มาตรา ๒๒๖ พยานวัตถุ พยานเอกสาร
หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์
ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ
มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น และให้สืบตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นอันว่าด้วยการสืบพยาน
มาตรา ๒๒๖/๑ ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่า
พยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ
หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ
ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น
เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน
ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง
ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ
ดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) คุณค่าในเชิงพิสูจน์
ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น
(๒)
พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี
(๓)
ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ
(๔)
ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่เพียงใด
มาตรา ๒๒๖/๒
ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่น ๆ
หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลย
เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีที่ถูกฟ้อง
เว้นแต่พยานหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑)
พยานหลักฐานที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับองค์ประกอบความผิดของคดีที่ฟ้อง
(๒)
พยานหลักฐานที่แสดงถึงลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลย
(๓)
พยานหลักฐานที่หักล้างข้อกล่าวอ้างของจำเลยถึงการกระทำ
หรือความประพฤติในส่วนดีของจำเลย
ความในวรรคหนึ่งไม่ห้ามการนำสืบพยานหลักฐานดังกล่าว
เพื่อให้ศาลใช้ประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษหรือเพิ่มโทษ
มาตรา ๒๒๖/๓
ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาลหรือที่บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล
หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า
ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า
เว้นแต่
(๑) ตามสภาพ ลักษณะ
แหล่งที่มา
และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ
(๒) มีเหตุจำเป็น
เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน
หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้
และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น
ในกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่ควรรับไว้ซึ่งพยานบอกเล่าใด
และคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องร้องคัดค้านก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไป
ให้ศาลจดรายงานระบุนาม หรือชนิดและลักษณะของพยานบอกเล่า เหตุผลที่ไม่ยอมรับ
และข้อคัดค้านของคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องไว้
ส่วนเหตุผลที่คู่ความฝ่ายคัดค้านยกขึ้นอ้างนั้น
ให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงานหรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้นยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน
มาตรา ๒๒๖/๔
ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ
ห้ามมิให้จำเลยนำสืบด้วยพยานหลักฐานหรือถามค้านด้วยคำถามอันเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของผู้เสียหายกับบุคคลอื่นนอกจากจำเลย
เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลตามคำขอ
ศาลจะอนุญาตตามคำขอในวรรคหนึ่ง
เฉพาะในกรณีที่ศาลเห็นว่าจะก่อให้เกิดความยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดี
มาตรา ๒๒๖/๕
ในชั้นพิจารณาหากมีเหตุจำเป็นหรือเหตุอันสมควร
ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือบันทึกคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่นประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้
มาตรา ๒๒๗
ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง
อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น
เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่
ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
มาตรา ๒๒๗/๑ ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า
พยานซัดทอด พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน
หรือพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่องประการอื่นอันอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น
ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง
และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย
เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี
หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน
พยานหลักฐานประกอบตามวรรคหนึ่ง
หมายถึง พยานหลักฐานอื่นที่รับฟังได้
และมีแหล่งที่มาเป็นอิสระต่างหากจากพยานหลักฐานที่ต้องการพยานหลักฐานประกอบนั้น
ทั้งจะต้องมีคุณค่าเชิงพิสูจน์ที่สามารถสนับสนุนให้พยานหลักฐานอื่นที่ไปประกอบมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วย
มาตรา ๒๒๘ ระหว่างพิจารณาโดยพลการหรือคู่ความฝ่ายใดร้องขอ
ศาลมีอำนาจสืบพยานเพิ่มเติม จะสืบเองหรือส่งประเด็นก็ได้
มาตรา ๒๒๙ ศาลเป็นผู้สืบพยาน จะสืบในศาลหรือนอกศาลก็ได้
แล้วแต่เห็นควรตามลักษณะของพยาน
มาตรา ๒๒๙/๑ ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๓/๑
ในการไต่สวนมูลฟ้องหรือการพิจารณา โจทก์ต้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน
โดยแสดงถึงประเภทและลักษณะของวัตถุ สถานที่พอสังเขป หรือเอกสารเท่าที่จะระบุได้
รวมทั้งรายชื่อ ที่อยู่ของบุคคลหรือผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งโจทก์ประสงค์จะนำสืบ
หรือขอให้ศาลไปตรวจหรือแต่งตั้งต่อศาลไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันไต่สวนมูลฟ้องหรือวันสืบพยาน
พร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานหลักฐานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอเพื่อให้จำเลยรับไป
ส่วนจำเลยให้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานพร้อมสำเนาก่อนวันสืบพยานจำเลย
ในการไต่สวนกรณีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบหรือกรณีร้องขอให้ศาลริบทรัพย์
ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานต่อศาลไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันไต่สวนพร้อมทั้งสำเนาบัญชีระบุพยานหลักฐานดังกล่าวในจำนวนที่เพียงพอ
เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอื่น ถ้ามี รับไป
เมื่อระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง
แล้วแต่กรณี ได้สิ้นสุดลง
ถ้าคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานไว้แล้วมีเหตุอันสมควรแสดงได้ว่าตนไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำพยานหลักฐานบางอย่างมาสืบ
หรือไม่ทราบว่าพยานหลักฐานบางอย่างได้มีอยู่ หรือมีเหตุสมควรอื่นใด
หรือถ้าคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องฝ่ายใดซึ่งมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเช่นว่านั้นแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลได้ว่า
มีเหตุอันสมควรที่ไม่สามารถยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานตามกำหนดเวลาดังกล่าวได้
คู่ความหรือบุคคลเช่นว่านั้น อาจร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวต่อศาล
พร้อมกับบัญชีระบุพยานหลักฐานและสำเนาบัญชีระบุพยานหลักฐานนั้นไม่ว่าเวลาใด ๆ
ก่อนเสร็จสิ้นการสืบพยานของฝ่ายนั้นสำหรับกรณีที่คู่ความหรือบุคคลเช่นว่านั้นได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานไว้แล้ว
หรือก่อนเสร็จสิ้นการพิจารณาสำหรับกรณีที่คู่ความหรือบุคคลเช่นว่านั้นไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานและถ้าศาลเห็นว่าจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าว
เพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม
ให้ศาลมีอำนาจอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
ห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานใดซึ่งคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งอ้าง
พยานหลักฐานนั้นมิได้แสดงความจำนงจะอ้างอิงพยานหลักฐานนั้นตามวรรคหนึ่ง
วรรคสอง หรือวรรคสาม หรือตามมาตรา ๑๗๓/๑ วรรคสองหรือวรรคสาม
แต่ถ้าศาลเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองพยาน
หรือจะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวเพื่อให้การวินิจฉัยชี้ขาดข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรม
หรือเพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
ให้ศาลมีอำนาจอนุญาตให้สืบและรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้
มาตรา ๒๓๐ เมื่อคู่ความที่เกี่ยวข้องร้องขอหรือเมื่อศาลเห็นเป็นการสมควร
ศาลอาจเดินเผชิญสืบพยานหลักฐาน
หรือเมื่อมีเหตุจำเป็นไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาสืบที่ศาลนั้น
และการสืบพยานหลักฐานโดยวิธีอื่นไม่สามารถกระทำได้ ศาลมีอำนาจส่งประเด็นให้ศาลอื่นสืบพยานหลักฐานแทน
ให้ศาลที่รับประเด็นมีอำนาจและหน้าที่ดังศาลเดิม
รวมทั้งมีอำนาจส่งประเด็นต่อไปยังศาลอื่นได้
ภายใต้บังคับมาตรา ๑๗๒
และมาตรา ๑๗๒ ทวิ ให้ส่งสำนวนหรือสำเนาฟ้อง
สำเนาคำให้การและเอกสารหรือของกลางเท่าที่จำเป็นให้แก่ศาลที่รับประเด็นเพื่อสืบพยานหลักฐาน
หากจำเลยต้องขังอยู่ในระหว่างพิจารณาให้ผู้คุมขังส่งตัวจำเลยไปยังศาลที่รับประเด็น
แต่ถ้าจำเลยในกรณีตามมาตรา ๑๗๒ ทวิ
ไม่ติดใจไปฟังการพิจารณาจะยื่นคำถามพยานหรือคำแถลงขอให้ตรวจพยานหลักฐานก็ได้
ให้ศาลสืบพยานหลักฐานไปตามนั้น
เมื่อสืบพยานหลักฐานตามที่ได้รับมอบหมายเสร็จสิ้นแล้ว
ให้ส่งถ้อยคำสำนวนพร้อมทั้งเอกสารหรือของกลางคืนศาลเดิม
มาตรา ๒๓๐/๑
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจนำพยานมาเบิกความในศาลได้
เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร
ศาลอาจอนุญาตให้พยานดังกล่าวเบิกความที่ศาลอื่นหรือสถานที่ทำการของทางราชการหรือสถานที่แห่งอื่นนอกศาลนั้น
โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ ทั้งนี้
ภายใต้การควบคุมของศาลที่มีเขตอำนาจเหนือท้องที่นั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกา
โดยได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
ให้ใช้บังคับได้
การเบิกความตามวรรคหนึ่งให้ถือเสมือนว่าพยานเบิกความในห้องพิจารณาของศาล
มาตรา ๒๓๐/๒
ในกรณีที่ไม่อาจสืบพยานตามมาตรา ๒๓๐/๑ ได้ เมื่อคู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควร
ศาลอาจอนุญาตให้เสนอบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศต่อศาลแทนการนำพยานบุคคลมาเบิกความต่อหน้าศาลได้ แต่ทั้งนี้
ไม่ตัดสิทธิผู้ให้ถ้อยคำที่จะมาศาลเพื่อให้การเพิ่มเติม
บันทึกถ้อยคำตามวรรคหนึ่ง
ให้มีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อศาลและเลขคดี
(๒) วัน เดือน ปี
และสถานที่ที่ทำบันทึกถ้อยคำ
(๓)
ชื่อและสกุลของคู่ความ
(๔) ชื่อ สกุล อายุ ที่อยู่
และอาชีพของผู้ให้ถ้อยคำ และความเกี่ยวพันกับคู่ความ
(๕)
รายละเอียดแห่งข้อเท็จจริง หรือความเห็นของผู้ให้ถ้อยคำ
(๖)
ลายมือชื่อของผู้ให้ถ้อยคำ และคู่ความฝ่ายผู้เสนอบันทึกถ้อยคำ
สำหรับลายมือชื่อของผู้ให้ถ้อยคำให้นำมาตรา
๔๗ วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ห้ามมิให้แก้ไขเพิ่มเติมบันทึกถ้อยคำที่ได้ยื่นไว้แล้วต่อศาล
เว้นแต่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือผิดหลงเล็กน้อย
มาตรา ๒๓๑
เมื่อคู่ความหรือผู้ใดจะต้องให้การหรือส่งพยานหลักฐานอย่างหนึ่งอย่างใด
ดังต่อไปนี้
(๑)
เอกสารหรือข้อความที่ยังเป็นความลับในราชการอยู่
(๒)
เอกสารหรือข้อความลับ ซึ่งได้มาหรือทราบเนื่องในอาชีพหรือหน้าที่ของเขา
(๓) วิธีการ
แบบแผนหรืองานอย่างอื่นซึ่งกฎหมายคุ้มครองไม่ยอมให้เปิดเผย
คู่ความหรือบุคคลนั้นมีอำนาจไม่ยอมให้การหรือส่งพยานหลักฐาน
เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความลับนั้น
ถ้าคู่ความหรือบุคคลใดไม่ยอมให้การ
หรือไม่ส่งพยานหลักฐานดังกล่าวแล้ว
ศาลมีอำนาจหมายเรียกเจ้าหน้าที่หรือบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับความลับนั้นมาแถลงต่อศาล
เพื่อวินิจฉัยว่าการไม่ยอมนั้นมีเหตุผลค้ำจุนหรือไม่ ถ้าเห็นว่าไร้เหตุผล
ให้ศาลบังคับให้ ๆ การหรือส่งพยานหลักฐานนั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1863/2560
จำเลยที่ 1 และที่ 2
ซึ่งให้การในชั้นสอบสวนเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และพบเห็นเหตุการณ์ด้วยตนเอง
มิได้รับฟังมาจากผู้อื่น และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลด้วยตนเอง
ทั้งคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเหตุผลเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ด้วยความสมัครใจ จึงเป็นปัญหาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน
หาใช่กรณีเป็นปัญหาในเรื่องพยานบอกเล่าไม่ แม้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่
1 จะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน
แต่จำเลยที่ 1 ก็ให้การรับว่า ได้ร่วมกับ พ.
ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย จึงไม่ได้เป็นการปัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 2 แต่เพียงลำพังเท่านั้น
แต่เป็นการให้การถึงเหตุการณ์ที่จำเลยที่ 1
ได้ประสบมายิ่งกว่าเป็นการปรักปรำจำเลยที่ 2
จึงรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้
อีกทั้งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสาระสำคัญสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การไว้ในฐานะพยาน ยิ่งทำให้บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีน้ำหนักให้รับฟังมากขึ้น และจำเลยที่ 2 ยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพโดยทำกริยาท่าทางที่ร่วมกับจำเลยที่
1 ไปดูบ้านของผู้ตายก่อนเกิดเหตุ ให้พนักงานสอบสวนถ่ายรูป
และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำไปโดยไม่สมัครใจแต่อย่างใด
จึงรับฟังการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 2
ดังกล่าวประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์และโจทก์ร่วมได้เช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1675/2560
จำเลยที่ 2 เบิกความสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 3 โทรศัพท์มาหาจำเลยที่ 2 บอกให้ไปรับของที่ตลาดบ้านนาอ้อให้จำเลยที่
3 เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจไม่ได้เกิดขึ้นจากการบังคับขู่เข็ญ
ทั้งคำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวมิได้เป็นเรื่องปัดความผิดของจำเลยที่
2 ผู้ซัดทอดให้เป็นความผิดของจำเลยที่ 3 แต่ผู้เดียว
คงเป็นการแจ้งเรื่องราวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการกระทำความผิดของตนยิ่งกว่าการปรักปรำกลั่นแกล้งจำเลยที่
3 แม้คำให้การของจำเลยที่ 2 เป็นคำซัดทอด
แต่ก็ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังลงโทษจำเลยที่ 3 โดยจะรับฟังลงโทษจำเลยที่
3 ได้ต่อเมื่อมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษ
หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา
3 ร้อยตำรวจโท ว. เบิกความว่า
พยานได้ตรวจสอบข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของจำเลยที่ 2 และที่
3 ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3
มีการโทรศัพท์ติดต่อกัน โดยวันเกิดเหตุก่อนถูกจับกุม จำเลยที่ 2
โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 3 รวม 6 ครั้ง และจำเลยที่ 3 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 2 รวม 2 ครั้ง แม้ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3
โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องใด และพันตำรวจโท
พ. กับพวกไม่ได้ยินคำพูดของจำเลยที่ 2 ขณะพูดโทรศัพท์กับจำเลยที่
3 ก็ตาม แต่ตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์ก็ระบุว่า
วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โทรศัพท์ติดต่อกันซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่พันตำรวจโท
พ. กับพวกให้จำเลยที่ 2 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 3 เพื่อให้ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลาง หากจำเลยที่ 3 มิใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่
2 ดังที่จำเลยที่ 2 ให้การไว้ในชั้นสอบสวน
ก็ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 2 จะโทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 3
ในช่วงเวลานั้น เชื่อว่าจำเลยที่ 3 ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่
2 ไปรับเมทแอมเฟตามีนของกลางจริง จึงทำให้คำซัดทอดของจำเลยที่
2 ประกอบไปด้วยเหตุผลและรับฟังเป็นความจริงได้
เป็นพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือในการพิสูจน์ความจริง คำซัดทอดของจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำซัดทอดที่มีเหตุผลอันหนักแน่นอันควรแก่การเชื่อถือ
และรับฟังได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2552
ม.
ประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายใช้มีดปลายแหลมแทงผู้ตาย
รับฟังเชื่อถือไม่ได้เพราะเบิกความขัดแย้งกับที่เคยให้การไว้ในชั้นสอบสวน
โจทก์มีบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน
ของ ล. และ ม. โดย ล. ให้ถ้อยคำว่า ขณะเกิดเหตุเห็น ม. ผู้ตาย จำเลย และ ส.
นั่งดื่มสุราแล้วโต้เถียงกัน มี ว. เข้าไปด่าพวกที่ทะเลาะกัน ม.
ลุกขึ้นเดินไปทางหน้าบ้าน ผู้ตายเดินตามไปแล้วเดินเข้าป่าละเมาะข้างบ้าน
จำเลยลุกจากโต๊ะไล่ตามผู้ตายไปติดๆ
แล้วออกมาในมือถือมีดปลายแหลมด้วยอาการรีบร้อนเดินไปทางทิศเหนือ ล.
เข้าใจว่าผู้ตายถูกทำร้ายจึงเข้าไปดูพบว่าได้รับบาดเจ็บ
จึงเรียกคนช่วยกันนำผู้ตายส่งโรงพยาบาล ต่อมาทราบว่าถึงแก่ความตาย ม. ให้ถ้อยคำว่า
ก่อนเกิดเหตุเมื่อมีการโต้เถียงกันจำเลยมีท่าทางจะทำร้ายผู้ตาย จึงชวนผู้ตายออกไป
จำเลยไล่ตามผู้ตายไป ส่วนตนไปหลบในสวนยางพารา
เห็นจำเลยถือมีดปลายแหลมออกจากป่าละเมาะ โจทก์ไม่ได้ตัว ล. มาเบิกความเพราะ ล.
ออกจากบ้านอันเป็นภูมิลำเนาไปนานแล้ว แต่ ล.
ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนสอดคล้องกับบันทึกถ้อยคำของ ช. พี่ชายจำเลย และของ ม.
ส่วน ม. ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุยังไม่มีเวลาจะแต่งเติมเรื่องราว
เชื่อว่าได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามจริงตามที่รู้เห็นมา แม้คำให้การของ ล. และ
ม. จะเป็นพยานบอกเล่า แต่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่ไม่ห้ามมิให้รับฟังเป็นข้อสำคัญ เมื่อรับฟังประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในชั้นรับมอบตัวและชั้นสอบสวน
พยานโจทก์จึงมีน้ำหนักรับฟังลงโทษจำเลยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4112/2552
ใน
การรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนตามมาตรา 133 ทวิ เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานนั้นในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ.
มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย นั้น
ต้องมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความต่อศาล
กรณีที่โจทก์เพิ่งอ้างในฎีกาถึงสาเหตุที่ไม่ได้ตัวพยานมาเบิกความ
เพราะเกิดความกลัว โดยไม่ปรากฏในชั้นพิจารณาถึงสาเหตุดังกล่าว จึงถือไม่ได้ว่ามีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ศาลจะรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้
การของพยานในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของพยานในชั้นพิจารณาของ ศาลได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3511/2552
โจทก์
ไม่สามารถนำผู้เสียหายที่ 1 มาเบิกความเป็นพยาน
เนื่องจากผู้เสียหายที่ 1 ย้ายที่อยู่หาตัวไม่พบ
คำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ในชั้นสอบสวนแม้เป็นพยานบอกเล่า
แต่ผู้เสียหายที่ 1 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวน
นักจิตวิทยาและพนักงานอัยการโดยมีการบันทึกภาพและเสียงไว้ตามแถบวิดีทัศน์
วัตถุพยานหมาย ว.จ.1 อันเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ศาลย่อมรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายที่ 1 ได้เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1
ในชั้นพิจารณาของศาลประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย และมาตรา 226/3 วรรคสอง (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8148/2551
เจ้า
พนักงานตำรวจเป็นผู้จับจำเลยมิใช่ราษฎรเป็นผู้จับจึงไม่มีกรณีที่จะต้องแจ้ง
สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคหนึ่ง
แต่เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับต้องแจ้งสิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 83
วรรคสอง เมื่อบันทึกการจับกุมมีข้อความว่าจำเลยให้การรับสารภาพ
จึงต้องห้ามมิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของผู้ถูกจับมารับฟังเป็นพยาน
หลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสี่
และเมื่อบันทึกการจับกุมไม่มีข้อความใดที่บันทึกการแจ้งสิทธิแก่จำเลยผู้ถูก
จับตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 83 วรรคสอง บัญญัติเลย
ทั้งพยานโจทก์ที่ร่วมจับกุมก็ไม่ได้เบิกความถึงเรื่องการแจ้งสิทธิแต่อย่าง ใด
แม้โจทก์จะส่งบันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับมาพร้อมกับบันทึกการจับกุมในชั้น
พิจารณาสืบพยานโจทก์
แต่บันทึกการแจ้งสิทธิผู้ถูกจับดังกล่าวมีลักษณะเป็นแบบพิมพ์เติมข้อความใน
ช่องว่างด้วยน้ำหมึกเขียนโดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้บันทึกเป็นคนละคนกับที่ เขียนบันทึกการจับกุม
ทั้งใช้ปากกาคนละด้ามและไม่มีข้อความว่าผู้ถูกจับมีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้
การก็ได้ กับไม่มีข้อความว่าถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการ
พิจารณาคดีได้แต่อย่างใด
แม้จะมีข้อความแจ้งสิทธิเรื่องทนายความก็เป็นการแจ้งสิทธิไม่ครบถ้วนตามที่ ป.วิ.อ.
มาตรา 83 วรรคสองบัญญัติ
ฉะนั้นถ้อยคำอื่นของจำเลยตามบันทึกการจับกุมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการ
พิสูจน์ความผิดของจำเลยหาได้ไม่เช่นกัน ดังนั้น
บันทึกการจับกุมจึงไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้เพราะเป็นพยานหลักฐานที่
เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4359/2551
จำเลย ที่ 2 ยื่นคำให้การยอมรับว่าเสพเมทแอมเฟตามีนจริง
แต่ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลาง
ศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลยที่ 2 แล้วบันทึกว่า สอบจำเลยที่ 2 แล้ว ยืนยันให้การปฏิเสธ เท่ากับจำเลยที่ 2
ให้การปฏิเสธในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ได้รับอนุญาต
ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2
ให้การรับสารภาพและลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานดังกล่าว
โดยมิได้วินิจฉัยพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยที่ 2
จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (8) และมาตรา 227 วรรคแรก แม้ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว
แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เนื่องจากเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยว
กับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
ประกอบมาตรา 225
โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาอีก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2551
ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าทำการตรวจค้นจับกุมยังมิได้มีการส่งมอบกัญชาที่จะทำ
การซื้อขายต่อกัน ทั้งกัญชาของกลางจำนวน 84 แท่ง
อยู่ในกระสอบป่าน 3 ใบ
ยังไม่ไม่ได้แบ่งแยกกัญชาที่ล่อซื้อออกจากกัญชาทั้งหมด ประกอบกับผู้ล่อซื้อยังไม่ได้เห็นกัญชาของกลาง
ตามพฤติการณ์ยังต้องมีขั้นตอนอีกหลายกระบวนการกว่าจำเลยจะส่งมอบกัญชาที่จะ
ทำการซื้อขายกัน
จึงยังไกลเกินกว่าที่จะรับฟังลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามจำหน่ายกัญชาได้
กรณีจึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 81/2551
การใช้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนเป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการ
แสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยตามอำนาจใน ป.วิ.อ. มาตรา 2 (10)
ชอบที่เจ้าพนักงานตำรวจจะกระทำได้เพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยพร้อมด้วยพยาน
หลักฐาน อันเป็นเพียงวิธีการพิสูจน์ความผิดของจำเลย
ไม่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10238/2550
โจทก์
มีเวลาที่จะติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลนับแต่วันฟ้องถึงวันนัดสืบ
พยานโจทก์เป็นเวลา 5 เดือนเศษ
ระหว่างนั้นศาลชั้นต้นได้นัดพร้อม 2 ครั้ง
เพื่อตรวจสอบผลการส่งหมายแก่พยานโดยกำชับโจทก์ให้เร่งติดตามผู้เสียหายมาศาล
ในวันนัดให้ได้ แต่พนักงานสอบสวนแถลงต่อศาลลอยๆ
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ว่ายังไม่ทราบที่อยู่ที่แน่ชัดของผู้เสียหาย ดังนั้น
การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ
จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง
ศาลจึงไม่สามารถรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน
เสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 ตรี วรรคท้าย ได้ คงรับฟังได้ในฐานะพยานบอกเล่าตามธรรมดาเท่านั้น
แม้จะได้ความจากเทปบันทึกภาพและเสียงคำให้การและบันทึกคำให้การของผู้เสีย
หาย ซึ่งผู้เสียหายให้การไว้ในชั้นสอบสวนว่า ถูกจำเลยข่มขืนกระทำชำเราหลายครั้งตั้งแต่ผู้เสียหายอายุได้
10 ปีก็ตาม แต่การสอบสวนดังกล่าวมิได้กระทำต่อหน้าจำเลย
จำเลยไม่มีโอกาสถ้ามค้านเพื่อให้ผู้เสียหายเบิกความถึงข้อเท็จจริงที่อาจ
เป็นการทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าวของโจทก์ได้ ที่โจทก์ฎีกาอ้างว่าโจทก์มี ณ.
เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดพังงา
มาเบิกควายืนยันว่าผู้เสียหายเล่าข้อเท็จจริงให้ฟังสอดคล้องกับคำให้การของ
ผู้เสียหาย ก็เห็นได้ชัดว่า ณ. ได้รับการบอกเล่ามาจากผู้เสียหายอีกทีหนึ่ง
คำเบิกความของ ณ. จึงไม่ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด
เมื่อผู้เสียหายสมัครใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลย
ผู้เสียหายก็น่าจะมาเบิกความต่อศาลให้เป็นที่สิ้นสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความ
ผิดตามที่ผู้เสียหายกล่าวหาจริง การที่โจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาล
จึงทำให้พยานโจทก์ยังตกอยู่ในความสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือ ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9054/2550
ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า
จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง
ศาลจึงจะรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์และพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองได้
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดฐานมีอาวุธปืนโดยไม่มีใบอนุญาตให้มีและ
พาอาวุธปืน โจทก์ย่อมมีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยทั้งสองไม่มีใบอนุญาตดังกล่าว
แม้จะปรากฏจากคำฟ้องว่าจำเลยทั้งสองเป็นเยาวชนและ พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 13 (4)
บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ออกใบอนุญาตดังกล่าวให้แก่ผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะก็ตาม
แต่การที่บุคคลจะบรรลุนิติภาวะนั้นมิได้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้นั้นเสมอไป
เพราะบุคคลอาจบรรลุนิติภาวะก่อนอายุ 20 ปี
ได้ด้วยการสมรสด้วย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองอายุไม่ถึง 20 ปี
โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องนำสืบว่าจำเลยทั้งสองไม่มีใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธ
ปืนด้วยเมื่อโจทก์ไม่นำสืบ จึงไม่สามารถลงโทษจำเลยทั้งสองในฐานความผิดดังกล่าวตาม
พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ได้ คงลงโทษได้เพียงฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน
หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371, 83
เท่านั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและเป็นเหตุในส่วน
ลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา
ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาแก้ให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 และ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8753/2550
ในคดีรับของโจรนั้น
โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1
รับรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์อันได้มาจากการ
กระทำความผิดเข้าลักษณะลักทรัพย์ ไม่ใช่ว่าเมื่อจำเลยที่ 1
เป็นผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายแล้วจำเลยที่ 1
จะต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2
ลักมา เมื่อโจทก์คงมีเพียงร้อยตำรวจเอก ว. มาเบิกความเพียงว่า
ตรวจค้นรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย และรถจักรยานยนต์อีก 2
คันอยู่ภายในโรงรถที่บ้านจำเลยที่ 1
ซึ่งน่าเชื่อว่ามิใช่เพราะทราบเบาะแสของรถจักรยานยนต์เพราะยังพบเมทแอมเฟตา มีน 40 เม็ด และไม้กระยาเลยไว้ในครอบครองเกินปริมาตรโดยไม่รับอนุญาตด้วย
นอกจากนี้หมายค้นที่ออกให้ค้นบ้านจำเลยที่ 1
ระบุเพื่อพบสิ่งผิดกฎหมายหรือยึดสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดตามกฎหมาย
หรือได้มาหรือได้ใช้ในการกระทำผิดซุกซ่อนเท่านั้น มิได้ระบุชัดเจนว่า
เพราะสืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ช่วยซ่อนเร้น
ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย
ซึ่งทรัพย์ของกลางโดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลัก ทรัพย์
ทั้งเมื่อถูกจับกุมจำเลยที่ 1
ก็ให้การปฏิเสธทันทีว่าเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 ฝากไว้
โดยไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2
ลักทรัพย์ของกลางมาส่วนข้อหาอื่นจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
การนำสืบของโจทก์ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1
กระทำความผิดฐานรับของใจร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8743/2550
โจทก์
ฟ้องจำเลยฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289
(4) ประกอบมาตรา 80, 83
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288
ประกอบมาตรา 80, 83 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดตาม
ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83
จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6
แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น
โดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80,
83 โจทก์จึงฎีกาปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาความผิดดังกล่าวไม่ได้
ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ประกอบ
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
จำเลยกับ จ.
ได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนลูกซองสั้นยิงมาที่บ้านผู้เสียหายทั้งสองในระยะห่าง 14 เมตร โดยเล็งปากกระบอกปืนไปที่ตัวบ้าน
มิได้เล็งปากกระบอกปืนไปที่ผู้เสียหายทั้งสองหรือบุคคลใดซึ่งอยู่ในบ้าน
พฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าจำเลยกับ จ.
มิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสองหรือบุคคลใด
อีกทั้งจำเลยให้ปากคำว่ายิงปืนเข้าไปในบ้านผู้เสียหายที่ 2
เพียงแค่ข่มขู่และแก้แค้นผู้เสียหายที่ 1
กับพวกที่ใช้ไม้ตีทำร้ายจำเลยกับ จ. เท่านั้น ไม่มีเจตนาฆ่าใคร
พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่มั่นคงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมกับพวก
พยายามฆ่าผู้เสียหาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8462/2550
โจทก์
ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและ จำหน่าย
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้อง
จำเลยที่ 1 ฎีกา
แม้ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
แต่เมื่อพยานหลักฐานที่วินิจฉัยมาครอบคลุมไปถึงความผิดฐานดังกล่าว
และพยานหลักฐานของโจทก์ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1
ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกให้วินิจฉัยไปถึงความผิดฐานดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบ มาตรา 225
โดยให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง และปัญหาดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี
ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2
ที่ไม่ได้ฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2457/2550
ส. พยานโจทก์เบิกความว่า
พยานพบกับผู้เสียหาย ผู้เสียหายบอกว่าจำเลยลักสร้อยคอทองคำและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายไป
ขอให้พยานช่วยทวงคืนให้พยานไปหาจำเลยและสอบถาม
จำเลยรับว่าได้นำสิ่งของของผู้เสียหายไปจำนำไว้ เช้าวันรุ่งขึ้นพยานสอบถามจำเลยอีก
จำเลยบอกว่าตั๋วจำนำอยู่ที่เพื่อน ประกอบกับ ช. และ น.
พยานโจทก์อีกสองปากเบิกความตรงกันว่า ตอนเช้าวันที่ผู้เสียหายทราบว่าทรัพย์ของตนถูกลักไป
จำเลยนำสร้อยคอและพระเลี่ยมทองของผู้เสียหายมาให้พยานทั้งสองดู
และบอกว่าเก็บได้จากห้องน้ำหลังบ้าน
พยานทั้งสองเป็นญาติสนิทกับผู้เสียหายและจำเลยพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน
กับทั้งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนจึงไม่มีเหตุที่จะเบิกความกลั่นแกล้ง
ปรักปรำจำเลย ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหาย นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับ ง.
และ ว. พยานอีกสองปากที่เบิกความว่าจำเลยเคยเล่าให้ฟังว่าเก็บสร้อยคอและพระเลี่ยม
ทองของผู้เสียหายได้ แต่ยังไม่คืนให้เพราะจะแกล้งผู้เสียหาย หากจำเลยไม่ได้ลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป
จำเลยก็น่าจะปฏิเสธกับ ส. ตั้งแต่แรก
แต่จำเลยกลับรับว่าเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปจำนำไว้
แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลย
มีเพียงแต่พยานแวดล้อม แต่พยานโจทก์ทุกปากเบิกความไม่มีข้อพิรุธน่าสงสัย
ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
ที่ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนล่าช้าก็คงเป็นเพราะผู้เสียหายเป็น
ญาติสนิทกับจำเลย ไม่ประสงค์ที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยหากได้ทรัพย์ที่ถูกลักไปคืน
หาเป็นข้อพิรุธแต่อย่างใดไม่
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ผู้เสียหายตามฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1502/2550
แม้
ว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 3405/2545 แล้ว
เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 6091/2545
ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลอุทธรณ์ก็ตาม
ข้อเท็จจริงในสำนวนคดีดังกล่าวก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์จะรู้ได้เอง การที่ศาลอุทธรณ์ด่วนวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนโดยหยิบยกข้อเท็จจริง
ดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
เพราะเป็นการนำข้อเท็จจริงนอกฟ้องมาวินิจฉัยข้อกฎหมายแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์
และปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
ข้อเท็จจริงตามรายงานการสืบเสาะและพินิจที่พนักงานคุมประพฤติรายงานต่อศาลมิ
ใช่ข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการสืบพยานของคู่ความและศาลไม่อาจนำมาเป็นเหตุยก
ฟ้องโจทก์ได้ การกระทำความผิดที่ต่อเนื่องเป็นกรรมเดียวแม้โจทก์แยกฟ้องเป็นหลายคดี
ศาลก็จะพิพากษาลงโทษจำเลยทุกคดีไม่ได้ และ ป.วิ.อ. มาตรา 176
วรรคหนึ่ง
มิได้บัญญัติห้ามมิให้ศาลสืบพยานหลักฐานต่อไปในกรณีที่จำเลยให้การรับสารภาพ
ตามฟ้อง ป.วิ.อ. มาตรา 228
บัญญัติให้ศาลมีอำนาจโดยพลการที่จะสืบพยานเพิ่มเติม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2944/2544
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย
เนื่องจากต้องการทราบข้อเท็จจริงเพื่อนำมาประกอบดุลพินิจว่าในการกำหนดโทษ แก่จำเลย
มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือ
ไม่ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย
เมื่อปรากฏตามรายงานการสืบเสาะและพินิจว่าจำเลยได้พรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอ นาจาร
อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 319 วรรคแรก
แม้จะเป็นความจริงก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้
ปรากฏต่อศาล ถึงแม้ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา
พ.ศ. 2522 มาตรา 13
ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมประพฤติโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ
ก็เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น
มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูก
ฟ้องด้วยจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้
การที่ศาลไม่อาจนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมาวินิจฉัยยก
ฟ้องจำเลย แต่เมื่อศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามรายงานปรากฏว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็น
ความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลย่อมไม่อาจแน่ใจได้ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่
ศาลจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 และแม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ
แต่หากยังไม่แน่ใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงแล้วศาลจะให้สืบพยานหลักฐานต่อไป ก็ได้ตามมาตรา
176 และมาตรา 228 ดังนั้น
เมื่อปรากฏจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติว่าการกระทำของจำเลยขัดแย้งกับคำ
ฟ้องของโจทก์และคำให้การรับสารภาพของจำเลยเพื่อให้ข้อเท็จจริงกระจ่างแจ้ง
ศาลฎีกาจึงให้สืบพยานเพิ่มเติมว่าจำเลยพาผู้เยาว์ไปเสียจากอำนาจปกครองของ มารดาเพื่อจะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตามรายงานการสืบเสาะและพินิจจริง
หรือไม่ โดยส่งสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสืบให้
เสร็จแล้วให้ส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์เพื่อวินิจฉัยต่อไปตามมาตรา 208(1) ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6886/2550
ป. วิ.อ. มาตรา 226 บัญญัติว่า "พยานวัตถุ พยานเอกสารหรือพยานบุคคล
ซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้
แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง
หรือโดยมิชอบประการอื่น..." พยานหลักฐานที่จะใช้อ้างหรือพิสูจน์ในคดีอาญาว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่
จึงมิได้จำกัดเฉพาะว่าจะต้องเป็นประจักษ์พยานเท่านั้น
หากแต่เป็นพยานประเภทใดก็ได้ที่น่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดหรือ บริสุทธิ์
โจทก์ย่อมนำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ ดังนั้น
พยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีและคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสาม
จึงเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งโจทก์สามารถนำสืบเพื่อพิสูจน์ความผิดของ จำเลยได้
เพียงแต่คำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนที่อาจใช้ยันจำเลยในชั้น
พิจารณาได้นั้น จะต้องฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพโดยความสมัครใจและตามความสัตย์จริง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1134/2550
ป. วิ.อ. มาตรา 84 วรรคสุดท้าย ที่แก้ไขใหม่มิได้มีความหมายว่า ขณะที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำพิพากษาคดีนี้
ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มีผลใช้บังคับแล้วต้องห้าม
มิให้นำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยตามบันทึกการจับกุมมารับฟังประกอบ
การพิจารณาลงโทษจำเลย
เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานผู้จับได้จัดทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายก่อน
วันที่กฎหมายที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับ และโจทก์ได้ส่งอ้างเป็นพยานหลักฐานตามมาตรา
226 โดยชอบแล้ว
ประกอบกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่แก้ไขใหม่ไม่มีบทบัญญัติให้นำ มาตรา 84
วรรคสุดท้ายที่แก้ไขใหม่มาใช้บังคับแก่คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลยุติธรรม
ก่อนวันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
จึงต้องใช้หลักทั่วไปว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงนำคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยมารับฟังเป็นพยานหลักฐานประกอบการลง
โทษจำเลยได้ตามกฎหมายเดิม
ฎีกาของจำเลยที่ว่า
ในชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อ
จำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามบันทึกการจับกุมเกิดจากการขู่เข็ญของเจ้า
พนักงานตำรวจ ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช
2540 มาตรา 243 วรรคสามนั้น
ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าการ
ที่จำเลยรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นเพราะถูกเจ้าพนักงานตำรวจขู่เข็ญหรือไม่
ฎีกาของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ ศาลอุทธรณ์ภาค
3 ฟังมา
เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นอ้าง
จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 954/2550
จำเลย ที่ 2 เดินทางไปในที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 1 ตามเวลาที่จำเลยที่
1 นัดส่งมอบยาเสพติดให้โทษแก่สายลับโดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 เดินทางไปหาสายลับด้วยกัน
ขณะที่จำเลยที่ 1 และสายลับส่งมอบสิ่งของให้แก่กันจำเลยที่ 2 ก็อยู้ด้วย เมื่อถูกจับจำเลยที่ 2
ก็ให้การรับสารภาพทันที แม้จะค้นไม่ได้ของกลางจากจำเลยที่ 2 เลยก็ตาม
แต่ตามพฤติการณ์จำเลยที่ 2
อยู่ในเหตุการณ์มาโดยตลอดถือได้ว่าจำเลยที่ 2
ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1
การล่อซื้อยาเสพติดเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานอย่างหนึ่งของเจ้าพนักงานตำรวจไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
การที่จำเลยทั้งสองเตรียมยาเสพติดให้โทษติดตัวมาแล้วขายให้แก่สายลับผู้ล่อ
ซื้อไปส่วนหนึ่ง พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 2
ร่วมกับจำเลยที่ 1
มียาเสพติดให้โทษของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และเมื่อจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1
จำหน่ายยาเสพติดให้โทษดังกล่าวไปส่วนหนึ่งอันมีลักษณะการกระทำต่างกันและ
ต่างขั้นตอนกัน การกระทำของจำเลยทั้งสอง
ย่อมเป็นความผิดทั้งมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายกรรมหนึ่ง
และมีความผิดฐานจำหน่ายยาเสพติดให้โทษอีกกรรมหนึ่งด้วย เป็นความผิดต่างกรรมกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2550
คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นพยานบอกเล่า
แต่ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง
ศาลนำคำให้การดังกล่าวมาประกอบพยานโจทก์ผู้จับกุมที่ยืนยันถึงการกระทำความผิดของจำเลยโดยชัดแจ้งเพื่อให้น้ำหนักพยานโจทก์มั่นคงโดยปราศจากข้อสงสัยได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8314/2549
ในคดีอาญาจำเลยมีสิทธิที่จะให้การอย่างใดหรือไม่ให้การเลยก็ได้
เป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพยานก่อนให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด
จำเลยไม่จำต้องยกประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การก็มีสิทธิที่จะนำสืบใน ประเด็นนั้นๆ
ได้ และมีอำนาจนำพยานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยได้โดยไม่จำต้อง
ซักถามพยานโจทก์ในเรื่องที่จำเลยจะนำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อไป
การที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและทำการสอบสวนจำเลยแล้วได้สั่งปล่อยจำเลยชั่วคราว
โดยมีประกันในวันเดียวกันไปจนถึงวันฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการจับกุมจำเลยในวันที่จำเลยเข้ามอบตัวแล้วตามป.อ.
มาตรา 136
(เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น
เมื่อคดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
จึงอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้
บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 2
และมาตรา 3
และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 7 และมาตรา 9
พนักงานอัยการโจทก์ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดสี่สิบแปดชั่วโมง
หรือต้องมีการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอผัดฟ้องครั้งแรกภายในสี่สิบแปดชั่วโมง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1164/2547
ป. วิ.อ. มาตรา 232 บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น หมายถึง จำเลยในคดีเดียวกัน
แต่ น. มิได้เป็นจำเลยร่วมกับจำเลยในคดีนี้ กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232
เมื่อมีการปลอมหนังสือเดินทางซึ่งออกให้แก่บุคคลหนึ่งแล้วต่อมาปลอมตรา
ประทับของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประทับลงในหนังสือเดินทางที่ปลอมขึ้น
นั้นเพื่อให้มีรายการครบถ้วน ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำหนังสือเดินทางดังกล่าวไปใช้
เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท เมื่อจำเลยปลอมหนังสือเดินทางเสร็จฉบับหนึ่งก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว
เพราะโดยสภาพของการกระทำย่อมแยกออกจากกันได้ เมื่อจำเลยปลอมหนังสือเดินทาง 2 ฉบับ ต่างรายกัน จึงเป็นความผิดสองกรรม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3378/2546
แม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานเห็นจำเลยที่
5 จัดหามีดของกลางมาใช้ปล้นทรัพย์แต่โจทก์มีคำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 4 ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 5เป็นผู้จัดหาอาวุธมีดมาใช้ในการปล้นทรัพย์
ซึ่งแม้คำให้การซัดทอดของจำเลยที่ 4
จะเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิด
แต่คำซัดทอดดังกล่าวมิได้เป็นเรื่องการปัดความผิดของจำเลยที่ 4 ไปยังผู้อื่น แต่เป็นการให้การถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
และคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 5
นั้นก็เป็นถ้อยคำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง
โดยให้การในรายละเอียดถึงเหตุการณ์การกระทำผิดตั้งแต่วางแผนกระทำผิดจน
กระทั่งหลังกระทำผิดแล้วตกลงแบ่งปันทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำผิด
เชื่อว่าจำเลยที่ 5
ให้การตามความจริงด้วยความสมัครใจจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 5
ได้จัดหามีดมาใช้ในการปล้นทรัพย์คดีนี้อันเป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการกระทำความผิด
จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2541
แม้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญผู้ตรวจพิสูจน์จะเห็นว่าลายมือ
มีคุณลักษณะและรูปลักษณะของการเขียนแตกต่างกัน น่าจะไม่ใช่
ลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันก็ตาม เมื่อพิจารณาโดยตลอดแล้วการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโจทก์ที่ปรากฎอยู่ใน
หนังสือ รับสภาพหนี้เป็นเอกสารที่ทำไว้เมื่อวันที่ 18
พฤศจิกายน 2536 ไม่ปรากฎว่าโจทก์มีเอกสารที่ได้ทำขึ้นในช่วง
ระยะใกล้เคียงกับวันดังกล่าวซึ่งเป็นการเขียนแบบบรรจงส่งไปตรวจพิสูจน์
เปรียบเทียบลายมือชื่อโจทก์ด้วยทั้งรูปแบบการเขียนลายมือชื่อโจทก์ที่ระยะ
เวลาใกล้เคียงกับเอกสารที่จะต้องตรวจพิสูจน์ก็ไม่มี ดังนั้น
ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นเพียงความเห็นตามหลักวิชาการเท่านั้น
เนื่องจากลายมือชื่อโจทก์มีคุณสมบัติการเขียนรูปลักษณะของตัวอักษรแตกต่าง
กับลายมือชื่อโจทก์ในใบแต่งทนายความซึ่งเป็นลายมือเขียนหวัดและเวลาเขียน
ต่างกันตามกาลเวลา
ผลการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อโจทก์จึงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น
เมื่อจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธและยืนยันว่าเป็นลายมือชื่อโจทก์
และการวินิจฉัยลายมือชื่อในเอกสารว่าเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ ไม่มี
กฎหมายบังคับให้ศาลต้องฟังตามข้อสันนิษฐานหรือข้อพิสูจน์เป็นหลักฐานของผู้
เชี่ยวชาญก่อนแต่อย่างใด
ทั้งมิใช่ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นอย่างไรแล้วศาลต้องฟังเสมอไป เมื่อโจทก์ยังมี
ภาระหน้าที่นำสืบว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำความผิด การที่โจทก์รับว่าเช็คทั้งสามฉบับอยู่ในความครอบครองของ
จำเลยที่ 1 ตลอดมาย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 รู้เห็นในลักษณะ ลายมือชื่อโจทก์มาก่อนที่มีการทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้
จึงไม่มีเหตุผลประการใดที่จำเลยทั้งสองจะทำการปลอมลายมือชื่อ
ของโจทก์เป็นแบบตัวบรรจงให้แตกต่างออกไปให้เห็นได้โดยประจักษ์พยานหลักฐาน
โจทก์ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6965/2540
แม้คำให้การชั้นจับกุมของ
ฉ. ซึ่งมิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยคดีนี้ด้วยจะมีลักษณะเป็นคำซัดทอดในระหว่างผู้
ต้องหาด้วยกันก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การเช่นว่านี้เสียทีเดียว
หากการซัดทอดมีเหตุผลรับฟังได้ศาลก็มีอำนาจรับฟังมาประกอบการพิจารณาได้
การที่ ฉ.
เบิกความในชั้นพิจารณาของศาลมิใช่เป็นคำซัดทอดเพราะ ฉ.
มิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ด้วย และ ฉ. ยังยืนยันข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับที่ได้ให้การไว้ในชั้นถูกจับกุม
ทั้งคำเบิกความของ ฉ.
ไม่ปรากฏว่ามีเหตุจูงใจในการเบิกความให้ตนพ้นความผิดหรือได้รับประโยชน์แต่ อย่างใด
จึงรับฟังคำเบิกความดังกล่าวของ ฉ.
ด้วยความระมัดระวังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้