การพิจารณา คำพิพากษาและคำสั่งชั้นศาลอุทธรณ์

มาตรา ๒๐๓  ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาโดยเปิดเผยเฉพาะแต่ในกรณีที่นัดหรืออนุญาตให้คู่ความมาพร้อมกัน หรือมีการสืบพยาน

มาตรา ๒๐๔  เมื่อจะพิจารณาในศาลโดยเปิดเผย ให้ศาลอุทธรณ์ออกหมายนัดกำหนดวันพิจารณาไปยังคู่ความให้ทราบล่วงหน้าอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าห้าวัน

การฟังคำแถลงการณ์นั้นห้ามมิให้กำหนดช้ากว่าสิบห้าวันนับแต่วันรับสำนวน ถ้ามีเหตุพิเศษจะช้ากว่านั้นก็ได้แต่อย่าให้เกินสองเดือน เหตุที่ต้องช้าให้ศาลรายงานไว้

มาตรา ๒๐๕  คำร้องขอแถลงการณ์ด้วยปากให้ติดมากับฟ้องอุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์

คำแถลงการณ์เป็นหนังสือให้ยื่นก่อนวันศาลอุทธรณ์พิพากษา

คำแถลงการณ์ด้วยปากหรือหนังสือก็ตาม มิให้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ ให้นับว่าเป็นแต่คำอธิบายข้ออุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เท่านั้น

คำแถลงการณ์เป็นหนังสือจะยื่นต่อศาลชั้นต้นหรือต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้

มาตรา ๒๐๖  ระเบียบแถลงการณ์ด้วยปากมีดังนี้
(๑) ถ้าคู่ความฝ่ายใดขอแถลงการณ์ ให้ฝ่ายนั้นแถลงก่อน แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ เสร็จแล้วฝ่ายแถลงก่อนแถลงแก้ได้อีก
(๒) ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขอแถลงการณ์ ให้ผู้อุทธรณ์แถลงก่อน แล้วให้อีกฝ่ายหนึ่งแถลงแก้ เสร็จแล้วให้ผู้อุทธรณ์แถลงแก้ได้อีก
(๓) ถ้าคู่ความทั้งสองฝ่ายขอแถลงการณ์และเป็นผู้อุทธรณ์ทั้งคู่ ให้โจทก์แถลงก่อน แล้วให้จำเลยแถลง เสร็จแล้วโจทก์แถลงแก้ได้อีก

มาตรา ๒๐๗  เมื่อมีอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกหรือจับจำเลย ซึ่งศาลนั้นปล่อยตัวไปแล้ว มาขังหรือปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ก็ได้ หรือถ้าจำเลยถูกขังอยู่ระหว่างอุทธรณ์จะสั่งให้ศาลชั้นต้นปล่อยจำเลยหรือปล่อยชั่วคราวก็ได้

มาตรา ๒๐๘  ในการพิจารณาคดีอุทธรณ์ตามหมวดนี้
(๑) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าควรสืบพยานเพิ่มเติม ให้มีอำนาจเรียกพยานมาสืบเองหรือสั่งศาลชั้นต้นสืบให้ เมื่อศาลชั้นต้นสืบพยานแล้ว ให้ส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไป
(๒) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นเป็นการจำเป็น เนื่องจากศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา ก็ให้พิพากษาสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาหรือสั่งใหม่ตามรูปคดี

มาตรา ๒๐๘ ทวิ ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เห็นสมควร จะให้มีการวินิจฉัยปัญหาใด ในคดีเรื่องใด โดยที่ประชุมใหญ่ก็ได้

ที่ประชุมใหญ่ให้ประกอบด้วยผู้พิพากษาทุกคนซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ แต่ต้องไม่น้อยกว่ากึ่งจำนวนผู้พิพากษาแห่งศาลนั้น และให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นประธาน

การวินิจฉัยในที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมาก ถ้าในปัญหาใดมีความเห็นแย้งกันเป็นสองฝ่าย หรือเกินสองฝ่ายขึ้นไป จะหาเสียงข้างมากมิได้ ให้ผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากยอมเห็นด้วยผู้พิพากษาซึ่งมีความเห็นเป็นผลร้ายแก่จำเลยน้อยกว่า

ในคดีซึ่งที่ประชุมใหญ่ได้วินิจฉัยปัญหาแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องเป็นไปตามคำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ และต้องระบุไว้ด้วยว่าปัญหาข้อใดได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ผู้พิพากษาที่เข้าประชุม แม้มิใช่เป็นผู้นั่งพิจารณา ก็ให้มีอำนาจพิพากษา ทำคำสั่ง หรือทำความเห็นแย้งในคดีนั้นได้

มาตรา ๒๐๙  ให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยมิชักช้า และจะอ่านคำพิพากษาที่ศาลอุทธรณ์ หรือส่งไปให้ศาลชั้นต้นอ่านก็ได้

มาตรา ๒๑๐  เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องอุทธรณ์มิได้ยื่นในกำหนด ให้พิพากษายกฟ้องอุทธรณ์นั้นเสีย

มาตรา ๒๑๑  เมื่อมีอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาในประเด็นสำคัญและคัดค้านคำสั่งระหว่างพิจารณาด้วย ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาโดยคำพิพากษาอันเดียวกันก็ได้

มาตรา ๒๑๒  คดีที่จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาที่ให้ลงโทษ ห้ามมิให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย เว้นแต่โจทก์จะได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8760/2559
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และฐานเสพเมทแอมเฟตามีน เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน โดยรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเท่านั้น โดยอุทธรณ์ของโจทก์ไม่ได้กล่าวถึงความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นอย่างไร หรือศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 ไม่ชอบอย่างไร ทั้งความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ด้วย เมื่ออุทธรณ์ของโจทก์ไม่คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนและต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะถือว่าการที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว เท่ากับโจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไปโดยปริยายหาได้ไม่ กรณีดังกล่าวเท่ากับโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนด้วย แม้การลงโทษจำคุกในความผิดฐานสนับสนุนการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและการรอการลงโทษจำคุกในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จะเป็นการลงโทษที่ลักลั่นกันก็ตาม แต่การลงโทษที่ลักลั่นกันดังกล่าวมิได้เกิดจากการใช้ดุลพินิจของศาล แต่เกิดจากการที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ในความผิดฐานที่ศาลรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน แม้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานสนับสนุนการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนก็ตาม ศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่รอการลงโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6499/2559
คดีนี้ โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยึดถือครอบครอง ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ในป่าสงวนแห่งชาติ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ต้นน้ำลำธารอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง (3) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบห้าปีฯ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง และลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี จึงต่ำกว่าระวางโทษขั้นต่ำ โจทก์จึงไม่เห็นด้วยและขอให้พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำคุกจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 31 วรรคสอง (3) นั้น อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าว นอกจากโจทก์อุทธรณ์ขอให้ปรับบทให้ถูกต้องแล้วยังอุทธรณ์โต้แย้งโทษที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลยและขอให้ลงโทษตามมาตรา 31 วรรคสอง (3) ซึ่งมีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำสูงกว่าโทษจำคุกที่ศาลชั้นต้นลงแก่จำเลย ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวแล้วว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้เพิ่มเติมโทษ ประกอบกับเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาแล้วเห็นว่าศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็มีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามที่โจทก์อุทธรณ์ และมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะเปลี่ยนแปลงโทษที่จะลงแก่จำเลยให้เหมาะสมและเป็นไปตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจเปลี่ยนแปลงโทษจำคุกแก่จำเลย และไม่รอการลงโทษ ไม่คุมความประพฤติและไม่ปรับ จึงเป็นการชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 212 แล้ว

มาตรา ๒๑๓  ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ลงโทษหรือลดโทษให้จำเลย แม้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ ให้มิต้องถูกรับโทษ หรือได้ลดโทษดุจจำเลยผู้อุทธรณ์

มาตรา ๒๑๔  นอกจากมีข้อความซึ่งต้องมีในคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต้องปรากฏข้อความดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) นามหรือตำแหน่งของผู้อุทธรณ์
(๒) ข้อความว่า ยืน ยก แก้หรือกลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น

มาตรา ๒๑๕  นอกจากที่บัญญัติมาแล้ว ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาและว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นมาบังคับในชั้นศาลอุทธรณ์ด้วยโดยอนุโลม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8845/2559
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์ ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) เห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5861/2559
คดีนี้ โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ซึ่งได้ประกาศและให้มีผลบังคับใช้ทันทีตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 และมาตรา 48 ความในวรรคสองของมาตรา 69 และมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และความในลำดับที่ 53 ในช่องประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดาของบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 และให้ใช้บทบัญญัติตามความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 และมาตรา 48 ความในวรรคสองของมาตรา 69 และมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่แก้ไขใหม่ มีผลให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับไม้พะยูงตามฟ้อง ฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป นับตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป ต้องถูกลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) ซึ่งความผิดทั้งสองฐานต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองล้านบาท ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติเดิม และพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป ให้จำคุกกระทงละ 3 เดือน และปรับกระทงละ 5,000 บาท จึงเป็นโทษที่ต่ำกว่าอัตราโทษตามกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิด ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยโดยปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) ที่แก้ไขเพิ่มเติมตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 โดยไม่รอการลงโทษแก่จำเลย อันเป็นการอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ปรับบทกฎหมายและลงโทษจำเลยตามฟ้องเสียใหม่ให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (1), 73 วรรคสอง (1) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด และมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงสองล้านบาท สูงกว่าระวางโทษตามบทกฎหมายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย ย่อมถือได้ว่าโจทก์อุทธรณ์ในทำนองขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบที่จะพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14767/2558
ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อให้ตรวจสอบกรณีท้ายอุทธรณ์ของจำเลยผู้พิมพ์หรือผู้เขียนไม่ได้ลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานศาลต้องรายงานต่อผู้พิพากษาศาลชั้นต้นเพื่อตรวจสอบและมีคำสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 วรรคสอง และมาตรา 158 (7) ต่อไป แต่เจ้าพนักงานศาลกลับจัดทำหมายแจ้งถึง ช. ทนายจำเลยว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้ส่งสำนวนคืนมาเพื่อให้ผู้พิมพ์หรือผู้เขียนลงลายมือชื่อในท้ายอุทธรณ์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับหมายนี้ เสนอผู้พิพากษาศาลชั้นต้น โดยที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว กรณีเช่นนี้จะถือว่าศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยผู้ยื่นฟ้องอุทธรณ์แก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 แล้ว แต่จำเลยไม่ดำเนินการแก้ไข ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ เช่นนี้ศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 เพราะยังมิได้ล่วงเลยเวลาที่ควรปฏิบัติแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8136/2557
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขออนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้ในคำร้องจะไม่ได้ระบุว่า ให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ก็ถือว่าโจทก์ร่วมขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นต้องสั่งคำร้องของโจทก์ร่วมดังกล่าวว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของโจทก์ร่วมว่า รวม โดยยังไม่ได้พิจารณาว่า จะอนุญาตให้โจทก์ร่วมอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมนั้น จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจที่จะยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้น ที่ไม่ชอบเสียได้และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่ศาลอุทธรณ์ไม่ดำเนินการดังกล่าวและยกอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6043 - 6044/2557
ได้ความตามคำเบิกความของจำเลยประกอบทะเบียนบ้าน และสัญญาเช่าทรัพย์สินว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 55/22 ตรอกวัดใหญ่ศรีสุพรรณ ถนนอินทรพิทักษ์ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถเดินทางไปบ้านดังกล่าวได้ แต่การส่งสำเนาอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยแก้อุทธรณ์ ระบุบ้านที่อยู่ของจำเลยเป็นแขวงบางยี่เรือ ซึ่งเป็นการระบุตามที่ปรากฏในฟ้อง และไม่มีการระบุตรอก เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ส่งหมายส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้เนื่องจากหาไม่พบ กรณีดังกล่าวเป็นการผิดหลงในเรื่องภูมิลำเนาของจำเลย อย่างไรก็ตาม จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้คดีตั้งแต่ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ทนายจำเลยแทน แต่ศาลชั้นต้นสั่งให้รีบส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีโอกาสแก้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนเฉพาะการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้น โดยมิได้พิจารณาสั่งเรื่องการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยว่าชอบหรือไม่ คำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ แม้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังใหม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก็เป็นการพิจารณาพิพากษาโดยมิชอบด้วยเช่นกัน กรณีมีเหตุสมควรให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10449/2556
ผู้เสียหายทั้งสามเป็นคนต่างด้าวเบิกความโดยไม่ปรากฏว่าล่ามได้สาบานหรือปฏิญาณตนแล้ว และไม่ปรากฏว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อในคำให้การพยานในฐานะล่ามนั้นเป็นใคร การสืบพยานปากผู้เสียหายทั้งสามจึงเป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.อ. มาตรา 13 ชอบที่จะต้องเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว และย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ปากผู้เสียหายทั้งสามและพิพากษาใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10004/2555
ศาลจังหวัดเลยพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ทุกข้อหามีกำหนด 2 ปี โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ลงโทษจำเลยสถานหนักและไม่รอการลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น ซึ่งมิใช่คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9419/2555
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์ของผู้คัดค้านที่ 1 รวม 11 รายการ ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านศาลชั้นต้นนัดไต่สวน ก่อนถึงวันนัดผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านฉบับใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รอสอบวันนัด แต่ในวันนัดศาลชั้นต้นมิได้เบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาสอบถามเกี่ยวกับคำคัดค้านฉบับใหม่ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้เบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาสอบถามเรื่องคำคัดค้านฉบับใหม่ แต่ไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้แจ้งวันนัดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ทราบ หรือมีการเบิกตัวผู้คัดค้านที่ 1 มาศาลในวันนัดแต่อย่างใดอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาในส่วนของการนั่งพิจารณาซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ทราบวันนัดไต่สวนคำร้องและไม่สามารถนำพยานเข้าไต่สวนตามคำคัดค้านได้ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงมิชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองมิได้อุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้โดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่ชอบเสียได้ แล้วให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติให้ถูกต้องในกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5602 - 5604/2555
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยแต่เพียงว่าข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่าโจทก์ร่วมไม่ได้เรียกเงินจากครูที่สอบบรรจุและไม่ได้ไล่ลูกจ้างเก่าออกแล้วเรียกเงินจากผู้สมัครสอบเป็นลูกจ้างใหม่ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 กับพวกใส่ความโจทก์ร่วมในเรื่องดังกล่าวโดยไม่เป็นความจริง จึงมิใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตอันจะทำให้ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และการที่จำเลยที่ 1 กับพวกใส่ความโจทก์ร่วมเฉพาะในเรื่องดังกล่าวโดยไม่เป็นความจริงก็สามารถทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังได้ในตัวอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีความเชื่ออย่างไรนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากหากจำเลยที่ 1 กับพวก เชื่อโดยสุจริตว่าพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมส่อไปในทางทุจริต แม้จะเป็นการเข้าใจผิด จำเลยที่ 1 กับพวก ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงชอบที่จะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวด้วย ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้วินิจฉัยข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 กับพวก จึงเป็นการไม่ชอบ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก เป็นไปตามลำดับศาล ทั้งนี้เพราะคดีอาจถูกจำกัดสิทธิในการฎีกาได้ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303/2555
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร อันเป็นการฟ้องโดยอาศัยการกระทำเดียว แต่ให้ศาลเลือกลงโทษในฐานใดฐานหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานรับของโจร แม้จะเป็นการแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ย่อมถือว่าโจทก์พอใจ โจทก์จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานลักทรัพย์ไม่ได้

การแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง นั้น ต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง ซึ่งการแก้บทลงโทษมีความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงบทลงโทษจากบทหนึ่งเป็นอีกบทหนึ่ง หรือเป็นการแก้วรรคในบทเดิม ซึ่งความผิดแต่ละวรรคมีโทษขั้นต่ำและสูงแตกต่างกันมาก และลักษณะความผิดในแต่ละวรรคนั้นแตกต่างกัน เช่น ความผิดในวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และอีกวรรคหนึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เป็นต้น

ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) วรรคแรก โดยไม่ได้ใช้อัตราโทษตามที่มาตรา 336 ทวิ กำหนดไว้นั้น ลักษณะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคแรก และวรรคสองไม่แตกต่างกันและมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปี เหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งมาตรา 335 วรรคแรก ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี วรรคสอง ระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี ส่วน ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพียงแต่แก้จำนวนโทษมิได้แก้บทลงโทษ จึงเป็นกรณีแก้ไขเล็กน้อย

คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อจำเลยทั้งสองฎีกาพร้อมกับคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีไม่ต้องห้ามจำเลยทั้งสองฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพราะศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้ไขมากและมีคำสั่งรับฎีกานั้น จึงเป็นการสั่งโดยผิดหลงและเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ ถือว่าไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกามีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยโดยให้เพิกถอนคำสั่งและการดำเนินการดังกล่าวที่ไม่ชอบเสียได้ และสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 426/2555
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ประกันจำเลยต่อศาลชั้นต้น เอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยเป็นเอกสารปลอม โดย ว. ร่วมกับ ร. ปลอมลายมือชื่อผู้ร้องในหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านนำไปใช้ประกอบโฉนดที่ดินของผู้ร้อง การที่ศาลชั้นต้นมิได้ทำการไต่สวนให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เอกสารที่นำมายื่นขอประกันตัวจำเลยต่อศาล มีการปลอมลายมือชื่อของผู้ร้องจริงหรือไม่ เพื่อที่ศาลจะวินิจฉัยต่อไปว่าสัญญาประกันมีผลผูกพันผู้ร้องหรือไม่ เห็นควรให้ย้อนสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนในประเด็นดังกล่าวให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วมีคำสั่งใหม่ไปตามรูปคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9082/2554
ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่เห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลมีคำสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องมีนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตามสัญญาประกันภัยในฐานะผู้เอาประกันกับผู้รับประกัน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หนังสือรับรองของผู้ร้องเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หนังสือรับรองดังกล่าวระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกัน และศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกัน ผู้ร้องตกลงชำระค่าปรับตามสัญญาประกันถือได้ว่าผู้ร้องเกี่ยวข้องกับสัญญาประกันในฐานะผู้รับรองหลักทรัพย์ตามสัญญาประกัน ผู้ร้องจึงเป็นฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้น และมีอำนาจยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า ผู้ร้องไม่ใช่คู่สัญญาประกันไม่มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องมานั้น เป็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยในเนื้อหาของการลดค่าปรับตามสัญญาประกัน คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่เป็นที่สุด

จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 8 มิถุนายน 2549 ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลยที่ 1 และวันที่ 21 ตุลาคม 2549 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ส่งศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีส่วนเกี่ยวข้องหรือช่วยเหลือในการจับกุมจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด แสดงว่าผู้ร้องไม่ได้ขวนขวายติดตามจับตัวจำเลยที่ 1 มาส่งศาล การที่ศาลชั้นต้นไม่ลดค่าปรับให้แก่ผู้ร้องจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปให้เสร็จในคราวเดียวกันโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8534 - 8535/2554
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า โจทก์ร่วมเชื่อว่าบุตรชายของโจทก์ร่วมถูกผู้หญิงทำไสยศาสตร์เป็นเหตุให้ไม่กลับบ้านและมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป โจทก์ร่วมจึงให้จำเลยที่ 2 ทำพิธีแก้ไสยศาสตร์ตามคำแนะนำของจำเลยที่ 1 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเท่านั้น หาได้ฟังข้อเท็จจริงใด ๆ ต่อไปว่าในขณะที่แนะนำให้โจทก์ร่วมทำพิธีไสยศาสตร์ จำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จหรือเหตุที่โจทก์ร่วมเชื่อเช่นนั้นเกิดจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองและพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นการหลอกลวงโจทก์ร่วมหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงสำคัญในคดีที่จะต้องประกอบการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย และมีผลโดยตรงในการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ยังไม่ได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวเช่นกัน การที่ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงในสำนวนให้ครบถ้วนแล้วด่วนวินิจฉัยว่าการที่จำเลยทั้งสองพูดชักชวนโจทก์ร่วมให้ทำพิธีไสยศาสตร์แล้วจะทำให้บุตรชายกลับบ้าน ที่ดินโจทก์ร่วมจะขายได้และคนในครอบครัวจะไม่เจ็บป่วย เป็นคำยืนยันเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน การเข้าทำพิธีของโจทก์ร่วมจึงไม่ได้เป็นผลจากการหลอกลวงของจำเลยทั้งสองแล้วพิพากษายกฟ้องไป จึงเป็นการไม่ชอบ ถือเป็นกรณีที่ศาลล่างทั้งสองมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาเป็นไปตามลำดับชั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7296/2554
รายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าฝ่ายโจทก์ร่วมตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยตลอดไป แต่กลับมีเงื่อนไขที่จำเลยจะต้องปฏิบัติต่อโจทก์ร่วม โดยจำเลยจะต้องไม่นำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปประจานต่อสาธารณะอีกต่อไป แสดงว่าโจทก์ร่วมจะไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยก็ต่อเมื่อจำเลยไม่นำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปพูดให้โจทก์ร่วมได้รับความเสียหาย เมื่อจำเลยได้ประกาศต่อที่ประชุมใหญ่บริเวณหมู่บ้านว่า โจทก์ร่วมไปขโมยปลา และประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้านให้ชาวบ้านนำไข่เน่าไปปาหน้าบ้านโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมจึงไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ย่อมเห็นได้ชัดว่า ถ้าจำเลยนำเรื่องส่วนตัวของโจทก์ร่วมไปประจานต่อสาธารณะ โจทก์ร่วมยังคงติดใจดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ร่วม กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) ที่จะทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับศาลเพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 5 อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1816/2554
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ไม่ลดโทษให้จำเลย ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษา ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุที่จะลดโทษให้จำเลยหรือไม่ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของจำเลย ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) ศาลฎีกามีอำนาจให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10854/2553
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันบุกรุกเข้าไปในห้องของโรงแรมที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อลักทรัพย์สินของโรงแรมและนักท่องเที่ยวที่เก็บรักษาไว้ในห้องพัก จำเลยทั้งสองลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะมีผู้พบเห็นและเข้าขัดขวางถือได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายครบถ้วนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองพยายามลักเท่านั้นเพราะลักษณะของความผิดย่อมยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นทรัพย์อะไรมีมูลค่าเท่าใด แต่เมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันพยายามลักทรัพย์ของผู้อื่น ฟ้องโจทก์จึงระบุข้อเท็จจริงรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดีและต่อสู้คดีได้ หาจำต้องระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองพยายามลักดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยไม่ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5455/2553
กรณีที่จะถือเป็นการแก้ไขมากตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่งนั้น จะต้องเป็นการแก้ไขทั้งบทลงโทษและจำนวนโทษที่ลง

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 336 ทวิ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (2) (7) วรรค 2 โดยไม่ได้ปรับบทลงโทษประกอบมาตรา 336 ทวิ ด้วย แต่ลักษณะความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 วรรคแรกและวรรคสอง ไม่แตกต่างกันและมีระวางโทษขั้นต่ำจำคุกตั้งแต่ 1 ปีเหมือนกัน ต่างกันเฉพาะระวางโทษขั้นสูงซึ่งวรรคแรกระวางโทษขั้นสูงจำคุก 5 ปี ส่วนวรรคสองระวางโทษขั้นสูงจำคุก 7 ปี ส่วน ป.อ. มาตรา 336 ทวิ เป็นบทบัญญัติถึงเหตุที่จะทำให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 335 ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดอีกบทหนึ่งต่างหากไม่ จึงไม่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แก้บทลงโทษ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 เพียงแต่แก้จำนวนโทษ มิได้แก้บทลงโทษ จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและลงโทษจำเลยทั้งสองไม่เกินห้าปี จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามไม่ให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12868/2558
แม้ก่อนวันที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษา จำเลยยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือตาม ป.วิ.อ. มาตรา 205 วรรคสอง แต่ตามวรรคสามของบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า คำแถลงการณ์เป็นหนังสือมิให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของอุทธรณ์ ให้นับว่าเป็นแต่คำอธิบายข้ออุทธรณ์เท่านั้น การที่จำเลยยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือว่า จำเลยได้วางเงินชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในการรอการลงโทษให้แก่จำเลย จึงเป็นแต่เพียงคำอธิบายข้ออุทธรณ์ของจำเลยเพิ่มเติมเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นส่งคำแถลงการณ์เป็นหนังสือนั้นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 3 และศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำแถลงการณ์เพิ่มเติมหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทำคำพิพากษาเสร็จและส่งไปให้ศาลชั้นต้นเพื่ออ่านให้คู่ความฟังแล้ว จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาไปในทางที่เป็นคุณหรือเป็นโทษแก่จำเลยได้นั้น ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิจารณาคำแถลงการณ์เป็นหนังสือของจำเลยแล้ว แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะไม่ได้แก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยยังคงระบุว่า จำเลยไม่เคยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสอง ก็มิใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณา อันเป็นเหตุให้ศาลฎีกาต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8895/2552
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ยึดทรัพย์ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน (จำเลย) แม้คำร้องของผู้ร้องจะเป็นการร้องตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ซึ่งมาตรา 28 ได้บัญญัติให้ศาลสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์และให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้ที่อาจ อ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้สำเนาให้จำเลยแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการยื่นและส่ง คำคู่ความและเอกสารมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งไม่ปรากฏว่าเลขาธิการได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแต่อย่างใด ส่วนที่ศาลชั้นต้นประกาศคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินในหนังสือพิมพ์นั้น เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกที่อาจมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ริบได้ ทราบ เพื่อจะได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด มิได้หมายถึงผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความในคดีและต้องขังอยู่ไม่อาจทราบประกาศ แต่อย่างใด ฉะนั้นจะถือว่าผู้คัดค้านทราบคำร้องฉบับนี้หาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8214/2551
โจทก์ บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้ตายและร่วมกันฆ่าผู้ตายโดย ไตร่ตรองไว้ก่อนรวมมาในฟ้องข้อเดียวกัน เมื่อจำเลยลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ตายอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จ แล้ว จำเลยกับพวกจึงร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันเป็นความผิดอีกกรรม หนึ่งแยกต่างหากจากกัน ดังนี้ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามที่พิจารณาได้ ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดฐานลักทรัพย์และร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขปรับบทให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7942/2551
จำเลย กับพวกร่วมกันลักทรัพย์เครื่องยนต์ซึ่งติดตั้งอยู่บนรถไถนาอันเป็นเครื่องกล ของผู้เสียหายที่มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมทำนาในเคหสถานใน เวลากลางคืนโดยใช้ยานพาหนะ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) (8) (12) วรรคสาม ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (8) (10) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษ จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2291/2551
บ้าน ของกลางทั้ง 2 หลังที่จำเลยปลูกสร้างขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติมิใช่เครื่องมือ อาวุธ สัตว์พาหนะ ยานพาหนะหรือเครื่องจักรกลใดๆ ซึ่งบุคคลได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดโดยตรง ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ มาตรา 74 ทวิ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 29 ป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคห้า จึงไม่อาจริบได้

พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ มาตรา 22 มีเจตนารมณ์ให้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติฯ ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง แต่เมื่อโจทก์มีคำขอให้ริบบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ศาลก็ย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนบ้านของกลางทั้ง 2 หลัง ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 698/2551
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังตาม ป.อ. มาตรา 23 นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดโทษแก่จำเลยตามสมควรแก่ความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง และโทษกักขังก็เป็นโทษในสถานเบากว่าโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงมิได้พิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งที่โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ในทำนองนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หาได้ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 ประกอบด้วยมาตรา 215 หรือมาตรา 212 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6786/2551
โจทก์ ฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวกันยังเป็นที่สงสัยฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดฐานร่วมกันรับของโจร จึงเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 3 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1447/2551
ผู้ ถูกกล่าวหาที่ 4 รับผู้กล่าวหาทั้งสองไปศาลและพากลับจากศาลโดยทราบดีว่าผู้กล่าวหาทั้งสองไป ศาลเพื่อเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก โดยไม่ให้ผู้กล่าวหาทั้งสองเบิกความต่อศาลตามหมายเรียก จึงเป็นการร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และที่ 3 ขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล อันเข้าลักษณะเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลซึ่งถือว่ากระทำผิด ฐานละเมิดอำนาจศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 31 (1)

ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ว่า สถานที่ที่เกิดเหตุมิใช่บริเวณศาลเป็นข้อเท็จจริงที่เพิ่งหยิบยกขึ้นมาว่า กล่าวในภายหลังซึ่งขัดแย้งกับคำรับสารภาพผิดของผู้ถูกกล่าวที่ 3 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา

ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ที่ว่า องค์คณะของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีและพิพากษาคดีของศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วย กฎหมายเพราะรายชื่อผู้พิพากษาในองค์คณะพิจารณาคดีและพิพากษาคดีเป็นรายชื่อ ผู้พิพากษาคนละองค์คณะกัน เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง และถือว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ใน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

ผู้ถูกกล่าวหาที่ 4 ได้ร่วมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 พี่ชายจำเลยและผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ทนายความของจำเลยกระทำการขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลด้วยการพา และบอกให้ผู้กล่าวหาทั้งสองซึ่งมาศาลในวันนัดตามหมายเรียกแล้วกลับบ้าน เพื่อมิให้ผู้กล่าวหาทั้งสองเบิกความเป็นพยานต่อศาล โดยมีเจตนาเพื่อจะช่วยให้จำเลยไม่ต้องรับโทษ การกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงเป็นข้อเท็จจริงในสาระสำคัญที่มีลักษณะเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาเรื่องมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้แก่ผู้ถูกกล่วหาที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 หรือไม่ ไปพร้อมกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2551
จำเลยลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายแล้วนำไปลักเงินของผู้เสียหายโดยผ่าน เครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรม ต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ ดังนั้น การลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายกับลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตร อิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้งจึง เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำแต่ละครั้งดังกล่าวเป็นกรรมเดียวเป็น ความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด และโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยรวม 14 กระทง ได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9391/2550
แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 จะไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 แต่ก็มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ ถูกต้องและไม่ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบ ครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น จึงเป็นการชอบแล้ว เพราะเป็นเหตุในลักษณะคดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9054/2550
ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลจึงจะรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์และพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองได้ เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่มีใบอนุญาตให้มีและ พาอาวุธปืน โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยทั้งสองไม่มีใบอนุญาตดังกล่าว แม้จะปรากฏจากคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นเยาวชนและ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 13 (4) บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ตาม แต่การที่บุคคลจะบรรลุนิติภาวะนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้นั้นเสมอไป เพราะบุคคลอาจบรรลุนิติภาวะก่อนอายุ 20 ปี ได้ด้วยการสมรสด้วย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองอายุไม่ถึง 20 ปี โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าจำเลยทั้งสองไม่มีใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธ ปืนด้วยเมื่อโจทก์ไม่นำสืบ จึงไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานความผิดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ได้ คงลงโทษได้เพียงฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371, 83 เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุในส่วน ลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8462/2550
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและ จำหน่าย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ฎีกา แม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่วินิจฉัยมาครอบคลุมไปถึงความผิดฐานดังกล่าว และพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกให้วินิจฉัยไปถึงความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบ มาตรา 225 โดยให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง และปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3052/2550
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันลักโคของผู้เสียหาย ซึ่งมีอาชีพกสิกรรมและมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) (12) วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 335 (7) (12) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 จึงไม่ต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้คู่ความมิได้ ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3865/2550
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยเฉพาะข้อหาที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยโจทก์และ จำเลยมิได้อุทธรณ์ในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงต้องถือว่าโจทก์พอใจคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าว แล้ว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้โทษจำเลยในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายเป็นไม่รอการ ลงโทษและไม่ลงโทษปรับจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบเพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2550
การ ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ เมทแอมเฟตามีน 20,061 เม็ด ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่หลังจากที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด เสร็จสิ้นไปแล้ว จำเลยทั้งสองยังร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการจำหน่ายอีก 61 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายต่อไป จึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นใหม่แยกต่างหากจากกัน คือฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนฐานหนึ่งและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่ายอีกฐานหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจลงโทษอีกกรรมหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลยทั้งสองโดยโจทก์ไม่ได้ฎีกา ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225

โจทก์มีคำขอให้ริบรถยนต์และลูกกุญแจรถยนต์ของกลางซึ่งศาลชั้นต้นยกคำขอของ โจทก์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องการริบของกลางดังกล่าวย่อมยุติ จึงต้องคืนของกลางแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบ มาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5764/2550
เจตนารมณ์ ของ ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง นั้น ก็เพื่อให้จำเลยมีทนายความช่วยเหลือในการต่อสู้คดีในความผิดที่มีโทษจำคุก แม้ว่าการทำหน้าที่ของ พ. ในฐานะทนายความของจำเลยจะไม่ปรากฏใบแต่งทนายความตั้งให้ พ. เป็นทนายความของจำเลย แต่ พ. ก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในฐานะทนายความของจำเลยตลอดมาจนเสร็จสิ้นการ พิจารณาของศาลชั้นต้น โดยจำเลยยอมรับเอาผลของการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นตลอดมา และฝ่ายโจทก์ก็มิได้คัดค้านแต่ประการใด ตามพฤติการณ์จึงถือได้ว่าจำเลยได้มอบให้ พ. เป็นทนายความของจำเลยในคดีนี้แล้ว ทั้งภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำเลยดำเนินการจัดใบแต่งทนายความเสียให้ ถูกต้อง แต่จำเลยแถลงว่าไม่ประสงค์จะแต่งทนายความเนื่องจากต้องการให้การรับสารภาพ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาจำเลยไม่เสียเปรียบ กรณีไม่เป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2550
พ. ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะ หรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดการที่โจทก์ บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับซึ่งจำเลยทั้งสองออกเพื่อชำระหนี้ค่า อะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า "โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย" เป็นที่เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์ เครื่องทำความเย็นอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5)

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกด้วยแต่ศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองสถาน เบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยกำหนดโทษของจำเลยทั้งสองเป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ ความได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3567 - 3568/2550
จำเลย ทั้งสองยื่นอุทธรณ์โดยไม่ปรากฏว่ามีลายชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์คำฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 แต่การที่จะให้จำเลยทั้งสองแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์หรือสั่งไม่รับอุทธรณ์ของ จำเลยทั้งสองก็ล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับ อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้พิจารณาพิพากษาคดีนี้เสร็จไปแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีมาเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3096/2550
ศาล ชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานในสำนวนแล้ววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาตามฟ้อง การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์นำสืบจึงไม่มีเจตนา พิพากษายกฟ้อง การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้ว่าข้อความที่จำเลย แจ้งเป็นความเท็จและจำเลยมีเจตนาแจ้งความเท็จ เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นจึงเป็น อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตหรือมีการรับรองให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ

ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า ศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยว่าการที่จำเลยแจ้งข้อความว่าโจทก์เอาสมุดบันทึกของ อ. ไป เป็นการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เป็นการวินิจฉัยผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนนั้น เป็นการอุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยพยานหลักฐานไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วนและเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา พิพากษาใหม่ เพื่อให้การวินิจฉัยความผิดของจำเลยเป็นไปตามลำดับศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7950/2549
เมื่อพนักงานคุมประพฤติส่งรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยให้แก่ศาลแล้วศาลมีอำนาจที่จะนำข้อเท็จจริงที่ปรากฎในรายงานดังกล่าวมาประกอบการใช้ดุลพินิจในการ กำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติฯ มาตรา 13 เท่านั้น โดยจะนำมารับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานเพื่อวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย หาได้ไม่

บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 176 มิได้หมายความว่าเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพแล้ว จะต้องพิพากษาลงโทษจำเลยเสมอไป ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 หรือหากศาลเห็นว่าสมควรให้มีการสืบพยานหลักฐานก่อนมีคำพิพากษาก็เป็นอำนาจ ของศาลที่จะมีคำสั่งให้กระทำได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณารายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่แน่ชัดว่าของกลางเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 หรือประเภท 3 จึงมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าของกลางเป็นยาแก้ ไอที่มีส่วนผสมของโคเดอีนหรือไม่ ก็เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ที่จะกระทำได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5918/2549
ตาม ฟ้องโจทก์ปรากฏแต่เพียงลายมือชื่อผู้พิมพ์และผู้เรียงเท่านั้น ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์ จึงถือเป็นฟ้องที่ไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) หากศาลชั้นต้นตรวจพบข้อผิดพลาดดังกล่าวก็จะใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 สั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้องได้ แต่ถ้าศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องและดำเนินกระบวนพิจารณาจนคดีขึ้นมาสู่ศาล อุทธรณ์ภาค 9 แล้ว การที่จะสั่งให้โจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือไม่ประทับฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ย่อมล่วงเลยเวลาที่จะปฏิบัติได้เพราะศาลชั้นต้นได้สั่งประทับฟ้องและดำเนิน กระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งกรณีดังกล่าวไม่เข้าเหตุตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ที่จะสั่งให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ย่อมไม่มีวิธีปฏิบัติเป็นอย่างอื่น นอกจากต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7096/2549
คดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 โจทก์ยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องว่า กรณีศาลมีคำสั่งว่าคดีไม่มีมูล โจทก์ย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง ให้ยกคำร้อง และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ จึงไม่ชอบ และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 เพียงแต่ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยมิได้สั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับ อุทธรณ์และคำสั่งตามคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงของศาลชั้น ต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่ชั้นสั่งรับอุทธรณ์เสียใหม่ให้ถูก ต้อง เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาขึ้นมา แต่ศาลฎีกาเห็นเป็นการจำเป็นที่จะยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1787/2541
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบของกลางตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 115และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32,33 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกในส่วนที่ศาลชั้นต้นบังคับจำเลย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 และริบของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32 เสีย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ศาลอุทธรณ์เพียงแต่แก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นในเรื่องการปรับบทกฎหมายให้ถูก ต้องโดยมิได้พิพากษาให้ยกการริบของกลาง และศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาให้ริบของกลางตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 115 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 อยู่เนื่องจากเสื้อและกางเกงที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของกลางเป็นสินค้า ที่จำเลยมีไว้จำหน่ายอันเป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการ ค้า พ.ศ. 2534 และป้ายยี่ห้อกับริบบิ้นของกลางที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเป็นทรัพย์สิน ซึ่งจำเลยมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ดังนี้เมื่อศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้ยกคำขอให้เรื่องการริบของกลางของกลาง คดีนี้จึงยังเป็นของกลางที่ศาลสั่งริบอยู่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4868/2541
คดี นี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยฟังเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 และคดีต้องห้าม มิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง หากจำเลยประสงค์จะใช้สิทธิฎีกาตามเงื่อนไข ในมาตรา 221 จำเลยก็ชอบที่จะดำเนินการใช้สิทธิ ดังกล่าวให้ถูกต้องภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาล อุทธรณ์ให้จำเลยฟังแต่ปรากฎว่าจำเลยได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาเมื่อ วันที่ 21 พฤษภาคม 2541 ซึ่งล่วงเลยกำหนดเวลายื่นฎีกาของจำเลยแล้ว ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นอ่าน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยย่อมทราบ วันครบกำหนดหนึ่งเดือนที่ต้องยื่นฎีกาหรือหากมีพฤติการณ์พิเศษ ที่จำเลยจะต้องขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไป จำเลย ก็ชอบที่จะยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาเสียก่อน ครบกำหนดดังกล่าวได้แต่จำเลยหาได้ปฏิบัติเสีย ให้ถูกต้องไม่ ทั้งการรอฟังคำสั่งของศาลฎีกาว่า จะสั่งรับหรือไม่รับฎีกาของจำเลยก็มิใช่เป็นเหตุสุดวิสัย คำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาของจำเลยจึงไม่ต้อง ด้วยบทบัญญัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายเวลายื่นฎีกาจึงไม่ชอบจำเลยไม่ มีสิทธิยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดเวลาหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาล อุทธรณ์ ปัญหานี้แม้จะไม่มี คู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6387/2540
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นได้พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ. ศ. 2484 มาตรา 48 และมาตรา 73 เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ระบุอ้างบทมาตราที่เป็นบทความผิดและบทกำหนดโทษยกขึ้นปรับแก่คดีตามที่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(7)ประกอบมาตรา 214 บัญญัติไว้ถูกต้องแล้ว คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนการที่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้ระบุว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด ตามวรรคใดนั้นเป็นเพียงการไม่สมบูรณ์ชัดเจนเท่านั้น ไม่ทำให้เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76คือการลดอัตราโทษขั้นสูงและขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดที่ จำเลยกระทำโดยลดลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งแล้วจึงกำหนดโทษที่จะลงในระหว่าง นั้น มิใช่ให้ศาลกำหนดโทษที่จะลงไว้ก่อนแล้วจึงลดจากโทษที่ได้กำหนดไว้ จึงต่างกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 ซึ่งเป็นเรื่องการคำนวณการเพิ่มโทษหรือลดโทษที่จะลงจากโทษที่ได้กำหนดแล้ว และการลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 มิใช่เป็นบทมาตราซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดหรือบทกำหนดโทษแม้ศาลชั้นต้น มิได้ปรับบทที่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2ว่าเป็นมาตรา 76 ก็ไม่เป็นเหตุให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา 186(7)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2609/2539
เมื่อศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาเสร็จแล้วได้ส่งคำพิพากษาพร้อมสำนวนไปให้ศาลชั้นต้น อ่านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา209เป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้น ที่จะดำเนินการให้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาตรา182ต่อไปการที่มีการเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา182ต่อไปการที่มีการเลื่อนการอ่านคำ พิพากษาศาลอุทธรณ์ไปเป็นระยะๆ และจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมไปบ้างแล้วเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาใหม่ เพราะหนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นยังไม่สิ้นผลผูกพันการที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปโดยมิได้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์พร้อมทั้ง รายงานการชำระหนี้ของจำเลยให้ศาลอุทธรณ์ทราบจึงหาเป็นการดำเนินกระบวน พิจารณาที่ผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7223/2539
ศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ผู้ประกันประกันตัวจำเลยไปในระหว่างอุทธรณ์วันสุดท้าย ที่จำเลยอาจยื่นอุทธรณ์ได้ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกันได้มายื่นคำร้องต่อศาล เมื่อเวลา16.25นาฬิกาขอเลื่อนส่งตัวจำเลยและขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปเป็น เวลา7วันศาลชั้นต้นอนุญาตและจำเลยได้นำอุทธรณ์มายื่นภายในกำหนดเวลาที่ศาล ชั้นต้นอนุญาตแต่ผู้ประกันจำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์คดีนี้เพราะมิใช่คู่ความใน คดีจึงไม่มีสิทธิร้องขอหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ดัง นั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์จึงไม่ชอบไม่ทำให้ จำเลยมีสิทธิยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลชั้น ต้นตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา198เมื่อฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยมิได้ยื่นในกำหนดที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายก อุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา210แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3935/2529
การขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีอาญานั้นมีบัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาตรา30และ31เฉพาะกรณีที่ผู้เสียหายขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงาน อัยการหรือพนักงานอัยการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายในคดีที่มิใช่ความ ผิดต่อส่วนตัวเท่านั้นนอกเหนือจากสองกรณีนี้แล้วการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมไม่ อาจจะมีได้ดังนั้นเมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแล้วผู้เสียหาย อื่นจะร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่อาจกระทำได้และจะอาศัยประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความแพ่งมาตรา57(2)ซึ่งบัญญัติให้สิทธิบุคคลภายนอกในกรณีร้องสอดขอ เข้าเป็นโจทก์หรือจำเลยร่วมประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15มาอนุโลมบังคับใช้ในกรณีนี้ก็ไม่ได้เช่นเดียวกันเพราะอำนาจฟ้องดังกล่าว ถือว่ากฎหมายได้กำหนดไว้เป็นกรณีพิเศษโดยเฉพาะในมาตรา30และ31แห่งประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วดังนั้นผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเข้า เป็นโจทก์ร่วมกับผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์เดิมได้ การให้วินิจฉัยปัญหาโดยที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกานั้นเป็นอำนาจและหน้าที่ของ ประธานศาลฎีกาโดยเฉพาะคู่ความจะร้องขอขึ้นมาหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 100/2519
คดี ที่โจทก์ฟ้องว่ารถชนกันเกิดจากการกระทำโดยประมาทของทั้งฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ข้อเท็จจริงที่ว่า เหตุเกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยคนใดบ้างหรือว่าทั้งสองคนเป็นข้อเท็จ จริงอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏแก่ศาลอุทธรณ์ว่า เหตุเกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 2 ฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 มิได้กระทำโดยประมาทด้วย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งมิได้อุทธรณ์ด้วย