- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2566 คำว่า “กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด หรือกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด” ตาม ป.อ. มาตรา 3 นั้น หมายถึงกฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำอันเป็นความผิดหรือบัญญัติถึงโทษ หรือโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิด ซึ่งในคดีนี้ได้แก่บทความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีนกับฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และบทกฎหมายให้เพิ่มโทษแก่ผู้กระทำความผิด หากมีการแก้ไขบทกฎหมายดังกล่าวในทางที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด และมีผลให้จำเลยได้รับโทษน้อยลง ศาลก็มีอำนาจแก้ไขโทษที่จะลงแก่จำเลยได้ภายในเงื่อนไขของมาตรา 3 (1) ในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน กับฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุก 8 เดือน กับจำคุก 10 ปี และปรับ 700,000 บาท ตามลำดับ เมื่อโทษที่กำหนดในภายหลังสำหรับความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพเมทแอมเฟตามีน ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบ ป.ยาเสพติด มาตรา 162 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี 4 เดือน หรือปรับไม่เกิน 26,666.66 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เป็นความผิดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี และปรับไม่เกิน 1,500,000 บาท ดังนั้น โทษที่กำหนดตามคำพิพากษาจึงไม่หนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ความผิดทั้งสองฐานจึงไม่อยู่ในบังคับตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษจำเลยใหม่ได้สำหรับประเด็นเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ถูกยกเลิกไปโดย พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 4 ส่วน ป. ยาเสพติด ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ก็ไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษได้ แม้กฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะมิได้บัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษไว้ แต่ก็มิได้หมายความว่าศาลไม่อาจเพิ่มโทษตามบทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปตาม ป.อ. เมื่อจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอีกโดยไม่เข็ดหลาบ และโจทก์มีคำขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมายเดิมไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์จะขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบและได้กล่าวในฟ้องแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้ และถือว่าการเพิ่มโทษเป็นส่วนหนึ่งของโทษตามคำพิพากษา ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษให้แก่จำเลยใหม่จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดอันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 190 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2609/2566 การปรับบทลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจําหน่าย และฐานพยายามจําหน่ายเป็นหลายกรรม และการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 นั้น เนื่องจากมี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดที่ออกบังคับใช้ในภายหลังได้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และรวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ ซึ่ง ป.ยาเสพติด มาตรา 1 บทนิยามคําว่า “จําหน่าย” มีความหมายรวมถึงการมีไว้เพื่อจําหน่ายด้วย ดังนั้น ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในความครอบครองเพื่อจําหน่ายและฐานพยายามจําหน่ายจึงเป็นความผิดอย่างเดียวกัน การที่ศาลปรับบทความผิดทั้งสองฐานเป็นหลายกรรม จึงหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังซึ่งลงโทษจําเลยฐานจําหน่ายเมทแอมเฟตามีนเพื่อการค้าตาม ป.ยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (1) เพียงกรรมเดียว กรณีจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) สำหรับบทบัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษกึ่งหนึ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 97 ได้ยกเลิกไปแล้ว ส่วน ป.ยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังไม่มีบทบัญญัติให้เพิ่มโทษได้เช่นเดิมอีก ดังนั้น ศาลจึงไม่อาจเพิ่มโทษทั้งตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและกฎหมายที่ใช้ในภายหลังกระทำความผิดได้ กรณีจึงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดโทษให้จําเลยใหม่ตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี เมื่อตาม ป.อ. มาตรา 17 บัญญัติว่า บทบัญญัติที่ใช้แก่ความผิดทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญาให้นําไปใช้ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย ดังนั้น แม้กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันเป็นกฎหมายอื่นที่มิใช่กฎหมายในประมวลกฎหมายอาญา ไม่ได้บัญญัติเรื่องการเพิ่มโทษเพราะการกระทำผิดซ้ำไว้ เมื่อจําเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอีกเพราะไม่เข็ดหลาบ และโจทก์มีคําขอให้เพิ่มโทษตามกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดไว้แล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีความประสงค์ขอเพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบ ศาลย่อมมีอำนาจเพิ่มโทษจําเลยได้หนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 92 ที่เป็นบททั่วไปได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2525/2566 กรณีเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 มีเจตนาวางแผนร่วมกันนำเข้าสินค้าโดยแยกกันนำเข้าเพื่อประโยชน์ในการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าและได้รับประโยชน์ทางธุรกิจร่วมกัน โดยในวันที่ 29 เมษายน 2547 วันที่ 13 พฤษภาคม 2547 วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 วันที่ 3 มิถุนายน 2547 และวันที่ 14 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 สำแดงเป็นแชสซีที่มีเครื่องยนต์ (Chassis Fitted with Engine for Truck/Tractor) ประเภทพิกัด 8706.00 เสียอัตราอากรร้อยละ 10 ส่วนที่จำเลยที่ 2 สำแดงเป็นชิ้นส่วนหัวเก๋ง (Cab Shell) พร้อมอุปกรณ์ (Parts and Accessories of Cab) ประเภทพิกัด 8707.900 ประเภทพิกัด 8708.400 ประเภทพิกัด 8708.940 และประเภทพิกัด 9401.200 เสียอัตราอากรร้อยละ 40 ร้อยละ 30 ร้อยละ 10 และร้อยละ 10 ตามลำดับ การสำแดงและแยกการนำเข้าดังกล่าวเป็นการกระทำที่แบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้ยากแก่การตรวจสอบและชักพาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรผิดหลงในรายการสินค้าและประเภทพิกัดอัตราอากรขาเข้าเพื่อจะได้ชำระอากรขาเข้าเป็นเงินจำนวนน้อยกว่าอากรขาเข้าตามประเภทพิกัดอัตราอากรขาเข้าที่ถูกต้อง คือ ชิ้นส่วนของ Truck Tractor Chassis with Cab and Accessories of Cab เพื่อประกอบเป็นรถทรัคแทรกเตอร์ครบชุดสมบูรณ์ทั้งคัน (CKD) เข้าประเภทพิกัด 8701.20 อัตราอากรร้อยละ 30 ถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ส่วนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิสูจน์การกระทำความผิดในทางอาญาเป็นคนละส่วนกับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาปัญหาประเภทพิกัด เมื่อในขณะนำเข้าสินค้าจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แยกการนำเข้าต่างหากจากกัน การพิจารณาปัญหาพิกัดจึงต้องแยกการพิจารณาเป็นรายบริษัท คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ใช่ข้อยืนยันว่าจำเลยทั้งสี่ไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 3 บัญญัติว่า “ให้ยกเลิก (1) พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 และ (11) พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490” แต่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 ยังบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องยังเป็นความผิดอยู่ โดยมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับเป็นเงินตั้งแต่ครึ่งเท่าแต่ไม่เกินสี่เท่าของค่าอากรที่ต้องเสียเพิ่ม หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่โทษตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ จึงให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณทั้งกฎหมายเก่าในส่วนที่ให้ปรับรวมและกฎหมายใหม่ในส่วนโทษแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2241/2566 ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง หาจำต้องมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทของผู้ตายทุกกรณีไม่ เมื่อผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ผู้ตายที่ 1 กับ ศ. เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2556 ผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตาย ก่อนตายผู้ตายที่ 1 มีทรัพย์สินเป็นที่ดิน 2 แปลง คือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 419 และ 420 โดยผู้ตายที่ 1 กับผู้ตายที่ 2 ทำประโยชน์และมีชื่อเป็นผู้ครอบครองร่วมกันตั้งแต่ปี 2516 โดยมีข้อตกลงกันว่าผู้ตายที่ 1 เป็นผู้ทำกินโดยปลูกข้าวและนำผลผลิตมาอุปการะเลี้ยงดูผู้ตายที่ 2 หากผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายก็ให้ที่ดินทั้งหมดตกเป็นสิทธิของผู้ตายที่ 1 เพียงผู้เดียว ต่อมาผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมและมิได้แต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ตายที่ 1 ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสองแปลงมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงแก่ความตาย ผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายที่ 1 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวของผู้ตายที่ 2 เมื่อปรากฏว่าการจัดการมรดกมีเหตุขัดข้องและผู้ร้องมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก จึงเห็นสมควรตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายที่ 2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2085/2566 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 โจทก์ส่งข้อความถึงจำเลยผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยมีเนื้อความว่า “ตัวเองไม่ต้องคืนเงินพี่แล้วนะ แล้วพี่ก็จะไม่ทวงไม่ทำให้ตัวเองลำบากใจอีก พี่ขอโทษกับเรื่องราวที่ผ่านมา และอยากให้รู้ว่าพี่ยังรักตัวเองอยู่” ข้อความการสนทนาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะทวงเงินที่จำเลยยืมไปอีก เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลย ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นการปลดหนี้จำนวนอื่น ไม่ใช่หนี้จำนวน 105,000 บาท จำเลยยืมไปแล้วยังไม่ชำระคืนให้โจทก์ตามฟ้อง เห็นว่า โจทก์ส่งข้อความทางแอปพลิเคชันไลน์ทวงเงินคืนจากจำเลย และส่งข้อความถึงจำเลยให้เวลาจำเลยคืนเงินภายในเวลา 1 เดือน เมื่อจำเลยมีพยานหลักฐานคือข้อความที่โจทก์ส่งถึงจำเลยทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ทวงเงินคืนจากจำเลยว่าโจทก์ปลดหนี้ตามฟ้องให้จำเลยแล้ว แม้ข้อความจะไม่ได้ระบุชัดว่ามูลหนี้ใดและโจทก์อ้างว่าหมายถึงหนี้ จำนวนเล็ก ๆ น้อย ๆ อื่น แต่มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยยืมจากโจทก์ก็คงมีเพียงมูลหนี้ 105,000 บาท เพียงอย่างเดียว เมื่อพิเคราะห์ประกอบกับที่โจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามเพิ่มว่า โจทก์คบหากับจำเลย ระหว่างที่คบหาก็มีการให้ยืมเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างประมาณ 1,000 บาท ถึง 2,000 บาท บ้าง และให้ทั้งที่เป็นเงินสดและโอนเข้าบัญชีการให้ดังกล่าวเป็นการให้โดยเสน่หา ยิ่งสนับสนุนให้เห็นว่าเงินจำนวนเล็กน้อยที่โจทก์อ้างนั้นเป็นการให้โดยเสน่หาเฉกเช่นคนรักที่คบหากัน ไม่ใช่มูลหนี้อื่นตามที่โจทก์อ้าง และไม่ปรากฏว่าโจทก์นำพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีมูลหนี้ที่จำเลยยืมจากโจทก์จำนวนอื่นอีก แม้การแสดงเจตนาปลดหนี้จะใช้วิธีการส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งมิใช่การส่งผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ตามที่โจทก์เคยใช้ติดต่อกับจำเลย ก็ได้ความจากคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์เองว่า จำเลยตัดช่องทางการติดต่อกับโจทก์ โจทก์ได้ติดต่อจำเลยทางโทรศัพท์แต่จำเลยไม่รับ จึงติดต่อไปทางแอปพลิเคชันวีแชต จึงเชื่อว่าหนี้ที่โจทก์แสดงเจตนาปลดหนี้เป็นหนี้จำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมตามฟ้อง การส่งข้อความผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชตเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ถือเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาใช้บังคับด้วย เมื่อโจทก์ยอมรับว่าโจทก์ส่งข้อความดังกล่าวให้จำเลยผ่านทางแอปพลิเคชันวีแชต ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนโจทก์ได้ ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 มาตรา 7, 8 พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้รับการปลดหนี้จากการกู้ยืมเงินตามฟ้องโจทก์แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2040/2566 จำเลยนำซากรถยนต์เก๋งยี่ห้อ MINI AUSTIN และหัวเก๋งยี่ห้อ MINI ROVER พร้อมเครื่องยนต์อีก 2 เครื่อง มาประกอบเข้าด้วยกันเป็นรถยนต์ของกลางแล้วโฆษณาประกาศขาย ซึ่งการซื้อซากรถยนต์เก๋งยี่ห้อ MINI AUSTIN และหัวเก๋งยี่ห้อ MINI ROVER ไม่ปรากฏว่าจำเลยกับผู้ขายได้แจ้งจดทะเบียนการโอน ทั้งไม่มีใบคู่มือจดทะเบียนรถ บ่งชี้ให้เห็นว่าซากรถยนต์และหัวเก๋งดังกล่าวจำเลยซื้อมาในสภาพของชิ้นส่วนอะไหล่เก่า การที่จำเลยนำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นรถยนต์ของกลางเท่ากับเป็นการผลิตสินค้าตามความในมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 หาใช่การซ่อมแซมหรือบำรุงรักษารถยนต์เก่า รถยนต์ของกลางจึงเป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต การที่จำเลยมีรถยนต์ของกลางที่ยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิตไว้เพื่อขายจึงเป็นความผิด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1978/2566 การขับรถกระบะบรรทุกของกลางที่มีการทำหลังคาฝาปิดด้านข้างและด้านท้ายจากจังหวัดกาญจนบุรีไปจังหวัดสมุทรปราการมีระยะทางไกลเกินกว่าจะเดินไปได้เอง จำเลยจำเป็นต้องใช้รถของกลางเป็นยานพาหนะพาคนต่างด้าวเดินทางไป โดยใช้วิธีการให้คนต่างด้าวสองคนหลบซ่อนอยู่ในช่องใต้หลังคาด้านบนของหัวรถ แล้วใช้ถังน้ำมันขนาดประมาณ 30 ลิตร หลายถังปิดบังไว้ อันเป็นการซ่อนเร้นคนต่างด้าวดังกล่าว จึงมิใช่การใช้รถของกลางตามสภาพอย่างยานพาหนะโดยสารทั่วไป อันเป็นข้อที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่มุ่งประสงค์จะใช้รถของกลางในการช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม รถของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1879/2566 จำเลยประกอบธุรกิจธนาคารรับฝากเงิน ทำการโฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ด้วยข้อความว่าเป็นการรับฝากเงินสงเคราะห์ แบบคุ้มครองสินเชื่อแก่ลูกค้าผู้กู้ของธนาคาร โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้ฝากเงินสงเคราะห์และเงื่อนไขสำคัญว่า ผู้ฝากเงินสงเคราะห์ต้องมีคุณสมบัติเป็นเกษตรกรลูกค้าผู้กู้และคู่สมรส อายุระหว่าง 20 ปี ถึง 70 ปี ชำระเงินต่อปี โดยมีผลประโยชน์กรณีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุรับเพิ่ม 100 เปอร์เซ็นต์ ของเงินทุนสงเคราะห์ ข้อความโฆษณาดังกล่าวจำเลยนำมาจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในกรมธรรม์มอบรัก 1/1 ย่อมทำให้ผู้ตายซึ่งเป็นผู้บริโภคเข้าใจว่า หากผู้ตายเป็นลูกค้าของธนาคารจำเลย นำเงินไปฝากกับจำเลยตามจำนวนและต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในคำโฆษณาแล้ว ผู้ตายซึ่งเป็นคู่สัญญาฝากทรัพย์จะได้รับความคุ้มครองตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของกรมธรรม์มอบรัก 1/1 ที่จำเลยโฆษณาไว้ด้วย จำเลยจึงต้องผูกพันให้ความคุ้มครองแก่ผู้ตายตามที่ตนโฆษณาซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 การที่ผู้ตายขอฝากเงินสงเคราะห์ต่อจำเลยโดยมุ่งหวังรับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์มอบรัก 1/1 จึงเป็นการแสดงเจตนาทำสัญญาฝากทรัพย์โดยมีความคุ้มครองประกันชีวิตให้แก่ผู้ตายอยู่ด้วย เพราะต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ผู้ตายซึ่งเป็นผู้บริโภคซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามใบคำขอฝากเงินสงเคราะห์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1878/2566 โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยภาคบังคับให้รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัย ซึ่งเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากกันกับการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในมูลหนี้ละเมิด เมื่อกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถระบุจำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยสำหรับการเสียชีวิตจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาท ต่อหนึ่งคนสำหรับการเสียชีวิต จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องชําระแก่โจทก์และโจทก์ร่วมที่เป็นทายาทโดยไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. โดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 22 บัญญัติว่า “การได้รับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามมาตรา 20 ไม่ตัดสิทธิผู้ประสบภัยที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” และมาตรา 31 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอก หรือเกิดขึ้นเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของรถ ผู้ขับขี่ ผู้ซึ่งอยู่ในรถ หรือผู้ประสบภัย เมื่อบริษัทได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทน....ไปแล้วจำนวนเท่าใดให้บริษัท...มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลดังกล่าวหรือมีสิทธิเรียกให้ผู้ประสบภัยคืนเงินดังกล่าวได้” อันหมายความว่าเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อผู้ประสบภัยได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว ผู้ประสบภัยยังสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. จากผู้ก่อความเสียหายได้อีก และในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากบุคคลภายนอก เมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนไปแล้วจำนวนเท่าใด บริษัทก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ ค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องจ่ายตามกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนี้จึงเป็นการจ่ายตามสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขความคุ้มครองหมายถึงค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าเสียหายส่วนที่เกินจากค่าเสียหายเบื้องต้นตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวนเงินที่คุ้มครองผู้ประสบภัยดังกล่าว จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. นั่นเอง คดีนี้ผู้ตายขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 และความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถกระบะของจำเลยที่ 2 จึงเป็นกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอก หากจำเลยที่ 3 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไป จำเลยที่ 3 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกได้ ในกรณีนี้คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับ รวมทั้งฟ้องจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยภาคบังคับ แม้การฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดจะเป็นการฟ้องตามสัญญาประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก็ตาม ในส่วนที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดนี้ หากจำเลยที่ 3 ชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเท่าใดก็ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกผู้กระทำละเมิดหรือผู้ก่อความเสียหายได้ ตามมาตรา 31 แห่งบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น ดังนั้น เมื่อเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ แม้การฟ้องจะแยกจำนวนเงินที่แต่ละคนต้องรับผิด ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชําระเงินจำนวนดังกล่าว เพื่อไม่ให้ผู้ประสบภัยได้รับชดใช้เกินจำนวนความเสียหายที่ได้รับ และไม่ให้บุคคลภายนอกผู้ก่อความเสียหายต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าที่ต้องรับผิด แต่เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมตามจำนวนความเสียหายที่กําหนดให้แล้ว ซึ่งต่อมาโจทก์และโจทก์ร่วมได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามคําพิพากษาจนเป็นที่พอใจแล้ว กรณีจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชําระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมได้อีก เพราะจะทำให้โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินจำนวนที่ได้รับความเสียหายจริง ทั้งหากจำเลยที่ 3 ชําระให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมแล้วก็ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเกินไปกว่าจำนวนความเสียหายที่แท้จริง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1874/2566 ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ศาลแรงงานจะต้องมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นหนังสือ และต้องมีส่วนสำคัญ 3 ประการ ประการแรก ต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปเพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือศาลฎีกาจะได้นำข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานได้ฟังไว้นั้นมาวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปหากมีการอุทธรณ์หรือฎีกาในประเด็นนั้น ประการที่สอง จะต้องแสดงคำวินิจฉัยให้ปรากฏตามประเด็นแห่งคดีที่ศาลแรงงานจดไว้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง และประการที่สาม คำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นจะต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่าศาลแรงงานได้นำข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและการแปลความบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางนำมาใช้วินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานกลางอ้างถึงเหตุต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นข้อต่อสู้ตามคำให้การของจำเลยเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานกลางได้รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวมาอย่างชัดแจ้ง คงปรากฏเฉพาะเพียงการนำคำพยานโจทก์และพยานจำเลยมาเรียงต่อกัน แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไปตามข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลย โดยไม่ปรากฏถึงเหตุผลของคำวินิจฉัยว่ามีข้อเท็จจริงดังกล่าวเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และเหตุใดศาลแรงงานกลางจึงเชื่อว่ามีข้อเท็จจริงตามข้อต่อสู้ของจำเลยเช่นนั้น คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเช่นนี้ จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาในการรับฟังพยานหลักฐาน และเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1788/2566 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 มาตรา 7 วรรคสอง กำหนดว่า อัตราดอกเบี้ยอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนทุกสามปี แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังมิได้กำหนดกรณีดังกล่าวไว้ในคำพิพากษา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) มาตรา 246 และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1785/2566 การร้องขอให้บังคับคดีซึ่งต้องกระทำภายใน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง เป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) ศาลมีอำนาจที่จะขยายหรือย่นระยะเวลาได้โดยคู่ความไม่จำต้องร้องขอ เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษและศาลได้มีคำสั่งก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 23ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ขอให้บังคับคดีและศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2546 ต่อมาโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยรวมถึงหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ และวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง การดำเนินการของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยังอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดี 10 ปี แต่ศาลกำหนดนัดไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาภายหลังรับคำร้องนานเกือบ 3 เดือน แล้วมีคำสั่งอนุญาตเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งล่วงเลยระยะเวลาการบังคับคดีแล้ว นับได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่ระยะเวลาบังคับคดีได้สิ้นสุดลงในระหว่างการไต่สวนคำร้องขอสวมสิทธิดังกล่าว ทำให้ศาลไม่อาจมีคำสั่งขยายระยะเวลาบังคับคดีได้ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น จึงมีเหตุสุดวิสัย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ต้องถือว่าศาลมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาบังคับคดีออกไปแล้ว บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ยื่นคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 141813 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลย ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับ จ. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 จึงอยู่ภายในกำหนดระยะเวลาบังคับคดีตามที่ศาลชั้นต้นให้ขยาย กรณีไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนการยึด
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1684/2566 คำฟ้องของโจทก์บรรยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ผิดสัญญาจ้างแรงงานและการทำละเมิดต่อโจทก์มาด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานและกระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องชำระเงินค่าสินค้าเกินกว่าราคาที่แท้จริงในอัตราร้อยละ 3 จำเลยจึงต้องรับผิดชอบค่าเสียหายในส่วนที่จำเลยเรียกรับจากบริษัท อ. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ห. จึงหาได้วินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1615/2566 ภายหลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาแล้ว ได้มี พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 ประกาศใช้บังคับ โดยมาตรา 134 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ ยังคงบัญญัติให้ผู้แข่งรถในทางเป็นความผิดอยู่ และมาตรา 134/1 ที่แก้ไขเพิ่มเติมยังคงบัญญัติให้ผู้จัด หรือส่งเสริมให้มีการแข่งรถในทางเป็นความผิด กฎหมายใหม่จึงไม่ได้ยกเลิกความผิดตามมาตรา 134 วรรคหนึ่งและวรรคสอง (เดิม) แต่อัตราโทษตามมาตรา 160 ทวิ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษปรับขั้นต่ำสูงกว่ากฎหมายเดิม และโทษตามมาตรา 160 ทวิ วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) มีระวางโทษจำคุกและปรับสูงกว่ากฎหมายเดิม ดังนั้น โทษตามกฎหมายเดิมเป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายเดิมซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 17 ส่วนการที่บทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (ที่แก้ไขใหม่) มีส่วนที่เป็นคุณในเรื่องการพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ที่บัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าสามสิบวัน แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ซึ่งเป็นคุณกว่าบทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (เดิม) ที่บัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือนโดยไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดไว้ แต่คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลชั่วคราวของจำเลย จำเลยมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในส่วนดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น แม้บทบัญญัติมาตรา 160 ทวิ (ที่แก้ไขใหม่) มีส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลย แต่ก็ไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่จำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1595/2566 ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์โดยรับเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อไว้โดยสุจริต เมื่อกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อยังเป็นของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ทั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ภายหลังจากทราบว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำความผิดมูลฐาน ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 จึงมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งรถยนต์ที่ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เช่าซื้อได้ แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดมูลฐานมาชำระเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ก่อนที่จะบอกเลิกสัญญาจึงไม่ชอบที่จะคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เสียทีเดียว แต่ชอบที่จะคืนเงินลงทุนที่ยังเหลืออยู่ภายหลังหักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดนั้นชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 แล้ว โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินต้องดำเนินการขายทอดตลาดรถยนต์ แล้วนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ไม่เกินเงินลงทุนที่ยังขาดอยู่ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้หักเงินดาวน์และค่าเช่าซื้อที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ตกเป็นของแผ่นดิน ส่วนที่เหลือ (หากมี) ให้คืนแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 นั้น เป็นการไม่ถูกต้อง เพราะเท่ากับเป็นการให้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ใช้หรือรับประโยชน์จากทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ในระหว่างเช่าซื้อโดยไม่เสียค่าตอบแทน เป็นการเสียหายแก่ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1574/2566 สัญญาเช่าข้อ 10.3 กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้เช่าบอกเลิกสัญญาก่อนหมดอายุสัญญา โดยมิได้เป็นความผิดของผู้ให้เช่า ผู้เช่าต้องรับผิดชอบชำระค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญาเช่า สอดคล้องกับข้อ 3.2 ซึ่งกำหนดว่า หากสัญญาเช่าสิ้นสุดก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่า โดยเหตุจากการกระทำผิดสัญญาของผู้เช่าหรือผู้เช่าขอเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดระยะเวลา ผู้เช่าตกลงให้ผู้ให้เช่ามีสิทธิยึดเงินประกันได้ทั้งจำนวน นอกจากนี้สัญญาเช่าข้อ 11 ยังระบุว่า เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุครบกำหนดสัญญาแล้ว ไม่มีการต่อสัญญาออกไปตามข้อ 9 หรือโดยการบอกเลิกสัญญาตามข้อ 10 หรือด้วยเหตุอื่นใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิดังต่อไปนี้ ข้อ 11.1 ผู้ให้เช่ามีสิทธิกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่เช่าได้ทันที โดยมิจำเป็นต้องบอกกล่าวให้ผู้เช่าทราบก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ผู้ให้เช่ามีสิทธิครอบครองยึดหน่วง และขนย้ายทรัพย์สินทั้งปวงที่อยู่ในทรัพย์สินที่เช่าออกไป รวมทั้งมีสิทธิดำเนินการให้ผู้อื่นเช่าทรัพย์สินที่เช่าต่อไปด้วย และสัญญาจ้างบริการข้อ 8 ยังกำหนดให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันการใช้บริการได้ในกรณีสัญญาจ้างบริการสิ้นสุดโดยเหตุแห่งการผิดสัญญาของจำเลย แสดงให้เห็นว่าหากการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวมิได้เป็นความผิดของโจทก์ จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ โดยให้จำเลยชำระค่าเช่าทั้งหมดตลอดอายุสัญญา แม้ว่าจำเลยจะมิได้ครอบครองใช้ประโยชน์พื้นที่เช่าอีกต่อไป รวมทั้งให้โจทก์มีสิทธิยึดเงินประกันการเช่าและเงินประกันการใช้บริการดังกล่าว อันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า ถือว่าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 ดังนั้น การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาเช่าและสัญญาจ้างบริการก่อนหมดอายุสัญญา โดยมิได้เป็นความผิดของโจทก์ จึงมีผลให้สัญญาเลิกกันตามสัญญาเช่าข้อ 10.3 เมื่อคู่สัญญาได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแต่อย่างใดไม่ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 โจทก์จึงเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าค้างชำระเสมือนหนึ่งเป็นการเรียกให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาที่เลิกกันไปแล้วหาได้ไม่ คงเรียกได้แต่ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการผิดสัญญาของจำเลยที่บอกเลิกสัญญาก่อนหมดอายุสัญญาโดยมิได้เป็นความผิดของโจทก์เท่านั้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1552/2566 การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ให้ผู้ต้องขังชาย ด. เป็นผู้เขียนอุทธรณ์ และผู้ต้องขังชาย ด. ได้ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียง ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ท้ายฟ้องอุทธรณ์ โดยผู้ต้องขังชาย ด. มิได้เป็นทนายความ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำโดยพลั้งเผลอที่ลงลายมือชื่อในช่องผู้เรียงผิดพลาดไป อันจะทำให้ฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ถูกต้อง มีข้อบกพร่องเกิดขึ้น แต่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ฟ้องอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งหากศาลอุทธรณ์ตรวจพบข้อบกพร่องว่ามีบุคคลซึ่งมิได้จดทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นทนายความและไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้น ตาม พ.ร.บ.ทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ที่ให้มีอำนาจเรียงฟ้องอุทธรณ์ เป็นผู้เขียนฟ้องอุทธรณ์และลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงในฟ้องอุทธรณ์ดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะใช้อำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 สั่งให้จำเลยที่ 2 แก้ไขข้อบกพร่องเรื่องดังกล่าวในฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1542/2566 เมื่อคดีฟังได้ว่า โจทก์มิได้เป็นผู้ให้บริการในการที่ผู้เอาประกันภัยเข้าทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อ โจทก์จึงมิได้เป็นตัวกลางผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อบำเหน็จ ค่าตอบแทนที่โจทก์ในฐานะผู้เอาประกันภัยต่อจ่ายให้แก่บริษัทผู้รับประกันภัยต่อเป็นเบี้ยประกันภัยต่อสุทธิ ที่คำนวณโดยนำจำนวนเบี้ยประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยฉบับต้นเป็นตัวตั้งและหักด้วยส่วนลดที่โจทก์เรียกว่า Fee and Commission Income Local สำหรับการประกันภัยต่อในประเทศ และเรียกว่า Fee and Commission Income Non Local สำหรับการประกันภัยต่อในต่างประเทศตามอัตราที่ตกลงกันไว้ ซึ่งมีอัตราหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับอัตราส่วนความเสียหายและความเสี่ยงในแต่ละสัญญาประกันภัย บริษัทผู้รับประกันภัยต่อจึงได้รับเบี้ยประกันภัยต่อสุทธิเป็นค่าตอบแทนเพื่อความเสี่ยงตามสัญญาประกันภัยต่อ และเมื่อโจทก์มิใช่นายหน้าหรือผู้ชี้ช่องหรือจัดการให้บุคคลผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อ ส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อ ไม่ว่าจะมีชื่อเรียกว่าอย่างไร จึงไม่ใช่ค่านายหน้า แต่เป็นเพียงตัวแปรในวิธีการคำนวณเพื่อให้ได้เบี้ยประกันภัยต่อสุทธิตามปกติธรรมเนียมประเพณีของธุรกิจประกันภัย และการที่โจทก์ทำสัญญาประกันภัยต่อกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่ออีกทอดหนึ่ง แยกต่างหากจากการทำสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับผู้เอาประกันภัย โจทก์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยต่อจึงอยู่ในฐานะผู้รับบริการ ส่วนผู้รับประกันภัยต่ออยู่ในฐานะผู้ให้บริการ และเมื่อจำเลยนำสืบไม่ได้ว่าโจทก์ได้ให้บริการใด ๆ ต่อผู้รับประกันภัยต่อ พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อในกรณีที่โจทก์เอาประกันภัยต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่ใช่ค่าบริการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (10) ดังนั้น ส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อในกรณีที่โจทก์เอาประกันภัยต่อในประเทศและต่างประเทศจึงมิใช่มูลค่าที่โจทก์ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการอันเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตาม ป.รัษฎากร มาตรา 79 วรรคหนึ่งกรณีที่โจทก์เอาประกันภัยต่อกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศ ถือว่าบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศเป็นผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร เมื่อโจทก์ชำระค่าเบี้ยประกันภัยต่อให้บริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศโจทก์จึงมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศมีหน้าที่ต้องเสียตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83/6 (2) ส่วนฐานภาษีที่โจทก์ต้องนำมาคำนวณเพื่อส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มต้องรวมส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อหรือไม่นั้น ป.รัษฎากร มาตรา 83/6 (2) บัญญัติให้ผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีเมื่อมีการชำระค่าบริการให้ผู้ประกอบการ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อเป็นตัวคำนวณหาค่าเบี้ยประกันภัยต่อสุทธิที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ผู้รับประกันภัยต่อ มิใช่ส่วนลดที่ผู้รับประกันภัยต่อลดให้โจทก์จากค่าเบี้ยประกันภัยต่อสุทธิที่กำหนดไว้แล้ว อันจะนำมาเป็นค่าบริการของผู้รับประกันภัยต่อ เมื่อส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อในกรณีที่โจทก์เอาประกันภัยต่อกับบริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศไม่ใช่ค่าบริการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (10) จึงมิใช่มูลค่าของฐานภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทผู้รับประกันภัยต่อในต่างประเทศได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการตามมาตรา 79 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่ต้องนำส่วนลดเบี้ยประกันภัยต่อดังกล่าวมารวมเป็นฐานภาษีเพื่อนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่จำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 83/6 (2)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2566 ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์โดยไม่ได้ยึดถือที่ดินตามสัดส่วนของเจ้าของรวมและครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ทราบว่าผู้คัดค้านเป็นเจ้าของรวม แสดงถึงเจตนาของผู้ร้องทั้งสองว่าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ได้รับรู้ถึงสิทธิของเจ้าของรวมทั้งฝ่ายที่ส่งมอบการครอบครองต่อ ๆ มาแก่ตนและเจ้าของรวมฝ่ายผู้คัดค้านจึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของเอง หาใช่ครอบครองในฐานะเจ้าของรวมหรือผู้สืบสิทธิจากเจ้าของรวมอันจะต้องแสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินแก่เจ้าของรวมไม่ เมื่อผู้ร้องทั้งสองครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1494/2566 ความผิดฐานเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้และฐานจัดให้มีการเล่นการพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศ เป็นความผิดสองกรรมต่างกัน ศาลต้องพิพากษาลงโทษจําเลยทั้งสามทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ป.อ. มาตรา 91 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 แต่เนื่องจากโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสามฐานร่วมกันเป็นเจ้ามือรับกินรับใช้การพนันทายผลฟุตบอลต่างประเทศด้วย ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจําเลยทั้งสามในความผิดดังกล่าวอีกกระทงหนึ่งได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจําเลยทั้งสาม ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นําวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1468/2566 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 มาตรา 12 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 13 นักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษจากกำหนดโทษลง 1 ใน 6”และมาตรา 3 บัญญัติว่า “ในพระราชกฤษฎีกานี้... “ผู้กระทำความผิดซ้ำ” หมายความว่า นักโทษเด็ดขาดที่เคยต้องโทษมาแล้ว และกลับมาต้องโทษจำคุกในคราวนี้อีกภายในห้าปีนับแต่วันพ้นโทษคราวก่อน กับความผิดทั้งสองคราวไม่ใช่ความผิดฐานลหุโทษหรือประมาท..." เมื่อคำว่าผู้กระทำความผิดซ้ำเป็นองค์ประกอบหนึ่งของมาตรา 12 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่านักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยมเช่นเดียวกับผู้ร้องจะได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษหรือไม่ เพียงใด อันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ดังนั้น แม้คู่ความไม่ได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในข้อที่วินิจฉัยแปลความคำว่า นักโทษเด็ดขาดที่เคยต้องโทษมาแล้ว ตามมาตรา 3 และศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้ยกเรื่องการแปลความดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย ทั้งคู่ความไม่ได้ยกเรื่องการแปลความดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในฎีกาด้วย ศาลฎีกาก็ยกเรื่องการแปลความคำว่านักโทษเด็ดขาดที่เคยต้องโทษมาแล้ว ตามมาตรา 3 ขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225ผู้ร้องได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 มาตรา 4 ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2829/2543 ของศาลจังหวัดกาญจนบุรีอันมีผลให้ถือว่าผู้ร้องมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดดังกล่าว แม้การล้างมลทินไม่ได้เป็นการลบล้างความประพฤติหรือการกระทำอันเป็นเหตุให้ผู้ร้องถูกลงโทษจำคุกในความผิดฐานลักทรัพย์ก็ตาม แต่ผลของการล้างมลทินที่ให้ถือว่าผู้ร้องมิได้เคยถูกลงโทษในความผิดดังกล่าว ย่อมมีความหมายชัดเจนอยู่ว่าผู้ร้องมิได้เคยถูกลงโทษจำคุกในความผิดที่ได้กระทำในคดีก่อน ผู้ร้องจึงไม่ใช่นักโทษเด็ดขาดที่เคยต้องโทษมาแล้ว ย่อมไม่มีทางที่ผู้ร้องจะเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำไปได้ กรณีจึงไม่อาจพิจารณาให้ผู้ร้องได้รับพระราชทานอภัยโทษลดโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2562 มาตรา 12
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1467/2566 ในชั้นเดิมที่ศาลฎีกาพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลชั้นที่สุดโดยตรง เพื่ออธิบายว่ากรณีจะต้องบังคับตามรูปแผนที่ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.20 หรือต้องบังคับให้มีเนื้อที่ 326 ตารางวา เพื่อที่จะได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง แต่คำร้องในชั้นนี้เป็นการร้องขอให้ศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นกำหนดวิธีการบังคับคดีและทำคำวินิจฉัยชี้ขาดอันเกี่ยวด้วยการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ประกอบมาตรา 360 ตามลำดับชั้นศาล จึงเป็นคนละกรณีกัน คำร้องในครั้งก่อนศาลฎีกายังไม่ได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวด้วยการบังคับคดีในการรังวัดแบ่งแยก การยื่นคำร้องของจำเลยทั้งสองในชั้นนี้จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 การบังคับคดีให้เป็นไปโดยถูกต้องตรงความเป็นจริง ไม่เป็นการแก้ไขคำพิพากษาอันถึงที่สุดในสาระสำคัญซึ่งจะเป็นผลทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1373/2566 ศาลชั้นต้นขยายระยะเวลาฎีกาให้แก่จําเลย ครบกำหนดวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งตรงกับวันศุกร์อันเป็นวันทำงานปกติ โดยมิได้ถูกกําหนดให้เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษตามประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมและมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการกำหนดวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงการประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 แต่จําเลยมิได้ยื่นฎีกาในวันครบกำหนดดังกล่าว ทั้งหากจําเลยประสงค์ยื่นฎีกาทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อกําหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการยื่น ส่ง และรับคําคู่ความและเอกสารทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 ข้อ 7 วรรคสาม ก็ต้องยื่นภายในวันครบกำหนดได้รับอนุญาตให้ขยายฎีกาตามเวลาทำการปกติคือวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เวลา 16.30 นาฬิกา เช่นเดียวกัน เมื่อจําเลยยื่นฎีกาทางระบบรับส่งอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 เวลา 19 : 39 : 09 นาฬิกา จึงเป็นฎีกาที่ยื่นเกินกําหนดเวลาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2566 บันทึกถ้อยคำเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและแบ่งหักที่สาธารณประโยชน์มีข้อความว่า โจทก์และจำเลยทั้งสี่ตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท โดยไม่ได้ระบุว่าส่วนของเจ้าของรวมแต่ละคนมีแนวเขตตั้งแต่บริเวณใดถึงบริเวณใด จำนวนเนื้อที่เท่าใด ไม่มีลักษณะเป็นการระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 โจทก์ไม่มีสิทธินำบันทึกดังกล่าวมาฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่แบ่งกรรมสิทธิ์รวม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1364
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2566 จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เพื่อชำระหนี้ตามเช็คพิพาท เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจจ่ายให้ตามระเบียบ แต่ปรากฏว่ามีการขออนุญาตถอนเงินกลาง 20,000 บาท เพื่อจ่ายให้เทศบาลตำบล ห. ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย และจำเลยวางเงินรวม 73,060 บาท เมื่อวันที่ 14 และ 20 พฤศจิกายน 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตเนื่องจากผู้ร้องไม่นำหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายมาแสดง ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้น ขอให้ออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวาง 73,060 บาท และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้เสียหายขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาล 93,060 บาท ตามที่ลูกหนี้ได้วางไว้ตามความเป็นจริง อันเป็นการขอรับเงินภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่ทราบการแจ้งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตรวจจ่ายตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ศาลตรวจจ่ายเงินเพียง 73,060 บาท โดยโอนเข้าบัญชีให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ไว้ จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการวางเงินจริงทั้งหมด 93,060 บาท และต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นว่า เงิน 20,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางใช้หนี้ให้แก่ผู้เสียหาย และศาลชั้นต้นได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้เสียหายแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่มารับเงินนับถึงวันที่ทำรายงานเป็นระยะเวลาเกิน 5 ปี จึงขอยกเลิกเช็คฉบับดังกล่าวและขอนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนำส่ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 นั้น ก็ไม่ถูกต้อง ศาลชั้นต้นต้องคืนเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1305/2566 จำเลยวางเงิน 20,000 บาท เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ตรวจจ่ายให้ตามระเบียบ แต่ปรากฏว่ามีการขออนุญาตถอนเงินกลาง 20,000 บาท เพื่อจ่ายให้เทศบาลตำบลหนองเรือ ซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหาย และมีการวางเงิน 72,597 บาท เมื่อวันที่ 14 และ 20 พฤศจิกายน 2557 ผู้เสียหายขอรับเงินในวันดังกล่าว ศาลชั้นต้นไม่อนุญาต เนื่องจากผู้ร้องไม่นำหนังสือมอบอำนาจของผู้เสียหายมาแสดง ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นขอให้ออกหมายแจ้งให้ผู้เสียหายมารับเงินที่จำเลยวาง 72,597 บาท และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ผู้เสียหายขอรับเงินที่จำเลยวางต่อศาล 92,597 บาท ตามที่ลูกหนี้ได้วางไว้ตามความเป็นจริง อันเป็นการขอรับเงินภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่ทราบการแจ้งของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ตรวจจ่ายตามระเบียบ เจ้าหน้าที่ศาลตรวจจ่ายเงินเพียง 72,597 บาท โดยโอนเข้าบัญชีให้แก่ผู้เสียหายตามที่ผู้เสียหายแจ้งความประสงค์ไว้ จึงไม่ถูกต้อง เนื่องจากมีการวางเงินจริงทั้งหมด 92,597 บาท และการที่เจ้าหน้าที่ศาลทำรายงานเสนอต่อศาลชั้นต้นว่าเงิน 20,000 บาท ที่จำเลยนำมาวางใช้หนี้ให้แก่ผู้เสียหาย และศาลชั้นต้นได้สั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้เสียหายแล้ว แต่ผู้เสียหายไม่มารับเงินนับถึงวันที่ทำรายงานเป็นระยะเวลาเกิน 5 ปี จึงขอยกเลิกเช็คฉบับดังกล่าว และขอนำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง นำส่ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 นั้น ก็ไม่ถูกต้อง ศาลชั้นต้นต้องคืนเงิน 20,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1302/2566 แม้สัญญาขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นก่อน พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562 มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อกำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝาก คือวันที่ 20 เมษายน 2562 เป็นกำหนดไถ่ที่มีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ กรณีย่อมต้องด้วยบทเฉพาะกาลมาตรา 20 ที่กำหนดให้สัญญาขายฝากซึ่งทรัพย์สินที่ขายฝากเป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับและยังไม่ครบกำหนดเวลาไถ่ให้มีผลผูกพันคู่สัญญาต่อไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันทำสัญญาขายฝาก เว้นแต่กรณี (3) ให้นําความในมาตรา 17 มาใช้บังคับกับสัญญาขายฝากที่มีผลบังคับอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ และในกรณีที่กำหนดเวลาไถ่ในสัญญาขายฝากมีหรือเหลือระยะเวลาน้อยกว่าสามเดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ ให้ขยายกำหนดเวลาการไถ่ออกไปเป็นเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้บังคับ กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงต้องขยายระยะเวลาออกไปอีก 6 เดือนนับแต่วันที่ พ.ร.บ. นี้มีผลใช้บังคับ ทำให้จะครบกำหนดไถ่ในวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และเมื่อมาตรา 17 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือน ให้ผู้ซื้อฝากแจ้งเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังผู้ขายฝากเพื่อให้ผู้ขายฝากทราบกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ หากผู้ซื้อฝากละเลยไม่ดำเนินการดังกล่าว มาตรา 17 วรรคสอง บัญญัติให้ผู้ขายฝากมีสิทธิไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากได้ภายในหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ที่ระบุไว้ในสัญญาขายฝากโดยผู้ขายฝากมีหน้าที่ชําระสินไถ่ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในสัญญา เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ที่ขยายระยะเวลาออกไปโดยผลของกฎหมายตามที่กล่าวมาจำเลยผู้ซื้อฝากได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ผู้ขายฝากทราบถึงกำหนดเวลาไถ่และจำนวนสินไถ่ก่อนวันครบกำหนดเวลาไถ่ไม่น้อยกว่าสามเดือนแต่ไม่มากกว่าหกเดือนตามบทบัญญัติมาตรา 17 วรรคหนึ่ง กำหนดไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากจึงต้องขยายไปอีกหกเดือนนับแต่วันครบกำหนดไถ่ตามมาตรา 17 วรรคสอง กล่าวคือ ขยายออกไปอีกจนถึงวันที่ 17 เมษายน 2563 การที่โจทก์ขอไถ่ทรัพย์สินที่ขายฝากต่อจำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2562 จึงยังอยู่ภายในกำหนดไถ่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1301/2566 การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญากู้ยืมตกลงกันเป็นหนังสือให้เอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินแล้วให้คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้น เป็นข้อตกลงที่มีผลใช้บังคับได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 655 วรรคหนึ่ง ไม่อยู่ในบังคับของข้อห้ามไม่ให้คิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และข้อตกลงดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าต้องกระทำเมื่อดอกเบี้ยค้างชำระครบหนึ่งปีแล้วเท่านั้น ดังนั้น ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นโมฆะ ฉะนั้น ตราบใดที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระดอกเบี้ย โจทก์ย่อมมีสิทธินำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่าหนึ่งปีทบเข้ากับต้นเงินและคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ทุกครั้งที่มีการค้างชำระดอกเบี้ยถึงหนึ่งปีเช่นนั้น แม้ว่าจะครบกำหนดชำระคืนและลูกหนี้ผิดนัดแล้วก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนที่กำหนดในรูปดอกเบี้ยทบต้นไว้ล่วงหน้าเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนและใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงโดยกำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นได้ครั้งเดียวนั้นชอบแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1300/2566 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “หุ้นทุก ๆ หุ้นจำต้องใช้เป็นเงินจนเต็มค่า เว้นแต่หุ้นซึ่งออกตามบทบัญญัติมาตรา 1108 อนุมาตรา (5) หรือมาตรา 1221” วรรคสอง บัญญัติว่า “ในการใช้เงินเป็นค่าหุ้นนั้น ผู้ถือหุ้นจะหักหนี้กับบริษัทหาได้ไม่” มิได้มีบทบัญญัติใดบัญญัติว่าหากมิได้ดำเนินการตามมาตรา 1119 แล้ว จะทำให้การเป็นผู้ถือหุ้นเป็นโมฆะ หรือกลับกลายเป็นไม่เป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ดังนั้น บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวจึงมีผลแต่เพียงว่าผู้ถือหุ้นดังกล่าวยังมิได้ใช้เงินเป็นค่าหุ้นแก่บริษัทเท่านั้น กรรมการจึงสามารถที่จะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งเงินค่าหุ้นให้แก่บริษัทเสียเมื่อใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1120 ถึง 1124 ทั้งตามบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในขณะที่ ส. ยังมีชีวิตอยู่ ส. ก็ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 โดยได้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นส่งไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดพิษณุโลก ดังนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามข้อฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าโจทก์ได้ชำระเงินค่าหุ้นแล้วหรือไม่ และโดยวิธีใด เพราะไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องการเรียกเงินค่าหุ้น จึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายแล้ว ส่วนที่โจทก์ไม่เคยได้รับมอบใบหุ้น ไม่เคยเข้ามีส่วนได้เสียในบริษัท เช่น การประชุมผู้ถือหุ้น การรับรู้ส่วนได้เสียของบริษัท เช่น กำไร ขาดทุน นั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้ออกใบหุ้นให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์ไม่ไปรับหรือไม่ จำเลยที่ 2 เคยมีหนังสือเชิญประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นแล้วหรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวจะว่าโจทก์ไม่ได้รับมอบใบหุ้นและไม่เข้ามามีส่วนได้เสียของบริษัทหาได้ไม่ จึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 และ ป.อ. มาตรา 137แม้คำฟ้องของโจทก์ ข้อ 2.1 ที่บรรยายว่า การกระทำของจำเลยทั้งสี่ ทำให้โจทก์เสียหายต้องสูญเสียหุ้นจำนวน 10,000 หุ้น โจทก์จะมิได้บรรยายเจตนาพิเศษมาในคำฟ้องก็ตาม แต่ต่อมาในข้อ 2.3 โจทก์ก็ได้บรรยายฟ้องชัดเจนว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 2 และฐานะส่วนตัวซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารบริษัทจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำการหรือยินยอมให้มีการปลอมบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามฟ้อง ข้อ 2.1 เพื่อลวงโจทก์ให้ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์อันควรได้ ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42 (2) แล้ว ดังนี้ จึงถือว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงเจตนาพิเศษในการกระทำความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1225/2566 ก่อนเริ่มพิจารณาคดีศาลชั้นต้นสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้ว จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ศาลจึงอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดี ที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ อันเป็นการกำหนดรายละเอียดของสิทธิไว้ชัดแจ้งเช่นเดียวกันกับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย เมื่อจำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความและให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลชั้นต้นได้บันทึกคำให้การจำเลยไว้ ย่อมไม่มีกรณีที่ศาลชั้นต้นต้องตั้งทนายความให้จำเลยจำเลยฎีกาว่า ในวันนัดสอบคำให้การจำเลย โจทก์และจำเลยต้องมาอยู่ต่อหน้าศาลพร้อมกันให้ศาลอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง เมื่อจำเลยให้การอย่างไรก็ให้ศาลจดไว้ ซึ่งไม่ว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธฟ้องโจทก์ โจทก์ยังคงมีหน้าที่ต้องแถลงให้ศาลทราบว่ายังประสงค์ให้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ วันนัดสอบคำให้การจำเลยจึงเป็นการนัดพิจารณาซึ่งโจทก์มีหน้าที่ต้องมาในวันดังกล่าวนั้น เมื่อโจทก์ไม่มา จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 181 ประกอบมาตรา 166 นั้น เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวจำเลยมิได้อุทธรณ์ จึงเป็นเรื่องที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และปรับ 800 บาท ฐานมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยพ้นโทษในคดีดังกล่าวยังไม่เกินห้าปีและกลับมากระทำความผิดคดีนี้อีกจนถูกเพิ่มโทษ เมื่อจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ซึ่งมิใช่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษหรือเป็นโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.อ. มาตรา 56 (1) และ (2) ที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1193/2566 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243, 253 ซึ่งการกระทำความผิดตามข้ออ้างในคำฟ้องข้อ 1.1 ของโจทก์เป็นการกระทำในขณะ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 ใช้บังคับ โดยความหมายในมาตรา 2 คำว่า “อากร” ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 หมายถึงค่าอากรในทางศุลกากรเท่านั้น หาหมายรวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นภาษีอากรฝ่ายสรรพากร ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทยด้วยไม่ อย่างไรก็ตาม แม้คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.1 ไม่มีจำนวนอากรขาเข้าที่จำเลยทั้งสามต้องเสียเพิ่ม แต่เมื่อคำฟ้องข้อ 1.1 บรรยายด้วยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายและข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับการนำเข้าสินค้ารถยนต์ใช้แล้วครบชุดสมบูรณ์โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษี ซึ่งจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ และ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ยังบัญญัติให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดอยู่ จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ด้วยภายหลังจำเลยทั้งสามกระทำความผิดได้มี พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 ใช้บังคับ ซึ่งอัตราโทษใหม่ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยทั้งสามในส่วนที่เป็นคุณตาม ป.อ. มาตรา 3
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2566 การที่จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนยังยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินฝากของตนไปใช้รับโอนเงินลงทุนที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสาม ถือว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา 86 และต้องร่วมรับผิดในส่วนแพ่งกับจำเลยที่ 1 ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1165/2566 จำเลยร่วมที่ 1 ได้โฆษณาหรือให้คำรับรองแก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในโครงการว่าจะจัดให้มีสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะบนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการ แม้จะมิได้มีการจดแจ้งให้ปรากฏในโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงก็ไม่ทำให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่เป็นที่ดินสำหรับสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยเปลี่ยนเป็นที่ดินสำหรับจัดสรรเพื่อขายไปได้ โดยถือว่าข้อความในแผ่นพับโฆษณาและแผนผังโครงการเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 11 และถือว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงรวมทั้งสระว่ายน้ำและสวนหย่อมที่ได้จัดทำขึ้นแล้วบนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 เป็นสาธารณูปโภคและตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่งการที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะโดยพลการก็โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันมิให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินโดยมีเงื่อนไข ข้อจำกัดทำให้ไม่ได้รับความสะดวกในการใช้ สำหรับการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะไปยังบุคคลอื่นก็อาจทำให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับความเดือดร้อนเสียหายลักษณะเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรขึ้นแล้ว ผู้จัดสรรที่ดินก็ต้องดำเนินการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) หรือหากไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร ผู้จัดสรรที่ดินต้องเป็นผู้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคโดยได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน หรือผู้จัดสรรที่ดินต้องจดทะเบียนโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นสาธารณประโยชน์ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (2) หรือ (3) (เดิม) ประการหนึ่งประการใด ดังนี้ การที่ผู้จัดสรรที่ดินโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณะไปยังบุคคลอื่นจึงเป็นนิติกรรมที่ไม่อาจกระทำได้ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 33การซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65722 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับจำเลยร่วมที่ 2 การขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยร่วมที่ 2 กับโจทก์ และการซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 65657 ระหว่างจำเลยร่วมที่ 1 กับโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินจังหวัดเพชรบุรี จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จำเลยได้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยชอบด้วย พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 แล้วจำเลยร่วมที่ 1 ในฐานะผู้จัดสรรที่ดินจึงต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอันเป็นสาธารณูปโภคให้แก่จำเลยไปจัดการและดูแลบำรุงรักษาตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 44 (1) (เดิม) โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1101/2566 โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งหกชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชําระหนี้แก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์อาศัยข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามคําขอสินเชื่อ คําขอสินเชื่อธุรกิจ ประเภทวงเงินออกหนังสือค้ำประกัน คำขอและข้อตกลงยินยอมให้ธนาคารออกหรือต่ออายุหนังสือค้ำประกัน ที่ระบุว่า “หากโจทก์ได้รับความเสียหายใด ๆ ในการออกหนังสือค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกัน ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายใด ๆ ตลอดจนค่าปรับต่าง ๆ จำเลยที่ 1 จะรับผิดชําระหนี้คืนให้แก่โจทก์ทันทีพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี หรือในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินตามหนังสือค้ำประกันไปนั้น” ข้อตกลงดังกล่าวจะเห็นว่า โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี จากจำเลยที่ 1 ได้ต่อเมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างใด ๆ ในการออกหนังสือค้ำประกันจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีลูกหนี้ไม่ชําระหนี้อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่งแม้จำเลยทั้งหกขาดนัดยื่นคำให้การ แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่นําสืบข้อเท็จจริง ให้ได้ความตามฟ้อง ปัญหาว่าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 686 เดิม หรือตามมาตรา 686 ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ที่แก้ไขใหม่ หรือไม่เพียงใด ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 ใช้บังคับ แต่มาตรา 19 แห่งบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ สิทธิและหน้าที่ของเจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันให้เป็นไปตามมาตรา 686 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ บทบัญญัติของมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่จึงต้องบังคับใช้กับสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 3 ทำไว้กับโจทก์ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1090/2566 ป.วิ.อ มาตรา 158 บัญญัติว่า “ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือและมี...(7) ลายมือชื่อโจทก์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์ฟ้อง” และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้อง หรือยกฟ้อง หรือไม่ประทับฟ้อง” ซึ่งคำว่า “ฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย...”นั้น หมายถึง กรณีที่ศาลตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว ปรากฏว่าคำฟ้องที่ยื่นนั้น โจทก์กระทำไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยเขตอำนาจศาลที่ยื่นฟ้องตามมาตรา 157 หรือกระทำไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 158 (1) ถึง (7) มาตรา 159 และมาตรา 160 หากผลการตรวจคำฟ้องปรากฏว่าคำฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อตามฟ้องโจทก์ปรากฏลายมือชื่อผู้เรียงและผู้พิมพ์แล้ว แต่ไม่ปรากฏลายมือชื่อโจทก์อันเป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.อ มาตรา 158 (7) ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อย ที่ศาลสามารถสั่งให้แก้ไขได้ การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องโดยไม่มีลายมือชื่อโจทก์ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ มาตรา 158 (7) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 และมิได้มีคำสั่งให้โจทก์ลงลายมือชื่อในฟ้องให้ถูกต้องเสียก่อน จึงเป็นข้อผิดพลาดที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์โดยจำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงประกอบอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ยื่นคำแก้อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนพบข้อผิดพลาดของโจทก์และศาลชั้นต้นดังกล่าว โดยศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีแล้ว ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องได้โดยมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดไว้ เช่นนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจที่จะให้ศาลชั้นต้นสั่งโจทก์แก้ไขฟ้องโดยให้โจทก์ลงลายมือชื่อในคำฟ้องให้ถูกต้องได้ การที่ศาลอุทธรณ์ส่งสำนวนคืนศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินการให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเสร็จแล้วให้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์เพื่อดำเนินการต่อไป จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง และมาตรา 215 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 แล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1088/2566 คำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการต้องแสดงโดยชัดแจ้งถึง “ช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ” ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/6 (3) ประกอบมาตรา 90/3 กิจการของลูกหนี้ไม่มีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางมีอำนาจยกคำร้องขอของผู้ร้องขอทั้งสองตั้งแต่ในชั้นตรวจคำร้องขอได้ โดยหาจำต้องมีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องทั้งสองไว้ก่อนไม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 ประกอบมาตรา 172 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1003/2566 หนี้ตามสัญญากู้เงินพิพาทเกิดจากการนำหนี้เงินกู้ 100,000 บาท หนี้ยืมทองคำ และหนี้ค่าแชร์มารวมกัน แม้หนี้เงินกู้เดิมไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมแต่จำเลยยังมีหน้าที่ต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์เพียงแต่โจทก์ไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีจำเลยได้ อย่างไรก็ตาม คู่กรณีสามารถตกลงกันทำสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินได้ ทั้งการส่งมอบเงินกู้ไม่จำเป็นต้องส่งมอบเงินในวันทำสัญญา สามารถส่งมอบก่อนหรือหลังทำสัญญาก็ได้ และจำเลยรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ 100,000 บาท ดังกล่าวจริง หนี้ส่วนนี้จึงสมบูรณ์ ส่วนหนี้ยืมทองคำ แม้มีการไถ่ถอนทองคำคืนโจทก์ แต่ก็เป็นการกระทำภายหลังที่มีการทำสัญญากู้ยืมเงินแล้ว ทั้งโจทก์และจำเลยมีการตรวจสอบยอดหนี้ในส่วนนี้ว่ายังมีหนี้ค้างชำระกันอีก หนี้ในส่วนนี้จึงสมบูรณ์เช่นกัน สำหรับหนี้ค่าแชร์เมื่อนำมารวมกับหนี้เงินกู้และหนี้ยืมทองคำแล้วจัดทำเป็นหนังสือสัญญากู้เงินพิพาท จำเลยยอมรับว่ามีการทำสัญญากู้ยืมเงินพิพาทจริง ส่วนจะเป็นโมฆะตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 หรือไม่ นั้น จำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง จำเลยมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าในช่วงเวลาเดียวกันโจทก์มีการจัดให้เล่นแชร์มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่าสามวง หรือมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่าสามสิบคน และมีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าหนี้ค่าแชร์ที่นำมารวมเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินมีทุนกองกลางต่อหนึ่งงวดรวมกันทุกวงเป็นมูลค่ามากกว่าสามแสนบาท เมื่อจำเลยไม่นำสืบจึงฟังไม่ได้ว่าหนี้ค่าแชร์ที่โจทก์เป็นนายวงเป็นโมฆะ และเมื่อมีการนำหนี้ทั้งสามประเภทมารวมกันเป็นหนี้ตามหนังสือสัญญากู้เงินพิพาท เป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยตกลงก่อหนี้ขึ้นมาใหม่โดยมีเจตนาให้หนี้เดิมระงับอันมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 961/2566 ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคเป็นคนละส่วนกับค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ดังที่ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 4 นิยามคำว่า “สาธารณูปโภค” กับคำว่า “บริการสาธารณะ” แยกจากกัน การบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากความรับผิดเมื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 44 หากมีการทำข้อตกลงที่เป็นการผลักภาระความรับผิดในค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคไปให้แก่ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรก่อนที่จะมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 44 ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการขัดต่อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แต่ในส่วนบริการสาธารณะ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ข้อ 30 และ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43 และมาตรา 44 ไม่ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะต้องรับผิดชอบเหมือนดังเช่นสาธารณูปโภค ประกอบกับผู้ซื้อที่ดินจัดสรรได้รับประโยชน์จากบริการสาธารณะซึ่งเป็นบริการหรือสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการจัดสรรที่ดินโดยตรง ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรย่อมมีหน้าที่รับผิดชอบในค่าบริการสาธารณะ ข้อตกลงที่ให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรรับผิดในค่าบริการสาธารณะจึงบังคับกันได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ เมื่อคดีนี้โจทก์มีคำขอให้จำเลยชำระค่าบริการส่วนกลางที่ค้างชำระ แม้คำฟ้องบางช่วงบางตอนจะใช้ถ้อยคำว่า โจทก์จัดทำสาธารณูปโภคในพื้นที่ส่วนกลาง ค่าบริการสาธารณูปโภคส่วนกลาง แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องและมีพยานมาสืบโดยยกตัวอย่างถึงบริการส่วนกลางที่ดำเนินการ เช่น การจัดให้มีไฟทางส่องสว่างภายในหมู่บ้าน การจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยในการเข้าออกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบริการสาธารณะเมื่อจำเลยชำระค่าบริการสาธารณะเรื่อยมา จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2555 พฤติการณ์บ่งชี้ว่าโจทก์และจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าบริการสาธารณะระหว่างกัน แม้โจทก์ไม่ได้อ้างส่งสัญญาหรือข้อตกลงเป็นพยานหลักฐาน กรณีรับฟังได้ว่า โจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าบริการสาธารณะ ส่วนที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แม้ต่อมามีการตรา พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ขึ้นใช้บังคับให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 แต่มาตรา 69 พระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ใบอนุญาตหรือการอนุญาตใด ๆ ที่ให้ไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ให้ถือว่าเป็นใบอนุญาตและการอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติว่า การบำรุงรักษาบริการสาธารณะ ให้นำมาตรา 53 มาใช้บังคับแก่การจัดสรรที่ดินตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ด้วยโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 53 ก็บัญญัติให้นำความมาตรา 50 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เรียกเก็บค่าใช้บริการและค่าบำรุงรักษาบริการสาธารณะได้ตามอัตราที่คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครให้ความเห็นชอบ แต่อย่างไรก็ตามแม้โจทก์ไม่ได้ยื่นขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ใช่เหตุที่จำเลยจะหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้ค่าบริการสาธารณะโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ ทั้งหากศาลไม่รับบังคับหนี้ค่าบริการสาธารณะย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่และความสงบสุขโดยรวมของผู้ที่อยู่อาศัยในโครงการที่ดินจัดสรรที่มิได้จัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร เมื่อคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดค่าบริการสาธารณะให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ในอัตราที่เหมาะสมได้เช่นเดียวกับการกำหนดค่าเสียหายคดีแพ่งทั่วไปตามคำฟ้องไม่ปรากฏข้อตกลงกำหนดเวลาชำระค่าบริการสาธารณะที่จำเลยต้องชำระรายเดือนเมื่อใด จะต้องถือว่าจำเลยผิดนัดเมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบอกกล่าวทวงถามแล้วไม่ชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 ได้ความว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระค่าบริการสาธารณะภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับคำบอกกล่าว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจำเลยได้รับเมื่อใด จึงไม่อาจกำหนดวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ก่อนฟ้องได้ เห็นสมควรกำหนดให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไประเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร ข้อ 4 กำหนดอัตราค่าปรับกรณีที่เจ้าของที่ดินแปลงย่อยในโครงการจัดสรรที่ดินชำระเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคล่าช้ากว่าเวลาที่กำหนดว่าต้องไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนเงินค้างชำระ เมื่อนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมแก่การชำระค่าบริการสาธารณะล่าช้ากรณียังไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมีความหมายเพียงว่าผู้จัดสรรที่ดินและผู้ซื้อที่ดินจัดสรรอาจตกลงให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรชำระค่าปรับล่าช้าได้ เมื่อไม่ปรากฏข้อตกลงดังกล่าวระหว่างโจทก์และจำเลย กรณีจึงไม่ต้องด้วยระเบียบคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานครฉบับดังกล่าวอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากค่าบริการสาธารณะที่จำเลยค้างชำระตามฟ้องได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 960/2566 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนห้องชุดของจำเลยไว้เป็นเพียงวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา มิใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษา จึงไม่ต้องห้ามที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะยึดทรัพย์สินนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 326ห้องชุดมีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมสามารถบังคับคดีเอาแก่ห้องชุดดังกล่าวได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 274 วรรคหนึ่ง การบังคับคดีของโจทก์จึงมิได้ดำเนินการไปโดยไม่มีสิทธิ หรือเป็นไปด้วยความไม่สุจริต การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์และการขายทอดตลาดที่ไม่ต้องด้วยกรณีตามมาตรา 292 (2) (3) (4) (6) และ (7) ทั้งมิได้เกิดจากความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้โจทก์ต้องรับผิดชําระค่าธรรมเนียมถอนการยึดกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 934/2566 ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) เป็นความผิดคนละอย่างที่มีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) จึงมิใช่เป็นความผิดตามบททั่วไปของบทเฉพาะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง จึงต้องปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) วรรคแรก ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 922/2566 การที่ ย. รู้ถึงข้อเท็จจริงที่ตนเคยได้รับการตรวจสุขภาพ และแพทย์ให้ข้อสังเกตว่าตนเป็นโรคความดันโลหิตสูงมาก่อนแล้ว แต่ไม่เปิดเผยข้อความจริงนั้น ซึ่งหาก ย. เปิดเผยย่อมจูงใจให้จำเลยเรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นหรือบอกปัดไม่ยอมทำสัญญาไม่ว่า ย. จะได้รับการรักษาต่อไปตามคำแนะนำของแพทย์หรือไม่ จะเข้าพบแพทย์ด้วยสิทธิประโยชน์ทางใด หรือจะได้รับการจ่ายยาเพื่อรักษาโรคหรือไม่ รวมทั้งแท้จริงแล้ว ย. จะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องข้อมูลที่จำเลยได้รับขณะทำสัญญาประกันภัยไม่ถูกต้องและเป็นข้อสำคัญที่จำเลยจะปฏิเสธไม่รับประกันภัย หรือหากจะรับประกันภัยก็ต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไปว่าควรเสี่ยงรับประกัน ย. หรือไม่ ทั้งข้อวินิจฉัยของแพทย์ก็เป็นการตั้งข้อสังเกตโดยแพทย์แล้วว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ไม่ว่า ย. จะถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุใด การที่ ย. ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความดังกล่าว สัญญาประกันชีวิตตามฟ้องย่อมตกเป็นโมฆียะ เมื่อจำเลยบอกล้างภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2566 แม้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าหรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายในประเด็นพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ประมาทแต่เพียงฝ่ายเดียวตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องหรือไม่ ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 หรือประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 และความเสียหายของโจทก์เป็นพับ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ การอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2566 ประกาศกระทรวงการคลังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง เป็นการประกาศประเภทกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ซึ่งกิจการที่ต้องขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นเรื่องการให้สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคาร เมื่อผู้ใดประกอบกิจการดังกล่าวหลังจากประกาศกระทรวงการคลังใช้บังคับแล้ว จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คำฟ้องของโจทก์ข้อ 1.2 บรรยายว่า ...จำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ ประเภทการให้กู้ยืมเงินแก่บุคคลธรรมดา ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพที่ไม่มีทรัพย์หรือทรัพย์สินเป็นหลักประกัน โดยการร่วมกันจัดหาซึ่งเงินทุนแล้วให้ผู้อื่นกู้ยืมเงินนั้น และจำเลยทั้งสองมิได้เป็นสถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้บริโภค...อันเป็นการร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม 2515 ว่าด้วยการควบคุมกิจการค้าขายอันกระทบถึงความปลอดภัยผาสุกแห่งสาธารณชน และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ซึ่งประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและจำเลยทั้งสองทราบประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสองมิได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อันเป็นการฝ่าฝืนต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 และประกาศกระทรวงการคลัง จึงเป็นการบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด และเป็นการยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ทราบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์ไม่แนบประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวมาพร้อมกับฟ้อง และส่งประกาศดังกล่าวในชั้นพิจารณา ก็หาทำให้ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ข้อ 5 บัญญัติว่า “เมื่อได้มีประกาศของรัฐมนตรีกำหนดกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดดังระบุไว้ต่อไปนี้ หรือกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ให้เป็นกิจการที่ต้องขออนุญาต ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบกิจการนั้น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี ...(3) การธนาคาร..” แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ากฎหมายมุ่งไปถึงลักษณะของกิจการเป็นสำคัญ หากเข้าลักษณะของกิจการอันมีสภาพคล้ายคลึงกับการธนาคารแล้ว ก็ให้อำนาจรัฐมนตรีประกาศกำหนดให้กิจการในลักษณะนี้ต้องถูกควบคุมดูแลและตรวจสอบโดยทางราชการด้วยระบบการขออนุญาตได้ หากฝ่าฝืนประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตย่อมมีโทษทางอาญาตามข้อ 16 คำว่า “ผู้ใด” ตามข้อ 5 ประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าวย่อมใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่ว่ากับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ดังนั้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารเป็นกิจการที่ต้องขออนุญาตแล้ว กิจการในลักษณะนี้จึงมิใช่กิจการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งกระทำได้โดยเสรีอีกต่อไป แต่ต้องกระทำผ่านระบบใบอนุญาตเท่านั้น หากนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาเช่นจำเลยที่ 2 จะให้ยืมเงินในลักษณะดังกล่าวก็ต้องขออนุญาตด้วยกันหมดทั้งสิ้น ส่วนที่ประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นขออนุญาตว่าต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเท่านั้น ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าทางราชการไม่ประสงค์ให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลประเภทอื่นประกอบกิจการในลักษณะนี้นั่นเอง การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาไม่อาจยื่นขออนุญาตตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าวได้ ไม่ได้แสดงว่าจำเลยที่ 2 สามารถประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับอันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารได้โดยเสรี การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงครบองค์ประกอบและเป็นความผิดตามฟ้องความผิดฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้จำเลยที่ 2 กระทำความผิดต่อเนื่องกัน แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแยกเจตนาของจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดตามฟ้องแต่ละข้อได้อย่างชัดเจน และจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ อันเป็นกิจการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับการธนาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และ ฐานร่วมกันให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2566 แม้ตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองรวมแปดโฉนด ข้อ 5 ระบุให้สัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการกู้เงิน ข้อ 6 ระบุว่า ไม่มีดอกเบี้ย กำหนดชำระคืนภายในหนึ่งปี และตามบันทึกข้อตกลง ข้อ 1 ระบุว่า หากผู้กู้ผิดสัญญากู้โดยไม่ชำระหนี้คืนให้แก่ผู้ให้กู้ภายในกำหนดเวลาไถ่ถอนจำนอง ผู้กู้จะต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนองแก่ผู้ให้กู้ นับแต่วันผิดนัดชำระหนี้จนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น อันเป็นการระบุว่าการกู้เงินระหว่างโจทก์และจำเลยนั้น โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าที่ ป.พ.พ. มาตรา 654 กำหนดไว้ก็ตาม แต่การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลและพยานวัตถุฟังได้ว่า ในการทำสัญญาจำนองตกลงกันว่าจะไม่มีการคิดดอกเบี้ย แต่ความจริงโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยตั้งแต่วันทำสัญญาจำนองอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 204,300 บาท แต่พยานขอลดหย่อนเหลือเดือนละ 200,000 บาท โดยโจทก์ให้จำเลยแบ่งชำระเงิน 2 ยอด ยอดแรกชำระ 150,000 บาท อีกยอดชำระ 50,000 บาท โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้เฉพาะยอดเงิน 150,000 บาท เพราะเกรงว่าจะถูกกล่าวหาว่าคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นการผิดกฎหมาย ซึ่งต้นเงิน 13,620,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องเสียดอกเบี้ยเดือนละ 170,250 บาท จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่าที่รวบรวมใบเสร็จรับเงินได้ 12 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,150,000 บาท เป็นการนำสืบถึงข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะอันเป็นผลทำให้หนี้ตามสัญญาบางส่วนไม่สมบูรณ์ อันเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย การรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้บางส่วนที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 835/2566 เมื่อกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มิได้บัญญัตินิยามความหมายของคำว่า “การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์” ไว้เป็นการเฉพาะ การตีความความหมายของคำดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/12 (5) ที่บัญญัติเป็นข้อยกเว้นให้ศาลไม่จำต้องงดการบังคับคดีไว้ในกรณีที่การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการนั้น คงต้องพิจารณาเทียบเคียงกับกรณีกิจการที่ได้กระทำไปแล้วหากมีกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลาย เนื่องจากผลของการล้มละลายหรือการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ย่อมไม่อาจกระทบกระเทือนต่อกิจการที่ได้กระทำไปจนเสร็จสิ้นแล้วเช่นเดียวกัน การที่มาตรา 110 วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีของผลของการล้มละลายเกี่ยวกับกิจการที่ได้กระทำไปแล้ว ได้ให้ความหมายของคำว่า การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์เมื่อพ้นกำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตาม ป.วิ.พ. โดยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 326 วรรคห้า ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การขอเฉลี่ยทรัพย์ ในกรณีอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา โดยกำหนดระยะเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเสียก่อนสิ้นระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันชำระเงิน ดังนั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามเช็คที่ผู้ร้องนำส่งตามหนังสือแจ้งอายัดที่พิพาทนี้ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2563 กำหนดเวลาที่อนุญาตให้เจ้าหนี้อื่นยื่นคำขอเฉลี่ยตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวคือวันที่ 5 มิถุนายน 2563 จำเลยยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลา 15 วัน นับแต่วันชำระเงินถือว่าการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์แล้วก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องงดการบังคับคดีไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/12 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 761/2566 การร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบและการเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานเรียกทรัพย์สินสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบซึ่งได้กระทำในคราวเดียวกัน จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน มิใช่พิจารณาแต่เพียงถ้าเป็นการกระทำครั้งเดียวคราวเดียวแล้วจะต้องเป็นกรรมเดียวเสมอไป การกระทำครั้งเดียวคราวเดียวอาจเป็นหลายกรรมต่างกันได้ หากผู้กระทำมีเจตนาหลายเจตนาที่จะให้เกิดผลต่างกรรมกัน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยทั้งสี่เรียกเงินและสนับสนุนการเรียกเงินเป็นค่าตอบแทนในการพิจารณาต่อสัญญาจ้างจาก พ. น. อ. และ ว. ซึ่งเป็นพนักงานจ้างตามภารกิจและพนักงานจ้างทั่วไป กับ ม. และ ช. ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง แตกต่างกันทั้งจำนวนเงินและระยะเวลา ประกอบกับหากบุคคลทั้งหกคนใดคนหนึ่งให้เงินหรือไม่ให้เงินแก่จำเลยทั้งสี่ จำเลยที่ 1 ก็ต่อสัญญาจ้างหรือไม่ต่อสัญญาจ้างให้แก่บุคคลทั้งหกเป็นรายบุคคลไป แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยทั้งสี่ที่ประสงค์จะให้เกิดผลของการกระทำความผิดต่อบุคคลทั้งหกแยกออกจากกันโดยชัดแจ้ง การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756/2566 ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดในข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยนั้นโดยตรง กรณีที่จำเลยใช้รถยนต์ของกลางโดยสารพาคนต่างด้าวทั้งสิบห้าคนซึ่งหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วไปส่งยังจุดหมายปลายทาง จึงเป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในรถด้วยเท่านั้น มิได้เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเพื่อพาคนต่างด้าวหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรง ดังนี้ รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินรวมที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ของกลางที่คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาด้วยนั้นจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลซึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 7 คน แต่จำเลยกลับนำรถยนต์ของกลางดังกล่าวมาใช้บรรทุกคนต่างด้าว 15 คน ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารเกินกว่าที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก และคนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในห้องโดยสารในลักษณะแออัดยัดเยียด ซึ่งผิดวิสัยของการนั่งโดยสารมาในรถตามปกติทั่วไปก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงการใช้รถยนต์ผิดประเภทและลักษณะการใช้งานของตัวทรัพย์เท่านั้น มิใช่พฤติการณ์ที่ถึงกับบ่งชี้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะใช้รถยนต์ของกลางดังกล่าวในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์โดยตรงดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น รถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่ไม่อาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2566 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง มิได้ถือเอาอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อสำคัญแต่ถือเอาอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปเป็นเกณฑ์ กล่าวคือในความผิดฐานใดที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือความผิดที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือโทษประหารชีวิตสถานเดียว แม้จำเลยให้การรับสารภาพ กฎหมายก็บังคับให้ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้ คดีนี้เมื่อข้อหาความผิดตามที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีหกเดือนถึงสิบปีหกเดือน ถึงแม้โทษจำคุกสิบปีหกเดือนนี้จะเป็นโทษที่หนักกว่าโทษจำคุกห้าปีแต่ก็เป็นอัตราโทษอย่างสูง ส่วนอัตราโทษอย่างต่ำในความผิดฐานนี้ให้จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีหกเดือนขึ้นไป ซึ่งศาลอาจลงโทษจำคุกจำเลยต่ำกว่าโทษจำคุกสิบปีหกเดือนลงมาจนถึงจำคุกหนึ่งปีหกเดือนก็ได้ การที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลย 6 ปี แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง จึงพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี โดยไม่ได้สืบพยานโจทก์ประกอบคำให้การรับสารภาพของจำเลยนั้น ย่อมชอบด้วยกฎหมายแล้วส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยเนื่องจากเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อศาลฎีกาได้รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยข้ออื่นในปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะพิจารณาด้วยว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษแก่จำเลยนั้นเหมาะสมหรือไม่ เพียงใด และมีเหตุรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2566 แม้คําพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นจะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคําวินิจฉัยดังกล่าวที่ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านก็ตาม แต่ปัญหาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกหรือไม่ ศาลยังต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันซึ่งตามสัญญามีข้อความว่าจำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญา จำเลยทำหนังสือระบุให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุโดยชอบ หากจำเลยเห็นว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมและโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้แย้งกันในทางแพ่ง จำเลยชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีอำนาจพลการที่จะเข้าไปตัดแม่กุญแจที่โจทก์ ใช้ปิดประตูหน้าบ้านออกแล้วใช้แม่กุญแจของจำเลยคล้องแทน ทำให้โจทก์เข้าบ้านที่เกิดเหตุไม่ได้ ขณะเกิดเหตุจำเลยทราบดีว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยังเข้าไปในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุจนถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกแล้ว เมื่อผลแห่งคําพิพากษาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ จำเลยเข้าไปตัดกุญแจประตูบ้าน เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว คําพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ จำเลยไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2566 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196 การอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณานอกจากจะอุทธรณ์ได้เมื่อศาลพิพากษาแล้ว จะต้องมีการอุทธรณ์คำพิพากษานั้นด้วย ซึ่งหมายความว่า ผู้อุทธรณ์นอกจากจะโต้แย้งว่าคำสั่งระหว่างพิจารณาไม่ชอบอย่างไรแล้ว จะต้องโต้แย้งในเนื้อหาของคำพิพากษาว่าไม่ถูกต้องอย่างไรด้วย โดยในส่วนหลังนี้ต้องบรรยายให้ได้ความครบถ้วนตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 193 วรรคสอง จึงจะเป็นอุทธรณ์ที่จะพึงรับไว้พิจารณา ซึ่งเมื่อพิจารณาถ้อยคำในอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว โจทก์โต้แย้งแต่เพียงว่าศาลชั้นต้นไม่ควรงดสืบพยานเพียงประการเดียว แต่ไม่ได้บรรยายให้เห็นว่า เนื้อหาคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น ขัดกับข้อเท็จจริงหรือขาดข้อเท็จจริงใดที่สมควรจะมีอยู่ หรือมีข้อกฎหมายสารบัญญัติใดที่ไม่ถูกต้อง เช่น อาจบรรยายว่าพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีน้ำหนัก หรือหากมีการสืบพยานต่อไป พยานโจทก์จะมีน้ำหนักพอให้ลงโทษจำเลยได้เพราะอย่างไร เป็นต้น ดังนี้ กรณีฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามความใน ป.วิ.อ. มาตรา 196
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2566 เมื่อคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ 4617 – 4618/2560 ซึ่งเป็นคดีสาขาในชั้นบังคับคดีของคดีตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 18548/2557 ได้พิพากษายืนตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นที่ระบุว่า หากผู้ร้องประสงค์จะบังคับคดีต่อไป ต้องเรียกให้จำเลยทั้งสองคืนเงินมัดจำกับเรียกค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 4566/2562 ซึ่งมีบริษัท ต. เป็นโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ชําระเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ แม้ทั้งสองเรื่องดังกล่าวจะเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 1083 แต่การปฏิบัติการชําระหนี้สามารถแบ่งแยกจากกันได้อย่างชัดเจน กรณีไม่เป็นคําพิพากษาของสองศาลซึ่งต่างชั้นกันนั้นขัดกันอันจะตกอยู่ในบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่งเมื่อ จ. และ ส. จำเลยทั้งสองตามคําพิพากษาศาลฎีกาที่ 18548/2557 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ยื่นคําร้องขอให้งดการโอนที่ดินพิพาทตามคําขอของผู้ร้องที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบึงกุ่ม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการบังคับคดีในลำดับแรกโดยการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นพ้นวิสัย ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และคดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าวและได้แต่รับมัดจำ รวมทั้งค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองเท่านั้น จะมาเรียกให้บังคับคดีในลำดับแรกอีกไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2566 หนังสือรับรองสิทธิครอบครองและการทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิขององค์การบริหารส่วนตำบล ต้องมีการสำรวจการใช้ประโยชน์ที่ดินและมีผู้ปกครองท้องที่ยืนยัน อันเป็นกิจการที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นกิจการที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมีอำนาจหน้าที่ หนังสือรับรองดังกล่าวจึงเป็นเอกสารราชการ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 653/2566 ป.วิ.พ. มาตรา 335 วรรคสี่ และวรรคห้า เป็นบทบัญญัติเพื่อให้หนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินได้รับการกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ที่ค้างชำระดังกล่าวจนถึงวันขายทอดตลาดแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรก่อนเจ้าหนี้จำนองและให้พนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนโอนสิทธิในที่ดินแก่ผู้ซื้อโดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการขายทอดตลาดที่ดินจัดสรรตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินว่า ก่อนทำการขายทอดตลาด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบอกกล่าวให้นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแจ้งรายการหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดินต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว เมื่อความปรากฏว่า ก่อนขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือบอกกล่าวให้ผู้ร้องแจ้งรายการหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแล้ว แต่ผู้ร้องแจ้งรายการหนี้ดังกล่าวล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำบอกกล่าว ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดไว้เพื่อชำระหนี้ค่าบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคพร้อมค่าปรับที่ค้างชำระให้แก่ผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการไปตามที่มาตรา 335 บัญญัติไว้ ส่วนที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่าลูกจ้างที่ดูแลรับผิดชอบที่ทำการของผู้ร้องในขณะนั้นไม่ได้แจ้งให้คณะกรรมการของผู้ร้องทราบว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงผู้ร้อง โดยลูกจ้างคนดังกล่าวมีพฤติกรรมส่อไปในทางทุจริตนั้น กรณีไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 15 ที่ศาลฎีกาจะขยายระยะเวลา 30 วัน ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิขอให้กันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อนำมาชำระหนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระแก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จำนองได้ ทั้งความปรากฏตามคำขอออกหมายบังคับคดีว่า จำเลยมีภาระหนี้คงค้างชำระอยู่แก่โจทก์เป็นเงิน 7,371,398.92 บาท แบ่งเป็นเงินต้น 3,223,150.73 บาท ที่เหลือเป็นดอกเบี้ยกับค่าเบี้ยประกันภัย แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ 212453 ขายทอดตลาดได้ในราคาเพียง 3,700,000 บาท น้อยกว่าภาระหนี้ที่จำเลยค้างชำระอยู่แก่โจทก์ ซึ่งเห็นได้อยู่ในตัวว่าเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจ่ายเงินรายได้สุทธิที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ไม่มีเงินเหลือที่จะจ่ายให้แก่ผู้ร้อง
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 643/2566 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นบังคับคดี อันได้แก่ ค่าธรรมเนียม ค่าป่วยการ รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการบังคับคดีเป็นค่าบริการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเรียกเก็บจากคู่ความที่ขอใช้บริการในการบังคับคดี ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง กำหนดให้เจ้าหนี้ผู้ขอบังคับคดีนั้นเป็นผู้ชำระ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 169/2 วรรคสี่ บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ในกรณีที่มีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณี ป.วิ.พ. มาตรา 292 (1) และ (5) ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีนี้ โจทก์เป็นผู้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด การที่ระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด โจทก์ยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยครบถ้วนแล้ว โดยไม่ได้แถลงให้ชัดเจนว่าโจทก์ขอถอนการบังคับคดี ทั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียังเกษียนสั่งว่า โจทก์แถลงผลการชำระหนี้ภายนอก แต่ยังไม่สละสิทธิการบังคับคดีก็ตาม แต่ตามคำแถลงของโจทก์ย่อมเป็นผลให้โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับคดีจากทรัพย์จำนองที่ยึดไว้ได้อีกต่อไป ซึ่งต้องถือว่าเป็นการที่โจทก์ขอถอนการบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีต้องถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (7) เจ้าพนักงานบังคับคดีรายงานข้อเท็จจริงว่า หลังจากโจทก์แถลงว่าจำเลยได้ชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองต่อไปเพื่อประโยชน์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาด อันเป็นการปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 327 ด้วยการให้ผู้ร้องเข้าดำเนินการบังคับคดีต่อไปจากโจทก์เนื่องด้วยมีการถอนการบังคับคดีนั่นเอง จึงเป็นกรณียึดแล้วไม่มีการขาย โจทก์ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามตาราง 5 ท้าย ป.วิ.พ. กับค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี อันเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 153 วรรคสอง และมาตรา 169/2 วรรคสี่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 614/2566 จำเลยยื่นฎีกาและยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาของจำเลยไว้วินิจฉัย อันเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง แต่ศาลฎีกามีคำสั่งว่าการพิจารณาสิทธิฎีกาของจำเลยอยู่ในบังคับของบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. การที่จําเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกาพิจารณารับฎีกาของจําเลยไว้วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ให้ยกคำร้อง วันที่ 17 มิถุนายน 2565 จําเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอีกฉบับหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจําเลยก็ตาม แต่การที่จําเลยยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงครั้งหลังนี้ ได้ล่วงพ้นผลระยะเวลาที่จําเลยมีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้เสียแล้ว คำร้องดังกล่าวของจําเลยจึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้จําเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจําเลยมา จึงเป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 597 - 602/2566 การทำงานล่วงเวลา พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงาน เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป” ซึ่งหมายความว่า หากนายจ้างประสงค์ที่จะให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานแล้ว นายจ้างต้องขอความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาในแต่ละคราว ๆ ไป นายจ้างถึงจะมีสิทธิให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้ เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างแรงงานและเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 1 แล้ว สัญญาจ้างแรงงานข้อ 2. การปฏิบัติงาน ข้อ 2.1 กำหนดไว้ว่า เวลาปฏิบัติงานปกติให้ถือเวลาที่กำหนดโดยนายจ้าง ข้อ 2.2 ค่าจ้างล่วงเวลาให้ถือเวลาที่นอกเหนือจากการทำงานปกติ ซึ่งตามเอกสารแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานในข้อ 1. ค่าจ้างแรงงาน ได้ระบุไว้ว่าข้อ 1.1 เวลาทำงานปกติ อัตราค่าจ้างต่อวัน (8 ชั่วโมง) วันละ...บาท อัตราค่าจ้างล่วงเวลา (4 ชั่วโมง) วันละ….บาท จึงเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานล่วงเวลาในวันทำงานทุกวันไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ขณะทำสัญญาจ้างแรงงาน การกำหนดในลักษณะดังกล่าวเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้นายจ้างต้องขอความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเป็นคราว ๆ ไป ก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาในวันทำงานตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ การที่จำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ต้องทำงานล่วงเวลาในวันทำงานไว้ล่วงหน้าวันละ 4 ชั่วโมง เป็นการขัดต่อมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ ย่อมไม่อาจนำสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 กับจำเลยที่ 1 มารับฟังทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการกำหนดเวลาการทำงานปกติและเวลาการทำงานล่วงเวลาได้ แต่อย่างไรก็ดี สำหรับเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ส่งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษวินิจฉัยไว้โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจึงมีอำนาจบังคับบัญชาและควบคุมดูแลการทำงานโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ในฐานะลูกจ้าง ด้วยการกำหนดเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 และเมื่อข้อเท็จจริงตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้านกันที่ปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การได้ความว่า จำเลยที่ 2 กำหนดเวลาการทำงานปกติให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานเป็นกะ กะละ 12 ชั่วโมง ต่อวัน ซึ่งการกำหนดเวลาการทำงานปกติดังกล่าวนั้นเป็นการกำหนดที่สอดคล้องกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกฎกระทรวงดังกล่าวได้กำหนดให้งานในกิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม รวมตลอดถึงงานซ่อมบำรุงและงานให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับงานดังกล่าว เฉพาะที่ทำในแปลงสำรวจและพื้นที่ผลิต ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดเวลาทำงานปกติ โดยกำหนดเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดของการทำงาน แต่วันหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกินสี่สิบแปดชั่วโมง การที่จำเลยที่ 2 กำหนดเวลาการทำงานปกติให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง โดยโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตกลงทำงานตามที่จำเลยที่ 2 กำหนดไว้แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 มีเวลาทำงานในวันทำงานปกติวันละ 12 ชั่วโมง มิใช่มีเวลาทำงานในวันทำงานปกติวันละ 8 ชั่วโมง และทำงานล่วงเวลาในวันทำงานวันละ 4 ชั่วโมง ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนั้น เงินที่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับจากการทำงานในเวลาการทำงานปกติวันละ 12 ชั่วโมง จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายวันเป็นค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ที่ต้องนำมาเป็นฐานในการคิดคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง โดยไม่คำนึงว่าจำเลยที่ 1 จะเรียกเงินที่จ่ายให้โจทก์ 2 ถึงที่ 7 ในช่วงระหว่างการทำงาน 4 ชั่วโมงสุดท้ายของวันว่าเป็นค่าจ้างหรือไม่ก็ตาม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 540/2566 หนี้ค่าซ่อมแซมความเสียหายจากการใช้สอยทรัพย์สินที่เช่าที่โจทก์เสียไปตามสำเนาใบแจ้งหนี้ เป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โดยหาจำต้องรอให้ศาลในคดีแพ่งพิพากษากำหนดจำนวนหนี้จนคดีถึงที่สุดแล้วนำมาฟ้องคดีล้มละลายไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวคำนวณรวมกับหนี้อื่นที่รับฟังเป็นยุติแล้วว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์มาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้การที่โจทก์นำมูลหนี้ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่ามาเป็นมูลหนี้ฟ้องจำเลยเมื่อพ้นกำหนดเวลา 6 เดือน นับแต่วันส่งทรัพย์สินที่เช่าคืน จึงขาดอายุความ แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การในประเด็นนี้ไว้ แต่การพิจารณาคดีล้มละลายตามกฎหมายล้มละลาย ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน มีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14 เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า หนี้ของโจทก์บางส่วนขาดอายุความแล้ว อันเป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามมาตรา 94 (1) ทำให้หนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ของโจทก์มีจำนวนไม่ถึงสองล้านบาท กรณีจึงถือได้ว่ามีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตามมาตรา 14 ตอนท้าย ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28/2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534 - 535/2566 เมื่อจำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายระหว่างพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 1 สิทธิในการนำคดีอาญาของจำเลยที่ 2 มาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่สำหรับคดีส่วนแพ่งนั้น ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 47 วรรคหนึ่ง ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 เสียก่อน กล่าวคือ หากครบกำหนดหนึ่งปีนับแต่จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายแล้ว ไม่มีบุคคลใดร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนหรือเข้ามาตามหมายเรียกของศาล จึงให้จำหน่ายคดีส่วนแพ่งออกเสียจากสารบบความ ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ด่วนมีคำสั่งจำหน่ายคดีส่วนแพ่งในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ ย่อมเป็นการไม่ชอบ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2566 เช็คตามฟ้องข้อ 2.4, 2.5, 2.7 ถึงข้อ 2.13 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 ส่วนเช็คตามฟ้องข้อ 2.1, 2.2, 2.3 และข้อ 2.14 โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนร่วมกับเช็คตามฟ้องข้อ 2.6 ให้ดำเนินคดีกับจำเลยในข้อหาปลอมเอกสาร โดยไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก ซึ่งความผิดข้อหาปลอมเอกสารและความผิดข้อหายักยอกมีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน อีกทั้งความผิดข้อหายักยอกเป็นความผิดอันยอมความได้ หากผู้เสียหายไม่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนตามระเบียบแล้ว พนักงานสอบสวนไม่อาจรับคดีไว้ดำเนินการได้ การที่โจทก์ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีข้อหาปลอมเอกสาร แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีข้อหายักยอก เมื่อโจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้เกินกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่โจทก์รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96 เช่นกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 468/2566 การบรรยายฟ้องความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 265 ต้องระบุองค์ประกอบภายในส่วนของเจตนาพิเศษให้ปรากฏด้วยว่า จําเลยได้กระทำเพื่อนําเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน เมื่อคําฟ้องของโจทก์บรรยายเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจตามฟ้องว่า จําเลยคิดคดนําหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ลงลายมือชื่อไว้ไปใช้ในทางทุจริต และบรรยายต่อไปว่าโดยจําเลยนําหนังสือมอบอำนาจไปกรอกข้อความนำมาใช้ทำนิติกรรมสัญญายกให้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน คําฟ้องของโจทก์จึงบรรยายเจตนาของจําเลยในการกรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจแล้วว่ามีเจตนาไม่ซื่อเพื่อนําเอาหนังสือมอบอำนาจนั้นไปใช้ในกิจการซึ่งหมายถึงการงานที่ประกอบหรือธุระในการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนของโจทก์ไปเป็นของจําเลย จึงเป็นการบรรยายข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายในดังกล่าวครบถ้วน และทำให้จําเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว เป็นฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2566 สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นเป็นการตกลงซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 โดยโจทก์ตกลงซื้อหุ้นของบริษัท ท. จากจำเลยที่ 3 ในสัญญาระบุว่า การส่งมอบหุ้นจะทำโดยวิธีการสลักหลังภายใน 5 วันทำการ หลังจากผู้โอนได้รับการส่งมอบหุ้นจากบริษัท ร. สัญญาซื้อขายดังกล่าวยังมิใช่การดำเนินการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่จะต้องทำตามแบบที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาได้บัญญัติว่า ถ้ามิได้แถลงหมายเลขหุ้นที่โอนกัน การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมเป็นโมฆะไม่ ดังนั้น สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นแม้มิได้ระบุหมายเลขหุ้นที่ซื้อขายก็ไม่ตกเป็นโมฆะ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 452/2566 แม้คดีนี้ศาลจะมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์จนกระทั่งมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสิทธิให้ผู้ร้องมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโดยไม่มีการออกหมายบังคับคดีเพื่อบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ตาม แต่ผู้ร้องอาจนำคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไปใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ ทั้งยังทำให้ผู้คัดค้านสิ้นสิทธิในการบังคับคดีแก่ที่ดินพิพาทที่ยึดไว้เพราะที่ดินพิพาทไม่ใช่ของ ร. ลูกหนี้ของผู้คัดค้านอีกต่อไป ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลและชอบที่จะยื่นคำร้องขอสอดเข้ามาในคดีเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2548 แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2551 ผู้คัดค้านอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร ยึดที่ดินพิพาทของ ร. เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้าง ตามประกาศกรมสรรพากร (ภ.ส. 18) เรื่อง ให้ยึดทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร โดยปิดประกาศดังกล่าวไว้ ณ ที่ดินพิพาทและส่งสำเนาประกาศยึดที่ดินพิพาทให้ ร. โดยชอบแล้ว เมื่อผู้คัดค้านยึดที่ดินพิพาทก่อนที่ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทครบ 10 ปี จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เพราะสิทธิของผู้ร้องถูกกระทบโดยการยึดทรัพย์ของผู้คัดค้านที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่ง ป.รัษฎากร แม้ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีในศาลชั้นต้นจึงถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก คำสั่งศาลชั้นต้นที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (2) ผู้คัดค้านจึงสามารถพิสูจน์ได้ว่า ที่ดินพิพาทยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของ ร.
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 448/2566 จำเลยเป็นกรรมการบริษัทคนหนึ่งจึงมีอำนาจหน้าที่ต้องจัดให้จดบันทึกรายงานการประชุมและข้อมติทั้งหมดของที่ประชุมผู้ถือหุ้นลงไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1207 วรรคหนึ่ง แม้ไม่มีการประชุมผู้ถือหุ้นและวาระการประชุมและข้อมติจะเป็นความเท็จ รายงานการประชุมก็ไม่เป็นเอกสารปลอม คงเป็นรายงานการประชุมที่จำเลยทำขึ้นเป็นเท็จ ส่วนที่จำเลยลงลายมือชื่อในรายงานการประชุม 2 แห่งใต้ข้อความว่า รับรองรายงานการประชุมถูกต้อง ย่อมเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะกรรมการบริษัทที่มีหน้าที่จัดทำรายงานการประชุม ส่วนอีกแห่งหนึ่งแม้น่าจะเป็นการลงลายมือชื่อในฐานะประธานที่ประชุม ซึ่งจำเลยไม่อาจเป็นประธานที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ แต่ก็ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของประธานที่ประชุมที่ต้องจัดทำหรือรับรองรายงานการประชุม การที่จำเลยลงลายมือชื่อในฐานะประธานที่ประชุมแม้เป็นความเท็จ แต่เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อของตนเอง จึงเป็นการลงลายมือชื่อจำเลยว่าเป็นประธานที่ประชุมอันเป็นความเท็จเท่านั้น ไม่เป็นการทำปลอมรายงานการประชุม จึงไม่เป็นการปลอมเอกสาร และไม่อาจเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและฐานใช้เอกสารสิทธิปลอม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 440/2566 แม้โจทก์ไม่สามารถนำพยานหลักฐานเกี่ยวกับการสมัครบัตรเครดิตมาแสดงต่อศาล คงมีเพียงรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายโดยไม่ปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับการสูญหายของเอกสารดังกล่าวก็ตาม แต่คดีนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยาน ซึ่งตามใบแจ้งบัญชีบัตรเครดิต/ใบเสร็จที่โจทก์นำส่งปรากฏรายการใช้จ่าย ยอดชำระเงิน และจำนวนหนี้คงเหลือในระหว่างเดือนธันวาคม 2556 ถึงเดือนตุลาคม 2562 เวลาต่อเนื่องกันทุกเดือนเกือบ 6 ปี ลักษณะเป็นข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา และประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามนิยามศัพท์ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 จำเลยย่อมไม่อาจปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความดังกล่าวดังที่บัญญัติในมาตรา 7 ได้ มูลหนี้ตามคำฟ้องโจทก์จึงมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย จำเลยจึงต้องรับผิดในหนี้บัตรเครดิตต่อโจทก์
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2566 แม้ได้ความตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 จำเลยทั้งสองวางเงิน 240,000 บาท ต่อศาลชั้นต้น โดยอ้างว่าเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยตามมูลหนี้เช็คพิพาท ทำให้ความผิดตามเช็คพิพาทฉบับนี้ระงับไปแล้วนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณา ฉบับลงวันที่ 25 มกราคม 2565 ว่า ศาลชั้นต้นสอบถามโจทก์เกี่ยวกับเงินที่จำเลยทั้งสองวางเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น โจทก์แถลงว่าจะรับไว้โดยเป็นการเฉลี่ยเพื่อชำระหนี้ตามเช็คทุกฉบับ คำแถลงของโจทก์ดังกล่าวแสดงว่า เงินที่จำเลยทั้งสองชำระนั้นโจทก์มิได้รับไว้เป็นการชำระหนี้เฉพาะเจาะจงตามเช็คพิพาทดังที่จำเลยทั้งสองอ้าง แต่เป็นการรับไว้เพื่อเฉลี่ยชำระหนี้ตามเช็คที่โจทก์ฟ้องทุกฉบับ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้เต็มตามมูลหนี้เช็คพิพาทครบถ้วนแล้ว หนี้ตามเช็คพิพาทฉบับดังกล่าวจึงมิได้สิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงมิได้เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 340/2566 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้าคนละ 1 เดือน 15 วัน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 คนละ 1 เดือน 15 วัน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ให้จำเลยที่ 5 จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้นำจับ เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้โทษจำเลยที่ 5 ต่างไปจากศาลชั้นต้นเท่านั้น มิใช่เป็นการพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 219 ตรี ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ซึ่งในกรณีนี้ ป.วิ.อ. มาตรา 221 ไม่ได้บัญญัติให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ การอนุญาตให้ฎีกาของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตามเมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว และศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์แยกฟ้องว่าจำเลยทั้งห้าร่วมกันเล่นการพนันไพ่ผสมสิบและจำเลยทั้งห้าร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมและมั่วสุมกันเล่นการพนันภายในสวนไม่มีเลขที่ ซึ่งเป็นสถานที่แออัดในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยกัน ทั้งตามคำบรรยายฟ้องระบุการกระทำผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นกรณีที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรมและมั่วสุมล้อมวงเล่นการพนันไพ่ผสมสิบในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งห้าตามฟ้องจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกันผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน จึงต้องลงโทษจำเลยทั้งห้าฐานร่วมกันชุมนุมทำกิจกรรม หรือมั่วสุม ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง (2), 18 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เนื่องจากปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นเหตุในลักษณะคดีเกี่ยวกับการปรับบทลงโทษ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่อุทธรณ์และฎีกาขึ้นมาให้วินิจฉัยก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 และที่ 5 ด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 และ 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 วรรคสอง, 12 (2) เป็นเงิน 750 บาท และให้จำเลยที่ 5 จ่ายสินบนนำจับกึ่งหนึ่งของค่าปรับแก่ผู้นำจับตามกฎหมายนั้น ปรากฏว่าตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 นั้น ไม่มีบทบัญญัติให้จ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 และสั่งให้จ่ายสินบนนำจับจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวอ้างในชั้นฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 282/2566 โจทก์ร่วมหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงจึงไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง แม้ผู้รับโอนจะไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้หลอกลวง แต่การที่ ฐ. ได้ไปซึ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ร่วม จึงเป็นการได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงให้ทำเอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 341 ไม่ใช่เป็นการที่จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก ฐ. จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นของโจทก์ร่วมให้แก่โจทก์ร่วม หากจำเลยที่ 1 คืนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นของโจทก์ร่วมไม่ได้ จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์ร่วม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 260/2566 สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 โดยเป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับจำพวกและรายการสินค้าตามที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น และเป็นการคุ้มครองสิทธิในลักษณะที่เป็นการหวงกันมิให้ผู้อื่นนําเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าไปใช้โดยมิชอบ ดังนั้น ขอบเขตแห่งสิทธิของโจทก์ในกรณีนี้จึงมีจำกัดเฉพาะเครื่องหมายการค้ารูปพังงาเรือ และคําว่า HIKARI ที่ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 รายการสินค้าสว่านมือสำหรับเจาะเหล็ก กบไสไม้สำหรับไสไม้ให้บางลง เครื่องขัดสำหรับขัดเหล็กให้ผิวเรียบ ที่โจทก์ได้รับการจดทะเบียนเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันมิให้จำเลยที่ 11 ใช้เครื่องหมายการค้าคําว่า HIKARI กับสินค้าจำพวกที่ 7 รายการสินค้าจักรเย็บผ้า มอเตอร์จักรเย็บผ้า ซึ่งเป็นการใช้กับสินค้าต่างจำพวกกันและรายการสินค้าไม่มีลักษณะอย่างเดียวกันกับจำพวกและรายการสินค้าที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 11 ไม่มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงเป็นการกระทำที่อยู่นอกขอบเขตแห่งสิทธิของโจทก์ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคําขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 11 ได้ ปัญหานี้แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และจำเลยที่ 11 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 40 วรรคสอง ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2566 ปลอกกระสุนปืนเล็กกลขนาด 7.26 มม. Russian 1 ปลอก ที่จําเลยมีไว้ในครอบครองนั้น เป็นปลอกกระสุนปืนที่ใช้ยิงไปแล้ว ทั้งโจทก์มิได้บรรยายฟ้องและนําสืบให้เห็นว่า จําเลยจะใช้ปลอกกระสุนปืนของกลางไปอัดหรือใช้ประกอบให้อยู่ในสภาพเป็นเครื่องกระสุนปืนสามารถใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตหรือวัตถุได้ ดังนั้น ปลอกกระสุนปืนของกลางจึงไม่เป็นเครื่องกระสุนปืน การที่จําเลยมีไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา 55, 78 วรรคหนึ่ง แม้จําเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 228/2566 ศาลนำเรื่องการวางเงินชำระหนี้บางส่วนของจำเลยมาพิจารณาประกอบเป็นเหตุบรรเทาโทษและลดโทษให้แก่จำเลย เท่ากับจำเลยได้รับประโยชน์จากการวางเงินดังกล่าวแล้ว ซึ่งการวางเงินของจำเลยก็เจตนาเพื่อชำระหนี้ตามเช็คให้ผู้เสียหายมารับไป และเมื่อผู้จัดการมรดกผู้เสียหายแสดงความประสงค์ขอรับเงินดังกล่าวแล้ว จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะขอถอนเงินที่วางไว้ต่อศาลชั้นต้นคืน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 214/2566 โดยสภาพการจ้างงานและสิทธิประโยชน์ของพนักงานราชการตามที่กำหนดไว้ในระเบียบและกฎหมาย มีลักษณะแตกต่างจากลูกจ้างชั่วคราวของส่วนราชการ พนักงานราชการจึงมิใช่ลูกจ้างชั่วคราว แต่เป็นพนักงานของรัฐซึ่งถือว่าเป็นพนักงานหน่วยงานของรัฐ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 210/2566 การบรรยายฟ้องความผิดฐานแจ้งความเท็จ ต้องระบุชัดเจนถึงข้อความเท็จนั้นว่ามีข้อความเป็นอย่างไร และความจริงเป็นอย่างไร คำฟ้องของโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นเทศบาล น. เพื่อขอคัดสำเนารายการทะเบียนราษฎรของผู้มีชื่อ แต่ข้อความเท็จนั้นจำเลยแจ้งว่าอย่างไรไม่ปรากฏ และถึงแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องไว้ด้วยว่าในการขอคัดสำเนารายการทะเบียนราษฎร จำเลยแสดงข้อความอันเป็นเท็จด้วยการปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง แต่โจทก์ก็ยังมีหน้าที่ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนด้วยว่าข้อความจริงที่จำเลยปกปิดไว้เป็นอย่างไร เหตุใดการปกปิดไว้นั้นจึงถือได้ว่าเป็นการแจ้งข้อความเท็จ การแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี แม้หากเหตุผลอันจำเลยอ้างในคำร้องเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือรายงานต่อศาลเพื่อจับกุมและกักขังผู้มีชื่อซ้ำอีกครั้งหนึ่งจะเป็นความเท็จ แต่ก็เป็นกรณีที่จำเลยกระทำต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยตรง หาได้เกี่ยวข้องหรือกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียใด ๆ ของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จของจำเลย โจทก์จึงไม่เป็นผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งความเท็จโจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.อ. มาตรา 267 แต่เพียงว่าจำเลยไปยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้มีหนังสือรายงานต่อศาลเพื่อจับกุมและกักขังผู้มีชื่อโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จหาได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจดข้อความอันเป็นเท็จใดลงในเอกสารราชการใด ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานอย่างไร ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2566 เดิมโจทก์ร่วมฟ้อง ส. เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 902/2556 หมายเลขแดงที่ 2060/2557 ของศาลชั้นต้น ขอให้ขับไล่และรื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินโจทก์ร่วม และห้าม ส. กับบริวารเกี่ยวข้อง จำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจ ส. ต่อสู้คดี ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม ทางที่อยู่ระหว่างที่ดินโจทก์ร่วมและ ส. เป็นทางสาธารณะ พิพากษาให้ ส. รื้อถอนเสาปูนและรั้วลวดหนามออกไปจากที่ดินของโจทก์ร่วมและห้าม ส. กับบริวารเข้าเกี่ยวข้องหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของโจทก์ร่วม คดีถึงที่สุด โดยคดีก่อน ส. กับจำเลยในฐานะผู้รับมอบอำนาจ ส. ให้การและเบิกความรับว่า พ. บิดาจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและที่ดินมือเปล่าหลายพันไร่ โดยใส่ชื่อ พ. ส. จำเลย กับบุตรอื่นของ พ. ในเอกสารสิทธิหลายฉบับบางฉบับใส่ชื่อผู้จัดการมรดกของ พ. เยี่ยงนี้ ส. จึงมีชื่อเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแทน พ. นับแต่วันออกเอกสารสิทธิ เมื่อ พ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินย่อมเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่ ส. และจำเลยรวมทั้งทายาทอื่นของ พ. การที่ ส. ผู้ถูกโจทก์ร่วมฟ้องในคดีเดิมย่อมอยู่ในฐานะเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกแทนจำเลยและทายาทอื่นของ พ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1745, 1356 และ 1359 จึงต้องถือว่าจำเลยเป็นคู่ความเดียวกันกับ ส. และถูกผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 หาใช่บุคคลภายนอกที่ไม่ถูกผูกพันตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมไม่ เมื่อคดีเดิมถึงที่สุดและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการตามคำพิพากษาเสร็จแล้ว จำเลยกระทำละเมิดขึ้นใหม่ กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลล่างทั้งสองในคดีเดิมวินิจฉัยไว้ว่าการกระทำของจำเลยจึงถือเป็นการละเมิดด้วยการปักเสาปูนและล้อมรั้วลวดหนามบนทางสาธารณประโยชน์ปิดกั้นเส้นทางรถยนต์ที่ใช้เข้าออกจากที่ดินของโจทก์ร่วม เมื่อคดีเดิม ส. ฎีกาโดยโจทก์ร่วมมิได้ฎีกา และต่อมา ส. แถลงขอยุติคดีโดยไม่ต้องการฎีกาต่อไปและขอถอนจำเลยจากการเป็นผู้รับมอบอำนาจ ศาลชั้นต้นอนุญาต คดีเดิมจึงถึงที่สุดตั้งแต่วันแถลงดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง และผูกพันโจทก์ร่วมกับจำเลย การที่จำเลยยังคงดื้อรั้นดันทุรังไม่ยอมรับผลแห่งคำพิพากษาตามกฎหมายโดยยังคงเข้าไปปักเสาปูนและกั้นรั้วลวดหนาม ทั้งศาลชั้นต้นในคดีเดิมมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้รื้อถอนเสาปูนและรั้วรวดหนามบางส่วนตามที่คู่ความตกลงกัน จึงเป็นการกระทำโดยรู้อยู่แก่ใจว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีเดิมวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ร่วม ทางที่อยู่ระหว่างที่ดินโจทก์ร่วมและ ส.เป็นทางสาธารณะ ทั้งประสงค์ให้เกิดผลเป็นการปิดกั้นเส้นทางรถยนต์ที่โจทก์ร่วมใช้เข้าออกจากที่ดินพิพาทสู่ทางสาธารณะ ซึ่งจิตใจของวิญญูชนคนธรรมดาทั่วไปโดยวิสัยและพฤติการณ์เยี่ยงจำเลยพึงรับรู้และคาดหมายได้อย่างแน่แท้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสอง และเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 เดิม
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2566 คดีนี้โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาในทางแพ่ง ไม่ต้องอาศัยมูลความผิดทางอาญาจึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาในอันที่จะต้องนำมาผูกพันให้รับฟังว่าการกระทำของ บ. กับพวกเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามคำพิพากษาในคดีอาญา และคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวหาใช่คำพิพากษาที่เกี่ยวด้วยฐานะของบุคคลอันจะใช้ยันแก่บุคคลภายนอกได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคสอง (1) วันที่ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเป็นวันที่โจทก์ถูก บ. กับพวกลักรถยนต์ไป อันเป็นวันวินาศภัย โจทก์ยื่นคำเสนอให้ระงับข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 จึงอยู่ภายในกำหนดอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 882 วรรคหนึ่ง อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (4) แม้อนุญาโตตุลาการจะพิจารณาแล้วชี้ขาดให้ยกคำเสนอข้อพิพาท แต่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการยังไม่เป็นที่สุด เพราะคำชี้ขาดได้ถูกเพิกถอนไปโดยคำพิพากษาของศาลแพ่งที่ให้เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในเวลาต่อมา ซึ่งกระบวนการระงับข้อพิพาทควรจะย้อนกลับเข้าสู่การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัย การที่วันที่ 20 มีนาคม 2562 อนุญาโตตุลาการปฏิเสธที่จะวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทใหม่ตามคำร้องของโจทก์ โดยเห็นว่าอำนาจของอนุญาโตตุลาการสิ้นสุดไปแล้ว จึงเป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการยกคำเสนอข้อพิพาทเพราะเหตุที่คดีไม่อยู่ในอำนาจของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ประกอบมาตรา 193/18 กล่าวคือ โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการมีคำสั่ง โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562 เป็นการฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 171/2566 การที่จำเลยที่ 2 ทำการตรวจอัลตราซาวด์ให้แก่โจทก์เป็นการให้บริการทางการแพทย์อย่างหนึ่งอันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นโดยเฉพาะของคู่ความฝ่ายจำเลยทั้งสอง ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสองว่าจำเลยที่ 2 มิได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ในข้อนี้จำเลยทั้งสองนำสืบโดยมีแพทย์ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาล มาเบิกความประกอบการให้ถ้อยคำในชั้นการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจำเลยที่ 2 ต่อคณะกรรมการแพทยสภาเกี่ยวกับการแบ่งประเภทผู้ป่วยที่จะเข้ารับการตรวจอัลตราซาวด์ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวช่วยเหลือตนเองได้น้อย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการเฝ้าระวังระหว่างการตรวจ หน่วยอัลตราซาวด์จะใช้เตียงที่มีไม้กั้นของหอผู้ป่วยในระหว่างการตรวจ และมีนักรังสีการแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยขณะทำการตรวจทุกราย กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่รู้สึกตัวดี ช่วยเหลือตนเองได้ สามารถปฏิบัติตัวระหว่างการตรวจตามที่รังสีแพทย์สั่งได้ เช่น การพลิกตะแคงตัว หน่วยอัลตราซาวด์จะใช้เตียงตรวจไฟฟ้าของหน่วยงานซึ่งออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถปรับความสูงต่ำของเตียงได้ (ไม่มีที่กั้นเตียง) เพื่อความสะดวกของแพทย์ในการตรวจ เห็นได้ชัดว่าการแบ่งแยกประเภทผู้ป่วยเป็นเวชปฏิบัติทั่วไปขั้นพื้นฐานเพื่อคัดแยกผู้ป่วยให้เหมาะสมแก่การตรวจและรักษา ลักษณะเป็นข้อมูลวิชาการไม่เอนเอียงเพื่อประโยชน์แก่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ล. นักรังสีการแพทย์พยานจำเลยทั้งสองอีกปากเบิกความว่า มาตรฐานการจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องตรวจอัลตราซาวด์ของโรงพยาบาล จ. จะจัดวางเหมือนกันทุกห้องตามหลักการจัดวางอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจห้องตรวจจะมีลักษณะแยกเดี่ยว 4 ห้อง ภายในห้องตรวจมีเครื่องอัลตราซาวด์และเตียงตรวจ มีผ้าม่านกั้น เตียงตรวจมีขนาดกว้าง ประมาณ 60 เซนติเมตร มีทั้งแบบที่มีและไม่มีที่กั้นเตียง เตียงที่มีที่กั้นจะใช้แก่ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวช่วยตนเองไม่ได้ การจัดวางเตียงไม่ชิดผนังเพื่อความสะดวกของผู้ช่วยระหว่างการตรวจซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับในโรงพยาบาลเอกชนที่พยานทำงานนอกเวลา ในวันเกิดเหตุ พยานเรียกโจทก์เข้าห้องตรวจหมายเลข 2 ก่อนเข้าห้องพยานสอบถามโจทก์ว่าเดินได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าเดินได้นิดหน่อย พยานจึงเข็นรถโจทก์ไปใกล้เตียงตรวจเพื่อให้โจทก์ลุกเดินไปยังเตียง จากนั้นพยานและบุตรโจทก์ช่วยกันพยุงโจทก็ให้ลุกขึ้นยืนและขยับตัวไปนั่งแล้วให้นอนหงายบนเตียงนำผ้าห่มมาคลุมตัวเพื่อเตรียมทำการตรวจบริเวณช่องท้อง แล้วพยานแจ้งให้จำเลยที่ 2 มาตรวจโจทก์ ต่อมาพยานได้ยินเสียงจำเลยที่ 2 ตะโกนเรียก พบโจทก์อยู่ข้างเตียงในลักษณะกึ่งหงายกึ่งนั่ง พยานจึงไปขยับเตียงและเครื่องมือแพทย์ออก แล้วพยุงตัวโจทก์ให้นั่งพร้อมกับเรียกเจ้าหน้าที่มาช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้น ส่วนเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าไปในห้องตรวจ พบโจทก์นอนอยู่บนเตียงเพื่อรอการอัลตราซาวด์ จำเลยที่ 2 ทำการตรวจวินิจฉัยในท่านอนหงาย พบว่าการถ่ายภาพไตด้านขวาของโจทก์ไม่ชัดเจนเนื่องจากมีลมในลำไส้บังและติดชายโครงด้านขวา ตามมาตรฐานท่าที่ใช้ตรวจมีทั้งท่านอนหงายและท่านอนตะแคง จำเลยที่ 2 สอบถามโจทก์ว่าสามารถนอนตะแคงด้วยตนเองได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าทำได้ จำเลยที่ 2 จึงให้โจทก์นอนตะแคงตัวไปทางด้านซ้ายยกทางด้านขวาขึ้น โดยจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ทางด้านขวาของโจทก์ตรงหน้าเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ จังหวะที่โจทก์กำลังจะนอนตะแคงเกิดพลัดตกเตียง ไหล่และเข่าซ้ายกระแทกพื้น ศีรษะไม่กระแทก รู้สึกตัวดี จำเลยที่ 2 รีบเข้าไปประเมินอาการบาดเจ็บในเบื้องต้นพร้อมเรียกเจ้าหน้าที่ โจทก์มีบาดแผลถลอกหนังเปิดที่เข่าซ้าย 4 เซนติเมตร และเจ็บไหล่ซ้าย แต่สามารถขยับได้ หายใจปกติ ไม่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ จึงทำแผลเบื้องต้นพร้อมสั่งเอกซเรย์กระดูกเชิงกราน สะโพกทั้งสองข้าง กระดูกเข่าซ้ายไหล่ซ้าย และปอด พบว่าไม่มีการแตกหักจึงส่งโจทก์ไปแผนกอุบัติเหตุเพื่อเย็บแผลและให้ยาปฏิชีวนะโดยมีจำเลยที่ 2 ไปด้วย ดังนี้ การนัดหมายโจทก์มาทำการตรวจอัลตราซาวด์ในวันเกิดเหตุ โจทก์เป็นเพียงผู้ป่วยนอก ญ. บุตรโจทก์ก็เบิกความยอมรับว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์สามารถช่วยเหลือตนเองและเดินได้ตามปกติไม่ต้องมีใครช่วยดูแล โจทก์จึงจัดอยู่ในผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 กล่าวคือ โจทก์รู้สึกตัวดี สามารถช่วยเหลือตนเองลุกขึ้นเดินไปนั่งและนอนรอจำเลยที่ 2 บนเตียงเพื่อรับการตรวจได้ แม้โจทก์จะต้องนั่งรถเข็นมายังห้องตรวจก็เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ป่วยสูงอายุและมีน้ำหนักตัวมาก เมื่อพิจารณาสภาพห้องที่เกิดเหตุตามภาพถ่าย ขนาดความกว้าง ยาวและสูงของเตียง ตลอดจนวิธีการจัดวางไม่ได้แตกต่างไปจากมาตรฐานของโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐบาลอื่น ประกอบกับเมื่อจำเลยที่ 2 เข้ามาภายในห้องตรวจ โจทก์ขึ้นไปนอนรออยู่บนเตียงแล้ว ไม่มีอาการอื่นใดบ่งชี้ในเวลานั้นที่แสดงให้จำเลยที่ 2 เห็นว่า โจทก์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ทำการตรวจภาพถ่ายไตด้านขวาของโจทก์ไม่ชัดเจน จึงสอบถามโจทก์ว่าสามารถพลิกตะแคงตัวไปด้านซ้ายเพื่อถ่ายภาพใหม่ได้หรือไม่ โจทก์ตอบว่าได้ ดังที่ปรากฎในบันทึกคำให้การของโจทก์ต่อพนักงานสอบสวน หากโจทก์ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ก็น่าจะต้องแจ้งจำเลยที่ 2 เสียตั้งแต่ในขณะนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากบันทึกคำให้การดังกล่าวอีกว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์และจำเลยที่ 2 อยู่ภายในห้องเพียงลำพัง ส่วนจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ถือหัวตรวจอัลตราซาวด์ไว้ในมือและต้องเพ่งมองจอภาพเครื่องดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่ข้างหัวเตียงด้านขวาของโจทก์ เมื่อโจทก์พลิกตะแคงตัวตามที่จำเลยที่ 2 บอก แม้เตียงมีขนาดกว้างเพียง 60 เซนติเมตร แต่ก็เป็นขนาดมาตรฐานบุคคลทั่วไปในภาวะเช่นจำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจคาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์ถึงขนาดที่โจทก์จะพลัดตกจากเตียง เพราะการนอนตะแคงตัวใช้พื้นที่ไม่มาก อีกทั้งจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรสอบถามโจทก์ก่อนหน้านั้นแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 มิใช่การกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 160/2566 แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ถึงที่ 10 ในฐานะผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจดทะเบียนจำนองเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2558 ภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 มีผลใช้บังคับ (วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558) จึงไม่จำต้องรับผิดในหนี้ที่ประกันเกินราคาที่ดินจำนองในเวลาบังคับจำนองหรือเอาทรัพย์จำนองหลุดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 727/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) ก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามสัญญาค้ำประกันว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557 ก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับ (ใช้บังคับวันที่ 15 กรกฎาคม 2558) ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมจึงยังคงใช้บังคับได้ และไม่ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 681/1 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) แม้ข้อสัญญาดังกล่าวจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันรับผิดเกินราคาทรัพย์สินที่จำนองเนื่องจาก พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2557 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 21) พ.ศ. 2558 ไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 (ที่แก้ไขใหม่) และมาตรา 727/1 (ที่แก้ไขใหม่) ไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2566 การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในศาลภายหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองแล้วเกิดขึ้นในศาลขณะที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่คู่ความเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 แสดงเจตนาระงับข้อพิพาทตามฟ้องโดยประสงค์ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้บังคับหนี้ตามฟ้องตามข้อตกลงดังกล่าว มิใช่เพื่อระงับหนี้เดิม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเฉพาะโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีผลเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้จัดการมรดก กรณีจึงไม่มีผลทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินระงับหรือเป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันเป็นการแปลงหนี้ใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 111 - 112/2566 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีอำนาจร้องทุกข์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงเพียงว่าโจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท ไม่ชอบที่จะนำรถออกให้จำนำได้ โดยมิได้รับฟังข้ออ้างข้อเถียงของคู่ความถึงนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน จึงเป็นการด่วนวินิจฉัยข้อกฎหมายจากการฟังข้อเท็จจริงที่ยังไม่สิ้นกระแสความ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2566 จำเลยทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราธนบัตรของรัฐบาลไทยชนิดราคา 100 บาท และมีธนบัตรปลอมนั้นไว้เพื่อนำออกใช้โดยรู้ว่าเป็นของปลอม เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ทำปลอมและมีธนบัตรปลอมไว้เพื่อนำออกใช้แล้ว จากนั้นจำเลยนำธนบัตรรัฐบาลไทยปลอมที่จำเลยทำปลอมขึ้นดังกล่าวไปใช้ลักทรัพย์ ด้วยการใส่ธนบัตรปลอมดังกล่าวเข้าไปในช่องรับเงินของตู้เติมเงินบุญเติมของผู้เสียหายเพื่อโอนเงินจำนวนดังกล่าวไปยังบัญชีธนาคารของผู้มีชื่อที่จำเลยมีหรือเปิดไว้ใช้งานโดยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาเงินดังกล่าวไป เป็นการกระทำที่จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 67/2566 ตาม พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 มาตรา 65 นว วรรคสอง เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้สิทธิบุคคลใดจะกล่าวอ้างความไม่สมบูรณ์ของอนุสิทธิบัตรก็ได้ ซึ่งอาจรวมถึงการยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลด้วย อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่จะถึงขนาดเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรนั้น กฎหมายบัญญัติให้สิทธิเฉพาะผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการเท่านั้น ดังนั้น ผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิฟ้องคดีเช่นว่านี้ได้ย่อมต้องไม่ใช่บุคคลใดก็ได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากการมีอยู่ของอนุสิทธิบัตรโดยตรง เช่น บุคคลผู้ต้องเสื่อมเสียสิทธิในการแสวงหาประโยชน์อันเนื่องมาจากการที่มีบุคคลอื่นเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรนั้น ประกอบกับเมื่อพิจารณาในด้านสิทธิของผู้ทรงอนุสิทธิบัตรในการผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามอนุสิทธิบัตรแต่เพียงผู้เดียวในการแสวงหาประโยชน์จากอนุสิทธิบัตรโดยจํากัดเพียงการกระทำดังที่บัญญัติในมาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 36 วรรคหนึ่ง (1) แล้ว บุคคลอื่นที่ต้องเสื่อมเสียสิทธิในที่นี้คือ บุคคลที่จะกระทำการต่าง ๆ ดังกล่าวนั่นเอง กรณีหาใช่การตีความอย่างกว้างหรืออย่างแคบไม่ แม้โจทก์เป็นส่วนราชการมีภารกิจและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2552 ข้อ 2 และดำเนินการต่าง ๆ ตามที่กล่าวอ้างมา แต่การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นเพียงการดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษาหาแนวทางปรับการทำงาน การจัดประชุม การจัดสัมมนา และการออกกฎกระทรวงและประกาศ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเลยว่าโจทก์เป็นผู้ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขายหรือนําเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ตามอนุสิทธิบัตรพิพาทโดยตรง อันจะมีผลกระทบจากการมีอยู่ของอนุสิทธิบัตรพิพาทที่จะถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนอนุสิทธิบัตรพิพาทได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 60/2566 โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อสิทธิการเช่าพื้นที่การค้า มิใช่เป็นผู้รับโอนสิทธิการเช่าพื้นที่การค้า ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี เอกสารหมาย จ.5 ระบุหมายเหตุการขายทอดตลาดสิทธิการเช่าว่า ผู้ซื้อได้จะต้องชำระค่าธรรมเนียมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เอง (ถ้ามี) มิได้ระบุว่าผู้ซื้อสิทธิการเช่าได้จะต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าเดิมไปด้วย ทั้งตามสัญญาเช่าพื้นที่การค้าระยะยาว เอกสารหมาย จ.2 และสัญญาได้มาซึ่งสิทธิการเช่าระยะยาว (10 ปี) เอกสารหมาย จ.4 ก็มิได้ระบุให้ผู้รับโอนสิทธิการเช่าในกรณีการซื้อสิทธิการเช่าจากการขายทอดตลาดต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ของผู้เช่าเดิมไปด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (ถ้ามี) ที่ระบุหมายเหตุการขายทอดตลาดตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี มิได้มีความหมายถึงภาระหนี้ค้างชำระบริการของ อ. แต่อย่างใด เมื่อโจทก์ประมูลซื้อสิทธิการเช่าได้ โจทก์จึงไม่จำต้องรับโอนภาระหนี้ค้างชำระค่าบริการของ อ. ที่มีอยู่ก่อนวันที่จดทะเบียนรับโอนสิทธิการเช่า ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเช่าพื้นที่การค้าระยะยาวและสัญญาให้บริการในพื้นที่การค้าที่เช่า จำเลยไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่การค้าที่เช่าดังกล่าว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 59/2566 จําเลยทั้งสองและโจทก์ต่างมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายกิจการต่อกัน ย่อมมีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายกิจการระงับไป และเป็นการเลิกสัญญาก่อนที่เช็คพิพาททั้งสามฉบับจะถึงกำหนด โจทก์และจําเลยทั้งสองต่างต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องคืนเช็คพิพาททั้งสามฉบับให้แก่จําเลยทั้งสอง โจทก์ไม่มีสิทธินําเช็คพิพาทที่ออกล่วงหน้าเพื่อชําระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน แม้ธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสามฉบับ จําเลยทั้งสองก็ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2566 ผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 177 หาใช่จะมีแต่เฉพาะเจ้าพนักงานเท่านั้นไม่ ราษฎรที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวก็เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ว. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และแต่งตั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้พิทักษ์ โดยจำเลยเบิกความเป็นใจความว่า ว. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สามารถโต้ตอบมีเหตุผลและสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง จำบุคคลใกล้ชิดและเรื่องราวต่าง ๆ ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง และไม่มีอาการฟั่นเฟือน อันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมโดยตรง โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จในคดีนี้โดยตรง และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนี้ได้
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 47/2566 การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก จะเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าผู้กระทำความผิดประสงค์ต่อผลในการหลอกลวงครั้งเดียวหรือหลายครั้ง เมื่อคดีนี้ไม่มีการสืบพยานจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชนทั่วไปทางแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก ซึ่งเปิดเป็นสาธารณะชักชวนบุคคลทั่วไปให้นำเงินมาลงทุนกับจำเลยและพวก และหลอกลวงผู้เสียหายให้หลงเชื่อว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นเงินจำนวนมาก เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินให้จำเลยหลายครั้งตามวันเวลาที่โจทก์แยกบรรยายฟ้อง ซึ่งในแต่ละข้อที่โจทก์แยกบรรยายมานั้นมีข้อความทำนองเดียวกันว่า ผู้เสียหายหลงเชื่อจากการหลอกลวงของจำเลยกับพวกดังกล่าว และโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยกับพวก แม้การโอนเงินของผู้เสียหายดังกล่าวจะกระทำหลายคราว แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลัง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก ซึ่งไม่ปรากฏตามฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ จึงต้องฟังว่าจำเลยกับพวกหลอกลวงผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวโดยมีเจตนาเดียวเพื่อให้ได้เงินจากผู้เสียหาย ถึงจะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 42/2566 ตามหนังสือแบ่งทรัพย์สินมีข้อความว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 10653 และบ้านเลขที่ 335 ให้ตกเป็นของโจทก์ ส่วนบ้านเลขที่ 426/2 ตกเป็นของจำเลย โดยไม่ได้กล่าวถึงที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 ซึ่งเป็นสินสมรสและเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 426/2 ด้วย แต่เมื่อโจทก์และจำเลยมีบ้าน 2 หลัง เป็นสินสมรสเป็นที่อยู่อาศัย และจำเลยเป็นผู้เลี้ยงดูบุตรหลังจากจดทะเบียนหย่า ประกอบกับข้อความท้ายหนังสือแบ่งทรัพย์สินระบุว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่มีการเรียกร้องสิทธิใด ๆ หลังจากนี้ไม่ว่าจะกรณีใด เชื่อว่าโจทก์และจำเลยทำหนังสือแบ่งทรัพย์สินโดยมีเจตนาเพื่อแบ่งทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือสินสมรสให้แล้วเสร็จไปทั้งหมด โดยให้โจทก์และจำเลยต่างเป็นเจ้าของบ้านคนละหลังรวมถึงการเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยอย่างสมบูรณ์มั่นคงต่อไปในอนาคตด้วย ทั้งที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 มีชื่อ จ. เป็นเจ้าของโดยยังไม่มีการแบ่งแยกเอกสารสิทธิ ทำให้มีเหตุผลน่าเชื่อว่าโจทก์และจำเลยไม่อาจระบุถึงรายละเอียดของที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 426/2 ในหนังสือแบ่งทรัพย์สินได้ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 บัญญัติว่า ในการตีความการแสดงเจตนานั้น ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร จึงไม่น่าเชื่อว่า ในการทำหนังสือแบ่งทรัพย์สินโจทก์และจำเลยจะมีเจตนาให้คงเหลือที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2226 ไว้โดยมิได้ตกลงแบ่งกันให้แล้วเสร็จไปในคราวเดียวโดยไม่มีเหตุผล เชื่อว่าโจทก์และจำเลยตกลงยกบ้านเลขที่ 426/2 รวมถึงที่ดินเนื้อที่ 1 งาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านให้แก่จำเลยตามหนังสือแบ่งทรัพย์สินแล้ว
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2566 พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) (เดิม) ที่มีข้อความว่า “ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ” นั้น เป็นคำขยายคำว่า “ชื่อในทางการค้า” เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาด้วย ประกอบกับเจตนารมณ์ของมาตรา 7 วรรคหนึ่ง มุ่งหมายจะคุ้มครองสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนในลักษณะต้องเป็นเครื่องหมายที่ใช้ประโยชน์ในการแยกแยะความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเพื่อมิให้สาธารณชนเกิดความสับสนหรือหลงผิดในการเลือกซื้อสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างจากสินค้าอื่นแล้ว ส่วนเหตุผลและเจตนารมณ์ของกฎหมายอื่นที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และการใช้ถ้อยคำรวมถึงการจัดวางตำแหน่งของคำตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 เองต่างจากเดิมจึงไม่อาจอ้างการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายเดิมได้ ดังนั้น หากชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าเป็นชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา และมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้านั้นทราบและเข้าใจได้ว่า สินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากสินค้าอื่นแม้ไม่ได้แสดงโดยลักษณะพิเศษแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น ดังนั้น เครื่องหมายการค้าคำว่า ซึ่งมีที่มาจากชื่อของ ค. นักออกแบบชาวอังกฤษผู้ก่อตั้งโจทก์ ถือเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันเป็นชื่อตัวและชื่อสกุลของบุคคลธรรมดา เมื่อพิจารณาองค์ประกอบโดยรวมแล้วไม่ปรากฏว่าเป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทย กับคำดังกล่าวมิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรงแล้ว จึงย่อมมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านี้แตกต่างไปจากสินค้าอื่นและมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองโดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีกด้วย
- คำพิพากษาศาลฎีกาที่ อม. 5/2566 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่ง และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหา กับลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81, 114 วรรคสอง (1), 167 ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ พิเคราะห์คำร้องประกอบเอกสารท้ายคำร้อง และคำให้การของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาเข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2556 และพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบกรณีเข้ารับตำแหน่งแล้ว และมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งภายในวันที่ 2 เมษายน 2564 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบทางไปรษณีย์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 แต่มิได้กรอกรายการทรัพย์สินและหนี้สินในแบบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้งลงลายมือชื่อในแบบ และยื่นเอกสารประกอบไม่ถูกต้องครบถ้วน โดยแสดงเอกสารประกอบเพียงหนังสือสําคัญแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว สําเนาบัตรประจําตัวประชาชน สําเนาทะเบียนบ้าน และเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินพร้อมเอกสารประกอบให้ถูกต้องครบถ้วนภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ แต่ผู้ถูกกล่าวหาเพิกเฉย ต่อมาผู้ร้องมีหนังสือแจ้งผู้ถูกกล่าวหาให้มารับทราบข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาและทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ไม่ยื่นทำนองว่าไม่มีเจตนาเพิกเฉยและขอขยายระยะเวลาในการส่งเอกสารเพิ่มเติม แต่กลับมิได้ดำเนินการภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องและมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาวหรือไม่ เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว จึงเป็นผู้บริหารท้องถิ่นและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อผู้ร้องเมื่อพ้นจากตำแหน่ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 (9) และมาตรา 105 ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (9) พ.ศ. 2561 โดยกฎหมายมุ่งประสงค์ให้การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของคณะผู้บริหารท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการทุจริตด้วยการให้บุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งและเมื่อพ้นจากตำแหน่ง อันจะทำให้ผู้ร้องสามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินว่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างผิดปกติภายหลังจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเคยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีเข้ารับตำแหน่งแล้ว ย่อมแสดงว่าผู้ถูกกล่าวหาทราบรายละเอียดและที่มาแห่งทรัพย์สินรวมทั้งหนี้สินของตนและทราบว่าตนมีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่กลับไม่กรอกรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งไม่ยื่นเอกสารประกอบให้ครบถ้วนถูกต้อง ทำให้ผู้ร้องไม่อาจตรวจสอบความถูกต้องของบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ถูกกล่าวหาได้ มีผลเช่นเดียวกับการไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ถูกกล่าวหาดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนภายในเวลาที่ผู้ร้องกำหนดและแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาขอขยายระยะเวลา แต่กลับเพิกเฉยมิได้ดำเนินการตามที่ขอขยายระยะเวลาแต่อย่างใด ประกอบกับผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ พฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีผลให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง นอกจากนี้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหายังเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้อง และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 167 ด้วยพิพากษาว่า นายชัยภัทรหรือชัยศิริ ตั้งหลัก ผู้ถูกกล่าวหา จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องกรณีพ้นจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขวาว อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 114 วรรคสอง (1) ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาตลอดไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 81 วรรคหนึ่งและวรรคสอง กับมีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 167 จำคุก 2 เดือน และปรับ 8,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
สารบัญคำพิพากษาศาลฎีกา ปี 2566
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)