จำเลยที่ 1 อ้างในคำร้องดังกล่าวแล้ววินิจฉัยให้คืนอาวุธปืนของกลางแก่จำเลยที่ 1 ย่อมมีผลเป็นการแก้ไขคำพิพากษาซึ่งถึงที่สุดแล้ว ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 ที่ห้ามมิให้แก้ไขคำพิพากษาหรือคำสั่งซึ่งอ่านแล้ว นอกจากแก้ถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1964/2558
คดีนี้จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ขอให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้วเห็นว่าฎีกาของจำเลยไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยนั้นเป็นการไม่ชอบ และมีคำพิพากษายกฎีกาของจำเลย ถือได้ว่าศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของจำเลยแล้วว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง การที่ศาลฎีกายกฎีกาของจำเลยจึงมิใช่เป็นเพียงแบบของการจัดทำคำพิพากษาของศาล เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555 คดีของจำเลยจึงถึงที่สุดในวันดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 800/2558
ฎีกาของจำเลยที่ว่า การรอการลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 56 เป็นการให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจให้รอการลงโทษได้ มิใช่บังคับศาลว่าไม่สามารถรอการลงโทษได้เลยนั้น เป็นการหยิบยก ป. อ. มาตรา 56 ขึ้นมาอ้างเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่ามีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ อันเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มีลักษณะบิดเบือนให้เป็นข้อกฎหมายตามที่จำเลยกล่าวอ้าง ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยโดยเห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19384/2557
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านพักทหารกองบิน 2 เลขที่ 302/773 หมู่ที่ 7 ตำบลเขาพระงาม อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของผู้เสียหาย แล้วพูดใส่ความผู้เสียหายว่า "อีกะหรี่ อีหน้าหี อีหน้าหัวควย อีดอกทอง อีสัตว์" ต่อหน้าผู้เสียหายและ ฤ. อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นคนไม่ดีประพฤติชั่ว โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกผู้อื่นดูหมิ่น เกลียดชัง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362, 364 และ 393 ยกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท จำเลยฎีกามีข้อความว่า ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยยังไม่เห็นพ้องด้วย จากคำเบิกความของผู้เสียหายตอบทนายจำเลยถามค้านว่า "หลังจากที่จำเลยด่าข้าฯ ด้วยคำพูดหยาบคายโดยเน้นย้ำคำว่า อีกะหรี่ ข้าฯ บอกให้จำเลยออกไป แต่จำเลยไม่ออกไป ข้าฯ จึงหยิบมีดปอกผลไม้มาถือไว้เพื่อป้องกันตัว" เห็นได้ชัดว่าผู้เสียหายมีอาวุธมีดในมือ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยจะกล้าบุกรุกเข้าไปในบ้านและด่าผู้เสียหาย... ขอศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลย แต่ฎีกาของจำเลยไม่เห็นพ้องด้วยกับทั้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาไม่ถูกต้องอย่างไร ที่ถูกต้องเป็นเช่นไร และไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อ้างเหตุคนละอย่างกับเหตุที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15734/2557
ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 2 นั้น แม้ศาลอุทธรณ์รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 อันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้นเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษจึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15525/2557
โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ควรรับฟังพยานหลักฐานเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นเป็นฎีกาทำนองว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบแล้ว แต่ฎีกาของโจทก์มิได้โต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร และโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13316/2557
แม้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ยื่นคำร้องขอให้ส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อรับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 จะไม่ใช่คำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พนักงานสอบสวนมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ตามกฎหมาย แต่การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานสอบสวนดังกล่าวนั้น เป็นเรื่องระหว่างศาลกับพนักงานสอบสวนซึ่งเป็นผู้ร้องโดยเฉพาะ ผู้ต้องหาทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ต้องหาทั้งสองจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13649/2557
ขณะที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกา เพื่อขอให้ส่งฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปให้อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองฎีกา ศาลชั้นต้นยังไม่อ่านคำสั่งของศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา แต่เมื่อศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งของศาลฎีกาซึ่งมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยทั้งสี่ เท่ากับศาลฎีกามีคำสั่งยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 คดีจึงถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่จะให้ยกขึ้นพิจารณาใหม่ได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวจึงไม่มีประโยชน์แก่คดีที่จะวินิจฉัยต่อไป ให้จำหน่ายคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8620/2557
คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 ประกอบมาตรา 83, 358, 371 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 รวมจำคุก 5 ปี 12 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี หากอายุเกิน 24 ปีบริบูรณ์ ให้ส่งไปจำคุกตามระยะเวลาที่เหลือ ซึ่งการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมและจากนั้นส่งตัวไปจำคุกยังเรือนจำเช่นนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 183

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5208/2557
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายหลายกรรมต่างกัน โดยเฉพาะความผิดที่ได้กระทำในวันที่ 13 สิงหาคม 2551 และวันที่ 12 กันยายน 2551 จำเลยได้กระทำโดยมีอาวุธปืน อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3, 4 รวม 4 กระทง และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ โจทก์จะฎีกาในข้อหาความผิดนี้หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1488/2557
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง จำคุก 2 ปี และปรับ 200,000 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ให้ลงโทษตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง จำคุก 3 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้เฉพาะวรรคในมาตรา 66 และแก้โทษด้วยนั้น โดยความผิดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองของพระราชบัญญัติดังกล่าวมีอัตราโทษขั้นต่ำและขั้นสูงต่างกันมาก ซึ่งความผิดตามวรรคหนึ่งนั้น มีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงสิบห้าปี หรือปรับขั้นต่ำแปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท แต่วรรคสองมีอัตราโทษจำคุกขั้นต่ำสี่ปี ขั้นสูงจำคุกตลอดชีวิต และปรับขั้นต่ำสี่แสนบาท ขั้นสูงห้าล้านบาท การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แก้วรรคและแก้โทษในกรณีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 นั้น เป็นการแก้ไขมาก ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21623/2556
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ให้ส่งตัวจำเลยที่ 5 ไปรับการฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 2 ปี แต่ไม่เกินกว่าที่จำเลยที่ 5 จะมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (5) ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 ให้มอบตัวจำเลยที่ 5 ให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง ระวังจำเลยที่ 5 ไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาภายใน 1 ปี หากจำเลยที่ 5 ก่อเหตุร้าย บิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 1,000 บาท กับให้คุมความประพฤติจำเลยที่ 5 ไว้ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 75 ประกอบมาตรา 74 (2) (3) มิใช่การลงโทษ จึงถือมิได้ว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 5 เกิน 2 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาว่า พฤติกรรมของจำเลยที่ 5 เป็นความผิดฐานเป็นตัวการตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19126/2556
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง วางหลักสำคัญในการฎีกาว่า ฎีกาจะต้องคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ คดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 กับพวกเป็นคนร้ายร่วมกันฆ่าผู้ตาย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 1 และพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่เห็นด้วยกับการฟังข้อเท็จจริงและเหตุผลในการตัดสินของศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยแสดงข้อคัดค้านด้วยการคัดลอกคำตัดสินของศาลชั้นต้นทั้งในส่วนข้อเท็จจริงและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยชนิดคำต่อคำ เริ่มจากข้อความที่ศาลชั้นต้น เห็นว่า เป็นต้นมาจนจบคำวินิจฉัย มาหักล้างข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ซึ่งข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พิจารณาแล้วไม่เห็นพ้องด้วยโดยศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในแง่มุมต่าง ๆ ไว้หลายประการซึ่งต่างไปจากข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัย อันเป็นการหักล้างการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น แม้ฎีกาโจทก์จะกล่าวเพิ่มเติมมาบ้าง 6 ถึง 7 บรรทัด ก็เป็นฎีกาลอย ๆ ที่กล่าวปิดท้ายก่อนที่จะสรุปทำนองเดียวกับศาลชั้นต้นว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้มั่นคงและชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายจริง เท่ากับโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านโดยตรงต่อคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่รับฟังข้อเท็จจริงและแสดงเหตุผลซึ่งผิดไปจากที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยนั้น มีข้อเท็จจริงใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังมาไม่ถูกต้องหรือเห็นว่าคลาดเคลื่อนไปจากพยานหลักฐานโจทก์ที่ควรรับฟังในข้อใด และมีข้อวินิจฉัยที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้เหตุผลไม่สมแก่ข้อเท็จจริงในเรื่องใดและเพราะเหตุใด หรือไม่ลงรอยแก่เหตุผลที่ควรจะเป็นไปในเหตุการณ์ใด ฎีกาของโจทก์จึงมีผลไม่ต่างไปจากการขอถือเอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นข้อฎีกาของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อการวินิจฉัยของศาลฎีกาโดยตรง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยข้อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16107 - 16108/2556
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคสาม ป.อ. มาตรา 289 (4) และมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 วางโทษประหารชีวิต ลดโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 78 วรรคหนึ่ง วรรคสาม ป.อ. มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 โดยวางโทษจำเลยทั้งสองคงเดิมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้จากความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) และมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 มาเป็นความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 288 และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และยังคงลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 กับจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8360/2556
จำเลยฎีกาว่าจำเลยขออ้างอุทธรณ์จำเลยเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาจำเลย เท่ากับฎีกาของจำเลยที่อ้างอุทธรณ์เป็นการโต้แย้งคัดค้านเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ชอบอย่างไร และจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพราะเหตุใด ทั้ง ๆ ที่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อ้างเหตุคนละอย่างกับเหตุที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5216/2556
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นลงโทษกักขังจำเลยแทนโทษจำคุก มีกำหนด 1 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย คดีจึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5010/2556
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง วางหลักสำคัญในการฎีกาว่า ฎีกาจะต้องคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยแสดงข้อคัดค้านด้วยการคัดลอกข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นกล่าวไว้ในทางนำสืบโจทก์มาลำดับให้สั้นลง จากนั้นโจทก์นำมาเชื่อมต่อกับข้อความที่โจทก์ได้คัดลอกและตัดต่อข้อเท็จจริงรวมตลอดถึงเหตุผลอันเป็นคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น มาหักล้างข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ แล้วสรุปว่า ทางนำสืบโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ซึ่งข้อเท็จจริงและเหตุผลที่ศาลชั้นต้นยกวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วไม่เห็นฟ้องด้วย โดยศาลอุทธรณ์ได้แสดงข้อเท็จจริงและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยต่างไปจากที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยหลายประการ อันเป็นการหักล้างการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เท่ากับโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านโดยตรงต่อคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า มีข้อเท็จจริงใดที่ศาลอุทธรณ์รับฟังมาไม่ถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนไปจากพยานหลักฐานโจทก์ที่ควรรับฟังในข้อใด และข้อวินิจฉัยใดที่ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลไม่สมแก่ข้อเท็จจริงหรือไม่ถูกต้องในหลักกฎหมายใด ฎีกาของโจทก์จึงมีผลไม่ต่างไปจากการขอถือเอาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นข้อฎีกาของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อการวินิจฉัยของศาลฎีกาโดยตรง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3356/2556
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะหรือร่วมกันรับของโจร ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษฐานใดฐานหนึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในชั้นพิจารณา ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานใดฐานหนึ่งเท่านั้น และเมื่อลงโทษฐานใดแล้วต้องถือว่าเป็นการลงโทษตามฟ้องแล้ว คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันรับของโจร แม้จะแตกต่างจากศาลชั้นต้นก็ตาม กรณีถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องแล้ว โจทก์ไม่ชอบที่จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะได้อีก ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะมานั้น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2959/2556
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้จำเลยที่ 2 ฟังเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2542 หลังจากนั้น วันที่ 18 พฤศจิกายน 2542 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้โจทก์ฟัง โจทก์ย่อมมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ครบกำหนดที่โจทก์สามารถยื่นฎีกาได้ภายในวันที่ 18 ธันวาคม 2542 ซึ่งตรงกับวันเสาร์อันเป็นวันหยุดราชการ ระยะเวลายื่นฎีกาจึงสิ้นสุดลงวันที่ 20 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันเริ่มทำการใหม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/8 เมื่อโจทก์ไม่ฎีกา คดีจึงถึงที่สุดในวันที่ 20 ธันวาคม 2542 อันเป็นวันสิ้นกำหนดระยะเวลาฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ฉะนั้น จำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดว่าคำพิพากษาได้ถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2542 หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2812/2556
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ อันถือได้ว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 68 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 69 โดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ป้องกันเกินสมควรแก่เหตุและเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็น จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยมิได้กระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนตาม ป.อ. มาตรา 288 โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกัน โจทก์จึงฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยมิได้เป็นการกระทำเพื่อป้องกันอีกไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2265/2556
สิทธิในการฎีกาในคดีอาญาย่อมต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 216 ที่บัญญัติให้คู่ความมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ฎีกาฟัง ดังนั้น ถึงแม้โจทก์จะยื่นคำร้องไว้ในระหว่างอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไปอันจะแปลความหมายว่าเป็นการสละสิทธิในการฎีกา ก็หาได้มีผลเป็นการตัดสิทธิโจทก์ที่จะฎีกาโดยเด็ดขาดไม่ โจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะฎีกาได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 370/2556
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 4 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 4 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้พิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง สำหรับจำเลยที่ 4 ด้วย แล้วพิพากษาแก้เฉพาะในส่วนการริบของกลาง เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนในส่วนความผิดและโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกคดีขึ้นวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยที่ 4 อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 4 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 4 จึงไม่มีสิทธิยื่นฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15358/2555
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 5 ถึง 8 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้ยกฟ้องโจทก์ แม้จะอาศัยเหตุผลต่างกัน แต่ผลก็เท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ กรณีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งว่าคดีของโจทก์มีมูลและให้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องสำหรับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 8 มา จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15266/2555
ฎีกาของโจทก์อ้างในเบื้องต้นว่าโจทก์ขอฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต่อศาลฎีกาแต่เนื้อหาในฎีกาปรากฏว่าโจทก์คัดลอกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนคำวินิจฉัยทุกถ้อยคำ แล้วเพิ่มข้อความต่อท้ายว่าอาศัยเหตุผลดังกราบเรียนข้างต้น ขอศาลฎีกาได้โปรดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์และคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าคำเบิกความของผู้เสียหายมีพิรุธน่าสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นการไม่ชอบเพราะเหตุใด และรายละเอียดส่วนใด หากยกขึ้นวินิจฉัยแล้วผลจะเป็นอย่างไร เป็นฎีกาที่ถือเอาคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นฎีกาของโจทก์ ซึ่งคำพิพากษาศาลชั้นต้น ได้ถูกกลับโดยคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225 และมาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12291/2555
การขอให้อัยการสูงสุดรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยและรับฎีกาไว้พิจารณาต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 นั้น ผู้ฎีกาต้องยื่นคำขอภายในกำหนดเวลายื่นฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 เท่านั้น จะยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวหาได้ไม่ จำเลยทำหนังสือยื่นต่ออัยการสูงสุดให้รับรองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นฎีกาแล้ว จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ต่อมาอัยการสูงสุดจะรับรองว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัยและรับฎีกาไว้พิจารณาต่อไปและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยก็ไม่ทำให้ฎีกาของจำเลยกลับกลายเป็นฎีกาที่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11447/2555
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่ระหว่างฎีกาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และกำหนดโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 83 ดังนี้ หากจำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง โดยเห็นว่าศาลชั้นต้นต้องยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา จำเลยทั้งสองชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น กลับฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11985/2555
คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยแจ้งความร้องทุกข์และให้การต่อพนักงานสอบสวนตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามความเข้าใจของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่ประทับฟ้องและโอนคดีไปให้ศาลที่มีอำนาจพิพากษาคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีไปนั้นเป็นการไม่ชอบ จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ และพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ประทับรับฟ้อง ให้คืนฟ้องโจทก์เพื่อให้นำไปดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจ มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง จำเลยฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9727/2555
จำเลยฎีกาโดยคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยตั้งแต่ต้นจนจบชนิดคำต่อคำ แล้วสรุปว่า แม้ ส. พ. และ บ. จะเบิกความแตกต่างจากคำให้การในชั้นสอบสวนของตนเองก็ตาม แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่า โดยลำพังไม่มีน้ำหนักลงโทษจำเลยได้ โดยจำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลขึ้นโต้แย้งว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานโจทก์ไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไร มีข้อเท็จจริงและเหตุผลใดที่หักล้างข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้รับฟังใหม่ได้ว่า คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์เป็นความจริงยิ่งกว่าคำให้การในชั้นสอบสวน ฎีกาของจำเลยจึงไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยบทกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8688/2555
คดีนี้ สำหรับความผิดฐานมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน ฐานมีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 3 เดือน ฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาว่า ความผิดทั้งสามฐานเป็นกรรมเดียวและมีระวางโทษเท่ากัน ลงโทษฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตเพียงกระทงเดียวและปรับ 30,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และคุมความประพฤติจำเลย ดังนี้ แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะได้รอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษในความผิดทั้งสามฐานดังกล่าวนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ในข้อนี้มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2555
ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาดังเช่นผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ แม้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นจะตรวจสำนวนหลังมีคำพิพากษา หรือระหว่างการพิจารณาคดี หรือสั่งคำร้องขอเปลี่ยนตัวผู้พิพากษา แต่ก็เป็นการสั่งคำร้องที่ยื่นต่อตนตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ตรวจสำนวนเพื่อระมัดระวังการใช้ระเบียบวิธีต่าง ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (2) ถึง (4) เมื่อคดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นมิได้พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษา หรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้น จึงไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1884/2555
แม้ ป. ทนายความของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาและยื่นฎีกาแทนจำเลยที่ 2 ตามที่ระบุไว้ในใบแต่งทนายความ แต่เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 ก่อนที่ทนายความของจำเลยที่ 2 จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาฉบับลงวันที่ 26 เมษายน 2549 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า จำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ต่อสู้คดีในชั้นศาลฎีกาและขอให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้จำเลยที่ 2 ด้วย หลังจากนั้นทนายความของจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยที่ 2 อีกสองฉบับ และยื่นฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งขัดแย้งกับความประสงค์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งทนายความตามที่ระบุไว้ในคำร้องของจำเลยที่ 2 ฉบับดังกล่าว ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ทนายความของจำเลยที่ 2 ขยายระยะเวลายื่นฎีกาและสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 โดยไม่สอบถามจำเลยที่ 2 ก่อน จึงเป็นการไม่ชอบตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 223 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ประสงค์ฎีกาและวันที่ครบกำหนดฎีกาวันที่ 21 พฤษภาคม 2549 เป็นวันอาทิตย์หยุดราชการ คดีของจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดในวันที่ 22 พฤษภาคม 2549 ซึ่งเป็นวันที่ระยะเวลาฎีกาได้สิ้นสุดลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1501/2555
เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยและยึดกัญชาแห้ง 5 ห่อ น้ำหนักสุทธิ 23.740 กรัม เป็นของกลาง ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายกัญชาตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76/1 วรรคหนึ่ง จำคุกกระทงละ 2 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีกัญชาไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตมิได้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และมิได้จำหน่ายกัญชา พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคหนึ่ง แต่เพียงฐานเดียว ลงโทษจำคุก 3 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุก 1 เดือน 15 วัน ความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลอุทธรณ์แก้ทั้งบทลงโทษและกำหนดโทษอันเป็นการแก้ไขมากแต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219

การที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยมีความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานของศาลอุทธรณ์ อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11176/2554
ฎีกาของจำเลยที่ 1 คัดลอกข้อความในอุทธรณ์ชนิดคำต่อคำมาไว้ในฎีกา เพียงแต่ตัดข้อความในอุทธรณ์หน้า 8 ย่อหน้าที่ 1 หน้า 9 ถึงหน้า 11 บรรทัดที่ 1 ถึงที่ 3 ออกเท่านั้น มิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดขึ้นคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือกล่าวอ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาคดีไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายในข้อใด อย่างไร ฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11903/2554
โจทก์ยื่นคำร้องว่าเดิมโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีรวม 7 คน รับรองให้โจทก์ฎีกา แต่ผู้พิพากษา 2 คน ไม่รับรองให้ฎีกา จึงเหลือผู้พิพากษาอีก 5 คน ที่ยังไม่ได้พิจารณารับรอง การที่ศาลชั้นต้นรับฟังว่าผู้พิพากษาที่มีสิทธิรับรองฎีกาไม่อนุญาตให้ฎีกา และมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ผิดระเบียบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และมีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ผู้พิพากษาอีก 5 คน พิจารณารับรองแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของโจทก์ โจทก์ต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ต้องส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลฎีกา การที่ศาลชั้นต้นส่งคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์ไปยังศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6396/2554
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนของ หจก. ค. ในการติดต่อขอเช่าตู้คอนเทนเนอร์ ว่าจ้างรถบรรทุกขนย้าย ดำเนินการพิธีการศุลกากร ไม่ปรากฏว่าเกี่ยวข้องกับการบรรจุสินค้า ดำเนินการทางพิธีการทางศุลกากรตามปกติ ไม่ทราบว่าเอกสารที่ยื่นปลอม จำเลยทั้งสองอาจไม่ทราบเรื่องกัญชาของกลาง โจทก์ฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นการสมคบกันกระทำความผิดโดยมีเจตนาร่วมกันมาตั้งแต่ต้นที่จะกระทำความผิด เป็นการกระทำความผิดที่เป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำตามความเหมาะสม ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ การรู้พื้นที่ที่จะกระทำความผิด แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยก็ต้องถือว่าการกระทำความผิดดังกล่าวทั้งหมดเป็นการกระทำของผู้ร่วมขบวนการในการกระทำความผิดทุกคน รวมทั้งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในฐานะตัวการ ฎีกาดังกล่าวของโจทก์มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ทั้งเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งว่าขบวนการค้ายาเสพติดมีขั้นตอนอย่างไร จำเลยทั้งสองเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์ส่วนใดที่ชี้ชัดว่าจำเลยทั้งสองร่วมขบวนการค้ายาเสพติด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13060/2553
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนคดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เฉพาะในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น จะอนุญาตให้ฎีกาในคดีซึ่งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ไม่ได้ ดังนั้น ที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสี่ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงจึงเป็นการมิชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4549/2552
คดีนี้คู่ความต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐาน ในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ชวนผู้เสียหายไปที่ห้องพักของจำเลย แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง ซึ่งหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายในแต่ละกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้วข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ในสถานที่ เกิดเหตุเพื่อกระทำชำเราผู้เสียหายในครั้งต่อไปแต่อย่างใด โดยผู้เสียหายได้กลับไปที่บ้าน ผู้เสียหายย่อมพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละกรรม แล้ว แม้จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2548 เดือนละ 2 ครั้ง และในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายคนละวันต่างวาระ กัน และมิได้กระทำต่อเนื่องกันโดยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายไว้จนผู้เสีย หายไม่สามารถไปไหนได้ ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องข้อ ข. ว่า เมื่อระหว่างกลางเดือนตุลาคม 2548 ถึงปลายเดือนธันวาคม 2548 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง และมีคำขอท้ายฟ้องโดยอ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน

โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ง. ว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2549 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 5 มกราคม 2549 เวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ฟ้องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องซึ่ง เป็นกรรมเดียวกันแตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ข.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6028/2552
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 83 ลงโทษจำคุก 9 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี ลงโทษจำคุก 9 ปี จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เฉพาะบทจากความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยผู้กระทำคนใดคนหนึ่งมีอาวุธติด ตัวไปด้วยเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยไม่ประกอบด้วยเหตุฉกรรจ์คือ ขณะกระทำผิดจำเลยกับพวกไม่มีอาวุธ อันเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5844/2552
ตาม ป.อ. มาตรา 318 คำว่า ผู้ปกครองหมายถึงผู้มีฐานะทางกฎหมายเกี่ยวพันกับผู้เยาว์ เช่น บิดามารดา ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง ส่วนผู้ดูแลหมายถึงผู้ควบคุม ระวังรักษาผู้เยาว์โดยข้อเท็จจริง เช่น ครูอาจารย์ นายจ้าง เป็นต้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 เป็นนายจ้างประกอบกับผู้เสียหายทั้งสองเบิกความได้ความว่า บิดามารดาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ มอบให้ผู้เสียหายที่ 1 ปกครองดูแลผู้เสียหายที่ 2 ด้วย โดยผู้เสียหายที่ 1 ให้ผู้เสียหายที่ 2 พักอยู่ที่ร้านอาหารดังกล่าว ดังนี้ผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นผู้ปกครองและผู้ดูแลผู้เสียหายที่ 2 ในฐานะนายจ้างโดยได้รับมอบหมายจากบิดามารดาผู้เสียหายที่ 2 ด้วย การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการรบกวนสิทธิหรือแยกสิทธิในการควบคุมดูแลผู้ เสียหายที่ 2 โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการร่วมกันพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปจากความดูแลของผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 318 วรรคสาม

ความผิดฐานร่วมกันพรากผู้เสียหายที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยในข้อนี้เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5426/2552
ความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันกระทำชำเรา เด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะ เป็นการโทรมเด็กหญิง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังกับความผิดฐานร่วมกันกระทำชำเราเด็ก หญิงอายุไม่เกินสิบห้าปีอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงนั้น เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 แต่โจทก์มิได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมิอาจกำหนดโทษสำหรับความผิดฐานร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขัง อันเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยได้ ดังนี้ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย และลงโทษจำคุกจำเลย ในความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังไม่เกินห้าปี เมื่อจำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานนี้ตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425/2552
ขั้นตอนในการขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 มิได้มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่ง พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งตามคำร้องจำเลยระบุชื่อขอให้ พ. ช. และ ป. ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นด้วย การที่นาย ส. ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุ ในคำร้องกลับเป็นผู้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเสียเองจึงเป็น การไม่ชอบ ไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. อันว่าด้วยฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยเพิกถอนคำสั่งและส่งคำร้องคืนไปให้ศาลชั้นต้นส่งให้ผู้พิพากษาที่ระบุใน คำร้องพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้วสั่งฎีกาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4268/2552
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์และยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดด้วย ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายตามฟ้อง จำเลยทั้งสามมิได้อุทธรณ์ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายจึงเป็นอันยุติ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ด้วยและพิพากษาแก้เฉพาะบทจากความผิดฐานชิง ทรัพย์เป็นปล้นทรัพย์ มิได้แก้ไขโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เกินห้าปี แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง แต่จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิฎีกาได้เฉพาะในปัญหาว่าจำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วยอันจะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เท่านั้น จำเลยที่ 1 จะหวนกลับมาใช้สิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ร่วมกันชิงทรัพย์ผู้เสียหายอีกไม่ได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเอาทรัพย์ของผู้เสียหาย ไป ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาล อุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3300/2552
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297, 364, 365 (1) (2) ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 297 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดฐานบุกรุก ให้ยกฟ้องในความผิดฐานนี้ และพิพากษาลดโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คงจำคุก 4 เดือน จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้โทษของความผิดในบทหนักอันเป็นบทที่ศาลชั้นต้นลงโทษแม้จะยกฟ้องความผิดใน บทที่เบากว่า ก็ต้องถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและคงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โจทก์ฎีกาว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาพอฟังว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานบุกรุกเป็นการโต้แย้งดุลยพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อุทธรณ์ภาค 8 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2876/2552
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้ตาย และพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 1 ตาม ป.อ.มาตรา 288 และ ป.อ. มาตรา 288 ประกอบ มาตรา 80 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานฆ่าผู้ตายซึ่งเป็น กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าโจทก์ร่วมที่ 1 ให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานนี้ แต่ยังคงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้ตายตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกฟ้องความผิดในบทที่เบากว่า และแก้ไขบทลงโทษจากหลายบทเป็นบทเดียว โดยไม่ได้แก้ไขโทษด้วยอันเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้ลงโทษจำคุกจำเลยเกินห้า ปี คดีจึงต้องห้ามโจทก์มิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1133/2552
การใช้ดุลพินิจลดมาตราส่วนโทษโดยคำนึงถึงความรู้สึกผิดชอบของจำเลยที่ 3 เป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลฎีกาลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 3 ในความผิดฐานที่ไม่ต้องห้ามฎีกาแล้ว ก็มีอำนาจลดมาตราส่วนโทษในความผิดฐานที่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 389/2552
ความผิดฐานร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงและฐานร่วมกันพราก ผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เฉพาะโทษโดยลดมาตราส่วนโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 76 แม้จะยกฟ้องความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นบทเบากว่าและศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็น ความผิดกรรมเดียวกันกับความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวด้วย ก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาให้ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425/2552
ขั้นตอนในการขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 มิได้มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่ง พิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งตามคำร้องจำเลยระบุชื่อขอให้ พ. ช. และ ป. ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นด้วย การที่นาย ส. ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุ ในคำร้องกลับเป็นผู้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเสียเองจึงเป็น การไม่ชอบ ไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. อันว่าด้วยฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยเพิกถอนคำสั่งและส่งคำร้องคืนไปให้ศาลชั้นต้นส่งให้ผู้พิพากษาที่ระบุใน คำร้องพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้วสั่งฎีกาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 387/2552
คดี นี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าจำเลยแถลงข่าวเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินอยู่ในทำนองคลองธรรมและ เป็นไปในทางสุจริต มีความชอบธรรมที่จะเปิดเผยให้ประชาชนทราบถึงข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันส่วนได้ เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตลอดจนแสดงความคิดเห็นติชมด้วยความเป็นธรรม อันเป็นวิสัยหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่มีอคติใดๆ กับโจทก์ จึงมิใช่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 329 นั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการประสงค์ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ ซึ่งเท่ากับเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ที่ ฟังว่าการแถลงข่าวของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์ได้รับผลประโยชน์จำนวนมากจากโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซี.ดี.เอ็ม.เอ ทั้งๆ ที่จำเลยที่ 1 ทราบดีว่าการแถลงข่าวเช่นนั้นเป็นเรื่องไม่จริง โจทก์จะได้รับความเสียหายถือว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงมิใช่ปัญหาข้อ กฎหมาย ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1761/2552
ฎีกา ของโจทก์มิได้มีข้อความตอนใดโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนที่ วินิจฉัยว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกระทำความผิดฐาน ปลอมตั๋วเงิน เพราะข้อความในฎีกาของโจทก์ล้วนแต่ยกเหตุผลโต้แย้งว่าจำเลยร่วมกระทำผิดฐาน ใช้ตั๋วเงินปลอม แต่มีข้อความตอนท้ายฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกับพวกปลอมตั๋วเงิน ฎีกาของโจทก์ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันปลอมตั๋วเงินเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง

จำเลยนำเช็คซึ่งเป็นตั๋วเงินปลอมเข้าบัญชีจำเลยเพื่อเรียกเก็บเงินแทนนาง ยุพาโดยไม่ทราบว่าเป็นตั๋วเงินปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความ ผิด เป็นการขาดเจตนากระทำความผิดฐานใช้ตั๋วเงินปลอมตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (4) และมาตรา 59 วรรคสาม วรรคสอง และวรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกับพวกใช้ตั๋วเงินปลอม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5087/2551
จำเลย ที่ 1 และที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงและฟันผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวาท่อนล่างยาว 5 เซนติเมตร เอ็นฉีกขาดและเส้นประสาทขาด บาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายกว้าง 1.5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร นิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมากจนนิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 2 เดือน แผลจึงหายเป็นปกติ ระหว่างที่รักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบ วัน อันเป็นอันตรายสาหัส

ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าแต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกทำร้ายเนื่องจากการชุลมุนต่อสู้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวใน ฟ้องในข้อสาระสำคัญจึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอันเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากการชุลมุนดังกล่าวหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7603/2551
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธปืนจำคุก 6 เดือน ฐานทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวโดยการขู่เข็ญ จำคุก 15 วัน และริบอาวุธปืนของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับในความผิดแต่ละฐานกระทงละ 500 บาท โดยไม่ลงโทษจำคุกและไม่ริบอาวุธปืนของกลาง แม้กรณีเป็นการแก้ไขมาก โจทก์ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5087/2551
จำเลย ที่ 1 และที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงและฟันผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวาท่อนล่างยาว 5 เซนติเมตร เอ็นฉีกขาดและเส้นประสาทขาด บาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายกว้าง 1.5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร นิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมากจนนิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 2 เดือน แผลจึงหายเป็นปกติ ระหว่างที่รักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบ วัน อันเป็นอันตรายสาหัส

ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าแต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกทำร้ายเนื่องจากการชุลมุนต่อสู้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวใน ฟ้องในข้อสาระสำคัญจึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอันเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากการชุลมุนดังกล่าวหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2907/2551
จำเลย เดินไปหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหาย โดยจำเลยไม่ได้พูดหรือทำกิริยาอาการอย่างใดที่ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้ กำลังประทุษร้ายหรือได้ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย แต่หลังจากจำเลยหยิบเอาเงินเหรียญกษาปณ์ของผู้เสียหายแล้วได้วิ่งหนีไปนั่ง รถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดอยู่หน้าร้านค้าที่เกิดเหตุเพื่อหลบหนีและผู้ เสียหายวิ่งตามไปทันขณะจำเลยนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์ดังกล่าว แล้วจำเลยถูกผู้เสียหายกระชากคอเสื้อและบิดกุญแจรถดับเครื่องยนต์เพื่อแย่ง เอาเงินคืน จำเลยได้เตะผู้เสียหาย 1 ครั้ง การกระทำของจำเลยดังกล่าวยังต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยตลอดและยังไม่ขาดตอน จากการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต การที่จำเลยเตะผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายตามไปแย่งเอาเงินคืนนั้นจึงเป็น พฤติการณ์ที่ชี้ชัดว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาขู่เข็ญไม่ให้ผู้เสียหายขัดขวาง การหลบหนีเพื่อให้พ้นจากการจับกุมและเพื่อการพาทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์

จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุทั้งเมื่อจำเลยได้ทรัพย์ของ ผู้เสียหายไปแล้วจำเลยก็วิ่งหนีไปนั่งรถจักรยานยนต์ของจำเลยซึ่งจอดไว้หน้า ร้านค้าที่เกิดเหตุและติดเครื่องยนต์แต่ผู้เสียหายวิ่งตามไปทันจึงกระชากคอ เสื้อจำเลยแล้วบิดกุญแจรถดับเครื่องยนต์ พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยกระทำโดยมีเจตนาจะใช้รถ จักรยานยนต์มาที่เกิดเหตุแล้วก่อเหตุและใช้รถจักรยานยนต์พาทรัพย์นั้นไปจาก ที่เกิดเหตุ การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อการ กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 340 ตรี

จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษและรอการลงโทษเป็นเรื่องโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษ ของศาลอุทธรณ์ภาค 7 เป็นปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 4 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน แม้ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จะเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง โดยจำเลยไม่ได้ขอให้อนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้วศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ เมื่อพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิดและพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง ประกอบแล้วการกระทำของจำเลยสร้างความเดือนร้อนแก่เจ้าของทรัพย์ กระทบกระเทือนต่อความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในสังคม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขโทษ และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคแรก ประกอบมาตรา 340 ตรี จำเลยจึงต้องระวางโทษหนักกว่าอีกกึ่งหนึ่งตาม มาตรา 340 ตรี เป็นระวางโทษจำคุกขั้นต่ำตั้งแต่ 7 ปี 6 เดือน ดังนั้น แม้วางโทษจำคุกขั้นต่ำแก่จำเลยและจำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้วก็ยังคงต้องลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี 9 เดือน โทษจำคุกจึงเกิน 3 ปี ไม่อาจรอการลงโทษให้จำเลยได้ตาม ป.อ. มาตรา 56

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1767/2551
ศาล ชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต โจทก์ไม่อุทธรณ์ จำเลยยื่นอุทธรณ์เกินกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยและให้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ ภาค 1 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่จึงเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมถึงที่สุด จำเลยไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6727/2550
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายและไม่รับฎีกาในปัญหาข้อ เท็จจริง ซึ่งจำเลยอาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยทราบอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ ไม่ชอบแต่ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับสรุปได้ว่า ขอให้งดโทษจำคุกและลงโทษสถานเบาโดยให้รอการลงโทษจำเลยไว้ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับฎีกาของจำเลย และไม่จำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่ รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8323/2550
เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น และชั้นอุทธรณ์คนใดคนหนึ่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งคำร้องของจำเลยพร้อมสำนวนไปให้ผู้พิพากษาตามที่ จำเลยระบุเพื่อพิจารณาคำร้องของจำเลยจนครบ เว้นแต่จะมีผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงครบ ทุกประเด็นตามที่จำเลยต้องการแล้ว เมื่อปรากฎว่ามีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยฎีกาบางประเด็น ไม่อนุญาตบางประเด็น ศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยในประเด็นที่มีผู้อนุญาตทันทีโดยไม่ส่ง คำร้องของจำเลยพร้อมสำนวนไปให้ผู้พิพากษาคนอื่นตามคำร้องของจำเลยพิจารณาใน ปัญหาข้อเท็จจริงที่ยังไม่ได้รับอนุญาตเสียก่อน ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 221

ปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยขอให้ผู้พิพากษาอนุญาตให้ฎีกานั้น ต้องเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันแล้วโดยชอบในศาลล่าง เมื่อปรากฎว่าปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยขอให้รับรองนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้นเพราะไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นใน ชั้นอุทธรณ์ จึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนลงไปเพื่อให้ศาลชั้นต้นส่งคำร้องของจำเลยไปให้ ผู้พิพากษาคนอื่นพิจารณาอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2550
โจทก์ ฟ้องจำเลยฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83 จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 โจทก์จึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาความผิดดังกล่าวไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6

จำเลยกับ จ. ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงมาที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองในระยะห่าง 14 เมตร โดยเล็งปากกระบอกปืนไปที่ตัวบ้าน มิได้เล็งปากกระบอกปืนไปที่ผู้เสียหายทั้งสองหรือบุคคลใดซึ่งอยู่ในบ้าน พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยกับ จ. มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสองหรือบุคคลใด อีกทั้งจำเลยให้ปากคำว่ายิงปืนเข้าไปในบ้านผู้เสียหายที่ 2 เพียงแค่ข่มขู่และแก้แค้นผู้เสียหายที่ 1 กับพวกที่ใช้ไม้ตีทำร้ายจำเลยกับ จ. เท่านั้น ไม่มีเจตนาฆ่าใคร พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับพวก พยายามฆ่าผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2550
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อ กฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2186/2550
ป. วิ.อ. มิได้บัญญัติถึงรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในเรื่องการยื่นคำร้องขอให้ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาไว้โดย เฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสี่ ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น การขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ ผู้ฎีกาต้องยื่นคำร้องถึงผู้พิพากษานั้นพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้น คดีนี้แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์แล้ว แต่การที่โจทก์ยื่นคำร้องในวันรุ่งขึ้นซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดอายุฎีกาขอให้ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นพิจารณาอนุญาตให้ โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยที่โจทก์มิได้ยื่นฎีกาฉบับใหม่เข้ามา ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์จะขอถือเอาฎีกาฉบับเดิมที่ศาลชั้นต้นสั่งรับไปแล้วเป็นฎีกา ประกอบคำร้องขออนุญาตฎีกาของโจทก์ กรณีย่อมอนุโลมได้ว่าโจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง พร้อมคำฟ้องฎีกา และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์แล้ว

ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่รับฟ้อง ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง พิพากษายืน จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 เมื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นรับรองให้โจทก์ ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 220 และ 221

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5346/2550
ข้อหาความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร ซึ่งศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยเพราะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จ จริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 นั้น เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์แล้ว เห็นว่ายังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า จำเลยจะเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงข่มขู่ในการปล้นทรัพย์รายนี้หรือไม่และ ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ศาลฎีกาก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยในข้อหาความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2589/2550
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิยฉัยข้อเท็จจริงว่า โจทก์สละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใดๆ ในเช็คพิพาทอีกต่อไป จึงเป็นการยอมความในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยโดยพิเคราะห์ว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 เมื่อโจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่โจทก์อุทธรณ์อีก จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดย ชอบในศาลอุทธรณ์ แม้โจทก์จะยื่นฎีกาโดยมีผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้น ต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่การอนุญาตให้ฎีกาดังกล่าวไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 221 ซึ่งผู้พิพากษาดังกล่าวจะอนุญาตให้ฎีกาได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดย มาตรา 218, 219 และ 220 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษานั้นอนุญาตให้ฎีกาในกรณีดังกล่าวได้ โจทก์ย่อมไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้นได้ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่งประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2550
ในชั้นอุทธรณ์จำเลยอุทธรณ์ข้อเท็จจริงว่า แม้คำให้การของจำเลยที่ให้ไว้แก่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้อยตำรวจตรี ส. จะขัดแย้งกับคำให้การที่เคยให้ไว้แก่คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง แต่ก็ตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยในคดีที่จำเลยถูกจับกุมดำเนินคดีใน ความผิดต่อ พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ จึงไม่เป็นการให้การเท็จ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้หยิบยกขึ้นวินิจฉัย จำเลยก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยนั้นไม่ชอบแต่อย่างใด แต่กลับยกข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับที่เคยยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ขึ้น ฎีกาซ้ำอีก ถือได้ว่าข้อเท็จจริงที่จำเลยยกขึ้นฎีกาดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา และถือไม่ได้ว่าฎีกาดังกล่าวเป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคแรก ทั้งมิได้เป็นข้อความที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ตัดสินไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ที่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นการ ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4528/2549
ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำร้องเนื่องจากเห็นว่าคดีมิได้อยู่ในอำนาจพิจารณา ของศาลยุติธรรม กรณีจึงไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยอุทธรณ์ เพราะเป็นเรื่องระหว่างศาลและผู้ร้องเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องและสั่งในคำร้องขออนุญาตยื่น อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาว่า อนุญาตให้ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ให้รวบรวมถ้อยสำนวนส่งศาลฎีกา กรณีถือได้ว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดย ตรงต่อศาลฎีกาได้โดยชอบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่ง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3294/2549
ศาล ชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า ความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลจังหวัดตรัง และอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลจังหวัดตรังได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าการชำระคดีที่ศาลชั้นต้นจะสะดวกกว่า จึงมีคำสั่งไม่ประทับรับฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้อง โจทก์จึงฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6906/2549
ศาล อุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะโทษที่ลงแก่จำเลยจากจำคุก 1 ปี เป็นจำคุก 6 เดือน โดยมิได้แก้บทมาตราด้วย เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอ ให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นและผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่ ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงว่า กรณีไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลย เป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการที่ไม่ชอบ ของศาลชั้นต้น และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4973/2549
ในคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 ที่มิใช่การพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักหรืออบรมมี กำหนดระยะเวลาเกินสามปีแล้วย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อที่ศาลใช้ดุลพินิจ กำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 121 และคู่ความจะอุทธรณ์ได้ก็ต่อเมื่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อดังกล่าวตาม มาตรา 122 เท่านั้น สำหรับการฎีกา มาตรา 124 บัญญัติว่าคดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้ พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบท บัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 121 ซึ่งมีความหมายว่าคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 นั้น ย่อมต้องห้ามฎีกาด้วย โดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้ พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาได้ดังเช่น กรณีอุทธรณ์ เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้แล้วก็ชอบ ที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ด้วย และกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 221 โดยอาศัย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4882/2549
คดี นี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่น มีอาวุธปืนและพาอาวุธปืน จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่มีเจตนาฆ่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้โดยยกฟ้องฐานพยายามฆ่าผู้อื่น แต่ให้ลงโทษฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กาย จึงมิใช่กรณีที่มีการอุทธรณ์เฉพาะกรณีที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็ก และเยาวชนเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เมื่อมีการได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาที่ได้พิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาล ชั้นต้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1055/2549
ศาล ชั้นต้นมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องโจทก์ในความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ เนื่องจากไม่มีตัวจำเลยมาศาล ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องข้อหาความผิดดังกล่าว จึงต้องห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4672/2549
กรณี ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน โดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษ จึงถือมิได้ว่าลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 2 ปี และปรับเกิน 40,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นทั้งบทลงโทษและบท กำหนดโทษซึ่งเป็นการแก้ไขมาก แต่ก็มิได้กำหนดโทษจำคุกและกำหนดระยะเวลาฝึกและอบรมสูงขึ้นแต่อย่างใด จึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลย จำเลยจึงไม่ได้รับยกเว้นให้ฎีกาได้ตามบทบัญญัติตอนท้ายของมาตรา 219

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าฎีกาของจำเลยต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณา คดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิเคราะห์ว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญ อันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกาได้ ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีหน้าที่พิจารณาเพียงว่าข้อความที่ ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดหรือไม่เท่านั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีไม่ต้องห้ามฎีกา ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นการสั่งคดีโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการ ดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6318/2549
ฎีกา ของจำเลยโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นทั้งสิ้น เนื้อหาของฎีกาก็คัดข้อความมาจากคำอุทธรณ์ทั้งหมด แม้คำขอท้ายฎีกาจะเป็นการขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาล อุทธรณ์ภาค 2 แต่ฎีกาของจำเลยดังกล่าวก็เป็นการโต้แย้งคัดค้านเฉพาะคำพิพากษาศาลชั้นต้น มิได้โต้แย้งคัดค้านว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาไม่ชอบอย่างไร โดยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพราะเหตุใด ทั้งๆ ที่คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อ้างเหตุคนละอย่างกับเหตุที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2549
บริษัท โจทก์ที่ 5 เป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุนด้านทรัพย์สินและการเงินในกิจการของบริษัทจำเลย ที่ 1 เท่านั้น โดยโจทก์ที่ 5 มิได้เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ประกอบกับการกระทำของจำเลยทั้งห้าตามคำฟ้องมีผลกระทบโดยตรงต่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ต้องถูกปรับออกจากการเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิได้พาดพิงไปถึงโจทก์ที่ 5 อันจะถือว่าโจทก์ที่ 5 ได้รับความเสียหายโดยตรง สิทธิของโจทก์ที่ 5 มิได้ถูกกระทบกระเทือนเนื่องจากการกระทำของจำเลยทั้งห้า โจทก์ที่ 5 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม และไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่พิพากษายกฟ้องโจทก์ ที่ 5

จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการและผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการทำรายงาน การประชุมของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ได้จัดให้มีการทำบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นขึ้นตามหน้าที่ของตนและลง ลายมือชื่อตนเองเป็นประธานที่ประชุม มิได้ทำในนามของบุคคลอื่น จึงเป็นเอกสารที่แท้จริงของจำเลยที่ 2 แม้ข้อความในเอกสารจะไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการประชุมดังกล่าว ก็เป็นการทำเอกสารอันเป็นความเท็จเท่านั้น ไม่ทำให้เป็นเอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 เมื่อการกระทำดังกล่าวไม่เป็นการปลอมเอกสาร การกระทำของจำเลยทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสาร ปลอมตามมาตรา 264, 368

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4289/2548
ศาล ชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จ จริงหรือปัญหาข้อกฎหมาย และแม้คดีนี้จะเป็นการพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม คดีก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2548
ป. วิ.อ. มาตรา 220 ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตามมาตรา 166 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6737/2548
จำเลย นำถุงพลาสติกบรรจุน้ำมันเบนซินไปวางบนแคร่หน้าบ้านผู้เสียหายที่ 2 จากนั้นจำเลยก็บุกรุกเข้าบ้านผู้เสียหายที่ 1 และทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 1 แล้วรีบหลบหนีออกจากบ้านผู้เสียหายที่ 1 ไปโดยไม่ได้สนใจถุงน้ำมันเบนซินดังกล่าวอีก แม้ขณะทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 จำเลยจะกล่าวขึ้นว่า "โกหกกู จะฆ่าและเผาให้หมด" แต่จำเลยก็มิได้แสดงอาการจะฆ่าผู้เสียหายที่ 1 ทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้หญิงอยู่คนเดียว ซึ่งจำเลยอาจกระทำการฆ่าได้โดยง่าย และทั้งจำเลยก็มิได้กลับไปเปิดถุงพลาสติกเอาน้ำมันเบนซินราดหน้าบ้านผู้เสีย หายที่ 2 เพื่อจุดไฟเผาดังพูด พฤติการณ์ชี้ให้เห็นว่าจำเลยหาได้มีเจตนาจะกระทำการฆ่าหรือเผาตามที่กล่าว ขึ้นไม่ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานตระเตรียมเพื่อวางเพลิงเผาทรัพย์ ผู้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2795/2544
คำฟ้องฎีกาและคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้น ต้นและศาลอุทธรณ์รับรองฎีกาของจำเลยที่มีทนายความเป็นผู้ฎีกาและผู้ยื่นคำ ร้องแทนจำเลย ทนายความดังกล่าวจะต้องมีอำนาจในการฎีกาด้วย เมื่อจำเลยมิได้แต่งให้เป็นทนายความในชั้นฎีกา จึงเป็นการดำเนินคดีแทนจำเลยโดยไม่มีอำนาจ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาต ให้ฎีกา และมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยมา ก็เป็นการไม่ชอบ