สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2561
สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2561 Filtering with Matching Text Highlighted
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9028/2561 ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19, 22 วรรคสาม, 24, 25 และ 33 วรรคสอง ได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดรวมทั้งการส่งตัวกลับไปดำเนินคดี หากบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติ หรือแม้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ โดยให้อำนาจคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ หรือให้ศาลเป็นผู้พิจารณามีคำสั่งแล้วแต่ข้อเท็จจริงจะปรากฏในขั้นตอนใด เมื่อปรากฏแก่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ว่า จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกำหนดและยังถูกจับดำเนินคดีในข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก ถือว่าจำเลยผิดเงื่อนไขของคณะอนุกรรมการฟื้นฟู และขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และย่อมส่งผลกระทบต่อการเข้ารับการฟื้นฟูตามแผนการฟื้นฟูที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้กำหนดไว้ ทำให้ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่น่าพอใจ ตามคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีหนังสือแจ้งโจทก์ให้ดำเนินคดีจำเลย จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8986 - 8997/2561 ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 คำว่า "การนัดหยุดงาน" หมายความว่า การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน แสดงว่าการนัดหยุดงานเป็นวิธีการของฝ่ายลูกจ้างที่ได้กระทำเพื่อบังคับฝ่ายนายจ้างให้ยอมรับตามข้อเรียกร้องของตนในการเจรจาต่อรองโดยวิธีการร่วมกันไม่ทำงานให้แก่นายจ้างพร้อมกันเท่านั้น แต่การกระทำอย่างอื่น เช่น การปิดกั้นหรือการชุมนุมโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั้นย่อมมิใช่การนัดหยุดงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงานแต่อย่างใด และเมื่อมิใช่การนัดหยุดงานและไม่มีกฎหมายระบุให้กระทำได้โดยไม่ต้องรับผิด ดังเช่นที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99 แล้ว ผู้กระทำย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับพวกมีการใช้กำลังฝ่าฝืนดึงดันเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ฟังการห้ามปรามของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยและบริษัท จ. มีการนำเต็นท์ขนาดใหญ่ เครื่องขยายเสียงและสุขาเคลื่อนที่เข้าไปติดตั้ง นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าไปจอด ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยส่งเสียงรบกวนการทำงานของพนักงานจำเลยและบริษัท จ. ที่ไม่ได้หยุดงานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ถือว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันชุมนุมโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99 (4) โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อการชุมนุมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยถือว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8973/2561การพิจารณาว่าคำฟ้องของโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากคำฟ้องโจทก์เท่านั้น ส่วนเอกสารท้ายฟ้องแม้เป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็เป็นเพียงส่วนแสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดเท่านั้น ไม่อาจนำเอกสารท้ายฟ้องและคำเบิกความของโจทก์มาพิจารณาประกอบกับคำฟ้องด้วย
การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 นั้น ต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยเจ้าพนักงานผู้กระทำมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจของจำเลยทั้งยี่สิบสี่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสี่ย่อมไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว โจทก์มิได้บรรยายฟ้องด้วยว่า จำเลยทั้งยี่สิบสี่กระทำการตามคำฟ้องโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ อย่างไร คำฟ้องโจทก์ในข้อนี้จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8970/2561 ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยกระทำความผิดในคดีก่อนเมื่ออายุ 14 ปีเศษและจำเลยได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จึงเพิ่มโทษจำเลยไม่ได้นั้น แม้จำเลยจะมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยจึงสามารถหยิกยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ขณะกระทำความผิดในคดีก่อนจำเลยมีอายุ 14 ปีเศษ เมื่อความผิดที่ได้กระทำในขณะมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี ไม่ถือว่าเป็นความผิดเพื่อการเพิ่มโทษตาม ป.อ. มาตรา 94 ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาเพิ่มโทษจำเลยจึงไม่ชอบ ประกอบกับโจทก์ฟ้องว่าจำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวแล้วกลับมากระทำความผิด คดีนี้อีกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2548 แสดงให้เห็นว่าจำเลยพ้นโทษในคดีก่อนตั้งแต่ก่อนวันที่ 24 มีนาคม 2548 แล้ว เมื่อ พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 มาตรา 2 บัญญัติให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นต้นไป และมาตรา 4 บัญญัติให้ล้างมลทินแก่บรรดาผู้ต้องโทษในคดีความผิดต่างๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้นๆ ดังนั้นเมื่อความผิดที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ จำเลยต้องโทษและพ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8967/2561 การกระทำความผิดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 37 ต้องมีเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 ด้วย โดยจำเลยทั้งสองต้องมีเจตนาร่วมกันหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรนั้น และต้องร่วมกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบายหรือโดยวิธีการอื่นทำนองเดียวกัน ซึ่งการหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่ต้องเสียตามลักษณะนี้ ต้องเป็นการหลีกเลี่ยงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (Tax Evasion) มิใช่เป็นการที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีไม่ผิดกฎหมายทำให้เสียภาษีอากรน้อยลงหรือไม่ต้องเสียภาษี โดยใช้ความคลุมเครือของกฎหมายหรือใช้ช่องโหว่ของกฎหมายหรือความบกพร่องของกฎหมาย อันเป็นเพียงการหลบหลีกภาษี (Tax Avoidance) ซึ่งยังไม่เป็นความผิดตามมาตรา 37
การไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินมิได้หมายความว่าจะถือเป็นการจงใจหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 37 เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ แม้จำนวนภาษีดังกล่าวจะยุติตามการประเมินก็ฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 กระทำการหลบหลีกภาษีอากรที่ยอมรับไม่ได้ (Unacceptable Tax Avoidance) หรือเป็นการหลบหลีกภาษีอากรที่ไม่บริสุทธิ์ (Abusive Tax Avoidance) ซึ่งมีโทษเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเป็นโทษทางแพ่งเท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8962/2561 แม้ข้อเท็จจริงตามฟ้องได้ความว่า จำเลยถูกพนักงานสอบสวนดำเนินคดีในความผิดสองฐาน คือ ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 ซึ่งความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนนั้นเป็นความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนนั้น เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนที่ควรส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเสียแต่แรก เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีแล้วพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนและผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ไม่โต้แย้งคำสั่ง เช่นนี้ เท่ากับพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ย่อมส่งผลให้จำเลยมิได้ตกเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนอีกต่อไป และต้องหาเพียงความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเพียงข้อหาเดียว จึงเข้าเงื่อนไขที่จะได้รับการส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ทั้งการที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อันเป็นเหตุยกเว้นที่พนักงานสอบสวนสามารถส่งตัวผู้ต้องหาไปศาลเกินกำหนดเวลาสี่สิบแปดชั่วโมงได้ ดังนั้น เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน และยังไม่มีการส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด พนักงานสอบสวนต้องนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเสียก่อน การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว จึงทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8961/2561 ตามมาตรา 19 วรรคหนึ่งตอนท้าย แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ได้กำหนดข้อยกเว้นกรณีต่างๆ เอาไว้ที่ทำให้พนักงานสอบสวนไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหาไปศาลเพื่อมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดภายในสี่สิบแปดชั่วโมง เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง เฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้ ซึ่งในกรณีหลังนี้เอง เป็นเรื่องที่กฎหมายเปิดกว้างเอาไว้โดยมีเจตนารมณ์จะให้ผู้เสพยาเสพติดซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วยมีโอกาสเข้าสู่กระบวนการของกฎหมายได้ เช่น ถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องสมควรกับความผิดที่ได้กระทำ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับคดีนี้ในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ซึ่งในที่สุดโจทก์ก็มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี เท่ากับโดยสาระแล้ว จำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เสพเมทแอมเฟตามีนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มิได้เป็นผู้ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกอีกต่อไป จำเลยจึงเป็นผู้ป่วยซึ่งอยู่ในเงื่อนไขของกฎหมายที่จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอย่างแท้จริง การมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในความผิดฐานอื่นของโจทก์ที่เกิดขึ้นในภายหลังเช่นนี้ เข้าลักษณะของพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ไม่อาจนำตัวจำเลยไปศาลเพื่อมีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดได้ทันภายในสี่สิบแปดชั่วโมง นับแต่เวลาที่จำเลยมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนดังที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ประกอบกับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี โจทก์ทราบดีถึงพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว เท่ากับข้อเท็จจริงปรากฏแก่โจทก์แล้วว่าจำเลยมิได้ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก กรณีย่อมเป็นหน้าที่ของโจทก์หรือพนักงานสอบสวนจะต้องนำตัวจำเลยไปยังศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเสียก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8951/2561 โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันมีความผูกพันในอันจะต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้เมื่อจำเลยไม่ชำระ และโจทก์ได้เข้าชำระหนี้นั้นแล้ว โจทก์จึงย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยรวมถึงเข้ารับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้บรรดามีเหนือลูกหนี้ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งการรับช่วงสิทธิของโจทก์ย่อมมีขึ้นด้วยอำนาจกฎหมายและย่อมสำเร็จเป็นประโยชน์แก่โจทก์ในทันทีตามมาตรา 229 (3) กรณีเจ้าหนี้เรียกให้โจทก์ชำระค่าประกันชดเชยตามสัญญาค้ำประกัน แสดงว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แล้วตามมาตรา 686 ดังนั้น โจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิทั้งหลายของเจ้าหนี้อันมีต่อจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ผิดนัดจึงมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยเพื่อต้นเงินและดอกเบี้ยที่ชำระแก่เจ้าหนี้ไป รวมทั้งดอกเบี้ยผิดนัดของต้นเงินนั้นในทันทีที่ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ เพียงแต่โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 224 วรรคสอง เท่านั้น เมื่อเงินที่โจทก์ชำระให้แก่เจ้าหนี้ไม่ปรากฏว่าเป็นดอกเบี้ย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเงินที่ได้ชำระแทนไปพร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กฎหมายกำหนดตามที่โจทก์เรียกร้อง นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระหนี้แทนจำเลย เพราะจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดมาก่อนแล้ว หาใช่จะตกเป็นผู้ผิดนัดก็ต่อเมื่อโจทก์ได้เรียกให้ชำระหนี้ตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8945/2561 ความผิดฐานมีคีตามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ยังคงบัญญัติให้เป็นความผิดตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง มีโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ให้จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจาก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ที่เป็นความผิดตามมาตรา 62 วรรคหนึ่ง และมีโทษตามมาตรา 106 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท แม้ตามกฎหมายฉบับเดิมและฉบับใหม่จะมีระวางโทษจำคุกและโทษปรับเท่ากัน แต่ตามกฎหมายฉบับใหม่บัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิมที่บัญญัติให้จำคุกและปรับเท่านั้น กฎหมายฉบับใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า และความผิดฐานเสพคีตามีนยังคงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 92 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 141 ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจาก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ที่เป็นความผิดตามมาตรา 62 ตรี และมีโทษตามมาตรา 106 ตรี ที่กำหนดโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท เห็นได้ว่าโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายฉบับใหม่เบากว่าโทษจำคุกตามกฎหมายฉบับเดิม โทษจำคุกและโทษปรับตามกฎหมายฉบับใหม่ไม่มีระวางโทษจำคุกและโทษปรับขั้นต่ำเช่นเดียวกับกฎหมายฉบับเดิม ทั้งกฎหมายฉบับใหม่บัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายฉบับเดิมที่ให้จำคุกและปรับเท่านั้น กฎหมายฉบับใหม่จึงเป็นคุณมากกว่า ดังนั้นในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวต้องใช้กฎหมายฉบับใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2561 เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณ ดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ...
(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป ...
และ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บทบัญญัติมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บังคับแก่คดีดังกล่าวต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด" ซึ่งหมายความว่ามิให้นำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ใช้บังคับ (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 เป็นต้นไป) อย่างไรก็ตามเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 6 - 7/2561 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ในส่วนที่ห้ามมิให้นำมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาใช้บังคับแก่คดีที่ยังไม่ถึงที่สุด เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 29 วรรคสอง ตามประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 104 ก ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ดังนั้น เมื่อคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจนำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.อ. มาตรา 3 จึงสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8929/2561 การที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนหนึ่งที่บริเวณลานจอดรถ และนำไปตรวจค้นยึดได้ที่ในห้องพักอีกจำนวนหนึ่งเป็นการที่เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่พักพบของกลางตามปกติในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดลักษณะนี้อยู่แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในอันที่จะให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8905/2561 การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ในความผิดฐานฉ้อโกง ย่อมนำไปสู่การฟ้องคดีอาญาของพนักงานอัยการ ไม่ว่าโจทก์จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการหรือไม่ ก็มีผลเป็นการเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่โจทก์สูญเสียไปจากการกระทำความผิดคืนโดยพนักงานอัยการดำเนินการแทนแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 โจทก์ไม่ต้องทวงถามหรือฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับจำเลยชำระหนี้อีก การร้องทุกข์ของโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยชำระหนี้แล้ว
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8899/2561 เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 แล้ว คงเหลือปัญหาตามฎีกาซึ่งเป็นเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเพียงข้อเดียวว่าศาลชั้นต้นกำหนดค่าธรรมเนียมศาลให้ฝ่ายจำเลยใช้แทนแก่โจทก์สูงเกินไป โดยที่ไม่ได้ยกเหตุว่าศาลชั้นต้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่าเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 168 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8898/2561 เดิมจำเลยฟ้องโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นคดีนี้ คดีนี้กับคดีดังกล่าวจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์หรือไม่ แล้วในคดีนี้จึงวินิจฉัยต่อไปได้ว่าจำเลยบุกรุกและทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ เมื่อคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงต้องห้ามมิให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นดังกล่าวซ้ำอีก ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ฟ้องโจทก์ในคดีนี้และการที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้แล้วมีคำพิพากษา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว และเมื่อตามประเด็นข้อพิพาทเป็นกรณีที่เห็นได้ว่าการชี้ขาดตัดสินคดีนี้จำต้องอาศัยคำชี้ขาดตัดสินคดีดังกล่าวซึ่งจะต้องกระทำเสียก่อน ดังนั้น ถ้าศาลชั้นต้นได้เลื่อนการพิจารณาคดีนี้ไปจนกว่าคดีดังกล่าวจะถึงที่สุด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 39 วรรคหนึ่ง ก็ย่อมทำให้ความยุติธรรมดำเนินไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม แม้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้มา แต่เมื่อปรากฏว่าคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ร่วมกัน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง จำเลยจะยกเรื่องที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ขึ้นต่อสู้โจทก์อีกไม่ได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8882/2561 ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ. และ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8873/2561 เงินสงเคราะห์เป็นเงินที่พึงจะได้รับเมื่อสมาชิกถึงแก่ความตายไปแล้ว โดยจ่ายให้แก่ผู้รับโอนประโยชน์ตามข้อบังคับสหกรณ์ ถ้าสมาชิกผู้ใดออกจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์ก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินสงเคราะห์จากสหกรณ์ ดังนี้ หากสมาชิกประสงค์จะให้ผู้รับโอนประโยชน์มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จากสหกรณ์ก็จะต้องคงความเป็นสมาชิกไว้จนตายจะถอนเงินค่าหุ้นหรือออกจากการเป็นสมาชิกไม่ได้ และเงินทุนเรือนหุ้นหรือเงินค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่กับสหกรณ์ก็มิใช่เงินที่สมาชิกสามารถที่จะเบิกถอนไปใช้ได้ก่อน เว้นแต่จะออกจากการเป็นสมาชิกแล้วซึ่งก็ยังมีเงื่อนไขที่อาจจะไม่ได้รับเต็มจำนวนก็ได้ เงินค่าหุ้นจึงมีลักษณะพิเศษที่มิใช่เป็นทรัพย์ของสมาชิกโดยแท้ เมื่อพระราชบัญญัติสหกรณ์บัญญัติให้สมาชิกสหกรณ์สามารถทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่าหุ้นหรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน การจะเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงผู้รับประโยชน์ก็ต้องทำเป็นหนังสือในลักษณะเดียวกันมอบให้สหกรณ์ถือไว้ และถ้าในที่สุดไม่มีผู้รับเงิน เงินนั้นก็จะนำไปสมทบเป็นเงินทุนสำรองของสหกรณ์ เมื่อเงินค่าหุ้นและเงินสงเคราะห์มีลักษณะพิเศษตามข้อบังคับและระเบียบของจำเลยเพื่อให้การบริหารเงินของสหกรณ์เป็นไปโดยสะดวกเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและออกตามบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติการจัดการเงินของสมาชิกสหกรณ์ไว้โดยเฉพาะ ย่อมมีผลบังคับได้นอกเหนือจากการทำพินัยกรรม การทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ของผู้ตายจึงมีผลบังคับได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามแบบพินัยกรรมและไม่ถือว่าเป็นพินัยกรรม โดยมีผลบังคับแตกต่างจากการทำพินัยกรรม เมื่อผู้ตายทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในทุนเรือนหุ้นไว้แก่สหกรณ์จำเลยแล้ว ทุนเรือนหุ้นจึงไม่เป็นมรดกของผู้ตายที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมยกทุนเรือนหุ้นนั้นให้แก่ผู้อื่นอีก โดยเป็นกรณีที่มีกฎหมายพระราชบัญญัติสหกรณ์บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นที่ทำให้ทายาทต้องเสียไปซึ่งสิทธิในมรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคสอง หนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในส่วนเงินทุนเรือนหุ้นจึงไม่เป็นพินัยกรรมของผู้ตายและไม่ตกเป็นโมฆะ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8827/2561 แม้ที่ผู้เสียหายที่ 2 อ้างว่า ที่ไปที่ห้องพักของจำเลยเป็นเพราะจำเลยติดต่อผ่านเฟซบุ๊กข่มขู่ให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปหา จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม การตัดสินใจจะไปหรือไม่ก็เป็นของผู้เสียหายที่ 2 เอง จำเลยไม่ได้กระทำการอันใดอันเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากการดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดา จำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8824/2561 บทนิยาม "แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ" ตามมาตรา 4 (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุหรือสื่อลามก การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การเอาคนลงเป็นทาส การนำคนมาขอทาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การบังคับตัดอวัยวะเพื่อการค้า หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคล ไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คดีคงได้ความว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันติดต่อเกี่ยวกับสถานที่และบุคคลให้ผู้เสียหายค้าประเวณี แต่งหน้าแต่งตาให้ผู้เสียหายและพาผู้เสียหายไปส่งเพื่อค้าประเวณีกับรับเงินค่าค้าประเวณีส่งมอบให้ผู้เสียหายเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 หักเงินเพียงเท่าที่ผู้เสียหายยืมจำเลยที่ 1 ไว้คืนแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นความชอบธรรมที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้โดยปกติทั่วไป เมื่อเหลือเงินเท่าใดจำเลยที่ 2 คืนแก่ผู้เสียหายทั้งสิ้น แต่ผู้เสียหายขอฝากส่วนที่เหลือนั้นไว้แก่จำเลยที่ 2 เอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับผลประโยชน์อื่นใดโดยตรงจากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย จึงไม่มีลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของผู้เสียหาย อันเป็นการขูดรีดบุคคลตามบทนิยามดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสองย่อมไม่เป็นความผิดฐานสมคบและร่วมกันค้ามนุษย์ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (2) เดิม, 9, 52 (เดิม) และไม่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8820/2561 การที่จำเลยที่ 2 คู่สมรสทำหนังสือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของ ส. สามี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม จึงมิใช่เป็นการให้สัตยาบันของคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4) (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8791/2561 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกักขังผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ไว้ที่บ้านเกิดเหตุเพื่อให้ติดต่อญาติของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เรียกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานในประเทศไทยเพิ่ม แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกมีเจตนาจะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองว่ามีเจตนาที่จะช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ให้พ้นจากการจับกุมและไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เข้ามาในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8767/2561 คำว่า "พา" หมายความว่า นำไปหรือพาไป ส่วนคำว่า "พราก" หมายความว่า การพาไปหรือแยกเด็กออกไปจากอำนาจปกครองดูแล ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาเด็กถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือนโดยบิดามารดาเด็กไม่รู้เห็นยินยอม อันเป็นการมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลที่มีต่อเด็ก มิให้ผู้ใดล่วงละเมิดด้วยการพาไปหรือแยกเด็กออกจากความปกครองดูแล โดยไม่จำกัดว่าจะกระทำด้วยวิธีการใด และไม่คำนึงระยะทางใกล้ไกล ดังนั้น การที่จำเลยใช้กลวิธีด้วยการตะโกนเรียกผู้เสียหายที่ 2 ขณะนั่งเล่นกับเพื่อนให้เข้าไปหาจำเลย แม้ที่เกิดเหตุอยู่ห่างจากบริเวณที่ผู้เสียหายที่ 2 เล่นอยู่กับเพื่อนเพียง 7 เมตร และอยู่ในบริเวณอู่ซ่อมรถด้วยกัน แล้วจำเลยกระทำอนาจารผู้เสียหายที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปและพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพาเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารและฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8761 - 8763/2561 โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องเป็นทำนองเดียวกันว่า จำเลยเบิกความเท็จต่อศาลในการพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3745/2546 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสามกับพวกเป็นจำเลย ในข้อหาหรือฐานความผิดร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน โดยรู้ว่ามิได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แต่แจ้งว่ามีการกระทำความผิด เพื่อจะแกล้งให้บุคคลอื่นต้องรับโทษหรือรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 83, 173, 174 โดยมีรายละเอียดข้อความที่จำเลยเบิกความ กับความจริงเป็นอย่างไร ประเด็นสำคัญของคดีเป็นข้อความที่โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวกเพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือรับสภาพหนี้ แต่จำเลยเบิกความว่าเป็นการออกเช็คเพื่อแลกเงินสด ซึ่งคำเบิกความของจำเลยดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในคดี ดังนี้ เป็นการแจ้งชัดแล้วว่า คดีที่จำเลยเบิกความอันเป็นเท็จนั้นมีข้อหาหรือฐานความผิดอะไร ประเด็นสำคัญของคดีว่าอย่างไร และคำเบิกความของจำเลยเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างไร ถือว่าโจทก์ทั้งสามได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิดพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ที่จำเลยเบิกความว่าจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดว่าจำเลยออกเช็คเพื่อก่อหนี้ มิใช่การชำระหนี้ที่มีอยู่จริง ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีเดิมที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงปทุมวันตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 800/2544 หมายเลขแดงที่ 3023/2545 ว่า จำเลยออกเช็คพิพาทชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ทั้งสามกับพวก แต่การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดเนื่องจากเป็นเช็คที่รวมดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 (ก) เป็นโมฆะ ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย เท่ากับว่าองค์ประกอบความผิดเรื่องการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงไม่ใช่ประเด็นข้อสำคัญในคดี การที่จำเลยเบิกความว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกแจ้งความเท็จเพราะจำเลยออกเช็คพิพาทเพื่อแลกเงินสด มิใช่เป็นการชำระหนี้เงินกู้ แม้ข้อความนั้นจะเป็นเท็จก็ไม่ใช่ความเท็จในข้อสำคัญแห่งคดี จึงไม่เป็นความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8731/2561 คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปยังที่เกิดเหตุพร้อมกับอาวุธปืน เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นผู้เสียหายที่บริเวณหน้าบ้านที่เกิดเหตุเข้าใจว่าเป็นพวกของ บ. จำเลยที่ 2 จึงใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นที่พกติดตัวมายิงไปที่ผู้เสียหายนั่งอยู่เพราะสำคัญผิดคิดว่าผู้เสียหายเป็นพวกของ บ. แต่จำเลยที่ 2 ก็จะยกเอาความสำคัญผิดขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัวหาได้ไม่ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะกระทำต่อพวกของ บ. เช่นใด ก็ต้องรับผิดในผลของการกระทำที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายเช่นนั้นตาม ป.อ. มาตรา 61 การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยสำคัญผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8727/2561 โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 มีเจตนาเช่าที่ดินพิพาทกันตามสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินฉบับที่ระบุค่าเช่าเดือนละ 120,000 บาท ที่ได้นำไปจดทะเบียนต่อสำนักงานที่ดิน ซึ่งทำขึ้นโดยมีเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมที่ต้องชำระย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง จึงต้องผูกพันกันตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับค่าเช่าเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาเช่า ระบุค่าเช่าต่ำกว่าความเป็นจริงและนำไปจดทะเบียนเพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าและภาษีอากร ถือว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจโดยไม่สุจริตด้วยกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ โจทก์ทั้งสองไม่อาจยกเอาความไม่สุจริตดังกล่าวขึ้นมาเรียกร้องค่าเช่าที่ดินและขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาท โดยอาศัยหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน ที่ระบุค่าเช่าที่ดินเดือนละ 1,800,000 บาท ซึ่งเป็นนิติกรรมที่ได้อำพรางไว้ได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8725/2561 การที่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เพราะเหตุที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ย อ้างว่าจำเลยร่วมมีส่วนประมาทเลินเล่อและก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองด้วย จำเลยร่วมให้การว่าไม่มีส่วนประมาทเลินเล่อกับจำเลยที่ 2 คำให้การของจำเลยร่วมย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อจำเลยที่ 2 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง และยกฟ้องจำเลยร่วม เป็นการกระทบสิทธิของจำเลยที่ 2 โดยตรง แม้โจทก์ทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์ฎีกา จำเลยที่ 2 มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยร่วมรับผิดได้
พฤติการณ์ที่จำเลยร่วมขับรถออกจากปากซอยเฉลิมพระเกียรติ 79 ไปจอดรอเพื่อเลี้ยวขวาไปอีกฝั่งของถนนทั้งที่บริเวณดังกล่าวมีเครื่องหมายจราจรเขตปลอดภัยเส้นทึบห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่ ทั้งจอดรถล้ำส่วนกระบะบางส่วนเข้าไปในทางเดินรถลงสะพานจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ หากจำเลยร่วมไม่ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรไปจอดรอบริเวณดังกล่าว เหตุเฉี่ยวชนย่อมไม่เกิดขึ้น เช่นนี้จำเลยร่วมจึงมีส่วนขับรถโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลให้เกิดเหตุละเมิดคดีนี้และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น สำหรับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมที่มีต่อโจทก์ทั้งสองนั้น เมื่อพิจารณาความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถด้วยความเร็วสูงในช่องเดินรถที่ 2 นับจากซ้ายขึ้นสะพานซึ่งไม่สามารถมองเห็นทางเดินรถด้านหน้าได้อย่างชัดเจน เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถควบคุมรถเมื่อขับลงสะพานให้หยุดได้ในระยะปลอดภัยเมื่อมีรถยนต์ที่จำเลยร่วมขับจอดกีดขวางอยู่ และความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมที่ขับรถฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรบริเวณทางลงสะพานซึ่งเป็นจุดที่ผู้ขับขี่รถอื่นไม่สามารถมองเห็นทางเดินรถได้อย่างชัดเจนทั้งยังหยุดรถกีดขวางช่องเดินรถที่จำเลยที่ 1 ขับมาแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยร่วม แม้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมต่างคนต่างขับรถโดยประมาทเลินเล่อ แต่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วม จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองอย่างลูกหนี้ร่วม โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 กับจำเลยร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามส่วนความรับผิดหรือเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 หรือจำเลยร่วมฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชดใช้เต็มจำนวนก็ได้
โจทก์ที่ 2 เบิกความถึงค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แต่เพียงลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานภาพถ่าย หลักฐานการชำระเงินหรือรายละเอียดค่าใช้จ่ายใด ๆ มาแสดงต่อศาล แม้โจทก์ที่ 2 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าใช้จ่ายเดินทางมางานศพจากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีก็ไม่ปรากฏรายละเอียดการเดินทางและค่าใช้จ่ายใด ๆ เมื่อพิเคราะห์ระยะเวลาจัดงานศพ 5 วัน ที่ศาลอุทธรณ์กำหนด ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ รวมกัน 110,000 บาท จึงสูงเกินไป เห็นควรกำหนดให้ 80,000 บาท ส่วนที่จำเลยทั้งสองชำระเงิน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือญาติผู้ตาย เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินร่วมทำบุญอันเป็นการสำนึกในศีลธรรม มิใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองช่วยค่าทำศพโดยยอมรับผิดและมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง จะนำมาหักกับจำนวนเงินค่าปลงศพที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องไม่ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน แต่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ทั้งสองรวมกันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของบิดามารดาแต่ละคน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) จึงกำหนดให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับค่าขาดไร้อุปการะคนละ 1,800,000 บาท กรณีเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยร่วมซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แก่โจทก์ทั้งสอง 80,000 บาท ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 22,700 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,800,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,800,000 บาท ส่วนจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1 ใน 4 ส่วน เป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ แก่โจทก์ทั้งสอง 20,000 บาท ค่าเสียหายของรถจักรยานยนต์แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 5,675 บาท ค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 450,000 บาท และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 450,000 บาท
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8722/2561 โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยทั้งสามบุกรุกเข้าไปล้อมรั้วและรื้อบ้านของโจทก์ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท โจทก์ห้ามปรามแล้วแต่จำเลยทั้งสามไม่ฟัง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของ ช. เป็นของจำเลยที่ 3 โดยซื้อมาจาก ช. ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่มีปัญหาเรื่องการแย่งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ จึงไม่มีการอ้างสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสามยกเหตุเป็นข้อต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ฟ้องเอาคืนซึ่งการครอบครองเกิน 1 ปี หรือไม่ การที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสามโดยกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทกับตัดโค่นทำลายพืชผลอาสินของโจทก์ที่ปลูกไว้รอบบ้านแล้วล้อมรั้วรอบเขตที่ดินและบ้านพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์สินของโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดทางอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์กับความผิดทางแพ่งฐานละเมิดรวมกันมา โจทก์จึงอาศัยมูลคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิดทางแพ่งฐานละเมิดได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และการที่โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีอาญาฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์แล้วถอนฟ้องไปก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ซึ่งมีผลให้คู่ความกลับสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 จึงไม่มีคดีอาญาค้างพิจารณาอยู่ในศาลและศาลยังมิได้มีคำพิพากษาในส่วนอาญา เมื่อมูลคดีนี้ถือว่ายังไม่มีผู้ใดฟ้องจำเลยทั้งสามทางอาญา สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่จะฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาย่อมต้องบังคับตามกำหนดเวลาดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายเรื่องอายุความฟ้องคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง เมื่อความผิดทางอาญาที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทและความผิดฐานบุกรุกที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีกำหนดโทษจำคุกสูงที่สุดไม่เกิน 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) อายุความฟ้องคดีอาญาจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) จึงต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดบังคับแก่คดีนี้ตาม ป.อ. มาตรา 90 และเมื่อคำนวณนับแต่วันกระทำผิดถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ กรณีไม่มีการฟ้องคดีอาญาย่อมไม่มีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาอันถึงที่สุดที่จะให้นำไปถือตามในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งคดีนี้จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดทางอาญาหรือไม่ และในการพิพากษาคดี ข้อความรับผิดเพื่อละเมิดและกำหนดค่าสินไหมทดแทนนั้น ศาลไม่จำต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายลักษณะอาญาอันว่าด้วยการที่จะต้องรับโทษ และไม่จำต้องพิเคราะห์ถึงการที่ผู้กระทำผิดต้องคำพิพากษาลงโทษทางอาญาหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง และ ป.พ.พ. มาตรา 424 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินและบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามสามารถอ้างสิทธิใดๆ ที่จะก้าวล่วงเข้าไปในเขตที่ดินและบ้านพิพาทเพื่อกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระเทือนสิทธิเหนือทรัพย์สินดังกล่าวของโจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ การที่จำเลยทั้งสามยอมรับตามฟ้องว่า ได้เข้าไปในเขตที่ดินและรื้อบ้านพิพาทแล้วล้อมรั้วที่ดินพิพาทไม่ให้โจทก์และครอบครัวอยู่อาศัย ใช้ประโยชน์จากผลผลิตที่จะได้จากยางพาราและปาล์มซึ่งโจทก์ปลูกไว้ในเขตที่ดินและบ้านพิพาท การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการจงใจกระทำการโดยไม่สุจริต ทั้งส่งผลโดยตรงให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายและไม่ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้น อันเป็นความผิดฐานละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8670/2561 คดีนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ 3 ยื่นคำขอจดทะเบียน โจทก์บรรยายคำฟ้องว่าโจทก์ยื่นคำคัดค้านการขอจดทะเบียนดังกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิดีกว่า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยกคำคัดค้านของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ อันเป็นการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า คดีจึงมีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 3 ผู้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าจำเลยที่ 3 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ไม่มีสิทธิจดทะเบียนอันมีผลให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจมีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายดังกล่าวให้จำเลยที่ 3 ตามคำขอจดทะเบียนได้ และแสดงว่าคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ให้ยกคำคัดค้านของโจทก์และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ต่อไป กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนคำวินิจฉัยทั้งสองได้โดยไม่ถือเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็น
สำหรับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์นั้น เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้รับฟังเป็นยุติแล้วว่า ภายหลังนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์เป็นทะเบียนเลขที่ บ49734 แต่ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวไปแล้ว และมีหนังสือถึงโจทก์โดยแจ้งเหตุผลทำนองว่าเป็นการรับจดทะเบียนโดยผิดหลง และอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการดังกล่าวของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2554 เป็นต้นไป หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวมีสิทธิอุทธรณ์ได้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนี้ คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เพิกถอนคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของโจทก์จึงถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายบริการตามคำขอดังกล่าวได้อีก หากโจทก์ยังประสงค์จะจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในลักษณะเช่นเดียวกับเครื่องหมายบริการตามคำขอเลขที่ 748789 ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปดำเนินการขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการกันใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8646/2561 มูลเหตุการกระทำความผิดในคดีนี้เกิดจากการนำเรือกลประมงทะเลชั้น 1 ขนาด 40.39 ตันกรอส ออกจากท่า โดยไม่มีคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งตามที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนนำเรือออกจากท่า ซึ่งเป็นการใช้เรือผิดจากเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือและเป็นเรือประมงซึ่งปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และการที่จำเลยยินยอมให้ผู้ควบคุมเรือนำเรือประมงซึ่งปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยออกจากท่า ไม่ปรากฏว่าเรือของจำเลยเป็นเรือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด การกระทำความผิดของจำเลยเป็นเพียงการผิดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือและยินยอมให้ผู้ควบคุมเรือกระทำการดังกล่าว เรือประมงของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8640/2561 คดีที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษใหม่ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) โดยอ้าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (เดิม) คำร้องของจำเลยจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และคดีถึงที่สุดก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ดังนี้ คดีของจำเลยจึงเป็นคดีเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "...คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนี้ เมื่อจำเลยยื่นฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8636/2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 62 วรรคหนึ่ง, 106 ทวิ วรรคหนึ่ง ลงโทษจำเลยทั้งสองก่อนเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จำคุกคนละ 5 ปี ซึ่งเป็นโทษขั้นต่ำของมาตรา 106 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท เมื่อศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ที่มีระวางโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษที่ศาลอุทธรณ์จะกำหนดได้ คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์โดยแท้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่สูงกว่าโทษตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดโทษจำเลยทั้งสองจำคุกคนละ 5 ปี ซึ่งไม่เกินกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรา 140 วรรคหนึ่ง และไม่สูงกว่าโทษตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่กำหนดโทษจำเลยทั้งสองจำคุกคนละ 5 ปี เช่นนี้ จึงไม่ได้ผิดหลงในการกำหนดโทษ กรณีจึงไม่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองโดยมิชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2561 การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 จะต้องเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันซึ่งต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ หมายถึงต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นที่เป็นผู้เสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ร่วมเสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 เพิ่งจะเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในลักษณะของตัวการ และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 นั้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้หรือขอให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจแล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจในภายหลังจึงไม่เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะการเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 จะต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้พ้นจากการจับกุม เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะในการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้เต็มคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า "ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น... (3) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม" และมาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติต่อไปว่า "ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้" แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ต้องการลงโทษผู้ที่จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินหรือที่ประชุมหรือที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยตรง โดยผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ้นจากการถูกจับกุม การจัดหาหรือให้เงินตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) นี้จะต้องเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น และหากเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนเพื่อช่วยให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลก็มีอำนาจที่จะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาหรือให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกจากการถูกจับกุม มิใช่เป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8589/2561 โจทก์บรรยายฟ้องโดยชัดแจ้งว่า จำเลยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กับมีคำขอท้ายคำฟ้อง ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 และขอให้ระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น แสดงว่าโจทก์ระบุสถานะจำเลยว่าเป็นบุคคลตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 และขอให้ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวด้วย หาใช่ระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ซึ่งการที่ต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 ต้องได้ความว่าเป็นกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ หรือข้าราชการ หรือพนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษ หรือสนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าว อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่จำเลยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมีสถานะถือเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ซึ่งต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นกัน แต่เป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งแยกต่างจากกัน เมื่อโจทก์ไม่ได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ไว้ จึงไม่อาจระวางโทษจำเลยเป็นสามเท่าตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าวได้ เพราะเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 3
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า ถือเป็นข้อยกเว้นของวรรคหนึ่ง จึงต้องตีความวรรคห้าโดยเคร่งครัด เมื่อวรรคห้าระบุว่าเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด จะตีความขยายไปถึงกรณีที่อ้างกฎหมายผิดทั้งฉบับหาได้ไม่ เพราะถ้ากฎหมายต้องการเช่นนั้นก็คงระบุไว้ว่า โจทก์อ้างบทกฎหมายผิด ซึ่งย่อมครอบคลุมตลอดถึงการอ้างความผิดหรือบทมาตราผิดอยู่ในตัวด้วย ที่โจทก์อ้างว่าคดีนี้อ้างบทมาตราผิดและศาลสามารถลงโทษจำเลยตามบทมาตราของกฎหมายที่ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า จึงไม่ถูกต้อง ดังนั้น ศาลจะลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ไม่ได้ เพราะขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8586/2561 ตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ใดต้องโทษปรับตามคำพิพากษาของศาล และไม่ชำระค่าปรับภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับหรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 (เดิม) เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับ การที่ศาลชั้นต้นออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของจำเลยเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงเป็นการดำเนินการไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ส่วนที่จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษ ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2558 มาตรา 5 บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นการพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษเด็ดขาด ในกรณีที่ผู้นั้นยังไม่ได้รับโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือยังไม่ได้ถูกกักขังแทนค่าปรับให้ได้รับการปล่อยตัวไปโดยไม่ต้องรับโทษเท่านั้น แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการยึดทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อนำมาขายทอดตลาดชำระเป็นค่าปรับด้วย การยึดทรัพย์สินเพื่อบังคับเป็นค่าปรับจึงมิได้รับการพระราชทานอภัยโทษไปแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 แม้จะเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับภายหลังจากคดีของจำเลยถึงที่สุดแล้วก็ตามก็เป็นเพียงการกำหนดแนวทางหรือวิธีปฏิบัติในการบังคับโทษปรับให้ชัดเจนขึ้น โดยให้พนักงานอัยการร้องขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี กับให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงาน ป.ป.ส. มีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สินและให้ถือเป็นเจ้าหนี้คำพิพากษาเท่านั้น กรณีหาใช่เป็นการนำกฎหมายย้อนหลังมาบังคับแก่ทรัพย์สินของจำเลยทำให้จำเลยไม่ได้รับความเป็นธรรมไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8516/2561 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 45 บัญญัติว่า "คดีเรื่องใดถึงแม้ว่าได้ฟ้องในทางอาญาแล้ว ก็ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะฟ้องในทางแพ่งอีก" แม้มาตรา 46 บัญญัติว่า "ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา" อย่างไรก็ดี หากผลคดีอาญายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นประการใด ศาลในคดีส่วนแพ่งย่อมมีดุลพินิจดำเนินการะบวนพิจารณาและพิพากษาไปได้ตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนโดยไม่ต้องรอคำพิพากษาคดีส่วนอาญา การใช้ดุลพินิจดังกล่าวไม่เป็นการต้องห้ามตามกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนคดีแพ่งที่ น. ฟ้องผู้กระทำละเมิดและนายจ้างเรียกค่าสินไหมทดแทนนั้น ผลแห่งคดีจะเป็นอย่างไรย่อมไม่ผูกพันผู้คัดค้านคดีนี้เพราะไม่ได้เป็นคู่ความในคดีดังกล่าว คำร้องของผู้ร้องเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการ การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ข้ออุทธรณ์ประการอื่นที่ว่า อนุญาโตตุลาการไต่สวนพยานผู้คัดค้านเพียงปากเดียว ไม่ไต่สวนพยานอื่น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงเช่นกัน ซึ่งไม่เป็นเหตุที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8505/2561 จำเลยแก้ฎีกาว่า ฎีกาของโจทก์ตั้งแต่หน้า 10 ถึงหน้า 19 เป็นการคัดลอกมาจากอุทธรณ์ในหน้า 39 ถึงหน้า 55 ถือเป็นฎีกาที่ไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งนั้น ฎีกาของโจทก์ในหน้า 10 ถึงหน้า 19 กับอุทธรณ์ของโจทก์หน้า 39 ถึงหน้า 55 เป็นเพียงการบรรยายถึงข้อเท็จจริงที่พยานโจทก์เบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อโต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยสมัครใจเลิกสัญญาและที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบเป็นกรณีที่จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง)
หนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ระหว่างโจทก์ผู้จองกับจำเลยผู้รับจองกำหนดเวลาการตกแต่งไว้ 4 เดือน นับแต่วันที่รับมอบพื้นที่จากจำเลย โดยระบุวันรับและส่งมอบพื้นที่วันที่ 15 มกราคม 2557 วันเริ่มต้นสัญญาเช่าและบริการวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 โดยมีระยะเวลาปลอดค่าเช่าและค่าบริการเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 กำหนดเวลาชำระเงินจองโดยแบ่งออกเป็น3 งวด งวดละ 1,169,343 บาท งวดที่ 1 ชำระวันทำหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ งวดที่ 2 ชำระภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2557 และงวดที่ 3 ชำระภายในวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 และกำหนดเวลาที่โจทก์จะเข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการกับจำเลยภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2557 หากโจทก์ไม่มาทำสัญญาเช่าและบริการตามที่กำหนด ยินยอมให้จำเลยยึดเงินจองและให้นำพื้นที่ที่จองไว้ออกจำหน่ายให้แก่ผู้เช่ารายอื่นทันที แต่พฤติการณ์ที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ที่จองตามกำหนด โจทก์ขอเลื่อนเวลาการชำระเงินจองงวดที่ 3 กับเลื่อนการทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการ ส่วนจำเลยนำสืบว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 โจทก์และจำเลยมีการตรวจวัดรับพื้นที่เช่าและงานระบบกันแล้ว ต่อมาปลายเดือนมีนาคม 2557 จำเลยเรียกโจทก์เข้ามาเจรจาเนื่องจากตรวจสอบพบว่าโจทก์เข้าไปตกแต่งพื้นที่ส่วนกลางและเปลี่ยนแบบแปลนประเภทร้านค้าเป็นร้านอาหาร ทำให้จำเลยต้องเปลี่ยนแก้ไขระบบงานสาธารณูปโภค เปลี่ยนและติดตั้งระบบดูดควันใหม่ เทพื้นใหม่ เปลี่ยนและวางท่อก๊าซแอลพีจีใหม่ตามคำร้องขอของโจทก์ ซึ่งจำเลยยอมผ่อนปรนและพยายามทำทุกอย่างเท่าที่โจทก์ร้องขอมาโดยตลอดนั้น กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยไม่ถือเอากำหนดเวลาที่ระบุในหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่เป็นข้อสำคัญ เช่นนี้ที่โจทก์ไม่ชำระเงินจองงวดที่ 3 ไม่เข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการภายในกำหนดเวลาตามหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเพราะเหตุดังกล่าวทันทีไม่ได้ หากแต่จำเลยต้องบอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระเงินจองที่ยังคงค้างและให้เข้าทำสัญญาเช่าและสัญญาบริการเสียก่อน และเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดแล้วโจทก์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 แต่ ส. พยานจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยเบิกความลอย ๆ ว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์เข้าทำสัญญาเช่าและบริการหลายครั้ง แต่โจทก์เพิกเฉย โดยไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นมายืนยันสนับสนุนให้เห็นว่าจำเลยได้บอกกล่าวโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ชำระเงินจองที่ยังค้างและเข้าทำสัญญาเช่ากับสัญญาบริการมาก่อนแล้ว การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ไปยังโจทก์บอกเลิกหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่ ด้วยเหตุว่าโจทก์คงค้างชำระเงินจองงวดสุดท้าย และไม่ได้เข้าทำสัญญาภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยมิได้กำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติก่อนจึงไม่ชอบ แต่เมื่อโจทก์ได้รับหนังสือฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2558 จากจำเลยแล้ว โจทก์กลับมีหนังสือลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ไปยังจำเลยเพื่อขอยกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาหนังสือแสดงเจตนาการจองเช่าพื้นที่กันแล้ว โจทก์และจำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงต้องคืนเงินจองพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันที่รับไว้ให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ต้องชดใช้ค่าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของจำเลยและนำมาหักกลบลบหนี้กับเงินจองที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ได้นั้น จำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้มา จึงเป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินด้วยการเพิ่มค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ ซึ่งโจทก์ไม่อาจอุทธรณ์ขอให้เพิ่มค่าเสียหายส่วนนี้เกินไปจากที่ฟ้องได้ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นจำนวนเดียวกับที่โจทก์ฟ้อง และชั้นฎีกาโจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินด้วยการคำนวณค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษเพิ่มเป็นเงินเกินกว่าที่โจทก์ฟ้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาแต่ละชั้นศาลให้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8503/2561 ฎีกาโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 การกระทำการโดยไม่สุจริต โดยพนักงานของจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ในการรับจำนองที่ดินพิพาท โดยโจทก์มิได้กล่าวบรรยายฟ้องไว้คงบรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทโดยทราบดีว่า เป็นการรับจำนองที่ดินที่สูงกว่าราคาประเมิน และสูงกว่าราคาซื้อขายที่ดินตามสัญญา ฎีกาโจทก์จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8495/2561 ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายแสดงเจตนาสละสิทธิเรียกร้องในหนี้บางส่วนที่มีต่อจำเลยทั้งสอง โดยยังติดใจในหนี้อีกเพียง 500,000 บาท เมื่อจำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายอีก ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองคืนเงิน 2,352,243 บาท แก่ผู้เสียหาย และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ฎีกา และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องโดยพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ผู้มิได้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8491/2561 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาลักทรัพย์หรือรับของโจร เป็นการฟ้องให้ศาลเลือกลงโทษจำเลยในข้อหาใดข้อหาหนึ่งตามที่พิจารณาได้ความ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยพร้อมกันทั้งสองข้อหาได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว เพียงแต่ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ส่วนศาลอุทธรณ์ เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจร ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามที่โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงดังกล่าวมาในฟ้องแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8488/2561 คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ข้อห้ามมิให้ฎีกาเช่นว่านี้ ย่อมห้ามมิให้ฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา เมื่อปรากฏตามคำร้องของโจทก์ที่ร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาอนุญาตให้โจทก์ฎีการะบุชัดเจนเจาะจงว่า โจทก์ประสงค์ขอให้ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำร้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดจึงอนุญาตให้ฎีกา ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการอนุญาตให้โจทก์ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริงตามความประสงค์ของโจทก์หาได้มีผลเป็นการอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยนอกคำฟ้องและนอกสำนวนหรือไม่นั้น อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8480/2561 มูลเหตุการกระทำความผิดในคดีนี้เกิดจากการนำเรือกลประมงทะเลชั้น 1 ขนาด 43.14 ตันกรอส ออกจากท่า โดยไม่มีคนใช้เครื่องจักรยนต์ชั้นหนึ่งตามที่แจ้งต่อเจ้าพนักงานก่อนนำเรือออกจากท่า ซึ่งเป็นการใช้เรือผิดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดในใบอนุญาตใช้เรือและเป็นเรือประมงซึ่งปฏิบัติไม่ครบตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทย และการที่จำเลยยินยอมให้ผู้ควบคุมเรือกระทำการดังกล่าว ไม่ปรากฏว่าเรือของจำเลยเป็นเรือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ได้รับใบอนุญาตแต่อย่างใด เรือประมงของกลางจึงมิใช่ทรัพย์ที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่ริบเรือประมงของกลางจึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8462/2561 การที่จำเลยเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1141 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้องในข้อกระทงความบรรดาที่กฎหมายบังคับหรือให้อำนาจให้เอาลงไว้ในทะเบียนเพื่อพิจารณาและลงมติในเรื่องกิจการของบริษัทจึงชอบแล้วในเบื้องต้น โจทก์จะขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นโดยอ้างเพียงเหตุไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุมไม่ได้ เนื่องจากไม่ใช่เป็นมติที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือฝ่าฝืนข้อบังคับของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 ส่วนมติในการประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งนี้จะซ้ำซ้อนกับมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นในครั้งก่อนหรือไม่อย่างไร ก็ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะต้องถือเอามติครั้งล่าสุดที่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทมาใช้บังคับ เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว คำฟ้องโจทก์ที่อ้างเหตุข้างต้นจึงไม่มีมูล และไม่มีเหตุที่จะนำวิธีคุ้มครองตามคำร้องของโจทก์มาใช้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2561 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8440/2561 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า จ. ตัวแทนของ อ. ติดต่อกับ ร. ลูกจ้างของ ท. ผู้เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของผู้ร้อง ขอทำประกันวินาศภัย ประเภท 3 สำหรับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ฒ - 9044 กรุงเทพมหานคร ซึ่งอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย ประเภท 3 เป็นอัตราเบี้ยตายตัว ทั้งตามอุทธรณ์ของผู้ร้องก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ท. และ ธ. สองสามีภริยา เป็นตัวแทนประกันวินาศภัยของผู้ร้องมีสำนักงานที่จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานตัวแทนสามารถออกกรมธรรม์ประกันวินาศภัย ประเภท 3 ได้เอง ดังนั้น เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2559 จ. เสนอเอาประกันวินาศภัย ประเภท 3 ให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ฒ - 9044 กรุงเทพมหานคร ร. รับเรื่องไว้ โดยสำนักงานตัวแทนของ ท. มีอำนาจออกกรมธรรม์ประกันวินาศภัย ประเภท 3 ได้เอง จึงเป็นการสนองตอบ สัญญาประกันวินาศภัยย่อมเกิดขึ้นทันที ส่วนเอกสารกรมธรรม์จะออกได้เมื่อใดเป็นกระบวนการภายในของผู้ร้อง ผู้เอาประกันภัยจะชำระเบี้ยประกันเมื่อใดขึ้นอยู่กับการเรียกเก็บของผู้ร้อง และตัวแทนของผู้ร้องดำเนินการโดยทุจริตหรือไม่ เป็นปัญหาที่ผู้ร้องต้องเรียกร้องความรับผิดจากตัวแทนเอง คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชอบแล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้ร้องไม่อาจขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการด้วย ย่อมเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำร้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ศาลฎีกาจึงแก้ไขให้ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2561 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2561 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องที่ 1 อยู่ในอำนาจปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นมารดา แม้ผู้ร้องที่ 2 บอกให้ผู้ร้องที่ 1 เดินทางกลับบ้านพักด้วยตนเองตามลำพัง ผู้ร้องที่ 1 ก็ยังอยู่ในความปกครองของผู้ร้องที่ 2 ตลอดเวลา การที่จำเลยดึงแขนผู้ร้องที่ 1 แล้วพาเข้าไปป่าละเมาะเพื่อล่วงเกินทางเพศผู้ร้องที่ 1 ผู้ร้องที่ 2 ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือยินยอมให้จำเลยพาผู้ร้องที่ 1 เข้าไปที่ป่าละเมาะแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพาผู้ร้องที่ 1 ออกไปหรือแยกไปจากผู้ปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร อันทำให้อำนาจปกครองดูแลของผู้ร้องที่ 2 ที่มีต่อผู้ร้องที่ 1 ถูกรบกวนหรือกระทบกระเทือน ผู้ร้องที่ 2 ย่อมได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีความผิดพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจาก บิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ดูแล โดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อการอนาจาร ผู้ร้องที่ 2 จึงมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำร้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8403/2561 การที่จำเลยที่ 1 ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายแล้วจุดไฟเผาผู้ตายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยที่ 2 มิได้คบคิดนัดหมายกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องการแบ่งหน้าที่กันทำ จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่พฤติการณ์ที่ผู้ตายโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า ผู้ตายให้จำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายที่บ้าน จำเลยที่ 1 บอกให้จำเลยที่ 2 แจ้งให้ผู้ตายไปพบยังสถานที่เกิดเหตุโดยไม่ต้องบอกว่า จำเลยที่ 1 จะเดินทางไปด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายซึ่งมีการคิดไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว และจำเลยที่ 2 เพียงแต่มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อจะทำให้ผู้ตายได้รับอันตรายแก่กายหรืออันตรายสาหัสเท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 เลือกที่จะทำร้ายผู้ตายโดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินราดใส่ผู้ตายและจุดไฟเผาผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนือเจตนาของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายนั้นด้วย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่เป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคสอง ประกอบมาตรา 289 (4) อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามที่โจทก์ฟ้องและเป็นความผิดได้ในตัว ศาลฎีกาสามารถลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่ได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8387/2561 ในชั้นร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกา โจทก์ได้ส่งสำเนาคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลและสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยและจำเลยได้รับเอกสารดังกล่าวแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาทั้งหมด ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้แล้วออกหมายนัดแจ้งให้จำเลยทราบกับกำหนดให้จำเลยแก้ฎีกาของโจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมายนัด ไม่มีเหตุที่จะต้องสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยซ้ำอีก การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์นำส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยแก้ในครั้งหลังนี้อีกจึงเป็นการผิดหลง และเป็นเหตุให้โจทก์สำคัญผิดว่าการที่โจทก์ได้ส่งสำเนาฎีกาให้แก่จำเลยไว้ดังกล่าวข้างต้น เป็นการที่โจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว ไม่จำต้องปฏิบัติซ้ำอีก จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์จงใจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีในการนำส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยตามคำสั่งศาลชั้นต้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8385/2561 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทเนื้อที่ 14 ไร่ 35 ตารางวา ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านและฟ้องแย้งว่าผู้ร้องไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้ยกคำร้องและพิพากษาให้ผู้ร้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินของผู้คัดค้าน ส่วนผู้ร้องสอดทั้งสิบห้ายื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามอ้างว่าผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ที่ดินมีเนื้อที่เพียง 2 งานเศษ ส่วนที่เหลือผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าและชาวบ้านร่วมกันเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้พิพากษาให้ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้ากล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่เกินเนื้อที่ 2 งานเศษ ที่ผู้ร้องอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์เป็นที่ดินที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ จึงมีข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านและเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าโต้แย้งกรรมสิทธิ์ทั้งกับผู้ร้องและผู้คัดค้านในที่ดินส่วนดังกล่าว ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท จำเป็นต้องเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตน ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าจึงร้องสอดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แต่เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยผู้ร้องตกลงรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมทั้งบริวารออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องยอมออกจากที่ดินพิพาทแล้ว และศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอม หากศาลฎีกาจะมีคำสั่งย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าเข้ามาเป็นคู่ความในคดี แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาใหม่ทั้งหมดก็จะทำให้คดีต้องล่าช้าไม่เป็นประโยชน์แก่คู่กรณี เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเห็นสมควรให้ผู้ร้องสอดทั้งสิบห้าไปฟ้องเป็นคดีใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8382/2561 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ร่วมทำสัญญาจ้างกับกรมทางหลวง โดยให้บริการรับเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ แต่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่สามารถส่งมอบงานตามส่วนที่ได้รับมอบหมายให้โจทก์เพื่อส่งมอบให้กรมทางหลวงได้ภายในระยะเวลาตามสัญญา ทำให้โจทก์เสียหายต้องชำระค่าปรับ ไม่สามารถรับค่าจ้างที่เหลือ รวมทั้งเงินประกันผลงาน ข้อหาตามฟ้องโจทก์จึงเป็นเรื่องผิดสัญญา ฎีกาของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นส่วนตัวในฐานละเมิด โดยอ้างว่า จำเลยที่ 2 ใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8370/2561 ป.พ.พ. มาตรา 303 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องนั้นท่านว่าพึ่งโอนกันได้ เว้นแต่สภาพแห่งสิทธินั้นเอง จะไม่เปิดช่องให้โอนกันได้" และในวรรคสอง บัญญัติว่า "ความที่กล่าวมานี้ย่อมไม่ใช้บังคับ หากคู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น การแสดงเจตนาเช่นว่านี้ท่านห้ามมิให้ยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริต" เมื่อตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการยื่นซองเสนอราคาทรัพย์สินพร้อมขายของบริษัท บ. ข้อ 5.3 ได้ระบุไว้ว่า บริษัท บ. จะโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่จะซื้อขายให้กับผู้ชนะการเสนอราคาในนามของผู้ชนะการเสนอราคา (ผู้จะซื้อ) เท่านั้น และในข้อ 6.3 ยังระบุไว้ด้วยว่า ผู้เสนอราคาจะต้องเป็นบุคคลเดียวกันกับผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายหลัง และจำเลยที่ 1 ได้ลงนามรับทราบหลักเกณฑ์ ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นเรื่องที่คู่กรณีได้แสดงเจตนาเป็นอย่างอื่น กล่าวคือ บริษัท บ. ได้มีการแสดงเจตนาไว้ในเอกสารดังกล่าว จึงจะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้มีชื่อในการชนะประมูลซื้อทรัพย์เท่านั้น จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ปฏิเสธ คงอ้างแต่เพียงว่าสัญญาจะซื้อจะขายไม่ได้ระบุไว้เท่านั้น ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะยกข้อต่อสู้เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกไม่ได้ ถ้าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำการโดยสุจริต
การที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยังค้างชำระเงินบริษัท บ. อีกเป็นจำนวนมาก โดยวิญญูชนทั่วไปถ้ายังไม่ได้รับชำระเงินครบถ้วนและยังค้างชำระเงินค่าทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จะไม่มีผู้ใดส่งมอบการครอบครองทรัพย์สินให้ อีกทั้งจำเลยที่ 1 แจ้งให้บริษัท บ. โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 บริษัท บ. ไม่ตกลงด้วยเพราะขัดกับข้อตกลง จึงฟังได้ว่าบริษัท บ. ไม่ได้ส่งมอบการครอบครองที่พิพาทให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังนั้น การที่โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้ง 10 โฉนดกับบริษัท บ. จึงกระทำไปโดยสุจริต จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าโอนสิทธิเรียกร้องให้กับจำเลยที่ 2 และแจ้งการโอนไปยังบริษัท บ. แล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์แต่อย่างใด
เมื่อบริษัท บ. ฟ้องจำเลยทั้งหกในข้อหาบุกรุกต่อศาลชั้นต้น แม้ศาลชั้นต้นจะวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งหก ไม่มีความผิดฐานบุกรุก แต่ในคำพิพากษาได้วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังคงทำหน้าที่เฝ้าดูแลอาคารต่อไประหว่างยังมีข้อพิพาท และศาลยังไม่มีคำพิพากษา จึงเป็นการเข้าครอบครองที่พิพาทโดยสุจริต เมื่อภายหลังศาลมีคำพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 กับพวกออกจากอาคารโรงงานซึ่งตั้งอยู่บนที่พิพาทแล้ว จำเลยที่ 1 ได้สั่งให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ออกจากอาคารทันที การกระทำของจำเลย 1 และ ที่ 2 ในคดีดังกล่าวจึงขาดเจตนาบุกรุก ซึ่งตามคำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้ระบุเลยว่า จำเลยทั้งหกมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาคำพิพากษาในคดีอื่นที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฟ้องร้องบริษัท บ. และโจทก์ซึ่งยังไม่ถึงที่สุดมาวินิจฉัยในคดีนี้ว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นเพราะประเด็นข้อพิพาทในคดีอื่นที่เป็นประเด็นเดียวกับคดีนี้ คือโจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ และจำเลยทั้งหกมีสิทธิโดยชอบที่จะอยู่ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นยกข้อเท็จจริงในเรื่องที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจะซื้อจะขายและจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจเพิกถอนนิติกรรมในคดีอื่น มาประกอบการวินิจฉัยคดีนี้ในเรื่องอำนาจฟ้องโจทก์ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8343/2561 คดีที่มีคำขอท้ายฟ้องให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย และพิพากษาถึงส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษในคดีดังกล่าวว่า คดีที่ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลมีคำพิพากษาภายหลัง จึงนับโทษต่อให้ไม่ได้ ตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แนบท้ายฎีกาของโจทก์ จำเลยไม่ได้แก้ฎีกาว่าสำเนาคำพิพากษาดังกล่าวไม่ถูกต้อง จึงแสดงให้เห็นว่าการพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวมีขึ้นก่อนคดีนี้ ระหว่างการพิจารณาคดีนี้ของศาลอุทธรณ์จึงปรากฏข้อเท็จจริงต่อศาลอุทธรณ์แล้วว่าคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว จึงต้องนับโทษคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นับโทษต่อให้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8311/2561 การที่จำเลยลงทุนตกแต่งปรับปรุงอาคารพิพาท แม้เป็นเงินจำนวนมากก็เป็นการดำเนินการเพื่อให้การประกอบกิจการร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ของจำเลย เป็นไปตามเงื่อนไขที่เจ้าของกิจการกำหนดอันเป็นประโยชน์ของจำเลยเอง ประกอบกับสัญญาเช่ามีข้อตกลงด้วยว่า "การให้เช่าพื้นที่ต่อไปเมื่อหมดอายุสัญญานี้จะมีหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของผู้ให้เช่า" แสดงว่า เมื่อครบกำหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่า จำเลยจะมีโอกาสเช่าอาคารพิพาทต่อเป็นปีที่ 4 และปีที่ 5 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพอใจของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว หากโจทก์ไม่ยินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลย สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลงทันทีอันมิใช่ลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทเป็นเวลา 5 ปี จึงรับฟังไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8308/2561 ว. เป็นมารดาของผู้คัดค้านทั้งสามย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ ซึ่งทรัพย์สินหมายความรวมถึงสิทธิเรียกร้องอันเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้ บทบัญญัติมาตรา 1574 มีเจตนารมณ์คุ้มครองประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์โดยให้ศาลกำกับดูแล การฝ่าฝืนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลก่อนก็ไม่ได้ตัดอำนาจทำนิติกรรมแทนของผู้ใช้อำนาจปกครอง ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะกรรม คงมีผลเพียงไม่ผูกพันบุตรผู้เยาว์ที่กฎหมายมุ่งคุ้มครอง ผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิกล่าวอ้างเพื่อตัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจปกครอง การที่ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ร่วมกันชำระเงิน 1,350,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่จำเลยร่วมทั้งสอง หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ไม่ชำระให้บังคับเอาจากโจทก์เป็นเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และมีคำวินิจฉัยด้วยว่า ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างทำให้จำเลยร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องรับผิดในมูลละเมิด ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. รับผิดในมูลสัญญาซื้อขาย แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยร่วมทั้งสองจำนวนเดียวกัน แต่ก็มิใช่ร่วมกันทำให้จำเลยร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย หนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ต้องรับผิดต่อจำเลยร่วมทั้งสองและหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยร่วมทั้งสองมิใช่หนี้ร่วม แต่เป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระได้ เพียงแต่ศาลฎีกาจัดลำดับการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ร่วมกันชำระแก่โจทก์ก่อน หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ไม่ชำระก็ให้บังคับเอาจากโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ไม่ชำระและโจทก์ได้นำเงินจำนวนที่ต้องรับผิดต่อจำเลยร่วมทั้งสองตามคำพิพากษาศาลฎีกาไปวางศาลเป็นการชำระหนี้แก่จำเลยร่วมทั้งสอง การชำระหนี้แก่จำเลยร่วมทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่ผูกพันโจทก์ ไม่ใช่การชำระหนี้เพื่อหรือแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของจำเลยร่วมทั้งสองมาบังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ชำระหนี้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8261/2561 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 กับร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด โดยไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 และข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8257/2561 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม), 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนันเมล็ดฟักทองกับจำเลยและพวกเพื่อหลอกเอาเงินจาก ป. ซึ่งเป็นพวกของจำเลย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงนำเงิน 5,330,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 6 บาท พร้อมพระเครื่องหลวงพ่อโสธรเลี่ยมทอง 1 องค์ ราคา 300,000 บาท มาร่วมลงทุน โดยจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาที่จะเล่นการพนัน ไม่มีเจตนาที่จะชักชวนผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนันและไม่ได้ร่วมกันเล่นการพนันดังกล่าว แต่จำเลยกับพวกมีเจตนาหลอกเอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายมาแต่ต้น โดยใช้วิธีการวางแผนเป็นกระบวนการโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนัน และให้ ป. เป็นผู้เล่นเพื่อหลอกเอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายให้แนบเนียน ทั้งที่ผู้เสียหายไม่มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยมาแต่ต้น การที่ผู้เสียหายมอบเงินและทรัพย์สินให้แก่จำเลยกับพวกเพื่อเล่นการพนันเป็นการตกหลุมพรางที่วางไว้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงอันจะเป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
เนื่องจากความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม), 83 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความจึงอาจต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8195/2561 คดีแรก จ.สามี น. ฟ้องเรียกทรัพย์สินรวมทั้งที่ดินพิพาทคืนจาก ส. กับพวกซึ่งเป็นตัวแทน คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดชั้นอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายทรัพย์สินเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่ จ. ได้มาระหว่างเป็นคนต่างด้าวไปตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 และ 96 โดยให้ จ. ได้รับเงินจากการจำหน่ายที่ดินแทนการได้กรรมสิทธิ์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา อันเป็นการพิพากษากล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้ตามคำพิพากษาเกี่ยวกับการคืนทรัพย์สินในกรณีเป็นที่ดินแก่คนต่างด้าวที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการบังคับให้จัดการจำหน่ายแทนการได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาทได้มาในระหว่างที่ จ. เป็นคนต่างด้าว และได้ความในชั้นพิจารณาว่า น. ได้สัญชาติไทยหลัง จ. แสดงว่าในระหว่างที่ได้ที่ดินพิพาทมานั้น น. ก็เป็นคนต่างด้าวเช่นเดียวกับ จ. สามี ดังนั้นสิทธิของ น. ในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวมที่ตกทอดแก่ทายาทก็คือเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาท หาใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ฉะนั้น คดีที่สองที่ ส. เป็นโจทก์ฟ้องพี่น้องห้าคนเป็นจำเลย ขอให้บังคับพี่น้องทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของ น. มารดาให้แก่ ส. 1 ใน 7 ส่วน และคดีถึงที่สุดในชั้นฎีกาพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของ น. ให้แก่ ส. 1 ใน 7 ส่วน นั้น เป็นการพิพากษาบังคับให้ปฏิบัติการชำระหนี้ในการแบ่งทรัพย์มรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในส่วนของ น. ซึ่งก็ย่อมต้องหมายถึงเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั่นเอง ทั้งประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องทั้งสองคดีก็แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ คำพิพากษาหาได้ขัดกันไม่
การที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนหนึ่งที่ถูกฟ้องในคดีแรก ไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของ ว. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์อีกคนในที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทน จ. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแรก ย่อมมีสิทธิถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาดำเนินการจำหน่ายที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลได้โดยชอบ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำสัญญาขายหรือจำหน่ายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 นำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 4 ย่อมชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนได้
คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองที่ดินพิพาท เป็นการเรียกร้องให้ได้ที่ดินพิพาทคืนทั้งสามแปลง ไม่ใช่เฉพาะส่วนของโจทก์ ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์เต็มตามราคาที่ดินพิพาท มิใช่ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2561 แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกวางแผนที่จะเข้าไปลักทรัพย์ภายในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการวางแผนแบ่งหน้าที่รับมากระทำเป็นส่วน ๆ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือให้พ้นจากการจับกุมอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์ รวมไปถึงการทำร้ายร่างกายและปล้นเงินของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงงานของผู้เสียหายที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้เพียงว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เพียงขับรถยนต์ไปส่งจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกที่โรงงานของผู้เสียหายที่ 1 แล้วขับรถไปรอที่ปั๊มน้ำมัน เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกลักทรัพย์ได้แล้ว พวกของจำเลยที่ 1 และที่ 3 โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกพร้อมทรัพย์ที่ลักมา ซึ่งเป็นการเข้ามาร่วมกระทำผิดด้วยเมื่อมีการตัดสายไฟแล้วขนย้ายเคลื่อนที่อันเป็นการลักทรัพย์สำเร็จเท่านั้น ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ที่อื่นห่างไกลจากสถานที่เกิดเหตุจึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายที่ 2 ด้วย จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม และหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นตามฟ้อง แต่มีความผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 ในเวลากลางคืนโดยร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 86 อันเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองและรวมอยู่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามที่โจทก์ฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย และจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 3,900 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 แต่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คืนเงิน 280,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8188/2561 จำเลยยื่นฎีกาและมีเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นสำเนาบันทึกการเจรจาตกลงกันระหว่าง บ. บุตรของจำเลยกับผู้เสียหาย และสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน มีข้อความทำนองเดียวกันระบุว่า บ. นำค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด 40,000 บาท ชำระให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายยอมรับเงินจำนวนดังกล่าวจาก บ. แล้วและไม่เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยอีกต่อไปทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งมีความหมายว่าไม่ติดใจเอาความแก่จำเลย ท้ายข้อความดังกล่าวมีผู้เสียหายลงลายมือชื่อไว้ ซึ่งโจทก์ได้รับสำเนาฎีกาแล้วมิได้แก้ฎีกาหรือแถลงคัดค้านว่าเอกสารดังกล่าวมิใช่เอกสารที่ผู้เสียหายทำมอบให้แก่ฝ่ายจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงต้องฟังว่าเป็นเอกสารที่ผู้เสียหายทำขึ้นจริงตามที่จำเลยกล่าวอ้างและข้อความในเอกสารดังกล่าวก็ถือได้ว่าผู้เสียหายและจำเลยได้ตกลงยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 341 และ 352 วรรคแรก เป็นความผิดอันยอมความกันได้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8170/2561 แม้ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น จะมีมูลกรณีสืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าฉบับเดียวกัน และโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานเดียวกันก็ตาม แต่การทำงานตามสัญญาจ้างฉบับเดียวกัน แม้ต้องกระทำต่อเนื่องกันไป ตามสัญญาหากลักษณะของความผิดตามฟ้องเป็นการกระทำที่มีเจตนาแตกต่างกันและต่างขั้นตอนกัน ซึ่งสามารถแยกการกระทำแต่ละอันออกต่างหากจากกันได้ ทั้งเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกรรมกันก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91 ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 ที่ 8 และที่ 9 นำสืบรับกันได้ความว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าของโจทก์ตามสัญญาจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้า มีการกำหนดแบบการก่อสร้างและประเภทกับขอบเขตของงานที่จำเลยที่ 1 จะต้องกระทำและส่งมอบงานให้แก่โจทก์ตามสัญญาไว้อย่างชัดแจ้งโดยจำเลยที่ 1 จะจัดทำรายละเอียดความคืบหน้าของงานและใบส่งมอบงาน ส่งมอบให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ ทุกเดือนไปและโจทก์จะจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ตามผลงานที่ทำได้จริงในแต่ละงวดดังกล่าวภายใต้การควบคุมงานและการตรวจสอบความถูกต้องของงานกับเอกสารที่เกี่ยวข้องของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ซึ่งโจทก์มอบหมายให้เป็นคณะกรรมการตรวจรับและผู้ควบคุมงานจ้าง ส่วนการทำงานเกี่ยวกับการทำหม้อไอน้ำเพิ่มเติมตามฟ้องโจทก์ในคดีนี้ก็เป็นการทำงานในส่วนที่ที่ประชุมบริษัทโจทก์มีมติให้ทำเพิ่มเติมขึ้นเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้ดีขึ้น โดยโจทก์ตกลงจะช่วยเหลือเกี่ยวกับราคาที่เพิ่มจากที่ประมาณการไว้ 14,400,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าในการทำงานส่วนที่เกี่ยวกับการทำหม้อไอน้ำเพิ่มเติมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยการควบคุมงานกับการตรวจสอบความถูกต้องของงานดังกล่าวของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ตามฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นการกระทำต่างขั้นตอนกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น อันเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องกระทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามสัญญาจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้า และส่งมอบงานที่จำเลยที่ 1 ทำคืบหน้าไปในแต่ละเดือนให้แก่โจทก์เป็นงวด ๆ ทุกเดือนภายใต้การควบคุมงานและการตรวจสอบความถูกต้องของงานของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 9 ซึ่งสามารถแยกการทำงานในแต่ละคดีดังกล่าวต่างหากจากกันได้ การกระทำของจำเลยทั้งเก้าในคดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาแตกต่างกันและมุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกรรมกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ตามฟ้องโจทก์ คดีนี้จึงเป็นความผิดต่างกรรมกันกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4510/2556 และ 2355/2557 ของศาลชั้นต้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องคดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าวและพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 7 ถึงที่ 9 กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8155/2561 ตามคำขออนุญาตและใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน ไม่ปรากฏว่าในการจัดสรรที่ดินเปล่าซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทของโจทก์ มีวัตถุประสงค์ให้ก่อสร้างอาคารไม่เกิน 2 ชั้น เพื่อใช้เป็นบ้านพักอาศัย ส่วนการก่อสร้างและต่อเติมสิ่งก่อสร้างตามระเบียบนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจำเลยที่ 1 ซึ่งระบุให้เป็นไปตามข้อบังคับในสัญญาดำเนินการนั้น ในสัญญาดำเนินการก็เป็นเพียงแบบข้อตกลงในการก่อสร้างบ้านพักอาศัย 2 ชั้น ไม่ได้ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับและระเบียบห้ามมิให้ก่อสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นบ้านพักอาศัยและสำนักงานประกอบธุรกิจ การที่จำเลยที่ 1 ระงับยับยั้งขัดขวางการก่อสร้างอาคารดังกล่าวในที่ดินพิพาท ระงับการใช้ถนนของหมู่บ้านในการขนคนงานและอุปกรณ์เข้าไปยังที่ดินพิพาท ย่อมเป็นการโต้แย้งการใช้กรรมสิทธิ์ของโจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินโดยปราศจากมูลอันจะอ้างตามกฎหมาย โจทก์จึงมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8154/2561 การที่ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ร่วมกันชำระเงิน 1,350,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่จำเลยร่วมทั้งสอง หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ไม่ชำระให้บังคับเอาจากโจทก์เป็นเงิน 450,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และมีคำวินิจฉัยด้วยว่า ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างทำให้จำเลยร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องรับผิดในมูลละเมิด ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. รับผิดในมูลสัญญาซื้อขาย แม้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยร่วมทั้งสองจำนวนเดียวกัน แต่ก็มิใช่ร่วมกันทำให้จำเลยร่วมทั้งสองได้รับความเสียหาย หนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ต้องรับผิดต่อจำเลยร่วมทั้งสองและหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยร่วมทั้งสองมิใช่หนี้ร่วม แต่เป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระได้ เพียงแต่ศาลฎีกาจัดลำดับการชำระหนี้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ร่วมกันชำระแก่โจทก์ก่อน หากจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ไม่ชำระก็ให้บังคับเอาจากโจทก์
เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ไม่ชำระและโจทก์ได้นำเงินจำนวนที่ต้องรับผิดต่อจำเลยร่วมทั้งสองตามคำพิพากษาศาลฎีกาไปวางศาลเป็นการชำระหนี้แก่จำเลยร่วมทั้งสอง การชำระหนี้แก่จำเลยร่วมทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาในส่วนที่ผูกพันโจทก์ ไม่ใช่การชำระหนี้เพื่อหรือแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของจำเลยร่วมทั้งสองมาบังคับให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ อ. ชำระหนี้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 226 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8141 - 8145/2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่น พยายามฆ่าผู้อื่น ยิงปืนโดยใช่เหตุ และใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 3 และที่ 5 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 3 และที่ 5 ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนในความผิดดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะพิพากษาแก้ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ก็มิใช่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ฆ่าผู้ตาย ความผิดข้อหาดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 5 จึงถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง ส่วนความผิดฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและโดยเปิดเผย จำเลยที่ 3 และที่ 5 ไม่อุทธรณ์ ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่อาจฎีกาได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และพิพากษาว่าเป็นคนละกรรมกับฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ เป็นการแก้บทกำหนดโทษ ปรับบทความผิดและพิพากษาแก้เป็นคนละกรรมกัน เป็นเพียงการพิพากษาแก้ไขเล็กน้อยและยังคงให้จำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 3 และที่ 5 ฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 3 และที่ 5
ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตาม ป.อ. มาตรา 371 และฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ตามมาตรา 376 มีอายุความฟ้องภายใน 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) เมื่อเหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2557 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 12 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2558 ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวจึงขาดอายุความ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวโดยเปิดเผยแม้จะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง ก็มีอำนาจยกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวด้วย เพราะเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225 ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นและฎีกาต้องห้ามตามกฎหมาย และจำเลยที่ 8 มิได้ฎีกา แต่ทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 ร่วมกระทำความผิดอย่างไร ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 มิได้ถืออาวุธปืน พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 2 จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 กระทำความผิดหรือไม่ เห็นสมควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 3 และที่ 8 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ประกอบมาตรา 185 ปัญหาดังกล่าวแม้คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จะต้องห้ามฎีกา และจำเลยที่ 8 ไม่ได้ฎีกา แต่ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 และที่ 8 กระทำความผิดหรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225 และมาตรา 185 ทั้งเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยคดีของจำเลยที่ 3 และที่ 8 ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคหนึ่ง กับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 78 วรรคสาม กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้ในบทมาตราเดียวกัน เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 12 ร่วมกันมีอาวุธปืนและใช้อาวุธปืนดังกล่าวเพื่อความประสงค์อันเดียวกันและร่วมกันใช้อาวุธปืนต่อเนื่องจากการร่วมกันมีอาวุธปืน ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้จึงเป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 และเป็นกรรมเดียวกับฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น และฐานร่วมกันยิงปืนโดยใช่เหตุ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้เป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และแม้ศาลฎีกาจะไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 5 เนื่องจากต้องห้ามฎีกาตามกฎหมายและอนุญาตให้จำเลยที่ 9 ถอนฎีกาก็ตาม แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปตลอดถึงจำเลยที่ 5 และที่ 9 ได้ด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 213 และ 225
เมื่อจำเลยที่ 9 ยื่นฎีกาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา คดีของจำเลยที่ 9 จึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา การที่จำเลยที่ 9 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา คดีของจำเลยที่ 9 ย่อมเป็นที่สุดนับแต่วันที่ศาลฎีกามีคำสั่งจำหน่ายคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ซึ่งโดยปกติจะย้อนหลังไปถึงวันที่จำเลยที่ 9 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา จึงไม่อาจออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดย้อนหลังไปถึงวันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 9 ฟังตามที่จำเลยที่ 9 ขอได้ ให้ศาลชั้นต้นออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดแก่จำเลยที่ 9 นับแต่วันยื่นคำร้องนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8133/2561 แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองจะถึงที่สุดแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในภายหลังว่า คดีที่ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกเป็นจำเลยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นเหตุให้มีการยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองในคดีนี้ ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 คือผู้คัดค้านที่ 1 ในคดีนี้ ย่อมแสดงว่าผู้คัดค้านที่ 1 มิได้เป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นเหตุให้มีการยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองในคดีนี้แล้ว ทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสองจึงไม่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่ศาลจะสั่งริบได้ ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 อีกต่อไป จึงต้องคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8131/2561 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับจ้างกับ A โดยมีข้อสัญญาระบุว่าจำเลยที่ 1 จะต้องจัดหาหลักทรัพย์ประกันการปฏิบัติงานโดยหนังสือค้ำประกันต้องเป็นแบบไม่มีเงื่อนไขและแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ โดยมีรูปแบบและเนื้อหาตามที่กำหนดและต้องจัดทำโดยธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ได้รับความเห็นชอบเป็นลายลักษณ์อักษรจาก A หนังสือค้ำประกันที่ A กำหนดให้จำเลยที่ 1 จัดหามาให้นั้นต้องมีข้อความสำคัญระบุว่า เมื่อธนาคารที่ออกหนังสือค้ำประกันได้รับหนังสือเรียกร้องจาก A ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันต้องชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทันที อันเป็นการที่ต้องชำระเงินเพียงเพราะได้รับหนังสือเรียกร้องดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่จำต้องตรวจสอบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจริงหรือไม่ เพราะไม่ว่าจะมีข้อโต้แย้งหรือไม่ ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันก็ไม่อาจปฏิเสธการจ่ายเงินดังกล่าวได้เนื่องจากมีข้อความตอนต้นว่า ธนาคารตกลงรับรองและรับประกันต่อ A อย่างไม่มีเงื่อนไขและปราศจากสิทธิในการแก้ต่างหรือฟ้องแย้งใด ไม่ว่าในนามของธนาคารหรือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้อความแสดงถึงการสละสิทธิในการต่อสู้คัดค้านหรือโต้แย้ง และการที่ A กำหนดรายละเอียดของหนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 1 ต้องจัดหามาให้ A โดยธนาคาร ส. สาขาโดฮา สามารถออกหนังสือค้ำประกันที่มีรายละเอียดดังกล่าวได้และจำเลยที่ 1 ทำคำขอให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันโดยมีข้อความที่รับกับข้อความตามหนังสือค้ำประกันที่ A ต้องการดังกล่าว รวมทั้งการที่หนังสือค้ำประกันการปฏิบัติงานที่โจทก์ออกไปตามข้อความที่ A ต้องการ แสดงว่าการที่ผู้ว่าจ้างต้องการหนังสือค้ำประกันที่มีข้อความเช่นนี้และการที่ธนาคาร ส. สาขาโดฮา สามารถออกหนังสือค้ำประกันเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันเป็นปกติของสถาบันการเงินในทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้เจ้าของงานหรือผู้ว่าจ้างได้รับหลักประกันของสถาบันการเงินที่มั่นคง และเรียกร้องให้ชำระเงินได้รวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาผู้รับจ้างปฏิบัติผิดสัญญาได้โดยเร็ว โดยไม่จำต้องเรียกร้องหรือฟ้องร้องเอาแก่ผู้รับจ้างและธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกัน ส่วนปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้างก็สามารถว่ากล่าวกันต่างหากได้ ข้อตกลงนี้แม้จะมีลักษณะที่ธนาคารผู้ออกหนังสือค้ำประกันถูกเรียกร้องให้ชำระเงินได้ง่ายซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องค้ำประกัน แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ห้ามทำข้อตกลงเกี่ยวกับหนังสือค้ำประกันของธนาคารในลักษณะดังกล่าวและไม่เป็นการพ้นวิสัย เมื่อโจทก์จะต้องออกหนังสือค้ำประกันตามคำขอของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์ต้องชำระตามหนังสือค้ำประกันเมื่อได้รับหนังสือเรียกร้องให้ชำระเงินจากธนาคาร ส. ในประเทศไทยโดยไม่มีสิทธิคัดค้านไม่ว่าด้วยประการใด โจทก์จึงกำหนดข้อสัญญาในคำขอของจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ออกหนังสือค้ำประกันที่ระบุถึงการยอมให้โจทก์ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบก่อน และจำเลยที่ 1 สละสิทธิที่จะทักท้วงการจ่ายเงินของโจทก์ ทั้งจะต้องชดใช้เงินที่โจทก์ชำระไปดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยเงื่อนไขในการที่โจทก์ต้องชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันนั้นพิจารณาเฉพาะการได้รับหนังสือเรียกร้องเท่านั้น ไม่ต้องพิจารณาว่าจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเพราะปฏิบัติผิดสัญญาต่อผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างหรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และของจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์จึงเป็นทั้งเจ้าหนี้สามัญผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินทั่วไปของลูกหนี้และเป็นเจ้าหนี้จำนองผู้มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญโดยมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำนองด้วย เมื่อโจทก์ฟ้องโดยใช้สิทธิทั้งสองประการดังกล่าวและมีคำขอท้ายฟ้องว่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วนให้บังคับจำนองที่ดินรวมตลอดถึงทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน อันเป็นการฟ้องและมีคำขอท้ายฟ้องเต็มตามสิทธิที่โจทก์มีอยู่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ในวงเงินจำนองพร้อมดอกเบี้ย และให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าบังคับชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8088/2561เงิน 10,000 บาท ที่จำเลยในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองรับไปจากศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเงินที่ศูนย์การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการจัดสรรมาให้ศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมือง เงินดังกล่าวถือเป็นเงินของทางราชการที่ต้องนำส่งเป็นเงินรายได้ขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองทั้งสิ้น กรณีมิใช่เป็นเงินที่มีผู้อุทิศให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองเป็นการเฉพาะเจาะจงว่าให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองและในฐานะประธานศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองย่อมจะต้องทราบดีว่า จะต้องเก็บรักษาเงินดังกล่าวไว้อย่างไร การที่จำเลยอ้างว่า จำเลยมีความขัดแย้งกับ ส. ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลโนนเมืองจนไม่สามารถจัดการแข่งขันกีฬาได้ ก็มิได้เป็นเหตุให้จำเลยมีหน้าที่หรือจำต้องเก็บรักษาเงินไว้เอง การที่จำเลยเก็บรักษาเงินไว้เองโดยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและไม่เคยแจ้งให้คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมืองทราบ พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเจตนาเบียดบังเงินดังกล่าวเป็นของตนเองโดยทุจริต แม้ต่อมาจำเลยจะคืนเงินดังกล่าวให้แก่คณะกรรมการศูนย์กีฬาตำบลโนนเมือง แต่ก็เป็นเวลาภายหลังจากมีการร้องทุกข์แล้ว จึงหาเป็นเหตุให้รับฟังได้ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาทุจริตเบียดบังเงินดังกล่าวไปเป็นของตนเอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8049/2561 อ. และ พ. ร่วมกันซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยแล้วนำไปเสพและจำหน่ายให้แก่ลูกค้า เมื่อ อ. และ พ. ได้เงินค่าเมทแอมเฟตามีนจากลูกค้าแล้วจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของจำเลยเพื่อชำระค่าเมทแอมเฟตามีน ลักษณะการตกลงกันเพื่อให้มีการขายและส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการคบคิดร่วมกันอันเป็นความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 และข้อเท็จจริงได้ความว่า ในที่สุดได้มีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ อ. และ พ. รับไว้ในครอบครองแล้ว ถือว่าได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันแล้วอันเป็นความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามมาตรา 8 วรรคสอง อีกด้วยเมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับ อ. และ พ. สมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยตกลงกันเพื่อจัดหาลูกค้า ลําเลียง เก็บรักษา ตกลงราคา ซื้อขาย ส่งมอบ และรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีน โดยจำเลยเป็นผู้จัดหาเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด มาส่งมอบให้ อ. นำไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าโดยตกลงว่าจะให้ อ. ชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีนผ่านทางบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยหลังจากนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายให้แก่ลูกค้าได้แล้ว วันที่ 16 ธันวาคม 2558 เวลากลางวัน อ. และ พ. ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่สั่งซื้อมาจากจำเลย 17 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.305 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น จำเลยจึงมีความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปมีเมทแอมเฟตามีน 17 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.305 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเพียงบทเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 90
โจทก์บรรยายฟ้องว่า อ. และ พ. ร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีน 10 เม็ดหรือหน่วยการใช้น้ำหนัก 0.970 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.196 กรัม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยนำมาส่งมอบให้ไปจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 2,000 บาท นั้น แต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ อ. และ พ. อันเป็นการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนระหว่างจำเลยกับ อ. และ พ. ด้วยกันเอง ไม่เกี่ยวกับสายลับ ทั้งทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏความเชื่อมโยงว่าจำเลยมีส่วนร่วมรู้เห็นในการที่ อ. และ พ. ร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อแต่อย่างใด ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ศาลต้องยกฟ้องในความผิดดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและได้มีการกระทำความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8036/2561 โจทก์ยื่นฟ้องในตอนแรกเป็นคำฟ้องเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ และศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้พิจารณาโดยชอบแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 ทวิ และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 18 ต่อมาโจทก์แก้ไขฟ้องเพิ่มเติมข้อหาละเมิดอีกหนึ่งข้อ โดยไม่ได้ขอให้บังคับโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์อีก ถือว่าเป็นกรณีที่มีเหตุเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพฤติการณ์อันเกี่ยวด้วยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตอำนาจศาลเหนือคดีนั้น การขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องดังกล่าวเกิดจากจำเลยประมูลขายอสังหาริมทรัพย์พิพาทแก่บุคคลภายนอกซึ่งต้องมีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันในท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ผู้เกี่ยวข้องและพยานหลักฐานส่วนหนึ่งที่เกี่ยวด้วยการโอนอสังหาริมทรัพย์ย่อมอยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ทั้งคู่ความก็ไม่ได้โต้แย้งกันในเรื่องนี้ตั้งแต่แรก และไม่ปรากฏเหตุว่าจะทำให้คู่ความและผู้เกี่ยวข้องกับคดีไม่ได้รับความสะดวก หรือทำให้การบริหารจัดการคดีของศาลชั้นต้นไม่เป็นไปโดยถูกต้อง รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมไม่ตัดอำนาจของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องคดีไว้แล้วที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (2) ทั้งศาลฎีกาได้พิพากษาให้ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องที่ขอแก้ไขเพิ่มเติมไว้พิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดรวมกับคำฟ้องเดิมของโจทก์ต่อไปแล้ว การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเรื่องเขตอำนาจศาลมาพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยเหตุที่โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยสั่งค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ไม่ชัดเจนว่าเป็นพับในชั้นไหนอย่างไร ศาลฎีกาเห็นสมควรสั่งใหม่ให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องชัดเจน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8034/2561 ตามฎีกาของจำเลยยืนยันว่า การขายทอดตลาดที่ดินและที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีนี้และที่ยึดไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 เป็นการขายทั้งโครงการจัดสรรของจำเลย และปรากฏในอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลย ที่ดินในโครงการถูกโอนขายไปยังผู้ซื้อบางส่วนแล้ว โจทก์จึงยึดได้เฉพาะที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ยังไม่ได้โอนขายไปเท่านั้น และเป็นการยึด 2 คดี คือ คดีนี้ยึดที่ดิน 20 แปลง คดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ยึดที่ดิน 60 แปลง ข้อเท็จจริงจากโจทก์และจำเลยดังกล่าวจึงตรงกันว่า ที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ยังไม่ได้โอนขายถูกยึดไว้ในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ของศาลชั้นต้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดที่ดินในโครงการจัดสรรของจำเลยที่ถูกยึดไว้ในคดีนี้และที่ถูกยึดไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ ย. 19/2550 ของศาลชั้นต้นโดยจะขายรวมกันไป จึงเป็นการขายที่ดินที่ยังเหลืออยู่ทั้งหมดในโครงการจัดสรรของจำเลยในคราวเดียวกัน โดยไม่จำต้องเป็นการขายที่ดินครบถ้วนทุกแปลงเต็มจำนวนที่ดินแปลงย่อยที่ขออนุญาตจัดสรรที่ดินไว้เท่านั้น แต่กรณีเช่นนี้ก็ถือได้ว่าเป็นการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการเช่นกัน อันมีผลให้ผู้ซื้อจะต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินและรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 41 วรรคสี่ แต่การรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินดังกล่าว เป็นกรณีที่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทั้งโครงการได้จากการขายทอดตลาดจะต้องดำเนินการภายหลังจากเป็นผู้ประมูลซื้อจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อกับคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง
นอกจากนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 8918 และ 8919 ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและสวนสาธารณะของโครงการจัดสรรดังกล่าว ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการขายที่ดินจัดสรรทั้งโครงการด้วย ซึ่งเมื่อผู้ซื้อต้องรับโอนใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินก็ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ผู้จัดสรรที่ดินมีต่อผู้ซื้อที่ดินจัดสรร กรณีเช่นนี้ จึงไม่ใช่การก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 33 ชอบที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวรวมกันไปกับที่ดินแปลงอื่นทั้งหมดอันเป็นการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรทั้งโครงการต่อไป ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 21/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8013/2561 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในภายหลังด้วย ดังนั้น ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้นที่โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ แต่ในส่วนที่เป็นต้นเงินกู้นั้นโจทก์ยังคงมีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้เอกสารปลอมหลอกลวงโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อยอมให้จำเลยที่ 2 กู้ยืมโดยมอบเงินให้ไป การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง และโจทก์ย่อมเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าวนี้ด้วย
สำหรับจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และโจทก์รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 จะนำเงินไปปล่อยกู้และเรียกเอาผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยในอัตราเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดอันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่โจทก์ฟ้อง แสดงให้เห็นว่าโจทก์เจตนาทุจริตมุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์อันเกิดจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 นำเงินที่กู้ยืมดังกล่าวไปปล่อยกู้โดยเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ก็ตาม ถือว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7998/2561 แม้ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกในสาธารณรัฐคอสตาริการ่วมกันกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำในการนำโคคาอีนเข้ามาในประเทศไทย โดยส่งพัสดุภัณฑ์ทางไปรษณีย์อันเป็นการกระทำในขั้นตอนสุดท้ายแล้วก็ตาม แต่โคคาอีนดังกล่าวถูกตรวจยึดไว้ได้ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน ผลจากการกระทำของจำเลยกับพวกถือว่าสิ้นสุดลงแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงไม่ได้เกิดขึ้นอย่างสำเร็จสมบูรณ์ในประเทศไทยตามเจตนาของจำเลยกับพวก กรณีเป็นการลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล จึงเป็นการพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 80 เท่านั้น การที่ต่อมามีการนำโคคาอีนจากประเทศสหรัฐอเมริกาเข้ามาในประเทศไทยเป็นเรื่องภายหลังที่พบการกระทำผิดและตรวจยึดโคคาอีนดังกล่าวได้แล้ว จึงมีการร่วมมือกันระหว่างทางราชการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศฝ่ายประเทศสหรัฐอเมริกาและฝ่ายประเทศไทยเพื่อสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้ร่วมกระทำผิดที่อยู่ในประเทศไทยต่อไป ไม่ได้เป็นผลลำพังจากการกระทำของจำเลยกับพวก เมื่อข้อเท็จจริงเป็นดังกล่าวการกระทำในส่วนนี้เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดเท่านั้น แต่ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 ที่โจทก์ฟ้องขอมาด้วยบัญญัติว่า "ผู้ใดพยายามกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ" จึงเป็นเหตุให้จำเลยต้องรับโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จแล้ว สำหรับฐานร่วมกันพยายามนำโคคาอีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานร่วมกันมีโคคาอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันพยายามนำโคคาอีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตาม ป.อ. มาตรา 90 ส่วนที่จำเลยขอให้ยกฟ้องมาในคำแก้ฎีกานั้นไม่อาจทำได้โดยไม่ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาพร้อมฎีกาแล้วได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา จึงวินิจฉัยให้ไม่ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7997/2561 ความผิดฐานเป็นอั้งยี่เป็นความผิดสำเร็จเมื่อได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นความผิดกรรมหนึ่ง ส่วนความผิดฐานเป็นซ่องโจร เป็นความผิดสำเร็จเมื่อมีการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 ของประมวลกฎหมายอาญา และเมื่อผู้กระทำความผิดได้สะสมกำลังพล หรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย หรือการกระทำอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/2 (2) จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกมีเจตนาเดียวกันในการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ เพื่อก่อการร้าย จึงเป็นความผิดกรรมเดียวตาม ป.อ. มาตรา 90 ซึ่งต้องลงโทษบทหนักฐานร่วมกันสะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการหรือสมคบกันเพื่อก่อการร้าย ซึ่งเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกาขอให้ลงโทษให้ถูกต้อง จึงไม่อาจแก้ไขเรียงกระทงลงโทษในส่วนนี้ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 คงปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7994/2561 เมื่องานที่โจทก์ทำให้จำเลยชำรุดบกพร่อง โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยชำระหนี้นั้น ถูกต้องแล้ว แต่ศาลชั้นต้นยังคงต้องวินิจฉัยให้จำเลยชำระค่าการงานที่ได้ทำให้โจทก์อีก เมื่อศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในส่วนนี้จึงเป็นการไม่ชอบ กรณีจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) แม้โจทก์ไม่อุทธรณ์ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7983/2561 สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาททั้งสิบระหว่างโจทก์กับจำเลย ข้อ 3.2 ระบุว่า ในกรณีที่อาคารชุดยังดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ต่อมาเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ปรากฏว่ามีเนื้อที่ห้องชุดเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากจำนวนที่ระบุในสัญญา คู่สัญญาตกลงคิดราคาห้องชุดตามส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงในราคาต่อหน่วยตามที่กำหนดในข้อ 3.1 และให้นำราคาห้องชุดส่วนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงไปเพิ่มหรือลดลงจากราคาห้องชุดตามข้อ 3.1 และจำนวนเงินที่ต้องชำระตามข้อ 4.2 ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นการระบุไว้เป็นการทั่วไป ไม่ได้ยกเว้นบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 466 ไว้โดยชัดแจ้งว่าผู้ซื้อจะไม่ยกเรื่องเนื้อที่น้อยหรือมากกว่าที่ระบุในสัญญาตั้งแต่ร้อยละห้าขึ้นไปเป็นข้ออ้างบอกปัดไม่ยอมรับ ไม่ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวยกเว้นไม่ให้นำมาตรา 466 มาใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับตามมาตรา 466 ดังนั้น เมื่อเนื้อที่ห้องชุดพิพาททั้งสิบมีเนื้อที่มากไปกว่าที่ระบุในสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะบอกปัดไม่รับเสียหรือจะรับเอาไว้และใช้ราคาตามส่วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7957/2561 โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลชั้นต้นฟังว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ย่อมมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่น โจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์ คงมีแต่โจทก์ที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการร่วม ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ยังไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดและเห็นพ้องด้วยที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุน เมื่อโจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ส่วนคดีโจทก์ร่วมสำหรับจำเลยที่ 2 เมื่อโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 จึงยุติลง ที่โจทก์ร่วมฎีกาเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการร่วม อันเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7947/2561 ณ. ให้ ท. เก็บรักษาเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อรอคำสั่งให้นำไปส่งต่อ จำเลยเป็นคนรักของ ณ. และนั่งรถมากับ ณ. เวลามาส่งเมทแอมเฟตามีนให้ ท. บ่อยครั้ง ว. และ ช. ไปรับเมทแอมเฟตามีนจาก ท. ไปส่งให้ลูกค้าตามคำสั่งของ ณ. ผู้ว่าจ้าง และรับเมทแอมเฟตามีนบางส่วนไปจำหน่ายเอง ณ. สั่งให้ ช. โอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนเข้าบัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีของจำเลย ในแต่ละวันมีการนำเงินเข้าฝากหลายจำนวนแล้วถอนเงินออกจากบัญชีโดยตลอด จำเลยมอบบัตรเอทีเอ็มให้ ณ. นำไปใช้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยรู้เห็นเป็นใจให้การสนับสนุนหรือช่วยเหลือ ณ. ในการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของ ว. และ ช. โดยใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวชำระเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ณ. อันเป็นการสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7900/2561 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรลำดับที่ 4 และที่ 5 เนื่องจากจำเลยไม่มีสิทธิยื่นใบเบิกเงินและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าว เพราะขัดต่อ พ.ร.ฎ.เงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตร พ.ศ.2523 มาตรา 7 ประกอบมาตรา 6 ซึ่งการที่จำเลยใช้สิทธิเบิกและรับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรดังกล่าวเป็นผลจากนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐกับจำเลยซึ่งเป็นข้าราชการของหน่วยงานในสังกัดของโจทก์ มิใช่นิติสัมพันธ์ในทางแพ่ง และเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไปดังกล่าวก็มิใช่กรณีโจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ให้แก่จำเลย เมื่อจำเลยไม่แจ้งให้เจ้าหน้าที่โจทก์ที่มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินดังกล่าวทราบว่าจำเลยเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรเกินสามคน ทำให้เจ้าหน้าที่โจทก์จ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการศึกษาบุตรของจำเลยลำดับที่ 4 และที่ 5 เกินกว่าสิทธิที่จะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่จำเลยได้รับเงินไปยึดถือโดยไม่ชอบ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความ การเรียกร้องเงินที่จำเลยได้รับไปโดยไม่ชอบดังกล่าว หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ฟ้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในฐานลาภมิควรได้ซึ่งต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติว่าด้วยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7984/2561 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยคืนเงินเบี้ยหวัด เงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ เงินบำนาญ และเงินบำเหน็จดำรงชีพที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยไป โดยจำเลยไม่มีสิทธิจะรับเงินดังกล่าว เนื่องจากจำเลยปิดบังไม่ให้โจทก์ทราบว่าจำเลยกลับเข้ารับราชการ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2543 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้อง จึงเป็นกรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดจ่ายให้แก่จำเลยโดยสำคัญผิดว่าจำเลยมีสิทธิได้รับการได้รับเงินเบี้ยหวัดของจำเลยไปจากโจทก์จึงเป็นการรับโดยไม่ชอบซึ่งไม่ใช่กรณีที่โจทก์เบิกจ่ายเงินเบี้ยหวัดแก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เพราะเป็นเรื่องจำเลยขอรับสวัสดิการจากหน่วยงานของรัฐจำเลยต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของทางราชการ ดังนี้ แม้เงินที่จำเลยจะได้รับไปจะเป็นการได้มาโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ แต่เมื่อเป็นการได้มาโดยไม่ชอบก็ไม่ใช่เรื่องลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 โจทก์ในฐานะเจ้าของเงินที่ส่งมอบให้จำเลยไปโดยสำคัญผิดย่อมมีสิทธิติดตามเอาเงินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิจะได้รับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 17/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7842/2561 การที่โจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมอายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายสำหรับสิทธิเรียกร้องของบริษัท น. จำเลยที่ 1 ในคดีของศาลล้มละลายกลางหมายเลขแดงที่ ฟ.45/2553 หรือไม่นั้น เป็นเรื่องระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับโจทก์โดยเฉพาะ มิได้กระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ทั้งในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็มิได้มีการวินิจฉัยกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่อย่างใด จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษากลับว่า โจทก์ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7815/2561 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7786/2561 โจทก์ได้รับใบอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน โจทก์ก่อสร้างอาคารพาณิชย์จำนวนมากและกำแพงคอนกรีตแล้วโอนขายให้ลูกค้ารวมถึงจำเลยทั้งสองที่ซื้อที่ดินพร้อมอาคารพาณิชย์ โดยโจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตเพื่อให้บุคคลภายในและภายนอกเข้าออกตามทางที่โจทก์กำหนด ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการรักษาความปลอดภัย โจทก์ได้จัดให้มียามรักษาความปลอดภัยและติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดที่เป็นทางเข้าออกที่โจทก์ก่อสร้าง รวมทั้งให้มีเจ้าพนักงานตำรวจมาอยู่ที่ป้อมตำรวจคอยตรวจตราดูแลความสงบเรียบร้อย กำแพงคอนกรีตที่โจทก์สร้างจึงนอกจากจะบ่งบอกถึงแนวเขตที่ดินโครงการจัดสรรของโจทก์แล้ว ยังมีสภาพป้องกันซึ่งบุคคลภายนอกและบุคคลที่อาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์ต้องเข้าออกตามทางที่โจทก์กำหนดเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลทุกคนที่อาศัยในโครงการจัดสรรและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาติดต่อค้าขาย กำแพงคอนกรีตจึงเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ที่โจทก์จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณูปโภคตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 4 และ 43 โดยไม่จำต้องระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินเสมอไป ทั้ง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มิได้บังคับหรือจำกัดไว้ว่าสิ่งที่เป็นสาธารณูปโภคต้องเป็นสิ่งที่ระบุไว้ในคำขออนุญาตจัดสรรที่ดินหรือเอกสารขออนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินเท่านั้น การที่จำเลยทั้งสองทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภคโดยทำเป็นทางเข้าออกสู่ที่ดินแปลงอื่นนอกโครงการจัดสรรของโจทก์ทำให้จำเลยกับลูกจ้างไม่ต้องใช้เส้นทางถนนในโครงการจัดสรรของโจทก์ไปออกถนนสาธารณะ ไม่ต้องผ่านทางเข้าออกที่โจทก์กำหนดและไม่ผ่านระบบรักษาความปลอดภัยของโจทก์เหมือนเจ้าของที่ดินในโครงการรายอื่น ๆ ย่อมมีผลกระทบต่อระบบรักษาความปลอดภัยการจราจรและการรักษาความสงบเรียบร้อยของโจทก์และผู้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงอื่น ถือว่าเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นในโครงการจัดสรรของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ จึงเป็นการใช้สอยกำแพงคอนกรีตขัดต่อสิทธิเจ้าของรวมคนอื่น โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมและในฐานะผู้มีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดินในการบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตแทนเจ้าของสามยทรัพย์ทั้งปวงย่อมมีอำนาจฟ้องบังคับขอให้สั่งห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการที่ขัดต่อกฎหมายดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสองทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภคเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ แต่โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินซึ่งมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพเช่นเดิมตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง และในฐานะเจ้าของที่ดินแปลงอื่นซึ่งเป็นสามยทรัพย์ฟ้องให้ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตให้คืนสภาพเดิม ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการถูกทำละเมิด จึงไม่จำต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้ที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แม้การทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภคจะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหายซึ่งทรัพยสิทธิ ซึ่งจำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่โจทก์ยังมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์กระทำการอย่างใดที่ทำให้ประโยชน์หรือความสะดวกของภารยทรัพย์กลับคืนมาดังเดิม ก็คือการสร้างกำแพงคอนกรีตให้กลับคืนสภาพเดิมตามที่เป็นอยู่นั่นเอง โจทก์จึงมีอำนาจขอให้จำเลยทั้งสองซ่อมหรือสร้างกำแพงรั้วคอนกรีตให้กลับคืนสภาพเดิมได้ และหากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ศาลย่อมมีอำนาจมีคำสั่งให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตแทนโดยให้จำเลยทั้งสองเสียค่าใช้จ่ายได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองกระทำการใด ๆ กับกำแพงคอนกรีตที่กำลังสร้างขึ้นใหม่อันจะเป็นการทำให้กำแพงคอนกรีตเสื่อมสภาพหรือประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดลง เป็นการใช้อำนาจขัดขวางป้องกันมิให้จำเลยทั้งสองกระทำซ้ำหรือเข้าไปยุ่งกับกำแพงคอนกรีตโดยมิชอบอันจะทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเหมือนอย่างเช่นที่จำเลยทั้งสองกระทำมาแล้ว และมีแนวโน้มว่าจำเลยทั้งสองจะกระทำซ้ำอีก โจทก์จึงชอบที่จะขอและศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้จำเลยทั้งสองงดเว้นการกระทำดังกล่าวซ้ำอีกในภายหน้าได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7785/2561 โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรร แม้จะไม่มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร แต่ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มีหน้าที่ดูแลที่ดินที่เป็นประเภทสาธารณูปโภค ซึ่งที่ดินประเภทสาธารณูปโภคจะตกเป็นภาระจำยอมให้กับผู้ซื้อที่ดินในโครงการ มีสิทธิใช้ที่ดินในส่วนดังกล่าว โดยไม่ต้องจดทะเบียนภาระจำยอม ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่กันไว้สำหรับสาธารณูปโภคประเภทถนนในโครงการ มีจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดินและเป็นผู้มีหน้าที่ดูแลที่ดินพิพาท คดีนี้ตอนต้นโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมาโจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก่อนฟ้องคดี ศาลชั้นต้นอนุญาต จึงเหลือเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 แต่อย่างไรก็ดี พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยที่ 2 เปิดร้านค้าสุราเปิดเพลงส่งเสียงดังรบกวนและสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่โจทก์และลูกค้าของโจทก์ และเปิดกิจการเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งมีการทิ้งสิ่งปฏิกูลส่งกลิ่นเหม็นข้างอาคารโจทก์ และจอดรถขวางทางทำให้โจทก์เข้าออกลำบาก ทำให้โจทก์และผู้ที่เช่าอาคารโจทก์ได้รับความเสียหายเดือดร้อนรำคาญจนเกินสมควร โจทก์จึงมีสิทธิที่จะปฏิบัติการเพื่อยังความเสียหายหรือความเดือดร้อนนั้นให้สิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 ให้ออกไปจากพื้นที่ส่วนที่กันไว้เป็นสาธารณูปโภคประเภทสาธารณประโยชน์ (ถนนในโครงการ) แม้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนร้านค้าออกไปจากที่ดินพิพาท จะเป็นคำขอท้ายฟ้องที่ไม่ถูกต้อง แต่ในการพิพากษาคดีไม่ได้มีกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องพิพากษาตามคำขอทุกประการ หากพอทำให้เข้าใจได้ว่าโจทก์มีความประสงค์อย่างใด จำเลยที่ 2 ก็สามารถเข้าใจดีว่าโจทก์ต้องการบังคับคดีแบบใด จำเลยที่ 2 ไม่ได้หลงข้อต่อสู้ เหตุที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องดังกล่าวเป็นเพราะเดิมมีการฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ได้รับอนุญาตให้จัดสรรที่ดิน ผู้มีหน้าที่ดูแลที่ดินพิพาทมาพร้อมกับจำเลยที่ 2 ต่อมาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 จึงได้มีคำขอท้ายฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ติดมาด้วย ถือว่าเป็นคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท แต่ก็ไม่ได้พิพากษาบังคับให้จำเลยที่ 2 ทำการรื้อถอนร้านค้า คำขอท้ายฟ้องของโจทก์และคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองจึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7726/2561 โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองชำระค่าขนส่งและขนถ่ายปุ๋ยบรรจุกระสอบ โดยนำสินค้าบรรทุกเรือลำเลียงขนส่งต่อไปยังคลังสินค้าปลายทางที่จำเลยทั้งสองกำหนด แต่จำเลยทั้งสองให้การว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะโจทก์ไม่นำส่งใบตราส่งหรือตั๋วเรือ และใบรับรองน้ำหนักสินค้าเข้าคลังจากคลังสินค้าตามสัญญาให้ฝ่ายจำเลย โจทก์ต้องชำระค่าเสียหายให้แก่จำเลยทั้งสอง เมื่อนำมาหักกลบลบหนี้แล้ว โจทก์กลับต้องเป็นฝ่ายชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 กลับมิได้ฟ้องแย้งเพื่อคำขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินส่วนนี้ เป็นแต่ต่อสู้หรือเถียงว่าโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาไม่ครบถ้วนขอให้ยกฟ้องเท่านั้น แม้จะไม่มีฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 แต่ศาลยังคงต้องมีประเด็นปัญหาวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ส่งมอบปุ๋ยขาดจำนวนหรือไม่ ซึ่งหากจำเลยที่ 1 นำสืบได้ว่า กรณีมีปุ๋ยสูญหายในระหว่างอยู่ในความดูแลของโจทก์แล้ว โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งย่อมจำต้องรับผิดในการสูญหายนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และแม้จำเลยที่ 1 จะให้การต่อสู้เพียงว่าโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาไม่ครบถ้วนขอให้ยกฟ้อง โดยมิได้ฟ้องแย้งไว้ก็ตาม แต่ศาลยังจำต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ส่งมอบปุ๋ยขาดจำนวนหรือไม่ด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ขนสินค้าปุ๋ยส่งมอบยังคลังสินค้าทั้งสองแห่งครบถ้วนตามสัญญาแล้ว เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระค่าระวางเรือลำเลียงส่วนที่เหลือและค่าสตีวีโดในการขนถ่ายสินค้าจากเรือลำเลียง ส่วนที่ค้างกับค่าขนย้ายสินค้าจากโกดังแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7687/2561 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดชำระค่าจ้างก่อสร้างโกดังเก็บสินค้าสำหรับงานในงวดที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ค่างานก่อสร้างในงวดที่ 2 โจทก์ได้รับชำระเงินไปครบถ้วนแล้ว ทั้งโจทก์มิได้เรียกค่าก่อสร้างและมีคำขอให้จำเลยชำระค่างานในงวดที่ 3 แต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้จำเลยชำระค่าจ้างงวดที่ 2 และที่ 3 บางส่วนให้แก่โจทก์ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7677/2561 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ใช้ชื่อว่า บริษัท ด. จำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการให้บริการรับจองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว รวมทั้งกิจการอื่นที่เกี่ยวข้อง ถือได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามบทนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 แล้ว เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากนายทะเบียน แต่ได้ร่วมกันขายโปรแกรมการท่องเที่ยวและจัดบริการให้แก่ผู้เสียหาย เพื่อนำเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ และผู้เสียหายได้โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยทั้งสอง แต่ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้ติดต่อซื้อตั๋วเครื่องบิน หรือจองที่พักให้แก่จำเลยทั้งสองเลย นอกจากความผิดฐานฉ้อโกงแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองยังเป็นความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ.2551 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 80 ด้วยอีกกระทงหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7628/2561 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทและให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ให้โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท กับส่งมอบที่ดินคืนและชำระค่าเสียหาย จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ และในการวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาดังกล่าว ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงก่อนว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือครอบครองแทนจำเลยที่ 1 และต้องพิจารณาว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องมีคุณสมบัติกับปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 รวมทั้งระเบียบของนิคมสร้างตนเองคลองน้ำใสหรือไม่ จึงจะสามารถวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต่อไปได้ เป็นฎีกาที่จะต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ฎีกาของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7621/2561 ส. ผู้ที่นำที่ดินมาขายให้แก่จำเลยไม่ใช่ผู้มีสิทธิซื้อที่ดินคืนจากธนาคาร อ. ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของโจทก์และเจ้าของรวม แต่ ส. ใช้สิทธิซื้อที่ดินจากธนาคาร อ. โดยการปลอมลายมือชื่อโจทก์และเจ้าของรวมโดยมิชอบ ส. จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งศาลแพ่งมีคำพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างธนาคาร อ. กับ ส. และระหว่าง ส. กับจำเลยแล้ว ส. จึงไม่มีสิทธินำที่ดินไปขายให้แก่จำเลย จำเลยเป็นผู้ซื้อและรับโอนที่ดินมาจาก ส. ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า ส. ผู้โอนซึ่งได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อ ส. ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเช่นเดียวกัน การครอบครองที่ดินของจำเลยสืบสิทธิมาจาก ส. อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยย่อมถูกตัดสิทธิไม่ให้นำสิทธิยึดหน่วงมาใช้บังคับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 วรรคสอง ส่วนที่โจทก์ยังมิได้ชำระค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลแพ่งในคดีก่อนก็เป็นเรื่องที่จำเลยชอบที่จะไปบังคับคดีในคดีดังกล่าวต่อไป โจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7581/2561 การที่จำเลยที่ 3 มีหน้าที่โดยตรงในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยของผู้ต้องหาแต่ไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากเหตุอันสมควร จึงเป็นการกระทำโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลคือ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้ตาย เมื่อจำเลยที่ 3 กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์และจำเลยที่ 3 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยประมาท แม้มีเหตุเพลิงไหม้ทำให้เกิดผลคือความตายของผู้ตายด้วย ก็ไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3 และผลคือความตายของผู้ตายขาดตอนลง เพราะถ้าจำเลยที่ 3 อยู่ปฏิบัติหน้าที่ย่อมช่วยเหลือผู้ตายได้ทันเนื่องจากห้องทำงานของจำเลยที่ 3 อยู่หน้าห้องขังเยาวชนและติดกับห้องขังหญิง ความตายของผู้ตายจึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 3
การที่จำเลยที่ 3 นำสืบต่อสู้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายและพยายามช่วยเหลือผู้ต้องหาทั้งสี่อย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่สามารถช่วยได้ แสดงให้เห็นว่านอกจากจำเลยที่ 3 จะต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องแล้วยังนำสืบต่อสู้ด้วยว่าไม่ได้กระทำโดยประมาท ข้อที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าหลงต่อสู้ ทำให้ไม่มีโอกาสนำสืบต่อสู้ว่าจำเลยที่ 3 ไม่ได้กระทำโดยประมาท จึงฟังไม่ขึ้น แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 3 ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เจตนาฆ่าผู้อื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาได้เพราะการกระทำโดยเจตนาและการกระทำโดยประมาทมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและไม่ถือเป็นเรื่องเกินคำขอหรือเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7578 - 7579/2561 การเป็นสมาชิกในองค์กรใด ผู้นั้นต้องมีสิทธิและมีส่วนร่วมเป็นผู้หนึ่งในองค์กรนั้น ส่วนการเป็นเครือข่ายในองค์กรใดผู้นั้นต้องมีความสัมพันธ์กับองค์กรและในลักษณะประสานกันเป็นโยงใยมีความเห็นใกล้เคียงกันและมีการติดต่อสนับสนุนซึ่งกันและกัน ส่วนการสมคบกันผู้นั้นต้องร่วมกันคบคิดเตรียมการและวางแผนกันมาก่อน การที่จำเลยทั้งสองรับขนชาวโรฮินจาในลักษณะเป็นการรับจ้างทำงานให้เท่านั้น ไม่อยู่ในความหมายของคำว่าสมาชิกหรือเครือข่ายหรือสมคบกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
การบังคับใช้แรงงานหรือบริการต้องมีการกระทำในลักษณะเป็นการบีบบังคับผู้เสียหายโดยมิชอบ แต่ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เดินทางจากรัฐยะไข่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา มาประเทศไทยเพื่อไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งแม้จะฟังว่าประสงค์จะไปทำงานที่ประเทศมาเลเซีย แต่ก็เดินทางมาด้วยความสมัครใจไม่ได้ถูกบีบบังคับ จึงมิใช่เป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการอันจะถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 วรรคสอง และวรรคสาม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7565-7/2561 จำเลยที่ 1 กับบริษัท อ. ทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขายให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสามแทนบริษัท อ. เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 แม้หลังจากที่โจทก์ทั้งสามแสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว โจทก์ทั้งสามยังกลับไปเรียกร้องบริษัท อ. โดย จ. ให้ชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมและ จ. ได้สั่งจ่ายเช็คให้โจทก์ทั้งสามไว้ ก็ไม่ได้ทำให้สิทธิที่โจทก์ทั้งสามเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามมาตรา 374 สิ้นสุดไปด้วย ถือว่าโจทก์ทั้งสามยังมีสิทธิเรียกร้องต่อจำเลยทั้งสามตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อจะขาย ตามสัญญาจะซื้อจะขายพิพาทไม่ได้กำหนดวันจดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 จึงต้องแปลความว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระแก่โจทก์ทั้งสามนั้นถึงกำหนดชำระเมื่อมีการจดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วนั่นเอง เมื่อปรากฏว่าบริษัท อ. จดทะเบียนโอนที่ดินและโรงงานให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ย่อมถือว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้โจทก์ทั้งสามถึงกำหนดในวันดังกล่าว หาใช่ถึงกำหนดนับแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2557 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสามแสดงเจตนาให้จำเลยทั้งสามทราบว่าจะถือเอาประโยชน์ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7551/2561 โจทก์ฟ้องจำเลยข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานจำหน่ายกัญชาเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลฎีกาอนุญาตให้จำเลยฎีกาเฉพาะข้อหาจำหน่ายกัญชา ข้อหามีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และไม่ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยในข้อหานี้ ซึ่งไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย เมื่อศาลฎีกาฟังว่า พยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยมีกัญชาแห้ง จำนวน 4 ถุง และเมล็ดกัญชาแห้ง จำนวน 1 ถุง ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายโดยการขายกัญชาแห้งนั้นให้แก่ ป. จำนวน 1 ถุง และ พ. จำนวน 2 ถุง และมีอาวุธปืนยาวบรรจุปาก (ปืนแก๊ป) และปืนยาวอัดลม ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของนายทะเบียนประทับไว้ และเครื่องกระสุนปืนบรรจุปาก (ดินดำ แก๊ปกระดาษ เม็ดตะกั่ว ใยมะพร้าว) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ข้อหาความผิดฐานมีกัญชาไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน และเมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิด จึงให้ยกฟ้องโจทก์ปล่อยจำเลยไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2561 ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของบุตรผู้เยาว์กลับมาใช้ชื่อสกุลของโจทก์ดังเดิม จำเลยยื่นคำคัดค้านว่า ไม่เปลี่ยนชื่อสกุลกลับไปตามที่โจทก์ขอ ทำนองว่าไม่มีประเด็น และเกินคำขอของโจทก์ให้ใส่ชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองนั้น เห็นว่า คดีมีประเด็นโต้เถียงกันว่า ที่จำเลยเปลี่ยนชื่อสกุลของโจทก์มาเป็นชื่อสกุลของจำเลย โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ชอบหรือไม่ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยแล้วว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และโดยที่โจทก์ประสงค์ให้เพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองของบุตรผู้เยาว์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า กรณีนี้มิใช่เรื่องที่บุตรผู้เยาว์ของโจทก์และจำเลย ที่มีชื่อตัวหรือชื่อรองอยู่แล้วประสงค์จะเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อรอง ซึ่งต้องยื่นคำขอต่อนายทะเบียนท้องที่เสียก่อน ตาม พ.ร.บ.ชื่อบุคคล พ.ศ.2505 มาตรา 6 วรรคสอง และมาตรา 16 ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจเพิ่มชื่อสกุลของโจทก์เป็นชื่อรองให้แก่บุตรผู้เยาว์ได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 19/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7526/2561 การที่สายลับซึ่งเป็นคนรักเก่าของจำเลยชักชวนให้จำเลยมาร่วมเสพเมทแอมเฟตามีนที่ห้องพักที่เกิดเหตุ โดยได้มอบธนบัตรจำนวน 1,500 บาท ให้จำเลยเพื่อไปเอาเมทแอมเฟตามีนมาให้ เมื่อจำเลยนำเมทแอมเฟตามีนมามอบให้สายลับ 10 เม็ด จากนั้นได้ร่วมกันเสพเมทแอมเฟตามีนไป 4 เม็ด พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยรับหน้าที่ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนมาให้สายลับและพวก และร่วมกันเสพเมทแอมเฟตามีนส่วนหนึ่งนั้น โดยจำเลยไม่ได้ประโยชน์อื่นตอบแทนในการนี้ ยังถือไม่ได้ว่า จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ คงฟังได้เพียงว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความผิดที่โจทก์ฟ้อง ย่อมลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215, 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7519/2561 ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท และในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 ปี ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษทั้งสองคดี จำเลยกลับมากระทำผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง กรณีมิใช่จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันจะเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 คงเพิ่มโทษได้เพียงหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7504/2561 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 เป็นกรณีที่ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน หรือเอกสารใด ๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน... ไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เอง... ต้องระวางโทษจำคุก... เป็นการกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงานและรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย กฎหมายมิได้บัญญัติถึงองค์ประกอบความผิดในส่วนที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชนไว้ ดังนั้น บุคคลทั่วไปหรือประชาชนจึงไม่อาจเป็นผู้เสียหายในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142 ได้
สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 นั้น เมื่อการกระทำที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 142, 151 และ 158 ไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อโจทก์โดยตรง และโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจดำเนินคดีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ในความผิดตามมาตรา 142, 151 และ 158 แล้ว การที่จำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 กระทำการเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 3 และที่ 4 แม้จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 7 ถึงที่ 10 โดยตรง แม้โจทก์จะเคยร้องเรียนให้ดำเนินการสอบสวนลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ตาม การที่โจทก์เป็นผู้ร้องเรียนให้ลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิที่โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษซึ่งจะทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายตามมาตรา 157
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7503/2561 สำหรับจำเลยที่ 1 ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2554 นับถึงวันกระทำความผิดคดีนี้แม้จะเกินกว่า 5 ปีก็ตาม แต่เมื่อมากระทำความผิดคดีนี้ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่จะรอการกำหนดโทษให้ได้ ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งพ้นโทษในคดีก่อนเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 และกลับมากระทำความผิดในคดีนี้อีกเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 จึงยังพ้นโทษมาไม่เกิน 5 ปี ทั้งความผิดในคดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 837/2552 ของศาลจังหวัดนางรอง และความผิดคดีนี้ต่างก็ไม่ใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ โดยโทษจำคุกในคดีก่อนมีกำหนด 5 ปี 3 เดือน ซึ่งเป็นโทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือน กรณีของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะรอการกำหนดโทษให้ได้เช่นเดียวกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7497 - 7502/2561 พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 118 บัญญัติว่า "ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 117... ต้องระวางโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่อาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาท แต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท" ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทยฐานนี้จะต้องถูกลงโทษปรับโดยคำนวณตามพื้นที่ของอาคารหรือสิ่งอื่นใดในอัตราไม่น้อยกว่าตารางเมตรละห้าร้อยบาทแต่ไม่เกินตารางเมตรละหนึ่งหมื่นบาท ประกอบกับตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (5) บัญญัติให้ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อตามฟ้องทั้งหกสำนวนปรากฏว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดในสำนวนที่หนึ่งและที่สองคิดเป็นเนื้อที่ 962 ตารางเมตร และ 210 ตารางเมตร จำเลยที่ 2 กระทำความผิดในสำนวนที่สามคิดเป็นเนื้อที่ 342 ตารางเมตร จำเลยที่ 3 กระทำความผิดในสำนวนที่สี่คิดเป็นเนื้อที่ 399 ตารางเมตร จำเลยที่ 4 กระทำความผิดในสำนวนที่ห้าคิดเป็นเนื้อที่ 418.20 ตารางเมตร และจำเลยที่ 5 กระทำความผิดในสำนวนที่หกคิดเป็นเนื้อที่ 1,251.05 ตารางเมตร ดังนี้จำเลยที่ 1 อาจต้องโทษปรับอย่างสูงเป็นเงิน 9,620,000 บาท และ 2,100,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อาจต้องโทษปรับอย่างสูงเป็นเงิน 3,420,000 บาท, 3,990,000 บาท, 4,182,000 บาท และ 12,510,500 บาท ตามลำดับ จึงเป็นคดีที่มีอัตราโทษปรับเกินอำนาจของศาลแขวงพัทยา เมื่อการกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ความผิดฐานอื่นตามฟ้องทั้งหกสำนวนของโจทก์จะอยู่ในอำนาจของศาลแขวงพัทยา แต่ปรากฏว่าคดีความผิดตาม พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ทั้งหกสำนวนไม่อยู่ในอำนาจของศาลแขวง เพื่อสะดวกแก่การพิจารณาพิพากษา การที่โจทก์ฟ้องคดีทั้งหกสำนวนนี้ต่อศาลจังหวัดพัทยา และศาลจังหวัดพัทยาใช้ดุลพินิจรับฟ้องคดีทั้งหกสำนวนไว้พิจารณาและพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 19/1 ที่เพิ่มเติมใหม่ จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7474/2561 การที่จำเลยลงทุนตกแต่งปรับปรุงอาคารพิพาท แม้เป็นเงินจำนวนมากก็เป็นการดำเนินการเพื่อให้การประกอบกิจการร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน ของจำเลย เป็นไปตามเงื่อนไขที่เจ้าของกิจการกำหนดอันเป็นประโยชน์ของจำเลยเอง ประกอบกับสัญญาเช่ามีข้อตกลงด้วยว่า "การให้เช่าพื้นที่ต่อไปเมื่อหมดอายุสัญญานี้จะมีหรือไม่ ย่อมอยู่ในดุลพินิจของผู้ให้เช่า" แสดงว่า เมื่อครบกำหนด 3 ปี ตามสัญญาเช่า จำเลยจะมีโอกาสเช่าอาคารพิพาทต่อเป็นปีที่ 4 และปีที่ 5 หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความพอใจของโจทก์เพียงฝ่ายเดียว หากโจทก์ไม่ยินยอมต่อสัญญาเช่าให้จำเลย สัญญาเช่าเป็นอันสิ้นสุดลงทันทีอันมิใช่ลักษณะของสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ข้ออ้างของจำเลยที่ว่าสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โจทก์ต้องยอมให้จำเลยเช่าอาคารพิพาทเป็นเวลา 5 ปี จึงรับฟังไม่ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7397/2561 การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามคำพิพากษาไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) มีผลเพียงทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าว แต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองทรัพย์ที่โจทก์นำยึดและขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง มีสิทธิขอกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7386/2561 ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาที่ถึงที่สุดแม้จะไม่ได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอมเนื่องจากฟังได้ว่าลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันนำหนังสือมอบอำนาจที่มีลายมือชื่อโจทก์และข้อความซึ่งไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ไปใช้อ้างแสดงซึ่งอาจเป็นการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารโดยการปลอมข้อความตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง ได้ แต่เหตุที่ไม่ได้ลงโทษในความผิดฐานนี้เพราะข้อเท็จจริงที่ได้ในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง มิใช่ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้เสียทีเดียวว่าไม่มีการปลอมเอกสาร ทั้งยังได้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ โดยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 ทำให้เจ้าพนักงานที่ดินหลงเชื่อว่าโฉนดได้สูญหายไปจริง จึงออกใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ใช้ใบแทนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักฐานในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 2 แปลงจากของโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินทั้ง 2 แปลงให้แก่บุคคลอื่นไปอีกทอดหนึ่ง ดังนี้ การออกใบแทนโฉนดที่ดินของเจ้าพนักงานที่ดินจึงเป็นไปโดยผิดหลงเนื่องจากหลงเชื่อการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลยที่ 1 และเมื่อข้อเท็จจริงแห่งคดีรับฟังได้ว่า โฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง ดังกล่าว อยู่ในความยึดถือครอบครองของโจทก์มาโดยตลอดและไม่ได้สูญหายไป ใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับที่จำเลยที่ 1 นำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จึงเป็นใบแทนโฉนดที่ดินที่ออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และมีเหตุให้ต้องเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินทั้งสองฉบับ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7319 - 7320/2561 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้บังคับผู้คัดค้านชำระเงินแก่ผู้ร้องตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่ตอนท้ายที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ผู้คัดค้านชำระดอกเบี้ยหลังวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 ธันวาคม 2558) นับแต่วันที่ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้องนั้นไม่ถูกต้อง เพราะผู้ร้องยื่นคำร้องวันที่ 4 ธันวาคม 2558 และคำพิพากษามีข้อความแตกต่างไปจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งไม่อาจกระทำได้ ทั้งศาลชั้นต้นมิได้วินิจฉัยในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม จึงเป็นการไม่ชอบเพราะคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมไม่ว่าคู่ความจะมีคำขอหรือไม่เป็นหน้าที่ของศาลต้องสั่งลงไว้ในคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7308/2561 คำว่า ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแล ตาม ป.อ. มาตรา 285 มิได้หมายถึงเฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ในฐานะครูหรืออาจารย์ซึ่งมีหน้าที่สอนศิษย์เท่านั้น แต่ครูหรืออาจารย์นั้นต้องมีหน้าที่ควบคุมดูแลปกป้องรักษาตัวศิษย์ และกระทำความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติต่อศิษย์ในระหว่างมีหน้าที่ดังกล่าวด้วย จำเลยเป็นเพียงครูสอนวิชาพลศึกษาโรงเรียนที่เกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยสอนหรือเคยสอนในชั้นเรียนที่โจทก์ร่วมศึกษา ทั้งจำเลยมิได้เป็นครูใหญ่ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบนักเรียนทั้งโรงเรียน แม้จำเลยกระทำชำเราโจทก์ร่วมก็มิใช่การกระทำต่อศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลอันจะทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 285
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7290/2561 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โดยมีจำเลยที่ 2 และ ว. บุตรจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการ โดยกรรมการคนหนึ่งมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคาร และทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 2 ก่อสร้างอาคาร และทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 2 จัดหาวัสดุก่อสร้างอาคาร
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 โดยผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 ส่วนใหญ่ คือ จำเลยที่ 2 กับภริยาและบุตรของจำเลยที่ 2 โจทก์ทำสัญญาสามฉบับ โดยฉบับแรกระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้าง ฉบับที่สองและฉบับที่สามระบุชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้าง การก่อสร้างตามสัญญาทั้งสามฉบับไม่มีการแยกคนงานและอุปกรณ์ว่าเป็นของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 ไม่มีผังคนงานและพนักงาน และการส่งมอบงานตามสัญญาทั้งสามฉบับรวมอยู่ในเล่มเดียวกัน โจทก์ประสงค์จะพัฒนาที่ดินให้เป็นโรงแรมและรีสอร์ท จึงประกาศหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 กรรมการผู้มีอำนาจ เสนอตัวเข้าเป็นผู้รับเหมาตามแบบก่อสร้างตกลงราคาทั้งหมด โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อรับจ้างก่อสร้างโครงการทั้งหมดของโจทก์ และจำเลยที่ 1 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มาทำสัญญารับจ้างก่อสร้างตามสัญญาจ้างเหมาชุดที่ 2 และสัญญาจ้างวัสดุก่อสร้างชุดที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการของโจทก์ ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 1 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดตามสัญญาจ้างเหมาฉบับที่สองและฉบับที่สาม และในทำนองเดียวกันจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนโดยปริยายของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจอาศัยสิทธิตามสัญญาดังกล่าวฟ้องแย้งโจทก์ในนามตนเองได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 145 (5), 246 และมาตรา 246 (เดิม) ซึ่งใช้ในขณะยื่นฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7289/2561 จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า สัญญาจ้างเหมาพิพาทไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะยังมิได้ทำเป็นหนังสือตามเจตนาของคู่สัญญา ประเด็นปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า แม้ว่า กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 มีเจตนาว่าสัญญาจ้างเหมาอันมุ่งจะทำต่อกันนั้นต้องทำเป็นหนังสือ แต่ก่อนที่กิจการร่วมค้า จ. และจำเลยที่ 1 จะทำสัญญาเป็นหนังสือดังเจตนาที่มีอยู่เดิม ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ส่งโทรสารแจ้งไปยังกรรมการผู้จัดการ กิจการร่วมค้า จ. ว่าให้เริ่มงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 เป็นต้นไป กิจการร่วมค้า จ. จึงเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่ง จำเลยที่ 3 จึงมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมาย ประกอบกับหนังสือที่ส่งทางโทรสารยังใช้แบบพิมพ์ที่มีหัวกระดาษระบุชื่อจำเลยที่ 1 จึงรับฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำในนามของจำเลยที่ 1 ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามข้อความในหนังสือดังกล่าว นอกจากนี้ ภ. พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ยอมรับว่า หลังจากกิจการร่วมค้า จ. เริ่มทำงานแล้ว กิจการร่วมค้า จ. ได้วางแคชเชียร์เช็คเป็นมูลค่าร้อยละ 5 ตามสัญญา ซึ่งจำเลยที่ 1 รับไปเรียบร้อยแล้ว จากข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และกิจการร่วมค้า จ. ปฏิบัติต่อกันเช่นนี้ เท่ากับว่ามีการตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว และสัญญาจ้างเหมาเป็นสัญญาจ้างทำของซึ่งไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือมิฉะนั้นเป็นโมฆะ ดังนั้น ถือได้ว่าสัญญาจ้างเหมาดังกล่าวมีผลผูกพันจำเลยที่ 1
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ว่า พฤติการณ์ตามที่ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยฟังว่าคู่สัญญามีเจตนาตกลงกันใหม่โดยผ่อนผันไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือต่อกันเป็นการชั่วคราว ล้วนเกิดจากความไม่สุจริตของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ยินยอมด้วยนั้น แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การเป็นข้อต่อสู้ไว้ แต่ปัญหาว่าการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยให้ย่อมไม่ชอบ และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ ป.พ.พ. มาตรา 6 บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยที่ 1 ย่อมมีภาระหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างเพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามพฤติการณ์ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นนั้น เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ เพราะโจทก์ทราบข้อมูลภายในของจำเลยที่ 1 ว่ายังไม่อาจดำเนินการโครงการตามสัญญาจ้างเหมาพิพาทได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการจัดหาที่ดินเพื่อส่งมอบให้โจทก์ โดยไม่ปรากฏรายละเอียดว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตชี้นำจำเลยที่ 3 อย่างไร เท่ากับข้ออ้างของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ปราศจากพยานหลักฐานสนับสนุน ง่ายแก่การกล่าวอ้าง ลำพังเพียงคำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ว่า กรรมการของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ใหญ่ของโจทก์ก่อนที่จำเลยที่ 3 จะมาทำงานกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เคยทำงานให้จำเลยที่ 2 มาก่อน และจำเลยที่ 2 เป็นผู้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 3 มาเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 หรือการที่โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกให้ทำงานมูลค่าเป็นสิบล้านบาทในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะสั่งให้ชะลอโครงการ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่สุจริตของโจทก์ได้ ประการสำคัญที่สุดหากจำเลยที่ 1 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำโดยพลการอันเกิดจากการชี้นำของโจทก์ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะปฏิเสธว่าสัญญาจ้างเหมาพิพาทยังไม่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็หากระทำไม่ ตรงกันข้ามกลับมีหนังสือขอให้กิจการร่วมค้า จ. ชะลองานและการทำสัญญาโครงการออกไปก่อน ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 18 เมษายน 2556 อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเกิดขึ้นของสัญญาจ้างเหมาพิพาทแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
คดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้อยู่ในฐานะเป็นคู่ความคนละฝ่ายกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยที่โจทก์มิได้อุทธรณ์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7264/2561 ตาม ป.อ. มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า ถ้าปรากฏว่าผู้นั้น (1) ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน... ศาลจะรอการลงโทษผู้นั้นไว้ก็ได้ นั้น หมายถึงว่า จำเลยไม่ได้รับโทษจำคุกมาก่อนคดีที่ศาลกำลังจะพิพากษา ซึ่งมาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) มิได้ระบุว่าคดีที่จำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อนนั้น ต้องเป็นการกระทำความผิดมาก่อนคดีเรื่องหลัง เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนและเป็นโทษในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นโทษจำคุกเกินกว่าหกเดือนและมิใช่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7174/2561 ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาโอนสินทรัพย์ระหว่าง บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมกับผู้ร้องว่า สัญญาโอนดังกล่าวกระทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ภายหลังจาก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ใช้บังคับ ทั้งในสัญญาก็ระบุว่า บ.ส.ท. ฝ่ายผู้โอนกระทำโดยประธานกรรมการชำระบัญชี และขณะทำสัญญาผู้โอนอยู่ระหว่างการชำระบัญชีตาม พ.ร.ฎ. ดังกล่าว กรณีจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. ในขณะที่ บ.ส.ท. ดำเนินการชำระบัญชี ตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ซึ่งตามมาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.ฎ. ดังกล่าว บัญญัติว่า ในการขายสินทรัพย์ประเภทสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้ซื้อ ให้บรรดาทรัพย์สิน หลักประกัน สิทธิจำนอง สิทธิจำนำ หรือสิทธิอันเกิดขึ้นแต่การค้ำประกันสิทธิเรียกร้องดังกล่าวตกแก่ผู้ซื้อด้วย วรรคสองบัญญัติว่า การขายสินทรัพย์ตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงสินทรัพย์ที่มีข้อพิพาทเป็นคดีอยู่ในศาลโดยให้ผู้ซื้อเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวแทนที่ บ.ส.ท. ดังนี้ ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิหรือเข้าเป็นคู่ความแทน บ.ส.ท. ผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมได้โดยผลของกฎหมายโดยผู้ร้องไม่จำต้องบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยทั้งสี่ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าผู้ร้องรับโอนสินทรัพย์รายนี้จาก บ.ส.ท. มาโดยชอบตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการชำระบัญชีบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2554 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ตามคำร้อง
แม้ศาลชั้นต้นจะนัดไต่สวนคำร้องขอเข้าสวมสิทธิและมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ยื่นคำร้องและล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้วก็ตาม หาทำให้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไม่ จึงฟังได้ว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีได้ เมื่อปรากฏว่าขณะยื่นคำร้องคดีใกล้จะหมดระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว ในวันเดียวกันผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิม ผู้ร้องยังไม่มีอำนาจในการบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองให้ทันกำหนดเวลาการบังคับคดี และผู้สวมสิทธิแทนโจทก์เดิมยังไม่ได้ดำเนินการตั้งเรื่องบังคับคดี ประกอบกับศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องภายหลังรับคำร้องนานถึง 6 เดือนเศษ ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว พฤติการณ์ดังกล่าวนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษสมควรที่จะมีคำสั่งขยายระยะเวลาการบังคับคดีแก่ผู้ร้องได้ และการที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาการบังคับคดีของผู้ร้อง และปัจจุบันล่วงเลยเวลาการบังคับคดีแล้ว กรณีถือว่ามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนดเวลาบังคับคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ขยายระยะเวลาการบังคับคดีให้ผู้ร้องออกไปเป็นเวลา 180 วัน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้คู่ความฟัง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7168/2561 โจทก์ที่ 1 เป็นนิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลทรัพย์สินส่วนกลางของอาคารชุดย่อมมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ตามมติของเจ้าของร่วมดังบัญญัติใน มาตรา 33 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 เมื่อที่ประชุมใหญ่วิสามัญเจ้าของร่วมมีมติให้โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยกรณีส่งมอบพื้นที่จอดรถไม่เป็นไปตามสัญญา โจทก์ที่ 1 ย่อมใช้สิทธิของเจ้าของร่วมฟ้องจำเลยเพื่อเรียกร้องสิทธิในพื้นที่จอดรถเป็นทรัพย์ส่วนกลางเพื่อประโยชน์ของเจ้าของร่วมทั้งหมดได้ตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว โจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนโจทก์ที่ 5 ที่ 7 ที่ 10 ที่ 15 และที่ 28 ซึ่งเป็นผู้รับโอนโดยซื้อต่อจากผู้ซื้อเดิมนั้น ได้ความตามสัญญาจะซื้อจะขายว่า ผู้จะซื้อจะต้องจัดให้ผู้รับโอนรับโอนไปซึ่งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดตามสัญญานี้ อันแสดงว่าจำเลยยินยอมให้ผู้จะซื้อโอนสิทธิตามสัญญาต่อไปได้ โดยจำเลยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับโอนต้องถูกผูกพันรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาที่ผู้จะซื้อเดิมทำไว้กับจำเลย เมื่อโจทก์ดังกล่าวรับโอนสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายไปจากผู้จะซื้อเดิมจึงย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจะซื้อจะขายดังเช่นที่ผู้จะซื้อเดิมมีอยู่กับจำเลยโดยผลของสัญญา
ตามฟ้องโจทก์ทั้งสามสิบเก้ากล่าวอ้างข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายว่า จำเลยกำหนดให้มีที่จอดรถรวมที่จอดรถแบบซ้อนคันประมาณ 391 คัน ซึ่งจำเลยให้การรับในข้อนี้ ข้อสัญญาจัดให้มีที่จอดรถรวมที่จอดรถแบบซ้อนคันจึงเป็นเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดขึ้นเพื่อเสนอให้มีที่จอดรถบริการแก่ผู้บริโภคและจูงใจให้ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา เมื่อโจทก์ทั้งสามสิบเก้าอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาข้อนี้ก็ย่อมใช้สิทธิฟ้องคดีให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้ ส่วนการบังคับตามฟ้องของโจทก์ทั้งสามสิบเก้าจะเป็นไปได้หรือไม่ หรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายอย่างไรเป็นเรื่องศาลเป็นผู้พิจารณาพิพากษา การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสามสิบเก้าหาได้ขัดกับข้อเท็จจริงและเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตดังจำเลยฎีกาไม่
โจทก์ทั้งสามสิบเก้าฟ้องอ้างว่าสัญญาจะซื้อจะขายระบุว่า โครงการมีพื้นที่จอดรถทั้งแบบช่องจอดรวมแบบจอดซ้อนคันประมาณ 391 คัน ต่อมาจำเลยก่อสร้างอาคารชุดมีที่จอดรถเพียง 284 ช่องจอด และไม่สามารถจอดแบบซ้อนคันได้ทำให้ที่จอดรถขาดหายไป 107 คัน จำเลยให้การว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ระบุไว้เป็นการประมาณพื้นที่จอดรถยนต์และขาดไปเพียง 12 คัน เพราะต้องกันพื้นที่ไปทำบันไดและห้องน้ำตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามคำฟ้องและคำให้การจึงมีประเด็นโต้เถียงกันว่า จำเลยก่อสร้างอาคารชุดพิพาทมีที่จอดรถขาดจำนวนไปจากสัญญาจะซื้อจะขายหรือไม่เพียงใด ความปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น คู่ความแถลงรับกันว่าโจทก์ทั้งสามสิบเก้าสามารถยอมรับให้จอดรถซ้อนคันพอที่จะให้เดินรถได้สะดวกที่จอดรถขาดไปเพียง 74 คัน คดีจึงไม่มีประเด็นโต้เถียงกันอีกต่อไปว่าที่จอดรถขาดจำนวนไปเพียงใด เพราะถือว่าโจทก์ทั้งสามสิบเก้าและจำเลยต่างยอมรับข้อเท็จจริงแล้วว่าที่จอดรถขาดจำนวนไป 74 คัน โจทก์ทั้งสามสิบเก้าและจำเลยจึงไม่จำต้องนำสืบข้อเท็จจริงนั้นอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 ที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยพยานหลักฐานแล้วฟังว่าจำเลยจัดที่จอดรถขาดจำนวนไป 49 คัน จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์ทั้งสามสิบเก้าโต้แย้งว่าคำรับของคู่ความดังกล่าวขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นทำนองกล่าวอ้างว่าคำรับดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ทั้งสามสิบเก้า นั้น เห็นว่า การที่จำเลยกับโจทก์ทั้งสามสิบเก้าตกลงกันจัดให้มีที่จอดรถซ้อนคันแตกต่างไปจากข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเป็นเรื่องระหว่างผู้ก่อสร้างอาคารกับผู้ใช้อาคารตามปกติวิสัยของการใช้อาคารทั่วไป ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมบังคับในระหว่างกันเองได้ ในส่วนที่ฝ่าฝืนข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนั้น เป็นเรื่องเจ้าพนักงานท้องถิ่นจะว่ากล่าวเอาผิดแก่ผู้ฝ่าฝืนเป็นกรณีต่างหาก ทั้งโจทก์ทั้งสามสิบเก้าเป็นฝ่ายฟ้องขอให้บังคับจำเลยจัดที่จอดรถซ้อนคันตามสัญญา ภายหลังการแถลงรับต่อศาลชั้นต้นแล้วโจทก์ทั้งสามสิบเก้าก็ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องลดจำนวนที่จอดรถซ้อนคันที่ขอบังคับจำเลยจาก 107 คัน เหลือเพียง 74 คัน ซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตให้แก้ฟ้องได้ โจทก์ทั้งสามสิบเก้าจึงจะกลับยกความข้อนี้อ้างว่าไม่มีผลผูกพันตนไม่ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7159/2561 การกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนผู้กระทำความผิดต้องได้มีเวลาคิดไตร่ตรองและทบทวนแล้วจึงตกลงใจที่จะฆ่าผู้อื่น หาใช่กรณีที่เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนไม่ และการจะเป็นตัวการร่วมฐานความผิดดังกล่าวจะต้องมีลักษณะมีการวางแผนและคบคิดมาแต่ต้น โดยคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด แม้การท้าทายถือได้ว่าเป็นพฤติการณ์คิดไตร่ตรองจะฆ่าโจทก์ร่วมที่ 2 แต่เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 ปฏิเสธคำท้าทายของจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์แล้ว จำเลยทั้งสามย่อมไม่สามารถเริ่มลงมือกระทำแก่โจทก์ร่วมที่ 2 ตามคำท้าทายได้ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามรู้ว่าหลังจากวางสายโทรศัพท์แล้วโจทก์ร่วมที่ 2 ไปไหนหรืออยู่ที่ใด และจำเลยทั้งสามออกตามหาโจทก์ร่วมที่ 2 ต่อไปหรือไม่ กรณีจึงต้องฟังว่าจำเลยทั้งสามมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 ในที่เกิดเหตุโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน การที่จำเลยที่ 1 ชักอาวุธปืนออกมายิงโจทก์ร่วมที่ 2 ทันที ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการวางแผนจัดเตรียมของจำเลยทั้งสาม แต่เป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันทีที่ขับรถมาพบโจทก์ร่วมที่ 2 โดยบังเอิญ ส่วนการตามไล่ยิงไปอย่างกระชั้นชิดจนถึงบ้านโจทก์ร่วมที่ 3 ก็ยังได้ยิงเข้าไปในบ้านอีก 1 นัด เป็นเพียงการกระทำต่อเนื่องหลังจากประสบโอกาสที่จะยิงโจทก์ร่วมที่ 2 อย่างทันทีทันใดเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามไม่เป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7150/2561 พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดได้ในกรณีดังต่อไปนี้ ... (2) มีกรณีปรากฏต่อศาลว่า (ก) คำชี้ขาดนั้นเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย และมาตรา 11 บัญญัติให้สัญญาอนุญาโตตุลาการต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญา ทั้งนี้ สัญญาอนุญาโตตุลาการอาจเป็นสัญญาหนึ่งในสัญญาหลัก หรือเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการแยกต่างหากก็ได้ จึงเห็นได้ว่า การระงับข้อพิพาททางอนุญาโตตุลาการเกิดจากข้อตกลงตามสัญญาระหว่างคู่พิพาท ซึ่งในส่วนนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่างานเพิ่มฝั่งสนามกอล์ฟ ผู้เรียกร้องได้เสนอค่างานส่วนนี้ ผู้คัดค้านได้ตรวจสอบค่างานดังกล่าวแล้วเห็นว่ามีมูลค่าสูงเกินไปมาก คู่สัญญาจึงไม่ได้ตกลงกันเป็นลายลักษณ์อักษรจะให้ทำงานเพิ่มในส่วนใด เนื้องานแต่ละส่วนมีราคาค่าว่าจ้างเท่าใด อันเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้มีการปฏิบัติตามสัญญารับจ้างเหมาฯ ข้อ 14.5 ที่กำหนดว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงของราคาให้ทั้งผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ทำสัญญาหรือบันทึกคำสั่งเพิ่มเติมขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อเป็นเช่นนี้ กรณีจึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงให้มีการระงับข้อพิพาทในส่วนนี้ด้วยวิธีการอนุญาโตตุลาการและต้องถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการส่วนนี้เป็นคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการได้ตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ก) การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าผู้คัดค้านยังไม่มีการตกลงว่าจ้างผู้ร้องในงานส่วนเพิ่มสนามกอล์ฟ และมีผลว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างหรือผลงานของงานที่ได้ทำไปแล้วในส่วนนี้เลย จึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าการที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยดังกล่าว มีความหมายว่าคณะอนุญาโตตุลาการไม่รับวินิจฉัยข้อพิพาทในส่วนนี้ ซึ่งไม่ตรงกับที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยดังกล่าว แล้วศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนนี้ด้วย แม้อาจจะแปลตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นได้ว่าผู้ร้องต้องไปเรียกร้องจากผู้คัดค้านเป็นอีกกรณีหนึ่งนอกเหนือจากการเรียกร้องตามสัญญาอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องมีผลเป็นการยอมรับว่าที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยมาชอบแล้ว ซึ่งทำให้ผู้ร้องไม่อาจเรียกร้องค่าทำการงานในงานส่วนเพิ่มสนามกอล์ฟนี้ตามคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่ว่าไม่มีการตกลงว่าจ้างผู้ร้องให้ทำงานเพิ่มในส่วนนี้ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น คำสั่งของศาลชั้นต้นในข้อนี้ จึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 และเห็นสมควรที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้เสีย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7136/2561 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงาน กรณีจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยกคำร้องที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 สอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องที่โจทก์ถูกจำเลยที่ 2 เลิกจ้าง และให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า โจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 กรณีร้ายแรง จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์จึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชย คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 หรือไม่ และจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์หรือไม่ คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยส่วนแรกว่า การที่จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์โดยเห็นว่าโจทก์ผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ 1 ไม่ควรเพิกถอน แต่กลับวินิจฉัยในส่วนหลังว่า การกระทำของโจทก์เป็นเรื่องส่วนตัวมิใช่เรื่องงานอาจลงโทษเบากว่าเลิกจ้างได้ และอ้าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 48 และมาตรา 52 มาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์นั้น คำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 2 ขัดกันเอง และไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี เป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
เหตุทำร้ายร่างกายเกิดบนรถบัสรับส่งพนักงานที่จำเลยที่ 2 นายจ้างจัดให้ลูกจ้างเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปทำงาน แม้จะเป็นเวลาก่อนที่ลูกจ้างเข้าปฏิบัติงาน แต่ก็เป็นเวลาเกี่ยวเนื่องก่อนลูกจ้างเข้าทำงาน จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจออกคำสั่งหรือระเบียบห้ามมิให้พนักงานที่โดยสารรถรับส่งทำร้ายร่างกายและทะเลาะวิวาทบนรถรับส่งพนักงานได้ ประกาศของจำเลยที่ 2 เรื่อง การทำร้ายร่างกาย และทะเลาะวิวาทภายในโรงงาน รถรับส่งพนักงาน และพื้นที่ที่บริษัทกำหนด จึงมีผลใช้บังคับได้ การที่โจทก์ทำร้าย ร. โดยบีบคอจนมีรอยแดงช้ำที่คอเข้าข่ายเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลยที่ 2 และประกาศดังกล่าว อันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 2 ย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคท้าย และไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7123/2561 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 บัญญัติว่า เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำท่านให้ถือว่าการที่ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่ง มัดจำนี้ย่อมเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญานั้นด้วย ดังนั้น เงินที่ให้ต่อกันโดยมิใช่เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว แม้จะให้ในวันทำสัญญาก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นมัดจำ แม้โจทก์จะมอบเงิน 500,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันทำสัญญาและระบุในสัญญาข้อ 2 ว่าเป็นมัดจำก็ตาม แต่ข้อความในสัญญาข้อ 2 และข้อ 3 สามารถสรุปใจความว่า หากโจทก์ผิดสัญญายินยอมให้จำเลยริบเงิน 500,000 บาท ดังกล่าว เงิน 500,000 บาท จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายอันเกิดแต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่จำเลยจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 ซึ่งเบี้ยปรับนั้นสูงเกินสมควร ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับนั้นลงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยริบเบี้ยปรับได้ 130,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ 370,000 บาท
เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระเงิน 370,000 บาท จำเลยจึงมีหนี้เป็นจำนวนที่แน่นอนและเป็นที่ยุติว่าต้องชำระนับแต่วันที่จำเลยทราบคำพิพากษาศาลฎีกา จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยอัตรา
ร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7118/2561 โจทก์ร่างสัญญาว่าจ้างให้จำเลยลงลายมือชื่อและจำเลยขอแก้ไขรายละเอียดก่อน แต่จำเลยก็ให้โจทก์เข้าทำงานตามที่ตกลงกันแล้วโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการพูดถึงเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาที่ยังตกลงในสัญญาที่ยังตกลงกันไม่ได้อีก เหตุที่มีการโต้เถียงเรื่องสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเกิดจากการที่โจทก์ทวงถามค่าจ้างจากจำเลย จำเลยจึงอ้างระเบียบของจำเลยที่ต้องทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาโจทก์และจำเลยก็ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาจ้างแต่โจทก์ก็ยอมรับปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับจ้าง ส่วนจำเลยได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างและมีการชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีเช่นนี้ เชื่อได้ว่าโจทก์ตกลงรับจะทำการงานให้แก่จำเลยและจำเลยตกลงให้ค่าจ้างเพื่อการนั้น ทำให้สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยได้เกิดขึ้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 โดยโจทก์และจำเลยมิได้มุ่งหมายให้สัญญาจ้างทำของพิพาทต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้คู่สัญญาลงชื่อในสัญญาอีก สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7107/2561 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน 193 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว 191 เม็ด แต่ทางพิจารณากลับได้ความว่าจำเลยโทรศัพท์แจ้งให้ ว. ไปรับเมทแอมเฟตามีน 191 เม็ดที่อื่น ซึ่งมิใช่ที่ห้องพักของจำเลย ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยได้นำเมทแอมเฟตามีนจากห้องพักไปวางไว้ด้วยตนเองหรือใช้ให้บุคคลใดนำไปวาง ส่วนเมทแอมเฟตามีนอีก 2 เม็ด ได้ความจาก พันตำรวจโท ก. ว่า พบอยู่บนที่นอนภายในห้องพักของจำเลย ประกอบกับจำเลยรับว่าเสพเมทแอมเฟตามีนมาก่อน และจากการตรวจปัสสาวะของจำเลยพบสารเมทแอมเฟตามีน จึงเชื่อว่าเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด ที่ค้นพบภายหลังเป็นของจำเลยมีไว้เพื่อเสพและเป็นคนละส่วนกับเมทแอมเฟตามีนที่มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่าย การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน 191 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายกรรมหนึ่ง และฐานมีเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตกรรมหนึ่ง แม้โจทก์จะฟ้องข้อหาว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 193 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7100/2561 การที่จำเลยรับฝากเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้จาก ส. ด้วยการซุกซ่อนไว้ในเสื้อยกทรงของจำเลยในขณะที่จำเลยกับพวกขับรถผ่านด่านตรวจเพื่อช่วยเหลือ ส. ให้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางให้รอดพ้นจากการตรวจค้นของเจ้าพนักงานตำรวจโดยไม่ถูกจับกุม เป็นการช่วยเหลือเพื่อให้ความสะดวกแก่ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน ส. ให้กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7088/2561 จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ติดตั้งประตู หน้าต่าง และงานอื่น ๆ ที่ใช้วัสดุเป็นอะลูมิเนียมและกระจกในอาคารชุด ท. โจทก์ส่งมอบงานให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว แต่ปรากฏว่างานที่โจทก์ทำยังมีข้อบกพร่อง และจำเลยได้ทักท้วงให้โจทก์เข้าแก้ไขงานโดยตลอด การที่โจทก์ไม่เข้าไปแก้ไขงานที่รับจ้างให้เรียบร้อย แต่เกี่ยงให้จำเลยชำระค่าจ้างเสียก่อน โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ฝ่ายจำเลยย่อมชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 599 แต่สินจ้างที่จำเลยอาจใช้สิทธิยึดหน่วงไว้ได้นั้น จำเลยชอบที่จะยึดหน่วงไว้เพียงจำนวนเพื่อเป็นประกันตามสมควรในงานจ้างที่ชำรุดบกพร่องเท่านั้น ตามนัยมาตรา 599 จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินจ้างเกินกว่าความเสียหายที่เกิดจากงานจ้างที่ชำรุดบกพร่องดังกล่าว เมื่อความเสียหายของจำเลยตามฟ้องแย้งเห็นได้ว่าน้อยกว่าจำนวนค่าจ้างที่ค้างชำระมาก จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงสินจ้างเกินกว่าความเสียหายดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าจ้างจากจำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7068-84/2561 คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 14 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางของห้องชุดแต่ละห้อง ซึ่งตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 กำหนดให้นิติบุคคลอาคารชุดมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลทรัพย์ส่วนกลางและมีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว การขอให้นิติบุคคลอาคารชุดจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระและออกหนังสือปลอดชำระหนี้ อยู่ในอำนาจหน้าที่และขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 โดยตรง เมื่อทางพิจารณาของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 14 ซึ่งเป็นผู้จัดการหรือในฐานะตัวแทนของนิติบุคคลอาคารชุดดังกล่าวกระทำการนอกเหนือจากขอบอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 35 อันมีลักษณะเป็นการละเมิดหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 14 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์ย่อมต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศให้ผู้เข้าประมูลซื้อทราบก่อนที่จะทำการขายทอดตลาดห้องชุดพิพาทแต่ละห้อง เมื่อตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อนและผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนโอนกรรมสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ทั้งตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นผู้แถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดเดิมค้างชำระมาหักออกจากราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี ประกอบกับในการประกาศขายทอดตลาดห้องชุดบางห้อง เจ้าพนักงานบังคับคดีระบุจำนวนหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางไว้ในประกาศด้วย โจทก์ย่อมทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระก่อนโจทก์เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังเข้าประมูล ย่อมแสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะถือเอาประโยชน์จากอายุความในหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวต่อไป ถือได้ว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่ ในส่วนของเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเนื่องมาจากเจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายในกำหนดนั้น แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) จะไม่ได้บัญญัติให้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ที่กำหนดให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากเจ้าของร่วมก็ต่อเมื่อเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกำหนด เงินส่วนนี้เป็นลักษณะของการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ชอบที่จะเรียกร้องเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากโจทก์ได้ ทั้งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 เรียกไม่เกินอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว เมื่อพฤติการณ์เชื่อได้ว่าโจทก์ทราบถึงภาระหนี้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแล้วเช่นกัน เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ก็ต้องถือว่าโจทก์สละประโยชน์แห่งอายุความแล้วเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 และขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้สำหรับห้องชุดแต่ละห้องให้แก่โจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7054/2561
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ด้วยการปลอมโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นของตนและนำสำเนาโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกันหนี้ โจทก์หลงเชื่อจึงให้จำเลยที่ 1 กู้เงินโดยทำสัญญากู้เงินและมอบเงิน 140,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จในวันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์อีกว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินและขอใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ต่อไป โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ไว้ให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์จึงหลงเชื่อยอมรับหลักประกันดังกล่าวและขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 สำเร็จไปแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าในการหลอกลวงครั้งหลังจำเลยทั้งสองได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินกู้ 140,000 บาท ที่ได้รับไปแล้ว แม้ว่าโจทก์จะทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่กับจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นเพียงขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น หาได้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในสัญญากู้เงินฉบับเดิมแต่อย่างใดไม่ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้นำสัญญากู้เงินดังกล่าวไปฟ้องคดีแพ่งและศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จึงมิได้มีผลให้โจทก์หรือทำให้โจทก์ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7028/2561
เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเลิกกันและไม่ปรากฏว่าหุ้นส่วนได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่น จึงต้องจัดให้มีการชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง ซึ่งมาตรา 1061 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หุ้นส่วนได้ตกลงร่วมกันชำระบัญชีโดยได้เริ่มต้นกระบวนการชำระบัญชีทำการรวบรวมรายรับรายจ่ายเพื่อการจัดทำบัญชีและทำการชำระหนี้ค้างชำระแก่ธนาคารผู้ให้กู้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแล้ว แต่เกิดข้อโต้แย้งขึ้นในขั้นตอนสรุปผลกำไรขาดทุนของห้างหุ้นส่วนเพราะผู้เป็นหุ้นส่วนอ้างค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการชำระบัญชีต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้คืนทุนและแบ่งผลกำไร
โจทก์จะมีสิทธิได้รับคืนทุนและส่วนแบ่งผลกำไรของห้างหุ้นส่วนต่อเมื่อได้มีการจัดสรรสินทรัพย์และหนี้สินของห้างหุ้นส่วนและทำการชำระหนี้ของห้างหุ้นส่วนครบถ้วนแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1062 เมื่อโจทก์และจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับผลกำไรขาดทุนทำให้กระบวนการชำระบัญชีไม่อาจดำเนินต่อไปได้ ถือไม่ได้ว่าหนี้การคืนทุนและแบ่งผลกำไรให้แก่โจทก์ถึงกำหนดชำระแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินทุนและกำไรของห้างหุ้นส่วนนับแต่วันที่จำเลยทั้งสองได้รับเงินตามสัญญาซื้อขายตามฟ้อง แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกเงินทั้งสองจำนวนและจำเลยทั้งสองปฏิเสธ จำเลยทั้งสองจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7018/2561
มาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง..." ดังนี้ เมื่อตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า ในส่วนคดีอาญาศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ที่ให้ยกฟ้อง เป็นผลให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์เป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยไม่มีอำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์อีกต่อไป จึงเป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นในคดีริบทรัพย์สินตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ดำเนินกระบวนพิจารณามีคำสั่งริบทรัพย์สินโดยมิชอบ มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติของมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมและเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ร.2/2549 ที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบเพื่อให้เพิกถอนคำสั่งริบทรัพย์สินและคืนเงินที่ริบแก่โจทก์ต่อไป โจทก์จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่หาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะที่ยื่นฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6997/2561
คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองมีอำนาจสั่งพักราชการโจทก์ได้ แม้คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยยังไม่ได้เสนอความเห็นต่อคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองว่าสมควรจะสั่งพักราชการโจทก์ เพื่อมิให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการต่อไปอันจะเป็นการเสียหายแก่ราชการหรือไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6996/2561
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งก่อนวันเปิดทำการของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกา และให้นำบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับในการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกา" คดีนี้ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2560 เป็นระยะเวลาภายหลังจากกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และภายหลังจากศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเปิดทำการแล้ว (เปิดทำการ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559) เมื่อโจทก์ร่วมยื่นฎีกา ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2560 เกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาใช้บังคับตาม มาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กหรือเยาวชน ตามมาตรา 180 ต้องห้ามมิให้ฎีกา" เช่นนี้หลักเกณฑ์ในการฎีกาคำพิพากษาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่แก้ไขใหม่ จึงแตกต่างไปจาก มาตรา 183 (เดิม) ซึ่งหากคู่ความฎีกาคำพิพากษาเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน แม้จะเป็นกรณีที่ศาลกำหนดให้ส่งฝึกและอบรมเกินกว่า 3 ปี ตามมาตรา 180 ก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ฎีกาของโจทก์ร่วมที่เกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6979/2561
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันทำไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ที่ขึ้นอยู่ในป่าและร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูป โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าที่เกิดเหตุเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินจึงเป็นป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) เมื่อทางนำสืบของโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่าที่เกิดเหตุเป็นป่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม้ของกลางที่ยังมิได้แปรรูปที่จำเลยทั้งสี่มีไว้ในครอบครองเป็นไม้จำนวนเดียวกันกับไม้ที่จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำไม้ในที่เกิดเหตุซึ่งไม่ใช่ป่าแต่เป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ การที่จำเลยทั้งสี่มีไม้ดังกล่าวไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6973/2561
เมื่อศาลพิพากษาให้เงินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดิน แม้จะถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ตามคำร้องของผู้ร้องและคำสั่งศาลชั้นต้นเป็นการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินโดยตรงอันเป็นผลตามกฎหมาย และมิใช่กรณีบังคับตามสิทธิเรียกร้องทางแพ่ง แผ่นดินมิได้มีฐานะเป็นบุคคลที่มีมูลหนี้เหนือผู้คัดค้านในเงินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติอันที่จะเป็นเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 เพื่อจะคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านร่ำรวยผิดปกติและตกเป็นของแผ่นดินได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินนั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6964/2561 แม้โจทก์จะเป็นบุตรของ บ. เจ้าของกรรมสิทธ์รถยนต์และเป็นผู้ถือครองรถยนต์คันดังกล่าวในขณะเกิดเหตุ โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้รับความเสียหายในส่วนของค่าซ่อม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าซ่อมรถยนต์ สำหรับค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันเกิดเหตุนั้น ถึงแม้โจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันเกิดเหตุแต่โจทก์นำรถยนต์ดังกล่าวมาใช้ประกอบอาชีพทุกวัน โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์ เมื่อสิทธิของโจทก์ที่จะได้ครอบครองใช้สอยประโยชน์จากรถยนต์คันเกิดเหตุได้รับความกระทบกระเทือนเสียหายจากเหตุละเมิด โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่ทำให้โจทก์ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยได้ ขณะโจทก์ขับรถอยู่ในช่องเดินรถของตนซึ่งเป็นทางตรง มีโควิ่งออกมาจากข้างทาง โจทก์ขับรถชนโคกระเด็นไปไกลประมาณ 10 เมตร ทำให้เห็นได้ว่าเป็นการชนอย่างแรง จึงเชื่อว่าโจทก์ขับรถด้วยความเร็วมากพอสมควร หากโจทก์ไม่ขับรถด้วยความเร็วต้องสามารถหยุดรถได้ทัน หรือหากหยุดไม่ทันลักษณะการชนต้องไม่รุนแรงอย่างผลที่เกิดเหตุเช่นนี้ การที่โจทก์ขับรถผ่านถนนที่เกิดเหตุซึ่งเป็นเขตชุมชนมีป้ายเตือนให้ลดความเร็ว บริเวณข้างทางมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัย มีผู้คนสัญจรผ่านไปมา จึงต้องระมัดระวังลดความเร็วลง พฤติการณ์ดังกล่าวของโจทก์รับฟังได้ว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ด้วย มิใช่จำเลยประมาทเพียงฝ่ายเดียว ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยมีส่วนประมาทในการก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโจทก์ จำเลยไม่อุทธรณ์ข้อเท็จจริงนี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รับฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายต่อกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6954/2561
แม้การเสียค่าขึ้นศาลจะต้องเสียในเวลาที่ยื่นฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 ประกอบตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ก็ตาม แต่ตามมาตรา 150 วรรคห้า บัญญัติว่า ในกรณีที่บุคคลซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ต่างยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแยกกัน โดยต่างได้เสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาตามความในวรรคสอง หากค่าขึ้นศาลดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าขึ้นศาลที่คู่ความเหล่านั้นต้องชำระในกรณีที่ยื่นอุทธรณ์หรือฎีการ่วมกัน ให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้วแต่กรณี มีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่คู่ความเหล่านั้นตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่คู่ความแต่ละคนได้ชำระไปในเวลาที่ศาลนั้นมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง เช่นนี้เมื่อมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 5 ได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาครบถ้วนแล้ว จึงมีผลต่อจำเลยที่ 5 ด้วย จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาอีก ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 5 วางค่าธรรมเนียมศาลในส่วนของตน จึงไม่ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6947 - 6948/2561
ปัญหาว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นคำชี้ขาดที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 (2) (ข) เนื่องจากฝ่าฝืนกฎหมายเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานกรณีรับฟังพยานเอกสารที่ไม่มีการปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 18 ข้อนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยสรุปสาระสำคัญได้ว่า ผู้ร้องยื่นข้อเสนอต่อคณะอนุญาโตตุลาการให้ผู้คัดค้านชำระค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบและก่อสร้าง คอนโดมิเนียม และสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติม ผู้คัดค้านไม่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้ทำสัญญาดังกล่าวกับผู้ร้อง เพียงแต่ปฏิเสธว่าสัญญาดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ ข้อพิพาทในชั้นอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องกับผู้คัดค้านทำสัญญาจ้างเหมาออกแบบก่อสร้างและสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมหรือไม่ การที่คณะอนุญาโตตุลาการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยถึงความมีอยู่ของสัญญาจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องกับสัญญาจ้างเหมาออกแบบก่อสร้าง ซึ่งได้ชำระค่าอากรแสตมป์ครบถ้วนแล้ว จึงชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วรรคสอง แล้ว การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6930/2561
จำเลยที่ 1 ข้ามเขตแดนไปสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีน โดยจำเลยที่ 2 มีส่วนรู้เห็นเป็นอย่างดี ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานควบคุมตัวไว้ก่อน ทำให้ไม่มีอิสระที่จะไปรับเมทแอมเฟตามีนตามที่นัดหมายกับพวกไว้ได้ โดยจำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนก็เพราะเจ้าพนักงานสั่งให้ไปรับ ส่วนจำเลยที่ 1 แม้ปฏิเสธไม่ยอมไปรับด้วย แต่เมทแอมเฟตามีนถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้เพราะพวกของจำเลยที่ยืนอยู่ในแม่น้ำเหืองฝั่ง ส.ป.ป. ลาว ขว้างข้ามเขตแดนมาให้จำเลยที่ 2 ตามที่โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบไว้ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการร่วมลงมือกระทำการนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว เพียงแต่การกระทำนั้นยังไม่บรรลุผล จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันพยายามนำเมทแอมเฟตามีนเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย
เมื่อจำเลยที่ 2 เก็บเมทแอมเฟตามีนที่พวกของจำเลยขว้างข้ามเขตแดนมาก็ส่งให้เจ้าพนักงานทันที ไม่สามารถยึดถือไว้เพื่อตนได้ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2561
สัญญาว่าจ้างบริการทำความสะอาดอาคารและสถานที่ กำหนดว่า การจะเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในสัญญา โดยเฉพาะอัตราค่าบริการ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกันเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและแนบท้ายสัญญาไว้ด้วย ต้องถือว่าอัตราค่าบริการเป็นสาระสำคัญของสัญญา เพราะโจทก์เข้ามาทำงานรับจ้างทำความสะอาดอาคารและสถานที่ให้จำเลย ก็หวังจะได้ค่าบริการจากจำเลยเป็นการตอบแทนนั่นเอง การที่โจทก์มีหนังสือขอปรับขึ้นค่าบริการ ไปถึง จ. ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง และ ภ. ฝ่ายแม่บ้าน ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลย บุคคลทั้งสองไม่มีอำนาจตกลงเปลี่ยนแปลงข้อสัญญากับโจทก์ได้ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการปรับขึ้นค่าบริการ การตกลงที่สำคัญเช่นนี้โจทก์ต้องมีหนังสือไปถึงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย เมื่อกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยไม่ได้ตกลงกับโจทก์ ไม่ได้มีการทำข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หนังสือปรับขึ้นค่าบริการของโจทก์จึงยังไม่ผูกพันให้จำเลยต้องรับผิดในอัตราค่าบริการใหม่ที่โจทก์กำหนดขึ้นเอง แม้หลังจากที่พนักงานของจำเลยได้รับหนังสือขอปรับขึ้นค่าบริการแล้วจะยังมีการจัดซื้อจัดจ้างโจทก์ก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าจำเลยได้ตกลงยินยอมให้โจทก์ปรับขึ้นค่าบริการแล้ว จึงไม่มีผลให้โจทก์สามารถคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ เพราะพนักงานดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ทั้งโจทก์ยอมรับว่า จำเลยยังไม่เคยจ่ายเงินค่าบริการในอัตราที่โจทก์กำหนดขึ้นใหม่ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด เท่ากับว่าจำเลยยังไม่ได้ตกลงด้วยกับโจทก์ในการปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการใหม่ โจทก์ย่อมไม่อาจคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ และเนื่องจากระหว่างพิจารณา จำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างหรือค่าบริการที่ค้างชำระให้จนโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างในอัตราเดิมจากจำเลยอีกต่อไปแล้ว และค่าจ้างหรือค่าบริการในอัตราใหม่ก็ไม่ผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าจ้างหรือค่าบริการค้างจ่ายจากจำเลยได้อีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6888/2561
ป.วิ.พ. มาตรา 304 (เดิม) ที่ใช้บังคับในขณะฟ้อง บัญญัติสรุปได้ว่า การยึดอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำโดยนำหนังสือสำคัญสำหรับทรัพย์สินนั้นมาเก็บรักษาและฝากไว้ ณ สถานที่ใด หรือแก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งการยึดนั้นให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินผู้มีหน้าที่ทราบ ให้เจ้าพนักงานที่ดินบันทึกการยึดไว้ในทะเบียน เมื่อได้แจ้งการยึดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินนั้นแล้ว ให้ถือว่าเป็นการยึดตามกฎหมาย เช่นนี้ การยึดอสังหาริมทรัพย์ดังเช่นการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้โดยที่ดินพิพาทมี น.ส.3 ก. อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงแต่นำเอา น.ส.3 ก. มาเก็บรักษาไว้และฝากไว้แก่บุคคลใดตามที่เห็นสมควร และแจ้งรายการทรัพย์ที่ยึดให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าพนักงานที่ดินทราบ ย่อมถือว่าเป็นการยึดตามกฎหมายแล้ว การที่โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ต้องนำส่งภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินและแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ประกอบการยึด ก็เพื่อประโยชน์ในการปิดประกาศการยึดและการทำแผนที่ในการประกาศขายทอดตลาดเพื่อให้ผู้ซื้อทรัพย์มีแนวทางในการตรวจสอบสถานที่ที่ตั้งทรัพย์เท่านั้น หากภาพถ่ายสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินหรือแผนที่ที่ตั้งทรัพย์ไม่ถูกต้อง ก็มิได้ผูกมัดเจ้าพนักงานบังคับคดีแต่อย่างใด โจทก์หรือผู้แทนโจทก์ย่อมมีสิทธิแก้ไขให้ถูกต้องได้ การที่ จ. ผู้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแถลงให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่ตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยผู้แทนจำเลยที่ 1 ระบุว่าเป็นทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 ซึ่งผิดไปจากความจริง เพราะที่ถูกแล้วจะต้องเป็นทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 นั้น จึงเป็นกรณีที่ผู้แทนจำเลยที่ 1 แถลงผิดพลาดไป แต่หาทำให้การยึดเสียไปไม่ เพราะขั้นตอนการยึดได้กระทำโดยครบถ้วนตามกฎหมายดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ประกอบกับข้อเท็จจริงได้ความจาก ถ. กรรมการโจทก์คดีนี้ว่า ที่ดินที่ซื้อจากการขายทอดตลาดเป็นการซื้อเหมา รวม 64 แปลง รวมสิ่งปลูกสร้างเป็นบ้านทาวน์เฮาส์ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จประมาณ 30 ห้อง และก่อนที่จะซื้อทอดตลาดโจทก์เข้าไปตรวจสอบที่ดินทุกแปลง โดยทาวน์เฮาส์ทุกหลังที่อยู่บนที่ดินต้องทำการปรับปรุงซ่อมแซมทุกหลัง อีกทั้งได้ความจาก ส. พยานโจทก์ว่า ทรัพย์ที่โจทก์ซื้อทอดตลาดแต่ละหลังยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ดังนั้น การที่ จ. ผู้นำยึดทรัพย์แทนจำเลยที่ 1 ได้ทำการยึดทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยถูกต้อง และโจทก์ซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดที่มีการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ รวม 64 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยถูกต้อง เมื่อดูตามภาพถ่ายแล้ว ปรากฏว่าสภาพภายนอกของทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 และ 129/78 มีสภาพไม่ต่างกัน เพียงแต่ทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 มีประตูโครงเหล็กกั้นเท่านั้น ส่วนสภาพภายในไม่ปรากฏชัด และเมื่อพิเคราะห์สภาพโครงการตามภาพถ่ายเห็นได้ชัดเจนว่าเหตุที่ทาวน์เฮาส์ของโครงการยังสร้างไม่เสร็จเพราะมีการทิ้งร้างโดยมีสภาพเหมือนกันทุกหลัง การที่ จ. ระบุเลขที่บ้านผิดพลาดไปซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ ไม่น่าเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์จนถึงกับทำให้สำคัญผิดไปได้ว่าทาวน์เฮาส์ทุกหลังที่ตนซื้อต้องมีสภาพที่เหมือนทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/78 ตามที่อ้าง เมื่อทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าทาวน์เฮาส์เลขที่ 129/77 มีสภาพต่างจากทาวน์เฮาส์หลังอื่นๆ ที่โจทก์ซื้อทอดตลาดในคราวเดียวกันอย่างไร อันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดราคาในการประมูลซื้อทอดตลาด กรณีความผิดพลาดในการระบุเลขที่บ้านของ จ. จึงยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียหาย คดีฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6812/2561
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ร. ปลัดอำเภอรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายทะเบียนและบัตร มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร บัตรประจำตัวประชาชนและการทะเบียนอื่นๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมการปกครอง ส่วนร้อยตรี ช. รับราชการในตำแหน่งนายอำเภอ มีหน้าที่ปกครองบังคับบัญชาข้าราชการในอำเภอ ตลอดจนควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของสำนักทะเบียนอำเภอ เมื่อระหว่างวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ร. และร้อยตรี ช. อาศัยโอกาสที่ตนเป็นเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจดังกล่าว ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือ ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยให้เป็นผู้มีสัญชาติไทย โดยการเพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้ ย. โดยมีจำเลยทั้งสามให้ความสนับสนุน ช่วยเหลือ และให้ความสะดวกแก่ ร. และร้อยตรี ช. ในการกระทำความผิด และในวันเดียวกัน ย. ซึ่งเป็นบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้มายื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนต่อเจ้าพนักงานซึ่งรับผิดชอบงานบัตรประจำตัวประชาชน ให้หลงเชื่อว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยจริง ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามมุ่งประสงค์ให้เพิ่มชื่อ ย. ในทะเบียนบ้านและให้ทางราชการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่ ย. ในที่สุดนั่นเอง กระบวนการในการกระทำความผิดดังกล่าวสำเร็จลงด้วยการออกบัตรประจำตัวประชาชนในวันที่ 27 สิงหาคม 2544 ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2554 ซึ่งยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6794/2561
ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยหมิ่นประมาทโจทก์อันเป็นการกระทำโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 จึงเป็นฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบความผิด คำฟ้องของโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 เป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาอัตราโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 326, 393 พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เห็นได้ว่าเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ดังนั้น แม้ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานดูหมิ่นซึ่งหน้ามีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) เดิม แต่ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ใช้กับกรณีกระทำการโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางอินเทอร์เน็ตหรือทางออนไลน์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมหรือเท็จ ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนแต่ไม่ใช้กับกรณีนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งมีบทบัญญัติตาม ป.อ. ระบุไว้ว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่มีมูลเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่แก้ไขใหม่ อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2561
การที่จะถือว่าเป็นสาธารณภัยต้องเป็นภัยที่เกิดแก่คนหมู่มากอันมีผลกระทบต่อสาธารณชน ได้ความว่าบ้านพักของจำเลยซึ่งตั้งอยู่ที่ซอยประชาชื่น 35 มีการยกระดับถนนประชาชื่นสูงกว่าถนนในซอย ทำให้ระดับบ้านของจำเลยมีน้ำท่วมขังในเวลาที่ฝนตกหนัก สาเหตุที่น้ำท่วมบ้านของจำเลยเกิดจากการระบายน้ำในท่อไม่ทัน แต่เมื่อฝนหยุดตก 5 ถึง 6 ชั่วโมง น้ำจึงระบายออกหมด การที่น้ำท่วมบ้านจำเลยดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นสาธารณภัย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุสาธารณภัยเพื่อให้ตนเองพ้นผิดในการใช้รถยนต์เทศบาลเมืองคูคตขนทรายพิพาทไปใช้โดยขัดต่อระเบียบหาได้ไม่ ทั้งจำเลยนำทรายพิพาทไปคืนหลังเกิดเหตุแล้วถึง 5 เดือน ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ส่อเจตนาว่า จำเลยนำทรายพิพาทไปใช้เพื่อประโยชน์ของจำเลย ไม่ใช่เป็นการยืมทรายพิพาทแล้วนำมาใช้คืนตามที่กล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยเป็นการอาศัยอำนาจในตำแหน่งนายกเทศมนตรีสั่งการให้ใช้รถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคตขนย้ายทรายพิพาทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติ
สำหรับองค์ประกอบตามความผิด ป.อ. มาตรา 147 และ 151 ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ได้เบียดบังทรัพย์ที่ตนมีหน้าที่ดังกล่าวเป็นของตนโดยทุจริตหรือใช้อำนาจในตำแหน่งดังกล่าวโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ พยานโจทก์ที่นำสืบมาไม่ได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด อย่างไร เพียงได้ความแต่ว่าจำเลยเป็นนายกเทศมนตรีเมืองคูคต มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของเทศบาลและมีอำนาจสั่งอนุญาตให้ซื้อหรือจ้างทุกวิธีที่ใช้จ่ายจากเงินรายได้ไม่จำกัดวงเงินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ส่วนการจัดซื้อทรายพิพาทได้ความว่าอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของฝ่ายโยธา ในขณะที่การจัดการดูแลรับผิดชอบรถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคต เป็นหน้าที่ของงานป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อยของเทศบาลเมืองคูคต เห็นได้ว่า จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเกี่ยวกับงานราชการของเทศบาลเมืองคูคต ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 และ 151 แต่การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาศัยอำนาจในตำแหน่งนายกเทศมนตรีสั่งการให้ใช้รถยนต์ของเทศบาลเมืองคูคตขนทรายพิพาทไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่เทศบาลเมืองคูคตจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6791/2561
เงินการฌาปนกิจสงเคราะห์ที่หน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักพระราชวังจัดส่งมาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบนำส่งกองคลัง สำนักพระราชวัง สำหรับจัดสรรเป็นสวัสดิการเกี่ยวกับการฌาปนกิจสงเคราะห์ของสมาชิกที่ล้วนเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างหน่วยงานกิจการในพระองค์ ถือเป็นกิจการภายในของส่วนราชการ มิได้มีวัตถุประสงค์จัดตั้งให้เป็นสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ที่มีกฎหมายบังคับให้จดทะเบียนและมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 มาตรา 5 โดยงานการฌาปนกิจสงเคราะห์ของสำนักพระราชวังมีระเบียบใช้บังคับเป็นการเฉพาะ ดังนี้ กรณีที่เกิดความเสียหายแก่เงินที่ข้าราชการหรือลูกจ้างกิจการในพระองค์จัดส่งมาสำหรับใช้ในกิจการดังกล่าว สำนักพระราชวังที่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเงินในส่วนนี้ย่อมเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำทุจริตเงินดังกล่าวได้ การสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง และการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการสอบสวนและไต่สวนที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6768/2561
จำเลยที่ 5 ได้รับค่าจ้างขับรถจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ครั้งแรก 25,000 บาท ครั้งที่สอง 50,000 บาท ค่าจ้างดังกล่าวเมื่อรวมกับค่าบัตรโดยสารเครื่องบินของจำเลยที่ 5 และที่ 6 อีกสองครั้งที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระให้แล้ว จึงเป็นค่าจ้างที่สูงกว่าปกติสำหรับการรับจ้างขับรถยนต์ตามปกติทั่วไป จำเลยที่ 5 ให้การในชั้นสอบสวนหลังถูกจับเพียง 1 วัน โดยมีทนายความร่วมฟังการสอบสวนและลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องด้วย น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 5 ให้การด้วยความสมัครใจตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น จึงใช้ยันจำเลยที่ 5 ในชั้นพิจารณาได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวแล้ว ก็ปรากฏว่าสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การในชั้นจับกุม ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 5 ดังกล่าว เชื่อว่าจำเลยที่ 5 ทราบว่าภายในรถยนต์ ยี่ห้อซันยอง มีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ก่อนที่จะรับจ้าง ขณะจำเลยที่ 5 ขับรถจากจังหวัดสมุทรสาครไปอำเภอหาดใหญ่ จำเลยที่ 5 จึงเป็นผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง การกระทำของจำเลยที่ 5 กับพวกจึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ ถือว่าจำเลยที่ 5 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6766/2561
แม้ ป.วิ.อ. มาตรา 84 ววรรคท้าย ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จะห้ามมิให้รับฟังคำรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นพยานหลักฐาน แต่กฎหมายห้ามมิให้รับฟังถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับเท่านั้น แต่มิได้ห้ามรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิดอื่น จึงรับฟังบันทึกการจับกุม บันทึกถ้อยคำ และภาพถ่ายการชี้ตัว ประกอบคำเบิกความของพยานโจทก์ผู้จับกุมเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 13 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปีและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6751/2561 คดีที่เสร็จไปโดยการที่ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ (เจ้าหนี้) ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 นั้น เป็นผลจากการที่โจทก์ละทิ้งหรือทอดทิ้งคดีของตน ทำนองเดียวกับคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่ถอนฟ้องและทิ้งฟ้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ซึ่งให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง โจทก์จึงไม่ได้รับประโยชน์จากการฟ้องคดีที่จะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์ขาดนัดพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 202 มีผลอย่างเดียวกับคำพิพากษาของศาลที่ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิที่จะฟ้องใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง เมื่ออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ครบไปแล้วในระหว่างการพิจารณาคดี โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งจำหน่ายคดีถึงที่สุด (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6737/2561
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานหรือไม่ และหากยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ การที่ ช. มาให้ถ้อยคำในชั้นพิจารณาของอนุญาโตตุลาการว่าไม่ได้เป็นฝ่ายประมาทแต่ในคืนเกิดเหตุพนักงานสอบสวนขอร้องให้รับสารภาพเพื่อช่วยเหลือทายาทของผู้ตายให้เบิกเงินจากบริษัทประกันภัยได้นั้น อนุญาโตตุลาการไม่เชื่อว่าพนักงานสอบสวนจะพูดขอร้อง ช. ต่อหน้าตัวแทนของบริษัทประกันภัย อีกทั้งการที่ตัวแทนบริษัทประกันภัยลงลายมือชื่อในบันทึกดังกล่าวเท่ากับยอมรับว่าบันทึกฉบับดังกล่าวเป็นเอกสารที่ถูกต้อง จึงมีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ช. จอดรถบนไหล่ทางในที่มืดมีแสงสว่างไม่เพียงพอจึงเป็นฝ่ายประมาท ส่วนประจักษ์พยานที่ไปให้ถ้อยคำในชั้นพิจารณาของอนุญาโตตุลาการว่าที่เกิดเหตุมีแสงสว่างเพียงพอมองเห็นได้ในระยะ 150 เมตร นั้น มีน้ำหนักน้อยกว่าไม่อาจหักล้างการยอมรับของ ช. ได้ การที่อนุญาโตตุลาการได้พิจารณาพยานหลักฐานทั้งหมดของทั้งสองฝ่าย แล้วนำมาชั่งน้ำหนักว่าพยานหลักฐานฝ่ายใดดีกว่ากัน และชี้ขาดว่า ช. เป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียว ให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้ตาย คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการย่อมไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการรับฟังพยานหลักฐานและชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดจึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6666/2561
แม้ปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตผลปาล์มน้ำมันของกลางจะเกิดจากการเพาะปลูกของบริษัท บ. ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ แต่ต้นปาล์มน้ำมันดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นที่ปลูกบนที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่รัฐอนุญาตแล้ว ไม่ปรากฏว่ารัฐหรือบริษัท บ. ได้ดำเนินการให้รื้อถอนต้นปาล์มออกไป แสดงว่าต่างมีความประสงค์ให้ต้นปาล์มน้ำมันเป็นส่วนควบของผืนป่า และเป็นส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ผลปาล์มน้ำมันของกลางที่เกิดจากต้นปาล์มน้ำมันนั้น จึงเป็นดอกผลที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า ผลปาล์มน้ำมันจึงเป็นของป่า จำเลยเข้าไปเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันของกลาง การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิด อันเป็นความผิดฐานเก็บของป่าตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และผลปาล์มน้ำมันของกลางย่อมเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดจึงต้องริบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6661/2561
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.บริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 (1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของต่างด้าว พ.ศ.2551 และให้ใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แทน ซึ่งมาตรา 9 บัญญัติให้การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิด และมาตรา 102 กำหนดโทษสำหรับความผิดดังกล่าวไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2560 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ข้อ 1 ให้มาตรา 102 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป ถือว่าการกระทำความผิดในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เป็นการกระทำที่ไม่มีโทษ จึงไม่เป็นความผิดอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง ส่วนการกระทำความผิดที่เกิดก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 มาตรา 3 แม้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะยังกำหนดให้เป็นความผิด แต่ไม่มีโทษ จึงต้องถือว่า พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดให้การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดอีกต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสองดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันรับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงานโดยผิดกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้จำเลยทั้งสองมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6653/2561
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์อันเป็นการใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องส่งสำเนาคำร้องขอแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน และประกาศคำร้องขอทางหนังสือพิมพ์รายวันแล้ว ไม่มีผู้ใดยื่นคำคัดค้าน จึงเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 เมื่อศาลชั้นต้นได้ดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ การดำเนินกระบวนพิจารณาและคำสั่งของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมาย
แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ถือว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอกมีสิทธิพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้อง และคำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2) ก็ตาม แต่คดีนี้คำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดไปแล้วและข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้คัดค้านไม่ปรากฏว่าผู้ร้องโต้แย้งสิทธิอย่างใดแก่ผู้คัดค้านในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ผู้คัดค้านเพียงแต่อ้างว่ามีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าผู้ร้องและขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์เท่านั้น มิได้ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าผู้คัดค้านมีสิทธิเหนือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ผู้คัดค้านจึงไม่อาจร้องเข้ามาเป็นคู่ความเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) และไม่อาจขอให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6623/2561
ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดทั้ง 2 รายการ ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29 และ 31 ซึ่งเป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลริบทรัพย์สินก่อนวันที่ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ใช้บังคับ คดีของผู้ร้องจึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งสอง จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสอง จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6609/2561 การที่โจทก์ให้ ณ. เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารจำเลย สาขาพาราไดซ์ พาร์ค และเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคาร ท. สาขาหนึ่งพัน โดยโจทก์ออกค่าใช้จ่ายให้จากนั้นให้ ณ. สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ท. จำนวนเงิน 50,000,000 บาท ให้ตนเองแล้วโจทก์นำเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินที่ธนาคารจำเลย สาขาซีคอนสแควร์ เพื่อเข้าบัญชีของ ณ. ที่ธนาคารจำเลยสาขาพาราไดซ์ พาร์ค ทั้งที่โจทก์รู้อยู่แล้วว่าเงินในบัญชีของ ณ. ไม่พอจ่ายตามเช็คและยังกระทำในลักษณะเดียวกันนี้อีกสามครั้งโดยมีเจตนาเพื่อเพิ่มยอดเงินฝากของธนาคารจำเลย สาขาพาราไดซ์ พาร์ค อันเป็นการสร้างผลงาน (KPI) ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตทำให้ตนเองได้รับประโยชน์ว่าสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย การกระทำของโจทก์ส่งผลให้จำนวนเงินที่จำเลยรับฝากผิดไปจากความเป็นจริงทำให้การแปลผลการประกอบการของจำเลยไม่ตรงความจริงตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของตลาดเงิน จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนเป็นสำคัญ การกระทำดังกล่าวอาจทำให้จำเลยขาดความเชื่อถือไว้วางใจในการประกอบธุรกิจส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ เป็นการกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ระบุไว้ว่าพนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต พนักงานผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์อันมิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และผิดวินัยอย่างร้ายแรง และที่ระบุไว้ว่าพนักงานผู้ใดจงใจในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับของธนาคารอาจเป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหายถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง อีกทั้งการที่โจทก์มอบรหัสประจำตำแหน่ง (Password) ของตนเองให้ ว. เพื่อใช้อนุมัติรายการนำฝากเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีนั้น โจทก์เป็นผู้จัดการสาขา รหัสประจำตำแหน่ง (Password) ของโจทก์สามารถใช้ทำธุรกรรมการเงินของสาขาได้ทั้งหมด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายทางการเงินสูงมาก การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการปฏิบัติงานประจำวันของสำนัก/สาขา ที่ระบุไว้ว่าห้ามบอกกล่าวหรือแสดงสัญลักษณ์ใด ๆ อันทำให้ผู้อื่นล่วงรู้ User ID และ Password ของตนเอง มิฉะนั้นจะถือว่ามีความผิดอย่างร้ายแรง และที่ระบุไว้ว่าในระหว่างวันทำการ หากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ มีความจำเป็น ต้องมอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่ท่านอื่นปฏิบัติงานแทน ห้ามมอบหมาย Password ของตนเองอย่างเด็ดขาด การกระทำของโจทก์ทั้งสองกรณีเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรงแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) ในการพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 มิใช่พิจารณาว่าหากการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยดังที่โจทก์อ้าง เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีร้ายแรงแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสี่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6607/2561
ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี..." การบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นกรณีนายจ้างแสดงเจตนาเลิกจ้างหรือลูกจ้างแสดงเจตนาลาออกไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้แสดงเจตนาจะต้องทำตามแบบหรือต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 94 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6591/2561
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุ โจทก์ขับรถยนต์กลับรถในระยะหนึ่งร้อยเมตรจากทางราบของเชิงสะพาน และเป็นบริเวณที่มีสัญญาณจราจรบนทางห้ามรถทั้งสองฝั่งขับรถคร่อมเส้น ห้ามแซง ห้ามกลับรถและห้ามเลี้ยวขวาโดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 ขับรถตามหลังโจทก์มีระยะห่างจากรถยนต์ของโจทก์มากพอสมควร หากโจทก์ไม่เลี้ยวกลับรถฝ่าฝืนกฎหมายและสัญญาณจราจร ทั้งมิได้ให้สัญญาณเปิดไฟเลี้ยวขวา รถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับย่อมไม่เฉี่ยวชนกับรถยนต์ของโจทก์ การที่รถยนต์จำเลยที่ 1 เฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์เป็นผลโดยตรงอันเกิดจากการขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎหมายของโจทก์ ซึ่งเป็นเหตุสุดวิสัยของจำเลยที่ 1 ที่จะหยุดรถได้ทัน เหตุละเมิดเกิดขึ้นจากความประมาทของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยืนยันข้อเท็จจริงแต่เพียงว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์เลี้ยวรถกลับบริเวณที่เกิดเหตุไปด้านตรงข้ามอย่างกะทันหัน จนจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหยุดหรือหักหลบได้ทัน เป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยที่ 1 พุ่งชนรถยนต์ของโจทก์ อันเกิดจากความประมาทของโจทก์ ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาถือไม่ได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นข้อฎีกาที่มิชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ฟ้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6570/2561
ปลอกกระสุนปืนเล็กกลขนาด .223 ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเป็นปลอกกระสุนปืนที่ใช้ยิงไปแล้ว ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 จะใช้ปลอกกระสุนปืนของกลางไปอัดหรือใช้ประกอบให้อยู่ในสภาพเป็นเครื่องกระสุนปืนสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ ดังนั้น ปลอกกระสุนปืนของกลางดังกล่าว จึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน การที่จำเลยที่ 1 มีไว้จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6527/2561
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 39 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะทำการแบ่งแยกหรือโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม หรือโอนไปยังสถาบันเกษตรกร หรือ ส.ป.ก. เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้ให้สิทธิแก่บุคคลทำข้อกำหนดในพินัยกรรมยกที่ดินที่บุคคลได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้แก่ผู้อื่นได้แต่ประการใด เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 เป็นที่ดินที่ ส. ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ข้อกำหนดในพินัยกรรมของ ส. ที่ยกที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 20806 ให้แก่ ถ. มารดาของโจทก์ ย่อมเป็นการใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การนั้นเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ไม่อาจอาศัยสิทธิตามพินัยกรรมมาเรียกร้องให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกได้ตามคำฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาในข้ออื่นของโจทก์ไม่อาจหักล้างเป็นอย่างอื่นและเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีไปได้ ไม่เป็นสาระอันควรได้รับการวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นคำฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6522/2561
โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7 ไม่ใช่ข้อกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของ ร. เพราะด้วยเหตุว่าพินัยกรรมเขียนไว้ให้มีผลเมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตายอันเป็นการกำหนด การเผื่อตายของโจทก์ที่ 1 และข้อกำหนดพินัยกรรมข้อ 1.7.2 และ 1.7.3 ไม่ระบุถึงตัวบุคคลผู้รับพินัยกรรมที่ชัดเจน ข้อกำหนดพินัยกรรมส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เห็นว่า ฎีกาของโจทก์ทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า พินัยกรรมฉบับพิพาทข้อ 1.6 ที่ระบุว่าให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกโดยได้ให้ค่าตอบแทนตามสมควร ไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ชัดเจนว่าเท่าใด จึงไม่มีผลบังคับนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้องจึงเป็นข้อที่ไม่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2561 โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยจำเลยทั้งสามร่วมกันอ้างว่า ด. มีบุตร 3 คน ซึ่งเป็นความเท็จ และร่วมกันแบ่งทรัพย์มรดกของ ด. โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดกของ ด. แบ่งปันกันเอง โดยไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์และบุตร จำเลยทั้งสามสมควรที่จะถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก และมีคำขอที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ตามส่วนให้แก่โจทก์และบุตร ตามคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ให้แก่โจทก์และบุตร ย่อมมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 และไม่อาจถือว่าโจทก์ฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ด. ประกอบกับเหตุแห่งการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกตามฟ้องเกิดขึ้นหลัง ด. ตายเกินกว่าระยะเวลา 1 ปีแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีได้แม้เกินระยะเวลา 1 ปี นับแต่ ด. ถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6441/2561 เจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน 3 แปลง โดยเจ้ามรดกคนที่ 1 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เจ้ามรดกคนที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่เศษ และเจ้ามรดกทั้งสองมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเนื้อที่ 25 ไร่เศษ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสอง จำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก จากนั้นได้โอนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวบ่งชี้ว่าที่ดิน 3 แปลง เป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 จัดการโอนที่ดินมรดกของเจ้ามรดกคนที่ 2 แปลงเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 หลังจากนั้นโจทก์ที่ 3 นำที่ดินไปจำนองไว้แก่ ป. แล้วโอนที่ดินดังกล่าวตีใช้หนี้ ป. เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องไปซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวกลับคืนมาจาก ป. แล้วใส่ชื่อจำเลยที่ 1 กับโจทก์ที่ 4 เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้จัดการมรดกโดยพลการและอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์ที่ 3 และที่ 4 มาตลอด อีกทั้งโจทก์ที่ 3 และที่ 4 ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านการจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 กับมารดาของโจทก์ที่ 2 มีเหตุขัดแย้งกับเจ้ามรดกคนที่ 2 จึงไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินและไม่ไปงานศพของเจ้ามรดกคนที่ 2 มูลเหตุแห่งการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 สืบเนื่องมาจาก ก. บุตรของโจทก์ที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โจทก์ที่ 1 กับ ส. บุตรสาวของโจทก์ที่ 1 จึงมาขอร้องให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทเพื่อนำเงินไปประกันตัว ก. จำเลยที่ 1 ตกลงและขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปบางส่วนเนื้อที่ 20 ไร่ แล้วมอบหมายให้ ม. ภริยาของจำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายไปประกันตัว อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ที่ 1 รับรู้และเห็นชอบในการขายที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 มาแต่ต้น เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนมาจากจำเลยที่ 1 แล้วเข้าทำนาในที่ดินพิพาทแทนที่โจทก์ที่ 1 กับครอบครัว โจทก์ที่ 1 ก็หลีกทางให้เข้ายึดถือทำประโยชน์โดยไม่มีข้อทักท้วงโต้แย้งใด ๆ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยที่ 1 มีอำนาจจัดการที่ดินพิพาทได้เพียงผู้เดียว สอดคล้องกับการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทด้วยการให้จำเลยที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1750 ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เอง จึงมิใช่การมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่น หลังจากเจ้ามรดกคนที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลเจ้ามรดกคนที่ 2 ซึ่งมีอาการป่วยเจ็บหนักและต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนนานหลายวันต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมาก สอดคล้องกับยอดเงินในบัญชีเงินฝากของเจ้ามรดกคนที่ 2 ที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยก่อนถึงแก่ความตาย และยังสอดคล้องกับการที่จำเลยที่ 1 นำเงินที่ได้จากการขายที่ดินมรดกไปชำระหนี้จำนองให้แก่ อ. และ ป. นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ได้อนุญาตให้ ส. บุตรของโจทก์ที่ 1 ทยอยไปขอเบิกเงินที่ได้จากการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จากจำเลยที่ 2 หลายครั้ง อันเป็นข้อบ่งชี้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเพียงฝ่ายเดียว แต่นำไปใช้เพื่ออุดหนุนจุนเจือโจทก์ที่ 3 และที่ 4 รวมทั้ง ก. และ ส. ซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวของโจทก์ที่ 1 มาโดยตลอด ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองที่โจทก์ทั้งสี่ยินยอมให้ตกเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 1 จึงไม่จำต้องแบ่งปันที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ทั้งมีอำนาจในการขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โดยชอบ โดยโจทก์ทั้งสี่ไม่อาจบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6418/2561
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่งนั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น เว้นแต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคำร้องขอคืนก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า (1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด..." ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะยื่นคำคัดค้านผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเพียงผู้เช่าซื้อโดยยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมิใช่เป็นเจ้าของรถยนต์ดังกล่าวในอันที่จะใช้สิทธิร้องขอคืนได้ แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนและรับโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวมา ก็ไม่ทำให้ผู้คัดค้านที่ 3 กลับเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำคัดค้านขึ้นมาได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนรถยนต์ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6413/2561
ร้อยตำรวจโท ส. และร้อยตำรวจเอก ว. ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองว่า ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับเมทแอมเฟตามีนมาจาก ว. แล้วได้แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ไว้ แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้แจ้งที่อยู่ ว. และไม่ได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุม ว. แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อมูลที่จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีการขยายผลจนสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนหรือจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ทั้งยังไม่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
ตามสำเนาบันทึกการจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ท. พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 5,967 เม็ด เป็นของกลางโดยการใช้สายลับล่อซื้อภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว ทั้งข้อเท็จจริงในการจับกุม ท. ก็ไม่ปรากฏในทางนำสืบของพยานโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ 1 ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 เพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้อ้างในชั้นอุทธรณ์จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6403/2561
การที่บริษัท ส. ลูกหนี้ชั้นต้นถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย และธนาคาร น. เจ้าหนี้ ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14(3) อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่บริษัท ส. ลูกหนี้ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 692 เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2543 จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์
จึงขาดอายุความ แม้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 บริษัท ม. ผู้ค้ำประกันร่วมได้ชำระหนี้บางส่วนทำให้อายุความดังกล่าวสะดุดหยุดลง แต่ ป.พ.พ. มาตรา 692 หาได้บัญญัติด้วยว่า หากอายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายหนึ่งจะเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันร่วมรายอื่นด้วยไม่ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นนิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้ำประกันกับลูกหนี้ แต่ในระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันบทบัญญัติลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 ซึ่งกำหนดว่า อายุความของลูกหนี้ร่วมคนใดย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ดังนั้นอายุความ
จึงสะดุดหยุดลงเฉพาะแก่บริษัท ม. หามีผลถึงจำเลยซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6322 - 6323/2561
ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 8 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้องแล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาสั่งคำร้องนั้น มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น" และวรรคสองบัญญัติว่า "คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด" ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า คดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้รอการลงโทษจำคุก จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 2 ได้ มิใช่เป็นพยานหลักฐานใหม่อันขัดแย้งและสำคัญแก่คดีไม่ เหตุตามคำร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 (1) (2) (3) แล้วพิพากษายกคำร้อง เท่ากับว่าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องของจำเลยที่ 2 ไม่มีมูล คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ย่อมเป็นที่สุด ตามมาตรา 10 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิฎีกา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6304/2561
ข้อความในบันทึกคำรับสารภาพที่จำเลยทั้งสามต่างเขียนขึ้นเองมีข้อความในส่วนที่ตรงกันสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสามปรึกษาและออกเงินรวบรวมให้จำเลยที่ 1 ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ส. โดยระบุจำนวนเงินของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ด้วย ทั้งยังได้ความจากบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 เพิ่มเติมว่า ที่มีการปรึกษาและรวบรวมเงินไปซื้อเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเนื่องจาก ด. โทรศัพท์ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 3 และตามคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ก็สอดคล้องกันในส่วนที่แสดงว่า จำเลยที่ 1 ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลยที่ 3 เพื่อขายให้แก่ ด. ประกอบกับเมทแอมเฟตามีนที่ตรวจพบยึดได้ที่บ้านจำเลยที่ 2 อยู่ในลักษณะที่เปิดเผยบนโต๊ะและตกบนพื้นบ้าน การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นการกระทำที่สำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งทำให้จำเลยที่ 3 ได้เมทแอมเฟตามีนมาขายให้ ด. ได้สำเร็จ แม้ไม่ปรากฏหลักฐานของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 มีส่วนในการตกลงจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ ด. ก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ไปซื้อเมทแอมเฟตามีนมาให้ ส่วนจำเลยที่ 3 มีหน้าที่จำหน่ายแก่ ด. ข้อเท็จจริงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางบางส่วนตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6293/2561
โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุดแต่งตั้งให้บริษัท ภ. เป็นผู้จัดการ บริษัทดังกล่าวแต่งตั้งให้ ล. เป็นผู้ดำเนินการแทนบริษัทในฐานะผู้จัดการของโจทก์ ซึ่งตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติให้นิติบุคคลอาคารชุดมีผู้จัดการคนหนึ่งซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ ในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้จัดการ ให้นิติบุคคลอาคารชุดนั้นแต่งตั้งบุคคลธรรมดาคนหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการแทนนิติบุคคลในฐานะผู้จัดการ ดังนั้น ล. จึงเป็นผู้จัดการของโจทก์ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ดำเนินการแทนโจทก์ ล. ย่อมมีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับของโจทก์ที่ให้ผู้จัดการมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการจัดการดูแลและรักษาทรัพย์ส่วนกลางทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของร่วม ซึ่งการฟ้องคดีก็ถือว่าเป็นการกระทำอย่างหนึ่งที่อยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6292/2561
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 ผู้คัดค้านในฐานะผู้ถูกบังคับตามคำชี้ขาดจึงอาจยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลชั้นต้นปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 43 ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุตามมาตรา 43 (1) ถึง (6) ที่จะไม่บังคับตามคำชี้ขาดหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ากรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
สัญญาซื้อขายหุ้นกำหนดว่า ความสมบูรณ์ การตีความ และการดำเนินการตามสัญญานี้ให้ใช้บังคับตามกฎหมายไทย ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงถึงการขัดกันของกฎหมาย การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาซื้อขายหุ้นของอนุญาโตตุลาการจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 การที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทั้งสองรับผิดชำระดอกเบี้ยทบต้นรายวัน ซึ่งก็คือให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยได้นั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 224 วรรคสอง และเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน กรณีจึงไม่อาจบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ของอนุญาโตตุลาการได้ ผู้คัดค้านทั้งสองจึงคงรับผิดชำระดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6271/2561 แม้โจทก์ทำหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่ธนาคาร แต่ก็มิใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ผู้โอนประสงค์จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนเป็นการเด็ดขาดโดยผู้รับโอนเข้าเป็นเจ้าหนี้คนใหม่แทนที่ผู้โอนซึ่งหมดสิทธิเรียกร้องต่อไปแล้ว หากแต่เป็นกรณีที่โจทก์นำหนี้ค่าจ้างมาขอสินเชื่อจากธนาคาร ซึ่งเมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินค่าจ้างจากจำเลยได้แล้ว ธนาคารจะหักหนี้ของตนไว้ ส่วนเงินที่เหลือจะคืนให้แก่โจทก์ แม้บันทึกข้อตกลงโอนสิทธิเรียกร้องจะใช้ข้อความว่าโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ให้แก่ธนาคาร แต่ตามเจตนาของคู่กรณีหาใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องกันไม่ เนื่องจากธนาคารผู้รับโอนไม่มีสิทธิได้รับเงินทั้งหมด คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ของตนตามส่วนที่ตกลงกันไว้เท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องคืนให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นเพียงโจทก์มอบอำนาจให้ธนาคารรับเงินแทนโจทก์เท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6254/2561
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตาม มาตรา 106 ทวิ ระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดยังคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดย พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มีกำหนดโทษตามมาตรา 140 วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โทษตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6246/2561
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 กำหนดสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ คดีนี้ใบพืชกระท่อมสดที่จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการศุลกากรรวมราคาของและค่าอากรเข้าด้วยกันแล้วเป็นเงิน 78,000 บาท ลงโทษปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นเงิน 312,000 บาท และไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่า ๆ กัน ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วางโทษปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 156,000 บาท และลดโทษกึ่งหนึ่งให้ปรับจำเลยทั้งสองรวมกันเป็นเงิน 78,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง
แม้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและให้ใช้บทบัญญัติใหม่แทน แต่กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6211/2561
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริหารจัดการอาคารชุดแต่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าจ้าง จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มีหน้าที่เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุดและต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลอาคารชุดตามข้อบังคับหรือตามมติที่ประชุมใหญ่ของเจ้าของร่วมหรือคณะกรรมการ ข้อบังคับของจำเลยกำหนดให้เจ้าของร่วมทุกคนต้องชำระค่าใช้จ่ายล่วงหน้าแก่นิติบุคคลอาคารชุดในวันโอนกรรมสิทธิ์เพื่อไว้เป็นกองทุนหมุนเวียนสำหรับการบริหาร พัฒนาปรับปรุงซ่อมแซม หรือจัดซื้อทรัพย์สินส่วนกลาง และเป็นเงินสำรองใช้ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน และให้ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนำฝากธนาคารในนามของจำเลย แต่โจทก์ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้าดังกล่าวตามข้อบังคับในวันโอนกรรมสิทธิ์ และไม่ได้นำเงินฝากเข้าบัญชีของจำเลย โจทก์กลับออกหนังสือรับรองปลอดหนี้ให้แก่เจ้าของร่วมไปใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์รวม 6 ห้อง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ ประเด็นพิพาทจึงอยู่ที่ว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างบริหารจัดการอาคารชุด หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เรียกเก็บค่าใช้จ่ายล่วงหน้าจากเจ้าของร่วมเรียบร้อยแล้วจึงออกหนังสือรับรองปลอดหนี้ให้เจ้าของร่วมเพื่อใช้ในการโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ไม่ได้ผิดสัญญา จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระค่าจ้างตามฟ้อง แต่หากเป็นไปดังที่จำเลยให้การโจทก์ย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยปฏิเสธการชำระค่าจ้างได้ ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาพิพากษาไปด้วยกันได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6152/2561
แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่า น. เห็นจำเลยและรับเงินจากจำเลยในการส่งข้าวสาร วันที่ 12 สิงหาคม 2558 แต่ศาลฎีกาสามารถรับฟังข้อเท็จจริงของการกระทำผิดในวันดังกล่าวประกอบกับข้อเท็จจริงในการกระทำความผิดของวันที่ 11 กรกฎาคม 2558 ตามฟ้องคดีนี้ได้ เพราะโจทก์ได้นำสืบไว้ในคดีนี้แล้ว ซึ่งสามารถเห็นได้ถึงแผนประทุษกรรมของคนร้าย คือ วิธีการและขั้นตอนในการกระทำความผิดซึ่งซ้ำๆ กัน อันเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจวางแผนจับกุมคนร้ายพวกของจำเลยได้ ทั้งข้อเท็จจริงแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้เป็นเพียงผู้รับจ้างขนถ่ายข้าวสาร แต่เป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการกระทำความผิดโดยร่วมกับ ช. และพวกคนร้าย แบ่งหน้าที่กันทำโดยจำเลยทำหน้าที่ช่วยขนย้ายถ่ายเทข้าวสารที่พวกจำเลยใช้กลอุบายลักมาเพื่อให้พ้นการติดตามจับกุมของผู้เสียหายเพื่อเอาไว้ซึ่งข้าวสารนั้น อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนประทุษกรรมนั่นเอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6045/2561
การที่จำเลยถึงแก่ความตายในระหว่างที่โจทก์ขออนุญาตฎีกา เป็นกรณีที่ไม่อาจดำเนินคดีต่อไปได้เพราะเหตุจำเลยถึงแก่ความตาย ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 32 วรรคสอง การยึดทรัพย์สินของจำเลยจึงยังไม่สิ้นสุด เมื่อผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทของจำเลยได้ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องเข้ามาในคดีนี้ และศาลชั้นต้นไต่สวนจนสิ้นกระแสความทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในประเด็นว่า ทรัพย์สินที่ยึดไว้ในคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่แล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ต่อไป
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6043/2561
โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินจากจำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 จึงมีอายุความห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดสองปีนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 โจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินถึงจำเลยที่ 1 ให้ชำระภาษี เป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอันนับว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2553 อายุความจึงสะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ตั้งแต่พ้น 30 วัน ที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 นำเงินภาษีอากรไปชำระ อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 และเมื่อโจทก์แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ทราบ ย่อมมีผลต่อการบังคับคดีของโจทก์ตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร เป็นการสั่งบังคับตามอำนาจกฎหมายเพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ถือได้ว่าเป็นการที่เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกัน กับการฟ้องคดี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) จำเลยที่ 1 รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์วันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงนับแต่วันดังกล่าวและเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดนับแต่พ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันดังกล่าว ตามมาตรา 31 วรรคสอง แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 วันที่ 30 กันยายน 2556 คดียังไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการและผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เอื้อเฟื้อสอดส่องในการประกอบกิจการของบริษัทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 และในฐานะที่เป็นผู้ชำระบัญชีตาม มาตรา 1252 จำเลยที่ 2 จึงควรจะต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ค่าภาษีอากรจากการยื่นแบบแสดง รายการเสียภาษีไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 2 จะอ้างว่าโจทก์มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 2 จึงไม่ทราบว่ามีหนี้ภาษีอากรหาได้ไม่ เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นการประเมินตนเอง หาจำต้องรอให้เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินมาก่อนไม่ เพียงแต่หากผู้มีหน้าที่ชำระภาษียื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานย่อมมีอำนาจออกหมายเรียกมาไต่สวนและแจ้งการประเมินได้ต่อไปเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ภาษีอากรโจทก์ แต่ไม่นำรายได้ที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 มาลงในงบดุลและไม่จัดการใช้หนี้ให้แก่โจทก์ให้ครบถ้วนตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1250 หรือวางเงินแทนชำระหนี้ตามมาตรา 1254 จำเลยที่ 2 กลับทำงบดุลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2550 (ณ วันเลิก) โดยไม่ถูกต้องแล้วแบ่งกำไรสะสมคืนให้แก่ผู้ถือหุ้น อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 1269 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ในหนี้ภาษีอากรที่ค้างชำระแต่ต้องไม่เกินวงเงินที่เป็นทรัพย์สินคงเหลือ ณ วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี
สำนักสืบสวนและคดีรายงานเรื่องการดำเนินคดีภาษีอากรและการดำเนินคดีละเมิดให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบ ตามบันทึกข้อความลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ซึ่ง ว. ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรได้ลงนามให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ จำเลยที่ 2 ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2556 จึงยังไม่พ้น 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน อีกทั้งไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035 - 6038/2561
การที่พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากรเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งสำนวนไปตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวน อันเป็นขั้นตอนในชั้นสอบสวนคดีอาญา หาได้มีผลผูกพันกับคดีแพ่งไม่ จึงจะนำมารับฟังเป็นที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลในคดีแพ่งไม่ได้ว่าจำเลยไม่ได้สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าภาษีอากรที่ขาด
แม้จำเลยให้การว่า หนังสือแจ้งการประเมินเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในวันนัดชี้สองสถาน ศาลภาษีอากรกลางไม่ได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และไม่ปรากฏว่าจำเลยคัดค้าน จึงถือว่าจำเลยสละประเด็นดังกล่าว ทั้งศาลภาษีอากรกลางไม่ได้วินิจฉัย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง
จำเลยได้รับแบบแจ้งการประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้า/ขาออก ภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีอื่น ๆ (กรณีอื่น ๆ) หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับการประเมิน จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่จำเลยหาได้ใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินไม่ แสดงว่าจำเลยไม่ติดใจโต้แย้งการประเมิน อันมีผลให้การประเมินเป็นอันยุติ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเพื่อขอให้เพิกถอนการประเมินดังกล่าวและย่อมไม่มีสิทธิต่อสู้คดีว่าการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6025/2561
แม้ผู้คัดค้านไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการก็ตาม แต่ผู้คัดค้านได้ยื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำพิพากษายกคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องและมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการมาในคำคัดค้านโดยชำระค่าขึ้นศาลจำนวน 50,000 บาท ต่อศาลชั้นต้นในวันที่ผู้คัดค้านยื่นคำค้านมา ชอบด้วยตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (1) (ข) ถือได้ว่าผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่พิพาทที่ประสงค์จะให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดนั้นชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แล้ว ศาลชั้นต้นมีอำนาจพิพากษาให้บังคับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการได้
เงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อมิให้ดำเนินคดีอาญาแก่แรงงานต่างด้าวในข้อหาทำงานในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายมีลักษณะเป็นเงินสินบนที่ให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้ไม่กระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ซึ่งเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 แม้จะรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้ร้องตกลงให้ผู้คัดค้านหักเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวออกจากเงินค่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ผู้คัดค้านว่าจ้างผู้ร้องให้ทำการก่อสร้างอาคารในคดีนี้ได้ ข้อตกลงที่ให้หักเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวออกจากเงินค่าจ้างดังกล่าวเป็นข้อตกลงที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ข้อตกลงนั้นจึงตกเป็นโมฆะไม่อาจบังคับกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านมีสิทธินำเงินค่าเคลียร์แรงงานต่างด้าวที่ผู้คัดค้านจ่ายให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจมาหักจากเงินค่าจ้างที่จะต้องจ่ายเป็นค่าจ้างแก่ผู้ร้องนั้น เป็นข้อวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 150 แห่ง ป.พ.พ. การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้ย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2561 ที่ดินอันตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์นั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทางภาระจำยอมนี้ทำให้จำเลยที่ 1 ต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์นั้นเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1387 โดยจำเลยที่ 1 ยังมีสิทธิในทางภาระจำยอมอันเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม เพียงแต่มาตรา 1390 ห้ามเจ้าของภารยทรัพย์ประกอบกรรมใด ๆ อันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกเท่านั้น การใช้สิทธิเหนือที่ดินส่วนที่เป็นทางภาระจำยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ต่อไป แม้หากจำเลยทั้งสองก่อสร้างกำแพงคอนกรีต โครงเหล็กเป็นโรงจอดรถยนต์และบันไดคอนกรีตอันจะเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก ก็เป็นการกระทำลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 เอง หาใช่เป็นการเข้าไปกระทำในที่ดินของโจทก์ไม่ หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรชอบที่จะไปว่ากล่าวกันในทางแพ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่มีมูลในความผิดฐานบุกรุก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2561 โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มี ช. เป็นนายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช และเป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุ ในวันเกิดเหตุ ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่เก็บขนถ่ายขยะตามคำสั่งของจำเลยทั้งสอง แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในคำฟ้องว่า ที่ข้างรถบรรทุกคันเกิดเหตุมีข้อความว่า เทศบาลนครนครศรีธรรมราช แต่จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการเก็บขนขยะมูลฝอยเทศบาลนครนครศรีธรรมราชแทนจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 รับว่า ร. ทำหน้าที่ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเพื่อเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 เมื่อการเก็บขนขยะเป็นภารกิจของเทศบาล การขับรถเก็บขนขยะของ ร. จึงเป็นการทำไปตามหน้าที่ในภารกิจของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นการแสดงออกแก่บุคคลทั่วไปว่า ร. เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และรถบรรทุกคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดำเนินการเก็บขนขยะในนามของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของ ร. ด้วย ส่วนจำเลยที่ 1 จะมีสัญญาหรือข้อตกลงกับจำเลยที่ 2 อย่างไร ก็เป็นเรื่องที่จะบังคับกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น หาได้มีผลผูกพันกับบุคคลภายนอกซึ่งรวมถึงโจทก์ทั้งสามด้วยไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ร. ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยทั้งสองและกระทำละเมิด จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกับ ร. รับผิดในผลแห่งละเมิดที่ ร. กระทำด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 425
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5970/2561
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน แต่คำขอท้ายฟ้องไม่ได้อ้างมาตรา 57 และมาตรา 91 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทความผิดและบทลงโทษมาด้วย ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงขาดการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์สำหรับการกระทำความผิดฐานนี้ และลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ไม่ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5943/2561
แม้สูติบัตรจะระบุว่าเจ้ามรดกเป็นมารดาและผู้ร้องเป็นบิดาของผู้ร้องขอ แต่เอกสารดังกล่าวก็หาใช่พยานหลักฐานที่ยืนยันได้อย่างเด็ดขาดว่า ผู้ร้องขอเป็นบุตรของเจ้ามรดกกับผู้ร้องแต่อย่างใด เพราะการที่เอกสารดังกล่าวปรากฏชื่อเจ้ามรดกกับผู้ร้องเป็นมารดาและบิดาของผู้ร้องขอ ก็เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับการบอกเล่าและบันทึกลงในเอกสารดังกล่าวตามการบอกกล่าวของผู้แจ้งเท่านั้น หาใช่เป็นการตรวจพิสูจน์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่หากมีการคัดค้านเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 6 ต้องมีภาระการพิสูจน์ความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารดังกล่าว
ผู้ที่มีอำนาจยื่นคำคัดค้านและขอให้ศาลตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 บัญญัติว่า "ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้" ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 7 มิได้เป็นทายาทของเจ้ามรดก และแม้ผู้คัดค้านที่ 7 จะเป็นทายาทของผู้ร้องและผู้ร้องมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านที่ 7 เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5765/2561
ตาม ป.อ. อาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเองหรือของผู้อื่น หรือโดยใช้กำลังประทุษร้ายจนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ..." ดังนี้ การที่ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้นตามที่ถูกข่มขืนใจจึงเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานนี้ด้วย ซึ่งโจทก์ต้องบรรยายให้ปรากฏในคำฟ้อง เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยบังอาจถืออาวุธปืนพร้อมกับชี้นิ้วและพูดจาข่มขู่เพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 กระทำการก่อสร้างที่พักคนงาน อันเป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 เกิดความกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย โดยโจทก์มิได้บรรยายว่า ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 ผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น ไม่กระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้นหรือไม่ จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดตามกฎหมายดังกล่าวที่โจทก์ขอให้ลงโทษ คำฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5747/2561
เจตนารมณ์ของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดในชั้นที่ถูกกล่าวหาตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เพื่อเยียวยาแก้ไขเสียก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล และเป็นบทบังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตราดังกล่าวไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คดีนี้จำเลยทั้งสามถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และเสพเมทแอมเฟตามีน รวม 3 ฐาน แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้นำตัวจำเลยทั้งสามไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เมื่อพนักงานสอบสวนมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์มาตรา 19 จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบ เท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อน เพราะเมื่อพนักงานสอบสวนได้กล่าวหาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิด 3 ฐาน หากจำเลยทั้งสามได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนและผลการฟื้นฟูเป็นที่พอใจแก่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ก็จะพ้นจากความผิดทุกข้อหาที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 ในทางกลับกันการที่พนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามตัวบทกฎหมาย ย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องทุกข้อกล่าวหาด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 หาใช่เป็นดุลพินิจของโจทก์ที่จะพิจารณาสั่งฟ้องเป็นรายข้อหาเฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนไม่
แม้โจทก์ไม่ได้ฟ้องข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่า จำเลยทั้งสามถูกแจ้งข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนด้วย จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้สอบถามจำเลยทั้งสามในห้องพิจารณา จำเลยทั้งสามรับว่าเสพเมทแอมเฟตามีน กรณีจึงเป็นเรื่องที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่า จำเลยทั้งสามมีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เสี่ยงต่อการกระทำความผิดหรืออาจถูกชักนำให้กระทำความผิดได้ หาใช่เป็นการวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนไม่ เพราะมิได้ปรับบทกฎหมายหรือกำหนดโทษฐานนี้ ศาลชั้นต้นมีอำนาจคุมความประพฤติจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 138 มิใช่การพิพากษาเกินคำขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง จึงไม่ชอบเพราะศาลมิได้พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง มิใช่ทรัพย์ใช้ในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิดซึ่งหมายถึงความผิดตามฐานที่ฟ้อง จึงไม่อาจริบได้ ให้คืนแก่เจ้าของตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 32, 33
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5737/2561
สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา การบอกเลิกสัญญานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติแต่อย่างใด แม้ตามสัญญาจ้างแรงงานจะระบุว่า ถ้าลูกจ้างประสงค์จะบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน ก็ตาม และนายจ้างจะอ้างว่าลูกจ้างยื่นหนังสือลาออกไม่ครบ 30 วัน นายจ้างจึงไม่อนุมัติให้ลาออกนั้นก็เป็นเพียงขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของนายจ้างเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาได้ สัญญาจ้างแรงงานจึงเป็นอันสิ้นสุดลงในวันที่ 21 เมษายน 2558 ตามหนังสือขอลาออกของลูกจ้างและลูกจ้างไม่มีหน้าที่ที่จะต้องทำงานให้แก่นายจ้างอีกต่อไป การที่จำเลยอ้างอ้างว่าลูกจ้างขาดงานตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไปติดต่อกันเกิน 3 วัน นายจ้างจึงเลิกจ้างลูกจ้างนั้น ก็หามีผลตามกฎหมายไม่ เพราะสัญญาจ้างแรงงานได้สิ้นสุดลงไปก่อนหน้านั้นแล้วจึงไม่อาจมีการบอกเลิกสัญญาได้อีกตามข้อบังคับกองทุนเฉพาะส่วนของนายจ้างและข้อบังคับของกองทุนจำเลยมีข้อยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเฉพาะในกรณีที่ลูกจ้างถูกไล่ออกหรือถูกนายจ้างเลิกจ้างเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีที่ลูกจ้างลาออกด้วย ดังนั้นเมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างสิ้นสุดลงเพราะลูกจ้างลาออกมิใช่เป็นเพราะถูกไล่ออกหรือถูกเลิกจ้าง ย่อมไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบให้แก่ลูกจ้าง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2561
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้มิให้ใช้บังคับแก่... (1) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์" เมื่อโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจ จัดตั้งตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ.2503 ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ดังนั้นจะนำประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานของลูกจ้าง พ.ศ.2551 อันเป็นการจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันกรณีทั่วไปมาใช้บังคับแก่การค้ำประกันกรณีลูกจ้างเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจหาได้ไม่ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่ ณ. ก่อให้เกิดขึ้นตามสัญญาค้ำประกันแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5714/2561
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ ต้องพิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรในการเลิกจ้างหรือไม่ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จากเหตุปรับโครงสร้างองค์กรของจำเลยฝ่ายสนับสนุนธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ธุรกิจ 3 ปี โดยอ้างว่าเพื่อแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยประสบภาวะความจำเป็นหรือขาดทุนจนถึงกับต้องเลิกจ้างโจทก์ อีกทั้งงานในส่วนที่จำเลยรับผิดชอบยังมีอยู่ เพียงแต่จำเลยมอบหมายให้บุคคลอื่นรับผิดชอบแทน ประกอบกับไม่ได้ความชัดเจนว่าจำเลยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกหรือประเมินให้คะแนนในการเลิกจ้างโจทก์อย่างไร ดังนั้นแม้จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่โจทก์แล้ว การเลิกจ้างโจทก์ก็เป็นการเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรเพียงพออยู่นั่นเอง การเลิกจ้างโจทก์จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5712/2561
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ เว้นแต่ลูกจ้างกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (5) ทั้งนี้ เพื่อประสงค์จะคุ้มครองลูกจ้างมิให้ถูกเลิกจ้างระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ
จำเลยร่วมเป็นพนักงานป้อนข้อมูลของโจทก์และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมเพราะโจทก์ยุบแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปเพื่อใช้เป็นพื้นที่ขยายกำลังผลิตและว่าจ้างบุคคลภายนอกมาบริหารจัดการแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปที่จำเลยร่วมทำงานอยู่แทน เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของโจทก์เอง จำเลยร่วมเป็นเพียงพนักงานบันทึกข้อมูล เป็นลูกจ้างที่ไม่ต้องใช้ฝีมือหรือความรู้เชี่ยวชาญมาก ซึ่งโจทก์ก็เคยใช้วิธีการสับเปลี่ยนลูกจ้างป้อนข้อมูลลักษณะแบบเดียวกับจำเลยร่วมไปทำงานแผนกอื่นโดยไม่ต้องเลิกจ้างมาแล้ว การเลิกจ้างจำเลยร่วมจึงเป็นกรณีไม่มีความจำเป็นเพียงพอ เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5694 - 5702/2561
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความนั้น จำเลยมิได้ให้การไว้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง และไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การพิจารณาว่าจำเลยต้องปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาว่าโจทก์ทั้งเก้าและจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีตามฟ้องไว้หรือไม่ อย่างไร แม้โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเป็นหนังสือตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 วรรคสอง แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2533 กรรมการผู้จัดการจำเลยมีหนังสือถึงประธานกรรมการดำเนินการของจำเลยว่าสมควรปรับเงินเดือนเจ้าหน้าที่ของจำเลยเข้าสู่ฐานเงินเดือนเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาที่ได้ปรับปรุงใหม่ตามมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติแล้ว เนื่องด้วยจำเลยได้ยึดหลักเกณฑ์และฐานเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภามาใช้โดยอนุโลม จึงเห็นสมควรปรับเงินเดือนใหม่และให้มีการตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2533 และจำเลยมีคำสั่งที่ 3/2537 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2537 ว่าโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานจำเลยได้ถือบังคับใช้โครงสร้างเงินเดือนเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของคุรุสภาในฐานะรัฐวิสาหกิจ จึงมีคำสั่งปรับอัตราเงินเดือนของเจ้าหน้าที่จำเลยตามโครงสร้างเงินเดือนที่ทางรัฐบาลได้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจในปี 2537 และให้มีผลย้อนหลังตกเบิกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2537 เป็นต้นไป ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 7/2550 - 51 ครั้งที่ 1/2552 - 53 และครั้งที่ 7/2552 - 53 มีมติว่าให้รอองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) ปรับขึ้นเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เจ้าหน้าที่จำเลยเหมือนกัน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยครั้งที่ 4/2555 - 56 มีมติว่าองค์การค้าของ สกสค. มีนโยบายปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 จำเลยมีแนวทางปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยเช่นกัน จึงให้จัดทำบัญชีเงินเดือนแนบท้ายมาด้วย ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 6/2555 - 56 มีมติอนุมัติให้ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 โดยคำนวณตามที่องค์การค้าของ สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. และในการประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลย ครั้งที่ 7/2555 - 56 มีมติอนุมัติให้ปรับอัตราเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่จำเลยตามบัญชีปรับอัตราเงินเดือน - ฐานเงินเดือน ตามเสนอ โดยให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 ปัจจุบันองค์การค้าของคุรุสภาได้โอนกิจการ เงินทรัพย์สิน หนี้ สิทธิต่าง ๆ ไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ตาม พ.ร.บ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 83 ดังนี้ พฤติการณ์ของจำเลยและโจทก์ทั้งเก้าดังกล่าวต่างแสดงออกยินยอมตกลงให้ยึดถืออัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่จำเลยตั้งแต่ปี 2533 ตลอดมา ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องอัตราค่าจ้างโดยปริยาย ไม่จำต้องทำเป็นหนังสือก็มีผลบังคับได้
แม้ในคดีที่เจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของ สกสค. เป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลแรงงานกลางซึ่งคดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ สกสค. ปรับเงินเดือนแก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา (ซึ่งต่อมาได้โอนกิจการองค์การค้าของคุรุสภามาเป็นองค์การค้าของ สกสค.) ซึ่ง สกสค. ได้ปรับเงินเดือนเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา และจ่ายเงินเพิ่มให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งเก้าและจำเลยคงมีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเฉพาะเรื่องอัตราค่าจ้างโดยตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาหรือองค์การค้าของ สกสค. เป็นอัตราค่าจ้างของเจ้าหน้าที่จำเลย ซึ่งหาก สกสค. ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค. เมื่อใด จำเลยก็จะปรับให้เช่นกัน มิได้มีข้อตกลงว่าจำเลยต้องปรับอัตราเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยในวันเวลาใดที่แน่นอนและมิได้ตกลงให้ยึดถืออัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีอันจะมีผลให้จำเลยต้องปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่จำเลยย้อนหลังไปในวันที่มติคณะรัฐมนตรีมีผลใช้บังคับ ทั้งการปรับเงินเดือนให้แก่โจทก์ทั้งเก้าซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจาก สกสค. โดยเฉพาะ เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการจำเลยมีมติให้ปรับเงินเดือนแก่โจทก์ทั้งเก้าในอัตราเดียวกับเจ้าหน้าที่องค์การค้า สกสค. โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2556 และไม่ปรากฏว่าวันที่มีผลบังคับไม่เหมาะสม การปรับเงินเดือนของจำเลยให้แก่โจทก์ทั้งเก้าจึงชอบแล้ว จำเลยไม่ต้องปรับเงินเดือนหรือค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งเก้าย้อนหลังตามมติคณะรัฐมนตรี และไม่ต้องจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างเพิ่มขึ้นและเงินโบนัสให้แก่โจทก์ทั้งเก้า
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5689/2561 ดอกเบี้ยจากค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาทำละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามวินิจฉัยข้างต้นว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิคิดค่าเสียหายจากจำเลยนับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 ถือได้ว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่จำเลยกระทำละเมิด โจทก์ทั้งสองจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 13 มกราคม 2552 ถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2552 อันเป็นวันฟ้องและต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามที่โจทก์ขอมา ส่วนที่โจทก์ขอค่าเสียหายรายเดือนหลังวันฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจำเลยและบริวารจะออกไปจากทรัพย์พิพาทนั้น ค่าเสียหายรายเดือนภายหลังวันฟ้อง โจทก์ทั้งสองมีคำขอในลักษณะค่าเสียหายในอนาคต จึงมิใช่หนี้เงินผิดนัดที่โจทก์ทั้งสองจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5686/2561 การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันจะต้องตกอยู่ในบังคับแห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 กรณีต้องเป็นเรื่องที่ลูกหนี้เป็นเจ้าของทรัพย์มีอำนาจทำนิติกรรมเกี่ยวกับทรัพย์นั้น อันเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นที่ยุติว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง ส. ผู้ขาย กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ เกิดจากเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 กรณีจึงไม่ใช่เป็นการฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 แม้ขณะที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ในคดีแพ่ง หมายเลขแดงที่ 1061/2556 ศาลฎีกายังไม่ได้พิพากษาเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่าง ส. กับจำเลยก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนโดยไม่สุจริต จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงยังไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5659/2561
การจะพิจารณาว่ากิจกรรมของโจทก์เป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการขายหรือเพื่อรับจ้างให้บริการโฆษณาสินค้าให้แก่บริษัท ต. ควรพิจารณาจากวัตถุประสงค์สำคัญของการจัดกิจกรรมของโจทก์ ซึ่งตามพยานหลักฐานเห็นได้ว่า โจทก์คิดรูปแบบรายละเอียดกิจกรรมของโจทก์ขึ้นเองให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการเพิ่มยอดขาย ส่วนบริษัท ต. ก็ย่อมได้รับประโยชน์ไปด้วยโดยปริยาย โดยการที่มีผู้ซื้อรถยนต์จากโจทก์ย่อมทำให้บริษัท ต. ขายรถยนต์แก่โจทก์เพิ่มขึ้น เงินที่บริษัท ต. จ่ายไปเพื่อสนับสนุนกิจกรรมของโจทก์ ก็ย่อมเป็นเงินที่บริษัทดังกล่าวจ่ายเพื่อสนับสนุนและจูงใจให้โจทก์ทำกิจกรรมเพื่อเพิ่มยอดขายจนบริษัท ต. ได้ประโยชน์จากยอดขายด้วย จึงถือได้ว่าเงินที่บริษัท ต. เบิกจ่ายให้ตามคำขอของโจทก์เพื่อทดแทนเงินที่โจทก์ต้องออกไปก่อนเป็นค่าใช้จ่ายการทำกิจกรรมของโจทก์ดังกล่าว เป็นเงินสนับสนุนการขาย ไม่ใช่ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนการให้บริการโฆษณาโดยโจทก์แต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.118/2545 ข้อ 1 และ 8 และเมื่อเงินสนับสนุนที่โจทก์ได้รับจากบริษัท ต. ไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์จึงไม่ต้องนำเงินดังกล่าวไปรวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่ง ป.รัษฎากร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5658/2561
ตามสัญญาที่โจทก์นำมาฟ้อง โจทก์และจำเลยตกลงชำระหนี้แก่กันเป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้น แต่จำเลยจะส่งใช้เป็นเงินไทยได้ก็โดยคิดตามอัตราแลกเปลี่ยน ณ สถานที่และในเวลาที่ใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 196 ดังนั้น การที่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เป็นเงินไทยและศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ตามฟ้องแก่โจทก์เป็นเงินไทยอาจมีผลให้จำเลยต้องชำระหรือโจทก์ได้รับชำระหนี้เกินกว่าจำนวนหนี้เงินดอลลาร์สิงคโปร์ตามที่โจทก์บรรยายฟ้อง หากว่าอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง 1 ดอลลาร์สิงคโปร์ เท่ากับเงินไทยจำนวนน้อยกว่า 23.93 บาท ซึ่งจะเป็นผลให้เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 และ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5655-6/2561 แม้มีการบัญญัติเพิ่มเติมความผิดมูลฐานภายหลังจากที่ได้มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้นก็ตาม ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐานที่บัญญัติเพิ่มเติมดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับย้อนหลังไปทันที นับแต่วันที่มีการกระทำความผิดมูลฐานนั้น ขณะผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตกเป็นของแผ่นดิน ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติวรรคหก ของมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่าผู้ร้องต้องร้องขอให้ศาลสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดไปคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหายแทนการสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินไปในคราวเดียวกัน และผู้ร้องก็มิได้มีคำร้องขอดังกล่าวเพิ่มเติมมาในภายหลังที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัตินี้ ศาลจึงไม่อาจสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดคืนหรือชดใช้คืนให้แก่ผู้เสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าเงินที่ ส. กับพวกชิงทรัพย์ไปเป็นของผู้เสียหายที่ได้มาโดยสุจริต ผู้เสียหายจึงมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งเงินของตนจาก ส. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ผู้คัดค้านทั้งสอง ซึ่งรับช่วงสิทธิจากผู้เสียหายจึงเป็นผู้มีสิทธิในฐานะเจ้าของเงินที่แท้จริง และยังถือได้ว่าเป็นผู้รับโอนสิทธิโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนที่จะติดตามเอาเงินคืนจาก ส. กับพวกตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ด้วย เมื่อ ส. นำเงินของผู้เสียหายไปซื้อหุ้นและวางเป็นหลักประกันในบัญชี (ซื้อขาย) หลักทรัพย์ และได้เงินปันผลจากหุ้นที่ซื้อซึ่งเป็นทรัพย์สินและดอกผลของผู้เสียหายที่ ส. ต้องคืนแก่ผู้เสียหาย ทรัพย์สินนั้นจึงไม่ตกเป็นของแผ่นดิน โดยผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับช่วงสิทธิรับเงินหรือทรัพย์สินดังกล่าวนี้แทน (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566 - 5598/2561
กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หมายถึง นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการแห่งเดิมไปตั้งสถานประกอบกิจการอีกแห่งหนึ่งในที่แห่งใหม่ มิใช่หมายความรวมถึงกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อหน่วยงานที่จังหวัดระยองเป็นสำนักงานสาขาของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยตั้งสถานประกอบกิจการขึ้นใหม่ที่จังหวัดระยอง หน่วยงานดังกล่าวจึงเป็นสถานประกอบกิจการของจำเลยอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 ไปทำงานที่หน่วยงานดังกล่าวมิใช่กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นตามกฎหมายดังกล่าว
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 บรรยายข้อเท็จจริงถึงเหตุเกี่ยวกับการเลิกจ้างในคำฟ้องว่า คำสั่งให้ย้ายไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยที่จังหวัดระยองเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 โดยมีเจตนาที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ส่วนจำเลยให้การต่อสู้ถึงการสั่งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 ย้ายงานว่า เป็นไปตามสภาพการจ้าง ข้อกำหนด และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 ทราบแล้วไม่ปฏิบัติตาม เป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่ง ละทิ้งหน้าที่ และขาดงานติดต่อกันเกิน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร จึงเป็นหน้าที่ของศาลแรงงานต้องไต่สวนให้ได้ความว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 กล่าวอ้างหรือเป็นไปตามที่จำเลยต่อสู้ไว้ เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 และจำเลยแถลงต่อศาลแรงงานกลางมิใช่เป็นการแถลงรับข้อเท็จจริงที่คู่ความอีกฝ่ายกล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางสอบถามจากคู่ความจึงไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยในประเด็นนี้ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5554/2561
การส่งเอกสารภาษาต่างประเทศต่อศาล ไม่จำต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทยเสมอไป นอกจากศาลสั่งให้ทำคำแปล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46 วรรคสาม เมื่อเอกสารดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งแห่งพยานหลักฐานที่รับฟังประกอบกับพยานอื่นที่โจทก์นำสืบ และตามเอกสารมีคำแปลที่เพียงพอแก่การพิจารณาข้อเท็จจริงแล้ว ศาลย่อมรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5537/2561
ที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แล้วกรมป่าไม้มอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดสรรให้เกษตรกรทำกินตามกฎหมาย ดังนั้น หากเป็นกรณีที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากบุคคลอื่นตามที่กล่าวอ้างก็เป็นการซื้อขายที่ดินของรัฐ ไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยันต่อรัฐได้ และหากประสงค์จะขอเข้ารับการจัดสรรที่ดินต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) และมาตรา 36 ทวิ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2535 ซึ่งไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดินรวมทั้งได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 ไม่ จึงเป็นกรณีที่จะต้องมีการพิจารณาต่อไปว่าผู้ใดอยู่ในฐานะที่จะได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 - 01 ที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ดังนั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5519/2561
คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจำเลยที่ 1 แม้ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเป็นภาษีอากรประเมิน ซึ่งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งการประเมินและยื่นอุทธรณ์การประเมินดังกล่าวแล้ว ต่อมาจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตามมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากร ย่อมมีผลทำให้หนี้ภาษีอากรที่ถูกประเมินดังกล่าวเป็นหนี้ภาษีค้าง อันจะถูกโจทก์ยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร และจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลก็ตาม แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีตามการประเมิน ซึ่งจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธว่าลายมือชื่อในแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับพิพาทมิใช่ลายมือชื่อของกรรมการของจำเลยที่ 1 แต่เป็นลายมือชื่อปลอม ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่จะต้องนำพยานเข้าสืบเพื่อให้รับฟังได้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการฉบับพิพาทอันเป็นเหตุแห่งการประเมินรายนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) ฉบับพิพาท การแจ้งการประเมินของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 เสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งภาษีมูลค่าเพิ่มและหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบ เพราะโจทก์ไม่มีฐานรายรับหรือรายได้ที่จะใช้อำนาจประเมินภาษีจากจำเลยที่ 1 ตามข้ออ้างในคำฟ้องของโจทก์ จำเลยทั้งสองย่อมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5473/2561
พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 25 เป็นบทบัญญัติในหมวด 3 การประกอบกิจการภาพยนตร์ ซึ่งต่อเนื่องมาจากมาตรา 20 ถึงมาตรา 24 ที่บัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์และผู้สร้างภาพยนตร์ มาตรา 26 ถึงมาตรา 29 บัญญัติในเรื่องเกี่ยวกับการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ตามมาตรา 25 ของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ และบทกำหนดโทษตามมาตรา 78 ดังกล่าวมุ่งประสงค์เอาความผิดแก่ผู้ฝ่าฝืนมาตรา 25 ซึ่งหมายความเฉพาะผู้สร้างภาพยนตร์ที่นำภาพยนตร์นั้นออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักร โดยมิได้นำไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อนเท่านั้น มิใช่บทบัญญัติที่ประสงค์จะเอาความผิดแก่ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์ทั่วไปที่มิใช่ผู้สร้างภาพยนตร์ เมื่อฟ้องโจทก์ปรากฏชัดแจ้งว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ประกอบกิจการจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยจำเลยมิใช่ผู้สร้างภาพยนตร์ที่มีหน้าที่จะต้องนำภาพยนตร์นั้นไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 25 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยตามฟ้องย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 78
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2561
โจทก์ขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2548 ซึ่งขณะนั้นมีประกาศกรุงเทพมหานครฯ แก้ไขบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทว่ามีราคาประเมินตารางวาละ 45,000 บาท ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการขายที่ดินพิพาทจะต้องถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายที่ดินโดยถือว่าราคาประเมินที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 49 ทวิ ไม่ว่าโจทก์และพันตรี ส. จะซื้อขายที่ดินพิพาทกันในราคาใดก็ตาม การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ประเมินราคาที่ดินพิพาทในราคาตารางวาละ 4,000 บาท ย่อมทำให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขาดไป เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องครบถ้วนได้
การที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ครบถ้วน เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ประเมินราคาที่ดินพิพาทผิดพลาดต่ำกว่าราคาประเมินที่แท้จริง ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2561
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 30 บัญญัติว่า การแจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้มีแบบพิมพ์หรือต้องทำในลักษณะใด เมื่อพิจารณาหนังสือของจำเลยฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 เป็นเรื่องแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ถึงผู้จัดการของโจทก์ แม้หนังสือฉบับดังกล่าวลงชื่อโดยปลัดเทศบาลของจำเลย แต่ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการลงชื่อในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีของจำเลย เมื่อหนังสือฉบับนี้ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าจำเลยได้พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แล้วมีมติให้จัดเก็บตามการแจ้งประเมิน จึงถือได้ว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการแจ้งคำชี้ขาดที่นายกเทศมนตรีของจำเลยแจ้งไปยังโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 30 และถือได้ในทำนองเดียวกันว่าได้?มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องยื่นฟ้องคดีนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 31 ส่วนที่นายกเทศมนตรีของจำเลยมีหนังสือในครั้งหลังแจ้งคำชี้ขาดพร้อมกับส่งใบแจ้งคำชี้ขาด ตามมาตรา 30 อันเป็นการแจ้งคำชี้ขาดที่มีการนำแบบพิมพ์ ภ.ร.ด. 11 มาใช้ แต่หาได้มีการยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขความที่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามหนังสือฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 ในครั้งแรกนั้นไม่ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับแรกได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5440/2561 โจทก์ฟ้องว่าโจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกัน และกำหนดเวลาชำระคืนกันไว้ แต่จำเลยทั้งสองมีเงินให้โจทก์กู้ยืมเพียงบางส่วน จึงขอให้โจทก์ลงลายมือชื่อ ในหนังสือมอบอำนาจที่มิได้กรอกข้อความให้จำเลยทั้งสองยึดถือไว้เพื่อทำนิติกรรมกู้ยืมจากบุคคลอื่นมาให้โจทก์ เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่ชำระเงินต้นและกู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสองอีกหลายครั้ง ต่อมาจำเลยทั้งสองนำหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงชื่อไปกรอกข้อความและโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้แก่จำเลยที่ 1 ภายหลัง โจทก์ทราบการโอน โจทก์กับจำเลยทั้งสองตกลงกันว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทมีสิทธิไถ่ถอนที่ดินคืน ภายใน 3 ปี หากไม่ไถ่ถอนถือว่าสละสิทธิและโจทก์จะได้รับเงินคืนจากจำเลยทั้งสองเพิ่มเติมพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี แต่หากโจทก์ไถ่ถอนที่ดินพิพาทก่อนครบกำหนด โจทก์ต้องชำระภาษีพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินที่ยืมไปทั้งหมด จำเลยทั้งสองให้การตอนแรกว่าไม่เคยตกลงทำสัญญากับโจทก์ แต่ตอนท้ายกลับให้การว่า หากฟังว่าจำเลยที่ 2 ต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ชำระเงินไม่ครบจึงเป็นฝ่ายผิดนัด ผิดสัญญาและไม่มีสิทธิมาฟ้องเรียกร้องตามสัญญา เท่ากับจำเลยทั้งสองให้การยอมรับว่ามีการทำสัญญากับโจทก์จริง คำให้การของจำเลยทั้งสองจึงขัดแย้งกันเอง จึงเป็นคำให้การที่ไม่ได้แสดงโดยชัดแจ้งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกา ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ การที่โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยทั้งสอง แต่ได้เงินไม่ครบตามที่จดทะเบียนจำนองไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนแล้ว วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ทำสัญญาให้โจทก์ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้ นอกจากนี้โจทก์ยังเป็นผู้เก็บค่าเช่าในที่ดินพิพาทมาโดยตลอด แสดงว่าการที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงการแสดงเจตนาลวง โดยไม่มีเจตนาผูกพันกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง สัญญาโอนที่ดินพิพาทตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจและสำเนาบันทึกถ้อยคำข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้จำนอง จึงเป็นการอำพรางสัญญาซึ่งมีข้อตกลงว่าให้ไถ่คืนที่ดินพิพาทได้อันเป็นสัญญาขายฝาก เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 152 การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาขายฝากต่างมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมที่จำเลยทั้งสองให้โจทก์กู้ การทำสัญญาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นไปในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยอีกคนหนึ่งด้วย เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวต่างเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ เมื่อโจทก์ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 จนครบจำนวนที่โจทก์ยืมจากจำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5439/2561 เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของโจทก์และจำเลยที่เจ้าหน้าที่ของแต่ละฝ่ายกระทำไปนั้น การกระทำของเจ้าหน้าที่จำเลยเป็นเพียงก่อให้เกิดบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่การสั่งจ่ายเงินจากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องของโจทก์เข้ามาบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว ทำให้ ธ. สามารถเบิกถอนเงินออกจากบัญชีไปเกิดความเสียหายตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ของโจทก์ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายที่ไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง และโจทก์ไม่มีการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ เป็นเหตุให้มีการกระทำทุจริตของ ธ. ได้ อันถือว่าทำละเมิดต่อโจทก์ที่ร้ายแรงกว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่เป็นเพียงการเปิดบัญชีเงินฝากโดยไม่ตรวจสอบให้ถูกต้อง ทำให้มีบัญชีเงินฝากที่ไม่ถูกต้องขึ้น แล้วใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวเรียกเก็บเงินจากการสั่งจ่ายโดยเจ้าหน้าที่ของโจทก์จากบัญชีเงินฝากที่ถูกต้องและหมุนเวียนการใช้บัญชีเงินฝากดังกล่าวสร้างความเสียหายแก่โจทก์เป็นเวลาหลายปีได้ ดังนั้นโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง และมาตรา 438 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5396/2561 ก. กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เก็บรักษาสมุดเช็คไว้ในตู้เซฟภายในห้องทำงาน บางครั้งจะให้ ศ. พนักงานการเงินและบัญชีกรอกรายละเอียดในเช็คที่จะสั่งจ่าย ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างโจทก์ลักเช็คพิพาททั้งสิบเจ็ดฉบับไปกรอกข้อความและปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย หาก ก. ตรวจสอบก็จะทราบว่าลายมือที่ต้นขั้วเช็คเป็นของ ส. ไม่ใช่ลายมือของ ศ. โจทก์จึงมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ การจ่ายเงินตามเช็คเป็นงานที่เกิดขึ้นเป็นประจำ พนักงานจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คกับตัวอย่างลายมือชื่อที่จำเลยมีอยู่ว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายจริงหรือไม่ เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายปลอมในเช็คแตกต่างกับลายมือชื่อที่โจทก์ให้ไว้แก่จำเลย การที่พนักงานของจำเลยจ่ายเงินตามเช็คถึงสิบเจ็ดฉบับจึงเป็นการขาดความระมัดระวังเท่าที่สมควรจะต้องใช้ในกิจการเช่นจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนรายการลงบัญชีเงินฝากของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเช็คทั้งสิบเจ็ดฉบับ รวมเป็นเงิน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ย เท่ากับเป็นการขอให้บังคับจำเลยคืนเงินตามเช็ค รวมจำนวน 1,707,975.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์มากน้อยเพียงใด ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง, 438 และ 442 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ไม่เป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5380/2561
ที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามสัญญาหลักที่เกิดขึ้นก่อนวันทำข้อตกลง และผู้ร้องไม่ได้แจ้งสงวนสิทธิเรียกค่าปรับจากการที่ผู้คัดค้านไม่สามารถดำเนินการจ้างงวดที่ 7 ให้แล้วเสร็จ ทำให้ผู้คัดค้านไม่ต้องรับผิดในค่าปรับ เป็นการตีความข้อตกลงที่มิได้เป็นการขัดต่อกฎหมายความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำวินิจฉัยชี้ขาดข้อนี้ของคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่เกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5379/2561
พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในส่วนของคดีอาญาเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง แม้คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน 2 ชุด จะมีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยว่าเป็นความผิดหรือไม่ ก็เป็นดุลยพินิจในการพิจารณาพยานหลักฐานเท่าที่คณะอนุกรรมการแต่ละชุดรวบรวมได้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกาฬสินธุ์และโจทก์ลงมติเป็นเอกฉันท์ว่าจำเลยบริจาคเงิน 5,000 บาท แก่ชุมชนจริงอันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 57 (2) เมื่อโจทก์มีคำสั่งให้เลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกุฉินารายณ์ เขตเลือกตั้งที่ 2 ใหม่ และมีการจัดให้มีการเลือกตั้งตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่จากจำเลยได้ โดยไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยจะได้รับโทษทางอาญาด้วยหรือไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5378/2561
โจทก์ทั้งสิบเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร พ. ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. หมู่บ้านจัดสรร พ. มีบ้านอยู่ในพื้นที่จำนวนมากถึง 312 หลัง นับว่าเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งมีเพียงจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคณะกรรมการ ไม่อาจดูแลกิจการหลากหลายของหมู่บ้านให้ทั่วถึงได้ ประกอบกับจำเลยแต่ละคนต่างประกอบอาชีพ มีหน้าที่การงานของตนเอง การจัดหานักบริหารมืออาชีพมาทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลกิจการของหมู่บ้านจัดสรร จึงมีความจำเป็น คดีปรากฏว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการรวมถึงการดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบริหารสาธารณะต่าง ๆ ของหมู่บ้านจัดสรรให้เป็นไปตามมาตรฐานและสามารถรองรับการใช้ประโยชน์ของสมาชิก แม้สัญญาว่าจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคู่สัญญาฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา จึงต้องถือว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. บริหารจัดการกิจการของหมู่บ้านจัดสรรต่อไป ก่อนการว่าจ้างผู้รับเหมาให้ซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำของหมู่บ้าน ปรากฏว่าผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท ค. ได้รับมอบหมายจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ให้ติดต่อจัดหาผู้รับเหมาสามรายที่เคยร่วมงานกันและมีผลงานดีไว้ใจได้เสนอราคาค่าซ่อมให้จำเลยทั้งเจ็ดพิจารณา จำเลยทั้งเจ็ดลงมติเลือกบริษัท จ. ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน แต่เมื่อทางนำสืบโจทก์ทั้งสิบไม่ปรากฏว่าผู้รับเหมาทั้งสามรายที่บริษัท ค. หามาเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน เป็นพรรคพวกกัน เอื้อเฟื้อประโยชน์กัน ฮั้วประมูลกัน ร่วมกันเสนอราคาค่าก่อสร้างในลักษณะสมยอมราคา หรือมีส่วนได้เสียโดยตรงหรืออ้อมของจำเลยทั้งเจ็ด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. ด้วยความโปร่งใสและตรงไปตรงมาตามข้อมูลและใบเสนอราคาที่ฝ่ายบริหารจัดการของบริษัท ค. นำเสนอ ส่วนที่โจทก์ทั้งสิบอ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดตกลงว่าจ้างบริษัท จ. โดยไม่มีการประเมินราคากลางก่อนทำสัญญาดังที่หน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัตินั้น เห็นว่า การกำหนดราคากลางงานก่อสร้างเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่วางหลักเกณฑ์ให้ใช้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ไม่อาจนำมาใช้กับภาคเอกชนได้ และตามข้อบังคับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ก็มิได้ระบุให้ต้องมีการประเมินราคากลางก่อน การที่จำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. โดยไม่มีการประเมินราคากลางจึงไม่เป็นการกระทำที่ส่อพิรุธขาดความรอบคอบ หรือฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ทั้งการดำเนินกิจการของจำเลยทั้งเจ็ดอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สมาชิกของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หากจำเลยทั้งเจ็ดดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ชอบมาพากล หรือไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสมาชิก สมาชิกก็มีสิทธิที่จะเข้าชื่อร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อซักฟอกคณะกรรมการ หรือไม่ลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการชุดเดิมให้กลับมาทำหน้าที่อีกได้ แต่หลังจากการซ่อมแซมแล้วเสร็จ มีการนัดประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือกคณะกรรมการนิติบุคคลชุดใหม่ ปรากฏว่าสมาชิกส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนเลือกจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้กลับมาเป็นคณะกรรมการ อันแสดงว่าสมาชิกส่วนใหญ่ให้การยอมรับและไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทนของจำเลยทั้งเจ็ด ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสิบไม่มีพยานบ่งชี้ให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. ให้ดำเนินงานซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำในวงเงินสูงกว่าความเป็นจริงด้วยความประมาทเลินเล่อ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชำระเงินนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5375/2561
ขณะที่จำเลยเบิกความอ้างอิงเอกสารหมาย ล.3 เป็นพยานหลักฐานยันโจทก์ โจทก์ไม่ได้คัดค้านการนำเอกสารนี้มาสืบว่าไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วนหรือสำเนานี้ไม่ถูกต้องกับต้นฉบับ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคหนึ่ง ศาลจึงรับฟังเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งเป็นสำเนาเอกสารเป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (4)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5374/2561
เมื่อพิเคราะห์ถึงแผนผังโครงการจัดสรรในส่วนของโจทก์ ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ แม้โจทก์จะสร้างกำแพงคอนกรีตเฉพาะส่วนทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ทางด้านหลังอาคารพาณิชย์ โดยไม่ได้สร้างกำแพงคอนกรีตในส่วนทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออกเหมือนโครงการจัดสรรเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย แต่เป็นเพราะโจทก์ทำถนนภายในโครงการเชื่อมต่อกับทางสาธารณะทางด้านทิศตะวันตกและทิศตะวันออก โจทก์ประสงค์จะให้บุคคลทุกคนรวมทั้งจำเลยใช้ทางเข้าออกโครงการตามทางที่โจทก์กำหนดเท่านั้น มิใช่เข้าออกทุกทิศทางตามอำเภอใจ ทั้งนี้ เพื่อสะดวกต่อการรักษาความปลอดภัยโดยโจทก์ได้จัดให้มียามรักษาความปลอดภัยและติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดที่เป็นทางเข้าออก ดังนั้น หากโจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตด้านหลังอาคารพาณิชย์เพียงเพื่อแสดงเป็นแนวเขตที่ดินโครงการดังที่จำเลยกล่าวอ้าง โจทก์ก็ไม่จำต้องสร้างให้สูงถึง 3 เมตร ซึ่งทำให้โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกจำนวนมาก กำแพงคอนกรีตสูง 3 เมตร ที่โจทก์ก่อสร้างนอกจากจะบอกแนวเขตที่ดินโครงการจัดสรรของโจทก์แล้ว ยังมีสภาพเพื่อป้องกันทั้งบุคคลภายนอกและบุคคลที่อาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์จำต้องเข้าออกตามทางที่โจทก์กำหนดเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในโครงการจัดสรรและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาค้าขายหรือติดต่อ กำแพงคอนกรีตจึงเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ที่โจทก์ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณูปโภคตามความหมายของ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 4 และ 43 โดยไม่จำต้องระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินเสมอไป ทั้งพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินมิได้บังคับหรือจำกัดไว้ว่า สิ่งที่เป็นสาธารณูปโภคต้องเป็นสิ่งระบุไว้ในคำขออนุญาตทำการจัดสรรที่ดินหรือเอกสารการอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินเท่านั้น
แม้กำแพงคอนกรีตในส่วนที่อยู่ในโฉนดที่ดินของจำเลยย่อมเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลย แต่อย่างไรก็ตามเหตุที่โจทก์สร้างกำแพงคอนกรีตลงในที่ดินจัดสรรส่วนที่คาดหมายว่าเป็นส่วนที่จะต้องแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยเพื่อปลูกสร้างอาคารพาณิชย์จัดสรรขายแก่ผู้ซื้อทั่วไปอันมีผลทำให้กำแพงคอนกรีตที่สร้างไว้ต้องกระจายไปอยู่บนที่ดินที่แบ่งแยกและแบ่งขายแก่ผู้ซื้อทุกแปลง ก็เพราะโจทก์ไม่อาจแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนที่มีกำแพงคอนกรีตปลูกสร้างอยู่นั้นออกเป็นที่ดินแปลงย่อย เนื่องจากเป็นการแบ่งแยกที่ดินออกเป็นแนวตะเข็บหรือมีเศษเป็นเสี้ยว เป็นการต้องห้ามตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2535 ข้อ 15 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกตามความในข้อ 7 (1) และข้อ 9 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะโจทก์ดำเนินการจัดสรรที่ดินและก่อสร้างกำแพงคอนกรีตในปี 2540 โดยที่กำแพงคอนกรีตนี้มีสภาพเป็นสาธารณูปโภคดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นที่จะต้องตกติดไปกับที่ดินจัดสรรตลอดไป การที่จำเลยทุบทำลายกำแพงคอนกรีตดังกล่าว ถือว่าเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นในโครงการจัดสรรของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมและในฐานะผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินในการบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตแทนเจ้าของสามยทรัพย์ทั้งปวง ย่อมมีอำนาจฟ้องได้
โจทก์ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินซึ่งมีหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นเดิม ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง และในฐานะเจ้าของที่ดินแปลงอื่นซึ่งเป็นสามยทรัพย์ฟ้องจำเลยให้ก่อสร้างกำแพงคอนกรีตให้คืนสภาพเดิม ไม่ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการถูกทำละเมิด จึงไม่จำต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
แม้การทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภค จะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับทรัพยสิทธิ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์กระทำการอย่างใดที่ทำให้ประโยชน์หรือความสะดวกแห่งภารยทรัพย์กลับคืนมา โจทก์จึงขอบังคับให้จำเลยซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตให้กลับคืนสภาพเดิมได้และหากจำเลยไม่ได้ดำเนินการ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาหรือมีคำสั่งให้โจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตแทน โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 213 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5356 - 5371/2561
การที่โจทก์เข้าร่วมประมูลซื้อห้องชุดจากเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่ากับโจทก์ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดกับเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า หากโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อห้องชุดได้และมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางที่ค้างชำระอยู่ โจทก์ยินยอมเป็นผู้รับผิดชำระหนี้รายนี้ เมื่อปรากฏว่า เจ้าของร่วมเดิมมีหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเงินเพิ่มที่เจ้าของเดิมค้างชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 จนครบถ้วน ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 วรรคสอง, 29 วรรคสอง, 41 และข้อบังคับกับเงื่อนไขที่ระบุในประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลาง 5 ปี ย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เพียงจำนวนที่โจทก์เสนอขอชำระและออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ โดยไม่ยอมชำระหนี้ที่เจ้าของเดิมค้างชำระทั้งหมด เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ให้รับผิดตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 13 ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ได้เช่นกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5347/2561
คดีนี้โจทก์ฟ้องด้วยวาจาโดยขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้องในความผิดฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร ฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถ และฐานใช้ยานพาหนะบรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้องทั้งสามฐาน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ขับรถในระหว่างถูกยึดใบอนุญาตขับรถ แม้จะได้ความว่าจำเลยให้การรับสารภาพก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็ย่อมพิพากษายกฟ้องในความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยจำนนต่อหลักฐาน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5330/2561
ตามหนังสือรับรองมีข้อความจำกัดอำนาจของ อ. ให้ลงลายมือชื่อและประทับตราผูกพันบริษัทได้เฉพาะในเรื่องที่เป็นคำขอและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกรมสรรพากรเท่านั้น การยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ การฟ้องคดีหรือมอบอำนาจให้ฟ้องคดี มิใช่คำขอที่เกี่ยวกับการจดทะเบียน แต่เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายของนิติบุคคลที่แสดงออกโดยผู้แทนนิติบุคคล เมื่อโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดย อ. ลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็รับไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์โจทก์ แต่ลดเบี้ยปรับให้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) (ธ) บัญญัติให้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแก่ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือให้บริการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่น โดยไม่ได้กำหนดโดยเฉพาะเจาะจงว่าผู้ขายสินค้าหรือให้บริการต้องเป็นผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการศาสนาหรือการสาธารณกุศล หากดูที่วัตถุประสงค์ของการขายสินค้าหรือการให้บริการเป็นสำคัญว่าถ้าเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ ซึ่งไม่นำผลกำไรไปจ่ายในทางอื่นแล้วย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ) เมื่อมูลนิธิสวนแก้วนำสิ่งของที่โจทก์บริจาคไปใช้เพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการสาธารณกุศลภายในประเทศ โดยไม่ได้ช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ หากเป็นการช่วยเหลือผู้ยากไร้โดยทั่วไปในสังคม การที่โจทก์บริจาคของเสียที่เกิดจากการผลิต (วัตถุดิบ) ให้แก่มูลนิธิสวนแก้ว จึงได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ธ)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5288/2561
ที่จำเลยฎีกาว่า ลายมือชื่อโจทก์ที่มอบอำนาจให้ ค. ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ในประเด็นนี้ไว้ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า น. ไม่ได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้า ส. และ บ. ซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมดังกล่าว เมื่อ ส. และ บ. ไม่ได้ลงลายมือชื่อรับรองขณะ น. ลงลายมือชื่อในพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง ย่อมไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง ทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1705
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263/2561
แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วไม่ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว เพราะยังไม่ได้รับประกาศภัยพิบัติจากจังหวัดนครสวรรค์ อันไม่เข้าเงื่อนไขการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 17 (2) ต้องการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 14 ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลให้ใช้เวลาในการซื้อหรือการจ้างนานขึ้น จำเลยที่ 1 จึงไม่เห็นชอบให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามที่จำเลยที่ 2 โต้แย้ง กลับสั่งการให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้มีอำนาจอนุมัติการซื้อการจ้างนั้นได้ทันที ทำให้ต้องแบ่งการซื้อผ้าห่มนวมออกเป็นสองครั้ง ครั้งละ 500 ผืน เป็นเงินครั้งละ 100,000 บาท เท่ากับจำเลยที่ 1 จงใจกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 16 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว แต่พยานหลักฐานของโจทก์กลับไม่ปรากฏว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อย่างไรก็ดี การกระทำของจำเลยที่ 1 จงใจฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบกระเทือนและก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 อยู่ดี ส่วนการทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายและเอกสารประกอบครั้งที่ 2 เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์อ้างก็ตาม การทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายครั้งที่ 2 ก็เป็นเพียงการทำไว้ล่วงหน้าอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการจัดทำฎีกาเบิกเงินโดยทั่วไปเท่านั้น เมื่อมีการเบิกจ่ายเงินกันจริงหาได้ไม่มีการเบิกจ่ายเงินกันตามนั้นอันเป็นความเท็จไม่ ดังนั้น แม้อาจเป็นไปเพื่อให้เป็นหลักฐานอ้างอิงว่ามีการจัดซื้อผ้าห่มนวมตามวันเวลาเกิดเหตุซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงไปบ้างก็หาได้เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) ไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 เท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นั้นเป็นเจ้าพนักงานและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา แม้มีการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้ง แต่การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาในแต่ละครั้งก็เป็นไปโดยชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องถือปฏิบัติตาม ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้งดังกล่าวเกิดจากจำเลยอื่นเป็นผู้เสนอต่อจำเลยที่ 1 แต่กลับปรากฏตามเอกสารหมาย จ.41 ว่าเป็นการสั่งการของจำเลยที่ 1 เอง โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นการขาดเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและไม่เป็นความผิดตามฟ้อง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์เองรับฟังได้ว่าทางจังหวัดนครสวรรค์ประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติหนาวในวันที่ 14 มกราคม 2552 อันเข้าเงื่อนไขที่จะดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วได้ แต่ก็เป็นวันเดียวกับที่ได้ดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาไปแล้ว อันแสดงว่ามีภัยพิบัติภัยหนาวเกิดขึ้นที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจริงการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วนเป็นสำคัญ แม้เป็นการผิดกฎหมาย แต่ก็มีเหตุสมควรที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 แต่เพียงสถานเบา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5243/2561
การที่โจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นจะขอตรวจดูรายงานการประชุมและมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นซึ่งกรรมการบริษัทจัดให้มีการบันทึกไว้ โจทก์ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 1207 วรรคสอง โดยขอตรวจดูเอกสารระหว่างเวลาการทำงานของจำเลยที่ 1 อันหมายถึงต้องไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสถานที่เก็บรักษาเอกสารที่มีการบันทึกรายงานการประชุมและมติที่ประชุมไว้ แต่ที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบมาไม่ปรากฏว่า โจทก์หรือตัวแทนไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 1 เพื่อขอตรวจดูบันทึกรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นและมติที่ประชุมในระหว่างเวลาทำการ เพียงแต่โจทก์อ้างถึงการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จึงเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์จะขอเอกสารการประชุมผู้ถือหุ้น โดยโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิขอตรวจดูเอกสารการประชุม ณ สำนักงานของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1207 วรรคสอง ดังนั้นจำเลยทั้งสองหาได้มีหน้าที่ตามบทบัญญัติกฎหมาย ข้อบังคับบริษัท หรือข้อสัญญาระหว่างกันที่จะต้องส่งเอกสารการประชุมผู้ถือหุ้นและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้แก่โจทก์ไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5238/2561
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบคุ้มครองเฉพาะภัย หน้า 10 ข้อ 1 ระบุข้อตกลงคุ้มครองไว้ว่า "บริษัทจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างระยะเวลาประกันภัยต่อรถยนต์รวมทั้งอุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจำอยู่กับตัวรถยนต์ตามที่ระบุไว้ในตาราง อันมีสาเหตุมาจากการชนกับยานพาหนะทางบก ทั้งนี้ความเสียหายดังกล่าวให้รวมถึงความเสียหายที่เกิดจากไฟไหม้อันมีสาเหตุโดยตรงจากการชนกับยานพาหนะทางบก ไม่ว่าจะเกิดจากความประมาทของรถยนต์คันที่เอาประกันภัยหรือคู่กรณี และผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้" ข้อความที่ระบุไว้ดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองเฉพาะภัยของบริษัทประกันภัยรวมถึงจำเลยด้วย ซึ่งตามคู่มือตีความหน้าที่ 3 อธิบายถึงความเสียหายต่อรถยนต์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยนี้ว่า จะคุ้มครองเฉพาะ 1. รถยนต์คันที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายจากการชนกับยานพาหนะทางบก และ 2. ผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อรถยนต์ที่เอาประกันภัยต่อเมื่อเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อ โดยการแจ้งให้ทราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้ความหมายรวมถึงผู้เอาประกันภัยต้องสามารถแจ้งหมายเลขทะเบียนรถยนต์คู่กรณีให้บริษัททราบ โดยไม่จำเป็น ต้องให้รายละเอียดถึงผู้ขับขี่รถยนต์ ดังนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่ทราบหมายเลขทะเบียนรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ระบุว่าขับเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์สามารถแจ้งให้บริษัททราบถึงคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้ เป็นกรณีเข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยแบบคุ้มครองเฉพาะภัย จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5229/2561
เมื่อปรากฏว่าตามประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์ต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุด การที่ธนาคาร อ. เข้าร่วมประมูลซื้อทรัพย์เท่ากับธนาคาร อ. ตกลงยอมรับข้อกำหนดเงื่อนไขในประกาศขายทอดตลาดดังกล่าว เมื่อจำเลยมีหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางค้างชำระแก่โจทก์ ธนาคาร อ. ผู้ประมูลซื้อห้องชุดดังกล่าวย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร่วมเดิม ธนาคาร อ. จึงมีหน้าที่ที่จะต้องรับภาระหนี้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับทรัพย์ส่วนกลางต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเกี่ยวกับหนี้ค่าส่วนกลางที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาจากจำเลยอีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5226/2561
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ณ วันที่ 20 มีนาคม 2552 จำเลยมีหนี้ค้างชำระการใช้บัตรเครดิตแก่โจทก์จำนวน 200,042.17 บาท ซึ่งจะต้องชำระภายในวันที่ 9 เมษายน 2552 โจทก์ได้ทวงถามแล้วแต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยจึงต้องชำระให้แก่โจทก์เป็นเงิน 200,042.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 184,386.18 บาท นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2552 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2552 เป็นเงิน 6,592.44 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 206,634.61 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 6,592.44 บาท ซึ่งคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายว่า จำเลยค้างชำระหนี้แก่โจทก์ทั้งสิ้น 206,634.61 บาท และโจทก์ระบุเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องคดีนี้ อันเป็นการบรรยายหนี้ที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์ตามที่ปรากฏในคำฟ้องแล้ว แสดงว่าโจทก์ประสงค์ที่จะได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ดังกล่าว หาใช่ต้องการให้จำเลยชำระหนี้เพียง 6,592.44 บาท ไม่ น่าเชื่อว่าตามคำขอบังคับของโจทก์ เกิดจากความพลั้งเผลอพิมพ์ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากเจตนาที่แท้จริง เป็นเหตุให้ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 6,592.44 บาท ผิดพลาดไปด้วย กรณีถือได้ว่าคำพิพากษามีข้อผิดพลาดเล็กน้อย โจทก์จึงชอบที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นให้ถูกต้องได้ จึงมีเหตุสมควรแก้ไขจำนวนเงินในคำพิพากษาจาก 6,592.44 บาท เป็น 206,634.61 บาท ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5225/2561 เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง ทั้งจำเลยทั้งสองยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา 391 วรรคสี่ การที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันตามสัญญาเช่าพื้นที่ ข้อ 4.1 วรรคสองว่า หากผู้เช่าผิดนัดชำระค่าเช่า... และหากการผิดนัดดังกล่าวดำเนินไปเกินกว่า 30 วัน ถือว่าผู้เช่าจงใจประพฤติผิดสัญญาเช่า ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าฉบับนี้ได้ทันที และผู้เช่าตกลงยินยอมให้ผู้ให้เช่าริบเงินที่ผู้เช่าได้ชำระให้แก่ผู้ให้เช่ามาแล้วทั้งหมด และที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงกันตามสัญญาบริการ ข้อ 5.3 ว่า ผู้รับบริการยินยอมให้ผู้ให้บริการริบเงินประกันการบริการได้ทันที หากผู้รับบริการผิดข้อสัญญาข้อใดข้อหนึ่งหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดกันไว้ในสัญญาบริการฉบับนี้หรือสัญญาเช่าพื้นที่ จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบค่าเช่าและค่าประกันการบริการที่โจทก์ชำระในงวดแรกได้ แต่ข้อตกลงตามสัญญาเช่าพื้นที่และสัญญาบริการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 379 ถึงมาตรา 381 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทั้งสองทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้วเห็นสมควรลดเบี้ยปรับในส่วนที่เป็นค่าเช่าพื้นที่ลงเหลือประมาณ 7 ใน 8 ส่วน ค่าประกันการบริการลงเหลือประมาณ 7 ใน 8 ส่วน จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่ริบไว้แก่โจทก์จำนวน 398,816 บาท จำเลยที่ 2 ต้องคืนเงินที่ริบไว้แก่โจทก์จำนวน 17,284 บาท และการที่จำเลยทั้งสองริบเงินที่โจทก์ชำระไปทั้งหมดไว้เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ เมื่อศาลพิพากษาให้ลดเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยทั้งสองต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5211/2561
กำแพงคอนกรีตด้านหลังอาคารพาณิชย์ นอกจากจะบ่งบอกถึงแนวเขตที่ดินโครงการจัดสรรที่ดินของโจทก์แล้ว ยังมีสภาพเพื่อป้องกันทั้งบุคคลภายนอกและบุคคลที่อาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์ทุกคนจำต้องเข้าออกตามทางที่โจทก์กำหนดเพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลทุกคนที่อาศัยอยู่ในโครงการจัดสรรและบุคคลทั่วไปที่เข้ามาติดต่อหรือค้าขาย กำแพงคอนกรีตจึงเป็นสิ่งอำนวยประโยชน์ที่โจทก์ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรใช้ประโยชน์ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณูปโภคตามความหมายของ พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 4 และ 43
การที่จำเลยทุบทำลายกำแพงคอนกรีตแล้วทำเป็นทางเข้าออกไปสู่ที่ดินแปลงอื่นนอกโครงการจัดสรรของโจทก์ เพื่อประโยชน์สำหรับจำเลย บริวารลูกจ้าง และลูกค้าในกิจการค้าของจำเลยโดยไม่ต้องใช้เส้นทางถนนในโครงการจัดสรรของโจทก์ไปออกถนนสาธารณะ ไม่ต้องผ่านทางเข้าออกที่โจทก์กำหนด และไม่ต้องผ่านระบบการรักษาความปลอดภัยของโจทก์เหมือนเจ้าของที่ดินในโครงการรายอื่น ย่อมมีผลกระทบต่อระบบการรักษาความปลอดภัย การจราจร การรักษาความสงบเรียบร้อยของโจทก์และผู้เป็นเจ้าของที่ดินแปลงอื่น ถือว่าเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกแก่เจ้าของที่ดินแปลงอื่นในโครงการจัดสรรของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ จึงเป็นการใช้สอยกำแพงคอนกรีตขัดต่อสิทธิเจ้าของรวมคนอื่น โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมและในฐานะผู้มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดินในการบำรุงรักษากำแพงคอนกรีตแทนเจ้าของสามยทรัพย์ทั้งปวง ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้สั่งห้ามจำเลยกระทำการที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว
แม้การทุบทำลายกำแพงคอนกรีตซึ่งเป็นสาธารณูปโภค จะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับทรัพยสิทธิ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์กระทำการอย่างใดที่ทำให้ประโยชน์หรือความสะดวกแห่งภารยทรัพย์กลับคืนมาดังเดิม ซึ่งการติดตามเอากำแพงคอนกรีตที่ถูกทุบทำลายคืนมาเป็นการทำให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมกลับขึ้นมาตามเดิมก็คือการซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตให้กลับคืนสภาพตามที่เป็นอยู่เดิมนั่นเอง โจทก์จึงมีอำนาจตามกฎหมายที่จะขอบังคับให้จำเลยซ่อมหรือสร้างกำแพงคอนกรีตให้กลับคืนสภาพเดิมได้ ไม่ใช่ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการถูกทำละเมิด จึงไม่จำต้องฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5210/2561
พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 47 บัญญัติว่า "ผู้เช่านามีสิทธิปลูกพืชอายุสั้นใดๆ นอกจากพืชหลักในนาที่เช่าได้ รวมทั้งการใช้ที่นาบางส่วนทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ หรือการปลูกไม้ยืนต้น ในเมื่อไม่ทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก" แม้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เพื่อใช้ทำนา แต่ตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มิได้จำกัดว่าจำเลยต้องทำนาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จำเลยอาจใช้ที่ดินพิพาทที่เช่าบางส่วนทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมเพื่อเพิ่มรายได้ มีอาหารไว้บริโภคในครัวเรือน และลดความเสี่ยงจากการตลาดที่แปรปรวน หากไม่ทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้หากไม่ทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลง การที่จำเลยใช้ที่ดินพิพาทที่เช่าบางส่วนเนื้อที่ประมาณ 12 ถึง 13 ไร่ จากพื้นที่ 59.51 ไร่ เป็นบริเวณบ่อเลี้ยงปลา โดยเนื้อที่บ่อเลี้ยงปลาแท้จริงประมาณ 4 ไร่ นับว่า จำเลยใช้พื้นที่ส่วนน้อยไม่ถึงหนึ่งในสี่ของพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงปลา พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงทำนา จำเลยเลี้ยงปลาหารายได้เสริม จำเลยค้างชำระค่าเช่านาและชำระไม่ครบถ้วนบ้างเพราะผลผลิตไม่แน่นอนและบางครั้งขาดทุน เมื่อทางพิจารณาคู่ความมิได้เถียงกันเรื่องขุดบ่อเลี้ยงปลาของจำเลยทำให้สภาพของนาเปลี่ยนแปลงหรือเป็นอุปสรรคต่อการปลูกพืชหลัก การที่จำเลยใช้ที่ดินพิพาทที่เช่าบางส่วนเป็นบ่อเลี้ยงปลาจึงเป็นสิทธิของจำเลยสามารถทำได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5193-5208/2561 โจทก์เป็นผู้เข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาทต้องผูกพันตามเงื่อนไขการเข้าสู้ราคา ข้อสัญญาและคำเตือนผู้ซื้อที่กำหนดไว้ในประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อตามประกาศขายทอดตลาดได้ระบุคำเตือนผู้ซื้อไว้ว่า ผู้ซื้อจะต้องตรวจสอบภาระหนี้สินก่อน และผู้ซื้อได้จะต้องเป็นผู้ชำระหนี้สินค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดก่อนจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18, 29 และ 41 โจทก์จึงต้องผูกพันตามเนื้อความดังกล่าวในอันที่จะต้องชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระอยู่ก่อนและในวันที่โจทก์เข้าประมูล รวมทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ประมูลซื้อห้องชุดพิพาทได้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้โดยไม่เสนอจะชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 หาได้ไม่ แม้ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 (เดิม) ไม่ได้บัญญัติให้เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มอันเนื่องมาจากเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางภายในกำหนด เป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลาง แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ที่กำหนดให้คิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากเจ้าของร่วมก็ต่อเมื่อเจ้าของร่วมผิดนัดไม่ชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางตามกำหนด เงินในส่วนนี้จึงเป็นลักษณะของการกำหนดเบี้ยปรับไว้ล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 ชอบที่จะคิดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มจากโจทก็ได้ โจทก์ทราบถึงภาระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่เจ้าของห้องชุดพิพาท คนเดิมค้างชำระตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท การที่โจทก์ยังคงเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โดยไม่ปรากฏว่าขณะเข้าประมูลซื้อห้องชุดพิพาท โจทก์ได้โต้แย้งว่าหนี้ในส่วนนี้ขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ได้สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว โจทก์จะยกเรื่องหนี้ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) และจะขอชำระหนี้นับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี หาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 12 รับชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางและเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มที่ค้างชำระนับจากวันฟ้องย้อนหลังไป 5 ปี แล้วออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ให้แก่โจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5149/2561 คดีนี้โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 93 และ 95 โดยที่ดินโฉนดเลขที่ 93 มีชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์อยู่แล้ว แต่โฉนดเลขที่ 95 มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ทั้งนี้ ในอีกคดีหนึ่ง คู่ความได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยในคดีนั้นซึ่งเป็นจำเลยในคดีนี้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ให้แก่โจทก์ในคดีนี้ หากโจทก์คดีนั้นได้ชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย เมื่อโจทก์ในคดีก่อนปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยชำระหนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 93 คืนแก่โจทก์คดีนี้ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่จำเลยยังอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 93 ย่อมกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินแปลงนี้ได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับการยกให้ที่ดินแปลงนี้มาจากโจทก์และยังคงเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงต้องถือว่าที่ดินแปลงนี้ยังเป็นของจำเลย ประกอบกับได้ความจากทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ยอมไปรับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมโอนคนละครึ่ง กรณียังไม่ถือว่าโจทก์ถูกจำเลยโต้แย้งสิทธิในส่วนนี้ โจทก์ไม่อาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 95 ได้ แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ก็ยังคงมีสิทธิบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 แม้ระบุข้อความทำนองว่า การใดที่ผู้รับมอบอำนาจได้กระทำไปตามหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบเสมือนว่าข้าพเจ้าเป็นผู้กระทำการด้วยตนเองทั้งสิ้น เช่นนี้ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ส. มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลได้ทุกประการ ซึ่งรวมถึงการยื่นฟ้องคดีต่อศาลตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 (5) โดยการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ไม่จำต้องระบุบุคคลที่จะถูกฟ้องไว้โดยเฉพาะเจาะจงว่าเป็นผู้ใด รวมทั้งไม่ต้องระบุว่าให้ฟ้องในข้อหาใดเช่นกัน การระบุหมายเลขคดีในภายหลังเป็นเพียงการระบุข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5127/2561
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิด แต่คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าไม่ได้ทำละเมิด เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเสียแล้ว การวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่ามิได้ทำละเมิดจึงไม่เป็นประโยชน์แก่คดี และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นศาลที่สูงกว่าย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 อีกต่อไป และจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 จะมีสิทธิฎีกาได้ต่อเมื่อคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 แต่คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หาได้กระทบกระเทือนหรือมีผลทำให้จำเลยที่ 1 อาจได้รับความเสียหายแต่ประการใดไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นละเมิด จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2561
จำเลยที่ 3 เช่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 633 และ 23993 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร บางส่วนจากบริษัท อ. ทำนาปลูกข้าวเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี ก่อนที่โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 บริษัท อ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย และวันที่ 5 ตุลาคม 2555 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 28 เรื่องการเช่านาย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์นาที่เช่า ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านา และแม้ตามมาตรา 30 (4) เรื่องการเช่านาอาจสิ้นสุดก่อนกำหนดระยะเวลาการเช่านากรณีเมื่อนาที่เช่าถูกเวนคืนตามกฎหมายหรือโอนไปเป็นของรัฐด้วยประการอื่น แต่โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐที่รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ มิใช่รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของหน่วยงานของรัฐเพื่อเป็นผู้ให้เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 4 จึงไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าว สิทธิการเช่านาของจำเลยที่ 3 ยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 30 (4) เมื่อก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยการบอกเลิกการเช่านา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5085/2561
แม้ผู้ร้องอ้างว่าการเรียกเก็บค่าสาธารณูปโภคเพื่อนำไปใช้จ่ายบำรุงซ่อมแซมสโมสรและสระว่ายน้ำเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของผู้คัดค้าน เพราะอยู่นอกแผนผังและโครงการที่ผู้จัดสรรที่ดินได้รับอนุญาต แต่ปรากฏว่าตามมติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนยังไม่ได้มีมติให้ใช้จ่ายตามรายการดังกล่าว แต่ให้ผู้ดำเนินการนำเสนอรายละเอียดเพื่อพิจารณาอีกครั้ง มติที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกจึงยังไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของผู้คัดค้านที่ผู้ร้องจะขอให้เพิกถอนเสียได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5061/2561
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 65 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) ให้ประหารชีวิต เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ แต่ที่ศาลอุทธรณ์ให้จำคุกตลอดชีวิต และลงโทษปรับ 2,400,000 บาท ด้วยนั้นเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะโทษที่วางก่อนกำหนดโทษใหม่ไม่มีโทษปรับ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5052/2561 แม้คดีจะฟังว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของ น. มิใช่สินสมรสตามที่ผู้ร้องสอดยกขึ้นต่อสู้ก็ตาม น. ก็มีอำนาจจัดการสินส่วนตัวของตนโดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงบางส่วน และยกกรรมสิทธิ์ในส่วนของ น. ให้แก่จำเลยได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1473 ดังนั้น การที่ น. ยกที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้แก่จำเลย จึงเป็นสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้ ไม่ทำให้นิติกรรมดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ส่วนการที่ น. และจำเลยแจ้งความเท็จโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียม ค่าภาษีเงินได้ ค่าอากร และค่าใช้จ่ายในการโอนก็เป็นหน้าที่ของรัฐ ที่หน่วยงานราชการจะต้องไปดำเนินการเรียกเอาจากผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5048 - 5049/2561
คดีนี้ศาลฎีกาสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 6 สิงหาคม 2561 ว่า ก่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ให้ศาลชั้นต้นเรียกคู่ความทั้งสองฝ่ายมาสอบถามราคาทรัพย์ทั้งหมดตามพินัยกรรมและให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขึ้นศาลทั้งสองสำนวนให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด มิฉะนั้นให้ส่งสำนวนและคำพิพากษาคืนศาลฎีกา ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2561 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามชำระค่าขึ้นศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันดังกล่าว จำเลยทั้งสามทราบคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ชำระค่าขึ้นศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือว่าจำเลยทั้งสามทิ้งฟ้องฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5042/2561 การตั้งตัวแทนเชิดเพื่อทำกิจการอันใด ไม่อยู่ในบังคับที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือตัวการฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากตัวแทน แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือก็ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4976/2561
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลแขวงสุพรรณบุรี ศาลแขวงสุพรรณบุรีได้มีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความจนคดีถึงที่สุดก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 การที่ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนทรัพย์สินที่ขายอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ร้องแล้วยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลขอให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อให้บังคับจำเลยและบริวารของจำเลยที่ไม่ยอมออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นการยื่นฟ้องกล่าวหาจำเลยและบริวารของจำเลยต่อศาลขึ้นใหม่ตามวิธีการที่ ป.วิ.พ. มาตรา 334 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ภายหลังวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มีผลใช้บังคับแล้ว ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 244/1 เพิ่มโดยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 4 บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด และการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกาตามมาตรา 247 ที่แก้ไขใหม่ โดยพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ดังนั้น คดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับที่จะนำบทบัญญัติ ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ (เดิม) ที่ถูกยกเลิกไปแล้วโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 27) พ.ศ.2558 มาตรา 3 มาใช้บังคับได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องที่ขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาและให้ส่งถ้อยคำสำนวนนี้ไปยังศาลฎีกาจึงไม่ชอบ และเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4831/2561 การประชุมสามัญผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นการประชุมใหญ่นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1171 บัญญัติไว้เพียงว่าให้มีการประชุมดังกล่าวครั้งแรกภายใน 6 เดือน นับแต่วันจดทะเบียนบริษัทและครั้งต่อ ๆ ไป อย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก 12 เดือน โดยมิได้มีบทบังคับให้ต้องเรียกประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาและลงมติกันเสียก่อนว่าจะให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นหรือไม่ ดังนั้นการที่ อ. กรรมการบริษัทจำเลยออกหนังสือเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยครั้งที่ 1/2558 จึงไม่เป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีเหตุต้องเพิกถอน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4796/2561
เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 233/2554 ของศาลชั้นต้น แต่ น. ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้แยกฟ้องจำเลยที่ 2 และพิพากษาลงโทษ น. ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง และรถจักรยานยนต์ของกลาง ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีเดียวกันกับคดีดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อ น. ในเรื่องซื้อขายเมทแอมเฟตามีนและให้ น. นำรถจักรยานยนต์ไปติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยและรถจักรยานยนต์ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด ไม่อาจริบได้ แม้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์ดังกล่าวตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 233/2554 แต่เมื่อฟังไม่ได้ว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ จะต้องคืนแก่เจ้าของ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และมีอำนาจสั่งคืนแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 ประกอบมาตรา 186 (9), 215 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4750-1/2561 ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ง) ได้ เมื่อคู่พิพาทฝ่ายที่ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดสามารถพิสูจน์ได้ว่า คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทนั้นไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการหรือคำชี้ขาดวินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งข้อตกลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อสัญญาจ้างเหมางานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมระบุว่า หากคู่สัญญามีข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง หรือข้อเรียกร้องใดๆ ซึ่งเกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับสัญญา รวมทั้งปัญหาการผิดสัญญา การเลิกสัญญา หรือความสมบูรณ์ของสัญญา ให้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ โดยสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมิได้มีข้อกำหนดจำกัดขอบเขตอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการเอาไว้ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมางานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรม และได้เสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาด การที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยข้อพิพาทจากพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่นำสืบจึงเป็นการวินิจฉัยข้อพิพาทภายในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวได้กล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีที่ผู้คัดค้านยกขึ้นโต้แย้งเป็นประเด็นพิพาทไว้ถูกต้องครบถ้วน ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) และ (5) แล้ว ไม่อาจโต้แย้งว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายอันจะทำให้ผู้คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ว่า คำพิพากษาศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ศาลจะแทรกแซงกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยการเข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของอนุญาโตตุลาการหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือทำลายคำชี้ขาดไม่ได้ เว้นแต่กฎหมายให้อำนาจไว้อย่างชัดแจ้ง เพราะมิฉะนั้นแล้วระบบอนุญาโตตุลาการย่อมไม่อาจบรรลุผลสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมาย การที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์โต้แย้งว่า อนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากวินิจฉัยชี้ขาดว่า ผู้คัดค้านก่อสร้างอาคารไม่แล้วเสร็จตามกำหนดเวลาจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกำหนดค่าเสียหายให้ผู้คัดค้านรับผิดชำระแก่ผู้ร้องโดยมิได้วินิจฉัยเชื่อตามพยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่นำสืบว่า ผู้ร้องมิได้ถือเอากำหนดระยะเวลาตามสัญญาเป็นสาระสำคัญ ผู้คัดค้านจึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และอุทธรณ์คัดค้านในประเด็นการกำหนดค่าเสียหายและค่าปรับของอนุญาโตตุลาการ นั้น ล้วนเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงของอนุญาโตตุลาการเท่านั้น หาใช่เป็นการโต้แย้งว่าคณะอนุญาโตตุลาการพิจารณาวินิจฉัยโดยขัดต่อหลักเกณฑ์ของกฎหมายเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการไม่ เมื่ออนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการรับฟังพยานหลักฐานของผู้คัดค้านและผู้ร้องและข้อวินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่า ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญาและกำหนดค่าเสียหายและค่าปรับภายใต้พยานหลักฐานที่ผู้คัดค้านและผู้ร้องนำสืบในชั้นอนุญาโตตุลาการโดยไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 45 (1) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ผู้คัดค้านจะอุทธรณ์ว่าการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ ตาราง 1 (1) (ข) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) จากคู่พิพาทที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้วแต่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว คดีนี้ผู้ร้องและผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้พิพาทต่างฝ่ายต่างยื่นคำร้องในมูลคดีคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเรื่องเดียวกัน โดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ส่วนผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และต่างฝ่ายต่างเสียค่าขึ้นศาลตามตาราง 1 (1) (ข) เป็นเหตุให้ค่าขึ้นศาลดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าค่าขึ้นศาลที่คู่พิพาทเหล่านั้นต้องชำระในกรณีที่มิได้แยกยื่นคำร้องเป็นคนละคดีกัน กรณีจึงมีเหตุสมควรมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่คู่พิพาทเหล่านั้นตามส่วนของค่าขึ้นศาลที่คู่พิพาทแต่ละคนได้ชำระ ทั้งนี้โดยเทียบเคียงกับ ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ในฐานะเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2561
โจทก์กู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้า มีหนี้สินคงเหลืออยู่ ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2553 ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 65 ทวิ (5) (ก) โจทก์มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,195,938,480 บาท เห็นว่า ทั้งผลกำไรและผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสำหรับหนี้เงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรา 65 ทวิ (5) เป็นผลกำไรหรือขาดทุนที่ได้จากการคำนวณจำนวนหนี้เงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ได้รับเงินกู้เปรียบเทียบกับการคำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้น ทั้งผลกำไรและผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรา 65 ทวิ (5) โดยหนี้สินนั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระเงิน ย่อมนำมาคำนวณได้ทั้งกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โจทก์จึงต้องนำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา 1,195,938,480 บาท มารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2553
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4716/2561
โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินทรัพย์มรดกระหว่าง ต. ผู้จัดการมรดกกับจำเลย โดยอาศัยข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีก่อน แม้อ้างเหตุเพิกถอนว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ก็ด้วยประสงค์ให้ที่ดินกลับสู่กองมรดก และนำมาแบ่งปันแก่โจทก์รวมทั้งทายาทอื่น ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาคดีนี้และคดีก่อนจึงเป็นข้ออ้างเดียวกัน คือ การโอนที่ดินระหว่าง ต. กับจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แม้คดีก่อนศาลพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนจำเลยเพราะขาดอายุความ แต่ก็ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีด้วยว่า จำเลยเป็นทายาทโดยธรรมมีสิทธิรับมรดก การที่ ต. โอนที่ดินให้จำเลยมิใช่การปิดบังยักยอกทรัพย์มรดก และไม่ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินแทนโจทก์ ย่อมถือได้ว่าคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยในเนื้อหาของเรื่องที่ฟ้องกันแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4605/2561 ความเกี่ยวพันระหว่างผู้ลงทุนในบริษัทจำเลยที่ 1 ย่อมต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 มาตรา 1015 ซึ่งกำหนดว่า บริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติลักษณะดังกล่าวแล้ว จัดว่าเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นบริษัทนั้น โดยบทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะเป็นบทบังคับโดยเด็ดขาด มิได้มีลักษณะเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นตามกฎหมาย ที่จะสามารถนำสืบเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จากบทบัญญัติดังกล่าวบริษัทจึงมีสิทธิหน้าที่แยกต่างหากจากบรรดาผู้ถือหุ้น สามารถมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเป็นของตนเอง ทรัพย์สินของบริษัทจึงแยกต่างหากจากทรัพย์สินของบรรดาผู้ถือหุ้น หากบริษัทก่อหนี้สินก็ต้องถูกบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของบริษัท โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นที่แท้จริงในบริษัทจำเลยที่ 1 โดยบรรดาผู้ถือหุ้นทุกคนของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือหุ้นแทนโจทก์ หากเป็นจริงดังที่กล่าวอ้าง โจทก์ก็มีสถานะเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้ที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัท ไม่ได้เป็นกรรมการบริษัทซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลของบริษัท จะมีสิทธิแต่เพียงควบคุมการดำเนินงานของกรรมการบริษัทบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น หาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทเสียเองได้ไม่ หรือหากกรรมการทำให้เกิดเสียหายแก่บริษัท ซึ่งบริษัทมีสิทธิจะฟ้องร้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนแก่กรรมการแล้วบริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง ผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดจะเอาคดีนั้นขึ้นว่าก็ได้ตามมาตรา 1169 วรรคหนึ่ง อันเป็นการใช้สิทธิของบริษัทเพื่อประโยชน์ของบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นหาอาจจะเข้ามาดำเนินการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมสัญญาที่กรรมการบริษัทกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้นิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายทรัพย์สินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ และให้โอนทรัพย์สินกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิม หากไม่สามารถกระทำได้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแทน ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ฟังขึ้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4574/2561
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืม จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์ โจทก์นำสืบสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 เป็นพยานหลักฐานตามข้ออ้างของตน สัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 ปิดอากรแสตมป์ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด ย่อมถือว่าสัญญากู้เงินดังกล่าวไม่ได้ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 มีผลเท่ากับว่าโจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสำคัญ โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง และปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7 โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะฟังว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปจริงตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4567/2561
แม้โจทก์จะเป็นเพียงลูกค้าที่ติดต่อซื้อรถยนต์จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการเช่าซื้อ และโจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันพิพาทขณะฟ้องคดีเพราะเป็นผู้เช่าซื้อจากธนาคาร ท. แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ก่อนโจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อกับผู้ให้เช่าซื้อพร้อมกับส่งมอบสมุดคู่มือการรับบริการให้แก่โจทก์ระบุการรับประกันรถยนต์พิพาทตามเงื่อนไขและระยะเวลา โดยระบุชื่อโจทก์เป็นลูกค้าผู้ซื้อซึ่งมีสิทธิเข้ารับบริการเกี่ยวกับรถยนต์พิพาทจากจำเลยที่ 1 ข้อตกลงเช่นนี้ย่อมถือเป็นสัญญาให้บริการ แม้ไม่ได้ทำสัญญาให้บริการขึ้นก็มีผลผูกพันและใช้บังคับแก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ให้เช่าซื้อตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจผลิต ประกอบ และจำหน่ายรถยนต์พิพาท แม้เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับลูกค้าผู้ซื้อรถก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ควบคุมและกำกับดูแลมาตรฐานการซ่อมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยใกล้ชิด พฤติการณ์การประกอบธุรกิจของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ย่อมชี้ชัดว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการให้สัญญารับประกันการซ่อมบำรุงรักษารถยนต์อันเป็นบริการที่ให้แก่โจทก์ด้วย จำเลยทั้งสองจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ส่วนโจทก์เป็นคู่สัญญาฝ่ายผู้รับบริการย่อมเป็นผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 3 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 3 เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่ารถยนต์พิพาทชำรุดบกพร่องจากเหตุเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติและอยู่ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลารับประกัน อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาให้บริการซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ซ่อมแซมข้อชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาทเรียบร้อยแล้วหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการให้บริการที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 29 เมื่อจำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์แต่ไม่อาจนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้างได้ คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าข้อชำรุดบกพร่องของเครื่องยนต์ได้รับการแก้ไขแล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องร่วมกันรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรถยนต์พิพาท
ศาลในคดีผู้บริโภคย่อมมีอำนาจบังคับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงินแก่โจทก์ได้ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 39 และ 41 ในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่อาจแก้ไขเหตุชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นแก่โจทก์ผู้บริโภคได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2561 จำเลยเสนอขายห้องชุดในโครงการซึ่งก่อสร้างห้องชุดเสร็จแล้ว จำเลยในฐานะนิติบุคคลที่ดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยย่อมทราบเนื้อที่ของห้องชุดและราคาซื้อขายเป็นข้อสำคัญ ผู้ซื้อย่อมต้องการรับโอนห้องชุดที่มีเนื้อที่ตามหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด หรือหากจะแตกต่างไปบ้างก็ไม่ควรขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนเกินสมควร ทั้งจำเลยสามารถคำนวณและตรวจสอบเนื้อที่ห้องชุดได้อยู่แล้ว ในขณะที่ผู้บริโภคเช่นโจทก์ทั้งสองไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย การที่จำเลยกำหนดสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 1 วรรคท้าย ให้ใช้เนื้อที่ห้องชุดตามสัญญาเช่าซื้อโดยไม่คิดราคาเพิ่มหรือลดตามเนื้อที่ในหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดที่ออกในภายหลัง เป็นการยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา 466 จำเลยส่งมอบห้องชุดเนื้อที่ขาดตกบกพร่องจากสัญญา คิดเป็นร้อยละ 9.1 ของเนื้อที่ทั้งหมด แต่ยังคงให้โจทก์ทั้งสองรับเอาห้องชุดไว้โดยไม่อาจใช้ราคาตามส่วน ทั้งที่ความแตกต่างของเนื้อที่ห้องชุดมาจากการคำนวณของจำเลยเอง ทำให้โจทก์ทั้งสองต้องรับภาระชำระราคาเกินกว่าเนื้อที่ห้องชุดที่แท้จริงถึง 165,291 บาท จึงเป็นข้อตกลงที่นอกจากจะไม่เป็นไปตามมาตรา 466 แล้ว ยังเป็นข้อตกลงในสัญญาสำเร็จรูปที่จำเลยซึ่งมีอำนาจต่อรองมากกว่าเป็นผู้กำหนดให้โจทก์ทั้งสองรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนพึงคาดหมายได้ตามปกติ ถือได้ว่าข้อตกลงเช่นนี้ทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ทั้งสองคู่สัญญาอีกฝ่ายเกินสมควร จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและไม่มีผลใช้บังคับ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 เมื่อข้อสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 1 วรรคท้าย ที่กำหนดให้คู่สัญญายินยอมให้ใช้เนื้อที่ตามหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุดเป็นเนื้อที่ที่เช่าซื้อตามสัญญาฉบับนี้โดยไม่คิดราคาเพิ่มหรือลดต่อกันเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่อาจใช้บังคับได้ จำเลยจึงต้องปรับลดราคาห้องชุดให้เป็นไปตามเนื้อที่อันแท้จริงและต้องคืนเงินในส่วนที่ส่งมอบเนื้อที่ห้องชุดขาดตกบกพร่องแก่โจทก์ทั้งสองด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4565/2561 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทรกับจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำสัญญากู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมเงินเพื่อชำระค่าที่ดินพร้อมบ้านให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ผิดนัด 3 งวดติดต่อกัน จำเลยที่ 2 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ทั้งหมดแทน ซึ่งตามสัญญาค้ำประกันข้อ 2 กำหนดว่า "หากลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่ธนาคารไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ โดยมีจำนวนหนี้ค้างชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นสะสมรวมกันตั้งแต่ 3 งวดขึ้นไป ... ให้ถือว่าลูกหนี้ผิดสัญญากู้เงิน และเป็นผลให้หนี้ตามสัญญากู้ถึงกำหนดชำระทันที และผู้ค้ำประกันยินยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน." และตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวไม่มีข้อตกลงว่าก่อนจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 แทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบก่อน เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แทนแล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมบ้านเอื้ออาทร ข้อ 9 ให้ถือว่าโจทก์ผู้ซื้อผิดสัญญา จำเลยที่ 1 ผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน การใช้สิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้แทนไม่อยู่ในบังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2544 ข้อ 3 (2) เพราะประกาศดังกล่าวเป็นการควบคุมเฉพาะธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา มิได้หมายรวมถึงธุรกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ด้วย และเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านเอื้ออาทรในการกู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในการชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 2 จึงมิใช่คู่สัญญากับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภค กรณีจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ดังกล่าว ทั้งเมื่อโจทก์ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เมื่อใด จำเลยที่ 2 เจ้าหนี้จึงชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ได้แต่นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 ที่จำเลยที่ 2 เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ที่ค้างชำระแทนโจทก์ผู้กู้ยืมจึงชอบแล้ว กรณีไม่จำต้องมีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์ต้องแก้ไขการผิดสัญญาก่อน จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขับไล่โจทก์ออกจากที่ดินพิพาทได้ตามฟ้องแย้ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4551/2561
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้ในฟ้องข้อเดียวกัน เพียงแต่โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายก่อนที่จะบรรยายการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และใช้คำเชื่อมประโยค เช่นคำว่า "โดย" "ดังกล่าวข้างต้น" เป็นการอธิบายถึงความสัมพันธ์ของการกระทำความผิดแต่ละฐาน ซึ่งเมื่ออ่านฟ้องโดยตลอดแล้วย่อมเข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามสมคบกันโดยร่วมกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีนจำนวนตามฟ้องและร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งเป็นการกระทำต่อเนื่องจากการสมคบกันนำเข้าเมทแอมเฟตามีน ดังนี้ โจทก์บรรยายฟ้องครอบคลุมถึงความผิดฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4546/2561 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2543 และยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2543 เพื่อปรับปรุง เท่ากับโจทก์ยอมรับว่าแบบที่โจทก์ยื่นไว้เดิมไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจตรวจสอบความถูกต้องของแบบแสดงรายการที่โจทก์ยื่นเพิ่มเติมได้ อายุความใช้สิทธิเรียกร้องจึงต้องเริ่มนับระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเพิ่มเติม เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งโจทก์ได้รับเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 จึงยังอยู่ในอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4532/2561
การที่จำเลยทั้งสามกับพวกนำผู้ตายไปกักขังเพื่อเรียกค่าไถ่แล้วพวกของจำเลยได้ฆ่าผู้ตายนั้น ถือได้ว่าการตายของผู้ตายเป็นผลมาจากการที่จำเลยทั้งสามกับพวกนำผู้ตายไปเพื่อเรียกค่าไถ่ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 313 วรรคท้าย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 9/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4521/2561
ตาม พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.2497 มาตรา 25 วรรคหนึ่งและวรรคสาม กำหนดให้ ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้ายี่สิบเอ็ดปีในพุทธศักราชใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายในพุทธศักราชนั้น ผู้ใดไม่สามารถจะไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและพอจะเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกแทน ถ้าไม่มีผู้แทนให้ถือว่าผู้นั้นหลีกเลี่ยงขัดขืน เมื่อจำเลยมีหน้าที่ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหาร ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 แม้จำเลยอยู่ในระหว่างต้องรับโทษซึ่งไม่สามารถไปรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหารได้ก็ตาม จำเลยยังคงมีหน้าที่ต้องมอบหมายให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและพอจะเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกดังกล่าวแทนระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยไม่ดำเนินการดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาหลีกเลี่ยงขัดขืน
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1009/2557 ของศาลจังหวัดสุรินทร์ ให้ลงโทษจำคุก 4 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ในระหว่างที่จำเลยยังจะต้องรับโทษในคดีดังกล่าว จำเลยกระทำความผิดในคดีนี้อีก ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย เมื่อศาลชั้นต้นอ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การว่ารับสารภาพตามฟ้อง คำให้การที่จำเลยที่รับสารภาพย่อมหมายรวมถึงการรับว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อนตามที่โจทก์กล่าวหาในฟ้อง ตลอดจนรับตามบทบัญญัติที่ขอให้เพิ่มโทษจำเลยตามฟ้องด้วย เมื่อศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จึงต้องเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4502/2561
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ระหว่างปี 2539 ถึงปี 2545 และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด และกล่าวในตอนท้ายว่า ถือว่าจำเลยทั้งสามได้ประโยชน์จากการทำงานของโจทก์ จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 3 เคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จริง แต่ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแล้ว จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด หลังจากลาออกเป็นเวลา 2 ปี เท่านั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้หลังจากจำเลยที่ 3 ลาออกเป็นเวลากว่า 2 ปี จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้อง โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ จากจำเลยทั้งสามนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 และหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ปัญหาว่าจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ จึงรวมอยู่ในข้อหาที่โจทก์ฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดอย่างไรตามบทกฎหมายใด ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 เป็นตัวการเชิดจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 1 แทนตน แล้วให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จึงมิใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 15/2560)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4479/2561
สัญญาค้ำประกันการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งระบุว่า "...หาก ร. ผู้ต้องหา/จำเลย ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน หรือก่อให้นายประกันต้องถูกสั่งปรับในฐานะนายประกัน หรือการกระทำอื่นใดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนายประกัน ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดชอบยอมใช้หนี้สินและค่าเสียหายอย่างใด ๆ นั้นทั้งหมด พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี ให้กับนายประกันทันที..." ไม่ใช่กรณีที่จำเลยทั้งสามยอมชำระหนี้ต่อโจทก์ต่อเมื่อ ร. ไม่ชำระหนี้ สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 ที่ต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่งประมวลรัษฎากร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4463/2561
พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (เดิม) ตอนท้ายบัญญัติว่า "ไม้ชนิดอื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา" คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกร่วมกันตัดฟันต้นไม้ขะเจ๊าะและไม้มะเกลือ การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตต้องได้ความว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่า เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าพื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ตามฟ้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4444/2561
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนและเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนแล้วจำเลยร่วมกับพวกที่หลบหนี ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน ชนิดเม็ด 19,802 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 378,858 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 19,800 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 378,824 กรัม ให้แก่สายลับ จำเลยให้การรับสารภาพ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 19,800 เม็ด และจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำนวน 19,800 เม็ด ดังกล่าวให้แก่สายลับทั้งหมดในคราวเดียว เมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเป็นจำนวนเดียวกันจึงเป็นกรรมเดียวกัน ส่วนเมทแอมเฟตามีนอีก 2 เม็ด ที่ค้นพบในห้องพักของจำเลยในภายหลังเป็นเมทแอมเฟตามีนคนละส่วนที่จำเลยกับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยก็มิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีน จำนวน 19,802 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมทแอมเฟตามีนที่พบในภายหลัง 2 เม็ด จำเลยครอบครองไว้โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาย่อมลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4376/2561
ข้อมูลตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 มาตรา 14 จัตวา หมายถึง ข้อเท็จจริงหรือข้อความที่เป็นเนื้อหาของการติดต่อสื่อสารกันทางไปรษณีย์ โทรเลข โทรทัศน์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ส่วนข้อมูลตามเอกสารหมาย จ.14 เป็นข้อเท็จจริงว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการใช้งานกันหรือไม่ เพียงใด มิใช่ข้อมูลตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟัง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4369/2561
จำเลยที่ 1 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง ส่วนเฟนิลโพรพาโนลามีนซึ่งเป็นวัตถุที่ออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำเลยที่ 1 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อขายและพยายามขายในวันเวลาเดียวกันต่อเนื่องกันและเป็นจำนวนเดียวกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 4 ที่บังคับใช้ในขณะเกิดเหตุกำหนดคำนิยามของคำว่า "ขาย" ให้หมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบหรือมีไว้เพื่อขาย จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 เพียงบทเดียว
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 3 (1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ซึ่งความผิดฐานขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตามมาตรา 16 ที่ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 118 ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท ต่างจาก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 89 ที่ให้ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 1 ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4344/2561
คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพทุกข้อหาตามฟ้องโจทก์ ในระหว่างนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้อง ขอให้บวกโทษจำคุกที่ศาลรอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้อง โดยศาลชั้นต้นไม่ได้สอบถามและโจทก์ไม่ได้นำสืบให้ได้ความว่าจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีก่อนที่โจทก์ขอให้บวกโทษ การที่ศาลชั้นต้นนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ของจำเลยจึงไม่ถูกต้อง แต่ในชั้นอุทธรณ์ จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการลงโทษจำคุกของศาลชั้นต้น โดยขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก และในชั้นฎีกาโจทก์ฎีกาขอให้นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้ โดยได้แนบคำพิพากษาในคดีก่อนที่ขอให้บวกโทษมาท้ายฎีกาด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาและส่งสำเนาให้จำเลยแก้ฎีกาแล้ว แต่จำเลยไม่ยื่นคำแก้ฎีกาภายในกำหนดคัดค้านว่าคำพิพากษาที่ขอให้บวกโทษแนบท้ายฎีกาของโจทก์ดังกล่าวไม่ถูกต้องแต่อย่างใด กรณีถือได้ว่าจำเลยได้ยอมรับในข้อที่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีก่อนที่ขอให้บวกโทษ และความได้ปรากฏแก่ศาลแล้ว เมื่อคดีก่อนที่ขอให้บวกโทษศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด จำเลยกลับมากระทำความผิดในคดีนี้ ภายในกำหนดระยะเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อน ศาลฎีกาจึงย่อมมีอำนาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4326/2561
"" เป็นเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยภาคส่วนอักษรโรมัน "W" และภาคส่วนคำภาษาอังกฤษว่า "HOTELS" โดยคำว่า "HOTELS" เป็นคำธรรมดาที่มีความหมายปรากฏในพจนานุกรมและเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าหมายถึง โรงแรม สำหรับภาคส่วนอักษรโรมัน "W" วางอยู่ตรงกลางของเครื่องหมายการค้า มีขนาดใหญ่กว่าภาคส่วนคำว่า "HOTELS" มาก หากมองภาพรวมของเครื่องหมายการค้าจะเห็นตัวอักษร "W" เด่นชัดกว่าภาคส่วนคำว่า "HOTELS" มาก ถือได้ว่า ภาคส่วน "W" เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้านี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอักษร "W" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับตัวอักษรโรมันดับเบิลยูในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการใช้อยู่ทั่วไปแล้ว แทบไม่พบความแตกต่างจากตัวอักษรดับเบิลยูตัวพิมพ์ใหญ่ธรรมดา จึงไม่อาจถือว่าอักษร "W" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวหนังสือที่ประดิษฐ์ขึ้นอันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (3) (เดิม) ประกอบกับภาคส่วน "W" ที่เป็นสาระสำคัญนั้น เป็นส่วนเครื่องหมายการค้าที่เป็นตัวหนังสือ ไม่ใช่ส่วนที่เป็นคำหรือข้อความตามมาตรา 7 วรรคสอง (1) หรือ (2) (เดิม) ที่อาจพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ได้ตามมาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในเรื่องการใช้เครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด ดังนี้ เมื่ออักษร "W" ในเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ทั้งสามคำขอถือเป็นส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า แต่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อันไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนตามมาตรา 6 ถือว่าเครื่องหมายการค้า "" ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน เป็นเหตุต้องปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ ดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4298/2561 จำเลยที่ 3 ลงชื่อในช่องผู้ค้ำประกันไว้ท้ายสัญญาและเขียนกำกับไว้ในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนว่าใช้สำหรับประกันถมดินเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ โดยไม่ได้กำหนดจำนวนเงินที่ค้ำประกันไว้ อันเป็นการค้ำประกันอย่างไม่มีจำกัด จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดรวมถึงดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้นั้นด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 วรรคหนึ่ง และมาตรา 683 เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามมาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องคืนเงินมัดจำและค่าเสียหายซึ่งโจทก์ต้องเสียไปจากการว่าจ้างผู้อื่นถมดินในราคาที่สูงขึ้น รวมเป็นเงิน 1,379,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามมาตรา 391 วรรคสอง และวรรคท้าย แต่ตามสัญญาว่าจ้างเหมางานถมดินและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าจำเลยที่ 3 ยอมผูกพันตนโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ความรับผิดของจำเลยที่ 3 จึงมีเฉพาะกรณีหากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ต้องชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 7
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4267/2561
การให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม แต่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษนั้น จะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีการนำสืบกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งศาลจะหยิบยกเอาข้อเท็จจริงในบันทึกการจับกุมตามคำร้องฝากขังมารับฟังเพียงลำพังว่ามีการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยไม่มีการสืบพยานอื่นประกอบหาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพโดยไม่มีการสืบพยานให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ต่อมาจำเลยอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ไต่สวนเหตุลดโทษตามมาตรา 100/2 โดยไม่มีอำนาจ ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นไต่สวนดังกล่าวจึงเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 1 เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 นั้นชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4265/2561
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาไว้ตามคำร้องของผู้ร้องมีกำหนด 12 วัน เพื่อสอบสวนดำเนินคดีผู้ต้องหาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาฎีกา เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา 71 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อออกหมายขังโดยทันที... กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา 87 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม..." มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" มาตรา 66 บัญญัติว่า "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี" ตามบทบัญญัติข้างต้นให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 คดีนี้ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกระบวนการก่อนฟ้องซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีตัวจำเลยในการพิจารณาคดีของศาล ทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 106 บัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นฝากขังระหว่างสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของผู้ร้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4259/2561
จำเลยเป็นพี่ชาย ส. แต่ปฏิเสธอ้างว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางที่อยู่ในกระโปรงท้ายรถของ ส. ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านของ ส. และจับกุมภริยาของ ส. กับพวกได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่ง ส่วน ส. หลบหนีไปได้ จำเลยซึ่งมีบ้านอยู่เยื้องฝั่งถนนตรงกันข้ามย่อมทราบดีว่า ส. เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ การที่ ส. นำรถยนต์ของกลางมาจอดภายในโรงจอดรถใต้ถุนบ้านของจำเลยนับว่าเป็นเรื่องผิดปกติเนื่องจากบริเวณบ้านของ ส. มีพื้นที่เพียงพอที่จะจอดรถยนต์ของกลางได้ ทั้งการที่รถยนต์ของกลางไม่ได้ถูกล็อกหรือไม่มีลายนิ้วมือของจำเลยอยู่ที่รถยนต์คันดังกล่าว ก็ไม่ได้พิสูจน์ว่าจำเลยไม่รู้เห็นเกี่ยวข้องกับเมทแอมเฟตามีนของกลาง การกระทำของจำเลยเพียงแต่ช่วยปกปิดซ่อนเร้นเมทแอมเฟตามีนของ ส. ก็ฟังได้ว่าจำเลยร่วมกับ ส. ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้เพื่อจำหน่ายตามฟ้องแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4225/2561
ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคสอง กำหนดให้บุคคลผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการเท่านั้นที่สามารถฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ แต่ตามคำฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมีหนังสือแจ้งมายังบริษัท ส. ห้ามจำหน่ายและให้จัดเก็บชิ้นส่วนสิ่งก่อสร้าง (ไม้บัว) โดยอ้างถึงการที่บริษัท ส. เป็นเจ้าของสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ซึ่งออกไปโดยไม่ชอบดังกล่าว และยังดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ในฐานะรองประธานฝ่ายบริหารของบริษัท ส. ต้องได้รับผลกระทบต่อสิทธิเกี่ยวกับการวางแผนการตลาด การสั่งนำเข้าสินค้าแต่ไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้สูญเสียโอกาสในการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และโจทก์ในฐานะผู้ถือหุ้นต้องขาดประโยชน์ที่ควรได้รับ เห็นได้ว่าข้ออ้างตามคำฟ้องล้วนเป็นการอ้างถึงส่วนได้เสียของบริษัท ส. ซึ่งโจทก์เป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเท่านั้น โจทก์มิได้มีส่วนได้เสียโดยตรงจากสิทธิบัตรดังกล่าว แม้โจทก์จะถูกจำเลยทั้งสองดำเนินคดีอาญาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่ก็เนื่องมาจากเหตุที่โจทก์เป็นผู้บริหารบริษัท ดังนี้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคสองได้ เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในส่วนนี้ กรณีจึงไม่จำต้องพิจารณาว่าฟ้องในส่วนนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ทป.121/2558 ของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางหรือไม่อีก
สำหรับคำฟ้องโจทก์ในส่วนที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์และขอให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่นั้น ปรากฏว่าในคดีดังกล่าวบริษัท ส. ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดต่อบริษัทดังกล่าวเป็นเหตุให้บริษัทดังกล่าวได้รับความเสียหาย ส่วนคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย แม้โจทก์ในคดีนี้จะเป็นกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นของบริษัท ส. แต่ก็เป็นคนละบุคคลกันกับบริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก และแม้คดีนี้โจทก์จะอ้างว่าได้รับความเสียหายในฐานะผู้ถือหุ้นและในฐานะกรรมการบริหารของบริษัท ส. แต่ความเสียหายดังกล่าวก็เป็นความเสียหายในส่วนของโจทก์เอง มิใช่ความเสียหายของบริษัท ส. แต่อย่างใด ประเด็นแห่งคดีที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าว กับคำฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับข้อหาละเมิดในคดีนี้จึงเป็นคนละประเด็นกัน และไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยยังมิได้ให้คู่ความทั้งสองฝ่ายได้สืบพยานหลักฐานให้สิ้นกระแสความเสียก่อนนั้น ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ปรากฏเหตุที่ศาลดังกล่าวมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณา กรณีมีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลดังกล่าวสืบพยานหลักฐานของคู่ความให้สิ้นกระแสความ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
อนึ่ง การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่ามีเหตุผลเพียงพอที่ไม่ต้องไต่สวนคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งพอแปลได้ว่าเป็นคำสั่งให้งดสืบพยานแล้วจึงมีคำพิพากษานั้น ถือได้ว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดี อันมีผลเป็นการวินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีแล้ว จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะคืนค่าขึ้นศาลแก่โจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้คืนค่าขึ้นศาลเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4216/2561
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 กำหนดให้เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ซึ่งในมาตรา 7 วรรคสอง (2) กำหนดให้เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยคำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ กำหนดให้ชื่อทางภูมิศาสตร์ดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว "(1) ชื่อประเทศ ชื่อกลุ่มประเทศ ชื่อภูมิภาค หรือเขตปกครองตนเองซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศ (2) ชื่อแคว้น รัฐ หรือมณฑล (3) ชื่อเมืองหลวง เมืองท่า จังหวัด หรือเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (4) ชื่อทวีป (5) ชื่อมหาสมุทร ทะเล อ่าว คาบสมุทร แหลม เกาะ หมู่เกาะ หรือทะเลสาบ (6) ชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันแพร่หลาย เช่น ภูเขา แม่น้ำ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ถนน เป็นต้น ชื่อทางภูมิศาสตร์ข้างต้น ให้หมายความรวมถึงชื่อย่อ ชื่อเดิม หรือชื่อที่ใช้เรียกขานทั่วไปโดยไม่จำกัดเฉพาะชื่อในทางราชการ" ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ประกอบกับตามพจนานุกรม Webster's New Geographical Dictionary ให้ความหมายคำว่า "Milwaukee" ไว้ด้วยว่าหมายถึง "Commercial and industrial city and lake port ..." จึงอาจแปลได้ว่า เมืองพาณิชย์และอุตสาหกรรมและท่าเรือทะเลสาบ อันถือได้ว่าเป็นเมืองท่า ซึ่งโจทก์ไม่ได้โต้แย้งในความหมายดังกล่าว ทั้งยังปรากฏว่าโจทก์แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสี่ว่าคำดังกล่าวแปลว่า เมืองท่า ดังนี้ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า "Milwaukee" เป็นชื่อเมืองท่า และเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ ข้อ 2 (3) โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าชื่อเมืองท่าดังกล่าวเป็นชื่อที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันแพร่หลายแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าทั้งสี่ของโจทก์ จึงเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสี่ของโจทก์จะประกอบไปด้วยภาคส่วนรูปประดิษฐ์คล้ายสายฟ้าอยู่ใต้คำดังกล่าวด้วย แต่คำว่า "Milwaukee" ถือเป็นภาคส่วนสำคัญในเครื่องหมาย ทั้งเมื่อรวมกันแล้วก็ยังคงอ่านออกเสียงเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้เช่นเดิม เครื่องหมายการค้า ของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง ชอบที่นายทะเบียนจะมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน
ส่วนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ทั้งสี่คำขอได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม หรือไม่นั้น จำเลยได้ให้โจทก์ส่งหลักฐานเพื่อพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งต่อมาโจทก์ส่งเอกสารอธิบายความเป็นมาของบริษัทโจทก์และบริษัทในเครือ เอกสารแสดงการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าของโจทก์ สำเนาใบแจ้งหนี้การจำหน่ายสินค้า สำเนาหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้ว หลักฐานดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารแสดงประวัติของบริษัท การโฆษณาและใบแจ้งหนี้แสดงการจำหน่ายสินค้าเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าเริ่มมีการใช้ การโฆษณาหรือการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ตั้งแต่เมื่อใด เป็นจำนวนเท่าไรและเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องเพียงใด แพร่หลายในประเทศไทยหรือไม่ จึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ได้มีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่นตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสี่คำขอของโจทก์จึงไม่ได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้อันพึงรับจดทะเบียนได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4187 - 4189/2561
ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) โดยต้องถือตามจำนวนทุนทรัพย์ในวันที่ยื่นฟ้อง
โจทก์ที่ 2 และที่ 5 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดเป็นเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และโจทก์ที่ 4 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดเป็นเงิน 295,707.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงต้องนำดอกเบี้ยซึ่งคิดคำนวณนับแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2557 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 4 สิงหาคม 2558 มารวมเป็นจำนวนเงินที่ฟ้องด้วย คดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์เกินกว่าสามแสนบาท ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงย่อมไม่มีอำนาจรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4) ศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้องคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4165/2561
ศาลชั้นต้นเพิ่มโทษปรับจำเลยที่ 2 หนึ่งในสาม ในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรนั้น ไม่ถูกต้องเนื่องจาก ป.อ. มาตรา 92 บัญญัติว่า "...หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุก ก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง" การเพิ่มโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงเพิ่มโทษได้เฉพาะโทษจำคุกเท่านั้น เมื่อการกระทำความผิดฐานดังกล่าวศาลชั้นต้นเพียงแต่ลงโทษปรับ จึงเพิ่มโทษในความผิดฐานนี้ไม่ได้ และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน โดยไม่แก้ไขให้ถูกต้อง เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4121 - 4124/2561
เดิมโจทก์ทั้งสี่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงาน ต่อมาจำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โดยออกข้อบังคับมีสาระสำคัญว่าเมื่อลูกจ้างได้รับอนุมัติให้เข้าเป็นสมาชิกกองทุน ให้ถือว่าสิทธิการรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานภายใต้ระเบียบเดิมของบริษัทที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นอันระงับไป ต่อมาโจทก์ทั้งสี่สมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยทราบเงื่อนไขตามข้อบังคับดังกล่าวและตกลงสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิมแล้วมาใช้สิทธิตามข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้วแทน ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสี่แสดงเจตนาต่อจำเลยยินยอมสละสิทธิรับเงินชดเชยเมื่อออกจากงานตามระเบียบข้อบังคับเดิม เมื่อสิทธิของโจทก์ทั้งสี่ที่จะได้รับเงินชดเชยตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานนั้น เป็นสิทธิที่เกิดจากระเบียบข้อบังคับ โดยไม่ปรากฏว่าเป็นข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่เกิดจากข้อเรียกร้อง จึงสามารถตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงในภายหลังได้ ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 5 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
เมื่อเงินค่าชดเชยตามระเบียบว่าด้วยเงินชดเชยเมื่อออกจากงานได้ถูกนำไปรวมเป็นเงินสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. แล้ว จึงต้องถือว่าค่าชดเชยตามระเบียบเดิมนั้นสิ้นสภาพไป และเงินสมทบในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มีลักษณะแตกต่างจากค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างที่เลิกจ้าง ดังนั้น แม้โจทก์ทั้งสี่จะได้รับเงินสมทบและเงินสะสมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัท อ. แล้ว โจทก์ทั้งสี่ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4110/2561
โจทก์เป็นผู้จัดการแผนกคลังสินค้ามีหน้าที่จัดทำเอกสารใบควบคุมการส่งสินค้าเพื่อจ่ายสินค้า ออกจากคลังสินค้าและจัดส่งสินค้าให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ก่อนนำสินค้าขึ้นรถขนส่งจะต้องมีการตรวจสอบรายการสินค้าให้ครบถ้วนเสียก่อน การที่โจทก์กระทำผิดตามหนังสือเตือนครั้งแรกโดยไม่ตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาโดยให้บริษัทขนส่งรับสินค้าขึ้นรถขนส่งโดยไม่มีลายมือชื่อรับสินค้าของเจ้าหน้าที่ของรถขนส่ง และกระทำผิดครั้งสุดท้ายโดยให้ผู้ใต้บังคับบัญชานำสินค้าขึ้นรถขนส่งทั้งที่ยังไม่มีใบควบคุมการส่งสินค้าและไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องของจำนวนสินค้านั้น ล้วนเป็นการกระทำผิดในหน้าที่ของโจทก์เกี่ยวกับการจัดทำใบควบคุมการส่งสินค้าและตรวจสอบการส่งสินค้าให้ถูกต้องครบถ้วนถือได้ว่าโจทก์กระทำความผิดทั้งสองครั้งในเรื่องเดียวกัน เมื่อจำเลยเคยมีหนังสือเตือนโจทก์มาก่อนแล้วโจทก์กระทำผิดในเรื่องเดียวกันอีกภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์กระทำผิดครั้งแรก จึงเป็นการกระทำผิดซ้ำคำเตือนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และที่โจทก์กระทำผิดครั้งสุดท้ายเป็นการกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และกรณีดังกล่าวมีเหตุอันสมควรเพียงพอที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4099/2561
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างจะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงสาเหตุของการเลิกจ้างเป็นสำคัญ กล่าวคือ นายจ้างมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ คดีนี้แม้จำเลยจะอ้างว่าปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริษัทมาตั้งแต่ปี 2556 แต่มีพนักงานของจำเลยเพียง 3 คนที่ลาออก ไม่ปรากฏว่าจำเลยยุบหน่วยงานหรือลดขนาดหน่วยงานบางหน่วย และตามสำเนางบกำไรขาดทุนในปี 2558 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2558 จำเลยก็มีผลประกอบกิจการได้กำไร การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 8 มกราคม 2558 ก่อนจำเลยมีผลประกอบกิจการได้กำไรเพียง 2 เดือนเศษ แสดงว่าการเลิกจ้างโจทก์ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลทำให้จำเลยกลับมามีกำไร เหตุในการเลิกจ้างจึงเป็นนโยบายของนายจ้างที่ประสงค์จะลดค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนขององค์กรลงเท่านั้น และไม่ปรากฏว่าก่อนการเลิกจ้างโจทก์ จำเลยมีวิธีการ ขั้นตอนในการลดภาระค่าใช้จ่าย หรือมีวิธีการคัดเลือกพนักงานที่จะถูกเลิกจ้างอย่างไร การเลิกจ้างโจทก์ของจำเลยจึงยังไม่มีเหตุผลอันสมควรเพียงพอ เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
หนังสือเอกสารไม่มีข้อความว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คงมีข้อความเพียงว่าการชำระเงินครั้งนี้เป็นการชำระเงินครั้งสุดท้ายครบถ้วนตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งหมดตามสัญญาจ้างงาน ซึ่งมีความหมายเพียงว่าโจทก์ยอมรับว่าได้รับเงินตามสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากสัญญาจ้างแรงงานครบถ้วนแล้ว แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อันเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดจากการที่โจทก์ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการเลิกจ้างด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
- เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่าการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และได้พิจารณาต่อไปว่าในระหว่างการพิจารณาคดีโจทก์ได้งานใหม่ทำแล้ว จึงพิจารณาต่อไปถึงเรื่องจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์ควรจะได้รับ เป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์กับจำเลยไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ศาลแรงงานกลางจึงต้องกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้แทน ตามบทบัญญัติมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายว่าภายหลังเลิกจ้างจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์เป็นยอดเงินรวมหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้วเป็นเงิน 4,439,773.45 บาท ปัจจุบันนี้โจทก์ได้งานใหม่แล้ว จำนวนเงินภายหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เนื่องจากเหตุเลิกจ้างนั้นเป็นจำนวนถึง 11.9 เท่า ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์จึงเป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว จึงไม่กำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้แก่โจทก์อีก โดยที่จำนวนเงินที่ศาลแรงงานกลางนำมาประกอบการพิจารณานั้นมีทั้งค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และเงินอื่น ๆ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากการเลิกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและตามสัญญาจ้างแรงงานรวมอยู่ด้วย การที่ศาลแรงงานกลางไม่กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่โจทก์จึงไม่เป็นไปตามบทบัญญัติในมาตรา 49
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4067/2561 แม้การคิดดอกเบี้ยของเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามสัญญาต่อท้ายหนังสือสัญญาจำนองที่ดินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยอ้างอิงกับประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารก็ตาม แต่การออกเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเป็นหนี้ที่เกิดจากข้อตกลงตามสัญญาในการออกเงินทดรองไปก่อน และการกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยของเงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามสัญญา เป็นการกำหนดเบี้ยปรับอย่างหนึ่งจากการที่ไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้อง หากศาลเห็นว่ากำหนดเบี้ยปรับไว้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะปรับลดเบี้ยปรับดังกล่าวลงให้เหมาะสมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4065/2561 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นซึ่งใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 และเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบจะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมที่เป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์อ้างว่าใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 นั้น บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการของบริษัทเท่านั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทโดยมีคำขอให้พิพากษาว่า หนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตกเป็นโมฆะ หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามไม่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นการยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง นั้น ในการเพิกถอนนิติกรรมซึ่งได้กระทำโดยจำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการมิใช่กระทำในฐานะส่วนตัว บริษัท ท. ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบที่จะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมที่เป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม การที่โจทก์ขอให้หมายเรียกบริษัท ท. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) และมาตรา 57 (3) (ข) นั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และไม่มีสิทธิก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัท จึงไม่มีเหตุอันสมควรที่จะเรียกบริษัท ท. เข้ามาเป็นจำเลยร่วม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4057/2561 เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ผู้เยาว์ อันมีผลให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่โจทก์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน บิดามารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องเป็นผู้ทำนิติกรรมแทนโจทก์ และเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว ย่อมมีผลผูกพันโจทก์ เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1566 และมาตรา 1574 (12) เมื่อได้ความว่า ฉ. ยายของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายของโจทก์โดยไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 อีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยขณะนั้นโจทก์มีจำเลยร่วมที่ 1 เป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง การที่ ฉ. ซึ่งมิได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยที่ 1 ตามลำพัง จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4055/2561
กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักพร้อมคำแปลมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่า การกำหนดค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก ต้องคำนวณหาผลกำไรสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย เมื่อตามกรมธรรม์มิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าเป็นรายได้สุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายก่อน ดังนั้น กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักพิพาทจึงกำหนดเงื่อนไขการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อการสูญเสียรายได้ มิใช่การสูญเสียกำไร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4048/2561
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย ซึ่งจำเลยก็ให้การยอมรับว่าจำเลยได้รับหนังสือลาออกจากโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อ ร. กรรมการผู้จัดการใหญ่ของจำเลย ซึ่งหมายถึงโจทก์ยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลย จึงเป็นการฟังข้อเท็จจริงตามที่ยุติจากคำฟ้องและคำให้การ ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกสำนวน และเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ลาออกโดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากจำเลย อันมีความหมายว่าโจทก์ลาออกโดยสมัครใจ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ลาออกโดยไม่สมัครใจ จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ขอลาออกเพราะถูก ร. ข่มขู่นั้น โจทก์ไม่ได้กล่าวไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
- ป.พ.พ. มาตรา 386 ไม่ได้กำหนดให้ใช้บังคับแก่สัญญาประเภทใดประเภทหนึ่ง จึงใช้บังคับแก่สัญญาทุกประเภทรวมทั้งสัญญาจ้างแรงงานด้วย การที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยการแสดงเจตนาแก่นายจ้าง ลูกจ้างไม่อาจถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญานั้นได้ แต่ไม่รวมถึงการตกลงหรือยินยอมของนายจ้างและลูกจ้างในการถอนหรือยกเลิกการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของลูกจ้างด้วย โจทก์มีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แสดงเจตนาถอนการลาออก แต่จำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แจ้งให้โจทก์ส่งใบลามาใหม่ พฤติการณ์ดังกล่าวไม่ใช่เรื่องโจทก์และจำเลยตกลงให้โจทก์ถอนการลาออกหรือยับยั้งการลาออกของโจทก์ แต่เป็นเพียงเรื่องที่จำเลยให้โจทก์ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบภายในของจำเลยเพื่ออนุมัติการลาออกของโจทก์ หนังสือลาออกจึงยังมีผลบังคับอยู่ และการที่จำเลยยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จำเลยให้โจทก์ไว้ใช้ในการทำงานคืนจากโจทก์นั้น ก็เป็นเพราะใกล้วันที่หนังสือลาออกของโจทก์จะมีผลแล้ว จึงมิใช่กรณีจำเลยเลิกจ้างโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4032/2561
เงินโบนัสไม่มีกฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องจ่ายเสมอไป หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินโบนัสหรือสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินโบนัส จึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนั้น จำเลยมีประกาศ เรื่อง เงินโบนัสประจำปี 2557 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินโบนัสว่า "1.2 กำหนดเวลาการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2557 ในวันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558..." และ "1.4 พนักงานจะต้องมีสถานภาพจนถึงวันที่จ่ายโบนัสประจำปี" โจทก์รับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวตลอดมา การที่จำเลยกำหนดให้มีการจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างก็เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ลูกจ้าง ตอบแทนการทำงานที่ผ่านมา และจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้จำเลยต่อไป หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2557 จึงเป็นไปตามหลักการบริหารองค์กรโดยทั่วไป ไม่เป็นการเอาเปรียบหรือเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ ทั้งมีข้อกำหนดถึงคุณสมบัติของลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสไว้ชัดแจ้งแล้ว จึงใช้บังคับได้และผูกพันโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4030/2561 แม้จำเลยที่ 1 มีอำนาจยุบรวมแผนกการเงินและแผนกบัญชีเข้าด้วยกันเป็นแผนกการเงินและบัญชีตามมติของคณะกรรมการบริหารของจำเลยที่ 1 เพื่อประสิทธิภาพและความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 สิทธิและหน้าที่ในการบริหารงานของบริษัท ข้อ 2 รวมทั้งมีอำนาจบริหารในการโยกย้ายตำแหน่งงานของลูกจ้างเพื่อให้เหมาะสมแก่งานเพื่อให้การทำงานของลูกจ้างมีประสิทธิภาพตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน นโยบายบริหารบุคคลของบริษัท ข้อ 2 ก็ตาม แต่การย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดตำแหน่งหรือค่าจ้างของลูกจ้างและไม่เป็นการกลั่นแกล้งลูกจ้างด้วย การที่จำเลยที่ 1 ย้ายโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการแผนกบัญชี ซึ่งเป็นฝ่ายบริหารในระดับหัวหน้าแผนกที่มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานในแผนกในการปฏิบัติงาน ไปดำรงตำแหน่งพนักงานการเงินในแผนกการเงินและบัญชี ซึ่งเป็นพนักงานปฏิบัติงานที่ไม่มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานในแผนก โดยต้องปฏิบัติงานตามคำสั่งของผู้จัดการแผนก จึงเป็นการลดตำแหน่งของโจทก์ลง แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ลดค่าจ้างโจทก์ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 20 ไม่มีผลบังคับแก่โจทก์ การที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมทำงานในตำแหน่งใหม่ที่ต่ำกว่าเดิมนั้น มิใช่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของนายจ้างกรณีที่ร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างเพราะเหตุดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงใดนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาแล้วได้ความว่า โจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2538 ถึงวันที่ 27 เมษายน 2558 จึงถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 53,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้าง 2 งวด งวดแรก ทุกวันที่ 28 ของเดือน และงวดที่สอง ทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่ศาลฎีกาวินิจฉัยในส่วนนี้ไปเสียทีเดียวได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย สำหรับค่าชดเชย โจทก์มีระยะเวลาทำงานกับจำเลยติดต่อกันครบ 10 ปี ขึ้นไป จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (5) โดยรับผิดพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้าง ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง สำหรับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเลิกจ้างเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 ถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อก่อนถึงงวดการจ่ายค่าจ้างวันที่ 28 เมษายน 2558 จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดการจ่ายค่าจ้างคราวถัดไปคือต้องให้ลูกจ้างอยู่ทำงานถึงงวดการจ่ายค่าจ้างวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างให้มีผลทันทีในวันที่ 27 เมษายน 2558 โดยไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์เท่ากับค่าจ้างที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับหากอยู่ทำงานจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสอง โดยรับผิดพร้อมดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อเงินส่วนนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทวงถามเมื่อใด ให้ชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดส่วนนี้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ปัญหาว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์เพียงใด เนื่องจากการกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เป็นดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่สามารถกำหนดเองได้ ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4025 - 4026/2561
การที่โจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างของจำเลย โดยได้รับค่าจ้างเป็นเงินเดือน เดือนละ 10,000 บาท เป็นค่าจ้างตอบแทนในการทำงานเป็นรายเดือนทุกเดือน ดังนั้นนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงต้องเป็นไปตามสัญญาจ้างแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โดยจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างตลอดเวลาที่โจทก์ทั้งสองทำงานให้แก่จำเลย และแม้โจทก์ทั้งสองจะทราบเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดให้โจทก์ทั้งสองจะได้รับค่าจ้าง 10,000 บาท ต่อเมื่อปล่อยสินเชื่อจำนวนรถยนต์ได้ 20 คัน หรือวงเงิน 1,500,000 บาท ในเดือนนั้นก็ตาม แต่เมื่อเงื่อนไขดังกล่าวมีผลให้โจทก์ทั้งสองที่ทำงานให้แก่จำเลยเพียงแต่การทำงานในเดือนนั้นอาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่จำเลยกำหนดไว้กลับทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทนการทำงานที่ตนได้ลงแรงไปแล้ว อันเป็นการขัดแย้งกับหน้าที่ที่จำเลยจะต้องปฏิบัติและขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสอง จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างค้างให้แก่โจทก์ทั้งสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4023/2561 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ตกลงรับเงินจากจำเลย 100,000 บาท แบ่งชำระเป็น 2 งวด งวดละ 50,000 บาท งวดแรกชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 งวดที่สองชำระภายในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ส่วนข้อตกลงที่ว่าหากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง (867,765.50 บาท) เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการบังคับจำเลยกรณีผิดนัดชำระหนี้ จึงต้องตีความสัญญาส่วนนี้ไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้น คำว่าผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดนั่นเอง จำเลยทำรายการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ในงวดที่หนึ่งเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 กำหนดให้โอนเงินในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ทำรายการครั้งที่สองเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2552 กำหนดให้โอนเงินในวันที่ 24 สิงหาคม 2552 โดยเป็นการทำรายการโอนเงินก่อนถึงกำหนดตามสัญญาประนีประนอมยอมความในแต่ละงวด ในวันที่ 10 สิงหาคม 2552 และวันที่ 24 สิงหาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่ถึงกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความในแต่ละงวดนั้น ธนาคารทำการหักเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยทันที พฤติการณ์ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจหรือมีเจตนาผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4015/2561
โจทก์นายจ้างฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยพนักงานตรวจแรงงานที่มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่จำเลยร่วมลูกจ้าง เพราะจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือน จำเลยและจำเลยร่วมให้การว่าหนังสือเตือนฉบับที่ 1 ไม่เป็นความจริง โดยระหว่างวันที่ 5 ถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2557 โจทก์มอบหมายงานที่ไม่ให้เวลาแก่จำเลยร่วมพอสมควร เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ในวันที่ 6 สิงหาคม 2556 โจทก์มอบหมายงานให้แก่จำเลยร่วมให้ทำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 สิงหาคม 2556 แต่ในระหว่างนั้นในวันที่ 7 และวันที่ 9 สิงหาคม 2556 โจทก์มอบหมายงานให้แก่จำเลยร่วมทำอีก 2 งาน รวมเป็น 4 งาน ดังนั้น การที่จำเลยใช้ดุลพินิจว่าการมอบหมายงานดังกล่าวแก่จำเลยร่วมไม่เป็นธรรมชอบแล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลแรงงานกลางได้ให้เหตุผลและวินิจฉัยแล้ว แม้ศาลแรงงานกลางจะไม่ได้หยิบยกบทกฎหมายขึ้นอ้างในคำวินิจฉัยให้ชัดเจน และการให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยจะรวบรัดไปบ้าง แต่คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางดังกล่าวก็ได้กล่าว หรือแสดงถึงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและมีคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง แล้ว
หนังสือเตือนฉบับที่ 1 มีข้อความระบุว่า จำเลยร่วมกระทำผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และการกระทำผิดครั้งหลังก็เป็นความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาด้วยเช่นกัน แต่เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยแล้วว่าคำสั่งมอบหมายงานของโจทก์ตามเอกสารมอบหมายงานให้จำเลยร่วมทำ ที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือเตือนฉบับที่ 1 เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น การที่จำเลยร่วมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่อาจนำมาเป็นเหตุในการลงโทษทางวินัยแก่จำเลยร่วมได้ การที่โจทก์นำหนังสือเตือนฉบับที่ 1 มาใช้เป็นเหตุเลิกจ้างโดยอ้างว่าจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือนกับหนังสือเตือนครั้งหลังจึงไม่อาจกระทำได้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมกระทำผิดซ้ำคำเตือน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4009/2561 แม้การที่โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 โดยให้มีผลวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติก็ตาม แต่ในระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้น นายจ้างและลูกจ้างยังคงมีนิติสัมพันธ์ต่อกันจนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล คดีนี้ในระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้น จำเลยที่ 1 ตรวจพบการกระทำความผิดของโจทก์และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ในที่สุดจำเลยที่ 1 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือผลประโยชน์อื่นใดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ซึ่งตรงกับข้อเท็จจริงดังที่ศาลแรงงานกลางฟังยุติมาว่าโจทก์ได้รับเงินจากผู้เอาประกันภัยแล้วไม่นำเงินเข้าฝากบัญชีของจำเลยที่ 1 และไม่ได้นำเงินมามอบให้แก่จำเลยที่ 1 ตามระเบียบคู่มือการปฏิบัติงานของฝ่ายการเงินของจำเลยที่ 1 ทำให้เงินของจำเลยที่ 1 ขาดหายไป เป็นการประพฤติผิดอย่างร้ายแรงขัดต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ลาออกโดยให้มีผลเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 แสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์คาดหมายได้ว่าจำเลยที่ 1 อาจตรวจพบการกระทำความผิดของโจทก์และหากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้สอบสวนเสร็จจำเลยที่ 1 อาจมีคำสั่งลงโทษโจทก์ด้วยการไล่ออกหรือเลิกจ้างได้ แต่โจทก์ยังคงชิงลาออกเสียก่อนตามที่ได้แจ้งความประสงค์ไว้ ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 30 มกราคม 2558 ขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย หลังจากนั้นโจทก์จึงได้นำคดีมาฟ้องอ้างว่าตนได้ลาออกจากการทำงานกับจำเลยที่ 1 ทั้งนี้เท่ากับอ้างเพื่อให้ศาลแรงงานกลางเห็นว่าการเลิกจ้างของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบเพื่อมาเรียกร้องสิทธิในเงินสมทบพร้อมผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พฤติการณ์ทั้งหลายของโจทก์ส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตในการลาออกเพื่อที่จะแสวงหาประโยชน์จากการลาออกเนื่องจากหากโจทก์ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออกเพราะเหตุทุจริตย่อมทำให้โจทก์เสียสิทธิที่จะได้รับเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่อาจจะได้รับตามกฎหมาย จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายและขัดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แม้จำเลยที่ 1 จะมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์หลังจากโจทก์ลาออก แต่โจทก์อาศัยเหตุลาออกดังกล่าวมาเป็นมูลฟ้องร้องคดีนี้เพื่อให้ตนได้รับสิทธิประโยชน์ตามฟ้องอันเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตเช่นนี้ ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุจากการลาออกโดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ จากการลาออกและให้จำเลยที่ 2 ใช้เงินตามฟ้องแก่โจทก์ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเกี่ยวกับการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4004/2561
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้าง การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ขออนุญาตศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 เป็นการขัดต่อกฎหมาย ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และให้จ่ายค่าเสียหาย จำเลยให้การว่า สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างโดยไม่มีอำนาจ โจทก์จึงไม่ใช่กรรมการลูกจ้างที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดกรณีร้ายแรง ดังนั้นประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า โจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 หรือไม่ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาต่อไปว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายและทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด เมื่อศาลแรงงานภาค 1 รับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลแรงงานภาค 1 ชอบที่จะยกฟ้องเพื่อให้โจทก์กับจำเลยไปดำเนินการต่อไปดังเช่นลูกจ้างทั่วไป การที่ศาลแรงงานภาค 1 ได้วินิจฉัยถึงการกระทำของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์กระทำโดยประมาทเลินเล่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายตามฟ้องก็เป็นการพิจารณาพิพากษาเกินเลยไปกว่าประเด็นแห่งคดี แม้ศาลแรงงานภาค 1 จะวินิจฉัยก็เป็นการไม่ชอบ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของโจทก์มิใช่ความผิดกรณีที่ร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานภาค 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 และเมื่อโจทก์ไม่ใช่กรรมการลูกจ้าง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ส่วนโจทก์จะมีสิทธิได้รับเงินภายหลังเลิกจ้างหรือไม่เพียงใด เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปดำเนินการว่ากล่าวกันต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2561
การแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์มีผลแล้วนับแต่วันยื่นหนังสือลาออกต่อจำเลยที่ 1 การอนุมัติให้ลาออกเป็นขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงการแสดงเจตนาเลิกสัญญาของโจทก์ แต่การที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สิ้นสมาชิกภาพจะได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจะต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของกองทุน ซึ่งตามข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7 ระบุว่า "ในกรณีต่อไปนี้สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ... ทุจริตต่อหน้าที่.." เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติได้ความว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบจากจำเลยที่ 2 ตามระเบียบข้อบังคับของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสินเพิ่มพูน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ข้อ 7.7
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3988/2561
คดีนี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าว่าจ้างตามใบแจ้งหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อจำเลยที่ 5 แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระบุว่า จำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์เป็นผู้เรียกเก็บหนี้จากลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 5 หากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ผู้รับโอนภายในกำหนด สัญญานี้เป็นอันยกเลิกโดยปริยายทันที เมื่อปรากฏว่าถึงกำหนดชำระงานที่จำเลยที่ 1 ทำให้แก่จำเลยที่ 5 ชำรุดบกพร่อง ต้องแก้ไขความชำรุดบกพร่อง จำเลยที่ 5 จึงไม่ได้ชำระเงินในวันที่ครบกำหนดตามใบวางบิล จึงถือว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงถูกยกเลิกไป โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องแก่จำเลยที่ 5 และเมื่อภายหลังจำเลยที่ 1 แก้ไขความชำรุดบกพร่องของงานแล้ว จำเลยที่ 5 ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ทั้งการที่สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเลิกกันโดยปริยายดังกล่าว มิได้เกิดจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3970/2561
คำฟ้องไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ในอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้น ทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอาญาอีกคดีของศาลชั้นต้น
แม้ต่อมาโจทก์จะยื่นคำร้องขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษในคดีดังกล่าว ก็ไม่อาจถือว่าโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 163 กรณีจึงไม่อาจนับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอของโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3958/2561 การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ฟ้องคดีล้มละลาย บ. แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการ กลับรายงานเท็จต่อโจทก์ ทำให้โจทก์หลงเชื่อว่ามีการฟ้องคดีล้มละลาย บ. แล้ว เป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างและละเมิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ดำเนินการฟ้อง บ. ภายในอายุความ แม้ปรากฏว่า บ. ไม่มีทรัพย์สินใดให้บังคับคดีในคดีแพ่งก็ตาม แต่ในคดีล้มละลายมีกระบวนการพิจารณาแตกต่างไปจากการบังคับคดีแพ่งทั่วไป เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจหน้าที่ในการที่จะไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยให้ลูกหนี้แสดงรายการหรือรายละเอียดของทรัพย์สินที่มีอยู่รวมทั้งสิทธิต่างๆ ในการที่จะได้มาซึ่งเงินและทรัพย์สินจากบุคคลภายนอกรวมทั้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถใช้สิทธิในการตรวจสอบสินทรัพย์ของ บ. ได้ จึงอาจทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้ การที่จำเลยที่ 1 ไม่ฟ้องคดีล้มละลาย บ. จึงเป็นผลโดยตรงที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลแขวงเชียงใหม่พิพากษาให้ บ. ใช้เงินแก่โจทก์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2543 การนำมูลหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องขอให้ บ. เป็นบุคคลล้มละลาย อันเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด จึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/32 นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2543 อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามมาตรา 193/12 แต่โจทก์กลับปล่อยระยะเวลาไว้นาน จึงมีมติให้ฟ้องคดีล้มละลายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 2 เดือนเศษ คดีจะขาดอายุความ ย่อมถือว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ดังนั้นหนี้อันต้องใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญคือความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงใด ดังที่บัญญัติไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 223 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 442 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวด้วย แต่ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 10 และประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 ส่วนจำเลยที่ 3 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนเข้าทำสัญญาค้ำประกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3929/2561
คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นแรกที่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 หรือไม่ โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 2 จากนั้นได้วินิจฉัยในประเด็นที่สองว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างที่ค้างชำระและต้องคืนเงินประกันผลงานตามฟ้องแก่โจทก์ เพียงแต่คำพิพากษาระบุในคำวินิจฉัยในประเด็นที่สองต่อไปว่า เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำนอกขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 1 ผู้เป็นตัวการจึงต้องผูกพันต่อบุคคลภายนอกในการกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปภายในวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเป็นการส่วนตัว จากนั้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิด และยกฟ้องจำเลยที่ 2 เมื่อพิจารณาคำวินิจฉัยในคำพิพากษาตามประเด็นข้อพิพาทข้อที่หนึ่งและข้อที่สอง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อเนื่องมีเหตุผลชัดแจ้งและสรุปรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชำระเงินที่ค้างชำระกับต้องคืนเงินประกันผลงานตามฟ้องแก่โจทก์ การที่คำพิพากษาได้พิมพ์ระบุจำเลยที่ 1 และที่ 2 สลับกันในตอนหลังและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินแก่โจทก์ ซึ่งขัดแย้งกับคำวินิจฉัยตอนต้น เชื่อว่าเกิดจากความผิดพลาดในการพิมพ์คำพิพากษาตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของจำเลยที่ 2 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แก้ไขคำพิพากษาดังกล่าวนับว่าเป็นเรื่องการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องให้ศาลชั้นต้นทราบและขอให้มีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้อง ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่ได้พิพากษาเห็นสมควรย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งเพิ่มเติมแก้ไขคำพิพากษาข้อผิดพลาดดังกล่าวได้ โดยหาจำต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์และจำเลยที่ 2 ทราบเพื่อคัดค้านไม่ ทั้งการแก้ไขดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม ซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะดำเนินการตาม ป.พ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาในข้อผิดพลาดเล็กน้อยดังกล่าวโดยไม่ส่งสำเนาคำร้องของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ทราบ หาเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3872/2561
ในการพิจารณาอนุญาตตามคำขอเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างต้องคำนึงว่ากรณีมีเหตุผลสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาว่าการเลิกจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ ผู้คัดค้านลงข้อความและรูปภาพในเฟสบุ๊คว่า "นี้หรือรถที่ใช้ขนเงินเป็นล้าน...กูละเชื่อ" ข้อความและรูปภาพดังกล่าวมีลักษณะทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่าผู้ร้องใช้รถที่มีสภาพไม่เหมาะสม ไม่มีความปลอดภัยในการขนส่งทรัพย์สินให้แก่ลูกค้าเป็นปกติประจำทั่วไป ซึ่งผู้คัดค้านเคยแถลงรับข้อเท็จจริงว่ารถคันที่ผู้คัดค้านใช้ในวันเกิดเหตุผู้คัดค้านไม่ได้ใช้ประจำ เพียงแต่หากวันไหนไม่มีรถคันอื่นให้ใช้จึงจะนำรถยนต์คันดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติงาน แสดงให้เห็นว่าขณะที่ผู้คัดค้านลงข้อความและรูปภาพ ผู้คัดค้านทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ร้องไม่ได้ให้ผู้คัดค้านใช้รถคันดังกล่าวขนส่งทรัพย์สินให้แก่ลูกค้าเป็นปกติประจำทั่วไป เพียงแต่ให้ผู้คัดค้านใช้เป็นรถสำรองเท่านั้น การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการลงข้อความและรูปภาพในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริง ชี้ให้เห็นถึงเจตนาไม่สุจริตของผู้คัดค้าน ย่อมทำให้ผู้ร้องซึ่งประกอบธุรกิจขนส่งทรัพย์สินที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือและไว้วางใจเป็นสำคัญขาดความน่าเชื่อถือและไว้วางใจอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องได้และถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์กับผู้ร้อง กรณีมีเหตุผลสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2561
แม้จะไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้โดยตรงว่าเมื่อลูกจ้างได้ใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะไม่มีสิทธิยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานอีก แต่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 ถึง มาตรา 125 เป็นกระบวนการทางเลือกซึ่งเมื่อลูกจ้างเลือกดำเนินการโดยยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานแล้วจะต้องดำเนินการไปจนเสร็จสิ้น บทบัญญัติดังกล่าวมีลักษณะกำหนดให้ลูกจ้างเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่งแต่เพียงทางเดียว ดังนั้น เมื่อโจทก์ในฐานะลูกจ้างเลือกใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน พนักงานตรวจแรงงานสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าพร้อมดอกเบี้ย หากโจทก์ไม่พอใจคำสั่ง โจทก์ต้องนำคดีไปสู่ศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน แต่โจทก์ยื่นฟ้องนายจ้างเป็นจำเลยคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งแม้จะอ้างคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานมาด้วย แต่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามากกว่าที่ได้รับตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน แสดงว่าโจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน คำฟ้องโจทก์จึงมิใช่การฟ้องเพื่อขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน และมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 เช่นนี้ สภาพคำฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องโดยอาศัยสิทธิเดิม ทั้งจำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเพื่อจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าโดยอาศัยสิทธิเดียวกับที่ไปยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งในเงินดังกล่าวอีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3740 - 3751/2561
การที่โจทก์ทั้งสิบสองลงลายมือชื่อในหนังสือการยกเลิกการจ้างซึ่งระบุว่า จำเลยขอยกเลิกสัญญาจ้างและตกลงจ่ายเงินค่าบอกกล่าว 1 งวดการจ้างกับค่าชดเชย และโจทก์บางคนยังได้รับเงินช่วยเหลือพิเศษกรณีอายุงานครบ 20 ปี ในตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวระบุข้อความว่า โจทก์ทั้งสิบสองขอสละสิทธิเรียกร้องใด ๆ อันอาจมีอีกต่อไปทั้งสิ้น ดังนี้ แม้โจทก์ทั้งสิบสองลงลายมือชื่อสละสิทธิเรียกร้องในขณะที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสอง แต่โจทก์ทั้งสิบสองมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะรับเงินตามสัญญา และสละสิทธิเรียกร้องอื่นใดอันอาจมีต่อไปหรือไม่รับเงินดังกล่าวแล้วไปฟ้องเรียกร้องเงินต่าง ๆ ตามที่โจทก์ทั้งสิบสองมีสิทธิตามกฎหมายในภายหลังได้ เมื่อกฎหมายแรงงานก็ไม่ได้บัญญัติบังคับให้นายจ้างจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่ใช่เงินที่นายจ้างต้องจ่ายแก่ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายว่าด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงที่โจทก์ทั้งสิบสองกับจำเลยทำดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมายและความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมีผลบังคับและผูกพันโจทก์ทั้งสิบสอง ดังนั้น โจทก์ทั้งสิบสองจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินโบนัสและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3730/2561
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 2 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ให้ลงโทษปรับ 20,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 10,000 บาท และฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ปรับ 6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รวมเป็นปรับ 36,000 บาท เมื่อลดโทษกึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 18,000 บาท แล้วรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินกระทงละ 2 ปี และปรับไม่เกินกระทงละ 40,000 บาท จึงห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 การที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3728/2561
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ของจำเลย ทนายจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเนื่องจากจำเลยไม่มาแสดงตน เช่นนี้ การที่ทนายจำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยปัญหาตามข้ออุทธรณ์แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ยืนตามคำปฏิเสธของศาลชั้นต้น คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมเป็นที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 จำเลยไม่มีสิทธิฎีกา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3727/2561
โจทก์เป็นคนไร้ความสามารถอยู่ในความอนุบาลของ ช. ผู้อนุบาลตามคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครราชสีมาและคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้ให้จำเลยทั้งสามรับผิดตาม ป.อ. มาตรา 83, 350 โดยทำหนังสือมอบอำนาจให้ ม. เป็นผู้ฟ้องคดีแทนในขณะที่โจทก์ยังเป็นคนไร้ความสามารถและอยู่ในความอนุบาลของ ช. เป็นการกระทำโดยโจทก์ไม่มีอำนาจ ต้องให้ ช. ผู้อนุบาลเป็นผู้กระทำการแทน กรณีหาใช่เป็นการบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์และจำต้องแก้ไขข้อบกพร่องนั้นเสียให้บริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาอันสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังที่โจทก์อ้าง เพราะเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องมาแต่ต้นแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3724/2561
แม้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่บัญญัติให้ศาลมีอำนาจลงโทษผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดนั้นจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์หรือฎีกาก็ตาม แต่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งนั้นจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีการนำสืบกันไว้แล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งศาลจะยกเอาข้อเท็จจริงตามคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาหรือสำเนาบันทึกการจับกุมมารับฟังเพียงลำพังว่ามีการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งตามมาตรา 100/2 โดยไม่มีการสืบพยานอื่นหาได้ไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3708 - 3709/2561
ปัญหาว่าการประชุมของคณะกรรมการธุรกรรมที่ไม่มีเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นคณะกรรมการธุรกรรมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 46 บัญญัติไว้ เพื่อแก้ข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในหน่วยงานราชการ คือ กรณีไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือมีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ กฎหมายจึงบัญญัติให้ผู้ดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเข้าไปเป็นผู้รักษาราชการแทน โดยผู้รักษาราชการแทนมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทนตามมาตรา 48 การรักษาราชการแทนเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายไม่ต้องมีการแต่งตั้ง และเมื่อมีผู้ดำรงตำแหน่งหรือมาปฏิบัติหน้าที่ได้แล้วการรักษาราชการแทนก็จะสิ้นสุดลง เมื่อพันตำรวจเอก ย. ซึ่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในขณะนั้นรักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงเป็นคณะกรรมการธุรกรรมได้ การประชุมและมีคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมให้ยึดและหรืออายัดทรัพย์สิน จึงชอบด้วยกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2561 ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารกำหนดสิทธิของผู้ว่าจ้างภายหลังบอกเลิกสัญญาไว้ในข้อ 13 มีสาระสำคัญว่า จำเลยมีสิทธิริบค่าจ้างที่โจทก์ดำเนินการไปแล้วแต่จำเลยยังไม่ชำระ รวมทั้งหลักประกันใดๆ ที่โจทก์มอบไว้แก่จำเลยตามสัญญา เพื่อนำมาหักชำระเป็นค่าปรับ ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของโจทก์ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการทำงานต่อไป หรือค่าเสียหายในการแก้ไขงานในระยะเวลารับประกันผลงาน ส่วนเครื่องมือและอุปกรณ์การก่อสร้างที่โจทก์นำมาในสถานที่ก่อสร้าง โจทก์ยินยอมให้จำเลยยึดทรัพย์สินเหล่านั้นมาขายเพื่อหักใช้หนี้ใด ๆ ที่โจทก์มีต่อจำเลยได้ทันทีซึ่งเป็นข้อตกลงที่แตกต่างไปจากผลของการเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ข้อตกลงที่แตกต่างดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตาม ป.พ.พ. มาตรา 151 จึงมีผลใช้บังคับได้ระหว่างโจทก์ จำเลย ผลก็คือโจทก์จะบังคับให้จำเลยยอมรับเอางานที่เสร็จบางส่วนงวดที่ 19 และ 20 อันเป็นการงานที่โจทก์ทำให้แล้วใช้เงินค่าจ้างให้ตามส่วนของงานนั้น ดังบัญญัติไว้ในมาตรา 391 วรรคสาม ไม่ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3659 - 3675/2561
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว และวรรคสอง บัญญัติว่า ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้น เมื่อการผลิตรถยนต์ของจำเลยที่ 1 มีกระบวนการตั้งแต่การขึ้นรูปตัวถังรถยนต์ การผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ การประกอบรถยนต์ เช่น การประกอบตัวถังรถยนต์ การประกอบเครื่องยนต์ไปจนถึงการประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์ต่าง ๆ ในขั้นสุดท้ายจนเป็นรถยนต์สำเร็จรูป จากนั้นทำการตรวจสอบคุณภาพรถยนต์เพื่อให้รถยนต์ที่ผลิตมีคุณภาพตามมาตรฐานรถยนต์ของจำเลยที่ 1 รวมถึงการจัดเก็บรถยนต์ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพเพื่อรอการขนส่งไปจัดจำหน่ายต่อไปซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการผลิต การที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดทำหน้าที่ล้างรถ เคลือบฟิล์มกันกระแทก ขับรถเข้าเก็บไว้ในโกดังสินค้า ทำการตรวจสอบคุณภาพภายนอกรถยนต์ด้วยสายตาและบันทึกการตรวจสอบคุณภาพภายนอกรถยนต์ตามตารางสรุปรายละเอียดลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด การทำงานของโจทก์ทั้งสิบเจ็ด จึงถือเป็นขั้นตอนอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตรถยนต์ซึ่งอยู่ในความหมายของมาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง ดังกล่าว โจทก์ทั้งสิบเจ็ดจึงทำงานในกระบวนการผลิตของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการให้โจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติระหว่างโจทก์ทั้งสิบเจ็ดกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคสอง อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลแรงงานภาค 1 ยังมิได้รับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ทั้งสิบเจ็ดได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติแตกต่างจากลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 ที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับโจทก์ทั้งสิบเจ็ดหรือไม่ อย่างไร จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2561
การอุทธรณ์หนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรเป็นกรณีโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งทางปกครองของจำเลยเกี่ยวกับการขอคืนภาษีของโจทก์ กรณีคืนภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ ผู้มีอำนาจออกคำสั่งคือ เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งหรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่นั้น ตามมาตรา 44 และ 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ไม่ใช่เป็นกรณีโจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 (1) (ก) แห่ง ป.รัษฎากร ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประกอบด้วยอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้แทน ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดและผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น น. สรรพากรภาค 1 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งจึงมีอำนาจวินิจฉัยและมีคำสั่งทางปกครองได้
การจ่ายเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัท อ. เพื่อประกันความเสี่ยงในการขายลดลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือทั้งสามเพื่อบริการด้านงานสินเชื่อตามสัญญา แม้เป็นค่าใช้จ่ายเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญา แต่การที่โจทก์จ่ายเบี้ยประกันภัยแทนบริษัทในเครือทั้งสาม โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์มีหน้าที่หรือความจำเป็นอย่างไรที่ต้องไปจ่ายแทนบริษัทในเครือทั้งสาม และค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์ได้จ่ายไป ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็ตกแก่บริษัทในเครือของโจทก์ โจทก์ได้รับเพียงค่าตอบแทนจากการให้บริการจัดการธุรกิจตามสัญญาเป็นรายปีในอัตราร้อยละ 2 ของยอดขายสุทธิเท่านั้น ดังนั้น เงินค่าเบี้ยประกันภัยที่โจทก์จ่ายให้บริษัท อ. เพื่อเป็นการประกันความเสี่ยงจากการนำลูกหนี้การค้าของบริษัทในเครือทั้งสามไปขายลดให้ธนาคาร จึงเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่ง ป.รัษฎากร
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3612/2561
โจทก์ได้รับเงินจากบริษัท ฮ. เพื่อตอบแทนโจทก์ในการดำเนินการจัดการให้ผู้เช่าและผู้อยู่อาศัยในที่ดินออกไปจากที่ดินและรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างแล้วเสร็จ รวมถึงตอบแทนในการเลิกสัญญาเช่าระหว่างโจทก์และเจ้าของที่ดิน เพื่อจะได้ทำสัญญากับบริษัท ฮ. ผู้เช่าใหม่ ถือเป็นการกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์และมีมูลค่าซึ่งมิใช่การขายสินค้า อันเป็นค่าบริการอย่างหนึ่งที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 ประกอบมาตรา 77/1 (10)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3607/2561
คดีเดิม ก. ซึ่งเป็นสามีฟ้องหย่าโจทก์ ซึ่งเป็นภริยา ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์และ ก. หย่าขาดจากกันเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 ต่อมา ก. นำคำพิพากษาดังกล่าวไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่า โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2556 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า "การขาดนัดพิจารณามิได้เป็นไปโดยจงใจและมีเหตุอันสมควร ประกอบกับโจทก์ไม่คัดค้านการขอพิจารณาคดีใหม่ จึงให้งดไต่สวนและอนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ" ชี้ให้เห็นว่า ศาลชั้นต้นได้พิเคราะห์ถึงข้อความในคำขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวว่า ได้กล่าวโดยชัดแจ้งซึ่งเหตุที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ และข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลที่แสดงให้เห็นว่า หากศาลได้พิจารณาคดีนั้นใหม่ตนอาจเป็นฝ่ายชนะและในกรณีที่ยื่นคำขอล่าช้าก็ได้แสดงเหตุแห่งการล่าช้านั้นด้วย อันเป็นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 จัตวา วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 การที่ ก. โจทก์ และทนายโจทก์ไม่แถลงคัดค้านการขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยในคดีดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่า คู่ความในคดีนั้นประสงค์จะให้คดีแพ้ชนะกันในเนื้อหาแห่งคดี หาใช่โดยการได้เปรียบกันด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ ซึ่งเป็นเรื่องที่คู่ความในคดีแพ่งสามารถกระทำได้โดยชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะใช้ดุลพินิจ มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ได้ เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย หาใช่เป็นการสั่งโดยผิดหลงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ไม่ และกรณีเป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ วรรคสี่ ทั้งคดีหย่าระหว่าง ก. กับโจทก์ก็เป็นคดีเกี่ยวด้วยสถานะของบุคคล เมื่อ ก. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยยื่นคำร้องสอดเข้าไปในคดีดังกล่าวในภายหลังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) จึงไม่อาจกระทำได้เพราะไม่มีคู่ความฝ่ายโจทก์ในคดีนั้นแล้ว ดังนั้น คำพิพากษาโดยคู่ความขาดนัดของศาลชั้นต้นและวิธีการบังคับคดีที่ดำเนินไปแล้วนั้น ถือเป็นการเพิกถอนไปในตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 เบญจ วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
เมื่อคำพิพากษาโดยคู่ความฝ่ายที่ขาดนัดถูกเพิกถอน การที่ ก. ไปให้นายทะเบียนบันทึกการหย่าตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2555 จึงถูกเพิกถอนไปด้วย สถานะของบุคคลระหว่าง ก. กับโจทก์ ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากการเป็นสามีภริยากัน เมื่อจำเลยไปจดทะเบียนสมรสกับ ก. เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 อันเป็นเวลาหลังจากมีการเพิกถอนทะเบียนการหย่าระหว่าง ก. กับโจทก์แล้ว จึงเป็นการสมรสในขณะที่ ก. มีคู่สมรสอยู่ จึงต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1452 และตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 จำเลยไม่อาจอ้างความสุจริตได้ การสมรสระหว่างจำเลยกับ ก. ไม่มีผลเป็นการสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่เป็นการพ้นวิสัยที่จะให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเพราะคำพิพากษาที่ถูกเพิกถอนนั้นเกี่ยวด้วยฐานะของบุคคลและมีผลผูกพันบุคคลภายนอกจะยกขึ้นอ้างอิงหรือจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3600/2561
โจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 โดยระบุข้อความว่า วันสุดท้ายที่มาทำงาน คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ถ้าเป็นไปได้ หรือในวันที่ 9 สิงหาคม 2555 อันมีความหมายว่าโจทก์ประสงค์ลาออกโดยให้มีผลบังคับในวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 การขอลาออกของโจทก์เป็นการแสดงเจตนาเลิกสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นบังคับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 191 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ว่า นิติกรรมใดมีเงื่อนเวลาเริ่มต้นกำหนดไว้ ห้ามมิให้ทวงถามให้ปฏิบัติการตามนิติกรรมนั้นก่อนถึงเวลาที่กำหนด ประกอบกับการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยจะเลิกกันก็ต่อเมื่อถึงกำหนดวันที่ระบุไว้ในใบลาออก คือ วันที่ 31 กรกฎาคม 2555 หรือวันที่ 9 สิงหาคม 2555 แล้วแต่กรณี มิใช่เกิดผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างแรงงานในวันที่โจทก์ยื่นใบลาออก ระหว่างระยะเวลาที่สัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่นั้นโจทก์และจำเลยยังคงมีความสัมพันธ์และมีสิทธิหน้าที่ในฐานะลูกจ้างและนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานอยู่จนกว่าสัญญาจ้างแรงงานจะสิ้นผล เมื่อจำเลยมีจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ว่าโจทก์ถูกปลดจากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายผลิตของบริษัท ซึ่งมีผลทันที ถือว่าจำเลยใช้สิทธิเลิกจ้างโจทก์ในระหว่างสัญญาจ้างแรงงานยังมีผลบังคับอยู่ มิใช่จำเลยใช้สิทธิให้โจทก์ออกจากงานก่อนครบกำหนดตามความประสงค์ของโจทก์ในใบลาออกอันจะถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างเอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3595/2561
พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) กำหนดบุคคลผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน คือ บุตรมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบสิบแปดปี และยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่ จึงมีความหมายชัดแจ้งแล้วว่าบุตรที่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนจะต้องเป็นบุตรที่มีอายุต่ำกว่าอายุสิบแปดปีเสียก่อน และหากบุตรซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีนั้นได้รับค่าทดแทนแล้ว ต่อมามีอายุครบสิบแปดปี และยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรีก็จะได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดเวลาที่ยังศึกษา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3542/2561
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส. ประธานอนุญาโตตุลาการเคยเป็นทนายความของ ฟ. ซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัย และรับประกันภัยความเสียหายทรัพย์สินในเหตุการณ์เดียวกันกับคดีนี้ โดย ส.เป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว ให้การต่อสู้คดีในทำนองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการก่อความไม่สงบของประชาชนที่ลุกฮือต่อต้านรัฐบาลและเป็นการก่อการร้าย เข้าข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ ซึ่งมีผลให้บริษัทประกันภัยไม่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต่อมา ส. ได้มาเป็นประธานคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้ ย่อมมีแนวความคิดเห็นทำนองเดียวกับคดีที่ตนเคยเป็นทนายความในคดีดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อความเป็นกลางและเป็นอิสระของอนุญาโตตุลาการหรือความสงสัยต่อความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระ ซึ่งอนุญาโตตุลาการมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงตั้งแต่เข้าเป็นอนุญาโตตุลาการ ตลอดจนตลอดเวลาที่ยังคงดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการด้วย การที่ ส. ไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ร้องทั้งสิบสี่ไม่อาจทราบเพื่อที่จะได้มีโอกาสคัดค้านเสียตั้งแต่แรก นอกจากนี้การที่ ส. เป็นทนายความจำเลยในคดีดังกล่าว แม้จำเลยในคดีดังกล่าวกับผู้คัดค้านในคดีนี้เป็นคนละบริษัทกัน แต่เหตุการณ์ที่ต้องพิจารณาในคดีดังกล่าวกับคดีนี้เป็นเหตุการณ์เดียวกัน ถือว่ามีผลประโยชน์ในทางคดีเกี่ยวข้องกัน ผู้คัดค้านย่อมคาดหวังว่า ส. น่าจะมีความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกับคดีดังกล่าวอันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้คัดค้าน การที่ ส. ไม่เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงดังที่กล่าวมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นกลางและเป็นอิสระ หรือเหตุอันควรสงสัยถึงความเป็นกลางหรือความเป็นอิสระของตนตามมาตรา 19 จึงทำให้องค์ประกอบและกระบวนการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 40 (1) (จ) ย่อมส่งผลให้การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40 (2) (ข) ศาลชอบที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ตามมาตรา 40
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3503/2561 รั้วพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของรั้วซึ่งบริษัท ว. สร้างขึ้นพร้อมการจัดสรรที่ดินปลูกสร้างบ้านขายตั้งแต่ปี 2532 อันเป็นการให้มีสาธารณูปโภคตามนัยข้อ 1 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ทำให้รั้วพิพาทตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรทั้งหมด รั้วพิพาทจึงมิได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดินที่รั้วตั้งอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 เมื่อโจทก์จัดตั้งเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้วได้รับโอนสาธารณูปโภคจากบริษัท ว. มาดำเนินการ รั้วพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2561
ตามสัญญาค้ำประกันรับรองความเสียหายที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำไว้กับโจทก์เพื่อค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 นั้น มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้าจึงตกลงยินยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันรับรองความเสียหาย...และข้าพเจ้าทำสัญญานี้...ด้วยความสมัครใจ มีผลผูกพันข้าพเจ้าตามกฎหมายในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้ที่ข้าพเจ้าค้ำประกัน" และในข้อ 1 ระบุว่า "ในระหว่างเวลาที่บุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันปฏิบัติงานอยู่กับบริษัท ฯ ผูกพันตามสัญญาว่าจ้างหรือสัญญาแต่งตั้งผู้ขาย...หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่บริษัท รับไว้ในชั้นต้นหรือในตำแหน่งหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปในภายหน้าหากบุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันได้กระทำ หรือละเว้นกระทำ...เป็นเหตุให้บริษัท ฯ ได้รับความเสียหาย..." กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่ระบุไว้ในขณะทำสัญญาค้ำประกันและในตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปในอนาคตอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้าน สาขาบัวขาว เมื่อปี 2549 แม้ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะสูงขึ้นและมีความรับผิดชอบมากขึ้นก็ตาม แต่มิได้อยู่นอกเหนือความตกลงของสัญญาค้ำประกันประกอบกับจำเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ในการขายสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้านำส่งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3393 - 3394/2561
โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจ้างกับจำเลยโดยมีระยะเวลาการทำงาน 10 เดือน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาจำเลยจะจ่ายค่าชดเชยตามระยะเวลาการทำงานให้แก่โจทก์ทั้งสองและเรียกให้โจทก์ทั้งสองมาทำสัญญาจ้างแรงงานฉบับใหม่ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาแต่ละคราว การที่ในระหว่างสัญญาจ้างสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยมีมติแต่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการลูกจ้างในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 นั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ในการห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน แต่การที่จำเลยไม่ต่อสัญญาจ้างฉบับใหม่กับโจทก์ทั้งสองถือเป็นกรณีระยะเวลาตามสัญญาจ้างสิ้นสุดลงอันส่งผลให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยต้องเลิกกันตามผลของสัญญา ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยกลั่นแกล้งไม่ต่ออายุสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับที่จำเลยจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 และไม่จำต้องรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงาน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2561
การที่ อ. ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้จำเลย ไม่ทำให้การเช่านาพิพาทระหว่าง อ. กับโจทก์ระงับไปเพราะเหตุที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านาตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 28 เมื่อไม่ปรากฏว่า อ. หรือจำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนใด ๆ ให้การเช่านาสิ้นสุดลงก่อนฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นเพื่อขับไล่โจทก์และสามีโจทก์ออกจากที่ดินพิพาท แม้ต่อมาโจทก์ สามีโจทก์ และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ และศาลพิพากษาตามยอม แต่สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่ปรากฏว่าโจทก์สละสิทธิในการซื้อที่ดินพิพาท และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตามการทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือข้อตกลงเพื่อยกเว้นบทบัญญัติในกฎหมายที่มุ่งคุ้มครองผู้เช่านาไว้เป็นการเฉพาะซึ่งถือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมไม่อาจกระทำได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์หรือดำเนินการทางศาลเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลที่ให้โจทก์มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทคืนจากจำเลย ทั้งไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ในคดีนี้ว่าคำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใด คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 56 วรรคสอง ดังนั้นแม้จะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์สละสิทธิที่จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลย เมื่อ คชก.ตำบลมีมติให้โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยในราคาที่ซื้อขายกับเจ้าของเดิมหรือราคาตลาดแล้วแต่ว่าราคาใดจะสูงกว่ากัน แล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามมตินั้น โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3311/2561
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ได้ถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 242 ยังบัญญัติว่า การพยายามนำของซึ่งยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรเป็นความผิดอยู่ ถือไม่ได้ว่า พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ยกเลิกความผิดฐานนี้ และมาตราดังกล่าวกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบของนั้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ แต่ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 บัญญัติว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ดังนั้น จึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณกว่าตาม ป.อ. มาตรา 3
มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 บัญญัติให้จ่ายสินบนและรางวัลจากเงินที่ได้จากการขายของกลางซึ่งศาลสั่งริบเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว หากของกลางที่ศาลสั่งริบไม่อาจขายได้ให้จ่ายจากเงินค่าปรับที่ได้ชำระต่อศาล เมื่อคดีนี้มีการคืนของกลางให้เจ้าของไปแล้วและศาลใช้ดุลพินิจลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามโดยไม่ปรับ กรณีจึงไม่มีเงินค่าปรับและของกลางที่จะสั่งจ่ายเป็นเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 8 ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2561 ป.รัษฎากร มาตรา 57 ฉ วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง" โจทก์กับ จ. ขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสินสมรส มีราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเงิน 546,000 บาท อันเป็นเงินได้จากการขายสินสมรสนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 ให้สันนิษฐานว่าเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน ทรัพย์สินอันเป็นสินสมรสก็ถือว่าต่างฝ่ายมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกันคนละกึ่งหนึ่งเช่นกัน เมื่อโจทก์กับ จ. ไม่ได้มีสัญญาตกลงกันไว้เป็นอื่นในเรื่องการจัดการสินสมรส ก็ถือว่าโจทก์กับ จ. มีเงินได้คนละกึ่งหนึ่ง กรณีไม่ใช่เป็นเงินได้ที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ชัดแจ้งว่าเป็นของสามีและภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 57 ฉ วรรคสอง โจทก์กับ จ. จะแบ่งเงินได้พึงประเมินของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันตามมาตรา 57 ฉ วรรคสองตอนท้ายไม่ได้ การที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าโจทก์มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์จำนวน 414,960 บาท ส่วน จ. มีเงินได้จำนวน 131,040 บาท จึงไม่ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285/2561
คดีนี้โจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ย่อมเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาอุทธรณ์ได้สิ้นสุดลง และเมื่อคดีถึงที่สุดย่อมเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้แก่จำเลยที่ 1 แม้ภายหลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ก็เป็นการพิพากษาแก้ในกรณีหากต้องกักขังจำเลยที่ 1 แทนค่าปรับ อันเป็นเรื่องการบังคับคดีในส่วนค่าปรับเท่านั้น ส่วนที่ต่อมาศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ก็เป็นเพียงการแก้การปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ให้ถูกต้อง ดังนี้ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 และศาลฎีกาที่แก้ไขเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 เป็นการแก้ไขที่หามีผลกระทบต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้นอันจะทำให้คดีเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาไม่ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขอให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษย้อนหลังเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ต้องไปดำเนินการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3280/2561
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติแล้วว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำรถยนต์ไปรับจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดพะเยา โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนขับ ส่วนจำเลยที่ 3 น้องชายของจำเลยที่ 1 นั่งโดยสารไปด้วย นับแต่รับจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดพะเยาแล้วทั้งสองอยู่กับจำเลยที่ 1 ตลอดเวลาจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมที่จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้อยู่ว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างลำเลียงเมทแอมเฟตามีนไปส่งลูกค้าโดยได้รับเงินค่าจ้างเป็นผลประโยชน์ตอบแทนแล้วยังร่วมมือช่วยเหลือ การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลำเลียงเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งลูกค้าให้สำเร็จ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มิใช่เป็นเพียงผู้สนับสนุน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3276/2561
ในวันตรวจพยานหลักฐาน โจทก์ปฏิเสธการตรวจพยานหลักฐาน แล้วศาลมีคำสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลยต่อไป เท่ากับศาลมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นอันเนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173/2 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 และเป็นการยกเลิกไม่กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน
กรณีที่ศาลไม่กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐาน จึงอยู่ในบังคับ ป.วิ.อ. มาตรา 240 วรรคหนึ่ง ซึ่งกำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของตน ต้องยื่นพยานเอกสารนั้นต่อศาลก่อนวันนัดสืบพยานไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายตรวจและขอคัดสำเนาได้ก่อนที่จะนำสืบพยานเอกสารนั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3274 - 3275/2561
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง วางหลักในการฎีกาว่า ฎีกาจะต้องคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไร คดีนี้โจทก์ฎีกาโดยคัดลอกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคน โดยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงและเหตุผลขึ้นโต้แย้งว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงมานั้นไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริงและไม่ชอบด้วยเหตุผลอย่างไร ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นการคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3206/2561
จำเลยทั้งสองกับ ศ. ตกลงกันโดย ศ. จัดหาเมทแอมเฟตามีนและให้สายลับนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่จำเลยทั้งสองซึ่งรอรับอยู่ที่จุดนัดหมายเพื่อนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายต่อโดยจำเลยทั้งสองโอนเงินค่าลำเลียงขนส่งให้แก่สายลับ แต่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลยทั้งสองได้เสียก่อนที่สายลับจะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยทั้งสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดกับความผิดสำเร็จถือได้ว่าจำเลยทั้งสองลงมือกระทำความผิดไปโดยตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเพราะถูกจับกุมเสียก่อน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานสมคบกันกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทแต่ละบทมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3188/2561
พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบในชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคและลงโทษผู้มีหนี้ที่ชำระแต่ชำระเงินดังกล่าวล่าช้าเฉพาะสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในขณะที่เกิดค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากสาธารณูปโภคดังกล่าวอย่างแท้จริงเท่านั้น โดยไม่ได้บัญญัติให้รวมไปถึงผู้รับโอนที่ดินต่อมาจากเจ้าของเดิมที่เป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรให้รับผิดในค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคอันเกิดก่อนที่จะได้รับโอนหรือเข้าครอบครองที่ดิน และไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้เมื่อที่ดินดังกล่าวปลอดจากหนี้อันเกิดจากค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคโดยต้องมีหนังสือรับรองการปลอดหนี้จากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมาแสดง เมื่อเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคเกิดขึ้นก่อนโจทก์เข้าเป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โจทก์ไม่มีหน้าที่ที่ต้องชำระเงินค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคที่เกิดขึ้นก่อนที่โจทก์รับโอนที่ดินมา จำเลยที่ 1 ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค ย่อมเรียกเอาจากเจ้าของที่ดินคนเดิมในขณะเกิดหนี้ได้โดยตรง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3057 - 3061/2561
ข้อตกลงร่วมระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานผู้บังคับบัญชากำหนดให้จำเลยมีอำนาจบริหารที่จะแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานทุกระดับชั้นได้ตามเหตุผลและความจำเป็นเพื่อให้การบริหารงานบุคคลของจำเลยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การแต่งตั้งโยกย้ายนั้นต้องไม่เป็นการลดสภาพการจ้างและค่าจ้างของพนักงานนั้น จำเลยในฐานะนายจ้างจึงมีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลด้วยการจัดให้ลูกจ้างเข้าทำงานรับผิดชอบตามตำแหน่งหน้าที่ในแต่ระดับชั้นที่เหมาะสมกับความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของลูกจ้าง ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่กิจการของนายจ้าง
ก่อนย้ายโจทก์ทั้งห้าปฏิบัติงานอยู่ในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษซึ่งมิใช่ระดับชั้นเจ้าหน้าที่บริหาร เมื่อย้ายแล้วโจทก์ทั้งห้าก็ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในระดับชั้นพิเศษเช่นเดิม โดยไม่ปรากฏว่ามีตำแหน่งใดในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษที่มีลักษณะงานด้อยกว่ากันอย่างชัดเจนแต่กลับปรากฏว่าแต่ละตำแหน่งมีความสำคัญพอ ๆ กัน ทั้งอัตราค่าจ้างที่โจทก์ทั้งห้าได้รับจากจำเลยก็ไม่ได้ลดลง คำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษด้วยกันจึงไม่อาจถือว่าเป็นการเพิ่มหรือลดตำแหน่งที่มีผลให้สภาพการจ้างเดิมด้อยลง ประกอบกับคำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งโจทก์ทั้งห้าของจำเลยเป็นการใช้อำนาจบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรที่จะแต่งตั้งโยกย้ายเพื่อให้การบริหารงานบุคคลของจำเลยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพการที่จำเลยย้ายโจทก์ทั้งห้ายังอยู่ในระดับชั้นเจ้าหน้าที่ชั้นพิเศษเช่นเดิมและอัตราค่าจ้างไม่ได้ลดลง จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาจ้างหรือผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง คำสั่งโยกย้ายสับเปลี่ยนตำแหน่งโจทก์ทั้งห้าของจำเลยจึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2992/2561
เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียน 2 รายการ ประกอบด้วยรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและคำว่า "Misty Mynx" ซึ่งเป็นคำอักษรโรมันสองคำประกอบกัน สำหรับคำว่า "Misty" เป็นคำธรรมดาทั่วไป มีความหมายปรากฏตามพจนานุกรมว่า ที่ปกคลุมไปด้วยหมอก คลุมเครือ พร่ามัว เลือนลาง จึงไม่เป็นคำที่สร้างความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าอื่นได้ดี ส่วนคำว่า "Mynx" เป็นคำที่ไม่มีความหมายปรากฏในพจนานุกรม จึงเป็นส่วนที่สร้างความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าอื่นได้ดีกว่าส่วนคำว่า "Misty" ย่อมมีเหตุผลให้เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและอักษรโรมันคำว่า "Mynx" เป็นสาระสำคัญ ส่วนคำว่า "Misty" ไม่ใช่ส่วนสาระสำคัญ ส่วนการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาคส่วนของเครื่องหมายการค้าโดยรวมทุกภาคส่วนของเครื่องหมายการค้า ดังนั้นจึงต้องนำรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและคำว่า "Mynx" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และคำว่า "Morning" ในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมารวมพิจารณาเปรียบเทียบความคล้ายของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เพราะทุกภาคส่วนล้วนต้องรวมกันจึงเป็นเครื่องหมายการค้าตามที่ขอจดทะเบียนมิใช่พิจารณาแยกเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณะเครื่องหมายและการประดิษฐ์ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เปรียบเทียบกับรูปลักษณะเครื่องหมายและลักษณะการประดิษฐ์ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบไปด้วย 2 ภาคส่วน คือ ภาคส่วนบนสุดเป็นรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและภาคส่วนล่างสุดเป็นอักษรโรมันคำว่า "Misty Mynx" นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนอีก 2 รายการ เป็นอักษรโรมันสองคำประกอบกัน คือ คำว่า "Misty" และคำว่า "Mynx" โดยอยู่ในระนาบเดียวกัน ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น ประกอบด้วยอักษรโรมันสองคำ คือคำว่า "MISTY" และคำว่า "MORNING" โดยคำว่า "MISTY" อยู่ด้านบนและมีขนาดใหญ่กว่าคำว่า "MORNING" ซึ่งเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวมีความแตกต่างกันเป็นที่เห็นได้ชัดเจนหลายประการ ตั้งแต่รูปร่างโดยรวมของทุกภาคส่วนในแต่ละเครื่องหมาย รูปประดิษฐ์ ตัวอักษรที่ใช้และลักษณะการวางตัวอักษร ล้วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และเมื่อพิจารณาในส่วนเสียงเรียกขานตามคำที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า "มิส-ตี้-มิ้งซ์" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วอาจเรียกขานได้ว่า "มิส-ตี้-มอร์-นิ่ง" ซึ่งแม้มีคำเรียกขานว่า "มิส-ตี้" คล้ายกันส่วนหนึ่ง แต่เสียงเรียกขานโดยรวมก็แตกต่างกัน มิใช่จะเรียกขานแต่เฉพาะคำว่า "มิส-ตี้" ประกอบกับคำว่า "MISTY" เป็นคำธรรมดาที่ใช้กันทั่วไปซึ่งมีความหมายเข้าใจกันตามธรรมดา มิใช่คำประดิษฐ์ ดังนั้นแม้จะมีบุคคลอื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า "MISTY" ประกอบอยู่ด้วยไว้ก่อนแล้ว บุคคลอื่นก็ยังคงมีสิทธิใช้คำดังกล่าวได้ตราบเท่าที่ได้มีการสร้างความแตกต่างเพียงพอจนสามารถทำให้เป็นที่สังเกตได้ถึงความแตกต่างกันนั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปประดิษฐ์รูปหัวใจประกอบอยู่ด้วย และมีลักษณะการใช้และการวางตัวอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าที่แตกต่างกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีความแตกต่างกันเพียงพอที่สาธารณชนผู้บริโภคจะจดจำและสังเกตได้ถึงความแตกต่างกันนั้นแล้ว แม้รายการสินค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับรายการสินค้าที่บุคคลอื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว จะเป็นรายการสินค้าเดียวกันและเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคนำมาใช้ในชีวิตประจำวันในครัวเรือนเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีผู้บริโภคกลุ่มเดียวกันหรือมีสถานที่วางจำหน่ายแห่งเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำฟ้องทั้งสี่คำขอมีความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2932/2561
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นสอบสวนว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะลงมือรัดคอผู้ตายครั้งแรก ผู้ตายด่าว่าจำเลยที่ 1 ว่า "ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ หลอกกูมารออีกแล้ว หลอกกูทำเหี้ยอะไร" ซึ่งคำด่าของผู้ตายนี้ เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 เองที่หลอกผู้ตายมายังที่เกิดเหตุ และการที่จำเลยที่ 1 รัดคอผู้ตายครั้งที่ 2 แม้ผู้ตายจะด่าจำเลยที่ 1 ด้วยถ้อยคำรุนแรงว่า "ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ พ่อมึงตาย ไอ้เลว ไอ้ชั่ว" ก็มีสาเหตุจากจำเลยที่ 1 รัดคอผู้ตายครั้งที่ 1 และเอาสร้อยคอทองคำ 1 เส้น กับแหวนทองคำ 2 วง ของผู้ตายไป จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อนทั้งสิ้น เมื่อผู้ตายด่าตอบโต้การกระทำของจำเลยที่ 1 มาเช่นนี้ จึงไม่อาจถือเป็นเหตุว่าผู้ตายข่มเหงจำเลยที่ 1 อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมได้ กรณีที่ไม่ถือว่า จำเลยที่ 1 กระทำโดยบันดาลโทสะ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2561 จ. ผู้เอาประกันภัย เช่าซื้อรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้มาจากธนาคาร ธ. หากรถยนต์สูญหายไปโจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคาร ธ. เจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นผู้รับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย ส่วนเหตุที่กรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายรับประกันภัยของโจทก์หลงลืมระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ และยังคงยืนยันว่าผู้รับผลประโยชน์คือธนาคาร ธ. ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับ จ. มีข้อโต้แย้งกันในเรื่องที่โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ธนาคาร ธ. จึงฟังได้ว่า จ. ยินยอมให้โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ธนาคาร ธ. โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ประกอบธุรกิจประเภทศูนย์การค้าโดยแบ่งพื้นที่ภายในศูนย์การค้าให้บุคคลอื่นเช่าเพื่อทำการค้า และจัดให้มีพื้นที่จอดรถเพื่อความสะดวกของผู้เช่าพื้นที่และลูกค้าที่มาใช้บริการ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายสินค้าหรือให้บริการต่างๆ ให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 โดยตรง แต่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ประกอบกิจการเช่นว่าย่อมต้องให้ความสำคัญในด้านบริการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาคารและการใช้สถานที่ศูนย์การค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการในเรื่องของที่จอดรถซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญข้อหนึ่งในการตัดสินใจของลูกค้าว่าจะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งปัจจัยข้อนี้มีผลโดยตรงต่อจำนวนลูกค้าที่จะเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้แจกบัตรจอดรถ ไม่เรียกเก็บค่าบริการจอดรถ บุคคลทั่วไปที่ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 ก็สามารถนำรถเข้าจอดได้ ไม่ต้องฝากกุญแจรถไว้กับพนักงานของจำเลยที่ 1 หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อที่จอดรถเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการประกอบกิจการศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารสถานที่เป็นผู้ประกอบกิจการศูนย์การค้าขนาดใหญ่จึงต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยรถของลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการตามสมควร มิใช่ปล่อยให้ลูกค้าผู้มาใช้บริการต้องเป็นฝ่ายระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอาเองในระหว่างที่ซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ ภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ดูแลรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 แต่ไม่ได้ว่าจ้างให้ดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของผู้เช่าพื้นที่และลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้า บริเวณทางเข้าและทางออกลานจอดรถไม่มีการมอบและคืนบัตรจอดรถ ไม่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำอยู่ คงมีแต่เพียงกล้องวงจรปิดติดตั้งไว้เพื่อบันทึกภาพรถเข้าและออก ซึ่งเห็นได้ว่าไม่สามารถป้องกัน ระงับ หรือยับยั้งการโจรกรรมรถยนต์ได้ เช่นนี้จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปล่อยปละละเลย งดเว้น ไม่สอดส่อง ตรวจตรา ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณลานจอดรถตามหน้าที่ตามสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ซึ่งจอดอยู่ในลานจอดรถศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 สูญหายไป อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย สำหรับจำเลยที่ 2 ได้ความตามสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัย ข้อ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ทำการรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ณ อาคารศูนย์การค้า ซ. แต่สัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยและเอกสารแนบท้ายหาได้ระบุให้พนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินตลอดจนรถยนต์ของลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในศูนย์การค้าของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใดไม่ แม้ลักษณะการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยที่ 2 จะทำให้เข้าใจได้ว่ามีการดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าด้วย แต่ความเข้าใจของลูกค้าหรือผู้มาใช้บริการเช่นว่าไม่มีผลเป็นการก่อให้เกิดหน้าที่แก่จำเลยที่ 2 เกินไปกว่าที่ระบุไว้ในสัญญา จึงยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาว่าจ้างดูแลรักษาความปลอดภัยโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายไป จำเลยที่ 2 จึงหาจำต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2871/2561
ความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 ห้ามมิให้จัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนเว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน จำเลยได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ณ สถานที่ตั้งตามใบอนุญาต แต่จำเลยกลับไปประกอบการที่อีกสถานที่หนึ่งยอมเป็นการจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวิดีทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง, 82
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2869/2561
คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะอยู่ในชั้นตรวจคำฟ้อง เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลชั้นต้นรับชำระคดี ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดย่อมเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า หากโจทก์จะฎีกาต้องยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกาซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ ไม่อาจนำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับได้ การที่อัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองฎีกาของโจทก์ว่ามีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย เป็นการรับรองให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 มิใช่การยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลฎีกา เมื่อโจทก์ยื่นฎีกาโดยมิได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาของโจทก์ไว้วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2854/2561 คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากันและแบ่งสินสมรส ประเด็นในคดีก่อนมีว่า มีเหตุหย่าหรือไม่ หากศาลพิพากษาให้หย่า จึงจะมีการแบ่งสินสมรสว่ามีทรัพย์สินใดที่เป็นสินสมรส เมื่อศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่มีเหตุหย่า จึงไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสและให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดู ประเด็นแห่งคดีจึงมีว่า มีเหตุให้แยกสินสมรสหรือไม่ และจำเลยต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือไม่ และสินสมรสที่ต้องแยกได้แก่ทรัพย์สินใด ประเด็นแห่งคดีนี้และประเด็นคดีก่อนจึงต่างกัน แม้ทรัพย์สินที่อ้างตามฟ้องคดีนี้จะเป็นทรัพย์สินตามฟ้องกับคดีก่อน แต่เมื่อคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นสินสมรสที่ ต้องแบ่ง จึงถือไม่ได้ว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เกี่ยวกับสินสมรสเป็นประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำ หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน โจทก์ฟ้องขอให้แยกสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย เดิมโจทก์และจำเลยประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และต่อมาจดทะเบียนเลิกห้าง และจัดตั้งบริษัท อ. โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์และจำเลยจะไม่ใช้อำนาจบริหารกิจการบริษัท อ. แต่ให้ อ. บุตรชายของโจทก์และจำเลยเป็นผู้บริหารแทน กิจการโรงงานเป็นของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคลแยกต่างหาก หาใช่สินสมรสไม่ ทั้งคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยและคดีถึงที่สุดโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัท อ. เนื่องจากโจทก์ติดการพนันและมีปัญหาหนี้สิน โจทก์จะไม่เกี่ยวข้องเป็นผู้ถือหุ้นหรือกรรมการผู้มีอำนาจ และโจทก์เคยทำลายทรัพย์สินของบริษัทจนถูกห้ามเข้าบริษัท ข้อเท็จจริงในคดีก่อนจึงผูกพันโจทก์และจำเลยในคดีนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบกับโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องหลังจากคดีก่อนถึงที่สุดเพียง 4 เดือน บ่งชี้ถึงความไม่สุจริตของโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยขัดขวางการจัดการสินสมรสของโจทก์ บริษัท อ. และ บริษัท ซ. มีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากบุคคลอื่นและผู้ถือหุ้น มีสิทธิและหน้าที่ต่างๆ เป็นของตนเอง การดำเนินกิจการต่างๆ เป็นอำนาจหน้าที่กรรมการบริษัทภายในขอบอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ดังที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับจัดตั้ง กิจการบริษัททั้งสองรวมทั้งทรัพย์สินของบริษัทหาใช่สินสมรสไม่ แต่เป็นของบริษัทภายใต้การดำเนินกิจการของบริษัท หากจะเกิดความเสียหายหรือเกิดความหายนะ ก็เป็นเรื่องที่กรรมการบริษัทจะรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 กรณีจึงไม่มีเหตุแยกสินสมรส โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์ แต่ข้อตกลงของโจทก์และจำเลยคือ ให้ อ. บุตรชาย นำรายได้ของบริษัทส่วนหนึ่งมาจ่ายเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยคนละ 300,000 บาท ซึ่งค่าอุปการะเลี้ยงดูตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของบริษัทที่นำมาจ่ายให้โจทก์และจำเลยเมื่อมีกำไร หาใช่ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่คู่สมรสต้องอุปการะเลี้ยงดูตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง อันจะถือเป็นเหตุให้แยกสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1484 (2) ไม่ ทั้งบริษัท อ. ถูกศาลล้มละลายกลางพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลาย จึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่มีรายได้ที่จะนำมาชำระค่าเลี้ยงดูโจทก์และจำเลยได้ ดังนี้จะถือว่าจำเลยผิดข้อตกลงหาได้ไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2561
แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 ภาคส่วน สำหรับภาคส่วนคำว่า "DULUX" นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องการมีลักษณะบ่งเฉพาะในตนเองแล้วของคำดังกล่าว ส่วนภาคส่วนคำว่า "INSPIRE" นั้นแม้จะเป็นคำภาษาต่างประเทศแต่ก็เป็นคำธรรมดาทั่วไปที่ปรากฏความหมายของคำตามพจนานุกรมว่าคำว่า "INSPIRE" มีความหมายหนึ่งว่า กระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่คำภาษาต่างประเทศที่มีความหมายตามพจนานุกรมจะเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าความหมายของคำที่ประกอบเป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทำให้ผู้ใช้สินค้าสามารถทราบได้ทันทีหรือไม่ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด หากเป็นเครื่องหมายซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเป็นการบรรยายถึงลักษณะของสินค้าซึ่งทำให้ผู้ใช้สินค้าสามารถทราบได้ทันทีว่าเป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด จึงจะถือว่าเป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง ในขณะที่เครื่องหมายที่มีความหมายเป็นการบรรยายถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นทางอ้อม ผู้ใช้สินค้าต้องใช้ความคิดและจินตนาการหรือแปลความหมายที่ซ้ำซ้อนกันนั้นอีกชั้นหนึ่งก่อนจึงจะรู้ว่าเป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด แม้อาจเป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าก็เป็นไปโดยทางอ้อม หาใช่เป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงไม่ เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า "INSPIRE" ที่ปรากฏตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบกล่าวอ้างดังกล่าว คือ กระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยม ประกอบกับรายการสินค้าที่โจทก์นำคำว่า "INSPIRE" ไปใช้ คือ สีทา สีทาด้วยลูกกลิ้ง สีพ่น น้ำมันชักเงา แลกเกอร์ สารทำให้แห้ง ทินเนอร์ และสารทำให้เกิดสี ซึ่งทั้งหมดใช้เป็นสารเติมใส่แลกเกอร์ สารกันสนิม สารป้องกันการเสื่อมสภาพของไม้ สารที่เตรียมขึ้นใช้ทารองพื้นในลักษณะของสี สีแต้ม/ย้อมไม้ ยางเรซินธรรมชาติ(ยางมัสติก) สีโป๊ว สี น้ำมันชักเงา หรือแลกเกอร์ในลักษณะแผ่นปะติดที่สามารถย้ายตำแหน่งใหม่ได้ คำว่า "INSPIRE" ดังกล่าวไม่ได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์โดยตรงว่าเป็นสินค้าที่เมื่อผู้บริโภคใช้แล้วจะเกิดการกระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้แต่อย่างใด ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำว่า "INSPIRE" เมื่อนำมาใช้กับรายการสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนดังกล่าวแล้วจะทำให้เข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านี้เป็นสินค้าที่ยอดเยี่ยมนั้น เป็นการใช้จินตนาการเกินเลยไปกว่าความหมายที่ปรากฏของคำดังกล่าว และแม้คำดังกล่าวจะเป็นคำที่โน้มน้าวจูงใจให้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจ ใช้ความคิดจินตนาการต่อเนื่องกันไปได้ว่า สินค้าที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะเป็นสินค้าที่กระตุ้นหรือมีอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้ ก็เป็นการใช้จินตนาการตีความหมายถ้อยคำที่ซับซ้อนให้โยงเกี่ยวข้องถึงสินค้าในทางอ้อม มิได้เป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง คำว่า "INSPIRE" จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว เมื่อนำคำว่า "INSPIRE" มาใช้ประกอบกับคำว่า "DULUX" เป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ในลักษณะที่ไม่มีคำใดเป็นจุดเด่นกว่าคำใด ทั้งสองคำจึงเป็นภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย แม้คำว่า "INSPIRE" จะเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วย แต่เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" จึงมิใช่เครื่องหมายการค้าที่มีเครื่องหมายส่วนหนึ่งส่วนใดอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน และเมื่อคำว่า "INSPIRE" เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าคำว่า "INSPIRE" เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงไม่จำต้องให้โจทก์แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "INSPIRE" ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ตามคำขอจดทะเบียนคำขอนี้ของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้หรือไม่อีกต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2802/2561
การก่อให้เกิดสัญญาต้องเกิดขึ้นโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย พยานโจทก์ปาก ธ. และ ณ. ต่างเบิกความว่า พนักงานของจำเลย สาขาปทุมธานี แจ้งแก่พยานโจทก์ทั้งสองว่า หากไม่โอนเล่มทะเบียนต้องมีคนค้ำประกัน และหากจะให้ได้รับอนุมัติอย่างแน่นอนต้องโอนเล่มทะเบียนไปเป็นชื่อของจำเลย และได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปาก ณ. เพิ่มเติมว่า พยานได้ติดต่อสอบถามความคืบหน้าจากพนักงานของจำเลยโดยตลอดว่ามีการอนุมัติสินเชื่อแล้วหรือยัง ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานจำเลยปาก ด. ว่า ฉ. ผู้จัดการกลุ่มดูแลลูกค้า และการจัดสัญญาในเขตปทุมธานีของจำเลยได้มาปรึกษาพยานเรื่องที่โจทก์ติดต่อขอสินเชื่อโดยประสงค์จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์สามคัน ฉ. ได้แนะนำโจทก์ว่า ระหว่างที่รอการอนุมัติจากสำนักงานใหญ่ของจำเลยให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ทั้งสามคันเป็นชื่อของจำเลยก่อน ต่อมาสำนักงานใหญ่ตรวจสอบข้อมูลแล้วไม่อนุมัติคำขอสินเชื่อเช่าซื้อให้แก่โจทก์ ฉ. จึงแจ้งให้โจทก์ทราบและคืนเอกสารประกอบคำขอสินเชื่อเช่าซื้อ สมุดคู่มือจดทะเบียนรถและเงินค่าโอนและค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่รับคืนโดยประสงค์จะทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ต่อไป จึงแสดงให้เห็นว่า การอนุมัติสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อเป็นหน้าที่ของสำนักงานใหญ่ของจำเลย สำนักงานสาขาปทุมธานีของจำเลยไม่มีอำนาจอนุมัติและทำสัญญาเช่าซื้อแต่มีหน้าที่ติดต่อกับลูกค้าแล้วส่งสัญญาที่ลูกค้าขอสินเชื่อให้สำนักงานใหญ่ของจำเลยพิจารณาอนุมัติสินเชื่อและทำสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ปรากฏว่า ฉ. มีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อด้วยแต่อย่างใด ตามพฤติการณ์ของ ฉ. ดังกล่าวยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่า ฉ. เป็นตัวแทนในการอนุมัติสินเชื่อของจำเลย การที่โจทก์ยื่นแบบคำขอสินเชื่อต่อจำเลย และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่จำเลยไปก่อน ไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายในการทำสัญญา เพราะสำนักงานใหญ่ของจำเลยยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติคำขอสินเชื่อเช่าซื้อของโจทก์ จึงเป็นเพียงคำเสนอเท่านั้น สัญญาให้สินเชื่อเช่าซื้อให้โจทก์จึงยังไม่เกิด จำเลยจึงไม่ได้ผิดสัญญาและกระทำละเมิดต่อโจทก์ตามฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาและเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2778/2561
พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2560 อันเป็นเวลาระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา โดยความในมาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้ใช้ความที่บัญญัติใหม่แทน โดยมาตรา 14 ที่บัญญัติใหม่ได้ยกเลิกความในมาตรา 14 (1) จากเดิมที่บัญญัติว่า " (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน " โดยบัญญัติความใน (1) ใหม่เป็นว่า " (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา " กรณีเป็นเรื่องกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังกำหนดองค์ประกอบความผิดฐานนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จว่าต้องไม่เป็นการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยจึงจะเข้าเกณฑ์เป็นความผิด เมื่อคดีได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 การกระทำของจำเลยที่ 2 ย่อมไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1) ที่บัญญัติในภายหลัง ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง และจำเลยที่ 2 ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 14 (5) ซึ่งเป็นบทความผิดฐานเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14 (1) ด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2757/2561
การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองฐานพยายามส่งของออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง, 20 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทต้องลงโทษตามกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 มีระวางโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิดหรือกระทำความผิดสำเร็จ กฎหมายกำหนดโทษไว้เท่ากัน และตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับห้าเท่าของสินค้าที่ส่งออกหรือนำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยไม่ได้บัญญัติการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ จึงต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม ป.อ. มาตรา 80 ศาลจึงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าฯ มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ได้เพียง 6 ปี 8 เดือน โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 จึงเป็นโทษหนักกว่าความผิดฐานนี้ จึงต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 โดย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 บัญญัติให้การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามฟ้องฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างกับโทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งบัญญัติให้ลงโทษสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ โดยความผิดฐานนี้ไม่ว่าจะเป็นพยายามกระทำความผิด หรือกระทำความผิดสำเร็จ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 กำหนดโทษไว้เท่ากัน เมื่อโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี เท่ากัน แต่คดีนี้เมื่อคำนวณปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว เป็นเงิน 5,410,932 บาท โทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 244 ซึ่งปรับไม่เกิน 500,000 บาท จึงเป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองมากกว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด การกำหนดโทษปรับจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ดังกล่าว ต้องกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าปรับในลักษณะรวมกันตามบทบัญญัติ มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 อันเป็นการใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยทั้งสองไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2561
สัญญาชาร์เตอร์เรือหรือจ้างเหมามี 3 ประเภท ได้แก่หนึ่งการจ้างแบบรายเที่ยว (Voyage Charter) สองได้แก่การเหมาแบบมีกำหนดระยะเวลา (Time Charter) โดยมีกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด และสามสัญญาเช่าเรือเปล่า (Bareboat Charter) ซึ่งไม่มีคนประจำเรือ กรณีสัญญา Voyage Charter และ Time Charter มีผู้เกี่ยวข้องหลักคือเจ้าของเรือหรือ Owner และคู่สัญญาอีกฝ่ายเรียกว่า Charterer เจ้าของเรือเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่ง โดย Charterer จะนำสินค้ามามอบให้เจ้าของเรือ แล้วเจ้าของเรือนำสินค้าไปส่งปลายทาง นายเรือและลูกเรือเป็นลูกจ้างของเจ้าของเรือ อำนาจในการสั่งการและสิทธิครอบครองเรือยังอยู่กับเจ้าของเรือ เจ้าของเรือต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการประกอบกิจการขนของทางทะเลด้วยจึงเป็นที่มาของกฎหมายใช้คำว่าจ้างเหมาระวางบรรทุก ผู้ว่าจ้างหรือ Charterer เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินเรือ เหตุผลเป็นเพราะผู้ว่าจ้างสามารถสั่งเรือให้ไปที่ใดก็ได้ เจ้าของเรือไม่อาจคิดค่าน้ำมันไว้ล่วงหน้าได้ ในกรณีที่เรือไปโดนกับเรือลำอื่นหรือไปสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลอื่นเจ้าของเรือต้องรับผิดชอบ ส่วนสัญญาเช่าเรือเปล่า (Bareboat Charter) เจ้าของเรือส่งมอบเรือเปล่าให้แก่ผู้เช่า ผู้เช่ามีหน้าที่จัดหานายเรือและลูกเรือเอง และสัญญาชาร์เตอร์ซึ่งเป็นที่มาของข้อพิพาทภาษีคดีนี้ เป็นสัญญาใช้ประโยชน์จากเรืออันเป็นสัญญาขนส่ง มิใช่สัญญาเช่าเรือเดินทะเล
ในส่วน พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 นั้น มีมาตรา 4 บัญญัติว่า "พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การขนส่งทางทะเลจากที่แห่งหนึ่งในราชอาณาจักรไปยังที่อีกแห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักรหรือจากที่แห่งหนึ่งนอกราชอาณาจักรมายังที่อีกแห่งหนึ่งในราชอาณาจักร..." ดังนั้น เมื่อการขนส่งโดยเรือ 3 ลำ ดังกล่าวไม่ได้ขนสินค้าออกจากราชอาณาจักร หรือขนเข้ามาในราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเลฯ ในการตีความสัญญานั้น ต้องตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 และคดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็อ้างประเพณีในการขนส่งระหว่างประเทศและในการนำสืบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเพณีดังกล่าว ในประเพณีการขนส่งระหว่างประเทศทางทะเล ถือว่าการที่เจ้าของเรือทำสัญญา Time Charter Party กับ Charterer นั้น เจ้าของเรือเป็นผู้ขนส่ง ดังนั้น การที่โจทก์ทำสัญญา Time Charter Party 3 ฉบับ ดังกล่าวก็มีเหตุผลแสดงให้เห็นว่าโจทก์และคู่สัญญามีเจตนาทำสัญญาให้เป็นไปตามประเพณีการขนส่งระหว่างประเทศดังกล่าวซึ่งถือว่าโจทก์เจ้าของเรือเป็นผู้ขนส่งตามข้อสัญญา Time Charter Party และตามประเพณีการค้าการขนส่งระหว่างประเทศก็ล้วนถือได้ว่าโจทก์ตกลงทำสัญญา Time Charter Party กับ Charterer โดยโจทก์เป็นผู้ขนส่ง การประกอบการของโจทก์ในส่วนที่มีการทำสัญญา Time Charter Party กับ Charterer 3 ฉบับ สำหรับเรือ 3 ลำ ของโจทก์เป็นการประกอบการขนส่งระหว่างประเทศมิใช่การเช่าทรัพย์
การประกอบการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศของโจทก์ตามสัญญา Time Charter Party 3 ฉบับ นี้ ไม่มีการขนส่งจากในราชอาณาจักรไปยังนอกราชอาณาจักรและไม่มีการขนส่งจากนอกราชอาณาจักรมายังในราชอาณาจักร แม้จะมีการทำสัญญาในราชอาณาจักรหรือมีค่าใช้จ่ายบางส่วนเกิดขึ้นในราชอาณาจักรก็ตาม แต่การทำสัญญาและค่าใช้จ่ายบางส่วนดังกล่าวไม่ใช่ส่วนการกระทำที่เป็นการขนส่ง จึงไม่เป็นการประกอบการในราชอาณาจักร แต่เป็นการประกอบการนอกราชอาณาจักร ไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ประกอบกิจการขนส่งระหว่างประเทศตามความหมายแห่ง ป.รัษฎากร มาตรา 80/1 (3) ที่จะได้รับประโยชน์ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 เพราะเมื่อการประกอบกิจการของโจทก์มิใช่การประกอบกิจการในราชอาณาจักรก็ย่อมไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 แต่ก็มีผลให้ต้องเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ และจำเลยต้องคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2661/2561
ความผิดฐานเก็บของป่า ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 1 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองไม่มีความผิดฐานเก็บของป่าแต่ยังคงมีความผิดฐานยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินหรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษกึ่งหนึ่งคงปรับคนละ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จะได้รอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสองอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกิน 2 ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาโจทก์ในข้อนี้มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อพิจารณาคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.สงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4 ให้ความหมายไว้ว่า ของป่าหมายความว่า สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่าเป็นต้นว่า (1) ไม้ฟืน ถ่าน เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ด ผลไม้ หน่อไม้ ชันไม้ และยางไม้ แสดงว่าของป่าตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มีความหมายรวมทั้งหมดไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือสิ่งที่มนุษย์ปลูกสร้างขึ้น หากเกิดขึ้นและมีอยู่ในป่าแล้ว ล้วนแต่เป็นของป่าทั้งสิ้น ซึ่งจะแตกต่างจากคำนิยามของคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (7) ซึ่งให้ความหมายว่า ของป่า หมายความว่า บรรดาของที่เกิดขึ้นหรือมีขึ้นในป่าตามธรรมชาติ จึงหมายถึงเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในป่าแห่งนั้น ส่วนสิ่งที่ปลูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ไม่อาจเป็นของป่าไปได้ ความหมายของคำว่า ของป่า ตามพระราชบัญญัติทั้งสองดังกล่าว จึงแตกต่างกัน ต้นปาล์มน้ำมันที่บริษัท ว. ปลูกขึ้นในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุตั้งแต่ขณะได้รับอนุญาตจากรัฐ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ย่อมไม่อาจเป็นของป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ได้ แต่เนื่องจากต้นปาล์มน้ำมันดังกล่าวต้องถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า ย่อมอยู่ในความหมายของคำว่า ของป่า ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 นั้นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองที่เข้าไปเก็บเอาผลปาล์มน้ำมัน น้ำหนักประมาณ 500 กิโลกรัม ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่ารับร่อ และป่าสลุย ที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 แล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2561
พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 มาตรา 4 นิยามคำว่า "ฉลาก" หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ซึ่งแสดงไว้ที่วัตถุอันตราย หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับวัตถุอันตราย หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ และหมายความรวมถึงเอกสาร หรือคู่มือประกอบการใช้วัตถุอันตรายด้วย มาตรา 62 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของผู้ขายสินค้าเคมีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 จะต้องระมัดระวังตรวจสอบความเชื่อถือได้ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหรือผู้จัดหาวัตถุอันตรายนั้นให้แก่ตน ความถูกต้องของภาชนะบรรจุและฉลาก ความเหมาะสมของการเก็บรักษา และความไว้วางใจได้ของผู้ที่รับมอบวัตถุอันตรายไปจากตนและมาตรา 83 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ที่ขายวัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลาก หรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้องมีความผิด นอกจากนี้ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ.2538 ข้อ 6 (12) กำหนดให้วัตถุอันตรายที่ขายหรือจำหน่าย หรือแสดงไว้เพื่อขายหรือจำหน่ายต้องมีฉลากขนาดที่เหมาะสมกับภาชนะบรรจุ ปิดหรือพิมพ์ไว้ที่ภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายทุกชิ้น ฉลากดังกล่าวต้องมีเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้ เช่นนี้ เห็นได้ว่ากฎหมายให้ความสำคัญกับฉลาก วันเดือนปีที่ผลิตที่ผู้ขายต้องแสดงให้ลูกค้าทราบเพื่อรู้ว่าสินค้าหมดอายุเมื่อใด จึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ผลิตและผู้ขายวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องติดฉลากแสดงรายละเอียดต่าง ๆ ของวัตถุอันตรายที่ผลิตหรือขายทั้งภาชนะที่บรรจุคือขวดไม่ว่าชนิดใดและหีบห่อบรรจุคือกล่อง จำเลยทั้งสองเป็นผู้ขายสารกำจัดวัชพืชและสารกำจัดแมลงของกลางอันเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม โดยจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 ซึ่งผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตรและขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบฉลากและภาชนะวัตถุอันตรายตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของฉลากแสดงวันเดือนปีที่ผลิตสินค้าก่อนส่งให้ลูกค้า... จำเลยทั้งสองไม่ได้เปิดกล่องกระดาษตรวจดูเป็นรายขวดหรือแกลลอนที่บรรจุเนื่องจากเห็นว่าหากกล่องกระดาษมีร่องรอยการแกะก่อนส่งให้ลูกค้าจะมองดูไม่น่าเชื่อถือ ทั้งการตรวจสินค้าดังกล่าวเป็นประเพณีทางการค้าที่ผู้ผลิตสินค้าประเภทนี้และผู้จัดจำหน่ายปฏิบัติต่อกัน จำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดจำหน่ายจึงไม่สามารถล่วงรู้ว่าสินค้าเคมีเกษตรแต่ละชนิดที่บริษัท พ. ผลิตออกมา มีรายการวันเดือนปีที่ผลิตติดไว้ครบถ้วนทุกขวดทุกแกลลอนหรือไม่ เป็นหน้าที่ของบริษัท พ. ที่จะต้องติดรายการวันเดือนปีที่ผลิต นั้น จำเลยทั้งสองสามารถส่งพนักงานไปตรวจสอบสินค้าที่บริษัท พ. ผลิตก่อนที่จะบรรจุกล่อง หากพบว่าฉลากไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่ผลิตก็สามารถแก้ไขได้ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ดำเนินการตรวจสอบดังกล่าว กรณีต้องถือว่าจำเลยทั้งสองละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของผู้ขายสินค้าเคมีตามที่ระบุไว้ใน มาตรา 62 แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2653/2561
โจทก์ฟ้องขอหย่าและแบ่งสินสมรส ต่อมาระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันในคดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ปลอม และใช้เอกสารปลอมต่อศาลอาญาว่า โจทก์จำเลยตกลงหย่ากันและแบ่งทรัพย์สินตามที่เสนอต่อศาลในคดีอาญาโดยระบุว่าจะนำบันทึกข้อตกลงไปเสนอต่อศาลฎีกา แล้วโจทก์ถอนฟ้องคดีอาญา ศาลอาญาอนุญาตและจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จากนั้นโจทก์และจำเลยไปจดทะเบียนหย่าพร้อมนำบันทึกที่ทำต่อศาลอาญาไปแสดงว่ามีการตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างกันแล้ว ต่อมาโจทก์และจำเลยต่างยื่นคำแถลงต่อศาลฎีกาว่าได้จดทะเบียนหย่าแล้ว พร้อมยื่นข้อตกลงที่ทำต่อกันที่ศาลอาญาแนบท้ายคำแถลง ดังนี้ถือได้ว่าคู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้ถอนฟ้องในชั้นฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคหนึ่ง มาตรา 246 (เดิม) และ 247 (เดิม) ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ตามบันทึกข้อตกลง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628-37/2561 บรรดาเงินค่าชดเชยและเงินประโยชน์ที่โจทก์จ่ายให้ภายหลังจากการเลิกจ้าง เป็นการจ่ายเงินตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่โจทก์เลิกจ้างพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 121 (1) แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมและคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้รับพนักงานรวมทั้งจำเลยทั้งหมดกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิมและจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันรับกลับเข้าทำงาน จึงต้องถือเสมือนหนึ่งว่าโจทก์ไม่เคยมีการเลิกจ้างจำเลยทั้งหมด ดังนั้น จำเลยทั้งหมดจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว โจทก์ชอบจะเรียกเงินดังกล่าวคืนได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งหมดต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันและโดยมูลหนี้อันมีวัตถุประสงค์เป็นหนี้อย่างเดียวกันและโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งหมดคืนเงินดังกล่าวแล้วแต่เพิกเฉย โจทก์จึงชอบจะใช้สิทธินำเงินที่จำเลยทั้งหมดต้องคืนโจทก์มาหักกลบลบหนี้กับเงินค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องจ่ายให้จำเลยทั้งหมดตามคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 341
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2624/2561 แม้สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มุ่งคิดค่าใช้จ่ายเป็นราคาต่อหน่วยงานที่ได้ทำจริง โดยมุ่งเพื่อให้การจ่ายเงินใกล้เคียงกับปริมาณงานที่ได้ทำจริงมากที่สุดก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์สัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในข้อ 4 ก ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างตกลงว่าจำนวนปริมาณงานที่กำหนดไว้ในบัญชีรายการก่อสร้างหรือใบแจ้งปริมาณงานและราคาที่เป็นจำนวนโดยประมาณเท่านั้น จำนวนปริมาณงานที่แท้จริงอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้ก็ได้ ซึ่งผู้ว่าจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างตามราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริง ดังนั้น การที่โจทก์กล่าวอ้างว่า การคำนวณปริมาณงานผิดพลาดในขั้นตอนการออกแบบและประมาณราคากับขั้นตอนการกำหนดราคากลาง ทำให้ค่างานก่อสร้างที่คำนวณได้และนำไปใช้ในการกำหนดราคากลางนั้นสูงเกินค่าก่อสร้างจริง โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างย่อมมีสิทธิเพียงจ่ายค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างตามราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริงตามข้อตกลงในสัญญาว่าจ้าง หากโจทก์ไม่ยินยอมจ่ายเงินในส่วนที่เกินราคาต่อหน่วยของงานแต่ละรายการที่ได้ทำสำเร็จจริง ย่อมเป็นข้อโต้แย้งสิทธิอันเกิดจากสัญญาว่าจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง การที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างไปจากโจทก์ซึ่งเกินไปกว่าปริมาณงานตามความเป็นจริงที่กำหนดไว้ในสัญญา ย่อมเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ต่างตอบแทนที่ยังมีข้อโต้แย้งจากการทำงานตามสัญญาให้แก่โจทก์ หาใช่เป็นการได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใด เพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้ก็ดี หรือได้มาด้วยประการอื่นก็ดี โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ และเป็นทางให้โจทก์นั้นเสียเปรียบ จำเลยที่ 1 กับพวก หาจำต้องร่วมกันคืนทรัพย์นั้นให้แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2561 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง โจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นได้นั้น ต้องมีข้อเท็จจริงว่า หญิงอื่นแสดงตนว่ามีความสัมพันธ์กับสามีตนในทำนองชู้สาว "โดยเปิดเผย" หน้าที่นำสืบให้ได้ความเช่นว่านั้นจึงตกแก่โจทก์ การที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับ ช. สามีโจทก์ โดยได้ติดต่อกันทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งข้อความทางโทรศัพท์ ส่งข้อความ (Chat) ทางระบบเครือข่ายไลน์ มีการนัดหมายกันไปมีเพศสัมพันธ์กันตามสถานที่ต่างๆ และมีคลิปวิดีโอภาพการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างจำเลยกับ ช. รวมถึง ช. ได้ส่งดอกไม้ให้จำเลยเป็นประจำ และโอนเงินเข้าบัญชีจำเลย โจทก์ได้มีหนังสือร้องเรียนถึงพฤติกรรมจำเลยไปที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคาร ก. เพื่อให้ตรวจสอบพฤติกรรมและตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลย แต่โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความเพียงปากเดียวว่า จำเลยกับ ช. มีพฤติกรรมดังกล่าว แม้จำเลยยอมรับในรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยมีเพศสัมพันธ์กับ ช. จริง แต่จำเลยก็ไม่ได้รับว่าตนเองอยู่ในฐานะภริยาอีกคนของ ช. หรือ ช. ได้มีพฤติกรรมยกย่องตนเองฉันภริยาแต่อย่างใด ภาพถ่ายและคลิปวิดีโอโจทก์ได้มาจาก ช. ทั้งสิ้น โดย ช. เก็บไว้ในโน๊ตบุ๊ก flashdrive และ external harddisk ช. เป็นผู้อธิบายให้โจทก์ฟังว่าสถานที่ต่างๆ คือที่ใดแสดงให้เห็นว่า การที่โจทก์รู้เห็นถึงความสัมพันธ์ของ ช. กับจำเลยเกิดจากคำบอกเล่าของสามีของโจทก์เองหาใช่การกระทำของทั้ง ช. และจำเลยที่มีการแสดงออกโดยเปิดเผยจนเป็นที่รับรู้และเข้าใจต่อบุคคลอื่นไม่ ไม่ปรากฏพฤติกรรมว่า ช. ได้เลี้ยงดูยกย่องจำเลยเป็นภริยา หรือแยกไปอาศัยอยู่กินด้วยกัน หรือพาจำเลยไปเปิดตัวต่อผู้อื่นในที่ชุมชน หรือพาไปตามสถานที่ต่างๆ แบบเปิดเผย ไม่มีการแสดงออกทั้งภาพถ่าย และการระบุสถานะในสื่อสังคมออนไลน์ปรากฏต่อสาธารณชน ไม่มีพยานบุคคลอื่นที่รู้เห็นความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสองไม่ว่าพนักงานโรงแรม พนักงานรักษาความปลอดภัย บิดามารดา เพื่อร่วมงานของจำเลยที่ธนาคาร ก. ที่สาขาพัทยา เพื่อนร่วมงานของโจทก์ เพื่อนของ ช. ลำพังเพียงรูปถ่ายของจำเลยกับ ช. ที่ไปมีเพศสัมพันธ์ตามสถานที่ต่างๆ และคลิปวิดีโอที่โจทก์ได้มาจากสามีตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่สื่อถึงเจตนาที่แท้จริงของบุคคลทั้งสองว่าต้องการมีความสัมพันธ์แบบเปิดเผย โจทก์กลับนำพยานหลักฐานต่างๆ เหล่านี้มาได้ด้วยความยินยอมของ ช. โจทก์ส่งภาพการมีเพศสัมพันธ์ของจำเลยกับ ช. ไปให้ ส. น้องสาวจำเลยทางเครือข่ายไลน์ ทำให้เป็นที่เผยแพร่ไปในสังคม อันเป็นการกระทำด้วยตัวโจทก์เอง หาใช่จำเลยเป็นคนเผยแพร่ไม่ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลสองคนที่ย่อมต้องปกปิด แอบลักลอบกระทำกันในที่ลับ แม้ว่าอาจเป็นการละเมิดสิทธิในครอบครัวของโจทก์กับผู้เป็นภริยา แต่โจทก์ย่อมไม่สามารถเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ เพราะจำเลยไม่ได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตามนัยแห่งบทบัญญัติมาตรา 1523 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2581/2561
จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 4 ให้ดำเนินการชั้นบังคับคดียึดทรัพย์สินของโจทก์ออกขายทอดตลาด และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำหนังสือถึงโจทก์ขอให้ชำระหนี้ โดยจำเลยที่ 4 มิได้โต้แย้งคัดค้านหรือนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเท็จจริงยังปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนวันนัดขายทอดตลาดนัดแรก จำเลยที่ 1 รับแจ้งว่า พ. บุตรของโจทก์ประสงค์จะชำระหนี้ของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 4 และมีการให้โจทก์ทำหนังสือขอให้พิจารณาอนุมัติคำขอประนอมหนี้ ให้โจทก์ลงลายมือชื่อ เพื่อนำเสนอต่อผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 4 พิจารณาเห็นสมควรที่จะอนุมัติตามคำขอของโจทก์หรือไม่ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่า จำเลยที่ 4 เชิดจำเลยที่ 1 ออกแสดงเป็นตัวแทนของตนหรือจำเลยที่ 4 รู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 4 ในการมีนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน
เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือขอประนอมหนี้ของโจทก์ และให้โจทก์ผ่อนชำระหนี้ตามคำขอประนอมหนี้แก่จำเลยที่ 4 เรื่อยมา แต่มิได้มีการส่งคำขอประนอมหนี้ของโจทก์แก่จำเลยที่ 4 เพื่อพิจารณา และไม่ได้ดำเนินการให้มีการงดการขายทอดตลาดตามที่ได้มีการขอประนอมหนี้ เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ จนเกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 ที่ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่ทรัพย์สิน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ในฐานะตัวการต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดแก่โจทก์ในผลแห่งละเมิด ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงต้องร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้นแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2561/2561
แม้จะฟังได้ว่าข้อกล่าวหาของโจทก์เป็นเหตุหย่าตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ให้อภัยในการกระทำของจำเลยแล้ว สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ย่อมหมดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518
โจทก์นำ จ.มาอยู่ในบ้านโจทก์และอยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาจนมีบุตรด้วยกัน 1 คน โดยโจทก์ให้ใช้นามสกุลของโจทก์ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์อุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภรรยา เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ให้อภัยในการกระทำของโจทก์ จำเลยจึงมีเหตุฟ้องหย่าโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา1516 (1)
เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของโจทก์ฝ่ายเดียว ทั้งจำเลยไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรโดยโจทก์เคยให้เงินจำเลยเป็นค่าใช้จ่าย การที่โจทก์หย่ากับจำเลยทำให้จำเลยยากจนลง จำเลยจึงมีสิทธิได้รับค่าเลี้ยงชีพจากโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2560 - 2568/2561
แม้ศาลจะมิได้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม แต่ที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่าสงวนแห่งชาติ หากผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองหรือทำประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมมีความผิด การที่จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 5 และที่ 8 ถึงที่ 10 อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุโดยไม่มีเหตุจะอ้างโดยชอบด้วยกฎหมายย่อมมีผลต่อการรักษาสภาพป่าไม้ของป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นในป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุ การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่เกิดเหตุจึงชอบด้วยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 แล้ว มิฉะนั้น ผู้ที่ศาลมิได้พิพากษาลงโทษว่ากระทำความผิดเพราะขาดเจตนากระทำความผิดก็จะสามารถอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติหรือป่าได้ทั้งที่ไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่จะอยู่ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2543/2561
ภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ ปรากฏว่าในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้จำคุกจำเลย 4 ปี 3 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท และคดีเป็นอันถึงที่สุดไปแล้ว กรณีของจำเลยจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ ตาม ป.อ. มาตรา 56 ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2514/2561 ดอกเบี้ยที่โจทก์ผ่อนชำระให้แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน เป็นเงิน 2,100 บาท หรือเท่ากับ 25,200 บาท ต่อปี เมื่อนำไปรวมกับต้นเงิน 70,000 บาท เป็นเงิน 95,200 บาท เป็นจำนวนใกล้เคียงกับราคาสินไถ่ 95,000 บาท การที่โจทก์ชำระดอกเบี้ยทุกเดือน จึงเป็นการชำระดอกเบี้ยตามสัญญากู้และแสดงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 มีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่ต้น ไม่มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝาก การนำโฉนดที่ดินมาวางเป็นเพียงให้จำเลยที่ 1 ยึดถือประกันหนี้เงินกู้ยืมเท่านั้น สัญญาขายฝากที่ทำไว้จึงเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินและตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง แม้การขายฝากที่ดินจะตกเป็นโมฆะ ต้องเพิกถอนสัญญาขายฝาก เป็นผลให้ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ไปก่อนแล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ว่ารับโอนที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนแล้ว ประกอบกับโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต และจากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 จะได้รู้ว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทกันจริง จำเลยที่ 2 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและต้องเสียหายจากการแสดงเจตนาลวง ย่อมได้รับคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย โจทก์จึงไม่อาจเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2489/2561
คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าความผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรง เป็นประเด็นเดียวกันว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. หรือเป็นสินสมรสระหว่าง ก. กับพันเอก ก. ดังนี้ เมื่อคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุด ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาโดยคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้วินิจฉัยโดยชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. และคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปัญหาดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทและศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยทั้ง ๆ ที่โจทก์บรรยายฟ้อง และคู่ความนำสืบกับจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้ขณะยื่นฟ้อง ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. แม้ต่อมาพันเอก ก. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงก็ไม่มีส่วนใดเป็นทรัพย์มรดกของพันเอก ก. ซึ่งตกทอดแก่โจทก์ การที่ ก. ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่ละแปลงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และจำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบางแปลงที่ตนได้รับให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเช่นกัน จึงเป็นสิทธิโดยชอบของ ก. และจำเลยที่ 4
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2483/2561
พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้ เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น" ตามบทบัญญัติดังกล่าว นอกจากทนายความและข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่แล้ว ข้อความตอนท้ายที่ว่า "ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น" หมายถึงเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เท่านั้น ที่จะทำการเป็นทนายความรวมถึงแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่นได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะทำหนังสือมอบอำนาจให้ ส. แต่งฟ้อง ฟ้องอุทธรณ์ ฟ้องฎีกา ได้ แต่ ส. มิใช่คู่ความตามความหมายที่ ป.วิ.อ. มาตรา 2 (15) บัญญัติไว้ และเมื่อไม่ปรากฏว่า ส. จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ หรือเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น ย่อมไม่อาจแต่งฟ้องฎีกาได้ การที่ ส. ลงชื่อเป็นผู้เรียงในฎีกาของโจทก์ ซึ่งมีความหมายว่าเป็นผู้แต่งฟ้องฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2458 - 2459/2561
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 98/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "กรณีที่มีการฟ้องคดีผู้ถูกกล่าวหาเป็นคดีอาญาต่อศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดี ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดียึดรายงานและสำนวนคดีของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลักในการพิจารณาและอาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในการดำเนินคดีตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยใช้ระบบไต่สวน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" แสดงว่าจะนำบทบัญญัติมาตราดังกล่าวตามวรรคสองมาใช้บังคับได้ต่อเมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ออกระเบียบในเรื่องนี้มาใช้บังคับแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายังไม่ได้ออกระเบียบการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวน ที่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไต่สวนมูลฟ้อง และสืบพยานโจทก์และจำเลยทั้งสองจนเสร็จและพิพากษาคดีแล้ว โดยที่โจทก์ไม่ได้ยกข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นโต้แย้งคัดค้านศาลชั้นต้นว่าดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ จนศาลชั้นต้นพิพากษาคดี โจทก์เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ แม้จะกล่าวอ้างว่าศาลดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะส่งเพิกถอนได้ แต่ก็เป็นดุลยพินิจของศาล เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้สั่งเพิกถอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นและพิจารณาพิพากษาต่อไป จึงฟังได้ว่าศาลอุทธรณ์ดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2453/2561 ค. ผู้เอาประกันภัยของโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีผู้บริโภค เรียกค่าสินไหมทดแทนจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ทำให้ ค. ได้รับอันตรายสาหัส และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 กระทำละเมิดต่อ ค. โดยจำเลยทั้งเจ็ดต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ค. ซึ่งค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดต่อ ค. นั้นได้รวมค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ชำระให้แก่ ค. และรับช่วงสิทธิของ ค. มาฟ้องเรียกร้องเอาจากจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีนี้แล้ว คำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมมีผลผูกพัน ค. กับจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง กรณีจึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งเจ็ดรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนเดียวกันนี้ให้แก่โจทก์อีกเพราะจะมีผลให้จำเลยทั้งเจ็ดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนซ้ำซ้อน หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้เอาประกันภัยต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2438/2561
แม้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี เมื่อได้ความว่า โจทก์จำเลยไม่เคยนำสืบถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไว้แล้วในศาลชั้นต้น แต่เป็นข้อที่จำเลยพึ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงนี้ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2416/2561 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 บัญญัติถึงผลการถอนฟ้องว่า โจทก์อาจนำฟ้องมายื่นใหม่ได้ แสดงว่าการถอนฟ้องไม่ได้ทำให้หนี้ระงับ จึงไม่ใช่การปลดหนี้ อันเป็นเรื่องความระงับแห่งหนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างคนต่างทำละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์สามารถแยกออกจากกันได้ซึ่งต่างคนต่างต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดที่ตนกระทำ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายตามฟ้องเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 เท่านั้น มิได้เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 1 จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยตามเงื่อนไขที่กำหนดในกรมธรรม์ประกันภัย ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่มีต่อโจทก์ จึงเป็นความรับผิดในหนี้จำนวนเดียวกันอันจะแบ่งกันชำระมิได้ ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 จำเลยที่ 4 ชำระเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ตามวงเงินในกรมธรรม์ประกันภัยแล้วส่วนหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงได้รับประโยชน์ในส่วนนี้ ไม่ต้องรับผิด ในค่าเสียหายส่วนที่โจทก์ได้รับจากจำเลยที่ 4 ไปแล้วอีก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2375/2561
เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบสถานประกอบการของโจทก์ ซึ่งเป็นร้านขายอาหารสามคูหามีโต๊ะนั่งรับประทานอาหารทั้งชั้นล่างและชั้นสอง เป็นทำเลค้าขายที่มีประชาชนจำนวนมาก พบว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายได้วันละ 7,000 บาท นั้น ไม่เหมาะสมกับข้อเท็จจริงและยอดรายได้ตามที่โจทก์ให้การว่ามีรายได้วันละ 15,000 บาท ถึง 17,000 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงใช้เกณฑ์เฉลี่ยยอดขายวันละ 15,000 บาท คูณจำนวน 26 วันต่อเดือน โดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88/2 (4) กำหนดยอดขาย เดือนละ 375,000 บาท ซึ่งรายรับที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม กับเงินได้พึงประเมินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความหมายและเป็นจำนวนเดียวกัน การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากยอดรายรับเดือนละ 375,000 บาท จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2359/2561 คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวระบุข้อความในการมอบอำนาจแต่เพียงว่า บ. มีสิทธิในการลงนามเอกสารดำเนินการทั้งหมดของบริษัทสาขาทั้งภายในและภายนอก อันมีลักษณะเป็นการมอบอำนาจโดยไม่ระบุกิจการ โดยมิได้ระบุให้ บ. มีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาล จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมี บ. มาเบิกความยืนยันว่าตามหนังสือมอบอำนาจ พยานมีสิทธิดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขพยานเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์โดยชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2328/2561
ที่ดินพิพาทที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมยังไม่ได้ออกเอกสารสิทธิ (ส.ป.ก. 4 - 01) ให้แก่ผู้ใด ซึ่งตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนี้ บุคคลหรือเกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต้องได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมก่อน แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมาก่อนทางราชการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินก็ตาม แต่เมื่อทางราชการประกาศให้ที่ดินพิพาทตั้งอยู่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทรวมทั้งส่วนควบของที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจจัดให้บุคคลใดครอบครองและทำประโยชน์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด การกระทำของจำเลยทั้งสี่หาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 (เดิม) จำเลยทั้งสี่ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสี่ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท จึงเป็นกรณีที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2322 - 2323/2561
ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 กำหนดเงื่อนไขสำคัญว่า ผู้เสียหายที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้นั้น ผู้เสียหายต้องมีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 ในขอบเขตแห่งการที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่ให้แก่มหาวิทยาลัย ร. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จำเลยจึงได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 ที่บัญญัติว่า "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีที่ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้" โดยผลของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้กระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ได้ และย่อมส่งผลพลอยทำให้ผู้เสียหายจากการกระทำละเมิดเนื่องจากปฏิบัติหน้าที่ ไม่มีสิทธิจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1
การมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าเป็นโจทก์ร่วม กับสิทธิของโจทก์ร่วมในการยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นหลักการคนละเรื่องกัน และแม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำร้องตามมาตรา 44/1 ของโจทก์ร่วมไว้พิจารณา โดยจำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้าน ก็หาตัดอำนาจศาลอุทธรณ์ที่จะยกปัญหาเรื่องอำนาจยื่นคำร้องขอตามมาตรา 44/1 ดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยไม่ เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นอ้างได้ แม้ว่าจะมิได้ยกขึ้นมาว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ทั้งนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2318/2561 โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยสำแดงอัตราพิกัดศุลกากรไม่ถูกต้อง จึงได้แจ้งการประเมินอากรขาเข้าที่จำเลยต้องชำระเพิ่มพร้อมเงินเพิ่ม ไม่ใช่กรณีคำนวณอากรผิดซึ่งมีอายุความสองปี นับจากวันที่นำของเข้า แต่เป็นกรณีอายุความสิบปี ไม่ว่าเป็นกรณีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 หรือกรณีไม่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยง ตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น ไม่ว่าจะมีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากรหรือไม่ ก็มีกำหนดอายุความสิบปีนับตั้งแต่วันนำของเข้า และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยนำเข้าสินค้าพิพาทโดยมีใบขนสินค้าหลายฉบับ นับจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีจะเกินสิบปี แต่เมื่อเจ้าพนักงานของโจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มแก่จำเลย ส่งให้จำเลยโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับและจำเลยได้รับแล้ว เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนดสิบปี แม้การประเมินดังกล่าวจะเป็นการประเมินอากรขาเข้าอยู่ด้วย แต่การประเมินดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบังคับไว้เพื่อใช้สิทธิเรียกร้องในทางหนี้ภาษีอากร และหากผู้ถูกประเมินไม่อุทธรณ์การประเมินและฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายในเวลาที่กำหนด หนี้ภาษีอากรเป็นอันยุติและจะมีการบังคับหนี้ภาษีอากรไปตามนั้น ถือเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิของเจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (5) คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์และจำเลยได้รับแล้วมิได้อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวโดยฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา 112 อัฏฐารส แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 จึงเป็นผลให้จำเลยหมดสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จำนวนภาษีจึงยุติตามการประเมินและตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว และต้องฟังว่า สินค้าพิพาทจัดเป็นของตามประเภทพิกัด 9403.20 และพิกัดประเภทที่ 9403.20.00 ในฐานะเป็นเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ทำด้วยโลหะตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2199/2561 ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 56 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 บัญญัติว่า "ให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะมีข้อตกลงเป็นหนังสือหรือไม่ก็ตาม สามีหรือภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน... มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนนับแต่วันที่ผู้นั้นเกิด ทั้งนี้ ไม่ว่าสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนจะเป็นสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่..." ย่อมหมายความว่า การดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแม้จะไม่ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนด คุณสมบัติ ขั้นตอนและวิธีการตามพระราชบัญญัติก็ไม่เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย คดีนี้การดำเนินการให้ผู้คัดค้านตั้งครรภ์แทนและ ค. เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ จึงเป็นการไม่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาฉบับลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2557 ย่อมผูกพันคู่สัญญาและใช้บังคับได้ แม้ตามกฎหมายดังกล่าว ระบุให้เฉพาะสามีหรือภริยาคนใดคนหนึ่งที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน และผู้ร้องกับ ม. มิอาจเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ก็ตาม แต่ผู้ร้องเป็นเจ้าของอสุจิที่เข้าผสมกับไข่ของหญิงที่บริจาคจนปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน แล้วนำไปฝังในโพรงมดลูกของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงมีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับ ค. ในฐานะเป็นบิดาซึ่งผู้คัดค้านแถลงยอมรับในข้อนี้ และไม่คัดค้านหากศาลจะมีคำสั่งให้ ค. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องด้วยแล้ว จึงเป็นกรณีไม่มีบทกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้สิทธิของผู้ร้องไว้โดยตรง ต้องอาศัยบทเฉพาะกาลตามมาตรา 56 มาวินิจฉัยคดีนี้อย่างบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ค. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง ผู้คัดค้านไม่มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมกับ ค. แต่เป็นเพียงผู้ให้กำเนิด ค. จึงมีสถานะเป็นมารดาของ ค. เท่านั้น เมื่อกรณีผู้ร้องกับ ค. อยู่ในบังคับของบทเฉพาะกาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจอาศัย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 มาตรา 29 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 1566 วรรคสอง (5) สั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับผู้ร้องเพียงฝ่ายเดียวได้ เพื่อความผาสุกและประโยชน์สูงสุดของเด็ก
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2165/2561
กฎหมายวิธีสบัญญัติ เมื่อมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วผูกพันใช้บังคับแก่คู่ความทันที ดังนั้น แม้ขณะเกิดเหตุ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่อาจทำการไต่สวน แต่ขณะที่ผู้เสียหายกล่าวหาต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ดำเนินการสอบสวนเอาผิดแก่จำเลย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มีผลใช้บังคับแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจไต่สวนตามมาตรา 19 (4) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานรับเงิน 3,000,000 บาท จาก ป. ในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อช่วยเหลือให้ ป. ไม่ต้องถูกย้ายออกจากจังหวัดขอนแก่น การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 แม้ภายหลังจำเลยจะไม่กระทำอย่างใดในตำแหน่งเพื่อช่วยเหลือ ป. หรือไม่ก็ตาม ก็ถือว่าเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ขณะที่จำเลยรับเงินดังกล่าวแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2561
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลชั้นต้นต้องลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ เพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า "หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน..." การกำหนดโทษ 12 เดือน จึงเท่ากับ 360 วัน แต่หากรวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุก 2 ปี แล้วจึงลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2157/2561 ข้อเท็จจริงได้ความว่า เงินในบัญชีเป็นเงินบริจาคที่ได้มาจากการทำศพของผู้ตาย จึงต้องพิจารณาว่า โจทก์เป็นผู้มีอำนาจจัดการศพของผู้ตายหรือไม่ ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์จำเลยว่า ผู้ตายไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกและไม่ได้ตั้งผู้จัดการศพ ทายาทไม่ได้มอบหมายตั้งให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการศพ อีกทั้งไม่มีผู้ได้รับทรัพย์มรดกด้วย เพราะผู้ตายไม่มีทรัพย์มรดก จึงเป็นกรณีที่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ต้องวินิจฉัยโดยเทียบบทกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง โดยนำ ป.พ.พ. มาตรา 1649 มาปรับใช้ว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายเป็นผู้มีหน้าที่จัดการศพ เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ตาย มีทายาท คงมีแต่โจทก์ซึ่งเป็นวัดที่ผู้ตายมีภูมิลำเนาขณะถึงแก่มรณภาพเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ป.พ.พ. มาตรา 1623 จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกโดยสิทธิโดยธรรมตามนัยมาตรา 1649 โจทก์จึงเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่จัดการทำศพผู้ตาย มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยจัดการมอบเงินในบัญชีให้โจทก์เพื่อนำไปใช้ในการจัดการทำศพผู้ตายต่อไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2561
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3 ได้แยกองค์ประกอบความผิดออกเป็นหลายประการ เนื่องจากการกระทำความรุนแรงในครอบครัวมีลักษณะการกระทำความผิดได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะกระทำต่อผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อมุ่งประสงค์หรือมีเจตนาที่จะให้ผู้ถูกระทำด้วยความรุนแรง ได้รับบาดเจ็บทางร่างกาย จิตใจ สุขภาพ หรือจำต้องกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดโดยฝ่าฝืนใจโดยมิชอบเพราะถูกข่มเหงบังคับหรือใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมให้จำต้องกระทำการ การกำหนดองค์ประกอบความผิดที่ครอบคลุมถึงทุกลักษณะก็เพื่อสามารถกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อการบรรเทาทุกข์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพของผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ครบถ้วน สะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งป้องกันมิให้ผู้กระทำผิดอาศัยช่องว่างของกฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์หรือใช้ความรุนแรงกับผู้ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำรอยอีก
การที่จำเลยนำกระดาษเขียนข้อความมาติดที่หน้าบ้านโจทก์จนสีกะเทาะล่อน สีและปูนผนังรั้วเสียหาย ส่งเสียงตะโกนโวยวายหน้าบ้าน วิ่งวนไปมาหน้าบ้านโจทก์ นำลูกโป่งและสิ่งของมาผูกวางหน้าบ้านและโยนเข้าไปในบ้านโจทก์ และกดกริ่งหน้าบ้านโจทก์เป็นเวลานาน ๆ จนกริ่งไฟฟ้าเสียหาย เพื่อมุ่งประสงค์ให้โจทก์ส่งมอบหรือบังคับให้ผู้เยาว์ออกมาพบหรือพูดคุยกับจำเลย เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามจำเลยก็ไม่ยุติการกระทำดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการรบกวนความเป็นปกติสุขของโจทก์ เป็นการบังคับหรือใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรมที่เป็นการฝ่าฝืนศีลธรรมจรรยาอันดีของประชาชน ผิดวิสัยวิญญูชนทั่วไปจะพึงปฏิบัติกันด้วยวิธีการโดยมิชอบ จำเลยกระทำต่อโจทก์ที่เป็นคู่สมรสเดิมซึ่งเป็นบุคคลในครอบครัวตามความหมายที่บัญญัติในมาตรา 3 จึงเป็นความผิดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2150/2561 การร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแล้วโดยไม่มีทรัพย์มรดกของผู้ตายหลงเหลือให้จัดการอีกต่อไป จึงถือได้ว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว แม้ผู้คัดค้านจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดผู้คัดค้านและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย ทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ หรือมีเหตุอื่นตามกฎหมายอันอาจเป็นเหตุในการร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม ก็ไม่อาจถือได้ว่าการปันมรดกรายดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้วย่อมต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2561
ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร พ.ศ.2544 ข้อ 15 วรรคสอง ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้คู่ความยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมทั้งสำเนาก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เมื่อจำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานแล้วเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558 โดยระบุหนังสือรับรองการหักเงินรายได้เพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นที่ออกโดยจำเลยที่ 1 เป็นพยานเอกสาร และยื่นบัญชีระบุพยานก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน การยื่นบัญชีระบุพยานจึงชอบแล้ว
ตามข้อกำหนดคดีภาษีอากร ข้อ 16 ให้คู่ความยื่นต้นฉบับพยานเอกสารทั้งหมดที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตน...พร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน โดยคู่ความไม่ต้องส่งสำเนาเอกสารต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่น และวรรคสองกำหนดว่า คู่ความฝ่ายใดมิได้ยื่นเอกสารต่อศาลตามความในวรรคหนึ่ง คู่ความฝ่ายนั้นไม่มีสิทธิที่จะนำพยานหลักฐานนั้นมาสืบภายหลัง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อคู่ความดังกล่าวสามารถแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้เพราะเหตุสุดวิสัยหรือเมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ แม้จำเลยที่ 6 ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้แล้ว แต่จำเลยที่ 6 มิได้ยื่นต้นฉบับเอกสารที่ประสงค์จะอ้างอิงและอยู่ในความครอบครองของตนต่อศาลพร้อมกับการยื่นบัญชีระบุพยาน และจำเลยที่ 6 มิได้แสดงถึงเหตุที่ไม่สามารถปฏิบัติได้เพราะมีเหตุสุดวิสัย ทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากศาลภาษีอากรกลางให้นำสืบเอกสารดังกล่าวได้ จำเลยที่ 6 จึงไม่มีสิทธินำพยานหลักฐานนั้นเข้าสืบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2137/2561
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 22, 26, 67 ตรี, มาตรา 89 และมาตรา 91/21 (6) แห่ง ป.รัษฎากร เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวปฏิบัติ หามีผลผูกมัดให้ศาลต้องถือตามด้วยไม่ ศาลมีอำนาจพิพากษางดหรือลดเบี้ยปรับตามที่เห็นสมควรแก่พฤติการณ์แห่งคดี
จำเลยอนุมัติให้โจทก์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2556 ผลแห่งการที่โจทก์ได้รับอนุมัติให้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มย้อนหลัง ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2556 โจทก์ย่อมมีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี โดยโจทก์ไม่ต้องรับผิดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามการประเมิน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2136/2561
การคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าต้องอาศัยมูลค่าของสินค้าหรือราคาที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินเพื่อเป็นราคาสินค้า บวกด้วยอากรขาเข้า เมื่อการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้สืบเนื่องจากข้อพิพาทในเรื่องอากรขาเข้าอันเป็นส่วนหนึ่งของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79/2 (1) โดยตรง ความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายของโจทก์จึงขึ้นอยู่กับการประเมินอากรขาเข้าซึ่งโจทก์ยื่นคำอุทธรณ์ไว้ต่อจำเลยแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ได้โดยไม่จำต้องอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร
ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาทในปี 2552 ถึงปี 2553 นั้น ยังมิได้ระบุถึงการให้สิทธิพิเศษในกรณีการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม อันสอดคล้องกับประกาศกรมศุลกากร ที่ 122/2549 กำหนดวิธีปฏิบัติสำหรับของที่นำเข้าโดยส่งผ่านเขตของประเทศอื่นนอกเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ไว้เท่านั้น แต่ไม่มีข้อความที่ระบุให้การซื้อขายผ่านประเทศที่สาม (Third Party Invoicing) ได้รับสิทธิยกเว้นหรือลดอัตราอากรแต่อย่างใด ดังนั้น แม้บริษัท ท. สาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นผู้ส่งออกสินค้าพิพาทตามหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) แต่เมื่อโจทก์ทำสัญญาซื้อขายและเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตชำระเงินค่าสินค้าให้แก่บริษัท ย. สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน กรณีจึงเป็นการซื้อขายผ่านประเทศที่สาม มิใช่เป็นการนำเข้าสินค้าพิพาทจากสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยตรง โจทก์ย่อมไม่ได้รับสิทธิพิเศษในการยกเว้นอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลังและประกาศกรมศุลกากรทั้งสองฉบับที่ใช้บังคับในเวลานั้น แม้ต่อมาอธิบดีกรมศุลกากรได้ออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 106/2553 ระบุถึงกรณีซื้อขายผ่านประเทศที่สามไว้ แต่ประกาศกรมศุลกากรฉบับนี้ก็มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่ออกมาใช้ภายหลังจากที่โจทก์นำเข้าสินค้าพิพาท ไม่อาจนำมาใช้ขยายความประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 เพื่อยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากรศุลกากรแก่โจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2127/2561
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยยังไม่ได้กระทำการใดที่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่อุทธรณ์ ฟ้องแย้งของจำเลยย่อมต้องตกไปด้วย เพราะไม่มีฟ้องเดิมและตัวโจทก์เดิมที่จำเลยจะฟ้องแย้ง
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังคงวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทและมีคำพิพากษาบังคับโจทก์ตามฟ้องแย้งของจำเลย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องแย้งของจำเลยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247 (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2561
ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้" ปรากฏตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้ต้องหาว่า พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยทราบ และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวนแล้ว จำเลยให้การว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน การที่พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนจำเลยโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้ตามคำให้การดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ส่วนมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใด ๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้น แม้พนักงานสอบสวนจะจัดหาหรือไม่จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบ เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2092/2561
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้" แสดงว่าผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขยายผลในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับคดีเดิมของผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าว แต่ข้อมูลที่จำเลยแจ้งต่อร้อยตำรวจเอก อ. เป็นข้อมูลของ ม. ที่เกิดขึ้นหลังจากที่จำเลยไปรู้จักกับ ม. ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ด้วยกันในเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนคดีนี้จำเลยให้การว่าจำเลยซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจาก ต. โดยทางไต่สวนไม่ปรากฏว่า ต. เป็นเครือข่ายหรือเกี่ยวข้องร่วมกับ ม. ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ การให้ข้อมูลของจำเลยต่อร้อยตำรวจเอก อ. ดังกล่าวข้างต้นเป็นการให้ข้อมูลถึงผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในฐานะพลเมืองดีเท่านั้น ไม่ใช่เป็นข้อมูลในการขยายผลที่เกี่ยวโยงไปถึงเครือข่ายของผู้กระทำความผิดที่จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยในมูลเหตุที่จำเลยถูกจับกุมคดีนี้ จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2561
แม้ในชั้นพิจารณาผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. เบิกความว่าจำหน้าคนร้ายไม่ได้เพราะเกิดเหตุมานานสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็มีคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. ซึ่งคำให้การดังกล่าวระบุรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องต้องกัน โดยเฉพาะผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนแต่ก็ให้การถึงรูปพรรณสัณฐานของจำเลยไว้โดยละเอียด อีกทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ร. และ พ. พนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ยากที่พนักงานสอบสวนจะปั้นแต่งขึ้นเอง แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) แม้จำเลยจะไม่มีทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจของจำเลยเข้าร่วมในการสอบสวน แต่ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยระบุว่าก่อนสอบปากคำ พนักงานสอบสวนถามจำเลยว่าต้องการพบทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ อย่างไร จำเลยตอบว่าไม่ต้องการ ดังนี้ แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิดังกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยสละสิทธิในการมีทนายความ เมื่อคดีมีเพียงอัตราโทษจำคุกไม่ใช่มีอัตราโทษประหารชีวิต กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดหาทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1940/2561
ความผิดตามฟ้องโจทก์ คือ ป.อ. มาตรา 139 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย..." ซึ่งเป็นที่เห็นได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้ที่จะกระทำความผิดตามมาตรา 139 ดังกล่าว จะต้องกระทำการต่อเจ้าพนักงาน คือข่มขืนใจต่อเจ้าพนักงาน แต่ตามคำบรรยายในฟ้องโจทก์เองและตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กลับฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยเพียงขึ้นพูดปราศรัยบนเวทีซึ่งเป็นการพูดต่อผู้ชุมนุมในกลุ่ม นปช. ด้วยกัน จำเลยไม่ได้พูดหรือกระทำการใดต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานแต่อย่างใด แม้จะฟังว่าการพูดปราศรัยดังกล่าวมีการทำข่าวทางสถานีโทรทัศน์หรือสื่อมวลชนสาธารณะอื่นด้วยก็ตาม ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่จำเลยเป็นผู้จัดให้มีการทำข่าว แต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของนักข่าวสื่อมวลชนมาทำข่าวกันเองเท่านั้น ขณะเกิดเหตุที่จำเลยพูดปราศรัยเป็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 แต่หลังจากนั้นอีก 3 วัน จึงมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เพื่อปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งขณะนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้เข้าร่วมในการเข้าปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. ดังกล่าวด้วย การชุมนุมเพื่อปิดกั้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่เข้าทำงานในสำนักงานอาจเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 139 ได้ เพราะเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่การพูดของจำเลยต่อผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ไม่ได้กระทำต่อเจ้าพนักงาน แต่เป็นการกระทำต่อผู้ชุมนุม เป็นการพูดชักชวนปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ไปร่วมกันปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. เท่านั้น ที่สำคัญในคำพูดปราศรัยของจำเลยไม่มีข้อความตอนใดที่จำเลยข่มขืนใจเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำการอันใดที่จำเลยต้องการเลย ไม่ว่าจะเป็นการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2561
คดีส่วนอาญาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ตาย อันเป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) จึงยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ซึ่งเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ดังนั้น ที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ตามฟ้อง โดยกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยมิใช่การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ จึงเป็นการฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้อง ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองมาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1888/2561
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง ที่จำเลยใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นของกลาง โดยได้ความจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยว่า จำเลยถูกตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลางในกระเป๋าเดินทางของจำเลยขณะที่เจ้าพนักงานฝ่ายควบคุมทางศุลกากร ศูนย์บริการศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมืองขอตรวจค้นกระเป๋าเดินทางของจำเลย และเจ้าพนักงานยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางซึ่งจำเลยแจ้งว่าใช้ติดต่อสื่อสารกับบุคคลที่ว่าจ้างให้จำเลยนำกระเป๋าดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักร โดยจำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางในการติดต่อกับ ม. ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยนำกระเป๋าใบดังกล่าวจากสาธารณรัฐอินเดียไปส่งให้ที่ประเทศมาเลเซีย โดย ม. จะให้ค่าจ้างเป็นเงิน 25,000 บาท และจำเลยทราบว่าภายในกระเป๋าดังกล่าวมีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ จำเลยจึงเดินทางเข้ามาในประเทศไทยก่อนเพื่อจะนำกระเป๋าใบดังกล่าวไปส่งให้แก่ชายไม่ทราบชื่อที่ประเทศมาเลเซีย พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางเป็นเครื่องมือในการติดต่อรับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากสาธารณรัฐอินเดียเพื่อให้มาอยู่ในความครอบครองของจำเลยก่อนแล้วจึงนำเข้ามาในประเทศไทย ดังนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางจึงเป็นเครื่องมือเครื่องใช้หรือวัตถุอื่นใดซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานนำเมทแอมเฟตามีนของกลางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรงอันพึงต้องริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1878/2561
ค. โทรศัพท์นัดหมายสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจาก ด. เป็นเพียงเรื่องที่ทำให้สัญญาซื้อขายเกิดขึ้นเท่านั้น การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนยังไม่สำเร็จ ขณะที่จำเลยรับมอบเงินค่าเมทแอมเฟตามีนจาก ค. เพื่อนำไปให้ ด. ก่อนที่ ค. จะเดินไปหยิบเมทแอมเฟตามีนและขับรถจักรยานยนต์กลับออกไป การจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวยังไม่ขาดตอนแต่อย่างใด เมื่อจำเลยรับเงินโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นค่าเมทแอมเฟตามีน ถือว่าจำเลยกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนผู้อื่นในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตาม ป.อ. มาตรา 86
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1856/2561
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเกินไปกว่าพยานหลักฐาน เนื่องจากตามหลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์ เอกสารหมาย ล.46 ประกอบกับที่ อ. พยานจำเลยเบิกความตอบทนายโจทก์โดยศาลอนุญาตว่าบริษัท ว. เป็นผู้ดำเนินการจ่ายค่าจ้าง จึงฟังข้อเท็จจริงได้เพียงว่า บริษัท ว. เป็นผู้ดำเนินการจ่ายค่าจ้างเท่านั้น เงินที่นำมาจ่ายเป็นค่าจ้างอาจเป็นของจำเลยก็ได้ กับที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิได้ทำงานตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยและทำงานอย่างอิสระ ไม่ถูกต้องเพราะตามลักษณะงานของโจทก์ที่ต้องอยู่ที่ฐานขุดเจาะน้ำมันมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากงานอื่น ๆ กับที่ อ. เบิกความว่าพนักงานที่ทำงานอยู่ที่ฐานขุดเจาะน้ำมันจะมีการกำหนดวันทำงานหรือวันหยุดแตกต่างจากพนักงานประจำสำนักงานได้ เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คดีนี้ศาลแรงงานกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทในประเด็นแรกว่า "โจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ฉันลูกจ้างกับนายจ้างระหว่างกันหรือไม่" และตามคำให้การของจำเลยนอกจากจะให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่นายจ้างของโจทก์แล้ว ยังให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างอีกด้วย ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยในประเด็นว่าโจทก์กับจำเลยมีนิติสัมพันธ์ฉันลูกจ้างกับนายจ้างระหว่างกันหรือไม่ตามที่กำหนดไว้ดังกล่าว นอกจากจะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นนายจ้างผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์หรือไม่แล้ว ยังต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนบริษัท อ. หรือไม่ด้วย เมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นหลัง คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงไม่ครบทุกประเด็นแห่งคดี ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง
เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศไทย ส่วนบริษัท อ. มีภูมิลำเนาและจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในประเทศสิงคโปร์ จำเลยกับบริษัท อ. จึงมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากกัน แม้จำเลยกับบริษัท อ. มี ป. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยกับบริษัท อ. กับมีบริษัท ฮ. เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทจำเลย และบริษัท อ. ก็ไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นสำนักงานสาขาของบริษัท อ. ไปได้เพราะในทางนิตินัยกฎหมายบัญญัติให้ผู้ถือหุ้นกับนิติบุคคลนั้นแยกออกต่างหากจากกัน โจทก์ยอมรับว่าทำสัญญาจ้างกันในนามของบริษัท อ. ส่วนจำเลยไม่ได้ร่วมลงชื่อเป็นคู่สัญญาด้วย ทั้งการที่โจทก์มาทำงานกับจำเลยในประเทศไทย เป็นการมาทำงานตามคำสั่งของบริษัท อ. ส่วนการที่จำเลยเป็นผู้ติดต่อขอใบอนุญาตทำงานให้แก่โจทก์ การหักภาษี ณ ที่จ่าย และการหักเงินประกันสังคมก็ดี ล้วนแต่เป็นการดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกและช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ให้โจทก์สามารถทำงานในประเทศไทยได้เท่านั้น พฤติการณ์เช่นนี้ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานใด ๆ แทนบริษัท อ. ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 เมื่อจำเลยไม่ใช่นายจ้างโจทก์แล้ว ไม่จำต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1808/2561 การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาด้วยการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืน เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคทั้งสองซึ่งประสงค์จะซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัย โดยการไม่ได้ให้คำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าที่จำเลยขายแก่ผู้บริโภคทั้งสอง อันเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความไม่เป็นธรรมโดยก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า และตัดโอกาสของผู้บริโภคที่จะใช้ข้อมูลดังกล่าวตัดสินใจที่จะเข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งสองจึงไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาซื้อขายอันเป็นโมฆียะนี้ เป็นกรณีจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ที่มีมาตรา 4 ประกอบมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 รับรองไว้ จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าใช้จ่ายในการโอนกรรมสิทธิ์ ค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าและน้ำประปา ค่าธรรมเนียมสัญญาจำนอง อากรสัญญากู้และนิติกรรม และค่าประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นค่าเสียหายโดยตรงที่เกี่ยวเนื่องกับการที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งผู้บริโภคทั้งสองซื้อบ้านเพื่อการอยู่อาศัย สำหรับส่วนต่างราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การที่จำเลยใช้กลฉ้อฉลในการทำสัญญาโดยปกปิดข้อเท็จจริง โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้และศาลมีอำนาจคิดคำนวณให้ได้ตามพฤติการณ์แห่งคดี
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1691/2561
โจทก์บรรยายฟ้องถึงเนื้อหารายละเอียดทั้งหมดแห่งคำเบิกความของจำเลยที่แตกต่างจากที่จำเลยเคยให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่าคำเบิกความเป็นเท็จ การที่จำเลยไม่ได้เบิกความระบุชื่อคนร้ายเป็นการเบิกความเท็จในข้อสำคัญ เป็นการช่วยเหลือจำเลยในคดีดังกล่าวมิให้ต้องรับโทษอาญา ถือว่าฟ้องโจทก์บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว
พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับความผิดอาญาแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอม กับการเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาลจังหวัดพัทลุง ซึ่งอยู่ในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทลุง ถือว่าเป็นการไม่แน่ว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จและเบิกความเท็จได้กระทำในท้องที่ใดในระหว่างหลายท้องที่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 (1) พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรป่าพะยอมจึงมีอำนาจสอบสวน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688/2561
สภาพความเป็นรัฐของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้นจะต้องประกอบไปด้วยดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน และมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นโดยมีรัฐบาลปกครอง และมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ประการสำคัญการตีความกฎหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ และต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์แห่งความธำรงอยู่ของความเป็นรัฐหรือชาติบ้านเมืองด้วย มิฉะนั้นสถานะความเป็นรัฐหรือความเป็นชาติบ้านเมืองจะถูกกระทบให้เสียหายไปเพราะไม่มีอธิปไตยอยู่ครบถ้วน เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการได้อย่างเบ็ดเสร็จ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพุทธศักราช 2550 คณะรัฐมนตรี และวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แทน ซึ่งแม้การได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ก็เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวกันในด้านอื่น แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังมีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่าเป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติโดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีสภาพเป็นกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2561
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ให้แก่ อ. แม้ตามคำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.3 โจทก์จะไม่ได้บรรยายว่าเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 มาแล้วว่า เมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ของกลาง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.376 กรัม อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง และเมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ที่โจทก์บรรยายฟ้องมาในข้อ 1.3 จึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง และตามรายงานการตรวจพิสูจน์เมทแอมเฟตามีนของกลาง ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งคัดค้าน เมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ของกลาง ตรวจพบปริมาณเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.376 กรัม ซึ่งเป็นการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางบางส่วนมาตรวจพิสูจน์หาปริมาณสารบริสุทธิ์แล้ว เมื่อเมทแอมเฟตามีน 9 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ของกลาง เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง จึงคำนวณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง ได้เช่นเดียวกันว่า คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป โดยไม่มีข้อสงสัยว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวอาจมีส่วนผสมที่แตกต่างกับเมทแอมเฟตามีนส่วนอื่นที่จะทำให้ปริมาณสารบริสุทธิ์คำนวณได้ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป กรณีจึงลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ได้ ซึ่งตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่า ความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำคุกจำเลยฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 40 เม็ด กับชนิดเกล็ดใส 1 ถุง โดยไม่ปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1638/2561
จำเลยยื่นคำฟ้องฎีกาพร้อมคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งในคำฟ้องฎีกาว่า ไม่รับฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ให้รับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งจำเลยอาจฎีกาเป็นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 224 แต่ศาลชั้นต้นมิได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคสอง จำคุก 2 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคแรก (เดิม) จำคุก 1 ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้วรรคของความผิดในบทมาตราเดียวกัน ไม่ถือเป็นการแก้บทความผิด แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะแก้โทษด้วยก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และคงให้ลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ส่วนความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 จำคุก 2 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 (เดิม) จำคุก 1 เดือน เป็นการแก้ไขทั้งบทและโทษอันเป็นการแก้ไขมาก แต่มิได้เพิ่มเติมโทษจำเลย ทั้งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 จำเลยฎีกาในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้แจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อนี้ให้จำเลยทราบ แต่เมื่อฎีกาในข้อนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงไม่เป็นการจำเป็นที่ศาลฎีกาจะสั่งให้ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นเพื่อแจ้งคำสั่งไม่รับฎีกาในข้อดังกล่าวให้จำเลยทราบ
จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า ผู้เสียหายและจำเลยต่างมีเรื่องทะเลาะวิวาทกัน จำเลยไม่มีเจตนามุ่งเอาทรัพย์ของผู้เสียหายมาตั้งแต่แรก จำเลยไม่ผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ เห็นว่าคดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัย จำเลยแย่งการครอบครองสร้อยคอทองคำไปจากผู้เสียหายโดยจำเลยมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองอันเป็นลักษณะการฉกฉวยเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปซึ่งหน้าโดยทุจริต จำเลยย่อมมีความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 เวลากลางวัน จำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยทำร้าย บ. ผู้เสียหาย โดยใช้มือบีบคอ 1 ครั้ง แล้วใช้ฝ่ามือตบบริเวณใบหน้าและริมฝีปาก 2 ครั้ง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หลังจากกระทำความผิดดังกล่าวแล้ว จำเลยลักสร้อยคอทองคำลายเกล็ดมังกรด้านหน้าลายปล้องอ้อย หนัก 1 บาท 1 เส้น พร้อมจี้ทองคำรูปใบไม้ด้านในมีรูปพระนั่งสมาธิ 1 อัน ราคา 27,500 บาท ของผู้เสียหายไปโดยฉกฉวยเอาซึ่งหน้า ใช้กำลังกระชากสร้อยคอพร้อมจี้ดังกล่าวไปจากคอผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เหตุเกิดที่ตำบลนาเรือง อำเภอนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี เห็นได้ชัดว่าคำฟ้องได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดต่าง ๆ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ส่วนเหตุการณ์และรายละเอียดของการทะเลาะวิวาทระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์อาจนำสืบในชั้นพิจารณาได้ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม เมื่อผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ระบุว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกและบาดแผลฟกช้ำบวม ซึ่งแพทย์เห็นว่าใช้เวลารักษาประมาณ 5 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้ายได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1620/2561 เมื่อ บ. จดทะเบียนสมรสกับ ช. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2496 บ. กับ ช. จึงเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ในระหว่างนั้นแม้ บ. จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยร่วมที่ 1 ซ้อนอีก ซึ่งตามบทบัญญัติของ ป.พ.พ. บรรพ 5 ที่แก้ไขใหม่ในปี 2533 ทำให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะซึ่งผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ตามมาตรา 1497 ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 70 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." และตาม พ.ร.บ.ให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 5 บัญญัติว่า "บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ ท้ายพระราชบัญญัตินี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการหมั้น การสมรส ..." ดังนั้น ปัญหาที่ว่าการสมรสของ ช. หรือของจำเลยร่วมที่ 1 ฝ่ายใดสมบูรณ์ จึงต้องวินิจฉัยตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม ซึ่ง ป.พ.พ. บรรพ 5 เดิม มาตรา 1488 อันเป็นบทกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะที่มีการจดทะเบียนสมรสซ้อนนั้น บัญญัติว่า "บุคคลใดจะอ้างว่า การสมรสเป็นโมฆะหรือโมฆียะไม่ได้นอกจากศาลพิพากษาว่าเป็นเช่นนั้น" ฉะนั้นการที่จำเลยร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยถือเอาคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยเป็นคำให้การและฟ้องแย้งของตน ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องร้องให้การสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 เป็นโมฆะ จึงต้องถือว่าการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังมีความสมบูรณ์อยู่ ดังนี้ เมื่อการสมรสระหว่าง บ. กับจำเลยร่วมที่ 1 ยังสมบูรณ์อยู่ จำเลยร่วมที่ 1 ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของ บ. จึงมีสิทธิที่จะเข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เข้ามาเป็นจำเลยร่วมได้ จึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1606/2561
เครื่องหมายบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เป็นประเภทเครื่องหมายคำและเป็นคำอักษรโรมันคำว่า "EIKON" เหมือนกัน มีเสียงเรียกขานอย่างเดียวกันว่า "อิ-คอน" ถือได้ว่าคล้ายกันมาก แต่ถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากกลุ่มสาธารณชนผู้บริโภคหรือผู้รับบริการของโจทก์และผู้ใช้สินค้าของ ว. เป็นสำคัญ เมื่อโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับบริการจำพวกที่ 42 ส่วนเครื่องหมายการค้าของ ว. ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 9 นับได้ว่าเป็นการจดทะเบียนกันคนละประเภทและต่างจำพวกกัน รายการบริการที่โจทก์ขอจดทะเบียน คือ บริการการใช้เช่าคอมพิวเตอร์ บริการการออกแบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำหรับบุคคลอื่น เป็นต้น ส่วนรายการสินค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้วคือ เครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้า ฟิวส์ เต้าเสียบ สวิตช์ เป็นต้น อันเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า ถือได้ว่า รายการบริการและรายการสินค้าสองกลุ่มนี้มีลักษณะแตกต่างกัน กลุ่มผู้ใช้สินค้าและบริการเป็นคนละกลุ่มกัน เนื่องจากรายการบริการของโจทก์เน้นเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มผู้รับบริการของโจทก์จึงเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความสนใจความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ และต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพ ส่วนรายการสินค้าของ ว. เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้สินค้า ชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริโภคด้วย ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวย่อมต้องพินิจพิเคราะห์อย่างระมัดระวัง จึงมิใช่เรื่องที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดได้โดยง่าย ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์ในชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้ากรณียังถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2561
ป.รัษฎากร มาตรา 91/13 (2) บัญญัติว่า ผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการเป็นการชั่วคราว ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีเฉพาะ และวรรคสอง บัญญัติว่า ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่จะพิจารณาว่าการประกอบกิจการในลักษณะใดเป็นการประกอบกิจการชั่วคราว ซึ่งตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะ เรื่อง การกำหนดกิจการที่ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ข้อ 1 (1) กำหนดให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ประกอบกิจการตามมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 โดยการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมิใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 4 (1) (2) (3) และ (4) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 เป็นการประกอบกิจการชั่วคราว
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2551 โจทก์ซื้อที่ดินรวม 4 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารร้างที่ยังสร้างไม่เสร็จเพื่อจะนำมาก่อสร้างให้เสร็จเพื่อใช้เป็นอาคารที่ทำการ และที่เก็บสินค้าของโจทก์ ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2553 โจทก์ขายที่ดินพร้อมอาคารในสภาพเดิม ราคาเดิมและเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว เมื่อการขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการตามมาตรา 4 (5) แห่ง พ.ร.ฎ.ฯ (ฉบับที่ 342) โดยการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมิใช่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 4 (1) (2) (3) และ (4) อันเป็นการประกอบกิจการชั่วคราว ตามมาตรา 91/13 โจทก์จึงไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1564/2561
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง เมื่อมีการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นพิจารณาได้เอง หรือคู่ความฝ่ายที่เสียหายมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนได้ ส่วนระยะเวลาในการยื่นคำร้อง มาตรา 27 วรรคสอง กำหนดให้คู่ความฝ่ายที่เสียหายต้องยื่นไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวใช้บังคับแก่การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบทุกกรณีไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือหลังจากศาลพิพากษา คดีนี้ศาลชั้นต้นนัดอ่านคำสั่งศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 14 มิถุนายน 2559 ในวันนัดดังกล่าว ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งศาลฎีกาซึ่งมีคำสั่งว่าไม่อนุญาตให้โจทก์นำสืบพยานเพิ่มเติม ให้ยกคำร้องของโจทก์ทั้งสามฉบับ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป และศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา หากโจทก์เห็นว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงหรือผิดระเบียบ โจทก์ต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวและต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แต่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น กรณีจึงไม่มีคำสั่งของศาลชั้นต้นที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิยื่นอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้เพิกถอนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาของศาลชั้นต้น จึงเป็นการปฏิบัติที่ผิดขั้นตอนไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. ซึ่งศาลอุทธรณ์ไม่อาจวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1555/2561
แม้ผู้ร้องจะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (เดิม) และอาจใช้สิทธิคัดค้านการขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ (เดิม) แต่การใช้สิทธิดังกล่าวต้องเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ร้องเป็นผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดได้ก่อนหน้าครั้งนี้ถึง 4 ครั้ง แต่กลับอ้างเหมือนกันทุกครั้งว่าไม่สามารถชำระราคาได้แล้วมาคัดค้านในการขายทอดตลาดครั้งต่อไป กลายเป็นว่าบุคคลภายนอกเมื่อเข้ามาประมูลซื้อทรัพย์ได้แล้วแต่ไม่ยอมชำระราคา กลับมีสิทธิที่จะยับยั้งหรือประวิงการบังคับคดีได้เรื่อยไป ทำให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ซึ่งเป็นคู่ความเดิมเสียหายได้จากการบังคับคดีที่ล่าช้า ทั้งทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องขายทอดตลาดใหม่เรื่อยมา เช่นนี้ย่อมเป็นการยืนยันว่าการใช้สิทธิของผู้ร้องมิได้เป็นไปโดยสุจริต ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1518/2561 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ผู้คัดค้านยอมรับว่าผู้ตายทำพินัยกรรมดังกล่าว แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใหม่ว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมโดยถูกหลอก และมีการสมคบกัน ขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ผู้ตายไม่ได้แจ้งข้อความที่ตนประสงค์ต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตพญาไท พยานในพินัยกรรมมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ก. ผู้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรม และพินัยกรรมมีพิรุธ ผู้คัดค้านจึงมีภาระการพิสูจน์ให้เห็นตามข้อกล่าวอ้างของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 ผู้ร้องหามีหน้าที่ต้องนำเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดทำพินัยกรรมและแพทย์ผู้ออกใบรับรองแพทย์มาเป็นพยาน เมื่อได้ความว่าผู้ตายแจ้งข้อความที่ตนประสงค์ให้เจ้าหน้าที่จดต่อหน้าพยานสองคน เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เห็นแล้วว่าผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์จึงทำพินัยกรรมให้ ฟังได้ว่าขณะทำพินัยกรรมผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ประกอบกับผู้คัดค้านไม่นำพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นตามข้ออ้าง พยานหลักฐานผู้คัดค้านไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานผู้ร้อง เมื่อพินัยกรรมมีรายการถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1658 จึงสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย ตามพินัยกรรมข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกทรัพย์สินให้แก่ ก. และข้อ 3 ระบุว่า ได้ตัดทายาทโดยธรรมคนอื่น ๆ มิให้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านย่อมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย จึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องคัดค้านและขอตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1497/2561
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 32, 33, 80, 83, 91, 138, 140, 289, 358 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเกี่ยวกับความผิดที่จำเลยกระทำในคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่า จำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีหรือใช้อาวุธปืนกับร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด นอกจากนี้จำเลยกับพวกยังร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดเป็นกระทงแรก จำเลยกับพวกยังร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาด เป็นการกระทำกรรมเดียวให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพียงบทเดียวเป็นกระทงที่สอง และจำเลยกับพวกร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นกระทงที่สาม ซึ่งศาลชั้นต้นระวางโทษตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคสาม, 289 (2) ประกอบมาตรา 80, มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 358 มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 กับมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 60 และมาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 ตามลำดับความผิดข้างต้น เมื่อจำเลยอายุ 17 ปีเศษ กรณีไม่อาจระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตจำเลยได้ ตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสอง ต้องเปลี่ยนระวางโทษเป็นห้าสิบปี ตาม ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม ดังนั้น เมื่อเป็นการพยายามกระทำความผิดต้องระวางโทษกระทงละ 33 ปี 4 เดือน ซึ่งจะต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยตามมาตรา 75 กึ่งหนึ่ง และเมื่อลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่ง แล้วคงลงโทษได้กระทงละ 16 ปี 8 เดือน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้วจำคุก 25 ปี จึงเป็นการระวางโทษตามความผิดสำเร็จโดยไม่ได้ระวางโทษฐานพยายาม กรณีถือได้ว่าเป็นการพิพากษาโดยผิดหลง เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นกำหนดโทษเสียใหม่ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะแก้ไขคำพิพากษาให้ถูกต้องเพื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาเมื่อจำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่ศาลชั้นต้นรอการลงโทษจำเลยไว้ได้ ทั้งนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2561 โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา แต่ที่ดินพิพาทกลับมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ และมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับซื้อฝาก เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ส่วนที่ดินพิพาทไม่ใช่แปลงเดียวกับที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลง แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่เมื่อ ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 และแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุ ป. กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อพระภิกษุ ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสละการครอบครองและส่งมอบที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของ ส. ให้แก่ ป. ป. ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตามความจริง จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2561 ข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 5 เป็นข้อตกลงระหว่างผู้ค้ำประกันด้วยกันเอง โจทก์ในฐานะผู้รับโอนหนี้จากธนาคาร ด. มิได้ตกลงยินยอมด้วย จึงไม่มีผลให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นจากการเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทที่ทำกับธนาคาร ด. ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาสินเชื่อกับโจทก์ ปรากฏว่าเนื้อหาของสัญญาดังกล่าวเป็นการที่โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 2 มาร่วมใช้วงเงินสินเชื่อที่จำเลยที่ 1 เคยได้รับจากธนาคาร ด. พร้อมกันนั้นได้มีการขอเพิ่มวงเงินสินเชื่อและเปลี่ยนแปลงประเภทวงเงินสินเชื่อ โดยไม่ได้ตกลงให้หนี้เดิมระงับและบังคับตามหนี้ใหม่ สิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้เดิมมิได้มีการเปลี่ยนแปลง กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 ไม่ทำให้หนี้ของจำเลยที่ 5 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไป จำเลยที่ 5 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ตามสัญญาค้ำประกันทรัสต์รีซีทระบุว่า "สัญญาค้ำประกันฉบับนี้ให้ใช้บังคับโดยเอกเทศ ไม่ลบล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขภาระผูกพันของลูกหนี้หรือผู้ค้ำประกันเองที่มีต่อธนาคารอยู่ก่อนหรือหลังวันทำสัญญานี้ และให้มีผลผูกพันตลอดถึงกองมรดก ทายาทผู้รับมรดก ผู้จัดการทรัพย์สิน รวมทั้งผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้ค้ำประกัน ก็ให้ใช้สัญญาฉบับนี้บังคับได้ด้วย" เมื่อโจทก์ได้รับโอนหนี้มาจากธนาคาร ด. โดยชอบ จำเลยที่ 6 และที่ 7 ผู้ค้ำประกันจึงต้องผูกพันต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนด้วย การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำสัญญาเพิ่มวงเงินสินเชื่อเดิมกับโจทก์มิใช่การทำสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาเดิม จำเลยที่ 6 และที่ 7 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในหนี้ทรัสต์รีซีทที่เกิดขึ้นภายหลังวันทำสัญญาสินเชื่อด้วย โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์ การคิดอัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 มาตรา 38 และ 46 ประกอบมาตรา 4 ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินประกาศข้อมูลในเรื่องอัตราดอกเบี้ย อัตราส่วนลด และค่าบริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น รวมทั้งข้อมูลอื่นใดเกี่ยวกับธนาคารพาณิชย์นั้นไว้ในที่เปิดเผย ณ สำนักงานของธนาคารพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด คดีนี้ ธนาคารโจทก์มีการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเป็นช่วง ๆ ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อผิดนัดต่ำตามประกาศธนาคารโจทก์นับถัดจากวันฟ้องต่ำกว่าอัตราร้อยละ 15.50 ต่อปี ตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อัตราดังกล่าวก็จะเป็นอัตราที่สูงเกินกว่าสิทธิที่โจทก์จะเรียกได้ตามกฎหมาย จึงเห็นสมควรกำหนดอัตราดอกเบี้ยแก่โจทก์ให้ถูกต้องตามสิทธิที่โจทก์พึงเรียกได้ และเนื่องจากจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ เห็นสมควรแก้ไขการคิดอัตราดอกเบี้ยภายหลังวันฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ด้วย แม้จำเลยดังกล่าวจะมิได้อุทธรณ์คำพิพากษา
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1376/2561 ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ และกรณีที่ผู้ใช้ความถี่วิทยุไม่ชำระหรือชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเกินกำหนดเวลาที่กำหนด ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่ม เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงตามหนังสืออนุญาตให้จัดตั้งข่ายสื่อสารในกิจการเพื่อสื่อมวลชน ซึ่งการเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุเพิ่มดังกล่าว เป็นการกำหนดค่าเสียหายในกรณีจำเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสมควรไว้ล่วงหน้าในลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 เมื่อเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2561
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 บัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่นๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลย เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีที่ถูกฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 ให้การและให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนแตกต่างกันทั้งๆที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ศึกษาวิชากฎหมายระดับนิติศาสตรบัณฑิตจึงนับว่าเป็นข้อพิรุธ พยานหลักฐานดังกล่าวหาใช่พยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่นๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลยที่ 1 อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างแต่อย่างใด จึงไม่เป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232 บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน หมายถึง จำเลยในคดีเดียวกันและกฎหมายมิได้ห้ามโจทก์อ้างผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกับจำเลยมาเป็นพยานด้วย เมื่อคำเบิกความของจำเลยทั้งสองที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยนั้นเป็นคำเบิกความในคดีอื่น ไม่ใช่คำเบิกความของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์อ้างจำเลยทั้งสองเป็นพยาน อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232
เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4863/2557 ของศาลแขวงพระนครใต้ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2380/2555 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษารอการลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่จะนับโทษต่อได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1346/2561
ความผิดฐานเบิกความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 177 นั้น ข้อความเท็จที่ได้เบิกความต่อศาลในการพิจารณาคดีจะต้องเป็นข้อสำคัญในคดี ซึ่งหมายถึงต้องเป็นข้อสำคัญในคดีอย่างแท้จริงถึงขนาดมีผลทำให้แพ้ชนะคดีกันได้โดยอาศัยคำเบิกความอันเป็นเท็จเท่านั้น ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงโดยวินิจฉัยถึงหน้าที่นำสืบของโจทก์ประกอบคำเบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์และคำเบิกความของ พ. จำเลยในคดีดังกล่าวเป็นสำคัญ ส่วนคำเบิกความของจำเลยนั้น ศาลชั้นต้นไม่ได้นำมากล่าวถึง เพียงแต่นำมารับฟังประกอบข้อวินิจฉัยที่ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบกับคำเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยของโจทก์เท่านั้น แล้ววินิจฉัยถึงพฤติการณ์ต่างๆ ดังที่หยิบยกขึ้นมากล่าว โดยมิได้นำคำเบิกความของจำเลย มาเป็นข้อวินิจฉัยให้มีผลเป็นการแพ้ชนะกัน ข้อความที่จำเลยเบิกความดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อสำคัญในคดี ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานเบิกความเท็จได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1335/2561 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกันมาตั้งแต่ต้น มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาขายที่ดินกันจริง สัญญาขายที่ดินตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ โดยให้ที่ดินแก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นหลักประกัน และย่อมถือได้ว่าสัญญาขายที่ดินเป็นนิติกรรมสัญญากู้ยืมเงินที่ทำเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์กับจำเลยและถูกอำพรางไว้ ต้องบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมที่ถูกอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อสัญญาขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะจึงต้องเพิกถอนสัญญาดังกล่าว เป็นผลให้ที่ดินยังเป็นของจำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องขับไล่จำเลย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1285/2561 การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่ผู้เสียหายฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่ผู้เสียหายเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งแห่งคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา ฉะนั้นการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาในคดีส่วนแพ่งจึงเป็นการไม่ชอบ จึงให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวเสียและมีคำสั่งใหม่เป็นรับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของจำเลยที่ว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากผู้ร้องไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไว้พิจารณาและเมื่อสำนวนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนลงไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้ผู้ร้องแก้ฎีกาก่อน โดยเห็นว่าการพิจารณาว่าผู้ใดจะมีสิทธิยื่นคำร้องต้องพิจารณาจากสิทธิในทางแพ่ง ไม่ใช่กรณีที่จะนำความหมายของคำว่า ผู้เสียหายในคดีอาญา เช่น เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมาบังคับใช้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ใช้ไม้ตีจำเลยบริเวณท้ายทอยแล้วผู้ร้องเข้าไปช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 โดยเข้าห้ามมิให้จำเลยใช้มีดฟันแทงผู้เสียหายที่ 1 ขณะผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ 2 เข้าแย่งและปัดมีดจากมือจำเลย ทำให้มีดพลาดแทงถูกบริเวณท้องด้านซ้ายของผู้ร้อง มีดปักคาอยู่ พฤติการณ์แห่งคดีถือไม่ได้ว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 ข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมแก่จำเลยด้วยการใช้ไม้ตีจำเลยที่บริเวณท้ายทอย ผู้ร้องจึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ เมื่อผู้ร้องได้มีส่วนทำความผิดก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1188/2561
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยนำภาพและวิดีโอลามกส่งเข้าระบบคอมพิวเตอร์ ส่งให้บุตรสาวโจทก์ดูเพื่อประจานโจทก์ ซึ่งมีเพียงจำเลยและบุตรสาวโจทก์เท่านั้นที่มีรหัสในการเข้าดูประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าดูได้หากไม่ทราบรหัส จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (4)
จำเลยส่งข้อความทางผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตถึงโจทก์หลายครั้ง ขู่เข็ญโจทก์ให้จ่ายเงินจำเลย มิเช่นนั้นจะเปิดเผยความลับรูปภาพและวิดีโอที่โจทก์ไปมีความสัมพันธ์ทางเพศกับชายอื่น ในขณะที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินโดยขู่เข็ญจะเปิดเผยความลับ ซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหายครบองค์ประกอบความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมมอบเงินให้ตามที่จำเลยขู่เข็ญ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1185/2561
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดตาม ป.อ. 358, 365 (3) ประกอบมาตรา 362 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นความผิดต่อส่วนตัว โจทก์ถอนฟ้องในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเป็นการไม่ชอบ
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนฟ้องของศาลชั้นต้น แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง โดยอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องและให้จำหน่ายคดีโจทก์ในส่วนความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 จากสารบบความ สำหรับความผิดฐานบุกรุก เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องในระหว่างกำหนดระยะเวลาฎีกา ประกอบกับจำเลยที่ 1 ไม่คัดค้าน ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องในส่วนความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1179/2561
การวินิจฉัยปัญหาว่า คดีใดจะอยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกาตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง (เดิม) และคู่ความต้องร้องขอก่อนวันสืบพยาน แต่กรณีที่ศาลเห็นสมควรให้กระทำได้ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามมาตรา 11 วรรคสอง (เดิม) จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่อาจส่งปัญหานี้ให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัย และไม่มีอำนาจวินิจฉัยให้
การได้ที่ดินของโจทก์ซึ่งเป็นคนต่างด้าวโดยจำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน เป็นการต้องห้ามตาม ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่นิติกรรมการได้ที่ดินของโจทก์ก็ใช่ว่าจะเสียเปล่าไม่มีผลใด ๆ เสียเลยไม่โจทก์ยังมีสิทธิได้รับผลตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 อันจะจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดถ้าไม่จำหน่ายในเวลาที่กำหนด อธิบดีกรมที่ดินก็มีอำนาจจำหน่าย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1162/2561
การที่โจทก์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระราคาไปจนกว่าคดีที่จำเลยร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทถึงที่สุด ก็เพียงก่อสิทธิแก่โจทก์ว่าโจทก์ยังจะมีสิทธิเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลให้สำเร็จลุล่วงต่อไปเท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์สินตามเงื่อนไขการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 เพราะโจทก์อาจผิดสัญญาการขายทอดตลอดตามคำสั่งศาล ทำให้การขายทอดตลาดไม่สำเร็จได้ โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2561)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1113/2561
จำเลยหักเงินจำนวนหนึ่งออกจากเงินผลประโยชน์ที่โจทก์ได้รับจากการเป็นตัวแทนประกันวินาศภัย แต่จำเลยนำส่งเงินจำนวนดังกล่าวแก่กรมสรรพากรโดยแจ้งว่าเป็นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของบริษัท บ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีอัตราภาษีต่างจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาน้อยกว่าความเป็นจริง เมื่อจำเลยได้หักเงินออกจากเงินค่านายหน้าเพื่อเป็นภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ของโจทก์แล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1108/2561
ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิบริษัทเงินทุน ท. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้กันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เป็นการตั้งเรื่องโดยขอใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) มิได้อ้างสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (เดิม) โดยตรง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับต้องยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาดตามมาตรา 289 วรรคสอง (เดิม)
แม้โจทก์เดิมคือบริษัทเงินทุน ท. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ในคดีดังกล่าวซึ่งเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษา ผู้ร้องเป็นผู้สวมสิทธิไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองในคดีดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาต่อไปได้ แต่การร้องขอคดีนี้ผู้ร้องขอกันส่วน มิได้เป็นผู้ยึดทรัพย์บังคับคดีเอง ย่อมไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่ผู้ร้องขอใช้สิทธิกันส่วนในฐานะเป็นผู้รับจำนองที่ดิน ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิในการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองเพราะหนี้จำนองยังไม่ระงับสิ้นไป โดยสัญญาจำนองย่อมระงับสิ้นไปเมื่อมีกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 744 ดังนั้นการที่บริษัทเงินทุน ท. โจทก์เดิมไม่บังคับคดีภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ก็ยังไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป เมื่อจำเลยที่ 3 ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้กันเงินส่วนที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่ผู้ร้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1106/2561
โจทก์เป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โจทก์ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนโดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิจากการประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 31 โจทก์ประกอบกิจการทั้งที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เมื่อมี พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ.2544 และ พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 475) พ.ศ.2551 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้สำหรับภาษีจากกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจากอัตราปกติร้อยละ 30 คงจัดเก็บในอัตราร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อใช้สิทธิลดอัตราภาษีตาม พ.ร.ฎ.ทั้งสองฉบับดังกล่าว ต้องนำกำไรสุทธิจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมารวมคำนวณด้วย การที่โจทก์นำกำไรสุทธิเฉพาะกิจการที่ไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมาคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลตามอัตราภาษีที่ได้ลดลงเหลือร้อยละ 25 เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300 ล้านบาท โดยไม่นำกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนมารวมคำนวณด้วยจึงไม่ถูกต้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1104/2561
ป.รัษฎากร มาตรา 79 บัญญัติว่า ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าและการให้บริการได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าและการให้บริการ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 77/1 (19) ถ้ามีด้วย และวรรคสองบัญญัติว่า มูลค่าของฐานภาษีให้รวมถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ดังนั้น เงินที่โจทก์ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท อ. เพื่อทำการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์สินค้าไม่เป็นมูลค่าของฐานภาษีจากการขายสินค้าและการให้บริการแต่อย่างใด จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี
มาตรา 86/13 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้บุคคลซึ่งมิใช่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือมิใช่ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีได้ตามหมวดนี้ออกใบกำกับภาษี บุคคลใดออกใบกำกับภาษี โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมาย บุคคลนั้นต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี นั้น เสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน" บทบัญญัติดังกล่าวห้ามมิให้บุคคลซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนประการหนึ่ง กับห้ามผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีตามหมวดนี้อีกประการหนึ่ง การที่โจทก์ฝ่าฝืนมาตรา 86/13 ย่อมทำให้การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ไม่ถูกต้อง เกิดความเสียหายต่อระบบภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการทำไปเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีหรือมีการทุจริตในการออกใบกำกับภาษีอันเป็นเท็จโดยเจตนาให้รัฐได้รับความเสียหายหรือไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1087/2561
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เข้าตรวจค้นห้องพักของผู้เสียหายทั้งสี่และรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เมื่อพบเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงทำบันทึกการจับกุม แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสี่ไว้ภายในห้องพัก และขู่เข็ญให้แจ้งญาตินำเงินไปมอบให้จำเลยทั้งสามมิฉะนั้นจะส่งตัวไปดำเนินคดี เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจากผู้เสียหายทั้งสี่ และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1042/2561
แม้ผู้เช่าซื้อจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่ง ก็ไม่อาจถือว่าสัญญาเช่าซื้อต้องเลิกกันทันทีโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนตามสัญญาข้อ 6 เพราะอาจมีกรณีผู้ให้เช่าซื้อผ่อนผันการผิดนัดงวดนั้นดังที่ระบุในสัญญาข้อ 9 การที่โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อแล้ว 33 งวด โดยเป็นการชำระไม่ตรงตามกำหนดระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาแต่จำเลยยอมรับค่าเช่าซื้อดังกล่าว แสดงว่าจำเลยยอมผ่อนผันการผิดนัดครั้งนั้นให้โจทก์โดยไม่ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันทีเพราะเหตุโจทก์ผิดนัด นอกจากนี้ยังปรากฏว่า หลังจากมีการยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนมาแล้ว จำเลยยังส่งหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 34 ถึงงวดที่ 36 อีก 2 ฉบับ โดยฉบับสุดท้ายขอให้โจทก์ติดต่อชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมค่าใช้จ่าย มิฉะนั้นจำเลยจะนำรถขุดออกขายแก่บุคคลภายนอก เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบกันแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงผ่อนผันการผิดนัดให้โจทก์อีกเหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติ โดยหากโจทก์นำค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระไปชำระแก่จำเลยพร้อมเบี้ยปรับฐานชำระล่าช้า จำเลยก็จะยินยอมให้โจทก์รับรถขุดที่เช่าซื้อกลับคืนไปและชำระค่าเช่าซื้อต่อไปจนกว่าจะครบตามสัญญา ส่วนหนังสือบอกเลิกสัญญาที่จำเลยให้ลูกจ้างของจำเลยนำติดตัวไปเพื่อดำเนินการยึดรถขุดแล้วลูกจ้างของจำเลยนำไปมอบให้แก่ผู้ขับรถขุดภายหลังจากทำการยึดรถขุดแล้วนั้น กรณีมิใช่การมอบให้แก่โจทก์หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ ทั้งหนังสือดังกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้โจทก์ชำระหนี้ในเวลาอันสมควรเสียก่อน กลับมีการมอบให้ภายหลังการยึดรถขุด ทั้งข้อความในหนังสือดังกล่าวระบุว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาจึงเลิกสัญญากับผู้เช่าซื้อขัดแย้งกับที่จำเลยยังคงออกหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายหลังจากที่ยึดรถขุดคืนมาแล้วดังกล่าวการบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบ สัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยยังไม่เลิกกัน จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดรถขุดที่เช่าซื้อคืนได้ การที่จำเลยยึดรถขุดดังกล่าวมา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1040/2561 คำว่า "กรรมการ" ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1172 วรรคหนึ่ง หมายถึงคณะกรรมการ มิได้หมายถึงกรรมการคนหนึ่งคนใดหรือหลายคน การจะเรียกประชุมใหญ่วิสามัญหรือไม่ กรรมการคนหนึ่งคนใดชอบที่จะนัดเรียกประชุมกรรมการเพื่อพิจารณากันเสียก่อนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1162 มติของคณะกรรมการจะต้องถือเอาเสียงข้างมากเป็นใหญ่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1161 เมื่อปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองเรียกประชุมใหญ่โดยมิได้กระทำตามขั้นตอนดังกล่าว ดังนั้น การนัดเรียกประชุมใหญ่ตลอดจนการประชุมและการลงมติจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 999/2561
การที่ จ. ติดต่อซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับจำเลยที่ 3 ทางโทรศัพท์ โดย จ. ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบแก่จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่จะติดต่อส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันทางโทรศัพท์ ลักษณะการตกลงกันเพื่อให้มีการขายและส่งมอบของกลางเช่นนี้ถือว่าเป็นการร่วมคบคิดกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และเมื่อจำเลยที่ 3 ฝ่ายผู้ซื้อยังไม่ได้รับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ฝ่ายผู้ขาย จำเลยที่ 3 จึงไม่เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง เพราะจำเลยที่ 3 ฝ่ายผู้ซื้อไม่อาจครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางร่วมกับจำเลยที่ 1 ฝ่ายผู้ขายได้ในขณะเดียวกัน จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเมื่อการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนของกลางยังไม่สำเร็จ จำเลยที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 3 ไปรอรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 1 ที่จุดนัดหมาย ถือเป็นการกระทำที่ใกล้ชิดต่อความผิดสำเร็จเข้าขั้นลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานพยายามมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้เช่นเดียวกับความผิดสำเร็จฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 7 และเงินที่จำเลยที่ 3 เตรียมไว้สำหรับซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้นำมาส่งมอบให้ เงินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินซึ่งมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ศาลจึงมีอำนาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2561 โจทก์ฟ้องให้จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงคันที่ ด. เป็นผู้ขับ รับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีที่ ช. เสียชีวิตทำให้โจทก์ขาดไร้อุปการะ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ด. ขับรถบรรทุกและรถพ่วงด้วยความประมาทชนรถจักรยานยนต์คันที่ ช. ขับเป็นเหตุให้ ช. ถึงแก่ความตาย โดย ช. ผู้ตายมีส่วนประมาทด้วย แต่ ด. มีส่วนประมาทมากกว่า เมื่อตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 3.1.3 ระบุว่า ในกรณีเสียชีวิต บริษัทจะจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 200,000 บาท ต่อหนึ่งคน ดังนั้น เมื่อ ช. เป็นผู้ประสบภัยที่ ด. จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายเพราะเหตุที่ ด. เป็นฝ่ายประมาทมากกว่า ช. จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยรถบรรทุกและรถพ่วงที่ ด. เป็นผู้ขับไว้จากนายจ้างของ ด. จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฉบับละ 200,000 บาท รวมเป็น 400,000 บาท
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 992/2561
เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า "T-TOUCH" แม้โจทก์จะแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้อักษร "T" แต่ก็เป็นเพียงทำให้โจทก์ไม่อาจใช้อักษรดังกล่าวแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น มิได้ตัดอักษรดังกล่าวออกจากเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ดังกล่าวมีอักษร "T" อยู่หน้าคำว่า "TOUCH" โดยมีเครื่องหมายยัติภังค์คั่นและขนาดของตัวอักษรเท่ากัน อักษร "T" จึงไม่ใช่ส่วนปลีกย่อยของเครื่องหมาย การพิจารณารูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ต้องพิจารณาอักษรโรมันคำว่า "T-TOUCH" ทั้งคำ เมื่อเปรียบเทียบกับรูปลักษณะเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นซึ่งเป็นอักษรโรมันคำว่า "TOUCH MAGAZINE" แล้วมีความแตกต่างกัน โดยคำว่า "MAGAZINE" มีขนาดเล็กจัดวางในแนวตั้งติดกับอักษร "H" โดยเน้นสาระสำคัญของคำว่า "TOUCH" แม้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์มีคำว่า "TOUCH" เช่นเดียวกัน แต่คำดังกล่าวเป็นคำในภาษาอังกฤษซึ่งปรากฏความหมายในพจนานุกรมและเป็นคำที่บุคคลทั่วไปสามารถใช้เป็นเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการได้เพราะมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองหากคำนั้นมิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าหรือบริการนั้นโดยตรง บุคคลที่นำคำดังกล่าวมาจดทะเบียนก่อนไม่มีสิทธิหวงกันมิให้บุคคลอื่นใช้คำดังกล่าวได้ เพียงแต่บุคคลที่จะใช้คำดังกล่าวเป็นส่วนประกอบของเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำให้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษณะแตกต่างออกไปจากเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วโดยไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ คำว่า "T-TOUCH" ของโจทก์จึงมีความแตกต่างจากคำว่า "TOUCH" ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สำหรับเสียงเรียกขานนั้น คำว่า "T-TOUCH" ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ เป็นคำเดียวกันโดยออกเสียงเรียกขานเป็นสองพยางค์ว่า ที ทัช ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ออกเสียงเรียกขานเป็นสี่พยางค์ว่า ทัช แม็ก กา ซีน แม้อาจมีผู้ออกเสียงสั้นๆ เป็นพยางค์เดียวว่า ทัช ก็ยังคงแตกต่างจากเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ ประกอบกับโจทก์ประกอบธุรกิจด้านการเงินและการลงทุน การให้บริการข่าว ข้อมูล คำแนะนำ บทวิจารณ์ และบทวิเคราะห์ ย่อมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุนโดยเฉพาะ กลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องจึงเป็นผู้ประกอบอาชีพด้านการเงินและการลงทุน หรือผู้ที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งช่องทางการเผยแพร่หรือให้บริการของโจทก์กระทำในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์มิใช่หนังสือ ส่วนลักษณะการประกอบธุรกิจของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วเป็นธุรกิจบันเทิง กลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องได้แก่บุคคลทั่วไปที่รับชม รับฟังรายการ หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่บุคคลที่ได้รับการจดทะเบียนจัดขึ้นบริเวณสยามสแควร์ รวมถึงผู้อ่าน "TOUCH MAGAZINE" ดังนั้นกลุ่มผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องกับบริการของโจทก์ และของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียน จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และแม้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 16 เช่นเดียวกับบุคคลที่ได้รับการจดทะเบียน แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าของโจทก์แล้ว สินค้าของโจทก์เป็นสิ่งพิมพ์ เอกสาร และจดหมายข่าวที่จำกัดเฉพาะเรื่องการเงินเท่านั้น เมื่อกลุ่มผู้บริโภคของโจทก์เป็นผู้ประกอบอาชีพด้านการเงินและการลงทุนหรือผู้ที่มีความสนใจในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นคนละกลุ่มกับผู้บริโภคของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียน ดังนั้น ผู้บริโภคหรือสาธารณชนที่เกี่ยวข้องย่อมสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์และของบุคคลผู้ได้รับการจดทะเบียนได้โดยง่าย เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือบริการหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 989/2561
การขนส่งสินค้ารายนี้มีการว่าจ้างรับขนของเป็นทอด โดยออกใบตราส่งไว้เป็นหลักฐานรวม 2 ฉบับ ฉบับแรกคือ ใบตราส่งที่บริษัท ซ. ในฐานะผู้ทำสัญญารับขนของทางทะเลกับผู้ส่งของที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นผู้ออกระบุชื่อบริษัท จ. เป็นผู้ส่งของ บริษัท ท. เป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า ส่วนจำเลยถูกระบุชื่อในช่องผู้ให้ติดต่อเพื่อส่งมอบสินค้า ส่วนอีกฉบับหนึ่งคือใบตราส่งที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขนส่งที่แท้จริงเป็นผู้ออกระบุชื่อบริษัท ซ. เป็นผู้ส่งของ จำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า เงื่อนไขการขนส่งตามใบตราส่งทั้งสองฉบับเป็นแบบ FCL/FCL หรือ CY/CY จากท่าเรือต้นทางเมืองรอตเตอร์ดัมมายังปลายทางท่าเรือกรุงเทพ โดยที่จำเลยถูกระบุชื่อในใบตราส่งทั้งสองฉบับต่างสถานะกัน สิทธิ หน้าที่และความรับผิดของจำเลยจึงต้องพิจารณาจากความสัมพันธ์ของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตามที่ระบุในใบตราส่งแต่ละฉบับประกอบกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท ซ. ผู้ขนส่งในประเทศไทย และถูกระบุให้เป็นผู้ให้ติดต่อเพื่อส่งมอบสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ตามใบตราส่งที่จะต้องส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ท. ผู้รับตราส่ง เมื่อบริษัท ซ. ว่าจ้างผู้ขนส่งอื่นคือโจทก์ให้ทำการขนส่งสินค้าแทน การที่โจทก์ออกใบตราส่งระบุชื่อจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้รับแจ้งการมาถึงของสินค้าก็เพื่อก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ในฐานะผู้ขนส่งอื่นกับจำเลยในฐานะผู้รับตราส่งในเรื่องทั้งหลายเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าให้เป็นไปตามข้อกำหนดในใบตราส่งตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 ซึ่งจำเลยมีพยานเบิกความว่า ก่อนโจทก์จะขนส่งสินค้าถึงท่าเรือกรุงเทพ เมื่อตัวแทนโจทก์ได้แจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบ พร้อมทั้งแจ้งกำหนดเวลาการแก้ไขเอกสารโดยให้แก้ไขได้ภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2555 ก่อนเวลา 16 นาฬิกา จำเลยได้แจ้งต่อไปยังบริษัท ท. และได้รับการยืนยัน โดยบริษัทดังกล่าวได้ส่งสำเนาใบกำกับสินค้ามาให้จำเลยเพื่อใช้ประกอบการขอแก้ไขเอกสาร จำเลยจึงได้ทำหนังสือขอให้โจทก์แก้ไขใบตราส่งและบัญชีสินค้าในเรือ โดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัท ท. และออกใบปล่อยสินค้า โดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัท ท. และภายหลังจากโจทก์ได้รับหนังสือแล้วโจทก์ได้ดำเนินการแก้ไขเอกสารพร้อมกับยื่นสำแดงต่อกรมศุลกากรและการท่าเรือแห่งประเทศไทยแล้ว เห็นได้ว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับเหตุผลในทางปฏิบัติเพื่อที่จำเลยจะได้ดำเนินการส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าของสินค้าที่แท้จริง และตรงกับข้อมูลการตรวจสอบในระบบ งานอิเล็กทรอนิกส์ใบตราส่งของกรมศุลกากร ซึ่งระบุชัดเจนว่าบริษัท ท. เป็นผู้รับตราส่ง เอกสารดังกล่าวส่งมาจากหน่วยงานราชการจึงมีน้ำหนักให้รับฟัง นอกจากนี้ ใบแจ้งสินค้านำเข้าและใบแจ้งหนี้ที่บริษัท อ. แจ้งไปยังจำเลยก็มีข้อความระบุกำหนดเวลาแก้ไขเอกสารชัดเจน ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้แก้ไขใบตราส่งโดยเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากจำเลยเป็นบริษัท ท. แล้ว พฤติการณ์ที่จำเลยติดต่อขอแก้ไขเอกสารและขอรับใบปล่อยสินค้าจากโจทก์ก็เพราะจำเลยอยู่ในฐานะเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่งซึ่งต้องรับสินค้าจากโจทก์ขณะเดียวกันจำเลยก็ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในการส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ท. ดังนั้น เมื่อโจทก์ตกลงที่จะแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งในใบตราส่งและออกใบปล่อยสินค้าในนามของบริษัท ท. แล้ว จำเลยจึงมิได้อยู่ในฐานะผู้รับตราส่งต่อไป และสิ้นความสัมพันธ์กับโจทก์ผู้ขนส่งอื่นตามข้อกำหนดในใบตราส่งโดยผลของ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 26 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่และไม่อยู่ในฐานะที่จะรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ ตามเงื่อนไขการขนส่งของ CY ตัวหลังได้ ดังนั้น การที่จำเลยไม่รับมอบตู้สินค้าจากโจทก์จึงไม่ถือเป็นการผิดสัญญารับขนของทางทะเลแต่อย่างใด
- ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยผิดคำรับรองตามหนังสือร้องขอแก้ไขชื่อผู้รับตราส่งนั้น เห็นว่า หนังสือดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยขอรับรองว่าจะไม่ให้โจทก์ได้รับผลกระทบจากการเรียกร้องหรือผลที่ตามมาจากการที่โจทก์ปฏิบัติตามที่จำเลยเรียกร้อง เมื่อความรับผิดตามคำรับรองของจำเลยอาจเกิดขึ้นเนื่องจากการขอให้โจทก์แก้ไขชื่อผู้รับตราส่ง จึงต้องพิจารณาว่าการดำเนินการดังกล่าวมีผลให้สิทธิและหน้าที่ของโจทก์เปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งเห็นได้ว่าการแก้ไขดังกล่าวเป็นผลให้โจทก์มีหน้าที่ต้องส่งมอบสินค้าให้แก่บริษัท ท. ผู้ที่จำเลยระบุว่าเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง ข้อรับรองดังกล่าวของจำเลยจึงเป็นการที่จำเลยรับรองสถานะของบริษัท ท. ว่าเป็นผู้รับตราส่งที่มีสิทธิรับมอบสินค้าตามใบตราส่ง หากภายหลังมีบุคคลภายนอกมาอ้างสิทธิในฐานะผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าจากโจทก์หรือบุคคลนั้นมีสิทธิดีกว่าก่อให้เกิดความเสียหายจากกรณีที่โจทก์ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิรับไปจำเลยจึงจะต้องรับผิดต่อโจทก์ หาใช่เป็นการที่จำเลยรับรองว่าจะชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ในการกระทำหรือละเว้นกระทำการของบริษัท ท. ซึ่งจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและอยู่นอกเหนือการรับรู้ของจำเลยในทุกกรณีไม่ ดังนั้นการที่บริษัท ท. ไม่ไปรับสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยจึงไม่เป็นเหตุให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำรับรองของจำเลยเช่นกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 981/2561
การที่จำเลยรู้ว่ามิได้เกิดเหตุลักทรัพย์รถกระบะ แต่กลับแจ้งแก่พนักงานสอบสวนว่ามีคนร้ายลักทรัพย์รถกระบะที่จำเลยเช่าซื้อไป เพื่อจะนำเงินที่ได้รับจากบริษัทผู้รับประกันภัยไปชำระค่างวดแก่ธนาคาร ก. ผู้ให้เช่าซื้อ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 173 อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะแล้ว ไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 137 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานทั่ว ๆ ไปอีก และเมื่อไม่เกิดมีความผิดอาญาฐานลักทรัพย์เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 172
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 975/2561
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมใบกำกับสินค้า/ใบรับสินค้า ใบเบิกเงิน และใบกำกับสินค้าและใช้เอกสารปลอมดังกล่าว ส่วนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 845/2552 ของศาลชั้นต้น เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการออกใบเสร็จรับเงินให้แก่สมาชิกซึ่งมาชำระค่าสินค้า แล้วไม่นำเงินที่รับชำระพร้อมใบเสร็จที่ออกส่งให้แก่ฝ่ายการเงินและไม่ได้นำไปตัดยอดหนี้ให้แก่สมาชิก ในคดีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับการปลอมใบเสร็จรับเงิน ซึ่งเป็นเอกสารที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงมิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีดังกล่าว จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 972/2561
ในการพิจารณาเครื่องหมายการค้าว่าคล้ายกันหรือไม่ต้องพิจารณาลักษณะโดยรวมของเครื่องหมาย เครื่องหมายของโจทก์และของจำเลยมีเพียงเสียงเรียกขานที่พ้องกัน โดยของโจทก์เรียกและอ่านติดกันไปว่า สกาเจล ส่วนของจำเลยเรียกและอ่านแยกคำกันว่า สการ์ เจล เครื่องหมายของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าและจดทะเบียนได้เนื่องจากนำคำว่า SCAR ซึ่งแปลว่าแผลเป็น มาตัดตัว R ออก แล้วเชื่อมติดกับคำว่า GEL ที่แปลว่า สารแขวนลอย วุ้น ทำให้มีลักษณะบ่งเฉพาะและไม่ให้มีความหมายเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าทาร่างกายโดยตรง แต่ชื่อสินค้าของจำเลยซึ่งถือเป็นเครื่องหมายใช้คำว่า SCAR และ GEL อันเป็นคำพรรณนาถึงคุณสมบัติและคุณภาพของสินค้า ซึ่งเจ้าของสินค้าทั่วไปมีสิทธิจะใช้ได้เพื่อให้ลูกค้าทราบว่าเป็นสินค้าเกี่ยวกับอะไรแต่ไม่เป็นเครื่องหมายการค้าเพราะเล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าทาร่างกายเพื่อรักษาแผลเป็นโดยตรง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยใช้ชื่อสินค้ากับประกาศหรือประชาสัมพันธ์สินค้าโดยมีลักษณะเป็นเครื่องหมายเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงควรพิจารณาเฉพาะชื่อสินค้าของจำเลยว่าเลียนหรือคล้ายเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วของโจทก์หรือไม่เท่านั้น เมื่อพิจารณาตัวอักษรเครื่องหมายการค้าของโจทก์เขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ติดกัน แต่ของจำเลยเขียนตัวแรก S ด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ส่วน CAR เป็นตัวพิมพ์ใหญ่แต่ขนาดเท่าตัวพิมพ์เล็ก ซึ่งเห็นชัดว่าแตกต่างกัน หากพิจารณาเปรียบเทียบไปถึงหลอดและกล่องสินค้าของโจทก์และจำเลยก็เห็นว่าแตกต่างกัน ทั้งสีพื้นและสีตัวอักษร นอกจากนี้ตลาดที่จำหน่ายสินค้าของโจทก์และจำเลยก็เป็นคนละตลาดกัน โดยของโจทก์วางขายในโรงพยาบาลและร้านขายยา ส่วนของจำเลยขายตรงแก่สมาชิกของจำเลยเท่านั้น ไม่อาจทำให้สาธารณชนผู้บริโภคสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่ชื่อสินค้าของจำเลยซึ่งเป็นเครื่องหมายใช้พรรณนาคุณสมบัติและคุณภาพสินค้ามีเสียงเรียกขานพ้องกับเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วของโจทก์เพียงอย่างเดียว ไม่เป็นการละเมิดโดยเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2561
ตาม พ.ร.บ.ควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2481 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำบันทึกข้อตกลงเมื่อปี 2495 ตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้ให้ความหมายของคำว่า สุสาน ตรงกัน คือ สุสาน มี 2 ประเภท ได้แก่ สุสานและฌาปนสถานสาธารณะ หมายความว่า ที่ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเผา ฝัง หรือเก็บศพสำหรับประชาชนทั่วไป กับ สุสานและฌาปนสถานเอกชน หมายความว่า ที่ซึ่งจัดขึ้นสำหรับเผา ฝัง หรือเก็บศพของตระกูลหรือครอบครัวหรือมิตรของตระกูลหรือครอบครัว เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติดังกล่าวแล้วว่า ที่ดินบริเวณที่เป็นสุสานดังกล่าว เป็นที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และตามบันทึกที่พระโบราณคณิสสร เจ้าอาวาสของโจทก์ ทำเมื่อปี 2495 ร่วมกันกับกรรมการวัดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ก็มีข้อความว่า โจทก์ โดยพระโบราณคณิสสร เจ้าอาวาส พร้อมด้วยคณะกรรมการวัดทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายจีน ได้ประชุมหารือกันว่า สุสานของโจทก์อันเป็นที่บำเพ็ญการกุศลตามประเพณี โกดังเก็บศพตลอดจน ฌาปนสถานอันเป็นที่เผาศพยังไม่มิดชิดและมั่นคงถาวร และขาดความเป็นระเบียบเรียบร้อยไม่สวยงามสมควรจัดการก่อสร้างเสียใหม่ให้ถาวรและเรียบร้อยเพื่อจะได้เป็นการสะดวกแก่การบำเพ็ญกุศลของประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งนับว่าเป็นการบำเพ็ญกุศลสาธารณประโยชน์ประการหนึ่ง หลังจากนั้นต่อเนื่องมาจนถึงจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2501 เพื่อบริหารดูแลสุสาน ในตราสารก็ระบุว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการดูแลสุสานสาธารณะ และที่ประตูทางเข้าสุสานมีป้ายบอกชัดเจนว่าเป็นสุสานสาธารณะ ข้อเท็จจริงดังกล่าวรับฟังได้ชัดเจนว่าสุสานตามฟ้อง เป็นสุสานประเภทสุสานสาธารณะตามความหมายของ พ.ร.บ.ควบคุมสุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2481 มาตรา 4 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการทำบันทึกข้อตกลงเมื่อปี 2495 และตาม พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 มาตรา 4 ซึ่งใช้บังคับตลอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าโจทก์จะได้ดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งสุสานให้มีใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากล่าวกันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หาใช่จะทำให้สุสานที่โดยสภาพและเจตนารมณ์เป็นสุสานสาธารณะกลายเป็นไม่ใช่สุสานสาธารณะหรือสุสานเอกชน หรือไม่ใช่สุสานไปเลย แต่อย่างใดไม่ แต่การเป็นสุสานสาธารณะ ซึ่งมีความหมายชัดเจนแล้วตามกฎหมายดังกล่าว คือเป็นสถานที่ที่ใช้เป็นที่ฝัง เผา หรือเก็บศพสำหรับประชาชนทั่วไป ไม่ได้หมายความไปถึงว่าที่ดินที่เป็นที่ตั้งของสุสานนั้นจะตกเป็นที่ดินสาธารณะไปด้วย ที่ดินใดจะเป็นที่ดินสาธารณะหรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับเหตุตามกฎหมายแห่งการตกเป็นที่สาธารณะของที่ดินแปลงนั้นๆ เป็นกรณีๆ ไป สำหรับที่ดินแปลงที่เป็นที่ตั้งสุสานสาธารณะในคดีนี้นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่บ่งชี้ว่าโจทก์ได้เคยแสดงเจตนายกที่ดินดังกล่าวให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า หลังจากทำบันทึกในปี 2495 ซึ่งระบุว่าโจทก์อนุญาตให้ใช้ที่ดินโจทก์ทำสุสานสาธารณะแล้ว ต่อมาปี 2501 โจทก์ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินในฐานะผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินในส่วนที่มีสุสานดังกล่าวรวมอยู่ด้วย และทำให้โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแปลงนั้น ต่อมาโจทก์ดำเนินการให้มีการจัดตั้งจำเลยที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือมาบริหารจัดการดูแลสุสานในนามโจทก์ และจำเลยที่ 1 เก็บเงินจากผู้ที่ประสงค์จะนำศพมาฝังในสุสานเป็นค่าบำรุงและระบุไว้ในตราสารการจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 ว่า หากยกเลิกจำเลยที่ 1 ไป ให้ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว โดยให้ใช้เป็นสุสานสาธารณะยังคงหวงสิทธิในที่ดินดังกล่าวอยู่ และไม่ได้แสดงเจตนายกที่ดินที่เป็นที่ตั้งสุสานดังกล่าวให้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แต่อย่างใด โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวอยู่ต่อไป ส่วนโจทก์จะถูกรอนสิทธิหรือถูกจำกัดสิทธิในการใช้ที่ดินดังกล่าวในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างไรหรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่องๆ หรือเป็นกรณีไป เมื่อฟังข้อเท็จจริงว่าสุสานดังกล่าวเป็นสุสานของโจทก์ และเป็นสุสานประเภทสุสานสาธารณะ กรณีของที่ฝังศพ (ฮ้วงซุ้ย) แต่ละราย ที่ทายาทหรือบุคคลใดที่นำศพมาฝังไว้ในสุสานดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ จึงเป็นสัญญาหรือนิติสัมพันธ์ที่มีต่อกันระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสุสาน ไม่ว่าจะมีจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจัดการให้หรือไม่ก็ตาม กับทายาทหรือบุคคลที่มาติดต่อเพื่อขอนำศพมาฝังไว้ในสุสาน ว่ามีอยู่ต่อกันอย่างไร ตามหลักแห่งสัญญาตามกฎหมายทั่วไป หากโจทก์ประสงค์จะให้มีการรื้อที่ฝังศพรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายหรือทั้งหมดออกไปหรือแม้แต่ยกเลิกการจัดตั้งสุสาน โจทก์ก็จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามสัญญาตามนิติสัมพันธ์ที่มีอยู่ต่อกัน และถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยสุสานหรือ พ.ร.บ.สุสานและฌาปนสถาน พ.ศ.2528 ด้วย เช่น ต้องแจ้งบอกกล่าวไปถึงทายาทหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้นำศพมาฝังไว้ในสุสานดังกล่าวว่ามีข้อโต้แย้งคัดค้านอย่างไรหรือไม่ และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้พิจารณามีคำสั่งเสียก่อน เป็นต้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ดำเนินตามสัญญาและตามกฎหมายว่าด้วยสุสานดังกล่าว และโจทก์ไม่ได้ฟ้องทายาทหรือบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้นำศพมาฝังไว้ในสุสานซึ่งถือได้ว่าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์ให้รื้อย้ายที่ฝังศพออกไป แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองซึ่งโจทก์ยืนยันว่าเป็นเพียงตัวแทนของโจทก์และมีคำขอ ให้จำเลยทั้งสองรื้อย้ายที่ฝังศพทั้งหมดในสุสานดังกล่าวออกไปเป็นคดีนี้ จึงเป็นคำฟ้องและคำขอที่ไม่อาจบังคับจำเลยทั้งสองให้กระทำการเช่นนั้นได้ คำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับคำขอให้รื้อย้ายที่ฝังศพทั้งหมดในสุสานดังกล่าวออกไป จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบ ถึงแม้ต่อมา ผู้ร้องสอดในคดีนี้ จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความด้วยก็ตาม ก็ไม่อาจจะทำให้คำฟ้องส่วนที่ไม่ชอบของโจทก์ดังกล่าวกลับเป็นคำฟ้องที่ชอบขึ้นมาได้
ทั้ง ชื่อ วัตถุประสงค์ และสถานที่ตั้งทำการ ที่ปรากฏในตราสารการขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 และการดำเนินการของจำเลยที่ 1 ที่ดำเนินการดูแลสุสานของโจทก์ตลอดมา เป็นที่ชัดเจนว่า จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะดำเนินการดูแลสุสานในฐานะเป็นตัวแทนของโจทก์ ข้อเท็จจริงนี้ จำเลยทั้งสองก็ให้การเป็นไปในทำนองรับ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของโจทก์ในการดูแลสุสานของโจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำการไปในทางที่ขัดต่อความประสงค์ของโจทก์ซึ่งเป็นตัวการ เช่น การที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 แก้ไขเปลี่ยนแปลงตราสารของมูลนิธิเป็นว่า ให้สถานที่ตั้งมูลนิธิอยู่ที่ตั้งของวัดโจทก์ตามที่เคยเป็นมาแต่เดิม และให้คณะกรรมการบริหารมูลนิธิจำเลยที่ 1 ต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือฝ่ายโจทก์ ฝ่ายพ่อค้า และฝ่ายข้าราชการประจำหรือข้าราชการบำนาญ และให้กรณีเลิกมูลนิธิทรัพย์สินของมูลนิธิต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่เคยเป็นในตราสารมาแต่เดิม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่โจทก์ในฐานะตัวการจะปฏิเสธไม่ให้จำเลยที่ 1 กระทำการใดในฐานะเป็นตัวแทนโจทก์เกี่ยวกับการดูแลสุสานของโจทก์อีก เมื่อโจทก์บอกกล่าวแจ้งยกเลิกการอนุญาตให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนของโจทก์ทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 951/2561
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินซึ่งสรุปใจความได้ดังนี้ มาตรา 21 คณะกรรมการหรือเลขาธิการอาจมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินแทน โดยให้ประกาศเพื่อผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องพร้อมทั้งเอกสารหลักฐานต่อคณะกรรมการเพื่อขอรับทรัพย์สินคืนได้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ถ้าผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่า ทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือได้รับโอนทรัพย์สินนั้น มาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณ ให้คณะกรรมการสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีหรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในคดีที่ต้องหานั้น บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า ผู้ซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินต้องมีโอกาสชี้แจงแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพย์สินก่อน คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินหรือเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจึงจะพิจารณามีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินได้ มิฉะนั้นคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินย่อมไม่ชอบ เพราะไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ได้ความจากคำเบิกความของว่าที่ร้อยตรี ป. ซึ่งเป็นพยานจำเลยเพียงปากเดียวว่า ได้มีหนังสือแจ้งคำสั่งอายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 แก่ ว. เพื่อให้มาให้ถ้อยคำและแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว โดยหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 25 มิถุนายน 2547 อันเป็นช่วงก่อนครบกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายให้ถือว่า ว. ซึ่งเป็นคนสาบสูญตามคำสั่งศาลถึงแก่ความตาย แต่ว่าที่ร้อยตรี ป. เบิกความตอบคำถามค้านว่า ไม่ได้เป็นผู้ส่งหนังสือดังกล่าวและไม่มีหลักฐานการส่งหนังสือดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า ว. ทราบเรื่องการตรวจสอบทรัพย์สินที่เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 แล้ว ว. จึงไม่มีโอกาสชี้แจงแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าว การที่ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 ไว้ทั้งที่ ว. ยังไม่มีโอกาสชี้แจงแสดงหลักฐานเกี่ยวกับการได้มาซึ่งที่ดินนั้น คำสั่งให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 จึงไม่ชอบ เมื่อโจทก์เป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. ตามคำสั่งศาลแต่ไม่สามารถจัดการมรดกเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 เพราะคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้อายัดที่ดินดังกล่าว อันเป็นคำสั่งที่โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งให้อายัดที่ดินดังกล่าวได้ และแม้คำสั่งให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 เป็นคำสั่งของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินไม่ใช่คำสั่งของจำเลย แต่จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทรัพย์สินของ ว. มาตั้งแต่ต้นจนกระทั่งมีการออกคำสั่งให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 และคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ก็แสดงให้เห็นถึงความประสงค์ของโจทก์ว่าต้องการให้เพิกถอนคำสั่งให้อายัดที่ดินโฉนดเลขที่ 24302 ศาลจึงมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งให้อายัดที่ดินดังกล่าวได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 936/2561
เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "A380" เป็นการนำเอาตัวอักษรโรมัน 1 ตัว คือ A และตัวเลขอาระบิกอีก 3 ตัว มาเรียงต่อกันเป็นลักษณะของกลุ่มตัวอักษรและตัวเลข โดยมีแนวคิดจากการนำตัวอักษร A ซึ่งมีที่มาจากอักษรโรมันคำว่า "AIRBUS" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในชื่อเต็มของนิติบุคคลโจทก์ (แอร์บัส โอเปอร์เรชั่น จีเอ็มบีเอช) ซึ่งแม้จะเป็นการนำมาวางเรียงต่อกันในลักษณะธรรมดาทั่วไปโดยมิได้สร้างให้มีลักษณะพิเศษ แต่ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (3) บัญญัติให้เฉพาะแต่กลุ่มของสีเท่านั้นที่ต้องแสดงลักษณะพิเศษ ไม่รวมถึงตัวหนังสือหรือตัวเลข หรือคำที่ประดิษฐ์ขึ้น ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "A380" ที่ขอจดทะเบียนดังกล่าว จึงไม่จำต้องเป็นกลุ่มคำตัวหนังสือ หรือตัวเลขที่ประดิษฐ์ขึ้นซึ่งต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษด้วยแต่อย่างใด เมื่อเครื่องหมายการค้าดังกล่าวนั้น โจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้าสำหรับรายการสินค้า เครื่องเล่นเกม ของเล่น อุปกรณ์ยิมนาสติกและอุปกรณ์กีฬา ยานพาหนะจำลองย่อส่วน ยานพาหนะของเล่น เครื่องร่อนชูชีพ เกมปริศนา ไพ่ ในจำพวกที่ 28 ของโจทก์ ประชาชนผู้บริโภคย่อมสามารถทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์แตกต่างไปจากสินค้าอื่น ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าว จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 915/2561
จำเลยแบ่งพื้นที่บางส่วนภายในห้างสรรพสินค้าให้ธนาคาร ธ. เช่าประกอบกิจการธนาคารเพื่อเป็นการจูงใจลูกค้าให้มาใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลย ถือได้ว่าผู้เอาประกันภัยของโจทก์ที่เข้าไปใช้บริการธนาคาร ธ. เป็นลูกค้าที่มาใช้บริการของห้างสรรพสินค้าจำเลยด้วย การที่จำเลยซึ่งประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าและให้บริการ จำเลยต้องให้ความสำคัญด้านบริการ ทั้งเรื่องสินค้า ความปลอดภัยและความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจ เป็นแรงจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าและใช้บริการ โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถที่กว้างขวางมีปริมาณเพียงพอ ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าในการใช้บริการห้างสรรพสินค้าของจำเลย ดังนั้น จำเลยย่อมมีหน้าที่จัดการดูแลรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของผู้มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างสรรพสินค้าของจำเลย เมื่อจำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยแจกบัตรและควบคุมดูแลการเข้าออกของรถยนต์ลูกค้า เป็นการเปิดโอกาสให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของผู้เอาประกันภัย จึงถือว่าจำเลยกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง ถือว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย โจทก์จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยฟ้องไล่เบี้ยจากจำเลยได้ จำเลยทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกไว้กับจำเลยร่วม ซึ่งตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ระบุความรับผิดในเรื่องผลกระทบจากผู้มาเยือนและยานพาหนะในข้อ 4.8 ว่า ความเสียหายต่อทรัพย์ครอบครองโดยกรรมการ ผู้มาเยือนหรือลูกจ้างของผู้เอาประกันภัยซึ่งความเสียหายดังกล่าวรวมถึงความสูญหายด้วย การที่รถยนต์ของลูกค้าสูญหายในบริเวณพื้นที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าแม้จะเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอกแต่จำเลยในฐานะผู้เอาประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกต้องรับผิดในความสูญหาย จำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องร่วมรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 907/2561
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 5 จะบัญญัติว่า "ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้องกระทำโดยสุจริต" แต่มาตรา 6 ก็บัญญัติต่อไปว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" โจทก์ที่ 1 จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยสุจริต จำเลยที่ 2 จะต้องให้การโดยแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตอย่างไร เพื่อให้เป็นประเด็นข้อพิพาทในคำให้การจึงจะนำสืบหรือยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ฎีกาเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานในกฎหมายดังกล่าวได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริตไว้ จึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาท ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม) ซึ่งใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง
ในการยื่นคำให้การ จำเลยต้องแสดงให้ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธนั้นด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ทั้งนี้เพื่อก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทที่คู่ความต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของฝ่ายตน เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การเพียงว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีรายได้จากการทำงานพิเศษ โจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ได้เป็นผู้จ่ายค่ารักษาพยาบาล บริษัทที่รับประกันวินาศภัยและประกันชีวิตของโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จ่ายทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 นั้น เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่มาเป็นเหตุแห่งการปฏิเสธ อันเป็นคนละเหตุกับที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2561 โจทก์ฟ้องจำเลยขอหย่า ขอแบ่งสินสมรส ขอถอนอำนาจปกครองจำเลย และขอให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยยินยอมที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว การที่โจทก์จะเรียกให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่ตนได้นั้น โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ครบหลักเกณฑ์ 3 ประการว่า เหตุแห่งการหย่าในคดีนี้เป็นความผิดของจำเลยแต่เพียงฝ่ายเดียว การหย่านั้นทำให้โจทก์ยากจนลงเพราะไม่มีรายได้จากทรัพย์สินหรือจากการงานที่เคยทำอยู่และโจทก์จะต้องฟ้องเรียกค่าเลี้ยงชีพมาในคดีฟ้องหย่า เมื่อคดีนี้โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระหว่างพิจารณาโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีประเด็นฟ้องหย่าต่อศาลให้วินิจฉัย และไม่มีกรณีที่จะถือได้ว่าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายใด จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 เมื่อมิได้ตกลงกันไว้ในเรื่องค่าเลี้ยงชีพ ย่อมไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะมาเรียกค่าเลี้ยงชีพได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 874/2561
จำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า จึงมีคำสั่งให้จำเลยหาหลักประกันหรือนำเงินจำนวน 1,620,000 บาท มาวางต่อศาลภายในกำหนด 1 เดือน เพื่อเป็นหลักประกันการชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยหาหลักประกันหรือนำเงินจำนวน 1,620,000 บาท มาวางต่อศาลย่อมเป็นที่สุด ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคห้า (เดิม) จำเลยไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาได้อีก ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ได้สั่งคืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 861/2561
จำเลยต้องยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 แต่จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 วัน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้ยื่นได้ภายในวันที่ 30 มกราคม 2559 ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2559 จำเลยยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาพร้อมคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แทนโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินไปถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 เมื่อถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินดังกล่าวไปอีก 60 วัน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินเป็นครั้งสุดท้ายถึงวันที่ 29 เมษายน 2559 หากไม่วางภายในกำหนดถือว่าไม่ติดใจยื่นอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2559 จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องใช้แทนโจทก์มาวางและยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ เห็นได้ว่า จำเลยมิได้ยื่นคำร้องดังกล่าวมาพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ แต่มายื่นภายหลังเมื่อใกล้ครบกำหนดขยายระยะเวลาวางเงินครั้งสุดท้ายตามคำสั่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยตกเป็นผู้ไม่สามารถเสียค่าธรรมเนียมศาลได้ในภายหลัง จึงเป็นการยื่นคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่ง ชอบที่ศาลจะยกคำร้องได้
ทั้งเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งยกคำร้องของจำเลยดังกล่าวแล้ว จำเลยก็มีสิทธิอุทธรณ์ แต่ก็หาได้ใช้สิทธิตามช่องทางที่กฎหมายกำหนดไว้ กลับยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลที่สั่งยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลโดยมิได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยนำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระ และสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยอ้างว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ เห็นได้ชัดถึงเจตนาของจำเลยที่ยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลกำหนดเวลาวางเงินค่าธรรมเนียมศาลใหม่อันมีลักษณะเป็นการประวิงคดีเท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยกคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์โดยมิได้กำหนดระยะเวลาวางเงินและมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเพราะมิได้วางเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 847/2561
แม้จำเลยให้การว่าที่พิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยได้ก่นสร้างแผ้วถางปรับสภาพที่ดินจนกลายเป็นที่นา ทางราชการจึงออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย ส่วนที่ดินที่เป็นทรัพย์มรดกของ ช. กับ ป. ได้มีการแบ่งปันให้แก่ทายาททุกคนแล้ว แต่การที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้ช่วย ช. บิดาจำเลยแผ้วถางที่ดินพิพาทจนบิดายกที่ดินดังกล่าวให้จำเลยโดยโจทก์และพี่น้องคนอื่น ๆ ไม่เคยคัดค้านว่าที่ดินพิพาทยังเป็นทรัพย์มรดก ทั้ง ด. กับ ล. พยานจำเลยเบิกความถึงเรื่องที่ ป. ยกที่ดินพิพาทให้จำเลย ดังนั้น ที่ ป. พูดกับบุตรทุกคนว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยก็เพื่อให้บุตรทุกคนรับรู้ว่า ช. ได้ยกที่ดินพาทให้จำเลยครอบครองทำกินแต่ผู้เดียว ทางนำสืบของจำเลยจึงไม่นอกเหนือคำให้การต่อสู้แต่อย่างใด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842/2561
ผู้ร้องทั้งสามเข้าร่วมประชุมและทราบถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการมาโดยตลอด การประชุมในวันที่ 27 มีนาคม 2558 ผู้ร้องทั้งสามแถลงรับข้อเท็จจริงและแถลงไม่คัดค้านที่คณะอนุญาโตตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ข้อพิพาทในคดีนี้มีข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ให้งดสืบพยาน นอกจากนี้ คู่พิพาทมิได้ตกลงกันกำหนดอำนาจคณะอนุญาโตตุลาการไว้เป็นอย่างอื่น คณะอนุญาโตตุลาการจึงมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรตามที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 และ 30 ให้อำนาจไว้ การวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นไปตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่คู่พิพาทแถลงรับ ไม่ปรากฏว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ส่วนการที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทเสร็จเด็ดขาดโดยให้ยุติกระบวนพิจารณาตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 38 วรรคสอง (3) ก็เป็นอำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการที่เห็นว่าสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปจนมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทได้ ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาต่าง ๆ ของคณะอนุญาโตตุลาการจนกระทั่งมีคำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทจึงเป็นไปตามขอบเขตของกฎหมาย คำร้องของผู้ร้องทั้งสามไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสาม (1) (ค) และ (2) (ก) (ข) ที่ศาลจะเพิกถอนคำชี้ขาดได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2561 จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชน ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเพราะเป็นผู้รักษาทรัพย์มรดกไว้แทนโจทก์ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 840/2561 ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนตามกฎหมายดินแดนหมู่เกาะเวอร์จิน ผู้ร้องจึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและถือว่าเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 การที่นิติบุคคลที่กฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าว จะมีกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ต้องเป็นนิติบุคคลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งบัญญัติว่า "...นิติบุคคลซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นคนต่างด้าวอาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดได้ ถ้าเป็น...นิติบุคคลดังต่อไปนี้...(4) นิติบุคคลซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 และได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน..." เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 ผู้ร้องผู้จะซื้อจะขายถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้คัดค้านผู้จะขายตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดลงวันที่ 12 สิงหาคม 2548 ได้ ผู้ร้องจะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 19 (4) ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน จึงถือไม่ได้ว่าบริษัทผู้ร้องซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 มีคุณสมบัติที่จะถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามสัญญาดังกล่าวได้ปรากฏตามหนังสือรับรองบริษัทผู้ร้องว่า บริษัทผู้ร้องมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจการลงทุนทั่วไปและถือครองทรัพย์สินในการประกอบกิจการของบริษัทผู้ร้อง จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่าก่อนที่บริษัทผู้ร้องจะเข้าถือครองทรัพย์สินโดยซื้อทรัพย์สินในต่างประเทศ ผู้ร้องได้ศึกษากฎหมายของประเทศที่ผู้ร้องจะไปซื้อทรัพย์สินแล้วว่าบริษัทผู้ร้องมีคุณสมบัติที่จะเข้าถือครองทรัพย์สินในประเทศนั้นได้หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้ร้อง ในคดีนี้ปรากฏตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดว่า ห้องชุดที่ผู้ร้องจะซื้อจากผู้คัดค้านมีราคาสูงถึง 72,960,361 บาท จึงมีเหตุผลให้เชื่อว่า บริษัทผู้ร้องได้ศึกษากฎหมายไทย โดยเฉพาะประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 และ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 แล้ว และทราบดีว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นคนต่างด้าวตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 จะถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดที่ประเทศไทยได้ บริษัทผู้ร้องต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนก่อน ส่วนบริษัทผู้คัดค้านผู้จะขายห้องชุดให้แก่ผู้ร้องซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ถือว่าเป็นคนต่างด้าว ก็ต้องตรวจสอบก่อนว่าบริษัทผู้ร้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามบทกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือไม่ และเชื่อว่าผู้คัดค้านตรวจสอบแล้วทราบดีว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน การที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทราบดีว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน แต่ยังเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกัน สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2548 จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ที่ผู้ร้องอุทธรณ์และนำสืบว่า ผู้คัดค้านปฏิบัติผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไม่ส่งมอบห้องชุดให้ผู้ร้องภายในกำหนด ผู้ร้องกับผู้คัดค้านจึงทำบันทึกยกเลิกการซื้อขายห้องชุดและตกลงกันตามข้อตกลง เปลี่ยนข้อตกลงเดิมเป็นการตกลงคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วบางส่วนนั้น แม้ผู้ร้องกับผู้คัดค้านจะมิได้ตกลงยกเลิกการซื้อขายห้องชุดดังกล่าวและมิได้ตกลงให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วบางส่วนก็ตาม แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดตกเป็นโมฆะ และหากผู้คัดค้านต้องคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วน ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ก็บัญญัติให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้แห่งประมวลกฎหมายนี้มาใช้บังคับ เมื่อผู้คัดค้านผิดนัดไม่คืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องได้ให้แก่ผู้คัดค้านบางส่วนตามข้อตกลงผู้ร้องจึงเสนอข้อพิพาทให้คณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ชี้ขาดตามข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการ ข้อ 4.2 ในบันทึกข้อตกลง ซึ่ง ส. คณะอนุญาโตตุลาการที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านแต่งตั้งตามข้อ 4.2 ในบันทึกข้อตกลงก็ได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 ตามคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านคืนเงินจำนวน 17,136,747.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี นับแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2556 จำนวน 7,134,408.14 บาท และดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไปจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน ค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท และค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายของคณะอนุญาโตตุลาการกึ่งหนึ่งที่ผู้ร้องทดรองจ่ายแทนผู้คัดค้านไปก่อนจำนวน 65,258 บาท แก่ผู้ร้อง การที่ผู้ร้องจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดตามกฎหมายดินแดนหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ซึ่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 281 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 3 ถือว่าเป็นคนต่างด้าวรู้อยู่แล้วว่าผู้ร้องยังไม่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 19 (4) ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อห้องชุดจากผู้คัดค้านซึ่งตกเป็นโมฆะ และผู้ร้องได้ชำระค่าห้องชุดให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วนถือเป็นการที่ผู้ร้องได้กระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอันฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่อาจเรียกร้องให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าห้องชุดที่ผู้ร้องชำระให้แก่ผู้คัดค้านไปบางส่วนในฐานลาภมิควรได้แก่ผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 ได้ ซึ่งบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 411 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดตามคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านคืนเงินแก่ผู้ร้องตามข้อตกลง จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดที่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 411 ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการย่อมเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลชอบที่จะมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 833/2561
ความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม เป็นความผิดสำเร็จเมื่อยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ รับเรื่อง ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยื่นเอกสารราชการปลอมตามฟ้องต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ตรวจเอกสารเพื่อยื่นซองประกวดราคาจึงเป็นความผิดสำเร็จแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 830/2561
แม้คดีนี้จำเลยถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นภูมิลำเนาจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 เรือนจำกลางเขาบินจึงเป็นที่อยู่ของจำเลย ศาลชั้นต้นมีอำนาจรับคดีไว้พิจารณาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 (1) แต่บทกฎหมายดังกล่าวมิได้เป็นบทบังคับให้ศาลชั้นต้นจะต้องรับฟ้องไว้พิจารณาเสมอไป แต่อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะรับคดีไว้พิจารณาหรือไม่ เมื่อนับถึงวันที่ศาลฎีกาพิพากษาคดีนี้ เป็นระยะเวลา 4 ปีเศษ ใกล้เวลาที่จำเลยจะพ้นโทษตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.2057/2556 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการแล้ว ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็อยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดสมุทรปราการ การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ในศาลจังหวัดสมุทรปราการที่มูลคดีเกิดจึงเป็นการสะดวกมากกว่า ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งไม่ประทับฟ้อง จึงชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2561 ร. เอาประกันภัยรถจักรยานยนต์ไว้กับโจทก์ เป็นการเอาประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งมาตรา 7 บังคับให้เจ้าของรถซึ่งใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ต้องจัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ โจทก์ต้องจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 และ 25 เมื่อได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้กระทำให้เกิดความเสียหายได้ตามมาตรา 31 อันเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์รับช่วงสิทธิของผู้ประสบภัยมาฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่จำเลย ทั้งไม่เข้าเหตุที่จะรับช่วงสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 เพราะผู้ประสบภัยไม่ใช่ผู้เอาประกันภัย โดยเดิม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 31 วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 บัญญัติให้การใช้สิทธิไล่เบี้ยต้องกระทำภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ตัวผู้ซึ่งต้องรับผิด แต่ทั้งนี้ ต้องไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัย แต่ต่อมามี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2550 มาตรา 11 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ให้ยกเลิกวรรคสองของมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2540 โดยมิได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ใช้ข้อความใหม่แทนข้อความเดิมที่ถูกยกเลิกไป จึงเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไล่เบี้ยไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ที่โจทก์จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นให้แก่ผู้ประสบภัยจนถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดี ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801/2561
จำเลยที่ 1 กับพวก กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 282 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6, 52 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 เมื่อผู้เสียหายทั้งสิบเจ็ดเป็นบุคคลสัญชาติลาวถูกชักชวนให้มาทำการค้าประเวณีในประเทศไทยโดยจำเลยที่ 1 กับพวกรวมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่กันทำ โดยเฉพาะชักชวนผู้เสียหายบางคนไปทำการค้าประเวณี พาผู้เสียหายดังกล่าวจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมายังประเทศไทย แล้วพาไปที่ร้านคาราโอเกะเพื่อทำการค้าประเวณี โดยมี ห. พวกของจำเลยที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งจากการค้าประเวณี จึงเป็นองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดในเขตแดนรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ และเป็นความผิดที่กระทำในประเทศไทยตั้งแต่การตระเตรียม การวางแผน การสั่งการ การสนับสนุน ได้กระทำในรัฐอีกรัฐหนึ่ง จึงเข้าลักษณะเป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2561
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่งเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง" แม้โจทก์จะนำสืบข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 336 ทวิ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพโดยรับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 กระทำความผิดตามบันทึกการจับ เอกสารหมาย จ.6 ก็ตาม แต่เมื่อคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ระบุมาตรา 336 ทวิ ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษสูงขึ้น อันเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามมาตรา 336 ทวิ ศาลย่อมไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ ได้ เพราะเป็นการเกินคำขอที่โจทก์มิได้กล่าวในฟ้องทั้งกรณีมิใช่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสี่ และวรรคห้า ปัญหาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำขอ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 3 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องรับโทษดุจจำเลยที่ 3 ผู้ฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2561 ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย โจทก์ร่วมซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ไม่มีอำนาจเข้ามาจัดการแทนผู้ตาย และไม่มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการซึ่งเป็นโจทก์เดิม ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมโดยวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายกระทำความผิดเพียงฝ่ายเดียว จึงไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ดี บ. มารดาของผู้ตายยังคงมีสิทธิเรียกร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ บ. ซึ่งเป็นผู้เสียหายในทางแพ่งชอบที่เรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ แต่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมากน้อยเพียงใด ย่อมต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบมาตรา 223 ที่ให้พิจารณาว่าความเสียหายได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร เมื่อผู้ตายกับจำเลยทั้งสองมีเรื่องบาดหมางกันมาก่อนอันสืบเนื่องมาจากการทำงาน วันเกิดเหตุผู้ตายกวักมือมายังจำเลยทั้งสอง แล้วจำเลยทั้งสองกับผู้ตายชกต่อยกันจนจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ บ. สองในสามส่วน ของค่าสินไหมทดแทนที่ บ. จะได้รับ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 743/2561
การที่จำเลยซึ่งเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ย่อมต้องการให้มีผู้มาซื้อสินค้าและใช้บริการเป็นจำนวนมากซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อรายได้ของจำเลย การจัดให้มีลานจอดรถเป็นการให้บริการอย่างหนึ่งของจำเลยแก่ลูกค้า ดังนั้น การที่จำเลยยอมให้บุคคลทั่วไปนำรถยนต์มาจอดที่ลานจอดรถไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องดูแลรถที่ลูกค้าของจำเลยนำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า จำเลยจึงมีหน้าที่ในการดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดในลานจอดรถของห้างสรรพสินค้าจำเลยและรับฟังได้อีกว่าก่อนเกิดเหตุจำเลยได้จัดให้มีการแจกบัตรเข้าออกสำหรับรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้ามาจอดแต่ขณะเกิดเหตุได้ยกเลิกการแจกบัตรเข้าออกและนำกล้องวงจรปิดมาติดตั้งไว้บริเวณทางเข้าออกลานจอดรถแทนซึ่งการติดตั้งกล้องวงจรปิดก็เป็นเพียงอุปกรณ์บันทึกภาพรถยนต์เข้าออกเท่านั้น ดังนั้น จึงเท่ากับจำเลยงดเว้นหน้าที่ที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าโดยให้ลูกค้าต้องเสี่ยงภัยเอง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2561 จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 8 กันยายน 2547 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2556 และมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 24 กันยายน 2556 จนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์รับว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าโจทก์โดยตกลงผ่อนชำระเป็นงวดๆ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิด จำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้หนี้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2) และมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากยังอยู่ในเวลาสองปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1087
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 734/2561 โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีผู้เป็นหุ้นส่วน 6 คน คือ โจทก์ทั้งสี่ อ. สามีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 บริหารกิจการห้างฯ จำเลยที่ 1 ในลักษณะก่อให้เกิดความเสียหาย ต่อมามีมติเสียงข้างมากให้โจทก์ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทนจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงต่อนายทะเบียน จำเลยที่ 2 ใช้อำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการในการลงมติแต่งตั้ง ถอดถอนกรรมการของบริษัท ผ. และบริษัท ท. ที่ห้างฯ จำเลยที่ 1 ถือหุ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวก โจทก์ทั้งสี่และจำเลยที่ 2 ต่างฟ้องร้องดำเนินคดีแพ่งและอาญาจากมูลเหตุการบริหารงานของห้างฯ จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 24 มิถุนายน 2556 บอกเลิกห้างฯ เป็นเวลามากกว่า 6 เดือน ก่อนสิ้นรอบปีชำระบัญชีขอให้เลิกห้างและจัดการชำระบัญชีนั้น ตามคำฟ้องจึงเป็นการบรรยายสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสี่และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างฯ จำเลยที่ 1 ได้กระทำล่วงละเมิดบทบังคับอันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่โจทก์ทั้งสี่โดยจงใจ มีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่เมื่อบทบัญญัติในเรื่องห้างหุ้นส่วนจำกัดไม่ได้กล่าวถึงว่าหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมีสิทธิขอเลิกห้างฯ ได้หรือไม่ จึงต้องนำบทบัญญัติในเรื่องการเลิกห้างฯ ของห้างหุ้นส่วนสามัญมาใช้บังคับตามที่มาตรา 1080 บัญญัติไว้ และมีผลให้หุ้นส่วนคนใดอาจร้องขอให้ศาลสั่งเลิกห้างฯ ตามมาตรา 1057 (3) ได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสี่เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ย่อมมีอำนาจฟ้องขอเลิกห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. จำเลยที่ 1 และจัดการชำระบัญชีได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 733/2561
การใช้รถยนต์ในทางผิดกฎหมายโดยใช้ขนยาเสพติด ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 7.2 หมวดการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก มีเจตนายกเว้นการใช้รถยนต์เพื่อประโยชน์ในการทำผิดกฎหมายโดยตรงเท่านั้น การที่พบถุงปุ๋ยซุกซ่อนอยู่บริเวณช่องว่างของเครื่องยนต์รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับ แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยที่ 1 ว่าต้องการใช้รถกระบะเพื่อซุกซ่อนพืชกระท่อมเท่านั้น ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้รถกระบะในทางผิดกฎหมายโดยใช้ขนยาเสพติดโดยตรง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 722/2561 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ ส่วนโจทก์ที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ คดีสำหรับโจทก์ที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 2 ไม่อาจฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ โจทก์ที่ 1 กล่าวอ้างว่าพินัยกรรมเกิดขึ้นโดยกลฉ้อฉล อาศัยความชราและสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ของผู้ตาย ไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเป็นโมฆะ ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์ที่ 1 ผู้กล่าวอ้าง ผู้ตายได้ลงลายพิมพ์นิ้วมือต่อหน้าพยาน ผู้พิมพ์ ผู้เขียน ครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติ พินัยกรรมจึงมีผลบังคับตามกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 714/2561
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสี่ที่ว่า สัญญาร่วมลงทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นไม่ใช่สัญญาร่วมลงทุน แต่เป็นลักษณะของการกู้ยืมเงินและการคิดดอกเบี้ย จึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ที่ให้ศาลมีอำนาจในการวินิจฉัยเท่านั้น คณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปรับลดอัตราค่าตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี เป็นอัตราค่าตอบแทนร้อยละ 6 ต่อปี นั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ผู้คัดค้านมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความตามข้อต่อสู้ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสี่รับฟังไม่ได้ตามที่ต่อสู้ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสี่จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริง ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะอุทธรณ์ได้ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545
บันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาร่วมทุนและสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ข้อ 12 เป็นเรื่องคำรับรองของผู้ถือหุ้นหลัก อันได้แก่ ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 และข้อตกลงซื้อหุ้นคืนเป็นข้อตกลงระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 กับผู้ร้องโดยตรง ผู้คัดค้านที่ 1 หาได้เกี่ยวข้องหรือรับที่จะซื้อหุ้นคืนจากผู้ร้องไม่ การที่อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านที่ 1 ร่วมรับผิดกับผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 ด้วย จึงเป็นคำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาท ซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ แต่ศาลชั้นต้นกลับไม่ทำคำสั่งปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดในส่วนนี้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 43 (4) ย่อมเป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 692/2561
ป.อ. มาตรา 140 วรรคสาม บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีอาวุธปืนต้องได้รับโทษหนักกว่าโทษตามที่กฎหมายบัญญัติในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง ก็เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ แม้อาวุธปืนที่ยึดได้จากรถคันเกิดเหตุจะถูกซุกซ่อนอยู่ใต้ที่นั่งด้านหน้าข้างคนขับ จำเลยที่ 1 ไม่ได้พกติดตัวหรือวางในลักษณะพร้อมหยิบฉวยได้ทันทีก็ตาม แต่อาวุธปืนมีกระสุนปืนบรรจุอยู่ในรังเพลิงพร้อมใช้งานได้ทันที นับเป็นอันตรายต่อเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติตามหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ประกอบมาตรา 140 วรรคสาม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2561
ไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นจำเลยได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นตัวแทนว่าจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่
มติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2557 ของนิติบุคคลอาคารชุด ช. ที่ลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 1 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการและรักษาการผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 2 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด นั้น ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/2 (3) ไม่ได้กำหนดให้เจ้าของร่วมต้องลงลายมือชื่อแต่งตั้งตัวแทนในการร้องขอเปิดประชุม แต่บัญญัติให้เจ้าของร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดมีสิทธิจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ โดยให้แต่งตั้งตัวแทนคนหนึ่งเพื่อออกหนังสือเรียกประชุมเท่านั้น การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งนี้ของนิติบุคคลอาคารชุด ช. จึงเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนการกำหนดวาระการประชุมเป็นเพียงการกำหนดหัวข้อการประชุมว่ามีเรื่องประชุมอะไรบ้าง และไม่จำเป็นต้องประชุมตามวาระการประชุม เนื่องจากต้องพิจารณาความสำคัญของหัวข้อการประชุมและความเกี่ยวพันกัน ประกอบกับผลการลงคะแนนเสียงได้คะแนนเกินกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 49 ดังนั้น มติเห็นชอบแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และมติถอดถอนโจทก์ทั้งสองให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2561
ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 บัญญัติห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่ (1) - (5)
คดีนี้ผู้ร้องอุทธรณ์อ้างเหตุขัดข้องที่ทำให้ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในทำนองว่า หากผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านทั้งสองเข้ารับโอนหุ้นของบริษัท ม. ภายหลังจากบริษัท ม. ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว แม้ยังอยู่ในระยะเวลาที่กฎหมายให้สิทธิผู้ร้องขอให้ศาลออกคำบังคับให้ผู้คัดค้านรับโอนหุ้นบริษัท ม. จากผู้ร้อง ผู้ร้องก็ไม่อาจดำเนินการโอนหุ้นบริษัท ม. ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสองได้ เพราะอำนาจจัดการทรัพย์สินของบริษัท ม. ตกอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แล้ว อุทธรณ์ของผู้ร้องดังกล่าว ไม่เข้าเหตุยกเว้นตาม มาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 655/2561
ข. ติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ได้แจ้งแก่จำเลยแล้วว่า ตนเองขอซื้อ 13 เม็ด และ ป. ขอซื้อ 10 เม็ด โดย ข. มอบเงินค่าเมทแอมเฟตามีนทั้งหมดให้จำเลย แต่ขณะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่กัน จำเลยเตรียมเมทแอมเฟตามีน แยกมาสำหรับ ข. 13 เม็ด และสำหรับ ป. 10 เม็ด แยกกันส่งมอบให้แต่ละคนตามจำนวนที่ขอซื้อ อันแสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยได้อย่างชัดเจนว่า ตั้งใจจะจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้ ข. 13 เม็ด แยกต่างหากจากที่จำหน่ายให้ ป. 10 เม็ด การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดสองกรรมต่างกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 620/2561
คดีนี้แม้จะไม่มีประจักษ์พยานขณะจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายก็ตาม แต่พยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งประกอบด้วยบันทึกคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 คำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 2 ในชั้นสอบสอนพยานบุคคลแวดล้อมกรณี วัตถุพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องเชื่อมโยงเป็นลำดับ ทั้งมีรายละเอียดเอกสารจากหน่วยงานต่าง ๆ ลำดับเหตุการณ์ไว้ทุกขั้นตอนยากที่จะปรุงแต่งขึ้นได้ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าขณะเกิดเหตุอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุก็ดี ถูกทำร้ายจนต้องรับสารภาพก็ดี ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 596/2561
การชักชวนให้บุคคลทั่วไปหรืออย่างน้อยตั้งแต่สิบคนขึ้นไปมาทำการกู้ยืมเงินกันโดยการโฆษณาหรือประกาศให้ปรากฏต่อประชาชน คือการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วๆไป ไม่จำกัดว่าด้วยการโฆษณาทางสื่อมวลชนหรือป่าวประกาศต่อประชาชนในสถานที่ต่างๆ จึงไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองกับพวกจะต้องกระทำการดังกล่าวต่อผู้เสียหายแต่ละคนด้วยตนเองตั้งแต่ต้นทุกครั้งเป็นคราวๆไป เพียงแต่จำเลยทั้งสองกับพวกแสดงข้อความหลอกลวงให้ปรากฏแก่ผู้เสียหายบางคนแล้วเป็นผลให้ประชาชนหลงเชื่อและนำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองกับพวกก็ถือเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยที่ 2 จะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 1 และ พ. หรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 558/2561
โจทก์ได้ส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่โจทก์อ้างว่าเสียหายให้แก่บริษัท ท. โดยมีการชำระราคาและออกใบกำกับภาษีแล้ว ความรับผิดทางภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเกิดขึ้นแล้ว หากต่อมาเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงดังกล่าวเกิดความเสียหายและโจทก์ได้เปลี่ยนของใหม่ทดแทนของเดิมและได้รับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงที่เสียหายกลับคืนมา โจทก์มีหน้าที่ต้องออกใบลดหนี้สำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงตามจำนวนที่เสียหายและนำภาษีขายนั้นมาหักออกจากภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ได้ออกใบลดหนี้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 86/10 ประกอบคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.80/2542 และเมื่อโจทก์ได้ส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงจำนวนใหม่ทดแทนของเดิม กรณีจึงเกิดความรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงใหม่ที่นำมาทดแทน โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีตั้งแต่เมื่อมีการส่งมอบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงจำนวนใหม่โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์แล้วหรือไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 549/2561
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงคดีที่โจทก์อาศัยเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษและมีคำขอให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 92 แม้ศาลชั้นต้นไม่ได้สอบคำให้การจำเลยที่ 1 ว่า เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ แต่โจทก์ได้อ้างส่งบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การว่า เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ และพ้นโทษเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 และจำเลยที่ 1 ยังเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามติงว่า จำเลยที่ 1 พ้นโทษออกจากเรือนจำกลางสุรินทร์ในข้อหาลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 ต่อมาอีก 27 วัน ก็ถูกจับกุมคดีนี้ อันสอดคล้องกับบันทึกคำให้การดังกล่าว และได้ความตรงกับคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษตามฟ้องว่า จำเลยเคยต้องโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ของศาลชั้นต้นจริง เมื่อพ้นโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกภายในเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษ ถือว่าโจทก์ได้นำสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงนั้นแล้ว จึงเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ตามคำขอของโจทก์ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2561 แม้จำเลยที่ 2 มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและได้แจ้งย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าวแล้วโดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งย้ายเข้าที่ใด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ธ. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ที่ทำการบริษัทดังกล่าวจึงเป็นสำนักทำการงานที่สำคัญอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหลายแห่ง โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้ และถึงแม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีภูมิลำเนาและมูลคดีไม่ได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์และขณะยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ยังศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5,
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 504 - 506/2561
ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม จำคุก 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมกำหนดขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี อันเป็นการพิพากษาแก้ไขเฉพาะระยะเวลาการฝึกอบรม ซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18 จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ความผิดฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 6 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 5 ปี ขั้นสูงไม่เกินกว่า 7 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 279 รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ปี ขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี จึงเป็นการพิพากษาแก้ทั้งบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาฝึกอบรมอันเป็นการแก้ไขมาก แต่เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 2 ปี จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า อวัยวะเพศของจำเลยได้ผ่านอวัยวะเพศของผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เข้าไปแล้วจึงเป็นความผิดสำเร็จฐานกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 3 และที่ 5 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 317 วรรคสาม ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฏว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
คดีนี้ จำเลยถูกควบคุมตัวในระหว่างอุทธรณ์ โดยสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช รับตัวจำเลยไว้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2559 หากผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นสมควรย้ายเด็กหรือเยาวชนไปควบคุมในสถานพินิจอื่นหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 จะต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินจะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ได้ แต่ต้องรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 41 (7) แต่คดีนี้ไม่ปรากฏว่าสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับอนุญาตจากศาลให้ย้ายเด็กหรือเยาวชนไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงก่อน หรือหากจะถือว่ามีเหตุฉุกเฉินที่จะย้ายเด็กหรือเยาวชนไปก่อนก็ไม่ปรากฏว่ามีการรายงานให้ศาลทราบ การส่งตัวจำเลยไปเข้ารับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านบึงจึงเป็นการไม่ชอบ และการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาปล่อยจำเลยไปเมื่อครบกำหนดฝึกอบรมขั้นต่ำทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุดก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อจำเลยถูกควบคุมในระหว่างพิจารณาคดีจึงให้หักจำนวนวันที่จำเลยอยู่ในความควบคุมตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 83 วรรคหนึ่งด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2561
การกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม ไม่ต้องถึงขนาดเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังทำให้เด็กปราศจากอิสระในการเคลื่อนไหว เพราะการกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดต่อเสรีภาพอีกต่างหาก "พราก" ตามพจนานุกรมมีความหมายว่า จากไป หรือแยกออกจากกัน ดังนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่ว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นเด็กยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 การที่จำเลยนัดแนะ หรือแยกผู้เสียหายที่ 2 ไปยังที่ต่างๆในโรงเรียน จำเลยได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 1 หรือไม่ และมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โดยบทกฎหมายดังกล่าวประสงค์ที่จะลงโทษผู้ที่ละเมิดอำนาจปกครองดูแลเด็กของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล อันเป็นการคุ้มครองเด็กมิให้ถูกล่อลวงไปในทางเสียหาย ดังนั้น แม้หลังถูกกระทำชำเรา ผู้เสียหายที่ 2 มิได้ถูกจำเลยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง มีอิสระในการเคลื่อนไหว และสามารถกลับไปเรียนตามปกติได้ ก็เป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของผู้เสียหายที่ 1 โดยปราศจากเหตุอันสมควร เพื่อการอนาจารแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432/2561
คดีที่ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยเป็นผลสืบเนื่องมาจากเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินซึ่งเป็นหลักประกันขายทอดตลาด เพื่อบังคับชำระค่าปรับเนื่องจากผู้ประกันผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวจำเลยต่อศาลตามนัดในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 15 บัญญัติให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งอุทธรณ์พร้อมสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยเร็ว โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า "ศาลอุทธรณ์" หมายความว่า ศาลอุทธรณ์ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์ภาค ดังนั้น เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้น จึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 417/2561
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 (เดิม) บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดา ... ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) จำคุก 1 ปี เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน มีกำหนดขั้นต่ำ 1 ปี ขั้นสูง 2 ปี จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ เมื่อความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท จึงไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 (เดิม) ที่ศาลอุทธรณ์รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2561
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ... ห้ามมิให้ศาลสั่งกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่กำหนดไว้..." และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ แต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับ ให้นำบทบัญญัติมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับโดยอนุโลม" จากบทบัญญัติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า กรณีเด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับ ไม่ให้มีการกักขังแทนค่าปรับ คงให้ส่งไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมเท่านั้น ซึ่งเป็นบทบัญญัติเฉพาะและเป็นข้อยกเว้น ป.อ. มาตรา 29 ที่ให้กักขังแทนค่าปรับ หรือยึดทรัพย์สิน อายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินเพื่อใช้ค่าปรับ ซึ่งเป็นบททั่วไปเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพ และวิธีปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนให้สามารถที่จะดำเนินชีวิตต่อไปได้และกลับคืนสู่สังคมในสภาพที่ดีขึ้น เมื่อการบังคับคดีตามคำพิพากษาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเสร็จสิ้น โดยจะเห็นได้จากวรรคสองแห่งมาตรา 145 ดังกล่าว ที่ให้นำมาตรา 30/1 มาตรา 30/2 และมาตรา 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้โดยอนุโลมเท่านั้น มิได้กล่าวถึงมาตรา 29 แห่ง ป.อ. แต่ประการใด โจทก์ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ออกหมายยึดทรัพย์สินหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาในกรณีที่จำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 29 วรรคหนึ่ง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 415/2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง 57, 67, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษและลดโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 5 เดือน และปรับ 7,000 บาท อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา ขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145
โจทก์ยื่นคำร้องว่า พ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับต่อศาลแล้ว แต่จำเลยยังไม่ชำระค่าปรับ ขอให้ออกหมายบังคับคดี นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านการใช้ดุลพินิจของศาลชั้นต้นส่วนนี้ว่าไม่ชอบอย่างไร ทั้งมาตรา 145 เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อใช้กับเด็กหรือเยาวชนที่ต้องโทษปรับ ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม โดยบัญญัติชัดแจ้งว่า ถ้าเด็กหรือเยาวชนไม่ชำระค่าปรับ ห้ามมิให้ศาลกักขังเด็กหรือเยาวชนแทนค่าปรับ แต่ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี เท่ากับเจตนารมณ์ของมาตราดังกล่าวเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับคดีในการชำระค่าปรับแก่เด็กหรือเยาวชนที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับว่าให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนคือการส่งฝึกอบรมเท่านั้น หาใช่ใช้การกักขังแทนค่าปรับ หรือมุ่งบังคับในทางทรัพย์สินของเด็กและเยาวชนแต่อย่างใด จึงเป็นบทบัญญัติที่ยกเว้น มาตรา 29 หาจำต้องใช้มาตราดังกล่าวแก่จำเลยตามฎีกาของโจทก์ไม่
เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาถึงวิธีการบังคับโทษปรับจำเลยไว้ว่า หากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับไม่เกินหนึ่งปี ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 วรรคหนึ่งแล้ว จึงไม่มีกรณีต้องนำมาตรา 145 วรรคสอง ที่บัญญัติให้นำมาตรา 30/1, 30/2 และ 30/3 แห่ง ป.อ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับแต่ไม่มีเงินชำระค่าปรับมาใช้แต่อย่างใด
ทั้ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี เพื่อตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้ และไม่กระทบต่อการที่ศาลขังผู้ต้องโทษแทนค่าปรับ เมื่อจำเลยมิได้ชำระค่าปรับและยังมิได้ถูกกักขัง โจทก์จึงสามารถขอออกหมายบังคับคดีได้ ศาลฎีกา เห็นว่า มาตรา 21 วรรคสาม ดังกล่าวหมายถึง กรณีกักขังแทนค่าปรับตาม ป.อ. มาตรา 29 แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นกำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็ก คือหากไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งจำเลยไปฝึกอบรมแทนค่าปรับ ตามพ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โดยเฉพาะ กรณีจึงไม่อาจนำวิธีพิจารณาคดียาเสพติดมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับได้ แม้ว่าจำเลยจะยังมิได้ชำระค่าปรับ และมิได้ถูกฝึกอบรมแทนค่าปรับ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นส่งตัวไปฝึกอบรมมีกำหนดขั้นต่ำ 6 เดือน ขั้นสูง 9 เดือน นับแต่วันพิพากษา หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วยังเหลือระยะเวลาฝึกอบรมเท่าใด ให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 9 จังหวัดสงขลา แทนค่าปรับแต่ไม่เกินหนึ่งปีนั้น ไม่ชัดเจนเรื่องระยะเวลาจำคุกต่อ และระยะเวลาฝึกอบรมแทนค่าปรับ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ชัดเจน หากจำเลยอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ก่อนกำหนดเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำ โดยเห็นควรให้ส่งจำเลยไปจำคุกในเรือนจำเท่าระยะเวลาฝึกอบรมขั้นต่ำที่เหลือ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2560)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 401/2561 แม้ผู้ร้องจะมิได้ร้องขอให้บังคับคดีในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายในสิบปี อันทำให้สิ้นสิทธิในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) แต่อย่างไรก็ดี ทรัพย์สิทธิจำนองของผู้ร้องยังคงอยู่ ซึ่งการบังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิจำนองของผู้ร้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวจากจำเลย ศ. และ ส. จึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะได้เงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินจำนองในคดีนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นคดีนี้ให้เอาเงินที่ได้มานั้นชำระหนี้ตนก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 และในกรณีที่โจทก์สละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้ผู้ร้องดำเนินการบังคับคดีต่อไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคแปด (เดิม)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 392/2561 คดีเดิมที่โจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องให้เพิกถอนการฉ้อฉล เพราะการโอนที่ดินพิพาทของ น. ให้แก่จำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของ น. เสียเปรียบซึ่งผลของคำพิพากษาคดีดังกล่าวมีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทระหว่าง น. และจำเลยที่ 1 ต้องถูกเพิกถอนและ น. ต้องโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อขายเดิม สิทธิของโจทก์ซึ่งนำมาฟ้องคดีนี้จึงเกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลในคดีก่อนนั้นเอง เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้เพื่อให้เป็นไปตามผลของคำพิพากษาคดีก่อน ซึ่งโจทก์ไม่อาจที่จะบังคับคดีในคดีก่อนได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไปแล้ว การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการฉ้อฉล แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทโดยมิชอบ โดยอาศัยสิทธิตามคำพิพากษาในคดีก่อน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 ย่อมนำมา ใช้บังคับไม่ได้ แต่เป็นเรื่องการขอให้บังคับตามสิทธิที่เกิดขึ้นตามคำพิพากษา จึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 193/32 คือ อายุความ 10 ปี คดีเดิมโจทก์ฟ้อง น. และจำเลยที่ 1 ให้เพิกถอนการโอนซึ่งเป็นการโอนที่ดินพิพาทที่ น. โอนให้จำเลยที่ 1 อันเป็นการฉ้อฉลทำให้โจทก์เสียเปรียบ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ใช่คู่ความเดียวกันกับคดีเดิมทั้งหมด และที่สำคัญเป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนให้จำเลยที่ 2 เป็นการโอนคนละรายกัน และประเด็นแห่งคดีไม่ใช่เรื่องเดียวกัน เพราะคดีเดิมมีประเด็นว่า น. โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉลโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีนี้มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 มีอำนาจโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ คดีนี้จึงไม่ใช่ฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 744/2556 ของศาลชั้นต้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 376/2561 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้คืนรถยนต์ของกลาง และยื่นบัญชีระบุพยานเป็นพยานบุคคลสามปาก โดยเป็นพยานนำสองปาก และเป็นพยานนำหรือหมายอีกหนึ่งปาก เมื่อถึงวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเพียงว่า ส. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้ร้องไม่สามารถมาศาลได้ เนื่องจากติดธุระ โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเลื่อนคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 แล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนคำร้องขอคืนของกลางทันทีว่า เนื่องจากผู้ร้องไม่มีพยานมาศาล ผู้ร้องมีความประสงค์จะขอถอนคำร้องขอคืนของกลาง และจะนำคำร้องขอคืนของกลางมายื่นต่อศาลใหม่ภายในอายุความ พฤติการณ์ของผู้ร้อง จึงทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ให้เลื่อนคดีไม่เป็นผล และเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อเอาเปรียบในเชิงคดี อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำร้องเสีย และเมื่อผู้ร้องไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ถูกริบ มิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จึงไม่อาจสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 319/2561 ป.พ.พ. บรรพ 2 หมวด 5 ความระงับแห่งหนี้ ส่วนที่ 1 ถึงส่วนที่ 5 บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปต่อเมื่อได้มีการชำระหนี้ มีการปลดหนี้ มีการหักกลบลบหนี้ มีการแปลงหนี้ใหม่หรือหนี้เกลื่อนกลืนกัน การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้เพียงบางส่วนจาก บ. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกัน ย่อมเป็นประโยชน์แก่โจทก์เฉพาะเท่าที่ปลดหนี้ให้ บ. เท่านั้น เมื่อการชำระหนี้นั้นยังไม่ครบจำนวน ทั้งไม่ปรากฏเหตุอื่นที่อาจทำให้หนี้ดังกล่าวทั้งหมดระงับสิ้นไป แต่ยังมีหนี้ที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระอีก การที่โจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจาก บ. เป็นเพียงโจทก์ยอมรับชำระหนี้บางส่วนจากผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีหนี้ส่วนที่เหลือ จำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้จนครบจำนวน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 685 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหลุดพ้นจากความรับผิดไปกับ บ. ด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับ บ. เมื่อได้ความว่า ทั้งจำเลยที่ 2 และ บ. ต่างทำสัญญาค้ำประกันหนี้รายเดียวกันย่อมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่มิได้ค้ำประกันร่วมกัน แต่ต้องรับผิดร่วมกันดังกล่าวไว้จึงต้องใช้หลักทั่วไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229, 293 และ 296 แม้โจทก์จะยอมรับการชำระหนี้และปลดหนี้ให้ บ. คงเป็นประโยชน์แก่โจทก์เพียงเท่าส่วนของ บ. ชำระให้โจทก์และที่ปลดไป ซึ่งทำให้โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 ในส่วนที่ปลดไปได้เท่านั้น หาทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ส่วนที่เหลือไม่ เมื่อได้ความว่า บ. ชำระหนี้ให้โจทก์ไปเพียง 4,050,000 บาท ยังไม่ครบตามภาระหนี้ที่จำเลยทั้งสองมีต่อโจทก์ จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ตามจำนวนยอดหนี้ที่ค้างชำระในต้นเงิน ดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 272/2561 การที่โจทก์หายไปจากบ้านทิ้งจำเลยกับบุตรสองคนอยู่ตามลำพังนาน 3 เดือน ไม่สามารถติดต่อได้ จำเลยเป็นฝ่ายออกติดตามจนพบว่าโจทก์ไปทำงานอยู่ที่โรงพยาบาล ส. จังหวัดภูเก็ต จำเลยเดินทางไปอยู่กับโจทก์ 3 เดือนต่อครั้ง โดยโจทก์จำเลยยังมีเพศสัมพันธ์กัน แม้โจทก์อ้างว่าการมีเพศสัมพันธ์ไม่เป็นไปตามปกติในความเป็นสามีภริยา แต่การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงย่อมต้องมีความยินยอมพร้อมใจ โดยเฉพาะฝ่ายชายหากไม่ยินยอมพร้อมใจ ย่อมยากที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้ จึงหาใช่โจทก์จำเลยไม่มีเพศสัมพันธ์กันจนทำให้โจทก์เดือดร้อนเกินควรและจนเป็นเหตุหย่าไม่ การที่จำเลยเดินทางไปตามหาโจทก์ที่จังหวัดภูเก็ต พบคลินิกแต่ไม่พบตัวโจทก์ พบแต่ ก. ทำงานในคลินิกและมีห้องนอนอยู่ติดกับห้องนอนโจทก์ในคลินิก แล้วจำเลยก็ไม่สามารถติดต่อโจทก์ได้อีก เมื่อทราบว่าโจทก์มาเรียนต่อเฉพาะทางที่กรุงเทพ จำเลยจึงไปดักพบ โจทก์ไม่ยอมพูดด้วย จำเลยต้องเข้าไปนั่งข้างโจทก์ในห้องเรียน การที่ทันตแพทย์ที่ร่วมเรียนด้วยและอาจารย์ที่สอนพูดว่า โจทก์มีเมียมาคุม น่าจะเป็นคำพูดล้อเล่น ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการกระทำใด ๆ ทำให้โจทก์ต้องอับอาย การที่สามีภริยาปรากฏตัวด้วยกันเป็นครั้งคราวย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั้งจำเลยกลับถูก ก. ที่มานั่งเฝ้าโจทก์ใช้กำลังทำร้ายและตะโกนด่าต่อหน้าบุคคลอื่น เมื่อโจทก์ขอร้องจำเลยก็ใจอ่อนไม่ดำเนินคดี การกระทำของจำเลยจึงหาใช่จำเลยทำให้โจทก์เสียหายเดือดร้อนเกินควรและทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงไม่ จึงไม่เป็นเหตุหย่า สามีภริยามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคสอง เมื่อฝ่ายภริยาคือจำเลยไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ จำเลยย่อมเป็นฝ่ายได้รับการอุปการะเลี้ยงดู แต่เมื่อไม่ได้รับ จึงมีสิทธิเรียกจากฝ่ายสามีคือโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38 ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียม จำเลยฟ้องแย้งเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าเลี้ยงชีพตนเองจากโจทก์ การที่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นฟ้องแย้ง 200 บาท และศาลชั้นต้นสั่งให้ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งจำเลยให้เป็นพับมานั้น จึงไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 157/2561 การที่จำเลยมีหนังสือร้องเรียนโจทก์ในเรื่องความประพฤติส่วนตัวของโจทก์ ซึ่งจำเลยในฐานะภริยาย่อมต้องมีความรักและหึงหวงสามีอันเป็นสิทธิของจำเลยย่อมกระทำได้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาว่ากล่าวตักเตือนโจทก์ อีกทั้งโจทก์ไม่ได้ถูกดำเนินการทางวินัยแต่อย่างใด การที่จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก ส. เป็นอีกคดีหนึ่งจนศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ ส. ชำระค่าทดแทนแก่จำเลย 500,000 บาท ก็แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กระทำเพื่อรักษาสิทธิในครอบครัวเพื่อไม่ให้ ส. เข้ามาเกี่ยวข้องกับโจทก์ซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอันจะทำให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัว แม้จำเลยจะเป็นผู้ออกจากบ้านพักโจทก์ไปก็เพราะโจทก์เปลี่ยนกุญแจบ้านทำให้จำเลยกลับเข้าไปในบ้านไม่ได้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จำเลยสมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์ ทั้งพฤติกรรมของโจทก์ก็เป็นฝ่ายไปยกย่องหญิงอื่นคือ ส. เป็นภริยา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่าหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4) ส่วนที่จำเลยเพียงแต่ใช้นิ้วจิ้มที่หน้าอกและยันที่หน้าอกของ ท. มารดาของโจทก์ 1 ครั้ง การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการใช้กิริยาที่ไม่เหมาะสมและไม่สมควรเยี่ยงบุตรสะใภ้พึงปฏิบัติต่อมารดาของสามีเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจบุพการีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นการร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) จึงไม่มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 156/2561 โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาทั้งแปลง มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องร้องขอให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่สัญญาที่ก่อนิติสัมพันธ์กันเอง การที่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 400,000 บาท แต่เพื่อให้เสียค่าธรรมเนียมน้อยลงจึงแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นการให้แทนการซื้อขายนั้น เป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองนำสืบถึงเจตนาที่แท้จริงของการทำนิติกรรมหรือมูลเหตุที่มาของการทำสัญญาให้ระหว่างจำเลยทั้งสอง แม้สัญญาให้ที่ดินจะระบุว่า จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนเพราะผู้รับการให้เป็นหลานของผู้ให้ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธินำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่า การให้ที่ดินพิพาทตามสัญญาให้เป็นการให้ที่ดินโดยมีค่าภาระติดพันได้ กรณีไม่ใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงเอกสาร อันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 การโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองจึงเป็นการโอนโดยเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองมิได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 145/2561 คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทตามพินัยกรรมเป็นทรัพย์มรดกของ บ. มิใช่ พ. ศาลชั้นต้นยกฟ้อง คดีถึงที่สุด จึงต้องฟังว่าพินัยกรรมของ พ. ถูกต้องสมบูรณ์ และ บ. ไม่ได้รับทรัพย์สินตามพินัยกรรม โจทก์ในฐานะทายาทของ บ. ไม่มีสิทธิขอแบ่งที่ดินพิพาท ฟ้องโจทก์คดีนี้ขอให้แบ่งที่ดินพิพาทจึงเป็นฟ้องซ้ำ เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยถูกต้องแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
- อนึ่ง แม้อุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นและพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีผลเพียงให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีเท่านั้น จึงเป็นการปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ดังนั้น จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกิน 200 บาท ในชั้นอุทธรณ์ให้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 140/2561 แม้คดีนี้จะเป็นคดีที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดโทษให้ใหม่ ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (ที่แก้ไขใหม่) โดยอ้าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่ามาตรา 15 วรรคสาม (เดิม) ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ก็ตาม แต่คำร้องของจำเลยที่ 2 ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้าและภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนี้ เมื่อจำเลยที่ 2 ฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2561 ร. ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามที่กฎหมายกำหนด หาก ร. ทำผิดเงื่อนไข รัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อ ร. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ร. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ร. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ร. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนรับมรดกกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ร. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา1599 และมาตรา 1600 เมื่อมีผู้บุกรุกที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2561 การที่จำเลยถอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชีเงินฝาก ป. รวม 9 ครั้ง เป็นเงิน 4,173,000 บาท ตามที่ได้รับมอบอำนาจจาก ป. เพื่อนำไปให้ ต. ผู้ที่ขายเมทแอมเฟตามีนให้ ศ. กับพวก ถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดการได้มาซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงมีความผิดฐานฟอกเงินตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 5 (2), 60
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2561 ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเกิดในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองตาก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสุโขทัยไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้
ก่อนเกิดเหตุ ส. ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยเพื่อนำมาจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง มิใช่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้ ส. นำไปจำหน่ายก่อน แล้ว ส. จึงโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยโดย ส. ได้กำไรผลต่างที่นำไปจำหน่ายเกินกว่าราคาต้นทุน เมื่อ ส. ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยแล้ว เมทแอมเฟตามีนของกลางย่อมตกเป็นของ ส. เพียงลำพัง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับ ส. แม้ก่อนที่จะจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้ ส. เมทแอมเฟตามีนอยู่ในความครอบครองของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2551 เวลากลางวัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดวันดังกล่าวเท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้เพราะเกินกว่าที่กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 กรณีมิใช่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องเกี่ยวกับเวลาซึ่งมิถือว่าต่างกันในข้อสำคัญ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ ส. ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลย 3 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษปรับ 10,000 บาท สถานเดียว โดยไม่ลงโทษจำคุก เป็นการใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษและเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 80/2561 แม้ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่ได้ผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยาน คงมีบันทึกคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน และภาพถ่ายการชี้ที่เกิดเหตุของผู้เสียหาย อันเป็นเพียงพยานบอกเล่า ซึ่งในการวินิจฉัยพยานบอกเล่าที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังก็ตาม แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า ผู้เสียหายมาศาลและเบิกความเป็นพยานโจทก์ประมาณ 10 นาที ผู้เสียหายแถลงว่าจดจำข้อเท็จจริงและเรื่องราวที่ผ่านมาไม่ได้เนื่องจากเพิ่งคลอดบุตร ทั้งสองฝ่ายแถลงขอเลื่อนไปสืบพยานปากผู้เสียหายในนัดหน้า ศาลชั้นต้นอนุญาต ครั้นถึงวันนัดผู้เสียหายไม่มาศาล ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้เสียหายเพื่อนำตัวมาเป็นพยานหลายนัด แต่ไม่ได้ตัวมา พฤติการณ์ในการหลบหนีและไม่มาเบิกความในชั้นพิจารณาของผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี ศาลย่อมรับฟังคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนซึ่งเป็นพยานบอกเล่าเพื่อลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง และถือได้ว่ามีเหตุอันสมควรที่จะรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายที่เบิกความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1101 - 1102/2546 และ 1420/2549 ของศาลชั้นต้น ที่พวกของจำเลยถูกฟ้องในการกระทำความผิดเดียวกันนี้ประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/5
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2561 สภาพแห่งการบังคับคดีที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมก็ดี หรือชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองก็ดี มิใช่เรื่องที่เปิดช่องให้ทำได้โดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงไม่อาจร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 276 สำหรับหนี้ที่จำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ แม้รถยนต์ตามข้อ 1.7 ถึง 1.10 จำเลยโอนทะเบียนเป็นชื่อของบุตรแล้ว และรถยนต์ตามข้อ 1.11 โจทก์เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องมีการส่งมอบทรัพย์ด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าว ถือว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีทางเจ้าพนักงานบังคับคดีแก่จำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2561 ตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 14 บัญญัติให้คดีความผิดทางอาญาตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว และคดีที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยการเสนอแนะของ กคพ. (คณะกรรมการคดีพิเศษ) เป็นคดีพิเศษที่จะต้องดำเนินการสืบสวนและสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และตามบัญชีท้ายประกาศ กคพ. ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2547) เรื่อง การกำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษฯ ข้อ 3 กำหนดว่า คดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 147 มาตรา 161 มาตรา 162 มาตรา 165 และมาตรา 167 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ที่มีหรือมีมูลน่าเชื่อว่ามีมูลค่าหรือปริมาณของสินค้าหรือบริการที่คำนวณเป็นเงินตั้งแต่สิบล้านบาทขึ้นไป ให้จัดเป็นคดีพิเศษ เมื่อคดีนี้มีมูลความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฯ มาตรา 164 มาตรา 165 และมีมูลค่าของบริการคำนวณเป็นเงินเกินกว่าสิบล้านบาทจึงจัดเป็นคดีพิเศษอยู่ในอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่คดีพิเศษของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไม่จำต้องพิจารณาว่าจะต้องนำคดีนี้ไปขออนุมัติต่อ กคพ. ให้เป็นคดีพิเศษก่อนหรือไม่
โจทก์บรรยายฟ้องแยกการกระทำความผิดของจำเลยเป็นข้อ ๆ โดยบรรยายถึงการกระทำของจำเลยในแต่ละรอบปี และสรุปจำนวนเงินภาษีที่จำเลยกับพวกมิได้ชำระในแต่ละปี มิได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยในแต่ละเดือนว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร จำนวนเงินภาษีที่มิได้ชำระในแต่ละเดือนเป็นเท่าไร ตามคำฟ้องโจทก์มิได้มีเจตนาให้ลงโทษจำเลยในความผิดแต่ละเดือน คงประสงค์ให้ลงโทษในความผิดแต่ละปีตามคำฟ้องแต่ละข้อ จำเลยคงมีความผิดตามคำฟ้องรวม 4 กรรม เท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2561 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยว่า ภายในเวลาที่ศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานีรอการลงโทษให้จำเลยไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 465/2557 จำเลยได้กระทำความผิดคดีนี้อีก และคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้ลงโทษจำคุกจำเลย 4 เดือน โดยไม่ลงโทษปรับ ไม่คุมความประพฤติจำเลยและไม่รอการลงโทษ ศาลอุทธรณ์จึงต้องนำโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวมาบวกเข้ากับโทษของจำเลยคดีนี้ การที่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาให้นำโทษจำคุกของจำเลยที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 465/2557 ของศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี มาบวกเข้ากับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3/2561 สัญญารถขนส่งสินค้ามีผลผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นเวลา 3 ปี โดยอัตราค่าขนส่งยึดตามตารางกำหนดราคาน้ำมันแนบท้ายสัญญา ซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งของสัญญา การที่จำเลยปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งโดยจัดทำช่วงราคาน้ำมันขึ้นใหม่จากเดิมปรับทุกช่วงราคา 2 บาท ต่อลิตร เป็นปรับทุกช่วงราคา 3.50 บาท ต่อลิตร ย่อมทำให้โจทก์เสียหาย และข้อตกลงในสัญญาก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงใดให้จำเลยปรับเปลี่ยนอัตราค่าขนส่งให้แตกต่างจากอัตราค่าขนส่งแนบท้ายสัญญาได้ เมื่อโจทก์ไม่ได้ตกลงยินยอมด้วย การที่จำเลยขอยุติสัญญารถขนส่งสินค้าจึงไม่สามารถกระทำได้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้