อำนาจพนักงานสอบสวน

อำนาจพนักงานสอบสวน


มาตรา ๑๓๓ พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลใดซึ่งมีเหตุ อันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่คดีให้มาตามเวลาและสถานที่ใน หมายแล้วให้ถามปากคำบุคคลนั้นไว้


การถามปากคำนั้นพนักงานสอบสวนจะให้ผู้ให้ถ้อยคำสาบานหรือปฏิญาณตัวเสียก่อนก็ ได้ และต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยพยานบุคคล


ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนตักเตือน พูดให้ท้อใจหรือใช้กลอุบายอื่นเพื่อป้องกันมิให้บุคคลใดให้ถ้อยคำ ซึ่งอยากจะให้ด้วยความเต็มใจ


ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิง ให้พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นหญิงเป็นผู้สอบสวน เว้นแต่ผู้เสียหายนั้นยินยอมหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่น และให้บันทึกความยินยอมหรือเหตุจำเป็นนั้นไว้ ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะขอให้บุคคลใดอยู่ร่วมในการถามปากคำนั้นด้วยก็ได้


ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานยืนยันตัวผู้กระทำความผิด ในชั้นจับกุมหรือชี้ตัวผู้ต้องหาในคดีอาญา ให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนจัดให้มีการยืนยันตัวผู้กระทำความผิดหรือชี้ตัวผู้ต้องหา ในสถานที่ที่เหมาะสม และสามารถจะป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องหาเห็นตัวผู้เสียหายหรือ พยาน โดยให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เสียหายหรือพยานเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์ แห่งกรณี เว้นแต่ผู้เสียหายหรือพยานนั้นยินยอม และให้บันทึกความยินยอมนั้นไว้


มาตรา ๑๓๓ ทวิ ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอ การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามปากคำเด็กคนใด หรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตาม ประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลาย ครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร


ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคม สงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการทราบ รวมทั้งแจ้งให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กทราบถึงสิทธิตามวรรคหนึ่งด้วย


นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการที่เข้าร่วมในการถามปากคำอาจถูกผู้เสียหายหรือพยานซึ่ง เป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น


ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๓๙ การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่ง สามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน


ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนัก สังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้ ให้พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็กโดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามวรรคหนึ่งอยู่ร่วม ด้วยก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน และมิให้ถือว่าการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กในกรณีดังกล่าวที่ ได้กระทำไปแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมาย


มาตรา ๑๓๓ ตรี ในกรณีที่พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องจัดให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีชี้ตัวบุคคลใด ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการชี้ตัวบุคคลในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและสามารถป้องกันมิให้บุคคลซึ่งจะถูกชี้ตัวนั้นเห็นตัวเด็กโดยให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการชี้ตัวบุคคลนั้น เว้นแต่มีเหตุจำเป็นไม่อาจหาหรือรอบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้และเด็กไม่ประสงค์จะ ให้มีหรือรอบุคคลดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ให้พนักงานสอบสวนบันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย


ในกรณีการชี้ตัวผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการชี้ตัวในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและสามารถ ป้องกันมิให้ผู้ต้องหาที่เป็นเด็กนั้นเห็นตัวบุคคลที่จะทำการชี้ตัว


มาตรา ๑๓๔ เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้ กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ


การแจ้งข้อหาตามวรรคหนึ่ง จะต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าผู้นั้นน่าจะได้กระทำผิดตามข้อหานั้น


ผู้ต้องหามีสิทธิได้รับการสอบสวนด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม


พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและที่จะแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตนได้


เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา ๗๑ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อขอออกหมายขังโดยทันที แต่ถ้าขณะนั้นเป็นเวลาที่ศาลปิดหรือใกล้จะปิดทำการ ให้พนักงานสอบสวนสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลในโอกาสแรกที่ศาลเปิดทำการ กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา ๘๗ มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม หากผู้ต้องหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานสอบสวนดังกล่าว ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจจับผู้ต้องหานั้นได้ โดยถือว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะจับผู้ต้องหาได้โดยไม่มีหมายจับ และมีอำนาจปล่อยชั่วคราวหรือควบคุมตัวผู้ต้องหานั้นไว้


มาตรา ๑๓๔/๑ ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้


ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้


การจัดหาทนายความตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้ทนายความที่รัฐจัดหาให้ได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่ กระทรวงยุติธรรมกำหนดโดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง


เมื่อได้จัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามแล้ว ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากทนายความไม่อาจมาพบผู้ต้องหาได้ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้พนักงานสอบสวนทราบหรือแจ้งแต่ไม่มาพบผู้ต้องหาภาย ในเวลาอันสมควร ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาไปได้โดยไม่ต้องรอทนายความ แต่พนักงานสอบสวนต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย


มาตรา ๑๓๔/๒ ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี


มาตรา ๑๓๔/๓ ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้


มาตรา ๑๓๔/๔ ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า


(๑) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้


(๒) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้


เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้


ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา ๑๓๔/๑ มาตรา ๑๓๔/๒ และมาตรา ๑๓๔/๓ จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้


มาตรา ๑๓๕ ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนทำหรือจัดให้ทำการใดๆ ซึ่งเป็นการให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับ หรือกระทำโดยมิชอบประการใดๆ เพื่อจูงใจให้เขาให้การอย่างใดๆ ในเรื่องที่ต้องหานั้น


มาตรา ๑๓๖(ยกเลิก)


มาตรา ๑๓๗ พนักงานสอบสวนขณะทำการอยู่ในบ้านเรือนหรือในสถานที่อื่นๆ มีอำนาจสั่งมิให้ผู้ใดออกไปจากที่นั้นๆ ชั่วเวลาเท่าที่จำเป็น


มาตรา ๑๓๘ พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนเองหรือส่งประเด็นไปสอบสวนเพื่อทราบความเป็นมาแห่งชีวิต และความประพฤติอันเป็นอาจิณของผู้ต้องหา แต่ต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบข้อความทุกข้อที่ได้มา


มาตรา ๑๓๙ ให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการ สอบสวนและให้เอาบันทึก เอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้น ส่งมารวมเข้าสำนวนไว้


เอกสารที่ยื่นเป็นพยานให้รวมเข้าสำนวน ถ้าเป็นสิ่งของอย่างอื่นให้ทำบัญชีรายละเอียดรวมเข้าสำนวนไว้


เพื่อประโยชน์ในการติดตามพยานให้ไปตามกำหนดนัดของศาล ให้พนักงานสอบสวนบันทึกรายชื่อของพยานบุคคลทั้งหมดพร้อมที่อยู่หรือสถานที่ติดต่อหมายเลขโทรศัพท์หรือช่องทางอื่นที่ใช้ในการติดต่อพยานเหล่านั้นเก็บไว้ ณ ที่ทำการของพนักงานสอบสวน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1428/2563

คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ซึ่งให้การด้วยความสมัครใจและตามความสัตย์จริง โดยไม่มีเหตุจูงใจทั้งมีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนและลงลายมือชื่อไว้ แม้ทนายความที่เข้าร่วมฟังการสอบสวนจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นคนละคนก็ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้สงสัยว่าไม่มีทนายความเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วย เพราะ ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 กำหนดให้พนักงานสอบสวนจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาเท่านั้น กรณีการสอบสวนผู้ต้องหาหลายคนจึงไม่จำเป็นต้องมีทนายความคนเดียวกันเข้าร่วมฟังการสอบสวน คำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงรับฟังได้ แม้คำให้การชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่คำซัดทอดนั้นมิได้เป็นเรื่องปัดความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียว คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ได้ประสบมาจากการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยที่ 3 ทั้งไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 โดยจะรับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 ได้ต่อเมื่อมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เมื่อพยานพฤติเหตุแวดล้อมในคดีรับฟังประกอบคำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 แล้ว ทำให้คำซัดทอดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ประกอบไปด้วยเหตุผลและรับฟังเป็นความจริงได้ ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1354/2563

ตามภาพสเก็ตซ์คนร้ายเป็นภาพของคนวัยหนุ่มซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายบอกพันตำรวจโท ธ. ว่าคนร้ายเป็นชายฉกรรจ์ แต่ภาพของจำเลยขณะถ่ายภาพขอมีบัตรประชาชนอายุ 51 ปี เป็นวัยกลางคนค่อนไปทางชรามีลักษณะต่างวัยกันมาก นอกจากนี้ผู้เสียหายก็เบิกความตอบคำถามค้านด้วยว่า ในการชี้ภาพนั้นใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติหากผู้เสียหายสามารถจดจำคนร้ายได้ชัดเจนและสามารถยืนยันได้อย่างแน่นอนจริง พยานหลักฐานโจทก์มีลักษณะขัดแย้งกันและเป็นพิรุธในหลายจุด เมื่อประมวลวิเคราะห์เข้าด้วยกันแล้ว ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอและเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 659/2563

ป.วิ.อ. มาตรา 134 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหานั้น มีเจตนารมณ์เพียงเพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าจะถูกสอบสวนในเรื่องใดและทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิด โดยไม่จำต้องแจ้งทุกข้อหา ทุกตัวบทกฎหมาย และทุกกระทงความผิดเสมอไป เดิมพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่ากระทำความผิดในช่วงเวลาใดไว้ แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดในช่วงเวลาอื่นด้วย ก็สามารถสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำในช่วงเวลาอื่นเพิ่มเติมได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงวันเวลาอื่นโดยชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดที่จำเลยกระทำในช่วงเวลาที่การสอบสวนได้ความเพิ่มเติมได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5922/2562

ในการสอบปากคำผู้เสียหายซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มิได้บัญญัติการสอบไว้เฉพาะเหมือนดังเช่นการสอบปากคำผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามมาตรา 133 ทวิ ว่า จะต้องมีสหวิชาชีพร่วมอยู่ด้วยในการสอบปากคำเด็กนั้น ด้วยเหตุนี้พนักงานสอบสวนจึงชอบที่จะใช้วิธีการสอบปากคำผู้เสียหายคดีนี้ซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญาเช่นเดียวกับการสอบปากคำบุคคลปกติ เมื่อไม่ปรากฏว่าการสอบปากคำผู้เสียหายของพนักงานสอบสวนได้ให้คำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง ทรมาน ใช้กำลังบังคับหรือกระทำโดยมิชอบด้วยประการใดๆ เพื่อจูงใจให้ผู้เสียหายให้การ ก็ถือเป็นการสอบสวนโดยชอบเพื่อนำไปสู่กระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 2 ได้แล้ว ส่วนข้อเท็จจริงตามคำให้การของผู้เสียหายซึ่งไม่มีแพทย์ด้านจิตเวชศาสตร์และนักจิตวิทยาคลินิกและชุมชนเข้าร่วมฟังการสอบสวนจะมีความน่าเชื่อถือและรับฟังได้มากน้อยเพียงใด ถือเป็นดุลพินิจของศาลในขั้นตอนการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4265/2561

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาไว้ตามคำร้องของผู้ร้องมีกำหนด 12 วัน เพื่อสอบสวนดำเนินคดีผู้ต้องหาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาฎีกา เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา 71 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อออกหมายขังโดยทันที... กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา 87 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม..." มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" มาตรา 66 บัญญัติว่า "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี" ตามบทบัญญัติข้างต้นให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 คดีนี้ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกระบวนการก่อนฟ้องซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีตัวจำเลยในการพิจารณาคดีของศาล ทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 106 บัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นฝากขังระหว่างสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของผู้ร้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2561

ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้" ปรากฏตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยทราบ และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้ตามคำให้การดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะจัดหาหรือไม่จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2561

แม้ในชั้นพิจารณาผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. เบิกความว่าจำหน้าคนร้ายไม่ได้เพราะเกิดเหตุมานานสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็มีคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. ซึ่งคำให้การดังกล่าวระบุรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องต้องกัน โดยเฉพาะผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนแต่ก็ให้การถึงรูปพรรณสัณฐานของจำเลยไว้โดยละเอียด อีกทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ร. และ พ. พนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ยากที่พนักงานสอบสวนจะปั้นแต่งขึ้นเอง แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) แม้จำเลยจะไม่มีทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจของจำเลยเข้าร่วมในการสอบสวน แต่ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยระบุว่าก่อนสอบปากคำ พนักงานสอบสวนถามจำเลยว่าต้องการพบทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ อย่างไร จำเลยตอบว่าไม่ต้องการ ดังนี้ แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิดังกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยสละสิทธิในการมีทนายความ เมื่อคดีมีเพียงอัตราโทษจำคุกไม่ใช่มีอัตราโทษประหารชีวิต กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดหาทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7827/2560

การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ซึ่งหากผู้ต้องหาร้องขอ ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการสอบสวนนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามเด็กหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นกรณีเฉพาะบางฐานความผิดเท่านั้น ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย อันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุกซึ่งผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ นั้น มิได้หมายความรวมถึงความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกรณีความผิดอื่น ทั้งผู้ต้องหาเป็นเด็กไม่ได้ร้องขอให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาด้วย ข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แล้ว


พฤติการณ์ที่จำเลยเบิกความว่าไปที่ขนำและพบน้ำต้มพืชกระท่อมที่ยังเหลืออยู่ในหม้อซึ่ง ธ. กับพวกนั่งดื่มอยู่ จึงไปขอดื่มแล้วผสมกับโค้กและยาแก้ไอดื่มกิน โดยมีการกรองน้ำที่ได้จากการต้ม แต่จำเลยให้การชั้นสอบสวนว่า ขณะถูกจับกุมตนกำลังต้มน้ำพืชกระท่อมเพื่อดื่มกิน ดังนั้นไม่ว่าจำเลยต้มเองหรือน้ำต้มใบพืชกระท่อมที่ ธ. ต้มไว้อยู่แล้ว จำเลยมากรองเพื่อดื่มกินอย่างเดียว การกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกันในการต้มใบพืชกระท่อม เมื่อปรากฏปริมาณที่ต้มถึง 2.6 ลิตร ทั้งยังมีอุปกรณ์เป็นหม้อ และใบพืชกระท่อมที่ยังไม่ต้มจำนวนมาก ประกอบกับมีคนจำนวนหลายคนมามั่วสุมรวมตัวกันและวิ่งหลบหนีไปได้ และมีการผสมยาแก้ไอและน้ำอัดลมลงไปในน้ำต้มใบพืชกระท่อมทำให้มีความรุนแรงขึ้น กระทบต่อคนในสังคมจำนวนมากหากได้ดื่มกิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการ "ผลิต" ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7113/2559

บทบัญญัติมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดวิธีการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กในการจัดสถานที่ให้เหมาะสมและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กและเยาวชน ในการสอบปากคำจำเลยในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้จัดให้มีพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาเข้าร่วมฟังการสอบปากคำจำเลยในชั้นสอบสวน นอกจากจะเป็นไปตามความประสงค์ที่จำเลยเป็นผู้ร้องขอให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมฟังการสอบสวนแล้ว ยังเป็นไปตามวิธีการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชนที่กำหนดให้มีสหวิชาชีพ ในที่นี้คือพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยเพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 134/2 กรณีไม่อาจถือว่าพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาที่เข้าร่วมฟังการสอบสวนดังกล่าวเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นการประจานจำเลยดังที่จำเลยกล่าวอ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2185/2558

แม้ตามหนังสือที่ ศธ 0806/1917 มีใจความสำคัญว่า กรมสามัญศึกษาได้แจ้งการสนับสนุนให้โรงเรียนรับบริจาคเงินเพื่อการศึกษาไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโดยมีวัตถุประสงค์หรือไม่มีวัตถุประสงค์ก็ตาม ทั้งนี้ การรับบริจาคนั้นต้องไม่มีเงื่อนไขในการรับนักเรียน และหนังสือที่ ศธ 0804/5175 กรมสามัญศึกษาซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการรับบริจาคเงินและสิ่งของในช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนรับสมัครนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 4 ระบุว่า การรับบริจาคเงินและสิ่งของควรดำเนินการโดยไม่นำมาเป็นเงื่อนไขหรือข้อต่อรองในการรับนักเรียนเข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็นการรับนักเรียนกรณีพิเศษ หรือรับนักเรียนในพื้นที่บริการอันเห็นได้ว่าการรับบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเป็นสิ่งที่ไม่ควรดำเนินการ แต่ตามหนังสือที่ ศธ 0880/1523 ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดสุรินทร์มีหนังสือสั่งการไปยังโรงเรียนในสังกัดว่า ถ้าโรงเรียนได้รับเงินบริจาคโดยมีเงื่อนไขในการรับนักเรียนเข้าเรียนก็ขอให้โรงเรียนคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ปกครองทั้งหมด เงินที่มีผู้บริจาคโดยมีเงื่อนไขฝ่าฝืนต่อหนังสือซักซ้อมความเข้าใจของกรมสามัญศึกษา จึงเป็นเงินของทางราชการเพราะเหตุว่ายังมีหน้าที่ต้องคืนให้แก่ผู้ปกครองซึ่งเป็นผู้บริจาค และแม้ทางปฏิบัติสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียน ส. เป็นผู้บริจาคเงินดังกล่าวโดยออกใบเสร็จรับเงินให้ในนามของตนเองแทนโรงเรียนก็ไม่ทำให้เงินดังกล่าวไม่เป็นเงินของทางราชการ ซึ่งอยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลยเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการและกรมสามัญศึกษา การที่จำเลยรับเงินไว้ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งมีหน้าที่บริหารงานและกิจการการศึกษาของโรงเรียนตลอดจนบริหารงานและควบคุมดูแลด้านการเงินทุกประเภทของโรงเรียนให้เป็นไปโดยเรียบร้อย การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในการรับและเก็บรักษาเงินบริจาคดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย การที่จำเลยมิได้นำเงินเก็บรักษาไว้ตามระเบียบจนกระทั่งมีการร้องเรียนและตรวจสอบพบการกระทำของจำเลยจึงเป็นการเบียดบังเงินบริจาคของโรงเรียน ส. ที่อยู่ในหน้าที่จัดการหรือรักษาของจำเลย ไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147


ป.วิ.อ. มาตรา 133 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายเรียกผู้เสียหายหรือบุคคลใดซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าถ้อยคำของเขาอาจเป็นประโยชน์แก่คดีให้มาตามเวลาและสถานที่ในหมาย ดังนั้น การสอบสวนจึงกระทำในสถานที่ใดๆ ก็ได้ ไม่จำต้องเป็นที่สถานีตำรวจ


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14570/2558

แม้บันทึกแจ้งข้อกล่าวหาระบุแต่เพียงข้อหามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต พาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร แต่จำเลยก็แสดงท่าทางและนำชี้จุดที่มีการติดตามไล่ยิงผู้เสียหายทั้งสอง โดยมีคำอธิบายใต้ภาพอธิบายเหตุการณ์และจำเลยลงลายมือชื่อรับรองไว้ แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นอย่างดี และหลังจากนั้นก็มีการแจ้งข้อกล่าวหาพยายามฆ่าผู้อื่นแก่จำเลย จึงถือได้ว่ามีการแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคหนึ่ง ดังนี้ การที่พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปยังสถานที่เกิดเหตุและทำแผนประกอบคำรับสารภาพซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนก่อน แล้วจึงแจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบก็ไม่ทำให้การสอบสวนในคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9345/2558

บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 วรรคสาม กำหนดไว้ว่าถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 ในเรื่องการสอบถามและจัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้ต้องหานั้นไม่ได้เท่านั้น แต่หาได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด ๆ ที่ห้ามมิให้นำคำให้การชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาในลักษณะดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของบุคคลอื่นหรือจำเลยอื่นในคดีแต่ประการใดทั้งสิ้น ดังนั้น คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยจึงสามารถนำมาเป็นพยานหลักฐานประกอบในคดีเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยอื่นได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4765/2558

บันทึกคำให้การของผู้ต้องหา เป็นพยานบอกเล่าอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธต่อศาลและไม่มีข้อเท็จจริงแวดล้อมน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ลำพังรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้ ยิ่งบันทึกคำให้การของผู้ให้ถ้อยคำ ซึ่งจำเลยให้การปรักปรำตนเองโดยเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อหา ทำให้จำเลยไม่มีโอกาสต่อสู้เพื่อความบริสุทธิ์ของตน จึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานตำรวจยังไม่ได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 นอกจากจะเป็นพยานบอกเล่าแล้วยังไม่ชอบธรรมที่จะรับฟังเป็นผลร้ายแก่จำเลย ย่อมไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123/2557

ป.วิ.อ. ได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในชั้นแจ้งข้อหาตามมาตรา 134 ซึ่งความในวรรคหนึ่งกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ที่เกิดของผู้ต้องหาเป็นประการแรก ต่อจากนั้นจึงแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ผู้ต้องหาทราบ รวมทั้งให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อหาและแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ตน ดังนั้น เมื่อเริ่มทำการสอบสวนพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตนเองตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีสภาพบังคับทางอาญาดังที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 367 ภายใต้หลักเกณฑ์ที่พนักงานสอบสวนต้องให้โอกาสผู้ต้องหาที่จะแก้ข้อกล่าวหาและแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคสี่เพื่อให้การสอบสวนดำเนินต่อไปได้ถูกต้องและชอบธรรม ส่วนการถามคำให้การผู้ต้องหาอันเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 บัญญัติให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งสิทธิในการให้ทนายความและบุคคลที่ผู้ต้องหาไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำ ซึ่งเป็นขั้นตอนเมื่อผ่านการแจ้งข้อหาแก่ผู้ต้องหาแล้ว ไม่อาจแปลความไปถึงขนาดให้สิทธิผู้ต้องหาที่จะปฏิเสธอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเมื่อเริ่มทำการสอบสวนดังกล่าวข้างต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแจ้งให้ร้อยตำรวจโท ด. เจ้าพนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกคำให้การของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นว่าจำเลยเป็น ธ. ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว หลังจากนั้นเมื่อพนักงานสอบสวนเรียกตัวจำเลยไปสอบถามเนื่องจากจำเลยผิดเงื่อนไขการคุมความประพฤติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยแจ้งความเท็จและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของ ธ. เพื่อให้ร้อยตำรวจโท ด. หลงเชื่อว่าจำเลยเป็น ธ. จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการให้การและใช้สิทธิในขั้นตอนการทำคำให้การที่จำเลยเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4 (1) การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137, 267, 367


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3432/2557

ความผิดฐานแข่งรถในทางโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานอันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบก เป็นความผิดอื่นซึ่งกฎหมายมิได้บังคับว่าพนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบปากคำผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ แต่อย่างใด ประกอบกับผู้ต้องหาไม่ได้ต้องการให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบปากคำ ในชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาทั้งยังให้ข้อเท็จจริงว่าคืนเกิดเหตุจำเลยได้ร่วมแข่งรถด้วยและหลังการแข่งขันมีเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของจำเลยในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนจึงเป็นพยานหลักฐานที่พิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11959/2556

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยออกเช็คธนาคาร ก. สาขาย่อยเซ็นทรัลปิ่นเกล้า รวม 2 ฉบับ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ต่อมาธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ทั้งนี้จำเลยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ฟ้องโจทก์จึงได้บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ส่วนที่ว่าหนี้เงินกู้ได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของจำเลยและวันที่ลงในเช็คพิพาท จำเลยมีเงินในบัญชีหรือไม่ เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้


แม้การยื่นหรือส่งคำคู่ความต้องทำตามแบบพิมพ์ที่จัดไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และโจทก์ยื่นฟ้องโดยมิได้ใช้กระดาษแบบพิมพ์ฟ้อง แบบ อ.ก. 20 ก็ตาม แต่ก็ไม่ทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบถึงขนาดที่จะรับไว้พิจารณาไม่ได้


การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งศาลดังที่บัญญัติไว้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 จำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าพนักงานสอบสวนและพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับ หรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว


จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2969/2556

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2550 มาตรา 5 ที่ใช้บังคับขณะที่มีการสอบสวนผู้เสียหายทั้งสอง แตกต่างจาก ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2542 เมื่อไม่ปรากฏว่า ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งเป็นวันที่ผู้เสียหายทั้งสองเข้าให้การตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว และคดีนี้ไม่ใช่คดีความผิดที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ เป็นเพียงคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายทั้งสองมิได้มีการร้องขอให้พนักงานสอบสวนทำการสอบปากคำดังที่บัญญัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไข) แต่อย่างใด การที่พนักงานสอบสวน ถามปากคำผู้เสียหายทั้งสองและบันทึกไว้จึงชอบแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11720/2555

เมื่อมีการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำความผิดอาญา บุคคลนั้นย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (2) พนักงานสอบสวนย่อมยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 66 เพื่อให้ได้ตัวมาสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) กำหนดให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจออกหมายจับได้ ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 59 วรรคสี่ ตอนท้าย กำหนดให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจับได้หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่า มีการออกหมายจับไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมาตรา 68 กำหนดให้หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน ดังนี้ อำนาจในการออกหมายจับผู้ต้องหาจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกหรือเพิกถอนหมายจับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือฎีกาอีกไม่ได้


ปัญหาว่าผู้ร้องมีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6352/2555

โจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลได้ เนื่องจากผู้เสียหายย้ายที่อยู่หาตัวไม่พบ คำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนแม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ผู้เสียหายได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนโดยมีนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำผู้เสียหายด้วย มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำผู้เสียหายดังกล่าวออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ซึ่งการที่ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความเพราะมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนดังกล่าวได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4559/2555

ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้พนักงานสอบสวนฟัง พนักงานสอบสวนจะต้องเป็นผู้ที่คิดตั้งข้อหาขึ้นเพื่อดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหาตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการรับแจ้งความ ครั้งแรกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากระทำอนาจารและทำร้ายร่างกาย แต่เมื่อพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานต่อไปรวมทั้งสอบปากคำผู้เสียหายแล้ว เห็นว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิดในข้อหากรรโชกอีกในคราวเดียวกันด้วย พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ต้องหาได้


แม้จำเลยจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงก็ตาม แต่ปรากฏว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่อาจอนุญาตให้ฎีกาได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1214/2555

คำให้การชั้นสอบสวนของ จ. และ ก. ที่ว่า จำเลยมอบเงินให้ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน 1,000 เม็ด แม้เป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่มิได้เป็นการปัดความรับผิดของผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยเพียงผู้เดียว ทั้งศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษ จ. และ ก. แล้ว คำซัดทอดจึงเป็นการแจ้งเรื่องราวที่ตนได้ประสบมาจากการกระทำของตนยิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลย จ. และ ก. รู้จักจำเลยมาก่อน ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกัน ต่างเบิกความยืนยันการกระทำของจำเลยเช่นเดียวกับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน โดย จ. เบิกความถึงคำให้การในชั้นสอบสวนของตนว่าไม่ได้ถูกบังคับขู่เข็ญ ส่วน ก. อายุไม่เกิน 18 ปี ให้การต่อหน้าพนักงานอัยการ นักจิตวิทยา และทนายความ ฉะนั้น คำซัดทอดของ จ. และ ก. จึงเป็นพยานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง ประกอบกับจำเลยไปยืมรถจักรยานยนต์จาก ล. มาให้ จ. ขับไปซื้อเมทแอมเฟตามีน จึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ใช้ให้ จ. ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน เมื่อ จ. และ ก. ไปซื้อเมทแอมเฟตามีน จำเลยจึงเป็นผู้ก่อให้ จ. และ ก. ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ประกอบ ป.อ. มาตรา 84 แต่ระหว่างทางที่จะนำเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลย จ. และ ก. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน จำเลยยังมิได้ร่วมกับ จ. และ ก. ครอบครองเมทแอมเฟตามีน จึงมิใช่ตัวการร่วมกระทำความผิดด้วยกันตาม ป.อ. มาตรา 83 ดังที่โจทก์ฟ้อง ซึ่งเป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญ ลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้ใช้ให้ จ. และ ก. กระทำความผิดไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. 192 วรรคสอง แต่การกระทำความผิดของจำเลยถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8542/2554

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นั่งรถคันเดียวกันมาที่ร้านอาหาร แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เจรจาตกลงขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ดาบตำรวจ ก. ต่อมาสิบตำรวจโท ป. พาจำเลยที่ 3 ไปตรวจนับเงินค่าเมทแอมเฟตามีน วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มาที่จุดนัดหมาย จำเลยที่ 1 ตรวจนับเงิน จำเลยที่ 2 พาสิบตำรวจโท ป. ไปรับเมทแอมเฟตามีนที่สถานีบริการน้ำมันคิวเอท ส่วนจำเลยที่ 4 นำเมทแอมเฟตามีนมามอบให้จำเลยที่ 2 ที่สถานีบริการน้ำมันคิวเอทและจำเลยที่ 2 ส่งมอบต่อให้สายลับในทันที พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสี่ฟังได้ว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันรู้เห็นเป็นใจและแบ่งหน้าที่กันทำมาตั้งแต่ต้น


ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนซึ่งเจ้าพนักงานไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ทราบก่อนและไม่ได้แจ้งว่าจะไม่ให้การก็ได้เป็นพยานหลักฐานที่รับฟังไม่ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84, 134/1 และ 134/4 นั้น เห็นว่า มาตรา 84, 134/1 และ 134/4 ได้มีการแก้ไขโดยพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 4 ได้กระทำขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับ คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐาน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7703/2554

คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยที่ 2 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 134/1 ถ้อยคำใดๆ ที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้ในชั้นสอบสวน ย่อมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ตามมาตรา 134/4 วรรคท้าย ดังนี้ จึงไม่อาจฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ที่ให้การว่าขณะจำเลยที่ 1 ตรวจนับเมทแอมเฟตามีนในห้องพัก จำเลยที่ 2 อยู่ด้วย มารับฟังเป็นพยานหลักฐานโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 ได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7060/2554

การสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปี ที่ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 134 ตรี ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการสอบสวนคดีนี้ มี 3 ประเภท ได้แก่ คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงสามปีซึ่งผู้ต้องหาที่เป็นเด็กร้องขอ และคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึง 3 ปี เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาร้องขอต่อพนักงานสอบสวนให้มีบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการถามปากคำ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2554

ปัญหาข้อกฎหมายว่า การค้นและการสอบสวนไม่ชอบ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ดังนี้ แม้หมายค้นจะระบุให้พันตำรวจโท ป. กับพวกมีอำนาจตรวจค้นบ้านเลขที่ 57/7 ข้างหมู่บ้าน ป.ผาสุก ส่วนบ้านจำเลยเป็นเลขที่ 67 ก็ตาม แต่บ้านจำเลยอยู่ข้างหมู่บ้าน ป.ผาสุก และพันตำรวจโท ป. ได้แนบหลักฐานภาพถ่ายจำเลยขณะอยู่ในบ้านประกอบคำขอเพื่อแสดงว่าประสงค์จะขอหมายค้นบ้านจำเลย การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาออกหมายค้นตามขอ จึงเป็นการให้อำนาจพันตำรวจโท ป. ค้นบ้านจำเลยนั่นเอง การตรวจค้นบ้านจำเลยตามหมายค้นจึงชอบด้วยกฎหมาย สิ่งของที่ได้จากการค้นย่อมนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานคดีนี้ได้


ตาม พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.2547 มาตรา 37 ให้ยกเลิกความเดิมตามมาตรา 134 และให้ใช้ข้อความใหม่ตามที่จำเลยอ้างแทน แต่มาตรา 2 กำหนดให้พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือ นับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลย้อนหลัง จึงไม่มีผลกระทบต่อกระบวนพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนี้ เมื่อจำเลยถูกจับส่งตัวให้พนักงานสอบสวนในวันที่ 15 ธันวาคม 2545 พนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิและแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้น โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำผิดก่อน ก็หาทำให้การสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบแต่อย่างใดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4813/2554

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีจึงต้องห้ามฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์มาโดยไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาจึงเป็นการไม่ชอบ แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วและข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีได้ความว่า จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ในวันเดียวกันพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และไม่ปรากฏว่ามีเหตุเข้าข้อยกเว้นที่จะจับโดยไม่มีหมายจับได้ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ที่จะต้องฟ้องคดีภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3939/2554

จำเลยเป็นชาวเขาเผ่าว้าไม่เข้าใจภาษาไทยและต้องสื่อสารกันด้วยภาษามือ กับจำเลยต้องเบิกความผ่านล่าม เชื่อว่าจำเลยไม่รู้และเข้าใจภาษาไทย การที่พันตำรวจโท ช. สอบปากคำจำเลยโดยไม่ได้จัดหาล่ามแปลให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 13 จึงยังถือไม่ได้ว่า จำเลยเข้าใจข้อหาและให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ ถ้อยคำรับสารภาพของจำเลยจึงไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7060/2554

การสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกิน 18 ปี ที่ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 134 ตรี ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการสอบสวนคดีนี้ มี 3 ประเภท ได้แก่ คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึงสามปีซึ่งผู้ต้องหาที่เป็นเด็กร้องขอ และคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่ถึง 3 ปี เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาร้องขอต่อพนักงานสอบสวนให้มีบุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการถามปากคำ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15274/2553

การที่ ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้พนักงานสอบสวน แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบก็เพื่อที่ผู้ต้องหาจะได้ทราบว่าตนถูกกล่าวหาหรือแจ้งข้อหาว่ากระทำผิดในข้อหาอะไร จะได้สามารถให้การแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างถูกต้อง แต่การแจ้งข้อเท็จจริงดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่หากพนักงานสอบสวนปฏิบัติผิดพลาดหรือบกพร่องแล้วจะทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามบันทึกคำให้การว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยได้ใช้ปืนยิงแมวของผู้กล่าวหาที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเข้าไปในบ้านจำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจได้ร่วมกันจับกุมจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนและมีข้อความต่อไปที่แสดงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ถือได้ว่ามีการแจ้งให้จำเลยทราบถึงข้อเท็จจริง และรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ดีแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ได้


จำเลยได้รับอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนพกขนาด .357 แม้เครื่องกระสุนปืนของกลางซึ่งมีขนาด .38 จะใช้กับอาวุธปืนพกขนาด .357 ได้แต่เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวก็มิใช่เครื่องกระสุนปืนสำหรับใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ จำเลยจึงมีความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนซึ่งมิใช่สำหรับใช้กับอาวุธปืนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้


โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องระบุคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2549 ซึ่งเป็นการระบุ พ.ศ. ของคำสั่งดังกล่าวผิดพลาด มิใช่เป็นเรื่องโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 อันเป็นกฎหมายที่ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า และกรณีดังกล่าวไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11742/2553

ตามรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2546 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 แถลงรับว่าในชั้นสอบสวนพันตำรวจตรี ธ. เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและเป็นผู้สอบคำให้การจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธและลงลายมือชื่อไว้จริงจึงถือได้ว่ามีการแจ้งข้อหาให้จำเลยที่ 2 ทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุแล้ว แม้จะมิได้มีการแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่จำเลยที่ 2 ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติขึ้นภายหลัง ก็ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป การสอบสวนจึงชอบแล้ว


เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ ชำระหนี้ค่าสินค้าให้แก่โจทก์ร่วม ทั้งยังให้ตัวอย่างลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คในนามจำเลยที่ 1 แก่ธนาคาร ดังนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นผู้สั่งซื้อสินค้าหรือมีหนี้สินใดกับโจทก์ร่วมโดยตรง เมื่อจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ร่วมในฐานะผู้สั่งจ่าย จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อเป็นการรับประกันหรือสร้างความน่าเชื่อถือในผลงานในฐานะเป็นวิศวกรโครงการไม่ได้ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย และธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสองฉบับ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10704/2553

ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสอง พนักงานสอบสวนเคยเรียกจำเลยทั้งสองไปสอบถามถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำไว้ตามบันทึกถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ที่เขียนด้วยลายมือของจำเลยที่ 2 เอง แสดงว่าจำเลยทั้งสองต่างรู้ดีถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ทั้งในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การว่า ทราบและเข้าใจข้อหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งดีแล้ว ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนไม่ได้กล่าวย้ำถึงข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเรื่องที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดอีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9071/2553

ขณะที่พนักงานสอบสวนสอบปากคำเด็กชาย ศ. ซึ่งมีอายุ 12 ปี และให้ชี้ภาพถ่ายซึ่งกระทำเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2542 นั้น ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 133 ตรี ซึ่งเพิ่มเติมโดยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 20)ฯ และต่อมาเฉพาะมาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง กับมาตรา 133 ตรี แก้ไขโดยมาตรา 5 และ 6 แห่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 26)ฯ ยังมิได้ใช้บังคับ ดังนี้การถามปากคำเด็กชาย ศ. และชี้ภาพถ่ายคนร้าย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2542 ของพนักงานสอบสวนโดยมิได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำจึงเป็นไปโดยชอบ ส่วนการชี้ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2542 ก็เป็นเพียงการชี้ภาพถ่ายในลักษณะของการสอบสวนเพิ่มเติม มิใช่เป็นการชี้ตัวผู้ต้องหาแต่อย่างใด และแม้พนักงานสอบสวนมิได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ทั้งไม่เข้าเหตุจำเป็นเร่งด่วนตาม 133 ทวิ วรรคท้าย ก็ตาม คงมีผลเพียงทำให้คำให้การและการชี้ภาพถ่ายในชั้นสอบสวนของเด็กชาย ศ. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2542 ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดไม่ จึงถือได้ว่ามีการสอบสวนโดยชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 120


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3511/2552

โจทก์ไม่สามารถนำผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความเป็นพยาน เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ย้ายที่อยู่หาตัวไม่พบ คำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นสอบสวนแม้เป็นพยานบอกเล่า แต่ผู้เสียหายที่ 1 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน นักจิตวิทยาและพนักงานอัยการโดยมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ตามแถบวิดีทัศน์ วัตถุพยานหมาย ว.จ.1 อันเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นพิจารณาของศาลประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (2)


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2834/2550

การที่จำเลยฎีกาว่า การสอบสวนไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ตรี เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้เด็กหญิง ณ. ผู้เสียหายชี้ตัวนั้น แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยเพิ่งยกขึ้นกล่างอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้และเห็นว่า มาตรา 133 ตรี หาใช่บทบัญญัติที่บังคับให้พนักงานสอบสวนต้องจัดให้มีการชี้ตัวทุกคดีไม่ กรณีเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะจัดให้มีการชี้ตัวหรือไม่ก็ได้ เพียงแต่ว่าหากจัดให้มีการชี้ตัวต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีการชี้ตัวจึงไม่มีกรณีที่จะต้อง ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้การสอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10238/2550

โจทก์มีเวลาที่จะติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลนับแต่วันฟ้องถึงวันนัดสืบ พยานโจทก์เป็นเวลา 5 เดือนเศษ ระหว่างนั้นศาลชั้นต้นได้นัดพร้อม 2 ครั้ง เพื่อตรวจสอบผลการส่งหมายแก่พยานโดยกำชับโจทก์ให้เร่งติดตามผู้เสียหายมาศาล ในวันนัดให้ได้ แต่พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลลอยๆ ในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่ายังไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัดของผู้เสียหาย ดังนั้น การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ศาลจึงไม่สามารถรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย ได้ คงรับฟังได้ในฐานะพยานบอกเล่าตามธรรมดาเท่านั้น


แม้จะได้ความจากเทปบันทึกภาพและเสียงคำให้การและบันทึกคำให้การของผู้เสีย หาย ซึ่งผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราหลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายอายุได้ 10 ปีก็ตาม แต่การสอบสวนดังกล่าวมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย จำเลยไม่มีโอกาสถ้ามค้านเพื่อให้ผู้เสียหายเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่อาจ เป็นการทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ได้ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์มี ณ. เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดพังงา มาเบิกควายืนยันว่าผู้เสียหายเล่าข้อเท็จจริงให้ฟังสอดคล้องกับคำให้การของ ผู้เสียหาย ก็เห็นได้ชัดว่า ณ. ได้รับการบอกเล่ามาจากผู้เสียหายอีกทีหนึ่ง คำเบิกความของ ณ. จึงไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด


เมื่อผู้เสียหายสมัครใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลย ผู้เสียหายก็น่าจะมาเบิกความต่อศาลให้เป็นที่สิ้นสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความ ผิดตามที่ผู้เสียหายกล่าวหาจริง การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาล จึงทำให้พยานโจทก์ยังตกอยู่ในความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือ ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6651/2550

การแจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 นั้น แม้พนักงานสอบสวนจะมิได้แจ้งข้อหาจำเลยทุกข้อหากระทงความผิดก็ตาม แต่เมื่อภายหลังได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ฐานอื่นด้วย ก็ถือได้ว่าได้มีการสอบสวนในข้อหาฐานอื่นที่มิได้แจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว เมื่อพนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟัองว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่นสร้างและแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติด้วยโดยบรรยายฟ้องว่าได้มีการสอบสวนความ ผิดฐานดังกล่าวแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าการสอบสวนไม่ชอบ จึงถือได้ว่ามีการสอบสวนในข้อหาตามฟ้องทุกข้อหาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3119/2550

แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 7/1 (2) จะบัญญัติให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนปากคำตนได้ในชั้นสอบสวนและมาตรา 134/3 บัญญัติว่าผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ และมาตรา 134/4 (2) บัญญัติในเรื่องการถามคำให้การผู้ต้องหานั้นให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่าผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้ก็ตาม แต่ในบทบัญญัติของมาตรา 134/4 วรรคท้าย ก็บัญญัติไว้แต่เพียงว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นก็หาทำให้การสอบสวนคดีไม่ชอบแต่อย่างใดไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7888/2549

ในกรณีการกระทำความผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกัน พนักงานสอบสวนหาจำต้องระบุถึงกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตราหรือทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไม่ แต่เมื่อใดแจ้งข้อหาอันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้ว ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วยอีก พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่า ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างออกไป และอยู่ในกฎหมายต่างฉบับกัน ก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานนี้แล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7667/2549

จ่าสิบตำรวจ ม. และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นบุตรเขยของผู้ตาย การที่จ่าสิบตำรวจ ม. มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยสืบสวนหาตัวคนร้ายจึงเป็นเรื่องปรกติและสมควร พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่ถูกสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการฆ่าผู้ตายเป็นเรื่องร้ายแรง หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดก็ต้องยืนยันปฏิเสธไว้จะยอมรับสารภาพไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดกับจ่าสิบตำรวจ ม. หรือบุคคลใดก็ตาม ทั้งการยอมรับสารภาพโดยคิดว่าจ่าสิบตำรวจ ม. จะช่วยเหลือพาหลบหนีได้ ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้น การที่จ่าสิบตำรวจ ม. สืบทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดและแจ้งต่อพนักงานสอบสวนจึงเป็นการช่วยเหลือพนักงานสอบสวนสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อจับกุมดำเนินคดีกับคนร้าย จึงถือไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5499/2549

จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนและส่งตัวจำเลยไปที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและ เยาวชนในวันเดียวกัน แล้วปล่อยตัวจำเลยไป โดยไม่มีการควบคุมตัวจำเลยไว้ หรือปล่อยตัวจำเลยชั่วคราวในระหว่างสอบสวน แสดงว่าจำเลยไม่ถูกพนักงานสอบสวนจับกุม เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับกุม จึงยังไม่มีจุดเริ่มต้นในการนับระยะเวลาในการฟ้องคดี โจทก์สามารถฟ้องจำเลยได้โดยไม่ต้องผัดฟ้องหรือได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7241/2549

ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีขึ้นไป และเป็นคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี กรณีต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ในการถามปากคำเด็กไว้ในฐานะผู้เสียหายให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่ เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กต่อหน้า ร. มารดาผู้เสียหายเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่ามีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วม ในการถามปากคำนั้นกับมิได้ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้บันทึกเหตุที่ไม่อาจรอ บุคคลอื่นดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 133 ทวิ วรรคท้ายด้วย การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กที่พนักงานสอบสวนได้กระทำไปจึงเป็นการไม่ ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แต่ก็หามีผลถึงขนาดทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด และถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อนอันจะทำให้พนักงานอัยการไม่ มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2549

ในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ในฐานะพยาน โดยไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำ คำให้การของเด็กหญิง ว. จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ผลของการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติมาตรานี้ คงทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของเด็กหญิง ว. ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 243 วรรคสอง เท่านั้น ไม่เป็นเหตุให้การสอบสวนของพนักงานสอบสวนเสียไปทั้งหมด ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้


แม้การสอบสวนเด็กหญิง ว. ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี จะไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้างเด็กหญิง ว. เป็นพยาน และเด็กหญิง ว. ได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี แล้ว ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของเด็กหญิง ว. เป็นพยานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2549

บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ ภ. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาด้วยกันที่ให้การซัดทอดว่าจำเลยร่วมลักทรัพย์ของผู้เสีย หายด้วย แต่ขณะสอบสวน ภ. อายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำด้วย เป็นคำให้การชั้นสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ที่ใช้บังคับในขณะสอบสวน บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 647/2549

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและ เยาวชนจังหวัดนครราชสีมามีกำหนด 3 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อย (ไม่ริบของกลาง) ฎีกาของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ใช้บังคับเฉพาะกรณีสอบปากคำจำเลยเท่านั้น ไม่ได้ใช้บังคับในการรวบรวมพยานหลักฐานอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น การที่พนักงานสอบสวนนำตัวจำเลยไปชี้ที่เกิดเหตุโดยไม่มีบุคคลต่าง ๆ อยู่ด้วย กับไม่มีการบันทึกภาพและเสียงของจำเลยในขณะให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนนั้นการ สอบสวนจึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2549

บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ ภ. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาด้วยกันที่ให้การซัดทอดว่าจำเลยร่วมลักทรัพย์ของผู้เสียหายด้วย แต่ขณะสอบสวน ภ. อายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำด้วย เป็นคำให้การชั้นสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ที่ใช้บังคับในขณะสอบสวน บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7667/2549

จ่าสิบตำรวจ ม. และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นบุตรเขยของผู้ตาย การที่จ่าสิบตำรวจ ม. มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยสืบสวนหาตัวคนร้ายจึงเป็นเรื่องปรกติและสมควร พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่ถูกสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการฆ่าผู้ตายเป็นเรื่องร้าย แรง หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดก็ต้องยืนยันปฏิเสธไว้จะยอมรับสารภาพไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดกับจ่าสิบตำรวจ ม. หรือบุคคลใดก็ตาม ทั้งการยอมรับสารภาพโดยคิดว่าจ่าสิบตำรวจ ม. จะช่วยเหลือพาหลบหนีได้ ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้น การที่จ่าสิบตำรวจ ม. สืบทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดและแจ้งต่อพนักงานสอบสวนจึงเป็นการช่วยเหลือพนักงาน สอบสวนสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อจับกุมดำเนินคดีกับคนร้าย จึงถือไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8314/2549

ในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิที่จะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้ เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพยานก่อนให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด จำเลยไม่จำต้องยกประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การก็มีสิทธิที่จะนำสืบใน ประเด็นนั้นๆ ได้ และมีอำนาจนำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้โดยไม่จำต้อง ซักถามพยานโจทก์ในเรื่องที่จำเลยจะนำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อไป


การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและทำการสอบสวนจำเลยแล้วได้สั่งปล่อยจำเลยชั่วคราว โดยมีประกันในวันเดียวกันไปจนถึงวันฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการจับกุมจำเลยในวันที่จำเลยเข้ามอบตัวแล้วตามป.อ. มาตรา 136 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น เมื่อคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท จึงอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้ บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 2 และมาตรา 3 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 และมาตรา 9 พนักงานอัยการโจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดสี่สิบแปดชั่วโมง หรือต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องครั้งแรกภายในสี่สิบแปดชั่วโมง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2549

บทบัญญัติใน ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดให้การสอบสวนผู้เสียหายหรือพยานอายุไม่เกิน 18 ปี พนักงานสอบสวนจะต้องกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนนั้นด้วย ซึ่งเป็นบทบังคับเด็ดขาดให้พนักงานสอบสวนต้องจัดทำ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวพร้อมกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคห้า คดีนี้ปรากฏว่าในชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ ว. ซึ่งมีอายุ 13 ปีเศษ ในฐานะพยาน โดยไม่จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำแต่อย่างใด ทั้งไม่เข้าเหตุกรณีจำเป็นเร่งด่วน ดังนี้ คำให้การของ ว. ในชั้นสอบสวนซึ่งไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว คงมีผลเพียงทำให้คำให้การในชั้นสอบสวนของ ว. ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เท่านั้น หาเป็นเหตุให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมดไม่ และถือได้ว่าได้มีการสอบสวนความผิดในคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง


แม้การสอบสวน ว. ซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี จะไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อในชั้นพิจารณาโจทก์อ้าง ว. เป็นพยานและ ว. ได้เบิกความต่อหน้าศาลโดยผ่านนักสังคมสงเคราะห์ซึ่งชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี แล้ว ศาลย่อมรับฟังคำเบิกความของ ว. ในชั้นศาลเป็นพยานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2549

บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของ ภ. ซึ่งเป็นผู้ต้องหาด้วยกันที่ให้การซัดทอดว่าจำเลยร่วมลักทรัพย์ของผู้เสียหายด้วย แต่ขณะสอบสวน ภ. อายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนไม่ได้จัดให้มีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำด้วย เป็นคำให้การชั้นสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ที่ใช้บังคับในขณะสอบสวน บันทึกคำให้การดังกล่าวจึงไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2215/2548

มาตรา 2 แห่ง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22)ฯ กำหนดให้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาคือนับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2547 เป็นต้นไป โดยไม่มีบทบัญญัติให้มีผลบังคับย้อนหลัง จึงไม่กระทบต่อกระบวนวิธีพิจารณาความอาญาที่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว ดังนั้น ข้อความในมาตรา 84 วรรคสุดท้ายแห่ง ป.วิ.อ. ที่แก้ไขใหม่ ที่บัญญัติว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับ... ถ้าถ้อยคำนั้นเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดห้ามมิให้รับ ฟังเป็นพยานหลักฐาน...นั้น หมายถึง ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับภายหลังจากที่ พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วเท่านั้น แต่คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมคดีนี้ จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานผู้จับก่อนที่ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จึงไม่ต้องห้ามใช้เป็นพยานหลักฐาน


ขณะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ จำเลยได้พูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ญาติพี่น้องฟัง ญาติพี่น้องจำเลยจึงบอกจำเลยให้รับสารภาพ แสดงว่าจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนโดยสมัครใจ มิได้เกิดจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น คำให้การดังกล่าวจึงใช้เป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในการพิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 135


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2548

บทบัญญัติตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ วรรคห้า แห่ง ป.วิ.อ. ใช้บังคับสำหรับกรณีผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีในขณะที่จะมีการสอบปากคำ เมื่อปรากฏว่าขณะที่พนักงานสอบสวนถามปากคำของจำเลยในฐานะผู้ต้องหา จำเลยมีอายุเกินสิบแปดปีแล้ว การสอบปากคำจำเลยของพนักงานสอบสวนจึงไม่จำเป็นต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่จำเลยในฐานะผู้ต้องหาร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำจำเลยแต่อย่างใด แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยจะมีอายุไม่เกินสิบแปดปี


พนักงานสอบสวนไม่จำต้องสอบถามเรื่องทนายความตามมาตรา 134 ทวิ (ปัจจุบันมาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง) ก่อนเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ถ้าขณะเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีอายุเกินสิบแปดปีแล้ว แม้ขณะกระทำความผิดผู้ต้องหาจะมีอายุไม่เกินสิบแปดปี


การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีนี้ เป็นการดำเนินการก่อนการสอบสวนผู้ต้องหา ไม่ใช่การสอบถามปากคำและมิใช่การชี้ตัวผู้ต้องหาซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะ จึงไม่จำเป็นต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปี ตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับ


ความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกคนร้ายลักทรัพย์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2390/2548

พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20)ฯ มาตรา 6 บังคับใช้วันที่ 14 กันยายน 2542 อันเป็นเวลาภายหลังที่มีการสอบสวนจำเลยแล้ว ฉะนั้นการสอบสวนจำเลยซึ่งมีอายุ 16 ปี จึงไม่อยู่ในบังคับตาม พระราชบัญญัติดังกล่าว และไม่ต้องมีผู้เชี่ยวชาญหรือทนายความหรือบิดามารดาหรือผู้ที่จำเลยไว้วางใจ อันเป็นบุคคลที่จำเลยอ้างร่วมฟังการสอบสวน การสอบสวนจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8316/2548

การแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 นั้น หาได้หมายความว่าพนักงานสอบสวนจะต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิดไม่ เมื่อพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ ได้รับอันตรายสาหัสแก่จำเลย แม้ไม่ได้แจ้งข้อหาพยายามฆ่า แต่เมื่อสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าด้วย ก็เรียกได้ว่ามีการสอบสวนในข้อหาพยายามฆ่าแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2132/2548

บทบัญญัติตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ วรรคห้า แห่ง ป.วิ.อ. ใช้บังคับสำหรับกรณีผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีในขณะที่จะมีการสอบปากคำ เมื่อปรากฏว่าขณะที่พนักงานสอบสวนถามปากคำของจำเลยในฐานะผู้ต้องหา จำเลยมีอายุเกินสิบแปดปีแล้ว การสอบปากคำจำเลยของพนักงานสอบสวนจึงไม่จำเป็นต้องมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่จำเลยในฐานะผู้ต้องหาร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำจำเลยแต่อย่างใด แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยจะมีอายุไม่เกินสิบแปดปี


พนักงานสอบสวนไม่จำต้องสอบถามเรื่องทนายความตามมาตรา 134 ทวิ (ปัจจุบันมาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง) ก่อนเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ถ้าขณะเริ่มถามคำให้การผู้ต้องหา ผู้ต้องหามีอายุเกินสิบแปดปีแล้ว แม้ขณะกระทำความผิดผู้ต้องหาจะมีอายุไม่เกินสิบแปดปี


การนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบการดำเนินคดีนี้ เป็นการดำเนินการก่อนการสอบสวนผู้ต้องหา ไม่ใช่การสอบถามปากคำและมิใช่การชี้ตัวผู้ต้องหาซึ่งมีบทบัญญัติของกฎหมายโดยเฉพาะ จึงไม่จำเป็นต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีตามมาตรา 134 ตรี ประกอบมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับ


ความผิดฐานลักทรัพย์ ผู้ครอบครองทรัพย์ที่ถูกคนร้ายลักทรัพย์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีได้


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2547

ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 136 ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวและทำสัญญาประกันขณะผู้ ต้องหายังอยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวนคือพนักงานสอบสวนโดยตำแหน่ง มิใช่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อจำเลยที่ 2 ผิดสัญญาประกันย่อมเป็นการผิดสัญญาต่อพนักงานสอบสวนโดยตรง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาประกันที่ทำไว้ได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดี จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ


จำเลยที่ 2 ผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาต่อโจทก์ตามวันเวลาที่กำหนดไว้ทั้งสองนัด โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอผ่อนผันแต่อย่างใด ทั้งเมื่อโจทก์มีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 2 ส่งตัวผู้ต้องหาอีก 3 ครั้ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับโดยชอบแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังคงเพิกเฉยเช่นเดิม ส่วนจำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า หลังจากทราบเรื่องแล้วได้พยายามติดตามตัวผู้ต้องหา จำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นจากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้ความสนใจหรือใส่ใจที่จะปฏิบัติตามสัญญาประกันแต่อย่างใด จนคดีของผู้ต้องหาขาดอายุความทำให้โจทก์ไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมา ฟ้องให้รับโทษตามกฎหมาย ทำให้โจทก์และผู้เสียหายในคดีดังกล่าวได้รับความเสียหาย ชอบที่จำเลยที่ 2 ในฐานะนายประกันจะต้องรับผิดชอบคือถูกปรับตามสัญญาประกัน แต่ความผิดที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาเป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรง ประกอบกับจำเลยที่ 2 ไม่ใช่นายประกันอาชีพ จึงมีเหตุสมควรที่จะลดค่าปรับให้แก่จำเลยที่ 2 ลงบ้าง


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5252/2545

บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 134 ตรี หมายความว่า สำหรับการสอบสวนผู้ต้องหาอายุไม่เกินสิบแปดปีพนักงานสอบสวนจะต้องแยกกระทำ เป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคม สงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนนั้นด้วย อันเป็นการบังคับโดยเด็ดขาดว่าต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคม สงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาที่มีอายุ ไม่เกินสิบแปดปี เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอบุคคลดังกล่าวพร้อมกันได้ตามมาตรา 134 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิวรรคห้า


จำเลยกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 และถูกสอบสวนขณะมีอายุ 17 ปี 11 เดือน 14 วัน ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ตรี ประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิพนักงานสอบสวนได้สอบถามจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในขณะทำการสอบสวนว่า จำเลยมีทนายความหรือไม่ ต้องการทนายความหรือผู้ใดที่จำเลยไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ จำเลยตอบว่า จำเลยไม่มีทนายความและไม่ต้องการผู้ใดร่วมฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงมิได้จัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนด้วย ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งที่มีเหตุอันควรไม่อาจรอได้ การสอบสวนจึงขัดต่อมาตรา 134 ตรีประกอบด้วยมาตรา 133 ทวิ ถือว่ามิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้น พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยตามมาตรา 120


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2547

ป.วิ.อ. มาตรา 134 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ แต่ปรากฏว่าในคดีนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและสอบสวนจำเลยก่อนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 134 ทวิ วรรคหนึ่ง มีผลใช้บังคับ พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2537

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึกเอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกัน นั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนจะอ้างว่าได้ทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าว หาใหม่แล้วของเดิมไม่สำคัญ หรือผู้ให้ถ้อยคำไม่ประสงค์จะใช้ของเดิมจึงไม่นำเข้ารวมสำนวนไว้หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 เอาไปเสียซึ่งคำให้การฉบับเดิมของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษาไว้ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 นั้น ก็โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ ซึ่งเป็นการกระทำการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยมิชอบอันเป็นความผิด ตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157,200 วรรคแรกด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3946/2536

การสอบสวนคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะสืบหาพยานหลักฐานมาประกอบในการดำเนินคดีตามที่ได้รับแจ้ง และเป็นดุลพินิจของพนักงานสอบสวนที่จะเรียกบุคคลใดมาเป็นพยานหรือหมายเรียก เอกสารที่เกี่ยวข้องมาเป็นพยาน การที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเชื่อคำให้การของผู้เสียหายและไม่สืบสวนสอบสวนพยานหลักฐานอื่นอีก เป็นดุลพินิจของจำเลย เมื่อพนักงานอัยการฟ้องโจทก์ต่อศาลแล้ว แม้ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ ก็มิได้หมายความว่าคดีที่โจทก์ถูกฟ้องไม่มีมูลความผิด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2888/2535

แม้วิธีการสอบปากคำผู้เสียหายคดีนี้ พนักงานสอบสวนจะกระทำแตกต่างกับการสอบปากคำในคดีอื่น ๆ ทั่ว ๆ ไป เพราะผู้เสียหายคดีนี้มีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผู้เสียหายต่างให้การถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นทำนอง เดียวกัน พนักงานสอบสวนจึงทำแบบพิมพ์ในส่วนที่เหมือนกันไว้เว้นช่องว่างในส่วนที่ เกี่ยวกับชื่อของผู้เสียหาย จำนวนเงิน และวันเวลา ซึ่งเป็นส่วนรายละเอียดของผู้เสียหายแต่ละคนโดยเฉพาะไว้ เพื่อกรอกรายละเอียดในตอนสอบปากคำผู้เสียหายแต่ละคน เช่นนี้ ก็หามีผลทำให้การสอบสวนเสียไปไม่ ส่วนกรณีที่ผู้เสียหายมาให้ถ้อยคำหลายรายและพนักงานสอบสวนแจกแบบพิมพ์คำให้ การดังกล่าวให้แต่ละคนไปอ่านดูก่อนแล้วเรียกเข้ามากรอกข้อความทีละคน พนักงานสอบสวนก็ยืนยันว่าได้สอบถามผู้เสียหาย ผู้ให้ถ้อยคำว่า มีอะไรผิดบ้างถ้าไม่ผิดก็ให้ลงชื่อ ถ้าผิดพลาดก็ขีดฆ่าแก้ไขและลงลายมือชื่อกำกับ เช่นนี้ ก็ไม่ปรากฏว่าคำให้การของผู้เสียหายไม่ตรงกับปากคำที่ให้การไว้ต่อพนักงาน สอบสวนหรือปากคำนั้นผู้เสียหายไม่ได้ให้การด้วยความสมัครใจ หรือด้วยเหตุอันมิชอบอย่างอื่นอันจะถือว่าการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมาย