คำฟ้องคดีอาญา

มาตรา ๑๕๗ การฟ้องคดีอาญาให้ยื่นฟ้องต่อศาลใดศาลหนึ่งที่มีอำนาจตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

มาตรา ๑๕๘ ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี

(๑) ชื่อศาลและวันเดือนปี

(๒) คดีระหว่างผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลย และฐานความผิด

(๓) ตำแหน่งพนักงานอัยการผู้เป็นโจทก์ ถ้าราษฎรเป็นโจทก์ให้ใส่ชื่อตัว นามสกุล อายุ ที่อยู่ ชาติและบังคับ

(๔) ชื่อตัว นามสกุล ที่อยู่ ชาติและบังคับของจำเลย

(๕) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี

ในคดีหมิ่นประมาท ถ้อยคำพูด หนังสือ ภาพขีดเขียนหรือสิ่งอื่นอันเกี่ยวกับข้อหมิ่นประมาท ให้กล่าวไว้โดยบริบูรณ์หรือติดมาท้ายฟ้อง

(๖) อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด

(๗) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง

มาตรา ๑๕๙ ถ้าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษเพราะได้กระทำความผิดมาแล้ว เมื่อโจทก์ต้องการให้เพิ่มโทษจำเลยฐานไม่เข็ดหลาบ ให้กล่าวมาในฟ้อง

ถ้ามิได้ขอเพิ่มโทษมาในฟ้อง ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้อง เมื่อศาลเห็นสมควรจะอนุญาตก็ได้

มาตรา ๑๖๐ ความผิดหลายกระทงจะรวมในฟ้องเดียวกันก็ได้ แต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไป

ความผิดแต่ละกระทงจะถือว่าเป็นข้อหาแยกจากข้อหาอื่นก็ได้ ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้แยกสำนวนพิจารณาความผิดกระทงใดหรือหลายกระทงต่างหาก และจะสั่งเช่นนี้ก่อนพิจารณาหรือในระหว่างพิจารณาก็ได้

มาตรา ๑๖๑ ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง
โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งเช่นนั้นของศาล

มาตรา ๑๖๒ ถ้าฟ้องถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ให้ศาลจัดการสั่งต่อไปนี้

(๑) ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ให้ไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา (๒)

(๒) ในคดีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้อง แต่ถ้าเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องก่อนก็ได้

ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องดั่งกล่าวแล้ว ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา

มาตรา ๑๖๓ เมื่อมีเหตุอันควรโจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้ และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

เมื่อมีเหตุอันควรจำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์

มาตรา ๑๖๔ คำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องนั้น ถ้าจะทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ห้ามมิให้ศาลอนุญาต แต่การแก้ฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องก็ดี การเพิ่มเติมฐานความผิดหรือรายละเอียดซึ่งมิได้กล่าวไว้ก็ดี ไม่ว่าจะทำเช่นนี้ในระยะใดระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นมิให้ถือว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบ เว้นแต่จำเลยได้หลงต่อสู้ในข้อที่ผิดหรือที่มิได้กล่าวไว้นั้น

มาตรา ๑๖๕ ในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ในวันไต่สวนมูลฟ้อง ให้จำเลยมาหรือคุมตัวมาศาล ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป เมื่อศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริงแล้ว ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้ฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการต่อไป

จำเลยไม่มีอำนาจนำพยานมาสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิในการที่จำเลยจะมีทนายมาช่วยเหลือ

ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบ จำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง โดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มา แต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลย และก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น

มาตรา ๑๖๖ ถ้าโจทก์ไม่มาตามกำหนดนัด ให้ศาลยกฟ้องเสีย แต่ถ้าศาลเห็นว่ามีเหตุสมควรจึ่งมาไม่ได้ จะสั่งเลื่อนคดีไปก็ได้

คดีที่ศาลได้ยกฟ้องดั่งกล่าวแล้ว ถ้าโจทก์มาร้องภายในสิบห้าวัน นับแต่วันศาลยกฟ้องนั้น โดยแสดงให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุสมควรจึ่งมาไม่ได้ ก็ให้ศาลยกคดีนั้นขึ้นไต่สวนมูลฟ้องใหม่

ในคดีที่ศาลยกฟ้องดั่งกล่าวแล้ว จะฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันนั้นอีกไม่ได้ แต่ถ้าศาลยกฟ้องเช่นนี้ในคดีซึ่งราษฎรเท่านั้นเป็นโจทก์ ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการฟ้องคดีนั้นอีก เว้นแต่จะเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว

มาตรา ๑๖๗ ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง

มาตรา ๑๖๘ เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว ให้ส่งสำเนาฟ้องให้แก่จำเลยรายตัวไป เว้นแต่จำเลยจะได้รับสำเนาฟ้องไว้ก่อนแล้ว

มาตรา ๑๖๙ เมื่อศาลประทับฟ้องแล้ว แต่ยังไม่ได้ตัวจำเลยมา ให้ศาลออกหมายเรียกหรือหมายจับมาแล้วแต่ควรอย่างใดเพื่อพิจารณาต่อไป

มาตรา ๑๗๐ คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้นโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา

ถ้าโจทก์ร้องขอศาลจะขังจำเลยไว้หรือปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ฎีกาก็ได้

มาตรา ๑๗๑ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนและการพิจารณาเว้นแต่มาตรา ๑๗๕ มาบังคับแก่การไต่สวนมูลฟ้องโดยอนุโลม

ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ และมาตรา ๑๗๒ ตรี มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การไต่สวนมูลฟ้องในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ทั้งในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์และในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์[

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7737/2552
จำเลยรับราชการเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเลิศสิน มีหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการคือตรวจและรักษาคนไข้ การที่จำเลยไปเบิกความเกี่ยวกับการตรวจร่างกายโจทก์ที่โรงพยาบาลศิริราชขณะ จำเลยเป็นนักศึกษาแพทย์ จึงมิใช่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่จำเลยได้รับมอบหมายจากทางราชการ การกระทำของจำเลยไม่มีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคสาม จะบัญญัติว่า ก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น แต่ตามบทมาตราดังกล่าวก็บัญญัติให้สิทธิจำเลยตั้งทนายเข้าซักค้านพยานโจทก์ ได้ ดังนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิยื่นคำแถลงการณ์ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงจากพยาน หลักฐานที่โจทก์นำมาไต่สวนว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5843/2552
มูลคดีที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง ข้อ 1.4 โดยร่วมกันปลอมและประทับดวงตราปลอม และลงลายมือชื่อปลอมบัตรประจำตัวบุคคลพื้นที่สูงอันเป็นเอกสารราชการ ปลอมหนังสืออนุญาตให้บุคคลพื้นที่สูงออกนอกเขตที่พักอาศัยหรือพื้นที่ออก บัตรเป็นการชั่วคราวอันเป็นเอกสารราชการและประทับดวงตราปลอมและลงลายมือชื่อ ปลอม ปลอมแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงอันเป็นเอกสารราชการ และปลอมทะเบียนบ้านของบุคคลที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรให้แก่บุคคล 1 คน โดยบรรยายฟ้องว่าเป็นการกระทำความผิดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2547 เวลากลางวัน พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดดังกล่าวในคราวเดียวกัน ด้วยมีเจตนาที่จะปลอมเอกสารดังกล่าวต่อเนื่องกันเพื่อให้เอกสารบริบูรณ์เท่า นั้น หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกันแต่อย่างใดไม่ แม้จะมีการใช้ดวงตราปลอมในเอกสาร 2 ฉบับ ก็ตาม ก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้ดวงตราปลอม 2 กรรม การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องข้อ 1.5 ถึง ข้อ 1.7 โดยบรรยายฟ้องในแต่ละข้อว่า ร่วมกันปลอมเอกสารข้อละประเภทเอกสารให้แก่บุคคล 3 คน ในคราวเดียวกันการปลอมเอกสารดังกล่าวเป็นการปลอมเอกสารด้วยมีเจตนาต่อเนื่อง กันเพื่อให้เอกสารบริบูรณ์เท่านั้น หาได้มีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกัน ส่วนที่ในฟ้องแต่ละข้อแม้จะเป็นการปลอมเอกสารของบุคคลต่างคนรวม 3 คน ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษเป็นกรรมเดียว ทั้งเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำแต่ละข้อเป็นความผิดกรรมเดียว โจทก์ก็ไม่อุทธรณ์โต้แย้ง โจทก์จึงไม่อาจยกขึ้นฎีกาอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4549/2552
คดีนี้คู่ความต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐาน ในสำนวน ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้ชวนผู้เสียหายไปที่ห้องพักของจำเลย แล้วกระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง ซึ่งหลังจากกระทำชำเราผู้เสียหายในแต่ละกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้วข้อเท็จจริง ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ในสถานที่ เกิดเหตุเพื่อกระทำชำเราผู้เสียหายในครั้งต่อไปแต่อย่างใด โดยผู้เสียหายได้กลับไปที่บ้าน ผู้เสียหายย่อมพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละกรรม แล้ว แม้จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2548 เดือนละ 2 ครั้ง และในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายคนละวันต่างวาระ กัน และมิได้กระทำต่อเนื่องกันโดยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายไว้จนผู้เสีย หายไม่สามารถไปไหนได้ ประกอบกับโจทก์บรรยายฟ้องข้อ ข. ว่า เมื่อระหว่างกลางเดือนตุลาคม 2548 ถึงปลายเดือนธันวาคม 2548 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายรวม 6 ครั้ง และมีคำขอท้ายฟ้องโดยอ้าง ป.อ. มาตรา 91 มาด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน

โจทก์บรรยายฟ้องข้อ ง. ว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2549 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 5 มกราคม 2549 เวลากลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ฟ้องดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องซึ่ง เป็นกรรมเดียวกันแตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ข.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3107/2552
จำเลย ที่ 1 ได้กระทำความผิดฐานเบิกความเท็จพร้อมกันไปกับกระทำความผิดฐานนำสืบหรือแสดง พยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี และฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม โดยกระทำในวันเวลาและคดีเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

โจทก์ฟ้องข้อ 2.2 (ข้อหาใช้เอกสารปลอม) 2.3 (ข้อหานำสืบและแสดงหลักฐานเท็จ) และ 2.4 (ข้อหาเบิกความเท็จ) ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ภาพถ่ายโฉนดเลขที่ 2601 ปลอม ประกอบคำร้องในคดีแพ่งที่จำเลยที่ 1 ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 โดยการครอบครองปรปักษ์ เพื่อให้ศาลชั้นต้นหลงเชื่อว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ ม. และมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องให้ ม. ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ทราบคำร้อง และจำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโฉนดปลอมดังกล่าวอ้างส่งเป็นพยานประกอบการเบิกความ ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกัน แต่โจทก์แยกฟ้องเป็นรายข้อตามฐานความผิด แม้ในฟ้องข้อ 2.3 โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าประเด็นสำคัญในคดีแพ่งดังกล่าวมีว่าอย่างไร และพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ นั้นเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร แต่ตามฟ้องข้อ 2.4 โจทก์ได้บรรยายฟ้องในความผิดฐานเบิกความเท็จว่า คดีแพ่งดังกล่าวมีประเด็นแห่งคดีที่ต้องพิสูจน์ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 เป็นของ ม. จริงหรือไม่ การที่จำเลยที่ 1 เบิกความเท็จว่า ม. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 ทำให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 หลงเชื่อว่า ม. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์บางส่วน และฟ้องข้อ 2.2 โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองนำภาพถ่ายโฉนดที่ดินปลอมเข้าเป็นเอกสาร ท้ายคำร้อง เพื่อให้ศาลเชื่อว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 ที่จำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์เป็นของ ม. เมื่ออ่านฟ้องรวมกันแล้วพอเข้าใจได้ว่าคดีแพ่งดังกล่าว มีประเด็นสำคัญแห่งคดีว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2601 เป็นของ ม. หรือไม่ และภาพถ่ายโฉนดที่ดินปลอมที่อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานในข้อสำคัญแห่งคดี เพราะทำให้ศาลเชื่อว่าที่ดินตามโฉนดดังกล่าวเป็นของ ม. ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการ พิจารณาคดีครบองค์ประกอบความผิดแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6996/2551
คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในส่วนของคำขอท้ายฟ้อง โดยขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 300 ด้วย แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตและพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 34 (4), 157 โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาและคำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้น โดยอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ตามคำร้องแล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณา พิพากษาใหม่ตามรูปคดี กรณีจึงทำให้คดีเสร็จสำนวนไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 8 เช่นนี้ไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงไม่ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196

โจทก์ได้บรรยายรายละเอียดในคำฟ้องครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 แล้ว ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมข้อความว่า ป.อ. มาตรา 300 ที่คำขอท้ายฟ้องนั้น จึงเป็นเพียงการเพิ่มเติมฐานความผิดเท่านั้นและจำเลยย่อมทราบข้อหาตามคำฟ้อง ดีอยู่แล้วจึงไม่ต้องมีการแจ้งข้อหาหรือสอบสวนเพิ่มเติมในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 300 อีก และไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย กรณีจึงมีเหตุอันสมควรในการขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้อง ทั้งได้ความด้วยว่าจำเลยให้การปฏิเสธลอยๆ โดยมิได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธไว้ ต่อมาภายหลังจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยหลงต่อสู้ เมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวเป็นเพียงการเพิ่มเติมฐานความผิดและ จำเลยไม่ได้หลงต่อสู้ ทั้งโจทก์ยื่นคำร้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีจึงเข้าหลักเกณฑ์ที่จะแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมฟ้องนั้นชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 163, 164 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4575/2551
การกระทำความผิดฐานยักยอกของจำเลยมิได้เกิดในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราช แต่จำเลยมีที่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง นครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราชและอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราช พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องต่อศาลแขวงนครศรีธรรมราชตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 (1)

การขอแก้ไขคำให้การ จำเลยสามารถกระทำได้ต่อเมื่อมีเหตุอันสมควรตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง เท่านั้น อีกทั้งเป็นดุลพินิจของศาล การที่จำเลยขอเพิกถอนคำให้การรับสารภาพเป็นให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์ เท่ากับจำเลยยื่นคำให้การใหม่โดยขอถอนคำให้การเดิม ซึ่งมีผลเป็นการแก้ไขคำให้การหลังจากที่ได้ให้การรับสารภาพแล้วถึง 1 ปี โดยอ้างเหตุว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์นำคดีที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงนครศรีธรรมราชมาฟ้องรวมกันเป็นการ ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความและอ้างว่าจำเลยไม่เข้าใจจึงรับสารภาพ เพื่อให้เรื่องจบเท่านั้น เป็นการให้การปฏิเสธภายหลังจำเลยผิดนัดชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ร่วมแล้ว เพื่อให้มีการสืบพยานต่อไปอีกถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อประวิงคดี จึงเป็นกรณีที่ไม่มีเหตุอันควร ไม่ชอบที่จะอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2551
ป.วิ.อ. มาตรา 163 วรรคสอง บัญญัติว่า "เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาตก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์" ซึ่งหมายความว่า หากจำเลยประสงค์จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การ จำเลยจะต้องยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรว่า จำเลยมีความจำเป็นต้องแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การเพราะเหตุใด มิใช่เป็นไปตามอำเภอใจของจำเลยทั้งนี้ ศาลมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้ โดยพิจารณาถึงเหตุผลที่จำเลยอ้างอิงในคำร้องว่าเป็นเหตุผลอันสมควรอนุญาต หรือไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันนัดสอบคำให้การจำเลย ศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความ จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ศาลชั้นต้นจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพ ต่อมาวันที่ 11 พฤษภาคม 2547 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังอีกครั้งหนึ่ง จำเลยยังคงยืนยันให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย โดยจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณาศาลชั้นต้นให้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 มิถุนายน 2547 แต่เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2547 จำเลยขอยื่นคำให้การฉบับใหม่เป็นให้การปฏิเสธในความผิดฐานพรากเด็กอายุยัง ไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร โดยอ้างว่าไม่เข้าใจข้อกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ศาลชั้นต้นได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้วถึง 2 ครั้ง จำเลยก็ให้การรับสารภาพ ซึ่งแสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาในความผิดฐานดังกล่าวตามที่โจทก์ฟ้องแล้ว การที่จำเลยขอถอนคำให้การรับสารภาพและขอให้การใหม่เป็นปฏิเสธฟ้องโจทก์ใน ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร หลังจากที่ให้การรับสารภาพมาแล้วประมาณ 2 เดือนเศษ โดยอ้างเหตุว่าจำเลยไม่เข้าใจข้อกฎหมายนั้น เห็นได้ว่าเป็นการให้การปฏิเสธเพื่อให้มีการสืบพยานต่อไปอีกส่อไปในทาง ประวิงคดีให้ล่าช้า จึงไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10515/2551
ตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) บัญญัติว่า ฟ้องต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ในความผิดฐานขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรในทางการค้า โดยรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นกระทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ของผู้อื่น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1), 70 วรรคสอง ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนั้นต้องเป็นงานสร้างสรรค์ที่กฎหมาย ลิขสิทธิ์ให้ความคุ้มครองโดยได้มาตามเงื่อนไขของกฎหมาย และต้องอยู่ในอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ด้วย การที่จะรู้ว่างานสร้างสรรค์ใดของนิติบุคคลผู้สร้างสรรค์ยังอยู่ในอายุแห่ง การคุ้มครองลิขสิทธิ์อยู่หรือไม่ ต้องรู้ว่างานสร้างสรรค์นั้นมีการโฆษณางานครั้งแรกเมื่อใด เนื่องจากมาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก" เมื่อโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่างานที่นิติบุคคลเป็นผู้สร้างสรรค์มีการโฆษณา งานครั้งแรกเมื่อใดซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญ แม้จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดตามฟ้อง แต่ถ้าศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเพราะงานสร้างสรรค์อันมี ลิขสิทธิ์นั้นพ้นอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้ว ศาลก็ต้องพิพากษายก ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9244/2551
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า "จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งได้รับมอบเงิน 116,620 บาท จากผู้เสียหายไว้ในความครอบครองให้โอนเข้าบัญชีของผู้มีชื่อในธนาคาร ขณะที่จำเลยกับพวกครอบครองเงินจำนวนนั้นของผู้เสียหายเป็นของตนเองโดยทุจริต อันเป็นการกระทำความผิดฐานยักยอก" โดยมิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบข้อสำคัญของความผิดฐานยักยอก ว่า จำเลยกับพวกกระทำการเบียดบังทรัพย์นั้น ซึ่งมีความหมายชี้เฉพาะถึงพฤติการณ์ที่ผู้กระทำความผิดแสดงออกมาให้เห็นแล้ว ว่าตนกับพวกเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ครอบครองอยู่ แม้โจทก์จะบรรยายมาในฟ้องว่าจำเลยกับพวกกระทำการเช่นนั้นโดยทุจริต แต่การกระทำโดยทุจริตกับการเบียดบังเป็นองค์ประกอบคนละข้อในความผิดฐานนี้ จึงมีความแตกต่างกันอยู่ในตัว และโดยทั่วไปการทุจริตก็อาจเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องเบียดบัง เพราะทุจริตเป็นแต่เจตนาพิเศษของการกระทำความผิดซึ่งแสดงให้เห็นว่าเบียดบัง เอาทรัพย์เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือ ผู้อื่นเท่านั้น ฟ้องของโจทก์บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 ไม่ครบถ้วน ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้นก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9057/2551
พระราชบัญญัติทางหลวงฉบับเดิมและฉบับที่มีการแก้ไขใหม่ยังบัญญัติเป็นบทความผิด ห้ามการใช้ยานพาหนะบนทางหลวงโดยที่ยานพาหนะนั้นมีน้ำหนักบรรทุกหรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าผู้อำนวยการทาง หลวงได้ประกาศกำหนดเช่นเดียวกัน ส่วนบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 บัญญัติเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ทางหลวง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 มาตรา 30 เป็นมาตรา 73/2 ดังนั้น การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพียงแต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษหนักกว่ากฎหมายเดิม การที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายเดิม โดยมิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงเป็นเพียงการอ้างบทบัญญัติกฎหมายผิดพลาดไปเท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แล้ว แม้โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 73/2 ซึ่งเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ แก้ไขใหม่ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และไม่ได้ให้อำนาจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น อนุญาตให้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี และมาตรา 221 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ฎีกาของจำเลยที่ขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7471/2551
ในความผิดฐานตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้นแม้โจทก์มิได้ระบุ มาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง แต่โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องและได้ระบุมาตรา 23 อันเป็นบทกำหนดโทษของมาตรา 11 ไว้ในคำขอท้ายฟ้องแล้ว คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) เมื่อคำว่า "สถานีวิทยุคมนาคม" ตามมาตรา 4 หมายความว่า ที่ส่งวิทยุคมนาคม ที่รับวิทยุคมนาคม หรือที่ส่งและรับวิทยุคมนาคม และคำว่า "วิทยุคมนาคม" หมายความว่า การส่งหรือการรับเครื่องหมาย สัญญาณ ตัวหนังสือ ภาพ และเสียงหรือการอื่นใดซึ่งสามารถเข้าใจความหมายได้ด้วยคลื่นแฮรตเซียน เมื่อเครื่องวิทยุคมนาคมที่จำเลยติดตั้งไว้สามารถรับฟังข้อความจากผู้ใช้ วิทยุสื่อสารได้ การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แล้ว การต้องใช้คลื่นความถี่เท่าใด เป็นข้อกำหนดสำหรับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมในการใช้คลื่น ความถี่ให้ถูกต้อง หาจำต้องเป็นการตั้งสถานีเครื่องรับส่งในระยะความถี่ไม่น้อยกว่า 25 วัตต์ หรือมีขีดความสามารถรับส่งได้ในระยะทางไม่น้อยกว่า 25 กิโลเมตร หรือต้องเป็นการติดต่อหรือประกาศแจ้งออกไปสู่บุคคล องค์กร หรือต่อประชาชนในการประกาศข่าวสาร ส่ง หรือรับข่าวสารข้อความใด ๆ ได้ชัดเจนไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5126/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตามที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคสาม (2) ให้ถือว่าเป็นการมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก็ตาม แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบ ครองเพื่อจำหน่ายแต่อย่างใด ถึงแม้โจทก์จะอ้างบทมาตราที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ ในครอบครองเพื่อจำหน่ายในคำขอท้ายฟ้องมาด้วย ก็ไม่อาจลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์บรรยายในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คงลงโทษจำเลยได้เพียงฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 67 เท่านั้น

การที่ศาลจะสั่งริบทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดย การกระทำความผิดได้ก็ต่อเมื่อมีการกระทำความผิดนั้น และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดนั้นด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อ กฎหมาย และฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อ จำหน่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่และธนบัตรที่จำเลยได้มาจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก่อน หน้านี้จึงมิใช่เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือวัตถุซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในคดีนี้ ตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ ทั้งมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือ ได้มาโดยกระทำความผิดซึ่งหมายถึงเฉพาะความผิดที่ได้กระทำในคดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (2) จึงไม่อาจริบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4804/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไม่ทราบจำนวนและน้ำหนักที่แน่นอนโดยรับเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีสูบและจำเลย ขับรถสิบล้อไปตามถนนสาธารณะ หมู่ที่ 7 ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค อำเภอไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ในขณะที่จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย เป็นการบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำการอันกฎหมาย บัญญัติเป็นความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่างๆ ตามมาตรา 158 (5) แห่ง ป.วิ.อ. ซึ่งทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้วว่ามีการตรวจพบในขณะที่ขับขี่นั้นผู้ขับ ขี่มีสารเสพติดของยาเสพติดให้โทษตกค้างอยู่ในร่างกาย ส่วนในร่างกายของจำเลยจะมีสารเสพติดตกค้างอยู่เท่าใดนั้น ขณะเกิดเหตุกฎหมายไม่ได้กำหนดปริมาณไว้ว่ามีสารเสพติดตกค้างอยู่ในร่างกาย เท่าใดจึงมีความผิดและคดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลม 1 เล่ม และไม้ปลายแหลม 1 อัน เป็นอาวุธแทงผู้เสียหาย 2 ครั้ง ถูกบริเวณหน้าแข้งซ้ายส่วนล่าง บาดแผลกว้าง 3 เซนติเมตร และ 4 เซนติเมตร ลึกตัดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นส่วนหน้าขาด เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 297 ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายชัดเจนแล้วว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุ ให้ได้รับอันตรายสาหัสอันเป็นความผิดตาม ป.อ. 297 (8) ส่วนบาดแผลของผู้เสียหายจะเกิดจากไม้ปลายแหลมหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา และโจทก์ไม่จำต้องระบุอนุมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย ฟ้องของโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ที่เกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจ ข้อหาได้ดี และอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และ (6) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2551
การที่จำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองของโจทก์ร่วมไปในขณะที่จำเลยที่ 1 กำลังทำร้ายโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 1 วิ่งอ้อมไปทางด้านหลังและขว้างสร้อยคอและพระดังกล่าวทิ้งที่พงหญ้ามีน้ำขัง ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 20 เมตร ลักษณะการกระทำของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ เป็นการแย่งการครอบครองทรัพย์ไปจากโจทก์ร่วมแล้ว และมีลักษณะเป็นการฉกฉวยซึ่งหน้าโดยทุจริต ซึ่งเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ การที่จำเลยที่ 1 ขว้างทรัพย์ทิ้งหลังจากวิ่งไปแล้ว 20 เมตร เป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ไปได้

ป.อ. มาตรา 91 ไม่ใช่มาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและ ป.วิ.อ. มาตรา 158 ก็มิได้ระบุให้โจทก์ต้องอ้างด้วย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายการกระทำของจำเลยที่ 1 ต่างเวลากัน แสดงว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดแต่ละส่วนแยกจากกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุ ป.อ. มาตรา 91 มาในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3915/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเข้าไปในห้องนอนของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้เสียหายที่ 2 กำลังนอนหลับอยู่ จำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 อายุ 15 ปีเศษ ซึ่งมิใช่ภริยาจำเลย โดยใช้กำลังประทุษร้ายกอดปล้ำ ลูบคลำร่างกายของผู้เสียหายที่ 2 และพยายามถอดเสื้อผ้าของผู้เสียหายที่ 2 ที่สวมใส่อยู่ออก และใช้อาวุธปืนบังคับขู่เข็ญเพื่อจะข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 โดยผู้เสียหายที่ 2 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลัง ประทุษร้าย ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจ ข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนที่จำเลยจะกระทำอนาจารอย่างไรและบริเวณใดของร่างกายกับจำเลยลูบคลำร่าง กายผู้เสียหายที่ 2 อย่างไร เป็นเพียงรายละเอียดซึ่งโจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 มิได้บัญญัติว่า การร้องทุกข์ของผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบ ธรรมหรือบุคคลดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ของผู้เยาว์ด้วย ดังนั้น ผู้เยาว์จึงมีอำนาจร้องทุกข์ด้วยตนเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3889/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยชิงทรัพย์ผู้เสียหายในเวลากลางคืนโดยร่วมกระทำความผิด ด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง โจทก์ไม่จำต้องระบุวรรคของบทมาตราที่ขอให้ลงโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วยเนื่อง จาก ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) มิได้บังคับไว้เช่นนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 วรรคสอง ตรงตามโจทก์บรรยายฟ้อง ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามนั้น มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3577/2551
โจทก์บรรยายฟ้องระบุไว้อย่างชัดเจนว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยจำเลยเอาอวัยวะเพศของจำเลยถูไถบริเวณอวัยะเพศของผู้เสียหาย และใช้มือลูบคลำอวัยะเพศของผู้เสียหายหลายครั้งอันเป็นการกระทำอนาจารโดยผู้ เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องจึงต้องรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยกระทำอนาจารแก่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี โดยผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นความ ผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2551
คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่า ความจริงจำเลยเห็น ส. เป็นคนร้าย แต่จำเลยมาเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญาว่า ส. มิใช่คนร้าย อันเป็นการบรรยายถึงว่าความเท็จและความจริงเป็นอย่างไรแล้ว แม้โจทก์มิได้บรรยายรายละเอียดว่าข้อความอันเป็นเท็จที่จำเลยเบิกความเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร แต่โจทก์ได้บรรยายถึงข้อที่ว่า ส. ต้องหาว่าร่วมกันฆ่าผู้ตาย กับ ส. เป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายและจำเลยอันเป็นข้อสำคัญในคดี เมื่อความจริงจำเลยเห็น ส. เป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายและจำเลย แล้วจำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่ทราบว่าคนร้ายเป็นใคร และ ส. มิใช่คนร้ายคำเบิกความของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องย่อมเป็นข้อสำคัญในคดีที่เข้าใจได้ในตัวเองฟ้องโจทก์ดังกล่าวมีรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1778/2551
แม้คำฟ้องของโจทก์จะมิได้ระบุสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำความผิดไว้ก็ตามแต่โจทก์ ได้กล่าวไว้ตอนท้ายของคำฟ้องด้วยว่า ระหว่างสอบสวนจำเลยทั้งสามถูกควบคุมตามหมายขังของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมาย เลขดำที่ ฝ.137/2545 ซึ่งพออนุโลมได้ว่าเป็นส่วนประกอบของคำฟ้องโดยไม่ต้องคำนึงว่าคำร้องขอฝาก ขังจะเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวนไม่เกี่ยวข้องกับโจทก์ดังที่จำเลยทั้งสาม ฎีกาหรือไม่เพราะความมุ่งหมายของ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เพียงต้องการให้จำเลยทั้งสามทราบรายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่ จะให้จำเลยทั้งสามเข้าใจข้อหาได้ดีเท่านั้น ทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุก็มิใช่องค์ประกอบความผิดอันจะต้อง ระบุให้ชัดแจ้งไว้ในคำฟ้องโดยเฉพาะ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าตามคำร้องขอฝากขังในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฝ.137/2545 ซึ่งอยู่ตอนหน้าของสำนวนนี้ได้มีรายละเอียดระบุสถานที่เกิดเหตุว่าเหตุเกิด ที่บ้านเลขที่ ๕๐ ถนนภูมิณรงค์ ตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลาและจำเลยทั้งสามได้ลงลายมือชื่อรับสำเนาคำร้องไว้ที่ด้านหลัง คำร้องขอฝากขังดังกล่าวแล้ว ดังนี้จำเลยทั้งสองย่อมจะเข้าใจได้ดีว่าเหตุคดีนี้เกิดขึ้นที่ใดและสามารถนำ สืบต่อสู้ได้อย่างถูกต้อง ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ร้อยตำรวจเอก ส. เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่ ต. ถูกจับกุมดำเนินคดีอาญา จำเลยเรียกและรับเงินจำนวน 5,000 บาท จาก ต. และ น. เพื่อเป็นการตอบแทนที่จำเลยจะจูงใจร้อยตำรวจเอก ส. โดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมาย เพื่อให้ร้อยตำรวจเอก ส. กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่ ต. โดยการช่วยเหลือในทางคดี เพื่อทำให้ ต. หลุดพ้นจากความผิด เป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาของจำเลยว่าจำเลยเจตนาเรียกเอา เงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยอ้างว่าจะจูงใจเจ้าพนักงานไม่ให้ดำเนินคดีแก่ ต. และปล่อยตัวให้หลุดพ้นจากคดีอาญา เป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว ส่วนการที่จำเลยไปติดต่อหรือจูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีใด หรือเจ้าพนักงานจะกระทำการใดอันเป็นการช่วยเหลือ ต. มิใช่องค์ประกอบแห่งความผิดนัดอันต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

โจทก์บรรยายฟ้องผิดไปว่า นางนิตยา มั่งคั่ง เป็นผู้ที่ถูกจำเลยเรียกรับเงิน โดยทางพิจารณาได้ความว่านางนิตยา มั่นคง เป็นผู้ที่ถูกจำเลยเรียกรับเงิน แต่ในการดำเนินกระบวนพิจารณาหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้อง โจทก์ก็ระบุชื่อนางนิตยา มั่นคง มาตลอด มิได้ระบุชื่อนางนิตยา มั่งคั่ง กรณีจึงอาจเป็นได้ว่าโจทก์พิมพ์คำฟ้องผิดพลาดถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย และข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญ ทั้งจำเลยไม่หลงต่อสู้เพราะไม่ได้สืบพยานระบุถึงนางนิตยา มั่งคั่ง กรณีมิใช่เป็นเรื่องทางพิจารณาได้ความแตกต่างในสาระสำคัญที่ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 988/2551
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ร้อยตำรวจเอก ส. เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่ ต. ถูกจับกุมดำเนินคดีอาญา จำเลยเรียกและรับเงินจำนวน 5,000 บาท จาก ต. และ น. เพื่อเป็นการตอบแทนที่จำเลยจะจูงใจร้อยตำรวจเอก ส. เจ้าพนักงานในฐานะพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว โดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมาย เพื่อให้ร้อยตำรวจเอก ส. กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่ ต. โดยการช่วยเหลือในทางคดี เพื่อทำให้ ต. หลุดพ้นจากความผิด เป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาของจำเลยว่าจำเลยเจตนาเรียกเอา เงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยอ้างว่าจะจูงใจเจ้าพนักงานไม่ ให้ดำเนินคดีแก่ ต. และปล่อยตัวให้หลุดพ้นจากคดีอาญา ถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแห่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว ส่วนการที่จำเลยไปติดต่อหรือจูงใจเจ้าพนักงานโดยวิธีใด หรือเจ้าพนักงานจะกระทำการใดอันเป็นการช่วยเหลือ ต. ก็มิใช่องค์ประกอบแห่งความผิดอันต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาตามกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 789/2551
การบรรยายฟ้องตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ไม่จำเป็นต้องใช้คำตามบทบัญญัติดังกล่าวทุกถ้อยคำ โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยลงชื่อสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องมอบให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระค่าสินค้าผ้ายืด ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ร่วมตามสัญญาซื้อขายสินค้าผ้ายืด และจำเลยสั่งจ่ายเช็คเพื่อชำระค่าสินค้าผ้ายืดตามสัญญาซื้อขายนั้น จึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงเพื่อแสดงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว เป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 263/2551
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 778 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 21.50 กรัม ไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบคำให้การรับสารภาพ และศาลจะต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดตามฟ้องจริง จึงจะลงโทษได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบและพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา โดยอ้างว่าข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นในการกระทำความผิดตามฟ้องเท่ากับอ้างว่าโจทก์สืบไม่สมฟ้อง จึงมิใช่เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ขัดกับคำให้การรับสารภาพของ จำเลยที่ 2 หรือเป็นการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์ ซึ่งจะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

จำเลยที่ 2 ยื่นให้การว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษ แต่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้สอบคำให้การจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 2 แต่งตั้งทนายความสู้คดี โดยทนายจำเลยที่ 2 เรียงและพิมพ์คำให้การจำเลยที่ 2 ใหม่ มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ขอให้การรับสารภาพตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อไว้ด้วย ศาลชั้นต้นสอบคำให้การดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 2 ยืนยันตามคำให้การนี้ ดังนี้ จำเลยที่ 2 จะนำคำให้การฉบับแรกมาอ้างเพื่อให้ศาลฟังว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์จำหน่ายยาเสพติดให้โทษหาได้ไม่

ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม เพราะคำฟ้องไม่ปรากฏว่าได้บรรยายถึงสายลับที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ไปถึง จำเลยเพื่อล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนไว้จึงไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) เป็นฎีกาปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ก็ยกขึ้นฎีกาได้

โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ มาในฟ้องดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งเพียงพอทำให้จำเลยที่ 2 เข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนสายลับเป็นใคร เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ หาทำให้ฟ้องเคลือบคลุมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2550
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อ กฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6685/2550
จำเลยยื่นฟ้องอุทธรณ์ว่าจำเลยไม่ได้ทำความผิดตามฟ้องแล้วลงชื่อผู้อุทธรณ์และผู้ เขียนหรือพิมพ์ จำเลยไม่ได้ลงชื่อผู้เรียงฟ้องอุทธรณ์ ฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้อง เสียก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2550
จำเลย ที่ 1 ครอบครองเครื่องจักรยกของหนักบนอาคารสูงหรือปั้นจั่นหอสูงอันเป็นทรัพย์ พิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าและโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าแล้ว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จะต้องส่งคืนทรัพย์พิพาทแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ในสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตลอดเวลาที่ครอบครองทรัพย์พิพาทตามข้อตกลง ในสัญญา แม้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบคืนทรัพย์พิพาทให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ก็ยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการเบียดบังที่จะเอาทรัพย์เป็นของตนโดยทุจริต กรณีเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่งไม่มีมูลความผิดอาญาฐานยักยอกทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3567 - 3568/2550
จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่ามีลายชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์คำฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 แต่การที่จะให้จำเลยทั้งสองแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์หรือสั่งไม่รับอุทธรณ์ของ จำเลยทั้งสองก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับ อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้เสร็จไปแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีมาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2550
หลังจากสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว โจทก์ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดขัอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 ประกอบมาตรา 181 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ ดังนี้ คำสั่งให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้ พิจารณาใหม่ของโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ทำให้คดีเสร็จไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 ประกอบมาตรา 225 จำเลยจึงฎีกาคำสั่งดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2550
การที่จะให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้นั้น จะต้องแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเหตุสมควรที่มาศาลในวันนัดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 166 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 181 คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ทราบวันเวลานัดดังกล่าวโดยชอบแล้ว แต่มิได้มาศาลตามกำหนดนัด เนื่องจากทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เดินทางไปว่าความในคดีอื่นที่ศาลได้นัดพิพากษาตามยอมในวันเดียวกัน โดยไม่ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาในคดีนี้ ซึ่งทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นคนนัดวันนัดสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ไว้เอง ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ชอบที่จะแจ้งต่อศาลในคดีอื่นว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ติดการพิจารณาของศาลในคดีนี้ และขอให้ศาลในคดีอื่นนัดพิจารณาตามยอมในวันอื่น ไม่ควรนัดให้ซ้อนกัน แต่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ก็หาได้กระทำไม่ นับว่าเป็นความบกพร่องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เอง ทั้งเมื่อมีเหตุขัดข้องทำให้ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ก็ต้องแจ้งเหตุขัดข้อง ต่อศาลในคดีนี้ทันที การที่ทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เพียงแต่บอกให้โจทก์ที่ 1 มาศาลเพื่อตอบคำถามค้านของทนายจำเลยให้เสร็จโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้ศาลใน คดีนี้ทราบ แสดงให้เห็นว่าทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ไม่เห็นถึงความสำคัญในเวลานัดของศาลในคดีนี้ เหตุขัดข้องของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อให้ศาลชั้นต้นยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ได้ แม้โจทก์ที่ 1 จะมีใบรับรองแพทย์และรายงานแพทย์มาแสดงว่าโจทก์ที่ 1 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในวันดังกล่าว โดยมีอาการโรคกระเพาะและแน่นหน้าอกก็ตามแต่ตามรายงานแพทย์ดังกล่าวได้สรุปผล การตรวจว่า โจทก์ที่ 1 มีปัญหาระบบย่อยอาหารโดยไม่มีโรคหัวใจ เนื่องจากอุดตันของเส้นโลหิตแต่อย่างใด ทั้งโจทก์ที่ 1 ยังสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปยังสำนักงานของทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ได้ แสดงว่าอาการป่วยของโจทก์ที่ 1 ไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่จะทำให้โจทก์ที่ 1 ไม่สามารถแจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นได้โดยสามารถสอบถามหมายเลขโทรศัพท์ ของศาลชั้นต้นจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งให้บริการสอบถามหมายเลข โทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมงได้ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ศาลชั้นต้นรอจนถึงเวลา 15.30 นาฬิกา นับว่าเป็นระยะเวลานานพอที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 จะโทรศัพท์แจ้งเหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดมาแจ้ง เหตุขัดข้องต่อศาลชั้นต้นอันอยู่ในวิสัยที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 สามารถจะกระทำได้แต่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 และทนายโจทก์ที่ 1 และที่ 3 หาได้ดำเนินการดังกล่าวไม่ พฤติการณ์ของฝ่ายโจทก์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล ล่าช้า กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลชั้นต้นจะยกคดีนี้ขึ้นพิจารณาใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10667/2550
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การพนันฯ โดยบรรยายฟ้องในตอนต้นว่าจำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันเล่นการพนันสลากกินรวบ พนันเอาทรัพยสินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต และโจทก์บรรยายฐานะของจำเลยผู้เล่นในตอนท้ายว่า โดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ และขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 12 ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดตามมาตราที่ขอให้ลงโทษจำเลยแล้ว ส่วนผู้เล่นที่หลบหนีจะเป็นคนเดินโพยหรือผู้เล่น รวมทั้งชื่อผู้เล่นที่หลบหนีว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน เป็นคนไทยหรือต่างด้าว มิใช่องค์ประกอบความผิดที่โจทก์จะต้องกล่าวมาในฟ้อง เมื่อจำเลยให้การับสารภาพตามฟ้อง แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาตามฟ้องได้ดีจึงมิใช่ฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด

ข้อหาความผิดที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานเล่นการพนันสลากกินรวบ โดยจำเลยเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้ตาม พ.ร.บ.การพนันฯ มาตรา 12 (1) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน ขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไปจนถึง 5,000 บาท เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวในศาลชั้นต้นเป็นองค์คณะมีอำนาจ พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) แม้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลจังหวัดจะต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนจึงเป็น องค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็อยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 25 ด้วย ดังนั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิจารณาพิพากษาโดยลงชื่อผู้พิพากษาคนเดียว ลงโทษจำคุกจำเลย 2 เดือน ซึ่งไม่เกิน 6 เดือน จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5) ประกอบมาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6406/2549
แม้ป.วิ.อ. มาตรา 159 กำหนดแต่เพียงว่า เมื่อโจทก์ต้องการให้เพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบให้กล่าวมาในฟ้อง มิได้กำหนดให้อ้างมาตราในกฎหมายที่ขอเพิ่มโทษไว้ดังเช่นการฟ้องคดีที่ต้อง อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษใน ประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และบรรยายมาในฟ้องเกี่ยวกับการขอเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองเคย ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และพ้นโทษมาแล้วกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ โดยมีคำขอท้ายฟ้องเพียงว่าขอให้เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองตามกฎหมาย แต่คำขอดังกล่าวเป็นกรณีที่อาจเพิ่มโทษได้กึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 หรือเพิ่มโทษได้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 เมื่อคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่แน่ชัดว่าประสงค์ให้เพิ่มโทษตามบทกฎหมายใด จึงต้องตีความให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์เพิ่มโทษจำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามสำหรับความผิดฐานมียาเสพ ติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจึงชอบแล้ว และเมื่อจะต้องลงโทษปรับจำเลยทั้งสองในการกระทำความผิดฐานนี้ด้วยย่อมเพิ่ม โทษปรับได้ เพราะเป็นกรณีมีการลงโทษในการกระทำความผิดฐานนี้ถึงจำคุกมิใช่ลงโทษฐานนี้ เพียงปรับสถานเดียว

คดีนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาเรียงกระทงลงโทษ จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานมีวัตถุออกฤทธิ์ จำคุก 5 ปี ฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืน ฯ จำคุก 1 ปี ความผิดของจำเลยที่ 2 แต่ละกระทงเข้าหลักเกณฑ์ที่จะเพิ่มโทษได้แล้วย่อมต้องเพิ่มโทษทุกกระทงความ ผิด แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 สำหรับความผิดกระทงอื่นได้อีกเพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5917/2549
ขณะที่จำเลยกระทำความผิดคดีนี้และคดีอาญาอีก 32 คดี จำเลยเป็นกรรมการกองทุนหมู่บ้าน บ. มีเจตนาเบียดบังเอาเงินของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน บ. ที่มอบหมายให้จำเลยนำไปชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน บ. ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ลักษณะแห่งคดีและความผิดเป็นอย่างเดียวกัน ซึ่งโจทก์อาจยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกันได้ คดีนี้และคดีอาญาอีก 32 คดี จึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อจึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (2) กล่าวคือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วจะเกินกว่า 20 ปี ไม่ได้

แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่ สุดโดยให้นับโทษคดีนี้ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 111/2547 ของศาลชั้นต้น รวมแล้วเกิน 20 ปี จนคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม หากปรากฏว่าการนับโทษต่อดังกล่าวขัดต่อ ป.อ. มาตรา 91 (2) ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมมีคำสั่งแก้ไขหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดใหม่ เป็นไม่นับโทษต่อจากโทษในคดีดังกล่าวได้ไม่เป็นการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงคำ พิพากษาศาลชั้นต้นแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องการบังคับคดีที่ศาลจะต้องออกหมายบังคับคดีถึงที่สุดให้ถูกต้องตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4825/2549
ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าว จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่มีอำนาจยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยอีก การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกความผิดฐานดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานดัง กล่าวด้วยแม้จะไม่ได้กำหนดโทษ ก็เป็นการไม่ชอบ ส่วนความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย จำคุก 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้เป็นคนร้ายคดีนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาอาวุธปืน เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9072 - 9074/2549
ศาลชั้นต้นไม่ประทับฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเห็นว่า โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการหรือละเว้นกระทำการตามหน้าที่มิให้มีการยกเลิกการใช้ชื่อของโจทก์ใน เอกสารของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานโจทก์ยังไม่มีมูลให้พอฟังว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 264, 268 และ 269 จึงเท่ากับศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานโจทก์แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ร่วมรู้เห็นกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล และตามกฎหมายความประสงค์ของนิติบุคคลย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของนิติบุคคล การที่ศาลชั้นต้นประทับฟ้องจำเลยที่ 1 จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ว่าการกระทำอันเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เกิดจากการกระทำหรือละเว้นการกระทำตามหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 โดยตรง อันเป็นการโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อคดีนี้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264, 268 และ 269 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 ประกอบมาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวโดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ ในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7096/2549
คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 โจทก์ยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า กรณีศาลมีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูล โจทก์ย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง ให้ยกคำร้อง และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ จึงไม่ชอบ และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพียงแต่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยมิได้สั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับ อุทธรณ์และคำสั่งตามคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงของศาลชั้น ต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ชั้นสั่งรับอุทธรณ์เสียใหม่ให้ถูก ต้อง เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่ศาลฎีกาเห็นเป็นการจำเป็นที่จะยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5918/2549
ตามฟ้องโจทก์ปรากฏแต่เพียงลายมือชื่อผู้พิมพ์และผู้เรียงเท่านั้น ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์ จึงถือเป็นฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) หากศาลชั้นต้นตรวจพบข้อผิดพลาดดังกล่าวก็จะใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 สั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้องได้ แต่ถ้าศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนคดีขึ้นมาสู่ศาล อุทธรณ์ภาค 9 แล้ว การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องและดำเนิน กระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งกรณีดังกล่าวไม่เข้าเหตุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ย่อมไม่มีวิธีปฏิบัติเป็นอย่างอื่น นอกจากต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2151/2548
คดีราษฎรฟ้องความอาญาต่อศาล ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 165 วรรคสาม ตอนท้าย บัญญัติว่าก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น ในชั้นนี้จำเลยจึงไม่มีฐานะเป็นคู่ความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวน มูลฟ้องต่อไป เป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1966/2548
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยบรรยายฟ้องในข้อหานี้เพียงว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 รู้อยู่แล้วว่าโจทก์กับพวกไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่จำเลยที่ 3 และที่ 4 กลับร่วมกันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีแก่โจทก์กับพวกเป็นเหตุให้ โจทก์กับพวกถูกควบุคมตัวเป็นผู้ต้องหา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง สิทธิเสรีภาพของโจทก์กับพวก เท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการบ่าย เบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกแต่อย่างใด ดังนั้นแม้จะได้ความตามทางพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีพฤติการณ์ในทางบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของ โจทก์กับพวกก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวนั้นได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง" กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 4 ไม่ควรต้องรับโทษและศาลต้องยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะเห็นว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 มีมูลและสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้วก็ตาม แต่ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาล อุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2548)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2777/2545
วันนัดสืบพยานโจทก์ ระหว่างผู้พิพากษารออ่านรายงานกระบวนพิจารณา จำเลยได้พูดต่อหน้าผู้พิพากษา ทนายจำเลยและพยานว่า "ทนายความคนนี้ใช้ไม่ได้ ทั้งประเทศไทยมีทนายความแบบนี้อยู่คนเดียว ชอบหาเรื่องกลั่นแกล้งจำเลย ประเทศชาติอยู่ไม่ได้แน่ ถ้ายังมีทนายความประเภทนี้ อย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล" และเมื่อผู้พิพากษาตักเตือน จำเลยยังพูดต่ออีกว่า "ท่านครับอย่าปล่อยให้คนชั่วลอยนวล" เป็นการระบายความรู้สึกของจำเลยที่มีต่อโจทก์และเป็นการวิจารณ์การทำงานใน หน้าที่ทนายความของโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามกับจำเลยในความรู้สึกว่าจำเลย ถูกกลั่นแกล้งมิใช่เป็นการใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ไม่เป็นหมิ่นประมาท

ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแม้ศาลจะพิจารณาเพียงว่าคดีโจทก์พอมีมูลที่จะประทับฟ้องไว้หรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดศาลก็ชอบที่จะวินิจฉัยและ พิพากษายกฟ้องไปได้เลย ไม่จำเป็นต้องประทับฟ้องไว้แล้วพิจารณายกฟ้องในภายหลัง