การปล่อยชั่วคราว (ประกันตัว)

มาตรา ๑๐๖  คำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันหรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกัน ไม่ว่าผู้นั้นต้องควบคุมหรือขังตามหมายศาล ย่อมยื่นได้โดยผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ดังนี้


(๑) เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี

(๒) เมื่อผู้ต้องหาต้องขังตามหมายศาลและยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อศาลนั้น

(๓) เมื่อผู้ต้องหาถูกฟ้องแล้ว ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น

(๔) เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้ว แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือมีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น

ในกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ให้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตมิฉะนั้นให้รีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเพื่อสั่ง แล้วแต่กรณี

(๕) เมื่อศาลส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้ว จะยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น หรือจะยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณีก็ได้


ในกรณีที่ยื่นต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเพื่อสั่ง แล้วแต่กรณี


มาตรา ๑๐๗ เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราว ให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็วและผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๐๘ มาตรา ๑๐๘/๑ มาตรา ๑๐๙ มาตรา ๑๑๐ มาตรา ๑๑๑ มาตรา ๑๑๒ มาตรา ๑๑๓ และมาตรา ๑๑๓/๑


คำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าวโดยทันที


มาตรา ๑๐๘  ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ต้องพิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบ

(๑) ความหนักเบาแห่งข้อหา

(๒) พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วมีเพียงใด

(๓) พฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร

(๔) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด

(๕) ผู้ต้องหาหรือจำเลยน่าจะหลบหนีหรือไม่

(๖) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใดหรือไม่

(๗) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ โจทก์ หรือผู้เสียหาย แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับประกอบการวินิจฉัยได้


เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริง รายงานหรือความเห็นของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวกับการนั้นเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องด้วยก็ได้


ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้  ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ แม้ผู้นั้นยินยอม จะสั่งให้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวได้ต่อเมื่อผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่อาจเป็นภัยต่อบุคคลอื่นอย่างร้ายแรง หรือมีเหตุสมควรประการอื่น


มาตรา ๑๐๘/๑ การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว จะกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี

(๒) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

(๓) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น

(๔) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ

(๕) การปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล


คำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวต้องแสดงเหตุผล และต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว


มาตรา ๑๐๘/๒ ในกรณีที่พยานสำคัญในคดีอาจได้รับภัยอันตรายอันเนื่องมาแต่การปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย พยานนั้นอาจคัดค้านการปล่อยชั่วคราวนั้นได้ โดยยื่นคำร้องต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือศาล แล้วแต่กรณี


ถ้ามีคำคัดค้านการปล่อยชั่วคราวตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการหรือศาล แล้วแต่กรณี พิจารณาคำคัดค้านดังกล่าวทันที โดยให้มีอำนาจเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสองฝ่ายมาสอบถามเพื่อประกอบการพิจารณาและมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร


มาตรา ๑๐๙  ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องหาหรือถูกฟ้องในความผิดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี ถ้ามีคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ในระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลจะต้องถามพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือโจทก์ว่าจะคัดค้านประการใดหรือไม่ ถ้าไม่อาจถามได้โดยมีเหตุอันควรศาลจะงดการถามเสียก็ได้แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้


มาตรา ๑๑๐  ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้


ในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้


การเรียกประกันหรือหลักประกันตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสองจะเรียกจนเกินควรแก่กรณีมิได้ และต้องคำนึงถึงเงื่อนไขและมาตรการป้องกันต่าง ๆ ที่ได้ใช้กับผู้ถูกปล่อยชั่วคราวประกอบด้วย  ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง หรือข้อบังคับของประธานศาลฎีกา แล้วแต่กรณี


มาตรา ๑๑๑  เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย ก่อนที่จะปล่อยไป ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียก


มาตรา ๑๑๒  เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันก่อนปล่อยไปให้ผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันลงลายมือชื่อในสัญญาประกันนั้น


ในสัญญาประกันนอกจากข้อความอย่างอื่นอันพึงมี ต้องมีข้อความดังนี้ด้วย

(๑) ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวหรือผู้ประกัน แล้วแต่กรณี จะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของเจ้าพนักงานหรือศาล ซึ่งให้ปล่อยชั่วคราว

(๒) เมื่อผิดสัญญาจะใช้เงินจำนวนที่ระบุไว้


ในสัญญาประกันจะกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราว หรือผู้ประกันต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณีมิได้


มาตรา ๑๑๓ เมื่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการสั่งปล่อยชั่วคราวไม่ว่าจะมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันหรือไม่ การปล่อยชั่วคราวนั้นให้ใช้ได้ระหว่างการสอบสวนหรือจนกว่าผู้ต้องหาถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวนหรือจนถึงศาลประทับฟ้อง แต่มิให้เกินสามเดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าเป็นการปล่อยชั่วคราวโดยพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นทำให้ไม่อาจทำการสอบสวนได้เสร็จภายในกำหนดสามเดือนจะยืดเวลาการปล่อยชั่วคราวให้เกินสามเดือนก็ได้ แต่มิให้เกินหกเดือน


เมื่อการปล่อยชั่วคราวสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่งแล้ว ถ้ายังมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ต่อไปให้ส่งผู้ต้องหามาศาล และให้นำบทบัญญัติมาตรา ๘๗ วรรคสี่ ถึงวรรคเก้า มาใช้บังคับ


มาตรา ๑๑๓/๑ ในกรณีที่มีการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนโดยมีการวางเงินสดหรือหลักทรัพย์อื่นเป็นประกันไม่ว่าต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ และยังไม่ได้รับคืน หากผู้ต้องหาหรือจำเลยประสงค์จะขอปล่อยชั่วคราวต่อไป ผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจยื่นคำร้องต่อพนักงานอัยการหรือศาล แล้วแต่กรณี โดยขอให้ถือเอาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นหลักประกันต่อไปก็ได้ เมื่อพนักงานอัยการหรือศาลเห็นสมควรแล้วอาจมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยถือว่าเงินสดหรือหลักทรัพย์ดังกล่าวนั้นเป็นหลักประกันในชั้นพนักงานอัยการหรือศาล แล้วแต่กรณีก็ได้ ให้พนักงานอัยการหรือศาลนั้นแจ้งพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ให้ส่งหลักประกันเช่นว่านั้นต่อพนักงานอัยการหรือศาลภายในระยะเวลาที่พนักงานอัยการหรือศาลเห็นสมควร


ในกรณีปล่อยชั่วคราว โดยมีบุคคลเป็นประกันหรือหลักประกันต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ หากบุคคลเช่นว่านั้นร้องขอ พนักงานอัยการหรือศาลอาจถือเอาบุคคลนั้นเป็นประกันหรือหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวต่อไปก็ได้ กรณีเช่นว่านี้ พนักงานอัยการหรือศาลจะแจ้งให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี ส่งเอกสารเกี่ยวกับการประกันภายในระยะเวลาที่เห็นสมควร


มาตรา ๑๑๔  เมื่อจะปล่อยชั่วคราวโดยให้มีประกันและหลักประกันด้วย ก่อนปล่อยตัวไป ให้ผู้ร้องขอประกันจัดหาหลักประกันมาดังต้องการ

หลักประกันมี ๓ ชนิด คือ

(๑) มีเงินสดมาวาง

(๒) มีหลักทรัพย์อื่นมาวาง

(๓) มีบุคคลมาเป็นหลักประกัน โดยแสดงหลักทรัพย์


มาตรา ๑๑๕  โดยความปรากฏต่อมา หรือเนื่องจากกลฉ้อฉลหรือผิดหลง ปรากฏว่าสัญญาประกันต่ำไปหรือหลักประกันไม่เพียงพอ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไม่เหมาะสม ให้เจ้าพนักงานหรือศาลมีอำนาจสั่งเปลี่ยนสัญญาประกันให้จำนวนเงินสูงขึ้น หรือเรียกหลักประกันเพิ่ม หรือให้ดีกว่าเดิม หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่กำหนดไว้ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น


ภายหลังที่มีคำสั่งปล่อยชั่วคราวแล้ว หากพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ให้เจ้าพนักงานหรือศาลมีอำนาจสั่งลดหลักประกันได้ตามที่เห็นสมควร


ในกรณีที่ศาลปล่อยชั่วคราวและคดีขึ้นไปสู่ศาลสูง ศาลสูงมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินตามสัญญาประกันหรือเงื่อนไขที่ศาลล่างกำหนดไว้ได้ตามที่เห็นสมควร


มาตรา ๑๑๖  การขอถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกัน ย่อมทำได้เมื่อผู้ทำสัญญามอบตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคืนต่อเจ้าพนักงานหรือศาล


มาตรา ๑๑๗  เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยหนีหรือจะหลบหนี ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่พบการกระทำดังกล่าวมีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ แต่ในกรณีที่บุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันเป็นผู้พบเห็นการกระทำดังกล่าว อาจขอให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุดจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ถ้าไม่สามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าพนักงานได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยได้เอง แล้วส่งไปยังพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่ใกล้ที่สุด และให้เจ้าพนักงานนั้นรีบจัดส่งผู้ต้องหาหรือจำเลยไปยังเจ้าพนักงานหรือศาล โดยคิดค่าพาหนะจากบุคคลซึ่งทำสัญญาประกันหรือเป็นหลักประกันนั้น


ในกรณีที่มีคำสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดตามมาตรา ๑๐๘ วรรคสาม กับผู้ต้องหาหรือจำเลยใด ถ้าปรากฏว่าอุปกรณ์ดังกล่าวถูกทำลายหรือทำให้ใช้การไม่ได้ไม่ว่าโดยวิธีใด ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นหนีหรือจะหลบหนี


มาตรา ๑๑๘  เมื่อคดีถึงที่สุดหรือความรับผิดตามสัญญาประกันหมดไปตามมาตรา ๑๑๖ หรือโดยเหตุอื่น ให้คืนหลักประกันแก่ผู้ที่ควรรับไป


มาตรา ๑๑๙  ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง  ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งงดการบังคับตามสัญญาประกันหรือลดจำนวนเงินที่ต้องใช้ตามสัญญาประกันก็ได้ โดยคำนึงถึงความพยายามของผู้ประกันในการติดตามตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนี รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามีมากน้อยเพียงใดประกอบด้วย และเมื่อศาลสั่งประการใดแล้วฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด


เงินสดหรือหลักทรัพย์อื่นที่นำมาวางต่อศาลเพื่อเป็นหลักประกันตามมาตรา ๑๑๔ ไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นจนกว่าความรับผิดตามสัญญาประกันจะระงับสิ้นไป เว้นแต่ศาลเห็นว่าหนี้ของเจ้าหนี้นั้นมิได้เกิดจากการฉ้อฉลและมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว


ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการบังคับคดีเพราะผิดสัญญาประกันตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลมีอำนาจออกหมายบังคับคดีหรือคำสั่งอื่นใดเพื่อบังคับเอาแก่ทรัพย์สินของบุคคลซึ่งต้องรับผิดตามสัญญาประกันได้เสมือนว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยให้เจ้าพนักงานศาลที่ได้รับแต่งตั้งและพนักงานอัยการเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบังคับตามสัญญาประกัน และให้เจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี มีอำนาจหน้าที่ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ประกันและขายทอดตลาดตามที่ได้รับแจ้งจากศาล หรือพนักงานอัยการ และถ้าจะต้องขายทรัพย์สินที่วางเป็นหลักประกันไว้ต่อศาล เมื่อศาลส่งทรัพย์สินหรือหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สินนั้นไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี ให้ถือว่าได้มีการยึดทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว  ทั้งนี้ มิให้หน่วยงานของรัฐเรียกค่าฤชาธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายจากผู้ดำเนินการบังคับคดี


การบังคับคดีตามมาตรานี้ ให้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม เว้นแต่ประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะออกข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ข้อบังคับนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


มาตรา ๑๑๙ ทวิ  ในกรณีที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ร้องขอมีสิทธิยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ ดังต่อไปนี้

(๑) คำสั่งของศาลชั้นต้น ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์

(๒) คำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา


ให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งรีบส่งคำร้องดังกล่าวพร้อมด้วยสำนวนความ หรือสำเนาสำนวนความเท่าที่จำเป็นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณา และมีคำสั่งโดยเร็ว


คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยืนตามศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6518/2562

ฎีกาของผู้ประกันเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาประกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การที่ผู้ประกันนำเงิน 500,000 บาท มาชำระตามสัญญาประกันในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ทั้งที่ผู้ประกันอ้างในคำร้องฉบับลงวันที่ 7 มิถุนายน 2561 ว่า ศาลชั้นต้นสิ้นสิทธิในการบังคับคดีเพราะไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกันชำระหนี้โดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิรับเงินดังกล่าวคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ประกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ดังกล่าว ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3147/2562

การที่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 นำที่ดินที่มีสภาพเป็นสระน้ำขนาดใหญ่เช่นเดียวกับคดีนี้ไปใช้เป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวจำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ 1874/2545 ของศาลอาญาธนบุรี และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ยังผิดสัญญาประกันอีกหลายคดีในศาลอาญาธนบุรี ศาลแขวงธนบุรี และศาลจังหวัดนนทบุรี พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ซึ่งเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1) นั้น เป็นเรื่องร้ายแรง ไม่ควรรอการลงโทษ แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน มีอายุมาก และร่างกายไม่แข็งแรง ทั้งผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พยายามบรรเทาผลร้าย โดยนำเงินค่าปรับมาชำระแก่ศาลชั้นต้นครบถ้วนแล้ว จึงมีเหตุสมควรลงโทษผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในสถานเบา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4265/2561

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาไว้ตามคำร้องของผู้ร้องมีกำหนด 12 วัน เพื่อสอบสวนดำเนินคดีผู้ต้องหาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาฎีกา เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา 71 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อออกหมายขังโดยทันที... กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา 87 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม..." มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" มาตรา 66 บัญญัติว่า "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี" ตามบทบัญญัติข้างต้นให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 คดีนี้ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกระบวนการก่อนฟ้องซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีตัวจำเลยในการพิจารณาคดีของศาล ทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 106 บัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นฝากขังระหว่างสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2561

คดีที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระค่าปรับเนื่องจากผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า "ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้น เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6506/2560

ความรับผิดตามสัญญาประกันเป็นความรับผิดทางแพ่ง และค่าปรับที่ศาลสั่งให้ผู้ประกันชำระกรณีผิดสัญญาประกันก็เข้าลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ดังนั้น เมื่อศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน และออกหมายแจ้งคำสั่งให้ผู้ประกันชำระค่าปรับภายใน 30 วัน การที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิบังคับคดีย่อมต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งกำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีได้ภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หาใช่ว่าจะมีสิทธิขอบังคับคดีเมื่อใดก็ได้โดยไม่มีเวลาจำกัด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2560

ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 6 เจ้าหนี้มีประกัน หมายความว่า เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ในทางจำนอง จำนำ หรือสิทธิยึดหน่วงหรือเจ้าหนี้ผู้มีสิทธิบังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำ และ ป.พ.พ. มาตรา 241 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นผู้ครองทรัพย์สินของผู้อื่นและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครองนั้นไซร้ ท่านว่าผู้นั้นจะยึดหน่วงทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะได้ชำระหนี้ก็ได้..." การที่ลูกหนี้นำโฉนดที่ดินซึ่งลูกหนี้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์มาเป็นทรัพย์หลักประกันในการขอปล่อยตัวจำเลยในคดีอาญานั้น เจ้าหนี้หรือศาลอาญาธนบุรี เพียงแต่ยึดถือโฉนดดังกล่าวไว้เท่านั้น หาได้เป็นผู้เข้าครอบครองที่ดินตามโฉนดอันเป็นหลักประกันดังกล่าวไม่ แม้ว่าศาลอาญาธนบุรีจะมีหนังสือแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ระงับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในที่ดินดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์มิให้ลูกหนี้โอนทรัพย์ต่อไปเท่านั้น หาทำให้เจ้าหนี้หรือศาลอาญาธนบุรีมีบุริมสิทธิเหนือที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด ส่วนการที่ลูกหนี้ส่งมอบโฉนดที่ดินให้แก่เจ้าหนี้ไว้นั้น ก็มีผลเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่จะให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดถือหนังสือกรรมสิทธิ์ดังกล่าวไว้จนกว่าจะมีการปฏิบัติตามสัญญาหรือสัญญาประกันสิ้นสุดลง เจ้าหนี้จึงไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกัน ดังนั้น เจ้าหนี้จะขอบังคับหรือใช้สิทธิในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามที่บัญญัติไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 หาได้ไม่


ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง โดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ซึ่งบัญญัติว่า "เงินสดหรือหลักทรัพย์อื่นที่นำมาวางต่อศาลเพื่อเป็นหลักประกันตามมาตรา 114 ไม่อยู่ในข่ายที่จะถูกยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นจนกว่าความรับผิดตามสัญญาประกันจะระงับสิ้นไป เว้นแต่ศาลเห็นว่าหนี้ของเจ้าหนี้นั้นมิได้เกิดจากการฉ้อฉลและมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ดังกล่าว" โดยมีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 30 ธันวาคม 2558) เป็นต้นไป ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 มาตรา 2 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแก่คดีทั้งหมดรวมถึงคดีนี้ด้วย เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ลูกหนี้ในฐานะผู้ประกันนำมาวางเป็นหลักประกันต่อศาลในการร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญา และลูกหนี้ผิดสัญญาไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลจนศาลมีคำสั่งปรับตามสัญญาประกัน กรณีต้องด้วย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ที่ดินที่ลูกหนี้นำมาวางเป็นประกันต่อศาลอาญาธนบุรีจึงไม่อาจถูกยึดหรืออายัดเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อื่นได้ เว้นแต่ศาลในคดีอาญาจะได้สั่งปล่อยทรัพย์นั้น ในชั้นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่อาจรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยได้ให้ดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสองก่อน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 553/2560

ผู้ประกันที่ 1 ฎีกาว่า การบังคับคดีเกี่ยวกับสัญญาประกันต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ขอให้ศาลฎีกาคืนหลักประกันให้แก่ผู้ประกันที่ 1 นั้น เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาประกัน โดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ประกันมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลไปจนกว่าจะครบกำหนดอายุความทางอาญา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งปรับผู้ประกันและออกหมายจับจำเลยที่ 2 โดยระบุให้จับตัวส่งศาลชั้นต้นภายในอายุความ 15 ปี นับจากวันที่ศาลชั้นต้นออกหมายจับและปรับผู้ประกัน จนถึงวันที่ผู้ประกันที่ 1 ยื่นคำร้องนี้มาจึงยังอยู่ภายในอายุความทางอาญาดังกล่าว ดังนั้น ผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการประจำศาลชั้นต้น ชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้ประกันตามคำสั่งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ประกันที่ 1 คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2559

มูลหนี้ที่จะนำมาขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้จะต้องเป็นหนี้เงินที่มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม ทั้งเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ประกอบมาตรา 94 สำหรับมูลหนี้ในคดีนี้คือมูลหนี้ตามสัญญาประกันที่ลูกหนี้ที่ 2 ได้ทำสัญญาประกันต่อศาลในการขอปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาของศาลแขวงธนบุรี ในวงเงินประกัน 330,000 บาท โดยมีที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นหลักประกัน ต่อมาปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2549 ลูกหนี้ที่ 2 ไม่ส่งตัวจำเลยมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษาศาลฎีกาตามกำหนดนัดซึ่งถือว่าลูกหนี้ที่ 2 ผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลแขวงธนบุรีมีคำสั่งปรับเงินลูกหนี้ที่ 2 เต็มตามสัญญาประกัน มูลแห่งหนี้เงินจึงเกิดขึ้นในวันดังกล่าวภายหลังจากวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 และมิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แพ้คดีในคดีที่เข้าว่าคดีแพ่งอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลในขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ ที่เจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้นับจากวันคดีถึงที่สุดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 ประกอบมาตรา 93 ดังนี้ เมื่อเจ้าหนี้นำมูลหนี้ค่าปรับนายประกันในคดีอาญาของศาลแขวงธนบุรีมายื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ทั้งหนี้เงินดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ที่ 2 เด็ดขาด ย่อมต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ประกอบมาตรา 94


แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีการแก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคสอง โดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2558 ก็ตาม ก็เป็นบทบัญญัติในส่วนการบังคับหลักประกันที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องว่ากล่าวกันต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 30/2559

การยื่นคำร้องขอคืนหลักประกันคดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้ประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งการจะคืนหลักประกันให้แก่ผู้ประกันทั้งสองหรือไม่ ศาลต้องพิจารณาถึงการนำตัวจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดดังกล่าวมาส่งศาลประกอบด้วย ดังนั้นคำร้องขอคืนหลักประกันถือว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ส่วนที่ผู้ประกันทั้งสองฎีกาว่า การชำระหนี้เป็นการพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์อันเกิดขึ้นภายหลังการก่อหนี้ซึ่งผู้ประกันทั้งสองไม่ต้องรับผิดชอบเนื่องจากเป็นเหตุเกิดจากศาลเอง ขอให้ศาลฎีกาคืนหลักประกันให้แก่ผู้ประกันนั้นเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับการบังคับตามสัญญาประกันซึ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 119 มาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ประกันทั้งสองไม่สามารถนำตัวจำเลยมาศาลได้ตามกำหนดนัด ย่อมเป็นการผิดสัญญาประกันที่ได้ทำไว้ในคดีนี้ จึงมีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ผู้ประกันทั้งสองคืนหลักประกันให้แก่ศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15004/2558

ขณะที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลพัทยายื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่ใช้ชื่อ ล. ผู้ประกันยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาดังกล่าวโดยมีประกัน ศาลชั้นต้นอนุญาต สัญญาประกันจึงมีผลสมบูรณ์ตลอดไปในระหว่างสอบสวน สัญญาประกันในคดีอาญาจะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อคดีถึงที่สุด เว้นแต่มีการถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกัน ผู้ต้องหาตาย ผิดสัญญาประกัน หรือศาลสั่งยกเลิกสัญญาประกัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 116 และมาตรา 118 ที่ผู้ประกันอ้างว่าทำสัญญาประกันไปโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลนั้น เห็นว่า ผู้ประกันไม่ได้สำคัญผิดในตัวบุคคลเพราะผู้ประกันต้องการขอปล่อยชั่วคราวบุคคลที่ใช้ชื่อ ล. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลพัทยายื่นคำร้องขอฝากขัง การที่ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาดังกล่าวโดยมีประกัน และศาลชั้นต้นอนุญาตจึงเป็นการถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้วว่า ศาลได้สั่งปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ใช้ชื่อ ล. โดยมีประกันตรงตามเจตนาของผู้ประกัน หาใช่ผู้ประกันสำคัญผิดในตัวบุคคลไม่ สัญญาประกันที่ผู้ประกันทำต่อศาลชั้นต้นจึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาดังกล่าวตามกำหนดนัด จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2558

สัญญาประกันตัวจำเลยในคดีอาญาเป็นสัญญาที่ผูกพันเฉพาะตัวผู้ประกัน เมื่อผู้ประกันตายลงในระหว่างที่มีสัญญาประกันและยังไม่มีหนี้ปรับฐานผิดสัญญาประกันเกิดขึ้น สัญญาประกันนั้นย่อมเป็นอันระงับลงผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ประกันจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาประกัน และไม่มีเหตุที่ศาลจะยึดถือหลักประกันไว้ต่อไป


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5314/2558

การจะลดค่าปรับให้แก่ผู้ประกันในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ศาลต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำความผิด ความหนักเบาแห่งข้อหา และการผิดสัญญาประกันประกอบด้วย คำร้องขอลดค่าปรับถือว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด


กรณีผิดสัญญาประกันและขอลดค่าปรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 119 มาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ดังนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1886/2558

การยื่นคำร้องขอลดค่าปรับคดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้ประกันผิดสัญญาไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งการจะลดค่าปรับให้แก่ผู้ประกันหรือไม่ ศาลต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำความผิด ความหนักเบาแห่งข้อหา การผิดสัญญาประกันประกอบด้วย ดังนั้นคำร้องขอลดค่าปรับถือว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 จึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด และกรณีผิดสัญญาประกันและขอลดค่าปรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 119 มาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดฯ มาตรา 3 เมื่อศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ลดค่าปรับให้ผู้ประกันแล้ว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1260/2558

ในคดีอาญา ผู้ประกันซึ่งทำสัญญาประกันว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลมีหน้าที่จะต้องนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาลตามกำหนดหรือตามที่ศาลมีหมายเรียก ซึ่งหากผิดสัญญาก็มิใช่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสียหายภายในวงเงินตามสัญญาประกันเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมทางศาลด้วย และตราบใดที่ผู้ประกันยังไม่ส่งตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อศาลก็ต้องถือว่ายังคงผิดสัญญาประกันที่ทำไว้ต่อศาลอยู่ตราบนั้น แต่หากผู้ประกันขวนขวายได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาภายในอายุความทางอาญา ศาลในคดีนั้น ๆ ก็ยังอาจลดค่าปรับลงได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีแม้จะส่งมอบตัวเกิน 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกันก็ตาม เมื่อผู้ประกันในคดีอาญาต่าง ๆ รวมทั้งผู้ประกันในคดีนี้มีสิทธิและหน้าที่ดังเช่นที่กล่าวมา ผู้ร้องในคดีนี้จึงชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลที่สั่งปรับผู้ประกันได้แม้จะเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งปรับผู้ประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15250/2557

คำร้องขอลดค่าปรับเป็นผลสืบเนื่องมาจากผู้ประกันทั้งสองผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งการจะลดค่าปรับให้แก่ผู้ประกันทั้งสองหรือไม่ ศาลต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกระทำความผิด ความหนักเบาแห่งข้อหาและการผิดสัญญาประกันประกอบด้วย ดังนั้น คำร้องขอลดค่าปรับถือว่าเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด และกรณีผิดสัญญาประกันและขอลดค่าปรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 119 มาใช้บังคับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3594/2557

คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ต้องหาที่ 1 ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักร พฤติการณ์ของผู้ต้องหาที่ 1 อาจหลบหนีได้ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่พิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์แห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 108 และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน กรณีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5218/2556

แม้ผู้ประกันจะนำตัวจำเลยมายังศาลชั้นต้นตามกำหนดนัดที่ศาลชั้นต้นระบุไว้ในใบนัดให้ส่งตัวจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ศาลว่าในวันดังกล่าวจำเลยและผู้ประกันมาศาลเพื่อยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อเจ้าพนักงานศาลตรวจสอบแล้วปรากฏว่าล่วงเลยกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ และสอบถามจำเลยแล้วประสงค์จะยื่นอุทธรณ์ จำเลยและผู้ประกันจึงให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขียนคำร้องเพื่อขอให้ศาลพิจารณาคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์เขียนคำร้องให้จำเลยและผู้ประกันแล้วได้แจ้งให้จำเลยและผู้ประกันรอฟังคำสั่ง แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วจำเลยและผู้ประกันไม่มาฟังคำสั่ง พฤติการณ์ของจำเลยและผู้ประกันดังกล่าวเห็นได้ว่า จำเลยและผู้ประกันมาศาลตามกำหนดนัดในใบนัดของศาลชั้นต้นเพื่อยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าผู้ประกันได้ส่งมอบตัวจำเลยต่อศาลชั้นต้นแล้ว ผู้ประกันจึงผิดสัญญาประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4829/2553

จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว และคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องเพื่อประกอบการขอให้ปล่อยชั่วคราว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวและยกคำร้องที่ขอให้ไต่สวน จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะคำสั่งที่ยกคำร้องขอให้ไต่สวนคำร้องเพื่อประกอบการขอให้ปล่อยชั่วคราว ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาต้องห้ามอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ฎีกา เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่ไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 2 เพื่อประกอบการพิจารณาขอให้ปล่อยชั่วคราวก็สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 2 ชั่วคราว ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 108 คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 และการที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้คืนถ้อยคำสำนวนพร้อมคำร้องอุทธรณ์คำสั่งแก่ศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินการต่อไปก็มีผลเช่นเดียวกับการไม่รับวินิจฉัย และสั่งยกอุทธรณ์จำเลยที่ 2 คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2694/2553

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 116 บัญญัติว่า "การขอถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกัน ย่อมทำได้เมื่อผู้ทำสัญญามอบตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยคืนต่อเจ้าพนักงานหรือศาล" เมื่อผู้ประกันไม่ได้ยื่นคำร้องขอมอบตัวจำเลยที่ 2 คืนต่อศาล จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ประกันได้ส่งมอบหรือคืนตัวจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นก็มิได้เพิกถอนสัญญาประกันแล้วออกหมายขังจำเลยที่ 2 ไว้ในคดีนี้ ในระหว่างนั้นจึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นต้องออกหมายขังระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 แม้จำเลยที่ 2 จะถูกจับและควบคุมตัวที่เรือนจำเพื่อดำเนินคดีอื่นก็ตาม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7258/2551

ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า มูลค่าความเสียหายต่อสถาบันการเงินสูงมาก เห็นสมควรกำหนดวงเงินประกันสิบสองล้านบาท ให้วางหลักประกันเพิ่มและจะพิจารณาสั่งต่อไป มิฉะนั้นให้ยกคำร้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นเรียกประกันหรือหลักประกันเกินควรแก่กรณี ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าตามคำร้องไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองในระหว่างพิจารณา กรณีจึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ให้ยกคำร้อง ในกรณีการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ที่ศาลชั้นต้นสั่งดังกล่าวมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตตามคำร้องแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2680/2551

จำเลยทำสัญญาประกันผู้ต้องหากับพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารโดยมีร้อยตำรวจเอก อ. เป็นผู้รับสัญญาเป็นตัวแทนคู่สัญญากับจำเลย ร้อยตำรวจเอก อ. จึงมิได้กระทำในฐานะส่วนตัว เมื่อจำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาแก่โจทก์ตามกำหนดนัด แม้ร้อยตำรวจเอก อ. ยังเป็นพนักงานสอบสวนอยู่ที่สถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารแต่เมื่อพันตำรวจเอก ธ. เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสารและเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 จึงมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นทนายความฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยได้


จำเลยอยู่กับครอบครัวที่บ้านเลขที่ 44/16 ส่วนบ้านเลขที่ 62/2 เป็นที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์เขต 10 ท้องที่อำเภอปากพนัง ซึ่งจำเลยได้แจ้งย้ายเข้าไปอยู่เพื่อสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 2529 จนบัดนี้ยังไม่แจ้งย้ายไปอยู่แห่งใหม่ โดยจำเลยอยู่ที่บ้านเลขที่ 62/2 ในวันเสาร์ อาทิตย์ และจันทร์ ที่ทำการพรรคดังกล่าวเป็นที่ทำการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฯ มีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนประจำอยู่ จำเลยได้แจ้งที่อยู่ดังกล่าวให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นที่อยู่ที่สะดวกแก่การติดต่อ ดังนี้ บ้านเลขที่ 62/2 จึงเป็นทั้งภูมิลำเนาและเป็นหลักแหล่งที่ทำการตามปกติของจำเลย ถือได้ว่าจำเลยมีถิ่นที่อยู่หลายแห่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 38 การที่โจทก์มีหนังสือให้จำเลยส่งตัวผู้ต้องหาแก่โจทก์ โดยส่งไปยังบ้านเลขที่ 62/2 จึงเป็นการส่งตามภูมิลำเนาของจำเลยแล้ว เมื่อมีผู้รับหนังสือแทนโดยชอบ จำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด จำเลยจึงผิดสัญญา


ขณะทำสัญญาจำเลยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและใช้ตำแหน่งดังกล่าวประกันผู้ต้องหา ระบุในสัญญาประกันว่าที่อยู่ของจำเลยอยู่ที่อาคารรัฐสภา กับแสดงบัตรประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจำเลยแก่โจทก์ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำหนังสือรับรอง จึงถือว่าจำเลยได้เลือกเอาอาคารรัฐสภาเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการของจำเลยใช้สำหรับการติดต่อกับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 การที่โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระเงินค่าปรับแก่โจทก์ โดยส่งไปที่อาคารรัฐสภาและบ้านเลขที่ 62/2 โดยมีผู้รับไว้แทน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยได้ชื่อว่าผิดนัด ต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับตามสัญญาแก่โจทก์


หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้ทันทีที่จำเลยตกเป็นลูกหนี้ผิดนัด แต่การที่จำเลยไม่ส่งผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัดเป็นเพียงก่อให้เกิดหนี้ต้องใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาเท่านั้น จำเลยจะตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ในเงินค่าปรับก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้จำเลยชำระหนี้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคแรก เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยนำเงินมาชำระในวันที่ 30 มกราคม 2542 แล้วจำเลยไม่ชำระหนี้ จำเลยจึงตกเป็นลูกหนี้ผิดนัดนับตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2542


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5206/2550

จำเลย ที่ 2 เป็นผู้ยื่นคำร้องและลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกันตัวผู้ต้องหาต่อพนักงานสอบสวน โจทก์มีหน้าที่ต้องจัดหาหลักประกันเมื่อไม่มีกฎหมายบังคับว่าหลักประกันต้อง เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ประกันแต่ผู้เดียว การที่จำเลยที่ 2 จัดหาหลักประกันเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ยินยอมให้นำมาวางต่อโจทก์โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการ มิได้แปลว่าจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องและทำสัญญาประกันในฐานะที่เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาเข้าทำสัญญาประกันในนามของจำเลยที่ 2 เองด้วย สัญญาประกันจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันต่อโจทก์


การที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ในวันนัดส่งตัว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญา ประกันอันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับได้นับแต่วันดังกล่าว แต่จะถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระเบี้ยปรับนับแต่วันนั้นหาได้ไม่ สัญญาประกันมิได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ดังกล่าวต่อกันไว้ โจทก์ชอบที่จะบอกกล่าวกำหนดเวลาชำระหนี้ก่อนหากจำเลยทั้งสองไม่ชำระจึงได้ ชื่อว่าผิดนัดนับแต่เมื่อนั้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2550

ฎีกาของจำเลยที่ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาเป็นสัญญาค้ำประกัน เมื่อไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งฟ้องบังคับจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง


หนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาที่จำเลยสัญญาว่าหาก ส. หลบหนี และศาลสั่งปรับโจทก์เป็นเงินเท่าใด จำเลยขอรับผิดชอบชดใช้เงินค่าปรับนั้นแทนโจทก์ทั้งสิ้น เป็นกรณีที่จำเลยแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรง ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยผูกพันต่อโจทก์ว่าจะชำระหนี้ในเมื่อ ส. ไม่ชำระหนี้ จึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 หากแต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น และไม่อยู่ในลักษณะแห่งตราสารที่จะต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากร


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3450/2549

การที่ผู้ประกันยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อสิทธิในการร้องขอให้บังคับคดีแก่ผู้ประกันสิ้นสุดแล้ว ศาลชั้นต้นต้องคืนหลักประกันแก่ผู้ประกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 118 นั้น เป็นกรณีพิจารณาความเกี่ยวกับสัญญาประกันตัวจำเลยในคดีอาญา ซึ่งการใช้สิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นต้องเป็นไปตามหลัก เกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. ภาค 4 ลักษณะ 1 โดยมาตรา 193 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นใน ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่า ให้อุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์ ไม่มีบทบัญญัติมาตราใดอนุญาตให้คู่ความอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อ ศาลฎีกาได้ดังเช่นคดีแพ่ง จึงนำ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ประกันอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นโดยตรงต่อศาลฎีกา จึงไม่ถูกต้องเพราะเป็นการอุทธรณ์ข้ามลำดับศาล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8484/2549

ในการวินิจฉัยคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว ป.วิ.อ. มาตรา 108 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ) บัญญัติให้พิจารณาข้อเหล่านี้ประกอบด้วย (1) ความหนักเบาแห่งข้อหา (2) พยานหลักฐานที่นำมาสืบแล้วมีเพียงใด (3) พฤติการณ์ต่างๆ แห่งคดีเป็นอย่างไร (4) เชื่อถือผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันได้เพียงใด (5) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ (6) ภัยอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดจากการปล่อยชั่วคราวมีเพียงใด หรือไม่ (7) ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องขังตามหมายศาล ถ้ามีคำคัดค้านของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือโจทก์แล้วแต่กรณี ศาลพึงรับฟังประกอบการวินิจฉัยได้ ดังนั้น การที่จำเลยสั่งในคำร้องลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2545 ที่ ต. ซึ่งเป็นผู้ขอประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวโจทก์ในระหว่างสอบสวนว่า โจทก์มีที่อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ผู้ขอประกันไม่ใช่ญาติของโจทก์ ประกอบกับพนักงานสอบสวนกำลังขยายผลรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีในความผิดฐาน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและฉ้อโกงประชาชน และคัดค้านการประกัน จึงไม่อนุญาตให้ประกัน ยกคำร้อง จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงจากคำคัดค้านของพนักงานสอบสวนมาพิจารณาประกอบความ หนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ววินิจฉัยคำร้องขอปล่อยชั่วคราวตาม ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 108 อันเป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนหาใช่เป็นการ กลั่นแกล้งโจทก์แต่อย่างใดไม่ และถึงแม้ว่าหลักทรัพย์ที่ใช้ขอปล่อยชั่วคราวมีจำนวนสูงถึง 542,640 บาท ก็ตาม แต่การพิจารณาหลักทรัพย์ที่ผู้ขอประกันเสมอมา เป็นเพียงเหตุหนึ่งในหลายเหตุที่ศาลจะนำมาพิจารณาประกอบการวินิจฉัยคำร้องขอ ปล่อยชั่วคราว มิใช่ว่าหลักทรัพย์มีจำนวนสูงแล้ว ศาลต้องอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเสมอไป


ป.วิ.อ. มาตรา 87 วรรคสี่ (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ) บัญญัติว่า ถ้าเกิดความจำเป็นที่จะควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่ากำหนดเวลาในวรรคก่อน เพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นให้ส่งผู้ต้องหามาศาล ให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้น ไว้...ฯลฯ... และมาตรา 87 วรรคหก บัญญัติว่า ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติดๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวันและรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน ซึ่งเป็นการให้อำนาจศาลในการพิจารณาคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนวันมี เหตุอันสมควรอนุญาตให้ฝากขังหรือไม่ และผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัยได้ไต่สวนแล้ว เห็นว่ามีเหตุที่จะอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังโจทก์ไว้ตามคำร้อง จึงมีคำสั่งอนุญาตตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวนดังกล่าวระบุว่าผู้ต้องหาให้การรับ สารภาพตลอดข้อกล่าวหาตามที่โจทก์อ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีมาตราใดใน ป.วิ.อ. ที่บังคับว่า ถ้าผู้ต้องหาให้การรับสารภาพแล้ว ศาลต้องไม่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาไว้ ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาศาลจังหวัดสุโขทัยอนุญาตให้ฝากขังโจทก์จึงเป็นการใช้ ดุลพินิจโดยชอบแล้ว


ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลไม่มีหน้าที่ตรวจสอบการใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวของผู้พิพากษาในศาล


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 657/2548

ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ประกันตัวโดยตีราคาประกัน 100,000 บาท เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกจำเลยที่ 1 ไม่มาศาล โดยผู้ประกันอ้างว่า จำเลยที่ 1 ถูกกลุ่มบุคคลจับตัวไปจากบ้านพัก ศาลชั้นต้นไม่เชื่อข้ออ้างของผู้ประกัน ได้ออกหมายจับและปรับนายประกัน ผู้ประกันยื่นคำร้องขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ประกันผ่อนชำระค่าปรับเดือนละไม่น้อยกว่า 2,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ดังนี้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8944/2547

ป.วิ.อ. มาตรา 119 บัญญัติว่า ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด ดังนั้น ผู้ประกันซึ่งผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยตามกำหนดวันนัดของศาลฎีกาคัดค้านคำพิพากษาอุทธรณ์ภาค 2 เกี่ยวกับค่าปรับตามสัญญาประกันอีกไม่ได้ เพราะคดีถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9029/2547

การขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกันนั้นต้องประกอบด้วยผู้ มีประโยชน์เกี่ยวข้องได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวประการหนึ่ง กับผู้ร้องขอประกันได้จัดหาหลักประกันมาอีกประการหนึ่งตามบทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 106, 112, และมาตรา 114


จำเลยเป็นผู้ยื่นคำร้องขอประกันและเป็นผู้ทำสัญญาประกันตัว ป. ผู้ต้องหาในคดีความผิดต่อ พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ จากโจทก์ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดหาหลักประกันมาตามมาตรา 114 เมื่อไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าหลักประกันนั้นจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ ประกันแต่ผู้เดียว การที่จำเลยจัดหาหลักประกันเป็นที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของห้างหุ้น ส่วน ส. และห้างหุ้นส่วนดังกล่าวยินยอมให้นำโฉนดที่ดินมาวางต่อโจทก์ในการขอปล่อย ป. ผู้ต้องหาชั่วคราว โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้รับโฉนดที่ดินไปดำเนินการแทนนั้น หาได้แปลว่า จำเลยยื่นคำร้องขอประกันและทำสัญญาประกันตัว ป. ผู้ต้องหาคดีดังกล่าวในฐานะที่จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของห้างหุ้นส่วน ส. แต่อย่างใดไม่ แต่แสดงว่าจำเลยมีเจตนาเข้าทำสัญญาประกันตัว ป.ผู้ต้องหาในนามของจำเลยเองด้วย หากจำเลยเป็นแต่เพียงผู้รับมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วน ส. ให้มาประกันตัวผู้ต้องหาจริงแล้ว จำเลยก็ควรระบุไว้ในคำร้องขอประกันและสัญญาประกันด้วยว่า ทำแทนหรือเป็นตัวแทนของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว ดังนั้น สัญญาประกันจึงมีผลผูกพันจำเลยในฐานะคู่สัญญา


การที่จำเลยไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัดในวันที่ 27 ธันวาคม 2539 ย่อมทำให้จำเลยตกเป็นผู้ผิดสัญญาประกัน โจทก์ชอบที่จะบังคับตามสัญญาประกันได้โดยมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินตาม จำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาประกันซึ่งมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ แต่การชำระหนี้ดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้แก่กันไว้ โจทก์ชอบที่จะบอกกล่าวกำหนดเวลาให้ชำระหนี้ก่อน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้นั้น ย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดนับแต่เมื่อนั้น กรณีมิใช่เป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระในวันเดียวกับวันที่จำเลยไม่ส่งตัวผู้ ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด อันจะทำให้จำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ส่งตัว ป. ผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนเพียงแต่มีบันทึกลงไว้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานว่า จะได้ดำเนินการเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย ต่อไปเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าหลังจากจำเลยผิดนัดไม่ส่งตัวผู้ต้องหาแล้ว โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยให้ชำระเงินตามสัญญาประกัน จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยผิดนัดตั้งแต่ วันที่ 27 ธันวาคม 2539 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้อันเป็นการเรียกให้ชำระหนี้เงินแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2547

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 136 ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวและทำสัญญาประกันขณะผู้ ต้องหายังอยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวนคือพนักงานสอบสวนโดยตำแหน่ง มิใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาประกันย่อมเป็นการผิดสัญญาต่อพนักงานสอบสวนโดยตรง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาประกันที่ทำไว้ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดี จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ตามวันเวลาที่กำหนดไว้ทั้งสองนัด โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอผ่อนผันแต่อย่างใด ทั้งเมื่อโจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 2 ส่งตัวผู้ต้องหาอีก 3 ครั้ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับโดยชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังคงเพิกเฉยเช่นเดิม ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า หลังจากทราบเรื่องแล้วได้พยายามติดตามตัวผู้ต้องหา จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นจากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้ความสนใจหรือใส่ใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาประกันแต่อย่างใด จนคดีของผู้ต้องหาขาดอายุความทำให้โจทก์ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมา ฟ้องให้รับโทษตามกฎหมาย ทำให้โจทก์และผู้เสียหายในคดีดังกล่าวได้รับความเสียหาย ชอบที่จำเลยที่ 2 ในฐานะนายประกันจะต้องรับผิดชอบคือถูกปรับตามสัญญาประกัน แต่ความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรง ประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่ใช่นายประกันอาชีพ จึงมีเหตุสมควรที่จะลดค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 2 ลงบ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9208 - 9209/2547

การปล่อยชั่วคราวของพนักงานสอบสวนนั้น สามารถให้ปล่อยชั่วคราวได้สูงสุดเพียง 6 เดือน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 113 วรรคหนึ่ง เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาเป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนไม่อาจควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อไปได้ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องมาขอปล่อยผู้ต้องหาด้วยการนำโฉนดที่ดินมาให้ จำเลยยึดถือไว้อีก จำเลยจึงต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3304/2547

การที่จำเลยมิได้ส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัดย่อมทำให้จำเลยตกเป็นผู้ผิดสัญญาประกัน โจทก์ชอบที่จะบังคับตามสัญญาประกันได้โดยมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินตาม จำนวนที่ตีราคาประกันไว้ในสัญญาประกันซึ่งมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ แต่การชำระหนี้ดังกล่าวมิได้กำหนดระยะเวลาอันพึงจะชำระแก่กันไว้ โจทก์ชอบที่จะบอกกล่าวกำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้ก่อน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้นั้นย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดนับแต่เมื่อนั้น กรณีมิใช่หนี้ที่กำหนดระยะเวลาชำระวันเดียวกับวันที่จำเลยไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่โจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7930/2544

แม้พนักงานสอบสวนจะไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล แต่ก็เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งโดยตำแหน่งหน้าที่ราชการอันกฎหมายกำหนดไว้ให้มี อำนาจทำสัญญาประกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106 และ มาตรา 113 ฉะนั้น จึงย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องขอให้บังคับตามสัญญาประกันในฐานะเจ้าพนักงานตาม อำนาจแห่งหน้าที่โดยชื่อตำแหน่งหน้าที่ของตน ดังนี้ เมื่อจำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากการควบคุมตัวของพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ. ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 112และจำเลยผิดสัญญาประกันดังกล่าว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร บ. ย่อมมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยตามสัญญาประกันได้ กรมตำรวจไม่ใช่พนักงานสอบสวนและมิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลย จะฟ้องเองหรือมอบอำนาจให้ฟ้องหาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4883/2543

เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญาประกัน ผู้ประกันได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 ขอให้ลดค่าปรับ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยแล้ว พิพากษาให้ลดค่าปรับผู้ประกัน ดังนั้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8จึงถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ผู้ประกันจึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ได้ แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาไว้ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8223/2542

ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง และการที่ผู้ประกันไปยื่นคำขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) และขอยกเลิกตามเอกสารหมาย ร.4ถึง ร.6 แล้ว จากนั้นกลับมีใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เอกสารหมาย ร.7 โดยที่เจ้าพนักงานที่ดินได้ออกใบแทนดังกล่าวตามเอกสารหมายร.7 และมิได้มีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทไปเป็นของผู้ประกันแล้ว ผู้ประกันไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทไม่อาจนำมาใช้เป็นหลักประกันในการทำสัญญา ประกันตัวจำเลยได้การที่ผู้ประกันนำทรัพย์ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมา เป็นหลักประกันในการประกันตัวจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ การบังคับคดีรายนี้จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ภาค 4 ลักษณะ 2 ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ประกอบด้วยป.วิ.อ.มาตรา 15 ศาลย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบนั้นเสียได้เพื่อให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ.มาตรา 27 และ296 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 15 การขายทอดตลาดรายนี้เป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้ซื้อทรัพย์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ.มาตรา 1330


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 751/2542

การที่ผู้ประกันหลายคนยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยผู้ประกันทุกคนรวมกันมายื่น ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวก็เพราะเห็นว่าหากผู้ประกันผิดสัญญาประกันหลักทรัพย์และหลักประกันด้วยบุคคลรวมกันแล้วเป็นเงินจำนวนเพียง พอที่จะบังคับเอาชำระหนี้ได้ตามสัญญาประกัน มิได้แยกให้ผู้ประกันแต่ละคนรับผิดภายในวงเงินที่ระบุราคาทรัพย์หรือราคาประกันเท่านั้น เป็นกรณีที่ผู้ประกันทุกคนร่วมกันยื่นขอปล่อยจำเลยชั่วคราว และศาลชั้นต้นตีราคาประกันของผู้ประกันทุกคนรวมกันในวงเงินที่อนุญาตให้ ปล่อยชั่วคราว ทั้งในสัญญาประกันก็มีข้อความระบุให้ศาลมีอำนาจบังคับผู้ประกันให้ใช้เบี้ยปรับเต็มตามจำนวนในสัญญาประกัน ผู้ประกันทุกคนจึงต้องร่วมกันรับผิดตามจำนวนในสัญญาประกันอย่างลูกหนี้ร่วม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7437/2541

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 136 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการที่จะปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาโดยมี ประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ และมาตรา 106(1)บัญญัติว่า คำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวเมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี ดังนั้น ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มี อำนาจปล่อยชั่วคราวและทำสัญญาประกันในกรณีที่ผู้ต้องหายังอยู่ในอำนาจควบคุม ของพนักงานสอบสวนคือพนักงานสอบสวนมิใช่กรมตำรวจ เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกันย่อมเป็นการผิดสัญญาต่อพนักงานสอบสวนโดยตรง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันได้ ทั้งอำนาจในการปล่อยชั่วคราวและทำสัญญาประกัน กฎหมายมอบให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน มิได้มอบอำนาจให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นการส่วนตัว เงินค่าปรับตามสัญญาประกันจึงต้องเป็นไปตามระเบียบของทางราชการมิได้ตกเป็น เงินส่วนตัวของร้อยตำรวจเอกป. การที่ร้อยตำรวจเอกป. ไม่อาจนำเงินดังกล่าวไปใช้ส่วนตัวได้มิได้แสดงว่าร้อยตำรวจเอกป.ในฐานะ พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจฟ้องผู้ผิดสัญญาประกันโจทก์ในฐานะพนักงานสอบสวนจึง มีอำนาจฟ้องชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3319/2538

พันตำรวจโท ธ. เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยฐาน ผิดสัญญาประกันและเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจเดียวกันกับพันตำรวจโท ป. ผู้รับสัญญาประกัน ต่างปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ พนักงานสอบสวนด้วยกันไม่ใช่ ทำแทนกันจึงมี อำนาจฟ้องคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 107/2537

แม้คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว จำเลยที่ 4 จะไม่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ วรรคสาม ตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกาก็ตาม แต่คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า การปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 อาจก่อให้เกิดภัยอันตรายแก่พยานและเกิดความเสียหายแก่การดำเนินกระบวน พิจารณาของศาล ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่พิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยไม่เกิดความเสียหายแก่คดีในระหว่าง พิจารณาจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนกรณีจึงต้อง ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา 196 ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 มาจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ไม่มีผลให้จำเลยที่ 4 มีสิทธิฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3545/2537

เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้ทำสัญญาประกัน ส. ผู้ต้องหาต่อโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน ได้ยื่นหนังสือมีข้อความว่าขอถอนหลักทรัพย์อันเป็นหลักประกันเพื่อนำไปขาย ให้ผู้อื่น และจำเลยได้มอบตัว ส.ผู้ต้องหาคืนต่อโจทก์พร้อมทั้งนำหลักทรัพย์ของ อ.และพาตัวอ.มาทำสัญญาประกัน ส. ผู้ต้องหาฉบับใหม่ต่อโจทก์ด้วย โดยสัญญาระบุชื่อ อ. เป็นผู้ประกันแต่ผู้เดียว กรณีจึงมิใช่เรื่องจำเลยขอเปลี่ยนหลักประกัน แต่เป็นเรื่องขอถอนสัญญาประกันหรือขอถอนหลักประกัน เมื่อจำเลยมอบตัวต่อ ส. ผู้ต้องหาคืนต่อโจทก์แล้วเช่นนี้ ความรับผิดของจำเลยตามสัญญาประกันที่จำเลยทำต่อโจทก์ดังกล่าว ย่อมหมดไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 116


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 107/2537

แม้คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราว จำเลยที่ 4 จะไม่ถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ทวิ วรรคสาม ตามที่จำเลยที่ 4 ฎีกาก็ตาม แต่คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่า การปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 อาจก่อให้เกิดภัยอันตรายแก่พยานและเกิดความเสียหายแก่การดำเนินกระบวน พิจารณาของศาล ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่พิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์แห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยไม่เกิดความเสียหายแก่คดีในระหว่าง พิจารณาจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวนกรณีจึงต้อง ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา 196 ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 4 มาจึงเป็นการไม่ถูกต้องไม่มีผลให้จำเลยที่ 4 มีสิทธิฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 703/2537

จำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหากับพนักงานสอบสวนโดยมีว. พนักงานสอบสวนเป็นผู้รับสัญญาเป็นตัวแทนคู่สัญญากับจำเลยเมื่อจำเลยผิดสัญญา ประกัน ช. สารวัตรใหญ่ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยตามสัญญาประกันได้ จำเลยได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไปจากการควบคุมของโจทก์และสัญญาว่าจะส่ง ตัวผู้ต้องหาให้โจทก์ตามกำหนดนั้น แม้ต่อมาผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ในคดีนั้นซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวก็หาเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายประกันพ้นความรับผิดตามสัญญาประกันไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2011/2530

ผู้ประกันไม่ส่งตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพราะจำเลยหลบหนี ศาลชั้นต้นจึงปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญาประกันแม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม ศาลชั้นต้นให้ปล่อยตัวจำเลยก็มิใช่เหตุที่ทำให้ผู้ประกันไม่ต้องรับผิดตาม สัญญาประกันเพราะความรับผิดตามสัญญาประกันเกิดจากการผิดสัญญาประกัน เมื่อผู้ประกันผิดสัญญาประกันก็หาพ้นความรับผิดไม่ ส่วนผลของคำพิพากษาเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งไม่ช่วยให้ผู้ประกันพ้นความรับผิดตามสัญญาประกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2223/2528

ขณะทำสัญญาประกัน ร้อยตำรวจเอก อ.รับราชการเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอตาคลีได้ลงชื่อในสัญญา ประกันในฐานะเป็นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอตาคลี ไม่ได้เป็นคู่สัญญาโดยตรงเป็นส่วนตัวแต่ขณะยื่นฟ้องร้อยตำรวจเอก อ.ได้ย้ายไปรับราชการที่อื่น มิได้เป็นพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอตาคลี ร้อยตำรวจเอกอ. จึงไม่มีสิทธิลงชื่อในฐานะพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอตาคลี ฟ้องจำเลยได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2518

โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีอาญา ฟ้องผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเป็นจำเลยโดยกล่าวหาว่าจำเลยแกล้งหน่วงเหนี่ยวกัก ขังโจทก์ โดยข่มขืนใจให้ ส.แก้ราคาหลักทรัพย์ของ ย.ผู้ขอประกันตัวโจทก์จากราคา 120,000 บาท ให้เหลือเพียง 60,000 บาทจนไม่พอประกัน กับแกล้งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาทุจริตไม่ยอมตีราคาหลักทรัพย์ของ ผู้ขอประกันเมื่อ 9 นาฬิกา จนเมื่อเวลาศาลจะปิดทำการแล้วจึงแจ้งแก่โจทก์ว่าหลักทรัพย์ไม่พอ ทำให้โจทก์ไม่มีโอกาสไปหาหลักทรัพย์มาเพิ่มได้ทันทำให้โจทก์ถูกขังต่อมา แต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่จำเลยผู้ทำหน้าที่ ศาลได้ตรวจดูหลักประกันตามบัญชีทรัพย์ที่ผู้ขอประกันยื่นมานั้นว่าจะเชื่อ ถือได้เพียงใดหรือไม่แล้วเห็นว่าตีราคาสูงกว่าราคาที่แท้จริงมากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ศาลเห็นว่าผู้ประกันไม่ควรตีราคาหลักประกันให้สูงผิดความ จริงไปมากอันจะทำให้ศาลสิ้นความเชื่อ ถือจึงได้ให้แก้ไขเสียให้ใกล้เคียงกับราคาจริง หากจะต้องเสียเวลาไปบ้างก็เป็นการกระทำที่อยู่ในการใช้ดุลยพินิจภายในขอบ อำนาจของผู้พิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา และเมื่อข้อเท็จตามคำบรรยายฟ้องก็ไม่มีข้อที่จะแสดงว่าจำเลยกระทำไปเพื่อ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ชอบด้วย กฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นแต่อย่างใด ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยแกล้งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาทุจริตดังที่ โจทก์กล่าวอ้างในฟ้อง การกระทำของจำเลยดังที่โจทก์ฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 310 ที่โจทก์ขอให้ลงโทษที่ศาลยกฟ้องโดยไม่ไต่สวนมูลฟ้องจึงชอบแล้ว


ฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยข่มขืนใจให้ ส.แก้ราคาหลักทรัพย์ในบัญชีทรัพย์ที่ ย.ยื่นขอประกันจำเลย บัญชีทรัพย์นี้จึงเป็นเอกสารซึ่งผู้ขอประกันทำยื่นต่อศาลหาใช่เอกสารซึ่ง จำเลยมีหน้าที่ทำไม่ และจำเลยมิได้รับรองเป็นหลักฐานหรือละเว้นไม่จดข้อความอันใดลงในเอกสารนั้น จึงไม่มีมูลเป็นความผิดตามมาตรา 161 และ 162


คำสั่งคำร้องที่ 649/2517

ผู้ทำสัญญาประกันตัวจำเลยในคดีอาญา จะขอให้ศาลออกหมายจับและหมายค้นเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจจับตัวจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยมีเจตนาหลบหนีหาได้ไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ผู้ทำสัญญาประกันอาจจัดการได้เองตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 117 อยู่แล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2502

ข้อความในวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียนของสำนักงานจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลมีว่า "รับประกันผู้ต้องหาชั้นสอบสวนและประกันจำเลยชั้นศาลและประกันตัวบุคคลตาม กฎหมายบัญญัติไว้"นั้นคำว่า "ประกันตัวบุคคลตามกฎหมายบัญญัติไว้"ย่อมหมายความว่าเป็นการประกันตามที่มี กฎหมายบัญญัติให้ประกันได้เมื่อกรณีที่โจทก์ฟ้องเป็นการที่จำเลยเข้าค้ำ ประกันตัวบุคคลในการที่จะไปก่อความเสียหายให้กับโจทก์กล่าวคือเป็นการประกัน หนี้ในอนาคตที่บุคคลนั้นอาจไปก่อขึ้นซึ่งมี ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคสอง บัญญัติไว้ให้ประกันได้ จำเลยก็ต้องรับผิดในฐานที่ได้เข้าเป็นผู้ค้ำประกันตามนั้น