การสอบสวนคดีอาญา

มาตรา ๑๒๐  ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน

มาตรา ๑๒๑  พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง

แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ

มาตรา ๑๒๒  พนักงานสอบสวนจะไม่ทำการสอบสวนในกรณีต่อไปนี้ก็ได้
(๑) เมื่อผู้เสียหายขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ยอมร้องทุกข์ตามระเบียบ
(๒) เมื่อผู้เสียหายฟ้องคดีเสียเองโดยมิได้ร้องทุกข์ก่อน
(๓) เมื่อมีหนังสือกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์ หรือบุคคลที่กล่าวโทษด้วยปากไม่ยอมบอกว่าเขาคือใคร หรือไม่ยอมลงลายมือชื่อในคำกล่าวโทษหรือบันทึกคำกล่าวโทษ

มาตรา ๑๒๓  ผู้เสียหายอาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้

คำร้องทุกข์นั้นต้องปรากฏชื่อและที่อยู่ของผู้ร้องทุกข์ ลักษณะแห่งความผิดพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ความเสียหายที่ได้รับและชื่อหรือรูปพรรณของผู้กระทำผิดเท่าที่จะบอกได้

คำร้องทุกข์นี้จะทำเป็นหนังสือหรือร้องด้วยปากก็ได้ ถ้าเป็นหนังสือต้องมีวันเดือนปี และลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าร้องด้วยปาก ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปีและลงลายมือชื่อผู้บันทึกกับผู้ร้องทุกข์ในบันทึกนั้น

มาตรา ๑๒๔  ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่รองหรือเหนือพนักงานสอบสวน และเป็นผู้ซึ่งมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมายก็ได้

เมื่อมีหนังสือร้องทุกข์ยื่นต่อเจ้าพนักงานเช่นกล่าวแล้ว ให้รีบจัดการส่งไปยังพนักงานสอบสวน และจะจดหมายเหตุอะไรไปบ้างเพื่อประโยชน์ของพนักงานสอบสวนก็ได้

เมื่อมีคำร้องทุกข์ด้วยปากให้รีบจัดการให้ผู้เสียหายไปพบกับพนักงานสอบสวนเพื่อจดบันทึกคำร้องทุกข์นั้นดังบัญญัติในมาตราก่อน ในกรณีเร่งร้อนเจ้าพนักงานนั้นจะจดบันทึกเสียเองก็ได้ แต่แล้วให้รีบส่งไปยังพนักงานสอบสวน และจะจดหมายเหตุอะไรไปบ้างเพื่อประโยชน์ของพนักงานสอบสวนก็ได้

วรรคสี่[๖๙]  (ยกเลิก)

มาตรา ๑๒๔/๑  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๓ ทวิ วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสามมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การจดบันทึกคำร้องทุกข์ในคดีที่ผู้เสียหายเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี เว้นแต่มีเหตุจำเป็น ไม่อาจหาหรือรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการได้ และเด็กไม่ประสงค์จะให้มีหรือรอบุคคลดังกล่าวต่อไป  ทั้งนี้ ให้ผู้รับคำร้องทุกข์ ตามมาตรา ๑๒๓ หรือมาตรา ๑๒๔ แล้วแต่กรณี บันทึกเหตุดังกล่าวไว้ในบันทึกคำร้องทุกข์ด้วย

มาตรา ๑๒๕  เมื่อพนักงานสอบสวน หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้กระทำการสืบสวนหรือสอบสวนไปทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใดตามคำขอร้องให้ช่วยเหลือให้ตกเป็นหน้าที่ของพนักงานนั้นจัดการให้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา ๑๒๓ และ ๑๒๔

มาตรา ๑๒๖  ผู้ร้องทุกข์จะแก้คำร้องทุกข์ระยะใด หรือจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้

ในคดีซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว การถอนคำร้องทุกข์เช่นนั้นย่อมไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะสอบสวน หรือพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีนั้น

มาตรา ๑๒๗  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๒๓ ถึง ๑๒๖ มาบังคับโดยอนุโลมในเรื่องคำกล่าวโทษ
เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับคำกล่าวโทษจะไม่บันทึกคำกล่าวโทษในกรณีต่อไปนี้ก็ได้
(๑) เมื่อผู้กล่าวโทษไม่ยอมแจ้งว่าเขาคือใคร
(๒) เมื่อคำกล่าวโทษเป็นบัตรสนเท่ห์

คำกล่าวโทษซึ่งบันทึกแล้วแต่ผู้กล่าวโทษไม่ยอมลงลายมือชื่อ เจ้าพนักงานผู้รับคำกล่าวโทษจะไม่จัดการแก่คำกล่าวโทษนั้นก็ได้

มาตรา ๑๒๘  พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้เจ้าพนักงานอื่นทำการแทน ดังต่อไปนี้

(๑) การใดในการสอบสวนอยู่นอกเขตอำนาจของตน มีอำนาจส่งประเด็นไปให้พนักงานสอบสวน ซึ่งมีอำนาจทำการนั้นจัดการได้
(๒) การใดเป็นสิ่งเล็กน้อยในการสอบสวน ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของตน ไม่ว่าทำเองหรือจัดการตามประเด็น มีอำนาจสั่งให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาทำแทนได้ แต่ทั้งนี้เมื่อประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้เจาะจงให้ทำด้วยตนเอง

มาตรา ๑๒๙  ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4313/2560

เจ้าพนักงานตำรวจภูธรแหลมฉบังเข้าจับกุมจำเลยที่อพาร์ตเมนต์ชื่อ ศ. เฮ้าส์ ท้องที่ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2554 เวลา 15.52 นาฬิกา ตามที่จำเลยต่อสู้ หาใช่จับกุมที่หน้าร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท บริเวณตลาดสี่มุมเมือง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 เวลา 2.30 นาฬิกา ดังที่ผู้จับกุมกล่าวอ้างไม่ เหตุคดีนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแหลมฉบัง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสาม การสอบสวนคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2437/2560
โจทก์ร่วมมีมติให้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ของโจทก์ร่วม เป็นการแสดงเจตนาของโจทก์ร่วมโดยชัดแจ้งว่าโจทก์ร่วมได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนโดยมีเจตนาให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกเงิน 3,686,160 บาท ซึ่งรวมเงิน 502,190 บาท ที่เป็นเงินของเดือนมกราคม 2556 ด้วย จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ส่วนการที่ประธานโจทก์ร่วมแจ้งต่อที่ประชุมว่าตรวจสอบพบจำเลยทั้งสองทุจริตยักยอกเงินนับจากเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 เป็นเงิน 3,686,160 บาท เป็นเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเวลาเกิดเหตุที่ประธานแจ้งที่ประชุมไม่ครบถ้วนเท่านั้น เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แม้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดเป็นเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2556 โดยไม่ได้แจ้งถึงเดือนมกราคม 2556 ด้วยก็เป็นความคลาดเคลื่อนของพนักงานสอบสวนในการตรวจสอบและแจ้งข้อเท็จจริงแก่ผู้ต้องหา แต่หาได้มีผลเปลี่ยนแปลงเจตนาของโจทก์ร่วมที่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองได้รับโทษในความผิดฐานยักยอกไม่ การดำเนินการของโจทก์ร่วมเป็นการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท ประจำเดือนมกราคม 2556 โดยชอบแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหายักยอกเงิน 502,190 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6552/2559
คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยพา ร. ผู้เสียหายจากประเทศไทยส่งออกไปนอกราชอาณาจักรยังประเทศญี่ปุ่น แล้วหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้และจัดให้อยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้ผู้เสียหายทำการค้าประเวณีที่สถานที่การค้าประเวณีที่ประเทศญี่ปุ่นโดยการฉ้อฉลและใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหาย เพื่อบังคับข่มขู่ให้ผู้เสียหายกระทำการค้าประเวณี หรือเพื่อสนองความใคร่หรือสำเร็จความใคร่ในทางกามารมณ์ของผู้อื่น อันเป็นการสำส่อนเพื่อสินจ้างหรือประโยชน์อื่นใดอันเป็นการมิชอบ เพื่อจำเลยจะได้แสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่ยินยอมและไม่สามารถขัดขืนได้ เหตุเกิดที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นหลายท้องที่เกี่ยวพันกัน อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6, 52 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 ป.อ. มาตรา 283 การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษตามกฎหมายไทยและได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยด้วย ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ หรือจะมอบหมายหน้าที่นั้นให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนก็ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อัยการสูงสุดมอบหมายให้พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ทำการสอบสวน โดยให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีอาญาร่วมทำการสอบสวน และให้ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์หรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดังนี้ พนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ จึงมีอำนาจสอบสวนคดีนี้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4418/2559
ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามคำร้องขอฝากขังอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก จึงถือเป็นข้อยกเว้นที่พนักงานสอบสวนไม่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13790/2558
คดีก่อนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดของจำเลยที่ได้ปฏิบัติตามแผนที่กำหนดแต่มีผลไม่เป็นที่พอใจ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยให้แก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยอยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเดิม แม้พนักงานสอบสวนจะยังไม่ได้ดำเนินการใดแก่จำเลย แต่ด้วยคดีก่อนจำเลยต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และคดีนี้จำเลยก็ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมิใช่กรณีที่จำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฎีกาและไม่ใช่กรณีที่จำเลยต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ดังที่โจทก์กล่าวในคำฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างการรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาและไม่ปรากฏว่ามีเหตุอื่นที่ต้องห้ามมิให้จำเลยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรณีจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อคดีนี้ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามมาตรา 19 ให้แล้วเสร็จเสียก่อน โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10594/2558
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือไม่ก็ตาม การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งว่า ผู้เข้ารับการฟื้นฟูไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการฟื้นฟู ไม่มารายงานตัวตามกำหนดนัดและไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษา พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเตือนให้มารายงานตัวและติดตาม ผู้เข้ารับการฟื้นฟูมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทำให้ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจ จึงรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 33 วรรคสอง ซึ่งเป็นดุลพินิจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และมาตราดังกล่าวยังบัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อประกอบการดำเนินคดีผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเมื่อผู้นั้นเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดครบถ้วนตามกำหนดแล้วแต่ผลการฟื้นฟูยังไม่เป็นที่พอใจ

การที่จำเลยมาพบพนักงานสอบสวนหลังจากที่จำเลยหลบหนีไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานสอบสวนจึงมีหน้าที่นำตัวจำเลยกลับไปบำบัดแก้ไขตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ครบถ้วนตามมาตรา 25 ก่อน การที่พนักงานสอบสวนไม่ดำเนินการดังกล่าวแต่กลับนำตัวจำเลยมาฟ้องเป็นคดีนี้ การสอบสวนจึงไม่ชอบ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6774/2558
การที่โจทก์ร่วมทั้งสองไปที่เกิดเหตุก็เพื่อต้องการขายที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับจำเลยและพวกมาตั้งแต่ต้น และการที่โจทก์ร่วมทั้งสองยอมมอบเงินให้แก่จำเลยกับพวกไปก็สืบเนื่องมาจากแผนการหรือกลอุบายที่จำเลยกับพวกร่วมกันสร้างเรื่องขึ้นมาโดยพูดจาหว่านล้อมโจทก์ร่วมทั้งสองให้หลงเชื่อ ทั้งยังให้โจทก์ร่วมทั้งสองดื่มกาแฟซึ่งมีอาจมีส่วนผสมของยาที่ทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองเกิดอาการมึนงงอีกด้วย เพื่อจะหลอกลวงเอาเงินจากโจทก์ร่วมทั้งสองด้วยวิธีการอันแนบเนียนตามที่ได้วางแผนกันมาก่อน จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองมีเจตนาเข้าร่วมเล่นการพนันกับจำเลยและพวกโดยไม่ได้รับอนุญาต อันจะเป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด โจทก์ร่วมทั้งสองจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) มีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามมาตรา 2 (7) และมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6637/2558
รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีข้อความว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2555 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2555 ร. ร่วมกับ ณ. และ อ. หลอกลวงให้โจทก์โอนเงิน 13 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,952,000 บาท โดยแจ้งว่าจะนำเงินที่โจทก์โอนให้ไปลงทุนหรือให้บุคคลอื่นกู้ยืม และจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อเดือน ประกอบกับ ร. มากับ ส. เจ้าของรีสอร์ท ทำให้โจทก์หลงเชื่อ เป็นเหตุให้โจทก์โอนเงินเพื่อปล่อยกู้จำนวนดังกล่าว ช่วงแรก ร. โอนเงินดอกเบี้ยให้ร้อยละ 15 ต่อเดือนจริง ประมาณ 4 ครั้ง โจทก์จึงหลงเชื่อโอนเงินให้ แต่เมื่อ ร. กับพวกได้เงินแล้ว โจทก์ติดต่อไป ร. กับพวกกลับเงียบหาย โจทก์จึงทราบว่าถูกหลอกลวง การกระทำของ ร. กับพวก เป็นการฉ้อโกง โจทก์จึงมาที่สถานีตำรวจบ่อผุดเพื่อลงประจำวันไว้เป็นหลักฐานและเพื่อจะได้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนเวร รับแจ้งไว้ตามประสงค์ของผู้แจ้ง เพื่อดำเนินการต่อไป แสดงให้เห็นแล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ตลอดจนชื่อของผู้กระทำผิดและโจทก์มีความประสงค์ที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษทั้งพนักงานสอบสวนเวรผู้รับแจ้งความก็รับว่าจะไปดำเนินการต่อไปตามความประสงค์ของโจทก์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แล้ว หาใช่เป็นเพียงข้อความที่โจทก์เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นเพื่อโจทก์จะไปดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสามด้วยตนเองต่อไปแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18162/2557
วิทยาลัย ฉ. ได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ส่วนวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชเป็นหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. อันเป็นการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของวิทยาลัย ฉ. ตามมาตรา 20 เท่านั้น ตามฟ้องโจทก์ที่กล่าวหาว่าจำเลยหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.ศูนย์นครศรีธรรมราชซึ่งเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งของวิทยาลัย ฉ. มีผลเป็นการหมิ่นประมาทวิทยาลัย ฉ.นั่นเอง วิทยาลัย ฉ. จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ เมื่อ ส. อธิการบดีวิทยาลัย ฉ. ได้มอบอำนาจให้ บ. แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาหมิ่นประมาทซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว ถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวน และโจทก์จึงมีอำนาจยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120, 121 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14929/2557
ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 31 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 6 กำหนดว่า ในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณาเห็นสมควร อาจส่งเรื่องที่มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้วแต่กรณี หรือส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตาม ป.วิ.อ. ต่อไปก็ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกกล่าวหาและถูกดำเนินคดีในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และพนักงานสอบสวนได้ส่งเรื่องกล่าวหาร้องเรียนจำเลยทั้งสองซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามกฎหมายแล้ว ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้พิจารณาเรื่องกล่าวหาร้องเรียนจำเลยทั้งสองแล้วมีมติให้ส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรคุระบุรีดำเนินการสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ต่อไป โดยอาศัยอำนาจตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขฉบับดังกล่าว ดังนั้น การสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรคุระบุรีในคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14785/2557
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ร่วมร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการขายรถยนต์ใช้แล้วด้วยกัน โดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ออกเงินทุนซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนั้นนำไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อขายได้โจทก์ร่วมจะได้รับเงินทุนคืนพร้อมเงินกำไรร้อยละหกสิบ ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้เฉพาะเงินกำไรร้อยละสี่สิบ โจทก์ร่วมนำรถยนต์ 6 คันตามฟ้องไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อจำเลยทั้งสองขายได้แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นการร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 เมษายน 2549 พนักงานสอบสวน สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ไว้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เพราะมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วมเป็นคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12387/2557
ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดอันยอมความได้ การที่โจทก์ร่วมทำหนังสือร้องทุกข์มีใจความสำคัญว่า โจทก์ร่วมขอร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กับพวกที่ร่วมกันรื้อถอน ทำลายบ้านเรือน ทรัพย์สินและลักเอาทรัพย์สินของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต แม้ไม่มีข้อความระบุให้ชัดเจนว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานใด ก็แปลเจตนาของโจทก์ร่วมได้ว่าประสงค์ให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และลักทรัพย์ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 และ 121 วรรคสอง ไม่ใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12376/2557
แม้ขณะจำเลยกระทำความผิดอยู่ในบังคับใช้ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.2518 ก็ตาม แต่ ศ. เจ้าพนักงานตำรวจกองตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2543 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ใช้บังคับแล้ว การสอบสวนจำเลยจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อ พ.ร.บ. นั้นไม่มีมาตราใดบัญญัติให้พนักงานสอบสวนซึ่งรับคำร้องทุกข์ไว้มีอำนาจสอบสวนได้ แต่มาตรา 89 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีผู้เสียหายได้ร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 อันเนื่องมาจากได้กระทำการตามมาตรา 88 ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษเพื่อจะดำเนินการตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ในการนี้หากคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมิใช่กรณีตามมาตรา 88 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. ต่อไป" ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองจึงต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว การสอบสวนและแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยของคณะอนุกรรมการไต่สวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจึงชอบด้วยกฎหมายและการที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดอนเมืองไม่ได้สอบสวน จึงไม่มีผลทำให้การสอบสวนและการฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นไปโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11858/2557
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานร่วมกันยักยอก ตาม ป.อ. มาตรา 352 ประกอบมาตรา 83 จึงเป็นกรณี ที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียว มิใช่หลายกรรม ทั้งการกระทำอันเป็นความผิดฐานยักยอกตามที่กล่าวหาคือการที่ผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย เบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ดังนั้น ความผิดฐานยักยอกย่อมเกิดขึ้นและสำเร็จแล้วเมื่อจำเลยและจ่าสิบตำรวจ อ. ร่วมกันนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาจากผู้เสียหายไปจำนำแก่ ก. การกระทำของจำเลยจึงหาใช่ความผิดต่อเนื่องที่ได้กระทำในหลายท้องที่ ทั้งกรณีซึ่งจะถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดอาญาได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ อันจะทำให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความผิดมีอำนาจทำการสอบสวนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 นั้น หมายแต่เฉพาะเมื่อสภาพและลักษณะแห่งการกระทำความผิดนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่ในตัวว่า เป็นการไม่แน่ว่าการกระทำความผิดเกิดขึ้นในท้องที่ใดในหลายท้องที่ต่างเขตอำนาจสอบสวน โดยมิได้หมายรวมถึงกรณีที่เป็นการแน่นอนอยู่แล้วว่า ความผิดนั้นได้กระทำในท้องที่ใด ดังนี้ แม้ผู้เสียหายสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 และมาตรา 124 ก็ตาม แต่เมื่อการสอบสวนคดีนี้กระทำโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลโชคชัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลย การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่าคดีนี้ไม่มีการสอบสวน ย่อมมีผลให้พนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11658/2557
บ. ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ร. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยตามหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้ระบุว่า บ. เกี่ยวข้องกับโจทก์ร่วมอย่างไร และไม่มีข้อความว่า บ. กระทำในนามโจทก์ร่วม อีกทั้งไม่ปรากฏรอยตราของโจทก์ร่วม จึงไม่อาจแปลเจตนาได้ว่า บ. ทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวในนามโจทก์ร่วม ต้องฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดต่อส่วนตัว แต่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนและโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบมาตรา 121 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4283/2557
ตามหมายเหตุท้าย พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มีหลักการว่า ผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง มิใช่อาชญากรปกติ พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงกำหนดให้มีกระบวนการคัดแยกผู้เสพยาเสพติดไปดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพแทนการที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวนเสนอพนักงานอัยการฟ้องศาลเพื่อลงโทษผู้นั้นเหมือนอย่างผู้กระทำความผิดอื่น ๆ และเมื่อผู้เสพยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนฟื้นฟูสมรรถภาพ และผลการฟื้นฟูสมรรถภาพเป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพแล้ว มาตรา 33 บัญญัติว่า "...ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 และให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพมีคำสั่งปล่อยตัวผู้นั้นไป..." แต่ถ้าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพยังไม่เป็นที่พอใจ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป โดยมีมาตรา 19 กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ซึ่งจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า ต้องเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก หรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด จึงเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ได้บังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ตรวจวินิจฉัย ขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่พนักงานสอบสวนต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แต่ความปรากฏตามฎีกาของโจทก์โดยจำเลยไม่ได้แก้ฎีกาให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งส่งตัวผู้ต้องหาไปควบคุมเพื่อการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าพฤติการณ์เป็นภัยร้ายแรง ไม่อนุญาต ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า คดีนี้ไม่ได้มีการส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเพื่อให้จำเลยได้รับประโยชน์ในการที่จะได้รับการพิจารณาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 เท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อนย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1847/2557
เมื่อความผิดที่โจทก์ร่วมกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิด เป็นความผิดอันยอมความได้ ผู้มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยคือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริง โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายและไม่มีอำนาจร้องทุกข์ เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้ร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 421/2556
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 นั้น การจับบุคคลใดจะกระทำมิได้เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล หรือผู้นั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นให้จับได้โดยไม่มีหมายจับตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยถูกจับเพราะยังไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาล และไม่เข้าข้อยกเว้นตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยังไม่ถูกจับ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 7 และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่โจทก์ต้องฟ้องจำเลยภายในกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่จำเลยถูกจับหรือต้องผัดฟ้อง หรือได้รับอนุญาตให้ฟ้องคดีจากอัยการสูงสุด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คดีนี้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนทราบเรื่องความผิดและรู้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนระหว่างวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2547 โดยผู้เสียหายแต่ละคนต่างให้การในรายละเอียดกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีเจตนาให้จำเลยได้รับโทษ ซึ่งพนักงานสอบสวนบันทึกไว้ ลงวันเดือนปี และลายมือชื่อพนักงานสอบสวนผู้บันทึกกับลายมือชื่อผู้เสียหายแต่ละคนในฐานะผู้ร้องทุกข์ จึงเป็นคำร้องทุกข์ที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และ 123 วรรคสาม และกรณีที่มีการกระทำความผิดต่อผู้เสียหายหลายคนไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้เสียหายทุกคนต้องมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนพร้อมกัน เพียงแต่ผู้เสียหายแต่ละคนต้องร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเท่านั้น เมื่อคดีนี้ผู้เสียหายแต่ละคนร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด จึงฟังได้ว่า คดีนี้มีผู้เสียหายตั้งแต่สิบคนขึ้นไปครบองค์ประกอบความผิดใน ป.อ. มาตรา 344 และการที่จำเลยหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนให้ประกอบการงาน คือ สร้างภาพยนตร์ให้จำเลย โดยเจตนาจะไม่ใช้ค่าแรงงานหรือค่าจ้าง จนผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนหลงเชื่อและมีการทำงานที่เกี่ยวข้องไปบางส่วน แม้ผู้เสียหายทั้งสิบเอ็ดคนยังสร้างภาพยนตร์ไม่แล้วเสร็จและจำเลยยังไม่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างภาพยนตร์นั้น การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 344 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3915/2551
ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) และมาตรา 123 มิได้บัญญัติว่า การร้องทุกข์ของผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้แทนโดยชอบ ธรรมหรือบุคคลดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ของผู้เยาว์ด้วย ดังนั้น ผู้เยาว์จึงมีอำนาจร้องทุกข์ด้วยตนเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9061/2551
คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ก็เป็นการถอนคำร้องทุกข์ก่อนคดีถึงที่สุด เป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจสั่งได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสั่ง และสั่งว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15057/2551
สมาชิกของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านบางเท่าแม่ ประชุมร่วมกันและลงลายมือชื่อร่วมกัน มอบอำนาจให้ ส. ร. และ ม. ไปร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลย มิใช่กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านบางเท่าแม่ เป็นผู้มอบอำนาจให้ไปร้องทุกข์แต่อย่างใด การร้องทุกข์จึงเป็นไปโดยชอบ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนและโจทก์มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120,121 ศาลฎีกาเห็นสมควรยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อน สำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14944/2551
คดีนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันพรากผู้เสียหายที่เป็นผู้เยาว์ในท้องที่สถานีตำรวจ นครบาลบางขุนเทียนแล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงในท้องที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร กรณีเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไป จึงเป็นความผิดซึ่งมีหลายกรรมกระทำลงในท้องที่ต่าง ๆ กัน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) และ (4) พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องมีอำนาจสอบสวนได้ เมื่อผู้เสียหายไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด และพาเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจดังกล่าวไปจับจำเลยทั้งสองที่ท้องที่อำเภอ เมืองสมุทรสาครในทันทีทันใด แล้วนำจำเลยทั้งสองไปส่งมอบแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน ดำเนินคดี เห็นได้ว่า ขณะที่ผู้เสียหายแจ้งความยังจับกุมตัวจำเลยทั้งสองไม่ได้ ท้องที่ที่พบการกระทำความผิดก่อนคือ สถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียน พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนซึ่งเป็นท้องที่ที่พบการกระทำความ ผิดก่อนอยู่ในเขตอำนาจเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 วรรคสอง (ข) ดังนั้นพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนเทียนจึงมีอำนาจสรุปสำนวนและทำ ความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง ส่งไปพร้อมสำนวนเพื่อให้พนักงานอัยการพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 140 และ 141 ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดนั้นโดยชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2747/2551
พนักงานสอบสวนฝากขังจำเลยต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ซึ่งเป็นศาลที่ไม่มีเขตอำนาจพิจารณา พิพากษาคดี แต่เมื่อศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังจำเลยได้และอนุญาตให้ปล่อยตัวจำเลยชั่วคราว ก็ต้องถือว่าจำเลยถูกขังโดยหมายของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 87 และอยู่ในอำนาจศาลที่จะเรียกตัวจำเลยจากนายประกันได้ กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 142 วรรคสี่ ที่ให้พนักงานอัยการมีหน้าที่จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวจำเลยมา เพราะไม่ใช่กรณีที่จับตัวจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10450/2550
พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การพยานหลายปากและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิด แล้วกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส แต่พนักงานอัยการเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและ มีคำสั่งให้แจ้งข้อหาเพิ่มเติม เมื่อแจ้งข้อหาแก่จำเลยเพิ่มเติมว่าพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยให้การปฏิเสธ ดังนี้ ถือว่าคดีนี้ได้มีการสอบสวนในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8444/2550
ร้อยตำรวจเอก ป. เป็นพนักงานสอบสวนในคดีแรกซึ่งเป็นการสอบสวน ท. กับพวกรวม 5 คน และจำเลยเฉพาะในความผิดที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2534 เวลากลางคืน และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดที่ ท. กับพวกให้การรับสารภาพว่าก่อนเกิดเหตุในคดีดังกล่าว ท. กับพวกเคยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมมาแล้วหลายครั้งและได้นำไปขายที่ร้านของ จำเลยนั้น ร้อยตำรวจเอก ป. ยังมิได้ทำการสอบสวน ฉะนั้น แม้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในบันทึกการจับกุม ท. กับพวก กับบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนในสำนวนการสอบสวนคดีแรกจะมีรายละเอียดพาดพิง ถึงการลักทรัพย์ 17 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2534 ถึงวันที่ 24 กันยายน 2534 อยู่ด้วยดังที่จำเลยอ้างก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการสอบสวนเมื่อ พนักงานสอบสวนยังมิได้ตั้งข้อหาและทำการสอบสวนในรายละเอียดดังกล่าว จึงยังถือไม่ได้ว่ามีการสอบสวนในเรื่องดังกล่าวแล้ว อีกทั้งการลักทรัพย์ในแต่ละครั้งและการนำไปจำหน่ายให้แก่ผู้รับซื้อของโจรใน แต่ละครั้งนั้นก็เป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนในความผิดเฉพาะกรรมใดวาระใดจะถือว่าได้ สอบสวนในความผิดในกรรมอื่นและวาระอื่นด้วยหาได้ไม่ เมื่อคดีที่ร้อยตำรวจเอก ป. สอบสวนจำเลยในความผิดฐานรับของโจรเพื่อค้ากำไรและต่อมาพนักงานอัยการมีคำ สั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยนั้นเป็นการสอบสวนเฉพาะความผิดที่เหตุเกิดในวันที่ 24 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายในคดีดังกล่าวก็มีเพียงทรัพย์ถูกประทุษร้าย 3 รายการเท่านั้น ส่วนความผิดคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2534 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2534 และทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายเป็นทรัพย์ต่างรายกัน การสอบสวนในคดีนี้จึงเป็นการสอบสวนโดยชอบ พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2550
ปัญหาเรื่องผู้เสียหายร้องทุกข์โดยชอบหรือไม่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4 ในบันทึกคำให้การของผู้ร้องทุกข์ ซึ่งเป็นคำร้องทุกข์มีข้อความระบุอย่างชัดแจ้งว่า พ. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้เสียหาย มิใช่ในฐานะส่วนตัว การร้องทุกข์แทนผู้เสียหายซึ่งเป็นนิติบุคคลจะต้องทำให้ถูกต้องตามข้อบังคับ ของผู้เสียหายที่ได้จดทะเบียนไว้ ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของผู้เสียหายระบุว่า พ. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแต่เพียงผู้เดียวและไม่มีข้อจำกัดอำนาจหุ้นส่วนผู้ จัดการว่าหากจะกระทำแทนผู้เสียหายจะต้องใช้ตราสำคัญของผู้เสียหายประทับด้วย ดังนั้น พ. จึงมีอำนาจดำเนินการหรือร้องทุกข์แทนผู้เสียหายได้โดยไม่จำต้องใช้ตราสำคัญ ของผู้เสียหายประทับลงในช่องลายมือชื่อผู้กล่าวหาในบันทึกคำให้การของผู้ ร้องทุกจ์ด้วย ถือได้ว่า พ. ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนผู้เสียหายโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วพนักงานสอบสวน ย่อมมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6651/2550
การแจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 นั้น แม้พนักงานสอบสวนจะมิได้แจ้งข้อหาจำเลยทุกข้อหากระทงความผิดก็ตาม แต่เมื่อภายหลังได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด ฐานอื่นด้วย ก็ถือได้ว่าได้มีการสอบสวนในข้อหาฐานอื่นที่มิได้แจ้งข้อหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 แล้ว เมื่อพนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟัองว่า จำเลยกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่นสร้างและแผ้วถางป่าสงวนแห่งชาติด้วยโดยบรรยายฟ้องว่าได้มีการสอบสวนความ ผิดฐานดังกล่าวแล้ว อีกทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าการสอบสวนไม่ชอบ จึงถือได้ว่ามีการสอบสวนในข้อหาตามฟ้องทุกข้อหาแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4132/2550
ส. ซื้อที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นที่ดินของรัฐสภา ท. ส. จึงมิได้มีสิทธิครอบครองที่ดินที่ซื้อตามกฎหมาย และต่อมาได้มีการกำหนดให้ที่ดินในท้องที่ที่ดินพิพาทเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 26 (4) กำหนดว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขต ป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลง นั้น และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินแปลงนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้ และมาตรา 36 ทวิ กำหนดว่า บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มา ตาม พ.ร.บ. นี้หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดิน เพื่อเกษตรกรรมไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ และให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อให้ใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ เมื่อที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ส. จะมีสิทธิเข้าครอบครองได้ก็แต่โดยการได้รับเอกสารสิทธิจาก ส.ป.ก. เมื่อ ส.ป.ก. ยังมิได้อนุญาตให้ ส. เป็นผู้มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงยังไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ทั้งหลังจาก ส. ยื่นคำขอเข้าทำประโยชน์แล้วมิได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส. จึงยังไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอย่างใด โดย ส. เพียงแต่อ้างว่าได้ไถปรับที่ดินไว้ หลังจากนั้นอีกประมาณ 1 ปี จึงไปดูที่ดินพบว่าจำเลยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแล้ว การที่ ส. เพียงแต่ไถปรับที่ดินทิ้งไว้โดยไม่ทำประโยชน์อะไรนานเป็นปี ถือไม่ได้ว่า ส. ได้ยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนในขณะที่จำเลยเข้าไปทำประโยชน์ และที่ดินพิพาทยังคงเป็นของ ส.ป.ก. ส. จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานบุกรุก ตามฟ้องซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4826/2550
แม้ในบันทึกประจำวันผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายจะแจ้งเฉพาะชื่อและที่อยู่ของตน รวมทั้งการที่ผู้เสียหายมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำการละเมิด ลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในเขตพื้นที่ของสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายได้แจ้งด้วยวาจาเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ถึงสถานที่ ที่ความผิดเกิด และเมื่อจับกุมผู้กระทำผิดได้แล้ว ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายได้ให้การเพิ่มเติมเกี่ยวกับพฤติการณ์เกี่ยวกับการ กระทำความผิด ความเสียหายที่ได้รับ และชื่อผู้กระทำผิด ถือได้ว่าเป็นคำร้องทุกข์ตามกฎหมายที่มีรายละเอียดครบถ้วนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) ประกอบด้วยมาตรา 123 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4212/2550
ส. และสามีมิได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และทางราชการมิได้ยึดทรัพย์สินของ ส. การที่ ส. มอบเงิน 305,000 บาท แก่จำเลยสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงของจำเลยด้วยข้อความอันเป็นเท็จ มิใช่ ส. หรือสามีกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษแล้ว ส. มอบเงินแก่จำเลยเพื่อให้สินบนแก่เจ้าพนักงานเพื่อให้ ส. หรือสามีพ้นจากความผิด จึงถือไม่ได้ว่า ส. ได้ร่วมกับจำเลยนำสินบนไปให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบ ด้วยหน้าที่ ส. ย่อมเป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย มีสิทธิที่จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยฐานฉ้อโกงได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2550
แม้ตามคำฟ้องจะระบุว่า ช. เป็นผู้เสียหาย แต่ในคำฟ้องก็มีข้อความต่อไปว่าลิขสิทธิ์ตามฟ้องเป็นของ ม. สำหรับดนตรีกรรม เพลง "พี่ชาย" และ ค. สำหรับดนตรีกรรมเพลง "ลมเพ ลมพัด, โมรา และรอยทาง" ส่วนในความตอนท้ายของคำฟ้องก็มีข้อความว่าผู้เสียหายซึ่งคือ ช. ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยท้ายคำฟ้องโจทก์ได้อ้างสัญญาซื้อขายสิทธิมา ด้วย ซึ่งถือว่าสัญญาซื้อขายสิทธิดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง และในข้อ 7 ของสัญญาซื้อขายสิทธิระบุว่า เจ้าของลิขสิทธิ์คือ ม. และ ค. ได้ตกลงให้ ช. เป็นผู้ดำเนินการแจ้งความทุกข์ รวมทั้งมีสิทธิมอบอำนาจช่วง ดังนี้การร้องทุกข์โดยผู้เสียหายคือ ช. ต่อพนักงานสอบสวนตามคำบรรยายฟ้องจึงถือได้ว่าคดีมีการร้องทุกข์โดยชอบด้วย กฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3759/2550
การที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาให้จำเลยทราบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด เพื่อให้ผู้ต้องหาทราบว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดและเพื่อให้ผู้ ต้องหาเข้าใจถึงการกระทำของผู้ต้องหาซึ่งเป็นความผิดนั้น โดยไม่ต้องแจ้งข้อหาทุกกระทงความผิด เมื่อแจ้งข้อหาอันเป็นหลักแห่งความผิดแล้วก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอัน เกี่ยวพันกันด้วยอีกพนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ กรณีของจำเลยเมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่าจำเลยทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็น เหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสแล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่าพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวพันกัน พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานดังกล่าวแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2480/2550
พันตรี ว. มิได้ไปร่วมฟังการสอบสวนตามข้อตกลงระหว่างกระทรวงกลาโหมกับกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 26 ทวิ แต่ได้ลงลายมือชื่อในบันทึกร่วมฟังการสอบสวนภายหลัง เมื่อข้อตกลงดังกล่าวมิใช่กฎหมายแม้หากมีการปฏิบัติผิดข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ ทำให้การสอบสวนเสียไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2550
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย 570 เม็ด และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 70 เม็ด แก่ผู้มีชื่อ และโจทก์นำสืบว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 500 เม็ด และจับพวกจำเลยเจ็ดคน พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่บุคคลทั้งเจ็ดซื้อจากจำเลยทั้งสองคนละ 10 เม็ด ได้ที่บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานที่ตำรวจนครบาลแสมดำ การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่าย จึงเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำทั้งสิ้น และโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับพวกจำเลยอีก 2 คนที่ถูกจับในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางบอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็มิใช่ความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) จึงอยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลแสมดำตามมาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 2 (6) มิใช่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางบอนที่สอบสวนคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2550
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวแก่ผู้มีชื่อหลายคน เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน และจับ ศ. อ. ณ. น. ภ. จ. และ ห. พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนที่บุคคลทั้งเจ็ดซื้อจากจำเลยทั้งสองได้ที่บ้านจำเลย ที่ 2 ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำ การมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จึงเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำทั้งสิ้น และโจทก์มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับ ส. และ ร. ดังนั้น แม้ ส. และ ร. ถูกจับในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางบอน การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็หาใช่ความผิดที่เป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ เกินกว่าท้องที่หนึ่งขึ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (3) ไม่ แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ปรากฏชัดแจ้งว่าเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลแสมดำซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลแสมดำตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 2 (6) ที่จะเป็นผู้สอบสวน มิใช่อยู่ในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางบอนที่สอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 เมื่อการสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ถอนฎีกาไปแล้วได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7971/2549
หนังสือขอแจ้งความร้องทุกข์กรณีมีการละเมิดลิขสิทธิ์มีข้อความปรากฏอยู่ว่า "... บริษัท อ. ได้รับความเสียหาย โดยปรากฏพบผู้กระทำความผิดดังกล่าว ณ สถานที่ดังนี้... (7) อำเภอกุยบุรี... จึงขอร้องทุกข์ต่อท่านเพื่อโปรดจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำการสอบสวน ตรวจค้น จับกุมผู้กระทำความผิดดังกล่าวข้างต้น เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย..." ข้อความดังกล่าวแสดงให้เห็นแล้วว่าโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหา ว่ามีผู้กระทำความผิดขึ้น ลักษณะแห่งความผิด พฤติการณ์ที่ความผิดนั้นได้กระทำลง ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม และโจทก์ร่วมมีความประสงค์ที่จะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 123 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7630/2549
โจทก์เมาสุราจนครองสติไม่ได้ ประพฤติตนวุ่นวายในทางสาธารณะหรือสาธารณสถาน และโจทก์ได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว ทำให้คดีอาญาที่โจทก์ถูกกล่าวหาเป็นอันเลิกกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 37 (2) แต่เมื่อโจทก์กล่าวหาต่อจำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนว่าจ่าสิบตำรวจ ป. ทำร้ายร่างกายโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายโดยมีเจตนาจะให้จ่าสิบตำรวจ ป. ได้รับโทษ จึงเป็นคำร้องทุกข์ตามมาตรา 2 (7) และเป็นการกระทำที่แยกต่างหากจากการกระทำที่โจทก์ถูกกล่าวหาดังกล่าว จำเลยในฐานะพนักงานสอบสวนมีหน้าที่ต้องรับคำร้องทุกข์ของโจทก์ไว้เพื่อ ดำเนินการสอบสวนตามอำนาจหน้าที่ต่อไป การที่จำเลยไม่รับคำร้องทุกข์ของโจทก์ในข้อหาทำร้ายร่างกาย อ้างเพียงว่าคดีเลิกกันแล้วโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ จึงเป็นการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายมี ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7888/2549
ในกรณีการกระทำความผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกัน พนักงานสอบสวนหาจำต้องระบุถึงกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตราหรือทุกกรรม เป็นกระทงความผิดไม่ แต่เมื่อใดแจ้งข้อหาอันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้ว ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วยอีก พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่า ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างออกไป และอยู่ในกฎหมายต่างฉบับกัน ก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานนี้แล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7667/2549
จ่าสิบตำรวจ ม. และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นบุตรเขยของผู้ตาย การที่จ่าสิบตำรวจ ม. มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยสืบสวนหาตัวคนร้ายจึงเป็นเรื่องปรกติและสมควร พฤติกรรมของจำเลยที่ 1 ที่ถูกสงสัยหรือถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการฆ่าผู้ตายเป็นเรื่องร้าย แรง หากจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดก็ต้องยืนยันปฏิเสธไว้จะยอมรับสารภาพไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดกับจ่าสิบตำรวจ ม. หรือบุคคลใดก็ตาม ทั้งการยอมรับสารภาพโดยคิดว่าจ่าสิบตำรวจ ม. จะช่วยเหลือพาหลบหนีได้ ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้น การที่จ่าสิบตำรวจ ม. สืบทราบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดและแจ้งต่อพนักงานสอบสวนจึงเป็นการช่วยเหลือพนักงาน สอบสวนสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อจับกุมดำเนินคดีกับคนร้าย จึงถือไม่ได้ว่าพนักงานสอบสวนใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7241/2549
ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีขึ้นไป และเป็นคดีทำร้ายร่างกายเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี กรณีต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ซึ่งกฎหมายกำหนดว่า ในการถามปากคำเด็กไว้ในฐานะผู้เสียหายให้แยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่ เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย เมื่อปรากฏว่าพนักงานสอบสวนถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กต่อหน้า ร. มารดาผู้เสียหายเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่ามีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วม ในการถามปากคำนั้นกับมิได้ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้บันทึกเหตุที่ไม่อาจรอ บุคคลอื่นดังกล่าวไว้ในสำนวนการสอบสวนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 133 ทวิ วรรคท้ายด้วย การถามปากคำผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กที่พนักงานสอบสวนได้กระทำไปจึงเป็นการไม่ ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แต่ก็หามีผลถึงขนาดทำให้การสอบสวนเสียไปทั้งหมด และถือเท่ากับไม่มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อนอันจะทำให้พนักงานอัยการไม่ มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2549
การถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิซึ่ง ป.วิ.อ.มาตรา 126 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ สิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน กรณีผู้ร้องทุกข์ตายสิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาท เมื่อได้ความตามคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ว่าบรรดาทายาททุกคนของผู้เสียหายไม่ ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป และขอถอนคำร้องทุกข์ ดังนั้น ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้เสียหายซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย จึงมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้แม้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา เมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7169/2549
พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 10 ให้มีคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนป่าไม้ ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมที่ดินและกรรมการอื่นอีก 2 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่ควบคุมให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีหลักเขตและป้ายหรือ เครื่องหมายอื่นแสดงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงาน เจ้าหน้าที่ในทางการบริหาร มิใช่การสอบสวนคดีอาญา ทั้งตามมาตรา 26 บัญญัติว่าการจับกุม การปราบปรามผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตาม ป.วิ.อ. เมื่อ ส. เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้ควบคุมตัวจำเลยและส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6795/2549
แม้โจทก์จะมีหนังสือมอบอำนาจของบริษัท จ. ผู้เสียหาย มาเป็นหลักฐานว่าผู้เสียหายมอบอำนาจทอดที่ 1 ให้ ค. เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนและให้มีอำนาจมอบอำนาจช่วงในทอดที่ 2 ให้บริษัท พ. ดำเนินคดีแทน กับระบุให้บริษัท พ. มอบอำนาจช่วงในทอดที่ 3 ให้บุคคลอื่นดำเนินคดีแทนได้ กับมีหนังสือมอบอำนาจของบริษัท พ. มาเป็นหลักฐานว่าบริษัท พ. ได้มอบอำนาจในทอดที่ 3 ให้ ณ. ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนแทนผู้เสียหายได้ก็ตาม แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานการมอบอำนาจในทอดที่ 2 จาก ค. ว่า ค. ได้มอบอำนาจให้บริษัท พ. หรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดดำเนินคดีนี้แทนผู้เสียหาย แม้โจทก์จะมี ณ. มาให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนว่า ตนได้รับมอบอำนาจจากบริษัท พ. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก ค. ก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงพยานหลักฐานของผู้มอบอำนาจในทอดที่ 3 เท่านั้นไม่ใช่หลักฐานการมอบอำนาจในทอดที่ 2 จึงรับฟังไม่ได้ว่า ค. ได้มอบอำนาจในทอดที่ 2 ให้แก่บริษัท พ. ดำเนินคดีนี้แทน ดังนั้น ณ. ซึ่งได้รับมอบอำนาจช่วงจากบริษัท พ. จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์แทนผู้เสียหาย การสอบสวนคดีนี้จึงไม่ชอบ อันเป็นผลให้การฟ้องคดีของโจทก์ไม่ชอบไปด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง, 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6644/2549
ความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 และ 328 เป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 333 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง แต่ข้อความในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน ระบุแต่เพียงว่าผู้เสียหายทั้งสามมาแจ้งความไว้เป็นหลักฐานเพื่อจะได้นำเสนอ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อพิจารณาต่อไป จึงมิใช่เป็นการมอบคดีให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย ไม่เป็นคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) เพราะขณะแจ้งยังมิได้มีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษการสอบสวนความผิด ฐานนี้ต่อมาภายหลังจึงเป็นการไม่ชอบ พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในฐานความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5799/2549
จำเลย และ ป. ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากบริษัท ร. ซึ่งโจทก์ร่วมเป็นกรรมการ เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับแม้จะเป็นเช็คออกให้แก่ผู้ซื้อ แต่เป็นเช็คที่จำเลยและ ป. ร่วมกันออกเพื่อชำระหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่บริษัท ร. มิใช่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ร่วมเป็นส่วนตัว บริษัท ร. จึงเป็นผู้ทรงเช็คพิพาท แม้โจทก์ร่วมจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ร. โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวก็ไม่อยู่ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาท และมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ จำเลยได้ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5165/2549
ความผิดตาม ป.ที่ดินฯ มาตรา 9 (1), 108 ทวิ เป็นความผิดที่กระทำต่อรัฐ ไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนได้แม้จะไม่มีคำร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนคดีนี้แล้ว พนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28 (1), 120 และ พ.ร.บ.พนักงานอัยการฯ มาตรา 11 (1) โดยมิต้องคำนึงว่าผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจะเป็นผู้ใด หรือได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่แท้จริงหรือไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4310/2549
ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าเป็นความผิดอันยอมความได้ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 66 พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ก็ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ แม้ในรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานระบุไว้ว่า "นาย ศ. อายุ 26 ปี... ได้รับมอบอำนาจจากบริษัท อาร์ เอส ให้แจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์วีซีดีภาพยนตร์... เพื่อดำเนินคดีต่อไป" ก็ไม่ถือว่าเป็นคำร้องทุกข์ โดยถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (7) เพราะมิได้ชัดแจ้งว่าเป็นการแจ้งความโดยเจตนา จะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ เป็นเหตุให้การสอบสวนในความผิดฐานนี้ไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2730/2549
ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงที่ ค. มอบอำนาจช่วงให้ ท. มีอำนาจร้องทุกข์แทนมีข้อความว่า เพื่อให้มีอำนาจดำเนินการแทน "ผู้มอบอำนาจ" ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบกับหนังสือมอบอำนาจที่ทำขึ้นระหว่างผู้เสียหายกับ ค. แล้ว ก็ระบุในหนังสือมอบอำนาจว่า ผู้เสียหายเป็น "ผู้มอบอำนาจ" และ ค. เป็น "ผู้รับมอบอำนาจ" ดังนั้น การพิจารณาว่าผู้เสียหายได้มอบอำนาจให้ร้องทุกข์โดยชอบหรือไม่ จึงต้องพิจารณาทั้งหนังสือมอบอำนาจและหนังสือมอบอำนาจช่วงประกอบกันมิใช่ พิจารณาเฉพาะหนังสือมอบอำนาจช่วงฉบับเดียว เมื่อ ท. แจ้งความร้องทุกข์แทนผู้เสียหาย มิใช่ร้องทุกข์แทน ค. เป็นการส่วนตัว การมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ของผู้เสียหายจึงชอบด้วยกฎมหาย และถือว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2529/2549
การสอบสวนที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (6) ประกอบมาตรา 18 เมื่อเหตุที่อ้างว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางแก่ ส. เกิดที่บ้านในอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยกับ ส. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายภายหลังจากนั้นอีก ในประการใด ท้องที่ซึ่งจำเลยถูกจับก็อยู่ภายในเขตอำนาจของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองกำแพงเพชร และไม่ปรากฏเหตุอื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่จะทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองมีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 128 บัญญัติไว้ การสอบสวนจำเลยโดยพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอปางศิลาทองจึงเป็นการสอบ สวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1343/2549
จำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายได้ทำพิธีปลุกเสกเหรียญรัชกาลที่ 5 เพื่อให้ได้เลขท้าย 2 ตัว ของรางวัลที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อได้เลข 96 มาแล้วจำเลยทั้งสองกับพวกและผู้เสียหายตกลงกันว่าจะไปซื้อหวยใต้ดิน ผู้เสียหายได้มอบเงินจำนวน 50,000 บาท ให้จำเลยที่ 2 เพื่อซื้อหวยใต้ดิน หลังจากมอบเงินให้จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกก็หลบหนีไป พฤติการณ์ของผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้นเป็นการร่วมกับจำเลยทั้งสองกับพวก เล่นการพนันสลากกินรวบอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทางอาญา ผู้เสียหายคดีนี้จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีสิทธิร้องทุกข์ขอให้ เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานฉ้อโกงซึ่งเป็นความ ผิดอันยอมความได้ พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3031/2547
นายดาบตำรวจ ป. พบ ส. ผู้ต้องหาซึ่งมีการออกหมายจับไว้แล้ว นายดาบตำรวจ ป. ย่อมมีอำนาจจับกุม ส. ได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3)

การแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยทั้งสอง และสอบสวนเพิ่มเติมจากการกระทำที่ได้มีการสอบสวนไว้โดยชอบแล้ว ถือว่าเป็นสิ่งเล็กน้อยในการสอบสวนและมิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายเจาะจงให้ การกระทำดังกล่าวพนักงานสอบสวนต้องกระทำด้วยตนเอง จึงถือว่าการสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 128 (2) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5603/2542
จำเลยสั่งซื้อสินค้าประเภทแป้งจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโจทก์ร่วมซึ่งมี ป. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยรับสินค้าไปเรียบร้อยแล้วได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้ให้โจทก์ร่วมป. ได้นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่ธนาคารและธนาคารเป็นผู้เรียกเก็บเงินตามเช็คพิพาท ดังนั้น โจทก์ร่วมมิใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทจึงมิใช่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิร้องทุกข์ให้ ดำเนินคดีแก่จำเลยได้ การที่โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน จึงไม่เป็นการร้องทุกข์โดยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 124 พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน และพนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 121 วรรคสอง และมาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3737/2542
ขณะ ร. ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ ร. ทำหนังสือมอบอำนาจให้ พ. เป็นผู้มีอำนาจร้องทุกข์ หรือถอนคำร้องทุกข์ใด ๆ ต่อพนักงานสอบสวนในกรณีที่มีการกระทำความผิดอาญาต่อทรัพย์สินของการเคหะแห่งชาติ รวมทั้งกระทำการใด ๆ เพื่อให้กิจการดังกล่าวสำเร็จ และในตอนท้ายของหนังสือมอบอำนาจยังระบุว่าการเคหะแห่งชาติยอมรับผิดตามที่ พ. ได้กระทำไปภายในขอบเขตอำนาจที่ได้รับมอบทุกประการ การมอบอำนาจของ ร. จึงเป็นการมอบอำนาจทั่วไปในนามของการเคหะแห่งชาติโจทก์ร่วม แม้ พ. ไปร้องทุกข์คดีนี้เมื่อ ร. พ้นตำแหน่งไปแล้ว หนังสือมอบอำนาจก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ พ. จึงมีอำนาจร้องทุกข์แทนโจทก์ร่วมให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2539
จำเลยได้ทำร้ายผู้ตายหลังจากนั้นจำเลยจึงไปแจ้งความว่าผู้ตายบุกรุกเจ้าพนักงาน ตำรวจนำตัวผู้ตายส่งโรงพยาบาลและต่อมาถึงแก่ความตายพนักงานสอบสวนจึงร่วมกับ แพทย์ชันสูตรพลิกศพผู้ตายไว้โดยที่ขณะผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายนั้นผู้ตายมิได้ เป็นผู้ต้องหาในข้อหาบุกรุกและมิได้อยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงานแต่ อย่างใดแม้ผู้ตายจะถึงแก่ความตายในระหว่างที่เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวส่งโรง พยาบาลก็ไม่ใช่กรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้าง ว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่จึงไม่ใช่กรณีที่ต้องดำเนินการตามประมวล กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา150วรรคสามเมื่อพนักงานสอบสวนและแพทย์ทำการ ชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้วพนักงานอัยการโจทก์จึงมี อำนาจฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2539
ขณะที่ผู้ตายถูกทำร้าย ผู้ตายมิได้เป็นผู้ต้องหาและอยู่ในความควบคุมตัวของเจ้าพนักงาน แม้ผู้ตายจะถึงแก่ความตายในระหว่างที่เจ้าพนักงานตำรวจนำตัวส่งโรงพยาบาลก็ไม่ใช่กรณีที่มี ความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตาม หน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติ ราชการตามหน้าที่ จึงไม่ใช่กรณีที่ต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 วรรคสาม เมื่อพนักงานสอบสวนและแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพเสร็จแล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8080/2538
มูลหนี้ที่เจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 91 ต้องเป็นหนี้ที่มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อมูลแห่งหนี้ตามเช็คพิพาทเกิดขึ้นหลังวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยทั้งสองเด็ดขาดแล้ว จึงหาอยู่ในบังคับตามมาตรา 91 ไม่ แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองฝ่าฝืน พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 24 โดยการที่จำเลยทั้งสองซึ่งศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วกระทำการ ออกเช็คพิพาทชำระหนี้แก่โจทก์ร่วม อันเป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นกับโจทก์ร่วมตามกฎหมายลักษณะ ตั๋วเงินประเภทเช็ค ซึ่งเป็นการกระทำเกี่ยวกับทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองโดยมิใช่กรณีกระทำตามคำ สั่งศาลหรือความเห็นชอบของศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายดังนั้น มูลหนี้ตามเช็คพิพาทจึงเป็นโมฆะ โจทก์ร่วมหามีสิทธินำเช็คพิพาทไปยื่นเพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยชอบ ด้วยกฎหมายไม่ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้ได้รับความเสียหาย ถือไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย ตามป.วิ.อ. มาตรา 28 จึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์คดีความผิดต่อส่วนตัวได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 124 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 และโจทก์ร่วมก็ไม่มีอำนาจร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ศาลชอบที่จะยกฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมเสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2176/2534
คดีอาญาซึ่งมิใช่คดีความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความกันได้ แม้ไม่มีการร้องทุกข์ พนักงานสอบสวน ก็ มีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 121 วรรคหนึ่ง เมื่อทำการสืบสวน หรือสอบสวนไปทั้งหมดหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนได้แล้ว พนักงานสอบสวนไม่จัดให้มีการร้องทุกข์ตามระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาตรา 123,124,125 ก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้การสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้นเสียไป พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 371/2531
การสอบสวนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา120 ต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6) ประกอบด้วยมาตรา 18 เมื่อเหตุเกิดในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้ ม. เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางซื่อย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน เมื่อไม่มีเหตุอื่นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 วรรคสองที่จะทำให้ ม. มีอำนาจสอบสวนได้ ทั้งถือไม่ได้ว่าเป็นการทำการแทนพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจตามที่ประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญามาตรา 128 บัญญัติไว้การสอบสวนพยานผู้กล่าวหาของ ม. จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ จ.พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงใต้จะสอบสวนจำเลย ทำแผนที่เกิดเหตุ ตรวจสถานที่เกิดเหตุและทำบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุ ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนคดีนี้ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ปรากฏว่าจ. เห็นว่าการสอบสวนเฉพาะส่วนของตนเป็นการสอบสวนเสร็จแล้วตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 140 การสอบสวนของ จ. เป็นการสอบสวนเพียงบางส่วนของคดี เมื่อการสอบสวนทั้งคดีรวมการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไว้ด้วย การสอบสวนคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 และไม่เป็นการสอบสวนตามที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2530
การชันสูตรพลิกศพเป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมพยาน หลักฐานตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยชอบแล้ว แม้ไม่มีการชันสูตรพลิกศพก็หาเป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องไม่