มาตรา ๒๘
บุคคลเหล่านี้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล
(๑) พนักงานอัยการ
(๒) ผู้เสียหาย
มาตรา ๒๙
เมื่อผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน
สามีหรือภริยาจะดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปก็ได้
ถ้าผู้เสียหายที่ตายนั้นเป็นผู้เยาว์
ผู้วิกลจริต หรือผู้ไร้ความสามารถ ซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรม
ผู้อนุบาลหรือผู้แทนเฉพาะคดีได้ยื่นฟ้องแทนไว้แล้ว
ผู้ฟ้องแทนนั้นจะว่าคดีต่อไปก็ได้
มาตรา ๓๐
คดีอาญาใดซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว
ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดระหว่างพิจารณาก่อนศาล
ชั้นต้นพิพากษาคดีนั้นก็ได้
มาตรา ๓๑
คดีอาญาที่มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวซึ่งผู้เสียหายยื่นฟ้องแล้ว
พนักงานอัยการจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในระยะใดก่อนคดีเสร็จเด็ดขาด ก็ได้
มาตรา ๓๒
เมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน
ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าผู้เสียหายจะกระทำให้คดีของอัยการเสียหาย
โดยกระทำหรือละเว้นกระทำการใดๆ ในกระบวนพิจารณา พนักงานอัยการมีอำนาจร้องต่อศาลให้สั่งผู้เสียหายกระทำหรือละเว้นกระทำการนั้นๆ
ได้
มาตรา ๓๓
คดีอาญาเรื่องเดียวกันซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างได้ยื่นฟ้องในศาลชั้นต้นศาลเดียวกันหรือต่างศาลกัน
ศาลนั้นๆ มีอำนาจสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน เมื่อศาลเห็นชอบโดยพลการหรือโดยโจทก์ยื่นคำร้องในระยะใดก่อนมีคำพิพากษา
แต่ทว่าจะมีคำสั่งเช่นนั้นไม่ได้
นอกจากจะได้รับความยินยอมของศาลอื่นนั้นก่อน
มาตรา ๓๔
คำสั่งไม่ฟ้องคดี หาตัดสิทธิผู้เสียหายฟ้องคดีโดยตนเองไม่
มาตรา ๓๕
คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้
ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้
แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใดถ้าคำร้องนั้นได้ยื่นในภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้ว
ให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้
ในกรณีที่จำเลยคัดค้านการถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
คดีความผิดต่อส่วนตัวนั้น
จะถอนฟ้องหรือยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ แต่ถ้าจำเลยคัดค้าน
ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย
มาตรา ๓๖
คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนำมาฟ้องอีกหาได้ไม่
เว้นแต่จะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นต่อไปนี้
(๑)
ถ้าพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นไป
การถอนนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
(๒)
ถ้าพนักงานอัยการถอนคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไป โดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย
การถอนนั้นไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
(๓)
ถ้าผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีอาญาไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นเสีย
การถอนนี้ไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
เว้นแต่คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว
มาตรา ๓๗
คดีอาญาเลิกกันได้ ดังต่อไปนี้
(๑)
ในคดีมีโทษปรับสถานเดียว
เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนศาลพิจารณา
(๒)
ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ
หรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หรือความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งมีโทษปรับอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว
(๓)
ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ
หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ซึ่งเกิดในกรุงเทพมหานครเมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป
หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้ทำการในตำแหน่งนั้นๆ ได้เปรียบเทียบแล้ว
(๔) ในคดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่น
เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว
มาตรา ๓๘
ความผิดตามอนุมาตรา (๒) (๓) และ (๔) แห่งมาตราก่อน
ถ้าเจ้าพนักงานดั่งกล่าวในมาตรานั้นเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษถึงจำ
คุกให้มีอำนาจเปรียบเทียบดั่งนี้
(๑)
ให้กำหนดค่าปรับซึ่งผู้ต้องหาจะพึงชำระ ถ้าผู้ต้องหาและผู้เสียหายยินยอมตามนั้น
เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่กำหนดให้ภายในเวลาอันสมควรแต่ไม่เกินสิบห้าวันแล้ว
คดีนั้นเป็นอันเสร็จเด็ดขาด
ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ
หรือเมื่อยินยอมแล้ว ไม่ชำระเงินค่าปรับภายในเวลากำหนดในวรรคก่อน
ให้ดำเนินคดีต่อไป
(๒) ในคดีมีค่าทดแทน
ถ้าผู้เสียหายและผู้ต้องหายินยอมให้เปรียบเทียบ
ให้เจ้าหน้าที่กะจำนวนตามที่เห็นควรหรือตามที่คู่ความตกลงกัน
มาตรา ๓๙
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
(๑) โดยความตายของผู้กระทำผิด
(๒)
ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์
ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
(๓)
เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา ๓๗
(๔)
เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
(๕)
เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
(๖) เมื่อคดีขาดอายุความ
(๗)
เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
13361/2558
คดีอาญา
จำเลยถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกา
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1)
จึงให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ สำหรับคดีส่วนแพ่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 42 หากครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่จำเลยถึงแก่ความตาย
ไม่มีบุคคลใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทน
หรือเข้ามาตามหมายเรียกของศาลก็ให้ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1917/2559
คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคหนึ่ง
ให้สิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเข้ามาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์
โดยไม่จำต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเรื่องใหม่ แต่มาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่า
คำร้องดังกล่าวเป็นเพียงคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.
โดยให้ถือว่าผู้เสียหายอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง
จึงมีสิทธิเพียงอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนแพ่งเท่านั้น
คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ในคดีส่วนอาญา ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 30
จึงไม่มีฐานะเป็นโจทก์ร่วมที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาในคดีส่วนอาญาได้
ฎีกาของผู้ร้องที่ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่จึงเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่อาจฎีกาได้
ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลต้องถือข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญาที่รับฟังเป็นยุติว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกระทำผิด
ตามมาตรา 46
จึงต้องฟังว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดอันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
961/2559
แม้ข้อความที่จำเลยแจ้งจะเป็นความเท็จเพราะความจริงโฉนดที่ดินอยู่ที่
ภ.
และจำเลยนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างเพื่อขอให้ออกใบแทนโฉนดที่ดินก็ตาม
แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อพันตำรวจโท บ.เจ้าพนักงาน ธ. และ พ.
เจ้าพนักงานที่ดิน มิได้กล่าวพาดพิงไปถึง ภ.
หรือนำรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานที่เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จไปใช้อ้างต่อ
ภ. อันจะถือว่า ภ. ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลย
อีกทั้งจำเลยมอบให้มารดานำโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับไปเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับ
ภ. เท่านั้น ซึ่ง ภ. ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอากับโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ตามกฎหมาย
ภ.
จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ
และใช้หรืออ้างเอกสารราชการซึ่งแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จดังกล่าว
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ.
มาตรา 30 การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ภ. เข้าร่วมเป็นโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ เมื่อ
ภ.
มิใช่คู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยอุทธรณ์ของ ภ. จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
63/2559
ปัญหาเรื่องสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จะระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ซึ่งศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
แต่ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ฐานช่วยเหลือซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม
โดยมิได้ยกปัญหาข้อเท็จจริงขึ้นกล่าวอ้างว่า ฟ้องโจทก์เป็นการกระทำกรรมเดียวกันกับคดีก่อน
ศาลอุทธรณ์จะหยิบปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยว่า
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับตามมาตรา 39 (4) จึงไม่อาจรับฟังได้
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
15667/2558
แม้รายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์เอกสารท้ายฟ้องระบุว่า
การบาดเจ็บของผู้เสียหายใช้เวลารักษา 2 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนก็ตาม
แต่ก็เป็นเพียงความเห็นของแพทย์ที่ทำไว้ขณะตรวจรักษาบาดแผลของผู้เสียหายเท่านั้น
เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส
ต้องทุพพลภาพป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน
ซึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) แล้ว ดังนี้
เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและความผิดดังกล่าวมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น
ซึ่งศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปได้ตาม ป.วิ.อ.
มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังตามฟ้องว่า
การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสและลงโทษจำเลยตาม ป.อ.
มาตรา 297 (8) ได้ เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว
จึงไม่เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม
พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 4 วรรคสอง
ตอนท้าย แต่อย่างไรก็ตาม ความผิดฐานกระทำการอันเป็นความรุนแรงในครอบครัวตาม
พ.ร.บ.ดังกล่าวมาตรา 4 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดอันยอมความได้ตามมาตรา 4 วรรคสอง
ตอนต้น เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2558
เอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 2 ว่า ไม่ประสงค์หรือติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป
พอแปลความได้ว่าเป็นการยอมความโดยถูกต้องตามกฎหมาย
สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดฐานดังกล่าว
ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
14334/2558
ทรัพย์สินในความผิดฐานรับของโจรคดีนี้มิใช่ทรัพย์สินในความผิดฐานรับของโจรในคดีอาญาหมายเลขแดงที่
๔๗๑ - ๔๗๒/๒๕๕๗ และ ๒๓๑๐/๒๕๕๗ ของศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยที่ ๒ ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 1
ในทั้งสามคดีดังกล่าว และช่วงเวลากระทำความผิดที่โจทก์ฟ้องคดีนี้กับคดีทั้งสามก็เป็นคนละช่วงเวลากัน
กรณีไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒
รับของโจรคดีนี้ในคราวเดียวกับการรับของโจรในคดีทั้งสาม
ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีทั้งสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
13585/2558
ตามรายงานสรุปผลการไกล่เกลี่ยของศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
จำเลยแถลงขอชำระเงินบรรเทาค่าเสียหาย ฝ่ายผู้เสียหายแถลงตกลงรับเงินดังกล่าว
แต่ในส่วนของคดีขอให้เป็นดุลพินิจของศาลโดยไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่าผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความในทางอาญาแก่จำเลย
จึงไม่เป็นการยอมความทางอาญาโดยถูกต้องตามกฎหมาย
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 จึงไม่ระงับตาม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
12675/2558
ความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352
เป็นความผิดอันยอมความได้ โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน
นับแต่วันรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้น
คดีเป็นอันขาดอายุความ ตาม ป.อ. มาตรา 96 คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ร่วมเองว่า
เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2555
จำเลยยอมรับกับโจทก์ร่วมว่าได้ยักยอกเงินค่าจำหน่ายสินค้าของโจทก์ร่วมไปจริง
ดังนี้
จึงเท่ากับโจทก์ร่วมได้รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันดังกล่าวแล้ว
การที่โจทก์ร่วมให้จำเลยนำเงินมาชดใช้คืนและจะตรวจสอบบัญชีเพื่อทราบยอดเงินที่สูญหายไปให้ชัดแจ้งอีกครั้งดังที่อ้าง
เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมยอมผ่อนผันหรือให้โอกาสแก่จำเลยในฐานะที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเท่านั้น
ไม่ทำให้สิทธิในการร้องทุกข์ของโจทก์ร่วมขยายออกไป
ดังนั้นเมื่อโจทก์ร่วมเพิ่งไปร้องทุกข์เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2555 จึงพ้นกำหนด 3
เดือน นับแต่วันที่โจทก์ร่วมรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้ว
คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมในความผิดฐานยักยอกจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)
พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนโจทก์ร่วมได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
10915/2558
โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันปล้นทรัพย์ของ ส.
ไปและร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย ผลักและฉุดกระชาก ส. เข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวก
อันเป็นการข่มขืนใจ ส.
ให้ต้องจำยอมเข้าไปในรถยนต์ของจำเลยทั้งห้ากับพวกด้วยการทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต
ร่างกายหรือเสรีภาพ และขณะนี้ไม่ทราบว่า ส. ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่
แม้คำบรรยายฟ้องจะแสดงว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันใช้กำลังทำร้าย ส. แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องยืนยันว่า
ส. เสียชีวิตแล้ว กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า ส. ถูกทำร้ายถึงตายตามความหมายของกฎหมาย
แม้ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งว่า ส. เป็นคนสาบสูญซึ่งถือว่าถึงแก่ความตายตาม
ป.พ.พ. มาตรา 62 ก็ตาม แต่ก็เป็นการตายโดยผลของกฎหมาย มิใช่เป็นกรณีถูกทำร้ายถึงตายตามความเป็นจริง
ขณะที่ภริยาและผู้สืบสันดานของ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในปี 2547 และปี
2548 ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ส.
ถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะจัดการเองได้
ประกอบกับโจทก์แถลงยอมรับต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาว่า อ. ภริยาของ ส.
ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ดังนี้
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของ อ. โจทก์ร่วมที่ 1 และบุตรของ ส.
โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงที่ 5
จึงเป็นไปโดยถูกต้องและชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2)
แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
9667/2558
ข้อความตามบันทึกระบุได้ความว่า
จำเลยนำเหรียญหลวงพ่อคูณมาขายให้โจทก์ร่วมหลายครั้ง เป็นเงิน 1,030,000 บาท
ซึ่งปรากฏว่าเป็นเหรียญปลอม ทำเลียนแบบ
จำเลยยอมรับที่จะนำเงินมาคืนโจทก์ร่วมเป็นเงิน 1,030,000 บาท โดยจะผ่อนชำระให้เดือนละ
50,000 บาท ทุกเดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 2 ธันวาคม 2552 เป็นต้นไป จนกว่าจะผ่อนหมด
หากจำเลยผิดเงื่อนไขไม่ว่างวดใดงวดหนึ่ง
ยินยอมให้โจทก์ร่วมดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญาได้ทันที
เมื่อไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่า โจทก์ร่วมตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสอง
จึงมิใช่การยอมความ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็คฉบับละ
50,000 บาท อีก 14 ฉบับ รวมเป็นเงิน 700,000 บาท ให้โจทก์ร่วม
เพื่อชำระเงินตามบันทึก ส่วนที่เหลืออีก 280,000 บาท จะชำระเป็นเงินสด
เมื่อเช็คถึงกำหนด โจทก์ร่วมนำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
โจทก์ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในเช็ค 2 ฉบับ
ต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครใต้
โดยโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ และศาลแขวงพระนครใต้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1
แล้ว ส่วนเช็คฉบับอื่น เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว
โจทก์ร่วมจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1
สั่งจ่ายเช็คทั้ง 14 ฉบับให้โจทก์ร่วมนั้น
เป็นการสั่งจ่ายเช็คเพื่อผ่อนชำระหนี้ตามที่ตกลงในบันทึกเท่านั้น ทั้งเช็ค 14 ฉบับก็ไม่ได้ชำระหนี้ทั้งหมด
ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมสละสิทธิหรือไม่ยึดถือสิทธิใดๆ
รวมทั้งสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงด้วย
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1
และโจทก์ร่วมดังกล่าวเป็นเพียงการชำระหนี้ในทางแพ่งตามข้อตกลงในบันทึกเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันอันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
9599/2558
ฟ้องโจทก์บรรยายให้เห็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยจำเลยนำเอาของเพลงของผู้เสียหายซึ่งมีผู้ทำซ้ำโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไปทำซ้ำโดยบันทึกลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บรรจุโปรแกรมคาราโอเกะที่เป็นตัวหนังสือของเนื้อเพลงและทำนองเพลงปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วเปิดให้บริการในลักษณะของเพลงคาราโอเกะแก่ลูกค้าที่มาใช้บริการ
เป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในการกระทำของจำเลยที่นำงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า
แต่การนำเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บรรจุโปรแกรมคาราโอเกะที่เป็นตัวหนังสือของเนื้อเพลงและทำนองเพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและของผู้อื่นหลายรายให้ปรากฏบนหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเปิดให้บริการแก่ลูกค้า
อันเป็นความประสงค์ที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพียงอย่างเดียวเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า
การที่มีลูกค้ามาเปิดใช้บริการเพลงคาราโอเกะของผู้เสียหายหรือของผู้อื่นทีละเพลงในช่วงเวลาและสถานที่เดียวกัน
การกระทำของจำเลยจึงถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน
เมื่อการกระทำคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1549/2557
ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าประเทศกลางเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน
และคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ลงโทษจำเลยไปแล้ว
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไป พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
8782/2558
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) บัญญัติว่า
"ผู้เสียหาย
หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ..."
ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า
บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่
อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว
และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้
สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น
แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาในคดีแพ่งให้แก่บริษัท
บ. แล้วก็ตาม
แต่วันที่จำเลยกระทำความผิดโจทก์ยังเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าว
เมื่อจำเลยโอนขายที่ดินของจำเลยให้แก่ น.
เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วน
โจทก์จึงเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ของจำเลย
โจทก์ย่อมอยู่ในฐานะผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6221/2558
แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7
มีคำพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 120,000 บาท แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และคืนเงิน 600,000 บาท
ให้แก่โจทก์ร่วมที่ 2 แต่จำเลยยังคงยื่นฎีกา คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด
เมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1)
ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ
พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกทรัพย์สินแทนโจทก์ร่วมทั้งสองตาม ป.วิ.อ.
มาตรา 43 อีก
คำขอส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ขอถือตามคำฟ้องของพนักงานอัยการย่อมตกไป
ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจออกคำบังคับให้ผู้ร้องที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของจำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค
7 ในส่วนแพ่งได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5994/2558
จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไรซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาก่อนแล้ว
เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2)
แต่โจทก์ไม่มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าว ทั้งคดีก่อน
โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกัน
มีวันเวลากระทำความผิดและสถานที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับคดีนี้
เพียงแต่ผู้เสียหายต่างรายกันเท่านั้น การที่จำเลยเปิดเพลงคาราโอเกะที่ทำขึ้น
โดยละเมิดลิขสิทธิ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บันทึกงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายหลายเพลงต่อเนื่องในวันเดียวกัน
จึงเป็นเจตนาเดียวกัน
แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีก่อนแล้ว
คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว
สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับคดีดังกล่าวจึงระงับไปตาม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5305/2558
ปัญหาว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตาม
พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 เป็นอันระงับไปแล้วหรือไม่
แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
จำเลยทั้งสามจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
ความผิดฐานร่วมกันลักลอบนำหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ที่ยังมิได้เสียภาษีและมิได้ผ่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร
หรือร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ
หรือรับไว้โดยประการใด ๆ
ซึ่งหลอดไฟฟ้าดังกล่าวโดยรู้อยู่ว่าเป็นของที่ลักลอบหนีศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร
พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ
และความผิดฐานร่วมกันนำหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ดังกล่าวที่เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่ได้แสดงหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการตาม
พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 21 และ 48
แต่ละฐานแยกออกจากกันได้ชัดเจนทั้งในแง่เจตนาในการกระทำ
สภาพและลักษณะของการกระทำความผิดสำเร็จลง ตลอดจนบัญญัติกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน
จึงเป็นการกระทำความผิดคนละกรรมต่างกัน หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวกันไม่ ดังนั้น
แม้ว่าความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรซึ่งจำเลยทั้งสามได้ทำความตกลงและอธิบดีกรมศุลกากรได้งดการฟ้องร้องจำเลยทั้งสามตามมาตรา
102 และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (3)
ดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง
แต่ก็ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตาม
พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511
ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกันเป็นอันระงับไปด้วยแต่อย่างใด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2309/2558
สิทธินำคดีมาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
มุ่งหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดอันหนึ่งอันเดียวกันในคราวเดียวกัน
ความผิดที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองคดีเป็นการกระทำเดียวกันที่ทำให้เกิดความผิด
กล่าวคือ เป็นเรื่องที่จำเลยตกลงให้โจทก์ชำระค่าซื้อที่ดินพิพาท
แล้วจะให้โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่ซื้อขายโดยมีสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงคนละครึ่ง
แต่จำเลยไม่ยอมโอนที่ดินให้โจทก์
กลับนำที่ดินบางส่วนไปขายและขออกโฉนดที่ดินเป็นของตนเอง แม้โจทก์แยกฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยเป็น
2 คดี โดยคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 945/2553 ของศาลชั้นต้น
กล่าวหาว่าการกระทำดังกล่าวของจำเลยเป็นการหลอกลวงโจทก์ ขอให้ลงโทษฐานฉ้อโกง
ส่วนคดีนี้กล่าวหาว่าเป็นการกระทำฐานยักยอกก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์
การกระทำของจำเลยทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำความผิดในเรื่องเดียวกันและต่อเนื่องเกี่ยวพันกันโดยมีเจตนาเดียวกัน
ย่อมเป็นความผิดกรรมเดียว
เมื่อคดีอาญาในความผิดฐานฉ้อโกงดังกล่าวศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า
การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง ถือได้ว่าศาลได้วินิจฉัยในเรื่องการกระทำความผิดของจำเลย
และมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1041/2558
คดีนี้เป็นความผิดที่ได้กระทำต่อนิติบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (3)
ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
บัญญัติให้ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลเป็นผู้ฟ้องคดีแทน เมื่อจำเลยที่
1 ที่ 3 และที่ 5 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทและเป็นกรรมการบริษัทผู้กระทำผิดต่อบริษัท
ค. ซึ่งเป็นนิติบุคคลนั้นเอง ย่อมจะไม่ฟ้องคดีแทนนิติบุคคลเพื่อกล่าวหาตนเอง
เมื่อเป็นดังนี้
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นและมีประโยชน์ได้เสียร่วมกับนิติบุคคลนั้นย่อมได้รับความเสียหาย
ทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 1169 ก็บัญญัติไว้ว่า
ถ้ากรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและบริษัทไม่ฟ้องคดี
ผู้ถือหุ้นคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีได้ ดังนี้
โจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5
ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ของบริษัทตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (2) ประกอบมาตรา 2 (4) และ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ได้
และต้องถือว่าโจทก์ฟ้องแทนบริษัทด้วย มติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัท ค.
ที่ให้ยุติการฟ้องร้องและยุติข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นกับกรรมการบริหารทั้งหมด
ไม่มีข้อความตอนใดที่แสดงว่าผู้ถือหุ้นของบริษัท ค. ซึ่งรวมทั้งโจทก์
ตกลงไม่เอาความทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5
จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มีเจตนาไม่ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5
และไม่เป็นการยอมความในความผิดฐานร่วมกันยักยอกโดยถูกต้องตามกฎหมาย
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวจึงไม่ระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
(2) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
270/2558
จำเลยเป็นลูกจ้างผู้เสียหาย
มีหน้าที่รับเงินผู้เสียหายไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้
จำเลยรับเงินจากผู้เสียหายหลายครั้ง แล้วเบียดบังเอาเงินของผู้เสียหายรวม
260,597.80 บาท ไปเป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต
แม้ระยะเวลาที่จำเลยยักยอกเงินในแต่ละครั้งจะไม่ห่างกันมาก
แต่การที่จำเลยยักยอกเงินผู้เสียหายในแต่ละครั้งก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
หนังสือรับสภาพหนี้มีเนื้อความว่าจำเลยเป็นหนี้เนื่องจากยักยอกเงินของผู้เสียหายไป
โดยจำเลยตกลงจะผ่อนชำระคืนให้เป็นงวดๆ
ซึ่งมีผลผูกพันกันในทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่ง
เมื่อไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย
จึงไม่เป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
18122/2557
อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ตาม
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แบ่งเป็นอายุความฟ้องคดีแพ่งตามมาตรา 63
และอายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 66 โดยอายุความคดีอาญาต้องนำ ป.อ. มาตรา 95
มาใช้บังคับ
เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องซึ่งต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท
อายุความในคดีนี้จึงเป็นอายุความฟ้องคดีอาญาสำหรับความผิดต้องระวางโทษอย่างอื่นซึ่งไม่ใช่โทษจำคุก
ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) อันมีอายุความหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด
เมื่อโจทก์และโจทก์ร่วมบรรยายฟ้องว่า
จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 22
ธันวาคม 2552 แต่ฟ้องและได้ตัวจำเลยทั้งสามมายังศาลในวันที่ 17 ธันวาคม 2555
ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69
วรรคหนึ่งจึงขาดอายุความแล้ว
ทั้งหากเทียบเคียงกับกฎหมายลิขสิทธิ์ก่อนหน้านั้นจะเห็นได้ว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยบัญญัติแยกอายุความคดีแพ่งและคดีอาญาจากกันตลอดมา
โดยปัจจุบัน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 กำหนดอายุความคดีแพ่งไว้ในมาตรา 63
ส่วนมาตรา 66 มิได้กำหนดอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ
จึงต้องนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1 หมวด 9 ว่าด้วยอายุความมาใช้กับความผิดในคดีนี้
ฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมจึงขาดอายุความและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
16250/2557
การที่จำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองพยานพร้อมยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ
และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และการให้สัมภาษณ์หรือให้ข้อมูลแก่ผู้สื่อข่าวโดยมีข้อความใส่ความโจทก์ว่า
โจทก์กับพวกคุกคามข่มขู่จำเลยกับพยาน
เป็นข้อความที่เกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน
เป็นการกระทำความผิดในคราวเดียวกันต่อเนื่องด้วยเจตนาเดียวกัน
การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว
แม้จำเลยจะจัดส่งหนังสือร้องเรียนดังกล่าวไปให้บุคคล
และคณะบุคคลต่างรายกันก็หาทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันไม่
การที่โจทก์แยกฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทในคดีก่อนต่อศาลแขวงดุสิตในเรื่องที่จำเลยทำหนังสือร้องเรียนดังกล่าว
แล้วโจทก์ได้ฟ้องจำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทในคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นอีก
เมื่อคดีของศาลแขวงดุสิตที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีก่อน ศาลมีคำพิพากษาแล้ว
แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาภายหลังศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาแล้ว
แม้คดียังไม่ถึงที่สุดก็ถือได้ว่าศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ประกอบ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
11858/2557
ป.วิ.อ. มาตรา 28
บัญญัติให้ทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหาย
เป็นบุคคลซึ่งมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลได้
โดยในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนั้น
ผู้เสียหายมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้โดยไม่จำต้องมีการสอบสวนความผิดนั้นมาก่อน
แต่ในกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง มาตรา 120 บัญญัติว่า
ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน
ทั้งต้องเป็นการสอบสวนที่ไม่บกพร่องหรือผิดพลาดในส่วนซึ่งเป็นสาระสำคัญด้วย
เพราะมิเช่นนั้นแล้วต้องถือว่า เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ซึ่งถือเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อน อันมีผลทำให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง
การสอบสวนจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้พนักงานอัยการมีอำนาจในการฟ้องคดีอาญา
ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้กำหนดหลักเกณฑ์สำคัญเกี่ยวกับการสอบสวนความผิดที่ได้กระทำลงในราชอาณาจักรไว้ในมาตรา
2 (6) และมาตรา 18 กับมาตรา 19 โดยมีสาระสำคัญว่า
การสอบสวนต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน
ทั้งการสอบสวนต้องกระทำโดยพนักงานสอบสวนที่มีเขตอำนาจ
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า
การกระทำของจำเลยที่อ้างว่าเป็นความผิดฐานร่วมกันยักยอก คือการร่วมกับจ่าสิบตำรวจ
อ. จำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 21/2555 ของศาลชั้นต้น
นำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. โดยระบุว่า
เหตุเกิดที่แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร
แต่ต่อมาในชั้นพิจารณากลับได้ความตามคำเบิกความของร้อยตำรวจเอก ว.
พนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า
การจำนำรถยนต์อันเป็นมูลเหตุแห่งความผิดของจำเลยเกิดขึ้นที่เขตเพชรเกษม
อันเป็นท้องที่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษม ดังนี้
พนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลเพชรเกษมซึ่งเป็นท้องที่ที่ความผิดเกิดย่อมเป็นพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน
พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่อื่นนอกจากนี้ย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนได้
เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือเพื่อความสะดวก
จึงให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ผู้ต้องหามีที่อยู่หรือถูกจับเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการสอบสวนได้
ตาม ป.วิ.อ. 18 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่เขตบางบอน
กรุงเทพมหานคร และถูกจับกุมดำเนินคดีนี้โดยเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาล
หนองค้างพลู เช่นนี้
แม้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยจะเป็นผู้รับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย
ทั้งเป็นเจ้าพนักงานผู้มีเขตรับผิดชอบในท้องที่ซึ่งบริษัทผู้เสียหายตั้งอยู่
แต่เมื่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยไม่ใช่พนักงานสอบสวนที่ ป.วิ.อ. มาตรา
18 วรรคสาม กำหนดให้เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
การที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยทำการสอบสวนจำเลย
จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา
83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม
ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น
หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น
ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ.
ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก.
การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่
ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่
อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น
เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า
เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน
โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า
ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม
แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย
ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน
ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
10096/2557
ป. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม
2544 แต่เหตุรับของโจรโฉนดที่ดินเลขที่ 19724 และฐานใช้เอกสารปลอมเกิดวันที่ 13
ธันวาคม 2539 ขณะที่ ป. ยังมีชีวิตอยู่ ป.
จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28
(2) สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัว ส่วนโจทก์ผู้สืบสันดานจะมีสิทธิฟ้องแทน ป.
ได้ต่อเมื่อ ป. ได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง
แต่ตามฟ้องและทางพิจารณาได้ความว่า ขณะ ป. มีชีวิต ป. ไม่ได้ฟ้องจำเลยที่ 1
โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเมื่อ ป. ถึงแก่ความตาย
โฉนดที่ดินเลขที่ 19724 ตกทอดแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ มาตรา 1600 นั้น เป็นกรณีทรัพย์มรดกของ
ป. ตกทอดแก่ทายาท เป็นสิทธิในทางแพ่งเท่านั้น แม้หากโจทก์จะมีสิทธิได้รับมรดกของ
ป. ก็ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในทางอาญาดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7426 - 7427/2557
ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า
ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
โดยไม่ปรากฏว่ามีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่ให้นำข้อเท็จจริงที่ได้จากคำพิพากษาของคดีในส่วนแพ่งมาฟังเป็นยุติในคดีส่วนอาญาได้
การที่ข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยจึงคงเพียงแต่นำมาฟังประกอบในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนว่าโจทก์ร่วมควรจะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยเพียงใดเท่านั้น
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1
วินิจฉัยโดยนำข้อเท็จจริงที่ได้จากการพิจารณาคดีส่วนแพ่งมารับฟังในการวินิจฉัยคดีส่วนอาญาว่า
ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย ผู้ตายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
แล้วพิพากษายกคำร้องของ ว. บิดาผู้ตายที่ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6397/2557
เมื่อ ส.
ผู้ตายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด
ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตารา 288 ประกอบมาตรา
69 โจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ.
มาตรา 30 และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3150/2557
ผู้เป็นคู่ความในคดีต้องเป็นบุคคลซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28
บัญญัติให้มีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาล ได้แก่ (1) พนักงานอัยการ (2) ผู้เสียหาย
และคำว่าบุคคลนั้น ตาม ป.พ.พ. ได้แก่ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ตามคำฟ้องของโจทก์
โจทก์มีวัตถุประสงค์เก็บรวบรวมเงินจากสมาชิก และให้สมาชิกกู้ยืมจากกลุ่มออมทรัพย์
อันมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ เมื่อมิได้จดทะเบียนตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1015 โจทก์จึงไม่เป็นนิติบุคคล และตามคำฟ้องที่ระบุว่าคณะกรรมการและสมาชิก
โจทก์มีมติให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองนั้น ก็ไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวฟ้องคดีในฐานะส่วนตัว
โจทก์ย่อมมิใช่บุคคลธรรมดาเช่นกัน ไม่อาจเป็นคู่ความในคดีนี้ได้
โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องทั้งในคดีส่วนอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1847/2557
เมื่อความผิดที่โจทก์ร่วมกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด
เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยคือ
ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง
โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจร้องทุกข์ เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด จ.
ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้ร้องทุกข์โดยชอบ
พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
11710 - 11711/2556
โจทก์ที่ 2 และที่ 3
เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน แม้โจทก์ที่ 3 จะเป็นผู้ถือหุ้นโจทก์ที่ 2
ถึงร้อยละ 70 ก็หาทำให้โจทก์ที่ 3
มีสิทธิดำเนินคดีจำเลยซึ่งกระทำความผิดต่อโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด โจทก์ที่ 3
จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
21329/2556
การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นอีกคดีหนึ่งก่อน
แล้วต่อมาพนักงานอัยการฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ในภายหลัง
เมื่อไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการมิให้ฟ้องคดีอาญาที่ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยไว้แล้ว
และบทบัญญัติมาตรา 33 แห่ง ป.วิ.อ. ก็ได้บัญญัติถึงการพิจารณาคดีซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันไว้
แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันได้
ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลย
แต่การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้
โดยถือเอาคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของตนเอง
เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตจึงมีผลเท่ากับโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย
การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์จึงมีสถานะเสมือนหนึ่งเป็นการฟ้องจำเลยซ้อนกับคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยไว้ก่อน
เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์คดีนี้จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
19287/2555
จำเลยเป็นเพียงผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ การที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าโฉนดที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์มิได้สูญหาย
แต่กลับไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย
แล้วนำบันทึกคำแจ้งความไปขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วโอนขายที่ดินพิพาทให้บุคคลภายนอก
เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137
และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายเป็นพิเศษในการกระทำความผิดดังกล่าว มีอำนาจฟ้องคดีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
9454/2553
แม้ว่าก่อนคดีนี้โจทก์ร่วมเคยเป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ.
มาตรา 341, 83 ต่อศาลจังหวัดนางรอง เมื่อวันที่ 30
ตุลาคม 2544 ก็ตามแต่คดีนี้พนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม
พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ป.อ. มาตรา 83, 91,
341 กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 482,000 บาท
แก่ผู้เสียหายต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2544 ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 21
มกราคม 2545
โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ส่วนคดีอาญาของศาลจังหวัดนางรองที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องนั้นโจทก์ร่วมได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องและศาลจังหวัดนางรองมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้องจำหน่ายคดีจากสารบบความเมื่อวันที่
4 มิถุนายน 2545 ดังนั้น
ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงอันเป็นความผิดต่อส่วนตัวที่โจทก์ร่วมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยนั้น
โจทก์ร่วมได้ถอนฟ้องไปในภายหลังที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้
และภายหลังที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการในคดีนี้อีกด้วย
การถอนฟ้องดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาด และย่อมไม่มีผลกระทบต่อคดีนี้
กรณีไม่ต้องด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 36 (3) และ 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5212/2552
โจทก์ร่วมที่ 2
เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยอมรับว่า
ได้นำข้อความในเนื้อหาสาระสำคัญของหนังสือเรื่อง "อโรคยา" และเรื่อง
"ล้างพิษ" ทั้งได้นำความรู้จากหนังสือเรื่อง "น้ำมันปลา
น้ำมันลดไขมัน" ของโจทก์ร่วมที่ 1 ทั้ง 3 เล่ม มาลงในหนังสือเรื่อง
"เบื่อหมอ เบื่อยา หันหาธรรมชาติบำบัด วิถีสุขภาพแนวใหม่" เพื่อถ่ายทอดให้ประชาชนทราบด้วย
ในฐานะที่โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นบรรณาธิการหนังสือของโจทก์ร่วมที่ 1
จึงนำมาลงในหนังสือของโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นบรรณาธิการหนังสือของโจทก์ร่วมที่ 1
จึงนำมาลงในหนังสือของโจทก์ร่วมที่ 2 หนังสือทั้ง 4
เล่มของโจทก์ร่วมทั้งสองดังกล่าวมีเนื้อหาที่ได้แปลมาจากวรรณกรรมภาษาต่างประเทศของเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งได้รับควมคุ้มครองตาม
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 42 ประกอบ
พ.ร.ฎ.เงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 5
ผู้แปลและโจทก์ร่วมทั้งสองผู้รับโอนงานแปลต่างไม่ได้ขออนุญาตในการแปลจากเจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเลย
จึงเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแต่อย่างใด
การที่โจทก์อ้างว่าขณะแปลยังไม่มี พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ เพราะหนังสือทั้ง 4
เล่มดังกล่าวได้ตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนปี 2537 ทุกเล่มแล้ว ต่อมาหลัง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
พ.ศ.2537 ประกาศใช้บังคับ
โจทก์ร่วมทั้งสองได้ติดต่อสำนักพิมพ์เจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเพื่อจ่ายค่าลิขสิทธิ์
แต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ
จึงยังไม่ได้รับอนุญาตหรือจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้แก่สำนักพิมพ์หรือเจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศ
เท่ากับแสดงว่าโจทก์ร่วมทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่า
ผู้แปลหนังสือต่างประเทศที่มีเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นภาษาไทยยังไม่ได้รับอนุญาตหรือจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้เจ้าของลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมภาษาต่างประเทศ
โจทก์ร่วมทั้งสองผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิในงานแปลดังกล่าวดีกว่าผู้โอนและไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมหนังสือทั้ง
4 เล่ม ดังนี้ โจทก์ร่วมทั้งสองย่อมไม่ใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
9061/2551
คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด
ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้
เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ก็เป็นการถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุด
เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา
ศาลฎีกามีอำนาจสั่งได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสั่ง
และสั่งว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5013/2551
จำเลย ยื่นคำร้องว่า
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาฎีกาลับหลังจำเลยเป็นการไม่ชอบ
เพราะการส่งหมายแจ้งวันนัดไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องแล้วมีคำสั่งยกคำร้องโดยยังไม่ได้ทำการไต่สวนและ
สำเนาคำร้องให้แก่โจทก์ ซึ่งหากข้อเท็จจริงเป็นตามที่จำเลยกล่าวอ้าง
ก็ชอบที่จะเพิกถอนการอ่านคำพิพากษาได้
อันจะมีผลทำให้คดียังไม่ถึงที่สุดและโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในระหว่างการ พิจารณาของศาลฎีกา
จำเลยไม่คัดค้าน ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาจำเลย
เมื่อคดีนี้เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว
โจทก์จะถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7254/2551
โจทก์ ที่ 1 และที่ 2
ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1839/2545 ของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นผู้เสียหายเคยฟ้องจำเลยที่
1 และที่ 2 เป็นคดีอาญาในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ โดยอาศัยเหตุจากการที่จำเลยที่ 1
โอนที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 199 ให้แก่จำเลยที่ 2
และโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ในคดีอาญาหมาลเลขแดงที่ 1839/2545
ของศาลชั้นต้นได้ขอถอนฟ้องคดีอาญาดังกล่าวไป ซึ่งเป็นสิทธิส่วนตัวของโจทก์ที่ 1
และที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1839/2545 ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะกระทำได้
ไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ในคดีนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายรายอื่นที่จะฟ้องจำเลย ได้อีก
แม้มูลเหตุที่จะฟ้องเป็นเรื่องการโอนที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ราย
เดียวกันก็ตาม ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 36 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
9061/2551
คดี อาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด
ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้
เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ก็เป็นการถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุด
เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจสั่งได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสั่ง
และสั่งว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
386/2551
แม้ผู้เช่าซื้อยังชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน
กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ แต่ผู้เช่าซื้อก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์และมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์
บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน
เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจากผู้ เช่าซื้อ
ผู้เช่าซื้อย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้
ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับผู้ให้เช่าซื้อ
คดีนี้เป็นกรณีความผิดอันยอมความได้
เมื่อผู้เช่าซื้อมิได้ร้องทุกข์ภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิด
และรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ป.อ. มาตรา 96
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4911/2551
ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า
โจทก์ร่วมเช่าที่ดินพิพาท โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
และไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย
ไม่มีสิทธิเข้าเป็นโจทก์ร่วมและไม่มีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้น
ต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
10302/2550
มูลหนี้ตามเช็คพิพาทในคดีนี้
โจทก์ได้เคยฟ้องจำเลยให้ชดใช้เงินตามคดีแพ่งของศาลจังหวัดราชบุรี
ต่อมาโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน
ศาลจังหวัดราชบุรีพิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จำเลย
ชำระเงินตามมูลหนี้ในเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 852
โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เท่านั้น
โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก ดังนั้น หนี้ที่จำเลยได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินจึงเป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนที่
ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตาม
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7
สิทธิของโจทก์ในการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39
ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า โจทก์และจำเลยยังมิได้มีเจตนาที่จะยุติข้อพิพาทในทางอาญาจนกว่าจำเลยจะชำระ
เงินตามสัญญาประนีประนอมยอมความแก่โจทก์แล้ว
และไม่มีข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความแสดงให้เห็นว่าโจทก์จะไม่ดำเนิน
คดีอาญาแก่จำเลย คงเป็นเพียงข้อตกลงที่จำเลยจะชดใช้ให้แก่โจทก์อันเป็นสิทธิทางแพ่งที่โจทก์
สามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้อีกทางหนึ่งเท่านั้น
จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์
ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) นั้น
เป็นคนละเรื่องคนละกรณีกันกับคดีอาญาเลิกกันตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ
มาตรา 7 เพราะคดีในส่วนอาญาจะเลิกกันตาม พ.ร.บ.และมาตราดังกล่าวนั้น
เป็นกรณีที่มูลหนี้ที่ผู้กระทำผิดได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินนั้นได้สิ้นผล
ผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา ดังนั้น
เมื่อโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งดังกล่าว
และศาลได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดไปแล้วผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อม
ทำให้สิทธิเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป
และให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นว่าเป็นของตนดังที่บัญญัติไว้ ใน
ป.พ.พ. มาตรา 852 ซึ่งเป็นกรณีที่มูลหนี้ที่จำเลยคดีนี้ได้ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้นได้
สิ้นผลผูกพันไปก่อนที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญา
คดีในส่วนอาญาจึงเป็นอันเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ
มาตรา 7 ซึ่งมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป อันเป็นอีกกรณีหนึ่งที่มิใช่กรณีตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
6549/2550
การที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยกับพวกต่อศาลแรงงานภาค
5 เป็นการฟ้องเนื่องจากจำเลยกับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วม
ซึ่งเป็นนายจ้างอันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์ร่วมและจำเลยกับพวกจึงเป็นสัญญาประนี
ประนอมยอมความในคดีแพ่งซึ่งไม่มีข้อตกลงว่าโจทก์ร่วมไม่ติดใจดำเนินคดีแก่
จำเลยในทางอาญา ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการ "ยอมความกัน"
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5387 - 5388/2550
ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยมีเงื่อนไขในลักษณะที่โจทก์มีเจตนาจะให้จำเลยทำงาน
ให้โจทก์แล้วเสร็จก่อน
แล้วจึงหักหนี้ค่าก่อสร้างกับมูลหนี้ที่ออกเช็คพิพาทคดีนี้ภายหลัง
เมื่อจำเลยก่อสร้างหรือชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วน โจทก์จึงจะถอนฟ้องคดีนี้ให้
ไม่มีข้อความตอนใดแสดงว่าโจทก์ตกลงระงับข้อพิพาทหรือสละสิทธิในการดำเนินคดี
อาญาแก่จำเลยทันทีแต่อย่างใด
จึงมิใช่การยอมความเพื่อให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2643/2550
โจทก์ร่วมที่ 1
มิใช่ผู้เสียหายในความผิดต่อ พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ ซึ่งเป็นความผิดต่อรัฐ
ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมที่ 1
ได้รับอันตรายแก่กายจากการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใด คงมีแต่โจทก์ร่วมที่ 2
เท่านั้น ที่ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ร่วมที่ 1 จึงมิใช่ผู้เสียหายในความผิดตาม
ป.อ. มาตรา 300 ด้วย จึงไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้
แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ที่ 1
ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2236 - 2237/2550
ความผิดฐานปลอมเอกสารและฐานใช้เอกสารปลอม
เป็นความผิดต่อผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ปลอมและ
ใช้เอกสารปลอมตามฟ้อง
แม้จำเลยจะปลอมหนังสือของผู้ตายส่งไปถึงนายแพทย์อำนวยการโรงพยาบาล บ. ว่า
ผู้ตายขอลาการปฏิบัติงานแล้วลงชื่อปลอมของผู้ตายในหนังสือดังกล่าว
และจำเลยได้ปลอมจดหมายของผู้ตายส่งไปถึงนาย ช. กับนางสาว ก.
บุตรชายและบุตรสาวของผู้ตายว่า ผู้ตายต้องไปฝึกสมาธิ
เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเอกสารปลอมนั้นผู้ตายได้ทำขึ้นจริง
ทั้งนี้โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นก็ตาม ในกรณีนี้โจทก์ที่ 1
ซึ่งเป็นบิดาผู้ตายก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย
เนื่องจากการกระทำดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
ทั้งความผิดดังกล่าวได้เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ตายได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว
ผู้ตายไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวได้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ที่ 1
ซึ่งเป็นบุพการีของผู้ตายจะจัดการแทนผู้ตายได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2853/2550
การที่จำเลยที่ 1
ยอมให้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับและชำระค่าปรับแล้ว
มีผลเพียงทำให้คดีอาญาดังกล่าวเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 เท่านั้น
การเปรียบเทียบปรับของพนักงานสอบสวนดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษาคดีส่วนอาญา กรณีจึงไม่ต้องด้วย
ป.วิ.อ. มาตรา 46 ที่คดีในส่วนแพ่งจะต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8
ถือเอาข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ยอมรับต่อพนักงานสอบสวนว่า จำเลยที่ 1
ขับรถยนต์โดยประมาทมาชี้ขาดตัดสินคดีนี้เป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5884/2550
โจทก์ร่วมที่ 2
เป็นบิดาเด็กหญิง ร. มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ก็โดยฐานะเป็นผู้จัดการแทนเด็กหญิง
ร. ผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาล โจทก์ร่วมที่ 2
ถึงแก่ความตาย ส. ภริยาโจทก์ร่วมที่ 2 หามีสิทธิเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2
ตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 29 ไม่ เพราะโจทก์ร่วมที่ 2
เป็นเพียงผู้จัดการแทนเด็กหญิง ร. ผู้ตายเท่านั้น โจทก์ร่วมที่ 2
ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความ
ตายโดยตรง ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. เข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2
จึงเป็นการไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7630/2549
โจทก์ทั้งสองเมาสุราจนครองสติไม่ได้
ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน
แต่โจทก์ทั้งสองได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว
ทำให้คดีอาญาที่โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาเป็นอันเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 (2)
เมื่อโจทก์ทั้งสองกล่าวหาต่อจำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนว่า จ่าสิบตำรวจ ป.
ทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองในเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งเป็นการกล่าวหาว่าจ่าสิบตำรวจ
ป. ได้กระทำความผิดข้อหาทำร้ายร่างกาย
ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหายโดยมีเจตนาจะให้จ่าสิบตำรวจ ป. ได้รับโทษเช่นนี้
จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7)
และเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ทั้งสองถูกกล่าวหาว่าเมา
สุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน
จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์ของโจทก์ทั้งสองไว้
เพื่อดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไปการที่จำเลยไม่รับคำร้องทุกข์ของ
โจทก์ทั้งสองในข้อหาทำร้ายร่างกาย
อ้างเพียงว่าคดีเลิกกันแล้วโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ
จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสีย หาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3902/2549
บทบัญญัติของ พ.ร.บ.
ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22, 24 และ 25
เป็นบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจในการจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของ
ลูกหนี้แต่เฉพาะในทางแพ่งเท่านั้น หาได้รวมถึงการฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีอาญาด้วยไม่
กรณีที่โจทก์เป็นผู้เสียหายฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาบุกรุกโดยมิได้มีคำ
ขอในส่วนแพ่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายหรือขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์
แม้โจทก์จะถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องร้องคดีอาญาได้เองตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) และมาตรา 5 (3) ประกอบมาตรา 28 (2)
หรือจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องแทนก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3196/2549
ป.วิ.อ. มาตรา 35
มิได้บัญญัติถึงวิธีถอนฟ้องว่าจะต้องทำเป็นคำร้องแต่วิธีเดียวเท่านั้น
หากคู่ความมาอยู่ต่อหน้าศาลและแถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาย่อมไม่ห้ามศาลที่จะยอม
รับคำแถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาที่ได้กระทำในศาล
โดยจดข้อความขอถอนฟ้องนั้นลงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาหรืออาจจะกำหนดให้
โจทก์ถอนฟ้องโดยทำเป็นคำร้องขอถอนฟ้องก็ได้แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร
การนัดคู่ความให้มาศาลเพื่อเจรจากันในห้องทำงานของผู้พิพากษาหัวหน้าศาลถือ ได้ว่า
คู่ความมาศาลและขอให้ศาลนั่งพิจารณาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
แม้การไกล่เกลี่ยจะมิได้กระทำในห้องพิจารณาคดีของศาล แต่ก็อยู่ในศาล
ถือว่าศาลได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลโดยชอบแล้ว
เมื่อคู่ความอยู่ต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดีของศาล
และโจทก์แถลงของถอนฟ้องด้วยวาจาในศาลนั้นเองก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจที่จะรับคำแถลงขอถอนฟ้องด้วยวาจาได้โดยชอบ
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาคดีนี้เกี่ยวด้วยมรดกของ
ม. ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาไปในคราวเดียวกัน
เจตนาในการไกล่เกลี่ยก็เพื่อยุติข้อพิพาททั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาโดยการทำ
สัญญาประนีประนอมยอมความกันในคดีแพ่งและโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญาให้เสร็จไปทั้ง
สองคดีในคราวเดียวกัน ดังนั้น
แม้คู่ความจะตกลงกันในคดีแพ่งได้และโจทก์ยอมจะถอนฟ้องคดีอาญา
ศาลชั้นต้นก็ต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความและพิพากษาประนีประนอมยอมความใน
คดีแพ่งไปพร้อมกับอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีอาญาไปในคราวเดียวกัน
เพื่อให้คดีทั้งสองยุติไปตามเจตนาในการไกล่เกลี่ยและเจรจาตกลงกัน
การที่ศาลชั้นต้นด่วนบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาในคดีอาญาว่าโจทก์ขอถอนฟ้อง
จำเลยคัดค้าน ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องและมีคำสั่งจำหน่ายคดีอาญาจากสารบบความไปก่อน
โดยไม่รอให้คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งให้เสร็จไปเพื่อให้
คดีทั้งสองยุติไปพร้อมกันในคราวเดียวกัน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง
และผิดหลง และผิดระเบียบว่าด้วยการพิจารณาคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ.
มาตรา 15 โจทก์จึงชอบที่จะขอให้เพิกถอนเสียได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5342/2549
ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติตามฟ้องโจทก์ว่า
เหตุที่รถทั้งสองเกิดเฉี่ยวชนกันทำให้รถยนต์ทั้งสองคันเสียหายและผู้ตายถึง
แก่ความตาย ผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วย
จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา
2 (4) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม มาตรา 30
ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ศ. บุตรผู้ตายเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการจึงไม่ชอบ
ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา
ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา
225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1596/2549
เหตุเกิดรถชนกันผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่บ้าง
ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดตาม ป.อ. 291 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2
(4) โจทก์ร่วมซึ่งเป็นบุพการีผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตามมาตรา 5
(2) โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามมาตรา 30
โจทก์ร่วมย่อมไม่มีสิทธิอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักโดยไม่รอการลงโทษ
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้จึงไม่ชอบ และแม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3
จะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษ
แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัยมาโดยไม่ชอบจำเลยก็ฎีกาไม่ได้
เนื่องจากเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3
ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและยกฎีกาของจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5942/2548
จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก
พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157
ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 390 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติ จราจรทางบก
พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157
ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390
เพื่อให้ความผิดทั้งหมดรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตามประมวล
กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37 ได้
แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วในความผิดฐานดังกล่าวโดยความ
ยินยอมของผู้เสียหายเพราะผู้เสียหายมิได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่
จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ด้วย การเปรียบเทียบปรับก็ไม่ชอบ
คดีอาญาไม่เลิกกัน ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 390 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
4264/2548
เช็ค
เป็นเอกสารเปลี่ยนมือ
เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์โดยมิได้ระบุว่า
จ่ายให้โจทก์ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ บ.
โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คตามกฎหมาย
เมื่อธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คนั้นแล้ว
โจทก์ในฐานะผู้ทรงเช็คโดยชอบจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องในนามของโจทก์
โดยไม่ต้องระบุต่อท้ายชื่อโจทก์ว่าในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ.
ทั้งคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องอ้างว่า
จำเลยสั่งจ่ายเช็คให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 และ 2 ซึ่งถือว่าเอกสารท้ายฟ้องเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง
แม้ในช่องระหว่างผู้ใดโจทก์ผู้ใดจำเลยจะระบุชื่อโจทก์
โดยมิได้ระบุว่าในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ.
แต่เมื่อโจทก์อ้างเช็คและสัญญาประนีประนอมเอกสารท้ายฟ้องมากับฟ้องด้วย
และสัญญาประนีประนอมดังกล่าวระบุว่าจำเลยสั่งจ่ายเช็คตามฟ้องให้แก่โจทก์ใน
ฐานะที่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ บ.
จึงถือว่าโจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกตามสัญญาประนีประนอมที่แนบมาท้ายฟ้อง นั้น
โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
1637/2548
ข้อหาตามโจทก์ฟ้องในความผิดต่อ
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15, 66
เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ซึ่งรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย
แม้โจทก์เป็นพนักงานสอบสวน เป็นเจ้าพนักงานของรัฐ
แต่ก็มีอำนาจหน้าที่เพียงเท่าที่กฎหมายกำหนดให้กระทำ คือ มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวนตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) เท่านั้น
และโจทก์มิใช่บุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดตามฟ้อง
โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2349/2547
ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ
มาตรา 22 ถึงมาตรา 25 เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์โจทก์แล้ว
กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้โจทก์กระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของตน
โดยให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้มีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของ โจทก์
รวมทั้งการดำเนินคดีฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์เท่านั้น
และถึงแม้โจทก์สิ้นสภาพบุคคลและเป็นคดีความผิดอันยอมความกันได้ก็ตาม
ก็หาได้มีกฎหมายบัญญัติว่าในคดีอาญานั้น
เมื่อโจทก์สิ้นสภาพบุคคลหรือตายแล้วให้คดีอาญาระงับไปไม่
คงมีแต่คดีอาญาเลิกกันและสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 และมาตรา
39 กับคดีเลิกกันตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 7 เท่านั้น
คดีนี้เป็นคดีอาญาอยู่ระหว่างรออ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คำพิพากษาของศาลชั้นต้นยังอยู่จะนำ ป.วิ.พ. มาตรา 132 (3) มาใช้บังคับมิได้
เมื่อโจทก์มิได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันหรือมีเหตุทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับ
และจำเลยทั้งสองมิได้นำเงินตามจำนวนในเช็คมาชำระภายในสามสิบวัน
นับแต่ได้รับหนังสือจากผู้ทรงว่าธนาคารไม่ใช้เงินตามเช็คหรือมูลหนี้ที่ออก
เช็คสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
จำเลยทั้งสองจะขอให้ศาลจำหน่ายคดีหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7003/2547
การ ที่โจทก์กับจำเลยที่
2 เคยมีข้อพิพาททั้งทางแพ่งและอาญามาก่อน ในวันเกิดเหตุ
โจทก์ยังเป็นฝ่ายด่าว่ายกมือไหว้สาปแช่งจำเลยที่ 2
จนเกิดการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน
ย่อมฟังได้ว่าเป็นการที่ต่างสมัครใจเข้าวิวาทกัน
โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
7241/2544
เมื่อ
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ในครั้ง แรก
ก็แสดงว่าศาลชั้นต้นฟังว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย สามารถดำเนินคดีแก่จำเลยโดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการเสมือนโจทก์
ร่วมฟ้องเองการที่โจทก์ร่วมขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมโดยระบุว่ามีความ
เห็นหลายอย่างไม่ตรงกับความเห็นของโจทก์
หากโจทก์ร่วมดำเนินคดีนี้ต่อไปอีกอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รูปคดีของ
โจทก์การขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมจะไป
ดำเนินการอะไรอีก ถือได้ว่าโจทก์ร่วมไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป
มีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ร่วมเสร็จเด็ดขาดนั่นเอง
เมื่อเป็นการขอถอนฟ้องเสร็จเด็ดขาดแล้ว โจทก์ร่วมจะไปขอเข้าร่วมเป็นโจทก์อีกไม่ได้
ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36
ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงาน
อัยการผู้เป็นโจทก์ในครั้งหลังจึงไม่ชอบ
และเมื่อโจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ไม่ได้แล้ว
โจทก์ร่วมจึงมิได้เป็นโจทก์ของคดีนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นคดีนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3619/2543
เช็คพิพาทถึงกำหนดภายหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายสิทธิตามเช็คพิพาทจึงเป็นมรดกตก
ได้แก่โจทก์ผู้ทรงเช็คซึ่งเป็นทายาทผู้ตายทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์
มาตรา 1599โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อธนาคาร
ตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาท
ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายและเป็นผู้เสียหายโดยตรงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์ที่ 3
ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องแล้วตายลง โจทก์ที่ 1ซึ่งเป็นมารดาของโจทก์ที่ 3
ผู้ตายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแทนก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่ 1
ที่จะร้องต่อศาลขอให้จำหน่ายคดีโจทก์ที่ 3 ได้
เมื่อจำเลยไม่คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นที่จำหน่ายคดีเฉพาะโจทก์ที่ 3 จึงชอบแล้ว
สิทธิตามเช็คพิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสาม
โจทก์ทั้งสามย่อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในเช็คพิพาท โจทก์ทั้งสามคนใดคนหนึ่งสามารถที่จะฟ้องร้องให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้โดย
ลำพัง โดยไม่จำต้องใช้สิทธิร่วมกันทั้งการฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสามเป็นการใช้สิทธิ
ในฐานะผู้เสียหาย มิใช่สิทธิในฐานะผู้จัดการมรดก การที่ศาลจำหน่ายคดีของโจทก์ที่ 3
เนื่องจากโจทก์ที่ 3 ถึงแก่ความตายก็หาทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1และที่ 2
ต้องระงับไปไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
3199/2541
โจทก์ร่วมมิได้เป็นผู้เสียหายในส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย
ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์ในข้อหาความ
ผิดฐานฆ่าผู้ตายย่อมหมายความว่าให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะข้อหาความผิดฐาน
ฆ่าผู้ตายเท่านั้น
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องข้อหาความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย
พนักงานอัยการโจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้ลงโทษจำเลย
ในข้อหาความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,80
โจทก์ร่วมจึงไม่มีอำนาจอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานพยายามฆ่า
ผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
5139/2539
โจทก์
ร่วมถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างผู้
ตายปรากฏว่าผู้ร้องเป็นภริยาจำเลยอาจทำให้พยานหลักฐานโจทก์เสียหายได้จึงไม่
เป็นการสมควรที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมผู้ตาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
2413/2521
จำเลยเจรจาค่าเสียหายกับโจทก์ต่อหน้าพนักงานสอบสวนในการที่
ส. ขับรถชนบุตรสาวโจทก์ และพนักงานสอบสวนได้ทำบันทึกไว้แม้จำเลยจะกล่าวความเท็จ
แต่เมื่อจำเลยมิได้เป็นผู้ต้องหาในกรณีรถชนดังกล่าว
พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีหน้าที่ทำการเปรียบเทียบ
การที่พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบจึงไม่ถือเป็นการกระทำ
โดยหน้าที่การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ แก่เจ้าพนักงาน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
365/2502
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำร้ายร่างกายโจทก์ถึงบาดเจ็บ
แต่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับจำเลยโดยไม่มีอำนาจทำได้เพราะบาดแผลของ
โจทก์ถึงบาดเจ็บจำเลยต่อสู้ว่า บาดแผลของโจทก์ไม่ถึงบาดเจ็บ
พนักงานสอบสวนมีอำนาจเปรียบเทียบได้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปแล้วดังนี้ ประเด็นเรื่องการสอบสวนจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อยู่ที่บาดแผลของโจทก์ถึงบาด
เจ็บหรือไม่ ถ้าบาดแผลของโจทก์ถึงบาดเจ็บเป็นความผิดตามมาตรา 254
พนักงานสอบสวนก็ไม่มีอำนาจเปรียบเทียบ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า
บาดแผลของโจทก์ไม่ถึงบาดเจ็บ การเปรียบเทียบชอบด้วยกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปแล้วแต่ศาลอุทธรณ์กลับไปวินิจฉัยว่าผู้เสียหาย
และผู้ต้องหาไม่ได้ให้ความยินยอมในการเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบจึงใช้ไม่ได้
ดังนี้ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น