การพิจารณาคดีอาญา

มาตรา ๑๗๒ การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น


เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดำเนินการพิจารณาต่อไป


ในการสืบพยาน เมื่อได้พิเคราะห์ถึงเพศ อายุ ฐานะ สุขภาพอนามัย ภาวะแห่งจิตของพยานหรือความเกรงกลัวที่พยานมีต่อจำเลยแล้ว จะดำเนินการโดยไม่ให้พยานเผชิญหน้าโดยตรงกับจำเลยก็ได้ซึ่งอาจกระทำโดยการใช้โทรทัศน์วงจรปิด สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีอื่นตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา และจะให้สอบถามผ่านนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรือบุคคลอื่นที่พยานไว้วางใจด้วยก็ได้


ในการสืบพยาน ให้มีการบันทึกคำเบิกความพยานโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุ ซึ่งสามารถถ่ายทอดออกเป็นภาพและเสียงซึ่งสามารถตรวจสอบถึงความถูกต้องของการบันทึกได้ และให้ศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาใช้การบันทึกดังกล่าวประกอบการพิจารณาคดีด้วย  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา[๑๐๔]


ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาตามวรรคสามและวรรคสี่ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


มาตรา ๑๗๒ ทวิ  ภายหลังที่ศาลได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๗๒ วรรค ๒ แล้ว เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร เพื่อให้การดำเนินการพิจารณาเป็นไปโดยไม่ชักช้า ศาลมีอำนาจพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยได้ในกรณี ดังต่อไปนี้


(๑) ในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินสิบปี จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม หรือในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อจำเลยมีทนายและจำเลยได้รับอนุญาตจากศาลที่จะไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยาน


(๒) ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลพอใจตามคำแถลงของโจทก์ว่า การพิจารณาและการสืบพยานตามที่โจทก์ขอให้กระทำไม่เกี่ยวแก่จำเลยคนใด ศาลจะพิจารณาและสืบพยานลับหลังจำเลยคนนั้นก็ได้


(๓) ในคดีที่มีจำเลยหลายคน ถ้าศาลเห็นสมควรจะพิจารณาและสืบพยานจำเลยคนหนึ่ง ๆ ลับหลังจำเลยคนอื่นก็ได้


ในคดีที่ศาลพิจารณาและสืบพยานตาม (๒) หรือ (๓) ลับหลังจำเลยคนใด ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ห้ามมิให้ศาลรับฟังการพิจารณา และการสืบพยาน ที่กระทำลับหลังนั้นเป็นผลเสียหายแก่จำเลยคนนั้น


มาตรา ๑๗๒ ตรี  เว้นแต่ในกรณีที่จำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน ในการสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้ศาลจัดให้พยานอยู่ในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และศาลอาจปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้


(๑) ศาลเป็นผู้ถามพยานเอง โดยแจ้งให้พยานนั้นทราบประเด็นและข้อเท็จจริงซึ่งต้องการสืบแล้วให้พยานเบิกความในข้อนั้น ๆ หรือศาลจะถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ก็ได้

(๒) ให้คู่ความถาม ถามค้าน หรือถามติงผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์


ในการเบิกความของพยานดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงไปยังห้องพิจารณาด้วย และเป็นหน้าที่ของศาลที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ทราบ


ก่อนการสืบพยานตามวรรคหนึ่ง ถ้าศาลเห็นสมควรหรือถ้าพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีหรือคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอโดยมีเหตุผลอันสมควรซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าจะเป็นผลร้ายแก่เด็กถ้าไม่อนุญาตตามที่ร้องขอ ให้ศาลจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีที่ได้บันทึกไว้ในชั้นสอบสวนตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ หรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง ต่อหน้าคู่ความและในกรณีเช่นนี้ให้ถือสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล โดยให้คู่ความถามพยานเพิ่มเติม ถามค้านหรือถามติงพยานได้  ทั้งนี้ เท่าที่จำเป็นและภายในขอบเขตที่ศาลเห็นสมควร


ในกรณีที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความตามวรรคหนึ่งเพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานนั้นในชั้นสอบสวนตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ หรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา ๑๗๑ วรรคสอง เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาล และให้ศาลรับฟังประกอบพยานอื่นในการพิจารณาพิพากษาคดีได้


มาตรา ๑๗๒ จัตวา ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสืบพยานนอกศาลในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี


มาตรา ๑๗๓ ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้


ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้


ให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรานี้ โดยคำนึงถึงสภาพแห่งคดีและสภาวะทางเศรษฐกิจ  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง


มาตรา ๑๗๓/๑  เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรมในคดีที่จำเลยไม่ให้การหรือให้การปฏิเสธ เมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอหรือศาลเห็นสมควรศาลอาจกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานก็ได้ โดยแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน


ก่อนวันตรวจพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่งไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานต่อศาลพร้อมสำเนาในจำนวนที่เพียงพอ เพื่อให้คู่ความฝ่ายอื่นรับไปจากเจ้าพนักงานศาลและถ้าคู่ความฝ่ายใดมีความจำนงจะยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม ให้ยื่นต่อศาลก่อนการตรวจพยานหลักฐานเสร็จสิ้น


การยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาตามวรรคสองจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อผู้ร้องขอแสดงเหตุอันสมควรว่าไม่สามารถทราบถึงพยานหลักฐานนั้นหรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม หรือเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่


ถ้าพยานเอกสารหรือพยานวัตถุใดอยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอก ให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างอิงขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุดังกล่าวมาจากผู้ครอบครองโดยยื่นคำขอต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน เพื่อให้ได้พยานเอกสารหรือพยานวัตถุนั้นมาก่อนวันตรวจพยานหลักฐานหรือวันที่ศาลกำหนด


มาตรา ๑๗๓/๒ ในวันตรวจพยานหลักฐาน ให้คู่ความส่งพยานเอกสารและพยานวัตถุที่ยังอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลเพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตรวจสอบ เว้นแต่ศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นอันเนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานนั้นเอง หรือพยานหลักฐานนั้นเป็นบันทึกคำให้การของพยาน หลังจากนั้นให้คู่ความแต่ละฝ่ายแถลงแนวทางการเสนอพยานหลักฐานต่อศาล และให้ศาลสอบถามคู่ความถึงความเกี่ยวข้องกับประเด็นและความจำเป็นที่ต้องสืบพยานหลักฐานที่อ้างอิงตลอดจนการยอมรับพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่ง เสร็จแล้วให้ศาลกำหนดวันสืบพยาน และแจ้งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่โจทก์ไม่มาศาลในวันตรวจพยานหลักฐานให้นำบทบัญญัติมาตรา ๑๖๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม


ในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อศาลเห็นสมควรหรือคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดร้องขอ ศาลจะมีคำสั่งให้สืบพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับประเด็นสำคัญในคดีไว้ล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดวันนัดสืบพยานก็ได้


มาตรา ๑๗๔  ก่อนนำพยานเข้าสืบ โจทก์มีอำนาจเปิดคดีเพื่อให้ศาลทราบคดีโจทก์ คือแถลงถึงลักษณะของฟ้อง อีกทั้งพยานหลักฐานที่จะนำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยเสร็จแล้วให้โจทก์นำพยานเข้าสืบ


เมื่อสืบพยานโจทก์แล้ว จำเลยมีอำนาจเปิดคดีเพื่อให้ศาลทราบคดีจำเลย โดยแถลงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายซึ่งตั้งใจอ้างอิง ทั้งแสดงพยานหลักฐานที่จะนำสืบ เสร็จแล้วให้จำเลยนำพยานเข้าสืบ


เมื่อสืบพยานจำเลยเสร็จแล้ว โจทก์และจำเลยมีอำนาจแถลงปิดคดีของตนด้วยปากหรือหนังสือหรือทั้งสองอย่าง

ในระหว่างพิจารณา ถ้าศาลเห็นว่าไม่จำเป็นต้องสืบพยานหรือทำการอะไรอีกจะสั่งงดพยานหรือการนั้นเสียก็ได้


มาตรา ๑๗๕  เมื่อโจทก์สืบพยานเสร็จแล้ว ถ้าเห็นสมควรศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้


มาตรา ๑๗๖ ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง

ในคดีที่มีจำเลยหลายคน และจำเลยบางคนรับสารภาพ เมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดี สำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้น เป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้


มาตรา ๑๗๗  ศาลมีอำนาจสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ เมื่อเห็นสมควรโดยพลการหรือโดยคำร้องขอของคู่ความฝ่ายใด แต่ต้องเพื่อประโยชน์แห่งความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันความลับอันเกี่ยวกับความปลอดภัยของประเทศมิให้ล่วงรู้ถึงประชาชน


มาตรา ๑๗๘  เมื่อมีการพิจารณาเป็นการลับ บุคคลเหล่านี้เท่านั้นมีสิทธิอยู่ในห้องพิจารณาได้ คือ

(๑) โจทก์และทนาย

(๒) จำเลยและทนาย

(๓) ผู้ควบคุมตัวจำเลย

(๔) พยานและผู้ชำนาญการพิเศษ

(๕) ล่าม

(๖) บุคคลผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องและได้รับอนุญาตจากศาล

(๗) พนักงานศาลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแก่ศาลแล้วแต่จะเห็นสมควร


มาตรา ๑๗๙  ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ศาลจะดำเนินการพิจารณาตลอดไปจนเสร็จโดยไม่เลื่อนก็ได้


ถ้าพยานไม่มา หรือมีเหตุอื่นอันควรต้องเลื่อนการพิจารณา ก็ให้ศาลเลื่อนคดีไปตามที่เห็นสมควร


มาตรา ๑๘๐  ให้นำบทบัญญัติเรื่องรักษาความเรียบร้อยในศาลในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาบังคับแก่การพิจารณาคดีอาญาโดยอนุโลม แต่ห้ามมิให้สั่งให้จำเลยออกจากห้องพิจารณา เว้นแต่จำเลยขัดขวางการพิจารณา


มาตรา ๑๘๑  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๙ และ ๑๖๖ มาบังคับแก่การพิจารณาโดยอนุโลม


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1045/2564

การนำสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ไม่จำต้องได้ความชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยดังเช่นในคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ โจทก์เพียงแต่นำสืบให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงก็เป็นการเพียงพอแล้วที่ศาลจะลงโทษจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2563

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรและบรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์มาแล้ว 6 คดี หลังจากพ้นโทษทั้งหกคดีแล้ว จำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาสิบปีนับแต่จำเลยพ้นโทษ ซึ่งเป็นความผิดที่ระบุไว้ ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) เมื่อความผิดที่โจทก์ฟ้องมิใช่ข้อหาในความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น จึงไม่อยู่ในบังคับที่ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์และรับว่าเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษตามฟ้องจริง โจทก์จึงไม่ต้องนำพยานเข้าสืบ และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพดังกล่าวได้ ทั้งเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดคดีนี้ กับเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษในคดีอื่นๆ อีก 6 คดี ซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำคุกไม่ต่ำกว่าหกเดือนในความผิดฐานลักทรัพย์และจำเลยกระทำผิดในขณะที่มีอายุเกินกว่าสิบแปดปี จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้ว ภายในเวลาสิบปีจำเลยมากระทำผิดคดีนี้ฐานลักทรัพย์ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนอีก จึงเข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะนำมาพิจารณากักกันจำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 41 (8) ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6442/2562

แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจที่จะนำข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลย แต่ไม่อาจนำมารับฟังในฐานะพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำของจำเลยที่ถูกฟ้องด้วยไม่ โดยหากเห็นว่าการกระทำของจำเลยตามรายงานการสืบเสาะและพินิจขัดแย้งกับคำฟ้องของโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลย ก็ชอบแต่จะให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมให้ชัดแจ้ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2562

แม้ศาลชั้นต้นนำแบบพิมพ์คำให้การจำเลย (คดีรับสารภาพไม่ต้องสืบพยาน) มาใช้ แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาที่อยู่ด้านหลังแบบพิมพ์ ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจำเลยแถลงไม่สืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณาให้รอฟังคำพิพากษาวันนี้ โดยโจทก์จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าการที่จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จะต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240 โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานโจทก์ต่อไป เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ศาลฟังลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้ว คดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240 จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4452/2562

ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย ซึ่งคำว่า "กำหนดนัด" ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องตามมาตรา 166 ประการหนึ่ง กำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานตามมาตรา 166 ประกอบมาตรา 173/2 วรรคหนึ่ง ประการหนึ่ง และกำหนดนัดพิจารณาตามมาตรา 166 ประกอบมาตรา 181 อีกประการหนึ่ง ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากประทับฟ้องแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้หมายเรียกจำเลยมาให้การในวันนัดพร้อม โดยมิได้กำหนดชัดแจ้งว่า นอกจากการสอบคำให้การจำเลยแล้ว จะดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นใดอีก จึงเป็นเพียงการนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมดังกล่าว ซึ่งมิใช่วันนัดตรวจพยานหลักฐานหรือนัดพิจารณาหรือนัดสืบพยานโจทก์ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นจะยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 173/2 วรรคหนึ่ง หรือมาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ให้ยกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องโดยอาศัยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาหลังจากมีคำสั่งดังกล่าวนั้น จึงเป็นการไม่ชอบ โจทก์ย่อมไม่อยู่ในบังคับที่จะขอให้พิจารณาคดีใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบมาตรา 181 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่แล้วมีคำสั่งตามรูปคดีต่อไปนั้นจึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2562

โจทก์บรรยายฟ้องว่า ก่อนคดีนี้จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิดเป็นคดีนี้ภายในเวลาห้าปี นับแต่วันพ้นโทษ ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 92 โดยโจทก์แนบรายการประวัติอาชญากรของจำเลยมากับคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงมีรายละเอียดเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจได้ดี เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมถือได้ว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดจริงและหมายความรวมถึงรับข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยต้องโทษและพ้นโทษในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษด้วย การสอบถามคำให้การจำเลยจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยให้ลงโทษจำเลยและเพิ่มโทษจำเลยจึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบ ส่วนที่ศาลชั้นต้นคำนวณจำนวนวันและเดือนเพิ่มโทษจำเลยน้อยกว่าความเป็นจริงและไม่ถูกต้องเป็นเรื่องความผิดพลาดในการคำนวณโทษ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่แก้ไขโทษที่ศาลชั้นต้นคำนวณโทษที่เพิ่มผิดพลาด กลับพิพากษาไม่เพิ่มโทษจำเลยโดยยกคำร้องขอเพิ่มโทษ เมื่อโจทก์ฎีกาขอให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบถามคำให้การจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้ไม่ได้ขอให้ศาลฎีกาเพิ่มโทษจำเลยโดยตรงก็ตาม แต่เห็นได้ว่าฎีกาโจทก์ประสงค์ให้เพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั่นเอง จึงแปลได้ว่าโจทก์ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษแก่จำเลยแล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาแก้ไขเพิ่มโทษจำเลยให้ถูกต้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4796/2561

เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 233/2554 ของศาลชั้นต้น แต่ น. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลยที่ 2 และพิพากษาลงโทษ น. ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง และรถจักรยานยนต์ของกลาง ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีเดียวกันกับคดีดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อ น. ในเรื่องซื้อขายเมทแอมเฟตามีนและให้ น. นำรถจักรยานยนต์ไปติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยและรถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบได้ แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์ดังกล่าวตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 233/2554 แต่เมื่อฟังไม่ได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ จะต้องคืนแก่เจ้าของ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และมีอำนาจสั่งคืนแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9), 215 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 549/2561

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงคดีที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษและมีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 92 แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบคำให้การจำเลยที่ 1 ว่า เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ แต่โจทก์ได้อ้างส่งบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การว่า เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ และพ้นโทษเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 และจำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงว่า จำเลยที่ 1 พ้นโทษออกจากเรือนจำกลางสุรินทร์ในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ต่อมาอีก 27 วัน ก็ถูกจับกุมคดีนี้ อันสอดคล้องกับบันทึกคำให้การดังกล่าว และได้ความตรงกับคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษตามฟ้องว่า จำเลยเคยต้องโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ของศาลชั้นต้นจริง เมื่อพ้นโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ถือว่าโจทก์ได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงนั้นแล้ว จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามคำขอของโจทก์ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7590/2560

ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) (8) วรรคสอง (เดิม) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท เมื่อความผิดในมาตราดังกล่าวไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย และศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อน หากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ก็คงลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ดังนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นย่อมฟังว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) (8) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ตามฟ้องได้ โดยไม่ต้องนำสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นการไม่ถูกต้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7826/2560

บ. ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าที่ขนำที่เกิดเหตุมักจะมีวัยรุ่นมั่วสุมต้มและเสพน้ำต้มพืชกระท่อมเป็นประจำ บ. กับพวกรวม 6 คน จึงนำกำลังไปยังที่เกิดเหตุ พบจำเลยนั่งอยู่ปลายเตียงกำลังต้มใบพืชกระท่อมจึงได้ทำการตรวจค้น พบกระเป๋าสะพาย 1 ใบ วางอยู่บนชั้นวางของในขนำข้างประตูภายในมีอาวุธปืนพกลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ไม่มีหมายเลขทะเบียน และกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 3 นัด การที่พบจำเลยอยู่ในขนำที่เกิดเหตุเพียงคนเดียวและตรวจพบอาวุธปืนของกลางดังกล่าวอาจจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยอาจจะมีส่วนร่วมหรือเป็นข้อพิรุธสงสัยที่แสดงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดแต่ก็ไม่อาจรับฟังยืนยันเชิงตรรกะว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้นจริง ในคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดตามข้อกล่าวอ้าง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 แต่พยานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีอาวุธปืนและลูกกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7493/2560

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย ซึ่งคำว่า "กำหนดนัด" ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง กำหนดนัดไต่สวนหรือกำหนดนัดพิจารณา แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ไม่มาศาลในวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ ซึ่งมิใช่วันนัดพิจารณาคดี กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181 ที่ศาลจะยกฟ้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6747/2560

ขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 เป็นรองหัวหน้าพรรค ป. และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีโจทก์ที่ 2 เป็นภริยา ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรค พ. ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในขณะนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตรวจสอบพบว่า บริษัท ก. มีหลักเกณฑ์การปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสารอยู่ 2 หลักเกณฑ์ คือ กรณีที่หนึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดไว้ และอีกกรณีหนึ่งเป็นกรณีนอกหลักเกณฑ์ที่บริษัทฯ กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษว่าพนักงานระดับใดมีอำนาจอนุมัติและจะอนุมัติได้ในกรณีใดบ้าง จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตรวจสอบหลักฐานการเดินทางของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวรวม 14 เที่ยวบิน มีการปรับระดับชั้นที่นั่งบัตรโดยสารของโจทก์ที่ 2 โดยใช้สิทธิบัตรทองอาร์โอพีคลับโกลด์ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในกรณีที่หนึ่งเพียงรายการเดียว รายการอื่นๆ นอกนั้นล้วนเป็นการปรับชั้นที่นั่งให้สูงขึ้นแบบนอกหลักเกณฑ์ โดยบางรายการมีการระบุผู้อนุมัติพร้อมเหตุผล แต่อีกหลายรายการระบุเพียงตัวผู้อนุมัติเท่านั้น แต่มิได้ระบุเหตุผล บางรายการอนุมัติด้วยวาจา บางรายการมิได้ระบุว่าอนุมัติด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร พฤติการณ์แห่งคดีจึงมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า การอนุมัติปรับชั้นที่นั่งให้สูงขึ้นแก่โจทก์ทั้งสองและครอบครัวดำเนินการโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ หรือไม่ บริษัท ก. มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ การเลือกกรรมการบริษัทฯ กระทำโดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นผู้ลงคะแนนเลือก โดยก่อนที่จะนำรายชื่อของคณะกรรมการให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงคะแนนนั้น จะต้องมีการเสนอรายชื่อดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลังพิจารณาก่อน โดยสถานะและตำแหน่งกับอำนาจหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าว เมื่อพิจารณาประกอบอัตราค่าโดยสารในแต่ละชั้นที่นั่ง เช่น สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพมหานครไปกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ บัตรโดยสารชั้นประหยัดราคา 34,745 บาท ชั้นธุรกิจ ราคา 150,765 บาท และชั้นหนึ่ง ราคา 228,200 บาท ประโยชน์ที่โจทก์ทั้งสองกับครอบครัวได้รับจากการปรับระดับชั้นที่นั่งโดยสารให้สูงขึ้นรวม 14 เที่ยวบิน จึงอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้มิใช่จำนวนเล็กน้อย แม้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ที่ 1 ใช้อภิสิทธิ์ใดๆ ในการเลื่อนชั้นบัตรที่นั่งโดยสารก็ตาม แต่โจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีหน้าที่ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมที่จะต้องดูแลผลประโยชน์ของแผ่นดิน แม้พนักงานผู้มีอำนาจของบริษัทฯ จะพิจารณาอนุมัติเองโดยโจทก์ที่ 1 มิได้ร้องขอ โจทก์ที่ 1 เองก็ควรจะตระหนักรู้และอาจใช้วิจารณญาณได้ว่าสมควรที่โจทก์ที่ 1 จะรับหรือปฏิเสธประโยชน์ที่จะได้รับจากการอนุมัติปรับเลื่อนชั้นที่นั่งโดยสารรวม 14 เที่ยวบิน ซึ่งอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้มิใช่น้อยเช่นนั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนใส่ความโจทก์ทั้งสองว่า ในการเลื่อนชั้นที่นั่งโดยสารของโจทก์ทั้งสองและครอบครัวอาจทำได้ในสองลักษณะ คือ 1 โจทก์ที่ 1 อาจใช้อำนาจและอภิสิทธิ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งให้พนักงานที่มีอำนาจดำเนินการอนุมัติให้เลื่อนชั้นบัตรโดยสารเป็นชั้นหนึ่งโดยไม่มีการจ่ายค่าโดยสารเพิ่มทั้งอาจมีการสั่งให้เลื่อนชั้นการเดินทางของบุตรจากชั้นประหยัดเป็นชั้นธุรกิจด้วย และ 2 ผู้มีอำนาจในการอนุมัติทำการเลื่อนชั้นบัตรโดยสารให้โจทก์ที่ 1 กับครอบครัวเพื่อแลกผลประโยชน์หรือความก้าวหน้าของตน หรืออาจมีผู้มีอำนาจเหนือกว่าเป็นผู้สั่งการ จึงเป็นการตั้งข้อสังเกตที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทน พรรค พ. ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านอยู่ในขณะนั้น เมื่อตรวจสอบพบหลักฐานความไม่ชอบมาพากลของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ย่อมชอบที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะแสดงความคิดเห็นเพื่อติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)


หลักการสำคัญของการดำเนินคดีอาญาว่า แม้เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นความผิดให้แก่จำเลยก็ตาม โจทก์ก็ยังคงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดเช่นนั้น หาใช่ว่าในกรณีที่จำเลยได้รับยกเว้นความผิดเช่นนั้นแล้วหน้าที่นำสืบจะตกอยู่แก่จำเลยไม่


สาระสำคัญของบทยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) นั้น อยู่ที่ว่า เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ ดังนั้น หากความเห็นหรือข้อความที่แสดงเพื่อใส่ความผู้อื่นนั้น ต้องด้วยสาระสำคัญของข้อยกเว้นความผิดดังกล่าวและไม่ว่าผู้ใส่ความจะแสดงความคิดเห็นหรือข้อความด้วยวิธีการอย่างไร ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่จะกระทำได้ แม้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจหน้าที่และมีสิทธิที่จะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิการตรวจสอบเอาไว้คือ การยื่นกระทู้ถาม กระทู้สด เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือยื่นถอดถอนรัฐมนตรีได้ แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับใช้สิทธิการตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนก็เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่กระทำได้ตามมาตรา 329 (3) ดังกล่าวข้างต้น


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8858/2559

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ศาลชั้นต้นมีหน้าที่อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและถามว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักลอบนำพารถยนต์ซึ่งเป็นของที่มีถิ่นกำเนิดผลิตในต่างประเทศที่ยังมิได้เสียค่าภาษีและยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีศุลกากร หรือช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับเอาไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งรถยนต์ของกลางที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นนั้นลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร ฐานใดฐานหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นก็ต้องสอบถามจำเลยให้ชัดเจนว่าจะให้การรับสารภาพในข้อหาใด แล้วจึงพิพากษาลงโทษในข้อหาที่จำเลยให้การรับสารภาพดังกล่าว แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามคำให้การของจำเลยให้ชัดเจนกลับพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานช่วยเหลือผู้ที่นำของที่ยังมิได้เสียภาษี ของต้องห้ามหรือของที่ต้องจำกัด เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ โดยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและมีผลให้กระบวนพิจารณาต่อไป ตลอดจนคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่ชอบไปด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8287/2559

เจตนารมณ์ของ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เพื่อให้จำเลยมีทนายความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีที่มีอัตราโทษจำคุก แม้ปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและสอบคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นไม่ได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ แต่ในวันนัดฟังคำพิพากษา จำเลยได้แต่งตั้งทนายความ และทนายจำเลยก็ได้ทำหน้าที่ทนายจำเลยตลอดมาจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยเสียเปรียบในเชิงคดี ทั้งจำเลยก็มิได้เปลี่ยนแปลงคำให้การของจำเลยแต่ประการใด ถือได้ว่าจำเลยยังคงให้การรับสารภาพ คดีจึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสอบจำเลยเรื่องทนายความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4526/2559

โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าองค์เทพเจ้ากิมอ้วงเอี๊ยะ องค์เทพเจ้าเตียงง่วยส่วย องค์เทพซำไซส่วยพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด และมีความเกี่ยวข้องกับทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด อย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าองค์เทพเจ้าทั้งสามองค์พร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนา แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานรับของโจรตามฟ้อง แต่ความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริงจึงจะลงโทษได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาแล้ว ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2559

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เข้ามาใหม่ โดยให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเฉพาะจำเลยที่ 2 และจำหน่ายคดีเด็ดขาดเมื่อโจทก์ฟ้องหรือไม่ฟ้องภายในเวลาที่ศาลกำหนด จึงไม่มีคดีของจำเลยที่ 2 ในระหว่างพิจารณาที่จำเลยที่ 2 จะอุทธรณ์คำสั่งขอให้รวมการพิจารณาคดี คำสั่งขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ และไม่ก่อสิทธิให้แก่จำเลยที่ 2 ที่จะฎีกา


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4526/2559

โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าองค์เทพเจ้ากิมอ้วงเอี๊ยะ องค์เทพเจ้าเตียงง่วยส่วย องค์เทพซำไซส่วยพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด และมีความเกี่ยวข้องกับทางศาสนาพุทธหรือศาสนาใด เพราะเหตุใด อย่างไร จึงรับฟังไม่ได้ว่าองค์เทพเจ้าทั้งสามองค์พร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนา แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพในความผิดฐานรับของโจรตามฟ้อง แต่ความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำผิดจริงจึงจะลงโทษได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า องค์เทพเจ้าทั้งสามพร้อมอุปกรณ์เป็นวัตถุในทางศาสนาแล้ว ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรโดยมีเหตุฉกรรจ์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคสาม ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1231/2559

ในการสืบพยานโจทก์ประกอบกับคำรับสารภาพของจำเลย ศาลต้องรับฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยเป็นการโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไม่มีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น หาใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่ จำเลยจึงอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12681/2558

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลักสร้อยคอทองคำหนัก 3 บาท 1 เส้น พร้อมพระสมเด็จหลวงพ่อโสธร 1 องค์ ของ อ. ผู้เสียหายไป โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 335, 336 ทวิ ซึ่งข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การ และจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด การพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นการจับกุม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะยกเอาข้อเท็จจริงตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาครั้งที่ 1 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2557 มาฟังว่าจำเลยใช้ยานพาหนะในการเดินทางไปมาเท่านั้น มิใช่ใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปมาเป็นเหตุยกฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ หาได้ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10547/2558

ข้อหาร่วมกันซ่อนเร้นศพตาม ป.อ. มาตรา 199 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงเป็นคดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกไม่เกินห้าปี ถ้าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง แต่ก็มีอำนาจที่จะฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดจริงได้ หาจำต้องรับฟังเป็นเด็ดขาดตามคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ไม่ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าคนร้ายร่วมกันปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายแล้วเอาศพไปซ่อนไว้เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน แต่พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอให้รับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการปล้นทรัพย์ผู้ตายและซ่อนเร้นศพผู้ตายอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10073/2558

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการพิจารณาต่อไป คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งรถยนต์โดยตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว ต้องสอบถามจำเลยด้วยว่าจะให้การรับสารภาพในความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งรถยนต์โดยตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งรถยนต์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของยังมิได้เสียภาษี การที่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามคำให้การของจำเลยให้ชัดแจ้ง กลับพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและมีผลให้กระบวนพิจารณาต่อไปตลอดจนคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีพืชกระท่อมในครอบครองเพื่อจำหน่าย และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ชอบไปด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5513/2558

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรโดยบรรยายฟ้องว่า ในการร่วมกันลักทรัพย์มีการใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เมื่อความผิดฐานลักทรัพย์ดังกล่าวกฎหมายไม่ได้กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ซึ่งศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ จึงไม่จำต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพและข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันกระทำผิดตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมา ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองคงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 335 โดยมิได้ปรับบทลงโทษ ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2558

บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 176 มิได้หมายความว่า เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้วศาลจะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้วจึงพิพากษาคดี เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจนเป็นที่น่าพอใจว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 289 ดังนี้ จำเลยจึงมีสิทธิอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6007/2557

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องคดีโจทก์ไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นมีหน้าที่อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดนั้น แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามให้ชัดแจ้งกลับพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบ และมีผลให้กระบวนพิจารณาถัดมา ตลอดจนคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่ชอบไปด้วย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4923/2557

บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นกฎหมายพิเศษที่ศาลมีอำนาจค้นหาความจริงได้โดยการไต่สวนและไม่จำต้องกระทำต่อหน้าจำเลยดังเช่นการพิจารณาคดีอาญาทั่วไป กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง มาใช้บังคับได้ ศาลจึงไม่จำต้องสอบถามผู้ถูกกล่าวหาเรื่องทนายความและตั้งทนายความให้ผู้ถูกกล่าวหาตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลดังเช่นคดีอาญาทั่วไป และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมไม่ได้ออกระเบียบให้ทนายความของผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่าย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าทนายความ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3865/2557

คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องคดีโจทก์ไว้พิจารณา ศาลชั้นต้นมีหน้าที่อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและถามว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้างตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรฐานใดฐานหนึ่ง ศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นก็ต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในฐานความผิดนั้น แต่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามให้ชัดแจ้งกลับพิพากษาลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในฐานความผิดดังกล่าว การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในส่วนนี้จึงไม่ชอบ และมีผลให้กระบวนพิจารณาถัดมาตลอดจนคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่ชอบไปด้วย


พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สอบคำให้การจำเลยใหม่ แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2456/2557

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ แต่หากจำเลยให้การรับสารภาพหลังสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดดังกล่าว ศาลย่อมนำข้อเท็จจริงมารับฟังเป็นคุณแก่จำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11817/2556

โจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ซึ่งความผิดดังกล่าวศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ กรณีจึงไม่มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่จำต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72, 288


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3661/2556

เนื่องด้วยระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 พ.ศ.2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ข้อ 4 ระบุว่า อัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 ให้เป็นไปตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 7 และตารางท้ายระเบียบนี้ ดังนั้น อัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 จึงมี 2 อัตรา คือ อัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 7 และอัตราที่กำหนดไว้ตามตารางอัตราเงินรางวัลทนายความที่ศาลตั้งแก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 ท้ายระเบียบ


เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดเงินรางวัลทนายความผิดกฎหมายหรือระเบียบ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมไม่อาจก้าวล่วงไปกำหนดเงินรางวัลทนายความเพิ่มเติม เพราะอำนาจในการกำหนดเงินรางวัลทนายความเป็นอำนาจเฉพาะของศาลชั้นต้นตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสาม ประกอบระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ว่าด้วยการจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 พ.ศ.2548 ข้อ 5


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3742/2556

คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ของผู้เสียหายหรือรับของโจร และจำเลยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ศาลชั้นต้นบันทึกคำให้การของจำเลยว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ตามฟ้องโจทก์ทุกประการ และบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาต่อท้ายคำให้การของจำเลยว่า อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยเข้าใจดีแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นแบบพิมพ์ของศาล ซึ่งมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่า ข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง และมีถ้อยคำที่เขียนด้วยปากกาตกเติมระหว่างข้อความดังกล่าวว่า ฐานลักทรัพย์ หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยแล้ว จำเลยได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยรับว่าจำเลยกระทำความผิดจริง และให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ เพียงขอให้รอการลงโทษเท่านั้น พอแปลความหมายคำรับสารภาพของจำเลยได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่เนื่องจากฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ลักทรัพย์ของผู้เสียหายหรือรับของโจร การที่ศาลชั้นต้นเขียนถ้อยคำเพิ่มเติมระหว่างข้อความรับสารภาพตามฟ้องว่าฐานลักทรัพย์ ก็เพื่อเป็นการระบุให้แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานใดระหว่างความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร กรณีจึงพอถือได้ว่าจำเลยได้ให้การรับสารภาพความผิดฐานลักทรัพย์และฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบตามฟ้องแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12193/2555

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำ โดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ประกอบกับขณะมีการพิจารณาคดีนี้ ป.วิ.อ. ยังมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 226/5 ซึ่งมีข้อความว่า ในชั้นพิจารณาหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ แม้โจทก์มีพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ออกเช็คตามฟ้องและธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองได้แถลงร่วมกันว่า ประสงค์จะต่อสู้ว่าเช็คไม่มีมูลหนี้ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 โจทก์จึงมีภาระต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อให้ได้ความจริงว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามฟ้องจริง เมื่อโจทก์ไม่นำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณา คงยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาลชั้นต้น จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ไม่นำสืบพยานเพื่อสนับสนุนว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิด จึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3642/2554

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมุติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายจะดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ต้องกระทำโดยผู้แทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินหรือปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยและการกระทำของจำเลยที่ 2 ก็ยังเป็นความผิดตลอดเวลาที่ยังไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 อันเป็นเวลาหลังจากเกิดเหตุแล้วก็ตาม แต่ก็หาเป็นเหตุให้มีผลลบล้างความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุไม่ หากจำเลยที่ 2 ต้องเสียหายจากการที่ยังไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องดังกล่าวหลังจากนั้นอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ดังนั้นจำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าปรับตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1898/2554

ปัญหาว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้คู่ความถือเอาคำให้การของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความในชั้นพิจารณาแล้วให้ทนายจำเลยที่ 1 ถามค้าน เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง เพราะไม่ได้กระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ก็สามารถยกขึ้นเป็นเหตุฎีกาได้ และคู่ความฝ่ายที่เสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอาจยกปัญหานั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใดๆ ก่อนศาลมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


ก่อนเบิกความโจทก์เป็นฝ่ายเสนอโดยแถลงว่าจะขอถือคำให้การพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำให้การของพยานในชั้นพิจารณาเพราะทนายโจทก์จะถามพยานเช่นเดียวกับในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ทนายจำเลยทั้งสามยอมรับ และศาลชั้นต้นอนุญาตให้คู่ความปฏิบัติตามที่ตกลงกัน โดยทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านและทนายโจทก์ถามติงแล้วต่างฝ่ายต่างสืบพยานมาจนเสร็จสิ้น โจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งการดำเนินกระบวนพิจารณาในการสืบพยานปากนั้นเป็นการกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยเพียงแต่โจทก์ขอให้ถือเอาคำเบิกความของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา ก็เป็นวิธีการของโจทก์เองที่เลือกเสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยด้วยวิธีนี้ ศาลไม่มีหน้าที่ต้องทักท้วงเสนอแนะว่าพยานหลักฐานเช่นนี้ใช้ลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3133/2551

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 3,800 เม็ด น้ำหนัก 382.810 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ ได้ 28.483 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กรณีจึงต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ อันเป็นคนละกรณีกับวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ที่ศาลต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ดังนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่มีทนายความ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตในการต่อสู้ คดีได้อย่างเต็มที่ แต่คดีนี้ปรากฎตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2549 ท้ายคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าศาลชั้นต้นสอบจำเลยเรื่องทนายความแล้ว แต่จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ดังนี้ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความโดยไม่ตั้งทนายความให้จำเลย แล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไปจนเสร็จ แม้ต่อมาจำเลยจะได้แต่งทนายความเข้ามา แต่ก็เป็นการแต่งทนายความเข้ามาในภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จนเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น ขณะที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ จำเลยยังไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือในการดำเนินคดี อันเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นเป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 450/2551

โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธ ปืนและไม่มีใบอนุญาตให้พาอาวุธปืนติดตัวไปในที่เกิดเหตุ เมื่อโจทก์ไม่ได้นำสืบ จึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยทั้งสองฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบ ครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานพกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรได้ คงลงโทษได้เพียงในความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15147/2551

การพิจารณาและสืบพยานในศาลไม่ว่าชั้นสืบพยานโจทก์หรือพยานจำเลยจะต้องทำโดยเปิด เผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร จะอนุญาตให้จำเลยไม่มาฟังการพิจารณาและสืบพยานนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง, 172 ทวิ คดีนี้ ในวันนัดฟังประเด็นกลับ จำเลยไม่มาศาล และศาลชั้นต้นอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลย แต่ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 (เดิม) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปี ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจมีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาลับหลังจำเลยและดำเนินกระบวน พิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดลับหลังจำเลยได้ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและให้ทนายจำเลยแถลงรับข้อเท็จ จริงและโจทก์แถลงไม่สืบพยานปาก อ. นั้น จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง, 172 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยจึงไม่ชอบ และมีผลทำให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9800 - 9802/2551

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2073/2542 ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1738/2543 และฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2065/2543 ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ากับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ได้สืบประจักษ์พยานโจทก์ 2 ปาก คือ จ. และ บ. ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ไปก่อนแล้ว หลังจากการสั่งรวมพิจารณาคดีแล้ว โจทก์นำ จ. มาสืบใหม่ได้เพียงคนเดียว บ. ไม่อาจนำมาสืบได้ ดังนั้น คำเบิกความของ บ. ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อนมีการรวมพิจารณาคดีต้องถือว่าเป็นการสืบพยานลับหลัง ไม่อาจนำมาฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ คงใช้ได้แต่เฉพาะคำเบิกความของ จ. เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้มีโอกาสถามค้าน จ.


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10766/2551

พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ซึ่งมาตรา 61 เดิมและที่แก้ไขใหม่ยังเป็นบทความผิดเช่นเดียวกัน ส่วนบทกำหนดโทษมาตรา 73 (เดิม) ได้แก้ไขและมีบทบัญญัติเพิ่มเติมเป็นมาตรา 73/2 ซึ่งมีโทษหนักกว่าโทษตามมาตรา 73 (เดิม) การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 61 และมาตรา 73 โดยมิได้ขอมาตรา 73/2 (ที่แก้ไขใหม่) มาด้วย เป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไป ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ไม่เกินคำขอ


คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องมิใช่คดีที่กฎหมาย กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่า นั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงย่อมรับฟังยุติได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นอย่างไรและจำเลยจำนนต่อพยานหลัก ฐานเช่นว่านั้นหรือไม่ คำรับสารภาพของจำเลยจึงเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ตาม ป.อ. มาตรา 78


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3682/2551

ข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การและจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง และข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นอย่างไรและจำเลยจำนนต่อพยานหลักฐานเช่นว่านั้น คำรับสารภาพของจำเลยจึงเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การ พิจารณา มิใช่จำเลยให้การรับสารภาพก็เพราะจำนนต่อพยานหลักฐานดังที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกา คดีย่อมมีเหตุบรรเทาโทษ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2352/2551

คำฟ้องบรรยายชัดแจ้งถึงประกาศกรมสรรพสามิตเรื่อง กำหนดราคายาสูบเพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าปรับ ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2542 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ.2544) พร้อมรายละเอียดของวันที่ได้ประกาศ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมเป็นการรับสารภาพตามข้อความที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ทั้งกฎกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2544 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับเช่นกฎหมาย การที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องจึงเป็นการเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลย ทราบประกาศกรมสรรพสามิตและกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่อาจแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามประกาศกรมสรรพสามิตและกฎกระทรวงดังกล่าวได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2551

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นคนร้ายร่วมกับพวกลักทรัพย์นายจ้าง หรือร่วมกันรับของโจรและพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควร การที่ศาลชั้นต้นบันทึกคำให้การของจำเลยโดยใช้แบบพิมพ์ของศาล ซึ่งมีข้อความเป็นตัวพิมพ์ว่าข้าพเจ้าขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง และมีถ้อยคำที่เขียนด้วยปากกาตกเติมต่อจากข้อความดังกล่าวว่าในข้อหาลัก ทรัพย์นายจ้าง ดังนี้ พอแปลความหมายของคำรับสารภาพของจำเลยได้ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง แต่เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ร่วมกับพวกลักทรัพย์ นายจ้างหรือร่วมกันรับของโจร ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นเขียนถ้อยคำเพิ่มเติมต่อท้ายว่า ในข้อหาลักทรัพย์นายจ้าง ก็เพื่อเป็นการระบุให้แน่ชัดว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาใดระหว่างความผิดในสองข้อหาดังกล่าว กรณีจึงพอถือได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพข้อหาร่วมกันลักทรัพย์นายจ้างและพาอาวุธมีดไปในทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามฟ้องแล้ว ซึ่งการแปลความหมายเช่นนี้ย่อมเป็นการตีความให้ตรงตามเจตนาที่แท้จริงของจำเลยและเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7402/2551

โจทก์ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานโจทก์ตามบัญชีระบุพยานอันดับ 2 ถึงอันดับ 7 ให้มาศาลตามกำหนดเวลาที่ศาลนัดสืบพยานโจทก์ไว้ในวันที่ 7 และ 8 เมษายน 2547 แล้ว เมื่อพยานโจทก์ดังกล่าวไม่มาศาล โจทก์แถลงต่อศาลว่าพยานทั้งหมดได้รับหมายเรียกแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของพยานที่จะต้องมาเบิกความต่อศาลตามกำหนดนัด จะถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่ติดตามพยานมาศาลหาได้ไม่ และในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 8 เมษายน 2547 ศาลชั้นต้นให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์โดยมีคำสั่งให้ออกหมายจับพยานโจทก์ดัง กล่าวก็เพื่อให้ได้ตัวพยานมาเบิกความ จึงต้องให้เวลาแก่โจทก์พอสมควรที่จะสามารถดำเนินการตามหมายจับได้ การที่ศาลชั้นต้นให้เลื่อนคดีไปเพียง 1 วัน โดยให้นัดสืบพยานโจทก์พร้อมพยานจำเลยตามที่นัดไว้ในวันรุ่งขึ้น เห็นได้ว่าเป็นเวลากระชั้นชิดไปสำหรับการติดตามจับพยาน ซึ่งไม่แน่ว่าจะยังพบตัวอยู่ตามที่อยู่ที่พยานเคยให้ไว้หรือไม่ เมื่อในวันนัดที่เลื่อนไปดังกล่าว ปรากฏว่ายังไม่ได้ตัวพยานมาศาลตามหมายจับและโจทก์แถลงขอเลื่อนคดี โดยยังประสงค์จะติดตามพยานมาสืบ แม้จะได้ความจากโจทก์ว่าพยานทั้งหมดที่ศาลออกหมายจับมีอาชีพรับจ้างมีที่ อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง แต่หากให้เวลาโจทก์พอสมควรโจทก์ก็อาจให้เจ้าพนักงานตำรวจติดตามสืบหาที่อยู่ ของพยานและได้ตัวมาเบิกความต่อศาลได้ การขอเลื่อนคดีของโจทก์จึงมีเหตุอันควร กรณียังไม่สมควรที่ศาลชั้นต้นจะด่วนงดสืบพยานโจทก์ดังกล่าวทันทีอันอาจเป็น เหตุให้เสียความยุติธรรมได้ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะเลื่อนการพิจารณาสืบพยานโจทก์ไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 179 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2551

การพิจารณาและสืบพยานในศาลไม่ว่าชั้นสืบพยานโจทก์หรือพยานจำเลยจะต้องทำโดยเปิด เผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่เมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร จะอนุญาตให้จำเลยไม่มาฟังการพิจารณาและการสืบพยานนั้นได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และมาตรา 172 ทวิ


ในวันนัดสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มาศาล และทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีแล้ว ศาลชั้นต้นไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดลับหลังจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยให้ทนายจำเลยทั้งสองแถลงรับข้อ เท็จจริงว่า ส. เป็นผู้ตรวจพิสูจน์ของกลางผลการตรวจพิสูจน์เป็นเมทแอมเฟตามีนตามรายงานผลการ ตรวจพิสูจน์ ที่โจทก์ส่งศาลและโจทก์แถลงไม่สืบพยานโจทก์ปากดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่มาศาลและให้การปฏิเสธไม่มีโอกาสโต้แย้งหรือต่อสู้คดีได้ว่ายาเสพติด ให้โทษของกลางมิใช่เมทแอมเฟตามีนตามแบบรายงานผลการตรวจพิสูจน์อันจะเป็นการ รับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4790/2550

ตามคำฟ้องโจทก์ที่บรรยายเกี่ยวกับความผิดฐานลักทรัพย์นั้นมีความหมายว่าเหตุลัก ทรัพย์เกิดระหว่างเวลากลางคืนก่อนเที่ยงของวันที่ 22 มกราคม 2545 ถึงเวลากลางวันของวันเดียวกัน โดยมีคำขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 334 และมาตรา 335 มาด้วย ตามคำฟ้องโจทก์เวลาเกิดเหตุลักทรัพย์นั้นจึงอาจเป็นเวลากลางคืนก่อนเที่ยง หรือเวลากลางวันก็ได้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้องโดยมิได้ระบุว่าลัก ทรัพย์ในเวลากลางวันหรือในเวลากลางคืนจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยให้การรับ สารภาพฐานลักทรัพย์ในเวลาใดแน่ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลา กลางคืน เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลัก ทรัพย์ในเวลากลางคืน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4784/2550

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจรย่อมแสดงว่าโจทก์ ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียวเท่านั้น หากจำเลยทั้งสองกระทำความผิดในข้อหาหนึ่งแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีความผิดในอีกข้อหาหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสองให้การว่ารับสารภาพตามฟ้องทุกประการ จึงเป็นคำรับสารภาพที่ไม่สามารถรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดในข้อหาใด โจทก์ต้องนำพยานเข้าสืบเพื่อให้ได้ความว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดในข้อหา ใดข้อหาหนึ่ง แต่โจทก์มิได้นำสืบให้ได้ความเช่นว่านั้น คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา 335 (1) และจำเลยทั้งสองยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ว่า จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ไม่ได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้น ต้นที่พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานลักทรัพย์ คำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือคำฟ้องอุทธรณ์มิใช่คำให้การของจำเลยทั้งสองที่ได้ ให้การไว้ต่อศาลชั้นต้นก่อนเริ่มพิจารณา ถึงแม้จะมีถ้อยคำหรือข้อความที่อาจแสดงว่ารับสารภาพในความผิดฐานลักทรัพย์ก็ ไม่อาจถือได้ว่าเป็นคำให้การของจำเลยทั้งสองว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ หรือรับฟังได้โดยปริยายว่าจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ เมื่อคำให้การของจำเลยทั้งสองไม่สามารถรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความ ผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3630/2550

เหตุที่จำเลยทำร้ายทุบบริเวณท้ายทอยและหลังของผู้เสียหายที่ 2 ในตอนแรก มีสาเหตุจากการที่ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปปลุกจำเลยขณะหลับอยู่บนรถโดยสารมินิบัสของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งขณะนั้นจำเลยมีการเมาสุรา เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถามจำเลยว่าจะลงจากรถหรือไม่ จำเลยตอบว่าลง และเดินไปที่ประตูด้านหลังของรถยนต์มินิบัสแต่กลับย้อนมาทำร้ายผู้เสียหาย ที่ 2 อีก ผู้เสียหายที่ 2 พยายามใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารต่อสู้กับจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารแล้วลงจากรถวิ่งหนีไปเป็น เพราะจำเลยเมาสุราและไม่ประสงค์จะต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารทำร้ายจำเลยด้วย การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารจากผู้เสียหายที่ 2 ไป ก็เพราะไม่ประสงค์ให้ผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตามมาทำร้ายจำเลยอีก หากจำเลยประสงค์จะชิงทรัพย์จำเลยอาจหยิบเอาเฉพาะเงินจากกระบอกตั๋วเก็บเงิน ค่าโดยสาร ทิ้งกระบอกตั๋วไว้แล้วหลบหนีไปก็อาจกระทำได้ การที่จำเลยยังคงมีกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตัวอยู่ ทำให้เห็นว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้ผู้ใดนำกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารมาทำร้าย จำเลยอีก การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการพาเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 2 แต่ไม่ได้เกิดโดยเจตนาทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339


ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 ที่โจทก์ขอให้ศาลลงโทษจำเลย มีอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพและจำเลยไม่สืบพยานก็ไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยกระทำ ความผิดฐานนี้ได้ ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 และเมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิง ทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215


การทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 นั้น จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยและบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกัน ผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยใช้กำปั้นและมือทุบตีบริเวณท้ายทอยและด้านหลังหลายครั้ง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่ปรากฏบาดแผล ทั้งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายบริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นอันตรายแก่กายและจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นเพียงความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งรวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายอยู่ในตัว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1953/2550

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในข้อหาใดข้อหาหนึ่งเพียงข้อหาเดียว เพราะความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเป็นความผิดคนละฐานกันจะลง โทษจำเลยที่ 1 ทั้งสองฐานความผิดดังกล่าวย่อมไม่ได้ คำให้การของจำเลยที่ 1 ที่รับสารภาพตามฟ้องโจทก์นั้น ไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานใด จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องสืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดฐานใด ฐานหนึ่งของจำเลยที่ 1 แม้ในวันเดียวกับที่ฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเดียวกันอีก 2 ฐาน ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 847/2545 และ 848/2545 ของศาลชั้นต้น และขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ต่อจากโทษในทั้งสองคดีดังกล่าว ซึ่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นได้สอบคำให้การจำเลยที่ 1 พร้อมกันทั้งสามคดี และจำเลยที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพฐานรับของโจรทั้งสามคดี ศาลชั้นต้นจึงบันทึกไว้เป็นหลักฐานในคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 848/2545 และพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดดังกล่าว โดยนับโทษจำเลยที่ 1 ติดต่อกันทั้งสามคดีก็ตาม แต่ตามบันทึกคำให้การของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ไม่ได้ระบุว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ทั้งกรณีตามข้อที่อ้างของโจทก์ดังกล่าวไม่อาจนำมารับฟังเป็นหลักฐานว่าจำเลย ที่ 1 ได้ให้การรับสารภาพฐานรับของโจรในคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานให้ได้ความถึงการกระทำความผิดฐานรับของโจรของจำเลยที่ 1 จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานรับของโจรไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2550

จำเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าเมื่อผู้ใดมีลำไยสดอยู่ในความครอบครองไม่ว่าจะเป็น ของตนเองหรือของญาติพี่น้อง แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นของตนเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรตามนโยบายของรัฐได้ จำเลยกระทำความผิดไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเมื่อถูกดำเนินคดีก็ให้การรับสารภาพมาโดยตลอด อันแสดงว่าจำเลยรู้สำนักในความผิดแห่งตน และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยเคยทำคุณงามความดี ทั้งเมื่อคำนึงถึงโทษจำคุกที่ได้รับเพียง 2 เดือน การให้จำเลยรับโทษจำคุกไปเสียเลย ย่อมไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวม สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10238/2550

โจทก์มีเวลาที่จะติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลนับแต่วันฟ้องถึงวันนัดสืบ พยานโจทก์เป็นเวลา 5 เดือนเศษ ระหว่างนั้นศาลชั้นต้นได้นัดพร้อม 2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบผลการส่งหมายแก่พยานโดยกำชับโจทก์ให้เร่งติดตามผู้เสียหายมาศาล ในวันนัดให้ได้ แต่พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลลอยๆ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่ายังไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัดของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลจึงไม่สามารถรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย ได้ คงรับฟังได้ในฐานะพยานบอกเล่าตามธรรมดาเท่านั้น


แม้จะได้ความจากเทปบันทึกภาพและเสียงคำให้การและบันทึกคำให้การของผู้เสีย หาย ซึ่งผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราหลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายอายุได้ 10 ปีก็ตาม แต่การสอบสวนดังกล่าวมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยไม่มีโอกาสถ้ามค้านเพื่อให้ผู้เสียหายเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่อาจ เป็นการทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ได้ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์มี ณ. เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดพังงา มาเบิกควายืนยันว่าผู้เสียหายเล่าข้อเท็จจริงให้ฟังสอดคล้องกับคำให้การของ ผู้เสียหาย ก็เห็นได้ชัดว่า ณ. ได้รับการบอกเล่ามาจากผู้เสียหายอีกทีหนึ่ง คำเบิกความของ ณ. จึงไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด


เมื่อผู้เสียหายสมัครใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลย ผู้เสียหายก็น่าจะมาเบิกความต่อศาลให้เป็นที่สิ้นสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความ ผิดตามที่ผู้เสียหายกล่าวหาจริง การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาล จึงทำให้พยานโจทก์ยังตกอยู่ในความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือ ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2550

การที่จะให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้นั้น จะต้องแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเหตุสมควรที่มาศาลในวันนัดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 181 คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ทราบวันเวลานัดดังกล่าวโดยชอบแล้ว แต่มิได้มาศาลตามกำหนดนัด เนื่องจากทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เดินทางไปว่าความในคดีอื่นที่ศาลได้นัดพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน โดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาในคดีนี้ ซึ่งทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นคนนัดวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ไว้เอง ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ชอบที่จะแจ้งต่อศาลในคดีอื่นว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ติดการพิจารณาของศาลในคดีนี้ และขอให้ศาลในคดีอื่นนัดพิจารณาตามยอมในวันอื่น ไม่ควรนัดให้ซ้อนกัน แต่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ก็หาได้กระทำไม่ นับว่าเป็นความบกพร่องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เอง ทั้งเมื่อมีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ก็ต้องแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลในคดีนี้ทันที การที่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เพียงแต่บอกให้โจทก์ที่ 1 มาศาลเพื่อตอบคำถามค้านของทนายจำเลยให้เสร็จโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลในคดีนี้ทราบ แสดงให้เห็นว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่เห็นถึงความสำคัญในเวลานัดของศาลในคดีนี้ เหตุขัดข้องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แม้โจทก์ที่ 1 จะมีใบรับรองแพทย์และรายงานแพทย์มาแสดงว่าโจทก์ที่ 1 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในวันดังกล่าว โดยมีอาการโรคกระเพาะและแน่นหน้าอกก็ตามแต่ตามรายงานแพทย์ดังกล่าวได้สรุปผลการตรวจว่า โจทก์ที่ 1 มีปัญหาระบบย่อยอาหารโดยไม่มีโรคหัวใจ เนื่องจากอุดตันของเส้นโลหิตแต่อย่างใด ทั้งโจทก์ที่ 1 ยังสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักงานของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ แสดงว่าอาการป่วยของโจทก์ที่ 1 ไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นได้โดยสามารถสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ของศาลชั้นต้นจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งให้บริการสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมงได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ศาลชั้นต้นรอจนถึงเวลา 15.30 นาฬิกา นับว่าเป็นระยะเวลานานพอที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะโทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นอันอยู่ในวิสัยที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 สามารถจะกระทำได้แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ พฤติการณ์ของฝ่ายโจทก์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลล่าช้า กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1736/2550

ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยที่ 2 ซึ่งไม่มาศาลตามกำหนดนัด และมีคำสั่งว่าให้ปรับนายประกันตามสัญญาประกัน ต่อมานายประกันนำตัวจำเลยที่ 2 ส่งศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าให้ยกคดีของจำเลยที่ 2 ขึ้นพิจารณาต่อไป จำเลยที่ 2 หลบหนีไป 1 ปีเศษ ศาลสั่งจำหน่ายคดีของจำเลยที่ 2 แล้วสืบพยานในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 จำนวน 5 ปาก เมื่อได้ตัวจำเลยที่ 2 มาแล้ว ต้องสืบพยานดังกล่าวใหม่ทั้งหมด คำสั่งศาลชั้นต้นชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2550

เจตนารมณ์ของ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง นั้น ก็เพื่อให้จำเลยมีทนายความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีในความผิดที่มีโทษจำคุก แม้ว่าการทำหน้าที่ของ พ. ในฐานะทนายความของจำเลยจะไม่ปรากฏใบแต่งทนายความตั้งให้ พ. เป็นทนายความของจำเลย แต่ พ. ก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในฐานะทนายความของจำเลยตลอดมาจนเสร็จสิ้นการ พิจารณาของศาลชั้นต้น โดยจำเลยยอมรับเอาผลของการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นตลอดมา และฝ่ายโจทก์ก็มิได้คัดค้านแต่ประการใด ตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยได้มอบให้ พ. เป็นทนายความของจำเลยในคดีนี้แล้ว ทั้งภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการจัดใบแต่งทนายความเสียให้ ถูกต้อง แต่จำเลยแถลงว่าไม่ประสงค์จะแต่งทนายความเนื่องจากต้องการให้การรับสารภาพ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาจำเลยไม่เสียเปรียบ กรณีไม่เป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3990/2549

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องขอคืนของกลางของผู้ร้องเพียงว่าศาลจะสั่ง คืนของกลางให้แก่ผู้ร้องหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้ในคดีหลัก ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนของกลางไม่ได้


ป.อ.มาตรา 36 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของทรัพย์แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการ กระทำความผิด ขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ริบภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษา ถึงที่สุด มิได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึดทราบ แม้พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งให้เจ้าของทรัพย์ที่ถูกยึดทราบก็ตาม กำหนดเวลาดังกล่าวก็เริ่มนับแล้ว


การขอให้ศาลสั่งคืนของกลางที่ศาลสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 36 เป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา เมื่อผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของ จำเลยจึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่จะต้องนำสืบให้ได้ความตามที่กล่าวอ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3593/2549

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความที่ยังไม่ได้กรอกข้อความ เพื่อให้จำเลยนำไปถอนฟ้อง แต่จำเลยกับ อ. กลับสมคบกันกรอกข้อความลงในแบ่งทนายความดังกล่าวเป็นว่าโจทก์แต่งตั้ง อ. เป็นทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ แล้วจำเลยกับ อ. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 138 อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา 27 ซึ่งศาลชั้นต้นที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการ พิจารณาที่ระเบียบนั้นเสียได้ โจทก์จึงชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวกันในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณาที่ผิด ระเบียบ จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 344/2549

โจทก์ฟ้องคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในการพิจารณาคดีก่อนถามคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามจำเลยเรื่องทนายความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าวอัน เป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และทำให้จำเลยเสียเปรียบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณา ให้ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้วให้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพื่อพิจารณาพิพากษา ก็ไม่อาจแก้ไขกระบวนการพิจารณาที่เสียไปแล้วตั้งแต่ต้นให้กลับมาเป็นชอบด้วย กฎหมายได้ ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2549

บทบัญญัติใน ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดให้การสอบสวนผู้เสียหายหรือพยานอายุไม่เกิน 18 ปี พนักงานสอบสวนจะต้องกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนนั้นด้วย ซึ่งเป็นบทบังคับเด็ดขาดให้พนักงานสอบสวนต้องจัดทำ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวพร้อมกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคห้า คดีนี้ปรากฏว่าในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ ว. ซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ในฐานะพยาน โดยไม่จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำแต่อย่างใด ทั้งไม่เข้าเหตุกรณีจำเป็นเร่งด่วน ดังนี้ คำให้การของ ว. ในชั้นสอบสวนซึ่งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว คงมีผลเพียงทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของ ว. ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดไม่ และถือได้ว่าได้มีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


แม้การสอบสวน ว. ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี จะไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้าง ว. เป็นพยานและ ว. ได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี แล้ว ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของ ว. ในชั้นศาลเป็นพยานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 651/2549

การพิจารณาและสืบพยานในศาลไม่ว่าชั้นสืบพยานโจทก์พยานโจทก์ร่วม หรือพยานจำเลยจะต้องทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และมาตรา 172 ทวิ


ในวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานโจทก์ร่วม จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนบริษัทจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวไม่มาศาล และทนายจำเลยทั้งสองขอเลื่อนคดีแล้ว ศาลชั้นต้นจึงไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดลับหลังจำเลยทั้ง สองได้อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยให้ทนายจำเลยทั้งสองแถลงรับข้อ เท็จจริง โจทก์แถลงหมดพยาน และโจทก์ร่วมแถลงไม่ติดใจสืบพยาน จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 584/2549

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลยเนื่องจากศาลชั้น ต้นรับฟังตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าจำเลยกระทำความ ผิดตามคำฟ้อง แต่ต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าสมควรกำหนดโทษแก่จำเลยสถานใด เพียงใด และเพื่อกำหนดวิธีการหรือเงื่อนไขอันสมควรและเหมาะสมที่จะปฏิบัติต่อจำเลย ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะรับฟังรายงานและความเห็นของพนักงานคุมประพฤตินั้น ได้ แต่ถ้าศาลชั้นต้นจะใช้รายงานและความเห็นดังกล่าวเป็นผลร้ายแก่จำเลย ศาลชั้นต้นต้องแจ้งข้อความที่เป็นผลร้ายนั้นให้จำเลยทราบ เมื่อจำเลยคัดค้าน พนักงานคุมประพฤติมีสิทธินำพยานหลักฐานเข้าสืบประกอบรายงานและความเห็นก่อน และจำเลยมีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างได้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 13 คดีนี้จำเลยแถลงว่ารายงานการสืบเสาะและพินิจในส่วนที่จำเลยใช้มือฉุดดึงร่าง กาย ดึงกางเกงขาสั้น และกางเกงชั้นในของผู้เสียหายลงมาบริเวณหัวเข่านั้น ไม่เป็นความจริง ส่วนข้อความอื่น ๆ เป็นความจริงทุกประการ เท่ากับว่าเมื่อศาลชั้นต้นแจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุม ประพฤติให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยคัดค้านรายงานการสืบเสาะและพินิจเฉพาะส่วนดังกล่าวซึ่งเห็นว่าเป็นผล ร้ายแก่จำเลยเป็นการคัดค้านตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ดำเนินการคุมประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญาฯ มิได้หมายความจำเลยให้การปฏิเสธ ทั้งยังปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาอีกว่าจำเลยรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ คดีนี้มิใช่คดีที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าไปขึ้น ไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่จำต้องสืบพยานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อคำให้การรับสารภาพของจำเลยชอบด้วยกฎหมาย และศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามนั้น กระบวนพิจารณาและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8065/2548

โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักลอบนำเนื้อโคแช่แข็งเข้ามาในราช อาณาจักรโดยไม่นำผ่านท่าเข้าและไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ หรือจำเลยช่วยซ่อนเร้น รับซื้อ หรือรับจำนำ ช่วยพาเอาไปเสีย โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่ผู้อื่นลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีก เลี่ยงการเสียภาษีอากร ซึ่งเป็นคนละฐานความผิดกัน จำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่ได้ระบุว่ารับสารภาพฐานใด ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานรับไว้ซึ่งของอันควรรู้ว่าเป็นของที่นำเข้า มาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรนั้น เห็นว่า รายงานกระบวนพิจารณาระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จำเลยแถลงไม่สืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณารอฟังคำพิพากษา มีโจทก์ลงลายมือชื่อในรายงานไว้ด้วย ที่โจทก์อ้างว่าเป็นหน้าที่ของศาลต้องอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและสอบถามคำให้การจำเลยก็ตาม เมื่อโจทก์เห็นว่าคำให้การจำเลยไม่ชัดเจน ไม่ได้ระบุว่ารับสารภาพในความผิดฐานใด ชอบที่โจทก์จะทักท้วง และขอสืบพยานเพื่อให้ได้ความว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานใดในสองฐานที่โจทก์บรรยายฟ้องมา เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานจึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานใด จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์มาชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6327/2548

คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องสอบถามจำเลยก่อนเริ่มพิจารณาว่ามีทนาย ความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลชั้นต้นตั้งทนายความให้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาล เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินการสอบถามจำเลยในเรื่องดังกล่าวในวัน สอบคำให้การของจำเลย แม้จำเลยจะแต่งตั้งทนายความเข้ามาในคดีในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ตาม แต่ก็เป็นการแต่งตั้งทนายความหลังจากศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็น กระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2), มาตรา 225 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5260/2548

ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงฯ มาตรา 4 และ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ให้ความคุ้มครองแก่จำเลยในการพิจารณาคดีของศาลคดีนี้เป็น คดีที่มีอัตราโทษจำคุก เมื่อจำเลยไม่มีและแถลงต้องการทนายความ จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่ต้องตั้งทนายความให้ก่อนเริ่มพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นดำเนินคดีไปโดยจำเลยไม่มีทนายความแล้วพิพากษาลงโทษจำเลย จึงเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาอันเป็น กระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยไม่ ได้ยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5239/2547

ศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนจากพนักงานอัยการมาเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 175 การดำเนินการของศาลดังกล่าวมิใช่การพิจารณาและสืบพยานในศาล จึงไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และเมื่อมิใช่การสืบพยาน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจถามค้านพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 117 วรรคสอง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1858/2548

ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ชั้นต้นโดยนำหนังสือมอบอำนาจและหนังสือรับรองราคาประเมินที่ดินซึ่งเป็น เอกสารปลอมมายื่นต่อศาลชั้นต้นประกอบคำร้องขอปล่อยชั่วคราว เป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ศาล เจ้าของหลักทรัพย์ตลอดจนจำเลย ถือเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล อันเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1), 33 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 180


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1177/2542

คำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจทั้งสองนายพยานโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาลมีพิรุธขัดกับเหตุผลไม่น่าเชื่อถือ ต่างกับข้อเท็จจริงที่ได้จากบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหาจับกุมและบันทึกคำให้การของพยานโจทก์ในชั้นสอบสวนซึ่งกอปร ด้วยเหตุผลปราศจากพิรุธสอดคล้องกับแนวปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เจ้าพนักงานตำรวจพยานโจทก์ทำบันทึกแจ้งข้อหาจับกุมและให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันเดียวกันกับวันเกิดเหตุ ย่อมไม่ทันมีเวลาไตร่ตรองหรือได้รับการติดต่อให้บิดเบือนความจริงเพื่อช่วยเหลือผู้ใด และไม่มีเหตุที่จะระแวงสงสัยว่าพยาน ดังกล่าวจะให้การกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย เชื่อได้ว่าข้อเท็จจริงตามบันทึกแจ้งข้อหาจับกุมและคำให้การชั้นสอบสวน เป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความชั้นศาล ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงซึ่งพยาน หลักฐานทั้งปวงที่ศาลจะใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักนี้ย่อมได้แก่พยานวัตถุพยาน บุคคล รวมทั้งพยานเอกสาร ที่โจทก์อ้างและ สืบเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยมีผิด ที่จำเลยอ้างและสืบเพื่อพิสูจน์ ว่าจำเลยบริสุทธิ์ รวมทั้งสำนวนการสอบสวนที่ศาลเรียกมา เพื่อประกอบการวินิจฉัย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3782/2541

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ในวันนัดสืบพยานจำเลยครั้งแรก ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาโดยอ้างว่าทนายจำเลยมีอาการวิงเวียน ศีรษะและอ่อนเพลียไม่สามารถมาศาลได้ โจทก์มิได้คัดค้านอีกทั้งไม่ปรากฏเหตุว่าจำเลยแกล้งประวิงคดี ประกอบกับคดีมีโทษจำคุกและจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมา ตามรูปคดีจึงสมควรที่จะให้โอกาสจำเลยได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ และศาลชั้นต้นชอบที่จะอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาไปสืบพยานจำเลยในครั้งต่อไป ตามที่ได้นัดไว้ก่อนแล้วได้ แต่ศาลชั้นต้น หาได้กระทำไม่ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 179 วรรคสองบัญญัติไว้ เมื่อคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้เลื่อนไปสืบพยานจำเลยเป็นการไม่ชอบ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยว่า แม้จำเลย จะให้การปฏิเสธ ก็เป็นการปฏิเสธลอย ๆโดยไม่ได้นำสืบหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ในชั้นพิจารณาคงมีแต่การซักค้านของทนายจำเลย ระหว่างสืบพยานโจทก์ซึ่งมีน้ำหนักน้อยไม่เพียงพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้จึงเป็นการวินิจฉัยที่ผิดพลาดต่อความเป็นจริงแห่งคดี เพราะการที่จำเลยไม่ได้สืบพยานจำเลยก็เนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีหาใช่ เป็นกรณีที่จำเลยไม่สืบพยานจำเลยไม่ เมื่อศาลฎีกาเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อให้คดีได้ดำเนินไปจนสิ้นกระแสความ ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้ศาลชั้นต้นได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2)ประกอบด้วยมาตรา 225 บัญญัติให้อำนาจไว้ โดยให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาสืบพยานจำเลยต่อไปแล้วพิพากษาใหม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 49/2528

การที่ ส.พยานโจทก์เบิกความต่อศาลแตกต่างจากที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนนั้นในการ วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลจะต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงในสำนวนว่าควรจะฟังได้ เพียงใดหรือไม่มิใช่ว่าพยานเบิกความอย่างไรแล้ว จะต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานเสมอไป และไม่มีกฎหมายบทใดบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของพยานเป็น ข้อประกอบการพิจารณาของศาล ส่วนจะรับฟังได้เพียงใดหรือไม่นั้นก็สุดแล้วแต่เหตุผลเป็นเรื่องๆ ไป


แม้ ส. มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยในการกระทำผิดดังที่ศาลได้พิพากษาลงโทษไปแล้วแต่ตาม สำนวนการสอบสวนคดีนี้ปรากฏว่า ส. ให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยาน มิใช่ในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลย และศาลมีอำนาจเรียกสำนวนการสอบสวนดังกล่าวเพื่อประกอบการวินิจฉัยได้อยู่ แล้วดังนั้น ที่ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวน ของ ส. เป็นข้อประกอบการพิจารณาของศาล จึงไม่ขัดต่อกระบวนวิธีพิจารณาความ