พยานบุคคล


มาตรา ๒๓๒  ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน

มาตรา ๒๓๓  จำเลยอาจอ้างตนเองเป็นพยานได้ ในกรณีที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ศาลจะให้เข้าสืบก่อนพยานอื่นฝ่ายจำเลยก็ได้ ถ้าคำเบิกความของจำเลยนั้นปรักปรำหรือเสียหายแก่จำเลยอื่น จำเลยอื่นนั้นซักค้านได้

ในกรณีที่จำเลยเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของจำเลยย่อมใช้ยันจำเลยนั้นได้ และศาลอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้

มาตรา ๒๓๔  พยานไม่ต้องตอบคำถามซึ่งโดยตรงหรืออ้อม อาจจะทำให้เขาถูกฟ้องคดีอาญา เมื่อมีคำถามเช่นนั้น ให้ศาลเตือนพยาน

มาตรา ๒๓๕  ในระหว่างพิจารณา เมื่อเห็นสมควร ศาลมีอำนาจถามโจทก์จำเลยหรือพยานคนใดได้

ห้ามมิให้ถามจำเลยเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะจะเพิ่มเติมคดีโจทก์ซึ่งบกพร่อง เว้นแต่จำเลยจะอ้างตนเองเป็นพยาน

มาตรา ๒๓๖  ในระหว่างพิจารณาศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ที่จะเป็นพยานซึ่งมิใช่จำเลย ออกไปอยู่นอกห้องพิจารณาจนกว่าจะเข้ามาเบิกความ อนึ่งเมื่อพยานเบิกความแล้วจะให้รออยู่ในห้องพิจารณาก่อนก็ได้

มาตรา ๒๓๗  บันทึกคำเบิกความพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณานั้น ให้ศาลอ่านให้พยานฟังต่อหน้าจำเลย เว้นแต่ในกรณีดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๖๕ วรรคสาม

ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณา โดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยานเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยไปทันทีได้ เว้นแต่ในข้อหาความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น
มาตรา ๒๓๗ ทวิ  ก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า พนักงานอัยการโดยตนเองหรือโดยได้รับคำร้องขอจากผู้เสียหายหรือจากพนักงานสอบสวน จะยื่นคำร้องโดยระบุการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้สืบพยานนั้นไว้ทันทีก็ได้ ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิด และผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการนำตัวผู้นั้นมาศาล หากถูกควบคุมอยู่ในอำนาจของศาล ให้ศาลเบิกตัวผู้นั้นมาพิจารณาต่อไป

เมื่อศาลได้รับคำร้องเช่นว่านั้น ให้ศาลสืบพยานนั้นทันที ในการนี้ ผู้ต้องหาจะซักค้านหรือตั้งทนายความซักค้านพยานนั้นด้วยก็ได้

ในกรณีตามวรรคสอง ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ต้องหานั้นถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ซึ่งหากมีการฟ้องคดีจะเป็นคดีซึ่งศาลจะต้องตั้งทนายความให้ หรือจำเลยมีสิทธิขอให้ศาลตั้งทนายความให้ตามมาตรา ๑๗๓ ก่อนเริ่มสืบพยานดังกล่าว ให้ศาลถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ในกรณีที่ศาลต้องตั้งทนายความให้ ถ้าศาลเห็นว่าตั้งทนายความให้ทันก็ให้ตั้งทนายความให้และดำเนินการสืบพยานนั้นทันที แต่ถ้าศาลเห็นว่าไม่สามารถตั้งทนายความได้ทันหรือผู้ต้องหาไม่อาจตั้งทนายความได้ทัน ก็ให้ศาลซักถามพยานนั้นให้แทน

คำเบิกความของพยานดังกล่าวให้ศาลอ่านให้พยานฟัง หากมีตัวผู้ต้องหาอยู่ในศาลด้วยแล้ว ก็ให้ศาลอ่านคำเบิกความดังกล่าวต่อหน้าผู้ต้องหา

ถ้าต่อมาผู้ต้องหานั้นถูกฟ้องเป็นจำเลยในการกระทำความผิดอาญานั้น ก็ให้รับฟังคำพยานดังกล่าวในการพิจารณาคดีนั้นได้

ในกรณีที่ผู้ต้องหาเห็นว่า หากตนถูกฟ้องเป็นจำเลยแล้ว บุคคลซึ่งจำเป็นจะต้องนำมาสืบเป็นพยานของตนจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือเป็นบุคคลมีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากศาลที่พิจารณาคดี หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานนั้นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือมีเหตุจำเป็นอื่นอันเป็นการยากแก่การนำพยานนั้นมาสืบในภายหน้า ผู้ต้องหานั้นจะยื่นคำร้องต่อศาลโดยแสดงเหตุผลความจำเป็น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานบุคคลนั้นไว้ทันทีก็ได้

เมื่อศาลเห็นสมควร ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้สืบพยานนั้นและแจ้งให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องทราบ ในการสืบพยานดังกล่าว พนักงานอัยการมีสิทธิที่จะซักค้านพยานนั้นได้ และให้นำความในวรรคสาม วรรคสี่ และวรรคห้า มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี

มาตรา ๒๓๗ ตรี  ให้นำความในมาตรา ๒๓๗ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่กรณี การสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ และพยานหลักฐานอื่น และแก่กรณีที่ได้มีการฟ้องคดีไว้แล้วแต่มีเหตุจำเป็นที่ต้องสืบพยานหลักฐานไว้ก่อนถึงกำหนดเวลาสืบพยานตามปกติตามมาตรา ๑๗๓/๒ วรรคสองด้วย

ในกรณีที่พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันสำคัญในคดีได้ หรือมีเหตุอันควรเชื่อว่า หากมีการเนิ่นช้ากว่าจะนำพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อันสำคัญมาสืบในภายหน้าพยานหลักฐานนั้นจะสูญเสียไปหรือเป็นการยากแก่การตรวจพิสูจน์ ผู้ต้องหาหรือพนักงานอัยการโดยตนเองหรือเมื่อได้รับคำร้องจากพนักงานสอบสวนหรือผู้เสียหาย จะยื่นคำร้องขอ ให้ศาลสั่งให้ทำการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามความในมาตรา ๒๔๔/๑ ไว้ก่อนฟ้องก็ได้  ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๓๗ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2559
คำเบิกความของจำเลยตอบโจทก์ถามค้านว่าเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกมาก่อน ย่อมใช้ยันจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 233 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2558
โจทก์เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อหน้าศาลผ่านล่ามโดยมีทนายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ร่วมฟังการเบิกความและถามค้านโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์ไม่สามารถเบิกความในชั้นพิจารณาได้ เนื่องจากถึงแก่ความตาย จึงเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นและมีเหตุผลสมควร ดังนั้น บันทึกคำเบิกความโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5 กรณีหาจำต้องให้คู่ความตกลงกัน จึงจะนำคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมารับฟังได้ตามมาตรา 237 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14063/2557
การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุและได้รับการปล่อยตัว แม้จะไม่ถือว่าถูกควบคุมอยู่ในอำนาจพนักงานสอบสวน แต่ก็เป็นกรณีที่รู้ตัวผู้กระทำความผิดและทราบถิ่นที่อยู่ของจำเลย อันชอบที่พนักงานสอบสวนหรือโจทก์ต้องแจ้งวันนัดสืบพยานก่อนฟ้องให้จำเลยทราบ ทั้งต้องตั้งทนายความให้จำเลยก่อนเริ่มสืบพยานก่อนฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไม่ได้ตั้งทนายความให้จำเลยและมิได้ซักถามพยานโจทก์ในลักษณะซักถามพยานแทนจำเลย จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ ไม่อาจรับฟังการสืบพยานปาก จ. ก่อนฟ้องคดีได้ คงรับฟังได้เพียงพยานบอกเล่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10294/2557
ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ วรรคหนึ่ง การสืบพยานก่อนฟ้องคดีเป็นกรณีจำเป็นที่จะต้องเสนอพยานหลักฐานต่อศาลไว้ก่อน เพราะหากรอจนมีการฟ้องคดีอาจเป็นการยากแก่การนำพยานบุคคลนั้นมาสืบในภายหน้าเพื่อพิสูจน์ความผิด ซึ่งบางกรณีอาจยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด กฎหมายจึงบัญญัติเพียงว่า ถ้ารู้ตัวผู้กระทำความผิดและผู้นั้นถูกควบคุมอยู่ก็ให้นำตัวมาศาลด้วย ดังนั้น หากไม่รู้ตัวผู้กระทำผิดก็สามารถสืบพยานก่อนฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องนำตัวมาศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2113/2557
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณาโดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยานเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยไปทันทีได้ อันมีความหมายอยู่ในตัวว่าก่อนที่โจทก์หรือจำเลยจะนำพยานปากใดที่เคยเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณา คู่ความสามารถตกลงกันได้ว่าไม่จำต้องให้พยานปากดังกล่าวต้องเบิกความซ้ำในข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ และศาลจะต้องจดบันทึกข้อตกลงของคู่ความนี้ไว้ให้แจ้งชัดในรายงานกระบวนพิจารณา สำหรับคดีนี้ไม่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาในวันสืบพยานโจทก์ว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายที่มาศาลได้ตกลงกันให้นำคำเบิกความของ ห. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา ศาลจึงไม่อาจนำคำเบิกความของ ห. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6781/2555
โจทก์แถลงขอให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา จำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้โดยจำเลยทั้งสองไม่ติดใจถามค้านอีก เนื่องจากได้มีการถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตในขณะนั้น แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยนำพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นพยานในชั้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยไป เท่ากับว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำบันทึกคำให้การชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาใช้ในชั้นพิจารณาได้ ตามบทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7540/2554
แม้จำเลยเป็นเจ้าอาวาสของโจทก์ร่วมและได้รับเงินเดือนประจำที่เรียกว่านิตยภัตจากเงินงบประมาณของรัฐ แต่ผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำที่จะถือว่าเป็น "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต้องเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ซึ่งเจ้าอาวาสไม่อยู่ในความหมายดังกล่าว และในปัจจุบันวัดจัดตั้งขึ้นโดยวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ซึ่งกำหนดให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้แทน แต่ก็มีอำนาจอย่างจำกัดตามมาตรา 37 เฉพาะในการบำรุงวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ปกครองและสอดส่องให้บรรพชิตและคฤหัสถ์ที่มีที่อยู่หรือพำนักอาศัยอยู่ในวัดนั้นปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งของมหาเถรสมาคม และอื่นๆ อันเป็นกิจการของสงฆ์โดยเฉพาะ ส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารราชการอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมการศาสนาและกระทรวงศึกษาธิการ วัดจึงหาใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ไม่ว่าในตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือในตำแหน่งอื่นใดก็ตาม จึงหาได้อยู่ในความหมายของคำจำกัดความว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" ส่วน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 45 ซึ่งบัญญัติว่า "ให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา" ก็เป็นเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายที่ต้องการให้นำบทบัญญัติลักษณะความผิดเกี่ยวกับการปกครองตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับแก่พระภิกษุบางตำแหน่งเท่านั้น และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็เป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และฉบับปัจจุบันบัญญัติให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขึ้น โดยบัญญัติถึงกระบวนการสอบสวนเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้เป็นกรณีพิเศษโดยใช้วิธีการไต่สวนเท่านั้น บุคคลอื่นๆ คงใช้กระบวนการสอบสวนตามปกติตาม ป.วิ.อ. ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนมิได้ส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติจึงชอบแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง

มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 28) กำหนดให้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือนับตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ข้อความในมาตรา 233 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่จำเลยเบิกความเป็นพยาน คำเบิกความของจำเลยย่อมใช้ยันจำเลยนั้นได้ และศาลอาจรับฟังคำเบิกความนั้นประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ แต่การที่จำเลยตอบคำถามก่อนที่ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จำเลยย่อมไม่อาจคาดหมายได้ว่าคำเบิกความของตนจะใช้รับฟังลงโทษตนเองได้ บทบัญญัติดังกล่าวมีผลเป็นโทษแก่จำเลย จึงไม่อาจมีผลย้อนหลัง และถือไม่ได้ว่าโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว

กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ออกตามความในมาตรา 40 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ข้อ 5 บัญญัติให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาท ขึ้นไปให้เก็บรักษาโดยฝากกรมการศาสนา จังหวัด อำเภอ หรือธนาคาร หรือนิติบุคคลที่กรมการศาสนาให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ให้ฝากในนามของวัด ดังนั้น การฝากเงินของวัดคือโจทก์ร่วมต้องฝากในนามของโจทก์ร่วมเท่านั้น หากมิได้ดำเนินการดังกล่าวโดยเจตนาก็เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 ได้ ส่วนการจัดการทรัพย์สินของวัดก็ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวเป็นสำคัญ แต่การนำเงินค่าผาติกรรมซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ร่วมอย่างหนึ่งไปใช้เพื่อประโยชน์ของโจทก์ร่วม โดยมิได้เบียดบังเป็นของตนเองหรือผู้อื่น การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้เงินผิดไปจากมติมหาเถรสมาคม หรือเป็นการใช้เงินผิดระเบียบเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10272/2553
ศาลชั้นต้นให้สืบพยานผู้เสียหาย และ ว. ไว้ก่อนในคดีหมายเลขแดงที่ 895/2546 ของศาลชั้นต้นที่พวกของจำเลยซึ่งร่วมกระทำความผิดกับจำเลยในคดีนี้ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 คดีนี้และคดีดังกล่าวจึงเป็นคดีเดียวกัน ศาลจึงรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหาย และ ว. ในการพิจารณาคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ วรรคห้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7745/2552
คำเบิกความของ ว. และ ส. พยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องซึ่งศาลต้องบันทึกไว้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง เป็นพยานเอกสารอย่างหนึ่งซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่า จำเลยทั้งสองมีผิดหรือบริสุทธิ์ โจทก์จึงชอบที่จะอ้างเป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ตามมาตรา 226 แต่ในการสืบพยานโจทก์ในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบ ว. และ ส. เนื่องจากความผิดของโจทก์ที่ละเลยเพิกเฉยไม่เอาใจใส่ในการส่งหมายเรียกให้พยานหรือนำพยานมาศาล จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรที่ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของ ว. และ ส. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบพยานหลักฐานอื่นในชั้นพิจารณาได้ตามมาตรา 226/5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5671/2552
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้สืบพยานไว้ก่อนโดยคำร้องอ้างเหตุถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 ทวิ ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานให้และเห็นว่าไม่อาจตั้งทนายความให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ทัน จึงชอบด้วยเหตุผล ทั้งตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ทำในวันนั้นปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งให้จำเลยทั้งสี่ทราบและให้โอกาสซักถามพยานได้ ซึ่งจำเลยทั้งสี่ไม่คัดค้าน โดยจำเลยที่ 1 เองก็ได้ซักถามพยานด้วยแต่จำเลยอื่นไม่ติดใจถามค้านตามบันทึกท้ายคำเบิกความ ส่วนที่ศาลชั้นต้นไม่ซักถามพยานนั้นเป็นดุลพินิจที่ทำได้โดยชอบ หากเห็นว่าคำเบิกความชัดเจนแล้ว ดังนี้การสืบพยานปากผู้เสียหายไว้ก่อนฟ้องคดีของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1164/2547
ป.วิ.อ. มาตรา 232 บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น หมายถึง จำเลยในคดีเดียวกัน แต่ น. มิได้เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดีนี้ กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2878/2544
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำและใช้อาวุธมีดปลายแหลมขู่เข็ญ ผู้เสียหายว่าทันใดนั้นจะใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายหากผู้เสียหายขัดขืน แสดงว่าจำเลยมีอาวุธมีดและยังไม่ได้แทงทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ดังนั้น ที่ผู้เสียหายเบิกความว่า ถูกของแหลมยาวประมาณ 6 ถึง 7 นิ้ว ไม่ทราบว่าเป็นวัตถุชนิดใด ทิ่มแทงที่ชายโครง 2 ครั้ง โดยไม่ปรากฏบาดแผลและอาวุธที่ใช้ทิ่มแทงเป็นของกลาง จึงรับฟังไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริง รับฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนาใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย ลำพังแต่คำรับของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ย่อมไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ได้ ส่วนที่จำเลยเบิกความรับว่าจำเลยได้หยิบไม้กวาดขึ้นมาถือไว้ ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าเข้าใกล้จำเลย เท่ากับเป็นการขู่เข็ญว่าทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายก็ตาม แต่ข้อเท็จจริง ที่จะรับฟังลงโทษจำเลยต้องได้มาจากพยานหลักฐานของโจทก์ คำเบิกความของจำเลยมิใช่พยานหลักฐานของโจทก์ จะนำมารับฟังเพื่อลงโทษจำเลยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 496/2545
แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะกล่าวหาว่า ท. เป็นผู้ต้องหาในครั้งแรกแต่ ท. ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยด้วย คำให้การของ ท. หาใช่คำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยแต่อย่างใด ทั้ง ท. ให้การต่อพนักงานสอบสวนภายหลังเกิดเหตุเพียงชั่วข้ามคืนและโดยทันทีที่เข้าแจ้งเหตุให้พนักงานสอบสวนทราบ เป็นการยากที่ ท. จะปรุงแต่งเรื่องราวเพื่อปรักปรำจำเลยหรือเพื่อต่อสู้คดีได้ ทั้งเป็นคำให้การที่มิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญาขู่เข็ญหลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และแม้จะฟังว่า ท. ให้การซัดทอดจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของผู้กระทำผิดด้วยกันก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้ศาลรับฟังแต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์และโจทก์ร่วมจะไม่ได้ตัว ท. มาเบิกความในชั้นศาล ศาลย่อมนำคำให้การของ ท. ในชั้นสอบสวนมาฟังประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยได้

คำให้การของจำเลยต่อพนักงานสอบสวนยืนยันรับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริง และการนำชี้ที่เกิดเหตุก็กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าประชาชนจำนวนมาก ซึ่งแสดงว่าไม่มีการล่อลวงหรือขู่เข็ญ คำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจึงใช้ยันจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 และรับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ให้มีน้ำหนักมั่นคงยิ่งขึ้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2541
แม้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญผู้ตรวจพิสูจน์จะเห็นว่าลายมือ มีคุณลักษณะและรูปลักษณะของการเขียนแตกต่างกัน น่าจะไม่ใช่ ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโจทก์ที่ปรากฎอยู่ในหนังสือ รับสภาพหนี้เป็นเอกสารที่ทำไว้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2536 ไม่ปรากฎว่าโจทก์มีเอกสารที่ได้ทำขึ้นในช่วง ระยะใกล้เคียงกับวันดังกล่าวซึ่งเป็นการเขียนแบบบรรจงส่งไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายมือชื่อโจทก์ด้วยทั้งรูปแบบการเขียนลายมือชื่อโจทก์ที่ระยะเวลาใกล้เคียงกับเอกสารที่จะต้องตรวจพิสูจน์ก็ไม่มี ดังนั้น ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงความเห็นตามหลักวิชาการเท่านั้น เนื่องจากลายมือชื่อโจทก์มีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่างกับลายมือชื่อโจทก์ในใบแต่งทนายความซึ่งเป็นลายมือเขียนหวัดและเวลาเขียนต่างกันตามกาลเวลา ผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโจทก์จึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธและยืนยันว่าเป็นลายมือชื่อโจทก์ และการวินิจฉัยลายมือชื่อในเอกสารว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ ไม่มี กฎหมายบังคับให้ศาลต้องฟังตามข้อสันนิษฐานหรือข้อพิสูจน์เป็นหลักฐานของผู้เชี่ยวชาญก่อนแต่อย่างใด ทั้งมิใช่ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นอย่างไรแล้วศาลต้องฟังเสมอไป เมื่อโจทก์ยังมี ภาระหน้าที่นำสืบว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิด การที่โจทก์รับว่าเช็คทั้งสามฉบับอยู่ในความครอบครองของ จำเลยที่ 1 ตลอดมาย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นในลักษณะ ลายมือชื่อโจทก์มาก่อนที่มีการทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ จึงไม่มีเหตุผลประการใดที่จำเลยทั้งสองจะทำการปลอมลายมือชื่อ ของโจทก์เป็นแบบตัวบรรจงให้แตกต่างออกไปให้เห็นได้โดยประจักษ์พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2381/2537
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้บทที่ลงโทษจากพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 72 วรรคหนึ่ง เป็นมาตรา 72 วรรคสาม และแก้โทษจากจำคุก2 ปี เป็นจำคุก 1 ปี เป็นการแก้ไขมาก แต่ยังคงลงโทษจำคุกไม่เกินสองปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ส่วนข้อหาพาอาวุธปืนศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ตามศาลชั้นต้นและลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริง ตามมาตรา 218 วรรคหนึ่ง คำให้การในชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานโจทก์สอดคล้องตามกันและได้ให้การภายหลังเกิดเหตุทันที่โดยไม่มีเวลาคิดไตร่ตรองเพื่อช่วยเหลือหรือปรักปรำผู้หนึ่งผู้ใด เชื่อว่าได้ให้การไปตามความจริงตามที่ได้รู้เห็นโดยไม่มีเหตุจูงใจหรือถูกบังคับขู่เข็ญแต่อย่างใด พนักงานสอบสวนจึงได้บันทึกและให้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน การที่ประจักษ์พยานโจทก์มาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลว่า ไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้ายที่ยิงผู้ตายก็คงเพื่อช่วยเหลือจำเลยให้พ้นผิด เชื่อว่าคำให้การชั้นสอบสวนของประจักษ์พยานโจทก์เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาทั้งคำให้การชั้นสอบสวนไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไม่ให้รับฟังประกอบเป็นข้อพิจารณาของศาลประการใด เมื่อรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นตลอดจนพฤติการณ์แห่งคดี เช่น จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม ย่อมมีน้ำหนักมั่นคงฟังลงโทษจำเลยได้