หมายขัง จำคุก หมายปล่อย

มาตรา ๗๑ เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา ๘๗ หรือมาตรา ๘๘ ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๖๖ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมายขังคงใช้ได้อยู่จนกว่าศาลจะได้เพิกถอน โดยออกหมายปล่อยหรือออกหมายจำคุกแทน

ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นมีอายุไม่ถึงสิบแปดปีหรือเป็นหญิงมีครรภ์หรือเพิ่งคลอดบุตรมาไม่ถึงสามเดือน หรือเจ็บป่วยซึ่งถ้าต้องขังจะถึงอันตรายแก่ชีวิต ศาลจะไม่ออกหมายขังหรือจะออกหมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกขังอยู่นั้นก็ได้ แต่ทั้งนี้ไม่ห้ามศาลที่จะมีคำสั่งให้ผู้นั้นอยู่ในความดูแลของเจ้าพนักงานหรือบุคคลที่ยินยอมรับผู้นั้นไว้ หรือกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ถ้าศาลมีคำสั่งเช่นว่านี้ในระหว่างสอบสวน ให้ใช้ได้ไม่เกินหกเดือนนับแต่วันมีคำสั่ง แต่ถ้ามีคำสั่งในระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือระหว่างพิจารณา ให้ใช้ได้จนกว่าจะเสร็จการพิจารณา หากภายหลังที่ศาลมีคำสั่ง ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นไม่ปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดหรือพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือพิจารณาออกหมายขังได้ตามที่เห็นสมควร

มาตรา ๗๒ หมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ตามหมายศาล ให้ออกในกรณีต่อไปนี้
(๑) เมื่อศาลสั่งปล่อยชั่วคราว

(๒) เมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนขอให้ศาลปล่อย โดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องขังไว้ระหว่างสอบสวน

(๓) เมื่อพนักงานอัยการร้องต่อศาลว่าได้ยุติการสอบสวนแล้ว โดยคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา

(๔) เมื่อพนักงานอัยการไม่ฟ้องผู้ต้องหาในเวลาที่ศาลกำหนด

(๕) เมื่อศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีไม่มีมูลและสั่งให้ยกฟ้อง เว้นแต่เมื่อโจทก์ร้องขอและศาลเห็นสมควรให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา

(๖) เมื่อโจทก์ถอนฟ้องหรือมีการยอมความในคดีความผิดต่อส่วนตัว หรือเมื่อศาลพิจารณาแล้วพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกฟ้อง เว้นแต่ศาลเห็นสมควรให้ขังจำเลยไว้ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา

(๗) เมื่อศาลพิพากษาให้ลงโทษจำเลยอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษประหารชีวิต จำคุกหรือให้อยู่ภายในเขตที่อันมีกำหนด ถ้าโทษอย่างอื่นนั้นเป็นโทษปรับเมื่อจำเลยได้เสียค่าปรับแล้ว หรือศาลให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีกำหนดวันเพื่อให้จำเลยหาเงินค่าปรับมาชำระต่อ ศาล

มาตรา ๗๓ คดีใดอยู่ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ถ้าจำเลยต้องควบคุมหรือขังมาแล้วเท่ากับหรือเกินกว่ากำหนดจำคุกหรือกำหนดจำคุกแทนตามคำพิพากษา ให้ศาลออกหมายปล่อยจำเลย เว้นแต่จะเห็นสมควรเป็นอย่างอื่นในกรณีที่โจทก์ อุทธรณ์ฎีกาในทำนองขอให้เพิ่มโทษ

มาตรา ๗๔ ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๗๓ และ ๑๘๕ วรรคสอง เมื่อผู้ใดต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือประหารชีวิตหรือจะต้องจำคุกแทนค่าปรับ ให้ศาลออกหมายจำคุกผู้นั้นไว้

มาตรา ๗๕ เมื่อผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุกถูกจำครบกำหนดแล้ว หรือได้รับพระราชทานอภัยโทษให้ปล่อย หรือมีคำวินิจฉัยให้ปล่อยตัวไปโดยมีเงื่อนไข หรือมีกฎหมายยกเว้นโทษหรือโทษจำคุกนั้นหมดไปโดยเหตุอื่น ให้ศาลออกหมายปล่อยผู้นั้นไป

มาตรา ๗๖ หมายขัง หมายจำคุก หรือหมายปล่อย ต้องจัดการตามนั้นโดยพลัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4752/2549
เมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยและศาลประทับฟ้อง ศาลย่อมมีอำนาจออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 และมาตรา 88 ที่ใช้ขณะยื่นคำร้องและที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนต่างหากจากการจับกุมและควบคุมจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจที่ ผู้ร้องอ้างว่ามิชอบด้วยกฎหมาย การคุมขังจำเลยระหว่างพิจารณาจึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7116/2544
สิทธิในการร้องขอให้ศาลสั่งปล่อยตัวจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายมีอยู่เพียงชั่วระยะเวลาที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น

ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานตำรวจค้น จับกุมและคุมขังผู้ร้องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการได้ฟ้องผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นในความผิดที่ผู้ร้องอ้างว่าการค้น จับกุมและคุมขังโดยมิชอบ เมื่อการคุมขังเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดไปตั้งแต่ศาลประทับฟ้องและออกหมายขัง ผู้ร้องในระหว่างพิจารณา สิทธิของผู้ร้องที่จะร้องขอให้ปล่อยจากการคุมขังอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงระงับ

การตรวจค้น จับกุมและการคุมขังของเจ้าพนักงานตำรวจชั้นแรกเป็นขั้นตอนต่างหากจากการสอบสวน ทั้งการสอบสวนจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพียงใด เป็นเรื่องที่ต้องวินิจฉัยในชั้นพิจารณาของศาล เมื่อผู้ร้องถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลและศาลประทับฟ้องและออกหมายขัง ผู้ร้องไว้ระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 58 (4), 71 และ 88 ซึ่งเป็นอำนาจที่จะดำเนินการได้แล้ว การคุมขังผู้ร้องจึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 90 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 240

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6163/2544
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการจำหน่ายยาเสพติดให้โทษเฮโรอีนตามพระราช บัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,66 วรรคสองประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ก็ต้องออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดให้ตรงตามคำพิพากษาดังกล่าว ส่วนจำเลยจะได้รับการลดโทษจากพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2542 หรือไม่เพียงใด จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาที่จะทำการตรวจสอบ ผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ จำเลยจึงชอบที่จะไปร้องให้ถูกทาง จะขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกใหม่ระบุเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 เพื่อมีผลให้จำเลยได้รับอภัยโทษหาได้ไม่

คำสั่งคำร้องที่ 309/2529
ความว่าจำเลยทั้งสองถูกจำคุกเกินคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วเมื่อโจทก์มิได้ฎีกาขอ เพิ่มโทษ จำเลยทั้งสองจึงควรได้รับการปล่อยตัว โปรดมีคำสั่งปล่อยจำเลยทั้งสองด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งห้ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วางโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 จำคุกจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 คนละ2 ปี
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยทั้งห้าในข้อหาใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวล กฎหมายอาญามาตรา 268 ด้วย ฯลฯ แต่เห็นสมควรให้ขังจำเลยทั้งห้าไว้ในระหว่างฎีกา

โจทก์ฎีกา

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำร้องนี้

จำเลย ที่ 1 ที่ 2 ถูกจำคุกตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดลงวันที่ 21 กันยายน 2527 นับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2526เป็นต้นไป และจำเลยทั้งสองยังคงถูกขังในระหว่างฎีกา ตามหมายขังระหว่างพิจารณา ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2528 และ 29 ตุลาคม 2528

คำสั่ง
คดี นี้โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องขังมาเกินกว่ากำหนดโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว ให้ศาลชั้นต้นออกหมายปล่อยจำเลยที่ 1 ที่ 2 ทันทีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 73

คำสั่งคำร้องที่ 473/2527
จำเลยต้องขังมาเกินกว่ากำหนดจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและโจทก์มิได้ฎีกาทำนองขอให้เพิ่มโทษให้ศาลชั้นต้นออกหมายปล่อยจำเลยไป

คำสั่งคำร้องที่ 337/2521
กรณีศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ขังจำเลยระหว่างฎีกานั้น หากปรากฏว่าจำเลยต้องขังมาเกินกำหนดโทษจำคุกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และโจทก์ไม่ได้ฎีกาทำนองขอให้เพิ่มโทษจำเลยย่อมยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมาย ปล่อยได้